webmaster@iseehistory.com
สองคู่พระคู่นางไทย-จีนที่แสดงนำ
"จีนไทย ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน" คำขวัญที่กลับไม่ค่อยจะได้ยินกันแล้วในช่วงเวลาที่คนไทยกำลังเห่อตั้งชื่อลูกให้หมีแพนด้าที่เชียงใหม่ เพราะในความเป็นจริงคำขวัญนี้กลับไปฮิตในช่วงที่คนไทยทั่วไปยังรู้สึกแปลกแยกกับคนไทยเชื้อสายจีน เป็นที่ทราบกันดีว่าในอดีตมีคนจีนอพยพเข้ามาในเมืองไทยอยู่ไม่ขาดสาย และย่อมจะมีบทบาทในประวัติศาสตร์ไทยทั้งทางบวกและทางลบอยู่บ้างตามเหตุการณ์แต่ละยุคสมัย บทบาทของคนจีนในสังคมไทยหรือคนไทยเชื้อสายจีนด้านหนึ่งที่น่าจดจำกันคงไม่พ้น การกอบกู้ประเทศจากการเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่าเป็นครั้งที่สอง ที่สำเร็จลงได้ด้วยผู้นำคือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชผู้ทรงมีเชื้อสายจีน และทหารหาญชาวไทยเชื้อสายจีนจำนวนหนึ่ง และนี่คงเป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งของการสร้างภาพยนตร์ร่วมกันระหว่างไทยกับฮ่องกงในเรื่อง "จงอางผยอง" ที่ออกฉายเมื่อ 23 มกราคม 2514
ชาวบ้านไทย-จีนฉลองตรุษจีนร่วมกัน
ฉากการปล้นหมู่บ้าน
ภาพยนตร์เริ่มเรื่องในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา (น่าจะเป็นพ.ศ.2295) ที่หมู่บ้านบางปลาสร้อยซึ่งตั้งอยู่ริมทะเล ที่อยู่ของเด็กไทยจีน 4 คน คือ เพชร เจียงไฮ แข และหลินหลิน ขณะที่ชาวบ้านไทยจีนที่กำลังฉลองตรุษจีนร่วมกันอย่างสนุกสนาน ก็มีกลุ่มโจรนำโดย อิน เอิบ ดวง และ เอี้ยง เข้ามาปล้นหมู่บ้าน และได้เข่นฆ่าทำร้ายผู้ที่ต่อสู้ขัดขืนไปหลายราย รวมถึงบิดามารดาของเด็กทั้ง 4 ถูกสังหารหมด นอกจากแม่เจิดมารดาของแขที่ถูกฟันแขนขาด และเด็กทั้ง 4 ซึ่งรอดชีวิตมาได้ ต่างสาบานว่าอีก 15 ปีจะกลับมาล้างแค้น ก่อนที่เจียงไฮและหลินหลินจะตามก๋งไปฝึกวิชาการต่อสู้ที่เมืองจีน
เจียงไฮและหลินหลินกลับมาพบแขตามที่สาบาน ยังขาดแต่เพชร
ค่ายขุนอินทเดชะ
สามสหายปลอมตัวเข้ามาในค่ายขุนอินทเดชะ
15 ปีผ่านไป ที่สำนักดาบโพธิ์ทองคำ แขซึ่งโตเป็นสาว ได้พยายามขอร้องไม่ให้แฟนหนุ่มชื่อเสือไปเป็นทหารที่คลองพลู ค่ายทหารของขุนอินทเดชะ แต่ไม่เป็นผล มิหนำซ้ำแขและแม่เจิดยังได้ทราบว่าแท้ที่จริง เขาเป็นลูกชายของเอิบน้องชายของขุนอินทเดชะหรืออินหัวหน้าโจรที่เข้าปล้นบ้านบางปลาสร้อยในครั้งนั้น โดยเอิบเป็นผู้ฟันแขนแม่เจิดขาดนั่นเอง แม้ว่าสองแม่ลูกจะรู้สึกเคืองแค้น แต่ก็ไม่ได้บอกความจริงกับเสือ คงปล่อยให้แขไปพบกับเสือเพื่อร่ำลากัน แต่เมื่อแขกลับมาที่พักก็พบว่าแม่ถูกฆ่าตายโดยไม่ทราบชัดว่าใคร (แต่เชื่อว่าผู้ชมคงเดาได้) ขณะที่แขกำลังร่ำไห้ที่หลุมศพแม่ที่นำมาฝังเคียงข้างพ่อ ก็ได้พบกับเจียงไฮกับหลินที่พึ่งกลับจากเมืองจีนมาตามคำสาบาน แขเล่าให้เพื่อนจากเมืองจีนทราบว่าขณะนี้อินได้เป็นขุนอินทเดชะก่อนที่กรุงจะแตก และซ่องสุมผู้คนอยู่ที่คลองพลูอ้างว่าจะร่วมกู้ชาติกับพระยาตาก ทีแรกทั้งสามตั้งใจจะรอปรึกษาเพชรก่อน โดยไม่ทราบว่าเพชรได้แฝงตัวเข้าไปอยู่ในค่ายคลองพลูในชื่อว่าเปลว เพื่อสืบข่าวให้กับพระยาตากอยู่ เมื่อทั้งสามรอเพชรไม่ไหว จึงปลอมตัวเป็นพ่อค้าเข้าไปหวังจะทำร้ายขุนอินกับพวก แต่ไม่สำเร็จเนื่องจาก "เปลว" และเสือเข้ามาขัดขวาง ทำให้แขกับหลินหลินถูกจับตัว เจียงไฮหนีรอดไปได้โดยเข้าใจว่าเพชรทรยศเพื่อน
ดาบไทยปะทะกระบี่จีนด้วยความไม่เข้าใจระหว่างเพื่อน
นอกจากบทบู๊แล้ว การแสดงแบบไทยๆ ก็มีให้ดู
ขุนอินออกเดินทางไปธุระอ้างว่าไปพบพระยาตาก อีกด้านหนึ่ง ทหารของขุนอินได้ตามจับและสังหารม้าด่วนของพระยาตาก ยึดสาส์นลับไว้ เจียงไฮเข้ามาพบและสังหารคนของขุนอิน แล้วเกิดการต่อสู้กับเพชรซึ่งยังเข้าใจผิดกันอยู่ แต่เมื่อเจียงไฮได้ดูสาส์นลับจึงทราบความจริงว่าเพชรจำต้องปลอมตัวเป็นสายให้พระยาตาก แล้วจึงนัดหมายกันที่จะหาทางช่วยเหลือแขกับหลินหลินออกมาจากที่คุมขัง เมื่อขุนอินกลับมายังค่าย เพชรถูกจับได้ขณะพยายามช่วยเพื่อนหญิงทั้งสองเพราะที่จริงคนของขุนอินที่ตามจับม้าเร็วของพระยาตากแล้วถูกเจียงไฮทำร้ายนั้น รอดชีวิตมาได้คนหนึ่งและได้ยินที่เพชรพูดกับเจียงไฮตลอด ขุนอินจับเพชรมัดไว้กับพื้นแล้วบอกความจริงว่าที่ไปธุระมานั้นคือไปพบโปสุพลา แม่ทัพพม่าเพื่อขนปืนใหญ่และกระสุนดินดำมาใช้โจมตีกองทัพของพระยาตากในวันที่จะยกทัพผ่านค่ายคลองพลู แล้วจึงให้ลูกน้องเอาด้ามดาบกระแทกมือเพชรเพื่อหวังให้เพชรหมดฤทธิ์
แถวหน้า เอิบ เอี้ยง และอินหรือขุนอินทเดชะ แถวหลัง เสือ กับดวง
คนไทยขายชาติกับปืนใหญ่ของพม่าดักรอโจมตีกองทัพพระยาตาก
ส่วนหนึ่งของฉากรบอันดุเดือด
เจียงไฮได้ลอบเข้ามาช่วยเพื่อนทั้งสามออกมาจากค่ายคลองพลูได้ แขได้เสนอความเห็นว่าควรไปขอกำลังจากสำนักดาบโพธิ์ทองคำมาช่วยในการกำจัดขุนอิน แต่อาจารย์ของแขไม่เชื่อว่าขุนอินจะขายชาติจึงจับกุมทั้งสี่ไว้ กว่าท่านครูจะทราบความจริงจากชาวบ้านที่มาส่งข่าวคอนเฟิร์มให้ได้ ก็เล่นเอาคู่พระคู่นางทั้งสี่ของเราเหนื่อยไปตามๆ กัน เพชรต้องแก้ปัญหาเรื่องมือเจ็บโดยขอให้หลินหลินเอาผ้ามัดดาบไว้กับมือ แล้วทั้งสี่ก็นำท่านครูกับบรรดาศิษย์สำนักดาบโพธิ์ทองคำไปจัดการถล่มค่ายคลองพลูของขุนอิน โดยทั้งสี่สามารถสังหารผู้ที่ฆ่าพ่อแม่ของตนได้ แล้วจัดการทำลายค่ายคลองพลูตลอดจนปืนใหญ่ของขุนอินจนสิ้นซาก พระยาตากจึงสามารถเดินทัพผ่านคลองพลูมุ่งสู่จันทบุรีได้
เจียงไฮใช้ปืนใหญ่ทำลายค่ายขุนอิน แล้วทำลายปืนใหญ่ทิ้ง
ในด้านประวัติศาสตร์นั้น คงเอาอะไรมากไม่ได้กับภาพยนตร์ที่อิงประวัติศาสตร์จากจุดเล็กๆ ในประเด็นกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน กับการที่ "พระยาตาก" จะต้องเดินทัพผ่านระยองไปยังจันทบุรี ตรงนี้ผมมองว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการ "อิงประวัติศาสตร์" ที่ว่า หากจะเน้นความบันเทิงแล้ว ก็ควรจะแยกส่วนที่เป็นเรื่องสมมติออกมาชัดๆ และแตะต้องเหตุการณ์จริงหรือตัวละครจริงในประวัติศาสตร์เท่าที่จำเป็น ไม่ใช่ว่าเอาประวัติศาสตร์มาใส่สีใส่ไข่จนเละแล้วมาอ้างดื้อๆ ว่าทำเพื่อบันเทิงไม่ใช่สารคดี แต่ประเด็นด้านที่น่าคิดด้านความสมจริง คือการที่พม่าจะยอมลงทุนขนแต่ปืนใหญ่มาช่วยอินยิงสกัดกองทัพพระเจ้าตากโดยไม่กลัวว่าจะพลาดพลั้งเสียปืนเหล่านี้ไปเปล่าๆ หรือถูกฝ่ายใดนำกลับมาใช้เล่นงานฝ่ายตนดังที่ทางกรุงศรีอยุธยาเคยกลัวจนไม่ยอมให้ปืนใหญ่แก่ชาวบ้านบางระจันเชียวหรือ และเมื่อ "พระยาตาก" ทราบว่าสายสืบของตนไม่กลับมาแล้ว ยังจะยอมเดินทัพผ่านจุดอันตรายโดยไม่ได้ดำเนินการอย่างอื่นเพื่อระวังป้องกันเลยหรือ ฯลฯ
กองทัพพระยาตากที่เดินผ่านคลองพลูได้อย่างปลอดภัย
ด้านบทบู๊นั้น เรียกได้ว่าสามารถนำความโลดโผนแบบกำลังภายในมาผสมผสานกับการต่อสู้แบบไทยๆ รวมถึงวิชาคงกระพันได้อย่างลงตัว ไม่มีใครด้อยกว่ากัน แต่บางฉากก็ออกจะโหดไปสักนิดกับการตัดหัวตัดแขนตัวละคร จนต้องระวังกันหน่อยสำหรับเยาวชน
ด้านเครื่องแต่งกายนั้น ชุดของสมบัติเหมือนจะดัดแปลงมาจากหนังฝรั่งที่ไหนสักเรื่อง ชุดของพระเอกนางเอกฝ่ายจีนนั้น ทีแรกก็เหมือนชุดในหนังกำลังภายในทั่วไป แทนที่จะเป็นชุดยุคราชวงศ์ชิงที่ผู้ชายต้องไว้ผมเปีย พอตอนต่อๆ มา ชุดของเจียงไฮแทบจะเหมือนใส่เชิ้ตผูกไทแดงไปเลย ชุดของนางเอกทั้งสองตั้งแต่ตอนปลอมตัวเข้าไปในค่ายผู้ร้ายดูเหมือนจะไม่ใช่ชุดของคนในยุคนั้น แต่ถ้าแกล้งๆ ลืมก็พอผสมผเสไปกับเนื้อเรื่องได้เหมือนกัน
ด้านฉากและสถานที่นั้น แม้ว่าผู้สร้างจะได้พยายามลงทุนสร้างค่ายคลองพลู ให้ดูสมจริงสมจัง รวมถึงยอมระเบิดทิ้งจริงๆ ในตอนท้าย แต่ดูเหมือนว่าการใช้มุมกล้องหรือการดูจาก VCD จะไม่ค่อยทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นค่ายที่ใหญ่โตอะไรนัก ด้านจำนวนคนนั้น ได้มีความพยายามเกณฑ์กันมาเข้าฉาก ทั้งฝ่ายของขุนอิน ฝ่ายสำนักดาบ และกองทหารของพระยาตาก แต่ในตอนท้ายบางช่วงก็เห็นได้ชัดว่าทางฝ่ายนักดาบของท่านครูต้องใช้ผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่
Happy Ending กันตามระเบียบ
ในภาพรวมแล้ว ถือว่าเป็นหนังพอดูได้เพลินๆ สำหรับคนที่ชอบบทบู๊แบบไทยๆ และ/หรือแบบกำลังภายใน โดยไม่ต้องซีเรียสกับแบ็คกรานด์ทางประวัติศาสตร์มากนัก
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
ชื่อเรื่องภาษาไทย : จงอางผยอง
เรื่องเดิม : อรวรรณ
ผู้กำกำกับ : น้อย กมลวาทิน
ผู้สร้าง : สยามสโคป โดย วีระ พิทักษ์รัตนาชัย ร่วมกับ บริษัท คาเธ่ย์ แห่งฮ่องกง
ผู้เขียนบท : พลังจิต/วีนัส
ผู้แสดง :
- สมบัติ เมทะนี - เพชร/เปลว
- ลี หลิน หลิน - หลินหลิน
- เจียงไฮ - เจียงไฮ
- สุทิศา พัฒนุช - แข
- ประจวบ ฤกษ์ยามดี - อิน/ขุนอินทเดชะ
- พฤหัส บุญ-หลง - ท่านครู
- อดินันท์ สิงห์หิรัญ - ดวง
- จุรี โอศิริ - เจิด
- สังข์ทอง สีใส
- พยงค์ มุกดาพันธ์
- จิระศักดิ์ ปิ่นสุวรรณ - เสือ
- พันคำ
- อดุลย์ ดุลยรัตน์
- วิไลวรรณ วัฒนพานิช
- เสน่ห์ โกมารชุน
- ฯลฯ
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ
หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์