dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



สี่เกล๊อะ จาไมก้า ว่าด้วยประวัติศาสตร์โอลิมปิกส์ฤดูหนาวแนวคอมเมดี้
วันที่ 19/05/2013   20:38:49

 

โดย "คนเล่าเรื่อง"

 เรื่องเริ่มต้นที่ประเทศจาไมก้าในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1987 เดริส  แบนน็อก ได้เข้าร่วมแข่งขันเพื่อคัดตัวนักกรีฑาทีมชาติจาไมก้า  ซึ่งเขาเองเป็นตัวเก็งที่จะเอาชนะและได้ไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกส์ฤดูร้อนใน ปีค.ศ.1988 ที่ประเทศเกาหลีใต้  แต่ด้วยความผิดพลาดในเกมส์อันเกิดจากจูเนียร์ เบวิลล์ ผู้เข้าร่วมการแข่งขันคนหนึ่ง ที่สะดุดหกล้มไปขัดขาของยูล บรินเนอร์ (คนละคนกับที่แสดงเป็นพระเจ้ากรุงสยามในละครบรอดเวย์นะครับ)  ผู้เข้าร่วมการแข่งขันอีกคนหนึ่ง แล้วจึงไปปะทะกับแบนน็อก  ทั้งสามจึงกอดคอกันตกรอบไป  ในการแข่งขันครั้งนี้ ซังก้า คอฟฟี่ เพื่อนสนิทของแบนน็อกซึ่งเป็นนักกีฬารถเลื่อน (pushcart) ได้มาร่วมให้กำลังใจด้วย

เออร์วิง

แบนน็อก

ซังก้า

บรินเนอร์

จูเนียร์

 ภายหลังความล้มเหลว  เดริส แบนน็อก ได้ทราบจากมิสเตอร์คูลลิดจ์เกี่ยวกับพ่อของเขาที่เคยเข้าร่วมทีมแข่งขันบ็อบสเลด  และได้รู้ว่า มีอดีตนักกีฬาบ็อบสเลดทีมชาติอเมริกาคนหนึ่งชื่อ เออร์วิ่ง  บลิทเซอร์ อาศัยอยู่ในจาไมก้าและประกอบอาชีพแทงม้าแข่ง   เขาจึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะจัดตั้งทีมบ็อบสเลดเพื่อเข้าแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกส์ฤดูหนาวที่เมืองคาลการี่ รัฐอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดาแทน  แบนน็อกได้ชักจูงซังก้าผู้พร้อมร่วมทุกข์สุขกับเพื่อนรัก  บรินเนอร์ ผู้พลาดหวังจากกรีฑาและต้องการหาความก้าวหน้าจากกีฬาอื่น และจูเนียร์ ผู้ต้องการสลัดการบงการชีวิตจากพ่อผู้เป็นมหาเศรษฐี เข้าร่วมทีมบ็อบสเลดทีมแรกของจาไมก้า และได้รับการฝึกฝนจากบลิทเซอร์  ซึ่งก็เป็นไปอย่างทุลักทุเล และเป็นที่ประหลาดใจของบรรดาผู้คนที่ได้พบเห็น

สเลดสำหรับฝึกซ้อมในจาไมก้า

การฝึกซ้อมที่ยากลำบากและทุลักทุเล

การตอบรับของบริษัทห้างร้านเอกชนเมื่อได้รับการร้องขอสปอนเซอร์

 เมื่อทุกคนก็เริ่มก้าวหน้าในด้านทักษะและเทคนิคต่าง ๆ แต่ยังขาดทุนทรัพย์สำหรับการใช้จ่ายเพื่อการแข่งขัน  ทีแรก แบนน็อกได้ขอจากบริษัท ห้างร้าน แต่ได้รับเสียงขบขันกลับมา  ทั้ง 4 จึงออกเรี่ยไรด้วยความสามารถที่ตัวเองมี ทั้งการเปิดหมวกร้องเพลงของซังก้า  การแข่งขันงัดข้อของบรินเนอร์  การขายจูบของแบนน็อกและซังก้า ซึ่งได้มาเล็กน้อย  แต่เป็นจูเนียร์เองที่ได้ขายรถยนต์ส่วนตัวมาใช้เป็นทุนทรัพย์มากพอสำหรับเข้าร่วมการแข่งขัน



ความพยายามหารายได้เพื่อเข้าร่วมแข่งบ็อบสเลด

 หลังจากผ่านการฝึกฝนมาจนพร้อมแล้ว ทั้ง 4 และโค้ชก็ได้เดินทางเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกส์ฤดูหนาว ซึ่งทั้ง 4 มาจากเมืองร้อนต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศอย่างยากลำบากและต้องฝึกซ้อมในสภาพที่มีอุปกรณ์จำกัดอย่างทุลักทุเล  ต้องอดทนกับการถูกดูถูกเหยียดหยามจากทีมบ็อบสเลดของชาติอื่น ๆ ฟันฝ่าการกีดกันที่ไม่เป็นธรรมของคณะกรรมการจัดการแข่งขัน  ตัวสเลดที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ช่วยเคี่ยวกรำให้ทั้ง 4 และโค้ชมีความมุ่งมั่นตั้งใจให้กับการฝึกซ้อมและการแข่งขันอย่างเต็มที่  แม้แต่ความขัดแย้งกันของทั้ง 4 คนในบางครั้งจากความแตกต่างในภูมิหลังและจุดมุ่งหมายของแต่ละคนในทีม  นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคอันไม่คาดคิดบางอย่างเกิดขึ้น คือ พ่อของจูเนียร์ได้ติดตามมาสั่งให้ลูกชายกลับบ้าน  แต่จูเนียร์ได้สลัดความเป็นเด็กหัวอ่อนทิ้งไปแล้ว จึงปฏิเสธคำสั่งของพ่อโดยสิ้นเชิง  อย่างไรก็ตาม  อุปสรรคและปัญหานานับประการเหล่านี้ได้ช่วยสร้างและหล่อหลอมให้ทั้ง 4 คนมีความแข็งแกร่งและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อจุดหมายที่ต้องการสูงสุด

การปรับตัวอันแสนยากลำบากต่อสภาพอากาศที่หนาวเหน็บ

สเลดสำหรับการฝึกซ้อมในสนามแข่ง

 และแล้วเมื่อถึงเวลาแข่งขัน ทีมจาไมก้าทำเวลาได้ไม่ดีในรอบแรก  จนโค้ชต้องมาปลอบและปลุกให้กำลังใจแก่ลูกทีมให้กลับมาแข่งขันในแนวทางของตัวเองจนสามารถทำสถิติได้เป็นอย่างดีจนเริ่มเอาชนะใจบรรดาผู้ชมในสนามและชาวจาไมก้าที่ติดตามจากการถ่ายทอดทางโทรทัศน์  กลายเป็นกระแสจาไมก้าฟีเวอร์  ดูเหมือนว่า ความสำเร็จนั้นจะอยู่ไม่ไกล  แต่แล้วในรอบชิงเหรียญทอง  ทีมจาไมก้าบังคับสเลดผิดพลาดในการแข่งขันจนเกิดอุบัติเหตุล้มคว่ำไปในที่สุด  แต่ไม่มีใครได้รับอันตราย  ทั้ง 4 เดินแบกสเลดไปตามรางจนเข้าเส้นชัย  ซึ่งได้รับเสียงปรบมือจากฝูงชนอย่างเกรียวกราว รวมทั้งพ่อของจูเนียร์ซึ่งเข้าใจในลูกชายและมาร่วมชมการแข่งขันด้วย หลาย ๆ ทีมเข้ามาแสดงความชื่นชมในสปิริตและเอ่ยปากเชิญชวนให้ทีมจาไมก้าเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกส์ฤดูหนาวครั้งต่อไป  ทั้งแบนน็อก  ซังก้า  บรินเนอร์  จูเนียร์ และโค้ชได้ถ่ายรูปร่วมกันเพื่อผนึกลงไปในความทรงจำตลอดชีวิต

ผู้ชมทางบ้านในจาไมก้า

การแข่งขันที่ดีขึ้นของจาไมก้า

กระแสจาไมก้าฟีเวอร์

 สี่เกล๊อะ จาไมก้า เป็นภาพยนตร์แนวคอมเมดี้ที่อิงประวัติศาสตร์จริงของกีฬาโอลิมปิกส์ฤดูหนาว ปี ค.ศ. 1988 เมืองคาลการี่ รัฐอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดาที่ทีมบ็อบสเลดจากประเทศจาไมก้าเข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งแรกซึ่งในเรื่องราวที่แท้จริงมีความแตกต่างกับในหนังทั้งตัวของนักกีฬา สตาฟฟ์โค้ช และเรื่องราวประกอบ  เพราะการดำเนินเรื่องไม่อิงกับพื้นฐานของความเป็นจริง  หลาย ๆ เหตุการณ์ในเรื่องคงไม่ต้องหาเหตุผลหรือความเป็นไปได้มากนัก  แต่เน้นความบันเทิงเป็นหลัก

 ในประวัติศาสตร์จริงแล้ว ในการก่อตั้งทีมบ็อบสเลดครั้งแรกเกิดจากคนอเมริกัน 2 คนได้รับมอบหน้าที่ในการจัดตั้งทีมบ็อบสเลดของประเทศจาไมก้า โดยจอร์จ บี ฟิทช์ (George B. Fitch) และวิลเลี่ยม มาโลนีย์ (William Maloney) มีครอบครัวและธุรกิจในจาไมก้า หลังจากได้เข้าชมการแข่งขันรถเลื่อน  พวกเขาจึงได้ความคิดว่ามีความคล้ายคลึงกับบ็อบสเลด

 เนื่องจากการแข่งขันบ็อบสเลดต้องใช้การออกสตาร์ทที่รวดเร็ว  มาโลนี่และฟิตช์ได้ตัดสินใจที่จะใช้นักกรีฑาระยะสั้น พวกเขาจึงเสาะหานักกรีฑาระยะสั้นในทีแรก  แต่ไม่มีใครสนใจ  ดังนั้น พวกเขาจึงนำเสนอควมคิดนี้กับนายพลเคน  บาร์นส์จากกองทัพบกจาไมก้า

ทีมบ็อบสเลดจาไมก้าตัวจริง

 สำหรับรายชื่อของนักกีฬาและโค้ชที่เข้าร่วมการแข่งขันบ็อบสเลดในครั้งแรก คือ

  •  เดวอน  แฮร์ริส (Devon Harris) ผู้หมวดแห่งกองพันที่ 2 กองทัพบกจาไมก้า
  •  ดัดลีย์  สโต๊กส์ (Dudley Stokes) เรืออากาศเอกจากกองทัพอากาศจาไมก้า
  •  ไอเดน แวน เดอ มอร์เทล (Aiden Van de Mortel) นักบิน
  •  ไมเคิล ไวท์ (Michael White) พลทหารจากกองกำลังสำรอง
  •  ซามูเอล เคลย์ตัน (Samuel Clayton) วิศวกรรถไฟ

 พวกเขาเหล่านี้ได้รับการฝึกสอนบ็อบสเลดที่เมืองนิวยอร์ก เป็นหลัก

หัวหน้าทีมบ็อบสเลดจาไมก้า เดวอน  แฮร์ริส

 ทีมบ็อบสเลด 4 คนของประเทศจาไมก้าได้ปรากฎตัวครั้งแรกในกีฬาโอลิมปิกส์ฤดูหนาวที่เมืองคาลการี่  อัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดาจริง พวกเขากลายเป็นที่ประทับใจเนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ประเทศในเขตร้อนได้เข้าร่วมการแข่งขันในกีฬาของประเทศในเขตหนาว  พวกเขาไม่ได้แข่งขันจนจบเพราะว่าพวกเขาไม่สามารถบังคับบ็อบสเลดและต้องเกิดอุบัติเหตุในระหว่างการแข่งขันรอบ 1 ใน 4 รอบ  อย่างไรก็ตาม  พวกเขาได้แสดงศักยภาพในการแข่งขันได้อย่างน่าประทับใจต่อผู้ชม  ภายหลังอุบัติเหตุในการแข่งขัน  พวกเขาได้แบกบ็อบสเลดเดินตรงไปยังเส้นชัยภายใต้เสียงปรบมืออย่างกึกก้อง

 ทีมจาไมก้าได้กลับเข้าร่วมการแข่งขันอีกครั้งในโอลิมปิกส์ฤดูหนาว ปี ค.ศ. 1992 ที่เมืองอัลเบอร์ตวิลล์ ประเทศฝรั่งเศส  แต่จบการแข่งขันได้อย่างไม่ประทับใจ  พวกเขาตกรอบอีกครั้งในโอลิมปิกส์ฤดูหนาว ปี ค.ศ. 1994 ที่เมืองลีลแฮมเมอร์  ประเทศนอร์เวย์  ซึ่งการแข่งขันครั้งนั้น ทีมจาไมก้าได้สร้างความตกตะลึงแก่ผู้ด้วยชมได้อันดับที่ 14 นำหน้าทีมจากสหรัฐอเมริกา รัสเซีย ฝรั่งเศส และอิตาลี่

ทีมจาไมก้าประสบอุบัติเหตุจนไม่สามารถแข่งขันต่อไปได้

ทั้ง 4 แบกสเลดเดินไปตามรางจนถึงเส้นชัย

ฝูงชนปรบมือให้กำลังใจแก่สปิริตของทีมจาไมก้า

 ใน ปี ค.ศ. 2000 ทีมจาไมก้าชนะเลิศและได้เหรียญทองในการแข่งขันชิงแชมป์บ็อบสเลดโลก  อย่างไรก็ตาม พวกเขาตกรอบคัดลือกเพื่อเข้าแข่งขันในโอลิมปิกส์ฤดูหนาว ปี ค.ศ. 2006 ที่เมืองโตริโน่ ประเทศอิตาลี่  ในโอลิมปิกส์ฤดูหนาว ปี ค.ศ. 2010 นี้ ที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา  ประเทศจาไมก้าไม่มีแผนที่จะส่งทีมบ็อบสเลดเข้าร่วมการแข่งขัน

  ดังที่บอกครับ เนื่องจากหนังเรื่องนี้ไม่ได้อิงพื้นฐานของความเป็นจริงมากนัก  ดังนั้น แง่มุมทางประวัติศาสตร์จริง ๆ จึงถูกละเว้นและแต่งเติมเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับโทนหนังที่เป็นคอมเมดี้  แต่ก็ได้ให้คุณค่าทางประวัติศาสตร์ในแง่ของความงดงามของกีฬาโอลิมปิกส์ฤดูหนาวที่ไม่จำกัดภูมิภาค ภูมิศาสตร์ และเชื้อชาติสามารถเข้าทำการแข่งขันได้ตามปรัชญาโอลิมปิกส์ที่แท้จริง นั่นคือ การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและมีเกียรติ  ซึ่งทีมจาไมก้าได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถและการทุ่มเทต่อเกมส์การแข่งขันอย่างเต็มที่จนชนะใจผู้ชม  ถึงแม้ว่าในท้ายที่สุด ทีมชาติจาไมก้าจะพ่ายแพ้ในรอบชิงชนะเลิศ  แต่ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ที่ประทับใจทุก ๆ คน

ฝูงชนเข้าห้อมล้อมเพื่อชื่นชมต่อทีมจาไมก้า

ทีมแข่งขันทีมอื่น ๆ เข้ามาร่วมชื่นชมด้วย

ทั้ง 4 ร่วมถ่ายรูปเป็นที่ระลึก

 ตัวละครแต่ละตัวต่างแสดงบทบาทได้มีสีสัน  สนุกสนาน และเต็มไปด้วยอารมณ์ขันตามสไตล์ของหนังดีสนีย์  การจัดแสง สีสันของฉากในเรื่องก็ดูสดใสมาก  ทำให้หนังเรื่องนี้ดูได้อย่างสบายใจกันทั้งครอบครัว และสร้างความบันเทิงไปพร้อม ๆ กับคติสอนใจเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ทรงคุณค่าได้เป็นอย่างดี เช่น ตอนที่บรินเนอร์แสดงความอวดโอ่ในความทะเยอทะยานของตนว่าจะต้องประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง ร่ำรวยและซื้อคฤหาสน์ตามรูปที่พกมาอวดต่อหน้าเพื่อนร่วมทีมโดยไม่รู้ว่า นั่นคือ พระราชวังบัคกิ้งแฮม  เมื่อได้รู้ความจริงแล้ว เขาจึงเกิดความระทดท้อ  แต่จูเนียร์ก็ปลอบใจเขาว่า  ถ้าเขายังมีความฝัน  เขาก็สามารถสร้างปราสาทของเขาเองได้ 

 สิ่งที่น่าสนใจในหนังเรื่องนี้อีกประการ คือ การสร้างภาพลักษณ์ของประเทศจาไมก้าให้มีความสวยงาม สนุกสนาน  และผู้คนต่างก็มีความน่ารัก อัธยาศัยที่ดีจนน่าไปเยี่ยมเยียน  ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง จาไมก้ายังเป็นประเทศที่เป็นเกาะในภูมิภาคอเมริกากลาง  และเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี  และอีกหลายด้านที่ยังแย่กว่าประเทศในภูมิภาคอื่นด้วยซ้ำไปครับ

เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด  หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย

 กำกับการแสดง  จอน เทอร์เติ้ลโทบ (Jon Turteltaub)

 อำนวยการสร้าง  ซูซาน บี แลนเดา (Susan B. Landau) คริสโตเฟอร์  เมเลดานดรี้ (Christopher Meledandry)

 เขียนบท  ลินน์  ซิฟเฟริ์ท (Lynn Siefert)

 นำแสดง 

  • ลีออน (แบนน็อก)
  • ดัก อี ดัก (ซังก้า)
  • จอห์น แคดี้ (เออร์วิง บลิทเซอร์)
  • รอว์ลี่  ดี  เลวิส (จูเนียร์ เบวิล)
  • มาลิก โยบ้า (ยูล บรินเนอร์)

 จัดจำหน่าย  วอลท์ ดีสนีย์

 กำหนดฉาย  ตุลาคม ค.ศ. 1993      

 ความยาว 98 นาที

 คำพูดจากภาพยนตร์

  •  I am not a lost little boy. Father I am a man. And I’m an Olympion. I’m stay in right here.
    ผมไม่ใช่เด็กน้อยหลงทาง พ่อ ผมเป็นลูกผู้ชาย และผมเป็นนักกีฬาโอลิมปิกส์ ผมจะอยู่ที่นี่
    (จูเนียร์พูดกับพ่อของเขาเมื่อมาตามตัวกลับ)
  •  Go ahead Yul Brenner. You go get your palace.
    ไปกันต่อ (ในเกมส์) เถอะ ยูล บรินเนอร์ นายจงไปสร้างปราสาทของนายเอง
    (จูเนียร์พูดให้กำลังใจบรินเนอร์เมื่อเขารู้ว่ารูปคฤหาสน์นั้นคือพระราชวังบัคกิ้งแฮม)
  •  You see Derice, I’d made winning my whole life And when you make winning your whole life, you have to kept on winning.
    นายรู้มั้ย เดริส ฉันทำเพื่อชัยชนะมาตลอดชีวิต และเมื่อนายได้ทำเพื่อชัยชนะตลอดชีวิตของนาย  นายต้องรักษามันไว้
    Derice  a gold medal is a wonderful thing. But you are not enough without it you’ll never be enough with it.
    เดริส  เหรียญทองเป็นสิ่งมหัศจรรย์  แต่นายไม่มีทางพอใจถ้าปราศจากมัน  และนายจะไม่มีวันพอใจกับมัน
    (เออวิงพูดเปิดใจกับแบนน็อกก่อนการแข่งขันรอบสุดท้าย)
  •  We have to finish the race
    เราต้องแข่งต่อให้จบ

    (เดริสบอกกับเพื่อนร่วมทีมให้ทำการแข่งขันให้จบหลังเกิดอุบัติเหตุ)

 อ่านเพิ่มเติม

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

  • (ยังไม่มี)

 
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ

หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ

Bookmark and Share

ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก www.youtube.com

ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์

หมายเหตุจาก Webmaster : นอกจากบทความแนะนำภาพยนตร์แล้ว ผู้เขียน ("คนเล่าเรื่อง") ซึ่งเคยใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองคาลการี่ สถานที่แข่งขันโอลิมปิคฤดูหนาวตามที่ปรากฏในเรื่อง ยังได้มีข้อมูลและรูปภาพเพิ่มเติมเกี่ยวกับเมืองนี้มาให้ด้วย เชิญชมอัลบั้มภาพดังกล่าวได้โดยคลิกที่ภาพตัวอย่างข้างล่างครับ


    อ้อ เกี่ยวกับเมืองคาลการี่นี้ ผม ("คนเล่าเรื่อง") ได้เคยไปใช้ชีวิตที่โน่นอยู่นานพอสมควร จึงขออธิบายรายละเอียดของเมืองคาลการี่ ประเทศแคนาดาให้ทราบกันต่อเลยนะครับ

    เมืองคาลการี่ (Calgary) นี้มีประชากรประมาณ 800,000 คน นับเป็นเมืองใหญ่พอตัว มีคนเอเชียเชื้อสายจีนอยู่ประมาณแสนกว่า แล้วก็มีทั้งเวียตนาม ลาว เขมร และเชื้อชาติอื่นๆ ทั่วโลก มีคนไทยอาศัยอยู่ประมาณ 100-200 คน  ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงไทยที่แต่งงานไปอยู่กับสามีที่โน่น อากาศที่โน่น เวลาหนาวหนาวจับใจติดลบได้ถึง 35 องศา  หิมะตกหนาได้เป็นเมตร ออกจากบ้านแต่ละคราวต้องใส่อย่างละ 3 ชั้น ถุงมือหนา หมวกไหมพรม  รองเท้าบู๊ตครึ่งแข้ง  ถึงจะเอาอยู่ ตลอดปีมีหิมะตกถึง 6 เดือน  ช่วงหน้าร้อนอุณหภูมิกำลังสบายเพียง 20-30 องศาเท่านั้นครับ ผมเคยไปยืนรอรถเมล์ท่ามกลางหิมะและอากาศหนาวที่ติดลบถึง 35 องศาตั้งเกือบชั่วโมง  ไม่รู้ว่ารอดตายมาได้อย่างไร

    คาลการี่เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนที่ราบใหญ่ของทวีปอเมริกาเหนือ  มีพื้นที่อันอุดมสมบรูณ์เหมาะแก่การเกษตรและยังมีน้ำมันซึ่งช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของคาลการี่และรัฐอัลเบอร์ต้าให้เจริญเติบโตได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ชาวนาคาลการี่คนหนึ่งคุยแบบอวดโม้ว่า  ในที่ราบนี้  ถ้าคุณปล่อยให้สุนัขของคุณวิ่งหนีไป  คุณจะเห็นมันวิ่งอยู่อย่างนั้นถึง 3 วันก่อนจะลับสายตาไป  คำเปรียบเทียบนี้คงแสดงถึงความกว้างใหญ่ไพศาลของที่ราบแห่งนี้เป็นอย่างดี

    ที่รัฐอัลเบอร์ต้านี้  ไม่มีการคิดภาษีท้องถิ่นหรือ provincial tax ผิดจากบริติชโคลัมเบียและบางรัฐที่คิดภาษีท้องถิ่นบวกเข้าไปในราคาสินค้าอีกประมาณ 4-5 เปอร์เซ็นต์หลังจากบวกภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว  รวมแล้วการซื้อของครั้งหนึ่งต้องเสียภาษี 10-12 เปอร์เซ็นต์

    เมืองนี้เป็นเมืองที่มีพื้นฐานดั้งเดิมแบบเคาบอย  ดังนั้น จึงมีเทศกาลแข่งเกวียนเสบียง  ขี่ม้าพยศ  และอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงในช่วงฤดูร้อนประมาณต้นเดือนกรกฎาคมทุกปี

    สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ท่านทรงเคยเสด็จเยือนเมืองนี้ในปี พ.ศ. 2544 ช่วงเดือนพฤษภาคมครับ  เฉินหลงมาถ่ายหนังเรื่อง Shanghai noon ที่นี่ และเข้าไปทานอาหารไทยในร้านอาหารไทยของเมืองนี้ จินตหรา พูนลาภเคยมาเปิดคอนเสริ์ตที่นี่  ท่านอุทัย พิมพ์ใจชนก็เคยมาเยือนเมืองนี้ครับ

    ที่คาลการี่นี้มีวัดไทยแห่งหนึ่ง เป็นสาขาวัดวชิรธรรมของหลวงพ่อวิริยัง มีพระจำพรรษาอยู่ 2 รูป  ไม่มีเด็กวัดและหมาวัด  เพราะลำพังหลวงพี่ท่านยังต้องอาศัยญาติโยมมาถวายภัตตาหารในช่วงวันหยุด แช่ตู้เย็นไว้ แล้วก็เอามาอุ่นไมโครเวฟเพื่อฉันเอาเองครับ  เรื่องบิณฑบาตไม่ต้องพูดถึง  ขืนบิณ จนเที่ยงก็ไม่ได้ฉันเพราะไม่มีครอบครัวไทยที่ไหนตื่นฝ่าลมหนาวออกมาใส่บาตร  ส่วนหลวงพี่จะหนาวตายเสียก่อน  วัดนี้จะเป็นศูนย์การจัดงานประเพณีแบบไทย ๆ เช่น สงกรานต์  อาสาฬหบูชา ลอยกระทงด้วยครับ

    ตอนผมไปตกยากที่เมืองนี้  ก็ได้อาศัยร้านอาหารไทย โรงแรม และร้านพิซซ่าหาค่าขนมและคอยรับประทานเพื่อเอาชีวิตรอดน่ะครับ  หลาย ๆ ท่านเชื่อไหมครับว่า การไม่ได้เจอกับพริกขี้หนู มะนาว น้ำปลา กระเทียมสักอาทิตย์ มันเหมือนกับคนติดผงจะลงแดงเสียให้ได้  ดังนั้น การได้ทำงานในร้านอาหารไทยจึงเป็นไปเพื่อการขอเขากินอาหารไทยแก้อาการลงแดงเป็นหลักครับ

    ตอนไปทำงานที่ห้องอาหารของโรงแรมแมริออด พ่อครัวรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เมืองนิวฟันแลนด์ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแคนาดา  มีกุ้งมังกรอยู่เป็นจำนวนมากทั้งในฟาร์มเลี้ยง ปากแม่น้ำ เต็มไปหมด ดังนั้น กุ้งมังกรจึงเป็นอาหารพื้น ๆ ของคนทางโน้น  รวมถึงเมื่อคนทางโน้นไม่มีอะไรจะกินก็จะไปจับกุ้งมังกรมากิน สรุปได้ว่า คนกินกุ้งมังกรในเมืองโน้นเป็นคนจนครับ

    ในด้านการศึกษา คาลการี่มีมหาวิทยาลัยประจำเมือง ชื่อ มหาวิทยาลัยคาลการี่ ไม่มีคนไทยเรียนเลยในช่วงเวลาที่ผมไป  แต่มีชาวเอเชียอื่น ๆ มาเรียนกันพอสมควร อย่างพวกแขกทั้งหลาย ชาวจีน ชาวเกาหลี  แล้วก็ชาวแอฟริกา
มหาวิทยาลัยแห่งนี้ติดอันดับท็อปเท็นของแคนาดาครับ อย่าว่าแต่คนต่างชาติเลย คนแคนาดาแท้ๆ ยังเข้าเรียนได้ยากมากๆ ตอนนั้น คนต่างชาติที่จะเรียนได้ต้องมีผลโทเฟิล 575 ขึ้นไปในสายวิทยาศาสตร์ คือ คณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ คณะสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ และ 600 ขึ้นไปในสายสังคม คือ คณะอักษรศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ คณะนิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ

    การเรียนการสอนแบบฝรั่งนี้ ใครที่เคยไปเรียนเมืองนอกมาคงทราบว่า เขาเรียนกันแบบผู้ใหญ่จริงๆ ไม่มีใครมาจ้ำจี้จำไช โปรเฟสเซอร์ไม่เคยเช็คชื่อ นักศึกษาที่มาเรียนก็มาเรียนจริงๆ ถ้าไม่เรียนก็โดดเรียนไปซะ ไม่มาคุยกันในห้องให้หนวกหู  การค้นคว้าที่หนักหนาสาหัสแบบว่าไม่ได้หลับไม่ได้นอนถือเป็นเรื่องปกติ  แต่บริการทรัพยากรสำหรับสนับสนุนการค้นคว้าและเรียนรู้ถือว่าครบครันทีเดียว หนังสือตำราเรียนที่นี่ก็แพงหูฉี่  ต้องอาศัยซื้อตำรามือสองมาอ่านเอาโดยองค์การนักศึกษาเขาเป็นคนกลางซื้อจากนักศึกษารุ่นหนึ่งมาจำหน่ายให้นักศึกษาอีกรุ่น  ผมซื้อแล้วก็ซื้อเลยทุกครั้ง ขนกลับมาทั้งหมด ไม่ยอมขายต่อครับ  เพราะเนื้อหาเป็นประโยชน์มาก

    ที่มหาวิทยาลัยนี้ เขามีสโมสรให้นักศึกษาเข้าไปหาความสำราญกัน อย่างโต๊ะสนุก  เกมส์  โรงภาพยนตร์  บาร์และคลับต่างๆ รวมถึงโรงพลศึกษาที่เราเข้าไปเล่นกีฬาได้ครับ

 



    คนที่นี่ เขาไม่รีบเรียนมหาวิทยาลัยกันนะครับ  พอจบไฮสคูลแล้ว ก็อาจจะไปทำงานสักระยะ  แล้วแต่ว่าใครชอบทางไหน  ถ้าเกิดชอบงานแบบไม่ต้องใช้สมองก็เอาดีทางนี้ได้  เพราะค่าแรงมันแพง  บางรายก็ไปอบรมเพิ่มเติมเฉพาะทางกับวิทยาลัยอาชีวะเพื่อเพิ่มดีกรีให้ตัวเอง  ตรงนี้ มีคนไทยมาเรียนกันเยอะ เพราะมันไม่ได้เรียนลึกซึ้งมาก ผมเคยเข้าไปนั่งเรียนบางคอร์ส  พบว่า องค์ความรู้พื้นฐานบางอย่าง  วิทยาลัยอาชีวะเราเข้มกว่าเยอะ อ้อ ดังที่บอกว่า คนที่นี่ไม่รีบเรียนมหาวิทยาลัย พอเขาทำงานจนพอใจและคิดว่าอยากมีอนาคตที่ก้าวหน้า  จึงมาเรียนมหาวิทยาลัย ดังนั้น นักศึกษาที่นี่จึงมีพวกนักเรียนโข่ง รุ่นลุงรุ่นป้ากันเยอะ  และฝรั่งนี่เขาไม่นิยมเรียนกันสูงๆ จบโทจบเอกกันเกร่ออย่างเรานะครับ  ถ้าไม่ใช่กลุ่มนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิชาการละก็  เขาเรียนจบกันแค่ ป.ตรี ก็พอแล้ว  ค่าจ้างนั้นจะขึ้นอยู่กับการอบรมเฉพาะทาง  ความเชี่ยวชาญพิเศษบางอย่าง  และที่สำคัญคือประสบการณ์ครับ  แล้วคนที่นี่ เขาเสมอภาคกันคล้ายๆ กับอเมริกัน  ไม่มีการดูถูกหรือกีดกันด้วยระดับการศึกษาครับ

    แล้วอีกประเภทคือ วิทยาลัยสอนภาษาที่พวกผู้ปกครองส่งลูกหลานมาเรียนซัมเมอร์กัน  เสียเงินเสียทองเป็นแสนๆ แต่ไม่ค่อยได้อะไรนัก  เท่าที่ผมสัมผัสนี่ ความสำเร็จขึ้นอยู่กับโฮสท์ที่รับเด็กเหล่านี้ไว้  ถ้าโฮสท์ดี  ช่วยดูแลและพยายามจูงใจให้เด็ก ๆ ใช้ภาษา ก็จะสำเร็จครับ  แต่ผมก็ยังขอยืนยันว่า  การรู้ภาษาเพื่อการสื่อสารกับการรู้ภาษาเพื่อการศึกษาเชิงลึกเฉพาะทาง มันคนละระดับกันนะครับ

    สำหรับโอลิมปิกส์สเตเดี้ยมกีฬาโอลิมปิกส์ฤดูหนาวในเมืองคาลการี่นี้  เป็นสถานที่สำหรับให้ผู้มีความสนใจและถนัดกับการเล่นสกี บ็อบสเลด และอื่น ๆ ได้เข้าไปเล่นกัน  และก็ได้เคยไปดูการแข่งขันบ็อบสเลดของจริงมาด้วย ตื่นเต้นและหวาดเสียวดีครับ  ในหนังจะมีภาพของการฝึกซ้อมฮ้อกกี้นำแข็งด้วย  ซึ่งสถานที่นั่นคือ คาลการี่แซเดิ้ลโดม ซึ่งเป็นฮอลล์สำหรับจัดแข่งขันฮ็อกกี้น้ำแข็ง ฟิกเกอร์ สเก็ตช์ด้วยครับ

    แหล่งท่องเที่ยวสำคัญและมีชื่อเสียงก้องโลกของรัฐอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา คือ อุทยานแห่งชาติแบมฟ์ และทะเลสาบหลุยส์ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ครับ

    อุทยานแบมฟ์นี้ตั้งอยู่ในรัฐอัลเบอร์ต้า ตั้งอยู่ติดสันปันน้ำด้านตะวันออก เป็นที่รู้จักกันครั้งแรกสมัยสร้างทางรถไฟข้ามทวีปในทศวรรษที่ 1880 ความโดดเด่นของอุทยานแห่งชาติแบมฟ์คือ เทือกเขาร็อกกี้อันงดงามตระการตา  ป่าไม้อันอุดมสมบรูณ์และเขียวขจีในฤดูร้อน  หุบเขาอันสวยงามและชวนพิศวง มีสมญานามว่าเป็นอัญมณีแห่งเทือกเขาร็อกกี้  เคยถูกใช้เป็นฉากถ่ายหนังเฉินหลงมาแล้วครับในเรื่อง Shanghai noon มีบริการกระเช้า (Gondola) ขึ้นยอดเขา Sulphur ในอุทยานด้วยครับ

    นอกจากนี้ แบมฟ์ยังมีบริเวณเมืองที่เป็นชุมชนของชาวอินเดียนแดงซึ่งบ้านเมืองหลายแห่งยังคงบรรยากาศแบบคาวบอยผสมอินเดียนแดงไว้  ชาวญี่ปุ่นชอบมาเที่ยวที่นี่มากครับ  ของที่ระลึกที่นี่จะเป็นแบบอินเดียนแดงซะเป็นส่วนใหญ่

    โรงแรมแบมฟ์สปริงส์ซึ่งอยู่ในอุทยานนั้นเป็นอาคารแบบปราสาทบารอนสก็อตสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1888 โรงแรมนี้มีขนาด 600 ห้อง  เล่ากันว่ามีผีสิงอยู่ที่ชั้นเก้า (ซึ่งผมไม่เคยพักครับเลยไม่ได้พิสูจน์)
สรุปแล้ว แบมฟ์นั้นเป็นอุทยานที่สวยงามมากในแบบป่าสนในเขตหนาวตามแบบที่หนังฝรั่งมักใช้เป็นฉากกันครับ
สำหรับทะเลสาบหลุยส์หรือเลคหลุยส์นั้น ชาวผิวขาวได้มาพบกับเลคหลุยส์ครั้งแรกโดยการสำรวจเพื่อวางทางรถไฟเมื่อปี 1882 โดยนาย Tom Willson ได้มาพบทะเลสาบแห่งนี้และตั้งชื่อว่า ทะเลสาบมรกต และต่อมาได้ตั้งชื่อเป็นทางการว่าทะเลสาบหลุยส์ ตามพระนามของเจ้าฟ้าหญิงหลุยส์ พระราชธิดาในสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ที่ฉากหลังของเลคหลุยส์นั้นมีธารน้ำแข็งวิคตอเรียที่สวยงามมากครับ

    เลคหลุยส์นั้นมีโรงแรมชั้นหนึ่งที่ราคาแพงมากๆๆๆ ชื่อว่าชาโตเลคหลุยส์ซึ่งผมไม่เคยพักหรอกครับ ผมไปเที่ยวที่เลคหลุยส์หลายครั้งทั้งในช่วงหน้าหนาวและหน้าร้อน  ทั้งไปกับครอบครัวคนไทยหรือไม่ก็ไปกับเพื่อนฝูงในมหาวิทยาลัย ไปกางเต็นท์นอนและทำปิกนิกกันแบบง่ายๆ ในช่วงหน้าร้อน เราก็พายเรือแคนนูกันในทะเลสาบ  นับว่าสนุกสนานไม่เบาเลยครับ

 



ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย

71: Into the Fire สมรภูมิไฟล้างแผ่นดิน วันที่ 19/05/2013   20:31:42
May 18 - พฤษภาทมิฬของเกาหลีใต้ วันที่ 19/05/2013   20:32:36
CHE 2008 วันที่ 19/05/2013   20:34:01
เช! ความสำเร็จและความล้มเหลวของสงครามประชาชน วันที่ 19/05/2013   20:34:55
Exodus - อีกตำนานกำเนิดประเทศอิสราเอล วันที่ 19/05/2013   20:36:13
ความรุ่งโรจน์ ในโลกมืด ของ เรย์ ชาลส์ วันที่ 19/05/2013   20:39:38
Cast A Giant Shadow : ศึกรบศึกรักของขุนพลยิวอเมริกัน วันที่ 19/05/2013   20:40:41
Black Hawk Down วันที่ 19/05/2013   20:41:45
The Motorcycle Diaries บันทึกลูกผู้ชาย ชื่อ...เช วันที่ 19/05/2013   20:42:51
ฟอร์เรสต์ กัมป์ ยำใหญ่ประวัติศาสตร์อเมริกาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 วันที่ 19/05/2013   20:43:50
สารคดี Che Guevara วันที่ 19/05/2013   20:44:52
The Front Line (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   20:45:40 article
The Last King of Scotland (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   20:46:14 article
Hotel Rwanda (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   20:46:40 article
Apollo 13 (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   20:47:12 article
เท กึก กี เลือดเนื้อเพื่อฝัน วันสิ้นสงคราม (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   20:47:39 article
The Lady อองซานซูจี ผู้หญิงท้าอำนาจ (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   20:48:07 article



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker