dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



ความรุ่งโรจน์ ในโลกมืด ของ เรย์ ชาลส์
วันที่ 19/05/2013   20:39:38

 Countryboy
 

                สวัสดีครับ เพื่อน ๆ สมาชิกและไม่ใช่สมาชิกทุก ๆ ท่าน หลังจากที่หายเงียบไปนานโดยไม่มีหนังเรื่องอะไรมาคุยกันกับเพื่อน ๆ เลย คิดถึงทุก ๆ ท่านนะครับ ระหว่างที่เงียบหายไปนี้ ผมก็ยังได้รับโทรศัพท์จากเพื่อน ๆ ตั้ง 2 สายที่ถามไถ่มาว่า เดี๋ยวนี้ ไม่ได้เขียนอะไรที่นี่แล้วหรือ ก็ได้แต่ตอบไปว่าตอนนี้ สุขภาพไม่ค่อยจะแข็งแรงเลย...ดูเหมือนว่า ธรรมชาติ จะต้องการสังขารร่างกายของเราคืนแล้ว ซึ่งก็เป็นไปตามธรรมชาติครับ ไม่ได้คิดอะไรมาก ใช้งานเค้ามานานมากแล้ว  เมื่อถึงเวลา ก็ต้องส่งคืนเค้าไป เพื่อกลับคืนสู่ธุลี

                ก็ขอขอบคุณทั้ง 2 สาย ที่ถามไถ่มา ขอขอบคุณน้องมุก จากหาดใหญ่ และขอขอบคุณน้องหญิง แม่มดใจดี ซึ่งเป็นผู้ที่เอื้อเฟื้อหนังเรื่องที่ผมจะเขียนถึงต่อไปนี้ รวมทั้งหนังเรื่องอื่น ๆ และเพลงเพราะ ๆ หลายเพลงที่น้องหญิงได้กรุณาส่งมาให้ ขอบคุณมากครับ

                จากที่เคยมีเพื่อน ๆ สมาชิกแนะนำกันมานะครับ ว่า หนังที่จะเขียนถึง ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังที่เกี่ยวกับสงครามเสมอไป ซึ่งผมเองก็เคยเล่าสู่กันฟังไปหลายเรื่องแล้วเหมือนกัน กับเรื่องราวประวัติของบุคคลต่าง ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกการสงคราม เพื่อน ๆ คงจะพอจำกันได้นะครับ

                หนังเรื่องนี้ ก็เป็นประวัติของบุคคลในอดีตคนหนึ่งเหมือนกันครับ เป็นนักร้องนักดนตรีผิวดำของสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในสมัยที่เค้ายังมีชีวิตอยู่ แม้ว่า เค้าจะถูกหยามเหยียดเป็นบางครั้งในเรื่องของสีผิว และที่สำคัญการถูกหยามเหยียดในความพิการของตัวเค้าเอง เค้าเป็นคนตาบอดครับ บอดทั้งสองข้างเลย แต่เค้าไม่ท้อต่อการสู้ชีวิต แม้ว่าจะถูกหยามเหยียดและเอาเปรียบต่าง ๆ นานาจากคนที่สมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง ทั้งผิวขาวและแม้กระทั่งคนผิวสีเหมือนกันกับตัวเค้าเอง แต่ตัวเค้าก็ต่อสู้จนประสบความสำเร็จในชีวิตได้ดีในระดับหนึ่ง ในระดับที่ คนดี ๆ ที่สมบูรณ์พร้อม ยังทำไม่ได้เท่าเค้าเลย

                เรามาลองดูประวัติคร่าว ๆ ของเค้าที่ผมค้นมาได้กันก่อนนะครับ 

                เรย์มอนด์ ชาลส์ โรบินสัน (Raymond Charles Robinson) เกิดวันที่ 23 กันยายน 1930 ที่เมือง อัลบานี่ รัฐจอร์เจีย เป็นลูกของ Bailey Robinson และ Aretha Williams ครอบครัวได้ย้ายไปอยู่ที่ กรีนวิลล์ รัฐฟลอริดาตั้งแต่เค้ายังแบเบาะอยู่ และเมื่อพ่อซึ่งเป็นคนงานรถไฟได้แยกทางกับแม่ ซึ่งประกอบอาชีพชาวไร่จากพื้นที่ที่ต้องเช่าคนอื่นทำพร้อมทั้งการรับจ้างซักผ้าด้วย จึงต้องเลี้ยงดู เรย์ และน้องชายอีกคนที่ชื่อ จอร์จ มาเพียงตามลำพัง จนกระทั่ง จอร์จ น้องชายคนเดียวต้องเสียชีวิตลงด้วยอุบัติเหตุตั้งแต่พวกเค้ายังเด็ก ๆ กันอยู่

                เมื่ออายุได้ประมาณ 7 ปี เรย์มอนด์ เริ่มมองไม่เห็นจากโรคต้อหิน และหลังจากผ่านการรักษามาได้ไม่นาน ตาของเค้าก็บอดสนิททั้งสองข้าง ไม่สามารถที่จะมองอะไรได้เห็นอีกเลย อรีธาห์ ได้ส่งให้เค้าเข้าเรียนที่โรงเรียนสอนคนตาบอดที่ เซ็นต์ ออกัสติน ใน ฟลอริดา นั่นเอง หลังจากที่เข้าเรียนที่นี่ได้ไม่นานนัก ไบเลย์ และ อรีธาห์ พ่อแม่ของเค้าก็เสียชีวิตลง

                ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดนี่เอง ที่ เรย์มอนด์ ได้เรียนรู้เรื่องราวของดนตรีเพิ่มเติมจากที่เค้าเคยได้เรียนรู้จาก พิทท์แมน ซึ่งถือว่าเป็นครูดนตรีคนแรกของเค้าในวัยเด็กเมื่อสมัยที่เค้ายังอยู่กับครอบครัวก่อนที่ตาจะบอด ที่นี่ เรย์มอนด์ ได้เรียนรู้ถึงการเรียบเรียงดนตรี การแต่งเพลง และเรียนรู้การเล่นเครื่องดนตรีที่หลากหลาย เครื่องดนตรีที่เค้ามีความชำนาญมากเป็นพิเศษคือ เปียโน และ อัลโต แซกโซโฟน ในระหว่างที่ยังอยู่ที่โรงเรียนที่ เซ็นต์ ออกัสติน เรย์มอนด์ ได้ออกเล่นดนตรีกับวงดนตรีในละแวกนั้นเพื่อเป็นการฝึกประสบการณ์ไปในตัว โดยแนวดนตรีที่เล่นตอนนั้น ยังไม่มีแนวดนตรีที่เป็นของตัวเอง

                ปี 1947 เรย์มอนด์ ได้ออกจากโรงเรียนและเดินทางไปที่ ซีแอทเติล เพื่อประกอบอาชีพนักดนตรีตามที่เขาถนัด ได้มีโอกาสบันทึกเสียงลงแผ่นครั้งแรกในปี 1949 กับบริษัทแผ่นเสียง Swingtime Records และจากเพลง Baby Let Me Hold Your Hand ซึ่งได้รับความนิยมจนนำเพลงขึ้นสู่อันดับที่ 5 ของการจัดอันดับเพลงในสไตล์ R&B ในปี 1951

 

                ปี 1952 เรย์มอนด์ ได้เปลี่ยนไปเซ็นสัญญากับบริษัท Atlantic Records จากการชักนำของ Ahmet  Ertegün และที่นี่ เป็นที่ที่ เรย์มอนด์ ได้เปลี่ยนชื่อที่ใช้ในการแสดงจาก เรย์มอนด์ โรบินสัน มาเป็น เรย์ ชาลส์ เพื่อไม่ให้ไปซ้ำกับชื่อนักมวยดังในยุคนั้นซึ่งเป็นอเมริกันนิโกรเหมือนกันคือ ซูการ์ เรย์ โรบินสัน คงกลัวว่า ผู้ฟังจะสับสนมั๊งครับ เดี๋ยวจะคิดว่า สามารถ เอ๊ย ซูการ์ เรย์ หันมาร้องเพลง

                ที่ แอตแลนติก เร็คคอร์ดส์ นี่เอง เรย์ ได้ค้นพบแนวทางการเล่นดนตรีที่แสดงถึงความเป็นตัวตนของเค้าเอง และที่ทำให้ชื่อเสียงของ เรย์ ดังมากขึ้นจนเป็นที่รู้จักของแฟนเพลงด้วยเพลง Mess Around ที่แต่งโดย อาห์เมท และเพลง I Got A Woman ซึ่งทั้ง 2 เพลง สามารถขึ้นติดอันดับของ บิลล์บอร์ดในแบบของ ริธึม แอนด์ บลูส์ (R&B) ในทันทีที่แผ่นเสียงออกวางขายในตลาด และตามมาด้วยเพลงอื่น ๆ อีกมากมายที่สร้างชื่อเสียงของ เรย์  ชาลส์ ให้โด่งดังจนเป็นที่รู้จักของมิตรรักแฟนเพลงทั่วไป 

                ปี 1959 กับเพลง What’d I Say ที่ทำให้ เรย์ ดังระเบิดเถิดเทิงมากยิ่งขึ้น แฟนเพลงสากลบ้านเราก็คงจะต้องรู้จักเพลงนี้กันเป็นอย่างดีแน่ ๆ ครับ เพลงนี้ สามารถขึ้นติดอันดับ 1 ของ บิลล์บอร์ด อีกด้วย และในปีนี้นี่เอง ที่ เรย์ ได้ย้ายสังกัดใหม่ โดยไปเซ็นสัญญากับบริษัทแผ่นเสียง ABC Recordsด้วยผลประโยชน์ที่ได้รับมากขึ้นกว่าเดิม

                ที่ เอบีซี เร็คคอร์ดส์ แนวดนตรีของ เรย์ ได้เปลี่ยนไปอีก แต่ก็ได้รับความนิยมไปทั่วโลก เพลงฮิตติดตลาดที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปจากสังกัดใหม่นี้มีมากมายเลยครับ เช่นGeorgia On My Mind (US #1), Hit the Road Jack (US #1) และ Unchain My Heart (US #9) ในวงเล็บนั่น หมายถึงอันดับเพลงที่ติดใน บิลล์บอร์ด นะครับ และอีกเพลงที่ตัวผมเองชื่นชอบเป็นพิเศษก็คือเพลงนี้ครับ Take These Chains From My Heart ที่ เรย์ ได้นำเพลงของนักร้องคันทรี่ยอดนิยม Hank Williams มาร้องใหม่ครับ ไม่ทราบว่า ยังมีใครจำได้ไหมครับ แฮ้งค์ วิลเลี่ยมส์ ขอเล่ารื้อฟื้นถึงอดีตนิดนึงนะ ในยุคที่ผมยังเป็นคนหนุ่มอยู่นั้น เพื่อน ๆ เค้าจะเรียกผมว่า แห้ง วิลเลียม ก็เพราะความไหลหลงในเพลงของ แฮ้งค์ วิลเลี่ยมส์ นี่แหละครับ

                ปี 1965 เรย์ ถูกจับในคดีเสพย์เฮโรอินหลังจากที่เค้าแอบเสพย์มันมาตั้งนาน และจากการวิ่งเต้นของทนายความฝีมือดีของ เอบีซี เร็คคอร์ดส์ เค้าได้รับทัณฑ์บนหลังจากการเข้ารับการบำบัดจนหายขาดที่คลินิกบำบัดใน ลอส แอนเจิลลิส

                24 เมษายน 1979 เพลงฮิต “จอร์เจีย ออน มาย ไมนด์” ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการให้เป็นเพลงประจำรัฐ จอร์เจีย หลังจากที่ เรย์ และเพลงของเขาถูกแบนมาตลอดจากรัฐนี้

                ปี 1985 และ ปี 1993 เรย์ ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาถึงสองสมัยคือ สมัยของประธานาธิบดี เรแกน และ สมัยของประธานาธิบดี คลินตัน ตามลำดับ

                ทางด้านชีวิตครอบครัว เรย์ แต่งงาน 2 ครั้ง ครั้งแรก แต่งกับ Eileen Williams แต่ใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันแค่ประมาณ 1 ปีเท่านั้นเอง ครั้งที่ 2 แต่งกับ Della Beatrice Howard และอยู่ด้วยกันจนวาระสุดท้ายของชีวิต เรย์ มีลูกชายและลูกสาวอย่างละ 6 คนรวม 12 คนด้วยกันกับผู้หญิงของเค้าทั้งหมด 10 คนที่เค้าเคยใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน รวมทั้งสองคนที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ที่แต่งงานกันตามกฎหมาย สำหรับ Della Bee  ภรรยาคนที่สองของเค้านั้น มีบุตรชายด้วยกัน 3 คน

                10 มิถุนายน 2004 เรย์ ชาลส์ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับ รวมอายุได้ 74 ปี ก่อนตาย เค้าได้ทำพินัยกรรมไว้ให้ลูกทุกคน ได้รับเงินสดคนละ หนึ่งล้านเหรียญดอลลาห์สหรัฐ ศพของ เรย์มอนด์ ชาลส์ โรบินสัน ถูกฝังไว้ที่สุสาน Inglewood Park แคลิฟอร์เนีย

                เอาละครับ คราวนี้ เข้ามาที่เรื่องของหนังเรื่อง Ray ที่ผมได้ดูมากันละ หลังจากที่ได้อ่านประวัติบางส่วนของเค้ามาแล้ว หนังเรื่องนี้ ผู้กำกับเค้าสร้างแบบตัดต่อสลับไปมาระหว่างวัยเด็กกับวัยผู้ใหญ่ ก็แค่ตอนต้น ๆ น่ะครับ จากนั้น ก็เดินเรื่องเล่าไปเรื่อย ๆ พร้อมกับมีเพลงให้ฟังเป็นท่อน ๆ ไปไม่จบเพลงครับ แต่ก็ยังพอให้เราได้รับรู้และคิดถึงอดีตในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี

แม่

สองพี่น้อง

                เมื่อเริ่มต้นเปิดดู ผมก็เริ่มได้รับความมันผสมความทรงจำในอดีตกับ อินโทร ของเพลง What’d I Say ที่เร้าใจขึ้นมาตั้งแต่ขึ้นไตเติลเลยครับ ฉากแรก จะเห็นแม่ของ เรย์ กับอาชีพรับจ้างซักผ้าของเธอพร้อมคำสอนที่บอกว่า “อย่าให้ใคร หรือสิ่งใด ทำให้ลูกกลายเป็นคนพิการ” ซึ่งอยู่ในห้วงคำนึงของ เรย์ ในขณะที่ยืนคอยรถเมล์ที่ทางตอนเหนือของ ฟลอริดา ในปี 1948 เพื่อที่จะไป ซีแอตเติล ด้วยการโกหกคนขับเจ้าหมาสีเทาว่า ตัวเค้า ตาบอดมาจากการรบที่ หาดโอมาฮ่า คนขับซึ่งเป็นผิวขาว จึงยอมให้เค้าโดยสารไปด้วยกับรถโดยสารของบริษัท เกรย์ฮาวนด์ ซึ่งในตอนนั้น มีการกั้นพื้นที่แยกกันนั่งระหว่างผิวขาวกับผิวสีอย่างชัดเจนเลยครับ ส่วนที่ไม่ยอมให้ขึ้นในครั้งแรกนั้น เพราะคนขับเห็น เรย์ เดินทางคนเดียว ไม่มีใครดูแล จึงไม่อยากเพิ่มภาระให้แก่ตัวเองเท่านั้นเอง

บรรยากาศปี 48

เหยียดผิว

                ในบาร์ ร๊อคกิ้ง แชร์ ใน ซีแอตเติล เรย์ ได้รับการยอมรับเข้าร่วมวงและร่วมแสดงหลังจากที่เค้าได้พิสูจน์ฝีมือให้เห็นถึงประสบการณ์ดนตรีที่เค้าเคยเล่นมาตั้งแต่ปี 1946 กับวงของคนขาว ที่ครั้งแรก ๆ ก็ไม่ยอมรับเค้าเหมือนกัน ที่ ร๊อคกิ้ง แชร์ เรย์ ได้พบและร่วมงานกับ มาร์ลีน สาวใหญ่กร้านสวาทซึ่งตั้งตัวเป็นผู้จัดการวง มือกีตาร์ ก๊อซซี่ จอมเอาเปรียบ และ เจ้าเตี้ย โอไบรอัน ซึ่งกลายมาเป็นมิตรแท้และเป็นผู้ที่ชี้ช่องทางสว่างในอาชีพให้แก่ เรย์ ในภายหลัง

ในบาร์

 โอไบรอัน มาร์ลีน และ ก๊อซซี่

                ที่ ร๊อคกิ้ง แชร์ กับวง แมทสัน ทริโอ แนวเพลงของ เรย์ ที่เล่น ยังเป็นแนวเพลงของ Nat King Cole ซึ่งเป็นนักร้องผิวดำอีกคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมในยุคนั้น (ซึ่งรวมถึงในเมืองไทยเราด้วย) ความสามารถในการเล่นและร้องของ เรย์ เหมือนกับเป็นการปลุกผี ร๊อคกิ้ง แชร์ ให้ฟื้นขึ้นมาถึงขนาดตั๋วหมดก่อนเวลาเล่น แต่ เรย์ กลับถูก มาร์ลีน และ ก๊อซซี่ เอาเปรียบอย่างมากในเรื่องค่าแรง แต่ก็ยังดีที่ เรย์ ไม่ต้องซื้อข้าวและเช่าบ้านอยู่เอง โดยได้อาศัยอยู่กับ มาร์ลีน ด้วยการแลกกับการยอมเป็นเนื้ออ่อน ๆ ให้ มาร์ลิน เคี้ยวในยามที่เธอหิวโหย ดู ๆ ก็น่าสบายนะครับ แต่ก็อดขำไม่ได้กับในหนัง ที่แสดงให้เห็นถึงความอ่อนล้า อิดโรย ของ เรย์ ในแต่ละครั้งที่ มาร์ลีน ยายตัวกินเด็กเรียกหาเค้า

แลกที่พักฟรี

                เริ่มฉากต่อมาในปี 1949 เรย์ และวงได้ออกเดินสายเปิดการแสดงต่างเมือง ในระหว่างนี้ เรย์ มักจะฝันถึงอดีตเกี่ยวกับการตายของ จอร์จ น้องชาย โดยเค้าได้แต่เฝ้าคิดว่า การตายของ จอร์จ เกิดจากตัวเค้าเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่รบกวนจิตใจของเค้าตลอดเวลา
 
                ในปีนี้นี่เอง แมวมองของบริษัท Swingtime Records ได้เข้ามาคุยกับ เรย์ แต่ถูกกีดกันจากมาร์ลิน และ ก๊อซซี่ และคงจะตกลงกันไม่ได้ด้วยผลประโยชน์ เพราะ สวิงไทม์ เร็คคอร์ดส์ คงต้องการเฉพาะ เรย์ ไม่ได้ต้องการทั้งวง แต่จากการช่วยเหลือของเจ้าเตี๊ย โอไบรอัน ทำให้ เรย์ ได้มีโอกาสคุยกับตัวแทนของ สวิงไทม์ เร็คคอร์ดส์ จนได้เซ็นสัญญากัน และได้รับรู้ความจริงว่า ตัวเอง ถูก มาร์ลิน และ ก๊อซซี่ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นผิวดำด้วยกัน โกหกและเอาเปรียบเค้าตลอดมา เรย์ ออกจากวงท่ามกลางความเสียดายของ มาร์ลิน และ ก๊อซซี่ ที่ตัองสูญเสียห่านทองคำไป
แมวมองจากสวิงไทม์

                ปี 1950 หลังจากเริ่มต้นใหม่กับ สวิงไทม์ เร็คคอร์ดส์ ใน ล๊อส แอนเจิลลิส เรย์ ได้รับคำแนะนำให้เปลี่ยนชื่อใหม่ที่ใช้ในการแสดงจาก เรย์ โรบินสัน มาเป็น เรย์ ชาลส์ ซึ่งมาจากชื่อกลางของเค้านั่นเอง และเมื่อมาอยู่กับวงใหม่ เพื่อนร่วมงานใหม่ แต่ เรย์ ก็ยังถูกกีดกันในการร่วมกิจกรรมนอกเวลากับเพื่อน ๆ ของเค้าอยู่ดี ทั้งที่เป็นพวกผิวสีเหมือนกัน แค่ในวงจะพาสาวไปเที่ยว ยังไม่ให้ไปด้วย เรย์จึงใช้เวลาในการคิดเพลงแต่งเพลงในช่วงนี้แหละครับ

                ในระหว่างที่เพลงที่บันทึกเสียงกับ สวิงไทม์ เร็คคอร์ดส์ ยังไม่ดัง เรย์ และวงก็ตะลอน ๆ ออกเดินสายโปรโมทเพลงไปเรื่อย ๆ โดย เรย์ ขอรับค่าตัวเป็นธนบัติใบละ 1 เหรียญอย่างเดียวเท่านั้นเพื่อความสะดวกในการนับ เพราะเค้าเคยโดนโกงเงินจาก ฟลอริดา เพล์บอย วงเก่าที่เค้าเคยเล่นเมื่อสมัยปี 1946 เลยจำฝังใจครับ รับแต่ใบละเหรียญ นับง่ายดี ระหว่างนี้ เรย์ สนิทสนมกับ เจฟฟ์ คนขับรถ ซึ่งกลายมาเป็นผู้จัดการส่วนตัวให้เค้าระยะนึงในตอนหลัง จากการพูดคุยกันระหว่าง เจฟฟ์ และ เรย์ ทำให้เรารู้ว่า เรย์ สามารถไปไหนมาไหนได้โดยไม่ต้องใช้ไม้เท้าหรือหมานำทางเพราะอาศัยการฟังเสียงที่แตกต่างกันของพื้นที่ที่เค้าเดินไปจากเสียงกระทบของรองเท้าพื้นแข็งที่เค้าใส่อยู่นั่นเอง

                ฝันร้ายของ เรย์ เกี่ยวกับ จอร์จ ยังตามหลอกหลอนเค้าตลอดเวลา ในฉากนี้ ผมถึงได้รู้ว่า จอร์จ เกิดอุบัติเหตุระหว่างที่สองคนพี่น้องวิ่งเล่นกันอยู่ และ จอร์จ ได้พลาดลื่นล้มลงไปในถังซักผ้าของแม่จนจมน้ำตาย โดยที่ เรย์ เข้าใจว่าน้องล้อเล่น เลยปล่อยทิ้งไว้โดยไม่เรียกใครช่วยในขณะที่ตัวเค้าเองก็ยังยืนหัวเราะอย่างสนุกสนานตามประสาเด็กอายุแค่ 5 ขวบ เค้าถูกตำหนิอย่างมากมายจากแม่ และฝังใจเค้ามาตลอดเวลาว่า น้องตายเพราะเค้า

                และในฉากนี้ ผมก็เพิ่งรู้ว่า เพลง Red River Valley ที่ผมสะสมไว้กว่า 50 เวอร์ชั่นนั้น เป็นทำนองเพลงสวดในงานศพฝรั่งด้วยครับ โห...เอามาร้องให้สาว ๆ ฟังตั้งหลายคน โดยเฉพาะท่อนที่ร้องว่า  Come and sit by my side if you love me. Do not hasten to bid me adieu. But remember the Red River Valley. And the cowboy who loved you so true....นั้น เป็นท่อนที่โดนใจ ชอบมากเลยละครับ แล้วก็เคยมีคนที่ ชอบ และ ซึ้ง ด้วยอีกเหมือนกัน เพิ่งเคยรู้เพิ่งเคยเห็นในหนังเรื่องนี้ว่าเป็นทำนองเพลงสวดในงานศพของ จอร์จ นี่แหละครับท่าน นอกเหนือจากที่ได้เคยดูและฟังในหนังอีกเรื่องที่ตั้งใจไว้ว่าจะเขียนถึง คือเรื่องTombstone ซึ่งมีตอนที่ โจซี่ ร้องเพลงนี้ในบาร์ขณะที่ ไวย์แอท เดินเข้ามาพอดี ซึ่งเป็นอีกเวอร์ชั่นหนึ่งของประวัติชีวิตของนายอำเภอ ไวย์แอท เอิร์บ ที่ผมเคยเขียนถึงไปแล้วในเรื่อง ไวย์แอท เอิร์บ ตำนานคาวบอย ไม่ทราบว่า เพื่อน ๆ จะสนใจกันหรือเปล่านะครับ

                กลับมาที่เรื่องของ เรย์ กันต่อนะครับ ในช่วงของการเดินสายเปิดการแสดงช่วงนี้นี่เอง ที่ เรย์ ได้เริ่มติดยาเสพย์ติดจากการสนับสนุนโดยเพื่อนร่วมวงคือ จิมมี่ ซึ่งร่วมเสพย์กันอยู่กับ แฟตเฮด มือ เทอนเนอร์แซ๊ก ที่ เรย์ รักมากคนหนึ่ง แฟตเฮด ไม่เห็นด้วยและพยายามห้าม เรย์ แต่เค้าไม่ฟังเสียง และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่เกือบทำให้ชีวิตของเค้าต้องเกือบกลายเป็นนักโทษคดียาเสพย์ติดในเวลาต่อมา

เสพย์ยาครั้งแรก

                ช่วงนี้ เพลง Baby Let Me Hold Your Hands ที่ เรย์ บันทึกแผ่นเสียงไว้กับ สวิงไทม์ เร็คคอร์ดส์ เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อน ๆ ที่ร่วมวงมีทั้งที่สบประมาทว่าไม่น่าจะไปรอด บ้างก็อิจฉา และบางส่วนก็ชื่นชมในผลงานชิ้นนี้ และน่าจะจากเพลง ๆ นี้นะครับ บวกกับความสามารถพิเศษส่วนตัวที่ผู้ชมควรพิจารณาและใช้วิจารณญาณในการชม เพราะ เรย์ สามารถใช้แค่มือของเค้า ลูบคลำแค่มือของสาว ๆ ที่เค้ารู้จัก เค้าก็จะสามารถบอกได้ว่า เธอผู้นั้น สวยหรือไม่สวย นอกจากนั้น จากความมีเสน่ห์และความเป็นนักดนตรีฝีมือดี เรย์ ยังสามารถที่จะฉกสาว ๆ มาจากเพื่อนร่วมทีม ทำให้พวกนั้นพากันอิจฉาไปตาม ๆ กันด้วยอีกต่างหาก ผมเองนั่งดูไป ตายังร้อน ๆ ตามไปเลยครับ

                หนังตัดมาที่ปี 1952 หลังจากที่ เรย์ เข้าใจผิดกับ วิลเบอร์ เพื่อนร่วมวงเรื่องจำนวนเงินค่าตัวและเค้าขอออกมาจากวงเพื่อความสบายใจ เรย์ ได้มาพักอยู่ที่ย่าน ฮาเร็ม และได้พบกับ Ahmet  Ertegün ตัวแทนจากบริษัท Atlantic Records ซึ่งได้ชวนให้ เรย์ เข้าร่วมงานด้วย เรย์ ตกลงที่จะเซ็นสัญญากับ แอตแลนติก เร็คคอร์ดส์ ทันที และที่ แอตแลนติก เร็คคอร์ดส์ นี่เอง ที่ เรย์ ได้เปลี่ยนแนวการร้องและเล่นดนตรีของตนเองจากการเลียนแบบ แน๊ต คิง โคล มาเป็นแนวของตัวเอง โดยมี อาเหม็ด เป็นผู้แนะนำในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ และได้เพลง Mess Around ที่แต่งโดย อาเหม็ด เป็นเพลงดังเพลงแรกของเค้าที่ แอตแลนติก เร็คคอร์ดส์ “แมซ อราวนด์” สร้างความแปลกใหม่ในวงการเพลง และได้รับความนิยมอย่างสูงในเวลาอันรวดเร็ว นี่คือจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นตัวของตัวเองของ เรย์

เรย์ อาร์เมท กับเพลง Mess Around

                หลังจาก แมซ อราวนด์ ดังได้ไม่นาน เรย์ ได้รู้จักกับสาวนักร้องเพลงสวดชื่อ Della Beatrice Howard หรือที่ เรย์ ชอบเรียกเธอว่า เดลล่า บี ทั้งสองรักกันและได้แต่งงานกันในที่สุด แม้ว่า เดลล่า บี จะพยายามที่จะทักท้วงกับการที่ เรย์ นำเพลงสวดมาดัดแปลงเป็นเพลงร้องเล่นสนุก ๆ ก็ตาม และในระยะนี้เอง ที่เพลงของ เรย์ หลายเพลงเริ่มขึ้นสู่สุดยอดอันดับเพลงของชาร์ทต่าง ๆ เช่น I’ve Got A Woman ที่เป็นเพลงแบบ Gospel ซึ่งดัดแปลงมาจากเพลงที่เป็นบทสวดทางศาสนา และรวมทั้งเพลงอื่น ๆ อีกหลายเพลงด้วยกัน ช่วงนี้ เรย์ ได้ขอต้นสังกัดออกเดินสายเปิดการแสดงอีกครั้ง โดยตั้งวงขึ้นมาใหม่นอกเหนือจากการตาม แฟตเฮ็ด มาเล่นเทอนเนอร์แซ๊ก และให้ เจฟฟ์ กลับเข้ามาเป็นผู้จัดการแค่ 2 คน อ้อ ลืมไปนิดนึงครับ ในบางฉากของหนังตอนนี้ แสดงให้เห็นถึงการจ้างเปิดแผ่นให้เห็นด้วยนะครับ เมืองนอกก็มีเหมือนกันแฮะ ผมคิดว่ามีแต่ที่ประเทศ สารขันฑ์ ซะอีก ที่นักร้องต้องไปจ้างสถานีวิทยุให้เปิดแผ่นของตัวเองให้คนฟัง...

บีกับเรย์

บี

                ระหว่างทำโร็ดโชว์เอ๊ย ระหว่างการเดินสายแสดงสด เรย์ ได้รับการต่อต้านจากพวกเคร่งศาสนาบางกลุ่มอยู่เหมือนกัน แต่เค้าไม่สนใจ เค้าถือว่า คนดู คนฟัง ชอบ เค้าก็จะนำเสนอ และในระหว่างนี้ เรย์ ก็เพิ่มนักร้องหญิงเข้ามาในวงอีกคนหนึ่ง ตามหนังบอกว่าเป็นคนแรกนะครับ ชื่อ แมรี่ แอนน์ ฟิชเชอร์ ซึ่งต่อมาก็ได้ตกเป็นเมียของ เรย์ ซะ สมภารวัดนี้ กินไก่วัดแฮะ

                ปี 1956 เรย์ ไป นิวยอร์ค และเพิ่มสาว ๆ อีกสามคนมาเป็น คอรัส ให้วงในนามของ เรย์เล็ท ซึ่งสาว ๆ กลุ่มนี้ นำทีมโดย มาร์จี้ ซึ่งก็กลายมาเป็นเมียของเค้าอีกคนหนึ่งเรียบร้อยโรงเรียนเรย์ ทำให้ แมรี่ แอนน์ ขอบอกเลิกไปในปี 1957 อ้อ ตอนนี้ บี ภรรยาของเค้าก็คลอดลูกแล้วนะครับ และขอสัญญาจาก เรย์ ว่าอย่าให้ผู้หญิงของเค้าเข้ามาวุ่นวายกับครอบครัว ซึ่ง เรย์ ก็รับปากและรักษาสัญญานี้ตลอดมา

เรย์ แมรี่

วงใหม่

สามสาว

                ปี 1958 วงของ เรย์ ดังอย่างหยุดไม่อยู่ พร้อม ๆ กับอาการติดยาเสพย์ติดของเค้าก็แสดงออกมากขึ้นเรื่อย ๆ อเมริกันชนทั้งดำและขาว ต่างชื่นชมในตัวเค้าและเพลงของเค้า ปีนี้เองที่เพลง What’d I Say ซึ่งแทบจะถือว่าเป็นเพลงขัดตาทัพ เพราะในการแสดงสดคืนหนึ่ง เวลายังเหลืออีก 20 นาที แต่คิวเพลงที่วางไว้หมดแล้ว เจ้าของงานแกไม่ยอมให้เลิก เรย์ เลยเล่นเพลงนี้สด ๆ เลยครับ ลูกวงและสาว ๆ คอรัสต่างก็ช่วยกันทำให้เพลงนี้เล่นไปได้จนหมดเวลาที่สัญญากันไว้ แต่เพลง ๆ นี้กลับดังระเบิดเถิดเทิงทั้งที่เป็นเพลงที่ยาวร่วมยี่สิบนาที ถึงขนาดที่ว่า เวลาอัดลงแผ่นซิงเกิล ต้องอัดเป็นสองหน้าเลยครับ ยังพอจำกันได้ไหมครับ กับแผ่นเสียงแผ่นเล็ก ๆ เล่นได้หน้าละไม่เกิน 15 นาทีที่สปีด 45 อาร์พีเอ็ม.นั่นแหละ เพลง What’d I Say ต้องแบ่งบันทึกลงทั้งสองหน้าเลยด้วยฝีมือของ ทอม ซาวด์เอ็นจิเนียฝีมือเยี่ยมของ แอตแลนติก เร็คคอร์ดส์ เพลงนี้ได้รับความนิยมขึ้นสู่อันดับสูงสุดของบิลล์บอร์ดในปี 1959 เพื่อน ๆ ร่วมสมัยหลายคนคงยังพอจำกันได้กับเพลง ๆ นี้นะครับ เพราะในบ้านเราก็ดังและได้รับความนิยมอย่างมากด้วยเช่นกัน

                ในปี 1959 นี้เอง เรย์ ได้รับการตั้งค่าตัวในการแสดงของเค้าสูงถึงรอบละ 1,000 เหรียญ และได้ซื้อบ้านใหม่ให้ครอบครัวที่ ลอส แอนเจิลลิส ชีวิตครอบครัวก็น่าจะมีความสุขที่ดี แต่ มาร์จี้ กลับละเมิดสัญญาที่ให้ไว้กับ เรย์ เรื่องการมีปัญหากับบ้านใหญ่ และเธอเริ่มติดเหล้า ทำให้เสียงาน เรย์ แก้ปัญหาด้วยการใช้เทคโนโลยี่ที่ใหม่ในยุคนั้น คือการใช้เครื่องบันทึกเสียงแบบ 8 แทรคเข้ามาช่วยในการเรียบเรียงเสียงประสานโดยไม่ต้องพึ่งพาคอรัสของวงได้

                เมื่อ เรย์ ใกล้จะหมดสัญญากับ แอตแลนติค เร็คคอร์ดส์ แมวมองจาก ABC Records จึงเข้ามายื่นข้อเสนอ โดยให้ผลประโยชน์ที่สูงกว่า รวมทั้งให้โอกาส เรย์ ในการทำเพลงตามแนวคิดของตัวเองอีกด้วย และเมื่อ เรย์ ยื่นข้อเสนอถึงลิขสิทธิ์เพลงของเค้า ทาง เอบีซี เร็คคอร์ดส์ ก็ยังยอมเลยครับ แม้จะมีเสียงบ่นออกมาเบา ๆ พอให้ได้ยินว่า ข้อเสนอของ เรย์ สูงกว่าที่ แฟร็งค์ ซิเนตร้า ได้รับเสียอีก ดังนั้น เมื่อหมดสัญญากับทาง แอตแลนติค เร็คคอร์ดส์ เรย์ จึงต้องจากมาท่ามกลางความเสียใจของทางนั้น อย่างว่าแหละครับ เป็นธรรมดาของทุกคน ที่จะต้องเสาะแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนกันทั้งนั้น

ออร์เครสต้า กับ จอร์เจีย ออน มาย ไมนด์

                ที่ เอบีซี เร็คคอร์ดส์ เรย์ ได้สร้างความแปลกใหม่ด้วยการเริ่มนำวงออร์เคสตร้าที่มีนักดนตรีผิวขาวบรรเลงในวงมาเล่นร่วมกับเพลงของเค้านอกเหนือจากการเพิ่มนักร้องคอรัสอีกนับสิบคนในวง เพลงแรกที่ เรย์ ใช้ประเดิมวงใหม่คือเพลง Georgia On My Mind ในขณะที่ มาร์จี้ และ แฟตเฮ็ด ชักจะเริ่มประท้วงเพราะเหมือนกับว่าพวกเค้าไม่มีความสำคัญกับวงอีกต่อไป มีแต่ เจฟฟ์ เท่านั้น ที่เข้าใจถึงความต้องการในการเปลี่ยนแปลงของ เรย์

กับเพลง ฮิต เดอะ โรด แจ๊ค

                ที่โรงแรม เทเรซา ใน นิวยอร์ค ซึ่ง เรย์ กับ มาร์จี้ พักอยู่ด้วยกัน มาร์จี้ บอกว่าเธอท้อง ทำความฉุนเฉียวให้กับ เรย์ มากถึงขนาดที่จะให้ไปเอาเด็กออก แต่หลังจากตกลงกันได้ เรย์ ก็เริ่มทำงานของเค้าต่อนั่นคือการต่อเพลงเพลงนึงที่เพื่อนเขียนเนื้อเพลงมาให้ให้จบ มาร์จี้ ยอมเข้าช่วยทั้งน้ำตาทั้งความโกรธ แต่นั่นกลับเป็นการกระตุ้นเร้าให้ เรย์ สร้างทำนองเพลงนั้นขึ้นมาได้สำเร็จจนเป็นที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก เพลงนั้นคือเพลง Hit The Road Jack ผมไม่ทราบจะบรรยายจะเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังได้ยังไงนะครับกับภาพที่เห็นบนจอในการเปิดการแสดงสดของ เรย์ ด้วยเพลง ฮิต เดอะ โร๊ด แจ๊ค เพลงนี้ สีหน้าและแววตาของ มาร์จี้ ขณะที่ร้องเพลงนี้ออกมาได้อารมณ์มากเลยครับ ได้อารมณ์จริง ๆ เพลงนี้ นักร้องบ้านเราหลายคนนะครับก็เอามาร้องให้พวกเราฟังกัน แต่ส่วนตัวผมเองนั้น ผมชอบที่ แอนนี่ กับวง แจ๋วแหว๋ว  แอนด์  เดอะ  แคท ร้องมากที่สุด รองลงมา คือคุณ ศิริมา สุนทร ณ รังสี กับใครน้า...??? น่าจะเป็นนักร้องฟิลิปปินส์ ที่มาร้องเพลงเมืองไทยหรือเปล่าไม่แน่ใจนะครับ หรือจะเป็นนักร้องไทยเรานี่เองก็น่าจะเป็นได้นะครับ ขอโทษที่ลืมจริง ๆ ครับ เคยฟังครั้งสุดท้ายที่ร้องโชว์ที่โรงแรม เรดิสัน หรือไงนี่แหละครับ นาน...กว่าสิบปีแล้ว ไม่ทราบว่า ยังร้องกันอยู่หรือเปล่า ยังประทับใจอยู่ ใครจำได้บ้างครับ แอนนี่ กับวง แจ๋วแหว๋ว แอนด์ เดอะ แคท และ คุณ ศิริมา สุนทร ณ รังสี

                หลังจาก “ฮิต เดอะ โร๊ด แจ๊ค” อิตติดตลาดแบบเรียกไม่อยู่กู่ไม่กลับ มาร์จี้ ก็ขอเลิกกับ เรย์ โดยมีลูกติดท้องไปด้วย เรย์ เริ่มเพี้ยนเพราะฤทธิ์ยามากขึ้น ในขณะเดียวกับที่ถูกฟ้องฐานเบี้ยวการแสดงสดที่ ออกัสต้า รัฐจอร์เจีย เนื่องจากไม่พอใจการเหยียดผิวที่นั่น ซึ่ง เรย์ รู้มาว่า มีการแบ่งโซนสำหรับคนขาวกับคนดำ รวมทั้งการห้ามคนดำลงมาเต้นในฟลอร์อีกต่างหาก เขาต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงน่ะครับ เรย์ ยอมเสียค่าปรับที่มากกว่าค่าตัวของเค้าซะอีก

ประท้วงเรื่องเหยียดผิว

                ปี 1961 เพลง Unchain My Heart ก็ขึ้นสู่อันดับของบิลล์บอร์ดอีกเพลงหนึ่ง ในการเปิดการแสดงสดที่ อินเดียนาโปลิส เรย์ ไม่ต้องการให้มีการแบ่งแยกสีผิว ทุกคน ทุกเพศ และ ทุกวัยมีสิทธิ์ในการเข้ามาร่วมสนุกกับการแสดงของเค้า นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่ เรย์ ต้องการและชื่นชอบ 

เพลง อันเชน มายฮาร์ท ที่ อินเดียนาโปลิส

                และที่ อินเดียนาโปลิส นี่เอง เรย์ ถูกจับครั้งแรกในข้อหายาเสพย์ติด แต่ทนายของ เอบีซี เร็คคอร์ดส์ ได้ช่วยให้รอดจากการนอนคุกด้วยการอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย โดยการแถลงว่า การตรวจค้นและจับกุม เรย์ โดยตำรวจนั้น ทำไปโดยไม่มีหมายศาลและหมายค้น ทำให้รอดคุกไป แต่กลับยังไม่เข็ด ยังคงเสพย์ยาอยู่เหมือนเดิม แม้ว่า เดลล่า บี จะพยายามขอร้องสักเท่าไหร่ก็ตาม จนแม้กระทั่งต้องบอกว่า ต้องพาลูกย้ายโรงเรียนเพราะโดนเพื่อน ๆ ล้อ เรย์ ก็ยังไม่ยอมหยุด

โดนจับ

                ปี 1962 หลังจากพ้นคดีรอดคุกมาได้ เรย์ ได้เปลี่ยนแนวดนตรีของเค้าอีกครั้งจากเพลงโซลมาเป็นแนวเพลงคันทรี่ พร้อมทั้งการออกเดินสายเปิดการแสดงสดทั่วประเทศและอีกหลายประเทศใหญ่ ๆ รอบโลก เพลง I Can’t Stop Loving You สามารถสะกดผู้ชมทั้งฮอลล์ในเวทีแสดงที่ เซ็นต์หลุยส์ให้สงบนิ่ง พร้อมทั้งซึมซับรับเอาความไพเราะเพราะพริ้งและความหมายของเนื้อเพลงที่โดนใจอย่างแรงไว้ได้ตลอดเวลา ที่นี่ เรย์ ได้รู้จักกับ โจ อาดัมส์ ซึ่งกลายมาเป็นผู้จัดการคนใหม่มาแทน เจฟฟ์ ที่เค้าจับได้ว่าโกงเงินของเค้าไป และในปีนี้ เรย์ ก็ได้ซื้อบ้านใหม่แถบ บลูเวอร์ลี่ ฮิลล์ ให้กับครอบครัวอีกด้วย

I Can't Stop Loving You ที่ เซ็นหลุย

                ฉากนี้นะครับ นอกจากเพลงประกอบ “ไอ แค้นท์ สต๊อป เลิฟวิ่ง ยู” ที่ประทับใจแล้ว ยังมีเพลงประกอบระหว่างแสดงให้เห็นถึงการเดินสายไปแสดงยังที่ต่าง ๆ ด้วยเพลง Bye Bye Love ที่ขับร้องโดย เรย์ อีกด้วยนะครับ ผมพยายามหามานานแล้วสำหรับ “บาย บาย เลิฟ” เวอร์ชั่นนี้ ตอนนี้ มีแต่ของ  The Every Brothers เท่านั้นเอง ส่วน “ไอ แค้นท์ สต๊อป  เลิฟวิ่ง ยู” นั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นเพลงโปรดมากอีกเพลง ที่เมื่อก่อนนี้ ก็เคยมีโอกาสร้อง...ให้ใครบางคนฟัง แต่ตอนนี้ ดูเหมือนว่า ไม่มีใคร อยากฟังแล้ว ไม่รู้ซีครับ ในความรู้สึกลึก ๆ นะ ยังอยากที่จะร้องเพลงนี้อยู่อีกนะครับ ขอบอก

                เมื่อกลับจากการแสดงสดทั่วโลก เรย์ ได้ย้ายสังกัดอีกครั้ง โดยได้อยู่กับ RPM Records ที่นี่ เรย์ มีความสุขกับการทำงานมากกว่าเดิมจากสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นและจากการจัดการให้ของ โจ ผู้จัดการคนใหม่ พร้อมกับได้รับข่าวร้าย คือ มาร์จี้ อดีตผู้หญิงคนหนึ่งที่มีลูกกับเค้าได้เสียชีวิตลงเพราะการเสพย์ยาเกินขนาด ซึ่งก็สร้างความเสียใจให้กับ เรย์ อย่างมาก

เข้าบำบัดยาเสพย์ติด

                ปี 1965 หลังจากการกลับจากการเปิดการแสดงที่ มอนทรีอัล แคนาดา ทันที่ที่เครื่องบินลงแตะพื้นสนามบินที่ บ๊อสตัน สหรัฐอเมริกา เรย์ ถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรจับโทษฐานมียาเสพย์ติดในครอบครอง และข้อหานำยาเสพย์ติดเข้าประเทศ เรย์ ต่อสู้คดีจนได้รับทัณฑ์บน และยอมเข้ารับการบำบัดที่คลีนิคจนหายขาดจากการติดยาและเค้าไม่แตะต้องมันอีกเลยนับตั้งแต่นั้นมา

เกียรติยศที่ภาคภูมิใจ

                7 มีนาคม 1979 เป็นวันที่ถือว่าเป็นวันเกียรติยศของ เรย์ และ วงค์ตระกูล ด้วยการที่ รัฐจอร์เจีย ที่เคยแบนเพลงและการแสดงของเค้ามาร่วมยี่สิบปี ได้กล่าวคำขอโทษแก่ เรย์มอนด์ ชาลส์ โรบินสัน อย่างเป็นทางการต่อสาธารณะชน และได้ยกย่องให้เพลง Georgia On My Mind เป็นเพลงประจำรัฐจอร์เจีย ซึ่งถือว่าเป็นเกียรติสูงสุดที่คนธรรมดาสามัญทั่วไปน้อยคนจะได้รับครับ

                หนังจบลงด้วยการเล่าถึงชีวิตในบั้นปลายว่า เค้าไม่แตะต้องยาเสพย์ติดอีกเลย และเป็นนักร้องที่มีคนรักและนิยมในความสามารถของเค้ามากคนหนึ่ง เรย์ ยังได้ช่วยเหลือสังคมด้วยการบริจาคเงินถึง 9 ล้านเหรียญเพื่อช่วยเหลือแก่มูลนิธิของคนผิวดำที่ตาบอดและหูหนวก และถ้าเพื่อนสมาชิกท่านใดได้มีโอกาสดูหนังเรื่องนี้หลังจากที่ผมเขียนถึงแล้วนะครับ เมื่อหนังจบ ก็จะมีประกาศถึงรายชื่อนักแสดงและเครดิตต่าง ๆ อย่าเพิ่งรีบปิดนะครับ เพราะเพื่อน ๆ จะได้มีโอกาสฟังเพลง Unchain My Heart อีกครั้งหนึ่งแบบจุใจเลยนะ

โจแอดัม แฟลตเฮ็ด และ เจฟ

                ยาวครับ ยาว เรื่องนี้ทำไมผมเขียนได้ยาวถึงตั้ง 9 หน้ากระดาษ A4 เข้าไปแล้ว เหลืออีกนิดเดียวครับที่ยังอยากเล่าถึง อย่าเพิ่งเบื่อปิดหน้านี้ทิ้งไปเสียก่อนนะครับ

                หนังที่ผมได้มาเป็น VCD แบบ ซาวด์แทร็ก มีซับไตเติลที่ไม่ใช่ ซับนรก บรรจุ 3 แผ่นความยาวรวมประมาณ 140 นาที ผมมาทราบตอนหลังว่า มีเป็นแบบ DVD ขายอีกด้วย หนังเรื่องนี้ ได้รับความปรารถนาดีมาจาก น้องหญิง แม่มดใจดี ที่ส่งมาให้อย่างที่บอกไว้แต่ต้น ก็ขอขอบคุณอีกครั้งนะครับ

                นอกจากความบันเทิง และความสุขกับการได้นึกถึงอดีต (พูดเหมือนคนแก่เลยวุ๊ย !) เมื่อได้ยินเสียงเพลงแต่ละเพลงที่เปิดออกมา ยังได้ข้อคิดดี ๆ สำหรับการสู้ชีวิตของเราด้วยครับ เรย์ แม้จะตาบอด แต่เค้าก็ไม่ได้ให้ความพิการของเค้า มาบดบังความเป็นคนของเค้าเลย เค้าสามารถฟันฝ่าอุปสรรคนานาที่คอยกีดกันเค้าไว้ จากการงานอาชีพเก่าของผมที่เคยผ่านมา ผมเองก็เคยได้สัมผัสกับนักดนตรีที่ตาบอดถึง 3 คนด้วยกัน แต่ละคนก็มีความสามารถแบบที่เรียกว่าคนดี ๆ ยังต้องอาย (รวมทั้งบางคน แฟนยังสวยอีกต่างหาก) ขอให้เราได้ให้โอกาสแก่พวกเค้า พวกคนพิการ พวกเค้าก็จะพยายามที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดี ๆ ให้กับสังคมได้อย่างคนดี ๆ เช่นกัน เพราะเค้าก็คือคนเหมือนกัน

                ในบ้านเรา คนพิการ เคยเหมือนถูกจัดให้เป็นประชาชนชั้นสองในอดีตที่ผ่านมานานหลายสิบปี บางคนถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเรียนตามที่เค้าต้องการ บางคนถูกปฏิเสธให้เข้าร่วมทำงานด้วย เพราะเพียงแค่เค้าพิการ ปัจจุบัน สังคมยอมรับคนพิการมากขึ้นแล้วครับ ก็นับว่าเป็นบุญเป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่ เพื่อน ๆ ที่อ่านเรื่องนี้กันอยู่ล่ะครับ ท่านมองคนพิการอย่างไรบ้างครับผม

                มีอยู่ 2 ประโยคที่ผมว่าน่าประทับใจนะจากหนังเรื่องนี้ ประโยคแรก แม่ของ เรย์ พูดกับเค้าว่า “อย่าให้ใคร หรือสิ่งใด ทำให้ลูกกลายเป็นคนพิการ” และอีกประโยค เป็นการสนทนากันระหว่าง เรย์ และ เดลล่า บี ขณะที่ยังรักกันใหม่ ๆ โดย เรย์ บอกกับ บี ว่า “ขอให้คุณพูดความจริงกับผมเสมอ อย่าสงสารผมเพราะผมเป็นคนตาบอด” ใช่ครับ การใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ถ้ามีแต่ความจริงให้กัน ชีวิตคู่จะมีความสุขอย่างแน่นอน ก็ขอฝากเพื่อน ๆ ไว้ด้วยนะครับ

                ลองหามาดูกันนะครับสำหรับท่านที่สนใจ อย่ามองแค่ว่า เป็นแค่หนังประวัติชีวิตของนักดนตรีผิวดำเท่านั้น ที่จริงหนังเรื่องนี้ผมได้มาเป็นปีแล้ว แต่ไม่มีโอกาสได้เขียนถึง รวมกับอีกหลาย ๆ เรื่องที่ตั้งใจไว้ ซึ่งตั้งแต่ได้หนังเรื่องนี้มา ก็นั่งดูไม่รู้ว่าเป็นสิบครั้งแล้วมั๊ง เพื่อนฝูงมากี่คนกี่คนก็ชวนดู ไม่มีใครมา เหงา ๆ ก็นั่งดูคนเดียวก็ได้ ดูแล้วสนุกครับ อาจจะเป็นเพราะเหมือนอาชีพเก่าที่เราเคยสัมผัสมาก็ได้ ได้เห็นความความสุขของผู้ชมที่ชม เรย์ แสดงแล้วน่าอิจฉา เรย์ ครับ สมัยผม ยังเคยใฝ่ฝันเลยว่าอยากมีโอกาสที่จะเปิดการแสดงที่มีคนดูมาก ๆ อย่างนี้ ได้รับการต้อนรับอย่างนี้ แต่จะว่าไปนะครับ เคยมีอยู่ครั้งนึง ผมอยู่บนเวที หลังจากจบเพลง เสียงปรบมือให้ดังทั้งร้านเลยครับ โห...สุดปลื้ม วันนั้นจำได้ ร้านใกล้เลิกแล้ว ทั้งร้าน เป็นโต๊ะเพื่อนผม 6 - 7 คน...โต๊ะเดียว...เท่านั้น

                เดี๋ยวนี้ คงไม่กล้าร้องแล้วครับ กลัวฝรั่งว่าเอาว่า “คนไทยร้องเพลงฝรั่ง ฝรั่งฟังไม่รู้เรื่อง” แหม... ตอนที่เจ๊คนที่เอามาเล่าให้ฟังนะครับว่าฝรั่งพูดอย่างนี้ เจ๊แกเล่าแบบขบขันอีกต่างหาก ผมงี้นะ...วิ้งเลยละ ก็ตูร้องของตูได้แค่นี้เองนี่หว่า ทีพวกสูล่ะ ก็ใช่ว่าจะพูดภาษาอังกฤษชัดแบบคนอังกฤษได้ซะเมื่อไหร่ เจ๊แกคงเป็นปลื้มที่เห็นเป็นคนผิวเผือกมั๊ง ที่แท้ พวกต้นตระกูลของสูก็พวกที่หนีจากแผ่นดินดินแม่ไปตั้งรกรากในสหรัฐฯ เหมือนกันแหละว้า ใช่ว่าจะมีภาษาของตัวเองใช้หรือใช้ภาษาอังกฤษเก่งกว่าหรือถูกต้องไวยากรณ์กว่า ผมเองก็เคยมีนะครับ ลูกค้าที่มาตามไปซ่อมคอมพิวเตอร์ เผือกเหมือนกันครับ พูดภาษาอังกฤษยังไม่ชัดเลย กว่าจะซ่อมได้ เมื่อยมือกันทั้งสองคน แกมาจากสวิสเซอร์แลนด์น่ะ
 
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด  หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
 
ดารานำแสดง
  • Jamie Foxx                     เรย์ ชาลส์
  • Kerry Washington             เดลล่า บี
  • Regina King                    มาร์จี้ เฮนดริก
  • Clifton Powell                 เจฟฟ์ บราวน์
  • Harry Lennix                 โจ แอดัมส์
  • Bokeem Woodbine                 แฟตเฮ็ด นิวแมน
  • Aunjanue Ellis      แมรี่ แอนน์ ฟิชเชอร์
  • Sharon Warren                 อรีธาห์ แม่ของ เรย์
  • C.J. Sanders                    เรย์ตอนเด็ก
  • Curtis Armstrong                 อาเหม็ด
เว็บไซท์อ้างอิง

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

  • (ยังไม่มี)

 
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ

หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ

Bookmark and Share

ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก www.youtube.com

ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์

 



ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย

71: Into the Fire สมรภูมิไฟล้างแผ่นดิน วันที่ 19/05/2013   20:31:42
May 18 - พฤษภาทมิฬของเกาหลีใต้ วันที่ 19/05/2013   20:32:36
CHE 2008 วันที่ 19/05/2013   20:34:01
เช! ความสำเร็จและความล้มเหลวของสงครามประชาชน วันที่ 19/05/2013   20:34:55
Exodus - อีกตำนานกำเนิดประเทศอิสราเอล วันที่ 19/05/2013   20:36:13
สี่เกล๊อะ จาไมก้า ว่าด้วยประวัติศาสตร์โอลิมปิกส์ฤดูหนาวแนวคอมเมดี้ วันที่ 19/05/2013   20:38:49
Cast A Giant Shadow : ศึกรบศึกรักของขุนพลยิวอเมริกัน วันที่ 19/05/2013   20:40:41
Black Hawk Down วันที่ 19/05/2013   20:41:45
The Motorcycle Diaries บันทึกลูกผู้ชาย ชื่อ...เช วันที่ 19/05/2013   20:42:51
ฟอร์เรสต์ กัมป์ ยำใหญ่ประวัติศาสตร์อเมริกาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 วันที่ 19/05/2013   20:43:50
สารคดี Che Guevara วันที่ 19/05/2013   20:44:52
The Front Line (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   20:45:40 article
The Last King of Scotland (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   20:46:14 article
Hotel Rwanda (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   20:46:40 article
Apollo 13 (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   20:47:12 article
เท กึก กี เลือดเนื้อเพื่อฝัน วันสิ้นสงคราม (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   20:47:39 article
The Lady อองซานซูจี ผู้หญิงท้าอำนาจ (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   20:48:07 article



1

ความคิดเห็นที่ 1 (17221)
avatar
คนเล่าเรื่อง

สวัสดีครับ ในที่สุดก็ได้คนที่คิดเห็นคล้าย ๆ กัน คือ อยากให้มีหนังประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่สงครามมาลงในเว็บบ้าง  ซึ่งในส่วนของผมก็ได้นำเรื่อง chariots of fire มาลงในวันนี้เองครับ

หนังเรื่องนี้ ผมได้ดูครั้งหนึ่งนานมาแล้วทางเคเบิ้ลทึวี  แต่เนื่องจากยาวจัดและเป็นช่วงดึกค่อนข้างมาก  ผมจึงดูไม่จบ แต่ก็ประทับใจในเนื้อหาของหนังพอสมควรครับ  และการที่ได้มาอ่านหนังเรื่องนี้ในเว็บนี้อีกก็ช่วยให้เข้าใจได้มากขึ้น

ที่จริง หนังเรื่องนี้คงต้องการแสดงถึงอิทธิพลของดนตรีอเมริกันที่เกิดจากคนชั้นสองแมถยังเป็นคนพิการอีก  ซึ่งในหนังได้บอกเล่าถึงชีวประวัติของเขาในทุกแง่ของความเป็นคนที่ไม่สมบรูณ์แบบ  มีทั้งดีและชั่วกันไปตามชีวิตของเขา  แต่หนังก็จบแบบที่ไม่ทำร้ายความรู้สึกของคนดูครับ

เกี่ยวกับอเมริกันนี่ สำเนียงภาษาอังกฤษของพวกเขาไม่ต่างจากสำเนียงคนใต้พูดกลางหรอกครับ คือ เหน่อขึ้นจมูกและมักชอบพูดแบบตัดคำห้วน ๆ   บางทีก็มีการสร้างคำแปลก ๆ ใช้เป็นแสลงให้คนเวียนหัวเล่น  แต่สำเนียงอเมริกันที่เขาว่าไพเราะที่สุด (ในโสตหูของพวกเขานะครับ  สำหรับผมไม่ได้คิดว่าไพเราะกว่ากันเลย) คือ สำเนียงของชาวมิชิแกนที่มีจังหวะสูงต่ำคล้ายกับเสียงดนตรี  แต่สำเนียงที่หลุดโลกสำหรับพวกเขาก็คือ สำเนียงแบบฝั่งตะวันตกของเขา ประมาณซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย หรืออื่น ๆ ที่ชาวเม็กซิกันอาศัยอยู่  พวกนี้ทำให้ภาษาวิบัติในโสตของพวกเขา (อเมริกันแท้จากฝั่งตะวันออกครับ)

อีกเรื่องครับ ดนตรีของคนผิวดำนี่แหละครับคือต้นแบบของวัฒนธรรมดนตรีของอเมริกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ แจ๊ส บลูส์ ร็อค แร๊พ ฟั้งกี้  มาจนถึงฮิพฮ็อพในปัจจุบันครับ

ขอบคุณครับที่นำภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ดี ๆ มาเล่าสู่กันฟังครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น คนเล่าเรื่อง (danai-at-buu-dot-ac-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2009-02-15 23:24:14


ความคิดเห็นที่ 2 (17618)
avatar
countryboy

     ขอบคุณท่าน คนเล่าเรื่อง ครับผม

     ไม่ทราบว่า  ตั้งแต่ดูจากเคเบิลทีวีครั้งที่แล้วตามที่เล่าให้ฟัง  ไม่ทราบว่า  ได้มีโอกาสดูจนจบแล้วหรือยังครับ  ถ้ายังไม่ได้ดูจนจบ  เมล์มาคุยกันก็ได้นะครับ

     ขอบคุณสำหรับคำแนะนำในอีกมุมมองหนึ่งนะครับ  ไม่ทราบว่า  ท่านอื่น ๆ มีมุมมองในเรื่องนี้อย่างไรกันบ้าง  รวมทั้งต้องการคำแนะนำในการที่จะเขียนในเรื่องต่อ ๆ ไปด้วยครับ

     ขอบคุณมากครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น countryboy (fromcountryboy-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2009-02-18 10:37:37



1


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker