dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



Helen of Troy (1956) The face that launched a thousand ships (เฮเลน แห่ง ทรอย , ความงามที่เคลื่อนทัพเรือพันลำ)
วันที่ 19/05/2013   21:37:57

โดย ชาญชัย (Leo53)


1. บทนำ

“เฮเลน แห่ง ทรอย” (1,100 ปีก่อนคริสตกาล) หรืออีกชื่อหนึ่งที่เรียกกันในประวัติศาสตร์ว่า “ความงามที่เคลื่อนทัพเรือพันลำ” เป็นผู้หญิงที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกอีกคนหนึ่ง ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญถึงมาตลอดระยะเวลา 3,000 กว่าปีที่ผ่านมาว่าเป็น “ผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์” เฮเลน แห่ง ทรอย เป็นผู้หญิงที่บันดาลใจให้บรรดา กวี นักคิด นักเขียน ทั้งหลาย พากันคิดฝันถึงตลอดมาในทุกยุคทุกสมัย ในปัจจุบันดูเหมือนว่านางได้กลายเป็นสัญลักษณ์และตัวแทนของผู้หญิงในฝัน และภาพลักษณ์ของเพศหญิงในทุกรูปแบบของอารมณ์ที่ผันแปรสำหรับผู้ชายทั่วไปในโลกตะวันตกไปแล้ว เรื่องราวในตำนานเก่าแก่ที่เชื่อมโยงความงามของนางเข้ากับสงครามเมืองทรอย ได้รับการบันทึกไว้เป็นครั้งแรกในมหากาพย์อีเลียต (900 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งเป็นบทกวีที่มีความยาวมากที่สุดในโลก เขียนโดย “โฮเมอร์” นักประพันธ์ชาวกรีก และก็ได้รับการนำไปเขียนถึงโดยนักประพันธ์จำนวนมากสืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน

  ส่วนการที่นักประวัติศาสตร์เรียกนางว่า “ความงามที่เคลื่อนทัพเรือพันลำ, The face that launched a thousand ships” นั้น เนื่องจากบรรดานครรัฐกรีกต่างๆพร้อมใจกันส่งกองทัพเรือจำนวนหนึ่งพันลำ ซึ่งเป็นกองทัพเรือที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรที่สุดที่โลกเคยเห็นมาในยุคนั้น ข้ามทะเลเอเจียนส์เป็นระยะทางกว่าสี่ร้อยกิโลเมตรไปโจมตีกรุงทรอย เพื่อชิงตัวนางในสงครามที่เรียกกันว่า “สงครามเมืองทรอย”   ใช้เวลาทำสงครามนานถึงสิบปีกว่าที่พวกกรีกจะสามารถตีกรุงทอยแตกได้ โดยใช้กลอุบาย “ม้าโทรจันหรือม้าไม้เมืองทรอย”

  ได้มีการนำเรื่องราวชีวิตของ เฮเลน แห่ง ทรอย ไปสร้างภาพยนตร์เป็นจำนวนมาก เฉพาะที่ใช้ชื่อว่า Helen of Troy ตรงๆ หรือชื่อที่ใกล้เคียง เท่าที่ค้นได้มีดังนี้

  1. Helen of Troy (2003) (TV)
  2. Helen of Troy (1956)  :ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่จะนำมากล่าวถึงในบทความนี้
  3. The Private Life of Helen of Troy (1927)
  4. Helena (1924)
  5. Helen of Troy (2005) (TV)
  6. Helen of Troy (1917)
  7. Skona Helena (1951)

และเนื่องจากเรื่องราวของเฮเลน แห่ง ทรอย นั้นเกี่ยวพันโดยตรงกับสงครามเมืองทรอย และม้าไม้เมืองทรอย ถ้าหากนับภาพยนตร์ที่มุ่งเสนอเนื้อหาในส่วนอื่นๆที่มีเรื่องของเฮเลนแห่งทรอยเป็นส่วนประกอบโดยใช้ชื่ออื่นๆ อาจมีอีกนับสิบเรื่อง เฉพาะที่นึกได้ตอนนี้ก็มี 2 เรื่องแล้วคือ หนังฟอร์มยักษ์เรื่อง “Troy” (2004) ที่เพิ่งจะเข้ามาฉายในเมืองไทยสักสามสี่ปีมานี้ (แบรด พิต แสดงเป็น อาคิลิส วีรบุรุษนักรบชาวกรีก, ไดแอน ครูเกอร์ แสดงเป็น เฮเลน แห่งทรอย) และมีหนังที่ซื้อเก็บไว้อีกเรื่องหนึ่งชื่อ The Trojan Horse (ศึกม้าไม้พิชิตแผ่นดิน)     เป็นหนังเก่ามากที่มีสตีฟรีฟ (ชายงามจักรวาลประมาณปี พ.ศ. 2493) แสดงเป็นอาคิลิส

เวอร์ชั่นปี 1956 ที่เลือกนำมาเขียนในบทความนี้ น่าจะเป็นเวอร์ชั่นคลาสสิค ที่ได้รับความนิยม และรู้จักกันแพร่หลายมากที่สุด เทียบเคียงได้ในระดับเดียวกับ “คลีโอพัตรา” เวอร์ชั่นปี 1963 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นคลาสสิค ที่ได้รับความนิยมและรู้จักกันแพร่หลายมากที่สุดในบรรดาภาพยนตร์เรื่อง “คลีโอพัตรา” เวอร์ชั่นต่างๆ โรซาน่า โปเดสต้าที่แสดงเป็นเฮเลนแห่งทรอยในเวอร์ชั่นนี้ ก็เทียบได้กับ เอลิซาเบ็ธ เทย์เล่อร์ ที่แสดงเป็นคลีโอพัตรา ในเวอร์ชั่นปี 1963 เพราะความงามและบทบาทการแสดงของเธอในภาพยนตร์เหมาะสมกับ “เฮเลน แห่ง ทรอย” ในจินตนาการ จนแทบจะหาที่ติไม่ได้

2. “ทรอย” อารยธรรมโบราณที่ดับสูญ

ทรอย: จุดยุทธศาสตร์สำคัญของโลก สถานที่ตั้งของเมืองทรอยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญจุดหนึ่งของโลก ดังนั้นกองทัพเรือ 1,000 ลำของพวกกรีกเมื่อ 1,100 ปีก่อนคริสตกาล จึงไม่ใช่กองทัพเดียวที่ไปทำสงครามที่นั่น หลังจากนั้นยังมีอีกหลายกองทัพที่ยกกำลังไปทำสงคราม ณ สมรภูมิแห่งนี้ต่อมาในอีกหลายศัตวรรษ

ปัจจุบันนักโบราณคดีสามารถค้นหาหลักฐานมายืนยันได้แน่ชัดแล้วว่า เมืองทรอยตามที่โฮเมอร์บรรยายไว้ในมหากาพย์อีเลียตนั้นมีอยู่จริง นักโบราณคดีพบว่าเมืองทรอยตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลทางตะวันตกของประเทศตุรกีในปัจจุบัน ตรงบริเวณช่องแคบที่เรียกว่า Helespont ปัจจุบันเรียกว่า ดาดาเนล ช่องแคบนี้มีรูปร่างคล้ายท่อระบายน้ำที่แยกทะเลดำออกจากทะเลเอเจียนส์ และแยกทวีปยุโรปออกจากทวีปเอเซีย ที่ตั้งของเมืองทรอย จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่งจุดหนึ่งในทางภูมิศาสตร์โลก เนื่องจากมันเป็นตำแหน่งเดียว ที่สามารถเดินเรือออกจากยุโรปไปทางตะวันออกได้ และเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการควบคุมการเดินเรือระหว่างยุโรปกับเอเชีย

ด้วยความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของสถานที่ตั้งเมืองทรอยดังกล่าว กองทัพเรือ 1,000 ลำของพวกกรีกที่มายกพลขึ้นบกที่นี่เมื่อ 1,100 ปีก่อนคริสตกาลจึงมิใช่กองทัพเดียวที่มาทำการรบที่ชายฝั่งแห่งนี้ ระหว่างปี 1915 ถึง 1916 มีการรบที่เรียกว่ายุทธการกัลลิโปลี่ (Gallipoli Campaign) .ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งอังกฤษและฝรั่งเศษร่วมกันบุกโจมตีชายฝั่งแห่งนี้โดยมีเป้าหมายที่จะเข้ายึดเมืองคอนแสตนติโนเปิล (ปัจจุบันเรียกว่าเมืองอิสตันบูล) เมืองหลวงของอาณาจักรออตโตมัน และต้องการเข้าควบคุมเส้นทางเดินเรือที่มุ่งไปสู่รัสเซีย แต่ต้องปราชัยในการรบและสูญเสียทหารไปประมาณ 250,000 คน ในปี ค.ศ. 1452 อาณาจักรออตโตมานสามารถยกกองทัพเข้าโจมตีและยึดครองพื้นที่นี้ได้ ซึ่งนำไปสู่การยึดครองกรุงคอนแสตนติโนเปิล และถือเป็นการสิ้นสุดอาณาจักรโรมันตะวันออกที่ยังเหลืออยู่ไปตลอดกาล และเมื่อ 332 ปีก่อนคริสตกาล พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชก็เคยยกกองทัพ จำนวน 20,000 นายมาทำการรบเพื่อยึดครองพื้นที่แห่งนี้เช่นกัน

การขุดค้นทางโบราณคดีได้พบซากเมืองทรอย 9 เมืองอยู่ซ้อนๆกันไปในช่วงระยะเวลาประมาณ 4500 ปี นับตั้งแต่ประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล เมืองเหล่านี้ถูกทำลายหรือไม่ก็ถูกปล้นสดมภ์ เมืองทรอยชั้นที่ 6 และ 7 ได้รับการพิสูจน์ทางโบราณคดีแล้วว่า เป็นเมืองทรอยที่กล่าวถึงในมหากาพย์อีเลียต โดยได้พบหลักฐานว่าชั้นที่ 6 เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง อุดมสมบูรณ์ แต่ชั้นที่ 7 เป็นเมืองทรอยที่แออัดยัดเยียด ถูกปิดล้อม และยังพบร่องรอยของการถูกปล้นสดมภ์และเผาทำลายอีกด้วย

Troy 9 เมืองที่ถูกทำลายและปล้นสดมภ์    การขุดค้นทางโบราณคดีพบซากเมืองทรอยซ้อนกันอยู่ 9 ชั้น ในช่วงระยะเวลาห่างกัน 4500 ปี เริ่มตั้งแต่เมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล โดยพบว่าชั้นที่ 6 และ 7 คือเมืองทรอยที่กล่าวถึงในมหากาพย์อีเลียต

เมื่อ 1,100 ปีก่อนคริสตกาลขณะที่เกิดสงครามเมืองทรอยนั้น ลมตะวันออกเฉียงเหนือยังคงพัดกระหน่ำรุนแรงตรงจุดนี้ เหมือนที่ยังคงเป็นอยู่ในโลกปัจจุบัน กระแสลมนี้เป็นสิ่งที่ช่วยให้ทรอยเป็นนครที่มั่งคั่ง  เพราะกระแสลมและกระแสน้ำมักจะแปรปรวนอยู่เสมอ ทำให้กองเรือพาณิชย์จำเป็นต้องจอดที่ท่าเรือของทรอยครั้งละประมาณ 6 สัปดาห์ ทำให้เมืองทรอยมีรายได้จากการเก็บภาษีจากเรือเดินทะเลดังกล่าวและมั่งคั่งร่ำรวยมาก ในขณะที่เมืองไมซินีของกรีกที่ปกครองโดยกษัตริย์อัคคาเมนอน ซึ่งตั้งอยู่ประมาณตำแหน่งที่ตรงกันข้ามกันของทะเลเอเจียนส์ก็เป็นเมืองที่มั่งคั่งร่ำรวยยิ่งเช่นกันจากการทำการค้า และอยู่ในสถานะที่เป็นคู่แข่งต่อกันโดยสภาพการณ์อีกด้วย ทำเลที่ตั้งที่ดีเยี่ยมและความมั่งคั่งร่ำรวยของทรอย (โฮเมอร์เขียนไว้ว่าทรอยเป็นเมืองที่มั่งคั่งร่ำรวยด้วยทองคำและทองสัมฤทธิ์) จึงทำให้เมืองทรอยตกเป็นเป้าหมายของการรุกราน และการปล้นสะดมของบรรดาชาติต่างๆในภูมิภาค โดยเฉพาะพวกกรีกซึ่งเป็นมหาอำนาจในโลกยุคนั้น

ก่อนหน้าจะเกิดสงครามกรุงทรอย ชาวทรอยเคยได้รับบทเรียนจากการรุกรานปล้นสะดมของพวกกรีกมาแล้ว โดยรัฐสปาตาร์ของกรีกเคยยกกองทัพเรือไปโจมตีปล้นสะดมและเผาเมืองทรอยจนย่อยยับมาแล้ว ชาวทรอยจึงได้สร้างเมืองทรอยใหม่ขึ้นโดยมีกำแพงเมืองที่แข็งแกร่งใหญ่โตป้องกันไว้รอบเมือง เพื่อป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ภายนอกกำแพงป้อมปราการเป็นฟาร์ม ฝูงแกะและแพะ ที่ราษฎรอาศัยอยู่และทำมาหากินกันอย่างสงบสุข ส่วนภายในกำแพงเมืองและบนท้องถนนที่วุ่นวายนั้น ประชาชนผู้ขยันขันแข็งต่างก็พากันทำงานกันอย่างสงบสุขด้วยความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่า ยุคแห่งสันติสุขและความเจริญไพบูลย์นี้จะคงอยู่ตลอดไป

สร้อยพระศอ (ทองคำ) เมืองทรอย: ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Pushkin ในกรุงมอสโคว ขุดพบที่ทรากเมืองทรอยซึ่งปัจจุบันอยู่ทางด้านตะวันตกของประเทศตุรกีโดย Heinrich Shlemann เมื่อปี 1873 (ค้นพบเครื่องประดับทองคำทั้งหมด 250 ชิ้น) เนื่องจากเครื่องทองชุดนี้ถูกขโมย ซุกซ่อน ได้มาจากการสู้รบ และสูญหายไปหลายครั้ง หลายชาติต่อสู้เพื่อมัน หลายอาณาจักรล่มสลาย และปัจจุบันหลายชาติกำลังต่อสู้กันอีกครั้งเพื่อทรัพย์สมบัตินี้ รัสเซีย เยอรมัน กรีก และตุรกี ต่างก็อ้างสิทธิของตนโดยกล่าวอ้างเหตุผล และหลักฐานย้อนเวลากลับไปจนถึงประมาณเมื่อ 4,500 ปีก่อน ว่าทองคำดังกล่าวเป็นทองคำเมืองทรอยและเป็นกรรมสิทธิของตน! Heinrich Shlemann ผู้ขุดพบเครื่องทองชุดนี้เชื่อว่า สร้อยพระศอทองคำนี้เป็นเครื่องทองในสมัยสงครามเมืองทรอยที่โฮเมอร์กล่าวถึงในมหากาพย์อีเลียต และ อาจเป็นสร้อยพระศอที่ เฮเลน แห่ง ทรอย เคยสวมใส่ด้วย!

เป็นที่น่าเสียดายยิ่งว่าเมืองทรอยที่สงบสันติ และมั่งคั่งร่ำรวยนี้ ได้ถูกเผาทำลายและปล้นสะดมจนย่อยยับ และหายสาบสูญไปพร้อมกับอารยธรรมที่รุ่งเรืองยิ่งของทรอยที่ดับสูญพร้อมกันไปด้วย ชั่วกาลนาน
 
3. เรื่องราวในภาพยนตร์

เรื่องเริ่มต้นขึ้นในท้องพระโรงของไพรแอม กษัตริย์แห่งทรอย เจ้าชายปารีส โอรสองค์ที่ 3 เสนอแนวคิดที่จะนำเรือไปรัฐสปาตาร์ของกรีกเพื่อเจรจาขอสันติจากพวกกรีก โดยให้เหตุผลว่าจากการที่ทรอยปิดประตูบ้านตัวเองไม่คบหาสมาคมกับใคร ทำให้ทรอยเหมือนกับถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ราษฎรมีความหวั่นไหวต่อข่าวลือต่างๆอย่างไร้เหตุผล ที่ประชุมส่วนใหญ่คัดค้านความเห็นดังกล่าว โดยเห็นว่าทรอยไม่ได้มีความเดือดร้อนอะไร เพราะจากการเก็บภาษีเรือเดินทะเลที่เข้ามาจอดที่ชายฝั่งของทรอย ก็ทำให้ทรอยมั่งคั่งร่ำรวยและมีความสุขดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องไปเจรจาขอสันติจากพวกกรีกซึ่งคิดแต่จ้องจะมารุกรานทรอย   อย่างไรก็ตามกษัตริย์ไพรแอมทรงเห็นด้วยกับเจ้าชายปารีส และอนุญาตให้เขาเดินทางไปสปาตาร์เพื่อชักชวนอย่างมีศักดิ์ศรีให้พวกกรีกเห็นประโยชน์ที่จะได้ร่วมกันจากการมีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกัน
 
นักบวชหญิงคาสเซนดร้าน้องสาวของปารีสคัดค้านไม่เห็นด้วย นางบอกว่านางเห็นลางร้ายจากการไปสปาตาร์ครั้งนี้ ผลของมันจะมีแต่ความตาย ความวิบัติ และการทำลายล้างที่โหดร้ายทารุณ แต่ในที่ประชุมไม่มีใครยอมเชื่อนางเนื่องจากทุกคนเชื่อว่านางเป็นคนที่มีความผิดปกติทางจิต แม้แต่ปารีสเองที่รักน้องสาวมากก็ยังเห็นเป็นเรื่องไร้สาระที่น่าขบขัน

นิมิตร้าย ลางหายนะ:  นักบวชคาซซันดร้าน้องสาวของปารีส พยายามห้ามกษัตริย์ไพรแอมและปารีสไม่ให้เดินทางไปเมืองทรอย เพราะนางมองเห็นว่าผลที่ตามมาจะเป็น ความตาย ความวิบัติ และการทำลายล้าง นางขอร้องให้ปารีสเลื่อนการเดินทางออกไปก่อนจนกว่าเทพอาธีน่าจะสงบลง แต่ไม่มีใครเชื่อนาง!

ในระหว่างการเดินทางนั้นเอง ก็ได้เกิดพายุใหญ่พัดเข้ามา ปารีสพยายามจะปีนเสากระโดงเรือขึ้นไปเก็บใบเรือ ก็เผอิญเกิดฟ้าผ่าใบเรือหักและตกลงไปในท้องทะเลพร้อมกับปารีส ปารีสลอยคอไปกับเสากระโดงเรือที่หักไปเกยตื้นที่ชายฝั่งทะเลสปาตาร์ และได้พบกับเฮเลนซึ่งกำลังไปพักผ่อนที่บ้านชาวประมงริมชายหาด
 
 
เมื่อปารีสงัวเงียลืมตาขึ้นมาเห็นเฮเลน เขาถึงกับงงงวยในความงดงามของนางจนคิดว่า Aphrodite (เทพธิดาแห่งความงาม, Venus, หรือ ดาวพระศุกร์) มีจริงและเขากำลังได้พบกับนางอยู่ แล้วเขาก็สลบลงไปอีก เมื่อเฮเลนทราบจากหลักฐานที่มาพร้อมกับตัวเขาว่าเป็นชาวทรอยจึงได้ช่วยนำเขาไปรักษาอาการบาดเจ็บที่บ้านชาวประมงที่นางอาศัยอยู่ และช่วยหลบซ่อนเขาจากการค้นหาของพวกทหารสปาตาร์ด้วย

รักแรกพบ:  เมื่อปารีสงัวเงียลืมตาขึ้นก็พบเฮเลนเดินเข้ามาที่ตรงหน้า นางงดงามยิ่งจนเขาคิดว่านางเป็น Aphrodite เทพเจ้าแห่งความงาม ลงมาปรากฏตัวให้เขาเห็น เขาหลงรักนางทันทีเมื่อแรกพบนั้น และนางเองก็รู้สึกรักผู้ชายคนนี้ทันทีที่สบสายตาเช่นกัน

ในช่วงเวลาสั้นๆที่บ้านชาวประมงนั้นเอง ความรักระหว่างหนุ่มสาวทั้งสองก็พัฒนาลึกซึ้งขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปารีสเปิดเผยตัวเองให้เฮเลนทราบว่าเขาคือเจ้าชายปารีสจากกรุงทรอย ซึงเดินทางมาสปาตาร์เพื่อเจรจาสันติภาพกับกษัตริย์เมเนเลสของสปาตาร์ ในขณะที่เฮเลนบอกเพียงว่านางเป็นคนรับใช้ของราชินีเท่านั้น เฮเลนเตือนเขาว่าอย่าไปเจรจากับเมนาแลสเพราะพวกสปาตาร์ไม่ได้ต้องการสันติภาพ

บุพเพสันนิวาส:  เฮเลนจัดเตรียมเรือและเสบียงเพื่อให้ปารีสกลับไปเมืองทรอย นางบอกเขาว่าพวกกษัตริย์กรีกรัฐต่างๆจะมีการปรึกษาหารือเพื่อทำสงครามกับทรอยในวันรุ่งขึ้น นางขอร้องให้เขาอย่าไปพบกษัตริย์สปาตาร์เพราะจะมีภัยกับตัวเขา แต่ปารีสยืนยันว่าเขาต้องไปและเป็นโอกาสดีสำหรับเขาที่จะได้พบกับบรรดากษัตริย์ต่างๆของกรีกพร้อมกันสำหรับการเจรจาขอสันติของเขา

ในระหว่างนั้น บรรดากษัตริย์ของนครรัฐต่างๆของกรีกกำลังประชุมปรึกษาหารือกันอยู่ในเรื่องการทำสงครามกับกรุงทรอย  ผู้เข้าประชุมประกอบด้วย เมนาแลส กษัตริย์สปาตาร์ ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เอแจ็กซ์ เจ้าชายแห่งซาลามิส เนสเตอร์ กษัตริย์แห่งไพลอส ดิโอเมดีส กษัตริย์แห่งเอโตเลีย อัคคาเมนอน กษัตริย์แห่งไมซีนี่ซึ่งเป็นพี่ชายของเมนาแลส ยูลิซีส กษัตริย์แห่งอิธาค่า อาคิลิส วีรบุรษนักรบของพวกกรีก และพาโทรคัสญาติของเขา ที่ประชุมส่วนใหญ่มีเจตนาแท้จริงคือต้องการปล้นสะดมขุมทรัพย์ของทรอย แต่พยายามอ้างสาหตุความไม่น่าไว้วางใจของทรอยเป็นสาเหตุ แต่ก็มีกษัตริย์บางองค์ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเห็นว่าไม่มีสาเหตุที่สมเหตุผลและชอบธรรมที่จะโจมตีเมืองทรอย และยังมีความขัดแย้งในเรื่องใครจะเป็นผู้นำทัพอีกด้วย เนื่องจากอัคคาเมนอนต้องการเป็นผู้นำทัพ ในขณะที่อาคิลิสยืนยันว่าเขาเท่านั้นที่จะเป็นผู้นำทัพ ในระหว่างที่เมนาแลสกำลังนำธงสัญลักษณ์ของเรือโทรจันที่จมลงในขณะพาปารีสมาสปาตาร์ มาใช้เป็นข้ออ้างว่าทรอยส่งเรือมาลาดตระเวนชายฝั่งของตนอยู่นั้น ปารีสก็ได้เดินทางถึงที่ประชุมและได้โอกาสชี้แจงว่ากรุงทรอยไม่เคยมีนโยบายเป็นศัตรูกับพวกกรีกเลย และได้ส่งตนเป็นทูตมาเจรจาเพื่อขอสันติกับพวกกรีก แต่เมนาแลส และอัคคาเมนอนต้องการหยุดปารีสเพราะกลัวว่าถ้าปารีสเจรจาสันติภาพสำเร็จ พวกตนก็หมดโอกาสจะได้ทองคำและทรัพย์สมบัติมหาศาลของทรอย จึงหาเหตุไม่เชื่อว่าปารีสเป็นทูตตัวจริงและตั้งเงื่อนไขให้เขาชกมวยกับเอแจ็กซ์ โดยตั้งเงื่อนไขว่าถ้าเป็นเจ้าชายปารีสจริงจะต้องชกมวยเก่งและชนะคนของเขาได้ เขาจึงจะเจรจาด้วย

ที่ประชุมกษัตริย์ หรือ ที่ประชุมโจรสลัด?: เมนาแลส กษัตริย์สปาตาร์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมบรรดากษัตริย์กรีกนครรัฐต่างๆ เรื่องการทำสงครามกับทรอย ที่ประชุมส่วนใหญ่ต้องการยกกองทัพไปโจมตีเมืองทรอย (ปล้นสะดม!) เพราะต้องการทรัพย์สินมหาศาลของเมืองทรอยโดยเฉพาะทองคำ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะมีบางคนเห็นว่าไม่มีเหตุผลที่ชอบธรรมเพียงพอ ที่จะใช้เป็นข้ออ้างในการยกทัพไปโจมตีเมืองทรอย แต่สาเหตุสำคัญเกิดจากความอิจฉาริษยา และการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันเอง โดยเฉพาะในปัญหาที่ว่าใครจะเป็นผู้นำทัพ!

ในระหว่างการต่อสู้นั้นเฮเลนเข้ามาพอดี และแสดงอาการกริยาให้เมนาแลสรู้ได้ว่านางเป็นห่วงปารีสและทั้งสองคนเคยรู้จักกันมาก่อน  เมื่อปารีสชนะในการต่อสู้แล้วเมนาแลสจึงตกลงจะเจรจาด้วย แต่ความจริงแล้วเขาคิดจะฆ่าปารีสเนื่องจากความหึงหวงในตัวเฮเลน อีกทั้งไม่ต้องการให้การเจรจาสันติภาพกับบรรดากษัตริย์กรีกประสบความสำเร็จ เพราะจะทำให้ตนหมดโอกาสจะได้ทองคำ และขุมทรัพย์มหาศาลของทรอย เฮเลนรู้เจตนาของเมนาแลส นางจึงวางแผนการช่วยเหลือปารีสออกจากที่คุมขัง และส่งปารีสไปยังชายฝั่งเพื่อขึ้นเรือของพวกฟินีเซียกลับเมืองทรอย ก่อนที่ปารีสลงเรือไปนั้นเอง เฮเลนก็ไปพบปารีสเพื่อล่ำลาเขา   แต่เป็นโชคร้ายที่ทหารของสปาตาร์ตามมาพบเข้าพอดี เพื่อปกป้องชีวิตของปารีสเฮเลนเข้าขวางทางลูกธนูที่กำลังจะยิงมา ทำให้ปารีสต้องตัดสินใจผลักนางตกลงหน้าผาไปพร้อมกับตัวเขา ทั้งสองคนจึงตกระไดพลอยโจนต้องลงเรือเพื่อกลับไปเมืองทรอยด้วยกัน

  
 
ดอกไม้ในมือโจร:    ในระหว่างการต่อสู้ระหว่างปารีสกับเอแจ็คส์นั้น เมนาแลสสังเกตเห็นว่า เฮเลนรู้จักกับปารีสมาก่อน และนางแสดงความเป็นห่วงปารีสเป็นอันมากในระหว่างการต่อสู้ ทำให้เขาต้องการฆ่าปารีสมากยิ่งขึ้นอีก (เขาต้องการฆ่าปารีสอยู่แล้วเพราะเขากลัวว่าปารีสจะเจรจาขอสันติกับกษัตริย์ส่วนใหญ่ของกรีกได้ ซึ่งจะทำให้เขาหมดโอกาสที่จะก่อสงครามเพื่อชิงสมบัติมหาศาลของเมืองทรอย)

การที่ปารีสหนีไปพร้อมกับเฮเลนนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้อัคคาเมนอน กษัตริย์ไมซินี่ ยูลิซิส กษัตริย์อิธาค่า และกษัตริย์อื่นๆที่ต้องการจะบุกยึดกรุงทรอยเพื่อปล้นสดมภ์สมบัติ (พวกนี้รอโอกาสมานานแล้วที่จะมีข้ออ้างที่สมเหตุผล และชอบธรรมในการบุกโจมตีเมืองทรอยเพื่อปล้นสะดม) กล่าวหาว่าปารีสใช้กำลังบังคับเอาตัวเฮเลนไป ซึ่งถือเป็นการทำร้ายผู้หญิงกรีกทุกคน เป็นการแสดงว่าเมืองทรอยไม่ได้ต้องการสันติภาพ และกระทำการหมิ่นศักดิ์ศรีของชาวกรีกอย่างให้อภัยไม่ได้ พวกเขาเรียกร้องให้นครรัฐกรีกทุกรัฐส่งกองกำลังมาโดยพร้อมเพรียงกันเพื่อโจมตีกรุงทรอย ข้อเรียกร้องของพวกเขาในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ เพราะทุกนครรัฐกรีกส่งกองทัพมาร่วมรบโดยพร้อมเพรียงกัน ประกอบขึ้นเป็นกองทัพเรือจำนวนถึง 1,000 ลำ นับเป็นกองทัพเรือที่ยิ่งใหญ่และเกรียงไกรที่สุดที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อนเลยในยุคนั้น! ในการจัดกองทัพนั้นมีปัญหาเรื่องใครจะเป็นผู้นำทัพระหว่างอัคคาเมนอนและอาคิลิส อัคคาเมนอนอ้างว่าเป็นหน้าที่ของเขาโดยตรง ที่จะล้างแค้นและกู้เกียรติยศของเมนาแลสน้องชายของเขา แต่อาคิลิสไม่ยอมและต้องการเป็นผู้นำทัพเอง แต่ในที่สุดก็ตกลงกันได้ โดยยูลิซิสได้บอกให้อาคิลิสคิดถึงทองคำมหาศาล ที่เขาจะได้รับจากการบุกโจมตีเมืองทรอยในครั้งนี้ อาคิลิสจึงตกลงใจเข้าร่วมทำสงครามด้วยแม้จะมีอัคคาเมนอนเป็นผู้นำทัพก็ตาม

ทัพเรือพันลำ!!!    การที่ปารีสพาเฮเลนหนีมาเมืองทรอยเข้าทางที่กษัตริย์กรีกส่วนใหญ่ต้องการพอดี พวกเขาต้องการยกทัพโจมตีเมืองทรอยมานานแล้วเพราะต้องการปล้นชิงทรัพย์สินมหาศาลของเมืองทรอย แต่ไม่สามารถรวมตัวกันได้ การกระทำของปารีสทำให้พวกเขาอ้างได้ว่าเป็นการหมิ่นศักดิ์ศรีของชาวกรีกทั้งมวล ทำให้ทุกนครรัฐพร้อมใจกันส่งกองทัพเรือที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรที่สุด ที่โลกยุคนั้นไม่เคยเห็นมาก่อนจำนวนถึง 1,000 ลำ ข้ามทะเลเอเจียนส์ระยะทางกว่า 400 กิโลเมตร เพื่อชิงตัวเฮเลน

กษัตริย์ไพรแอมแม้จะทรงโกรธมากที่ปารีสพาเฮเลนมาทรอย พระองค์มองออกว่าการกระทำของปารีสเป็นการช่วยให้พวกกรีกรวมตัวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้ และจะมีอันตรายใหญ่หลวงมาถึงเมืองทรอยแน่นอน เฮเลนเองพร้อมจะกลับไปสปาตาร์เพื่อแก้ไขปัญหานี้ แต่ไพรแอมบอกว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรแล้ว เพราะเมื่อพวกกรีกมีข้ออ้างในการรวมพลยกกำลังมาโจมตีเมืองทรอยแล้ว ไม่ว่าจะคืนเฮเลนกลับไปหรือไม่พวกกรีกก็จะไม่ปล่อยเมืองทรอยแน่นอน เมืองทรอยจึงได้ทำการเตรียมพร้อมรับสงครามที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

เมื่อกองทัพเรือของพวกกรีกยกกำลังมาถึงชายฝั่งทรอย กษัตริย์ไพรแอม และราษฎรเกิดความรู้สึกหวาดหวั่นต่อภาพที่เห็นมาก เพราะกองทัพเรือจำนวนหนึ่งพันลำไม่เคยมีให้เห็นมาก่อนเลยในโลกยุคนั้น พระองค์ถึงกับเรียกปารีส และเฮเลน มาที่บนกำแพงเมืองเพื่อให้ทั้งสองเห็นว่า พวกเขาได้ชักนำอะไรมาสู่กรุงทอย และได้บอกกับเฮเลนว่า “ดูซี่ เจ้าเอาอะไรมาให้เรา เจ้าคือใบหน้าที่ส่งเรือมาพันลำอย่างนั้นหรือ?”

พวกกรีกพากันตั้งค่ายตามแนวชายฝั่งทะเล และทำการสร้างหอคอยสูงเคลื่อนที่ที่มีทหารอยู่ภายในสำหรับการบุกโจมตีกำแพงเมืองขนาดใหญ่ของกรุงทรอย อย่างไรก็ดีด้วยความแข็งแกร่งของทั้งกำแพงเมืองและเหล่าทหารหาญของทรอย ในการบุกโจมตีครั้งแรกพวกกรีกไม่สามารถตีฝ่ากำแพงเมืองทรอยเข้าไปได้ หอคอยสูงเคลื่อนที่ล้มเหลวในการเข้าตีและถูกทหารทรอยทำลายเกือบหมด แต่โพลีดอรัส โอรสองค์โตของกษัตริย์ไพรแอมต้องพลีชีพในการรบครั้งนี้

ยกที่หนึ่ง: เมื่อพวกกรีกสร้างหอคอยสูงเคลื่อนที่ได้ ภายในบรรจุทหารจำนวนมากได้จำนวนเพียงพอแล้ว พวกเขาก็ยกพลบุกตีกำแพงเมืองทรอยทันที ผลการรบปรากฏว่าด้วยกำแพงเมืองขนาดใหญ่ที่แข็งแกร่ง และการต่อสู้อย่างกล้าหาญเข้มแข็งของทหารชาวทรอย พวกกรีกไม่สามารถทะลายกำแพงเมืองทรอยได้ และกลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ได้รับความเสียหายอย่างยับเยิน หอคอยสูงที่สร้างขึ้นถูกทำลายเกือบหมดและต้องสูญเสียทหารไปเป็นจำนวนมาก

จากการโจมตีครั้งแรกที่หมายเผด็จศึกอย่างรวดเร็วแต่ล้มเหลวไม่เป็นท่า พวกกรีกจึงใช้แผนสองที่เตรียมการมาแล้วคือการปิดล้อมยาวนานให้เมืองทรอยอ่อนล้า ก่อนโจมตีครั้งใหญ่ต่อไป พวกกรีกได้เตรียมตัวมาเป็นอย่างดีเช่นกัน สำหรับแผนการโอบล้อมกรุงทรอยอย่างยาวนานหลายปี พวกเขาขนอาหารและสิ่งของสัมภาระมากมายลงจากกองเรือรบของพวกเขา ปล้นสะดมและข่มขืนคนในหมู่บ้านต่างๆที่อยู่บริเวณรอบกำแพงกรุงทรอยไปด้วย ในระหว่างนั้นอาคิลิสก็มีเรื่องขัดใจกับอัคคาเมนอนจากปัญหาการแย่งหญิงชาวบ้านคนหนึ่งที่ฉุดมาได้ ทำให้อาคิลิสปฏิเสธที่จะร่วมรบด้วยอีกต่อไป

แผนสองของกรีก: เมื่อการโจมตีครั้งแรกล้มเหลว พวกกรีกจึงเปลี่ยนมาใช้แผนการปิดล้อมเมืองทรอยอย่างยาวนานหลายๆปี พวกกรีกขนเสบียงสัมภาระจำนวนมากที่เตรียมมาลงจากเรือรบ และขณะเดียวกันก็ปล้นสะดมและข่มขืนผู้หญิงตามหมู่บ้านต่างๆที่อยู่นอกกำแพงเมืองทรอยไปด้วย

ในระหว่างระยะเวลาหลายปีที่ถูกโอบล้อมอยู่นั้น ชาวทรอยอยู่ได้อย่างปลอดภัยภายในกำแพง และตอบโต้ด้วยการจัดส่งกองทัพออกไปโจมตีตัดกำลัง และทำลายขวัญของพวกกรีกในตอนกลางคืน ในบางครั้งก็ออกไปโจมถึงที่พักของผู้บุกรุก

การตอบโต้ของทรอย: ในระหว่างหลายปีของการถูกปิดล้อม ชาวทรอยอยู่ได้อย่างปลอดภัยภายในกำแพงเมือง และตอบโต้ด้วยการจัดกองทัพออกโจมตีพวกกรีกในเวลากลางคืน

เมื่อสงครามดำเนินไปหลายปี มีทหารและประชาชนเสียชิวิตไปเป็นจำนวนมากทั้งจากการรบ โรคภัยไข้เจ็บ การขาดแคลนอาหารและยา ฯลฯ ประชาชนบางส่วนที่ไม่พอใจพากันก่อการชุมนุมประท้วง และทำการเผาศพคนตายใกล้ๆที่พักอาศัยของเฮเลนทุกวัน  พวกเขาระบายความโศรกเศร้าเสียใจและความโกรธแค้นไปที่ปารีสและเฮเลนว่าเป็นสาเหตุของภัยพิบัติในครั้งนี้ และพากันเรียกร้องให้จับตัวเฮเลนส่งให้พวกกรีกและไล่ปารีสออกจากทรอย เฮเลนรู้สึกผิดที่ตัวเองเป็นสาเหตุแห่งภัยพิบัติและความตายของผู้คนจำนวนมากเช่นนี้ นางหวังว่าหากนางยอมกลับไปหาเมนาแลสอาจเป็นเงื่อนไขช่วยให้ทรอยสามารถเจรจายุติศึกกับพวกกรีกได้ นางปรึกษากับราชินีเฮคิวบา แม้ราชินีจะไม่เห็นด้วยแต่เฮเลนยืนยันว่านางจะขอพยายามฝืนลิขิตฟ้าดู นางยอมทำทุกอย่างหากมีโอกาสทำให้สงครามยุติได้ และทำให้ชาวทรอยกลับมารักใคร่ชื่นชมปารีสได้อีก

มีการนัดมอบตัวเฮเลนให้กับกษัตริย์เมนาแลส โดยพวกกรีกสัญญาว่าเมื่อได้นางกลับคืนไปแล้วก็จะยุติสงคราม แต่ครั้นถึงวันส่งตัวเมื่อพวกกรีกได้ตัวเฮเลนแล้วกลับตระบัดสัตย์และเรียกร้องให้ทรอยชดใช้หนี้เลือดและค่าเสียหายให้กับพวกกรีกด้วยการมอบสมบัติครึ่งหนึ่งในท้องพระคลังให้พวกกรีก และหลังจากนั้นต้องส่งส่วยให้พวกกรีกอีกด้วยทองคำปีละพันชั่งทุกปี ในขณะนั้นปารีสซึ่งเพิ่งทราบว่าเฮเลนขอให้ส่งตัวให้พวกกรีกเพื่อหวังจะยุติสงคราม จึงรีบตามมาและพบเหตุการณ์เข้าพอดี ปารีสเข้าไปแย่งตัวเฮเลนมาจากกษัตริย์เมนาแลสได้ และขับรถม้าหนีไปพวกทหารกรีกติดตามมาทัน ปารีสสู้กับพาโนพลัสญาติของอาคิลิสและสังหารพาโนพลัสได้ การตายของพาโนพลัสทำให้อาคิลิสตัดสินใจเข้าร่วมรบกับพวกกรีกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อแก้แค้นให้พาโนพลัส

ไม่มีสัจจะในหมู่โจร:  เมื่อเมนาแลสได้ตัวเฮเลนจากเฮคเตอร์แล้ว เขาก็ตระบัดสัตย์ทันที โดยบอกว่าจะยอมถอนกองทัพกลับไปก็ต่อเมือเมืองทรอยยอมมอบทรัพย์สมบัติครึ่งหนึ่งในท้องพระคลังให้พวกกรีก และต่อไปส่งส่วยให้พวกกรีกทุกปีด้วยทองคำปีละพันชั่ง ปารีสตามไปถึงพอดีและแย่งตัวเฮเลนกลับมาได้โดยได้สังหารพาโนพลัสญาติของอาคิลิสเสียชีวิต ทำให้อาคิลิสเข้าร่วมรบกับพวกกรีกอีกครั้งหนึ่งเพื่อแก้แค้นให้ญาติของเขา

การหักหลังของพวกกรีกทำให้ชาวทรอยรู้เจตนาที่แท้จริงของพวกกรีก ว่าการมารบครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อเกียรติยศแต่มาเพื่อการปล้นสะดม กษัตริย์ไพรแอมขอโทษปารีสและเฮเลน และแต่งตั้งให้เฮเลนเป็นเจ้าหญิงแห่งทรอย  คัสซานดร้าบอกว่า พายุลูกใหม่จะพัดมาจากฟ้าแต่ไม่ใช่ความผิดของเฮเลนแต่เป็นความผิดของอาธีน่า

เฮคเตอร์ส่งร่างของพาโนพลัสคืนให้อาคีลิสตามคำขอของเขา จากนั้นอาคิลิสได้ส่งหนังสือมาท้าทายปารีสให้ต่อสู้กับเขาแบบตัวต่อตัว เฮคเตอร์รับคำท้าแทนปารีสและออกไปสู้ตัวต่อตัวกับอาคิลิส เขาถูกอาคิลิสฆ่าตายและอาคิลิสยังเอาศพของเขาผูกกับรถม้าลากศพรอบกำแพงเมืองทรอยเป็นการซ้ำเติมอีก ทำให้ปารีสโกรธมาก ปารีสยิงธนูหลายดอกแต่ทำอาคิลิสไม่ได้ แต่เขารู้ว่าทุกคนต้องมีจุดอ่อนจึงทดลองยิงที่ส้นเท้าดู ปรากฏว่าได้ผล เพราะทำให้อาคิลิสชักกระตุกตกลงจากหลังม้าเสียชีวิตทันที

จุดจบของ อาคิลิส: เมื่ออาคิลิสสังหารเฮคเตอร์ได้แล้วเขายังหยามเกียรติผู้แพ้ซ้ำอีกด้วยการใช้รถม้าลากศพเฮคเตอร์ไปรอบกำแพงเมืองทรอย ปารีสโกรธแค้นมากพยายามยิงธนูหลายดอกแต่ทำอะไรอาคิลิสไม่ได้ ปารีสจึงทดลองยิงที่ส้นเท้าดู ปรากฏว่าได้ผล อาคิลิสถึงกับชักกระตุกและตกลงจากรถม้าหัวฟาดพื้นเสียชีวิตทันที

การตายของอาคิลิสทำให้ความกล้าของพวกกรีกหายไปด้วย หลังจากกรำศึกมานานเกือบสิบปีพวกเขาก็ยังมองไม่เห็นหนทางที่จะตีฝ่ากำแพงเมืองทรอยเข้าไปได้เลย พวกทหารพากันอ่อนล้า ในที่ประชุมบรรดากษัตริย์ส่วนใหญ่เห็นด้วยแล้วว่าควรจะยกกองทัพกลับกรีซ แต่ยูลิซิส เจ้าปัญญาเสนอให้ใช้กลม้าไม้เมืองทรอย ซึ่งเขารับรองว่าจะใช้ได้ผลแน่นอน ยูลิซิสได้สั่งให้ทหารของเขาสร้างม้าไม้ขนาดใหญ่โตที่สวยงามมากภายในสามารถซ่อนทหารจำนวนมากไว้ได้ เขาคาดว่าชาวทรอยจะชื่นชมม้าไม้ตัวนี้มากและจะมองว่าม้าไม้ตัวนี้เป็นเครื่องบูชาเทพอาทีน่าเทพเจ้าแห่งม้าศึกและชัยชนะ จนอดไม่ได้ที่จะนำม้าไม้นี้เข้าไปในเมืองเพื่อเป็นการฉลองชัยชนะของพวกตน ตามแผนการนี้พวกกรีกจะแกล้งทำเป็นพ่ายแพ้และถอนทัพเรือกลับไป โดยยังคงซ่อนทหารจำนวนมากไว้ในป่าหน้าประตูเมืองทรอย ส่วนกองเรือรบจะนำไปซ่อนหลังภูเขาในอ่าวทรอยรอคอยสัญญาณจากชายฝั่งเพื่อกลับไปอีกครั้งหนี่ง
 
เหตุการณ์เป็นไปตามที่พวกกรีกคาดไว้ทุกประการ ชาวทรอยได้ยินเสียงแตรถอยทัพ และแตรคำสั่งให้พลพายพายเรือออกไป แอเนียสออกไปดูที่ชายฝั่งทะเลก็พบว่ากองเรือแล่นออกไปหมดแล้ว เขากลับมารายงานกษัตริย์ไพรแอมทราบ ชาวทรอยพากันดีใจเป็นอันมากเพราะถูกปิดล้อมมา 10 ปีแล้ว  กษัตริย์ไพรแอมสั่งให้จุดโคมไฟแห่งชัยชนะวิ่งไปรอบเมือง เปิดประตูเมือง ขณะนั้นเองทุกคนก็สังเกตุเห็นม้าไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งแอเนียสรายงานว่าเขาพบอนุสาวรีย์ม้าไม้ขนาดใหญ่อยู่ที่ประตูทางออก ราษฎรที่พากันออกนอกประตูเมืองต่างพากันชื่นชมม้าไม้เป็นอันมาก ในขณะที่เฮเลนรู้สึกสังหรณ์ใจไม่ดีและกล่าวเตือนว่า “ระวังของขวัญจากกรีกชิ้นนี้ด้วย” คาสเซ็นดร้า ยืนยันความเห็นของเฮเลนว่า “นางพูดถูกแล้ว นี่คือปีศาจที่ควรถูกเผาตรงที่พบมันทันที” ปารีสก็เห็นด้วยว่าพวกกรีกไม่น่าจะให้ของขวัญที่ดีกับชาวทรอย แต่กษัตริย์ไพรแอมไม่เห็นด้วยและบอกว่า “นี่ไม่ใช่ของขวัญจากพวกกรีก แต่เป็นรูปบูชาที่พวกกรีกต้องสละทิ้งไปต่างหาก” จากนั้นฝูงชนชาวทรอยก็เรียกร้องขอนำม้าไม้เข้าไปร่วมการเฉลิมฉลองที่จตุรัสในกำแพงเมืองด้วย กษัตริย์ไพรแอมต้องการให้ราษฎรได้มีความสุขและสนุกสนานรื่นเริงกันให้เต็มที่ หลังจากที่พวกเขาได้ต่อสู้มายาวนานอย่างกล้าหาญร่วม 10 ปี จึงอนุญาตให้ฝูงชนนำม้าไม้เข้าไปร่วมฉลองกันในเมืองได้ คาสเซนดร้าพยายามคัดค้านกษัตริย์ไพรแอมจนถึงที่สุดว่า นี่ไม่ใช่จุดจบของความพินาศ แต่เป็นจุดเริ่มต้น กษัตริย์ไพรแอมกลับตอบว่า “เราต้องไม่เนรคุณต่อเทพเจ้าซึ่งได้พิสูจน์ตนแล้วว่าเป็นเทพของเราสิ” แล้วก็สั่งให้เอาม้าไม้เข้ามาในเมือง เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของชาวทรอย”

 


 
ม้าไม้เมืองทรอย:   ชาวทรอยและกษัตริย์ไพรแอมหลงกลของพวกกรีก คิดว่าม้าไม้เป็นสัญลักษณ์บูชาเทพอาธีน่าซึ่งบันดาลชัยชนะให้พวกตนในครั้งนี้ พวกเขาลากม้าไม้ยักษ์เข้ามาไว้ตรงจัตุรัสหลังประตูเมือง แล้วเลี้ยงฉลองกันจนเมามาย หลับใหลไม่ได้สติกันไปทั้งเมือง

กลางดึกคืนนั้นเองเมื่อทั้งทหารและราษฎรชาวทรอย ต่างพากันหลับไหลด้วยความเหนื่อยอ่อนและความมึนเมาเหล้าไวน์ที่เฉลิมฉลองชัยชนะกันอย่างสนุกสนาน พวกทหารกรีกที่ซ่อนตัวอยู่ในม้าไม้ก็พากันย่องลงมา และออกไปเปิดประตูเมืองให้สัญญาณ พวกทหารกรีกที่ซ่อนตัวอยู่ในป่าก็พากันบุกเข้าเมืองทรอยทันที ส่วนกองเรือรบที่ซุ่มอยู่นอกอ่าวเมื่อเห็นสัญญาณก็รีบแล่นกลับมายังชายฝั่ง และส่งกำลังทหารสนับสนุนเข้าโจมตีเมืองทรอย ทหารและราษฎรชาวทรอยที่มัวแต่หลับใหลกันอยู่เมื่อรู้สึกตัวก็สายเกินแก้ไขเสียแล้ว พวกกรีกข่มขืนผู้หญิง และฆ่าคนจำนวนมากในเมืองทรอย ปล้นสะดมเอาทรัพย์สินมีค่าออกไปทั้งหมด จับผู้หญิงสาวและเด็กไปเป็นทาส และเผาเมืองทรอยจนพินาศหมดสิ้น

ปล้น ฆ่า ข่มขืน เผา ทำลายล้าง!!!: เมื่อเข้าเมืองทรอยได้ พวกกรีกทำสิ่งเลวร้ายทุกอย่างที่ผู้ชนะ (โจรสลัด?) จะทำได้ ปล้น ฆ่า ข่มขืน เผา ทำลายล้าง จนเมืองทรอยพินาศหมดสิ้น

กษัตริย์ไพรแอมและราชินีเฮเคิวบาถูกทหารกรีกควบคุมตัวไป แอเนียสพาภรรยาและลูกของเฮคเตอร์หนีไป คาสซันดร้าถูกพวกทหารกรีกจับตัวไปเช่นกัน ปารีสพยายามพาเฮเลนหนีไปด้วยกันแต่เมนาแลสตามมาทัน ทั้งสองดวลดาบกันตัวต่อตัวจนกระทั่งเมื่อแมนาแลสทำท่าจะเพลียงพล้ำ ทหารกรีกจึงเข้ามาแทงปารีสจากข้างหลังและสิ้นใจในอ้อมแขนของเฮเลน 

ความตายไม่สำคัญกว่าความรัก: ปารีสพยายามพาเฮเลนหนีแต่เมนาแลสตามมาทัน ทั้งสองดวลดาบกันตัวต่อตัวแต่เมื่อเมนาแลสทำท่าจะเพลี่ยงพล้ำทหารกรีกก็เข้ามาแทงข้างหลังจนปารีสล้มลงและสิ้นใจในอ้อมแขนของเฮเลน

หลังจากที่พวกกรีกเผาผลาญเมืองทรอยจนพินาศหมดสิ้นแล้ว จึงยกกองทัพเรือกลับกรีซพร้อมทั้งสมบัติและทองคำมหาศาลที่ปล้นไปได้จากเมืองทรอย เมนาแลสนำตัวเฮเลนกลับไปด้วย แต่ไม่ว่าจุดจบของเฮเลน แห่ง ทรอย จะเป็นเช่นไร เมนาแลสก็ได้ไปเพียงร่างที่ไร้หัวใจให้กับเขาตลอดไปชั่วกาลนาน ดังที่เฮเลนบอกเขาตอนที่เขาบอกให้เฮเลนไปล้างเลือดของปารีสออกจากมือของนางว่า เลือดนั้นไม่มีวันหายไปจากนางเพราะเลือดนั้นคือเลือดของนางเอง

4. ทั่วไป

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์มหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง สร้างในปี ค.ศ. 1956 ใกล้เคียงกับภาพยนตร์มหากาพย์ฟอร์มยักษ์อีกหลายเรื่องเช่น เบนเฮอร์, บัญญัติสิบประการ, สปาตาคัส และ คลีโอพัตรา ฯลฯ กำกับการแสดงโดย Robert Wise ผู้กำกับชั้นยอดของฮอลลีวูด ที่มีผลงานประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่หลายเรื่องเช่น West Side Story และ The Sound of Music ฯลฯ และดูเหมือนว่าจะเป็นภาพยนตร์มหากาพย์เรื่องเดียวที่เป็นผลงานกำกับการแสดงของเขา เป็นภาพยนตร์ที่ลงทุนสร้างด้วยต้นทุนสูงมากอีกเรื่องหนึ่ง (ประมาณ 6 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าคิดอัตราเงินเฟ้อก็จะเท่ากับมูลค่าเงินปัจจุบันประมาณ 3,400 ล้านบาท)

ข้อดีของหนังในยุคนี้ก็คือไม่มีภาพที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ ดังนั้นในฉากรบเราจะได้เห็นกองทัพม้า กองทัพทหารราบ หอสูงเคลื่อนที่ ที่ประกอบด้วยกองทัพม้าจริงๆ ทหารราบจำนวนมหาศาลที่เป็นนักแสดงจริงๆล้วนๆ ซึ่งฉากการรบโดยเฉพาะการรบในยกแรกที่พวกกรีกสร้างหอสูงเคลื่อนที่ และใช้เป็นกองกำลังหลักในการเข้าโจมตีกำแพงเมืองทรอยนั้นทำได้ดีและน่าตื่นเต้นมาก อาวุธมากมายหลายชนิด ดาบ หอก โล่ เครื่องยิงลูกหินไฟ ธนู รถม้าศึก หินไฟที่พวกทรอยใช้กลิ้งลงมาโจมตีกองเรือของพวกกรีกทำได้ดีน่าสนใจมาก เครื่องแต่งกายและรายละเอียดในฉากต่างๆโดยเฉพาะในพระราชวังทำได้ดีมาก

Rosana Podesta นางเอกภาพยนตร์ผู้โด่งดังของอิตาลีในยุคนั้น แสดงเป็น เฮเลน แห่ง ทรอย ด้วยบุคลิกของผู้หญิงผิวขาว ชาวอิตาลี ผมสีบลอนด์ทำให้ รูปลักษณ์ทางกายของเธอเหมาะสมกับ เฮเลน แห่ง ทรอย ที่เป็นผู้หญิงกรีกผิวขาวมาก ส่วนเรื่องความงามของเฮเลน แห่ง ทรอย ที่ในบทภาพยนตร์นี้นอกจากจะบอกว่า เฮเลน แห่ง ทรอย สวยที่สุดในโลกแล้ว ยังเน้นอีกด้วยว่า ความงามของเฮเลน แห่ง ทรอยนั้นเทียบได้กับความงามของเทพเจ้าแห่งความงามเองเลยทีเดียว จึงอาจเป็นเรื่องยากที่จะหามนุษย์ผู้หญิงจริงๆในโลกนี้มารับบทนี้ได้ อย่างไรก็ตามคิดว่าความงามของนางเอกในเรื่องนี้ก็ใกล้เคียงที่บรรยายในบทภาพยนตร์ ในระดับที่ยอมรับได้ทีเดียว เมื่อรวมเข้ากับความสามารถในการแสดงบทบาทของหญิงสาวผู้อ่อนโยน ที่อ่อนไหวยิ่งกับความรักและคนรัก แต่ก็เปี่ยมด้วยเมตตาและความรู้สึกผิดชอบในหัวใจ และความพร้อมที่จะเสียสละตัวเองเพื่อความถูกต้อง ทำให้เธอสามารถแสดงเป็น เฮเลน แห่ง ทรอย ในอุดมคติได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ได้ด้อยกว่าที่เอลิซาเบธ เทย์เล่อร์แสดงเป็นคลีโอพัตราได้อย่างสมบูรณ์ในภาพยนตร์เรื่องคลีโอพัตราเลย

Jacques Sernas แสดงเป็นเจ้าชายปารีส การพาเฮเลนไปทรอยด้วยกับเขา เข้าทางที่พวกกษัตริย์กรีกที่ละโมภรอคอยมานานที่จะได้มีเหตุผลที่สมควร เพื่อใช้อ้างในการให้ทุกนครรัฐของกรีกพร้อมใจกันส่งกองทัพไปโจมตีทรอยได้ พวกเขาอ้างว่าไปโจมตีเมืองทรอยเพื่อรักษาเกียรติของพวกกรีก แต่ใจจริงแล้วพวกเข้าต้องการทรัพย์สมบัติมหาศาลของเมืองทรอยต่างหาก Jacques Sernas แสดงบทบาทเจ้าชายปารีสได้ดีมากเช่นกัน รูปหล่อ เปี่ยมด้วยอารมณ์รัก อ่อนไหว และถือเป็นพระเอกในเรื่องที่ภาพยนตร์ต้องการเน้น ตรงกันข้ามกับเรื่องทรอย (2004) ที่ต้องการเน้นบทบาทพระเอกวีรบุรุษของอาคิลิสที่แสดงโดย แบรต พิท

Robert Douglass แสดงเป็นอัคคาเมนอน กษัตริย์แห่งนครรัฐไมซีนีที่ทรงอำนาจยิ่งของกรีก เขาแย่งชิงตำแหน่งผู้นำกองทัพกรีกในสงครามครั้งนี้จากอาคิลิสด้วยเหตุผลว่าการทำสงครามครั้งนี้เป็นการกอบกู้เกียรติยศของเมนาแลส กษัตริย์แห่งนครรัฐสปาตาร์ น้องชายของเขาซึ่งถูกปารีสบังคับลักพาเฮเลนไป เขาเป็นตัวการสำคัญคนหนึ่งมานานแล้วที่ต้องการไปโจมตีเมืองทรอย เขาเป็นคนที่มีความละโมภสูงมาก และยังมากไปด้วยตัณหาราคะอีกด้วย

Stanley Baker แสดงเป็นอาคิลิส นักรบที่ไม่มีใครเอาชนะได้ ซึ่งพวกกรีกยกย่องว่าเป็นนักรบวีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

Hary Andres แสดงเป็นเฮคเตอร์ โอรสองค์โตของกษัตริย์ไพรแอม แห่งเมืองทรอย เขาเป็นนักรบทีเก่งกล้าที่สุดของทรอย และเป็นผู้บัญชาการกองทัพของทรอยอีกด้วย

Nail MacGinnis แสดงเป็นกษัตริย์เมนาแลสแห่งนครรัฐสปาตาร์ เขาเป็นคนไปหาอัคคาเมนอนพี่ชายของเขา เพื่อให้ประกาศเชิญทุกนครรัฐของกรีกร่วมกันส่งกองทัพไปโจมตีเมืองทรอยเพื่อชิงตัวเฮเลนคืนมา ซึ่งเขาอ้างว่าถูกปารีสบังคับขืนใจให้ไปด้วย ความจริงแล้วเมนาแลสก็เป็นตัวการสำคัญมาตั้งแต่แรกที่ต้องการไปโจมตีเมืองทรอยเพื่อปล้นสมบัติมหาศาลของทรอย

Torin Thatcher แสดงเป็นยูลิซิส กษัตริย์แห่งนครรัฐอีทาคา เป็นเพื่อนสนิทของอาคิลิส เขาเป็นคนชั่วที่โลภโมโทสัน มากด้วยกิเลสตัณหาเช่นเดียวกับกษัตริย์กรีกคนอื่นๆส่วนใหญ่ แต่เขาเป็นคนฉลาดหลักแหลมยิ่ง เขาอ่านใจคนได้อย่างกระจ่าง เขาจึงสามารถเกลี้ยกล่อมอาคิลิสให้ยอมมาทำสงครามภายใต้การนำทัพของอัคคาเมนอนได้ เพราะเขารู้ว่าอาคิลิสเองก็โลภต้องการทองคำที่มีมหาศาลของทรอยเช่นกัน เขายังอ่านใจชาวทรอยได้อีกว่าจะต้องเอาม้าไม้ขนาดยักษ์เข้าไปเฉลิมฉลองในเมืองด้วย เขาจึงคิดกลศึกม้าเมืองทรอยขึ้นและประสบความสำเร็จตามคาด

Sir Cedric Hardwicke แสดงเป็นกษัตริย์ไพรแอม พระองค์เป็นกษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม แต่มีบุคลิกที่อ่อนแอ และไม่เฉลียวฉลาดอีกด้วย ความล่มสลายของทรอยนั้น สาเหตุสำคัญมาจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของพระองค์หลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะครั้งสุดท้ายที่ธิดาของพระองค์เตือนแล้วว่าไม่ควรวางใจม้าไม้ยักษ์นี้และควรเผาทิ้งตรงนั้นเสีย แต่พระองค์กลับยืนยันให้ลากม้าไม้เข้าไปในเมือง

Janet Scott แสดงเป็นเจ้าหญิงคัสซันดร้าธิดาของกษัตริย์ไพรแอม นางเป็นนักบวชหญิงที่มีประสาทสัมผัสที่หก สามารถมองภาพแนวโน้มเหตุการณ์ในอนาคตได้ นางเตือนตั้งแต่แรกแล้วว่าให้ปารีสระงับการเดินทางไปสปาตาร์ในช่วงนั้นไว้ก่อนระยะหนึ่ง ไม่มีใครเชื่อนาง ต่อมาเมื่อเฮเลนมาถึงเมืองทรอย นางก็เตือนว่าให้ส่งเฮเลนกลับไป เพราะเฮเลนคือเทพ Aphrodite ที่ลงมาบนโลกในร่างกายมนุษย์และจะนำความตายและภัยพิบัติมาสู่ชาวทรอย ไม่มีใครเชื่อนาง และในครั้งสุดท้ายนางก็เตือนอีกว่าม้าไม้ยักษ์ที่พวกกรีกทิ้งไว้นั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของความตาย และความวิบัติแต่ก็ไม่มีใครเชื่อนางอีก!

และมีดาราประกอบหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่วงการแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ต่อมา ได้กลายเป็นดาราที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงว่ามีเสน่ห์เซ็กซี่ที่สุดในโลกในช่วงกลางศัตวรรษที่ยิ่สิบ เธอคือ บริจิต บาโด ที่แสดงเป็นอันเดรสเต้ สาวใช้ของเฮเลนนั่นเอง ถ้าดูให้ดีจะเห็นได้ว่าเธอฉายแววดาราใหญ่ระดับโลกมาตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว

เนื้อเรื่องในภาพยนตร์ดำเนินไปอย่างน่าสนใจชวนให้ติดตามตลอดทั้งเรื่อง ไม่มีช่วงใดที่อ้อยอิ่งน่าเบื่อเลย บทสนทนาระหว่างตัวละครมีความไพเราะและให้ความหมายลึกซึ้งราวกับเป็นบทกวีตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งเป็นลักษณะพื้นฐานของภาพยนตร์แนวมหากาพย์ในยุคนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินสำหรับผู้ชมในวงกว้าง เพราะนอกจากจะได้ความรู้ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ สงครามเมืองทรอย และ เฮเลน แห่ง ทรอยแล้ว ยังได้รับความสนุกสนานจากเรื่องราว การผจญภัย การศึกสงคราม เรื่องราวความรัก ที่มีอยู่ครบครันในบทภาพยนตร์

5 มุมมองของกรีก v.s. มุมมองของทรอย

ก่อนหน้าจะดูภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมเคยดูเรื่องทรอย (2004) เวอร์ชั่นที่ แบรด พิท แสดงเป็นอาคิลิสมาก่อน และก็เคยดูสารคดีของบีบีซีเรื่อง “เปิดปูมสงครามแห่งทรอย” รวมทั้งอ่านเอกสารบทความที่เกี่ยวข้องกับสงครามเมืองทรอยมาบ้าง พบว่าเนื้อหาในประเด็นเรื่องความชอบธรรม คุณธรรม ระหว่างทั้งสองฝ่าย มีความขัดแย้งกันคล้ายๆกรณีภาพยตร์เรื่องคลีโอพัตราเวอร์ชั่น 1963 กับ 1999 ทำนองนั้น จนกระทั่งเมื่อได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้จึงได้พบคำว่า “The Trojan viewpoint มุมมองของพวกทรอย” อยู่บนหน้าปกภาพยนตร์ และเมื่อชมภาพยนตร์จนจบจึงเข้าใจความหมายของทั้งสองคำดังกล่าว มุมมองของพวกกรีกก็คือการสันนิษฐานและตีความตามความเข้าใจของพวกกรีก และมุมมองของพวกทรอยก็คือการสันนิษฐาน และตีความตามความเข้าใจของคนที่มีความเห็นอกเห็นใจพวกทรอย เพราะเมืองทรอยและชาวทรอยได้ถูกทำลายล้างสูญสิ้นนานกว่าสามพันปีมาแล้ว ที่อาจมีเหลืออยู่บ้างก็คงแตกฉานซ่านกระเซ็นกันออกไปไม่สามารถรวมตัวกันเป็นชนชาติได้อีก  มุมมองของพวกกรีกที่สำคัญคือ มหากาพย์อีเลียตของโฮเมอร์ เพราะโฮเมอร์เป็นชาวกรีกย่อมเขียนให้กรีกดีแน่นอน ภาพยนตร์เวอร์ชั่นนี้จึงแสดงเนื้อหาที่มองชาวทรอยอย่างเห็นอกเห็นใจ ซึ่งมีหลายประเด็นเมื่อพิจารณาแล้วก็น่าจะสมเหตุผลกว่ามุมมองของกรีกด้วย

ตัวอย่างของประเด็นสำคัญๆที่บอกกล่าวไม่ตรงกันเช่น ประเด็นแรกที่มองไม่ตรงกันก็คือในอีเลียต โฮเมอร์บอกว่าปารีสใช้กำลังบังคับเฮเลนให้เดินทางไปเมืองทรอยกับเขา แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกว่าทั้งสองรักกัน และหนุ่มสาวทั้งสองมีเหตุจำเป็นต้องตกกระไดพลอยโจนหนีไปด้วยกันเพื่อเอาชีวิตรอด ประเด็นที่สองพวกกรีกบอกว่าปารีสไปเจรจาการทูตกับกษัตริย์เมนาแลส แต่ด้วยความซื่อของเมนาแลสเขาปล่อยให้ปารีสมีโอกาสใกล้ชิดกับเฮเลน ทำให้ปารีสใช้ความหล่อเหลา (ตามตำนานบอกว่าปารีสเป็นชายหนุ่มที่หล่อมากๆ หล่อจนขนาดพวกนางฟ้ายังพากันมาหลง) และความเชี่ยวชาญในเรื่องผู้หญิงหลอกลวงเฮเลนได้สำเร็จ ประเด็นที่สาม พวกกรีกบอกว่าสาเหตุของเรื่องเกิดจากการแข่งขันกันระหว่างเทพธิดา 3 นางคือ เฮรา (ภรรยาของเซอุส ผู้เป็นประมุขแห่งสวรรค์) อาธีนา (เทพธิดาแห่งปัญญาและม้าศึก) และ อโฟร์ไดรท์ หรือ วีนัส ( ดาวพระศุกร์ เทพธิดาแห่งความงาม) ที่ต้องการให้เซอุสตัดสินว่าในระหว่างพวกตนใครสวยที่สุดแต่เซอุสไม่ อยากขัดใจพวกนางจึงโยนเรื่องไปให้เจ้าชายปารีสเป็นคนตัดสิน เฮรา ติดสินบนปารีสว่าจะให้เขาได้อำนาจปกครองเอเชียทั้งหมด อาธีน่าจะให้ชัยชนะในสงครามแก่เขา ส่วนอโฟไดรท์บอกว่าจะให้ผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลกแก่เขา ปารีสตัดสินให้อโฟไดรท์สวยที่สุด (เขาตัดสินตามความจริงแล้ว เพราะอโฟไดรท์ก็สวยที่สุดจริงๆ!) ดังนั้นอาธีน่าที่โกรธแค้นจึงตามมาทำร้ายเขาจนกระทั่งเมืองทรอยล่มสลายลง ประเด็นที่สี่ พวกกรีกบอกว่าปารีสเป็นคนขี้ขลาดตาขาว โดยบอกว่าในระหว่างสงครามสิบปีนั้น เพื่อไม่ให้ต้องสูญเสียชีวิตผู้คนอีกทั้งสองนัดต่อสู้กันตัวต่อตัว โดยมีเงื่อนไขว่าถ้าปารีสชนะพวกกรีกจะถอยทัพกลับ แต่ถ้าปารีสแพ้เขาจะต้องคืนเฮเลนให้พวกกรีก ปารีสสู้ไม่ได้และหนีไปได้อย่างหวุดหวิดด้วยความช่วยเหลือของอโฟไดรท์ ซึ่งแม้แต่เฮเลนก็ยังไม่ค่อยพอใจนักกับความขี้ขลาดของเขา ประเด็นที่ห้า พวกกรีกบอกว่าการมาโจมตีทรอยนั้นเป็นสงครามเพื่อศักดิ์ศรี ไม่ยอมรับว่ามีเจตนาต้องการปล้นทรัพย์ของเมืองทรอย (ในโลกนี้คงไม่มีใครยอมรับว่าตัวเองเป็นโจรเช่นกัน ถ้าไม่จำนนต่อหลักฐาน)

สรุปแล้วมุมมองของใครน่าเชื่อถือกว่ากันคิดว่าคงต้องดูเป็นประเด็นๆไป แต่ส่วนใหญ่คิดว่ามุมมองของทรอยสมเหตุสมผลกว่า ยกตัวอย่างเช่นประการแรกที่บอกว่า ปารีสบังคับเฮเลนไปเมืองทรอยนั้น ในทางปฏิบัติปารีสคงทำเช่นนั้นได้ยากมาก เพราะเฮเลนเป็นถึงราชินีและอยู่ในพระราชวังในบ้านเมืองของตัวเอง ถ้านางไม่มีใจไปด้วยจะบังคับนางไปได้อย่างไร    เรื่องนี้พวกกรีกบอกว่า อโฟไดร์ทมาช่วยสะกดจิตนาง ซึ่งไม่น่าจะสมเหตุผลเลย และอย่างประเด็นที่ว่าพวกกรีกมาโจมตีทรอยเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีนั้น อาจมีส่วนถูกอยู่บ้างตรงที่การกระทำของปารีสเป็นการช่วยให้พวกกรีกมีข้ออ้างที่จะรวมตัวกันเพื่อไปปล้นประเทศอื่นได้อย่างชอบธรรมเท่านั้น

จุดจบของเมืองทรอย กษัตริย์ไพรแอม ราชินีเฮคิวบา และเจ้าหญิงคาสซันดร้า กล่าวตรงกันคือตายและล่มสลาย สำหรับปารีสนั้น ใน “ทรอย 2004” บอกว่าเขาหนีไปได้พร้อมกับเฮเล่น ในเวอร์ชั่นนี้ เขาถูกทหารกรีกแทงข้างหลังจนตาย และในสารคดีของบีบีซีบอกว่าเขาตายก่อนกรุงทรอยแตก และเฮเลนถูกเมนาแลสนำตัวกลับไปกรีซเช่นเดียวกับในเวอร์ชั่นนี้

ที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งก็คือ มุมมองของพวกกรีกเช่นในอีเลียตนั้น ยกย่องสรรเสริญอาคิลิสว่าเป็นยอดวีรบุรุษนักรบของพวกกรีก จนแม้กระทั่งในปัจจุบันที่อารยธรรมตะวันตกได้แผ่ขยายออกไปทั่วโลก คนทั่วไปก็ยกย่องว่าอาคีลิสเป็นวีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสงครามเมืองทรอย และเป็นวีรบุรุษนักรบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของกรีกอีกด้วย ซึ่งถ้าดูตามเหตุผลที่เป็นกลางแล้ว อาคีลิสเป็นเพียงนักรบที่มีฝีมือการรบเก่งกล้าไร้เทียมทานเท่านั้นเอง ในด้านคุณธรรมความดีงามแล้ว เขาแทบจะไม่มีเลย

6. เฮเลนแห่งทรอย

เทพAphrodite กับ เฮเลนแห่งทรอย (โรซาน่า โปเดสตา) และ เฮเลน แห่ง ทรอย (ไดแอน ครูเกอร์):  ตำนานกรีกกล่าวว่า เฮเลน แห่ง ทรอย สวยที่สุดในโลก สวยจนกระทั่งบรรดานางฟ้าทั้งหลายยังต้องอิจฉา และแม้กระทั่งเทพแห่งความงาม Aphrodite เองก็บอกว่า เฮเลน แห่ง ทรอย สวยที่สุดในโลก และใช้นางเป็นสินบนเพื่อให้เจ้าชายปารีสตัดสินว่าตัวเองสวยกว่า เฮรา (ชายาของประมุขแห่งสวรรค์ เทพเจ้าเซอุส) และสวยกว่า อาธีน่า (เทพแห่งความเฉลียวฉลาดและม้าศึก)

นับตั้งแต่โบราณมาแล้ว “เฮเลน แห่ง ทรอย” ถูกมองว่าเป็นผู้หญิงที่ผู้หญิงทุกคนควรจะรังเกียจแต่ก็อิจฉา และผู้ชายทุกคนควรจะกลัวแต่ก็ปรารถนา แน่นอนความงามและเสน่หานุภาพของนางที่มีต่อผู้ชายนั้นมีพลังอำนาจมหาศาลอย่างที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แต่เมื่อพิจารณาจากคำพูดและการกระทำของนางส่วนใหญ่แล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่า นางรู้สึกผิดและเสียใจมาก ที่ตัวเองเป็นต้นเหตุให้เกิดความทุกข์ความตายและภัยพิบัติแก่ผู้คนจำนวนมาก ภาพของผู้หญิงที่ร้องไห้คร่ำครวญด้วยความทุกข์ความเสียใจและปราถนาที่จะตายนั้น ไม่ใช่ภาพลักษณ์ของเฮเลนแห่งทรอยในความคิดของคนทั่วไป แต่อย่างไรก็ตามบันทึกเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวกับนางส่วนใหญ่นั้น ล้วนกล่าวตรงกันถึงภาพลักษณ์ดังกล่าวของนาง ซึ่งตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์ของผู้หญิงสวยเจ้ามารยาที่ไม่มีความจริงใจ ใช้เสน่ห์ความงามของตนในการจัดการกับผู้ชายเพื่อให้ได้ประโยชน์กับตัวเอง และโดยความเป็นธรรมแล้ว เฮเลน แห่งทรอย นอกจากจะไม่สมควรได้รับการดูหมิ่นเหยียดหยามว่าเป็นผู้หญิงเจ้ามารยามากเล่ห์เพทุบาย และไม่มีความจริงใจแล้ว นางสมควรได้รับความเห็นใจในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ต้องตกเป็นเหยื่อและได้รับความทุกข์ทรมานทางใจอย่างแสนสาหัสจากสงครามที่เกิดขึ้น

ความรัก:  ซ้าย Ares เทพเจ้าแห่งสงคราม กับ Aphrodite เทพเจ้าแห่งความงาม กลาง ปารีส กับ เฮเลนแห่งทรอย (Helen of Troy 1956) ขวา ปารีส กับ เฮเลนแห่งทรอย (Troy 2004)

ตามมุมมองของพวกกรีกนั้น อ้างว่าการที่นางต้องไปกับปารีสนั้นเป็นเพราะนางถูกบังคับโดยเทพธิดาอโฟไดรท์ โดยที่นางไม่ได้สมัครใจเลย ในขณะที่มุมมองของพวกทรอยบอกว่านางไปด้วยความสมัครใจเพราะนางก็รักปารีสเช่นกัน ในทางโหราศาสตร์นั้นทั้งสองสาเหตุมีความหมายตรงกัน เพราะเทพอโฟไดรท์ก็คือเทพธิดาวีนัส ที่เป็นเทพเจ้าแห่งความงามและความรักนั่นเอง การที่นางไปกับปารีสเพราะถูกบังคับโดยเทพอโฟไดรท์ จึงหมายถึงการถูกบังคับด้วยความรักที่เกิดขึ้นในหัวใจนั่นเอง!   ส่วนที่ว่าสมควรหรือไม่สมควรก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง การถูกบังคับโดยเทพอโฟไดรท์จริงๆย่อมถือว่านางไม่สมัครใจและไม่อาจกล่าวโทษนางได้ แต่การถูกบังคับด้วยความรักในหัวใจตนเองนั้น แม้จะพิจารณาว่าเป็นการสมัครใจแต่การจะตัดสินว่าสมควรหรือไม่อย่างไรก็ต้องพิจารณาสภาพแวดล้อมโดยรอบด้านด้วย

ถ้าพิจารณาตามเนื้อหาในภาพยนตร์เรื่องนี้และจากข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ จะเห็นได้ว่าเมนา       แลสกษัตริย์แห่งสปาตาร์นั้นเป็นผู้ชายชั่วช้าที่ไร้คุณธรรม และเป็นสามีที่น่ารังเกียจยิ่งอีกด้วย พฤติกรรมโจรละโมบสมบัติ ไร้สัจจะวาจา เจ้าเล่ห์เพทุบาย และผู้ชายเสเพลมีปรากฏให้เห็นชัดเจนในภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่น่าภูมิใจเลยสำหรับผู้หญิงคนไหนก็ตามที่ได้คนเยี่ยงนี้เป็นสามี ดังที่เฮเลนบอกเขาว่าตอนแรกนั้นนางคิดว่านางได้แต่งงานกับกษัตริย์ แต่ต่อมานางจึงได้รู้ว่านางแต่งงานกับมหาโจรต่างหาก! การพูดจาและการแสดงออกที่เมนาแลสแสดงออกกับเฮเลนตลอดทั้งเรื่องล้วนเป็นการแสดงออกแบบไม่ให้เกียรติ และไม่สนใจความรู้สึกของเฮเลนเลย เฮเลนจึงเป็นผู้หญิงที่น่าสงสารและสมควรจะได้รับความเห็นอกเห็นใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามเนื้อหาในภาพยนตร์เรื่องนี้ การที่นางต้องติดตามปารีสไปก็เพราะเหตุการณ์ที่พัฒนาไปทำให้กลายเป็นความจำเป็นเพื่อเอาชีวิตรอด โดยที่นางไม่ได้คิดมาก่อนเลยว่าจะทำเช่นนั้น ดังนั้นในภาพรวมแม้ในหลักการพื้นฐานการที่นางติดตามปารีสไปเมืองทรอยอาจไม่ถูกต้อง แต่ก็สมควรได้รับการให้อภัย นอกจากนี้การที่นางถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุของสงครามเมืองทรอยนั้น ความจริงแล้วนางเป็นเพียงแพะรับบาป ที่พวกกรีกใช้เป็นข้ออ้างในการยกพวกมาปล้นเมืองทรอยเท่านั้น เพราะแม้จะคืนตัวนางให้พวกกรีกก็ไม่สามารถหยุดสงครามได้ สถานการณ์ขณะนั้นตรงกับคำพังเพยที่ว่า “หมาป่ากับลูกแกะ”  นั่นเอง เพราะพวกกรีกต้องการจะมาปล้นทรัพย์เมืองทรอยอยู่ตลอดเวลา จะช้าจะเร็วก็ต้องมาแน่นอน เพียงแต่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเฮเลน และปารีส มาถึงก่อน จึงเป็นข้ออ้างให้พวกกรีกนำมาใช้เป็นเหตุผลในการโจมตีเมืองทรอยได้เร็วขึ้นเท่านั้นเอง

เฮเลนแห่งทรอยในภาพยนตร์เวอร์ชั่นนี้มีคุณลักษณะเป็นผู้หญิงในอุดมคติอย่างแท้จริง สวยงามราวนางเทพธิดา กริยาวาจาอ่อนหวานนุ่มนวล เปิดเผย ซื่อตรง ไร้เล่ห์แหลี่ยมมารยา มีหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยเมตตากรุณา แต่ก็เข้มแข็ง กล้าหาญ พร้อมที่จะยืนหยัดกับความรัก คนรัก และความถูกต้อง และพร้อมที่จะเสียสละตนเองเพื่อสิ่งที่รักและความถูกต้องดังกล่าวเมื่อเวลาและความจำเป็นมาถึง ดังจะเห็นได้จากการที่นางรู้สึกผิดและเสียใจมากที่นางเป็นต้นเหตุให้ผู้คนจำนวนมากมายต้องมาเสียชีวิตในสงครามเมืองทรอย นางร้องไห้คร่ำครวญปรารถนาที่จะตาย และยินดีเสียสละตัวเองด้วยการมอบตัวนางคืนให้กับพวกกรีกเพื่อให้สงครามยุติ (ทั้งพวกกรีกและพวกทรอยกล่าวตรงกันในประเด็นนี้) ในอีกทางหนึ่งนางก็เป็นผู้หญิงที่มีความรักที่ยิ่งใหญ่ลึกซึ้งตรึงใจ และมีความอ่อนไหวในความรักและคนรักดังที่ผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบคนหนึ่งควรจะเป็น โรซาน่า โปเดสต้า รับบท เฮเลน แห่งทรอย ในเวอร์ชั่นนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ หาที่ติแทบไม่ได้เลย คุณสมบัติที่กล่าวถึงในตอนต้นของวรรคนี้สามารถถ่ายทอดออกมาที่จอภาพยนตร์ได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้หญิงผิวขาวผมบลอนด์ที่เข้ากันได้พอดีกับภาพลักษณ์ของผู้หญิงกรีกได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

7. ที่ประชุมกษัตริย์กรีก = ที่ประชุมโจรสลัด

เนื้อหาในบทภาพยนตร์แสดงให้เห็นชัดเจนว่าที่ประชุมกษัตริย์กรีกทุกครั้งนั้น คือที่ประชุมโจรสลัดนั่นเอง เพราะทุกครั้งล้วนแต่พูดถึงตวามต้องการจะปล้นทรัพย์สินของเมืองทรอย ตั้งแต่เริ่มมีการประชุมที่สปาตาร์เพื่อหารือเรื่องการโจมตีเมืองทรอย ซึ่งขณะนั้นปารีสยังไม่ได้พาเฮเลนไปเมืองทรอยเลย แต่บรรดากษัตริย์กรีกตกลงกันไม่ได้ เพราะกษัตริย์บางองค์ก็ยังมีความละอายใจอยู่บ้างและเห็นว่าไม่มีเห่ตุผลที่ชอบธรรมเพียงพอในการยกกองทัพไปโจมตีเมืองทรอย และที่สำคัญคือมีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น และมีความไม่ไว้วางใจกันเองในระหว่างกษัตริย์ของนครรัฐต่างๆ อย่างเช่น อาคิลิสกับอัคคาเมนอนแย่งกันเป็นผู้นำทัพ และเมื่อปารีสพาเฮเลนหนีไปเมืองทรอยพวกกษัตริย์กรีกส่วนที่ยังคงสงวนท่าทีอยู่ ก็ขานรับทันทีว่าปารีสหยามเกียรติชาวกรีกโดยไม่พิจารณาข้อเท็จจริงในรายละเอียดเลย ทุกคนอ้างคำว่า “หยามเกียรติ” เป็นเหตุผลอันชอบธรรมที่จะร่วมกันยกกองทัพไปโจมตีเมืองทรอย แต่ในใจทุกคนแล้วมันคือการยกพวกไปปล้นสะดมเมืองทรอยนั่นเอง แม้แต่อาคิลิสเองเมื่อยูลิซิสย้ำกับเขาถึงทองคำมากมายมหาศาลที่เขาจะได้จากเมืองทรอยเขาก็ตกลงใจไปร่วมรบด้วย แม้จะต้องอยู่ภายใต้การนำทัพของอัคคาเมนอนคู่แข่งตัวฉกาจของเขาก็ตาม พฤติกรรมของกษัตริย์พวกนี้ในการยกกองทัพเรือที่เกรียงไกรที่สุดในโลกไปโจมตีเมืองทรอย จึงเป็นเพียงพฤติการณ์ของโจรสลัดที่ยกพวกเข้าปล้นสะดมทรัพย์สิน ข่มขืนผู้หญิงและฆ่าเจ้าทรัพย์เท่านั้นเอง!

เมนาแลสกษัตริย์สปาตาร์นั้นเป็นแบบอย่างของโจรสลัดโดยสันดานอย่างแท้จริง ตลอดทั้งเรื่องมีแต่พฤติกรรมโลภโมโทสัน ทรยศหักหลัง ปากไม่ตรงกับใจ เขาเป็นตัวตั้งตัวตีคนหนึ่งในการที่จะรวบรวมกองทัพของกรีกไปโจมตีทรอย โดยมีพี่ชายของเขาอัคคาเมนอนเป็นคู่คิดคนสำคัญ และมียูลิซิสเป็นมันสมองที่ชาญฉลาดในการดำเนินการ ทั้งสามคนนี้ร่วมกันกับ อาคิลิส จึงกลายเป็นพลังแห่งการรุกราน ปล้นสะดมที่ร้ายกาจยิ่ง  เพราะยูลิซิส เจ้าปัญญา ฉลาดและขี้โกง โลภละโมบ อาคิลิสเป็นยอดนักรบไร้ผู้ต่อต้าน โหดเหี้ยมอำมหิต ละโมบโลภทั้งชื่อเสียง เงินทอง ทรัพย์สิน และผู้หญิง


8. กษัตริย์ไพรแอม พระราชวงศ์ และบรรดาขุนนางที่อยู่รอบกาย

สิ่งที่เกิดกับเมืองทรอยนั้นถือว่าเป็นชะตากรรมอย่างแท้จริง คนเมืองทรอยนับตั้งแต่กษัตริย์ไพรแอม ราฃินีเฮคิวบา จนถึงประชาชนทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นคนรักสงบ ทำมาหากินด้วยความขยันขันแข็ง กล่าวได้ว่าเป็นยุคแห่งสันติสุขและความเจริญไพบูลย์ของชาวทรอยโดยแท้ เมืองทรอยมีรายได้หลักจากการเก็บภาษีเรือเดินทะเลที่มาพักที่ชายฝั่งของทรอย โอรสองค์โตโพลีโดรัสแม้ดูเหมือนว่าจะต้องการสงครามแต่ก็เป็นเพียงแสดงท่าทีเท่านั้น ไม่ใช่การกระหายสงครามแบบพวกกรีก เฮคเตอร์ชอบศิลปะการต่อสู้ทุกชนิดแต่ก็ไม่ใช่คนก้าวร้าวรุกราน ยิ่งปารีสด้วยแล้วถึงกับฝันถึงโลกกว้างและเปิดประตูเมืองทรอยสู่สังคมโลก จึงนับเป็นชะตากรรมที่น่าเศร้าสลดมากที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ประจวบเหมาะที่ทำให้ปารีสต้องพาเฮเลนมาเมืองทรอย และกลายเป็นข้ออ้างที่ชอบธรรมให้พวกกรีกรวมตัวกันได้และยกกองทัพมาโจมตีเมืองทรอยโดยพร้อมเพรียงกัน

นับตั้งแต่ที่ปารีสพาเฮเลนมาถึงเมืองทรอยแล้วสถานการณ์ก็ไม่สามารถย้อนกลับได้อีก เพราะพวกกรีกรอจังหวะเวลาเช่นนี้มานานแล้ว ซึ่งกษัตริย์ไพรแอมและเหล่าขุนนางทราบดีว่าสงครามหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วเพราะถึงแม้จะส่งตัวเฮเลนคืนไป พวกกรีกก็จะไม่ยอมยกเลิกสงครามอยู่ดี แต่แม้กระนั้นเอเนียสหลานของกษัตรยิ์ไพรแอม ก็ยังพยายามส่งตัวเฮเลนไปให้พวกสปาตาร์เพื่อหวังว่าสถานการณ์อาจดีขึ้นบ้างแต่ปารีสไม่ยอม การตัดสินใจสู้ของเมืองทรอยเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว แต่หลังจากนั้นกษัตริย์ไพรแอมด้วยการสนับสนุนของขุนนางส่วนใหญ่โดยมีส่วนน้อยคัดค้าน ตัดสินใจผิดด้วยกันหลายครั้ง จนกระทั่งในครั้งสุดท้ายที่ตัดสินใจให้นำม้าไม้เข้ามาในเมืองแทนที่จะเผาทิ้งทันทีตามที่เจ้าหญิงคัสซันดร้าเสนอ จึงทำให้เมืองทรอยต้องประสบความพินาศย่อยยับในที่สุด

กษัตริย์ไพรแอมเป็นคนอ่อนแอแต่เป็นคนดีและเปี่ยมด้วยเมตตา แต่พระองค์ไม่ฉลาดในการตัดสินใจ ในขณะที่บรรดาขุนนางและแม่ทัพนายกองของพระองค์ส่วนใหญ่ก็ขาดประสบการณ์ในการรบและไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมเชิงชั้นของพวกกรีก ที่ทำสงครามเป็นงานหลักตามปกติ 

ซ้ำร้ายพระองค์ทรงเชื่อหัวหน้านักบวชและไสยศาสตร์ในส่วนที่ไม่ถูกต้อง ในขณะที่พระองค์กลับไม่เชื่อนักบวชคัสซันดร้าธิดาของพระองค์เอง และความสามารถในการทำนายของนาง แม้นางจะสามารถมองเหตุการณ์ล่วงหน้าได้แม่นยำทุกครั้ง  นอกจากนี้ทั้งๆที่พระองค์รู้ว่าเฮคเตอร์บุตรชายของพระองค์เป็นคนเก่งและเป็นแม่ทัพหลักของพระองค์ แต่เมื่อตอนที่กองทัพกรีกเพลี่ยงพล้ำ พระองค์กลับไม่เชื่อความเห็นของเฮคเตอร์ที่ว่าเพียงอยู่ในกำแพงเฉยๆ พวกกรีกก็จะท้อแท้ถอนกำลังกลับไปเอง แต่พระองค์กลับให้ยกกองทัพออกไปโจมตีเรือของพวกกรีก ซึ่งกลายเป็นการทำให้พวกกรีกฮึดสู้และรวมตัวกันได้อีกครั้งหนึ่ง และเป็นชนวนเหตุสืบเนื่องให้เฮคเตอร์ต้องเสียชีวิตในเวลาต่อมาด้วย และท้ายที่สุดการที่พระองค์ไม่เชื่อธิดาของพระองค์เองที่แนะนำให้เผาม้าไม้เสียแต่กลับให้นำม้าไม้เข้าเมือง จึงเป็นการทำลายเมืองทรอยของพระองค์ด้วยตัวพระองค์เองในที่สุดอย่างไม่น่าให้เกิดขึ้นได้เลย!

สรุปได้ว่าทั้งกษัตริย์ไพรแอม บรรดาเหล่าขุนนาง ราชินีเฮคิวบา และบรรดาราชวงศ์รอบกายของพระองค์ล้วนเป็นคนดีที่ไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมของพวกกรีก จึงทำให้เมืองทรอยตัดสินใจผิดหลายครั้งที่นำไปสู่ความล่มสลายในที่สุด ในขณะที่บรรดากษัตริย์กรีกนั้นเหมือนกับฝูงหมาป่าหิวโซ ที่ตะกุยตะกาย พร้อมจะทำได้ในทุกๆอย่างเพื่อจะรุมทึ้งเหยื่อของพวกตนอย่างไร้ความปราณี ดังนั้นในที่สุดแม้กำแพงเมืองทรอยจะแข็งแกร่งเพียงใด และแม้ว่าชาวทรอยจะต่อสู้อย่างเข้มแข็งกล้าหาญเพียงใด ในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้และถูกทำลายล้างจนสูญสิ้นไปในที่สุด

9. อาคิลิส v.s. เฮคเตอร์

  

สองวีรบุรุษสงครามเมืองทรอย: อาคิลิส ??? (แบรด พิท)    เฮคเตอร์ OK (แฮรี่ แอนเดรส)

พวกฝรั่งยกย่องนับถือกันมากว่า อาคิลิส เป็นสุดยอดวีรบุรุษนักรบไร้เทียมทานในสงครามเมืองทรอย และเป็นสุดยอดวีรบุรุษนักรบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ แต่ถ้าพิจารณาถึงพฤติกรรมของอาคิลิสแล้วจะเห็นได้ว่า เขาไม่ควรได้รับเกียรติสูงส่งเช่นนั้นเลย อาคิลิสไม่เคยนึกถึงคนอื่น ไม่เคยนึกถึงส่วนรวม ไม่เคยนึกถึงชาติบ้านเมืองหรือคุณธรรมความดีใดๆ เขานึกถึงแต่ “ตัวเอง” เท่านั้น การที่เขาเข้าร่วมสงครามเมืองทรอยนั้นนอกจากเพราะความโลภต้องการทองคำของเมืองทรอยแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งก็คือเขาต้องการให้ “ตัวเอง” มีชื่อเสียงเป็นวีรบุรุษนักรบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและจรัสจ้าเป็นอมตะไปชั่วนิรันดร์กาล  ดังที่แม่ของเขาได้บอกกับเขาในขณะที่เขาเข้าไปพบแม่ของเขาเกี่ยวกับเรื่องศึกเมืองทรอยว่า  (ทรอย เวอร์ชั่นปี 2004) “ ถ้าเจ้าอยู่ในลาลิซ่าต่อไป เจ้าจะได้พบกับความสงบสันติของชีวิต เจ้าจะได้พบกับผู้หญิงที่น่าประทับใจ เจ้าจะมีลูกชายลูกสาวหลายคน และพวกเขาก็จะมีลูกๆของพวกเขาเองต่อไป พวกเขาจะรักเจ้า เมื่อเจ้าล่วงลับไปพวกเขาจะจดจำเจ้า แต่เมื่อลูกๆของเจ้าล่วงลับไปแล้วพวกลูกๆของพวกเขาจะไม่รู้จักชื่อของเจ้าอีกต่อไป ถ้าเจ้าตัดสินใจไปทำศึกที่เมืองทรอย ความรุ่งโรจน์จะเป็นของเจ้า พวกเขาจะเขียนเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของเจ้าซึ่งจะเล่าขานกันต่อไปนับพันๆปี โลกจะจดจำชื่อของเจ้าไปตลอดกาล แต่ถ้าเจ้าไปทำศึกที่เมืองทรอยครั้งนี้ เจ้าจะไม่ได้กลับมาบ้านอีก เพราะความรุ่งโรจน์ของเจ้ามาพร้อมกับเคราะห์กรรมของเจ้า” หลังจากฟังความเห็นของแม่แล้วเขาจึงตัดสินใจไปร่วมรบในศึกเมืองทรอย

  

อาคิลิส: โจรโฉด: อาคิลิสฆ่านักบวชที่มีเพียงมือเปล่าจำนวนมากในเทวาลัยนอกกำแพงเมืองทรอย

ต่อไปลองมาพิจารณาดูการกระทำของเขาในสงครามเมืองทรอยบ้าง ว่าเขามีพฤติกรรมเยี่ยงใด ที่น่าสนใจเรื่องแรกก็คือ เขาฆ่านักบวชมือเปล่าหลายคนตายในเทวาลัยนอกเมืองโดยไม่สะดุ้งสะเทือน (ทรอย 2004) สองเขาตัดสินใจไม่ช่วยกองทัพกรีกรบอีกต่อไปก็เพราะขัดใจอัคคาเมนอน ในเรื่องแย่งผู้หญิงทรอยที่ถูดฉุดมาจากการปล้นหมู่บ้านนอกกำแพงเมืองทรอย สามเขาเข้าร่วมรบอีกครั้งก็เพราะต้องการแก้แค้นส่วนตัวให้กับพีโตรคัส ญาติของเขาที่ถูกเฮคเตอร์ฆ่าตายในสนามรบ ในเรื่องคุณธรรมของนักรบเขาก็ไม่มีเลย ในขณะที่เฮคเตอร์ยอมส่งมอบศพของพีโตรคัสให้พวกกรีกตามที่ร้องขอ แต่เวลาที่เขาสังหารเฮคเตอร์ได้แล้วเขากลับเหยียดหยามผู้แพ้ซ้ำอีกด้วยการผูกศพของเฮคเตอร์เขากับรถม้าศึกของเขา และลากศพไปรอบกำแพงเมืองทรอย

 พฤติกรรมวีรบุรุษ? อาคิลิสแย่งผู้หญิงชาวทรอยที่ฉุดมาได้กับอัคคาเมนอน แต่อัคคาเมนอนอ้างสิทธิที่เขาเป็นผู้นำทัพเอาตัวผู้หญิงไปจากอาคิลิส ทำให้อาคิลิสไม่พอใจและไม่เข้าร่วมรบกับกองทัพกรีกอีกต่อไป

จึงไม่อาจสรุปเป็นอื่นได้นอกจากว่า อาคิลิสไม่ใช่วีรบุรุษแต่อย่างใด เขาเป็นเพียงคนชั่วช้าต่ำทรามที่มีฝีมือในการรบเป็นเยี่ยม คำว่า “วีรบุรุษ” ไม่คู่ควรกับบุคคลเยี่ยงนี้ นอกจากคำว่า “มหาโจร” เท่านั้น

ตรงกันข้ามก้บเฮคเตอร์ พฤติกรรมของเฮคเตอร์ล้วนเปี่ยมด้วยคุณธรรมควบคู่ไปกับความองอาจกล้าหาญ และความรับผิดของในหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์เต็มเปี่ยม ในตอนที่เพโทรคัสญาติของอาคิลิสต่อสู้กับปารีส ด้วยการพุ่งหอกใส่กันและเสียชีวิตนั้น เฮคเตอร์ส่งมอบศพของเพโทรคัสให้อาคิลิสเพื่อทำพิธีศพตามธรรมเนียมกรีก ซึ่งถือว่าเป็นการมีน้ำใจให้แม้แต่กับศัตรู แต่เมื่อตอนที่อาคิลิสสังหารเฮคเตอร์แล้ว เขากลับเหยียดหยามผู้แพ้ซ้ำอีกด้วยการผูกศพของเฮคเตอร์กับรถม้าศึกและลากไปรอบกำแพงเมือง ในทรอย 2004 หลังการบุกโจมตีกำแพงเมืองทรอยครั้งแรกด้วยหอสูงเคลื่อนที่นั้น พวกกรีกพ่ายแพ้ยับเยินและมีทหารกรีกล้มตายเป็นจำนวนมาก เฮคเตอร์ก็ยอมให้พวกกรีกมานำศพทหารของตนไปทำพิธีทางศาสนาได้  และเมื่ออาคิลิสมาท้าสู้กับปารีสเพื่อแก้แค้นให้กับเพโทรคัสนั้น เฮคเตอร์รู้ว่าปารีสสู้อาคิลิสไม่ได้แน่นอนในขณะที่เขาอาจสามารถรับมืออาคิลิสได้ดีกว่า เขาก็รับคำท้าแทนปารีสและออกไปต่อสู้ตัวต่อตัวกับอาคิลิสอย่างชายชาติทหาร ทั้งๆที่เขาไม่จำเป็นต้องรับคำท้าก็ได้ เฮคเตอร์รับผิดชอบต่อหน้าที่ของเขาอย่างสมบูรณ์ทั้งในฐานะ ชาวทรอย แม่ทัพแห่งทรอย และพี่ชายของปารีส ด้วยการต่อสู้กับพวกกรีกเพื่อปกป้องชาติบ้านเมือง ราษฎร และพี่น้องของตน และการต่อสู้ของเขาก็เป็นการต่อสู้เยี่ยงชายชาติทหารกับผู้ถืออาวุธเช่นเดียวกัน จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ดูเหมือนจะมีเพียงสิ่งเดียวที่เฮคเตอร์ให้ความสำคัญตรงกับอาคิลิสคือ เกียรติยศและความรุ่งโรจน์ ดังคำกล่าวของเขาก่อนออกไปต่อสู้กับอาคิลิสในครั้งสุดท้ายว่า “อย่างน้อยอย่าปล่อยให้ข้าตายอย่างไร้เกียรติโดยไม่ได้ต่อสู้ แต่ให้ข้าได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ก่อนอย่างสมศักดิ์ศรี” เฮคเตอร์จึงสมควรได้รับการยกย่องว่าเป็น “วีรบุรุษ สงครามเมืองทรอย” อย่างแท้จริง

10. ปารีส

เจ้าชายปารีสเป็นอีกบุคลิกหนึ่งที่มีความขัดแย้งกันยิ่งระหว่างความเห็นของพวกกรีก กับความเห็นของพวกทรอย พวกกรีกเช่นในอีเลียตของโฮเมอร์บอกว่า เจ้าชายเป็นชายหนุ่มรูปงามมาก (หล่อจนแม้กระทั่งนางฟ้านางสวรรค์ก็ยังพากันมาหลงใหล) และมีฝีมือในการจีบผู้หญิงเป็นที่หนึ่ง แต่เป็นคนอ่อนแอและขี้ขลาด โดยกล่าวว่าในระหว่างสงครามเมืองทรอยนั้น ปารีสได้ท้าเมนาแลสสู้กันตัวต่อตัวเพื่อตัดสินว่าใครจะได้เฮเลนไป เพื่อเป็นการยุติสงคราม พวกกรีกบอกว่าปารีสสู้ไม่ได้และได้หลบหนีไปอย่างไร้ร่องรอยด้วยความช่วยเหลือของ Aphrodite ใน.Troy 2004 ปารีสแพ้เมนาแลสจริงๆแต่ว่าเฮคเตอร์เข้ามาช่วยไว้ทันและฆ่าเมนาแลสตาย ภาพการหลบหนีการไล่ฆ่าของเมนาแลสอย่างหัวซุกหัวซุนแสดงให้เห็นว่า ปารีสนั้นเป็นคนขี้ขลาดจริงๆ แต่ในภาพยนตร์เรื่องนี้พวกทรอยกลับบอกว่า ปารีสนั้นไม่ได้เป็นคนอ่อนแอขี้ขลาดอย่างที่พวกกรีกบอก ตรงกันข้ามปารีสเป็นคนเข้มแข็งกล้าหาญและมีฝีมือในการต่อสู้เป็นเยี่ยมอีกด้วย เขาสามารถชกมวยเอาชนะเอแจ็กที่เป็นนักรบชั้นยอดคนหนึ่งของพวกกรีกได้ และก็สามารถดวลดาบเอาชนะเมนาแลสด้วย แต่เป็นแมนาแลสต่างหากที่ขี้ขลาดและให้ทหารของตนแทงข้างหลังจนกระทั่งปารีสเสียชีวิต

ในส่วนของการพาเฮเลนหนีไปกรุงทรอยกับเขานั้นอีเลียตบอกว่า Aphrodite สกดจิตบังคับให้เฮเลนหนีตามปารีสไป ในขณะที่พวกทรอยบอกว่าเฮเลนสมัครใจไปกับปารีสเองด้วยความรักในหัวใจของนาง ซึ่งผลก็เท่ากับถูกบังคับโดย Aphrodite เช่นเดียวกันเพราะ Aphrodite เป็นทั้งเทพแห่งความงามและเทพแห่งความรัก

เรื่องที่ทุกฝ่ายบอกตรงกันก็คือ ปารีสเป็นคนยิงธนูใส่จุดอ่อนของอาคิลิสที่ขาและทำให้อาคิลิสเสียชีวิต ส่วนรายละเอียดนั้นก็ต่างกันไปบ้าง ในภาพยนตร์เรื่องนี้ปารีสยิงอาคิลิสตายทันทีขณะที่เขากำลังขับรถม้าศึกลากศพเฮคเตอร์ไปรอบๆกำแพงเมือง แต่ในทรอย 2004 บอกว่าเขายิงธนูสังหารอาคิลิสเสียชีวิตในขณะที่อาคิลิสบุกเข้าไปในเมืองทรอยพร้อมกองทัพกรีก

สรุปก็คือภาพยนตร์เรื่องนี้ สร้างโดยต้องการเน้นให้ปารีสเป็นพระเอกตามมุมมองของพวกทรอยโดยแท้จริง ทำให้ดูเหมือนว่าเขาแทบจะไม่มีข้อเสียอื่นเลย นอกจากการเป็นคนที่ลุ่มหลงในความรักของตนเองจนลืมคิดถึงชาติบ้านเมืองว่าจะได้รับภัยพิบัติเพียงใด จากการทำตามหัวใจปราถนาของตน 

11. เนเฟอตีติ, เฮเลนแห่งทรอย, คลีโอพัตรา และกวินิเวียร์: ใครสวยที่สุด?

คงมีหลายคนตั้งคำถามเล่นๆว่า ในระหว่างผู้หญิงที่มักจะได้รับการกล่าวขานถึงว่าเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์ (ตะวันตก) ทั้ง 4 นางนั้น นางใดสวยที่สุด โดยข้อเท็จจริงคงไม่สามารถจะตัดสินเรื่องนี้ได้ เพราะผู้หญิงทั้ง 4 นางนี้ล้วนเกิดในยุคที่ยังไม่มีภาพถ่ายที่จะสามารถเก็บรักษาไว้จนถึงปัจจุบันได้ มีเพียงเนเฟอตีติคนเดียวที่มีรูปปั้นเหมือนจริงที่ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์พอจะใช้อ้างอิงได้ ส่วนคนอื่นๆไม่มี นอกจากคลีโอพัตราซึ่งก็มีเพียงภาพบนเหรียญซึ่งไม่ใช่ภาพเหมือนจริง หรือรูปปั้นก็อยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์นักและยังไม่แน่อีกด้วยว่าใช่รูปปั้นของคลีโอพัตราหรือไม่ วิธีตัดสิน (สนุกๆ) ที่ดีที่สุดก็คงจะต้องพิจารณาจากเนื้อหาของถ้อยคำทางประวัติศาสตร์ ที่กล่าวถึงความงามของแต่ละนาง แบบเดียวกับที่ใช้ในการพิจารณาความงามของนางในวรรณคดีไทยของเรา ตัวอย่างเช่นนางสีดาในเรื่องรามเกียรตินั้น ตัดสินได้แน่นอนว่าสวยที่สุดในวรรณคดีไทย เพราะเนื้อหาในรามเกียรติกล่าวว่านางสีดาสวยที่สุดในสามโลก สวยกว่าพระสุรัสวดี ชายาของพระพรหม สวยกว่าพระอุมา ชายาของพระศิวะ และกระทั่งสวยกว่า พระลักษมี ชายาของพระนารายณ์ ซึ่งสวยที่สุดในสวรรค์ ยิ่งไปกว่านั้นเนื้อหาในรามเกียรติยังกล่าวต่อไปอีกว่า ต่อให้รวมความงามของพระแม่เจ้าแห่งสวรรค์ทั้งสามพระองค์เข้าด้วยกัน ก็ยังคงสวยสู้นางสีดาไม่ได้อยู่ดี!!! จึงตัดสินได้แน่นอนว่านางสีดาสวยที่สุดในวรรณคดีไทย

อย่างไรก็ตาม บันทึกถ้อยคำที่กล่าวถึงความงามของผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์นั้น อาจไม่สามารถนำมาตัดสินกันได้ตรงๆ ง่ายๆ เหมือนกรณีนางในวรรณคดีไทยของเรา ยกตัวอย่างเช่น ไซซี หนึ่งในสี่ของผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์จีนนั้น บันทึกกล่าวถึงความงามของนางว่า ขณะที่นางกำลังฟอกด้ายอยู่ที่ริมลำธารนั้น หงส์ที่บินผ่านไปบนฟ้า เพียงได้เห็นใบหน้านางที่สะท้อนอยู่ในธารน้ำ ก็ถึงกับงงงวย หลงใหล ได้แต่มองภาพสะท้อนใบหน้านางในธารน้ำอย่างเคลิบเคลิ้ม ไม่เห็นภูเขาที่ขวางอยู่เบื้องหน้า จนบินชนภูเขาตาย!! เมื่อได้อ่านคำบรรยายนี้แล้วทุกคนคงรู้สึกได้ว่า ไซซีนั้นสวยมากๆๆๆๆ ยังไง แต่จะเอาไปเปรียบเทียบกับคำบรรยายความงามของหญิงงามในประวัติศาสตร์คนอื่นๆ เช่น เตียวเสี้ยน  หยางกุ้ยเฟย และหวังเจาจิน ก็คงไม่ง่ายนัก เพราะไม่ได้เป็นคำบรรยายในลักษณะของมาตราเปรียบเทียบระหว่างกัน

 

สองในสี่ของผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์
    เนเฟอตีติ              กวินิเวียร์
  “สวยราวหยาดฟ้ามาสู่ดิน”          “ผู้หญิงที่สวยที่สุดบนเกาะอังกฤษ”
   “นางงามผู้สมบูรณ์แบบ”

ในกรณีของผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์ของฝรั่งทั้งสี่นางนี้ ถ้าจะนำคำบรรยายความงามของแต่ละนางมาเปรียบเทียบกัน ในเชิงคุณภาพร่วมกับเชิงปริมาณก็พอทำได้บ้าง แม้จะไม่ชัดเจนนักก็ตาม เริ่มต้นที่กวินิเวียร์กันก่อน ในตำนานกษัตริย์อาเธ่อร์นั้นมีคำบรรยายว่านางสวยมาก และยังเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดบนเกาะอังกฤษด้วย ระดับการเปรียบเทียบว่าสวยมากก็เป็นความงามในระดับมนุษย์ผู้หญิงบนโลก และสวยที่สุดบนเกาะอังกฤษเท่านั้น ในทั้งสี่นาง กวินิเวียร์จึงน่าจะอยู่ในอันดับที่ 4

ต่อมาคือเนเฟอตีติ มีคำบรรยายความงามของนางว่า “สวยราวหยาดฟ้ามาสู่ดิน” และ “นางงามผู้สมบูรณ์แบบ” ฯลฯ ซึ่งอาจสรุปได้ว่าเนเฟอตีตินั้นสวยเกินกว่านางมนุษย์ในโลก และเทียบชั้นได้กับนางเทพธิดาบนสวรรค์ แต่เนื่องจากนางฟ้าบนสวรรค์มีหลายนาง เนเฟอตีติเทียบชั้นได้กับนางฟ้าองค์ใดจึงไม่อาจรู้ได้ และในบรรดานางฟ้าบนสวรรค์ของฝรั่งนั้นที่สวยที่สุดคือ Aphrodite (Venus, ดาวพระศุกร์) ซึ่งทั้งคลีโอพัตรา และเฮเลนแห่งทรอย มีบันทึกกล่าวถึงความงามของทั้งสองนางเทียบเคียงไปถึง Aphrodite ทั้งคู่ ดั้งนั้นในกรณีของเนเฟอตีติที่ความงามของนางเกินกว่านางมนุษย์ในโลก และเทียบชั้นได้กับนางฟ้าบนสวรรค์แต่อาจไม่ถึงระดับ Aphrodite? นางจึงน่าจะอยู่ในอันดับที่ 3


 

ที่สุดในประวัติศาสตร์ / สวยที่สุดในโลก / สวยที่สุดในสามโลก

       Aphrodite         Helen of Troy                 Cleopatra

มีบันทึกที่กล่าวเปรียบความงามของทั้งเฮเลน แห่ง ทรอย และคลีโอพัตรา เทียบได้กับความงามของ ตัวเทพ Aphrodite เองที่เป็นเทพเจ้าแห่งความงาม

สำหรับเฮเลน แห่ง ทรอย และคลีโอพัตรา มีบันทึกกล่าวถึงความงามของทั้งสองนางเปรียบเทียบไปถึง Aphrodite ด้วยกันทั้งคู่ เฮเลนแห่งทรอยนั้น บันทึกกล่าวชัดเจนว่า นางเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลก ตำนานของกรีกกล่าวว่า Aphrodite .ใช้เฮเลนแห่งทรอยเป็นรางวัลมาติดสินบน (โดยบอกว่าจะมอบผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลกให้) เพื่อให้ปารีสตัดสินให้ตัวเองสวยกว่า อาธีน่า (เทพแห่งความฉลาดและม้าศึก) และ เฮร่า (ชายาของ เซอุส ซึ่งเป็นประมุขแห่งสวรรค์) เรื่องเกิดเนื่องจากเซอุส ประมุขแห่งสวรรค์ไม่กล้าตัดสิน เลยโยนเผือกร้อนไปให้ปารีส ตามหลักตรรกะวิทยาในเมื่อ Aphrodite เป็นเทพเจ้าแห่งความงาม เป็นนางฟ้าที่สวยที่สุดบนสวรรค์และสวยที่สุดในสามโลก ผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลกจากปากของ Aphrodite เองก็คงต้องสวยเท่า Aphrodite นั่นเอง ในภาพยนตร์เวอร์ชั่นที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ ตอนที่ปารีสลืมตาขึ้นครั้งแรกหลังจากลอยคอในทะเลมาขึ้นฝั่งที่สปาตาร์ เมื่อเห็นเฮเลนครั้งแรก เขาถึงกับเชื่อว่า Aphrodite มีจริง อีกครั้งหนึ่ง ก็ตอนที่นักบวชคัสซันดร้าน้องสาวของปารีสพบเฮเลนครั้งแรกก็บอกเช่นกันว่า นางคือ Aphrodite ที่มาเกิดในร่างมนุษย์และจะนำความตายและภัยพิบัติมาสู่ชาวทรอย นอกจากนี้ตำนานของพวกกรีกยังบรรยายความงามของ เฮเลน แห่ง ทรอย อีกว่า นางสวยจนกระทั่งแม้บรรดานางฟ้านางสวรรค์ทั้งหลายยังต้องอิจฉา แสดงว่าเฮเลน แห่ง ทรอย  สวยกว่าบรรดานางฟ้านางสวรรค์ทั้งหลายเช่นกัน จึงเทียบได้กับตัวเทพเจ้าแห่งความงาม Aphrodite เอง ที่สวยกว่าบรรดานางฟ้านางสวรรค์ทั้งหลาย!

แล้วคลีโอพัตราละ บันทึกมีกล่าวถึงว่านางสวยงามยิ่ง มีเสน่หานุภาพดึงดูดใจชายเป็นยิ่งนัก แต่ก็ไม่ได้มีกล่าวถึงขนาดว่า “สวยที่สุดในโลก” เหมือนกรณีเฮเลนแห่งทรอยที่แม้กระทั่ง เทพAphrodite เองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่กล่าวว่า “เฮเลนแห่งทรอย สวยที่สุดในโลก” อย่างไรก็ตามในเหตุการณ์ที่คลีโอพัตราเดินทางด้วยเรือสำราญไปยังทาร์ซัสเพื่อสยบ มาร์ค แอนโทนี่ แม่ทัพใหญ่และวีรบุรุษแห่งโรมนั้น นางต้องมั่นใจในความงามของตนเองมาก จึงกล้าแต่งกายเป็นเทพAphrodite ซึ่งความสวยงามของนางในชุดดังกล่าวนั้น พลูตาซ นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกได้บรรยายไว้ว่า ความงามของนางเปล่งประกายจรัสจ้าท้าแสงอาทิตย์ในเวลากลางวันและข่มแสงจันทร์ให้ซีดจางในยามค่ำคืน ก็ในความเป็นจริงตามธรรมชาตินั้น สิ่งใดเล่าบนท้องฟ้าที่จะงามข่มสุริยันและจันทราได้ นอกจากดาวพระศุกร์ (Aphrodite หรือ Venus) เท่านั้น! นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นที่เชื่อกันว่าพวกโรมันปั้นรูปคลีโอพัตราแล้วให้ชื่อว่า วีนัส เอส สไคว์ ไลน์ ซึ่งเป็นการนำชื่อเทพเจ้าแห่งความงามของพวกตนมาเปรียบเทียบถึงความงามของคลีโอพัตรา และยิ่งเมื่อมาพิจารณาถึงว่า ความงามของสตรีเพศเยี่ยงใดจึงสามารถสยบยอดวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของพวกโรมันในยุคนั้นได้ทั้งสามคน ก็คงต้องสรุปว่าเป็นความงามระดับของตัวเทพเจ้าแห่งความงาม Aphrodite เองเท่านั้นจึงจะมีอานุภาพขนาดนั้นได้!

จึงอาจสรุปได้ว่า ความงามของเฮเลน แห่ง ทรอย และคลีโอพัตรานั้น เสมอกัน จึงน่าจะอยู่ในอันดับที่หนึ่งเท่ากัน เนเฟอตีติน่าจะอยู่ในอันดับที่สอง และกวินิเวียร์น่าจะอยู่ในอันดับที่สาม

12. สรุป

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์มหากาพย์ที่น่าสนใจยิ่งอีกเรื่องหนึ่ง ที่กล่าวถึงเรื่องราวของผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลก ที่ความงามของนางเป็นชนวนสาเหตุให้เกิดมหาสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ คือสงครามเมืองทรอยที่ต่อสู้กันยาวนานถึงสิบปี เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความรักระหว่างหญิงกับชายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งที่เคยมีมาในโลก เกี่ยวกับม้าไม้เมืองทรอย และกองทัพเรือหนึ่งพันลำ ทวยเทพและวีรบุรุษในสงคราม เป็นภาพยนตร์ที่เดินเรื่องได้ต่อเนื่องน่าสนใจติดต่อกันตลอดทั้งเรื่องได้ดีมากตั้งแต่ต้นจนจบ

เนื้อหาในภาพยนตร์เป็นการบอกเล่าเรื่องราวในมุมมองของพวกทรอย (มุมมองที่เห็นอกเห็นใจพวกทรอย) ซึ่งตรงกันข้ามกับมุมมองของพวกกรีก    โดยเฉพาะมหากาพย์อีเลียตซึ่งแต่งโดยโฮเมอร์กวีชาวกรีก ซึ่งย่อมต้องมีอคติต่อพวกทรอยและเข้าข้างพวกตัวเองอยู่ด้วยแน่นอน และยิ่งเมื่อพิจารณาถึงว่าโฮเมอร์เขียนมหากาพย์อีเลียตโดยรวมความจริงเข้ากับความฝันด้วยแล้ว ทั้งมุมมองและการตีความของโฮเมอร์และพวกกรีกกับพวกทรอย ล้วนมีโอกาสถูกต้องด้วยกันทั้งสองฝ่าย ผู้ชมผู้อ่านที่เป็นกลางจึงต้องพิจารณาด้วยเหตุผลและความสมเหตุสมผลว่าในแต่ละประเด็นนั้น มุมมองของใครน่าจะมีโอกาสถูกต้องตามความเป็นจริงมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น.โฮเมอร์บอกว่าปารีสบีบบังคับเฮเลนให้ไปด้วยกับเขา โดยมีเทพ Aphrodite ช่วยสะกดจิตเฮเลนให้อีกสำทับหนึ่งด้วย ในขณะที่พวกทรอยบอกว่าหนุ่มสาวทั้งสองเกิดความรักขึ้นระหว่างกันอย่างแท้จริง เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลความเป็นไปได้แล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่ามุมมองของพวกทรอยสมเหตุสมผลมากกว่า และการที่พวกกรีกบอกว่าการทำสงครามครั้งนี้เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีของกรีก แต่พวกทรอยบอกว่าเป็นการอ้างเพื่อปล้นสะดมทรัพย์สินของเมืองทรอย   เมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมที่พวกกรีกกระทำกับชาวทรอยถึงขนาดทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเผาทำลายบ้านเมืองจนพินาศวอดวายสิ้นนั้น มุมมองของพวกทรอยก็สมเหตุสมผลมากกว่าอีกเช่นกัน

เฮเลน แห่ง ทรอย ที่เป็นศูนย์กลางของเนื้อหาในภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นเฮเลน แห่ง ทรอย ในมุมมองในทางทีดีตามเหตุตามผลของเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งไม่ใช่มุมมองของทั้งพวกกรีกและพวกทรอยโดยทั่วไป พวกกรีกไม่ชอบนางเพราะนางทำให้พวกกรีกเสียศักดิ์ศรีเสียความภาคภูมิใจที่กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของพวกตนไม่สามารถแม้แต่จะรักษาผู้หญิงของตัวเองไว้ได้ ส่วนพวกทรอยก็ไม่ชอบนางเพราะมองว่านางเป็นสาเหตุแห่งความตายและความพินาศของชาวทรอย ภาพพจน์ของนางโดยทั่วไปในสายตาชาวโลกจึงพลอยไม่ดีไปด้วย ยิ่งโฮเมอร์เขียนมหากาพย์เรื่องโอดิสซี่ต่อเนื่องจากอีเลียต และบรรยายว่าเฮเลน แห่ง ทรอย กลับไปครองคู่กับเมนาแลสอย่างมีความสุข โดยไม่ได้รู้ร้อนหนาวกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับชาวทรอยเลย และนางก็ลืมปารีสไปแล้วจากหัวใจโดยสิ้นเชิง ความจริงเป็นเช่นไรคงไม่อาจมีใครรู้ได้ เพราะมีข้อสันนิษฐานอื่นๆอีกมากมายที่นักเขียนคนอื่นนอกจากโฮเมอร์ได้เขียนไว้ เช่นว่านางถูกเมนาแลสนำกลับไปสปาตาร์เพื่อให้ฝูงชนรุมขว้างด้วยก้อนหินจนตายในความผิดฐานมีชู้ บ้างก็ว่านางหนีไปได้พร้อมกับปารีสเมื่อตอนที่เมืองทรอยแตก ซึงเป็นพลอทเรื่องในทรอย 2004 หรือนางถูกเมนาแลสนำตัวกลับไปสปาตาร์ในสภาพที่เศร้าสร้อยสิ้นหวังดังที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ ฯลฯ

 
 

ความรักยังคงอยู่ตลอดไป: .ในตอนจบเมื่อเฮเลนถูกเมนาแลสใช้กำลังบังคับเอาตัวกลับไปสปาตาร์นั้น สิ่งเดียวที่ช่วยยึดเหนี่ยวให้นางยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ก็คือการที่นางรู้ว่าความรักที่นางมีต่อปารีสจะไม่มีวันตาย ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆเพราะเรื่องราวความรักระหว่างคนทั้งสองได้กลายมาเป็นตำนานอมตะ มหากาพย์แห่งความรัก ที่เล่าขานสืบเนื่องกันมาทุกชั่วอายุ และจะเล่าขานต่อเนื่องกันไปอีกตราบชั่วนิรันดร์

เมืองทรอยล่มสลายและดับสูญไปกว่า 3,000 ปีแล้ว ทองคำเมืองทรอยที่ Schlumann ค้นพบถูกเคลื่อนย้ายไปอยู่ในอาณาจักรออตโตมัน นาซี แล้วก็โซเวียต อาณาจักรเหล่านี้ล่มสลายไปแล้ว เหมือนมวลหมู่มนุษย์ที่มาแล้วก็จากไป แต่มหากาพย์แห่งความรักในอีเลียต ระหว่างปารีส กับ เฮเลน ยังคงเป็นเรื่องราวเล่าขานสืบเนื่องกันมาทุกชั่วอายุคนอย่างมิรู้เบื่อหน่าย และชื่อ เฮเลน แห่ง ทรอย: ความงามที่เคลื่อนทัพเรือพันลำ จะยังคงอยู่เป็นอมตะไปชั่วนิรันดร์กาล

13. บทสนทนาที่น่าสนใจ

(1)   ปารีส กับ เฮเลน  เฮเลนไปหาปารีสเพื่อกล่าวรำลาก่อนที่ปารีสจะลงเรือกลับทรอย การไปพบครั้งนี้เป็นชนวนเหตุให้ทั้งสองคนต้องหนีไปทรอยด้วยกัน เพราะพวกทหารสปาตาร์ตามมาพบเข้าและจะฆ่าปารีสแต่เฮเลนเข้าขวางไว้ ทหารสปาตาร์ตัดสินใจยิงธนูเข้าใส่แม้เฮเลนจะขวางอยู่ ทำให้ปารีสต้องโอบตัวนางและพากระโดดลงทะเลไปด้วยกัน

ปารีส   เฮเลน
เฮเลน   เฮเลนคือราชินีนะ  หญิงที่ท่านคิดว่ารู้จักนั้นไร้ชื่อและไม่มีตัวตน
ปารีส   ข้าไม่อยากเชื่อเลย   นางเป็นผู้ช่วยให้ข้าได้หนีมา
เฮเลน   เปล่าหรอก  นั่นคือราชินีผู้เกลี่ยดความโหดร้าย นางคงทำเช่นเดียวกันกับทาสทุกคน
ปารีส   ข้าเข้าใจ
เฮเลน   นางเป็นราชินีซึ่งมาที่นี่เพื่อบอกสิ่งนี้ เธอจะยังจำปารีสผู้นุ่มนวลได้เสมอ และเธอจะขอมีส่วนบ้างในการเบี่ยงประเทศออกจากสงคราม
ปารีส   นางไม่ใช่ชาวสปาตาร์
เฮเลน   ข้าเป็น ธิดาของกษัตริย์ซึ่งเลือกสามีสปาตาร์ให้ข้า
ปารีส   ชายซึ่งท่านเกลียดชัง
เฮเลน   ข้าเกลี่ยดชังการกดขึ่ เช่นเดียวกับหลายคนที่นี่   เราจะเป็นต้องเป็นชาวสปาตาร์ เพื่อทนกับมัน และเราจำต้องถูกเข้าใจซะใหม่
ปารีส   ข้าเข้าใจ เจ้าไม่ใช่ เมนาแลส คือสปาตาร์สำหรับข้า ข้าจะบอกพ่อว่ายังมีความหวัง ข้าจะบอกทรอยถึงสิ่งที่ได้เห็นและได้ฟัง ผู้ครองนครแตกแยก ไม่สามารถหาเหตุมาทำสงคราม..... แม้แต่ชาวสปาตาร์เอง

(2)   ปารีสกับเฮเลน  สืบเนื่องจากบทสนทนาก่อนหน้า เนื่องจากพวกทหารสปาตาร์เข้ามาใกล้ทำให้หนุ่มสาวทั้งสองคนต้องรีบ หมอบลงกับพื้นให้พ้นสายตาพวกทหาร โอกาสใกล้ชิดกันดังกล่าวทำให้ทั้งสองเผยใจตัวเองออกมา

ปารีส    ถ้าเช่นนั้นนางก็มีตัวตน คนที่ข้ารัก
เฮเลน   ใช่ พระเจ้าบางครั้งก็เปลี่ยนความตั้งใจอันหาญกล้า
ปารีส   เทพเจ้าพวกนั้นใจดี ข้าจะไม่แคลงใจพวกเขาอีก โอ้ เฮเลน เจ้าเป็นทาสเสมอ ตราบใดที่เมนาแลสยังเป็นเจ้าของ หนีไปสู่อิสรภาพเถิด ไปที่ทรอยกับข้า
เฮเลน   และทำลายความหวังด้านสันติ ที่ท่านกำลังจ่ะนำกลับรึ
ปารีส    ไม่หรอก ถ้าแม้แต่โทรจันตายคนเดียวบนกำแพง ถือว่าข้าล้มเหลว ยกโทษให้ข้าด้วยเฮเลน  เจ้าเป็นหญิง 2 คน ทั้งฉลาดทั้งดี ส่วนข้าก็เป็น 2 คน  คนหนึ่งค่อนข้างดี ข้าพยายามเชื่ออย่างนั้น  ส่วนอีกคนนั้นเลวมากทีเดียว
เฮเลน คนหนึ่งเป็นชายหนุ่ม อีกคนเป็นแค่เด็กนะ ข้าว่า ปารีส ให้เขาเป็นอย่างนี้ไปตลอดนะ อย่าให้เขาแก่ขึ้น
ปารีส   เฮเลน เรือมาแล้ว
เฮเลน งั้นข้าก็ต้องกลับแล้ว มันเป็นวิถีทางของพระเจ้า การให้ด้วยมือเดียว แต่รับด้วย 2 มือ ไม่นะ มันจะไม่ใช่การร่ำลา ท่านจะยังอยู่กับข้า แม้อยู่โพ้นทะเล
ปารีส   เจ้าก็เช่นกัน
เฮเลน   และจงเป็นเด็กเสมอ ปารีส จำได้มั้ย สิ่งทึ่ถูกจดจำไว้ จะไม่มีทางแก่


(3)  ปารีส กับ เฮเลน สนทนากันบนเรือของพวกฟินีเซียขณะที่กำลังมุ่งหน้าไปเมืองทรอย หลังจากหนีออกจากสปาตาร์มาได้

ปารีส สปาตาร์เป็นอดีตไปแล้วเฮเลน ทรอยอยู่ทางนี้
เฮเลน พวกเขาจะเรียกเราว่าอะไร หญิงที่หนีสามีมา เจ้าชายที่กลายเป็นโจร เราจะเป็นอะไรอื่นได้อีก
ปารีส คนสองคนที่รักกันไงละ และยอมขวางโลกทั้งโลกถ้าต้องทำ
เฮเลน ถ้าข้าต่อรองกับพระเจ้าได้ เราจะหนีจากโลกไปเลย ไม่ขอลงที่ฝั่งใดๆ
ปารีส  เป็นความฝันที่งดงาม แต่เราต้องลงที่ใดที่หนึ่ง
เฮเลน มีเกาะหนึ่งขื่อว่าเพลากอส ทะเลเลี้ยงเราได้ แล้วก็มีบ้านเล็กๆ ใกล้บ่อน้ำหมู่บ้าน ไปที่นั่นกันเถอะ
ปารีส  ข้าทำไม่ได้ ข้าเกิดมาพร้อมข้อผูกมัด ปารีส บุตรชายไพรอัม ทายาทผู้สืบทอดภาระหน้าที่
เฮเลน ข้าสามารถทิ้งโลกไว้เบื้องหลัง และไม่คิดถึงมันก็ยังได้ แต่ท่าน
ปารีส เฮเลน ชีวิตคู่ของเราจะจืดจางถ้าข้าหนีจากมัน มันจะเป็นสิ่งไม่ทนทาน ซึ่งพายุใดก็ทำลายมันได้
เฮเลน ไม่ ปารีส
ปารีส ยกโทษให้ข้าด้วย ข้าลืมไปว่าเจ้าเป็นหญิง ไม่ใช่สตรีเทพ

(4)   ปารีส เฮเลน แอเนียส โพลีโดรัส กษัตริย์ไพรแอม ราชินีเฮคิวบา คัสซันดร้า

ปารีสเล่าให้กษัตริย์ไพรแอม  และพระราชวงศ์ฟังถึงเรื่องการที่รอดชีวิตจากเรือล่มในทะเลมากได้ ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงการที่เขาจะต้องแนะนำเฮเลนให้ทุกคนรู้จักด้วยว่านางคือใคร ซึ่งเป็นเรื่องที่ลำบากใจของทั้งสองมาก

ปารีส นี่ไง คือปาฏิหาริย์ ข้าคงไม่ได้เห็นทรอยอีก ถ้าไม่ใช่เพราะนาง
แอเนียส  ต้องเป็นเทพแห่งทะเลที่ช่วยเจ้าไว้
โพลีโดรัส ทำไมหญิงที่งดงามยิ่งเยี่ยงนี้สามารถช่วยชีวิตเจ้าได้
ปารีส อย่าเพิ่งถามเลย นางยังมีเรื่องทุกข์ใจ  ซึ่งข้าไม่อยากพูดถึงเมื่อนางยังอยู่
เฮคิวบา แค่ทำให้ลูกของเราได้กลับมาก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สุดแล้วละจ้ะ
ไพรแอม เราขอต้อนรับ สาวน้อย ปารีส เรียกคนรับใช้ของวังซิ ให้พวกนั้นดูแลเธออย่างดี จากนั้นเจ้าค่อยเล่าการผจญภัยให้ฟัง
ปารีส ตามใจท่าน ท่านพ่อ
โพลีโดรัส น้องข้าดูจะลืมมารยาทไป จะให้เราเรียกนางว่าอะไรดี
เฮเลน ข้ามีชื่อว่า ...
คาสซันดร้า นางมีชื่อว่า ความตาย
ปารีส อย่าถือเธอเลย เธอกำลังป่วย
โพลีโดรัส เดี่ยว เจ้ากำลังจะบอกอะไร
เฮเลน ข้าคือเฮเลน ราชินีแห่งสปาตาร์
เฮคิวบา ชายาของกษัตริย์เมนาแลสรึ?
ปารีส หาได้เป็นอีกแล้วไม่
คาสซันดร้า เทพแห่งความงาม อะโฟร์ไดเต้ ลงมาสู่โลกในร่างมนุษย์ นางจะนำความวิบัติมาดั่งข้าทำนาย ชื่อของนางจะถูกบันทึกไว้ เป็นชื่อที่ลุกไหม้ แผดเผาด้วยไฟ เฮเลน เฮเลน แห่ง ทรอย


(4) ปารีส กับ เฮเลน ทั้งคู่พูดคุยกันในค่ำคืนหนึ่งทีปารีสเพิ่งกลับมาจากการนำทัพออกไปซุ่มโจมตีพวกกรีก เขาห็นเฮเลนยืนรอเขาอยู่ที่หน้าประตูบ้าน เขามองนางและอย่างเคลิบเคลิ้มและรู้สึกว่านางสวยงามมาก

ปารีส เจ้าดูงดงามยิ่งนัก
เฮเลน ผู้หญิงที่ท่านตกหลุมรักใช่ใหม ท่านต้องเก็บภาพนี้ไว้กับท่านตลอดไปนะ ปารีส
ปารีส ข้าไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น  ก็ข้ามีเจ้าอยู่แล้วนี่ไง และก็กำลังกอดร่างที่อบอุ่นของเจ้าอยู่ ภาพของเจ้าอยู่กับข้าเสมอที่หอรบบนกำแพงเมือง
เฮเลน และมันจะไม่มีวันสูญสลาย ใช่ไหม? ความรักที่เคยมีอยู่ร่วมกันจะไม่มีวันสูญสลาย
ปารีส ใช่ ไม่มีวัน
 
(5)   ราชินีเฮคิวบา กับ เฮเลน      เฮเลนรู้สึกผิดมาก ที่นางเป็นสาเหตุให้เกิดสงครามที่ทำให้คนจำนวนมากต้องตายและได้รับความทุกข์ทรมาน นางปรึกษากับราชินีเฮคิวบาก่อนที่จะตัดสินใจกลับไปหาเมนาแลส โดยหวังว่าอาจเป็นการช่วยให้สงครามที่โหดร้ายนี้สามารถยุติลงได้

เฮคิวบา ถ้าข้ารักปารีสมากเกินไป ข้าก็จะเสียเฮคเตอร์  ดังนั้นข้าต้องรักลูกทุกคนเท่ากัน  และรักคนที่ลูกข้ารักด้วย
เฮเลน ท่านเป็นคนดี
เฮคิวบา ท่านนักบวชอาวุโสบอกข้าว่า แม้แต่เทพเจ้าก็ยังต่อสู้ทำสงครามระหว่างกัน  เทพบางองค์ก็ช่วยข้างอาทีน่าและกรีซ บางองค์ก็อยู่ข้างอโฟไดรท์ ดังนั้นข้าจะตำหนิเจ้าเรื่องสงครามครั้งนี้ได้อย่างไร
เฮเลน ข้าหยุดสงครามนี้ได้
เฮคิวบา ไม่มีใครทำได้หรอก
เฮเลน ข้าทำได้ ถ้าข้ากลับไปหาพวกกรีก กลับไปหาเมนาแลส
เฮคิวบา กลับไปหาคนที่เจ้าเกลียดชังยิ่งอย่างนั้นหรือ?
เฮเลน ข้ายินดีทำเช่นนั้นถ้ามันจะช่วยให้สงครามนี้ยุติลงได้ และทำให้ราษฎรชาวทรอยกลับมารักปารีสเหมือนเดิม
เฮคิวบา ปารีสจะไม่มีวันยอมให้เจ้าไป
เฮเลน และข้าจะมีวันตัดใจไปจากเขาได้หรือ ท่านต้องช่วยข้าตัดสินใจ
เฮคิวบา เจ้าต้องการฝ่าฝืนโชคชะตาหรือ? เฮเลน มนุษย์เราซึ่งล้วนต้องเกิดแก่เจ็บตาย ไม่ควรจะดิ้นรนขัดขืนโชคชะตาจนเกินไป แต่ข้าก็ยังไม่แน่ใจนะ ว่ามนุษย์ที่งดงามยิ่งเช่นเจ้าใช่มนุษย์จริงๆหรือเปล่า?
เฮเลน งดงามหรือ ตอนนี้ข้ากำลังเป็นสิ่งที่ข้าไม่เคยปรารถนาที่จะเป็นเลย ข้าเป็นเพียงคนเห็นแก่ตัวเท่านั้น ความสูญเสีย สิ้นหวัง ความเจ็บปวดและน้ำตา ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นข้านำพามาทั้งสิ้น มันช่างแตกต่างจากแผ่นดินแสนสุขในฝันของข้าเหลือเกิน

(6)   ที่ประชุมกษัตริย์กรีก ในขณะรับสาส์นจากทรอยเรื่องการส่งตัวเฮเลนคืน

อัคคาเมนอน  กลับไปหากษัตริย์แห่งทรอย   และบอกเขาว่าเราจะรับตัวเฮเลน ณ จุดที่นัดกันไว้   เตือนท่านด้วย ว่าต้องไม่มีการทรยศ หรือหลอกลวงใดๆ
คนนำสาส์น  ข้าขอรับประกัน ไม่มีการหลอกลวงแน่ๆ   เป็นปราถนาของนางที่จะกลับสู่กษัตริย์เมนาแลส
เมนาแลส  ปราถนาของนาง ได้ยินมั้ย พี่ข้า
อัคคาเมนอน  ข้าได้ยินบ่อยแล้ว
เมนาแลส  เดี๋ยว คนนำสาส์น บอกนายของเจ้า ว่าเราต้องการ....
ยูลิซิส   ไม่ๆๆ ไม่มีอะไรแล้ว
อัคคาเมนอน  ไม่มีอะไรอื่น นอกจากการกลับของเฮเลน ชาวโทรจันอยากมีสันติ  ด้วยความรักสันติ เราจึงรับข้อเสนอ
เมนาแลส  เราทนทุกข์แล้วยังกลับมือเปล่าอีกรึ
ยูลิซิส   มือเปล่าหรือ เมนาแลส  เฮเลนก็กลับด้วย ความภาคภูมิก็กลับมา
อัคคาเมนอน   ท่านพูดตรงเกินไป น้องข้า  เมื่อโทรจันส่งตัวเฮเลนมา เราจะสอนพวกมัน ว่าเราไม่ได้ถูกซื้อกันง่ายๆ แต่ข้าอยากให้อาคิลิสมากับเรา เผื่อพวกมันมีปัญหา
พาโนพลัส เขายังปฏิเสธที่จะต่อสู้ ตราบใดทีท่านยังเป็นผู้นำทัพอยู่ และน้องชายคลั่งรักของท่านยังแหกปากอยู่แถวนี้
อัคคาเมนอน งั้นเขาจะไม่ได้บรรณาการจากโทรจันแม้แต่น้อย

(7)   ที่ประชุมกษัตรยิ์กรีกเพื่อวางแผนกลศึก “ม้าไม้เมืองทรอย” ความจริงหลังการตายของอาคิลิสนั้น พวกกรีกพากันท้อแท้ต้องการถอนทัพกลับแล้ว แต่ยูลิซิสคนเจ้าเล่ห์กลับเสนอกลศึกม้าไม้เมืองทรอยที่จะซ่อนทหารกรีกไว้ข้างใน ซึ่งเขามั่นใจว่าพวกทรอยจะนำเข้าไป่ร่วมฉลองในเมือง และเปิดโอกาสให้ทหารกรีกสามารถลอบออกมาเปิดประตูเมืองให้ทหารกรีกทีซุ่มอยู่บุกเข้าไปในกำแพงเมืองได้

กษัตริย์ไม่ทราบชื่อ 1 พ่ายแพ้กับมนุษย์ แล้วถูกพระเจ้าทอดทิ้ง
กษัตริย์ไม่ทราบชื่อ 2 ข้าเคยนับเดือนด้วยการต่อสู้ โรคระบาด ความอดอยาก   แต่บัดนี้มันเป็นฝันร้ายที่ยาวนาน
กษัตริย์ไม่ทราบชื่อ 1 ข้าสู้สงครามตั้งแต่พวกท่านยังดูดนม แต่ไม่เคยเหมือนครั้งนี้เลย
กษัตริย์ไม่ทราบชือ 2  เรากลับไปที่เรือ แล้วแล่นกลับบ้านเถอะ
ยูลิซิส   อันนั้นเราทำแน่   ข้ามีแผน ซึ่งก่อนอื่นต้องให้โทรจันชนะ ต้องยอมขนาดนั้นเป็นอย่างน้อย
เมนาแลส  ท่านหมายถึงทรยศรึ
ยูลิซิส   แล้วแต่จะพูด แต่มาคุยถึงความจริงหน่อย   กองทัพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็แพ้มาแล้ว
กษัตริย์ไม่ทราบชื่อ 1 ท่านกำลังฝันอะไรอยู่ ยูลิซิส
ยูลิซิส   ข้ากำลังฝันถึงภรรยา เพเนโลป ผู้แสนดีและมั่นคง  และในฝัน ข้ากำลังกลับไปหานาง พร้อมกับสมบัติของทรอย
กษัตริย์ไม่ทราบขื่อ 1 แต่จะทำยังไง เรื่องนี้มันเกี่ยวกับงาน...  ที่อเพกอสและคนของเขากำลังทำในป่ารึเปล่า
ยูลิซิส พวกเขากำลังสร้างอนุสาวรีย์ให้กับชัยชนะของปารีสและเฮเลน ของขวัญจากเทพอาธีน่า ม้าศักดิ์สิทธิ์ซึ่งใหญ่โตและงดงาม ซึ่งทรอยอดไม่ได้ ที่จะรับเข้าไว้ในเมือง

 (8)   ปารีส กับ เฮเลน  ตอนก่อนที่ปารีสจะสิ้นใจในอ้อมแขนของเฮเลน

ปารีส   เมื่อครู่นี้ข้าคิดว่า เจ้าเป็นทาสสาวคนนั้น
เฮเลน   ข้าก็เป็นนี่ ไม่ว่ารักของท่านอยากให้ข้าเป็นอะไร  ไม่ว่าอะไรอยู่ในใจท่าน
ปารีส   เจ้าคือหัวใจข้า
เฮเลน   ปารีส ไม่


(9)   เมนาแลสกับเฮเลน  ตอนที่เมนาแลสสั่งให้เฮเลนล้างเลือดของปารีสออกจากมือ หลังจากที่ปารีสสิ้นใจแล้ว

เมนาแลส  เรือข้ามารับเจ้าแล้ว ไปสิ   ล้างเลือดมันออกไปด้วย
เฮเลน   ไม่มีทางเด็ดขาด มันคือเลือดข้าด้วย

(10)   เฮเลนคิดคำนึงอยู่ในใจตนเอง            ในตอนจบเมื่อเฮเลนถูกเมนาแลสใช้กำลังบังคับเอาตัวกลับไปสปาตาร์นั้น สิ่งเดียวที่ช่วยยึดเหนี่ยวให้นางยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ก็คือการที่นางรู้ว่าความรักที่นางมีต่อปารีสจะไม่มีวันตาย และหวนคิดถึงคำพูดระหว่างนางกับปารีสที่เคยให้คำมั่นกันไว้

เฮเลน   มันหายไปไม่ได้ใช่มั้ย ปารีส  ความรักที่เรามีอยู่  และการใช้ชีวิตร่วมกันและแบ่งปันกัน
ปารีส   ใช่ เฮเลน ไม่มีทาง
เฮเลน   ถ้าเช่นนั้น นี่ก็ไม่ใช่การบอกลา   ท่านจะอยู่กับข้าเสมอ
ปารีส   เจ้าก็เช่นกัน

 


14. ข้อมูลทั่วไป
 

ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ: Helen of Troy (The face that launched a thousand ships)

ชื่อเรื่องภาษาไทย: เฮเลน แห่ง ทรอย (ความงามที่เคลื่อนทัพเรือพันลำ)

ผู้อำนวยการสร้าง Robert Wise

ผู้เขียน:   Hugh Gray (screenplay), John Twist (screenplay)

วันที่เปิดฉายครั้งแรก 26 January 1956

ผู้แสดง

  • Rossana Podesta  Helen of Troy
  • Jacques Sernas  Paris (as Jack Sernas)
  • Cedrick Hardwicke  Priam (as Sir Cedric Hardwicke)
  • Stanley Baker   Achilles
  • Niall MacGinnis   Menalaus
  • Nora Swinburne  Hecuba
  • Robert Douglas   Agamemnon
  • Torin Thatcher  Ulysses
  • Harry Andrews  Hector
  • Janett Scott   Cassandra
  • Ronald Lewis   Aeneas
  • Brigitte Bardot  Andraste
  • Eduardo Ciannelli  Andros
  • Marc Lawrence  Diomedes
  • Maxwell Reed   Ajax

เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด  หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

  • (ยังไม่มี)

 
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ

หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ

Bookmark and Share

ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก www.youtube.com

ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์

 



ตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)

สปาร์ตาคัส เกิดอย่างทาส สู้อย่างทาส ตายอย่างทาส วันที่ 19/05/2013   21:36:29
คลีโอพัตรา ตอนที่ 3 คลีโอพัตรา นางพญาไอยคุปต์ (1999) วันที่ 19/05/2013   21:39:06
คลีโอพัตรา ตอนที่สอง เวอร์ชั่นปี 1963 วันที่ 19/05/2013   21:40:09
สารคดี Nefertiti and the Lost Dynasty: เนเฟอตีติ อมตะราชินี จาก NATIONAL GEOGRAPHIC วันที่ 19/05/2013   21:41:09
300 ขุนศึกพันธุ์สะท้านโลก วันที่ 19/05/2013   21:42:04
Hannibal (1959) "มีเมียแล้วไม่บอก!" วันที่ 19/05/2013   21:43:44
สารคดี Hannibal จาก BBC : เพราะเขาไม่ใช่คนเถื่อน? วันที่ 19/05/2013   21:44:49
Alexander มหาราชชาตินักรบ วันที่ 19/05/2013   21:45:44
Alexander the Great (1956) วันที่ 19/05/2013   21:46:41
แกะรอย อเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) วันที่ 19/05/2013   21:47:37
Taras Bulba (1962 film) (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   21:48:19 article
1612 (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   21:48:44 article
นักรบหญิง กวนอหังการ Gladiatress (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   21:49:12 article
Braveheart (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   21:49:41 article
Attila 2001 (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 07/04/2014   21:10:33 article



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker