
ถึงเดือนตุลาคมของทุกปี ช่วงต้นเดือนถึงราวกลางเดือน คนส่วนหนึ่งจะออกมารำลึกถึงเหตุการณ์การต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงปี 2516-2519 และเรียกร้องให้มีการจารึกการต่อสู้ดังกล่าวไว้ในแบบเรียนตำราประวัติศาสตร์ของชาติไทย ซึ่งโดยส่วนตัวผมก็เห็นด้วยมาตลอด ใครจะผิดถูกดีเลวประการใดก็ว่ากันไปตามพยานหลักฐานที่จะปรากฏออกมา ครั้นพอถึงวันที่ 23 ก็จะเป็นวันหยุดราชการและมีพิธีการวางพวงมาลาเนื่องในวันปิยมหาราชหรือวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในปี 2553 นี้ก็จะครบรอบ 100 ปีด้วย
ผมเองพยายามคิดว่าควรจะเขียนอะไรเกี่ยวกับการเรียกร้องประชาธิปไตยและวันปิยมหาราช ไม่ว่าจะเขียนแยกกันคนละบทความหรือเขียนรวมเป็นบทความเดียวกัน แต่ด้วยความเครียดส่วนตัวบางประการที่ไม่อยากนำมาเป็นข้อแก้ตัวทำให้คิดอะไรไม่ออก จนกระทั่งวันนี้ได้เห็น Twitter ของท่านผู้หนึ่งเกี่ยวกับ "วันนี้ในอดีต" จึงได้คิดว่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในเดือนตุลาคมมิได้มีเพียง 2 เรื่องใหญ่ดังที่กล่าว จึงขอรวบรวมเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ไทยเท่าที่พอจะหาได้อย่างรีบๆ มานำเสนอกัน โดยส่วนใหญ่จะได้มาจาก http://th.wikipedia.org/wiki/วันนี้ในอดีต/ตุลาคม ดังนี้ครับ
----------
6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 (ค.ศ. 1976) – เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจปราบปรามนักศึกษาและผู้ประท้วงในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และบริเวณสนามหลวง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 46 คน และนำไปสู่การรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช
7 ตุลาคม พ.ศ. 2536 (ค.ศ. 1993) – มีการวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งแรกที่จัดนอกเมืองหลวง
8 ตุลาคม พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) – มิตร ชัยบัญชา ประสบอุบัติเหตุตกเฮลิคอปเตอร์เสียชีวิต ระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง อินทรีทอง ที่หาดดงตาล อ่าวพัทยาใต้ จังหวัดชลบุรี
11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 (ค.ศ. 1933) – พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช นำกองกำลังทหารจากภาคอีสานไปยังกรุงเทพมหานครหวังยึดอำนาจรัฐบาลคณะราษฎร
11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) – พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ได้ชื่อว่าเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน"
12 ตุลาคม พ.ศ. 2448 (ค.ศ. 1905) – พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศรวมกิจการหอพระสมุดสามแห่ง จัดตั้งเป็น หอสมุดสำหรับพระนคร นับเป็นห้องสมุดสาธารณะแห่งแรกของไทย และเป็นต้นกำเนิดของหอสมุดแห่งชาติ
13 ตุลาคม พ.ศ. 2458 - เป็นวันประกาศรวม "กรมพลตระเวน" กับ "กรมตำรวจภูธร" เป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า "กรมตำรวจ" (ในภายหลังได้เปลี่ยนเป็น "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ") กรมตำรวจจึงถือเอาวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็น "วันตำรวจ" โดยมีการประกอบพิธีในวันตำรวจอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2492 ซึ่งขณะนั้น พล.ต.อ. หลวงชาติตระการโกศล เป็นอธิบดีกรมตำรวจ (http://th.wikipedia.org/wiki/วันตำรวจ)

14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) - เหตุการณ์ 14 ตุลา: รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ใช้กำลังปราบปรามนักศึกษาและประชาชนที่เดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 77 คน บาดเจ็บมากกว่า 857 คน
20 ต.ค. 2501 - รัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์
20 ต.ค. 2520 - รัฐประหารโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่
22 ตุลาคม พ.ศ. 2493 (ค.ศ. 1950) - รัฐบาลไทย ส่งทหารไปปฏิบัติการรบร่วมกับสหประชาชาติในสงครามเกาหลี
23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 (ค.ศ. 1910) - พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี
30 ตุลาคม พ.ศ. 2370 (ค.ศ. 1827) - พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคุณหญิงโมให้เป็นท้าวสุรนารี จากวีรกรรมการใช้อุบายต่อสู้ทหารลาวซึ่งยกทัพมาตีนครราชสีมา ภายใต้บังคับของเจ้าอนุวงศ์
----------
อ่านดูผ่านๆ ก็พอจะเห็นว่า ประวัติศาสตร์ในเดือนตุลาคมนี้มีอะไรมากกว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยและการรำลึกถึงองค์พระมหาราชอันเป็นที่รักของเรา เรียกว่ามีครบทุกรสชาดก็ว่าได้ และหากจะรวบรวมเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในทุกๆ เดือนแล้ว ย่อมจะมีครบทุกรสชาดในลักษณะเดียวกัน แต่เหตุการณ์ไหนคือเรื่องที่คนไทยจดจำได้แม่นยำ เรื่องไหนที่เหมือนเคยได้ยินแต่ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เรื่องไหนที่คนแทบไม่รู้เลยทั้งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าวันประวัติศาสตร์วันอื่น และจะทำอย่างไรให้คนจดจำประวัติศาสตร์เรื่องนั้นๆ เป็นบทเรียนของชาติ ใครบ้างที่จะต้องทำอะไรบ้าง หรือจะปล่อยให้สังคมไทยไหลลื่นไปตามกระแสแห่งการช่วงชิงอำนาจจนเกิดวันประวัติศาสตร์ใหม่ๆ ที่มีแต่ความเศร้าสลด คำตอบมีเพียงในสายลม???
หมายเหตุ : เปิดให้แสดงความคิดเห็นเฉพาะสมาชิกเว็บไซต์ที่ด้านล่างสุด หรือสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในกรอบข้างล่างนี้ครับ