dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



คลีโอพัตรา ตอนที่สอง เวอร์ชั่นปี 1963
วันที่ 19/05/2013   21:40:09

โดย ชาญชัย (Leo53)
 

ตามที่ได้กล่าวไว้ในตอนที่ 1 เรื่องราวของคลีโอพัตราได้รับการนำมากล่าวถึงและนำเสนอในรูปแบบต่างๆตามสภาพสังคม และเทคโนโลยี่ที่เหมาะสมในแต่ละยุคสมัย ตลอดระยะเวลาสองพันปีที่ผ่านมา เฉพาะในส่วนที่นำเสนอเป็นภาพยนตร์นั้นที่ค้นหาดู พบว่าเคยมีการนำเรื่องราวชีวิตของคลีโอพัตรามาสร้างเป็นภาพยนตร์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1908 ดังนี้

  1. (ค.ศ. 1908) ชื่อเรื่อง “Antony and Cleopatra” โดยมี Florence Lawrence แสดงเป็นคลีโอพัตรา
  2. (ค.ศ. 1912) ชื่อเรื่อง “Cleopatra, Queen of Egypt” โดยมี Helen Gardner รับบทเป็นคลีโอพัตรา
  3. (ค.ศ. 1917): Cleopatra: Theda Bara (คลีโอพัตรา), Fritz Leiber (ซีซาร์), Thurston Hall (แอนโทนี) กำกับการแสดงโดย J. Gordon Edwards สร้างจากบทละครเรื่อง Cléopatre ของ Émile Moreau, Cléopatre ของ Sardou และ Antony and Cleopatra ของ วิลเลียม เชคสเปียร์
  4. (ค.ศ. 1934): Cleopatra: Claudette Colbert (คลีโอพัตรา), Warren William (ซีซาร์), Henry Wilcoxon (แอนโทนี) Cecil B. DeMille ได้รับรางวัลออสการ์ สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
  5. (ค.ศ. 1946): Caesar and Cleopatra: วิเวียน ลีห์ (คลีโอพัตรา), Claude Rains (ซีซาร์), Stewart Granger, Flora Robson — ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ดัดแปลงจากบทละครของ George Bernard Shaw วิเวียน ลีห์ ยังได้แสดงเป็นคลีโอพัตราร่วมกับ Laurence Olivier สามีของเธอในสมัยนั้น ผู้รับบทซีซาร์ ในภาคละครเวทีของเรื่องนี้ที่เปิดแสดงในกรุงลอนดอน
  6. (ค.ศ. 1953): Serpent of the Nile: Rhonda Fleming (คลีโอพัตรา), Raymond Burr (มาร์ค แอนโทนี), Michael Fox (ออกตาเวียน)
  7. (ค.ศ. 1963): Cleopatra: อลิซาเบท เทย์เลอร์ (คลีโอพัตรา), Rex Harrison (ซีซาร์), Richard Burton (แอนโทนี) รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และติดอันดับหนังทำเงินแห่งปี และยังเป็นที่จดจำของแฟนๆจากเรื่องราวความรักนอกจอระหว่างอลิซาเบท เทย์เลอร์ กับ ริชาร์ด เบอร์ตัน ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่ได้รับความนิยมและกล่าวถึงมากที่สุด และเป็นเวอร์ชั่นที่ผมกำลังพูดถึงอยู่ในบทความตอนนี้
  8. (ค.ศ. 1964): Carry On Cleo ภาพยนตร์ตลกขบขัน ล้อเลียนภาพยนตร์ที่สร้างในปี ค.ศ. 1963 โดยมี Amanda Barrie รับบทเป็นคลีโอพัตรา, Sid James เป็น มาร์ค แอนโทนี และ Kenneth Williams เป็นซีซาร์
  9. (ค.ศ. 1974): Antony & Cleopatra: แสดงโดย London's Royal Shakespeare Company นำแสดงโดย Janet Suzman (คลีโอพัตรา), Richard Johnson (แอนโทนี) และ Patrick Stewart (เอโนบาร์บุส)
  10. (ค.ศ. 1999): Cleopatra: Leonor Varela (คลีโอพัตรา), ทิโมที ดาลตัน (ซีซาร์), Billy Zane (แอนโทนี) สร้างจากหนังสือ Memoirs of Cleopatra โดย Margaret George และเป็นเรื่องที่นักวิจารณ์ในต่างประเทศส่วนใหญ่พากันลงความเห็นว่า มีเนื้อหาใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มากที่สุด ผมมีความเห็นว่าเนื้อหายังให้ความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจคลีโอพัตราในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งมากกว่าเวอร์ชั่นอื่นๆอีกด้วย ซึ่งจะกล่าวถึงเวอร์ชั่นนี้ในตอนที่ 3 ต่อไป

เนื้อหาภาพยนตร์เรื่องนี้ตามที่ผู้กำกับ Joseph L Mankiewicz ต้องการนำออกฉายนั้นจะต้องแบ่งออกเป็น 2 ภาค  ภาคแรกคือ คลีโอพัตรากับจูเลียส ซีซ่าร์ และภาคสอง คลีโอพัตรากับมาร์ค แอนโทนี่ ความยาวภาคละประมาณ 3 ชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับบทประพันธ์ที่มีชื่อเสียงยิ่งสองบทคือ Caesar and Cleopatra, โดย George Bernard Shaw และ "Antony and Cleopatra", โดย William Shakespeare อย่างไรก็ตามประธานกรรมการบริษัท 20th Century Fox คนใหม่ในขณะนั้น (เนื่องจากปัญหามากมายโดยเฉพาะเรื่องความล่าช้าในการถ่ายทำอันเนื่องมาจากปัญหาและอุปสรรคต่างๆในระหว่างการถ่ายทำ ทำให้การใช้เงินลงทุนไร้ประสิทธิภาพ และงบประมาณที่ถมเท่าไรก็ไม่เคยพอ จนกระทั่งบริษัทฯกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ทำให้ประธานกรรมการฯคนก่อนหน้า ที่เป็นผู้ริเริ่มความคิดให้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องถูกปลดออกจากตำแหน่งไป) เห็นว่าแนวคิดดังกล่าวที่จะแบ่งฉายออกเป็นสองตอนจะทำให้การตอบรับของประชาชนไม่ดีเท่าที่ควร เขาต้องการย่อภาพยนตร์ให้เหลือเพียงหนึ่งตอน ความเห็นขัดกันดังกล่าวนำไปสู่การปลด  Mankiewizc ออกจากการเป็นผู้กำกับ แต่หลังจากนั้น บริษัทฯก็ไม่สามารถดำเนินการถ่ายทำในขั้นสุดท้าย และตัดต่อภาพยนตร์ให้เดินหน้าต่อไปได้ จำเป็นต้องจ้าง Mankiewizc กลับมาใหม่เพื่อปิดงานให้สำเร็จ Mankiewizc กล่าวว่าเหตุผลสำคัญที่เขาจำเป็นต้องกลับมาทำก็เพราะ หากเขาไม่กลับมา ก็จะต้องมีคนที่ไม่รู้จักหนังเรื่องนี้มาก่อนเข้ามาทำและจะทำให้ผลงานที่ได้ออกมาในที่สุดเลวร้ายยิ่งขึ้นไปกว่าที่คาดอีก เมื่องานถ่ายทำเสร็จทั้งหมดแล้ว Mankiewizc จึงทำการตัดต่อภาพยนตร์ให้สั้นลงเหลือประมาณ 4 ชั่วโมงกว่า เขากล่าวว่าการตัดเนื้อหาออกไปดังกล่าวทำให้ “คลีโอพัตรา” ไม่มีวันที่จะได้เป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดได้เลย แต่ยังอาจเป็นภาพยนตร์ที่ดีเรื่องหนึ่งได้ อย่างไรก็ตามความยาว 4 ชั่วโมงกว่าก็ยังมากเกินไป เพราะทำให้ไม่สามารถเปิดฉายสองรอบได้ในช่วงเวลาเย็นซึ่งเป็นช่วงเวลาทำเงิน ทำให้ประธานกรรมการฯสั่งตัดเนื้อหาลงอีก (โดยไม่ได้หารือกับ Mankiewizc เลย) จนกระทั่งเหลือเพียง 3 ชั่วโมง 14 นาทีเท่านั้น ตัวอย่างของการขาดความต่อเนื่องและทำให้เกิดความสับสนแก่ผู้ชมเช่น ในตอนใกล้จบที่ทหารในกองทัพของมาร์ค แอนโทนี่พากันหนีทัพไปหมดนั้น เมื่อแอนโทนี่ออกมานอกกระโจมพัก ก็พบรูฟิโอนายทหารคนสนิทของเขานอนคว่ำหน้ามีดาบของตัวเองแทงเข้าไปในท้องตัวเองอยู่ ฉากนี้ทำให้ผู้ชมสับสนว่ารูฟิโอถูกผู้อื่นฆ่าตายหรือว่าเขาฆ่าตัวตายเอง ทั้งนี้เนื่องจากว่าเนื้อหาตอนที่รูฟิโอฆ่าตัวตายนั้นได้ถูกตัดออกไปด้วย!

เมื่อนำออกฉายทางโรงภาพยนตร์  ความสมบูรณ์ต่อเนื่องของเนื้อหาในภาพยนตร์จึงได้ถูกทำให้เสียหายไปเป็นอันมากแล้ว บทบาทการแสดงที่ดีเด่นของดารานักแสดงที่ยอดเยี่ยมหลายคนจำนวนมากถูกตัดออกไปอย่างน่าเสียดาย แม้กระนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับรางวัลออสการ์ถึง 9   รางวัล ได้รับกลับมา 4 รางวัลคือ . Best Art Direction-Set Decoration, Color, Best Cinematography, Color, Best Costume Design, Color,  และ Best Effects, Special Visual Effects ปัจจุบัน 20th Century Fox กำลังพยายามค้นหาจากทุกๆแหล่งที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทำภาพยนตร์เวอร์ชั่นนี้เพื่อนำต้นฉบับความยาว 6 ชั่วโมงกลับคืนมานำเสนอแก่สาธารณะซน ซึ่งได้ทราบว่าการดำเนินการมีความก้าวหน้าไปบ้างในระดับหนึ่งแล้ว และถ้าโชคดีเราอาจได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ในเนื้อหาที่สมบูรณ์ตามที่ผู้กำกับได้มีเจตนาไว้ตั้งแต่แรกแล้วก็ได้

ในขณะที่ 20th Century Fox กำลังดำเนินการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้นั้น อยู่ในช่วงปี 1961 ซึ่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์กำลังอยู่ในสถานะที่ลำบากมากเนื่องจากสาเหตุสำคัญสองเหตุการณ์คือ หนึ่งมีการออกกฎหมายไม่ให้โรงถ่ายภาพยนตร์เป็นเจ้าของเครือข่ายโรงภาพยนตร์ในประเทศ และสองมีสถานีเครือข่ายโทรทัศน์เกิดขึ้นซึ่งดึงลูกค้าไปเป็นจำนวนมากถึงประมาณ 40% จากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ในบรรดาโรงถ่ายภาพยนตร์ต่างๆนั้น 20th Century Fox เป็นบริษัทที่เปราะบางต่อการล้มละลายมากที่สุด บริษัทฯจึงได้คิดสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นด้วยความหวังว่า เพียงภาพยนตร์เรื่องนี้เรื่องเดียวจะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินและการขาดทุนได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่การณ์กลับกลายเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของบริษัทฯจนหมดสิ้นใกล้จะล้มละลาย ยอดเงินลงทุนทั้งหมดในภาพยนตร์เรื่องนี้สูงถึงประมาณ 44 ล้านเหรียญสหรัฐ (ถ้านำอัตราเงินเฟ้อเข้าไปคำนวณจะเป็นมูลค่าปัจจุบันประมาณ 700 – 800 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 25,000 ล้านบาท) แต่ก็ยังดี  ที่คนทั้งโลกพากันมาอุดหนุนชมภาพยนตร์เรื่องนี้กันอย่างเนื่องแน่นเป็นประวัติการณ์ สามารถทำรายได้ในการฉายรอบแรกทั่วโลกถึง (First Release) 24 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ก็ยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะคืนทุน ดังนั้นอีกหลายปีต่อมางบการเงินของบริษัทฯจึงยังคงแสดงผลขาดทุนอยู่ต่อไป จนกระทั่งได้ภาพยนตร์เรื่อง The Sound of Music ที่สามารถทำรายได้จำนวนมากเข้ามาล้างหนี้สินทั้งหมดของบริษัท และสามารถแสดงตัวเลขผลประกอบการกำไรอีกครั้งหนึ่ง
 

1: เรื่องราวในภาพยนตร์


1.1 DVD DISK 1    คลีโอพัตรากับจูเลียส ซีซ่าร์

 

รูปที่ 1 สมรภูมิฟาซาลัส กองทัพชองซีซ่าร์มีชัยเหนือกองทัพของปอมเปย์ ที่สมรภูมิฟาซาลัส ในภาพทหารของซีซ่าร์กำลังเผาศพทหารที่เสียชีวิตในระหว่างการรบ

เหตุการณ์ในภาพยนตร์เริ่มต้นเมื่อประมาณปีที่ 48 ก่อนคริสตกาล ซึ่งขณะนั้นคลีโอพัตรา ตกอยู่ในภาวะที่ลำบากและตั้งความหวังของนางไว้ที่แม่ทัพใหญ่แห่งโรม “จูเลียส ซีซ่าร์” ผู้ซึ่งกำลังรุ่งเรืองและมีอำนาจมากที่สุดในอาณาจักรโรมันขณะนั้น ภาพยนตร์เริ่มต้นขึ้นด้วยฉากที่ซีซ่าร์รบชนะกองทัพของปอมเปย์ คู่แข่งทางการเมืองการทหารคนสำคัญของเขา ที่ฟาซาลัส ประเทศกรีก กองทัพของปอมเปย์ถูกทำลายและกองทัพของซีซ่าร์กำลังเผาศพบรรดาทหารที่เสียชีวิตในสงคราม แต่ในชัยชนะครั้งนี้ซีซ่าร์ไม่ได้มีความพอใจเลย เนื่องจากบรรดาทหารที่ต้องพากันมาเลียชีวิตเป็นจำนวนมากในการรบนั้นล้วนเป็นคนโรมันด้วยกันทั้งสิ้น ซีซ่าร์ได้กล่าวบรรยายความรู้สึกของตนที่มีต่อเชลยศึกที่เป็นนายทหารฝ่ายปอมเปย์ว่าตนเสียใจที่คนโรมันต้องฆ่าคนโรมันด้วยกันเองในสงครามครั้งนี้ และประกาศยกเว้นโทษความผิดให้ทหารฝ่ายปอมเปย์ทุกคนที่รอดชีวิตมาได้ และอนุญาตให้สมัครกลับเข้าเป็นทหารในกองทัพโรมันได้อีกทุกคน

รูปที่ 2 ซีซ่าร์กับเชลยสงคราม ซีซ่าร์กล่าวแสดงความรู้สึกของตนที่มีต่อนายทหารของปอมเปย์ที่ถูกจับเป็นเชลย ยกเว้นโทษความผิดให้ และอนุญาตให้สมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพโรมันได้อีก

ปอมเปย์สามารถหลบหนีการจับกุมไปได้ โดยหนีไปด้วยเรือมุ่งหน้าสู่อียิปต์ ซึ่งปอมเปย์หวังว่าเขาจะได้รับความช่วยเหลือจากฟาโรห์พโตเลมีที่ 13 ทั้งนี้ ปอมเปย์ได้รับการมอบหมายให้เป็นผู้ปกครองของทั้งสองคนภายหลังจากที่บิดาของพวกเขา “พโตเลมี่ ออเลเทส” ได้ถึงแก่กรรมลงก่อนหน้านี้

ซีซ่าร์ติดตามปอมเปย์ไปถึงตลาดริมหาดในเมืองอเล็กซานเดรีย (2 ตุลาคม 48 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งเต็มไปด้วยพ่อค้า แผงร้านค้า และประชาชนจำนวนมากที่กำลังเดินจับจ่ายซื้อของกันอยู่ บรรดาที่ปรึกษาของพโตเลมีคาดกันว่าซีซ่าร์จะใช้ทหารโรมันเบิกทางเข้าไปที่พระราชวังที่มองเห็นได้จากชายฝั่ง ซึ่งจะทำให้ประชาชนตื่นตกใจ แต่ปรากฏว่าซีซ่าร์ใช้วิธีเดินจับจ่ายซื้อของเข้าไปเรื่อยๆจนถึงพระราชวัง ซึ่งทำให้พวกอียิปต์ประหลาดใจมากกับการการกระทำของซีซ่าร์

รูปที่ 3 ซีซ่าร์ถึงอเล็กซานเดรีย แทนที่ซีซ่าร์จะใช้ทหารเปิดทางเข้าไปที่พระราชวังตามที่ฝ่ายอียิปต์คาด เขากลับค่อยๆเดินจับจ่ายซื้อสินค้าไปเรื่อยๆจนกระทั่งถึงพระราชวัง

ฟาโรห์นั้นยังเป็นเพียงเด็กผู้ชายคนหนึ่ง แต่ก็แสดงลักษณะเลวร้ายให้ซีซ่าร์เห็นได้ตั้งแต่พบกันครั้งแรก และที่ปรึกษาของฟาโรห์เกือบทุกคน มีลักษณะเป็นคนเจ้าเล่ห์เพทุบายไม่น่าไว้วางใจเลยสำหรับซีซ่าร์ ในช่วงเวลานั้นอียิปต์กำลังมีสงครามการเมือง ระหว่างคลีโอพัตรากับพโตเลมีน้องชายของนาง โดยพโตเลมีสามารถยึดครองเมืองหลวงไว้ได้ เมื่อได้พบซีซ่าร์ พโตเลมีก็ส่งมอบแหวนประจำตัวและศรีษะของปอมเปย์ที่ถูกตัดคอมา (ปอมเปย์ไม่ได้นึกระแวงเลยว่าอียิปต์จะทรยศหักหลังเขา      เมื่อเขาเดินทางโดยเรือมาถึงเมืองอเล็กซานเดรีย ในขณะที่บุตรและภรรยาของเขารวมทั้งพโตเลมี่กำลังรอรับเขาอยู่ที่ท่าเรือนั้น  ทันทีที่เขาก้าวลงสู่ท่าเรือก็ถูกสังหารทันทีโดยทหารอียิปต์)

รูปที่ 4 ซีซ่าร์กับพโตเลมี่    ฟาโรห์นั้นยังเป็นเพียงเด็กผู้ชายคนหนึ่งแต่ก็แสดงลักษณะที่เลวร้ายให้ซีซ่าร์เห็นได้ตั้งแต่พบครั้งแรก และที่ปรึกษาของฟาโรห์เกือบทุกคนดูเหมือนจะเป็นคนเจ้าเล่ห์เพทุบายไม่น่าไว้วางใจ

เมื่อซีซ่าร์เข้าไปในพระราชวังในเมืองอเล็กซานเดรีย และกำลังจัดวางกำลังป้องกันตัวเมืองอยู่นั้น คนรับใช้ของคลีโอพัตรามาขอเข้าพบซีซ่าร์และส่งมอบของขวัญที่คลีโอพัตราส่งมาให้กับซีซ่าร์ เมื่อซีซาร์แก้เชือกมัดพรมออกคลีโอพัตราก็ม้วนตัวออกมาจากพรมลงบนพื้น

รูปที่ 5 ซีซ่าร์พบคลีโอพัตราครั้งแรก  คนรับใช้ของคลีโอพัตรามาขอเข้าพบซีซ่าร์และส่งมอบของขวัญที่คลีโอพัตราส่งมาให้กับซีซ่าร์ เมื่อซีซ่าร์แก้เชือกมัดพรมออกคลีโอพัตราก็ม้วนตัวออกมาจากพรมลงบนพื้น
 

จากนั้นก็มีการพูดคุยโต้เถียงกันว่าใครเป็นเจ้าของบ้านใครเป็นผู้มาเยือน (ตามที่บันทึกในประวัติศาสตร์นั้นส่วนใหญ่กล่าวว่าทั้งสองได้ร่วมหลับนอนกันในคืนแรกที่พบกัน และในวันรุ่งขึ้น พโตเลมีก็เป็นผู้แพ้ในการแย่งชิงอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าใครเป็นคนยั่วยวนใครก่อน เพราะความจริงจะยังคงเป็นความลับอยู่ในห้องนอนของซีซ่าร์ขณะนั้นไปตลอดกาล)

คลีโอพัตราเฝ้ามองพฤติกรรมของซีซ่าร์จากช่องลับที่ทำไว้ในพระราชวัง ซึ่งมีเส้นทางเดินและประตูลับมากมาย สิ่งหนึ่งที่คลีโอพัตราพบก็คือ ซีซ่าร์มีโรคลมบ้าหมูเป็นโรคประจำตัวซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่เกิดกับบุรุษผู้ยิ่งใหญ่คนอื่นๆในประวัติศาสตร์อีกหลายคนเช่น ฮันนิบาล และอเล็กซานเดอร์มหาราช

รูปที่ 6 ถ้ำมอง คลีโอพัตราเฝ้ามองพฤติกรรมของซีซ่าร์จากช่องลับที่ทำไว้ในพระราชวัง ซึ่งมีเส้นทางเดินและประตูลับมากมาย สิ่งหนึ่งที่คลีโอพัตราพบก็คือ ซีซ่าร์มีโรคลมบ้าหมูเป็นโรคประจำตัว ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่เกิดกับบุรุษผู้ยิ่งใหญ่คนอื่นๆในประวัติศาสตร์อีกหลายคนเช่น ฮันนิบาล และอเล็กซานเดอร์มหาราช

คลีโอพัตรากับซีซ่าร์เผชิญหน้ากันอีกหลายครั้งรวมทั้งที่ห้องอาบน้ำของนางด้วย ซึ่งคลีโอพัตราได้เตือนซีซ่าร์ว่า กองทัพของพโตเลมี่ที่ล้อมพระราชวังอยู่นั้นมีจำนวนมากกว่าทหารโรมันในพระราชวังมาก ซีซ่าร์จึงสั่งการให้เผาทำลายกองเรือของอียิปต์ในอ่าวเพื่อให้เขาสามารถควบคุมอ่าวได้ ผลคือกองเรือของอียิปต์ถูกเผาในคืนนั้นตามคำสั่งของซีซ่าร์ อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องน่าเสียใจยิ่ง ที่ไฟได้ลุกลามไปที่อาคารบนชายฝั่งต่อไปถึงหอสมุดอเล็กซานเดรีย ซึ่งเป็นคลังแห่งความรู้ที่สำคัญที่สุดของโลกในยุคนั้น (และแน่นอนสำหรับโลกทุกยุคสมัย เพราะไม่มีทางรู้ได้เลยว่ามีตำราที่ทรงคุณค่าถูกเผาทำลายไปมากน้อยเพียงใด) คลีโอพัตราโกรธมากและบุกเข้าไปต่อว่าซีซ่าร์ถึงในห้องทำงาน เรื่องราวตรงนี้เน้นให้เห็นว่าคลีโอพัตราให้ความสำคัญกับเรื่องของวิชาความรู้มาก แต่ซีซ่าร์ก็ไม่สามารถจะช่วยเหลืออะไรได้  หลังจากนั้น ซีซ่าร์ได้สั่งการกองทัพของตนให้ตีโต้การบุกโจมตีของทหารอียิปต์ที่ประตูพระราชวัง ด้วยการใช้กลยุทธ์กระดองเต่า ซึ่งเป็นหน่วยทหารหุ้มด้วยเกราะและโล่รอบตัวและด้านบนศรีษะ และสามารถบุกเข้าไปทำลายฐานเครื่องยิงลูกไฟของกองทัพอียิปต์ได้ ทำให้สามารถสลายการโจมตีของทหารอียิปต์ลงได้

รูปที่ 7 The Turtle: ซีซ่าร์ได้สั่งการกองทัพของตนให้ตีโต้การบุกโจมตีของทหารอียิปต์ที่ประตูพระราชวัง ด้วยการใช้กลยุทธ์กระดองเต่า ซึ่งเป็นหน่วยทหารหุ้มด้วยเกราะและโล่รอบตัวและด้านบนศรีษะ และสามารถบุกเข้าไปทำลายฐานเครื่องยิงลูกไฟของกองทัพอียิปต์ได้

หลังจากนั้นได้มีความพยายามวางยาพิษเพื่อสังหารคลีโอพัตรา แต่แผนการดังกล่าวล้มเหลว เนื่องจากคนสนิทของคลีโอพัตราสังเกตเห็นว่าผู้ชิมอาหารใช้นิ้วมือปาดริมแก้วน้ำหลังจากที่ชิมไวน์ ในวันรุ่งขึ้นซีซ่าร์ประกาศการตัดสินใจของโรมเกี่ยวกับการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันระหว่างสองฝ่ายในอียิปต์ ซึ่งผลสรุปคือพโตเลมี่และคณะที่ปรึกษาของเขาต้องออกไปจากอียิปต์ และคลีโอพัตราได้เป็นฟาโรห์ผู้ปกครองอียิปต์แทน  ภายหลังเหตุการณ์นี้ซีซ่าร์และคลีโอพัตราจึงได้เป็นคู่รักกัน

รูปที่ 8 อำนาจกับความงาม: หลังจากที่ซีซ่าร์ประกาศแต่งตั้งคลีโอพัตราเป็นผู้ปกครองอียิปต์แล้ว คืนนั้นระหว่างที่สนทนากันอยู่ ซีซ่าร์เกิดอาการชักจากโรคลมบ้าหมูอีก คลีโอพัตราอาสาเป็นผู้ดูแลอาการเจ็บป่วยของซีซาร์ และทั้งสองก็ได้ร่วมหลับนอนกันในคืนนั้น

คลีโอพัตราได้รับการสวมมงกุฎจากซีซ่าร์ให้เป็นราชินีแห่งอียิปต์ในพิธีราชาภิเษก และทุกๆคนที่มาร่วมในพิธีพากันคุกเข่าคำนับนาง ซึ่งรวมถึงพวกโรมันและนางยังสามารถโน้มน้าวให้จูเลียส ซีซ่าร์เองก็ต้องยอมคุกเข่าให้นางด้วย  คืนนั้นทั้งสองคนสนทนากันเรื่องการเมืองและโลก คลีโอพัตราให้คำมั่นว่านางจะให้กำเนิดบุตรชายแก่เขา นางบอกว่า “เราเป็นแม่น้ำไนล์ เราสามารถตั้งท้องให้กำเนิดลูกชายได้หลายคน เทพเจ้าไอซิสได้บอกแก่เราแล้ว เต้านมของเราเต็มแน่นด้วยความรักและชีวิต สะโพกของเราผายกว้างและกลมกลึง ผู้หญิงลักษณะร่างกายเช่นเรา รู้กันมาแต่โบราณแล้วว่าจะมีลูกชายหลายคน”

รูปที่ 9   หญิงงามผู้สยบจอมคน  ซีซ่าร์คุกเข่าให้กับคลีโอพัตราในพิธีราชาภิเษกตามความต้องการของนาง

รูปที่ 10 ความงามกับผลประโยชน์ คลีโอพัตราให้คำมั่นว่านางจะให้กำเนิดบุตรชายแก่ซีซ่าร์ ผู้ซึ่งจะเป็นตัวแทนของโรมันและอียิปต์เพื่อสืบสานปณิธานของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช

การสนทนาที่สำคัญทางการเมืองระหว่างคู่รักทั้งสอง มีขึ้นที่สุสานฝังพระศพพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช คลีโอพัตราบอกซีซ่าร์ว่านางไฝ่ฝันที่จะได้เห็นโรมรวมกับอียิปต์และครอบครองโลกนี้ร่วมกัน เพื่อเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ที่จะรวบรวมโลกนี้ให้มนุษย์มีชีวิตอยู่อย่างผาสุข และปลอดภัยภายใต้การปกครองเดียวกัน นางได้ขอเวลาให้ซีซ่าร์อยู่อียิปต์กับนางต่ออีกระยะหนึ่ง เพื่อให้มีเวลาพอสำหรับทำให้นางตั้งครรภ์ให้ซีซ่าร์ได้ซึ่งซีซ่าร์ตกลงรับคำ

รูปที่ 11 โลกทั้งผองเป็นหนึ่งเดียว ซีซ่าร์กับคลีโอพัตราหน้าสุสานที่ฝังพระศพพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช

ต่อมาไม่นางก็ตั้งครรภ์ และคลอดออกมาเป็นบุตรชาย ซีซ่าร์สวมกอดลูกชายคนแรกของตนด้วยความดีใจเป็นอย่างยิ่งต่อหน้าฝูงชนทันทีที่ได้พบหน้าลูกชายของตน ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการยอมรับเด็กทารกเป็นบุตรของตนอย่างถูกต้องตามกฎหมายโรมัน และเรื่องนี้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงทั้งในสังคมชาวโรมันและในสภาซีเนทของโรมัน

รูปที่ 12    ผู้สืบสายโลหิต ซีซ่าร์ได้ลูกชายจากคลีโอพัตราและดีใจมาก เขาก้มลงอุ้มลูกขึ้นมาต่อหน้าสาธารณชนซึ่งรวมถึงทหารโรมันของเขาด้วย ซึ่งตามกฎหมายโรมันเท่ากับว่าเขายอมรับเด็กเป็นบุตรและทายาทโดยถูกต้องตามกฎหมายของเขา

ในที่สุดซีซ่าร์ก็ต้องเดินทางกลับโรมในฐานะวีรบุรุษของชาวโรมัน  ได้รับการต้อนรับอย่างชื่นชมยิ่งจากชาวโรมันตลอดสองข้างทางของขบวนพาเหรดเฉลิมฉลอง เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ผู้เผด็จการตลอดชีพ” ในขณะที่คลีโอพัตรากลับต้องรอคอยอย่างทุกข์ทรมานอยู่ในอียิปต์ ซึ่งในที่สุดซีซ่าร์ก็ตัดสินใจเชิญคลีโอพัตราเดินทางไปเยือนโรมอย่างเป็นทางการ

รูปที่ 13 มหาบุรุษซีซ่าร์ ประชาชนจำนวนมากพากันมาต้อนรับซีซาร์ในฐานะวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของพวกเขา และหลังจากนั้นสภาซีเนทโดยความสนับสนุนของประชาชนก็ได้แต่งตั้งให้ซีซ่าร์ดำรงตำแหน่งผู้เผด็จการแห่งโรม ซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารสูงสุดของอาณาจักรโรมัน

ชาวโรมันพากันรอคอยวันเยือนของคลีโอพัตราอย่างใจจดใจจ่อ ซีซ่าร์เป็นประธานในการนำคณะต้อนรับของโรมันอยู่บนบันไดทางขึ้นไปสู่สภาซีเนท ซึ่งคลีโอพัตราไม่ได้ทำให้ชาวโรมันต้องผิดหวังในการรอคอยเลย การเข้าสู่กรุงโรมของนางเป็นไปอย่างงดงามอลังการณ์น่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง นางและซีซาเรี่ยนบุตรชายแต่งกายด้วยชุดทอง นั่งมาด้วยกันบนยอดสฟิ้งค์อียิปต์ ซึ่งลากมาด้วยคนรับใช้ที่เข้มแข็งบึกบึนจำนวนมาก ทุกสิ่งทุกอย่างในการปรากฏตัวของนางเป็นไปอย่างยิ่งใหญ่อลังการณ์ที่สุด

รูปที่ 14 นางพญาแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์ คลีโอพัตราและซีซาเรี่ยนได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากประชาชนชาวโรมันจำนวนมาก ขณะที่นางเดินทางเข้าประตูกรุงโรมมาพร้อมกับขบวนแห่แหนที่ยิ่งใหญ่อลังการณ์

ซีซ่าร์จัดหาสถานที่พักให้คลีโอพัตราอย่างสมเกียรติและใช้เวลาส่วนใหญ่ของเขาอยู่กับนางที่นั่น ข่าวคราวของซีซ่าร์และคลีโอพัตราแพร่สะพัดออกไปอย่างรวดเร็วทั่วอาณาจักรโรมัน จากสภาซีเนทไปจนถึงชาวไร่ชาวนาในท้องทุ่ง ทุกคนต่างพูดถึงราชินีแห่งอียิปต์  ในด้านร้ายนั้นก็คือมีการกล่าวให้ร้ายในสภาว่าซีซ่าร์ได้รับมอบอำนาจมากเกินไป และต้องการเป็นกษัตริย์ (ซึ่งชาวโรมันไม่เห็นด้วยกับระบบกษัตริย์มานานแล้ว)

เมื่อถึงวันที่ 15 มีนาคม ซึ่งสภาโรมันจะมีการออกเสียงลงมติมอบตำแหน่งใหม่ที่มีอำนาจมากยิ่งขึ้นอีกให้กับซีซ่าร์นั้น  ซีซ่าร์มั่นใจในชัยชนะของตนและไม่ใส่ใจคำเตือนจากทั้งภรรยาชาวโรมันของเขาและคลีโอพัตราที่ให้เขาระวังตัวมากเป็นพิเศษ  เขาถูกรุมสังหารด้วยมีดจากกลุ่มสมาชิกสภาจนถึงแก่กรรม

 รูปที่ 15    คนลิขิตมิสู้ฟ้าลิขิต   กลุ่มสมาชิกสภาซีเนทที่ไม่ต้องการให้ซีซ่าร์ก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิ์ของโรมัน วางแผนสังหารซีซ่าร์ในที่ประชุมสภาด้วยมีดสั้นที่แอบซ่อนติดตัวเข้าไป และช่วยกันรุมแทงซีซ่าร์จนเสียชีวิต

ภายหลังจากที่ซีซ่าร์ถูกสังหารแล้วนั้น ปรากฏว่า ออคตาเวี่ยน ซึ่งเป็นหลานชายและบุตรชายบุญูธรรมของซีซ่าร์เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อตามพินัยกรรมให้เป็นทายาทของซีซ่าร์ ไม่ใช่ซีซาเรี่ยนบุตรชายของเขาที่เกิดกับคลีโอพัตรา คลีโอพัตราได้หารือกับมาร์ค แอนโทนี่ซึ่งพยายามปลอบใจและเอาใจช่วยนางว่า เขาจะพยายามเรียกร้องสิทธิของซีซาเรี่ยนซึ่งเป็นบุตรชายของซีซ่าร์ให้จากสภาโรมัน  แต่คลีโอพัตราเห็นว่ามีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก และบอกแอนโทนี่ว่านางไม่มีอนาคตใดๆที่โรมอีกแล้วและเดินทางกลับอเล็กซานเดรีย

รูปที่ 16 ความหวังที่ดับสูญ หลังจากที่ซีซ่าร์เสียชีวิตแล้ว ความหวังทั้งหมดของคลีโอพัตราก็สูญสลายไปด้วยเพราะพินัยกรรมของซีซ่าร์แต่งตั้งอ็อคตาเวี่ยน หลานชายและบุตรบุญธรรมของเขาเป็นทายาทไม่ใช่ซีซาเรี่ยน มาร์ค แอนโทนี่ไปส่งนางที่เรือและยืนยันว่าจะเรียกร้องสิทธิของซีซาเรี่ยนในฐานะทายาทโดยชอบธรรมของซีซ่าร์ต่อสภาซีเนทของโรม

 

1.2 DVD DISK 2    คลีโอพัตรากับมาร์ค แอนโทนี่

ในส่วนที่ 2 นี้ เป็นเรื่องราวการต่อสู้อย่างยากลำบากยิ่งในชีวิตของคลีโอพัตราต่อไป เพื่อจะปกป้องชาติบ้านเมืองให้พ้นภัยจากผู้รุกราน เหตุการณ์เกิดขึ้นในระหว่างช่วงเวลา 42 ปี และ 30 ปีก่อนคริสตกาล มาร์ค แอนโทนี่ได้ติดตามสังหารบรรดาบุคคลที่ร่วมกันสังหารซีซ่าร์จนหมดทุกคนแล้ว  ในขณะที่คลีโอพัตราอยู่ที่อียิปต์ และกำลังให้ความสนใจอยู่ที่บุรุษผู้ทรงอำนาจอีกคนหนึ่งที่สืบทอดจากซีซ่าร์ แม่ทัพใหญ่ของโรม “มาร์ค แอนโทนี่” ส่วนที่ 2 เริ่มขึ้นด้วยฉากหลังจากเสร็จสิ้นสมรภูมิการรบที่ ฟิลิปเป้  ซึ่งแคสเซียสและบรูตัสถูกสังหารเสียชีวิต บรรดาทหารกำลังเปล่งเสียงแสดงความยกย่องมาร์ค แอนโทนี่อยู่ ออคตาเวี่ยนก็อยู่ที่นี่ด้วยแต่ไม่ได้เข้าร่วมในการรบเนื่องจากป่วยและนอนพักรักษาตัวอยู่ในเต้นท์ ออคตาเวี่ยนและมาร์ค แอนโทนี่ได้เจรจาตกลงแบ่งสรรอำนาจในการปกครองอาณาจักรโรมันระหว่างกันออกเป็นสามฝ่ายเรียกว่า คณะผู้บริหารสามคน รุ่นที่ 2 (the second triumvirate) โดยมีนักการเมืองผู้ทรงอำนาจอีกคนหนึ่งของโรมัน “เลปิดัส” เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ในภาพยนตร์มีกล่าวถึงชื่อของเขาแต่ไม่ปรากฎเรื่องราวที่มีตัวละครนี้ปรากฏ โดยการแบ่งอำนาจปกครองนั้นแบ่งการปกครองอาณาจักรโรมันออกเป็น 3 ส่วนได้แก่ อาฟริกาปกครองโดยเลปิดัส เสปน กอล และ กรุงโรม และส่วนอื่นๆในยุโรปปกครองโดยออคตาเวี่ยน และที่เหลือทางฝั่งตะวันออกปกครองโดย มาร์ค แอนโทนี่ ขณะนั้นปรากฏชัดเจนแล้วว่า มาร์ค แอนโทนี่และออคตาเวี่ยนเป็นคู่แข่งขันทางการเมืองในการแย่งชิงอำนาจการปกครองเหนืออาณาจักรโรมัน


รูปที่ 17 แม่ทัพใหญ่และวีรบุรุษ แห่งโรม ที่สมรภูมิฟิลิปเป้ มาร์ค แอนโทนี่สามารถรบชนะ และสังหารแคสเซียส และบรูตัส ผู้สมรู้ร่วมคิดในการสังหารจูเลียส ซีซ่าร์สองคนสุดท้ายได้ บรรดาทหารในกองทัพต่างพากันส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจและยกย่องมาร์ค แอนโทนี่ในฐานะวีรบุรุษของพวกเขา

โทนี่ตั้งกองบัญชาการของเขาที่ทาซัส (ปัจจุบันคือประเทศตุรกี) และกำลังวางแผนการทำสงครามกับปาเทียซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกอยู่ อย่างไรก็ตามเขาต้องการเงิน อาหาร และเสบียงที่จำเป็นต่างๆจากอียิปต์แต่คลีโอพัตราไม่ยอมเดินทางมาพบเขา มาร์ค แอนโทนี่พยายามเรียกคลีโอพัตราเข้ามาพบ และส่งคณะฑูตไปเจรจาหลายครั้งแต่ได้รับการปฏิเสธกลับมาทุกครั้ง โดยคลีโอพัตราแจ้งว่าจะยินยอมพบกับแอนโทนี่บนแผ่นดินอียิปต์เท่านั้น แต่ในที่สุดนางก็มาพบเขาด้วยการล่องเรือสำราญมาที่ทาร์ซัส  โดยให้มาร์ค แอนโทนี่ขึ้นไปหานางบนเรือโดยนางบอกมาร์ค แอนโทนี่ว่านางถือว่าบนเรือของนางคือแผ่นดินอียิปต์เช่นกัน

พลูตาชนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกเขียนไว้ว่า “นางล่องเรือมาตามแม่น้ำซิดนัส เรือของนางเป็นเรือสำราญหุ้มรอบนอกด้วยแผ่นทองคำ ใบเรือเป็นสีม่วง ใบพายทำด้วยโลหะเงิน ฝีพายพายเรือตามจังหวะเพลงที่เล่นโดยขลุ่ยและพิณ ตัวคลีโอพัตราเองแต่งตัวเป็นเทพเจ้าแห่งความงาม (ดาวพระศุกร์) ความงามของนางเฉิดฉายเปล่งประกายท้าทายแสงอาทิตย์ในเวลากลางวัน และข่มแสงจันทร์ให้ซีดจางลงในเวลาค่ำคืน มีเด็กผู้ชายหน้าตาดีๆหลายคนแต่งตัวด้วยชุดของกามเทพยืนอยู่สองข้างของนาง หญิงรับใช้ของนางทุกคนแต่งตัวเป็นนางเงือกทะเล บางคนก็ทำงานอยู่ที่พวงมาลัยเรือ บางคนก็ทำงานอยู่ตามสายระโยงระยางของใบเรือ กลิ่นหอมอบอวลของพันธ์ไม้นานาพันธ์ล่องลอยออกไปจนถึงชายฝั่ง  ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากพากันมามุงดูเรือสำราญลำนี้ ทั้งสองฟากฝั่งของลำน้ำ ตลาดในตัวเมืองแทบจะร้างเพราะผู้คนพากันมาเฝ้าดูเรือลำนี้กัน มีเพียงมาร์ค แอนโทนี่คนเดียวเท่านั้นที่นั่งอยู่ที่กองบัญชาการของเขา ในขณะที่มีข่าวเล่ากันแพร่สะพัดไปทั้งเมืองว่า เทพเจ้าวีนัสกำลังมาร่วมรับประทานอาหารกับเทพเจ้าแบคคัสเพื่อความผาสุข และความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนในทวีปเอเซีย

รูปที่ 18 เรือรักเรือสำราญของคลีโอพัตรา    เรือที่นางใช้เดินทางมาพบกับมาร์ค แอนโทนี่ที่ทาซัส และใช้เป็นสถานที่ต้อนรับมาร์ค แอนโทนี่ด้วย โดยนางถือว่าบนเรือของนางก็คือผืนแผ่นดินอียิปต์ และเป็นสมรภูมิที่นางจะสยบแม่ทัพใหญ่แห่งโรมให้ศิโรราบแก่อียิปต์โดยดี

ในค่ำคืนนั้นได้มีการจัดงานเลี้ยงฉลองที่ยิ่งใหญ่และน่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง  ในตอนแรกแอนโทนี่ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมด้วยในงาน แต่ต่อมากลับถูกยั่วเย้าให้เข้าไปร่วมสนุกด้วยในงาน มาร์ค แอนโทนี่ลืมเรื่องราชการบ้านเมืองและเรื่องอื่นๆใดทั้งสิ้นหมด และดื่มด่ำอยู่ในความสุขสำราญที่ได้อยู่ร่วมกับคลีโอพัตรา

รูปที่ 19 กับดักหญิงงามสยบยอดขุนพล งานเลี้ยงต้อนรับมาร์ค แอนโทนี่ที่คลีโอพัตราจัดขึ้นบนเรือสำราญของนาง

ในขณะที่ทางกรุงโรมนั้น ออคตาเวี่ยนเริ่มดำเนินแผนการทางการเมืองเพื่อให้ร้ายคนทั้งสอง จนในที่สุดมาร์ค แอนโทนี่ทนแรงกดดันจากโรมไม่ไหว และจำเป็นต้องเดินทางกลับโรมเพื่อเจรจาปรองดองกับออคตาเวี่ยน ซึ่งเขาทำได้สำเร็จและสามารถเสริมสร้างความแข็งแกร่งของตัวเองได้ดีขึ้น แต่ก็มีสิ่งที่เขาทำเกินการปรองดองไปก็คือ เขาแต่งงานกับออคตาเวียน้องสาวคนสวยของออคตาเวี่ยน เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับออคตาเวี่ยนมีความมั่นคงยิ่งขึ้นอีก เรื่องนี้ทำให้คลีโอพัตราทั้งเจ็บช้ำน้ำใจและโกรธแค้นเป็นอันมาก

รูปที่ 20 ผู้หญิงกับรักที่ไม่สมหวัง   เมื่อคลีโอพัตราได้ทราบข่าวว่ามาร์ค แอนโทนี่แต่งงานกับอ็อคตาเวียน้องสาวของอ็อคตาเวี่ยน  ทำให้นางเจ็บช้ำน้ำใจและโกรธแค้นเป็นอันมาก

หลังจากเหตุการณ์ตามวรรคก่อน มาร์ค แอนโทนี่พยายามจะติดต่อกับคลีโอพัตราอีกแต่คลีโอพัตราปฏิเสธคณะทูตของแอนโทนี่ทุกครั้ง โดยแจ้งกับคณะทูตว่านางจะไม่เจรจากับใครทั้งสิ้นนอกจากแอนโทนี่เท่านั้น ในที่สุดแอนโทนี่ก็ต้องยอมไปพบนางด้วยตนเองซึ่งคลีโอพัตราได้ทำให้แอนโทนี่ต้องยอมคุกเข่าให้กับนางต่อหน้าคนอื่นๆ นอกจากนี้นางยังตั้งข้อเสนอให้แอนโทนี่ส่งมอบหนึ่งในสามของดินแดนของอาณาจักรโรมัน ให้กับอียิปต์เป็นสิ่งแลกเปลี่ยนกับการได้เป็นพันธมิตรกับอียิปต์ (มีกล่าวหาให้ร้ายว่าเขายอมส่งมอบเครื่องบรรณาการดังกล่าว เพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้ขึ้นเตียงนอนกับนาง อย่างไรก็ตามคงไม่มีใครรู้หรอกว่าเรื่องจริงๆในเย็นวันนั้น ที่เมืองอเล็กซานเดรียมีอะไรเกิดขึ้นบ้างและอย่างไร) แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ผลสรุปก็คือแอนโทนี่ยินยอมตามความประสงค์ของคลีโอพัตราทุกประการ รวมทั้งย่อมหย่าขาดจากออคตาเวีย และเข้าพิธีแต่งงานกับคลีโอพัตราด้วย

รูปที่ 21 หญิงงามสยบวีรบุรุษ  ในการเข้าพบคลีโอพัตรานั้น นางยืนยันว่ามาร์ค แอนโทนี่กำลังยืนอยู่เบื้องหน้าฟาโรห์แห่งราชบัลลังก์ของอียิปต์ และก่อนที่จะมีการเจรจาใดๆก็ตามเขาต้องทำตามประเพณีของอียิปต์คือ ต้องคุกเข่าให้กับนาง ซึ่งในที่สุดมาร์ค แอนโทนี่ก็ยินยอมคุกเข่าให้กับนาง

ที่โรมออกตาเวี่ยนได้โอกาสในการชักใยอยู่เบื้องหลังใหฝูงชนให้โกรธแค้นแอนโทนี่และ “นางแพศยาอียิปต์” มวลชนชาวโรมันพากันเดินขบวนมาทุบประตูสภาต้องการให้โรมทำสงครามกับอียิปต์ และสภาซีเนทของโรมันมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ทำสงครามกับคลีโอพัตรา ที่บันไดหน้าสภาซีเนทออคตา    เวี่ยนขว้างทวนทองแห่งสงครามสังหารทูตอียิปต์ต่อหน้าฝูงชนเพื่อเป็นการประกาศสงคราม

รูปที่ 22 รัฐบุรุษหรือนักปลุกระดม ??? อ็อคตาเวี่ยนปลุกปั่นประชาชนชาวโรมันให้เกลียดชังมาร์ค แอนโทนี่และคลีโอพัตรา จนกระทั่งประชาชนพากันบุกมาทุบประตูรัฐสภาเรียกร้องให้โรมทำสงครามกับอียิปต์

การแพ้ชนะของสงครามชี้ขาดกันที่สมรภูมิแอคติอุม ซึ่งเป็นการยุทธ์ทางทะเลนอกฝั่งกรีซ อกริปปาเป็นแม่ทัพเรือฝ่ายออกตาเวี่ยน กองเรือของอกริบปาสามารถวางแผนลวงหลอกให้แอนโทนี่เข้าไปติดกับอยู่ในวงล้อมได้ โดยแอนโทนี่หลงกลเร่งนำกองเรือติดตามเรือธงสัญลักษณ์ของออคตาเวี่ยน กองเรือของแอนโทนี่ถูกปิดล้อมและเผาทำลาย คลีโอพัตราคิดว่ามาร์ค แอนโทนี่ เสียชีวิตแล้ว และทุกสิ่งพ่ายแพ้หมดสิ้นแล้วจึงนำเรือหันกลับไปสู่อียิปต์ แต่ปรากฏว่าแอนโทนี่หนี่รอดออกมาได้เนื่องจากเขาเห็นเรือของนางกำลังแล่นออกไป เขาจึงทอดทิ้งกองทหารที่ร่วมรบกับเขาอยู่เพื่อติดตามนางไป

รูปที่ 23 เกียรติศักดิ์รักของข้าสิ้นสูญเพื่อนาง!!! ในขณะที่มาร์ค แอนโทนี่กำลังร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารของเขาอยู่ภายในวงล้อมของข้าศึกนั้น เมื่อเห็นเรื่อของคลีโอพัตราหันหัวเรือและมุ่งหน้าไปทางอียิปต์ เขาถึงกับลืมตัว และหนีลงเรือเล็กเอาตัวรอดคนเดียวเพื่อติดตามนางไป แม้ว่าผู้ช่วยของเขาจะขอร้องว่าให้อยู่ร่วมต่อสู้ต่อไปเพราะพวกทหารบาดเจ็บ ล้มตายไปเป็นจำนวนมาก พวกที่เหลืออยู่ต้องการมาร์ค แอนโทนี่ร่วมต่อสู้ด้วยเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ แต่มาร์ค แอนโทนี่ก็ไม่สามารถตัดใจที่จะไม่ตามคลีโอพัตราไปได้

ทั้งสองคนได้พบกันอีกครั้งที่อเล็กซานเดรีย แต่ไม่มีความหวังสำหรับชัยชนะเหลืออยู่อีก ออคตาเวี่ยนนำกองทัพซึ่งมีกำลังมากกว่าแอนโทนี่ถึงสิบเท่าบุกมาถึงอเล็กซานเดรีย แอนโทนี่ฮึดสู้อีกครั้งแต่ปรากฏว่าพวกทหารของเขาพากันหนีทัพไปหมดในคืนก่อนการรบ เขาพยายามยั่วยุให้กองทัพของออคตาเวี่ยนรบกับเขาเพียงคนเดียวแต่ไม่มีใครยอมเข้ามาต่อสู้กับเขาเลย

ในที่สุดเนื่องจากเขาเข้าใจผิดว่าคลีโอพัตราเสียชีวิตแล้ว แอนโทนี่จึงฆ่าตัวตายด้วยดาบของเขาเอง ในขณะที่กำลังบาดเจ็บสาหัสอยู่นั้น คนรับใช้ของคลีโอพัตราได้นำร่างของเขาไปพบคลีโอพัตราในสุสานและเขาสิ้นชีวิตลงในอ้อมแขนของนาง  หลังจากนั้นออคตาเวี่ยนได้นำกองทัพเข้ายึดครองเมือง อเล็กซานเดรียและจับกุมคลีโอพัตราเป็นเชลย

เขาตั้งใจจะนำคลีโอพัตรากลับไปกรุงโรมด้วย โดยร่วมไปในขบวนพาเหรดของเขาเพื่อเป็นการฉลองชัยชนะ  ซึ่งคลีโอพัตราให้สัญญาว่ายินยอมจะเดินทางไปด้วยโดยมีเงื่อนไขว่าออคตาเวี่ยนจะตัองให้ความปลอดภัยกับซีซาเรี่ยนบุตรชายของนาง แต่นางสังเกตเห็นแหวนของซีซาเรียนบนนิ้วของออคตาเวี่ยน นางจึงคาดว่าออคตาเวี่ยนได้สังหารซีซาเรี่ยนแล้ว และสัญญาที่เขาให้กับนางจะไม่มีผลแต่อย่างไร

มีบางคนพยายามให้ร้ายนางอีกว่า นางได้พยายามจะยั่วยวนออคตาเวี่ยนอีกเช่นเดียวกับที่นางเคยทำกับจูเลียส ซีซ่าร์และมาร์ค แอนโทนี่ แต่ออคตาเวี่ยนไม่ใช่คนประเภทสองคนแรก หรืออาจเนื่องจากเขามีความฉลาดทางการเมืองมากเกินความสามารถของนางที่จะโน้มน้าวได้ หรืออาจเนื่องจากเสน่ห์ของนางได้ลดน้อยลงไปมากแล้ว เนื่องจากสมัยที่นางพบกับจูเลียส ซีซ่าร์ครั้งแรกนั้นนางเพิ่งจะอายุ 19 เท่านั้นเอง ในขณะที่ตอนที่นางตกเป็นเชลยของออคตาเวี่ยนนั้นนางอายุเกือบ 40 ปีแล้ว จึงไม่สามารถแสดงบทบาทได้ดีเช่นเมื่อก่อนหน้านั้นได้ แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่เต็มได้ด้วยอคติ อย่างสมบูรณ์แบบ เป็นแนวคิดที่ขาดตรรกะโดยสิ้นเชิง เป็นไปได้อย่างไรที่คลีโอพัตราจะลดศักดิ์ศรีตัวเองลงเช่นนั้นกับคนที่ทำร้ายนาง คนรักและครอบครัว ประชาชน และชาติบ้านเมืองของนาง ขนาดนั้นได้ ก่อนหน้านี้กับทั้งจูเลียส ซีซ่าร์ และมาร์ค แอนโทนี่นั้น เป็นความสัมพันธ์ในระดับเท่าเทียมกันที่โดยนางไม่เคยก้มหัวให้กับทั้งสองคนเลย มีแต่วีระบุรุษทั้งสองคนที่ต้องยอมคุกเข่าให้กับนาง การที่นางสามารถสยบบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองได้ ทำให้นางสามารถปกป้อง ชาติบ้านเมือง และประชาชนของนางไว้ได้ แต่กรณีของออคตาเวี่ยนนั้น เขาได้ทำลายทุกสิ่งที่นางรักไปหมดแล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดเลยที่นางจะทำลายศักดิ์ศรีของตัวเองซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่นางยังมีเหลืออยู่

ตรงกันข้ามกับวรรคก่อนหน้า ผมกลับเห็นว่าออคตาเวี่ยนเองในฐานะเสือผู้หญิงตัวฉกาจที่ชื่อเสียงในเรื่องผู้หญิงของเขาไม้ได้น้อยหน้าไปกว่า จูเลียส ซีซ่าร์ และมาร์ค แอนโทนี่เลย เป็นฝ่ายที่ต้องการคลีโอพัตรามากและแสดงให้เห็นชัดเจนด้วยกริยาท่าทาง และบทสนทนาที่ปรากฏภาพยนตร์ นอกจานี้ยังมีบันทึกของพวกโรมันบอกว่าเขายังมีรสนิยมพิเศษคือ ชอบร่วมรักกับผู้หญิงที่เป็นภรรยาของชายอื่นยิ่งนัก ในงานเลี้ยงทางการที่จัดขึ้นในโรมนั้นแทบทุกงาน ปรากฏว่ามักจะมีภรรยาของผู้สูงศักดิ์ถูกออคตาเวี่ยนนำตัวไปร่วมรักด้วยและค่อยปล่อยตัวมาในภายหลัง แต่ก็ไม่มีใครกล้าร้องเรียนหรือทำอะไรได้เพราะอำนาจอิทธิพลของเขา ดังนั้นมีหรือที่เขาจะไม่อยากได้คลีโอพัตรา ผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลกยุคนั้น ที่แม้แต่วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของโรมันทั้งสองคนก่อนหน้าเขาก็ได้เคยคุกเข่าให้นางมาแล้ว

คลีโอพัตราเตรียมการในขั้นสุดท้ายโดยให้คนรับใช้นำตะกร้าใส่ผลมะเดื่อมาให้เธอ เมื่อเธอวางมือลงในตะกร้า งูพิษที่อยู่ในตะกร้าก็กัดนาง เมื่อเธอสิ้นใจแล้วคนรับใช้ได้แต่งตัวให้นางด้วยชุดทองคำที่สวยงามที่สุดและก็กินยาพิษตายตามนางไปด้วย

รูปที่ 24 คลีโอพัตรา ผู้หญิงที่โลกไม่มีวันลืม เมื่อนางสิ้นใจแล้ว คนรับใช้ได้แต่งตัวให้นางด้วยชุดทองคำที่นางเคยสวมใส่ตอนเดินทางไปกรุงโรม ซึ่งเป็นชุดที่มาร์ค แอนโทนี่ได้เห็นนางเป็นครั้งแรก และนางต้องการให้มาร์ค แอนโทนี่จดจำนางได้ทันทีเมื่อทั้งสองได้พบกันอีกครั้งในโลกหน้า

หลังจากนั้น อ็อคตาเวี่ยนจึงสามารถรวบอำนาจในการปกครองอาณาจักรโรมันทั้งหมดเป็นของตนแต่ผู้เดียวได้อย่างมั่นคง และด้วยทรัพย์สมบัติมหาศาลของราชวงศ์ปโตเลมีและความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินอียิปต์ จึงช่วยหนุนส่งให้อ็อคตาเวี่ยนสามารถขยายอิทธิพลของอาณาจักรโรมันออกไปได้อีกอย่างกว้างใหญ่ไพศาล และได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นนักปกครองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลก เขาตั้งตัวเป็นจักรพรรดิองค์แรกของโรมันและวางระบบการปกครอง และระบบกฎหมายที่ดีเยี่ยมซึ่งทำให้อาณาจักรโรมันสามารถยืนยงคงอยู่ต่อไปได้ถึงอีก 500 ปี โดยในช่วง 200 ปีแรกนั้นเป็นช่วงเวลาอันยาวนานที่มีแต่สันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองที่เรียกขานกันในประวัติศาสตร์ว่า  “ยุคทองของโรมัน (Roman Golden Age)” หรือ “แพ็คโรมาน่า (Pax Romana)”

2.    คลีโอพัตรากับภาพนางมารร้าย

บทภาพยนตร์ในเวอร์ชั่นนี้เขียนโดย Joseph L Mankiewicz ซึ่งเป็นผู้กำกับการแสดง เนื้อหาส่วนใหญ่คาดว่านำมาจากงานเขียนและบันทึกทางประวัติศาสตร์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งส่วนใหญ่เขียนโดยพวกโรมัน ประกอบกับทัศนะคติของผู้ชายในยุคต้นๆหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ความกดขี่ทางเพศยังมีอิทธิพลอยู่ในสังคม บทภาพยนตร์นี้แสดงคุณลักษณะของคลีโอพัตราให้เห็นชัดเจนทั้งสองด้านคือ คุณลักษณะด้านดี และคุณ(โทษ) ลักษณะที่เลวร้ายของนาง คุณลักษณะในด้านดีนั้น ล้วนเป็นสัจจะความจริงที่เห็นได้ชัดเจน และบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของทุกๆชาติที่เกี่ยวข้องกับอียิปต์โบราณในยุคนั้น ซึ่งได้แก่ รูปกายที่งดงาม สูงศักดิ์ บุคลิกที่สง่าผ่าเผย องอาจกล้าหาญ ฉลาดปราดเปรื่อง ความเป็นผู้คงแก่เรียน ความเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว และการยืนหยัดต่อสู้เพื่อเอกราชอธิปไตยของชาติบ้านเมือง โดยไม่เคยยอมสยบก้มหัวให้กับพวกโรมันเลยแม้เมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึง ดังนั้นแม้พวกโรมันซึ่งจงเกลียดจงชัง และกลัวนางมาก ในฐานะผู้ชนะสงครามก็ยังไม่อาจที่จะเขียนให้บิดเบือนไปจากความจริงที่ประจักษ์ชัดดังกล่าวได้

ที่น่าสนใจจึงเป็นภาพของนางมารร้ายที่ปรากฏในบทภาพยนตร์นี้ ซึ่งได้รวบรวมเรื่องเลวร้ายต่างๆ ที่เคยมีการให้ร้ายคลีโอพัตรานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเข้าไว้ด้วยกันอย่างครบถ้วน ซึ่งถ้านำเนื้อหาไปเปรียบเทียบกับบทภาพยนตร์ในเวอร์ชั่นที่เป็นภาพยนตร์ชุดฉายทางโทรทัศน์ (จะกล่าวถึงในตอนที่ 3 ต่อไป) ที่เป็นการนำเนื้อหาจากบทประพันธ์ “The Memoirs Of Cleopatra” ของนักประพันธ์หญิง Margaret George มาสร้างเป็นบทภาพยนตร์ ซึ่งในปัจจุบันได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าให้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้ใกล้เคียงความจริงมากกว่าบทประพันธ์อื่นๆก่อนหน้านี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่ามุมมองจากผู้หญิงด้วยกันในยุคที่ความเสมอภาคระหว่างสิทธิของผู้หญิงกับผู้ชาย เป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับในสังคมโลกแล้ว เป็นมุมมองที่แตกต่างกันมาก โดยเป็นมุมมองที่เห็นอกเห็นใจและเข้าใจการกระทำของคลีโอพัตราในทางที่ดีมากกว่า อคติที่เห็นชัดที่สุดในบทภาพยนตร์เวอร์ชั่นนี้ก็คือประเด็นเรื่องการแพ้สงครามในสมรภูมิแอคติอุม ซึ่งแม้จะเป็นกิจกรรมทางทหารแทบจะล้วนๆก็ยังอุตสาห์ยกให้เป็นความผิดของคลีโอพัตราเกือบทั้งหมด!  ภาพนางมารร้ายที่ถูกวาดให้คลีโอพัตราในบทภาพยนตร์เรื่องนี้ที่น่าสนใจมีดังนี้

  • คลีโอพัตรา:    ผู้หญิงแพศยา สำส่อน มักมากทางเพศ หลับนอนกับผู้ชายจำนวนมาก
  • คลีโอพัตนา:    กระหายอำนาจ โหดเหี้ยมอำมหิต เลือดเย็น
  • คลีโอพัตรา:    มารยาสาไถย เจ้าเล่ห์เพทุบาย ไม่มีความจริงใจ หลอกใช้ผู้ชาย
  • คลีโอพัตรา:    สาเหตุสำคัญของความพ่ายแพ้ที่สมรภูมิแอคติอุม


เฉพาะหัวข้อที่ 3 จากบนจะนำไปกล่าวถึงในข้อ 3 ต่อไป ส่วนอีก 3 หัวข้อนั้นผมมีความเห็นดังนี้

2.1 คลีโอพัตรา:    หญิงแพศยา สำส่อน มักมากทางเพศ หลับนอนกับผู้ชายจำนวนมาก (จริงหรือ?)

เมื่อตอนที่ซีซ่าร์เข้ามายึดพระราชวังในคืนแรกนั้น รูฟิโอนายทหารคนสนิทคนหนึ่งของซีซ่าร์นำประวัติเรื่องราวของคลีโอพัตรามารายงานว่า คลีโอพัตราจัดเจนมากในการใช้เสน่ห์ความงามเพื่อให้ได้สิงที่นางต้องการ และว่านางมีชู้รักจำนวนมากรายชื่อยาวเป็นหางว่าว โดยนางเลือกเองและไม่ยอมให้ผู้ชายเป็นฝ่ายเลือกตัวนาง โดยขณะที่ซีซ่าร์รับฟังอยู่นั้น คลีโอพัตราก็กำลังแอบดูซีซ่าร์จากช่องลับอยู่แต่นางก็ไม่ได้แสดงอาการสะทกสะท้านอะไร ประเด็นนี้ผมคิดว่าเป็นเป็นการบิดเบือนและให้ร้ายคลีโอพัตราอย่างไม่เป็นธรรมยิ่ง เนื่องจากว่าไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใดๆเลยที่ชี้บอกว่าตลอดชีวิตของคลีโอพัตรามีผู้ชายคนอื่นอีกนอกจากจูเลียส ซีซ่าร์ และมาร์ค แอนโทนี่ ตรงกันข้ามกลับมีบันทึกจำนวนมากที่กล่าวถึงเรื่องที่จูเลียส ซีซ่าร์มีสัมพันธ์สวาทกับผู้หญิงหลายคนทั้งในกอลและพื้นที่อื่นๆของอาณาจักรโรมัน ในขณะที่มาร์ค แอนโทนี่ และอ็อคตาเวี่ยนก็ล้วนมีบันทึกจำนวนมากกล่าวถึงว่าเป็นเสือผู้หญิงตัวฉกาจทั้งคู่เช่นกัน

เรื่องนี้จึงเป็นการให้ร้ายป้ายสีเพื่อทำลายคุณงามความดี และชื่อเสียงเกียรติคุณของคลีโอพัตราด้วยวิธีการที่สกปรก ด้วยใจอัคติของพวกโรมันที่ทั้งเกลียดและกลัวนางเป็นอันมาก แต่ไม่สามารถหาเรื่องที่สมเหตุสมผลมาให้ร้ายนางได้ จึงได้นำเรื่องความประพฤติทางเพศซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหวสำหรับผู้หญิงมาว่ากล่าวให้ร้ายนางโดยปราศจากหลักฐานใดๆ

2.2 คลีโอพัตรา: กระหายอำนาจ เลือดเย็น โหดเหี้ยม อำมหิต

มีหลายฉากหลายตอนในบทภาพยนตร์ที่ชี้ว่า คลีโอพัตราเป็นคนกระหายอำนาจ เลือดเย็น โหดเหี้ยมอำมหิต แม้เรื่องราวเหล่านี้มีกล่าวไว้ในประวัติศาสตร์จริง แต่การจะนำมาใช้เป็นเครื่องชี้วัดคุณค่าความดีความชั่วของนางอย่างเป็นธรรมนั้น จำเป็นต้องพิจารณาถึงสถานะทางสังคม หน้าที่ความรับผิดชอบ และสภาวการณ์รอบตัวที่กดดันนางอยู่ด้วย

นางเกิดเป็นเจ้าหญิงในราชวงศ์พโตเลมี่ เป็นคนที่เฉลียวฉลาดและปรีชาสามารถที่สุดในบรรดาพี่น้องทั้งหมด และได้รับมอบอำนาจอย่างถูกต้องจากพระราชบิดาให้ครองราชย์ร่วมกับน้องชายของนางตามราชประเพณ๊ของอียิปต์ในยุคนั้น นางจึงมีความชอบธรรมทุกประการในราชบัลลังก์ เมื่อบรรดาขุนนางกังฉินคบคิดกันครอบงำน้องชายของนาง และทำการขับไล่นางออกจากเมืองเนื่องจากนางเฉลียวฉลาดและไม่ยอมเป็นหุ่นเชิดของพวกเขา นางจึงจำเป็นต้องดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อทวงราชบัลลังก์ของนางกลับคืนมา การทวงราชบัลลังก์คืนและการลงโทษผู้ผิดอย่างเด็ดขาด จึงมิใช่เรื่องของความกระหายอำนาจแต่อย่างใด ส่วนน้องชายของนางมีลักษณะเลวร้ายเช่นไรบทภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นชัดเจน แม้แต่ซีซ่าร์เองยังยอมรับว่าจากการได้พบกับน้องขายของนางเพียงครั้งเดียว เขาก็ทราบแล้วว่าน้องชายของนางและผู้คนแวดล้อมเป็นคนเยี่ยงไร สมควรจะได้เป็นผู้ปกครองอียิปต์หรือไม่

การที่นางพยายามโน้มน้าวใจจูเลียส ซีซ่าร์ ให้สืบสานเจตนารมณ์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชด้วยการร่วมมือกับนางผ่านทางบุตรของซีซ่าร์ที่จะเกิดกับนาง ในการขยายอำนาจออกไปครอบคลุมโลกทั้งหมดให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อความสงบสันติของมนุษย์ทั้งมวลภายใต้ระบบการปกครองเดียวกันนั้น เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองของนางอย่างแท้จริง ผู้คนจำนวนมากในโลกแม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังคงเลื่อมใส และชื่นชมในวีรกรรมของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชอยู่ โดยเฉพาะสำหรับนาง ซึ่งสืบเชื้อสายมาโดยตรงจากขุนพลคู่ใจของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช และมีสายเลือดกรีกเช่นเดียวกัน ย่อมต้องยิ่งเลื่อมใสและชื่นชมพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนจูเลียส ซีซ่าร์เองนั้นนั้นก็เลื่อมใสนับถือพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเป็นอันมากอยู่แล้ว ดังที่ปรากฏในภาพยนตร์ที่เขาเดินทางไปคำนับพระศพด้วยตนเอง และยืนนิ่งหลั่งน้ำตาหน้าพระศพด้วย ซึ่งต่อมาเมื่อคลีโอพัตราถามถึงสาเหตุของการหลั่งน้ำตา เขาบอกว่าเพราะเขารู้สึกว่าได้เสียเวลาในชีวิตไปมากแล้ว   แต่ความสำเร็จของเขาไม่สามารถเทียบได้แม้แต่น้อยกับความสำเร็จของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเลย ดังนั้นความมุ่งมั่นเพื่อจะทำให้ได้ตามปณิธานของชีวิตที่มีแรงบันดาลใจอันสูงส่งนั้น จึงย่อมไม่ใช่ความผิดที่จะต้องถูกประณามแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับเป็นเรื่องที่สมควรยกย่องอีกด้วย การที่โลกมนุษย์เรามีพัฒนาการมาได้ถึงปัจจุบันก็เนื่องจากมนุษย์มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ได้ตามปณิธานที่ตั้งไว้นั่นเอง

การมีส่วนในความตายของโพไธนัสที่เป็นสมุหนายกของน้องชายนาง และการแสดงเจตจำนงกับซีซ่าร์ว่าต้องการให้เขาสังหารพโตเลมีที่ 13 เสียเพื่อไม่ให้มีความยุ่งยากต่อการปกครองบ้านเมืองต่อไปในอนาคตนั้น เป็นเรื่องที่กล่าวสอดคล้องกันในหนังสือที่ผมค้นคว้าดูหลายเล่มรวมถึงในเวอร์ชั่นของฮอลมาร์คด้วย สรุปว่านางมีส่วนรู้เห็นในการสังหารพโตเลมีที่ 13 และเหล่าขุนนางกังฉินหลายคนที่มีส่วนในการครอบงำพโตเลมีที่ 13 และกำจัดนางออกจากราชบัลลังก์ แม้พโตเลมีที่ 13 จะเป็นน้องชายของนางแต่ก็เป็นคนเลวร้าย และถ้าไม่กำจัดเขาออกไป การบริหารบ้านเมืองต่อไปย่อมไม่ราบรื่นแน่นอน ซึ่งจะเป็นผลร้ายต่อส่วนรวมในที่สุด และเรื่องของการที่ญาติพี่น้อง หรือแม้แต่พ่อแม่ลูกฆ่ากันเองเพื่อแย่งชิงอำนาจราชบัลลังก์ในประวัติศาสตร์ของหลายๆชาตินั้น เป็นเรื่องราวศึกสายเลือดที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาเป็นปกติ ในมุมมองทางประวัติศาสตร์และเรื่องของการชิงอำนาจกันระหว่างพี่น้องในราชวงศ์นั้น พฤติกรรมของคลีโอพัตราย่อมไม่ใช่เรื่องราวของของความโหดเหี้ยมอำมหิต เลือดเย็นผิดมนุษย์แต่อย่างใด และภายใต้สภาพแวดล้อมที่กดดันนางอยู่ และความจำเป็นที่จะต้องรักษาสถานะภาพที่ชอบธรรมในราชบัลลังก์ของตัวเอง นางย่อมไม่อาจทำอย่างอื่นได้

2.3 คลีโอพัตรา: ต้นเหตุและสาเหตุแห่งความพ่ายแพ้ของกองทัพผสมโรมัน –อียิปต์ ที่สมรภูมิแอคติอุม

บทภาพยนตร์เวอร์ชั่นนี้ชี้นิ้วไปที่คลีโอพัตราว่า เป็นทั้งต้นเหตุและสาเหตุหลักที่ทำให้กองทัพผสมโรมัน-อียิปต์ต้องพ่ายแพ้แก่กองทัพโรมันของอ็อคตาเวี่ยนในสมรภูมิแอ็คติอุม  ประเด็นหลักๆที่ปรากฏในภาพยนตร์ได้แก่

  • คลีโอพัตรานำงบประมาณจากท้องพระคลังมาใช่ในการต่อเรือรบเป็นจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่านางคิดถึงสงครามว่าจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน แม้นางจะบอกซิสโซจินัส ราชครูที่ปรึกษาคนสนิทของนางว่าเป็นเพียงการเตรียมความพร้อมเท่านั้น  แต่ซิสโซจินัสไม่เห็นด้วยเลย และบอกนางว่าไม่เคยปรากฏมาก่อนว่าเมื่อมีการต่อเรือรบขึ้นมาจำนวนมากขนาดนี้แล้ว เรือเหล่านั้นจะไม่ได้ถูกนำไปใช้ในการทำสงคราม
  • นางใช้ทุกวิถีทางที่ทำได้เพื่อให้ได้มาร์ค แอนโทนี่มาอยู่กับนางเพื่อช่วยสานเจตนารมณ์ของนางคือ ให้ซีซาเรี่ยนขึ้นเป็นฟาโรห์ของอียิปต์ และให้มาร์คแอนโทนี่ยกแผ่นดินในความยึดครองของโรมันถึงหนึ่งในสามของอาณาจักรโรมันทั้งหมดให้กับอียิปต์ จากนั้นนางและมาร์ค แอนโทนี่ก็ร่วมกันบริหารงานในการปกครองอียิปต์ เพื่อสานเจตนารมณ์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ มหาราชต่อไป นางอาจคาดสถานการณ์ได้อยู่แล้วว่าแม้นางจะอยู่อย่างสงบสันติ อ็อคตาเวี่ยนก็ต้องเข้ามาจัดการกับนางและซีซาเรี่ยนแน่นอน เพราะตราบใดที่ซีซาเรียนยังอยู่ ก็จะยังคงเป็นหอกข้างแคร่ที่สามารถทวงความชอบธรรม ในฐานะทายาทที่แท้จริงของจูเลียส ซีซ่าร์ได้เสมอ อย่างไรก็ตามการเป็นฝ่ายรุกของนางเป็นการเร่งสงครามให้เกิดเร็วยิ่งขึ้นอีก ซึ่งถ้าหากยืดเวลาออกไปได้อาจเป็นผลดีกับการเตรียมความพร้อมของนางมากกว่าก็ได้
  • นางเดินตามหมากกลที่อ็อคตาเวี่ยนเป็นฝ่ายกำหนด ตามที่ซิสโซจินัสคัดค้านนางในตอนที่นางเสนอให้มาร์ค แอนโทนี่ยกกองทัพไปขึ้นบกที่กรีซเพื่อโจมตีกรุงโรม ซิสโซจินัสกล่าวเตือนสตินางว่าทุกอย่างที่นางทำล้วนเข้าทางที่อ็อคตาเวี่ยนเป็นผู้กำหนดทั้งสิ้น ตั้งแต่การแต่งงานระหว่างมาร์ค แอนโทนี่ กับอ็อคตาเวียน้องสาวคนสวยของอ็อคตาเวี่ยนนั้น อ็อคตาเวี่ยนคาดอยู่แล้วว่าในที่สุดมาร์ค แอนโทนี่ก็จะต้องกลับไปหาคลีโอพัตราอยู่ดี จนกระทั่งถึงล่าสุดก่อนการตัดสินใจยกกองทัพไปกรีซของคลีโอพัตรา มาร์ค แอนโทนี่ก็เพิ่งจะปฏิเสธคณะทูตของอ็อคตาเวียซึ่งล้วนประกอบด้วยบุคคลสูงศักดิ์ของโรม ที่มาเชิญมาร์ค แอนโทนี่กลับกรุงโรมในฐานะสามีของอ็อคตาเวีย ก็เป็นแผนการของอ็อคตาเวี่ยนที่ต้องการให้ชาวโรมันโกรธแค้นมาร์ค แอนโทนี่และคลีโอพัตรา ที่ปฏิเสธอ็อคตาเวียอย่างไม่ใยดี ในที่สุดประชาชนชาวโรมันก็พากันไปทุบประตูสภาซีเนทเรียกร้องให้อ็อคตาเวี่ยนทำสงครามกับอียิปต์ ตามที่เขาได้กำหนดหมากกลไว้ทุกประการ
  • นางเสนอให้แอนโทนี่ทำสงครามกับโรม ด้วยการยกทัพเรือไปขึ้นบกที่กรีซอย่างรวดเร็ว นางมั่นใจว่าพวกโรมันจะยังไม่ทันรู้ตัว และกองทัพผสมของอียิปต์กับโรมันฝ่ายของมาร์ค แอนโทนี่จะสามารถบุกเข้าโจมตียึดกรุงโรมได้โดยพวกโรมันตั้งตัวรับไม่ทัน แอนโทนี่ไม่ต้องการทำสงครามครั้งนี้เลย ด้วยเหตุผลสองประการคือ หนึ่งเขาไม่ต้องการให้เกิดสงครามระหว่างคนโรมันด้วยกันเอง และสองเขามองว่าโรมจะรู้ตัวได้ทันท่วงทีแน่นอน และจะส่งกองทัพออกมาต้านทานทันทีที่กรีซ คลีโอพัตรายืนยันว่าโรมจะไม่ต้องการรบกับกองทัพของแอนโทนี่เพราะแอนโทนี่เป็นวีรบุรุษอันเป็นที่รักยิ่งของชาวโรมัน ในขณะที่ราชครูที่ปรึกษาของคลีโอพัตราก็ไม่เห็นด้วยกับคลีโอพัตราและบอกว่า นางกำลังเดินตามหมากที่อ็อคตาเวี่ยนกำหนดไว้ทุกประการและสงครามจะเกิดขึ้นแน่นอน การที่แอนโทนี่มาอยู่ตั้งรกรากที่อียิปต์เข้าพิธีสมรสกับคลีโอพัตราตามประเพณีของอียิปต์ การยกแผ่นดินหนึ่งในสามของอาณาจักรโรมันให้อียิปต์ และการไล่อ็อคตาเวียและคณะซึ่งถือเป็นคณะผู้แทนระดับสูงของโรมันกลับ ถือเป็นการทำร้ายหัวใจชาวโรมันเป็นอย่างมาก คลีโอพัตราจึงให้ราชครูไปเจรจากับโรมว่านางต้องการสันติ เพราะนางมองว่าการเลื่อนเวลาออกไปอีกก็เป็นการดีเพราะอียิปต์จะกล้าแข็งขึ้นตามกาลเวลาที่ทอดออกไปยิ่งนาน
  • ในการโต้ถียงกันนั้น บรรดาแม่ทัพนายกองโรมันของแอนโทนี่ ไม่เห็นด้วยเลยกับการยกกองทัพเรือไป เพราะทหารโรมันของแอนโทนี่นั้นเป็นทหารบก ไม่มีความชำนาญทางเรือเลย พวกเขาอุตสาห์รวบรวมกำลังมาจากหลายแหล่งและฝึกการรบนบกมานานเป็นปีๆ แต่กลับต้องถูกส่งไปนั่งอกสั่นขวัญหายบนเรือ แต่ในที่สุดแอนโทนี่ก็ตัดสินใจทำตามความต้องการของคลีโอพัตราคือยกกองทัพเรือไปขึ้นบกที่กรีซ (เป็นไปได้ยังไง???)
  • บรรดาแม่ทัพนายกองในกองทัพของแอนโทนี่ยังไม่พอใจอีกด้วย ที่คลีโอพัตราเข้ามาก้าวก่ายในการทำการรบครั้งนี้ แม้กระทั่งในการตัดสินใจก่อนรบ ณ สมรภูมิแอคติอุม แม่ทัพนายกองโรมันทุกคนพากันคัดค้านแอนโทนี่อีกครั้งหนี่ง ว่าไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะทำการรบทางเรือ เพราะกองทัพของแอนโทนี่ไม่มีความชำนาญกับการรบทางเรือเลย เกิดการโต้เถียงกัน จนกระทั่งแอนโทนี่สั่งให้บรรดาแม่ทัพนายกองของตนทำหน้าที่เพียงสังเกตการณ์อยู่บนฝั่งเท่านั้น ไม่ต้องลงเรือไปร่วมรบกับเขา


การยกความผิดเกือบทั้งหมดให้คลีโอพัตราในความพ่ายแพ้ที่สมรภูมิแอคติอุมนี้ ผมเห็นว่าเป็นการให้ร้ายนางอย่างไม่เป็นธรรมยิ่งอีกเรื่องหนึ่ง และไม่สมเหตุสมผลที่บุคคลที่ชาญฉลาดเช่นคลีโอพัตราจะขาดสติถึงขนาดทำเรื่องโง่ๆดังกล่าวได้ และถึงนางจะคิดทำดังกล่าวก็ไม่น่าเป็นไปได้เลยว่าบรรดาทหารหาญทั้งกองทัพจะไม่สามารถคัดค้านได้ มาร์ค แอนโทนี่และบรรดาแม่ทัพนายกองที่ผ่านศึกสงครามมามากมายจะยินยอมทำเรื่องที่เห็นชัดๆว่าเป็นหายนะแน่นอนอย่างนั้นหรือ ผมได้ค้นหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆหลายแหล่งและพบว่าไม่น่าจะเป็นความผิดของคลีโอพัตรามากขนาดนั้นเลย แต่เป็นสภาพการทำสงครามที่ไม่อาจเหลีกเลี่ยงได้มากกว่า ซึ่งจะนำรายละเอียดไปเขียนในตอนที่ 4 ของบทความชุดนี้ซึ่งเป็นการสรุป

3.    ประเด็นที่น่าสนใจจากคำแนะนำของผู้อ่าน

ผู้สนใจท่านหนึ่งที่ติดตามอ่านงานเขียนของผมอยู่ ทั้งในเว็บโหราศาสตร์และเว็บประวัติศาสตร์ของคุณโรจน์ ได้ให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจมากว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีอยู่สามประเด็นที่สมควรกล่าวถึง ได้แก่ ประเด็นที่หนึ่ง เรื่องของการเมือง การปกครอง อำนาจ สิทธิมนุษยชน ประเด็นที่สอง ผู้หญิง ความงาม ความรัก ความเสน่หา และประเด็นที่สาม เหตุใดซีซ่าร์ถึงเสียใจมากที่บรูตุสไม่ซื่อสัตย์         เขาไว้วางใจบรูตุสมากไป หรือเขาหลงรักบรูตุสด้วย

ในประเด็นที่สามคือเรื่องที่จูเลียส ซีซ่าร์เสียใจมาก ที่บรูตุสร่วมอยู่ด้วยในกลุ่มคนที่ลอบสังหารเขาถึงกับอุทานประโยคประวัติศาสตร์ไว้ว่า “"You too, Brutus (เจ้าก็ร่วมมือกับเขาด้วยหรือ บรูตุส)” นั้น ผมเห็นว่าเขารักบรูตุสเหมือนลูกหลานคนหนึ่งเท่านั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบรูตุสเป็นคนวิพากษ์วิจารณ์ซีซ่าร์มากมายแต่เขาก็ไม่โกรธ และยังคงรักและเอ็นดูบรูตุสมาโดยตลอด ในบทภาพยนตร์ก็มีกล่าวถึงว่าซีซ่าร์เคยไว้ชีวิตบรูตุสมาหลายครั้งแล้ว รวมถึงในการประชุมที่บ้านซีซ่าร์ครั้งสุดท้าย ที่ซีซ่าร์ขอให้สมาชิกสภาซีเนทลงมติตั้งเขาเป็นจักรพรรดิโรมัน และบรูตุสคัดค้านโดยให้เหตุผลว่า โรมยินดีมอบเกียรติยศความภูมิใจให้แก่ซีซ่าร์แต่ไม่ใช่มอบอำนาจเด็ดขาดให้กับซีซ่าร์ ซีซ่าร์จึงบอกเขาว่า “ไม่ใช่เพราะอำนาจของข้าหรือที่ช่วยรักษาชีวิตเจ้าไว้จากเงื้อมมือของมาร์ค แอนโทนี่ ที่พาดดาบไว้ที่คอหอยเจ้าอยู่แล้ว ในการรบที่สมรภูมิฟาซาเลีย ไม่ใช่เพราะความภูมิใจของซีซ่าร์แต่เป็นอำนาจของซีซ่าร์ที่ทำให้เจ้ายังมีชีวิตรอดมายืนต่อปากต่อคำกับข้าอยู่ที่นี่ได้” ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่เขาจะต้องเสียใจและแปลกใจมากที่บรูตุสร่วมลงมือสังหารเขาด้วย แต่ไม่ใช่เพราะเขาหลงรักบรูตุสแน่นอน ในส่วนของประเด็นที่หนึ่งและสองนั้น ผมมีความเห็นดังนี้

3.1    ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยและสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่าง ระหว่างการปกครองระบอบประชาธิปไตยของโรมันกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของอียิปต์  ผู้นำและนักการเมืองของโรมันต้องรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของชาวโรมัน และต้องดำเนินกิจกรรมทางการเมืองการปกครองให้ได้ใจของชาวโรมันส่วนใหญ่เป็นสำคัญ (โดยไม่จำเป็นว่าการนั้นจะดีร้าย ถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ก็ตาม) จะเห็นได้ว่าแม้กระทั่งการเดินเกมต่อสู้กันทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายจูเลียส ซีซ่าร์ และฝ่ายต่อต้าน หรือระหว่าง อ็อคตาเวี่ยน และ มาร์ค แอนโทนี่ ต่างฝ่ายต่างก็ต้องพยายามดึงชาวโรมันมาเป็นพวกให้มากที่สุด เช่นอ็อคตาเวี่ยน พยายามทำลายภาพพจน์ของมาร์ค แอนโทนี่ ในหมู่ชาวโรมันว่าเขาไม่ใช่วีรบุรุษของพวกโรมันอีกต่อไป หากแต่เป็นคนทรยศที่ไปลุ่มหลงนางแพศยาอียิปต์จนลืมชาติบ้านเมือง ฯลฯ จนกระทั่งถึงการตัดสินใจทำสงครามกับอียิปต์ อ็อคตาเวียนก็เดินเกมทางการเมือง สร้างข่าวและสถานการณ์ให้ชาวโรมันลุกฮือกันเรียกร้องให้เขาทำสงครามกับอียิปต์เอง โดยเขาไม่ต้องออกมาเรียกร้องเลย ในขณะที่คลีโอพัตรานั้นนางเป็นผู้ตัดสินใจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในทุกเรื่อง และในการแย่งชิงอำนาจการเมืองภายในอียิปต์นั้นแต่ละฝ่ายต่างก็อาศัยกำลังทหาร และอำนาจจากภายนอก (พวกโรมัน) เป็นปัจจัยชี้ขาดชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ ซึ่งแน่นอนประชาชนย่อมต้องมีส่วนอยู่ด้วยแต่ก็มีน้ำหนักน้อยกว่ากรณีการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองของพวกโรมันอย่างเทียบกันไม่ได้ มีข้อน่าสังเกตว่าในเรื่องของอำนาจทางการเมืองนั้นในที่สุดแล้วไม่ว่าจะเป็นการปกครองในระบอบใด ก็ต้องสรุปกันที่กองทัพซึ่งเป็นผู้ถืออาวุธในที่สุด แม้กระทั่งในระบอบประชาธิปไตยของพวกโรมัน ในที่สุดแล้วกองทัพผู้ถืออาวุธก็เป็นคำตอบสุดท้ายของอำนาจทางการเมือง (เมาเซตุงอดีตประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้กล่าวประโยคประวัติศาสตร์ไว้ว่า “อำนาจทางการเมืองอยู่ที่ปลายปากกระบอกปืน”) เมื่อตอนเริ่มต้นภาพยนตร์ที่ซีซ่าร์มอบหมายให้มาร์ค แอนโทนี่เป็นผู้แทนของเขาเดินทางกลับไปกรุงโรมและให้ทำหน้าที่ทุกอย่างแทนซีซ่าร์และในนามของซีซ่าร์นั้น เขากำชับไปด้วยว่ามาร์ค แอนโทนี่จะต้องควบคุมกองทัพให้เข้มแข็ง เพราะคำพูดของซีซ่าร์คือกฎหมาย และกองทัพที่เข้มแข็งจะทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ได้รับการยอมรับและปฏิบัติตาม ส่วนเรื่องของสิทธิมนุษยชนนั้นดูเหมือนจะเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยในอุดมคติ แต่ในบางสถานการณ์บางเวลาก็มีการนำคำนี้มาใช้เป็นเครื่องมือในการทำร้ายคู่แข่งทางการเมือง หรือในระดับการเมืองโลกก็มีอยู่บ่อยครั้งที่มีการนำคำนี้มาใช้เป็นเครื่องมือในการขยายอิทธิพล และแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น!

ในโลกปัจจุบันเราจะเห็นได้ชัดเจนว่า อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ประเทศต่างๆในยุโรปตะวันตก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย ฯลฯ ประสบความสำเร็จและเจริญรุ่งเรืองด้วยการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่ประเทศต่างๆอีกจำนวนมากในทวิปอเมริกาใต้ ทวีปเอเชีย และอาฟริกา ฯลฯ ซึ่งรวมถึง ประเทศในเอเชียอาคเนย์เช่น ประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ กลับพบแต่อุปสรรคและปัญหาต่างๆมากมายจาก “ระบอบประชาธิปไตย” ในขณะที่ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์เช่นจีน กลับประสบความสำเร็จและเจริญรุ่งเรือง จนกระทั่งสามารถก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าของโลกได้ ดังนั้นปัญหาจึงอาจอยู่ที่ว่า ระบอบการปกครองนั้นเหมาะสมกับผู้คนในสังคมนั้นๆหรือไม่ และการมีผู้นำที่มีคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต และมีความสามารถ หรือไม่มากกว่า การที่ประเทศของเรามีปัญหาหนักหน่วงอยู่ในขณะนี้ อาจมาจากสาเหตุว่าประชาชนของเราส่วนใหญ่โดยเฉพาะในชนบท เข้าไม่ถึงข้อมูลและขาดความสำนึกที่ถูกต้องทางการเมือง ทำให้ถูกซื้อเสียงได้ด้วยเงินเพียงจำนวนเล็กน้อย และถูกครอบงำได้โดยง่ายด้วยอิทธิพลมาเฟียในท้องถิ่น และมาตรการประชานิยมประเภทฉาบฉวยที่หวังผลเพียงการหาเสียงในระยะสั้นแต่ก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาว! วงจรอุบาทว์ของการซื้อเสียงเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ และใช้อำนาจรัฐนั้นทุจริตคดโกงชาติบ้านเมืองเพื่อสะสมทุน และอำนาจบารมีสำหรับการซื้อเสียงในการเลือกตั้งรอบต่อไป เพื่อเข้าถืออำนาจรัฐอีกในรอบหน้า จึงฝังตัวอย่างแนบแน่นอยู่กับการเมืองไทยมาตลอดนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 เป็นต้นมา ทั้งนี้ตามที่ได้เคยฟังมา ทราบว่ารัชกาลที่เจ็ดนั้นพระองค์ก็ทรงดำเนินการอยู่แล้วที่จะนำระบอบประชาธิปไตยเข้ามาใช้ในการบริหารบ้านเมือง แต่ทรงรอเวลาเพื่อที่จะสามารถให้ความรู้ที่ถูกต้อง และเพียงพอแก่ราษฎรให้พร้อมเสียก่อนสำหรับระบอบประชาธิปไตย จึงอาจเป็นไปได้ว่าคณะราษฎร์ด่วนลงมือทำการเร็วเกินไปในขณะที่ราษฎรส่วนใหญ่ยังไม่พร้อม จึงทำให้เกิดปัญหาหนักหนาสะสมกับระบอบประชาธิปไตยของไทยเรามาจนถึงปัจจุบัน โดยยังมองไม่เห็นหนทางที่จะทำได้ในทางปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหานี้ได้เลย

ประเด็นที่น่าสนใจตามเนื้อหาในภาพยนตร์คือ คลีโอพัตราน่าจะเป็นคนจุดชนวนความคิดให้จูเลียส ซีซ่าร์ เกิดความปรารถนาต้องการจะเป็นจักรพรรดิและเทพเจ้าตามระบอบการปกครองของอียิปต์ และเกิดความต้องการจะล้มเลิกระบอบประชาธิปไตยของโรมันเสีย ในระหว่างที่จูเลียส ซีซ่าร์พักอยู่ในอียิปต์นั้นเขาได้รับการปฏิบัติด้วยในฐานะกษัตริย์และเทพเจ้า อีกทั้งการโน้มน้าวใจให้เขาสืบทอดเจตนารมณ์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ซึ่งก็เป็นความปรารถนาในใจของเขาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเขารู้สึกว่าเขาไม่สามารถทำได้เท่าพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเท่านั้น เมื่อคลีโอพัตรามาจุดประกายความคิดให้เขา เขาจึงรับมาโดยไม่รู้ตัวและดำเนินการต่อไป แต่อย่างไรก็ตามการดำเนินการของเขาเป็นสาเหตุให้เขาถูกสังหารและความใฝ่ฝันของเขากลับตกไปเป็นของอ็อคตาเวี่ยนแทนอย่างน่าเศร้าใจ

ผมคิดว่าในความเป็นจริงนั้นระบอบการปกครองทุกรูปแบบล้วนมีข้อดีข้อเสียด้วยกันทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่าสังคมใดเหมาะกับระบอบการปกครองในรูปแบบใด และการมีผู้นำที่ซื่อสัตย์สุจริตและมีความสามารถหรือไม่ ดังประโยคอมตะของอดีตนายกรัฐมนตรีจีน นายเติ้งเสี่ยวผิงที่กล่าวไว้ว่า “แมวสีอะไรไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้เป็นใช้ได้” แม้ว่าในมุมมองทางด้านสิทธิมนุษยชนนั้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชอาจไม่เป็นที่ยอมรับได้ แต่ถ้าจะว่ากันตามทฤษฎีการเมืองการปกครองแล้ว เพลโต้นักปราชญ์กรีกโบราณ ปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ในด้านการเมืองการปกครอง กล่าวยอมรับไว้ในหนังสือเรื่อง “THE REPUBLIC” ว่าระบอบการปกครองที่ดีที่สุด คือการปกครองโดยอำนาจสิทธิ์ขาดของบุคคลที่เป็นราชาปราชญ์ (Philosopher King)!

3.2    ผู้หญิง ความงาม และความรัก

แม้คลีโอพัตราจะสามารถใช้ความงามของนางเป็นอาวุธในทางการเมืองได้อย่างยอดเยี่ยม แต่นางก็ยังคงเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง นางจึงไม่สามารถจะอยู่เหนืออิทธิพลของความรักที่เกิดขึ้นในระหว่างที่นางกำลังใช้ความงามและเล่ห์เหลี่ยมเชิงชั้นเข้าจัดการควบคุมวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของโรมันทั้งสองคนได้ ที่กล่าวหากันว่านางไม่มีความจริงใจและหลอกใช้ผู้ชายจึงไม่เป็นความจริง ในกรณีแรกคือจูเลียส ซีซ่าร์นั้น ภาพเหตุการณ์ที่นางเข้าพบซีซ่าร์ด้วยการซ่อนตัวอยู่ในพรม ที่คนรับใช้นำไปมอบเป็นของขวัญแก่ซีซ่าร์นั้น เป็นเรื่องราวลือลั่นที่กล่าวขวัญกันมาทุกยุคทุกสมัย แน่นอนวัตถุประสงค์เริ่มแรกของนางคือการใช้ความงามและเสน่ห์มารยาเพื่อจัดการกับผู้ชายที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกยุคนั้น เพื่อผลทางการเมืองในการปกป้องชาติบ้านเมืองและราชบัลลังค์ แต่หลังจากที่ความสัมพันธ์เริ่มไประยะหนึ่ง นางก็รู้สึกรักและเทิดทูนซีซ่าร์ด้วยความจริงใจเช่นกัน ความรักที่นางมีต่อซีซ่าร์นั้นจะเห็นได้ชัดเจนในบทภาพยนตร์เรื่องนี้ นางชื่นชอบในความเฉลียวฉลาดและปัญญาความรอบรู้ในหลากหลายสาขาวิชาต่างๆของซีซ่าร์ ชื่นชมและเลื่อมใสในศักยภาพและความเป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่ของซีซาร์ ซึ่งเป็นภาพประทับใจของวีรบุรุษในอุดมคติของนาวคือพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชที่มีอยู่ชัดเจนในตัวจูเลียส ซีซ่าร์ อย่างไรก็ตามเนื่องจากอายุที่ต่างกันคราวลูกกับพ่อ ความรักที่นางมีต่อซีซ่าร์จึงน่าจะเป็นความรักแบบชื่นชมในความเฉลียวฉลาด ความสามารถ แต่มิใช่ความรักที่เกิดด้วยรักในฐานะของสตรีที่กำลังมีความรักแต่อย่างใด นางเสียใจเพราะซีซ่าร์มากที่สุดก็ในตอนที่ทราบว่าเขาถูกลอบสังหารเสียชีวิตแล้ว เป็นความเสียใจที่มีสาเหตุมาจากความพังทลายของความหวังทางการเมืองที่นางจะได้เห็นบุตรชายของนางได้เป็นทายาทของซีซ่าร์ และทำภารกิจทางการเมืองในอุดมคติของนางต่อไปมากกว่าที่จะเป็นความเสียใจของสตรีที่กำลังมีความรัก

ในกรณีของมาร์ค แอนโทนี่นั้น ภาพเหตุการณ์ที่นางแต่งกายในชุดเทพธิดาแห่งความงาม (ดาวพระศุกร์) ล่องเรือสำราญมาในท้องทะเลเพื่อมาพบกับมาร์ค แอนโทนี่ และนางก็สามารถพิชิตหัวใจของผู้ชายที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกยุคนั้นได้อีกคนหนึ่งอย่างเบ็ดเสร็จ ก็เป็นเรื่องราวลือลั่นที่กล่าวขานกันมาทุกยุคทุกสมัยอีกเช่นกัน และก็แน่นอนวัตถุประสงค์ของนางคือการใช้เสน่ห์และความงามของนางเพื่อผลทางการเมืองในการปกป้องชาติบ้านเมืองและราชบัลลังก์ แต่เมื่อนางได้มาพบและมีความสัมพันธ์กับมาร์ค แอนโทนี่ทหารหนุ่มรูปงามที่องอาจเก่งกล้า และเป็นผู้ชายที่มีอำนาจมากที่สุดของพวกโรมันในยุคนั้น นางก็อดจะเกิดความรักจริงๆขึ้นมาไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาร์ค แอนโทนี่นั้นเป็นความรักครั้งแรกของนางตั้งแต่สมัยยังเป็นวัยรุ่น (ในบทภาพยนตร์หลังจากที่หลับนอนกันในครั้งแรกแล้ว คลีโอพัตราจึงบอกความในใจให้มาร์ค แอนโทนี่ทราบว่า นางถูกชะตาต้องใจและหลงรักเขามาตั้งแต่ครั้งที่นางยังเป็นเด็กสาววัยรุ่นอยู่ ขณะนั้นมาร์ค แอนโทนี่เป็นนายทหารคนหนึ่งที่ร่วมมากับกองทัพโรมันที่มาประจำการในอเล็กซานเดรีย นางบอกว่านางเฝ้าแอบมองเขาจากภายในพระราชวัง และหลงรักนายทหารหนุ่มรูปงามคนนี้ตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว)  ส่วนแอนโทนี่ก็บอกนางว่าเขาก็หลงรักนางตั้งแต่ครั้งแรกที่เขาเห็นนางในพิธีต้อนรับนางสู่กรุงโรมแล้ว และเขาสารภาพว่าเขาไม่เคยอิจฉาจูเลียส ซีซ่าร์เลยไม่ว่าจูเลียส ซีซ่าร์ จะเก่งกล้าแค่ไหน ยิ่งใหญเพียงใด เฉลียวฉลาดอย่างใด ความประเสริฐเลิศล้ำใดๆของซีซ่าร์ ล้วนไม่เป็นที่อิจฉาหรือต้องการสำหรับเขาเลย สิ่งเดียวที่เขาอิจฉาคือจูเลียส ซีซ่าร์มีคลีโอพัตรา

ความรักระหว่างมาร์ค แอนโทนี่กับคลีโอพัตรานั้น ถือกันว่าเป็นความรักอมตะระหว่างหญิงกับชายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดความรักหนึ่งที่โลกเคยมีมา มาร์ค แอนโทนี่ยอมเสียสละทุกอย่างในชีวิตของตนเพื่อปกป้องคลีโอพัตราและอียิปต์ แม้กระทั่ง “เกียรติศักดิ์รักของข้า” ที่ชายชาติทหารควรจะต้องมอบให้กับตนเอง เขาก็ทำลายทิ้งทั้งหมดด้วยการทอดทิ้งทหารที่ร่วมรบกับเขาอยู่ในสมรภูมิแอคติอุม เพียงเพื่อติดตามนางกลับมาอียิปต์ และในที่สุดแม้ชีวิตของตัวเองเขาก็เสียสละเพื่อนาง ในขณะที่จูเลียส ซีซ่าร์ทำดีต่อคลีโอพัตราในลักษณะของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เท่านั้น เช่นคลีโอพัตราใช้จูเลียส ซีซ่าร์เพื่อปกป้องอียิปต์ จูเลียส ซีซ่าร์ก็ได้รับความสุขในความสัมพันธ์กับนาง และนำสินทรัพย์เงินทองจำนวนมหาศาลกลับไปกรุงโรมโดยไม่ต้องทำสงครามให้ต้องเสียเลือดเนื้อเลย คลีโอพัตราต้องการให้ซีซ่าร์ร่วมมือกับตนในการสานต่ออุดมการณ์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ซีซาร์ก็ต้องการได้บุตรชายจากคลีโอพัตรา

บทสนทนาในระหว่างที่คลีโอพัตรากำลังพยายามชี้ให้มาร์ค แอนโทนี่เข้าใจเหตุผลทางการเมืองว่า เขาจำเป็นจะต้องปกป้องตัวเองด้วยการร่วมมือกับนางในการต่อต้านอ็อคตาเวี่ยน เพราะมิฉะนั้นเขาจ่ะอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ ในขณะที่อ็อคตาเวี่ยนกลับแผ่ขยายอิทธิพลและอำนาจของตนเองอยู่ในกรุงโรมมากขึ้นเรื่อยๆนั้น ภายหลังการอธิบายเหตุผลทางการเมืองอันยืดยาวจบลง นางคาดคั้นถามย้ำเขาว่า “ท่านเห็นหรือยัง?” แอนโทนี่กลับกำลังซึมเซาเหม่อลอย เนื่องจากเขาฟังนางไปก็จ้องมองนางไปด้วย เขาเคลิบเคลิ้มไปกับความงดงามของนางจนไม่อาจสนใจอะไรอื่นได้ และสามารถตอบนางได้เพียงสั้นๆเท่านั้นว่า “ข้าพเจ้าไม่เห็นอะไรอื่น นอกจากท่าน” คำพูดประโยคนี้ในปัจจุบันได้มีการนำมาใช้อ้างอิงกันในโลกตะวันตกว่าเป็น “สัญญาณคู่แท้” ประการหนึ่ง (บทความเรื่อง “สัญญาณคู่แท้” ในเว็บโหราศาสตร์)

ในส่วนของคลีโอพัตรานั้น ความรักที่นางมีให้กับมาร์ค แอนโทนี่ก็ยิ่งใหญไม่ได้น้อยไปกว่าที่มาร์ค แอนโทนี่ได้มอบให้กับนาง ตัวอย่างที่ชัดเจนเช่นเมื่อนางได้ทราบข่าวว่ามาร์ค แอนโทนี่แต่งงานกับอ็อคตาเวียนั้น นางแสดงความผิดหวังเสียใจและชอกช้ำอย่างรุนแรง แต่ในที่สุดนางก็ทำได้เพียงเช่นผู้หญิงคนหนึ่งเท่านั้นคือร้องไห้ด้วยความชอกช้ำเสียใจ นอกจากนี้ที่ นางยืนยันกับมาร์ค แอนโทนี่มาตลอดว่าสำหรับนางนั้นความรักที่มีต่อมาร์ค แอนโทนี่ไม่สามารถแยกออกจากการเมืองได้ และนางไม่สามารถรักใครได้ แต่เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่คับขันทางการเมือง เมื่อโศกนาฏกรรมมาถึง นางจึงได้รู้จักตัวตนจริงๆของนางว่านางก็รักมาร์ค แอนโทนี่ไม่น้อยไปกว่าที่เขารักนางเลย และนางเลือกที่จะยืนเคียงข้างและตายพร้อมกับเขามากกว่าที่จะทอดทิ้งเขาไปเพื่อเอาตัวรอด เพราะนางพบว่าถ้าไม่มีมาร์ค แอนโทนี่แล้ว ทรัพย์สมบัติ อำนาจลาภยศใดๆในโลกนี้ล้วนปราศจากความหมาย

ดังนั้นคลีโอพัตราจึงไม่ใช่ผู้หญิงที่หลอกใช้ผู้ชาย และไม่มีความจริงใจอย่างที่มีบางคนกล่าวหา ตรงกันข้าม นางเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็งและมีความรักความเสียสละอย่างเต็มเปี่ยมให้กับผู้ชายที่นางรักและความรักของนาง และพร้อมอยู่เคียงข้างเขาในทุกสถานการณ์ แม้กระทั่งเมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึง

4: “คลีโอพัตรา” ภาพยนต์ที่เปลี่ยนแปลงฮอลลีวู้ด

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับกล่าวขวัญถึงว่า เป็นภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้น และในปัจจุบันเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับการยอมรับว่าลงทุนสร้างด้วยต้นทุนสูงที่สุดในโลก ซึ่งจะไม่มีใครสามารถสร้างเลียนแบบได้เป็นเรื่องที่สองอีกแล้ว

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการกล่าวขวัญถึงอีกว่าเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้โรงถ่ายภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ในฮอลลี่วูด 20th Century Fox แทบจะล้มละลาย

ภาพยนตร์เรื่องนี้ก่อให้เกิดเรื่องอื้อฉาวที่หนังสือพิมพ์ทุกฉบับในสหรัฐอเมริกา ติดตามและพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งติดต่อกันนานนับปีทุกวัน ในขณะที่ประชาชนก็ยังคงพากันบอกอีกว่า “ไม่พอ ไม่พอ!!!”

ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นการนำเรื่องราวที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในโลกเรื่องหนึ่งมาถ่ายทำลงในฟิล์มภาพยนตร์ เป็นเรื่องจริงในประวัติศาตร์ที่ทั้งน่าตื่นเต้นชวนให้ติดตามและทำให้เศร้าสลดใจไปด้วยพร้อมกันกับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดในประวัติศาสตร์

และท้ายที่สุด ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ฮอลลีวูดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมตลอดกาล การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ ประการแรกทำให้ดาราภาพยนตร์สามารถมีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตได้อย่างไม่เคยมีมาก่อน และได้รับค่าตอบแทนสูงลิ่วอย่างที่ไม่เคยปรากฏด้วยจนถึงปัจจุบัน และประการที่สองบทเรียนจากการทุ่มทุนกับภาพยนตร์เพียงเรื่องเดียวที่เกือบทำให้ 20th Century Fox ล้มละลายนี้ ได้เป็นเครื่องเตือนใจให้บรรดาโรงถ่ายในฮอลลีวู้ดไม่ทุ่มทุนจนหมดหน้าตัก เพียงเพื่อหวังโชคจากภาพยนตร์เพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งอีกต่อไป ยกตัวอย่างเช่นกรณีการสร้างภาพยนตร์เรื่อง TITANIC นั้น เมื่อ 20th Century Fox พบว่างบประมาณที่จะต้องใช้นั้นสูงเกิดขีดความสามารถที่จะรับภาระได้เพียงลำพัง จึงได้มีการร่วมลงทุนกับ PARAMOUNT จนกระทั่งสามารถถ่ายทำภาพยนตร์ได้สำเร็จเป็นต้น

7. บทสนทนาและคำพูดที่น่าสนใจ

จูเลียส ซีซ่าร์ กับ ขุนพลแคนาเดียส    เป็นบทสนทนาในตอนต้นๆของภาพยนตร์ เมื่อจูเลียส ซีซ่าร์ตัดสินใจติดตามปอมเปย์ไปอียิปต์ และสั่งการให้มาร์ค แอนโทนี่ทำหน้าที่แทนเขาในกรุงโรม ประเด็นสำคัญคือ ความเห็นของเขาตรงกับความเห็นของวีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งในอีกสองพันปีต่อมา “เหมาเจ๋อตุง” อดีตประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่กล่าววาทะประวัติศาสตร์ไว้ว่า “อำนาจทางการเมืองอยู่ที่ปลายปากกระบอกปืน”

จูเลียส ซีซ่าร์     ในกรุงโรม มาร์ค แอนโทนี่เป็นผู้แทนของซีซ่าร์ เขามีอำนาจเต็มที่ในนามของข้า
ขุนพลแคนนาเดียส    คำสั่งของเขาจะเป็นเช่นคำสั่งของซีซ่าร์ และคำสั่งของซีซ่าร์คือกฎหมาย 
จูเลียส ซีซ่าร์      บอกมาร์ค แอนโทนี่ให้คุมกองทัพอย่างเข้มแข็ง เพราะกองทัพที่เข้มแข็งจึงจะทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ได้รับการยอมรับและปฏิบัติตาม

ราชครูธีโอโดตัส กับ จูเลียส ซีซ่าร์        คำกล่าวนี้ เป็นวาทะประวัติศาสตร์อีกประโยคหนึ่ง โดย ราชครูธีโอโดตัสกล่าวกับจูเลียส ซีซ่าร์ ตอนที่เขานำศรีษะของปอมเปย์มอบให้ซีซ่าร์เพื่อเป็นการเอาใจว่า

 “คนที่ตายแล้ว ทำร้ายใครไม่ได้ (Dead men they say do not bite)”

คลีโอพัตรา กับ จูเลียส ซีซ่าร์     เป็นการสนทนาในการพบกันครั้งแรกของทั้งสองคน ซึ่งเป็นการต่อรองผลประโยชน์ระหว่างทั้งสองคนทางการเมือง

คลีโอพัตรา    ท่านไม่ใช่คนโง่หรือใช่กันแน่  ท่านพบและฟังน้องชายของข้าแล้วนี่คงรู้ว่าเขาเป็นคนร้ายกาจ ท่านเห็นด้วยมั้ยว่าข้ากับท่านรู้ถึงสิ่งที่โรมต้องการจากอียิปต์ของเรา  ข้าวโพด ข้าวเปลือก สมบัติ มันก็เรื่องเดิมๆ ความยิ่งใหญ่ของโรมัน สร้างจากความสมบูรณ์ของอียิปต์ ท่านจะได้มันและได้มันทั้งหมดโดยสันติภาพ แต่มีเพียงวิธีเดียว คือตั้งข้าเป็นราชินี

คลีโอพัตรากับจูเลียส ซีซ่าร์    คลีโอพัตราโกรธมากที่ได้ทราบว่าพวกโรมันวางเพลิงเผากองทัพเรือของอียิปต์ที่ชายฝั่ง และไฟลามมาถึงหอสมุดอเล็กซานเดรียซึ่งเป็นหอสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลกยุคนั้น เราไม่อาจทราบได้เลยว่า ตำรับตำราอันทรงคุณค่ายิ่งฉบับใดบ้างได้ถูกทำลายสูญหายไปในครั้งนั้นอย่างน่าเสียดายที่สุด นางบุกเข้าไปต่อว่าซีซ่าร์ขณะที่เขากำลังบัญชาการรบอยู่ในห้องบัญชาการ

“พวกโรมันแก่งใช้ปัญญาทำลายล้าง รื้อถอนปิรามิด กวาดล้างเมือง ท่านและทหารป่าเถื่อนของท่านกล้าดียังไงมาวางเพลิงหอสมุดของข้า เชิญเล่นเกมผู้นำให้พอนะ กระทำชำเรา ข่มขืนผู้หญิง สังหารหมู่ ปล้นสดมภ์ชาวบ้าน แต่ท่านหรือพวกป่าเถื่อนจากไหนก็ตาม ไม่มีสิทธิ์มาทำลายทรัพย์สินทางปัญญาของมนุษยชาติที่หอสมุดอเล็กซานเดรียได้”

จูเลียส ซีซ่าร์ กับ คลีโอพัตรา    เป็นบทสนทนาระหว่างคลีโอพัตรากับจูเลียส ซีซ่าร์ ณ สุสานฝังพระศพพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชในอเล็กซานเดรีย ซึ่งทำให้ทราบว่าจูเลียส ซีซ่าร์มีอุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช แต่เขารู้สึกว่าเขาต่ำต้อยเมื่อเปรียบเทียบผลงานของเขากับของพระองค์ ในขณะที่คลีโอพัตรามีความใฝ่ฝันทางการเมืองเช่นเดียวกัน โดยนางตั้งความหวังไว้ที่จูเลียส ซีซ่าร์ที่จะร่วมกับนาง สานปณิธานของพระเจ้าอเล็กซาน เดอร์มหาราชต่อไป ด้วยการรวมโรมกับอียิปต์เข้าด้วยกันผ่านทางโอรสของนางที่จะเป็นทายาทอันชอบธรรมของจูเลียส ซีซ่าร์ต่อไป บทสนทนายังชี้ให้เห็นชัดเจนด้วยว่าความสัมพันธ์ระหว่างนางกับจูเลียส ซีซ่าร์นั้นเป็นการรวมการเมืองกับตัณหาเข้าด้วยกันอย่างละเมียดละไมยิ่ง จนแม้กระทั่งซีซ่าร์เองก็ยังทึ่งไปด้วยกับพฤติกรรมดังกล่าวของนาง และบทสนทนานี้เป็นอีกบทหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ความรักระหว่างคนรักทั้งสองนี้เป็นความรักที่อิงอยู่กับผลประโยชน์เป็นสำคัญ (คลีโอพัตรารักซีซ่าร์เพราะเขาเป็นสามีของนาง เป็นผู้ชายที่เฉลียวฉลาดรอบรู้ คงแก่เรียน เก่งกล้า สามารถ มีอำนาจมากที่สุดในโลกยุคนั้น และเป็นตัวแทนของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช วีรบุรุษในอุดมคติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของนาง และที่สำคัญที่สุดคือ เขาเป็นคนที่จะช่วยปกป้องคุ้มครองนางและอียิปต์และจะช่วยสานฝันทางการเมือง การปกครอง ของนางให้เป็นจริง ในขณะที่ซีซ่าร์นอกจากจะเป็นคนแก่ที่ได้เมียสาว ซึ่งรักและลุ่มหลงในเสน่หา ความงามของนางแล้ว เขายังชื่นชอบเป็นอันมากในสติปัญญา ความเฉลียวฉลาดรอบรู้ของนางอีกด้วย และที่สำคัญเขาสามารถนำความมั่งคั่งและทรัพยากรมากมายจากอียิปต์ไปให้โรมได้โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อในการทำสงครามอีกด้วย) มิใช่เป็นเรื่องของความรักอมตะทียิ่งใหญ่ระหว่างชายกับหญิงแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกับความรักระหว่างมาร์ค แอนโทนี่กับคลีโอพัตรา ที่แม้จะเริ่มต้นด้วยผลประโยชน์เช่นกัน (โดยเฉพาะในมุมมองของคลีโอพัตรา) แต่ก็จบลงด้วยความจริงใจ และพิสูจน์ในที่สุดได้ว่าเป็นรักแท้ที่อยู่เหนือความตายและกาลเวลา
   
คลีโอพัตรา    ตอนที่ท่านมาที่นี่ครั้งแรกคนเดียว บอกข้าได้ไหมว่าทำไมท่านจึงได้ร้องไห้
จูเลียส ซีซ่าร์    นั่นเพราะข้ารู้สึกว่าได้สูญเสียบางสิ่งไปแล้ว
คลีโอพัตรา    อะไร
จูเลียส ซีซ่าร์    เวลา ทั้งชีวิตของข้า
คลีโอพัตรา    เหลวไหล
จูเลียส ซีซ่าร์    พระองค์ครองโลกได้แม้สิ้นพระชนม์เมื่อ 32 ชันษา ข้าอายุ 52 แล้ว ความใฝ่สูงของข้าคือไม่อยากให้โลกครองข้า
คลีโอพัตรา    ความใฝ่สูงของท่านคงเหมือนกับพระองค์ และจะต้องยังเหมือนอยู่
จูเลียส ซีซ่าร์    สมัยข้าอายุ 32 ในสเปน ข้าไปที่อนุสาวรีย์อเล็กซานเดอร์มหาราช ครั้งนั้นข้าก็ร้องไห้เชื่อมั้ยละ
คลีโอพัตรา    อยากให้ท่านรับดาบพระองค์ นำกลับไปด้วย
จูเลียส ซีซ่าร์    มันฝังลึกแล้ว
คลีโอพัตรา    มันปลดออกได้
จูเลียส ซีซ่าร์    กาลเวลาฝังมันแน่น
คลีโอพัตรา    งั้นชุดเกราะของอเล็กซานเดอร์
จูเลียส ซีซ่าร์    หนักเกินไปสำหรับซีซ่าร์
จูเลียส ซีซ่าร์    งั้นความฝันของพระองค์ สานต่อความฝันนั้น ซีซ่าร์ ความปราถนาอันยิ่งใหญ่ สานต่อสิ่งที่พระองค์ทำค้างไว้ ภารกิจในการครอบครองโลก โลกใบเดียว เพื่อให้โลกนี้มีประเทศเดียว ให้ทุกๆคนในโลกอยู่กันด้วยสันติ
จูเลียส ซีซ่าร์    ข้ารู้แล้วว่าท่านต้องการอะไรจากข้า และศูนย์กลางเมืองหลวงของโลกเดียว ประเทศเดียวนี้ คืออเล็กซานเดรียหรือ
คลีโอพัตรา    พระองค์ทรงเลือกไว้
จูเลียส ซีซ่าร์    ข้าเป็นชาวโรมัน
คลีโอพัตรา    พระองค์เป็นกรีก จะแปลกอะไร ในเมื่อเรารวมเป็นชาติเดียวกัน
จูเลียส ซีซ่าร์     ข้า 52 แล้ว เขาแค่ 32 ยังทำล้มเหลว
คลีโอพัตรา    เราต้องทำสำเร็จ ความฝันของท่าน ความใฝ่ฝันของท่าน 
จูเลียส ซีซ่าร์    เกิดมาชาติเดียวไม่พอสานฝันและความใฝ่สูงนั้น
คลีโอพัตรา    เสื้อคลุมของอเล็กซานเดรียย่อมไม่หนักเกิน  สำหรับโรมและอียิปต์จะร่วมกันแบก  และหากพระแสงดาบนี้ถูกตรึงแน่นไป ท่านควรใช้ดาบท่านแทน ซีซ่าร์
จูเลียส ซีซ่าร์    ท่านรวมการเมืองกับตัณหาเก่งมาก จนไม่รู้ว่าเรื่องไหนจบตรงไหน

มาร์ค แอนโทนี่ กับ คลีโอพัตรา     เป็นบทสนทนาระหว่างคลีโอพัตรากับมาร์ค แอนโทนี่ในคืนวันที่แอนโทนี่ขึ้นไปรับเลี้ยงจากคลีโอพัตราบนเรือสำราญของนาง เขาถูกนางยั่วเย้าหลอกล่อจนเมามาย และตามนางเข้าไปถึงที่บรรทมของนาง เขาต่อว่านางที่ดูเหมือนยังคงจำซีซ่าร์อย่างไม่รู้ลืม และบอกถึงความรู้สึกของเขาที่มีกับนาง และความต่ำต้อยของเขาเมื่อคิดถึงจูเลียส ซีซ่าร์

มาร์ค แอนโทนี่    ซีซ่าร์ จอมคนผู้ครองโลก คนทั้งโลกคุกเข่าให้ ท่านไม่ใช่ซีซ่าร์รู้มั้ย ต่อให้กล้าหาญกว่า ฉลาดกว่า แข็งแกร่งกว่าใครก็ไม่อาจเป็นซีซ่าร์ ซีซ่าร์เคยทำมาทั้งนั้น ทำได้ดีด้วย เก่งทั้งรบ เก่งทั้งรัก ต่อให้ท่านวิ่งหนีก็หนีไม่พ้น ไม่มีวันหลุดพ้น  เงาของซีซ่าร์จะปกคลุมท่านและจักรวาลไปตลอดกาล มาได้ทุกเมื่อ ท่านพูดในโรม อเล็กซานเดรียยินดีต้อนรับเสมอ ข้าตอบว่า “คืนนี้” ไปคำนับพระนางที่บัลลังก์ซีซ่าร์ ไปหารือสนธิสัญญาที่ซีซ่าร์ทำค้างไว้ พูดถึงโอรสซีซ่าร์ ถึงความฝันที่ท่านมีกับซีซ่าร์ อเล็กซานเดอร์วางแผนให้โลกถูกปกครองโดยท่านกับซีซ่าร์ แล้วแอนโทนี่ละ มาร์ค แอนโทนี่ไปอยู่ที่ไหน จอมทัพแอนโทนี่ละ อยู่ตรงนี้  เขาอยู่ ณ ที่นี้ คอยตามหลังซีซ่าร์หนึ่งก้าว อยู่เบื้องขวาของซีซ่าร์ ในเงาของซีซ่าร์ ตอบซิหลังจากเขาแล้วท่านมีรักอีกกี่ครา  หนึ่งครา สิบครา หรือไม่มีใครเลย พวกเขาจุมพิตทานเหมือนซีซ่าร์มั้ย ท่านพร่ำชื่อเขาหรือเปล่า หลังจากเสร็จสมเขามาหาท่านแล้วบอกให้ขอโทษหรือเปล่า

คลีโอพัตรา        ท่านมาที่นี่เมามายและพร่ำบ่น เพื่อเอาชนะซีซ่าร์หรือ
มาร์ค แอนโทนี่     มันนานมาแล้วที่ท่านก้าวเข้าสู่ชีวิตข้า  ดุจดั่งสรรพเสียงที่พร่ำเรียกในใจข้า ข้าอยากเป็นอิสระจากท่าน  จากความขลาดกลัว
คลีโอพัตรา     แต่ซีซ่าร์ก็ไม่ยินยอม
มาร์ค แอนโทนี่        ข้าคงไม่มีวันเลิกเป็นทาสรักท่านได้

มาร์ค แอนโทนี่กับคลีโอพัตรา    ภายหลังการร่วมรักกันครั้งแรกบนเรือสำราญของคลีโอพัตรา คนรักทั้งสองจึงสารภาพความในใจแก่กันว่าต่างฝ่ายต่างก็เป็นรักครั้งแรกของอีกฝ่ายหนึ่ง (รักแรกพบด้วยกันทั้งสองฝ่ายนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งของบุพเพสันนิวาส ตามความเชื่อของไทยเรา – ดูรายระเอียดในเว็บโหราศาสตร์ บทความเรื่อง สัญลักษณ์แห่งบุพเพสันนิวาส)

มาร์ค แอนโทนี่    เพียงครั้งแรกที่ข้าเห็นท่าน เข้าสู่กรุงโรมบนเจ้าสัตว์ยักษ์ เฉิดฉายท้าแสงตะวันแรง ดั่งตุ๊กตาทองคำ ข้าอิจฉา ซีซาร์นัก อิจฉาจนแทบบ้า มิได้ริษยาชื่อเสียง และตำแหน่งจอมคนของเขา หากแต่ริษยาที่เขามีท่าน
คลีโอพัตรา    คราแรกที่พบในกรุงโรม ข้าจดจำท่านได้ ข้าก็ข้องใจว่าไฉนคุ้นหน้าท่าน เมื่อหลายปีก่อน สมัยท่านเป็นนายทหารม้าหนุ่ม ประจำการหน้าวังอเล็กซานเดรียในบัญชาของขุนพลอ้วน (กาบิเนียส) ข้าเพิ่ง 12 ชันษาข้าก็รักท่านแล้ว

เจอมานิคัสกับคลีโอพัตรา     เจอมานิคัสเล่าให้คลีโอพัตราทราบว่า มาร์ค แอนโทนี่มาอยู่กับนางที่อเล็กซานเดรียนานมากแล้ว ในขณะที่อ็อกตาเวี่ยนกำลังแผ่ขยายอำนาจอิทธิพลของตนในกรุงโรมเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา และกำลังอยู่ในสภาพที่เพลี่ยงพล้ำทางการเมือง แต่มาร์ค แอนโทนี่ก็ยังไม่ยอมเดินทางกลับกรุงโรม และยืนยันว่าจะไม่ทอดทิ้งนาง

คลีโอพัตรา    แอนโทนี้รู้เรื่องนี้แค่ไหน
เจอมานิคัส    ทราบทั้งหมดแล้ว ข้าเขียนถึงเขาบ่อยๆทั้งจดหมาย ทั้งรายงานที่ส่งถึงเขา
คลีโอพัตรา    แล้วเขาตอบว่าไง
เจอมานิคัส    เขาตอบว่าไม่สนใจเรื่องที่ข้ารายงานเขา และเขาจะไม่กลับกรุงโรม เขาเข้าใจว่าเขากำลังเสี่ยงกับการสูญเสียอำนาจ แต่เขาจะไม่ทอดทิ้งพระนาง

คลีโอพัตรากับมาร์ค แอนโทนี่     เป็นบทสนทนาในการร่ำลากันครั้งแรก เนื่องจากมาร์ค แอนโทนี่จำเป็นต้องกลับกรุงโรมเพื่อเจรจาต่อรองทางการเมืองกับอ็อคตาเวี่ยน หลังจากที่เขาอยู่อเล็กซานเดรียกับคลีโอพัตรามานานมาก จนกระทั่งสถานะทางการเมืองของเขาในกรุงโรมสั่นคลอนไปเป็นอันมาก เนื้อหาการสนทนาชี้ชัดเจนว่า คลีโอพัตรารักมาร์ค แอนโทนี่ทั้งในฐานะผู้หญิงที่กำลังมีความรัก และผู้หญิงที่ต้องการผลประโยชน์จากเขาด้วย ต่างกับการสนทนากับจูเลียส ซีซ่าร์ที่นางแทบไม่เคยแสดงความรักในลักษณะนี้เลย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการประลองสติปัญญา อุดมการณ์ ปณิธานในชีวิต และผลประโยชน์ ในบทสนทนานี้คลีโอพัตราเหมือนกับมีสองคนอยู่ในร่างเดียวกัน ขณะหนึ่งก็โศกเศร้าเสียใจ รำพึงรำพันถึง การที่จะต้องพลัดพรากจากคนรัก แต่ทันใดก็กลับมาพูดถึงเรื่องการเมืองอีก

คลีโอพัตรา    ตอนคนงานสร้างฐานสุสานข้า พวกเขาพบกำแพงโบราณ มีผู้จารึกอักษรไว้เมื่อหลายร้อยปีก่อน  เขียนว่า “เมื่อคืนท่านอยู่ที่ใด ตัวข้ามิอาจข่มตาหลับ ราตรีนี้ท่านจะมาหรือไม่”  ท่านว่าเขาจะได้พบกันอีกหรือไม่
มาร์ค แอนโทนี่    ทุกอย่างที่ข้าเคยอยากได้ในชีวิต อยากแสวงหามาครอบครอง อยู่ที่นี่แล้ว อยู่กับท่าน
คลีโอพัตรา        งั้นข้าก็ไม่ควรสงสารตัวเอง
มาร์ค แอนโทนี่        ราชินีบางครั้งก็ไม่สบาย เหมือนราชาหรือเจ้าหญิง
คลีโอพัตรา     ไม่ยุติธรรมซะเลย ความรู้สึกเยี่ยงนี้ ข้าน่าจะมีครั้งตอนแรกรุ่น ข้าจะได้รู้ว่านี่คือความรัก และมันจะเป็นอย่างไร แต่ข้าต้องรอเนิ่นนานเพื่อรับรู้ เมื่อเริ่มแก่ตัว ว่ามันช่างเจ็บปวดใจนัก ความรักทิ่มแทงใจคนได้
คลีโอพัตรา    ท่านโปรดระวังอ็อกตาเวี่ยนไว้
มาร์ค แอนโทนี่     เขาต่างหากต้องระวังข้า
คลีโอพัตรา        โรมันไม่ประสงคืให้ท่านรบกัน โดยเฉพาะตอนนี้ท่านยังไม่พร้อมรบ
มาร์ค แอนโทนี่        สงคราม หรือ โลกนี้มีรักมากมาย จะไม่มีสงครามอีก
คลีโอพัตรา    ท่านต้องได้ส่วนของท่าน ตำแหน่งและอำนาจของท่านต้องได้รับการระบุแน่ชัด  ต้องไม่มีข้อกังขาว่าท่านมีอำนาจทางตะวันออก
คลีโอพัตรา        แอนโทนี่ข้าจะอยู่อย่างไร
มาร์ค แอนโทนี่         ข้าก็เช่นกัน เราคือลมหายใจของกันและกัน ทุกลมหายใจ นำเรามาใกล้กัน
 คลีโอพัตรา        ท่านอยู่ไกลข้าคงทรมาน จงจำไว้ให้มั่น จงอย่าลืมข้า ได้โปรด
มาร์ค แอนโทนี่        ลืมท่านหรือ ลืมได้อย่างไร ข้าจะไม่อยู่ห่างจากท่าน มากไปกว่านี้

มาร์ค แอนโทนี่กับคลีโอพัตรา        ภายหลังจากที่มาร์ค แอนโทนี่กลับไปกรุงโรมครั้งแรก และได้แบ่งสรรอำนาจการปกครองกับอ็อคตาเวี่ยนแล้ว โดยเขาได้แต่งงานกับ อ็อคตาเวีย น้องสาวของอ็อคตาเวี่ยน ซึ่งทำให้คลีโอพัตราเจ็บแค้น อกหัก ผิดหวัง และขมขื่นมากนั้น ในที่สุดเขาก็ไม่สามารถห้ามใจตนเองได้และกลับมาหาคลีโอพัตราที่อเล็กซานเดรียอีกครั้งหนึ่ง (อ็อคตาเวี่ยนรู้ตั้งแต่แรกแล้วว่า ในที่สุดมาร์ค แอนโทนี่ก็ต้องกลับไปหาคลีโอพัตรา ซึ่งจะเป็นการเพิ่มเงื่อนไขให้ชาวโรมันและสภาพซีเนทเกลี่ยดชังมาร์ค แอนโทนี่ มากขึ้น และจะช่วยนำไปสู่การทำสงครามกับอียิปต์ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของเขาในที่สุด)

มาร์ค แอนโทนี่    ข้ากลับมาแล้วยังไม่พอหรือ
คลีโอพัตรา    จะอยู่นานมั้ยกว่าเจ้านายท่านจะดีดนิ้วเรียกไปหาเขาหรือหานาง
มาร์ค แอนโทนี่         ข้ามีเจ้านายคนเดียว คือความรักที่ข้ามีให้ท่าน
คลีโอพัตรา    ไม่ เจ้านายท่านรักไม่ได้  ไม่มีคนรัก รักตัวท่านเองเถอะ ขอเพียงอย่าลืมว่าท่านเป็นใคร  ตำแหน่งอะไรและต้องการสิ่งใด
มาร์ค แอนโทนี่    สิ่งที่ท่านต้องการมันมากกว่าที่ข้ามีหรือ
คลีโอพัตรา        ข้าจะไม่ให้ความรักมาเป็นเจ้านายเหนือหัว
มาร์ค แอนโทนี่        งั้นท่านก็ไม่มีความรัก
คลีโอพัตรา        ตราบใดที่มีออคตาเวี่ยน
มาร์ค แอนโทนี่        อย่าหวั่นไปเลย
คลีโอพัตรา    ดูท่านมั่นใจจริงนะ เพราะมีออคตาเวี่ยนเป็นนายหรือ เขาทะเยอทะยานจะครองโรมันเยี่ยงจักรพรรดิและเทพ โรมันเป็นแค่จุดเริ่มต้น และผู้ใดจะขวางเขาอยู่หรือ ท่านกับข้า และโอรสของข้า ทายาทโดยชอบธรรมในนามของมหาบุรุษซีซ่าร์ ได้ถูกออคตาเวี่ยนปล้นชิงไปแล้ว และเขากำลังทำลายเรา โดยใช้น้องสาวและความรักที่ชาวโรมมอบให้ท่าน  การที่ท่านแต่งกับนางทำให้ข้ากลายเป็นนางบำเรอของท่าน จงอย่ากลัวออคตาเวี่ยนหรือ  ตัวเขานั่นแหละ ข้าว่าเขาไม่กลัวท่านอีกแล้ว
มาร์ค แอนโทนี่    ไม่วาเมืองไหนข้าก็โจมตีได้  ไม่ว่าทัพไหน แต่ให้ข้าได้นั่งลงใช้สมองคิดหาเล่ห์กล เน้นเรื่องนั้นเรื่องนี้ ข้าปวดหัวและแพ้ทุกที ข้าตั้งใจทำดีที่สุด แต่ข้าคงทำพลาดไปใหญ่หลวง
คลีโอพัตรา        ยังพอมีเวลา
มาร์ค แอนโทนี่    หากมีใครถามข้าว่าประสงค์สิ่งใด ข้าต้องการเพียงครองรักกับท่านอย่างสงบสุข ท่านมีข้อแม้อะไรกับผู้ที่ศิโรราบมั้ย
คลีโอพัตรา        ประการแรกต้องเอาเยี่ยงซีซ่าร์ ท่านต้องแต่งกับข้าตามธรรมเนียมอียิปต์ นั่นมาร์ค แอนโทนี่        ไม่ใช่ข้อแม้ นั่นเป็นรางวัล
คลีโอพัตรา    ท่านต้องใช้อำนาจท่านประกาศให้ซิเซเรี่ยนเป็นกษัตริย์อียิปต์ แล้วเราจะร่วมกันใช้นามเขาครองเมือง
มาร์ค แอนโทนี่        ยินดีอย่างยิ่ง
คลีโอพัตรา    ท่านต้องผนวกแว่นแคว้นที่ข้าต้องการเป็นของอียิปต์ ท่านต้องทำนะ เพื่อ  ยืนยันว่าตัวท่านมีอำนาจและยศศักดิ์ มิฉะนั้นไม่ช้าเราจะสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านยังไม่เห็นอีกหรือ
มาร์ค แอนโทนี่        ข้าไม่เห็นอะไรทั้งสิ้น นอกจากท่าน

อ็อกตาเวี่ยนกับคณะที่ปรึกษา    หลังจากที่มาร์ค แอนโทนี่ยอมทำตามทุกอย่างที่คลีโอพัตราต้องการ ตามบทสนทนาในวรรคก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งหมายถึงการยกดินแดนหนึ่งในสามของอาณาจักรโรมันให้กับอียิปต์ด้วย อ็อกตาเวี่ยนเรียกประชุมที่ปรึกษาของเขาทันที ทุกอย่างอยู่ในความคาดหมายของเขาอยู่แล้ว และเป็นไปตามหมากกลที่เขาวางไว้เพื่อจะนำไปสู่สงครามกับอียิปต์เพื่อที่เขาจะได้กำจัดซีซาเรี่ยน ทายาทโดยชอบธรรมของจูเลียส ซีซ่าร์เสีย เพราะตราบใดที่ซีซาเรี่ยนยังมีชีวิตอยู่ ตำแหน่งของเขาในฐานะทายาทของจูเลียส ซีซ่าร์จะไม่มีความมั่นคง

อ็อคตาเวี่ยน    “ความยิ่งใหญ่ของโรมอยู่ที่การเสียสละ” เขา (มาร์ค แอนโทนี่) ว่าอย่างนั้นหรือ?
    แล้วเขาก็ยกสิ่งที่ไม่ใช่ของเขาให้ และคลีโอพัตราก็รับไว้ และจะรับอีก แล้วก็จะมีสงคราม นางรู้ดีและข้าก็รู้ ว่าสงครามต้องเกิดขึ้นสักวัน
    แต่ข้าจะไม่เป็นคนประกาศสงครามเอง หรือพูดให้ร้ายแอนโทนี่
    ข้าต้องถูกบังคับให้ทำสงคราม ประชาชนชาวโรมันจะต้องเป็นผู้กดดันบังคับให้ข้าต้องทำสงครามนี้เอง               ข้าจะทำให้พวกเขาพากันมาทุบประตูสภาซีเนทเรียกร้องให้ข้าทำสงครามนี้


คลีโอพัตรากับอากริปป้า        เป็นบทสนทนาระหว่างอากริปป้า (แม่ทัพเรือของอ็อคตาเวี่ยน) ที่อ็อคตาเวี่ยนส่งมาเจราจากับคลีโอพัตรา ก่อนที่เขาจะเคลื่อนกองทัพเข้ายึดครองอียิปต์) โดยเสนอสันติภาพแลกกับศรีษะของมาร์ค แอนโทนี่ แต่คลีโอพัตราไม่รับเงื่อนไขของเขา และยืนยันจะตายพร้อมมาร์ค แอนโทนี่

อากริปป้า    ทัพของไกอัส จูเลียส ซีซ่าร์ กำลังเคลื่อนมาอเล็กซานเดรีย
คลีโอพัตรา    ไกอัส จูเลียส ซีซ่าร์มาหรือ อ็อคตาเวี่ยนขโมยนามเขามาใช้แล้ว
อากริปป้า    ท่านซีซ่าร์อยากให้ทราบว่าเขาไม่บาดหมางกับคลีโอพัตราแห่งอียิปต์
คลีโอพัตรา    งั้นก็ให้เขาถอนกำลังกลับบ้านไป
อากริปป้า    เขาฝากข้าบอกท่านว่า ทางเลือกสงครามหรือสันติ ตอนนี้ขึ้นอยู่กับอียิปต์
แล้วก็สำหรับตัวเขาปราถนาแต่สันติ

คลีโอพัตรา    เขามีข้อเสนออะไรกับสันติภาพไร้ข้อแม้นี้
อากริปป้า    สัญลักษณ์บางอย่าง เพื่อให้เราได้รู้ท่าที เพื่อบ่งชี้ว่าพระนางปราถนาดีและยอมคืนดี
คลีโอพัตรา    แล้วอ็อคตาเวี่ยนประสงค์อะไร
อากริปป้า    มาร์ค แอนโทนี่
คลีโอพัตรา    หมายถึงศรีษะของมาร์ค แอนโทนี่หรือ จงเอานี่ไปให้เขาเป็นคำตอบ (นางแกะจี้ห้อยคอของนางออกมาโยนให้อากริปป้า) น้ำใจของชาวอียิปต์ อ็อคตาเวี่ยนจะได้สองหัวแทนหัวเดียวของเขา (มาร์ค แอนโทนี่) ไม่เอาสองหัว ก็อย่าหวังเลย

คลีโอพัตรา กับ มาร์ค แอนโทนี่        ภายหลังจากที่ทูตของอ็อคตาเวี่ยนกลับไปแล้ว คลีโอพัตรารู้สึกเป็นห่วงและตามหามาร์ค แอนโทนี่ นางพยายามง้องอนและชี้แจงเหตุผลที่นางละทิ้งเขากลับมาอียิปต์โดยไม่ได้รอเขา และพยายามปลอบประโลมให้เขากลับมาเข้มแข็งอีกครั้งหนึ่ง

คลีโอพัตรา        มีคนบอกท่านมาหลับที่นี่
มาร์ค แอนโทนี่        ข้าไม่ได้หลับ
คลีโอพัตรา        งั้นเพื่อให้คืนนี้ผ่านไป
มาร์ค แอนโทนี่    ข้าไม่ได้เดียวดาย  เจ้านายเก่ากับข้าคุยถึงความหลังกันอยู่เหมือนเป็นเพื่อนห้องหรือเพื่อนร่วมสุสาน
คลีโอพัตรา        หากเขาเป็นท่านเขาจะมาพบซีซ่าร์ที่นี่หรือ หลบใต้แสงจันทร์ สงสารตัวเอง
มาร์ค แอนโทนี่        สงสารตัวเอง พูดแบบเดิมอีกแล้ว หาคำพูดใหม่เถอะ
คลีโอพัตรา        จนบัดนี้ท่านก็ยังเมาสุรา ร้องเพลงโศกกล่อมตัวเอง 
มาร์ค แอนโทนี่        ท่านน่าจะไปเจราจากับอ็อกตาเวี่ยนมากกว่านะ ทำไมไม่ยอมมอบหัวข้าไปซะ ข้าไม่เสียดายสักนิด เขาว่าตายครั้งที่สองไม่เจ็บปวด ท่านอาจจะได้ประโยชน์อีกด้วย อาจเป็นรากฐานสร้างพันธมิตรใหม่กับโรม
คลีโอพัตรา        ข้าไม่ต้องการเป็นพันธมิตรกับโรม
มาร์ค แอนโทนี่        งั้นต้องการอะไร
คลีโอพัตรา    ข้ามาง้อมาร์ค แอนโทนี่  กองทัพของเขาที่เหลืออยู่ รูฟิโอ โอรสและข้า  ทุกคนต่างรอคอยเขาอยู่ มีเวลาไม่มากแล้ว
มาร์ค แอนโทนี่        มาร์ค แอนโทนี่หรือ ไม่มีใครชื่อนั้น ที่ยังมีลมหายใจ

เมื่อการสนทนามาถึงจุดนี้ คลีโอพัตราจึงเดินเข้าไปตบหน้ามาร์ค แอนโทนี่สองสามฉาด มาร์ค แอนโตนี่ตบนางกลับจนกระเด็นไปนอนที่พื้น แล้วกล่าวต่อ

มาร์ค แอนโทนี่    เอาเวลาทำอะไรละ ให้มาร์ค แอนโทนี่ไปปรากฏตัว สวมเกราะวาววับ  ถือดาบสองมือหรือ  อากริปป้า อ็อกตาเวี่ยน  คอยฉลองอยู่ห่างๆมาร์ค แอนโทนี่จะกู้นครเอง แอนโทนี่ที่ว่า ตายไปแล้วที่แอคติอุม ตอนหนีจากสงคราม  เขารบทางน้ำตามใจท่าน แต่ท่านไม่อยู่คอยจับมือเขา  รูฟิโอกับกองทัพของข้ารอคอย  เพื่ออะไร  เพื่อถามข้าด้วยตาแดงๆ  หัวใจสลาย ข่มตาไม่หลับเหมือนๆกับข้า  ว่าทำไม่ท่านไม่ตาย ทำไม่ท่านยังอยู่ ท่านยังอยู่ได้ยังไง  ทำไมท่านถึงไม่ทอดร่างอยู่ก้นบาดาลใต้ทะเล ซีดเซียวบวมอืด ตายแบบเปี่ยมไปด้วยเกียรติ  ท่านร้องขอให้ข้ายกโทษที่ท่านหนีมา  ท่านร่ำให้ อ้างเหตุผลของท่าน เพราะความเป็นแม่ เป็นราชินี  แล้วข้าละจะไปคร่ำครวญอะไรกับใคร กับคนนับพันนับหมื่นที่ไร้วิญญาณรึ ข้าจะอ้างเหตุผลอะไร  อ้างว่าเพราะรักหรือ  ตอนเห็นท่านจากไปตัวข้าชา  ไม่รู้สึกรู้สม ไม่คำนึงถึงอะไรทั้งสิ้น  ไม่สนคนเจ็บคนตาย ไม่สนโรม ไม่สนอียิปต์  ไม่สนแพ้ชนะ เกียรติศักดิ์ อัปยศ  คิดเพียงแต่ว่าคนรักข้าได้จากไป ข้าต้องไปกับนาง  เพราะดวงใจเรียกหาข้า  ข้าจึงตามมา และเมื่อนั้นเอง ที่ข้ามองกลับ แล้วก็เห็นแจ้ง ว่าท่านพูดถูกต้อง ท่านเป็นเหนือหัวของทุกคน ทุกสิ่งได้  แต่ไม่อาจจะรักใคร

คลีโอพัตรา    ข้าเข้าใจตัวเองผิดไป  ผิดใหญ่หลวงนัก  แอนโทนี่ ความรักที่ท่านเรียกหาอยู่ที่นี่แล้ว ปราศจากท่าน แอนโทนี่  โลกนี้ข้าก็ไม่ปราถนาอีก ไม่เหลืออะไรให้ครอบครอง  เพราะสำหรับข้าแล้ว คงจะไม่มีความรักที่ไหนอีก  อยากให้ข้าตายพร้อมกับท่านไหม ข้ายินดี  หรืออยากให้ข้าอยู่กับท่าน  ตามแต่ท่านจะบัญชา

เมื่อการสนทนาถึงตอนนี้มาร์ค แอนโทนี่ทราบแล้วว่า คลีโอพัตราและความรักที่เขาไขว่าคว้ามาตลอด ได้มาอยู่กับเขาแล้ว คนรักทั้งสองสวมกอดกันด้วยความสุขสมปราถนา คนหนึ่งได้ความสมปราถนา อีกคนหนึ่งได้พบตัวตนจริงๆและหัวใจของตนเอง  มาร์ค แอนโทนี่ตกลงใจจะมีชีวิตอยู่ต่อไป และนำทัพที่เหลืออยู่เพียงสองกองพลออกต่อสู้ป้องกันอเล็กซานเดรีย ตามคำแนะนำของคลีโอพัตราที่ว่าแม้จะสายไปแล้วก็ยังดีกว่าไม่ได้เริ่มต้นเลย

มาร์ค แอนโทนี่        สายไปสำหรับเราไหมหากเราจะเลือกอยู่ต่อ
คลีโอพัตรา        สายไป ยังดีกว่าไม่เริ่ม

คลีโอพัตรา กับ มาร์ค แอนโทนี่    เป็นการพลอดรักและร่ำลากันครั้งสุดท้ายก่อนที่มาร์ค แอนโทนี่จะสิ้นใจในอ้อมแขนของคลีโอพัตรา และคลีโอพัตราก็ฆ่าตัวตายตามไปหลังจากนั้นอีกไม่นาน ซึ่งหลังจากนั้นมาเรื่องราวความรักอมตะที่ยิ่งใหญ่ของคนรักทั้งสอง ก็ยังคงได้รับการกล่าวขานสืบเนื่องกันมากว่าสองพันปีในทุกยุคทุกสมัยจวบจนปัจจุบัน

รูปที่ 25 ความตายไม่สำคัญไปกว่าความรัก  “มาร์ค แอนโทนี่” ผู้ชายที่เคยมีอำนาจมากที่สุดในโลกคนหนึ่ง เขายอมสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเพื่อความรักและผู้หญิงที่เขารัก ที่เขาได้รับตอบแทนกลับมามีเพียงสิ่งเดียว คือรักแท้จากผู้หญิงที่เขารัก “คลีโอพัตรา” ฟาโรห์องค์สุดท้ายของอียิปต์ และผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์

มาร์ค แอนโทนี่    ท่านคงเดียวดายเพราะข้า
คลีโอพัตรา    แต่จะเดียวดายไม่นาน ข้าสัญญา
มาร์ค แอนโทนี่     ตลอดมาข้าคิดว่าจะตายอย่างสมเกียรติเยี่ยงชายชาติทหารความตายของทหารกล้า ตลอดเวลาข้าใช้ชีวิตอย่างตามใจตัวเองมาตลอด ไม่เหมาะสม ข้าคิดจะแก้ตัวใหม่หลังจากตาย ข้าคาดหวัง ข้าหวังตัวเองยามตายไว้สูงเกินไป เหมือนยามมีชีวิต ท่านกอดข้าอยู่หรือเปล่า
คลีโอพัตรา    ไม่แคยแนบแน่นเท่าครั้งนี้
มาร์ค แอนโทนี่    ต้องแนบแน่นกว่านี้ เราจะทำให้ความตาย ไม่สำคัญไปกว่าความรัก ท่านและข้าจะ เราจะทำให้ความตาย เป็นเพียงแค่ การสวมกอดครั้งสุดท้าย จูบข้า  สูดลมหายใจข้าไว้กับท่าน

อ็อกตาเวี่ยน กับ นายทหารโรมัน            เมื่ออ็อกตาเวี่ยนยกกองทัพเข้ายึดอเล็กซานเดรียแล้ว นายทหารคนหนี่งเข้ามารายงานเขาว่าพบตัวคลีโอพัตราแล้ว นางอยู่กับมาร์ค แอนโทนี่ และมาร์ค แอนโทนี่ตายแล้ว อ็อกตาเวี่ยนโกรธที่ทหารพูดง่ายๆโดยไม่ตื่นเต้นเลย เขาบอกทหารว่าข่าวการเสียของวีระบุรุษผู้ยิ่งใหญ่เช่นมาร์ค แอนโทนี่นั้นต้องแจ้งด้วยอาการตื้นเต้นสมกับที่ เป็นข่าวใหญ่ที่ต้องตะโกนให้ก้องฟ้า จนมีเสียงสะท้อนมาจากมุมของจักรวาล

นายทหาร    พบคลีโอพัตราแล้ว ได้ยินว่าแอนโทนี่อยู่กับนางด้วย เขาตายแล้ว
อ็อกตาเวี่ยน    ว่าไงนะ
นายทหาร    แม่ทัพแอนโทนี่สิ้นใจแล้ว
อ็อกตาเวี่ยน    แอนโทนี่ตายแล้ว พูดง่ายอย่างนี้นะหรือ มันจะง่ายไปหน่อยมั้ง มาร์ค แอนโทนี่ตายแล้ว แม่ทัพแอนโทนี่สิ้นแล้ว เดี๋ยวก็ว่าซุปร้อน เดี๋ยวก็ว่าซุปเย็น แอนโทนี่ยังอยู่ แอนโทนี่ตายแล้ว  เปล่งวาจาออกมาด้วยความพรั่นพรึงสิ เพราะกลัวว่ามันจะไม่เป็นความจริง และแอนโทนี่จะมาเชือดลิ้นเจ้า และถึงแม้จะเป็นจริง ก็ต้องกู่ร้อง ให้เกียรติเรียกชื่อเขา แม้เขาจะสิ้นใจ ความตายของผู้ยิ่งใหญ่เช่นนี้  ต้องตะโกนก้องฟ้า กรีดร้อง ต้องมีเสียงสะท้อนก้องจากมุมจักรวาล ว่าแอนโทนี่สิ้นแล้ว  มาร์ค แอนโทนี่แห่งโรมสิ้นชีพแล้ว

คลีโอพัตรากับอ็อกตาเวี่ยน    เมื่ออ็อคตาเวี่ยนยึดอเล็กซานเดรียแล้วและทราบว่ามาร์ค แอนโทนี่เสียชีวิตไปแล้ว เขาเดินทางไปหาคลีโอพัตราเพื่อเจรจาให้นางยินยอมรับไมตรีจากเขา โดยเขาจะคืนอำนาจการปกครองและทรัพย์สินให้กับนางในฐานะที่อียิปต์เป็นแคว่นหนึ่งของโรมัน โดยมีข้อแม้ว่านางจะต้องเดินทางไปกรุงโรมกับเขา และเดินข้างรถม้าของเขาในพิธีต้อนรับเขากลับสู่กรุงโรม แต่นางปฏิเสธ นอกจากนี้เมื่อนางห็นแหวนของจูเลียส ซีซ่าร์ที่เป็นแหวนประจำตัวซีซาเรี่ยนที่นิ้วของอ็อคตาเวี่ยน นางก็ทราบว่าโอรสของนางเสียชีวิตไปแล้ว จึงได้แสร้งเจรจาต่อรองให้เขารับปากว่าจะแต่งตั้งซีซาเรี่ยนเป็นผู้ปกครองอียิปต์และรับประกันความปลอดภัยของซีซาเรี่ยนด้วย เมื่อเขาตกลงนางจึงรับปากว่าจะเดินทางไปกรุงโรมกับเขา  บทสนทนานี้ยังเป็นการบอกที่ค่อนข้างชัดเจนว่าอ็อคตาเวี่ยนต้องการคลีโอพัตรามาก มีหรือที่เสือผู้หญิงตัวฉกาจอย่างเขาที่มีประวัติชื่นชอบภรรยาของผู้อื่นเป็นพิเศษจะไม่อยากได้คลีโอพัตราที่เคยสยบวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของโรมันก่อนหน้าเขามาแล้วทั้งสองคน และโดยเฉพาะอยางยิ่งผู้หญิงคนนี้ยังเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลกยุคนั้นอีกด้วย คำกล่าวของเขาที่ว่า “แม้วันคืนล่วงเลย ผ่านความทุกข์โทมนัสแสนสาหัส ท่านก็ยังคงงดงามเฉกเช่นเดิม” ในขณะที่เขาเป็นผู้ชนะสงครามแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องเสแสร้งเล่นเกมทางการเมืองอะไรอีก จึงเป็นคำกล่าวจากใจจริงของเขาในฐานะผู้ชายและเสือผู้หญิงที่ร้ายกาจที่สุดคนหนึ่งของพวกโรมัน

อ็อคตาเวี่ยน    ท่านไม่จำเป็นต้องก้มหัวให้ซีซ่าร์
คลีโอพัตรา    ข้าไม่เคยก้ม แต่ถ้าเขายังอยู่ข้ายินดีก้มให้
อ็อคตาเวี่ยน    ข้าคือซีซ่าร์
คลีโอพัตรา    แล้วแต่ท่านจะอ้าง อ็อกเตเวี่ยน
อ็อคตาเวี่ยน    มองหน้าข้าซิ
คลีโอพัตรา    เพื่อเอาใจท่านหรือ
อ็อคตาเวี่ยน    แม้วันคืนล่วงเลย ผ่านความทุกข์โทมนัสแสนสาหัส ท่านก็ยังคงงดงามเฉกเช่นเดิม
คลีโอพัตรา    เยินยอเกินไปแล้ว
อ็อคตาเวี่ยน    ข้าไม่ถือโทษในตัวบุคคลหากท่านมีความตั้งใจ
คลีโอพัตรา    นี่ท่านยกยอตัวเองอยู่นะ
อ็อคตาเวี่ยน    สงครามยุติแล้ว ประเทศ ทรัพย์สินและตัวท่านเป็นของข้าโดยสิทธิ์ของผู้ชนะ ข้าจะให้ท่านครองอียิปต์ดั่งแคว้นของโรมันและคืนทรัพย์สินให้ท่าน โดยมีข้อแม้เดียว ท่านต้องกลับไปกรุงโรมกับข้า
คลีโอพัตรา    เดินตามรถม้าของท่านหรือ
อ็อคตาเวี่ยน    มองหน้าข้า
คลีโอพัตรา    เพื่อให้ชาวโรมผู้อหังการยืนตากแดดรอทั้งวัน เพื่อดูซากศพของข้าถูกลากสู่สภางั้นหรือ
อ็อคตาเวี่ยน    ข้าจะให้คนคุ้มครองท่าน
คลีโอพัตรา    อ็อกเตเวี่ยน เมื่อข้าพร้อมที่จะตาย ผู้ใดก็ห้ามข้าไม่ได้
อ็อคตาเวี่ยน    หากข้ารับรองความปลอดภัย จนกลับมาอเล็กซานเครียละ มองข้า ท่านจะร้องขออะไรอีก
คลีโอพัตรา    ท่านยังไม่ถามถึง โอรสข้าเลย
อ็อคตาเวี่ยน    โอรสท่าน ข้าลืมเสียสนิท เขาอยู่ไหน
คลีโอพัตรา    ในที่ที่ปลอดภัย หากข้ายอมไปโรมกับท่าน ท่านจะยอมให้โอรสข้าปกครองอียิปต์มั้ย รวมทั้งโอรสของเขา และของเขาอีก
อ็อคตาเวี่ยน    ข้าจะทำเท่าที่ทำได้
คลีโอพัตรา    ท่านกล้าให้สัจจะเยี่ยงจักรพรรดิ์โรมันและเทพเจ้ามั้ย
อ็อคตาเวี่ยน    ได้
คลีโอพัตรา    ท่านจะให้ข้าไปเมื่อไหร่
อ็อคตาเวี่ยน    เร็วที่สุด
คลีโอพัตรา    ตอนนี้ข้าเหนื่อยเต็มทีข้าอยากพักผ่อน  เชิญท่านออกไปก่อน
อ็อคตาเวี่ยน    ท่านสัญญามาก่อน  ว่าจะไม่ทำร้ายตัวเองไม่ว่าในทางใด
คลีโอพัตรา    ข้าสาบานด้วยชีวิตของโอรสข้า ต้องให้ยามอยู่ข้างในด้วยหรือ ในเมื่อข้าสาบานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยชีวิตของโอรสข้า

คลีโอพัตรา รำพึงรำพันกับตัวเอง  ในขณะที่กำลังวางมือลงในตะกร้าให้งูพิษกัด

รสชาติของมันคนเขาว่าหวานแหลม และออกผลเร็ว ไฉนข้าจึงรู้สึกประหลาดนัก คล้ายชีวิตดุจฝันอันยาวนาน เหมือนเป็นความฝันของผู้อื่น ในที่สุดมันก็จบลง นับแต่นี้ ข้าจะเริ่มความฝันของข้าเอง ฝันอันไม่มีจุดสิ้นสุด แอนโทนี่ แอนโทนี่รอข้าด้วย

อ็อคตาเวี่ยนกับนายทหารโรมัน    เมื่อนายทหารนำหนังสือฉบับสุดท้ายจากคลีโอพัตรามาให้เขา ก่อนอ่านเขาแสดงอาการดีใจว่านางจะเดินทางเข้ากรุงโรมกับเขา และเขาจะให้นางได้สมหวังทุกอย่างที่นางจะร้องขอจากเขา แต่เขาต้องผิดหวังและตกใจมากที่หนังสือดังกล่าวกลับเป็นคำขอร้องของนางในการจัดการศพของนางกับมาร์ค แอนโทนี่

อ็อคตาเวี่ยน    อ่านซิ นางประสงค์อะไรเมื่อถึงโรม นางจะสมหวัง เราจะคุยกันตอนนางเดินข้างรถข้า มีอะไรหรือ
นายทหารโรมันอ่านหนังสือของคลีโอพัตรา    “คำขอร้องเดียวซึ่งข้าวอนให้ท่านอนุมัติ คือฝังข้าไว้เคียงข้างแอนโทนี่ ณ ที่นั้น จวบจนถึงกัลปาวสาน”

อากริปป้ากับนางกำนัล
        ในฉากสุดท้ายของเรื่อง เมื่ออ็อกตาเวี่ยนเข้าไปในสุสานจึงพบคลีโอพัตราแต่งกายในชุดทองคำนอนเสียชีวิตอยู่ เขาตกตะลึงจนหน้าถอดสีเมื่อเห็นงูพิษค่อยๆเลื้อยออกไปจากแท่นบรรทม เขาถึงกับหันหลังกลับเดินออกไปทันที อากริปป้าที่เข้าไปด้วยก็ตกใจมากเช่นกัน เขาถามนางกำนัลว่า “นายหญิงของเจ้าทำยังงี้ สมควรแล้วหรือ” นางกำนัลตอบว่า “สมควรยิ่งแล้ว เป็นจุดจบอันสมพระเกียรติ สมฐานะของเจ้าผู้ครองนคร”

8. สรุป

ไม่ว่าจะพิจารณาจากมุมมองด้านใดภาพยนตร์เรื่องนี้ก็นับได้ว่าเป็นภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ และมีคุณค่ามากเรื่องหนึ่งที่ทุกคนไม่ควรพลาด หนึ่งคือจะได้ดูภาพยนตร์ที่ลงทุนสร้างด้วยงบประมาณสูงที่สุดในโลก ชนิดที่จะไม่มีใครสามารถสร้างเลียนแบบเป็นเรื่องที่สองได้อีก รางวัลออสก้าร์ที่ได้รับ 4 รางวัลจากที่ได้รับการนำเสนอชื่อ 9 รางวัลเป็นหลักประกันในขั้นต้นได้ว่าไม่เสียเวลาดูเปล่าๆโดยไม่คุ้มค่าแน่นอน ส่วนความยิ่งใหญ่อลังการของภาพยนตร์เรื่องนี้นั้น ผมคิดว่าต้องชมด้วยตาตนเองครับเพราะไม่ทราบว่าจะเขียนบรรยายออกมาได้อย่างไร

สองคือดารานักแสดงหลายคนแสดงบทบาทได้ดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอลิซาเบ็ธ เทเล่อร์ ซึ่งตามความเห็นของผมเธอแสดงเป็นคลีโอพัตราได้เหมาะสมมาก ชนิดที่ว่าคนที่จะรับบทบาทคลีโอพัตราในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ดีกว่าเธออาจจะมีเพียงคนเดียวเท่านั้นในโลกคือ “คลีโอพัตรา” ตัวจริงในประวัติศาสตร์! ไม่แต่เฉพาะเอลิซาเบ็ธ เทเล่อร์เท่านั้นที่แสดงได้ดีมาก แต่ดาราคนอื่นอีกหลายๆคน เช่นเร็กซ์ แฮริสันในบทจูเลียส ซีซ่าร์ แสดงได้สมบทบาทซีซ่าร์ได้ดีมาก เช่นเดียวกัน ในขณะที่ริชาร์ด เบอร์ตันก็แสดงบทบาทของมาร์ค แอนโทนี่ได้ดีเยี่ยมโดยเฉพาะในฉากรักโรแมนติค ซึ่งอาจเนื่องจากการที่ทั้งคู่เกิดความรักระหว่างกันขึ้นมาจริงๆในระหว่างการถ่ายทำก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรอดดี้ แมคโดวอลนั้นสามารถแสดงบทของอ็อคตาเวี่ยนได้อย่างยอดเยี่ยม จนกระทั่งเขาควรจะได้รับรางวัลออสการ์ในฐานะดาราตัวประกอบยอดเยี่ยมไปแล้ว แต่เนื่องจากโรงถ่ายพิมพ์เอกสารผิดและเสนอชื่อเขาไปในฐานะดาราแสดงนำ จึงทำให้เขาพลาดรางวัลไปอย่างน่าเสียดาย และโรงถ่ายรู้สึกเสียใจมากกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจนต้องทำหนังสือแสดงความเสียใจ และขอโทษเขาอย่างเป็นทางการในความผิดพลาดทางเอกสารที่ได้เกิดขึ้นดังกล่าว อาจมีบางท่านสงสัยว่าถ้านักแสดงหลายๆคนในเรื่องแสดงได้ดีมากแต่ทำไมไม่มีนักแสดงคนใดได้รับรางวัลออสการ์เลยนั้น ผมคิดว่าสาเหตุสำคัญนอกจากการที่โรงถ่ายตัดเนื้อหาภาพยนตร์ออกไปครึ่งหนึ่งของเนื้อเรื่อง ซึ่งทำให้เรื่องราวและบทบาทการแสดงของดาราหลายคนที่แสดงให้ปรากฏทางจอภาพยนตร์ขาดความสมบูรณ์ และเกิดความสับสนขึ้นนั้น สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือเรื่องอื้อฉาวที่เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก และได้รับการพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับในสหรัฐอเมริกาติดต่อกันเป็นเวลานานนับปี ซึ่งทำให้สังคมทั่วไปมองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ และดาราแสดงนำมีส่วนเป็นภัยต่อศีลธรรมคุณธรรมที่ดีของสังคมอเมริกันในยุคนั้น จึงเกิดอคติในการพิจารณา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่ง ส่วนรางวัลออสการ์ที่ได้รับ 4 รางวัลนั้น เป็นรางวัลสำหรับเรื่องทางเทคนิคที่จับต้องได้และเห็นได้ชัดเจนถึงความยิ่งใหญ่ และความเยี่ยมยอดที่ไม่อาจปฏิเสธได้ การที่ดารานำแสดงในภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ไม่ได้รับรางวัลออสการ์เลยจึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่ง

สามคือแม้ด้วยเนื้อหาเพียงครึ่งหนึ่ง ก็ยังเป็นที่พอใจของผู้ชมภาพยนตร์ในยุคนั้น ผู้คนแห่แหนกันไปชมภาพยนตร์มากเป็นประวัติการณ์และพอใจกับเนื้อหาเท่าที่มีให้ชม และเป็นครั้งแรกในวงการภาพยนตร์ที่สถานีโทรทัศน์เอบีซี และเครือข่ายจัดถ่อยทอดพิธีเปิดฉายรอบปฐมทัศน์ที่นิวยอร์กไปทั่วสหรัฐอเมริกา หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่นิวยอร์คไทม์แสดงความชื่นชมว่า เป็นภาพยนตร์ระดับมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุค ความยิ่งใหญ่อลังการของทุกๆสิ่งในภาพยนตร์เหมาะสมทุกประการกับชื่อของ “คลีโอพัตรา” ตลอดจนเรื่องราวและบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับนางในประวัติศาสตร์ ดังนั้นผมจึงคาดว่าถ้าหากว่าเนื้อหาเท่านี้ยังเป็นที่พอใจของผู้ชมภาพยนตร์ในยุคนั้นได้มากมายดังที่กล่าว ก็น่าจะเป็นที่ชื่นชมของผู้ชมในยุคนี้ได้ไม่ต่างกัน

สี่คือ ผู้ชมจะได้ทราบเรื่องราวที่เป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งและเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในประวัติศาสตร์โลก ถ้ากองทัพของมาร์ค แอนโทนี่และคลีโอพัตราได้ชัยชนะในการรบที่สมรภูมิแอคติอุมนั้น โลกและอารยธรรมของโลกจะไม่เป็นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผู้ชมจะได้ทราบเรื่องราวชีวิตของผู้หญิงที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกคนหนึ่งที่ผู้คนกล่าวถึงชื่อของเธอมาตลอดเวลาสองพันปีที่ผ่านมา ได้เห็นความยิ่งใหญ่อลังการของนางพญาคลีโอพัตราและสภาพแวดล้อมที่น่าตื่นตาตื่นใจรอบตัวนาง ได้เห็นเล่ห์เหลี่ยมเชิงชั้นแพรวพราวทั้งทางการเมือง และความรัก กามารมณ์ที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ของผู้หญิงที่น่าสนใจ ชวนให้ติดตาม ลี้ลับ แพรวพราวด้วยจริตมารยา และเฉลียวฉลาด ผู้หญิงที่มากไปด้วยความทะเยอทะยานทางการเมือง ที่ต้องการให้อียิปต์ผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลกเคียงคู่กับโรมัน และได้เห็นความล้มเหลว พ่ายแพ้ สูญเสีย และสิ้นหวังในทุกสิ่งของนาง “คลีโอพัตรา” ผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์และก็อาภัพที่สุดด้วยเช่นกัน!

ข้อเสียของภาพยนตร์เรื่องนี้ นอกจากความไม่ต่อเนื่องของเนื้อหาและบทบาทการแสดงของตัวละครต่างๆอันเนื่องมาจากการถูกตัดเนื้อหาไปครึ่งหนึ่ง ก็น่าจะเป็นตรงที่เนื้อหาที่กล่าวถึงคุณลักษณะที่ไม่ดีของคลีโอพัตราเป็นการให้ร้ายนางมากเกินไป โดยแทบจะเป็นการรวบรวมข้อกล่าวหาที่มีต่อนางทั้งหมดตั้งแต่อดีตมารวมไว้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ว่าได้ ซึ่งอาจทำให้ความเห็นอกเห็นใจต่อชะตากรรมของนางในหัวใจผู้ชมภาพยนตร์ลดน้อยลงไปมาก หรือบางรายอาจถึงขั้นเห็นว่าสาสมก็ได้! ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อวีรสตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่โลกเคยมีมานางหนึ่ง ผู้ซึ่งได้อุทิศตนเองทั้งชีวิตต่อสู้กับศัตรูผู้รุกรานอย่างสุดความสามารถด้วยทุกๆวิถีทาง ที่จะทำได้เพื่อปกป้องชาติบ้านเมืองของตนจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต และต้องจบชีวิตลงด้วยความพ่ายแพ้และสูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตอย่างน่าเศร้าสลด

9. ข้อมูลทั่วไป

ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ:    CLEOPATRA
ชื่อเรื่องภาษาไทย:    คลีโอพัตรา
ผู้กำกับการแสดง:   

  • Joseph L. Mankiewicz
  • Rouben Mamoulian (uncredited; fired, replaced by Joseph L. Mankiewicz)
  • Darryl F. Zanuck (uncredited)

ผู้สร้าง:            Walter Wanger
ผู้เขียนบทภาพยนตร์   

  • Joseph L. Mankiewicz
  • Ranald MacDougall
  • Sidney Buchman

อ้างอิงจากผลงานประวัติศาสตร์ของ        Plutarch, Suetonius, Appian, Carlo Mario Franzero (book
"The Life and Times of Cleopatra")
(as C.M. Franzero)), and Ben Hecht (uncredited)
ผู้แสดง

  •     Elizabeth Taylor            Cleopatra
  •     Richard Burton            Antony
  •     Rex Harrison            Caesar
  •     Pamela Brown            High Priestess
  •     George Cole            Flavius
  •     Hume Cronyn            Sosigenes
  •     Cesare Danova            Apollodorus
  •     Kenneth Haigh            Brutus
  •     Andrew Keir            Agrippa
  •     Martin Landau            Rufio
  •     Roddy McDowall        Octavian … Caesar Augustus
  •     Robert Stephens        Germanicua
  •     Francessca Annis        Eiras, Cleopatra’s handmaiden
  •     Gregoire Aslan            Pothinus (as Gregoire Aslan)
  •     Martin Benson            Ramos

เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด  หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

  • (ยังไม่มี)

 
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ

หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ

Bookmark and Share

ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก www.youtube.com

ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์

 



ตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)

สปาร์ตาคัส เกิดอย่างทาส สู้อย่างทาส ตายอย่างทาส วันที่ 19/05/2013   21:36:29
Helen of Troy (1956) The face that launched a thousand ships (เฮเลน แห่ง ทรอย , ความงามที่เคลื่อนทัพเรือพันลำ) วันที่ 19/05/2013   21:37:57
คลีโอพัตรา ตอนที่ 3 คลีโอพัตรา นางพญาไอยคุปต์ (1999) วันที่ 19/05/2013   21:39:06
สารคดี Nefertiti and the Lost Dynasty: เนเฟอตีติ อมตะราชินี จาก NATIONAL GEOGRAPHIC วันที่ 19/05/2013   21:41:09
300 ขุนศึกพันธุ์สะท้านโลก วันที่ 19/05/2013   21:42:04
Hannibal (1959) "มีเมียแล้วไม่บอก!" วันที่ 19/05/2013   21:43:44
สารคดี Hannibal จาก BBC : เพราะเขาไม่ใช่คนเถื่อน? วันที่ 19/05/2013   21:44:49
Alexander มหาราชชาตินักรบ วันที่ 19/05/2013   21:45:44
Alexander the Great (1956) วันที่ 19/05/2013   21:46:41
แกะรอย อเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) วันที่ 19/05/2013   21:47:37
Taras Bulba (1962 film) (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   21:48:19 article
1612 (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   21:48:44 article
นักรบหญิง กวนอหังการ Gladiatress (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   21:49:12 article
Braveheart (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   21:49:41 article
Attila 2001 (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 07/04/2014   21:10:33 article



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker