ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจก่อนครับว่าเมื่อผมเอ่ยถึงชื่อโรงเรียนมัธยมอย่าง “เทพศิรินทร์” “สวนกุหลาบ” ฯลฯ อย่างลอยๆ ผมกำลังหมายถึงโรงเรียนที่ใช้ชื่อนั้นๆ มาแต่แรก ไม่ได้หมายความรวมไปถึงโรงเรียนอื่นๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการนำชื่อเหล่านี้ไปให้เขาใช้ด้วยเหตุผลทางนโยบายอะไรสักอย่าง ทั้งนี้ผมไม่ได้รังเกียจโรงเรียนที่ได้รับชื่อนั้นๆ ไปใช้ในภายหลัง เพียงแต่ขอทำความเข้าใจเพื่อกันไม่ให้ผู้อ่านและตัวผมเองสับสน อีกประการหนึ่ง ผมรำลึกเสมอว่าโดยปกติคนเราย่อมรักสถาบันการศึกษาของตนเช่นเดียวกับที่ผมรัก อีกทั้งคนที่มีโอกาสทางการศึกษาน้อยกว่าผมก็มิได้มีศักดิ์ศรีด้อยกว่าแต่ประการใด หากวิธีคิดวิธีเขียนของผมมันดูแปลกๆหรือมีอะไรขัดความรู้สึกของท่านไปบ้าง กรุณาอ่านทบทวนให้ดีก่อนที่จะด่วนสรุปไปในทางลบครับ
ก่อนจะเขียนบทความนี้ไม่นานนัก ผมได้รับการติดต่อจาก “รุ่นพี่” เทพศิรินทร์ท่านหนึ่งซึ่งเคยดำรงตำแหน่งสำคัญระดับชาติมาแล้ว เนื่องจากท่านกำลังมีโครงการสำคัญๆ หลายโครงการเกี่ยวกับโรงเรียนของเรา ประเด็นที่เกี่ยวกับคนเคยเรียนประวัติศาสตร์อย่างผมคือเรื่องการชำระประวัติศาสตร์ของโรงเรียนในหลายๆ ประเด็นที่พวกเราชาวเทพศิรินทร์เคยเชื่อว่าเป็นอย่างหนึ่ง แต่จากการศึกษาค้นคว้าของท่านจากหลักฐานข้อเท็จจริงต่างๆ และแหล่งอื่นๆ เช่น ประวัติของโรงเรียนสวนกุหลาบ พบว่าเป็นอีกอย่าง เท่าที่ท่านเล่าให้ฟัง เหตุหนึ่งแห่งความเข้าใจสับสนเนื่องจากมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ทางสวนกุหลาบประสบปัญหาด้านสถานที่ ทำให้นักเรียนของเขาได้มาเรียนร่วมกับชาวเทพศิรินทร์ จนทำให้คนรุ่นต่อมาเกิดความสับสนว่าบุคคลที่มีชื่อเสียงในรุ่นนั้นท่านเป็นศิษย์สวนกุหลาบหรือเทพศิรินทร์กันแน่ ดังนี้เป็นต้น
แม้ว่าฟังแล้วจะรู้สึกสนใจอยู่ไม่น้อย แต่จากการประเมินตนเองในเบื้องต้น ได้เรียนท่านไปว่า ผมได้โอนย้ายจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติมาเป็นเวลาร่วม 8-9 ปีแล้ว ในปัจจุบันผมยังมีความสนใจในด้านประวัติศาสตร์อยู่ แต่ไม่ได้สัมผัสความรู้ด้านนี้ในระดับเอกสารชั้นต้นมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ประกอบกับภาระการงานและอะไรอื่นๆ จึงยังไม่แน่ใจว่าจะช่วยงานของท่านได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งท่านก็พอจะเข้าใจแต่ยังได้ส่งไฟล์เอกสารข้อมูลบางส่วนมาให้ศึกษาดูเป็นตัวอย่างก่อน
นี่จึงเป็นที่มาของการบ้านข้อใหญ่ให้กลับมาขบคิดทบทวนดูอีกทีว่า แล้วเราจะทำอะไรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โรงเรียนเทพศิรินทร์ได้มากน้อยเพียงใด ถ้าทำได้แล้วจะเป็นประโยชน์ต่อคนทั่วไปทั้งต่อชาวเทพศิรินทร์เองและคนในสังคมวงกว้างออกไปได้อย่างไรบ้าง

ประเด็นหนึ่งที่ผมสงสัยมาก่อนหน้านี้เป็นเวลานานแล้ว คือ การเป็น “เทพศิรินทร์” นั้น ตกลงมันมีความแตกต่างในด้านของ “อุดมการณ์” จากการเป็น “สวนกุหลาบ” “อัสสัมชัญ” “กรุงเทพคริสเตียน” “เตรียมอุดม” “สตรีวิทย์” “สายปัญญา” “บดินทร์เดชา” และอื่นๆ ที่คงเอ่ยชื่อกันไม่หวาดไม่ไหวอย่างไรบ้าง
ในระดับถัดขึ้นไปคือมหาวิทยาลัยนั้น ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์คงเข้าใจดีว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเกิดขึ้นมาแบบมีวัตถุประสงค์ที่ค่อนข้างชัดเจน เช่น “จุฬาลงกรณ์” นั้นเกิดขึ้นเพื่อผลิตคนเข้าสู่ระบบราชการที่พึ่งได้รับการปฏิรูปมาในช่วงรัชกาลที่ 5 “ธรรมศาสตร์” เกิดขึ้นเพื่อสืบทอดแนวคิดของการอภิวัฒน์ในปี พ.ศ. 2475 ฯลฯ ซึ่งวัตถุประสงค์ของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งได้มีส่วนหล่อหลอมให้นิสิตนักศึกษาแต่ละแห่งมี “อะไรบางอย่าง” ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน และเป็นความแตกต่างในด้านอุดมการณ์ที่ส่งผลต่อแนวคิดและบุคลิกบางอย่างยิ่งกว่าความแตกต่างของสถานที่ที่ธรรมศาสตร์อยู่ตรงริมน้ำเจ้าพระยาท่าพระจันทร์ มีตึกโดมอะไรประมาณนั้น
กลับมาที่สถาบันระดับมัธยม ดูเหมือนจะมีแต่ “เตรียมอุดม” ที่มีความแตกต่างชัดเจนขึ้นมาหน่อยว่าเป็นโรงเรียนมัธยมปลายที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรวบรวมเด็กเก่งระดับประเทศอะไรประมาณนั้น แต่นักเรียนที่นั่นก็ย่อมจบมัธยมต้นจากโรงเรียนอื่นมาก่อน แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้ “เทพศิรินทร์” แตกต่างจากที่อื่น การมีตึกเก่าๆ ที่มีเอกลักษณ์อย่างตึกแม้นนฤมิตร ตึกเยาวมาลย์อุทิศฯ ตึกนิภานภดล ฯลฯ น่ะหรือ โรงเรียนอื่นเขาน่าจะมีตึกเก่าชื่อหรูประมาณนี้อยู่บ้าง การมีดอกรำเพยเป็นดอกไม้ประจำโรงเรียนมันทำให้เราคิดอะไรต่างจากโรงเรียนที่มีดอกกุหลาบหรือดอกไม้อื่นๆ การที่โรงเรียนเทพศิรินทร์อยู่ติดกับวัดเทพศิรินทร์มันทำให้เราใกล้ธรรมะมากกว่า “สวนกุหลาบ” ละหรือ แล้วโรงเรียนอื่นที่อยู่ติดกับวัดหรืออยู่ภายในวัดอื่นๆ ล่ะ ถนนกรุงเกษมกับคลองผดุงกรุงเกษมทำให้เราต่างจาก “สวนกุหลาบ” ที่อยู่ไปทางสะพานพุทธฯ ตรงไหน ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง ฮวงจุ้ย หรือ แลตติจูด-ลองกิจูดที่ต่างกันทำให้เกิดความแตกต่างจากโรงเรียนอื่นในด้าน “อุดมการณ์” แบบเดียวกับที่ธรรมศาสตร์ต่างจากจุฬาฯ อย่างไร ฯลฯ หรือว่าผมเองยังไม่ได้จับประวัติของแต่ละโรงเรียนอย่างจริงจัง เลยคิดอะไรเรื่อยเปื่อยไม่เป็นระบบ???
เอาเป็นว่าเมื่อยังคิดปัญหานี้ไม่ออกก็ขอพักมันไว้ก่อน
ลองมาทบทวนกันใหม่ว่า ชีวิตการเรียนในโรงเรียนมัธยมมันต่างจากชีวิตการเรียนในช่วงอื่นๆ อย่างไร
คำตอบที่กำปั้นทุบดินหน่อยก็คือมันเป็นการเรียนคนละระดับกันอายุก็คนละช่วงกัน ไม่เป็นไรเดี๋ยวเราจะค่อยๆ ขยายความเรื่องนี้กัน
ตามปกติชีวิตคนเราตั้งแต่เด็กย่อมมีจุดหมายชีวิต (จะเกิดจากการคิดฝันเองหรือจากความคาดหวังของคนรอบข้างก็แล้วแต่) ว่าโตขึ้นจะต้องมีงานทำดีๆ มีเงินเยอะๆ จุดหมายนี้จะบรรลุได้ก็จะต้อง “ได้เรียนสูงๆ” คือเรียนจบมหาวิทยาลัยในระดับปริญญาตรีเป็นอย่างน้อย จะเข้ามหาวิทยาลัยได้ก็ต้องผ่านการศึกษาระดับมัธยม ก่อนจะมัธยมก็ต้องเรียนชั้นประถม ก่อนประถมก็อนุบาลมาเป็นลำดับ
การเรียนชั้นมัธยมนั้น มันเป็นอะไรที่กลางๆ สมกับคำว่า “มัธยม” หรือ “มัธยมศึกษา” จริงๆ โดยเนื้อหาวิชานั้นยังคงเป็นเรื่องทางวิชาการมากกว่าวิชาชีพ และโดยอายุของผู้เรียนน่าจะเรียกว่าอยู่ในช่วงเด็กโตจนถึงวัยรุ่นตอนต้น ไม่ใช่เด็กเล็กแล้ว และพึ่งจะเป็นก้าวแรกสู่ความเป็นผู้ใหญ่
สิ่งที่นอกเหนือจากการเรียนตามหลักสูตรคือการได้เริ่ม “ซึ้ง” กับสังคมที่นอกเหนือจากตัวเองและกว้างออกไปกว่ากลุ่มเพื่อนในห้อง
ในระดับประถมศึกษา ตัวเราเองอาจจะมีเพื่อนนอกห้องรู้จักรุ่นพี่รุ่นน้องบ้างแล้ว ครูอาจจะเริ่มสอนให้เรารักโรงเรียน เริ่มมีสัญลักษณ์มีสีมีธงมีตรามีเพลงเชียร์และเพลงประจำโรงเรียนกันแล้ว แต่นั่นก็ยังเป็นช่วงเวลาที่เรา “ยังเด็ก” กันอยู่มาก และสังคมก็ยังมองโรงเรียนประถมศึกษาเป็นแค่ทางผ่านเสียด้วย

จนกระทั่งโตขึ้นมาอีกหน่อยในโรงเรียนมัธยมนั่นแหละ ที่การปลูกฝังความเป็นเอกลักษณ์ของหมู่คณะในระดับสถาบันการศึกษาด้วย สัญลักษณ์-สี-ธง-เพลง จะได้ก่อตัวเป็นเรื่องเป็นราว โดยโรงเรียนที่มีชื่อเสียงหน่อยก็จะมีเรื่องของชื่อเสียงเดิมๆ และศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงเข้ามาเสริม
ตัวผู้เรียนเองจากที่เคยใช้ชีวิตผ่านๆไปในชั้นประถมจากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นเทอม จากเทอมเป็นปีแล้วก็เลื่อนชั้น พอจะจบชั้นประถมปีสุดท้ายจะไปชั้นมัธยม คราวนี้มันไม่ได้เลื่อนชั้นอัตโนมัติอย่างเดิมแล้ว ตัวเราและครอบครัวเราเริ่มจะต้องวุ่นวายกับเรื่องของ “ทางเลือก” และ “การแข่งขัน” ตามค่านิยมของสังคม คือต้องเข้าเรียนโรงเรียนที่ดีตามที่พ่อแม่คาดหวัง ตัวเราเองจะเข้าใจด้วยหรือไม่ก็ตาม ในสมัยก่อนดังเช่นรุ่นผมต้องสอบแข่งขันกัน ระหว่างเตรียมตัวสอบบ้านที่มีเส้นมีสายก็ต้องเตรียมการ “ฝาก” สำรองไว้เผื่อสอบไม่ได้ขึ้นมา มาในสมัยหลังๆ จนปัจจุบันก็หันมาใช้การจับสลากแทน ไม่ว่าจะเป็นการสอบ การฝาก การย้ายทะเบียนบ้านเข้าไปในเขตเดียวกับโรงเรียน หรือการจับสลาก ดูมันช่างวุ่นวายไปซะหมด
พอเข้าเรียนได้ 3 ปี คราวนี้เอาอีกแล้ว มีปัญหาให้เลือกอีกว่าถ้าอยู่โรงเรียนเดิมต่อไปจะเรียนสายวิทย์ สายศิลป์ หรือคณิตศิลป์ จะอัพเกรดตัวเองไปเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หรือจะไปเรียนสายอาชีพอย่างอาชีวศึกษา หรือโรงเรียนเตรียมทหาร ฯลฯ และทางเลือกที่สังคมให้ความสำคัญกับมันก็จะต้องสอบแข่งขันกันอีกแล้ว
ผ่านไปได้ 2-3 ปีจะจบมัธยมปลายก็เจอปัญหาเข้าอีก คราวนี้คือเรื่องจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยแห่งไหนคณะไหน
สมัยผมใช้การสอบรวมที่เรียกว่าเอ็นทรานส์ (Entrance) จนเกิดสำนวนว่า “เอ็นติด” “เอ็นไม่ติด” “เอ็นติดคณะ ...” แล้วต่อมามีการเปลี่ยนระบบเป็นอะไรที่อธิบายไม่ถูกซะแล้ว ความที่ผมไม่มีลูกมีเมียมันเสียเปรียบเขาอย่างนี้ เห็นมีคำว่า GAT กับ PAT แต่ชาวบ้านบางคนเรียกเป็น “สอบแกะ-แพะ” อะไรไปนู่น
ชั้นมัธยมศึกษาจึงดูเหมือนจะมีอะไรให้เราจดจำมากกว่าชั้นอนุบาลและประถมที่เรายังเด็กเกินไป และมากกว่ามหาวิทยาลัยที่เราใกล้จะเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวและใกล้จะได้พ้นภาระการเรียนไปรับภาระที่ใหญ่กว่าคือการทำงานหาเลี้ยงตัวเองและคนอื่นซะที (ไม่นับกรณียกเว้นที่บางคนเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย)
แล้วการที่จะศึกษาประวัติความเป็นมาของโรงเรียนมัธยมศึกษาแต่ละแห่งอย่างโรงเรียนเทพศิรินทร์ของผมนั้นจะมีประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมทั้งศิษย์เก่าที่นี่ ที่อื่นๆ และคนที่อาจจะไม่ได้จบชั้นมัธยม (ถ้ายังมีหลงเหลืออยู่ในยุค “เรียนฟรี” 12 ปี 15 ปี อย่างเวลานี้) อย่างไรบ้าง
อย่างแรกคงเป็นเรื่องของการศึกษาประวัติศาสตร์ของศึกษาของชาติไทยเรา เช่นว่า การที่โรงเรียนบางแห่งมีชื่อเสียงมาแต่เดิมนั้นด้วยเหตุอันใดแน่ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ด้านอื่นๆ มีผลต่อพัฒนาการของโรงเรียนแต่ละแห่งอย่างไร และการที่พยายามปรับเปลี่ยนการรับสมัครนักเรียนจากการสอบแข่งขันมาเป็นการจำกัดพื้นที่และการจับสลาก รวมถึงการเอาชื่อของโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมาแต่เดิมไปแจกตามโรงเรียนต่างๆ นั้น มันแก้ปัญหาการศึกษาได้ถูกจุดหรือไม่
อีกประการหนึ่งคงจะเป็นเรื่องที่จะมาเสริมการศึกษาชีวประวัติบุคคลสำคัญๆ ว่าในช่วงเวลาที่เขาหรือเธอเรียนอยู่ที่โรงเรียนใดในช่วงเวลานั้น บรรยากาศการเรียน ชื่อเสียงโรงเรียน เพื่อนร่วมรุ่น ฯลฯ มีผลอะไรต่อความคิดอ่านของเขาหรือเธอบ้าง
อย่างน้อยก็สองประการนี้
เป็นอันว่าความเป็นมาและพัฒนาการของโรงเรียนต่างๆ นั้นคงจะต้องศึกษาให้กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในบทความก่อนตอนที่ผมรายงานสถิติการเข้าชมเว็บ IseeHistory ได้กล่าวถึงเรื่อง “ประวัติศาสตร์และวีรกรรมที่ถูกลืม” ว่าได้กลายเป็นความท้าทายเชิงบวกเอาไว้ คราวนี้เจอการบ้านจากรุ่นพี่เทพศิรินทร์เข้ามาร่วมท้าทายอีก แล้วผมต้องทำอะไรกับประวัติโรงเรียนเทพศิรินทร์หรือไม่อย่างไร เมื่อตัดสินใจแล้วจะได้มาคุยกันในโอกาสต่อไปครับ