dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



เอสอาร์-๑
วันที่ 16/02/2020   20:41:48

*  *  *

                    เรื่อง เอสอาร์-๑  ต่อไปนี้  ท่านผู้เป็นผู้ปฏิบัติในเหตุการณ์ท่านหนึ่งได้กรุณาบันทึกให้ผมเมื่อเร็วๆ นี้  ตามที่ผมได้เรียนขอท่านไว้    เป็นการบันทึกเหตุการณ์จากความทรงจำซึ่งผ่านไปแล้วถึง  ๔๖ ปี    ท่านไม่ได้ลงวันที่  และสถานที่     ผมนำมาเสนอ  โดยคงของท่านให้มากที่สุด เพิ่มภาพ  ปรับ  และลดบางส่วนเพียงเล็กน้อยมาก  ตามที่ท่านได้อนุญาตไว้    

                    เรื่องนี้  ก็คือ  ตอน  SUNRISE - พระสุริยนจะเยี่ยมยอดยุคนธร   และ SUNRISE  -  การเข้าตีภูกูด  (ครั้งที่ ๓)  ที่ผมได้นำลงไว้แล้ว    แต่เป็นบันทึกของท่านรองผู้บังคับกองร้อย  ท่านเป็นผู้ปฏิบัติการเอง  อยู่ในเหตุการณ์เอง  ตั้งแต่ต้น  ตั้งแต่ยังไม่เป็นหน่วยเอสอาร์-๑    นับว่าเป็นบันทึกที่มีคุณค่ายิ่ง   

          อ่านประกอบกันก็จะเห็นภาพได้ละเอียดขึ้น  ว่า  ตอนนั้น  ภาพรวมในสถานการณ์หนึ่งเป็นอย่างไร  หน่วยปฏิบัติเป็นอย่างไร    เชิญครับ  .  .  .

 

 

 

เอสอาร์-๑

                    เอสอาร์-๑  เป็นหน่วยทหารปืนใหญ่หน่วยหนึ่ง  เป็นหน่วยเฉพาะกิจ    ถูกส่งไปปฏิบัติการรบในประเทศที่ ๓  เมื่อปี ๒๕๐๗    ปฏิบัติการเป็น  ๗ เดือนก็เดินทางกลับประเทศไทย    ดูอย่างผิวเผินก็ไม่มีอะไรโดดเด่นน่าติดตาม  นอกจากการทำสงครามปืนใหญ่กับฝ่ายข้าศึก  โดยสามารถทำลายปืนใหญ่ข้าศึกได้จำนวน  ๑๘ กระบอก    ทหารในหน่วยนี้ไม่มีใครทราบว่า  SR  คืออะไร    ได้แต่พูดกันว่ามาจากคำว่า  SUNRISE    บ้างก็ว่ามาจากคำว่า  สีวะรา

                    ดังกล่าวแล้วว่า  การปฏิบัติการของหน่วยนี้  ดูผิวเผินแล้วไม่มีอะไรน่าสนใจเท่าไร    เมื่อปฏิบัติการครบ  ๗ เดือนก็กลับประเทศไทย    หน่วยเหนือก็ส่งหน่วย  SR-2  ไปผลัดเปลี่ยน  และมีการผลัดเปลี่ยนกันทุกปี  จนถึงหน่วยสุดท้าย  คือ  SR-9  ต่อไปก็เป็นชื่ออื่น

 

                    เพื่อให้เนื้อเรื่องมีรสชาดขึ้น    ก็อยากจะกล่าวถึงการปฏิบัติงานของบุคคลซึ่งเป็น รอง ผบ.ร้อย.ป.เอสอาร์  ชื่อว่า  "สิงห์"   (นายทหารทุกนายมีชื่ออุปโลกน์กันทุกคน  เพราะเป็นการปฏิบัติการลับในประเทศที่ ๓)

                    "สิงห์"  เป็นนายทหาร เมื่อปี  ๒๕๐๕    เมื่อสำเร็จแล้วก็ไปเข้ารับการศึกษาหลักสูตรผู้บังคับหมวดตามเหล่าที่ศูนย์การทหารเหล่าของตน  แล้วก็มีการเลือกหน่วยที่จะไปรับราชการ    "สิงห์" เลือกไปรับราชการที่กองพันทหารปืนใหญ่ที่จังหวัดนครราชสีมา   ในตำแหน่งผู้ตรวจการณ์หน้าปืนใหญ่

          "สิงห์"  ได้รับคำสั่งให้เป็นผู้ฝึกทหารใหม่ และฝึกภาคกองร้อยทหารปืนใหญ่  และกองพันทหารปืนใหญ่  ในตำแหน่งผู้ตรวจการณ์หน้าปืนใหญ่  จนผ่านการฝึกไปได้ทั้งสองครั้ง

 

                    วันหนึ่ง  ขณะที่"สิงห์"นั่งอยู่ที่กองร้อย  (กองร้อยที่ ๓)  ได้เห็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ต่างหน่วยเดินผ่านหน้ากองร้อยด้วยหน้าตาที่เคร่งเครียดเข้าไปพบผู้บังคับกองพัน    ทราบภายหลังว่า  ได้เข้าพบแม่ทัพเพื่อขอให้จัดกำลังทหาร  ๑ กองร้อยปืนใหญ่  (ปืนใหญ่  ๖ กระบอก  หรือ  ๖ หมู่)  โดยด่วนที่สุด  ไปปฏิบัติการ  ณ ประเทศที่ ๓  เพราะประเทศที่ ๓  กำลังเพลี่ยงพล้ำในการรบ  และจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างสำคัญ  ต่อไป

                    ในตอนบ่ายวันเดียวกัน  ผู้บังคับกองร้อยของ"สิงห์"  ได้มาบอกว่าผู้บังคับกองพันได้ประชุมผู้บังคับกองร้อยทุกกองร้อย  และตกลงกันว่า  จะสนธิกำลังจากทุกกองร้อยของกองพัน  และบอกกับ"สิงห์"ว่า 

"คุณเป็นรองผู้บังคับกองร้อยปืนใหญ่เอสอาร์"

 

          คืนวันนั้น "สิงห์"นอนไม่ค่อยหลับ    วาดภาพว่าจะไปรบกันอย่างไรเพราะยังใหม่เหลือเกิน  ผ่านการฝึกภาคกองพันเพียง  ๑-๒ ครั้ง  เท่านั้น

          ทุกคนถูกกักบริเวณภายในกองพัน  ไม่ให้ออกไปนอกกองพัน  หรือนอนที่บ้าน

 

                    ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น    ผู้บังคับการกรมผสม  (ผู้บังคับบัญชาของกองพันทหารปืนใหญ่ - ภูสิน)  ได้เรียกทหารที่จะเดินทางไปรบทุกคนประชุมที่ห้องอาหารของกรมผสม    มีพระพุทธรูปประดิษฐานเด่นอยู่กลางห้อง  ท่านได้แจ้งภารกิจอีกครั้ง  และให้ทหารทุกคนพนมมือต่อหน้าพระพุทธรูป  และให้กล่าวตามว่า "การเดินทางไปรบครั้งนี้ถือว่าเป็นความลับสุดยอด  หากข้าพเจ้าแพร่งพรายความลับให้ใครทราบ  ไม่ว่าจะเป็น  พ่อ  แม่  พี่น้อง  หรือลูกเมีย  ขอให้ข้าพเจ้าเสียชีวิตในสนาม  ไม่ได้กลับมาพบกันอีกเลย"

          ในตอนเย็นมีการแจกจ่ายเสื้อผ้า  อาวุธ  ยุทโธปกรณ์   ผู้บังคับกองร้อยปืนใหญ่เอสอาร์  มอบหมายให้"สิงห์"ควบคุมการแจกจ่ายให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว    ด้วยความที่ยังอ่อนหัดในเรื่องการบริหารงาน    "สิงห์"ก็ใช้กำลังพลเพียง  ๒-๓ คน  เท่านั้น  เช่น  จ่ากองร้อย  เสมียนกองร้อย  ช่วยจ่ายสิ่งของอุปกรณ์  ซึ่งเป็นเรื่องที่หนักมาก    ถ้าหากบริหารงานเป็นก็สามารถให้กำลังพลคนอื่นอีกหลายคนช่วยกันได้    แต่อย่างไรก็ตาม  การแจกจ่ายก็เสร็จสิ้นตอนรุ่งสว่างของคืนนั้น

 

                    ตอนเช้าวันรุ่งขึ้น    กองพันได้จัดรถบรรทุกทหารที่กำลังจะไปรบ ไปขึ้นเครื่องบิน  (บรรทุกกำลังพล)  ที่สนามบินของกองทัพอากาศที่จังหวัดนครราชสีมา  ทุกคนพากันงุนงงว่า  จะไปรบที่ประเทศใด  กับใคร    เขาก็ไม่ตอบให้ทราบแต่อย่างใด

          ตอนสายของวันนั้น    เครื่องบินก็ถึงสนามบินของประเทศที่ ๓    "สิงห์"สั่งให้นายสิบจำนวนหนึ่งถืออาวุธถืออาวุธประจำกายเข้าประจำพื้นที่เป็นวงรอบเป็นการป้องกันรอบตัว  

                    ทันใดนั้น  "สิงห์"ก็เห็นคนๆ หนึ่ง  แต่งชุดพราง  หนวดเฟิ้มเข้ามา  และถามว่าใครเป็นหัวหน้าคุมมา    แล้วบอกให้ทุกคนรีบขึ้นรถบรรทุกที่จัดมารับ    "สิงห์"ปฏิเสธทันที  พูดกับเขาว่า  "ผมไม่ทราบว่าคุณเป็นใคร  ผมให้ทหารไปกับคุณไม่ได้    หากคุณพาทหารไปฆ่า  ผมจะทำอย่างไร"  เขาก็สั่นศีรษะและขับรถกลับไป


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คนๆ หนึ่ง  แต่งชุดพราง  หนวดเฟิ้ม

 

 

 

 

          หลังจากนั้น  ประมาณ  ๑ ชั่วโมง  "สิงห์"ก็เห็นนายทหารติดต่อกองพันทหารปืนใหญ่ที่จังหวัดนครราชสีมา   ซึ่งไม่ทราบว่าเขาเดินทางล่วงหน้ามาเมื่อไรได้มารับคณะของ "สิงห์" เดินทางต่อไป

          ภูมิประเทศที่เดินทางเป็นเนินเขาเตี้ยๆ สลับซับซ้อน  ล้อมรอบเส้นทางแคบๆ  คดเคี้ยวไปมา  แล้วก็มาหยุด  ณ  บริเวณแห่งหนึ่ง  ซ้ายมือเป็นที่ราบขวามือเป็นเนินเตี้ยๆ  นายทหารติดต่อกองพันทหารปืนใหญ่ที่จังหวัดนครราชสีมาชี้มือให้ไปพักที่เป็นเนินเตี้ยๆ ขวามือ  บอกว่า  "เตรียมเข้าที่พักแรม"

 

 

 

 

ที่พักแรม

 

         เนื่องจากไม่ทราบข่าวสารเกี่ยวกับภูมิประเทศและข้าศึก    "สิงห์"พยายามอย่างมากที่จะหาข่าวสารโดยได้สอบถามชาวบ้านบริเวณนั้น  โดยเฉพาะขีดความสามารถในการยิงของข้าศึก  ก็ได้ทราบว่าปืนใหญ่ข้าศึกมีขีดความสามารถสูง  ยิงได้แม่นยำมาก    "สิงห์"จึงกำหนดการปฏิบัติไว้ในใจว่า ต้องสร้างบังเกอร์ให้แข็งแรงมากที่สุด

          ในคืนวันนั้น  "สิงห์"ได้สำรวจที่พักแรมโดยเฉพาะรอบๆ ที่ตั้ง  และกำหนดจุดระวังป้องกันเพื่อจัดชุดระวังป้องกันรอบที่พักแรม  ประมาณ  ๗ - ๘ ชุด  ก็บังเกิดความขลุกขลักขึ้น เพราะยังไม่ได้รับการแจกจ่ายโทรศัพท์ระหว่างจุด  "สิงห์"จึงไปแสวงหาเชือกจากชาวบ้านหลายขด  ปลายเชือกแต่ละขดสิ้นสุดที่หัวหน้าชุดระวังป้องกัน    ปลายเชือก  ๘ ขดอยู่ที่"สิงห์" ซึ่งพักอยู่ตรงกลางที่พักแรม    การติดต่อกันก็ใช้การกระตุกเชือก    การส่งคนไปเปลี่ยนเวรก็ใช้การกระตุกเชือกให้ชุดระวังป้องกันที่ที่พักแรมทราบล่วงหน้า    ก็เป็นอุทาหรณ์ว่า  การแจกจ่ายยุทโธปกรณ์ให้แก่ทหารเพื่อออกรบ  ต้องแจกจ่ายตามความเร่งด่วน  มิใช่จ่ายอะไรก็จ่ายเรื่อยไป    โทรศัพท์ซึ่งควรเป็นสิ่งแรกที่จ่าย ก็ไม่จ่าย    จึงเป็นเช่นนี้

 

          วันรุ่งขึ้น    คณะรองผู้บังคับกองร้อยปืนใหญ่เอสอาร์ถูกพาไปยังที่ตั้งยิงซึ่งอยู่ห่างจากที่พักแรมประมาณ  ๑๐ กม.    ที่ตั้งยิงอยู่บนเนินเตี้ยๆ ทางขวาของเส้นทาง  (ทางซ้ายก็เป็นเนินเตี้ยๆ ด้วย)    ด้วยจิตสำนึกของการป้องกันตัวอย่างแข็งแรง  "สิงห์"จึงพาผู้บังคับหมู่ปืนไปเลือกที่ตั้งปืนใหญ่แต่ละกระบอกบริเวณหลังเนิน    เพราะหากปืนใหญ่ข้าศึกยิงมาจะได้ติดหน้าเนิน    พ้นหน้าเนิน กระสุนปืนใหญ่ข้าศึกก็จะลอยข้ามศีรษะไปยังพื้นที่หลังเนิน  หมู่ปืนใหญ่อยู่ตรงกลาง  (คือข้ามปืนใหญ่ของเราไป - ภูสิน)    นอกจากนี้  "สิงห์"ยังไปเลือกที่ตั้งอื่นบริเวณหลังเนินทั้งสิ้น

          หลังจากเลือกที่ตั้งต่างๆ ได้แล้ว  "สิงห์"ก็ประชุมหัวหน้าชุดต่างๆ  สั่งว่า    ต้องขุดบังเกอร์  ขุดดินให้ดีที่สุด  จะไม่เปิดการยิงเมื่อการดัดแปลงที่ตั้งยังไม่เรียบร้อยเป็นอันขาด

          ระหว่างการขุดบังเกอร์อยู่นั้น  หัวหน้านายทหารติดต่อของสหรัฐซึ่งพวกเราเรียกว่า "จัสแมก" ได้เข้ามาดูแลที่ตั้งและสั่งให้เปิดการยิงในทันที    "สิงห์"ปฏิเสธการยิง  บอกเขาไปว่า  ได้สั่งให้ทุกหมู่ปืนอย่ายิงจนกว่าการสร้างบังเกอร์ทุกแห่งจะเรียบร้อย    เขาก็เดินทางกลับไป    อีกไม่นาน  ทาง บก. (กองบัญชาการ)  ได้ติดต่อมา    ผู้ที่ติดต่อมา  คือคนหนวดเฟิ้มที่มารับที่สนามบิน  ดังที่เล่าให้ฟังในตอนต้น  (เขาคือ หน.บก.)    เขาสั่งให้ยิงตามที่"จัสแมก"สั่ง    "สิงห์"ไม่เต็มใจจะยิง  แต่ก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง    ขณะนั้น  บังเกอร์ของทุกแห่งยังไม่มีแห่งใดแล้วเสร็จ  มีเสร็จอยู่แห่งเดียวคือ  ศูนย์อำนวยการยิงกองร้อยปืนใหญ่  (ศอย.ร้อย.ป.)  ซึ่งอยู่กลางพื้นที่  มีต้นไม้ใหญ่อยู่เหนือศีรษะ    "สิงห์"อึดอัดใจมากเพราะที่ตั้งข้าศึกก็ไม่ปรากฏขึ้น  จึงสั่งให้"ยิงหาหลักฐานประณึต"  ความจริง  การยิงหาหลักฐานประณึตต้องมีพิกัดที่ตั้งยิง  พิกัดที่หมาย  (พิกัดทางแผนที่)  แต่ก็ไม่มีอะไรสักอย่างเดียว    (พิกัดทางแผนที่ - หมายถึงต้องทราบพิกัดทั้งสองอย่างที่กล่าวอย่างถูกต้อง - ภูสิน)  

 

 

ปบค.๑๐๕ มม.  (ภาพจากสมรภูมิอื่น)

 

          เมื่อดำเนินการยิงโดยปืนใหญ่หมู่ ๒  ไปได้ประมาณ  ๑๐ นัด  ก็ถูกข้าศึกยิงปืนใหญ่ตอบโต้มาราวห่าฝน    ทราบภายหลังว่าเป็นกองพัน  (อาจหลายกองพัน)    กำลังพลของกองร้อยเอสอาร์หมอบลงกับพื้นดินกันทุกคน    บังเกอร์ ศอย.ซึ่งขุดเสร็จแล้วได้มีกำลังพลจากที่ตั้งอื่นวิ่งเข้าไปสุมในบังเกอร์จนเต็มบังเกอร์  "สิงห์"ก็ถูกทับอยู่ภายในบังเกอร์ด้วย    ขณะนั้น  ปืนใหญ่ของกองร้อยเอสอาร์ได้หยุดทำการยิงโดยอัตโนมัติ  เพราะสายโทรศัพท์ที่ใช้สั่งการยิงจาก ศอย. ไปยังหมู่ปืนซึ่งวางทอดไปตามพื้นดินถูกสะเก็ดระเบิดของกระสุนปืนใหญ่ข้าศึกตัดขาดหมดทุกเส้น    ข้าศึกทำการยิงจนหนำใจ  "สิงห์"สำรวจความเสียหาย  ปรากฏว่าทหารทุกคนปลอดภัย    มีบาดเจ็บถูกสะเก็ดระเบิดที่ไหล่เพียงคนเดียว

          "สิงห์"ได้โทรศัพท์ให้ หน.บก.ทราบ และขออนุญาตไม่ยิง  จนกว่าการขุดบังเกอร์ที่ตั้งจะเรียบร้อย    หน.บก.อนุมัติ    ระหว่างนั้น  ผู้ตรวจการณ์หน้าปืนใหญ่ได้พูดกับ หน.บก.ขออนุมัติกลับไปยังส่วนหลัง (บก.)    โดยกล่าวว่า  ร้อย.ป.เอสอาร์สลายแล้ว  เพราะเขาเห็นว่าเมื่อปืนใหญ่ข้าศึกยิงที่ตั้ง ป.ของฝ่ายเราอย่างหนักนั้น  กลุ่มควัน (ตำบลระเบิด) ได้พวยพุ่งเหนือที่ตั้ง ร้อย.ป.เอสอาร์ อย่างมากมาย   "สิงห์"ได้ยินคำพูดนี้ถึง หน.บก.เอสอาร์  จึงพูดกับนายทหารตรวจการณ์หน้าว่าให้ประจำที่อยู่ต่อไป  ร้อย.ป.เอสอาร์ยังไม่มีใครเป็นอะไร  ขณะนี้กำลังขุดบังเกอร์อย่างหนัก

          ข้าศึกคงเข้าใจว่ากองร้อย ป.เอสอาร์ เสียหายอย่างหนักอาจละลายจากการยิงของเขา  จึงได้ประมาทชะล่าใจ  มีการเคลื่อนไหวต่างๆ อยู่ในพื้นที่อย่างมากมาย    ผู้ตรวจการณ์หน้าของฝ่ายเราเห็นพฤติกรรมนี้โดยตลอด    ได้พูดวิทยุกับ"สิงห์"ว่า  เห็นพฤติกรรมของข้าศึกโดยตลอด    "สิงห์"บอกให้ผู้ตรวจการณ์หน้ากำหนดพิกัดของทุกพฤติกรรมของข้าศึกโดยละเอียด  และส่งให้ ศอย.ร้อย.ป.เอสอาร์ทราบทุกพิกัด

         "สิงห์"สั่งให้เจ้าหน้าที่ ศอย.หาหลักฐานการยิงไว้ทุกพิกัด  แล้วส่งหลักฐานการยิงไปยังทุกหมู่ปืน  จะทำการยิงพร้อมกันทุกกระบอก    "สิงห์"เห็นว่า  ถ้ายิงพร้อมกันทุกกระบอก  ในครั้งหนึ่งจะก่อให้เกิดพื้นที่ของความเสียหายในการยิงเป็นพื้นที่กว้าง  ๕๐ เมตร  (๑ ตำบลระเบิด)  และยาว  ๑๘๐ เมตร  (หมู่
ปืนตั้งห่างกัน  ๒๐ เมตร)  เรียกว่า  ๑ ฉากการยิง    เราสร้างฉากการยิง  ๓ ฉากดังนี้

 


 

         รวมเป็นพื้นที่แห่งความเสียหายเท่ากับ  3x50x180  เท่ากับ  ๒๗,๐๐๐ ตารางเมตร    (ในพื้นที่ของข้าศึก  จะมีพื้นที่ประกอบด้วย  ๓ ฉากการยิงมากมาย)    (คือ  "สิงห์"ท่านจะวางฉากการยิงเหล่านี้ในพื้นที่ซึ่งคาดว่าข้าศึกจะใช้ประโยชน์หลายๆ แห่ง  น่ะครับ -ภูสิน

          ในที่สุด  ก็ถึงเวลายิงโจมตีของฝ่ายเรา  "สิงห์"ได้ขออนุมัติ บก.ยิงในเวลา  ๑๓๐๐ นาฬิกา    เจ้าหน้าที่ ศอย.ได้ออกคำสั่งยิงไปยังหมู่ปืนว่า "ยิง" เท่านั้นเพราะหลักฐานการยิงหมู่ปืนต่างๆ ได้รับไว้เรียบร้อยแล้ว

          การยิงได้ดำเนินต่อไปจนถึงค่ำ  และดำเนินต่อไปข้ามคืน  และดำเนินต่อไปในวันรุ่งขึ้น  และไปยุติการยิงในเวลาประมาณ  ๑๓๐๐ นาฬิกา    ตลอดเวลาการยิง  ได้รับการโต้ตอบจากข้าศึกประปราย  แต่กองร้อย ป.เอสอาร์ มิได้เสียหาย  เพราะที่ตั้งแข็งแรงดีแล้ว

 

          ในวันต่อมา  บก.ได้รับข่าวความเสียหายของข้าศึกมากมายมหาศาล    ปืนใหญ่ข้าศึกถูกทำลาย  ๑๔ กระบอก  (อีก  ๔ กระบอก  ปืนใหญ่ข้าศึกถูกทำลายเพราะการยิงรบกวนและขัดขวาง*ของฝ่ายเรา)  กำลังพลบาดเจ็บล้มตายอีกเป็นจำนวนมาก

          *การยิงรบกวนและขัดขวาง    เป็นวิธีการยิงอย่างหนึ่งของทหารปืนใหญ่  จะยิงต่อตำบลสำคัญ  หรือตำบลที่ที่คาดว่าข้าศึกจะใช้ประโยชน์  เช่น  ที่ตั้งต่างๆ  เส้นทาง  ฯลฯ  ยิงครั้งละ ๑ นัด (หรือมากกว่าก็ได้)  ไม่จำกัดเวลา  เช้า สาย เที่ยง บ่าย เย็น กลางวัน กลางคืน ดึกดื่น ฯลฯ ยิงได้ทั้งนั้น ทุกเวลา โดย นอย.ของหน่วยเอง (นายทหารอำนวยการยิง)  หรือหน่วยเหนือ  เป็นผู้กำหนดวิธียิง (กี่นัด)  และ/หรือเวลายิงให้ ก็ได้ - ภูสิน

          บก.ได้ทำการขยายผลทันที  สั่งให้กองร้อย ป.เอสอาร์เคลื่อนที่เข้าที่ตั้งยิงไปยังที่ตั้งยิงข้างหน้าห่างจากที่ตั้งยิงเดิม  ๑๐ กิโลเมตร   "สิงห์"นำ ผบ.หมู่ปืน  ๖ คน พร้อมพลประจำปืนบรรทุกรถพร้อมเครื่องมือขุดดินไปเลือกที่ตั้งยิง  และทำบังเกอร์หลุมปืน และบังเกอร์ ศอย.ในตอนเช้า    ทิ้งรอง ผบ.หมู่ปืน ไว้กับหมู่ปืน

         "สิงห์"ได้นำลูกน้องไปทำบังเกอร์ได้  ๒ วัน    เช้าของวันที่ ๓  "สิงห์"ก็นำลูกน้องไปอีก  ก็ต้องเสียเวลาต้อนรับ "จัสแมก" ที่มาเยี่ยมกองร้อย ป. และสนทนากันนานพอสมควร    ทันใดนั้น  ก็ได้ยินเสียงระเบิดของกระสุนปืนใหญ่ข้างหน้าอย่างโกลาหล    เมื่อสงบลง  "สิงห์"สั่งให้ ผบ.หมู่ ป. ๑-๒ คน  ลอบเดินทางไปยังที่ตั้งยิงใหม่ข้างหน้า  ว่ามีอะไรเกิดขึ้น    ผบ.หมู่ ป.กลับมารายงานว่าที่ตั้งยิงข้างหน้าถูกกระสุน ป.ข้าศึกทำลายเสียหายมาก  ไม่สามารถใช้ทำการยิงได้อีกต่อไป

          "สิงห์"ได้รายงานเหตุการณ์ให้ บก.ทราบ    บก.สั่งให้ไม่ต้องเปลี่ยนที่ตั้งยิงใหม่ ให้อยู่ที่เดิม  และดัดแปลงที่ตั้งให้มั่นคงแข็งแรงขึ้น

 

          เหตุการณ์ต่อไป  กองร้อยเอสอาร์ได้ถูกปืนใหญ่ข้าศึกระดมยิงทุกวัน    แต่ข้าศึกได้เปลี่ยนที่ตั้งยิงเสมอ  มิให้ฝ่ายเราทราบที่ตั้ง ป.ข้าศึกได้     โดยใช้ ป.ระยะยิงไกลกว่า ปบค.๑๐๕ ของไทย    นอกจากนี้  ยังใช้รถถังเข้ามายิงใกล้ๆ  บางครั้งก็เข้ามายิงใกล้มาก    "สิงห์"ได้สอบถามเกี่ยวกับขีดความสามารถรถถังก็ทราบว่า  รถถังข้าศึกที่มีขีดความสามารถสูง  สามารถปีนลาดที่สูงชันได้  และแล่นไปในน้ำได้

         "สิงห์"ได้พิจารณาเห็นว่า  รถถังข้าศึกมีขีดความสามารถสูงเช่นนี้จะสามารถเคลื่อนที่เข้าประชิดที่ตั้งยิง ป.ของฝ่ายเราได้  สามารถเข้ามาจ่อยิงปืนใหญ่ของฝ่ายเราได้  จึงได้รายงานไปยัง บก.  ขอรับการสนับสนุนทุ่นระเบิดดักรถถังจำนวนหนึ่ง    แต่หน่วยเหนือไม่ให้การสนับสนุน    คงไม่เชื่อว่ารถถังข้าศึกจะมีขีดความสามารถดังกล่าว แล้ว    การไม่ได้รับการสนับสนุนทุ่นระเบิดดักรถถังทำให้  SR-8  ถูกรถถังข้าศึกบุกเข้าถึงที่ตั้ง ร้อย.ป.  ในอีก  ๕ ปีต่อมา

 

          "สิงห์"ได้ขอรับการสนับสนุน ปกค.๑๕๕  จากหน่วยเหนือ  เนื่องจากปืนใหญ่ที่มีอยู่  (ปบค.๑๐๕ มม.) ยิงไม่ถึงปืนข้าศึก    หน่วยเหนือจึงอนุมัติให้การสนับสนุน ปกค.๑๕๕ มม. ยิงได้ไกล ๑๔,๖๐๐ เมตร  จำนวน  ๔ กระบอก    บก.สั่งให้"สิงห์"ไปหาที่ตั้งยิงให้แก่ ป.ใหม่    "สิงห์"ก็ไปเลือกที่ตั้งยิงบริเวณพื้นที่ด้ายซ้ายของที่ตั้ง ปบค.๑๐๕  ซึ่งเป็นเนินเขาเตี้ยๆ    "สิงห์"เลือกที่ตั้ง ปกค.๑๕๕  แต่ละกระบอกบริเวณหลังเนินเช่นเคย  แต่ระยะห่างระหว่างหมู่ปืนน้อยกว่าของ ปบค.๑๐๕  เนื่องจากพื้นที่จำกัด

          มีเหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างการนำ ปกค.๑๕๕  เข้าที่ตั้งยิงใหม่    "สิงห์"เข้าควบคุมอยู่ที่ ป.หมู่ ๑    พลประจำปืนก็ได้ดำเนินการขุดบังเกอร์ ป.  และพลประจำปืนจนลดลงไประดับคอ  (เมื่อนั่งคุกเข่า)  ทันใดนั้น   ผู้ตรวจการณ์หน้า ป. ก็ส่งข่าวให้ทราบว่า  ข้าศึกได้ยิงปืนใหญ่มาแล้ว    กระสุนนัดแรกยิงมาติดด้านหน้าของเนิน  นัดต่อมาก็ลงด้านหลัง  และใกล้เข้ามาจากทางด้านหลัง  เข้ามาเรื่อยๆ    "สิงห์"ได้ยินเสียงหวีดทุกนัด    ในที่สุด  ก็ได้เผชิญหน้ากับนัดสำคัญ  ได้ยินเสียงหวีดใกล้มาก    "สิงห์"เห็นว่าจะไม่ได้การ  "สิงห์"พร้อมกับลูกน้องอีก  ๑ คน  กระโดดลงในหลุมและหมอบตัวให้ต่ำที่สุด    กระสุนได้ตกลงหลังบังเกอร์  ห่างจากที่หมอบอยู่ประมาณ  ๑๐ เมตร    แต่มิได้เป็นอันตรายเพราะบังเกอร์ได้กั้นสะเก็ดระเบิดเอาไว้

          กำลังพลคนอื่นได้รายงานให้ บก.ทราบว่า  กระสุน ป.ของข้าศึกได้ตกลงหลังของ"สิงห์"    หน.บก.ก็ได้โทรศัพท์สอบถาม"สิงห์"ด้วยความห่วงใยว่าเป็นอันตรายอย่างไร หรือไม่    "สิงห์"ก็แจ้งไปว่าไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด

          ในที่สุด    การเข้าประจำของหน่วยยิงใหม่คือ ปกค.๑๕๕  จำนวน  ๔ หมู่ ก็สำเร็จเรียบร้อย    จะเริ่มเปิดการยิงครั้งแรก  ก็ได้รับรายงานจากนายสิบหัวหน้าของหน่วยยิง ปกค.๑๕๕  ว่าไม่มีเครื่องมือยิง  เครื่องมือวัดระยะและบรรทัดตารางยิง    "สิงห์"ได้รายงานไปยัง บก. ขอให้ส่งเครื่องมือการยิงไปให้โดยด่วน

          ระหว่างที่รอคอยเครื่องมือการยิงอยู่นั้น  หน่วยยิงทั้งสอง  คือ ปบค.๑๐๕  และ ปกค.๑๕๕  ถูกปืนใหญ่ที่ข้าศึกยิงมาจากระยะที่ปืนใหญ่ฝ่ายเรายิงไม่ถึง  (แต่ ปกค.๑๕๕  ยิงถึง)    "สิงห์"จึงได้ริเริ่มการต่อระยะยิง  โดยใช้บรรทัดวัดระยะของ ปบค.๑๐๕  ต่อโดยบรรทัดทำขึ้นเอง (ทำจากไม้ไผ่)  จนได้ระยะที่ ปกค.๑๕๕  ยิงได้ไกลที่สุด    สำหรับมุมสูงที่จะสั่งไปยังหมู่ปืนนั้น    "สิงห์"ได้ทำบรรทัดการยิงชั่วคราวขึ้น  ทำจากไม้ไผ่เช่นเดียวกัน  เทียบกับบรรทัดตารางยิงของ ปบค.๑๐๕  (เอาสมุดตารางยิงของ ปกค.๑๕๕  เป็นหลัก  แล้วใช้เทียบบัญญัติไตรยางค์  ๑๐ เมตร = มุมสูงกี่มิลเลียม)    แล้วก็เปิดการยิงตอบโต้ปืนใหญ่ของข้าศึกอย่างดุเดือด    "สิงห์"จำไม่ได้ว่านานเท่าไร  ฝรั่งจึงส่งเครื่องมือการยิงมาให้

          ข้าศึกได้หยุดการยิงปืนใหญ่  ได้เคลื่อนย้ายไปข้างหลัง  จนพ้นระยะยิง ปกค.๑๕๕ ของฝ่ายเรา  นานๆ จึงลอบเข้ามายิงครั้งหนึ่ง  แล้วรีบถอนปืนใหญ่ไปข้างหลังจนพ้นระยะยิงของปืนใหญ่เรา

 

 

 

         เมื่อที่ตั้งยิง ปกค.๑๕๕  เสร็จเรียบร้อย    "สิงห์"ก็ได้พักค้างคืนที่หน่วยยิง ปบค.๑๐๕  แต่ได้เดินทางไปเยี่ยมถามสารทุกข์สุกดิบทหารของ ปกค.๑๕๕  ทุกวัน    อยู่มาวันหนึ่ง  "สิงห์"ออกจากที่ตั้ง ปบค.๑๐๕  เพื่อไปที่ตั้ง ปกค.๑๕๕      เริ่มออกเดินทางอากาศแจ่มใสดี    เมื่อเดินทางถึงหน้าที่ตั้งหน่วย ปกค.๑๕๕  อากาศกลับมืดมิดลงทันที    "สิงห์"ยังคงเดินทางไปเรื่อยๆ  กำลังจะผ่านเข้าไปในหน่วย    นึกอย่างไรไม่ทราบได้ส่งเสียงเข้าไปก่อนว่า  "วันนี้มาเยี่ยมแล้วนะ"

          เมื่อเข้าไปถึงหน่วยก็เข้าไปคุยกับทหารประจำ ศอย.ปกค.๑๕๕    สักครู่  มีนายสิบคนหนึ่งเข้ามาพบ"สิงห์"  หน้าตาไม่ค่อยดี  ถาม"สิงห์"ว่า  เพิ่งเข้ามาใช่ไหม    "สิงห์"ตอบว่า"ใช่"    เขาบอกว่า  กำลังจะเหนี่ยวไกอยู่แล้ว เห็นคนเดินเข้ามาเป็นเงาๆ  ถ้ายิงก็ตาย

 

          ๔ เดือน  ผ่านไป    "สิงห์"ได้ถูกเปลี่ยนตำแหน่งให้กลับลงไปทำงานที่ บก.  เป็นนายทหารส่งกำลังบำรุง  ก็ได้ทราบว่า  กองร้อยข้างหน้าเกิดความวุ่นวายขึ้น  ทหารได้ตะโกนว่า  "เอา สิงห์ ของเราคืนมา"    อาจจะเป็นการปกครองแบบ "เพื่อนร่วมตาย" กระมัง

          ทาง บก. ได้อนุมัติให้"สิงห์"เดินทางกลับมาพักผ่อนและฟื้นฟู (R&R - Rest and Resuscitation) ที่เมืองไทย  ๗ วัน    ได้พบบิดามารดา  ท่านเล่าให้ฟังว่า  ลูกเคยเดินทางกลับบ้านที่กรุงเทพฯ ทุกสัปดาห์  อยู่ๆ ก็หายไปเลย    จึงออกตาม  ถามใครก็ไม่มีใครบอก    จนกระทั่งไปรู้ความจริงจากนายทหารคนสนิทของผู้บังคับบัญชาชั้นสูงมารดาทราบเรื่องนี้ ก็ร้องไห้    บิดาบอกมารดาว่า "สิงห์"เป็นทหาร  เป็นคนของหลวงต้องปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา

          ระหว่างไปปฏิบัติงานที่ บก.  ได้ทำหน้าที่ ฝอ.๔  มีหน้าที่กำหนดรายการอาหารส่งไปยังเมืองไทย  (บก.๓๓๓)  ทุกวัน    การประกอบเลี้ยง  หมวดสูทกรรมของ บก.  จะประกอบเลี้ยงทหารที่ บก.  และกองร้อย เอสอาร์  โดยบรรทุกอาหารไปส่งให้ที่ กองร้อย เอสอาร์ทุกวัน

          มีอยู่วันหนึ่ง  ฝนตกหนักมากน้ำท่วมเส้นทางที่จะไป ร้อย.ป.เอสอาร์  เพราะระดับน้ำสูงถึงศีรษะ  รถยนตร์ไม่สามารถบรรทุกอาหารเข้าไปยัง  ร้อย.ป.เอสอาร์ ข้างหน้าได้    หน.บก.คนใหม่  (ชื่อ คเชนทร์)  หน้าตาเคร่งเครียด  ไม่สามารถนำอาหารไปส่งให้ข้างหน้าได้  จึงมาปรึกษากับ"สิงห์"ว่า  จะทำอย่างไรดี    "สิงห์"ให้คำแนะนำว่า  ควรจะขอรับการสนับสนุนรถถังไปยังหน่วยทหารท้องถิ่น  เพราะรถถังแล่นในน้ำได้    หน.บก.ก็โทรศัพท์ขอรถถังมา  ๑ คัน    แล้วสั่งให้"สิงห์"นำไปส่งในคืนนั้น    "สิงห์"ก็นำอาหารบรรทุกไปบนรถถัง  (มิได้เอาใส่ในตัวรถ)  แล้ว"สิงห์"เองก็นั่งอยู่กับอาหารที่วางอยู่บนรถถัง  แล่นลอยน้ำไปส่งให้ทหาร    จนทหารมีอาหารรับประทานในคืนนั้น 

 

 

PT 76   รถถังลอยและแล่นในน้ำได้ของสหภาพโซเวียต  ที่ทหารท้องถิ่นของประเทศที่สามมีใช้

(ไม่ใช่ภาพในเหตุการณ์)

 

 

          เมื่อการปฏิบัติผ่านไป  ๗ เดือน    หน่วยเหนือได้ส่งหน่วยปืนใหญ่มาสับเปลี่ยน  เรียกนามหน่วยว่า  "SR-2"    SR-2  เป็นหน่วยมาจากเมืองหลวงโดยสนธิกำลังจากหน่วยปืนใหญ่หลายหน่วย

          ในห้วงเวลาเหล่านั้น  ประเทศไทยได้ส่งทหารทุกเหล่าทัพเดินทางไปปฏิบัติการยังประเทศที่สาม  โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ    ในการรบนั้น  ทหารไทยได้บาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก  ได้ประกอบวีรกรรมไว้มากมาย  แต่มิได้มีชื่อปรากฏเหมือนสงครามโลกครั้งที่ ๑  และครั้งที่ ๒    เอสอาร์ ๑  ประกอบวีรกรรมและชื่อเสียงไว้พอสมควร    แต่ไม่ปรากฏวีรกรรมที่เด่นชัด    คนไทยไม่ค่อยทราบกันทั่วไป  เพราะเป็นการปฏิบัติการลับ

 

เหตุการณ์ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้  เป็นสถานการณ์จริง

มิได้แต่งขึ้นเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน ตื่นเต้น  แต่อย่างใด

 

                                                                                                                       "สิงห์"

 

 

 

ครับ  .  .  .  ถึงกระนี้กระนั้นกระไรก็ตาม  กระผมก็อดมิได้ที่จะเห็นจุดที่น่าสนใจในข้อเขียนของท่านดังนี้ครับ

          ๑.  การรักษาความลับของทางราชการ    ทุกคนเก็บรักษาความลับไว้กับตัวเองเท่านั้น

          ๒. ความพร้อมรบของหน่วย    เมื่อได้รับคำสั่งแล้วก็สามารถเคลื่อนพลได้ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง

          ๓. การแก้ปัญหาของหน่วยปฏิบัติในสนาม    จะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องเครื่องโทรศัพท์ที่ใช้ในการระวังป้องกัน ก็ดี    การแก้ปัญหาเรื่องเครื่องมืออำนวยการยิงปืนใหญ่ขนาด ๑๕๕ มิลลิเมตร ก็ดี  การแก้ปัญหาเรื่องการส่งอาหารให้หน่วยในสถานการณ์น้ำท่วมถึงศีรษะ ก็ดี    และคงมีปัญหาข้อขัดข้องให้หน่วยดำเนินการโดยที่ท่านไม่ได้บันทึกมาให้ก็คงจะมีอีก  อันทำให้หน่วยบรรลุภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้ด้วยดี

          ๔. ส่วนข้อพกพร่องที่เห็นชัดเจนคือ  เรื่องการข่าว   หน่วยเหนือไม่มีข่าวกรองข่าวสารให้หน่วยเลย  หน่วยก็ต้องแสวงหาจากชาวบ้าน  หรือ  ไม่ทราบว่าข้าศึกใช้รถถังในพื้นที่การรบ ดังที่ "สิงห์"  ได้เล่าไว้นั้น  ถือว่าเป็นข้อบกพร่องสำคัญมาก   นะครับ    

          ครับ  .  .  .  เท่านี้ก่อนนะครับ    เชิญท่านที่มีความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกันด้วยนะครับ    ขอบคุณครับ                 

                                                                                        ภูสิน




บทความจากสมาชิก




แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker