dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



ห้วยโก๋น ๒๕๑๘ (๓) - การรบที่ฐานปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋น
วันที่ 16/02/2020   20:32:53

*  *  *

ห้วยโก๋น  .  .  .

          ดินแดนที่เป็นบ้านห้วยโก๋นในปัจจุบันเดิมมีชนพื้นเมือง (เผ่าขมุ)  ตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว  ซึ่งชนกลุ่มนี้ได้อาศัยอยู่กันเป็นกลุ่มๆ  ตามเชิงเขา  มีอาชีพเพาะปลูก  และเลี้ยงสัตว์

 

 

 

 

ชาวขมุ   ในแคว้นลานนา

คราวเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ที่เชียงใหม่

 

          ประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๘    ประชาชนกลุ่มหนึ่งได้หลบหนีการกดขี่ของรัฐบาลเจ้าอาณานิคมมาจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร  ตั้งถิ่นฐานทำมาหากินในตำบลปอน  อำเภอทุ่งช้าง  จังหวัดน่าน  

            พ.ศ.๒๔๘๐    อำเภอทุ่งช้างได้มีคำสั่งแต่งตั้งนายยศ  มีสา เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก และตั้งกลุ่มบ้านห่างและบ้านห้วยแหว  ขึ้นเป็น หมู่ที่ ๖  ตำบลปอน  อำเภอทุ่งช้าง  จังหวัดน่าน

            พ.ศ.๒๔๘๒ - ๒๔๘๓    เกิดกรณีพิพาทอินโดจีน  ทางการจึงมีการตรึงกำลังทหารในแนวชายแดน  ที่บริเวณหมู่บ้านห้วยโก๋น นี้ 

            พ.ศ.๒๔๘๕    สงครามมหาเอเซียบูรพายุติลง    ประเทศไทยต้องคืนดินแดนฝั่งซ้ายแม่นํ้าโขงให้แก่ฝรั่งเศสซึ่งได้มาครั้งเกิดกรณีพิพาทอินโดจีนให้แก่ฝรั่งเศส   

            พ.ศ.๒๔๙๐    ชนกลุ่มที่อาศัยอยู่บ้านห่าง  บ้านห้วยแหว  ย้ายกลับไปเมืองเงิน  ประเทศลาว  คงเหลือครอบครัวอาศัยอยู่ที่บ้านห้วยโก๋นเช่นเดิมประมาณ  ๕๐ ครอบครัว

            พ.ศ.๒๔๙๑    ประชาชนอพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้านอีกครั้ง  ครั้งนี้หนีไปอยู่บ้านสบและ  ริมแม่นํ้าน่าน (บ้านห้วยโก๋นเก่า) รวมกับอีก  ๕๐  ครอบครัว  ที่อยู่เดิม    มีนายทิ   คณะทิพย์  เป็นผู้ใหญ่บ้าน

            พ.ศ.๒๔๙๗ – ๒๔๙๘    นายอำเภอจันทร์  แผลงศร  นายอำเภอทุ่งช้างขณะนั้นได้ขึ้นมาตรวจเยี่ยม  พบว่าราษฎรอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย  จึงให้เข้ามาอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้น  ที่บ้านห้วยแหว    ประมาณ ๑ ปี จึงรวบรวมได้สำเร็จและจัดให้ทำทะเบียนราษฎร์ให้แก่ประชาชนจนครบ

            พ.ศ.๒๕๑๑ – ๒๕๑๒    หมู่บ้านตามแนวชายแดนไทย - ลาว บริเวณอำเภอทุ่งช้าง  อำเภอบ่อเกลือ  ถูกผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์รุกรานทำให้เดือดร้อน    นายสนิท  รุจิณรงค์  นายอำเภอทุ่งช้างขณะนั้นจึงสั่งให้ช่วยเหลือราษฎรที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนอย่างเต็มที่   

          นายทอง  มีสา  ผู้ใหญ่บ้าน  ได้อพยพลูกบ้านมาอยู่ที่บ้านปอน  ตำบลปอน  อำเภอทุ่งช้าง  เมื่อวันที่  ๑๘  มีนาคม  ๒๕๑๒   และต่อมาได้ขยับขยายไปอยู่บ้านหล่ายทุ่ง  อำเภอทุ่งช้าง    สำหรับราษฎรอีกจำนวนได้อพยพกลับไปประเทศเพื่อนบ้าน  ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง

          พ.ศ.๒๕๑๘    ราษฎรที่ลงมาอยู่บ้านปอน  ต่างทยอยกลับไปอยู่บ้านห้วยโก๋นอีกครั้งหนึ่ง    สาเหตุที่กลับไปอยู่บ้านห้วยโก๋น  เพราะที่บ้านปอน ไม่มีที่ทำมาหากิน  ความเป็นอยู่ลำบาก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ครับ  .  .  .  รู้จักบ้านห้วยโก๋น  กันแล้ว    เชิญติดตามสถานการณ์ กันเลย นะครับ   

 

สถานการณ์ฝ่ายข้าศึก

          พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย  (พคท.) ได้ขยายอิทธิพลเข้ามาในพื้นที่น่านตอนบน สามารถจัดตั้งเป็นเขตงานที่ ๑ (ผาแดง)  และ เขตงานที่ ๔  (น้ำช้าง)  เป็นฐานปฏิบัติการที่สำคัญในภาคเหนือ  เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ 

          นับว่าเป็นความก้าวหน้าทางการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย  จึงต้องการมีชัยชนะทางทหารอีกด้วยการยึดฐานปฏิบัติการของฝ่ายเราให้ได้  เพื่อจะสถาปนาเป็นเขตปลดปล่อย  

 

สถานการณ์ฝ่ายเรา

          กองทัพภาคที่ ๓  จัดกำลังเข้าปราบปราม ผกค.ในพื้นที่ภาคเหนือ  ดังนี้

               กองพลทหารราบที่ ๔    จัดกำลังเข้าปราบปราม ผกค.ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย  และจังหวัดเพชรยูรณ์

               กองพลทหารม้า    จัดกำลังเข้าปราบปราม ผกค.ในพื้นที่จังหวัดน่าน   

 

ห้วยโก๋น  .  .  .  ๙  เมษายน  ๒๕๑๘

          ต่อไปนี้  เป็นบทความที่ผมเคยนำลงในนิตยสารทหารปืนใหญ่  ของศูนย์การทหารปืนใหญ่ เมื่อ  ประมาณ  พ.ศ.๒๕๑๙ - ๒๕๒๐    และใน พ.ศ.๒๕๔๑  ได้นำลงตีพิมพ์ในหนังสือยุทธโกษ  ของกรมยุทธศึกษาทหารบกอีกครั้ง ในชื่อเรื่อง "ทหารปืนใหญ่กับการรบที่ฐานปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋น"  ซึ่งได้กล่าวถึงเทคนิคการยิงปืนใหญ่อย่างค่อนข้างละเอียด  เพื่อให้เป็นไปตามหัวเรื่อง  .  .  .  การนำมาเผยแพร่ในครั้งนี้  ได้ปรับปรุงรายละเอียดเพียงเล็กน้อย    แต่สาระสำคัญคงเป็นไปดังที่ได้เคยพิมพ์มาแล้วทั้งสองครั้ง  .  .  .  เชิญครับ 

 

 

 

 

  

  

 

 

 

        เพื่อที่จะเข้าใจเหตุการณ์ได้ดี    กรุณาติดตามเรื่องราวทั่วๆ ไป    ดังนี้

 

๑.  พื้นที่ปฏิบัติการ

    ก. ลักษณะทั่วไป

             ๑)  สภาพภูมิประเทศและลมฟ้าอากาศ

          จังหวัดน่านตั้งอยู่ในเขตอากาศแบบซาวันนา  (Savanna)  อากาศหนาวจัดในฤดูหนาว  ร้อนจัดในฤดูร้อน    ภูมิประเทศเป็นป่าทึบ  และภูเขาสูงอากาศเย็นกว่าจังหวัดในภาคกลาง    และมีฝนตกชุก

          - ฤดูร้อน    เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม  ถึงเดือนเมษายน    อากาศร้อนอบอ้าว    อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยประมาณ  ๓๖ องศาเซลเซียส    ในบางวันอาจสูงถึง  ๔๕ องศาเซลเซียส

          - ฤดูฝน    ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม  ถึงเดือนกันยายน    เป็นระยะที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้นำฝนเข้ามาตก    ในตอนต้นฤดู  อากาศยังตงร้อนอบอ้าว  และจะค่อยๆ เย็นลง เมื่อฝนเริ่มตกชุกในราวๆ กลางเดือนพฤษภาคม    ฝนจะตกชุกมากที่สุดในระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน

          - ฤดูหนาว    ตั้งแต่เดือนตุลาคม  ถึงเดือนกุมภาพันธ์  เป็นระยะที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เปลี่ยนเป็นลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ    อากาศจะเย็นที่สุดระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม    บางวันอุณหภูมิลดถึง  ๔ - ๕ องศาเซลเซียส

           ก)  อุณหภูมิ    ฤดูร้อน  อุณหภูมิจะเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์  เป็นต้นไป    จนถึงเดือนเมษายน  จะร้อนที่สุด  อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยประมาณ  ๓๖ องศาเซลเซียส  และเริ่มลดลงในฤดูฝน  อากาศจะเย็นสบาย  อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ  ๒๗ องศาเซลเซียส      และจะลดต่อไปในฤดูหนาว  อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยประมาณ  ๑๓ องศาเซลเซียส

            ข)  ฝน    จังหวัดน่านได้รับฝนจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้  ซึ่งพัดเอาความชุ่มชื้นมาจากมหาสมุทรอินเดีย  และเนื่องจากภูมิประเทศเป็นป่าทึบและภูเขาจึงมีความชุ่มชื้นมาก  ทำให้ฝนตกมาก   ฝนจะเริ่มตก ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม  และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  จนถึงเดือนสิงหาคม  ฝนจะตกประมาณ  ๒๐ วัน    ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย  ๓๐๐ มิลลิเมตร/ปี    ปริมาณน้ำฝนจะเริ่มลดลงตั้งแต่เดือนกันยายน  เป็นต้นไป

            ค)  ลม    ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์  ถึงเดือนกันยายน  จะเป็นลมฝ่ายใต้  ความเร็วประมาณ  ๑ นอต    ในวันที่มีฝนตกฟ้าคะนอง  ลมอาจแรงถึง  ๕๐ นอต    ประมาณเดือนตุลาคม  จะเป็นลมฝ่ายตะวันออกกำลังอ่อน  ความเร็วสูงสุดอาจถึง  ๑๘ นอต    ในบางปีอาจมีดีเปรสชั่นระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม  ลมจะเปลี่ยนทิศทางจากลมตะวันออกเป็นลมฝ่ายเหนือ

            ง)  ทัศนวิสัย    เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าและภูเขา    จึงมีหมอกควันเป็นอุปสรรคต่อการตรวจการณ์    ในฤดูร้อนจะมีหมอกแดดหรือฟ้าหรัว  ทัศนวิสัยประมาณ  ๕ กิโลเมตร    ในฤดูฝนทัศนวิสัยดี  ไม่มีหมอกควันหรือฟ้าหรัว  เว้นแต่ขณะฝนตก    ส่วนในฤดูหนาว  ในตอนเช้าจะมีหมอกหนา  โดยเฉพาะบริเวณภูเขา  ทัศนวิสัยอาจจะไม่ถึง  ๑ กิโลเมตร

 

 

 

เช้าตรู่ในฤดูหนาว  บนดอยเมืองน่าน     

น่าจะเป็นที่ตั้งยิงปืนใหญ่ที่ กม.๒๑  เพราะมีร่องรอยการก่อสร้างทาง

 

        ๒)  ภูมิประเทศ

            ก)  ที่สูงต่ำและระบบทางน้ำไหล   พื้นที่ของจังหวัดน่านโดยท้วไปเป็นภูเขา  เฉลี่ยแล้วสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ  ๘๐๐ เมตร    โดยเฉพาะทางตอนเหนือ  ตะวันตก  และตะวันออก มีภูเขาสลับซับซ้อนเรื่อยลงมาคล้ายๆ รูปนิ้วมือ  แผ่ชี้จากเหนือลงมาทางใต้    ด้านตะวันออกจะเป็นเทือกเขาหลวงพระบาง  ซึ่งแบ่งน้ำลงแม่น้ำโขงทางตะวันออก  และแม่น้ำน่านทางตะวันตก    ส่วนสาขาต่างๆ ทางตะวันตกของแม่น้ำน่าน (ฝั่งขวา)  จะได้รับน้ำจากทิวเขาผีปันน้ำ    พื้นที่ราบของจังหวัดน่านได้แก่  พื้นที่บริเวณสองฝั่งลำน้ำน่าน    ลำน้ำสายสำคัญ ได้แก่  ลำน้ำน่าน  สาขาที่สำคัญของลำน้ำน่าน ได้แก่  น้ำและ  น้ำกอน  น้ำปัว  เป็นต้น

          น้ำน่าน    ต้นน้ำเกิดจากดอยขุนน่าน  หรือดอยหญ้าหวาย เทือกเขาหลวงพระบางทางตอนเหนือของจังหวัดน่าน ในเขตท้องที่อำเภอปัว    ในตอนต้นน้ำ    น้ำน่านจะไหลขึ้นเหนือ แล้ววกไปทางตะวันตกเข้าเขตอำเภอทุ่งช้าง  ไหลลงใต้ผ่านอำเภอปัวอีกครั้ง  ผ่านอำเภอเชียงกลาง  อำเภอท่าวังผา  อำเภอเมืองน่าน  อำเภอสา  อำเภอนาน้อย  และไหลเข้าสู่จังหวัดอุตรดิตถ์  พิษณุโลก  พิจิตร  และนครสวรรค์  รวมกับน้ำปิงที่ตำบลแควใหญ่  อำเภอเมืองนครสวรรค์    รวมความยาวของน้ำน่านประมาณ  ๗๔๐ กิโลเมตร

          ลักษณะต้นน้ำน่าน  ปกคลุมด้วยป่าดงดิบ  ผ่านไปตามช่องเขาแคบๆ  พื้นท้องน้ำเป็นกรวด  ทราย และหินขนาดเขื่อง  ตลิ่งสูงชันเป็นส่วนมาก    ในฤดูแล้ง  น้ำน่านจะตื้นเขิน  ประมาณ  ๓๐-๕๐ เซนติเมตร    ใช้เป็นทางเดินเท้าได้ดีกว่าเสันทางบนสันเขา    ในฤดูฝน  น้ำจะท่วมตลิ่งบางแห่ง  กระแสน้ำเชี่ยว  และขุ่นข้น  ลาดของร่องน้ำมีความสูงต่ำต่างกันมาก    ลักษณะเช่นนี้เป็นไปจนถึงอำเภอทุ่งช้าง  ร่องน้ำจึงกว้างขึ้นตามลำดับ  จนถึงอำเภอเมืองน่าน    ความกว้างเฉลี่ยประมาณ  ๒๐๐ เมตร    ในบางแห่งยานพาหนะลุยข้ามได้

          น้ำและ    ต้นน้ำเกิดจากดอยขุนน้ำและ ในเขตอำเภอทุ่งช้าง    ไหลลงน้ำน่านที่บ้านสบและ  อำเภอทุ่งช้าง  (เดิมอำเภอทุ่งช้าง ชื่ออำเภอและ)

          น้ำกอน    ต้นน้ำเกิดจากดอยขุนน้ำกอน ในเขตอำเภอเชียงกลาง    ไหลลงน้ำน่านที่บ้านสบกอน   อำเภอเชียงกลาง

          น้ำปัว    ต้นน้ำเกิดจากดอยขุนน้ำปัว ในเขตอำเภอเชียงปัว    ไหลลงน้ำน่านที่บ้านสบปัว   อำเภอปัว

          น้ำยาว    ต้นน้ำเกิดจากดอยยาว  ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอทุ่งช้างใกล้เขตติดต่อกับจังหวัดเชียงราย และพระราชอาณาจักรลาว  ไหลลงทางทิศใต้ลงน้ำน่านที่บ้านสบยาว  อำเภอท่าวังผา

           ข)  พืชพันธุ์ไม้    พืชพันธุ์ไม้ต่างๆ ในจังหวัดน่าน  แบ่งได้เป็น  ๓ ประเภทคือ 

                (๑)  ป่าทึบ    ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณภูเขาทางทิศเหนือ  ทางตะวันออก  และทางตะวันตกของจังหวัด   บริเวณป่าทึบจะจำกัดการเคลื่อนที่ของหน่วยทหารขนาดใหญ่  และเส้นทางจำกัด  ไม่สามารถเคลื่อนที่ออกนอกเส้นทางได้

                (๒)  ป่าโปร่ง    มีปะปนอยู่ทั่วไปในบริเวณภูเขา  และพื้นราบ    ได้แก่  ป่าแดง  หรือป่าแพะ และป่าละเมาะต่ำ    ยานพาหนะพอที่จะผ่านไปได้  พื้นดินจะเป็นลูกรังพื้นแข็ง  แต่ป่าละเมาะต่ำพื้นจะเป็นดินเหนียวปนทรายอ่อน                

                (๓)  พื้นที่เพาะปลูก    ส่วนมากอยู่ในเขตตอนกลางของจังหวัด และตามที่ราบสองฝั่งน้ำน่าน และสาขาต่างๆ    ในฤดูฝน  พื้นที่เพาะปลูกโดยเฉพาะไร่และนา  จะเป็นอุปสรรคในการเคลื่อนที่ด้วยยานพาหนะ  ส่วนในฤดูอื่นสามารถดัดแปลงให้เป็นทางชั่วคราวได้บ้าง

            ค)  ลักษณะผิวดิน    ตามพื้นราบจะเป็นดินปนทราย  พื้นที่เนินส่วนใหญ่เป็นลูกรัง  สามารถรับน้ำหนักยานล้อ และสายพานได้    ส่วนในป่าทึบ  ผิวดินเป็นแบบใบไม้ทับถม  ทำให้พื้นดินอ่อน

            ง)  ลักษณะสิ่งปลูกสร้าง      

                (๑)  ทางหลวงสาย ๑๐๑  (ถนนยนตรกิจโกศล)    จากอำเภอศรีสัชนาลัย  ผ่านอำเภอเด่นชัย  อำเภอเมืองแพร่  อำเภอสา  อำเภอเมืองน่าน  เป็นถนนผิวราดยาง    สะพานคอนกรีตทั้งหมดรับน้ำหนักได้  ๓๐ ตัน

                (๒)  ทางหลวงสาย ๑๐๘๐    จากอำเภอเมืองน่าน  อำเภอท่าวังผา  อำเภอปัว  อำเภอเชียงกลาง  อำเภอทุ่งช้าง  บ้านน้ำเลียง  บ้านห้วยโก๋น  เป็นถนนราดยาง  สะพานคอนกรีต  กว้าง  ๖ เมตร  รับน้ำหนักได้  ๔๐ ตัน  ถึงบ้านน้ำเลียง    จากบ้านน้ำเลียงไปอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง  แต่สะพานเป็นคอนกรีต เช่นกัน      

                (๓)  ทางหลวงสาย ๑๐๘๑    จากอำเภอปัว  บ้านศิลาเพชร  บ้านน้ำยาว  บ้านผักเฮือก  บ้านบ่อหลวง (บ่อเกลือใต้)  บ้านบ่อหยวก (บ่อเกลือเหนือ)  บ้านสบกั่น  บ้านง่อมเปา  บ้านห้วยโก๋น  (เลียบชายแดน  บรรจบกับทางหลวงสาย ๑๐๘๐)  เป็นถนนราดยางถึงบ้านน้ำยาว    ต่อจากนั้น  อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง

 

    ข. หมู่บ้านห้วยโก๋น

           ๑)  เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลงอบ  อำเภอทุ่งช้าง    อยู่ห่างจากชายแดนไทย - ลาว  ประมาณ  ๕ กิโลเมตร

           ๒)  มีประชากรประมาณ  ๕๐ หลังคาเรือน  เป็นไทยลื้อ และถิ่น  รวมประมาณ  ๓๐๐ คน    ซึ่งประชากรเหล่านี้ส่วนมากติอต่อกับเมืองเงืนในพระราชอาณาจักรลาว  เนื่องจากม่เส้นทางเดินติดต่อถึงกันได้สะดวก

           ๓)  มีการติดต่อกับหมู่บ้านต่างๆ ในเขตไทยเป็นไปอย่างลำบาก  เพราะไม่มีเส้นทางคมนาคม    เส้นทางเดินที่มีอยู่ก็ผ่านเขาสูงชันและป่าทึบ

           ๔)  ช่องทางติดต่อกับประเทศข้างเคียง    ชายแดนในเขตจังหวัดน่านมีช่องทางติดต่อกับประเทศข้างเคียง (ลาว)  ได้หลายเส้นทาง  แต่ที่เข้าสู่บ้านห้วยโก๋นได้  มีดังนี้

                    ก)  ช่องกิ่วไม้แป้น    เป็นเส้นทางเข้าสู่บ้านสบปืน  แต่มีทางแยกเข้าสู้บ้านห้วยโก๋นได้   ช่องดงข่อย    เป็นเส้นทางจากบ้านดีหมี และเมืองเงินในเขตลาวเข้าสู่บ้านห้วยโก๋น   ระยะทางจากชายแดนถึงบ้านห้วยโก๋นประมาณ  ๕ กิโลเมตร

                    ข)  ช่องดงข่อย    เป็นเส้นทางจากบ้านดีหมี และเมืองเงินในเขตลาวเข้าสู่บ้านห้วยโก๋น   ระยะทางจากชายแดนถึงบ้านห้วยโก๋นประมาณ  ๕ กิโลเมตร     

                    ค)  ช่องบ้านหนองคำ    จากชายแดนเส้นทางนี้จะผ่านเข้าสู่บ้านหนองคำ  และมีทางแยกไปบ้านห้วยโก๋น ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของบ้านหนองคำประมาณ  ๗ กิโลเมตร

 

 

 

 

แผนที่สังเขป  บริเวณบ้านห้วยโก๋น  แสดงเส้นทางสาย  ๑๐๘๐    ๑๐๘๑ 

และช่องทางเข้าสู่บ้านห้วยโก๋น   พ.ศ.๒๕๑๘

 

        ๕)  ความสำคัญของบ้านห้วยโก๋น 

           จะเห็นได้ว่าบ้านห้วยโก๋น เป็นปมคมนาคมหนึ่งในบริเวณนี้  ซึ่งฝ่ายตรงข้ามใช้เป็นเส้นทางแทรกซึม และส่งกำลังจากภายนอกประเทศ    ด้วยเหตุนี้  ฝ่ายเราจึงได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการขนาด  ๑ หมวดเพิ่มเติมกำลัง ขึ้น  ตั้งแต่เดือนตุลาคม  ๒๕๑๔  เพื่อ

            - สกัดเส้นทางแทรกซึม และส่งกำลังจากภายนอกประเทศ

            - คุ้มครองราษฎรบ้านห้วยโก๋น  และปฏิบัติการทางจิตวิทยา

            - คุ้มครองการสร้างทางสายพระราชประสงค์  ดังที่ได้กล่าวแล้ว  ข้างต้น

 

     ค. แง่คิดทางทหารเกี่ยวกับพื้นที่  (เฉพาะพื้นที่บริเวณบ้านห้วยโก๋น)

             ๑)  การตรวจการณ์และพื้นยิง

               เนื่องจากเป็นฐานปฏิบัติการขนาดเล็ก  ตั้งอยู่บนเนินเตี้ยๆ  ห่างจากหมู่บ้านไปทางตะวันตก ประมาณ  ๕๐๐ เมตร  มีเนินต่างๆ อยู่ทั่วไปโดยรอบ    การตรวจการณ์และพื้นยิงในบริเวณหลังเนินจึงเป็นไปอย่างจำกัด    แต่ทางตะวันออกสามารถตรวจการณ์ได้ดีและมีพื้นยิงดี

             ๒)  ภูมิประเทศสำคัญ

               มีภูมิประเทศสูงข่มอยู่โดยรอบ  นอกจากด้านตะวันออก

             ๓)  เครื่องกีดขวาง

                  ก)  กับระเบิด    หน่วยได้วางกับระเบิดไว้รอบฐานมีทั้ง  พลุสะดุด  เคลโมร์  และกับระเบิดแสวงเครื่อง  ทำด้วยลูกยิงขนาด  ๘๑ มิลลิเมตร  จำนวนไม่มากนัก  (ประมาณ  อย่างละ  ๒ ลูก)

                  ข)  ลวดหนาม  และลวดหนามหีบเพลงรอบฐาน    ไม่มี

             ๔)  การกำบังและซ่อนพราง

                    ที่พักภายในฐานได้สร้างแบบหลังคาปิด  โดยใช้ไม้ปู เอาดินกลบ  แล้วมุงด้วยแฝกเพื่อกันฝน สร้างเป็นวงกลมรอบฐาน

             ๕)  เส้นทางเข้า

                 สามารถเข้าสู่ฐานได้โดยรอบทุกทิศทาง  แต่ที่สะดวกที่สุด  คือทางด้านตะวันออก  เส้นทางจากหมู่บ้านห้วยโก๋นซึ่งอยู่ห่างไป  ประมาณ  ๕๐๐ เมตร 

                   มีสนามเฮลิคอปเตอร์  อยู่ทางด้านตะวันออกของฐานฯ  ระหว่างฐานฯ กับ หมู่บ้าน

 

๒. การจัดกำลังของกองพลทหารม้าส่วนหน้า  (พล.ม.สน.)

          ในรอบปีงบประมาณ  ๒๕๑๘    พล.ม.สน.ได้จัดกำลังเพื่อปราบปราม ผกค.ในพื้นที่จังหวัดน่าน  ดังนี้

 

 

 

 

    ก. ความรับผิดชอบในการจัดหน่วย

            หน่วยต่างๆ  ตามผังการจัดข้างต้น    ได้จัดกำลังจากหน่วยปรกติ  ดังนี้

          ๑)  พัน.ร.๒๑๒ พล.ม.สน.    จัดจาก  ร.๒๑ รอ.ฯ    โดย ร.๒๑ พัน.๒ รอ.ฯ  จัด  บก.พัน.และร้อย.บก.    มีกำลัง  ๕ กองร้อยปืนเล็ก

          ๒)  พัน.ม.๑๑๓ พล.ม.สน.    จัดจาก  ม.๑ รอ.  โดย ม.๑ รอ. จัดบก.พัน.  มีกำลัง  ๒ กองร้อยปืนเล็ก

          ๓)  พัน.ม.๒๖๗ พล.ม.สน.    จัดจาก  ม.๒ และ นขต.ม.๒  มีกำลัง  ๕ กองร้อยปืนเล็ก

          ๔)  พัน.ป.๒๐๑ พล.ม.สน.    จัดจาก  ป.พัน.๒๐  มีกำลัง  ๑ กองร้อยปืนใหญ่  (๖ กระบอก)

 

    ข. การแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ

        พล.ม.สน. รับผิดชอบการปราบปราม ผกค.ในพื้นที่จังหวัดน่านทั้งหมด    และได้แบ่งออกเป็นพื้นที่ปฏิบัติการให้หน่วยรองหลักรับผิดชอบ  ดังต่อไปนี้

        ๑)  พัน.ร.๒๑๒ พล.ม.สน.  รับผิดชอบพื้นที่อำเภอทุ่งช้าง

        ๒)  พัน.ม.๑๑๓ พล.ม.สน.  รับผิดชอบพื้นที่อำเภอเมืองน่าน และอำเภอสา

        ๓)  พัน.ม.๒๖๗ พล.ม.สน.  รับผิดชอบพื้นที่อำเภอปัว และอำเภอเชียงกลาง

        ๔)  การยิงสนับสนุน

              ก)  การยิงสนับสนุนของปืนใหญ่สนาม

                    ตามผังการจัด  จะเห็นได้ว่า  พล.ม.สน.มีปืนใหญ่เพียง  ๑ กองร้อย  (๖ กระบอก)  เท่านั้น

              ข)  การสนับสนุนทางอากาศ

                ตอนการบิน พล.ม.สน.  มี บต.๑๙  ติดจรวด อยู่จำนวนหนึ่ง

 

 

 

เครื่องบินตรวจการณ์   (บต.)  ๑๙    สามารถติดจรวดที่ใต้ปีกได้

 

              ค)  การสนับสนุนทางอากาศยุทธวิธี

                    ได้รับการสนับสนุนจากฐานบินน่าน  (กองทัพอากาศ)  ซึ่งมี บ.จธ.๒  จำนวนหนึ่ง

 

 

 

บ.จธ.๒  เครื่องบินโจมตีธุรการแบบที่ ๒    AU -23 A

บรรจุประจำการ   ปี ๒๕๑๕

           

            ง)  นอกจากนี้  ยังขอรับการสนับสนุนจาก  กองทัพภาคที่ ๓  ส่วนหน้า  (ทภ.๓ สน.)  ได้อีก
 

 

๓. พัน.ร.๒๑๒ พล.ม.สน.     ได้วางกำลังตามฐานปฏิบัติการต่างๆ  ดังนี้

          ก. บก.พัน.และร้อย.บก.             บ้านแพะกลาง    อำเภอทุ่งช้าง

          ข. ร้อย.ร.๒๑๒๑                         ฐานปฏิบัติการบ้านปางหก

          ค. ร้อย.ร.๒๑๒๒                         ฐานปฏิบัติการบ้านบวกหญ้า

          ง. ร้อย.ร.๒๑๒๓                          ฐานปฏิบัติการ กม.๒๑

              ๑) บก.ร้อย.และ มว.ปล.ที่ ๑     ฐานปฏิบัติการ กม.๒๑

              ๒) มว.ปล.ที่ ๒                            ฐานปฏิบัติการบ้านสบปืน

              ๓) มว.ปล.ที่ ๓                            ฐานปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋น 

 

๔. พัน.ป.๒๐๑ พล.ม.สน.

          พัน.ป.๒๐๑ พล.ม.สน.  ประกอบด้วย  บก.พัน.และร้อย.บก. กับ ร้อย.ป.๒๐๑๑  ซึ่งประกอบด้วย  ๓ ส่วนยิง  (ชุดปฏิบัติการ ป.)  แต่ละชุดสามารถปฏิบัติการในที่ตั้งยิงได้อย่างต่อเนื่อง  ไม่จำกัดเวลา  โดยได้รับการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติมจากหน่วยเหนือ  และหน่วยดำเนินกลยุทธ์ต้องจัดการระวังป้องกันให้    นอกจากนี้  ชุดปฏิบัติการ ป.ยังมีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่สูง    สามารถเคลื่อนที่ด้วยการบรรทุกต่าง  หรืออากาศยานได้อีกด้วย  เมื่อได้รับการสนับสนุนสัตว์ต่าง  หรืออากาศยาน    นอกเหนือไปจากการเคลื่อนที่ด้วยยานพาหนะของหน่วย

 

 

 

ผังการจัด พัน.ป.๒๐๑ พล.ม.สน. 

 

 

 

 

ปืนใหญ่เบากระสุนวิถีโค้งขนาด  ๗๕ มม. (ถอดบรรทุก)  อาวุธหลักประจำหน่วย  พัน.ป.๒๐๑ พล.ม.สน.

 

ที่ตั้งของ  พัน.ป.๒๐๑ พล.ม.สน. และหน่วยรองใน  ๘  เมษายน  ๒๕๑๘  

          - บก.พัน.และร้อย.บก., ร้อย.ป.๒๐๑๑ฯ      ที่ตั้งประจำ  อำเภอปัว 

          - ชุดปฏิบัติการ ป.๒๐๑๑/๑    ที่ตั้งยิงฐานปฏิบัติการ กม.๒๑  บนเส้นทางสายพระราชประสงค์ ร่วมกับ ร้อย.ร.๒๑๒๓

          - ชุดปฏิบัติการ ป.๒๐๑๑/๒    ที่ตั้งประจำ  อำเภอปัว  

          - ชุดปฏิบัติการ ป.๒๐๑๑/๓    ที่ตั้งยิงชั่วคราวที่กองร้อยชาวเขาอาสาสมัครที่ ๒๑  บ้านน้ำลาด  อำเภอทุ่งช้าง    (ร้อย.ชขส.๒๑)

 

 

 

แผนที่สังเขปบริเวณบ้านห้วยโก๋น

แสดงการวางกำลัง  ของ พัน.ร.๒๑๒ฯ    ร้อย.ร.๒๑๒๓ฯ    พัน.ม.๒๖๗ฯ    พัน.ป.๒๐๑ฯ  ร้อย.ป.๒๐๑๑ฯ     เส้นทางสาย  ๑๐๘๐    ๑๐๘๑

และช่องทางเข้าสู่บ้านห้วยโก๋น    

 

๕. ฐานปฏิบ้ติการบ้านห้วยโก๋น

       ก. กำลังฝ่ายเราภายในฐาน

                ๑)  มว.๓  ร้อย.ร.๒๑๒๓ฯ

                ๒)  ค.๔.๒ นิ้ว  จำนวน  ๑ หมู่

                ๓)  ค.๖๐ มม.  จำนวน  ๑ หมู่

                    กำลังพลรวมทั้งสิ้น  ประมาณ  ๗๐ นาย

       ข. กำลังยิงจากภายนอกฐาน

                  สามารถร้องขอการยิงจากปืนใหญ่สนามจากที่ตั้งยิงฐานปฏิบัติการ กม.๒๑    ซึ่งอยู่ห่างไปทางทิศตะวันตก  ประมาณ  ๗ กิโลเมตรได้    ซึ่งได้วางจุดระดมยิงในการตั้งรับ  (Defensive Concentration - Def.Con.)  ไว้แล้วรอบฐาน  และได้ปรับการยิงไว้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว

 

๖.  สถานการณ์ที่ฐานปฏิบ้ติการบ้านห้วยโก๋น  .  .  .  ๙  เมษายน  ๒๕๑๘   


 

 

 

    ๖.๑  ฐานปฏิบ้ติการบ้านห้วยโก๋น

                      กองกำลัง ผกค.ประมาณ  ๒๐๐ คน  เข้าตีฐานฯ บ้านห้วยโก๋น  โดยคาดว่าได้เริ่มเคลื่อนที่เข้าหาฝ่ายเราตั้งแต่เวลาประมาณ  ๐๒๐๐  

                      เมื่อเวลาประมาณ  ๐๔๕๐  พลุสะดุดทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของฐานฯ ได้แตกสว่างขึ้น    ยามผลัดสุดท้ายของฐานฯ เข้าใจได้ถูกต้องว่า  ต้องเป็นการกระทำของฝ่ายตรงกันข้าม  เพราะหน่วยเหนือได้ส่งข่าวแจ้งเตือนทุกหน่วยว่า ผกค.จะเข้าตีฝ่ายเราในฤดูร้อนนี้  ซึ่งทุกหน่วยได้เตรียมการและระวังป้องกันเป็นพิเศษ  และไม่เคยปรากฏมาก่อนว่ามีสัตว์มาทำให้พลุสะดุดแตก    ยามที่เห็นพลุสะดุดแตกจึงใช้อาวุธประจำกายยิงไปยังบริเวณนั้น   

          ทันใดนั้น  ฝ่าย ผกค. ก็ระดมยิงเข้ามาในฐานฯ อย่างรุนแรง และจากรอบทิศทางด้วยอาวุธเบาและอาวุธหนักหลายชนิด  เช่น  อาร์กา  จรวด อาร์พีจี  ปรส.  และเครื่องยิงลูกระเบิด

 

    ๖.๒  ฐานปฏิบ้ติการ กม.๒๑ 

                      ๖.๒.๑  ที่ตั้งยิงปืนใหญ่ ฐานปฏิบ้ติการ กม.๒๑    

                                            ยามของชุดปฏิบัติการ ป.๒๐๑๑/๑ ซึ่งตั้งยิงอยู่ทางด้านตะวันออกของฐานปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋น(ด้านที่สามารถยิงสนับสนุนฐานปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋นได้สะดวก  โดยไม่ต้องยิงข้ามฝ่ายเดียวกัน)  ได้ยินเสียงปืนและเสียงระเบิดอย่างรุนแรงที่ฐานปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋น จึงแจ้งให้เวรศูนย์อำนวยการยิงทราบ และเตรียมการไว้  แต่ยังไม่ได้รับการติดต่อจากฐานฯ บ้านห้วยโก๋น

                      ๖.๒.๒  ร้อย.ร.๒๑๒๓ ฯ ฐานปฏิบ้ติการ กม.๒๑   

                                           เวลาประมาณ ๐๔๕๕  ผบ.ร้อย.ร.๒๑๒๓ฯ ได้รับรายงานจากฐานฯ บ้านห้วยโก๋น  ว่าถูก ผกค.เข้าตี และขอให้ปืนใหญ่ยิงไปช่วย    แต่เนื่องจากทางฐานฯ บ้านห้วยโก๋น ไม่ได้กำหนดที่ตั้งเป้าหมายให้แน่ชัด    ผบ.ร้อย.ร.๒๑๒๓ฯ และ ผบ.ชุดปฏิบัติการ ป.๒๐๑๑/๑  กับเจ้าหน้าที่ ศอย.ป.จึงพิจารณาร่วมกันว่าจุดระดมยิงในการตั้งรับ (Def.Con.) จุดใด  จะสามารถยับยั้งการเข้าตีของ ผกค.ได้ดีที่สุด   

            ในที่สุดได้ตกลงใจยิงไปยังจุดทางด้านตะวันออก  ใกล้กับสนาม ฮ. เป็นอันดับแรก

 

 ยิงไปแล้ว  ว   ว    ว   .    .     . 

          กระสุนปืนใหญ่นัดแรกจากที่ตั้งยิงปืนใหญ่ฐานปฏิบัติการ กม.๒๑  ยิงออกไปก่อนเวลา  ๐๕๐๐   โดยใช้ปืนใหญ่  ๑ กระบอก  ยิงไปยังจุดระดมยิงในการตั้งรับ (Def.Con.)  ที่ใกล้กับสนาม ฮ.   และอีก  ๑ กระบอกยิงไปจุดอื่น

          เมื่อยิงกระสุนนัดแรกออกไปแล้ว  ทางทหารปืนใหญ่ก็ไม่ได้รับการติดต่อจากทางฐานฯ บ้านห้วยโก๋น  (ไม่มีผู้ตรวจการณ์หน้าปืนใหญ่ประจำที่ฐานฯ บ้านห้วยโก๋น  เพราะ ผตน.ป. ต้องอยู่กับ ผบ.ร้อย.ร.๒๑๒๓ฯ  ที่ฐานฯ กม.๒๑)    แต่ทางฐานฯ บ้านห้วยโก๋นได้ส่งข่าวผ่านทาง ผบ.ร้อย.ร.๒๑๒๓ฯ  ว่าได้ยินเสียงกระสุนปืนใหญ่ระเบิดแล้ว  ใกล้เคียงกับที่ได้เคยปรับการยิงไว้    แต่ไม่สามารถปรับการยิงได้  เนื่องจากยังมืดอยู่ เพราะเป็นพื้นที่ป่าภูเขา  และต้องรบอย่างติดพัน

          เมื่อเป็นการยิงที่ไม่มีการตรวจการณ์ ทั้งผู้รับการสนับสนุนต้องการ  และสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องยิงให้ครอบคลุมพื้นที่ให้มากที่สุด    ทางปืนใหญ่จึงได้ใช้วิธียิงเป็นห้วง  ๕ มิล. ๓ มุมยิง  ส่วนทางทิศ  ใช้การยิงต่างทิศ  ข้างละ  ๑๐๐ เมตร ด้วยการใช้ตัวแก้ ๑๐๐/ร  (เทคนิคการยิงของทหารปืนใหญ่)   

          นอกจากจุดระดมยิงทั้งหลายที่ได้ปรับไว้แล้ว    จุดที่ทางฐานฯ บ้านห้วยโก๋นต้องการให้ยิงมากที่สุดคือบริเวณสนาม ฮ.  ซึ่งเป็นด้านเข้าตีหลักของ ผกค.

 

    ๖.๓  ร้อย.ป.๒๐๑๑  พัน.ป.๒๐๑ฯ  อำเภอปัว  .  .  .  ๙  เมษายน  ๒๕๑๘,๐๕๐๐ 

          ผมตื่นแต่เช้าก่อนเสียงสัญญาณปลุก  (สัญญาณปลุกเวลา  ๐๕๓๐)  เพราะเป็นฤดูร้อน และพื้นที่ในเมืองไม่ใช่ป่าทึบ จึงสว่างเร็ว  พนักงานวิทยุของกองพันรายงานว่า  ผกค.เข้าตีปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋น  ของ ร้อย ร.๒๑๒๓/๓  ตั้งแต่กลางดึก  ที่ตั้งยิง กม.๒๑  ขอกระสุนปืนใหญ่เพิ่มเติมเร่งด่วน  ตนเองได้รายงานขอรับการสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ไปยัง พล.ม.สน. ที่ค่ายสุริยพงษ์  จังหวัดน่าน เพื่อส่งกระสุนปืนใหญ่ไปให้ที่ตั้งยิง กม.๒๑ แล้ว   

          ผมจึงบอกนายทหารเวร ให้ระดมกำลังทหารให้หมวดกระสุนเร่งเปิดลังกระสุนปืนใหญ่  เอากระสุนออก   (ทหารตื่นเวลา  ๐๕๓๐  นายทหารเวรจะรวมพลและออกกำลังประมาณ  ๓๐ นาที    แต่เช้านี้  ให้งดออกกำลัง  ให้จัดการเรื่องกระสุนปืนใหญ่แทน)  แล้วบรรทุกรถเตรียมนำลงไปรอ ฮ. ที่สนามบินปัว ให้มากที่สุด  (กระสุนปืนใหญ่ขนาด ๗๕ มม. จะบรรจุในกล่องกระดาษแข็งหนาประมาณ  ๓ มม. สีดำอาบน้ำยา  กล่องละนัด  และใส่ในลังไม้ฉำฉาลังละ  ๒ นัด - เราจะนำกระสุนในกล่องกระดาษแข็งดำไป เท่านั้น  ไม่เอาลังไม้ไปด้วย)

 

ห้วยโก๋น  .  .  .  ขอให้ปืนใหญ่ยิงแตกอากาศให้เหนือฐานฯ

          ประมาณ  ๐๖๐๐  ผบ.ร้อย.ร.๒๑๒๓ฯ ได้แจ้งให้ทางปืนใหญ่ทราบว่า ผกค.ส่วนหนึ่งได้เข้ามาในฐานฯ บ้านห้วยโก๋นได้แล้ว  และมีกำลังหนุนเนื่องเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย    ฝ่ายเราไม่สามารถออกมาใช้อาวุธประจำหน่วย  (ค.๔.๒ นิ้ว  และ ค.๖๐ มม.) ได้เลย    หลังคาบังเกอร์ด้านตะวันออกบางแห่งไฟไหม้    กำลังฝ่ายเราจึงต้องไปรวมกันตั้งรับทางด้านตะวันตกของฐานฯ  และ  .  .  .  ขอให้ปืนใหญ่ยิงแตกอากาศให้เหนือฐานฯ บริเวณด้านตะวันออก  เพราะ ผกค.รวมตัวกันอยู่หนาแน่นมาก

          เมื่อการรบได้ดุเดือดถึงที่สุดจนต้องร้องขอให้ปืนใหญ่ยิงแตกอากาศให้เหนือฐานฯ ให้แล้ว  การเข้าตีของ ผกค.ก็อ่อนกำลังลง  แต่ปืนใหญ่ยังคงต้องยิงให้ต่อไป  อย่างต่อเนื่อง   

          การยิงแตกอากาศเหนือฐานปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋น ทำให้ ผกค.ไม่สามารถเข้าตีต่อไปได้  จึงเริ่มถอนตัวกลับไปทางหมู่บ้าน  ซึ่งปืนใหญ่ก็ได้มีบทบาทสำคัญในการสกัดกั้นการถอนตัวของ ผกค.เป็นอย่างมาก  และคาดว่า ผกค. สูญเสียเพราะกระสุนปืนใหญ่ขณะถอนตัวเป็นจำนวนมาก    


 

ร้อย.ป.๒๐๑๑  พัน.ป.๒๐๑ฯ  อำเภอปัว  .  .  .  กระสุนปืนใหญ่พร้อมเดินทาง    

         เมื่อสั่งการ  และจัดการตัวเองเรียบร้อยแล้ว   เวลาประมาณ  ๐๖๓๐  ผมก็ไปรายงานผู้บังคับกองพัน  (ผบ.พัน ป.๒๐๑ฯ)  และขออนุญาตท่านเดินทางไปที่ตั้งยิง กม.๒๑  พร้อม ฮ.ส่งกระสุนเที่ยวแรกเพียงคนเดียว    ส่วนการส่งกำลังกระสุนเพิ่มเติมในเที่ยวต่อๆ ไป  ขอให้นายทหารส่งกำลังบำรุงกองพันเป็นผู้ดำเนินการ  และรอง ผบ.ร้อย ป.๒๐๑๑ฯ  กำกับดูแลในส่วนของกองร้อย    

          เมื่อ ผบ.พัน ป.๒๐๑ฯ  อนุญาต  และหมวดกระสุนจัดกระสุนบรรทุกในรถยนตร์บรรทุกได้มากพอ และลงไปคอย ฮ.ที่สนามบินปัว แล้ว  ผมก็ตามลงไป    ระหว่างรอ ฮ.  เจ้าหน้าที่สูทกรรมนำอาหารเช้าใส่ถาดหลุมเอาลงมาให้รับประทาน  (ผมเดินทางไปคนเดียวกับกระสุน ป.  เพื่อให้นำกระสุน ป.ไปให้ได้มากที่สุด)  

          ระหว่างนี้  ที่ตั้งยิง กม.๒๑  ก็ยังคงยิงสนับสนุน ร้อย ร.๒๑๒๓/๓  ตามคำขออยู่ตลอดเวลา   แต่กระสุน ป.ก็ร่อยหรอลงไปทุกขณะ  จึงต้องพยายามรักษากระสุนไว้ให้ยิงสนับสนุนได้อย่างต่อเนื่อง  จนกว่า  กระสุนจำนวนใหม่จะมาถึง

 

          ก่อนที่จะยิงสนับสนุนฐานปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋น  ที่ตั้งยิง กม.๒๑  สะสมกระสุนปืนใหญ่ไว้ประมาณ  ๒๐๐ นัด    ในชั่วโมงแรกของการรบ  การสิ้นเปลืองกระสุนอยู่ในเกณฑ์สูง    เนื่องจาก ผกค.เข้าตีอย่างรุนแรง  และปืนใหญ่ในที่ตั้งยิง กม.๒๑ เป็นอาวุธยิงสนับสนุนชนิดเดียวที่สามารถช่วยเหลือสนับสนุนฐานปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋นได้อย่างทันท่วงที  ทันเวลา  และได้ผล    ส่วนเครื่องยิงลูกระเบิดของฐานปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋นเองไม่สามารถใช้ยิงได้  ดังที่ได้กล่าวแล้ว

 

อากาเส  ยนฺติ  อิทฺธิยา - ผู้มีฤทธิ์ย่อมไปได้ในอากาศ 

          ชุดปฏิบัติการบินที่ ๓๒  (ชปบ.๓๒ พล.ม.สน.)  ได้สนองตอบและสนับสนุนเป็นอย่างดี    ฮ.เที่ยวแรก   มาถึงสนามบินปัว ในเวลาประมาณ ๐๗๐๐        

          เมื่อบรรทุกกระสุน ป.เสร็จแล้ว  ผมบอกให้พนักงานวิทยุที่ลงมาที่สนามบิน  (เพื่อใช้ติดต่อกับ ฮ.)  ให้วิทยุแจ้งข่าวไปยังที่ตั้งยิง กม.๒๑  ว่า  กระสุน ป.เพิ่มเติมได้ออกเดินทางจากสนามบินปัว  มาแล้ว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ฮ.ท.๑   มีบทบาทสำคัญในการส่งกำลังกระสุนปืนใหญ่  และเคลื่อนย้ายกำลังพล

 

 

กระสุนปืนใหญ่ถึงที่ตั้งยิง  กม.๒๑  .  .  .  ห้วยโก๋นพ้นวิกฤติ  

          ฮ.ใช้เวลาเดินทางประมาณ  ๑๕ นาที    ถึงที่ตั้งยิง กม.๒๑  ประมาณ  ๐๗๒๐  ผมโดดลงจาก ฮ. หัวหน้าชุดยิงเข้ามารายงานว่า  เหลือกระสุน ป.อยู่  ๒ (สอง) นัด    ผมบอกให้ส่งข่าวไปให้ ร้อย ร.๒๑๒๓/๓  ที่ฐานปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋น  และ รายงาน พัน ป.๒๐๑ฯ ที่ อำเภอปัว เพื่อรายงาน พล.ม.สน. ต่อไปว่า  ได้นำกระสุน ป.มาเพิ่มเติมให้ที่ตั้งยิง กม.๒๑ ได้เรียบร้อยแล้ว  และกำลังทะยอยส่งมาเพิ่มเติมได้อีกทั้งวัน  สามารถยิงสนับสนุนหน่วยได้อย่างไม่มีข้อจำกัด

 

           เมื่อสามารถส่งกระสุนปืนใหญ่เพิ่มเติมให้ที่ตั้งยิง กม.๒๑ได้   ก็นับได้ว่าสถานการณ์ที่ฐานปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋นพ้นวิกฤติแล้ว

 

บ.จธ.๒ ช่วยตรวจการณ์และปรับการยิงปืนใหญ่ทางอากาศ

          ขณะที่ไปถึงที่ตั้งยิง กม.๒๑  บ.จธ.๒ จากฐานบินน่านกำลังโจมตีทางอากาศอยู่  แต่ปืนกลขัดข้องจึงแจ้งว่าจะเดินทางกลับฐานบินน่าน    ผมจึงได้ติดต่อขอให้ช่วยตรวจการณ์ทางอากาศและปรับการยิงให้  ซึ่งได้ผลดี

          ตลอดทั้งวัน    พล.ม.สน.ได้สั่งการให้ฐานบินน่านโจมตีทางอากาศเพื่อคุ้มครองฐานปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋นอย่างเต็มที่    แต่เมื่อการโจมตีทางอากาศขาดตอนลง  ปืนใหญ่จากที่ตั้งยิง กม.๒๑  ก็ยิงสนับสนุนให้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา    และในบางขณะก็ขอให้ บ.จากฐานบินน่านช่วยตรวจการณ์ทางอากาศและปรับการยิงให้   ซึ่งนักบินได้ยืนยันว่า  ได้เห็นศพ ผกค.เกลื่อนอยู่นอกฐานปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋นเป็นจำนวนหลายสิบศพ

 

เพิ่มเติมกำลังให้ฐานปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋น

          จนกระทั่งเวลา  ๑๕๓๐    พล.ม.สน.จึงสามารถนำกำลังจาก พัน.ม.๒๖๗ ร้อย.๓  จำนวน  ๑ หมวด  ไปเสริมกำลังให้ฐานปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋น  และลำเลียงผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลน่านได้ 

 

 

 

ผลของการรบ

          การยิงแตกอากาศเหนือฐานปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋นในครั้งนี้  ได้รับการยืนยันจากผู้ซึ่งอยู่ที่ฐานปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋นในขณะนั้นว่า  ได้ผลดี สามารถทำลาย ผกค.ที่เข้ามาในฐานฯ ได้แล้ว  และสามารถสกัดกั้น  ยับยั้ง ผกค.ที่กำลังหนุนเนื่องกันเข้าตีได้เป็นอย่างดียิ่ง    

          และที่สำคัญที่สุด  หลังจากเหตุการณ์นี้แล้ว    กำลังพลจากฐานปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋นกับกำลังพลชุดปฏิบัติการ ป.๒๐๑๑/๑  (ที่ตั้งยิง กม.๒๑)  ได้พบปะกัน    วีรบุรุษจากฐานปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋นทุกคนยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า  ไม่มีฝ่ายเราได้รับบาดเจ็บหรือสูญเสียจากกระสุนปืนใหญ่ฝ่ายเดียวกันเลย   

 

ฝ่ายเราสามารถรักษาฐานปฏิบ้ติการบ้านห้วยโก๋นไว้ได้

 

 

 

 

 

 

 

การสูญเสีย

          ฝ่าย ผกค.   เสียชีวิต   จากการประมาณการของนักบิน  หลายสิบ

                                                    จากการรายงานของแหล่งข่าว  ประมาณ  ๕๐ 

                                 บาดเจ็บ    จากการรายงานของแหล่งข่าว  ประมาณ  ๕๐     

          ฝ่ายเรา        เสียชีวิต   ๑๗    (นายทหาร ๒    นายสิบ ๔    พลทหาร  ๑๑) 

                                บาดเจ็บ    ๒๕     

 

 

 

 *    *    *    *    *    *    *    *    *

 

          ครับ  .  .  .  บทความที่เคยลงในนิตยสารทหารปืนใหญ่   และ ในหนังสือยุทธโกษ   มีเพียงเท่านี้ครับ

 

 

บทเรียนจากการรบ

          ๑. การข่าวกรองจากหน่วยเหนือ  และการใช้ข่าวกรองของหน่วยปฏิบัติ

              ฤดูแล้ง    สภาพพื้นดิน และสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการสู้รบ  โดยฉพาะในช่วงเดือนเมษายน  มีเทศกาลสงกรานต์  ซึ่งชาวเหนือถือเป็นเทศกาลสำคัญ  มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย    และจากสถานการณ์ฝ่ายข้าศึกซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย  (พคท.) ได้ขยายอิทธิพลเข้ามาในพื้นที่น่านตอนบน สามารถจัดตั้งเป็นเขตงานที่ ๑ (ผาแดง)  และ เขตงานที่ ๔  (น้ำช้าง)  เป็นฐานปฏิบัติการที่สำคัญในภาคเหนือได้ใน พ.ศ.๒๕๑๘  นี้  นับว่าเป็นความก้าวหน้าทางการเมืองต่อฝ่ายเรา  จึงต้องการมีชัยชนะทางทหารต่อฝ่ายเรา  ด้วยการยึดฐานปฏิบัติการฐานใดฐานหนึ่งให้ได้  แล้วสถาปนาเป็นเขตปลดปล่อย    และจากระบบการข่าวกรอง  พล.ม.สน.จึงได้แจ้งเตือนหน่วยว่า  ผกค.จะเข้าตีที่ตั้งฝ่ายเราในฤดูแล้งนี้    และหน่วยปฏิบัติในสนามได้ใช้ประโยชน์จากข่าวที่ได้รับด้วยการระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น   (ในสนามรบทุกหน่วยต้องระมัดระวังและไม่ประมาทเป็นปรกติอยู่แล้ว)

 

          ๒. การเตรียมการระวังป้องกันของฐานปฏิบัติการ

              หน่วย  ร้อย.ร.๒๑๒๓/๓  ได้จัดการระวังป้องกันตามความสามารถ  และเครื่องมือที่มีอยู่  เช่น  การวางพลุสะดุด  กับระเบิดแสวงเครื่อง  ดังรายละเอียดที่ได้กล่าวไว้แล้ว   

 

          ๓. วิจารณญาณ และการตัดสินใจ  ของเวร ยาม  และกำลังพลทุกระดับ           

              การที่เวร ยาม  มีความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา  เป็นเรื่องปรกติของการปฏิบัติในสนามรบ    แต่การที่ ยาม  ได้ใช้วิจารญาณ  และกล้าตัดสินใจโดยไม่ต้องไปปลุกผู้บังคับบัญชา  เป็นเรื่องที่ควรยกย่อง และชมเชย    (ในสนาม  ตามปรกติแล้วจะใช้ยามคู่    แต่กรณีนี้ไม่ทราบว่าได้จัดยามคู่  หรือไม่)

              การที่ยามของ ชุดปฏิบัติการ ป.๒๐๑๑/๑  ที่ที่ตั้งยิง  กม.๒๑  ได้ยินเสียงการรบที่ฐานฯ บ้านห้วยโก๋น  แล้วปลุกเจ้าหน้าที่ ศอย. ให้เตรียมรับสถานการณ์  ก็ดี    การที่พนักงานวิทยุ พัน.ป.๒๐๑ฯ  ที่อำเภอปัว  ได้รับทราบสถานการณ์ที่ฐานฯ บ้านห้วยโก๋น  แล้วประสานขอรับการสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์จาก พล.ม.สน. ก่อน  ตั้งแต่ยังมืดอยู่  โดยไม่ต้องรอรายงานให้ผู้บังคับบัญชาสั่งการ  ทำให้ ชปบ.๓๒ พล.ม.สน.  ได้ทราบและเตรียมการไว้ก่อน  เมื่อฟ้าสว่าง  และเมื่อผู้บังคับบัญชาอนุมัติก็ขึ้นบินได้ทันที  ก็ดี    ก็เป็นเรื่องที่ควรยกย่อง  และชมเชย  เช่นกัน

 

          ๔. การยิงสนับสนุนของปืนใหญ่สนาม

              ถึงแม้ว่าจะได้วางจุดระดมยิงในการตั้งรับ  (Def.Con.)  ไว้แล้วรอบฐาน  และได้ปรับการยิงไว้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว  ก็ตาม    แต่เมื่อเกิดสถานการณ์จำเป็น    หน่วย ร้อย.ร.๒๑๒๓/๓ ฯ กลับไม่กล้าส่งคำขอยิง  และตรวจการณ์  (มีข้อกำหนดว่า  ทหารในแนวหน้าต้องสามารถขอ และปรับการยิงปืนใหญ่ได้  โดยเฉพาะนายทหารสัญญาบัตร)    แต่  ร้อย.ป.๒๐๑๑/๑ ฯ  ก็ได้แก้ปัญหาด้วยการพิจารณาร่วมกับ  ผบ.ร้อย.ร.๒๑๒๓ ฯ   และสามารถยิงสนับสนุนให้ได้อย่าง  แม่นยำ  และทันเวลา

 

          ๕. ความมั่นใจต่อหน่วยยิงสนับสนุน

              เมื่อสถานการณ์เลวร้ายถึงขนาด    ผกค.ส่วนหนึ่งได้เข้ามาในฐานฯ บ้านห้วยโก๋นได้แล้ว  และมีกำลังหนุนเนื่องเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย    ฝ่ายเราไม่สามารถออกมาใช้อาวุธประจำหน่วย  (ค.๔.๒ นิ้ว  และ ค.๖๐ มม.) ได้เลย    หลังคาบังเกอร์ด้านตะวันออกบางแห่งไฟไหม้    กำลังฝ่ายเราจึงต้องไปรวมกันตั้งรับทางด้านตะวันตกของฐานฯ  และ  .  .  .  ขอให้ปืนใหญ่ยิงแตกอากาศให้เหนือฐานฯ บริเวณด้านตะวันออก  เพราะ ผกค.รวมตัวกันอยู่หนาแน่นมาก 

          นับว่าเป็นการเสี่ยงที่ได้ใคร่ครวญแล้วและตัดสินใจ  อย่างถูกจังหวะเวลา  อย่างมั่นใจต่อขีดความสามารถของหน่วยยิงสนับสนุน    และ  หน่วยยิงสนับสนุนก็สามารถสนับสนุนได้อย่างแม่นยำ และทันเวลา   ทำให้แก้สถานการณ์ให้กลับดีขึ้นได้  .  .  . 

          เมื่อการรบได้ดุเดือดถึงที่สุดจนต้องร้องขอให้ปืนใหญ่ยิงแตกอากาศให้เหนือฐานฯ ให้แล้ว  การเข้าตีของ ผกค.ก็อ่อนกำลังลง    แต่ปืนใหญ่ยังคงต้องยิงให้ต่อไป  อย่างต่อเนื่อง 

 

         การยิงแตกอากาศเหนือฐานปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋น ทำให้ ผกค.ไม่สามารถเข้าตีต่อไปได้  จึงเริ่มถอนตัวกลับไปทางหมู่บ้าน  ซึ่งปืนใหญ่ก็ได้มีบทบาทสำคัญในการสกัดกั้นการถอนตัวของ ผกค.เป็นอย่างมาก  และคาดว่า ผกค. สูญเสียเพราะกระสุนปืนใหญ่ขณะถอนตัวเป็นจำนวนมาก

 

          ๖. การสนับสนุนจากหน่วยอื่นๆ 

               นอกจากการสนับสนุนจากปืนใหญ่แล้ว    หน่วยต่างๆ  ได้สนับสนุนการรบในครั้งนี้อย่างดียิ่ง    เช่น  ชุดปฏิบัติการบินที่ ๓๒  (ชปบ.๓๒ พล.ม.สน.)  ซึ่งมีภารกิจในการสนับสนุนการเคลื่อนย้าย และการส่งกำลังทางอากาศ  ได้ลำเลียงกระสุนปืนใหญ่จาก บก.พัน.ป.๒๐๑ฯ  อำเภอปัว  ส่งให้ที่ตั้งยิง กม.๒๑    อำเภอทุ่งช้าง  อย่างต่อเนื่อง    ทำให้ที่ตั้งยิง กม.๒๑ มีกระสุนปืนใหญ่มากพอ   

 

          ๗. การสนับสนุนจากต่างเหล่าทัพ

              ฐานบินน่าน  (กองทัพอากาศ)  มี บ.จธ.๒  จำนวนหนึ่ง    ซึ่งนอกจากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศแล้ว    ยังช่วยเป็นผู้ตรวจการณ์ทางอากาศและปรับการยิงให้ปืนใหญ่อีกด้วย  ทำให้ทหารปืนใหญ่ทำการยิงได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

          ๘. ความสามารถในการยิงสนับสนุนของปืนใหญ่ได้อย่างต่อเนื่อง  และ มีเสรีในการปฏิบัติการทางอากาศได้เต็มที่ 

              ฝ่าย ผกค.ไม่มีทั้งศักยภาพ และขึดความสามารถในการที่จะตัดรอนกำลังปืนใหญ่ฝ่ายเรา    และไม่สามารถจำกัดเสรีการปฏิบัติการทางอากาศของฝ่ายเราได้    หากฝ่าย ผกค.สามารถตัดรอนกำลังปืนใหญ่ฝ่ายเรา  และสามารถจำกัดเสรีในการปฏิบัติการทางอากาศของฝ่ายเราได้  .  .  .  ? ?       

            

          ถึงกระนี้กระนั้นกระไรก็ตาม    ระบบการข่าวกรอง    การเตรียมการและการปฏิบัติของหน่วยและกำลังพลทุกระดับ    การยิงสนับสนุนของปืนใหญ่อย่างแม่นยำ  ทันเวลา  และต่อเนื่อง    การมีเสรีในการปฏิบัติการทางอากาศได้เต็มที่    การสนับสนุนอื่นๆ ในทุกระดับซึ่งเป็นไปอย่างประสานสอดคล้อง  ถูกจังหวะเป็นอย่างดี    เป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้  .  .  .

 

ฝ่ายเราสามารถรักษาฐานปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋นไว้ได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




บทความจากสมาชิก




1

ความคิดเห็นที่ 1 (161341)
avatar
นาย ณ มหาสารคาม

          ขอสดุดีแด่ทหารหาญ และวีรชนผู้กล้าทุกท่าน ทุกหน่วย ด้วยจิตอันบริสุทธิ์ หากไม่มีท่านผู้เสียสละวันนั้น ลูกหลานอย่างพวกกระผมคงได้เป็นทาสใครก็ไม่รู้ หากท่านยังอยู่หรือวายชนม์ โปรดรับรู้ด้วยว่าเราเหล่าอนุชนคนรุ่นหลัง( หลายคน ) จะไม่ทำลายชาติไทยให้บอบช้ำ

         น้อมจิตคารวะ

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น นาย ณ มหาสารคาม (nuchanon-at-outlook-dot-com)วันที่ตอบ 2017-02-10 17:00:43


ความคิดเห็นที่ 2 (175171)
avatar
palawast

 อันนี้ ได้เรียบ เรียง version เต็ม ของตำนาน ในศึกนั้นที่นี่ครับ http://democraticthai.com

ผู้แสดงความคิดเห็น palawast วันที่ตอบ 2017-12-17 17:45:10


ความคิดเห็นที่ 3 (176613)
avatar
พ.ต.สมพร วิเชียร

 คิดถึง ร.ต.อุดม วิทยเมธาคิน เอาชีวิตมาทิ้งไว้ที่นี่สู้จนตัวตายขอคาระวะด้วยใจจริงผมเคยเป็นลูกน้องท่านตอนร่วมทำงานที่เชียงรายในยุทธการผาลาด

ผู้แสดงความคิดเห็น พ.ต.สมพร วิเชียร วันที่ตอบ 2021-01-03 13:01:42



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker