dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



คลีโอพัตรา ตอนที่ 3 คลีโอพัตรา นางพญาไอยคุปต์ (1999)
วันที่ 19/05/2013   21:39:06

 โดย ชาญชัย (Leo53)
 

1. บทนำ

ภาพยนตร์เรื่องคลีโอพัตรา นางพญาไอยคุปต์ (1999) นี้ เป็นภาพยนตร์ซีรี่ส์ฉายทางโทรทัศน์ สร้างโดย Hall Mark จนถึงขณะนี้เวอร์ชั่นนี้เป็นเรื่องล่าสุดที่นำเรื่องราวชีวิตของคลีโอพัตรามาสร้างเป็นภาพยนตร์ เมื่อพิจารณาถึงต้นทุนที่มีจำกัดสำหรับการสร้างภาพยนตร์ชุดเพื่อนำเสนอทางโทรทัศน์แล้ว ในภาพรวมถือว่าสามารถทำได้ดีมากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นฉากรบ ฉากรัก ความยิ่งใหญ่อลังการของนางพญาคลีโอพัตราและราชสำนัก ตลอดจนบุคคลรอบข้างที่เข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับนาง แต่แน่นอนด้วยเงินทุนที่น้อยกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้กับเวอร์ชั่นปี 1963 ความยิ่งใหญ่อลังการของภาพยนตร์ย่อมเทียบกันไม่ได้ ตัวอย่างดังแสดงในภาพเปรียบเทียบเรือรักเรือสำราญของคลีโอพัตรา และฉากคลีโอพัตราเดินทางเข้าสู่กรุงโรมระหว่างสองเวอร์ชั่น ในเวอร์ชั่นปี 1963 เรือสำราญในภาพยนตร์เป็นเรือเดินทะเลจริงๆที่ต่อขึ้นอย่างงดงามตามคำบรรยายของ "พลูตาซ" นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกที่บันทึกความงดงามของเรือสำราญและเจ้าของเรือ (คลีโอพัตรา) ไว้ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ของเขา แต่ในเวอร์ชั่นปี 1999 เป็นเพียงภาพที่สร้างจากคอมพิวเตอร์เท่านั้น ในขณะที่ฉากการเดินทางเข้ากรุงโรมของคลีโอพัตราในเวอร์ชั่นปี 1963 นั้นเป็นเป็นฉากใหญ่โตมโหฬารที่ก่อสร้างจริงขึ้นมาทุกส่วนตั้งแต่สัตว์ยักษ์สฟิ้งค์ ขบวนพาเหรดที่งดงาม อาคารที่ทำการรัฐสภา ตลอดจนผู้คนจำนวนมากที่มาเข้าฉาก ฯลฯ แต่ในเวอร์ชั่นปี 1999 เป็นเพียงกองคาราวานที่มีหน่วยทหารม้าภายใต้การนำของมาร์ค แอนโทนี่ นำทางและคุ้มครองความปลอดภัยให้เท่านั้น

 

รูปที่ 1 เรือรักเรือสำราญของคลีโอพัตรา ขวาของภาพคือเวอร์ชั่น 1963 ซ้ายเป็นเวอร์ชั่น 1999

   

รูปที่ 2 คลีโอพัตราเข้ากรุงโรม ขวาของภาพคือเวอร์ชั่น 1963 ซ้ายเป็นเวอร์ชั่น 1999

แม้ว่าความยิ่งใหญ่อลังการของภาพยนตร์จะเทียบกันไม่ได้ แต่ในมุมมองอื่นๆผมเห็นว่าเวอร์ชั่น 1999 นี้ไม่ได้ด้อยกว่าเวอร์ชั่น 1963 ไม่ว่าจะเป็นความเหมาะสมของดารานำแสดงและดาราประกอบ บทบาทการแสดงของดาราแต่ละคนก็ไม่ได้ด้อยกว่ากัน ต่างก็มีจุดเด่นของตนเอง โดยเฉพาะเนื้อหาในบทภาพยนตร์ของเวอร์ชั่นนี้ซึ่งมาจากบทประพันธ์เรื่อง Memoirs of Cleopatra โดย Margaret George ซึ่งปัจจุบันถือว่าเนื้อหาใกล้เคียงความจริงในประวัติศาสตร์มากกว่าบทประพันธ์อื่นๆ และน่าจะให้ภาพลักษณ์ในบางมุมมองของคลีโอพัตราได้ดีกว่าในเวอร์ชั่นปี 1963

2. เรื่องราวในภาพยนตร์

เรื่องราวในภาพยนตร์เริ่มต้นด้วยการเดินทางเข้าอเล็กซานเดรียของซีซ่าร์เพื่อเก็บส่วยจำนวนมากที่อียิปต์ติดค้างพวกโรมันอยู่ ในขณะนั้นคลีโอพัตรากำลังอยู่ในฐานะลำบากเนื่องจากนางถูกน้องสาว (อาซีโนอิ) และน้องชาย (พโตเลมี่) ร่วมมือกับพวกขุนนางกังฉินยึดอำนาจไป และนางต้องหลบหนีไปอยู่นอกอเล็กซานเดรีย เมื่อซีซ่าร์พบอาซิโนอิและพโตเลมี่เขาถามถึงคลีโอพัตราพร้อมทั้งทวงถามหนี้สินที่อียิปต์ติดค้างโรม   ซึ่งอาซิโนอิและพโตเลมีตอบว่าคลีโอพัตราหนีออกจากอเล็กซานเดรียไปแล้ว และอียิปต์ยังไม่มีเงินทองจ่ายให้พวกโรมันเนื่องจากถูกคลีโอพัตราโยกย้ายไปหมด นอกจากนี้ยังเจราจาขอให้ซีซ่าร์สนับสนุนให้อาซิโนอิขึ้นเป็นราชินีแทนคลีโอพัตรา ซึ่งซีซ่าร์ยังไม่ตกลงใจและรำพึงรำพันกับตัวเองว่าเขาอยากพบคลีโอพัตรา ผู้หญิงที่เรียกตัวเองเป็นเทพเจ้าคนนี้จริงๆ
 

รูปที่ 3 ผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์  เมื่อแกะเชือกมัดพรม นางก็ม้วนตัวออกมา ซีซ่าร์ตกตะลึงในความงดงามของนางและรู้ได้ทันทีว่านี่คือคลีโอพัตรา

ในขณะนั้นคลีโอพัตรากำลังวางแผนเข้าพบซีซ่าร์อยู่ นางซ่อนตัวอยู่ในม้วนพรมและให้คนรับใช้นำไปส่งให้ถึงมือซีซ่าร์โดยบอกว่าเป็นของกำนัลจากคลีโอพัตรา เมื่อแกะเชือกผูกพรมออกคลีโอพัตราก็ม้วนตัวออกมา ซีซ่าร์ถึงกับตกตะลึงในความงดงามของนางจนพูดอะไรไม่ออกและรู้ทันทีว่านี่คือคลีโอพัตรา หลังจากนั้นจึงมีการเจรจาต่อรองเพื่อให้ซีซ่าร์สนับสนุนนางเป็นผู้ปกครองอียิปต์แต่ก็ไม่สามารถได้ข้อยุติ จนกระทั่งในที่สุดซีซ่าร์ไม่สามารถควบคุมความรู้สึกของตัวเองได้และได้หลับนอนร่วมรักกับนางในคืนแรกที่พบกันนั่นเอง พอเช้าวันรุ่งขึ้นคลีโอพัตราก็เป็นผู้ชนะโดยซีซ่าร์แต่งตั้งให้นางเป็นผู้ปกครองอียิปต์ และให้อาซิโนอิเป็นผู้ปกครองไซปรัส

 

รูปที่ 4  จอมคนกับหญิงงาม  ซีซ่าร์ตกตะลึง หลงใหลในเสน่หาความงดงามของนาง และได้ร่วมหลับนอนกับนางในคืนแรกที่ได้พบกันนั้น พอเช้าวันรุ่งขึ้นเขาก็แต่งตั้งให้คลีโอพัตราเป็นผู้ปกครองอียิปต์

ต่อมาอาซิโนอิได้พาพโตเลมี่หลบหนีออกจากอเล็กซานเดรียไปยังเปลูเซี่ยม แล้วนำกองทัพอียิปต์จากเปลูเซี่ยมมาบุกอเล็กซานเดรีย ในตอนนี้คลีโอพัตราได้แสดงความเฉลียวฉลาดในการวางกำล้งทหารที่น้อยกว่าเป็นเท่าตัวให้สามารถตั้งรับอยู่ภายในกำแพง และเป็นฝ่ายได้ชัยชนะด้วยกลศึก ซีซ่าร์ถึงกับเอ่ยปากว่าคลีโอพัตราอ่านความคิดเขาออกทะลุปรุโปร่ง อย่างไรก็ตามหลังการศึกในครั้งนี้ซีซ่าร์ไม่สั่งฆ่าอาซิโนอิ ซึ่งคลีโอพัตราอ่านออกว่าซีซ่าร์ต้องการเก็บน้องสาวนางไว้เพื่อเป็นการถ่วงอำนาจของนาง คลีโอพัตราจึงตัดสินใจนำทหารของตนเข้าไปในที่คุมขังและสังหารอาซิโนอิเองแต่ถูกซีซ่าร์จับได้ นางให้เหตุผลว่า นางจำเป็นต้องกำจัดเสี้ยนหนามให้หมดก่อนที่บุตรในท้องของนางจะถือกำเนิด แม้ซีซ่าร์จะโกรธมากแต่ก็ไม่อาจตัดใจสังหารนางได้

 รูปที่ 5 ราชินีผู้ปราดเปรื่อง คลีโอพัตราเสนอแผนการตั้งรับการบุกของอาซิโนอิที่นำกำลังทหารอียิปต์มากกว่าหลายเท่าเข้ามาโจมตีอเล็กซานเดรีย ซีซ่าร์ชื่นชมในสติปัญญาของนางมากและบอกกับนางว่านางอ่านความคิดเขาได้ทะลุปรุโปร่ง

คลีโอพัตราพาซีซ่าร์ท่องเที่ยวไปทั่วอียิปต์ ล่องไปตามแม่น้ำไนล์ นางปฏิบัติต่อเขาเยี่ยงการปฏิบัติต่อกษัตริย์และเทพเจ้าซึ่งทำให้ซีซ่าร์มีความสุขมาก เขาไม่เคยได้รับการปฏิบัติต่อเช่นนี้มาก่อนในโรม คลีโอพัตราบอกเขาว่าด้วยความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์ของอียิปต์ ซีซ่าร์จะสามารถพิชิตตะวันออกได้ หรือแม้แต่โลกนี้ทั้งหมด ซีซ่าร์บอกว่านางอ่านใจซีซ่าร์ออกเสมอว่าคิดอะไร ต้องการอะไร คลีโอพัตรากระตุ้นให้ซีซ่าร์สานต่อฝันของเขา เดินหน้าสร้างจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยรู้จัก เป็นจักรวรรดิร่วมกันระหว่างโรมันกับอียิปต์ ซีซ่าร์บอกนางว่าเขาอยากเห็นความใฝ่ฝันของนางเป็นจริง ราชวงศ์ใหม่ที่มีเขาเป็นจักรพรรดิและคลีโอพัตราเป็นราชินี และเขาอยากมีลูกชาย ในระหว่างนั้นก็พอดีมีหนังสือแจ้งมาจากมาร์ค แอนโทนี่ว่า เกิดเหตุร้ายที่พอนทัส กษัตริย์ฟานาเซส ยกกองทัพโจมตีเมืองพอนตัส เผาเมืองและฆ่าชาวโรมันตายไปเป็นจำนวนมาก บรรดาคู่อริทางการเมืองของซีซ่าร์โดยเฉพาะบรูตุส กำลังใช้เรื่องนี้เป็นประเด็นโจมตีเขาอย่างรุนแรงในสภา โดยกล่าวหาว่าเขาไม่สนใจบ้านเมืองแต่กลับใช้ชีวิตอย่างสุขสบายในอียิปต์ ทำให้ซีซ่าร์ตัดสินใจเดินทางกลับกรุงโรมทันที โดยคลีโอพัตราไม่ทันได้มีโอกาสบอกเขาเรื่องการตั้งครรภ์

รูปที่ 6 ธิดาแห่งไอซิสกับมหาบุรุษซีซ่าร์  คลีโอพัตรากระตุ้นให้ซีซ่าร์สานต่อฝันของเขา เดินหน้าสร้างจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยรู้จัก จักรวรรดิร่วมกันระหว่างโรมันกับอียิปต์ ราชวงศ์ใหม่ที่มีเขาเป็นจักรพรรดิและนางเป็นราชินี

เมื่อซีซ่าร์กลับถึงกรุงโรมเขาก็สามารถสะสางปัญหาที่เกิดจากฝ่ายต่อต้านในสภาได้ และเขายังยกกองทัพไปปราบศัตรูที่พอนตัสจนสงบราบคาบอีกด้วย จากนั้นจึงมีหนังเชิญคลีโอพัตราเดินทางไปกรุงโรมเพื่อร่วมฉลองการกลับกรุงโรมของซีซ่าร์ เขาจึงได้รู้ว่าเขาได้บุตรชายที่เกิดกับคลีโอพัตราแล้ว ในระหว่างพิธีต้อนรับจูเลียส ซีซ่าร์นั้น ภรรยาของซีซ่าร์ เหล่าบรรดาผู้สูงศักดิ์ในโรม และฝูงชนพากันแสดงกริยาอาการดูหมิ่นเหยียดหยามและโห่ฮานางว่าเป็น "นางบำเรอ" ของซีซ่าร์ ทำให้คลีโอพัตราตัดสินใจนำบุตรชายของนางมาประกาศในงานเลี้ยงอาหารตอนค่ำ ที่จัดให้เป็นเกียรติกับซีซ่าร์ โดยนางประกาศในท่ามกลางงานว่า พโทเลมี ซีซ่าร์ (ซีซาเรี่ยน) เป็นบุตรชายของซีซ่าร์ที่เกิดกับนาง และวางบุตรของนางไว้ที่เท้าของซีซ่าร์ ซีซ่าร์ไม่มีทางเลือกอื่นต้องก้มลงอุ้มบุตรชายของตนขึ้นมาและประกาศว่า พโทเลมี่ ซีซ่าร์เป็นบุตรชายของตน ซึ่งตามกฎหมายของโรมันถือว่าซีซ่าร์ได้ยอมรับซีซาเรี่ยนเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายของเขาแล้ว

รูปที่ 7 ผู้สืบสายโลหิต คลีโอพัตราวางซีซาเรียนลงที่เท้าของซีซ่าร์เพื่อให้เขายอมรับซีซาเรี่ยนเป็นบุตรของเขาที่ถูกต้องตามกฎหมายของโรมัน ด้วยการอุ้มซีซาเรี่ยนขึ้นมาและประกาศต่อหน้าสาธารณชนในงานเลี้ยงว่า ซีซาเรียนเป็นบุตรชายของตน

แม้ซีซ่าร์จะประกาศยอมรับซีซาเรี่ยน ว่าเป็นบุตรชายของเขาโดยชอบธรรมตามกฎหมายโรมันแล้ว แต่แนวทางปฏิบัติต่อซิซาเรี่ยนของเขาก็ยังคงขัดแย้งกับความประสงค์ของคลีโอพัตรา เขายอมรับว่าซีซาเรี่ยนเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของเขา แต่อ็อคตาเวี่ยนก็เป็นหลานและเป็นโรมัน ซีซ่าร์ต้องการให้ซีซาเรี่ยนมีอำนาจปกครองอียิปต์โดยเด็ดขาดและเป็นอิสระจากโรม แต่คลีโอพัตรายืนกรานต้องการให้ซีซาเรี่ยนเป็นทายาทผู้รับมอบสิทธิอำนาจทั้งหมดจากเขา ซึ่งซีซ่าร์ปฏิเสธว่าเขาทำไม่ได้

อ็อกตาเวี่ยนได้เข้าพบซีซ่าร์และบอกให้ซีซ่าร์ทราบว่าเขากังวลใจมาก กับเรื่องคลีโอพัตราและลูกของนาง เขามีความเห็นว่าคลีโอพัตราใช้อุบายให้ซีซ่าร์ยอมรับลูกของนาง เป็นการใช้ซีซ่าร์เป็นเครื่องมือเพื่อปูทางให้ตัวเอง ทุกคนในโรมมองกลอุบายของนางออกมีแต่ซีซ่าร์คนเดียวที่มองไม่ออก อ็อกตาเวี่ยนเสนอให้ซีซ่าร์กำจัดซีซาเรี่ยนเสียเพราะหากปล่อยไว้ ซีซาเรี่ยนจะนำภัยมาสู่ซีซ่าร์ แต่ซีซ่าร์ยืนยันว่าซีซาเรี่ยนเป็นลูกชายชองเขา และซีซาเรี่ยนจะไม่มีวันทำร้ายเขาเช่นเดียวกับอ็อคตาเวี่ยน ซีซ่าร์ย้ำกับอ็อคตาเวี่ยนว่าเขาเป็นทายาทของซีซ่าร์ในโรม ส่วนซีซาเรี่ยนนั้นชีวิตของเขาอยู่ในอียิปต์ และสั่งห้ามอ็อคตาเวี่ยนทำร้ายซีซาเรี่ยนแม้แต่เส้นผม มิฉะนั้นเขาจะฆ่าอ็อคตาเวี่ยน ในระหว่างนั้นกลุ่มสมาชิกสภาที่เป็นฝ่ายต่อต้านได้นัดประชุมวางแผนจัดการกับซีซ่าร์ และเชิญอ็อคตาเวี่ยนเข้าประชุมด้วย ที่ประชุมยกเอาปัญหาเรื่องคลีโอพัตรากับลูกของนางซึ่งจะเป็นภัยยิ่งต่ออนาคตของโรม อ็อคตาเวี่ยนบอกกับที่ประชุมว่าเขาไม่สามารถทรยศต่อซีซ่าร์ได้ แต่ก็จะไม่เป็นศัตรูกับกลุ่มต่อต้าน

 

รูปที่ 8 ทายาทของจูเลียส ซีซ่าร์ อ็อคตาเวี่ยนบอกกับซีซ่าร์ว่าเขาไม่สบายใจเรื่องซีซาเรี่ยน แต่ซีซ่าร์ยืนยันกับอ็อคตาเวี่ยนว่าเขาเป็นทายาทของซีซ่าร์ในโรม ส่วนอนาคตของซีซาเรี่ยนนั้นอยู่ในอียิปต์ ในขณะที่คลีโอพัตรายืนยันกับซีซ่าร์ว่าซีซาเรี่ยนเป็นทายาทคนเดียวของซีซ่าร์ทั้งในโรมและในอียิปต์ ซึ่งซีซ่าร์ยืนกรานไม่ยินยอม

อย่างไรก็ตามมีกลุ่มมือสังหารลอบเข้าไปในบ้านพักของคลีโอพัตราและพยายามฆ่าซีซาเรี่ยน แต่มาร์ค แอนโทนี่ซึ่งได้รับมอบหมายให้อยู่คุ้มกันนางและลูกสามารถสังหารมือสังหารเหล่านั้นและช่วยซีซาเรี่ยนได้ทันเวลา โดยคนร้ายฆ่าตัวตายเพื่อรักษาความลับของผู้สั่งการ หลังจากเหตุการณ์นี้คลีโอพัตรามีการเจรจากับซีซ่าร์อีกครั้งหนึ่งเรื่องอนาคตของนางและซีซาเรี่ยน แต่ซีซ่าร์ยังคงยืนยันความคิดเดิมที่จะให้ซีซาเรี่ยนปกครองอียิปต์อย่างเป็นอิสระจากโรม และให้อ็อคตาเวี่ยนเป็นทายาทของเขาในโรม ซีซ่าร์ขอให้นางและอียิปต์ร่วมเป็นพันธมิตรกับเขาในการบุกยึดครองพาเทียร์ร่วมกัน แต่คลีโอพัตราต้องการเงื่อนไขให้เขาหย่ากับคัลพาเนียร์ แต่งงานกับนางอย่างเป็นทางการ และประกาศแต่งตั้งซีซาเรี่ยนเป็นทายาท ซีซ่าร์บอกว่า เขาทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะนั่นจะเป็นจุดจบของโรม คลีโอพัตราก็ไม่ยินยอมเช่นกันและตัดสินใจจะเดินทางกลับอียิปต์

หลังจากนั้นซีซ่าร์ก็ถูกฝ่ายต่อต้านรุมสังหารเสียชีวิตในสภา ในขณะที่พินัยกรรมของเขากำหนดให้อ็อกตาเวี่ยนหลานชายและบุตรบุญธรรมเป็นทายาทโดยมิได้กล่าวถึงซีซาเรี่ยนไว้ด้วย ความพยายามและความหวังทั้งมวลของคลีโอพัตราจึงดับวูบลงพร้อมกับความตายของจูเลียส ซีซ่าร์ นอกจากนี้อนาคตของ อียิปต์และซีซาเรียนก็ตกอยู่ในอันตรายยิ่งอีกด้วยเพราะอ็อกตาเวี่ยนต้องทำทุกวิถีทางเพื่อกำจัดซีซาเรี่ยน เนื่องจากตราบใดที่ซีซาเรี่ยนยังมีชีวิตอยู่ก็จะเป็นหนามยอกใจและหอกข้างแคร่ที่อาจมาทวงคืนความเป็นทายาทอันชอบธรรมของจูเลียส ซีซ่าร์ได้เสมอ

รูปที่ 9 ฆ่าจูเลียส ซีซ่าร์! กลุ่มสมาชิกสภาฝ่ายต่อต้านซีซ่าร์ ยกเอาเรื่องซีซาเรี่ยนมาชักชวนอ็อคตาเวี่ยนให้ร่วมมือกับฝ่ายต่อต้านในการจัดการกับซีซ่าร์ อ็อคตาเวี่ยนบอกว่าเขาไม่สามารถทรยศซีซ่าร์ได้แต่ก็จะไม่เป็นศัตรูกับฝ่ายต่อต้าน หลังจากนั้นฝ่ายต่อต้านก็ฉวยโอกาสซ่อนมีดติดตัวเข้าไปในอาคารรัฐสภา และช่วยกันรุมสังหารซีซ่าร์จนเสียชีวิต

คลีโอพัตราเดินทางกลับอียิปต์ด้วยความโศกเศร้าผิดหวัง แต่นางก็ไม่ท้อแท้ต่อชะตากรรมที่เกิดขึ้น นางมองภาพออกว่าในอนาคตอันใกล้สงครามจะต้องเกิด เพราะอ็อกตาเวี่ยนจะต้องมาจัดการกับซีซาเรี่ยนบุตรชายของนางแน่นอน นางทุ่มเทเงินทองทรัพย์สินในท้องพระคลังเร่งต่อเรือรบจำนวนมากเกือบ 300 ลำ เพื่อคอยรับกับสงครามที่คาดว่าจะเกิดขึ้น แม้บรรดาที่ปรึกษาจะพากันคัดค้านเนื่องจากเห็นว่าเป็นการใช้เงินทองจำนวนมหาศาลจนแทบหมดท้องพระคลัง และก็ยังไม่เห็นโอกาสที่จะชนะสงครามกับพวกโรมันได้ แต่นางยืนยันว่าต้องทำและไม่ใช่ทำเพียงเท่านั้น นางยังมีแผนการอื่นอีกสำหรับการเตรียมพร้อมกับสงครามครั้งนี้

รูปที่ 10  ไม่ยอมแพ้โชคชะตา: คลีโอพัตราคาดการณ์ว่าอ็อคตาเวี่ยน่จะไม่ยอมปล่อยซีซาเรี่ยนบุตรชายของนางไว้ และสงครามจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน แม้จะโศกเศร้าเสียใจและท้อแท้เพียงใด นางก็ยังพยายามต่อสู้ต่อไปด้วยการทุ่มเททรัพย์สินเงินทองที่มี่อยู่ต่อเรือรบจำนวนมากไว้ให้พร้อมสำหรับสงครามที่นางคาดว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ในระหว่างนั้นมาร์ค แอนโทนี่ร่วมมือกับอ็อคตาเวี่ยนในการทำสงครามไล่ล่ากลุ่มสมาชิกสภาที่ร่วมมือกันสังหารจูเลียส ซีซ่าร์ ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 3 ปี สงครามจึงสิ้นสุดลงด้วยความตายของทุกคนที่ร่วมมือกันสังหารซีซ่าร์ จากนั้นทั้งสองคนจึงเป็นพันธมิตรร่วมกันในการปกครองโรม บรรดาที่ปรึกษาของคลีโอพัตราพากันวิตกกังวลว่าเมื่อไม่มีจูเลียส ซีซ่าร์แล้วใครจะรับประกันอิสรภาพของอียิปต์ นางบอกว่านางจะทำหน้าที่นั้นแทนซีซ่าร์เอง และในอีกไม่นานนางจะมีกองทัพเรือที่ยิ่งใหญ่สำหรับป้องกันประเทศ นอกจากนี้นางยังคาดการณ์ได้ว่าพันธมิตรระหว่างอ็อคตาเวี่ยนกับมาร์ค แอนโทนี่นั้นเปราะบางพร้อมที่จะแตกหักเมื่อไรก็ได้ และทั้งสองยังอยู่ในสถานะที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองที่สำคัญระหว่างกันอีกด้วย

เมื่อนางทราบว่ามาร์ค แอนโทนี่อยู่ที่ทาซัส นางจึงได้จัดเตรียมเรือสำราญสำหรับใช้เดินทางไปหาเขา นางมีแผนการที่จะต้องดึงมาร์ค แอนโทนี่ให้มาอยู่ข้างนางให้ได้ และอนาคตของอียิปต์ขึ้นอยู่กับการเดินทางไปพบแอนโทนี่ครั้งนี้  ในขณะนั้นทัพของแอนโทนี่กำลังอยู่ในสภาพลำบากเพราะขาดแคลนอาหารและไม่มีเงินเดือนจ่ายให้ทหารในกองทัพ มาร์ค แอนโทนี่และบรรดานายทหารในกองทัพดีใจมากที่คลีโอพัตราเดินทางไปที่นั่น ค่ำคืนนั้นมาร์ค แอนโทนี่และบรรดานายทหารได้ขึ้นไปฉลองดื่มกินกันอย่างสนุกสนานบนเรือสำราญ ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยเครื่องบันเทิงใจนานัปการ คลีโอพัตรามอบเหรียญทองคำจำนวนมหาศาลเป็นของกำนัลสำหรับมิตรภาพระหว่างนางกับแอนโทนี่ แต่ปรากฏว่าบนเหรียญทองคำทำเป็นรูปแอนโทนี่ไว้ซึ่งทำให้เขาไม่พอใจมาก มีการทะเลาะโต้เถียงกัน ในเรื่องที่คลีโอพัตราต้องการให้เขามาอยู่ฝ่ายนางเพื่อต่อสู้กับอาณาจักรโรมัน ซึ่งมาร์ค แอนโทนี่ยืนยันว่าเขาไม่สามารถทำได้เพราะนั่นหมายถึงสงครามกลางเมืองระหว่างคนโรมันด้วยกัน ซึ่งจะทำให้อาณาจักรโรมันแตกออกเป็นเสี่ยง แต่การทะเลาะโต้เถียงก็จบลงด้วยการที่มาร์ค แอนโทนี่ไม่สามารถระงับความปราถนาได้และเข้าปลุกปล้ำคลีโอพัตราด้วยอารมณ์รักหลงผสมความโกรธ หลังจากนั้นคลีโอพัตราก็ยังพยายามชวนให้มาร์ค แอนโทนี่ไปอียิปต์กับนางแต่มาร์ค แอนโทนี่บอกว่าเขามีเรื่องจะต้องเจราจาตกลงกับอ็อคตาเวี่ยนก่อน

รูปที่ 11 สยบแม่ทัพใหญ่ วีรบุรุษแห่งโรม  คลีโอพัตราล่องเรือสำราญไปยังทาร์ซัส และพยายามจะสยบแม่ทัพใหญ่แห่งโรมให้ได้ตามแผนที่นางกำหนดไว้

ในการเจรจาต่อรองระหว่างอ็อคตาเวี่ยนและมาร์ค แอนโทนี่ด้วยการไกล่เกลี่ยของรัฐสภา ทั้งสองตกลงแบ่งพื้นที่การปกครองกัน โดยอ็อคตาเวี่ยนปกครองกรุงโรมและดินแดนในด้านตะวันตกทั้งหมด ส่วนมาร์ค แอนโทนี่ปกครองอียิปต์และดินแดนในภาคตะวันออกทั้งหมด ในการนี้อ็อคตาเวี่ยนอ้างว่าการแบ่งโรมันออกเป็นสองส่วน ทำให้เกิดความเปราะบางต่อความมั่นคงของอาณาจักรโรมัน ดังนั้นเขาจึงเสนอให้มาร์ค แอนโทนี่แต่งงานกับน้องสาวของเขาเพื่อให้แอนโทนี่มาเป็นคนในครอบครัวเดียวกันกับเขา ซึ่งจะช่วยให้เกิดความมั่นคงแก่อาณาจักรโรมันมากขึ้น แอนโทนี่ตกลง ทำให้คลีโอพัตราต้องรับทราบข่าวนี้ด้วยความโศกเศร้าและเจ็บช้ำน้ำใจยิ่ง

รูปที่ 12 สองผู้ยิ่งใหญ่แห่งโรม มาร์ค แอนโทนี่กับอ็อคตาเวี่ยนตกลงกันแบ่งอำนาจการปกครองอาณาจักรโรมันออกเป็นสองส่วน โดยอ็อคตาเวี่ยนปกครองกรุงโรมและดินแดนทางตะวันตก ส่วนมาร์ค แอนโทนี่ปกครองดินแดนด้านตะวันออกทั้งหมดรวมถึงอียิปต์ด้วย แต่ในการนี้เขาต้องยอมแต่งงานกับสาวสวย (อ็อคตาเวี่ย) น้องสาวของอ็อคตาเวี่ยนด้วย ข่าวการแต่งงานของเขากับอ็อคตาเวียทำให้คลีโอพัตราชอกช้ำเสียใจมาก

อย่างไรก็ตามในที่สุดมาร์ค แอนโทนี่ก็ไม่สามารถหักห้ามใจตนเองได้ เขาตัดสินใจเดินทางไปอเล็กซานเดรียเพื่อพบคลีโอพัตรา เขาบอกนางว่า "มาร์ค แอนโทนี่ ไม่ได้มาเพื่อโจมตียึดครองอียิปต์ แต่มาเพื่อแสดงความยินดี และมอบของขวัญล้ำค่าแก่นาง นั่นคือตัวเขาเอง ซึ่งยอมศิโรราบแต่โดยดีเพราะพ่ายแพ้ต่อเสน่ห์ของนาง" เขายอมทำตามประสงค์ของนางทุกประการ คือ ประกาศว่าคลีโอพัตราเป็นภรรยาที่แท้จริงและถูกต้องตามกฎหมายของจูเลียส ซีซ่าร์ และโอรสของเขา "พโทเลมี ซีซ่าร์" เป็นบุตรชายที่ถูกต้องตามกฎหมายของซีซ่าร์เพียงคนเดียว นอกจากนี้เขายังประกาศหย่าขาดจากภรรยาชาวโรมันของเขา "อ็อคตาเวีย" และรับ "คลีโอพัตรา" เป็นภรรยา พร้อมทั้งประกาศยกประเทศซีเรียให้กับอียิปต์ด้วย เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการเป็นพันธมิตรกันระหว่างเขากับอียิปต์ในครั้งนี้

การกระทำของมาร์ค แอนโทนี่ เข้าทางที่อ็อคตาเวี่ยนคาดการณ์ล่วงหน้าไว้อยู่แล้ว อ็อคตาเวี่ยนใช้เรื่องนี้เป็นเหตผลสำคัญในการอภิปรายในรัฐสภาเพื่อขอมติให้สภาประกาศสงครามกับ มาร์ค แอนโทนี่และอียิปต์

รูปที่ 13 ตาของข้ามองไม่เห็นอะไรอื่นนอกจากท่าน  ภายหลังจากแบ่งปันอำนาจกับอ็อคตาเวี่ยนและแต่งงานกับน้องสาวของเขาแล้ว ในที่สุดมาร์ค แอนโทนี่ก็พ่ายแพ้หัวใจตัวเองเขาเดินทางไปหาคลีโอพัตราที่อเล็กซานเดรียและขออยู่กับนางอย่างถาวรไปตลอดชีวิต เขายอมหย่าขาดจากอ็อคตาเวีย แต่งงานกับคลีโอพัตรา ประกาศให้ซีซาเรี่ยนเป็นทายาทโดยชอบธรรมของ่จูเลี่ยส ซีซ่าร์เพียงคนเดียว แต่งตั้งซีซาเรี่ยนเป็นผู้ปกครองอียิปต์ และยกประเทศซีเรียให้เป็นบรรณาการแก่ซีซาเรี่ยนด้วย การกระทำของเขา (อ็อคตาเวี่ยนคาดไว้อยู่แล้วว่าในที่สุดมาร์ค แอนโทนี่ก็ต้องไปหาคลีโอพัตรา) เข้าทางของอ็อคตาเวี่ยน และช่วยให้เขาสามารถใช้อ้างเป็นเหตุผลในการขออนุมัติจากรัฐสภาให้ทำสงครามกับอียิปต์และมาร์ค แอนโทนี่ได้

เมื่อแอนโทนี่ทราบข่าวการประกาศสงครามของอ็อคตาเวี่ยน เขาเลือกที่จะชิงโจมตีก่อนทันทีโดยไม่สนใจการเจรจาตามที่รูฟิโอเสนอความเห็น ว่าควรไปร้องทุกข์กับสภาเพื่อเปิดการเจรจา เพราะไม่ควรเกิดสงครามการเมืองระหว่างโรมันด้วยกันเอง     แล้วกองทัพทั้งสองก็มาเผชิญหน้ากันที่แอคติอุมในกรีซ โดยอ็อคตาเวี่ยนยกกองทัพเรือขนาดใหญ่กว่ากองทัพเรือของคลีโอพัตราประมาณสองเท่ามาปิดปากอ่าวไว้ นายทหารหลายคนในกองทัพของแอนโทนี่ไม่เห็นด้วยกับการนำกองทัพเรือออกไปสู้ แต่มาร์ค แอนโทนี่บอกว่าไม่มีทางเลือกอื่น เพราะกองทัพของเขาถูกล้อมปิดอยู่ จำเป็นต้องขับไล่กองทัพเรือของอ็อคตาเวี่ยนออกไปให้ได้

รูปที่ 14 สมรภูมิแอคติอุม: สงครามที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์โลก มาร์ค แอนโทนี่ตัดสินใจรบทางเรือกับกองทัพของอ็อคตาเวี่ยนซึ่งใช้กองทัพเรือปิดล้อมอ่าวอยู่ โดยกองทัพเรือของอ็อคตาเวี่ยนมีจำนวนมากกว่าของแอนโทนี่เกือบเท่าตัว มาร์ค แอนโทนี่ให้เหตุผลกับทหารของเขาว่า จำเป็นต้องรบทางเรือเพื่อขับไล่กองทัพเรือของอ็อคตาเวี่ยนออกไป มิฉะนั้นกองทัพของเขาจะถูกปิดล้อมทั้งทางบกและทางทะเล

ในการรบนั้นแอนโทนี่หลงกลศึก ทำให้กองเรือของเขาถูกล้อมและทำลาย เรือของเขาถูกทำลายจมลง ในขณะที่คลีโอพัตราเองก็ต้องสละเรือของตนลงเรือเล็กหลบหนีกลับอียิปต์ ในตอนแรกนั้นนางไม่ยอมกลับจนกว่าแอนโทนี่จะกลับไปด้วย แต่บรรดาที่ปรึกษาบอกว่าแอนโทนี่อาจเสียชีวิตไปแล้ว และนางมีความจำเป็นในฐานะผู้ปกครองอียิปต์ที่จะต้องรีบกลับไปเตรียมการป้องกันประเทศในขั้นต่อไป นางจึงได้ตัดสินใจเดินทางกลับ

รูปที่ 15 ความพ่ายแพ้ของวีรบุรุษ กองทัพเรือของมาร์ค แอนโทนี่หลงกลเข้าไปในกับดักของอ็อคตาเวี่ยน และถูกล้อมปราบทำลายจนพ่ายแพ้ยับเยิน

แอนโทนี่รอดชีวิตมาได้ แต่เขาไม่ไปหาคลีโอพัตรา เขารู้สึกท้อแท้สิ้นหวังและใช้ชีวิตเสเพลไปวันๆ จนกระทั่งเมื่อคลีโอพัตราทราบว่าเขาอยู่ที่ไหน นางจึงได้ไปหาเขาและพยายามทำให้เขาหยุดสิ้นหวังท้อแท้  ระหว่างนั้นอ็อกตาเวี่ยนส่งข้อเสนอเข้ามาว่าให้คลีโอพัตราประหารมาร์ค แอนโทนี่เพื่อแลกกับอิสรภาพของอียิปต์และความปลอดภัยของซีซาเรี่ยน บรรดาที่ปรึกษาของนางทุกคนเรียกร้องให้นางสังหารมาร์ค แอนโทนี่เพื่ออียิปต์และซีซาเรี่ยน นางลังเลใจมากแต่ก็แอบนำมีดเข้าไปหามาร์ค แอนโทนี่ แต่ก็ฆ่าเขาไม่ลงเมื่อเขาพูดถึงความฝันและเขามีความเข้มแข็งพร้อมที่จะกลับมานำทัพต่อสู้อีกครั้งตามที่รับปากกับนางไว้  แต่ในที่สุด มาร์ค แอนโทนี่ก็ไม่สามารถต้านทานกองทัพของอ็อคตาเวี่ยนที่มีกำลังมากกว่าหลายเท่าตัวได้ เขาได้รับบาดเจ็บสาหัสและนายทหารคนสนิทพาเขากลับมาหาคลีโอพัตรา ซึ่งเขาได้สิ้นใจในอ้อมกอดของคลีโอพัตรานั้นเอง

รูปที่ 16 แม่ทัพผู้พ่ายศึก: มาร์ค แอนโทนี่หนีรอดกลับมาได้ แต่เขาไม่กล้ากลับไปหาคลีโอพัตรา เขาท้อแท้สิ้นหวังในชีวิต หมดความภาคภูมิใจและไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเองอีกต่อไป ได้แต่ใช้ชีวิตสำมะเลเทเมากับสุรานารีไปวันๆ

 

รูปที่ 17 คู่รักที่โลกไม่มีวันลืม: คลีโอพัตราไปหามาร์ค แอนโทนี่ และปลอบขวัญให้กำลังใจเขาทำให้มาร์ค แอนโทนี่ กลับเข้มแข็งขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และนำกองทหารเพียงน้อยนิดที่ยังคงจงรักภักดีต่อเขาอยู่ออกต่อสู้ป้องกันเมืองอเล็กซานเดรียเป็นครั้งสุดท้าย

ภายหลังจากที่มาร์ค แอนโทนี่สิ้นใจแล้ว เมื่ออ็อคตาเวี่ยนยึดเมืองอเล็กซานเดรียได้แล้ว สิ่งแรกที่เขาทำคือเข้ามาหาคลีโอพัตรา นางบอกเขาว่าขอให้เขานำสมบัติทรัพย์สินของนางไปให้หมดและปล่อยให้นางตายอยู่ตรงนั้น อ็อคตาเวี่ยนบอกนางว่า เขาสามารถพิชิตประเทศที่มั่งคั่งร่ำรวยและราชินีที่ยิ่งใหญ่ได้ เขาไม่ได้คิดสังหารนาง ตรงกันข้ามเขาจะคืนราชบัลลังก์ให้กับนางในฐานะที่อียิปต์เป็นเมืองขึ้นของโรม แต่มีข้อแม้ว่านางต้องไปกรุงโรมกับเขา คลีโอพัตราตอบว่านางยินดีจะไปโรมกับเขาในฐานะราชินีผู้พ่ายแพ้สงคราม แต่นางมีข้อแม้ว่าขอให้เขารับประกันความปลอดภัยของซีซาเรี่ยน และให้ซีซาเรี่ยนเป็นผู้ปกครองอียิปต์ ซึ่งเขาตอบว่าเขายังไม่อาจตัดสินใจได้ นางจึงขอให้เขาคืนสัญลักษณ์แห่งอำนาจของนาง และยอมให้ทำพิธีศพมาร์ค แอนโทนี่ตามธรรมเนียมอียิปต์และฝังร่างเขาไว้ในอียิปต์ อ็อคตาเวี่ยนตกลง แต่ยังคงให้รูฟิโออยู่ด้วยกับนางเพื่อป้องกันนางทำร้ายตัวเอง แต่คลีโอพัตราก็ยังคงสามารถทำพิธีศพให้แอนโทนี่จนเสร็จและฆ่าตัวเองตายด้วยการให้งูพิษกัดได้สำเร็จ ในขณะนั้นอ็อคตาเวี่ยนกำลังมีความสุขและฝันถึงวันที่คลีโอพัตราจะเดินทางไปกรุงโรมกับเขา และกำลังเตรียมคำพูดที่จะกล่าวกับราษฎรชาวอียิปต์ว่า "ราชินีของท่านยอมรับซีซ่าร์ ในฐานะเพื่อนและจักรพรรดิของนาง" แต่ขณะนั้นเขาก็ได้ทราบว่าคลีโอพัตราปิดประตูขังตัวเองอยู่ เขาจึงรีบไปหานางแต่ก็พบนางนอนเสียชีวิตแล้วบนแท่นบรรทม เขารู้สึกตกใจและผิดหวัง และได้กล่าวคำอำลานางว่า "ท่านชนะ คลีโอพัตรา ลาก่อนอียิปต์"

รูปที่ 18 นางสิงห์ทะเลทรายผู้ไม่เคยยอมก้มหัวให้พวกโรมัน: เมื่อยึดครองเมืองอเล็กซานเดรียได้แล้ว สิ่งแรกที่อ็อคตาเวี่ยนทำคือเข้าไปหาคลีโอพัตรา เขาตกลงตามเงื่อนไขที่คลีโอพัตราต้องการ โดยมีข้อแม้ว่าคลีโอพัตราต้องติดตามเขาไปกรุงโรม แต่ในขณะที่เขากำลังจินตนาการถึงเรื่องดังกล่าวอยู่อย่างมีความสุข ทหารก็เข้ามารายงานว่าคลีโอพัตราปิดขังตัวเองอยู่ในวิหาร และไม่ทราบว่านางคิดทำอะไรอยู่

 

รูปที่ 19  ความตายไม่สำคัญไปกว่าความรัก: ภายหลังจากที่มาร์ค แอนโทนี่สิ้นใจในอ้อมแขนของคลีโอพัตราแล้ว ต่อมาไม่นานนางก็ฆ่าตัวตายตามมาร์ค แอนโทนี่ไปด้วยการให้งูพิษกัด

 

3. คลีโอพัตรา 1963 V.S. คลีโอพัตรา 1999

รูปที่ 20 ลูกผสมหรือฝรั่ง?: นักประวัติศาสตร์คงเถียงกันไม่มีวันจบว่าตกลงคลีโอพัตราเป็นผู้หญิงฝรั่งผิวบาวแบบชาวกรีก หรือเป็นเลือดผสมระหว่างอียิปต์กับกรีกกันแน่?

ถ้าจะเปรียบเทียบกันระหว่างสองเวอร์ชั่นนี้แล้ว ก็คงจะต้องเปรียบเทียบกันที่ตัวคลีโอพัตราก่อนเป็นประการแรก และเป็นการเปรียบเทียบทั้งรูปสมบัติและคุณสมบัติ ในทางรูปสมบัตินั้นที่แตกต่างกันชัดเจนประการแรกก็คือ คลีโอพัตราในเวอร์ชั่น 1963 นั้น สร้างให้นางเป็นผู้หญิงกรีก ผิวขาว ส่วนเวอร์ชั่น 1999 สร้างให้นางเป็นลูกผสมอียิปต์กับกรีกจึงเป็นผู้หญิงผิวสีน้ำตาล เรื่องนี้ในข้อเท็จจริงคงต้องเถียงกันไปไม่มีวันจบ เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็หาหลักฐานที่ชัดเจนมายืนยันกันไม่ได้ เท่าที่เคยอ่านผ่านตามานักประวัติศาสตร์ฝรั่งส่วนใหญ่มีความเห็นว่า (อยากให้) คลีโอพัตราเป็นฝรั่ง ในขณะที่นักประวัติศาสตร์ทางเอเซียส่วนใหญ่มีความเห็นว่าคลีโอพัตราเป็นลูกผสมอียิปต์กับกรีก สรุปก็คือต่างฝ่ายต่างก็อยากให้คลีโอพัตรามีเลือดเนื้อเชื้อไขเป็นพวกเดียวกับตน ผมคิดว่าคลีโอพัตราน่าจะเป็นลูกผสมมากกว่าเป็นฝรั่งแท้ เพราะเป็นที่ยอมรับโดยไม่มีข้อโต้แย้งว่า พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชนั้นสนับสนุนการแต่งงานข้ามเผ่าพันธ์ โดยได้ทรงจัดให้แม่ทัพนายกองในกองทัพของพระองค์ แต่งงานกับหญิงพื้นเมืองในทุกดินแดนที่พระองค์ทรงยึดครองมาได้ ตัวพระองค์เองก็ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงต่างเผ่าพันธุ์สองคนด้วยกัน สองเวอร์ชั่นนี้ยังต่างกันตรงเนื้อหาที่กล่าวถึงกรีกและพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชอีกด้วย โดยเวอร์ชั่น 1963 ให้ความสำคัญกับเรื่องพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับปณิธานทางการเมืองของคลีโอพัตรา ในขณะที่เวอร์ชั่น 1999 นอกจากจะกำหนดให้คลีโอพัตราเป็นลูกผสมแล้วยังไม่มีการกล่าวถึงกรีก และพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเลย

ในส่วนของความเหมาะสมในบทบาทคลีโอพัตรานั้น เอลิซาเบธ เทย์เล่อร์ ได้รับการยกย่องมาตลอดจนถึงปัจจุบันว่าเธอแสดงได้สมบทบาท "คลีโอพัตรา" อย่างดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความงดงามทางกาย หรือสง่า ราศี ความเฉิดฉาย ของ "นางพญาแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์" ส่วน เรเน่อร์ วาเรล่าในเวอร์ชั่น 1999 นั้นผมคิดว่าส่วนใหญ่ของภาพที่ปรากฏออกมาก็ งดงาม เปี่ยมด้วย สง่าราศี ความเฉิดฉาย ของ "นางพญาแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์" เช่นเดียวกัน และอาจเหมาะสมมากกว่าเอลิซาเบธ เทย์เล่อร์ อีกด้วย ถ้าหากว่าสมมติฐานที่ว่า "คลีโอพัตรา" เป็นลูกผสม (ผิวสีน้าตาลไม่ใช่ผิวขาว) นั้นถูกต้อง อย่างไรก็ตามในเวอร์ชั่น 1999 นั้นมีหลายฉากหลายตอนที่ เรเนอร์ วาเรล่าแสดงบทบาทเหมือนกับผู้หญิงขวัญอ่อน รองวี้ดว้าย วิ่งไปวิ่งมา แทนที่จะเป็น "นางพญาคลีโอพัตรา" อย่างเช่นในตอนที่คลีโอพัตรามองออกไปในท้องทะเลจากพระราชวังและเห็นกองเรือรบของพวกโรมัน นางตกใจกลัวส่งเสียงโวยวาย วิ่งไปมา เรียกหาบรรดาที่ปรึกษาโดยไม่สามารถควบคุมสติได้ หรือในฉากการร่วมรักที่ค่อนข้างชัดเจนเกือบจะเป็นเรทอาร์นั้น ก็มีส่วนทำให้ภาพรวมของ "นางพญาคลีโอพัตรา" เสียหายไปมากแม้จะมีข้อดีตรงที่ว่าทำให้เห็นได้ว่า "คลีโอพัตรา" ก็ยังคงเป็น "มนุษย์ผู้หญิงคนหนึ่ง" เช่นกัน

บทภาพยนตร์ในเวอร์ชั่น 1999 เองก็มีส่วนที่ทำให้ภาพรวมของคลีโอพัตราด้อยความสง่างามลงไปมาก เนื่องจากมีหลายบทหลายตอนที่กำหนดให้คลีโอพัตราเป็นรองทั้งกับจูเลียส ซีซ่าร์ และมาร์ค แอนโทนี่ ในขณะที่เวอร์ชั่น 1963 นั้นมีแต่บทภาพยนตร์ที่แสดงว่านางวางตัวสูงสง่าและไม่เคยยอมก้มหัวเป็นรองใครเลย ยกตัวอย่างบทภาพยนตร์ในเวอร์ชั่น 1999 ตั้งแต่เมื่อคลีโอพัตราต้องเป็นฝ่ายรุกซีซ่าร์จนกระทั่งได้หลับนอนด้วยกันภายในคืนนั้น ตอนที่ซีซ่าร์จับได้ว่าคลีโอพัตรานำทหารเข้าไปสังหารอาซิโนอิทำให้เขาโกรธมาก แม้เขาจะตัดใจฆ่าคลีโอพัตราไม่ลงแต่ก็ถึงกับเค้นคอนางและขู่ว่าอย่าขัดคำสั่งเขาอีก ตอนที่ซีซ่าร์ปฏิเสธไม่ยอมให้ซีซาเรี่ยนเป็นทายาทของเขาในการปกครองโรมตามคำขอของคลีโอพัตรานั้น ซีซ่าร์ถึงกับออกปากไล่นางให้กลับไปอียิปต์ ฯลฯ บทภาพยนตร์ในลักษณะที่ซีซ่าร์หยามเกียรตินางแบบนี้ไม่มีในเวอร์ชั่น 1963 เลย แม้กระทั่งกับมาร์ค แอนโทนี่ในการร่วมหลับนอนกันครั้งแรก แม้จะเป็นลักษณะที่มาร์ค แอนโทนี่ควบคุมความต้องการของตัวเองไว้ไม่ได้และใช้กำลังปลุกปล้ำคลีโอพัตราเช่นเดียวกัน แต่ผลหลังจากนั้นตรงกันข้ามกับในเวอร์ชั่น 1963 ซึ่งมาร์ค แอนโทนี่ยินยอมไปอเล็กซานเดรียและใช้ชีวิตร่วมกับคลีโอพัตราในวันรุ่งขึ้นทันที จนกระทั่งมีเหตุจำเป็นทางการเมือง ที่เขาจำเป็นต้องกลับกรุงโรมเพื่อปกป้องอำนาจ เขาจึงค่อยเดินทางกลับ แต่ในเวอร์ชั่น 1999 ภายหลังการร่วมหลับนอนแล้ว มาร์ค แอนโทนี่ยังคงยืนยันว่าเขาไปอียิปต์กับนางไม่ได้เพราะเขามีงานสำคัญจะต้องไปทำที่กรุงโรม ทำให้คลีโอพัตราผิดหวังและต้องกลับไปอียิปต์คนเดียว

ส่วนภาพที่คลีโอพัตราสวมชุดเกราะถือดาบฟาดฟันกับทหารศัตรูที่บุกเข้ามาในพระราชวัง และบนเรือรบนั้น แม้จะเป็นการเสริมภาพความเข้มแข็งกล้าหาญของคลีโอพัตรา  แต่ก็ให้ความรูสึกแปลกๆที่ไม่สมจริง ว่าคลีโอพัตราถึงขนาดต้องประดาบกับทหารศัตรูในสนามรบเชียวหรือ นอกจากนี้งบประมาณและรายละเอียดความพิถีพิถันในเรื่องเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ฉากประกอบต่างๆและสถานที่ถ่ายทำที่เทียบชั้นกันไม่ได้ ก็มีส่วนทำให้ภาพลักษณ์ของคลีโอพัตราในเวอร์ชั่น 1999 ด้อยกว่า

แม้ว่าสาเหตุต่างๆดังที่กล่าวมาแล้ว น่าจะเป็นความรับผิดชอบของผู้อื่นมากกว่าตัวนางเอก เช่นผู้เขียนบทภาพยนตร์และผู้กำกับการแสดง แต่ผลของมันที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือภาพรวมของ "นางพญาคลีโอพัตรา" ในเวอร์ชั่น 1999 ด้อยกว่าในเวอร์ชั่น 1963 มาก ซึ่งในเวอร์ชั่น 1963 นั้น อาจกล่าวได้ว่าไม่มีตอนไหน บทไหน ที่เอลิซาเบธ เทย์เล่อร์ แสดงบทบาทได้ไม่สมศักดิ์ศรีความสง่างามของ "นางพญาคลีโอพัตรา" เลย อย่างไรก็ตามในส่วนของนางเอก "เรเน่อร วาเรล่า" นั้นต้องยอมรับว่านอกเหนือจากข้อด้อยดังกล่าวแล้ว (ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากเธอ) เธอแสดงเป็น "คลีโอพัตรา" ได้ดีมากทีเดียว และสมมติว่าถ้าเธอมีโอกาสได้แสดงเป็นคลีโอพัตรา ในเวอร์ชั่น 1963 แล้วละก็ ด้วยส่วนประกอบและบทภาพยนตร์ที่เหนือชั้นกว่ากันมากๆ เธออาจแสดงบทบาทได้ไม่ด้อยไปกว่าเอลิซาเบธ เทย์เล่อร์ ก็ได้ ซึ่งเมื่อคำนึงถึงว่า "คลีโอพัตราตัวจริง" น่าจะเป็นผู้หญิงลูกผสมผิวสีน้ำผึ้งอีกด้วยแล้ว เธอยังอาจจะเหนือกว่าเอลิซาเบธ เทย์เล่อร์อีกด้วย!

รูปที่ 21 ฉากรักโรแมนติค: เวอร์ชั่น 1963 (ซ้าย) แสดงฉากรักโรแมนติคระหว่างคู่รักได้คลาสสิคกว่า เวอร์ชั่น 1999 (ขวา) มาก ประเด็นนี้มีส่วนทำให้ภาพลักษณ์และความงามสง่างามของคลีโอพัตราในเวอร์ชั่น 1999 ด้อยกว่าในเวอร์ชั่น 1963

 

รูปที่ 22 พิธีราชาภิเษก: งบประมาณและรายละเอียดความพิถีพิถัน ในเรื่องเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ฉากประกอบต่างๆและสถานที่ถ่ายทำที่เทียบชั้นกันไม่ได้ก็มีส่วนทำให้ภาพลักษณ์ของคลีโอพัตราในเวอร์ชั่น 1999 ด้อยกว่าเวอร์ชั่น 1963

ในเรื่องคุณสมบัติของคลีโอพัตรานั้นเวอร์ชั่น 1999 วาดภาพคุณงามความดีของนางไว้เหนือกว่าเวอร์ชั่น 1963 อย่างเทียบกันไม่ได้ ทุกอย่างที่เป็นคุณความดีของนางที่เห็นชัดเจนในประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครสามารถโต้แย้งได้นั้น แสดงไว้ครบถ้วนในทั้งสองเวอร์ชั่น แต่เวอร์ชั่น 1999 นั้นนอกจากจะไม่ให้ร้ายนางอย่างไม่เป็นธรรมแล้ว ยังมีทัศนะคติที่ดีต่อคลีโอพัตราอีกด้วย ที่น่าสนใจเช่น การแสดงให้เห็นถึงความเมตตากรุณาที่นางมีต่อราษฎรในตอนที่นางพบว่าพวกเขาอดอยากหิวโหยไม่มีข้าวสารบริโภค ในขณะที่ยุ้งฉางในท้องพระคลังเต็มแน่นด้วยข้าวสารที่จะต้องส่งเป็นเครื่องบรรณาการให้กับโรมนั้น นางตัดสินใจทันทีให้เปิดยุ้งฉางทั้งหมดให้ราษฎรนำข้าวสารไปบริโภค นางกล่าวว่า "ข้าวสารในท้องพระคลังทั้งหมดเป็นของราษฎรชาวอียิปต์ ตราบใดที่ชาวอียิปต์ยังไม่มีข้าวกิน เราจะไม่ส่งข้าวไปให้โรมเด็ดขาด" ซึ่งจากความเมตตากรุณาที่นางมีต่อราษฎรทำให้ราษฎรรักนางมาก ซึ่งเห็นได้จากในตอนที่นางประสูติพระโอรสนั้น ราษฎรจากทั่วทั้งอียิปต์มาชุมนุมโห่ร้องร่วมแสดงความยินดีที่หน้าพระราชวัง และในตอนที่กองทัพของอ็อคตาเวี่ยนเข้ายึดครองอเล็กซานเดรียได้แล้วนั้น ราษฎรพากันมาชุมนุมสนับสนุนให้กำลังใจนางเต็มหน้าพระราชวัง ประเด็นเรื่องความเมตตากรุณาของคลีโอพัตราที่มีต่อราษฎรของนางไม่มีกล่าวไว้ในเวอร์ชั่น 1963 เลย

ในประเด็นเรื่องความเป็นผู้หญิงสำส่อนมักมากในกาม มากชู้หลายชายที่เวอร์ชั่น 1963 ให้ร้ายนางไว้นั้น ได้รับการยืนยันตรงกันข้ามในเวอร์ชั่นนี้ โดยในขณะที่นางพบซีซ่าร์ครั้งแรกนางยังเป็นหญิงพรหมจรรย์อยู่ จากแรกสัมผัสซีซ่าร์ก็รู้ได้และบอกกับนางว่านางไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น เพราะจะไม่มีผลต่อการตัดสินใจของเขาในเรื่องการจัดสรรอำนาจในอียิปต์เลย ซึ่งประเด็นนี้ตรงกับข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ที่ว่าตลอดชีวิตของนางมีผู้ชายเพียงสองคนเท่านั้นคือ จูเลียส ซีซ่าร์และมาร์ค แอนโทนี่
นอกจากนี้ในเรื่องความสามารถในการปกครองบ้านเมืองนั้น นางก็สามารถบริหารบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี ดังเช่นที่แสดงในฉากที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินคดีความของนาง ซึ่งตรงกับบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เคยอ่านพบว่านางเป็นผู้ปกครองที่มีความสามารถเด่นที่สุด ในบรรดาประเทศรอบทะเลเมดิเตอเรเนียนในยุคนั้น

รูปที่ 23 ทศพิธราชธรรม: คลีโอพัตราปกครองบ้านเมืองด้วยความรักความเมตตาต่อราษฎร และให้ความเป็นธรรมอย่างทั่วถึง ตัวอย่างเช่นการตัดสินใจนำข้าวในท้องพระคลังที่จะต้องส่งเป็นส่วยให้โรมมาแจกจ่ายประชาชน นอกจากนี้นางยังเป็นผู้ปกครองที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่ามีความสามารถโดดเด่นเหนือประเทศอื่นๆในบริเวณรอบทะเลเมดิเตอเรเนี่ยนในยุคนั้น ความรักที่ราษฎรมีให้กับนางเห็นได้จากในวันที่นางประสูติพระโอรสนั้น ประชาชนจากทุกแห่งหนในอียิปต์พากันมาชุมนุมแสดงความยินดีและต้อนรับพระโอรสอย่างเนืองแน่นที่บริเวณหน้าพระราชวัง

ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งก็คือเรื่องความพ่ายแพ้ที่สมรภูมิแอคติอุม เวอร์ชั่น 1963 ชี้นิ้วว่าเป็นความผิดของคลีโอพัตราเกือบทั้งหมด ในฐานที่นางเป็นคนกดดันให้มาร์ค แอนโทนี่ยกกองทัพไปบุกโรมก่อน และกดดันให้เขานำทัพรบกับอ็อคตาเวี่ยนทางทะเลด้วยกองทัพเรือ แต่ในเวอร์ชั่นนี้บอกชัดเจนว่าเมื่อมาร์ค แอนโทนี่ได้ทราบข่าวการที่รัฐสภาโรมันลงมติประกาศสงครามกับอียิปต์นั้น เขาเป็นคนตัดสินใจเองให้ยกกองทัพชิงเป็นฝ่ายรุกก่อนด้วยการยกพลขึ้นบกที่แอคติอุมในกรีซ ส่วนการรบด้วยกองทัพเรือนั้นก็เป็นการตัดสินใจของเขาเองเนื่องจากกองทัพของเขาถูกปิดล้อมทั้งทางบกตอนเหนือและการปิดอ่าวทางทะเล เขาจำเป็นต้องเข้าตีให้กองทัพเรือของอ็อคตาเวี่ยนถอยออกไปก่อน  ภาพการรบที่สมรภูมิแอคติอุมในเวอร์ชั่น 1999 จึงสมเหตุสมผลกว่าในเวอร์ชั่น 1963 ที่ชี้นิ้วว่าเป็นความผิดของคลีโอพัตราทั้งหมด 

ในประเด็นเรื่องความงามสง่าของคลีโอพัตราและศักดิ์ศรีของคลีโอพัตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความสัมพันธ์กับ จูเลียส ซีซ่าร์ มาร์ค แอนโทนี่ และอ็อคตาเวี่ยน นั้นเวอร์ชั่น 1963 ทำได้ดีกว่ามาก คลีโอพัตราในเวอร์ชั่นนี้สมกับที่เป็น "นางสิงห์ทะเลทรายที่สู้กับอำนาจแห่งโรมโดยไม่เคยก้มหัวให้กับผู้มีอำนาจคนใดของโรมเลย แม้กระทั่งเมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึง" ส่วนในเวอร์ชั่น 1999 นั้น มาดของคลีโอพัตราอ่อนด้อยลงไปมากและทำให้ภาพรวมของคลีโอพัตราไม่งามสง่าเท่าที่ควรดังรายละเอียดที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ ตัวอย่างเช่น การพบกันครั้งแรกระหว่างจูเลียส ซีซ่าร์ กับคลีโอพัตรานั้นนางเป็นฝ่ายเสนอตัวให้ซีซ่าร์เอง ในขณะที่ในเวอร์ชั่น 1963 นั้น ซีซ่าร์เป็นฝ่ายชื่นชมนางและไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ฉากตอนที่นางต้องเป็นฝ่ายนำซีซาเรี่ยนไปวางที่เท้าของซีซ่าร์เพื่อให้เขารับรองความเป็นบุตร ฉากการเข้าหามาร์ค แอนโทนี่เพื่อสยบแม่ทัพใหญ่แห่งโรมที่จนกระทั่งหลับนอนกันแล้วเขาก็ยังไม่ยอมทำตามความประสงค์ของนาง และที่สำคัญคือฉากการร่วมรักเรทใกล้อาร์ ที่เปรียบไม่ได้เลยกับฉากความรักโรแมนติดที่เหนือชั้นกว่ากันมากในเวอร์ชั่น 1963 ทำให้ภาพลักษณ์ของคลีโอพัตราในเวอร์ชั่นนี้ด้อยสง่าราศีลงไปมาก

4. จูเลียส ซีซ่าร์ 1963 V.S. จูเลียส ซีซ่าร์ 1999

เมื่อเปรียบเทียบคลีโอพัตราระหว่างสองเวอร์ชั่นกันแล้ว ก็คงต้องเปรียบเทียบจูเลียส ซีซ่าร์ มาร์ค แอนโทนี่ และอ็อคตาเวี่ยนด้วย และคงต้องเริ่มกันที่จูเลียสซีซ่าร์ก่อนในหัวข้อนี้ บทบาทการแสดงของทิโมที้ ดัลตันในฐานะจูเลี่ยส ซีซ่าร์ในเวอร์ชั่น 1999 ไม่ได้ด้อยไปกว่า เร็ค แฮริสัน ในเวอร์ชั่น 1963 เช่นกัน ในมุมมองด้านลักษณะความเป็นผู้นำ ความเฉลียวฉลาด ฯลฯ เพียงแต่ว่า จูเลียส ซีซ่าร์ ในเวอร์ชั่น 1999 ดูหนุ่มกว่า แข็งแรงกว่า ในเวอร์ชั่น 1963 ซึ่งก็สมเหตุผลด้วยกันทั้งสองเวอร์ชั่น ในเวอร์ชั่น 1963 นั้นจูเลียส ซีซ่าร์ดูเป็นผู้ใหญ่มากกว่า สุขุมรอบคอบกว่า แต่ดุดันน้อยกว่า ในเวอร์ชั่น 1999 จูเลียส ซีซ่าร์บอกกับคลีโอพัตราชัดเจน ว่าเขาจะให้ซีซาเรี่ยนปกครองอียิปต์ซึ่งเป็นอิสระจากโรมเท่านั้น ส่วนโรมนั้นอ็อคตาเวี่ยนหลานชายของเขาจะเป็นทายาทของเขา ในขณะที่ในเวอร์ชั่น 1963 นั้นจูเลียส ซีซ่าร์แสดงให้เห็นชัดเจนว่าซีซาเรี่ยนจะเป็นทายาทโดยชอบธรรมของเขา ซึ่งหมายถึงเป็นทายาททางการเมืองในการปกครองอาณาจักรโรมันต่อจากเขาด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อเขาถูกสังหารเสียชีวิตกะทันหัน พินัยกรรมยังคงระบุว่าอ็อคตาเวี่ยนเป็นทายาทเพียงคนเดียวของเขา ซึ่งตรงกันทั้งสองเวอร์ชั่นและเท่าที่เคยอ่านพบมาก็ ตรงกันหมด คงไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่าจริงๆแล้วซีซ่าร์คิดจะทำอย่างไรกันแน่ ถ้าเขามีเวลาพอที่จะเขียนพินัยกรรมใหม่หลังจากที่เขามีบุตรชายผู้สืบสายโลหิตของตนเองแล้ว ส่วนความรักที่ซ๊ซ่าร์มีต่อคลีโอพัตราในทั้งสองเวอร์ชั่นนั้นพอๆกัน คือไม่ได้รักเพราะรักและก็ไม่ได้รักมากมายอะไร แต่รักเพราะเป็นธรรมดาที่คนแก่ได้เมียสาวสวยขนาดนั้นก็เลยต้องรักต้องหลงบ้าง แต่ก็ยังถือผลประโยชน์ที่ได้เป็นสำคัญอยู่  เพราะในทั้งสองเวอร์ชั่นจูเลียส ซีซ่าร์ล้วนบังคับเอาข้าวปลาอาหาร และทรัพย์สมบัติต่างๆของอียิปต์ส่งไปให้โรมเป็นจำนวนมากด้วยกันทั้งคู่ ในเรื่องของความรักที่มี่ต่อบุตรชายผู้สืบสายโลหิตที่มีเพียงคนเดียวนั้น คนแก่อายุขนาดนั้นเมื่อทราบว่าตัวเองได้ลูกชายคนแรก ไม่ว่าใครก็ต้องดีใจและรักลูกมากด้วยกันทุกคน แต่แนวคิดในสองเวอร์ชั่นต่างกันในเวอร์ชั่น 1963 ซีซ่าร์ต้องการให้ซีซาเรี่ยนเป็นทายาทของเขาแต่ผู้เดียว แต่ในเวอร์ชั่น 1999 ซีซ่าร์มองว่าชาวโรมันจะไม่ยอมรับซ๊ซาเรี่ยนเพราะเขาไม่ใช่โรมันแท้ เขาจึงต้องการให้ซีซาเรี่ยนปกครองอียิปต์ที่เป็นอิสระจากโรมแทน อย่างไรก็ตาม "เลือดข้นกว่าน้ำ" ถ้าซีซ่าร์ไม่เสียชีวิตไปเสียก่อนและยังคงรักษาอำนาจทางการเมืองไว้ได้ ในระยะยาวซีซาเรี่ยนก็จะน่าจะได้ทุกอย่างตามที่คลีโอพัตราตั้งความหวังไว้

5. มาร์ค แอนโทนี่

บิลลี่ เซน รับบท มาร์ค แอนโทนี่ ได้ดีมากสอดคล้องกับภาพพจน์ที่แสดงออกมาทางภาพยนตร์ ซึ่งแตกต่างกันในระหว่างสองเวอร์ชั่น ภาพพจน์ของมาร์ค แอนโทนี่ในเวอร์ชั่น 1963 นั้นด้อยกว่าในเวอร์ชั่น 1999 มาก ในเวอร์ชั่น 1963 เขาไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามกับโรม การยกพลขึ้นบกที่กรีซนั้นเขามองออกล่วงหน้าแล้วว่าพวกโรมันจะยกกองทัพมาตั้งรับทันทีแน่นอน (ในขณะที่คลีโอพัตรามองว่าพวกโรมันอาจตั้งตัวไม่ทัน และถึงพวกโรมันไหวตัวทันก็จะยังไม่อยากทำศึกกับมาร์ค แอนโทนี่) และเขามองเห็นชัดเจนว่ากองทัพของเขาไม่มีความเชี่ยวชาญการรบทางทะเล (รวมทั้งตัวเขาเองและบรรดาแม่ทัพนายกองของเขาด้วย) แต่เขาก็ยังยอมให้คลีโอพัตรากดดันให้ต้องตัดสินใจทำศึกทางทะเลกับอ็อคตาเวี่ยน แต่ในเวอร์ชั่น 1999 นั้นเขาเป็นคนตัดสินใจทำสงครามเองและรีบยกพลขึ้นบกที่กรีซเพื่อชิงเป็นฝ่ายลงมือก่อนเพื่อความได้เปรียบ ส่วนการรบทางทะเลนั้นเขาก็เป็นคนตัดสินใจเองเพื่อสลายการปิดล้อมของอ็อคตาเวี่ยน โดยไม่ได้ถูกกดดันอย่างไร้เหตุผลจากคลีโอพัตราเลย ในขณะที่เวอร์ชั่น 1963 บอกว่าเขาทิ้งเหล่าทหารของเขาไว้ข้างหลังหลบหนีเอาตัวรอดคนเดียวเพียงเพราะต้องการตามคลีโอพัตรามา แต่ในเวอร์ชั่น 1999 เขาร่วมรบกับเหล่าทหารจนกระทั่งเรือรบของเขาจมลงและเขาสามารถวายน้ำขึ้นฝั่งมาได้ แต่เขาไม่ไปพบคลีโอพัตราเพราะเขารู้สึกท้อแท้สิ้นหวังกับความพ่ายแพ้ของเขา มิใช่เกิดจากความเสียใจ เนื่องจากคลีโอพัตราเดินทางกลับอียิปต์โดยทิ้งเขาไว้ข้างหลังแต่อย่างใด และในการรบครั้งสุดท้ายทางบกเพื่อป้องกันเมืองอเล็กซานเดรียนั้น ก็ยังคงมีกองทหารที่จงรักภักดีกับเขาอยู่ร่วมต่อสู้ด้วยจนวาระสุดท้าย มิใช่เป็นการที่ทหารหนีทัพไปหมดจนเหลือเพียงเขาคนเดียวอย่างในเวอร์ชั่น 1963 และการตายของเขาก็เป็นการตายเยี่ยงชายชาติทหาร เนื่องจากบาดแผลจากการสู้รบมิใช่ฆ่าตัวตาย ภาพพจน์และศักดิ์ศรีของเขาที่แสดงในเวอร์ชั่น 1999 จึงดูดีกว่า เวอร์ชั่น 1963 มาก

เวอร์ชั่น 1999 ยังกล่าวถึงความอ่อนแอของมาร์ค แอนโทนี่ได้อย่างน่าสนใจ ในระหว่างที่มาร์ค แอนโทนี่กำลังสอนฟันดาบให้กับซีซาเรี่ยนอยู่นั้น คลีโอพัตราชื่นชมที่เขาเข้ากับซีซาเรี่ยนได้ดี นางเอ่ยชมกับโอลิมปัสที่ปรึกษาคนสนิทว่า มาร์ค แอนโทนี่เข้ากับเด็กได้ดีมาก โอลิมปัสตอบนางว่าเขาไม่สงสัยเลยเพราะตัวมาร์ค แอนโทนี่เองก็มีนิสัยเหมือนเด็ก นางถามว่าทำไมโอลิมปัสถึงได้ดูแคลนมาร์ค แอนโทนี่เช่นนั้น โอลิมปัสตอบว่านางรักเขามากจนกระทั่งวิจารณญาณของนางเสื่อมลงไปมากเชียวหรือ คลีโอพัตรายอมรับว่านางตกอยู่ในความรักแต่จิตใจของนางยังแจ่มใส นางยืนยันว่าอียิปต์ต้องการมาร์ค แอนโทนี่ และความเข้มแข็งของเขา โอลิมปัสตอบว่า นางดูมาร์ค แอนโทนี่ผิดไปแล้ว เขาไม่ใช่คนเข้มแข็งแต่เป็นคนอ่อนแอต่างหาก คลีโอพัตราถามโอลิมปัสว่าหมายความอย่างไร โอลิมปัสชี้แจงว่าคลีโอพัตราเองเป็นคนเข้มแข็ง นางมีคุณลักษณะที่สามารถยึดและช่วยค้ำจุนโลกได้ ในขณะที่มาร์ค แอนโทนี่ต้องการเพียงยึดคลีโอพัตราไว้เท่านั้น และนี่แหละที่ทำให้เขาอ่อนแอ แต่คลีโอพัตรายังคงยืนยันว่าโอลิมปัสคิดผิดแล้ว มาร์ค แอนโทนี่ไม่ได้เป็นคนอ่อนแออย่างที่โอลิมปัสคิด

รูปที่ 24 มาร์ค แอนโทนี่เป็นคนเข้มแข็ง? : โอลิมปัสที่ปรึกษาคนสนิทบอกกับคลีโอพัตราว่าความรักทำให้วิจารณญาณของนางผิดพลาด มาร์ค แอนโทนี่ไม่ได้เป็นคนเข้มแข็งอย่างที่นางคิด เขามีลักษณะเหมือนเด็กเขาจึงเข้ากับเด็กได้ดี คลีโอพัตราจึงเป็นคนเข้มแข็ง นางมีคุณลักษณะที่สามารถยึดและช่วยค้ำจุนโลกได้ แต่มาร์ค แอนโทนี่ต้องการเพียงยึดคลีโอพัตราไว้เท่านั้น และนั่นแหละที่ทำให้เขาอ่อนแอ

ทั้งสองเวอร์ชั่นล้วนบอกตรงกันว่ามาร์ค แอนโทนี่เป็นคนอ่อนแอชนิดที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ว่าแม่ทัพใหญ่ที่กรำศึกและมีชัยชนะมามากมายในสมรภูมิรบจะเป็นคนอ่อนแอได้ถึงขนาดนั้น ยิ่งในเวอร์ชั่น 1963 เขาอ่อนแอถึงขนาดยอมให้คลีโอพัตรากดดันให้ต้องทำสงครามทั้งที่เขาไม่เห็นด้วยเลย และก็ทำสงครามด้วยยุทธการทางทะเลที่เสียเปรียบศัตรูอย่างเห็นได้ชัด ส่วนในเวอร์ชั่น 1999 แม้จะไร้ศักดิ์ศรีน้อยลงแต่ก็ยังคงเป็นภาพลักษณ์ของคนอ่อนแอมากอยู่ดี และแสดงให้เห็นชัดเจนหลังจากความพ่ายแพ้ที่แอคติอุม เขาท้อแท้สิ้นหวังในชีวิต หมดความภาคภูมิใจและไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเองอีกต่อไป ได้แต่ใช้ชีวิตสำมะเลเทเมากับสุรานารีไปวันๆ เขาคิดกลับมาต่อสู้อีกครั้งหนึ่งก็เพราะคลีโอพัตราปลอบโยนเขา ซึ่งก็ตรงกับที่โอลิมปัสกล่าวว่าเขาเพียงต้องการยึดคลีโอพัตราไว้ อย่างไรก็ตามหากจะสรุปว่าเขาเป็นคนอ่อนแอเต็มร้อยก็คงไม่ใช่ เพราะคนอ่อนแอเช่นนั้น ย่อมไม่สามารถเป็นแม่ทัพใหญ่ที่มีความเก่งกล้าสามารถในการรบทัพจับศึกได้ขนาดนี้ เขาอาจเข้มแข็งในเรื่องของการรบทัพจับศึก แต่อ่อนแอเมื่อต้องเผชิญกับความรักในหัวใจตนเองและความพ่ายแพ้ เช่นเดียวกับลิโป้ในเรื่องสามก๊กที่มีฝีมือในการต่อสู้ตัวต่อตัวกล้าแข็งที่สุดขนาดที่ว่าสามพี่น้อง เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย รุม ลิโป้คนเดียวยังไม่สามารถเอาชนะได้ แต่เพียงฝ่ายต่อต้านใช้กลอุบายหญิงงามโดยเอานางเตียวเสี้ยนมาล่อหลอกเท่านั้น เขาก็ถึงกับฆ่าตั๋งโต๊ะบิดาบุญธรรมที่มีบุญคุณต่อเขาได้ และเมื่อตอนที่เขารบแพ้และถูกโจโฉจับได้นั้น นายทหารและที่ปรึกษาในระดับรองลงไปหลายคนยอมตายโดยไม่คุกเข่าให้กับโจโฉ แต่ลิโป้เองถึงกับเข่าอ่อนร้องขอชีวิตจนถึงนาที่สุดท้ายที่ถูกนำไปตัดหัว!! พฤติการณ์ของมาร์ค แอนโทนี่สมคล้อยกับพฤติการณ์ของลิโป้มาก เพื่อความรักในหัวใจของเขา เขายอมให้เกิดสงครามกลางเมืองที่คนโรมันต้องรบราฆ่าฟันกันเอง และเมื่อถึงเวลาพ่ายแพ้เขาก็ท้อแท้สิ้นหวังในชีวิตทั้งหมดโดยไม่คิดที่จะดิ้นรนต่อสู้

ไม่ว่าภาพพจน์ของมาร์ค แอนโทนี่ในสายตาชาวโลกจะย่ำแย่เพียงใดในฐานะแม่ทัพใหญ่และวีรบุรุษแห่งโรม แต่ภาพพจน์ของเขาในฐานะผู้ชายในอุดมคติที่ผู้หญิงควรจะเลือกและควรจะรักนั้นจัดได้ว่าอยู่ในอันดับต้นๆของโลกที่ไม่เป็นรองใคร ความรักระหว่างมาร์ค แอนโทนี่กับคลีโอพัตราถือกันว่าเป็นหนึ่งในความรักอมตะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดระหว่างหญิงกับชายที่โลกเคยมีมา จนถึงกับมีคำสอนสืบทอดกันมาสำหรับผู้หญิงว่า ถ้าจะดูว่าผู้ชายคนไหนรักเธอจริงให้ดูที่การกระทำของเขา ถ้าเขายอมเสียสละให้กับธอในทำนองเดียวกับที่มาร์ค แอนโทนี่ยอมทำให้กับคลีโอพัตรา ก็แสดงว่าผู้ชายคนนั้นรักเธอจริง มาร์ค แอนโทนี่ผู้ชายที่เคยมีอำนาจมากที่สุดในโลกคนหนึ่ง ยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเขาไม่ว่าจะเป็น ทรัพย์สิน เงินทอง ลาภ ยศ ฐานะ ตำแหน่ง ศักดิ์ศรี เกียรติยศ เพื่อปกป้องคลีโอพัตรา และอียิปต์ จนกระทั่งถึงที่สุดแม้ด้วยชีวิตของเขา!

6. อ็อคตาเวี่ยน และบุคคลอื่นๆ

บทภาพยนตร์และเรื่องราวของอ็อคตาเวี่ยนในทั้งสองเวอร์ชั่นใกล้เคียงกัน เพียงแต่ว่าเวอร์ชั่น 1999  กล่าวถึงเรื่องราวของอ็อคตาเวี่ยนไว้น้อยกว่า โดยแทขจะไม่ได้กล่าวถึงการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเพื่อปลุกปั่นโน้มน้าวใจราษฎรชาวโรมัน และสมาชิกรัฐสภาให้เกลียดชังคลีโอพัตราและมาร์ค แอนโทนี่เลย รูเพิร์ต เกรฟส์  รับบทอ็อคตาเวี่ยนที่เฉลียวฉลาด ทะเยอทะยาน แต่ก็สุขุมรอบคอบได้ดีมาก และแม้กระทั่งในบทบาทของเสือผู้หญิงตัวฉกาจอีกคนหนึ่งของโรมในตอนจบที่เขาต้องการจะได้ตัวคลีโอพัตราไปอยู่กับเขาที่กรุงโรม เขาก็สามารถแสดงบทก้าวร้าวอย่างสุขุมนิ่มนวลเพื่อจะเข้าครอบครองได้ดีมาก

บทบาทของรูฟิโอนายทหารคนสนิทของมาร์ค แอนโทนี่ในเวอร์ชั่นนี้ กลายเป็นคนละเรื่องกันกับรูฟิโอในเวอร์ชั่น 1963 ซึ่งซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อมาร์ค แอนโทนี่ จนถึงถึงวาระสุดท้ายเมื่อทหารหนีทัพไปหมดเขาก็ฆ่าตัวตายเพราะไม่อยากไปปลุกมาร์ค แอนโทนี่ให้ตื่นขึ้นมาพบกับสภาพดังกล่าว แต่รูฟิโอในเวอร์ชั่น 1999 กลายเป็นนายทหารที่ทรยศต่อมาร์ค แอนโทนี่และตกลงเป็นสายลับให้กับอ็อคตาเวี่ยนเมื่อถึงคราวที่อ็อคตาเวี่ยนยกกองทัพเข้าประชิดอเล็กซานเดรียแล้ว

สวนดาราประกอบอื่นๆที่สำคัญเช่น บรรดาที่ปรึกษาของคลีโอพัตรา และนางกำนัลทั้งสองคนที่รับใช้นางจนถึงวาระสุดท้าย และก็ฆ่าตัวตายตามนางไปด้วยนั้นก็แสดงได้สมบทบาทเช่นกัน

7. ความแตกต่างที่สำคัญในเนื้อหาของเรื่องราวในภาพยนตร์

ความแตกต่างในเนื้อหาของเรื่องราวในภาพยนตร์นอกเหนือจากที่เกี่ยวข้องกับคลีโอพัตรา, จูเลียส ซีซ่าร์, มาร์ค แอนโทนี่ และอ็อคตาเวี่ยนโดยตรงตามที่ได้กล่าวถึงกล่าวถึงในข้อ 2, 3 และ 4 แล้ว ที่น่าสนใจยังมีอีกหลายประการ ประการแรกก็คือ ในเวอร์ชั่นปี 1999 มีน้องสาวคลีโอพัตรา (อาซิโนอิ) เข้ามามีบทบาทด้วย ในขณะที่ในเวอร์ชั่นปี 1963 ไม่ได้พูดถึงน้องสาวของคลีโอพัตราเลย เท่าที่อ่านดูจากแหล่งอ้างอิงอื่นพบว่ามีพูดถึงน้องสาวคนนี้ไว้เป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นไปได้ว่าเวอร์ชั่น 1963 ต้องการให้เรื่องราวตรงนี้กะทัดรัดลงก็เป็นได้      นอกจากนี้ในเรื่องการตายของพโทเลมี่น้องชายของนางนั้น ภาพยนตร์เวอร์ชั่นนี้แสดงให้เห็นชัดเจนด้วยฉากที่รถม้าของเขาพลิกคว่ำขณะที่กำลังหนีการไล่ล่าของพวกทหารโรมัน ในขณะที่เวอร์ชั่น 1963 นั้นบอกแต่เพียงว่าเขาถูกส่งให้ไปอยู่กับกองทัพของอียิปต์ที่เปลูเซี่ยม แต่ก็หมายถึงว่าเขาจะต้องถูกสังหารเช่นกันเมื่อกองทัพของพวกโรมันบุกไปถึง ส่วนอาซิโนอินั้นในภาพยนตร์นางถูกคลีโอพัตรานำทหารเข้าไปสังหารในที่คุมขัง แต่ที่เคยอ่านพบในที่อื่นบอกว่านางถูกนำตัวเป็นเชลยเดินตามหลังกองทัพของซีซ่าร์ในตอนเข้ากรุงโรม และถูกประหารชีวิตหลังจากนั้น

เรื่องการรบที่สมรภูมิแอคติอุม ซึ่งเป็นสงครามครั้งสำคัญยิ่งสงครามหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกก็เช่นกัน เนื้อหาในภาพยนตร์แตกต่างกันมาก ในเวอร์ชั่น 1999 สงครามเกิดขึ้นทันทีเมื่อมาร์ค แอนโทนี่ตัดสินใจไปอยู่กับคลีโอพัตราอย่างถาวร แล้วประกาศแต่งตั้งซีซาเรี่ยนให้เป็นทายาทที่ถูกต้องชอบธรรมเพียงคนเดียวของจูเลียส ซีซ่าร์ พร้อมทั้งแต่งตั้งซีซาเรี่ยนเป็นผู้ปกครองอียิปต์และประกาศยกซีเรียให้กับอียิปต์ โดยอ็อคตาเวี่ยนใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างในการขออนุมัติให้รัฐสภาประกาศสงครามกับอียิปต์ได้ทันทีโดยไม่ต้องดำเนินกลอุบายทางการเมืองใดๆ ส่วนมาร์ค แอนโทนี่นั้นเมื่อได้ทราบข่าวสงครามเขาก็ตัดสินใจยกกองทัพไปโจมตีโรมก่อนทันที โดยเขาหวังใฃ้กลยุทธที่ได้เปรียบคือ "ถึงก่อนลงมือก่อน่" ด้วยการยกกองทัพเรือไปยกพลขึ้นบุกที่เมืองแอคติอุมประเทศกรีซ คลีโอพัตราไม่ได้ออกความเห็นใดใดในเรื่องดังกล่าว นางพอใจที่มาร์ค แอนโทนี่ตัดสินใจทำสงคราม เพราะนางรู้ว่าถึงอย่างไรสงครามก็จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และนางมีความเชื่อมั่นในความเก่งกล้าสามารถของมาร์ค แอนโทนี่ ว่าจะสามารถได้ชัยชนะต่ออ็อคตาเวี่ยนในขณะที่เวอร์ชั่น 1963 บอกว่าคลีโอพัตราเป็นคนตัดสินใจให้ยกกองทัพชิงไปบุกโรมก่อนด้วยการยกพลขึ้นบกที่กรีซเพื่อไม่ให้พวกโรมันรู้ตัวในขณะที่มาร์ค แอนโทนี่ไม่ต้องการสงครามเพราะไม่ต้องการให้คนโรมันฆ่ากันเอง และนางเป็นคนดึงดันบังคับให้มาร์ค แอนโทนี่ทำสงครามทางเรือ ในขณะที่มาร์ค แอนโทนี่และแม่ทัพนายกองทุกคนไม่เห็นด้วยเลยกับการรบทางทะเล เนื่องจากกองทัพของมาร์ค แอนโทนี่มีความชำนาญการรบบนบกโดยเฉพาะกองทหารม้าที่เกรียงไกรของเขา ผมเห็นว่าโดยหลักเหตุผลตรงๆน่าจะเป็นเวอร์ชั่น 1999 ถูกต้อง เพราะคนฉลาดอย่างคลีโอพัตราจะพิจารณาไม่ออกเชียวหรือว่าไม่ควรรบทางทะเล และเรื่องการสงครามขนาดใหญ่ซึ่งนางไม่มีความถนัดและไม่เคยมีประสบการณ์เลย นางจะไปบงการกองทัพได้อย่างไร ส่วนที่ว่ามาร์ค แอนโทนี่บอกว่าจำเป็นต้องรบทางทะเล เพราะเขาถูกกองทัพของอ็อกตาเวี่ยนกดดันไว้ทั้งสองด้าน ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ศึกสองหน้าที่ต้องห้ามตามตำราพิชัยสงคราม เขาจึงจำเป็นต้องรบทางทะเลเพื่อขับไล่กองทัพของอ็อคตาเวี่ยนทางหนึ่งออกไปก่อน ส่วนที่ว่าทำไมเขาไม่รบเพื่อขับไล่ทางบก หรือทำไมเขาจึงนำกองทัพมาตกอยู่ในวงล้อมอย่างง่ายๆนั้นไม่ได้มีกล่าวไว้ในทั้งสองเวอร์ชั่น

เรื่องการหนีทัพทอดทิ้งทหารในสมรภูมิแอคติอุมเพื่อติดตามคลีโอพัตราไปนั้น เวอร์ชั่น 1999 ปฏิเสธว่าไม่ใช่เช่นนั้นตามรายละเอียดที่ได้กล่าวก่อนหน้านี้ในหัวข้อ "มาร์ค แอนโทนี่" ซึ่งรวมถึงการฆ่าตัวตายของเขาด้วย ซึ่งเวอร์ชั่น 1999 แสดงให้เห็นว่าเขานำกองทัพที่ยังจงรักภักดีกับเขาอยู่ออกสู้รบป้องกันเมืองอเล็กซานเดรียในครั้งสุดท้ายอย่างสมศักดิ์ศรีชายชาติทหาร ที่ตรงกันก็คือเขากลับเข้มแข็งและคิดต่อสู้ขึ้นมาอีกครั้งในวาระสุดท้าย ก็ด้วยการปลุกปลอบให้กำลังใจจากคลีโอพัตรา โดยคลีโอพัตราไม่ยอมสังหารเขาทิ้งเพื่อเป็นการสวามิภักดิ์ตามที่อ็อคตาเวี่ยนขอมา ซึ่งทั้งสองเวอร์ชั่นแสดงเนื้อหาตรงกันว่า นางคาดการณ์ได้ว่าไม่มีทางต่อต้านอ็อคตาเวี่ยนได้แน่นอนแล้ว แต่นางก็ยังต้องการให้มาร์ค แอนโทนี่ได้คืนความเป็นชายชาติทหารที่เก่งกล้าของเขากลับมา และนางตัดสินใจยอมสูญสิ้นทุกอย่างและตายร่วมกับเขา

เนื้อหาที่สำคัญในตอนจบของเรื่องที่ไม่ตรงกันก็คือชะตากรรมของซีซาเรี่ยน ในเวอร์ชั่น 1963 แสดงชัดเจนว่าทหารของอ็อคตาเวี่ยนตามจับซีซาเรี่ยนได้และได้สังหารไปแล้ว คลีโอพัตราทราบได้จากแหวนประจำตัวซีซาเรี่ยนซึ่งจูเลียส ซีซ่าร์ให้ไว้ได้ไปอยู่ที่นิ้วของอ็อคตาเวี่ยนในขณะที่เขาไปพบนาง แต่ในเวอร์ชั่น 1999 ภาพยนตร์จบลงโดยไม่ทราบชะตากรรมของซีซาเรี่ยน อย่างไรก็ตามเนื้อหาในหนังสือส่วนใหญ่จะบอกตรงกันว่าอ็อคตาเวี่ยนจับซีซาเรี่ยนได้และสั่งให้สังหารทันที เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทายาทที่ชอบธรรมของจูเลียส ซีซ่าร์อีกต่อไปในอนาคต

ส่วนการที่ฉากการเดินทางเข้าสูกรุงโรมของคลีโอพัตราในเวอร์ชั่น 1999 เหลือเพียงกองคาราวานเล็กๆนั้น คิดว่าสาเหตุคงมาจากเรื่องงบประมาณการถ่ายทำที่ไม่สามารถจะทำฉากใหญ่โตมโหฬารแบบนั้นได้ จึงได้ปรับลงเหลือเป็นเพียงกองคาราวานเล็กๆเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อเรื่องราวในภาพรวมแต่อย่างใด

8. บทสนทนาที่น่าสนใจ

8.1 มาร์ค แอนโทนี่ กับ คลีโอพัตรา: ในตอนที่มาร์ค แอนโทนี่ไปหาคลีโอพัตราที่อเล็กซานเดรียเพื่อขออยู่ร่วมกับนางอย่างถาวรไปตลอดชีวิต ขณะนั้นคลีโอพัตรายังโกรธเขาอยู่และไม่วางใจว่าเขาจะมาอยู่กับนางอย่างถาวรจริงๆ

คลีโอพัตรา มีทหารที่เป็นนักโกหก ข้าไม่เชื่อท่าน
มาร์ค แอนโทนี่ ฟังข้าบ้าง ข้าต้องรับเอาตะวันออกไว้เพื่อปกป้องท่าน
คลีโอพัตรา หรือปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง
มาร์ค แอนโทนี่ อ็อคตาเวี่ยนสัญญาว่าจะไม่ยุ่งกับอียิปต์
คลีโอพัตรา แล้วท่านเชื่อเขา
มาร์ค แอนโทนี่ กรุณาเงียบได้ไหม
คลีโอพัตรา แอนโทนี่ ท่านก็เหมือนกัน
มาร์ค แอนโทนี่ ลืมอ็อคตาเวียเสีย
ข้าแต่งงานเพราะการเมือง แต่ตอนนี้ข้าจะมีชีวิตอยู่เพื่อความรัก
"คลีโอพัตรา" เสียงนี้รบกวนหัวใจข้า
นัยน์ตาข้าจะเห็นชัดเจนก็เพียงท่าน
สิ่งที่ข้าอยากได้คืออยู่กับเจ้าตรงนี้
ข้ามอบตัวข้าแก่ท่าน ราชินีของข้า ข้าเป็นของท่านแล้ว
ในสายตาของเทพเราเป็นหนึ่งเดียวกัน ข้าให้ตัวเอง ข้าให้ตัวข้าเองแก่อียิปต์

ประโยคที่ว่า "นัยน์ตาข้าจะเห็นชัดเจนก็เพียงเจ้าเท่านั้น" ปรากฏตรงกันในทั้งสองเวอร์ชั่น และก็ปรากฏอยู่ในบทภาพยนตร์เรื่อง Helen of Troy (1956) ด้วยในตอนที่เจ้าชายปารีสบอกกับเฮเลนว่า "ดวงตาทั้งสองของข้ามองเห็นแต่เพียงเจ้าเท่านั้น" ดังที่กล่าวแล้วในตอนที่ 2 ประโยคดังกล่าวในปัจจุบันพวกฝรั่งถือเป็น "สัญญาณคู่แท้, soulmate signal" อันหนึ่ง (บทความเรื่อง "สัญญาณคู่แท้" ในเว็บโหราศาสตร์)

8.2 มาร์ค แอนโทนี่กับคลีโอพัตรา:  จากการสู้รบ เพื่อป้องกันเมืองอเล็กซานเดรียในครั้งสุดท้าย มาร์ค แอนโทนี่ได้รับบาดเจ็บสาหัสและนายทหารคนสนิทพาเขามาพบคลีโอพัตรา ซึ่งมาร์ค แอนโทนี่ได้สิ้นใจในอ้อมแขนของคลีโอพัตรา

มาร์ค แอนโทนี  เราแพ้แล้ว
คลีโอพัตรา: ในสายตาข้า ท่านคือผู้ยิ่งใหญ่ ข้าอยู่นี่ ข้าอยู่นี่กับท่าน
มาร์ค แอนโทนี่: อย่าอยู่กับข้า สู้
คลีโอพัตรา: ข้าจะไม่ทิ้งท่าน
มาร์ค แอนโทนี่: ข้าจะคอยท่าน ในชาติหน้า ข้าไม่เห็นใครนอกจากท่าน
คลีโอพัตรา: ข้าจะไม่มีวันห่างกายท่าน ไปไหนอีกแล้ว

8.3 อ็อคตาเวี่ยน กับ คลีโอพัตรา: เมื่อเขายึดครองอเล็กซานเดรียได้แล้ว สิ่งแรกที่เขาทำคือเข้าไปหาคลีโอพัตรา และเจราจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เพื่อให้นางยินยอมติดตามเขาไปกรุงโรมด้วยกัน

อ็อคตาเวี่ยน ในที่สุด แอนโทนี่ก็ได้ไปอยู่กับซีซ่าร์
คลีโอพัตรา เปล่า เขาอยู่ที่นี่กับข้า เงินทองของข้าเอาไปให้หมดแล้วปล่อยให้ข้าตาย
อ็อคตาเวี่ยน ข้าไม่อยากให้ท่านตาย ข้าพิชิตประเทศที่ร่ำรวย ราชินีที่ยิ่งใหญ่ ข้าปราถนาท่านไปอยู่โรม
คลีโอพัตรา ให้ข้าเดินตามรถม้าท่าน รางวัลคือชาวอียิปต์  รางวัลของอ็อคตาเวี่ยน
อ็อคตาเวี่ยน ได้ก็ดี
คลีโอพัตรา ข้าไม่มีค่าสูงส่งแม้แต่น้อย ไม่คู่ควรกับชีวิตเยี่ยงท่าน ข้าคือพระแม่เจ้า ข้าเป็นอมตะ
อ็อคตาเวี่ยน ใช่ธิดาแห่งไอซิส ท่านกับข้าช่างเหมือนกันจริงๆ อยากทำอะไรต้องทำให้ได้ เอาชนะโชคชะตา แต่ข้าชนะ คลีโอพัตรา และท่านจะต้องไปโรม
คลีโอพัตรา ข้าจะไปโรมกับท่าน แต่ข้าต้องการบางอย่างกลับคืน
อ็อคตาเวี่ยน ได้สิ ข้ายินดีคืนให้
คลีโอพัตรา ให้ลูกข้าปกครองอียิปต์
อ็อคตาเวี่ยน ไม่ใช่ตอนนี้ ไม่
คลีโอพัตรา อย่างนั้นขอข้าฝังแอนโทนี่ตามธรรมเนียมอียิปต์ ที่นี่ในสถานที่นี้ จากนั้นข้าจะไปกับท่านในฐานะราชินีแห่งอียิปต์  ที่พ่ายแสนยานุภาพโรม
อ็อคตาเวี่ยน ก็ดี
คลีโอพัตรา ข้าต้องการเวลา เครื่องหมายประจำตำแหน่งข้าละ
อ็อคตาเวี่ยน ข้าจะคืนข้าจะไม่ใช้มันหรอก ข้าอยากได้ที่ข้าอยากได้

 

รูปที่ 24 ผู้ชนะ??? อ็อคตาเวี่ยนตกใจมาก เมื่อเขาพบคลีอัพัตรานอนเสียชีวิตอยู่บนแท่นบรรทม เขาถึงกับอุทานว่า "ท่านชนะ คลีโอพัตรา" ก่อนที่จะหันหลังเดินกลับออกไปพร้อมกับกล่าวว่า "ลาก่อนอียิปต์"

ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งเพราะมีบางคนพยายามสันนิษฐานในทางร้ายว่า คลีโอพัตราพยายามทอดเสน่ห์หวังสยบอ็อคตาเวี่ยนอีกคนหนึ่ง แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะนางแก่เกินไป (ขณะพบจูเลียส ซีซ่าร์ครั้งแรกนางเพิ่งจะอายุ 19 ปี ตอนพบอ็อคตาเวี่ยน ครั้งสุดท้ายนางอายุ 40 ปีแล้ว) หรือเพราะอ็อคตาเวี่ยนไม่สนใจเรื่องนี้ ฯลฯ และเป็นเหตุผลทำให้นางฆ่าตัวตาย ผมคิดว่าข้อสันนิษฐานนี้เกิดจากอคติที่มีต่อคลีโอพัตรา และต้องการดูหมิ่นเหยียดหยาม ทำลายคุณงามความดีและเกียรติยศของนางอย่างไม่เป็นธรรม และเป็นข้อสันนิษฐานที่ไร้เหตุผลทำนองเดียวกันกับบางคนในยุคปัจจุบัน ที่พยายามหาข้ออ้างต่างๆมาบอกว่าคลีโอพัตรา ไม่สวย (ขี้เหร่) ทั้งๆที่พวกโรมันที่เป็นคนเขียนประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ (ในฐานะผู้ชนะสงคราม) เองยังยอมรับว่าคลีโอพัตราทั้งสวย ทั้งงามสง่า และมีเสน่ห์ยิ่ง ถึงขนาดพวกโรมันปั้นรูปปั้นให้นางและใช้ชื่อว่ารูปปั้นเทพธิดาแห่งความงาม (พวกโรมันเอาชื่อดาวพระศุกร์ ซึ่งถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความงามมาเป็นชื่อรูปปั้นของคลีโอพัตรา!) อีกทั้งความงามของคลีโอพัตราก็เป็นเรื่องที่เล่าขานสืบเนื่องกันมาสองพันปีแล้ว เพิ่งจะมีคนในศัตวรรษที่ 21 บางคนนี่แหละที่ออกมาตะโกนว่า "คลีโอพัตราไม่สวย" ?! ส่วนที่สันนิษฐานว่าอ็อคตาเวี่ยนไม่สนใจคลีโอพัตรานั้นเป็นไปไม่ได้แน่นอน เพราะคลีโอพัตราเป็นราชินีที่ยิ่งใหญ่ และเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลกยุคนั้น (สวยขนาดที่สามารถสยบยอดวีรบุรุษโรมันคนก่อนหน้าเขาไปแล้วทั้งสองคน!) และเป็นคู่ศัตรูทางการเมืองคนสำคัญที่สุดของเขาอีกด้วย ตัวอ็อคตาเวี่ยนเองก็มีบันทึกประวัติศาสตร์ของพวกโรมันบอกไว้ว่าเป็นคนเจ้าชู้ฉกาจฉกรรจ์ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าทั้งจูเลียส ซีซ่าร์ และมาร์ค แอนโทนี่เลย นอกจากนี้ยังมีรสนิยมพิเศษตรงที่ชอบร่วมรักกับสตรีที่มีสามีแล้วอีกด้วย เป็นไปได้หรือที่คนเช่นเขาจะไม่อยากได้คลีโอพัตรา ผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลกยุคนั้นที่วีรบุรุษโรมันก่อนหน้าเขาทั้งสองคนต่างก็เคยได้มาแล้ว? และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้เขาถึงกับอุทานออกมาว่า "ท่านชนะ คลีโอพัตรา" เมื่อเขาเข้าไปพบคลีโอพัตรานอนเสียชีวิตอยู่โดยมีรอยเขี้ยวงูสองจุดให้เห็นบนหน้าอกของนาง ก่อนที่เขาจะหันหลังเดินกลับออกไปพร้อมกับพูดว่า "ลาก่อนอียิปต์"

8.4 คำประกาศของมาร์ค แอนโทนี่ต่อที่ชุมนุมราษฎรชาวอียิปต์: 

ประชาชนแห่งอเล็กซานเดรีย ข้าอยู่ต่อหน้าท่านพร้อมแสนยานุภาพของโรม และขอประกาศว่า พระนางคลีโอพัตรา ภรรยาหม้ายของกาย จูเลียส ซีซ่าร์ เป็นภรรยาที่แท้จริง  และโดยถูกต้องตามกฎหมาย และโอรสของเขา พโทเลมี ซีซ่าร์ เป็นโอรสที่ถูกต้องเพียงคนเดียว ของซีซ่าร์ผู้ยิ่งใหญ่เท่านั้น ก้าวออกมาซีซ่าร์น้อย  ให้พวกเขาได้ชื่นชมเจ้า และขอประกาศให้โลกได้รับรู้ ว่าข้ามาร์ค แอนโทนี่ ขอขาดจากการสมรสในโรม และจะขอรับภรรยาข้า ราชินีคลีโอพัตรา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ ของการรวมเป็นหนึ่งครั้งนี้ ข้ามอบบรรณาการ แก่บัลลังก์ของพโทเลมีด้วยประเทศซีเรีย เพื่อให้เป็นเขตชายแดน

8.5 มาร์ค แอนโทนี่ กับบรรดาแม่ทัพนายกองของเขา:  เป็นการหารือระหว่างมาร์ค แอนโทนี่กับบรรดาแม่ทัพนายกองของเขา เมื่อได้ทราบขาวว่าโรมประกาศสงครามกับเขาและอียิปต์แล้ว

มาร์ค แอนโทนี่   กราติอุส เกิดอะไรขึ้น มาอเล็กซานเดรียทำไม
กราติอุส  เรียนใต้เท้า อ็อคตาเวี่ยนขโมยกำลังของท่านในกอล
มาร์ค แอนโทนี่  นายพลคอร์นเนลเลียสล่ะ
กราติอุส  ตายแล้ว
มาร์ค แอนโทนี่  เขาจงใจเล่นงานข้า
คลีโอพัตรา  อ็อคตาเวียนฉีกข้อผูกมัดของเขา
รูฟิโอ    ท่านแม่ทัพไปโรมเถิด เข้าไปร้องทุกข์ต่อสภา
มาร์ค แอนโทนี่  ชิงลงมือก่อนทำเคยพูดใช่ไหม
รูฟิโอ   สงครามกลางเมืองนะ
โรมันสู้กันเองนะ แอนโทนี่
ท่านต้องไปสภา ตัดไฟแต่ต้นลม
มาร์ค แอนโทนี่  เราจะไม่คอยให้อ็อคตาเวี่ยนเข้ามาหาเรา เราจะไปหาเขา เขียนโดย

9. สรุป

แม้ว่าภาพยนตร์เวอร์ชั่นปี 1999 นี้จะเป็นภาพยนตร์ที่จัดสร้างสำหรับฉายทางโทรทัศน์ที่ใช้ต้นทุนในการถ่ายทำเทียบไม่ได้เลยกับเวอร์ชั่น 1963 ที่เป็นภาพยนตร์ที่ลงทุนถ่ายทำด้วยต้นทุนที่สูงที่สุดในโลก แต่เนื้อหาในภาพรวม (ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความยิ่งใหญ่อลังการของภาพยนตร์ และรายละเอียดความงดงามของเครื่องแต่งกาย ฉากการถ่ายทำและอื่นๆที่เกี่ยวข้องแล้ว) และความเพลิดเพลินของเนื้อหาก็ไม่ได้ด้อยกว่า เวอร์ชั่น 1963 และยังมีที่เหนือกว่าเวอร์ชั่น 1963 ในบางประเด็นอีกด้วย โดยประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือคุณลักษณะของคลีโอพัตรา ที่เป็นมุมมองซึ่งมีความเข้าใจและเห็นใจคลีโอพัตรามากกว่าในเวอร์ชั่น 1963 มาก ผมคิดว่าสาเหตุเนื่องมาจากบทประพันธ์เรื่อง Memoirs of Cleopatra ที่ใช้เป็นเนื้อหาเรื่องราวหลักในภาพยนตร์นั้นผู้ประพันธ์เป็นผู้หญิงคือ Margaret George จึงสามารถเข้าใจผู้หญิงด้วยกันได้ดีกว่าบทประพันธ์ฉบับอื่นๆซึ่งเขียนโดยผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเขียนก็มักจะต้องอ้างอิงตามบันทึกของพวกโรมันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งล้วนมีอคติต่อคลีโอพัตราไม่มากก็น้อยอยู่แล้ว ดังนั้นภาพของคลีโอพัตราที่สะท้อนออกมาจากภาพยนตร์โดยเฉพาะในเรื่องคุณงามความดี จึงน่าจะใกล้เคียงความจริงมากกว่าในเวอร์ชั่น 1963 อย่างไรก็ตามอาจเนื่องจากคนเขียนบทประพันธ์เป็นผู้หญิงอีกเช่นกันจึงมีผลทำให้คุณลักษณะที่เข้มแข็งองอาจ ไม่ยอมก้มหัวให้กับพวกโรมันเลยของคลีโอพัตราจึงอ่อนด้อยลงไปมาก ผลคือบทภาพยนตร์ในส่วนความสัมพันธ์กับจูเลียส ซีซ่าร์ มาร์ค แอนโทนี่ พลอยอ่อนลงไปด้วย ทำให้ภาพความงดงาม และความมีสง่าราศีของนางพญาคลีโอพัตราด้อยลงไปด้วยเช่นกัน

บุคลิกลักษณะและความคิดของตัวละครเอกในเรื่องนอกจากคลีโอพัตรา แล้ว จูเลียส ซีซ่าร์ และมาร์ค แอนโทนี่ก็มีความแตกต่างกันในบางประเด็นเช่นกัน สำหรับจูเลียส ซีซ่าร์นั้นแนวคิดของเขาในเวอร์ชั่นนี้เกี่ยวกับซีซาเรี่ยนบุตรชายของเขาแตกต่างจากในเวอร์ชั่น 1963 มาก เพราะเขาคิดเพียงให้ซีซาเรี่ยน เป็นเพียงทายาทของเขาในการปกครองอียิปต์ที่เป็นอิสระโดยเด็ดขาดจากโรมเท่านั้น เนื่องจากเขาคิดว่าคนโรมันไม่ยอมรับซีซาเรี่ยนซึ่งเป็นเลือดผสมอียิปต์แน่นอน หากเขาดึงดันไปจะไม่เกิดผลดีใดๆเลย ในขณะที่ซีซ่าร์ในเวอร์ชั่น 1963 แสดงออกชัดเจนว่าซีซาเรี่ยนเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของเขาและเป็นทายาทโดยชอบธรรมของเขาแต่ผู้เดียว ความจริงในประวัติศาสตร์ก็คือ เขาเสียชีวิตอย่างไม่คาดคิดก่อนที่เขาจะได้ทบทวนพินัยกรรมเดิมก่อนที่เขาจะมีบุตรชายผู้สืบสายโลหิต จึงไม่มีใครรู้ว่าจริงๆแล้วเขาคิดอย่างไร ยังไงก็ตามผมคิดว่าแม้ในกรณีเวอร์ชั่น 1999 ถ้าจูเลียส ซีซ่าร์มีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกนานพอและสามารถรักษาอำนาจทางการเมืองไว้ได้ ถึงที่สุดแล้ว "เลือดข้นกว่าน้ำ" ซีซาเรี่ยนจะต้องได้ตามที่มารดาของเขาปรารถนาแน่นอน คือเป็นทายาทในทุกๆสิ่งของซีซ่าร์ ผู้พ่อของเขา

ในส่วนของมาร์ค แอนโทนี่นั้นทั้งสองเวอร์ชั่นแสดงภาพของเขาเป็นคนอ่อนแอเช่นเดียวกัน แต่ว่าในเวอร์ชั่นนี้ยังดูดีกว่าเวอร์ชั่น 1963 ตรงที่การตัดสินใจทำสงครามกับอ็อคตาเวี่ยน และการใช้การรบทางเรือนั้นเขาเป็นคนตัดสินใจเอง ไม่ใช่ถูกกดดันโดยคลีโอพัตราให้ต้องทำ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือเขาไม่ได้หนีทัพและทอดทิ้งทหารที่ร่วมรบเพื่อติดตามคลีโอพัตราไป แต่เขาต่อสู้จนเรือรบของเขาล่มแต่เขารอดชีวิตมาได้ .และในวาระสุดท้ายที่กองทัพของอ็อคตาเวี่ยนยกมาถึงอเล็กซานเดรียเขาก็นำทหารที่เหลืออยู่ออกต่อสู้ป้องกันเมืองจนถึงที่สุด เขาได้รับบาดเจ็บสาหัสและมีนายทหารคนสนิทพาเขามาหาคลีโอพัตราและสิ้นใจในอ้อมกอดของนาง เขาจึงจบชีวิตเยี่ยงชายชาติทหารมิใช่การฆ่าตัวตายอย่างที่ปรากฏในเวอร์ชั่น 1963 อย่างไรก็ตามทั้งสองเวอร์ชั่นกล่าวตรงกันว่าภายหลังการพ่ายศึกที่แอคติอุม เขาหมดอาลัยตายอยากในชีวิตและสูญเสียความเชื่อมั่นทั้งหมด แต่ก็สามารถลุกขึ้นต่อสู้ได้อีกครั้งหนึ่งก็ด้วยการปลอบขวัญจากคลีโอพัตราส่วนในเรื่องของความรักนั้นทั้งสองเวอร์ชั่นแสดงภาพตรงกันคือ เขาเป็นคนรักในอุดมคติที่ผู้หญิงควรจะรัก และความรักของคนทั้งสองถือว่าเป็นความรักอมตะระหว่างหญิงและชายที่กลายเป็นตำนานเล่าขานกันมาตลอดสองพันปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับอ็อคตาเวี่ยนนั้นบทภาพยนตร์ทั้งสองเวอร์ชั่นคล้ายกัน เพียงแต่รายละเอียดในเวอร์ชั่นนี้น้อยกว่าเวอร์ชั่น 1999 ซึ่งอาจเนื่องมากจากความยาวภาพยนตร์น้อยกว่า ประเด็นที่น่าสนใจคือเวอร์ชั่นนี้แสดงให้เห็นเช่นเดียวกันกับเวอร์ชั่น 1963 ว่า อ็อคตาเวี่ยนเองก็อยากได้คลีโอพัตราเช่นเดียวกัน ทำให้เขาถึงกับเสนอเงื่อนไขหลายข้อเพื่อให้คลีโอพัตราเดินทางไปกรุงโรมกับเขา จึงเป็นการสำทับอีกครั้งหนึ่ง ว่าข้อสันนิษฐานที่บางคนกล่าวร้ายต่อคลีโอพัตราว่านางพยายามจะหลอกอ็อคตาเวี่ยนให้ติดกับเสน่หาอีกคน แต่อ็อคตาเวี่ยนไม่เล่นด้วย นางจึงตัดสินใจฆ่าตัวตายนั้นเป็นข้อสันนิษฐานที่มีอคติต่อนางไร้เหตุผลและปราศจากหลักฐานอีกด้วย

เรืองราวในภาพยนตร์นั้นโครงเรื่องคงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีแตกต่างกันบ้างในบางประเด็นที่น่าสนใจได้แก่ความคิดของจูเลียส ซีซ่าร์เกี่ยวกับอนาคตของซีซาเรี่ยน บุตรชายของเขา ในเวอร์ชั้นนี้ซีซ่าร์มองว่าราษฎรชาวโรมันจะไม่ยอมรับซีซาเรี่ยนเป็นผู้ปกครอง เนื่องจากมิใช่สายเลือดโรมันแท้ เขาจึงคิดจะให้ซีซาเรี่ยนปกครองอียิปต์ที่เป็นอิสระจากโรมเท่านั้น ส่วนโรมนั้นยังคงให้อ็อคตาเวี่ยนหลานชายของเขาเป็นผู้ปกครอง เรื่องการประกาศสงครามระหว่างโรมกับคลีโอพัตรานั้น เวอร์ชั่นนี้คลีโอพัตราไม่ได้มีส่วนกดดันให้มาร์ค แอนโทนี่ตัดสินใจยกกองทัพไปรบกับอ็อคตาเวี่ยนโดยยกพลขึ้นบกที่แอคติอุม ประเทศกรีซ และการตัดสินใจรบทางทะเลก็เป็นการตัดสินใจของมาร์ค แอนโทนี่เอง รวมทั้งมาร์ค แอนโทนี่ไม่ได้หนีทัพและทอดทิ้งทหารของเขา แต่เขาได้ร่วมต่อสู้จนกระทั่งเรือรบของเขาจมลง และเขาสามารถรอดชีวิตมาได้ ถึงแม้เขาจะสูญเสียกำลังใจและความเชื่อมั่น แต่ด้วยการปลอบโยนจากคลีโอพัตราเขาเรียกคืนความเข้มแข็งได้อีกครั้ง และได้นำกองทัพที่ยังคงจงรักภักดีต่อเขาอยู่ออกต่อสู้ป้องกันเมืองอเล็กซานเดรียเป็นครั้งสุดท้าย เขาได้รับบาดเจ็บสาหัส นายทหารคนสนิทได้พาเขามาส่งให้คลีโอพัตราและเขาได้สิ้นใจในอ้อมกอดของนาง ประเด็นคือเขาไม่ได้หนีทัพในการรบที่แอคติอุมและยังคงมีทหารที่จงรักภักดีอยู่ร่วมรบกับเขาในครั้งสุดท้ายมิใช่หนีทัพไปหมดดังที่ปรากฏในเวอร์ชั่น 1963 ..เวอร์ชั่นนี้ไม่บอกชะตากรรมของซีซาเรี่ยนว่าจบอย่างใดเพียงแสดงถึงตอนที่เขาเดินทางไปอินเดีย ในขณะที่เวอร์ชั่น 1963 บอกชัดเจนว่าเขาถูกจับได้และถูกสังหารทันที่ซึ่งตรงกับบันทึกทางประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่

บทบาทการแสดงของดารานำแสดงทุกคนในเวอร์ชั่นนี้แสดงได้ดีสมบทบาทไม่ได้ด้อยกว่าในเวอร์ชั่น 1963 ที่อาจด้อยกว่าบ้างก็ตรง "คลีโอพัตรา" เอง แต่สาเหตุมาจากบทภาพยนตร์ที่กำหนดให้คลีโอพัตราต้องเล่นเป็นรองกว่าทั้งจูเลียส ซีซ่าร์ ในหลายบทหลายตอน การให้คลีโอพัตราแสดงบทรักที่โจ่งแจ้งเกินไป และรายละเอียดประกอบฉาก ฉากการถ่ายทำ เครื่องแต่งตัว ฯลฯ ที่เทียบกันไม่ได้เลยระหว่างภาพยนตร์ที่ลงทุนสร้างด้วยต้นทุนสูงที่สุดในโลกอย่างเวอร์ชั่น 1963 กับภาพยนตร์ชุดฉายทางโทรทัศน์ แม้กระนั้นก็ตามต้องถือว่า เรเน่อร์ วาเรล่าสามารถแสดงบทบาทคลีโอพัตราได้ดีมากแล้วภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่เกื้อหนุนดังกล่าว และการที่เธอเป็นผู้หญิงผิวสีก็มีส่วนทำให้เธอ (อาจ) เหนือกว่า เอลิซาเบ็ธ เทเล่อร์ ด้วยซ้ำไปเพราะนักประวัติทางเอเชียเชื่อว่าคลีโอพัตราตัวจริงนั้นเป็นลูกผสมกรีกกับอียิปต์ นางจึงเป็นผู้หญิงผิวสีมิใช่ผู้หญิงผิวขาวอย่างผู้หญิงกรีก

ประเด็นเรื่องความงามของคลีโอพัตรานั้นทั้งสองเวอร์ชั่นบอกตรงกันว่านางงดงาม และสวยมีเสน่ห์มาก ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกทางประวัติศาสตร์ ความงามและเสน่หานุภาพของนั้นเป็นเรื่องราวลือลั่นที่กล่าวขานกันมาสองพันปีแล้ว เพิ่งจะมีบางคนในศัตวรรษที่ยี่สิบนี้เอง !? ที่ออกมาตะโกนว่า "คลีโอพัตราไม่สวยอย่างที่คิด (ขี้เหร่)" จนกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ในทำนองเดียวกับที่บางคนที่มีอัคติต่อนางพยายามสันนิษฐานว่าสาเหตุที่นางฆ่าตัวตายนั้นเพราะนางพยายามใช้เสน่ห์กับอ็อคตาเวี่ยนเช่นเดียวกับที่นางเคยทำกับ จูเลียส ซีซ่าร์ และมาร์ค แอนโทนี่มาแล้ว แต่อ็อคตาเวี่ยนไม่สนใจ อาจเพราะนางแก่เกินไปแล้วหรือเพราะเหตุอื่นใดก็ตาม นางจึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย? ในภาพยนตร์ทั้งสองเวอร์ชั่นนี้ต่างก็แสดงตรงกันว่า อ็อคตาเวี่ยนเองก็อยากได้คลีโอพัตรามากเช่นกัน เพราะทันทีที่เขายึดเมืองอเล็กซานเดรียได้ สิ่งแรกที่เขาทำคือไปพบคลีโอพัตราและเสนอผลประโยชน์เพื่อให้นางเดินทางไปกรุงโรมกับเขา ดังนั้นประเด็นเรื่องที่ว่าคลีโอพัตราสวยหรือไม่คงไม่ต้องนำมาพูดถึงกันอีก แค่เหตุผลที่ว่าถ้านางไม่สวยและมีเสน่ห์ (มากๆๆๆ) แล้วเหตุใดยอดวีรบุรุษของพวกโรมันในยุคนั้นทั้งสามคน ซึ่งล้วนได้ชื่อว่าเป็นเสือผู้หญิงตัวฉกาจผ่านผู้หญิงมาร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำนับจำนวนไม่ถ้วนแล้วทั้งสามคน ล้วนยอมสยบต่อความงามของนางทุกคน???

คงสรุปได้ว่าภาพยนตร์เวอร์ชั่น 1999 นี้สร้างได้ดีมากในระดับหนึ่งทีเดียวหากเทียบกับต้นทุนในการสร้างภาพยนตร์ชุดเพื่อฉายทางโทรทัศน์ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด และสามารถให้มุมมองที่น่าจะใกล้เคียงความจริงมากกว่าเวอร์ชั่น 1963 อีกด้วยโดยเฉพาะในเรื่องคุณธรรมความดีของคลีโอพัตรา และมุมมองที่แตกต่างออกไปทั้งในเรื่องของคุณลักษณะของบุคคลอื่นๆที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของคลีโอพัตรา และเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์  ดังนั้นถ้าใครได้ชมคลีโอพัตราเวอร์ชั่น 1963 แล้ว ถ้าไม่ได้ชมเวอร์ชั่นนี้ด้วยคงจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

10. ข้อมูลทั่วไป

ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ: CLEOPATRA

ชื่อเรื่องภาษาไทย: คลีโอพัตรา นางพญาไอยคุปต์

ผู้อำนวยการสร้าง Franc Roddam

ผู้เขียน:   Margaret George (novel), Stephen Harrigan (teleplay)

ผู้แสดง

  • Bill Zane   Mark Anthony
  • Timothy Dalton  Julius Caesar
  • Rupert Graves   Octavian
  • Leonor Varela   Cleopatra
  • John Bowe   Rufio
  • Art Malik   Olympos
  • Nadim Sawalha  Mardian
  • Owen Teale   Gratius
  • Philip Quast   Cornelius
  • Daragh O'Malley  Ahenobarbus
  • Bruce Payne   Cassius
  • Sean Pertwee   Marcus Brutus
  • David Schofield  Casca
  • Kassandra Voyagis  Arsione
  • Indra Oye   Charmian

เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด  หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

  • (ยังไม่มี)

 
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ

หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ

Bookmark and Share

ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก www.youtube.com

 

ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์

 



ตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)

สปาร์ตาคัส เกิดอย่างทาส สู้อย่างทาส ตายอย่างทาส วันที่ 19/05/2013   21:36:29
Helen of Troy (1956) The face that launched a thousand ships (เฮเลน แห่ง ทรอย , ความงามที่เคลื่อนทัพเรือพันลำ) วันที่ 19/05/2013   21:37:57
คลีโอพัตรา ตอนที่สอง เวอร์ชั่นปี 1963 วันที่ 19/05/2013   21:40:09
สารคดี Nefertiti and the Lost Dynasty: เนเฟอตีติ อมตะราชินี จาก NATIONAL GEOGRAPHIC วันที่ 19/05/2013   21:41:09
300 ขุนศึกพันธุ์สะท้านโลก วันที่ 19/05/2013   21:42:04
Hannibal (1959) "มีเมียแล้วไม่บอก!" วันที่ 19/05/2013   21:43:44
สารคดี Hannibal จาก BBC : เพราะเขาไม่ใช่คนเถื่อน? วันที่ 19/05/2013   21:44:49
Alexander มหาราชชาตินักรบ วันที่ 19/05/2013   21:45:44
Alexander the Great (1956) วันที่ 19/05/2013   21:46:41
แกะรอย อเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) วันที่ 19/05/2013   21:47:37
Taras Bulba (1962 film) (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   21:48:19 article
1612 (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   21:48:44 article
นักรบหญิง กวนอหังการ Gladiatress (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   21:49:12 article
Braveheart (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   21:49:41 article
Attila 2001 (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 07/04/2014   21:10:33 article



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker