
โดย "คนเล่าเรื่อง"
เรื่องเริ่มต้นที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนในปี ค.ศ. 1981 ซ่งชิ่งหลิงบุตรสาวคนที่สามในวัยชราของตระกูลซ่งได้ล้มป่วยลงอย่างหนักจนหมดทางรักษา เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจึงได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังรัฐบาลให้ส่งโทรเลขไปถึงสถานทูตในสหรัฐอเมริกาเพื่อส่งข่าวไปถึงซ่งเหม่ยหลิงบุตรสาวคนเล็กที่อาศัยอยู่ที่นั่น และบอกว่าซ่งชิ่งหลิงอยากให้มาพบเพื่อดูใจ และที่ลองไอส์แลนด์ เมืองนิวยอร์ก ซ่งเหม่ยหลิงซึ่งนั่งรถเข็นได้ทราบเรื่อง ได้แต่รำพึงรำพันโดยยังไม่ตัดสินใจทำอะไร ในขณะที่ซ่งชิ่งหลิงที่ป่วยหนักยังคงถามหาซ่งเหม่ยหลิง
จากนั้น จึงตัดมาถึงตอนที่ประเทศจีนในยุคปลายของราชวงศ์ชิงในระบอบจักรพรรดิ ซึ่งได้มีชาวจีนจำนวนมากพยายามต่อต้านทั้งทางลับและทางแจ้ง ซึ่ง ดร. ซุนยัดเซ็น ก็นับเป็นผู้นำขบวนการต่อต้านที่ถูกหมายหัวคนหนึ่ง แต่เขาได้รับความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ จากชาวจีนผู้รักชาติ คนหนึ่งคือ ชาร์ลี ซ่ง หรือ ซ่งเอี้ยวหยูเจ้าของโรงพิมพ์ชาวจีนผู้นับถือศาสนาคริสต์ได้ช่วยเหลือเขาอย่างเต็มที่ ซ่งเอี้ยวหยู มีบุตรสาวสามคน คือ ซ่งอ้ายหลิง ซ่งช่งหลิง และซ่งเหม่ยหลิง ซึ่งเด็กหญิงทั้ง 3 ได้พบเห็นการสนับสนุนการต่อสู้ของ ดร.ซุนยัดเซ็นโดยพ่อของพวกเธอด้วย จากนั้น ซ่งเอี้ยวหยูได้ส่งลูกสาวทั้ง 3 ไปเรียนต่อที่อเมริกา (ในประวัติศาสตร์ ทั้ง 3 ไม่ได้เดินทางไปเรียนพร้อมกัน)

สามพี่น้องตระกูลซ่งวัยสาวตัวจริงกับในภาพยนตร์ จากซ้ายไปขวา ซ่งอ้ายหลิง ซ่งชิ่งหลิง และซ่งเหม่ยหลิง

ซ่งเอี้ยวหยูหรือ ชาร์ลี ซ่ง

ซ่งเอี้ยวหยูกับภรรยาในภาพยนตร์

สามพี่น้องตระกูลซ่งวัยเด็กเดินทางไปอเมริกา
และแล้ว ประเทศจีนก็ได้เปลี่ยนการปกครองจากระบอบฮ่องเต้ที่มีอายุยืนยาวนับพันปีมาเป็นระบอบสาธารณรัฐในปี ค.ศ. 1911 เมื่อทั้ง 3 คนทยอยเดินทางกลับมา ซ่งอ้ายหลิงซึ่งทำงานเป็นเลขาส่วนตัวของ ดร.ซุนยัดเซ็นได้ระยะหนึ่งแล้วจึงลาออกมาแต่งงานกับข่งเสียงซี ทายาทรุ่นที่ 75 ของมหาปราชญ์ขงจื๊อ ผู้มีการศึกษาสูงจากต่างประเทศและมีทรัพย์สมบัติอันร่ำรวยของตระกูล แล้วซ่งชิ่งหลิงจึงได้ทำงานเป็นเลขา ดร. ซุนยัดเซ็นแทนพี่สาว แต่ประเทศจีนในขณะนั้น นอกจากจะยังไม่เป็นปึกแผ่นแล้ว ยังเกิดความแตกแยกเป็นก๊กเหล่าของบรรดาขุนศึก ซ่งชิ่งหลิงได้ทุ่มเทกายและสติปัญญาให้อย่างเต็มที่ต่อนักปฎิวัติผู้อุทิศตัวให้กับชาติและประชาชนอย่างแท้จริง จนกระทั่งต่อมา เธอได้ทุ่มเทใจให้กับ ดร. ซุนยัดเซ็น และได้มีความก้าวหน้าในการงานจากตำแหน่งเลขามาเป็นภรรยาคู่ชีวิต ภายใต้การคัดค้านและกีดกันขนาดตัดพ่อตัดลูกและตัดเพื่อนของซ่งเอี้ยวหยูผู้เดือดดาลต่อการเปลี่ยนสถานะของเพื่อนอย่าง ดร.ซุนยัดเซ็นมาเป็นลูกเขย
งาน การรวบรวมชาติของ ดร.ซุนยัดเซ็นไม่ราบรื่น มีแต่ปัญหาและอุปสรรคมากมาย รวมทั้งศัตรูผู้ปองร้าย นั่นคือ บรรดาขุนศึกทั้งหลายที่ต่างมาร่วมมหกรรมสงครามชิงแผ่นดินในครั้งนี้ เขาต้องบริหารประเทศอย่างกระพร่องกระแพร่งและต้องหลบหนีจากศัตรูผู้ปองร้ายไปด้วย และครั้งที่หนักที่สุด คือ การยิงถล่มทำเนียบประธานาธิบดี (ในประวัติศาสตร์ ถือเป็นการปองร้าย ดร.ซุนยัดเซ็นที่หนักที่สุดในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1922) ซึ่งเจียงไคเช็กนายทหารหนุ่มอนาคตไกลได้รีบรุดไปช่วยเหลือ แม้ว่าจะต้องละจากการชมอุปรากรฉากสำคัญและต้องละจากการทำความรู้จักกับซ่งเหม่ยหลิงซึ่งมาชมอุปรากรนั้นด้วย การยิงถล่มทำเนียบครั้งนั้นสร้างความลำบากและความเสี่ยงต่อชีวิตให้กับ ดร.ซุนยัดเซ็นและซ่งชิ่งหลิงอย่างมากจนกระทั่งเธอต้องแท้งลูกในท้องไป

งานแต่งงานของซ่งอ้ายหลิง

ซ่งชิ่งหลิงทำงานเป็นเลขาให้ ดร.ซุนยัดเซ็น

ดร.ซุนยัดเซ็นกับซ่งชิ่งหลิง
ดร. ซุนยัดเซ็นนิยมชมชอบในตัวของเจียงไคเช็กมาก จึงได้สนับสนุนให้ตั้งกองทหารของสาธารณรัฐและโรงเรียนนายทหารหวงผู่โดยความช่วยเหลือทางการเงินของข่งเสียงซีคู่เขย กองทัพใหม่มีความเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการก่อตั้งกองทัพอากาศ ต่อมา ซ่งเอี้ยวหยู ได้ล้มป่วยและถึงแก่กรรมโดยบุตรสาวทั้งสามต่างร่วมกันดูใจ ซึ่งซ่งชิ่งหลิงได้กล่าวขอขมาต่อพ่อของเธอเป็นครั้งสุดท้าย และ ดร. ซุนยัดเซ็นก็เศร้าโศกเสียใจอย่างมากกับการจากไปของผู้เป็นทั้งเพื่อนและพ่อตา
ดร. ซุนยัดเซ็นยังคงทำงานหนักแบบอุทิศตัวให้กับประเทศชาติและอุดมการณ์ แม้ว่าสุขภาพจะย่ำแย่ลง เขาต้องการสมานฉันท์กับกลุ่มการเมืองใหม่ (ในยุคนั้น) คือ พรรคคอมมิวนิสต์ แต่เขาก็ได้ล้มเจ็บหนักจนถึงแก่กรรมไปโดยยังทิ้งภาระกิจการสร้างรัฐใหม่ในอุดมคติไว้แก่คนรอบข้างรวมทั้งภรรยาของเขาด้วย
เจียงไคเช็กได้เริ่มงานสร้างชาติใหม่ในความคิดของเขาอย่างแข็งขันพร้อม ๆ กับการสร้างครอบครัวใหม่ด้วยการพยายามสร้างสัมพันธ์กับซ่งเหม่ยหลิงโดยการสนับสนุนของซ่งอ้ายหลิง เขาได้กวาดล้างศัตรูทางการเมืองอย่างรุนแรงและโหดเหี้ยม โดยเฉพาะกับพวกคอมมิวนิสต์ ซึ่งซ่งชิ่งหลิงได้คัดค้านและประณามเจียงไคเช็กอย่างเปิดเผยและรุนแรงซึ่งสร้างความขุนเคืองให้แก่เจียงไคเช็กเป็นอย่างมาก เจียงไคเช็กได้รับปากต่อเงื่อนไขของครอบครัวซ่งว่าจะหย่าขาดจากภรรยาเก่า เรียนรู้หลักคำสอนของศาสนาคริสต์ให้มากขึ้นเพื่อการสมรสกับซ่งเหม่ยหลิง แต่ถูกคัดค้านอย่างหนักจากซ่งชิ่งหลิง แต่ซ่งเหม่ยหลิงได้สัมผัสและหลงใหลกับอำนาจวาสนาเสียแล้ว เธอจึงตั้งใจที่จะร่วมชีวิตกับเจียงไคเช็ก และแล้วเจียงไคเช็กจึงได้แต่งงานกับซ่งเหม่ยหลิงอย่างชื่นมื่น (ในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1927 ขณะนั้น ซ่งเหม่ยหลิงอายุ 29 ปี เจียงไคเช็กอายุ 40 ปี) ต่อมา เธอได้ไปอาศัยอยู่ที่รัสเซียช่วงหนึ่งและได้เรียนรู้หลักและทฤษฎีของสังคมนิยมมากขึ้น และเมื่อกลับมา เธอกับพี่และน้องก็ได้ร่วมกันปรนนิบัติและดูแลแม่เป็นครั้งสุดท้าย

เจียงไคเช็กกับซ่งเหม่ยหลิง

เจียงไคเช็กแต่งงานกับซ่งเหม่ยหลิง

การถกเถียงกันทางการเมืองระหว่างซ่งชิ่งหลิงกับเจียงไคเช็ก
จากนั้น ซ่งชิ่งหลิงยังคงปฏิบัติตนเป็นไม้เบื่อไม้เมากับเจียงไคเช็กแบบไม่ลดราวาศอก จนความสัมพันธ์ในครอบครัวตึงเครียดมากขึ้น มีการถกเถียงที่รุนแรงบนโต๊ะอาหารเกี่ยวกับลัทธิการเมืองและความเห็นที่แตกต่างในการปกครองอย่างเผ็ดร้อนระหว่างเจียงไคเช็กกับซ่งชิ่งหลิง (คล้าย ๆ กับการถกเถียงเรื่องแบ่งข้างและแบ่งสีในขณะนี้) พร้อม ๆ กับการต่อต้านเจียงไคเช็กที่หนักข้อกว่าเดิมต่อหน้าสาธารณชน จนเขาได้สั่งทำร้ายเธอ แต่ทั้งซ่งอ้ายหลิงและซ่งเหม่ยหลิงได้เตือนสติและช่วยขอร้องแกมบังคับให้เขาเลิกราไป
เมื่อกองทหารญี่ปุ่นเข้ารุกรานประเทศจีน เจียงไคเช็กนอกจากจะไม่ต่อต้านญี่ปุ่นแล้ว ยังทำการกวาดล้างพรรคคอมมิวนิสต์ต่อไปอย่างไม่ลดละโดยไม่สนใจเสียงเรียกร้องของประชาชน กลุ่มคอมมิวนิสต์ต้องสูญเสียที่มั่นและกำลังพลไปมากมายจนต้องล่าถอยไปเกิดเป็นวีรกรรมการเดินทัพทางไกล แล้วกองทัพแดงของคอมมิวนิสต์จึงหนีไปตั้งหลักได้ที่เมืองเหยียนอาน มณฑลส่านเป่ย เจียงไคเช็กได้สั่งให้ขุนศึกคนสำคัญในซีอาน คือ นายพลหยางหู่เฉิง และจอมพลจางเสวียเหลียงเตรียมการบดขยี้กองทัพแดงเป็นครั้งสุดท้าย โดยเขาได้เดินทางไปบัญชาการด้วยตนเอง แต่ในที่สุด ทั้ง 2 ได้ก่อทำการจับตัวเจียงไคเช็กและบังคับให้เลิกกวาดล้างกองทัพแดง แล้วให้ร่วมมือกันสู้กับญี่ปุ่น
ทั้ง 3 พี่น้องได้รับทราบข่าวนี้ด้วยความตกใจ ไม่มีใครที่กล้าเดินทางไปเจรจาทำความตกลงและใน ครม. ยังมีการออกความเห็นให้นำเครื่องบินไปทิ้งระบิดฐานที่มั่นในซีอานเพื่อกวาดล้างพวกกบฎ (ซึ่งน่าจะเป็นการหมกเม็ดเพื่อการกำจัดเจียงไคเช็กด้วย) ซ่งเหม่ยหลิงจึงได้สั่งห้ามไว้และตัดสินใจเดินทางไปเจรจาด้วยตนเองเพียงลำพัง (ตามประวัติศาสตร์เธอเดินทางไปพร้อมกับพี่ชาย ทีวี ซ่ง หรือซ่งจื่อเหวิน) โดยทั้งซ่งอ้ายหลิงและซ่งชิ่งหลิงก็สนับสนุนเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์กันในชาติ


การกวาดล้างพวกคอมมิวนิสต์ของเจียงไคเช็ก

สามพี่น้องปรึกษาหาทางช่วยเหลือเจียงไคเช็ก

สามพี่น้องช่วยกันรณรงค์เพื่อต่อสู้กับญี่ปุ่น
ที่ซีอาน ซ่งเหม่ยหลิงได้ใช้กุศโลบายแก้ไขสถานการณ์จากเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก และโน้มน้าวให้เจียงไคเช็กหันมาร่วมมือกับสองนายพลเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น (ในหนังค่อนข้างย่นย่อครับ แต่ถ้าอ่านเรื่องจริงในประวัติศาสตร์จากหนังสือทางสู้ในชีวิต จะพบว่าซ่งเหม่ยหลิงมีไหวพริบปฏิภาณที่ดีเยี่ยมในการผ่อนคลายสถานการณ์ที่แสนคับขันได้อย่างยอดเยี่ยมทีเดียว) เจียงไคเช็กและเธอจึงเดินทางกลับมาได้ และแล้ว การต่อสู้ขับไล่กองทัพญี่ปุ่นผู้รุกรานโดยชาวจีนทั้งผองจึงได้เริ่มต้นขึ้น แล้วทั้ง 3 พี่น้องก็ได้ทำกิจกรรมบำรุงขวัญและกำลังใจแก่ทหารอย่างเต็มที่ (ในประวัติศาสตร์ ทั้ง 3 ได้ร่วมด้วยช่วยกันในกิจการของชาติยามสงครามที่เมืองฉงชิ่งซึ่งเป็นเมืองหลวงชั่วคราวของจีนในเวลานั้น) ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาของความสมานฉันท์ของสามพี่น้อง และคนในชาติ (แม้ว่าในประวัติศาสตร์ ยังคงมีความหวาดระแวงและแอบแทงข้างหลังกันระหว่างกองทัพของเจียงไคเช็กและกองทัพแดงทั้งในทางลับและทางแจ้งก็ตาม)
ต่อมา เมื่อสงครามสิ้นสุด ซ่งอ้ายหลิงได้เกษียณตัวเองจากงานการเมืองแล้วย้ายไปอยู่ฮ่องกงกับครอบครัว (ในประวัติศาสตร์ เธอและครอบครัวได้อพยพไปอยู่ไต้หวันพร้อมกับเหม่ยหลิงช่วงกองทัพแดงเอาชนะสงครามชิงแผ่นดินได้ แล้วจึงย้ายไปอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา) แล้วสองพี่น้องที่เหลืออยู่ยังคงทำงานการเมืองแบบต่างขั้วต่อไปจนถึงตอนที่ต้องชิงแผ่นดินกันอีกครั้ง ในปี ค.ศ. 1949 กองทัพแดงมีชัยได้ครองแผ่นดินทั้งหมด เจียงไคเช็กและซ่งเหม่ยหลิงต้องอพยพไปตั้งอาณาจักรใหม่ที่เกาะไต้หวัน ซ่งชิ่งหลิงอยู่ในแผ่นดินใหญ่ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์สร้างรัฐใหม่และการเมืองใหม่ ทั้งคู่ จึงต้องแยกจากกันไปตลอดกาล
ท้ายเรื่อง ซ่งชิ่งหลิงซึ่งป่วยหนักรำพันข้อความบางอย่างก่อนสิ้นใจ ในขณะที่ซ่งเหม่ยหลิงนั่งสะท้อนใจและเศร้าโศกเมื่อได้ทราบข่าวท่ามกลางสายฝนพรำ
พี่น้องตระกูลซ่งเป็น ภาพยนตร์อัตชีวประวัติของพี่น้องผู้หญิง 3 คนที่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองและการทหารจีนยุคใหม่หลัง ราชวงศ์แมนจูอย่างสำคัญ

สามพี่น้องตระกูลซ่งวัยกลางคน 1 จากซ้ายไปขวา ซ่งอ้ายหลิง ซ่งเหม่ยหลิง และซ่งชิ่งหลิง

สามพี่น้องตระกูลซ่งวัยกลางคน 2

สามพี่น้องตระกูลซ่งเยี่ยมเยียนเด็กกำพร้าในเมืองฉงชิ่ง
ใน แง่ประวัติศาสตร์ หนังเรื่องนี้ได้ถ่ายทอดเรื่องราวในประวัติศาสตร์การเมืองจีนผ่านทางตัวละคร พี่น้องสามสาวและบุคคลในประวัติศาสตร์อย่างประนีประนอม และสมานฉันท์ (ยกเว้นบางคน เช่น เจียงไคเช็กที่ หนังสร้างภาพความเป็นผู้ร้ายให้เต็ม ๆ) เพื่อสะท้อนถึงความแตกต่างทางความคิดด้านการเมืองการปกครองของพี่น้องสามคน ซึ่งเปรียบเสมือนกับแผ่นดินจีน 3 ผืนที่ต้องแบ่งแยกออกไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซ่งอ้ายหลิง พี่สาวคนโตที่เป็นตัวแทนของทุนนิยมซึ่งได้ย้ายไปอยู่ฮ่องกง ถิ่นจีนทุนนิยมหลังสงคราม ซ่งชิ่งหลิง น้องสาวคนกลาง ผู้สมัครใจอยู่ในแผ่นดินใหญ่ตามคำเชิญของประธานเหมาเจ๋อตง เพื่อเทอดเกียรติและสืบทอดเจตนารมณ์ไตรราษฎร์ของ ดร.ซุนยัดเซ็น ผู้นำการเปลี่ยนแปลงรัฐจีนในยุคใหม่ ซ่งเหม่ยหลิง น้องสาวคนสุดท้อง ผู้ร่วมชีวิตกับผู้ปกครองเผด็จการเจียงไคเช็กซึ่งหนีไปตั้งหลักที่เกาะไต้หวัน และสร้างความเจริญก้าวหน้าแบบทุนนิยมโดยยังคงยึดหลักไตรราษฎร์ของ ดร. ซุนยัดเซ็น แม้จะเป็นเพียงเปลือกก็ตาม โดยความหวังที่จะให้แผ่นดินจีนทั้ง 3 ผืนกลับมารวมกันได้อย่างเป็นปึกแผ่นในที่สุดแบบพี่น้องร่วมสายเลือดทั้งสามคน
ความสัมพันธ์ของพี่น้องทั้ง 3 ถึง แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันจนถึงขัดแย้งในด้านวิถีชีวิตและจุดมุ่งหมาย ซึ่งมีนัยยะสะท้อนถึงความแตกต่างทางความคิดของกลุ่มการเมืองทั้งสามกลุ่ม คือ ทุนนิยม เผด็จการ และประชาชน ดังที่มีผู้สรุปถึงอุปนิสัยและความคิดของพี่น้องสามคนว่า คนหนึ่งหลงใหลเงิน คนหนึ่งหลงใหลอำนาจ ส่วนอีกคนรักประเทศ แต่ก็ยังเป็นไปดำเนินไปอย่างผูกพัน รักใคร่ ห่วงหาอาทรซึ่งกันและกันช่วยสะท้อนความเป็นพี่น้องร่วมชาติเดียวกันของชาวจีนนั่นเองครับ

การพบปะและอยู่ร่วมกันครั้งสุดท้ายของสามพี่น้อง
หนังเรื่องนี้ได้พยายามทำให้ความขัดแย้งของพี่น้องทั้งสามนั้นดำเนินไปอย่างประนีประนอม ความปรองดอง และมีความผูกพันกันเช่นเดียวกับชาวจีนในประวัติศาสตร์ช่วงนั้น โดยพยายามพูดถึงประเด็นการกวาดล้าง กดขี่ข่มเหง ให้เป็นไปแต่พอสมควร (ทั้งที่ในความเป็นจริง การกวาดล้างคอมมิวนิสต์ของตอมพลเจียงนั้นรุนแรงแทบไม่ต่างจากการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองของฮิตเลอร์และสตาลินเลย) การละเว้นที่จะกล่าวถึงพฤติกรรมแบบผลประโยชน์ทับซ้อนของพี่สาวคนโตกับคู่สมรส (ในประวัติศาสตร์ ซ่งอ้ายหลิงกับข่งเสียงซีได้กอบโกยผลประโยชน์ไปไม่น้อยจากการเกี่ยวดองเป็นญาติกับนายพลเจียงด้วยการเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง) ก็เป็นการยอมรับระบบทุนนิยมที่เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนา การยกย่องสรรเสริญ ดร. ซุนยัดเซ็น นักปฏิวัติที่ยังคงนั่งอยู่ในหัวใจของชาวจีนทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อสื่อไปถึงจุดกำเนิดเดียวกันของระบอบการปกครองจีนใหม่หลังยุคราชวงศ์ชิงของแมนจู รวม ทั้งการที่สุดท้ายทั้ง 3 พี่น้องก็ได้ร่วมมือกันทำการเพื่อประเทศชาติอย่างเต็มที่ตามความสามารถและ ความถนัดของแต่ละคน ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของสามพี่น้องและประเทศชาติ และเป็นความหวังให้แผ่นดินจีนทั้ง 3 กลับมารวมกันเป็นหนึ่งอีกครั้ง คือ ฮ่องกง (ซึ่งกลับเป็นของจีนไปแล้ว) จีนแผ่นดินใหญ่ และไต้หวัน
แต่ตัวหนังได้ละเลยรายละเอียดในเรื่องของพี่น้องตระกูลซ่งบางคนออกไป คือ ที่จริงแล้ว ชาร์ลี ซ่ง มีลูก 6 คน เป็นผู้ชาย 3 และผู้หญิง 3 คน ซึ่งเรียงตามลำดับ ดังนี้ครับ
- ลูกสาวคนโต ซ่งอ้ายหลิง (ค.ศ. 1890-1973)
- ลูกสาวคนที่สอง ซ่งชิ่งหลิง (ค.ศ. 1893-1981)
- ลูกชายคนที่สาม ซ่งจื่อเหวิน
- ลูกสาวที่สี่ ซ่งเหม่ยหลิง (ค.ศ. 1898-2003)
- ลูกชายที่ห้า ซ่งจื่อเหลียง
- ลูกชายคนที่หก ซ่งจื่ออัน
ตัวหนังได้ละทิ้งพี่ชายและน้องชายของครอบครัวนี้ไปจนหมด เข้าใจว่าต้องการให้หนังเดินเรื่องที่ 3 พี่น้องผู้หญิงเป็นหลัก และตัดประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป รวมทั้งการเดินเรื่องที่แตกต่างจนถึงคลาดเคลื่อนจากประวัติศาสตร์จริงหลายประการ ซึ่งก็เป็นไปตามความเหมาะสมของเนื้อหาและเวลาของหนัง รายละเอียดอื่น ๆ ที่ถูกแต่งเติมเข้ามาให้เกิดความน่าสนใจชวนติดตาม เช่น ตอนที่ทั้งเหม่ยหลิงและเจียงไคเช็กนั่งเครื่องบินกลับจากซีอาน แล้วไฟในสนามบินดับจนอ้ายหลิง ต้องออกปัญญาให้รถยนต์เรียงแถวส่องไฟนำทางให้ รวมทั้งบทสรุปการพลัดพรากของสามพี่น้องหลังสงครามที่ถูกละเลยไปจากการเร่ง รัดจนบทหนังช่วงท้ายขาดรายละเอียดไปอย่างมากในความเห็นของผม เพราะยังมีช่วงเหตุการณ์อีกมากช่วงหลังสงครามโลกมาสู่สงครามชิงแผ่นดินจนคอมมิวนิสต์มีชัยที่ถูกละเว้นเอาไว้ ซึ่งผมคิดว่า น่าจะมีฉากเหตุการณ์สรุปการพลัดพรากกันของสามพี่น้องสักหน่อยเพื่อให้เรื่องสมบรูณ์ขึ้นครับ

ซ่งชิ่งหลิงในสภาพป่วยหนักก่อนสิ้นใจ

ซ่งเหม่ยหลิงถอนใจเมื่อคิดถึงพี่สาว
ดาราทั้ง 3 ที่มารับบทบาทก็นับว่าทำได้ดีตามหน้าที่ครับ มิเชล โหยว สามารถสลัดบทบาทนางเอกนักบู๊มาเป็นพี่ใหญ่ที่รักและหวังดีต่อน้อง ๆ ทุกคน จางม่านอวี้ กับบทชีวิตที่หนักในการร่วมงานและร่วมชีวิตสร้างชาติจีนใหม่กับ ดร. ซุนยัดเซ็น และต้องสืบทอดเจตนารมณ์อย่างแนบแน่น และ วิเวียน วู กับบทของหญิงสาวผู้ทะเยอทะยาน เจ้าปัญญา และไหวพริบที่ดี แต่สำหรับผม ดาราที่มารับบทซ่งเหม่ยหลิงเธอดูไม่เหมาะสมเลยครับเมื่อเทียบกับซ่งเหม่ยหลิงตัวจริงที่มีใบหน้าคมเข้มที่สุด แม้ว่าเธอจะทำบทบาทได้ดีก็ตาม ส่วน ดร.ซุนยัดเซ็นนั้นผมคิดว่าหนุ่มเกินไปหน่อยกับบทของเขา สำหรับเจียงไคเช็กนั้น ช่างดูใกล้เคียงกับตัวจริงมากเลยครับ
งานโปรดักชั่นต่าง ๆ นับว่าอลังการสมศักดิ์ศรีหนังมหากาพย์แบบนี้ หลาย ๆ ฉากมีความยิ่งใหญ่สมจริง งานกำกับศิลป์ของฉากแบบย้อนยุคก็นับว่ากลมกลืน (ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า การกำกับศิลป์แบบย้อนยุคอันใกล้ของเรา มักใช้ของเก่าแบบเก่าจริง ๆ ตามสภาพของมันในปัจจุบัน เช่น โทรศัพท์ กล้องถ่ายรูป โดยไม่ได้คิดว่าในยุคนั้นของเหล่านี้จะต้องมีสภาพใหม่ จึงทำให้หนังดูหดหู่เป็นประจำครับ) แสงและสีของภาพยนตร์ก็อยู่ในโทนสดใส จึงไม่ใช่หนังที่หนักหรือมีปรัชญาที่สูงจนเกินกว่าที่คนทั่วไปจะดูได้ครับ
สุดท้ายครับ ต้องขอออกความเห็นสักหน่อยว่า เนื้อเรื่องตอนที่เจียงไคเช็กเอาแต่ปราบปรามคอมมิวนิสต์แบบให้สิ้นซากโดยเอาแต่ตั้งข้อรังเกียจเหยียดหยาม และประณามพวกเขาเหล่านั้นนั้น การกระทำนี้ในท้ายสุดได้นำความปราชัยมาสู่ตัวของเขา ซึ่งไม่ต่างจากการเมืองของประเทศสารขัณฑ์ที่กำลังโดนกระแสชาตินิยมผสมความเกลียดชัง ผสมกับการแบ่งแยกแบบสุดขั้ว แล้วนำไปสู่การทำลายล้างกันอย่างน่าเศร้าครับ
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
บริษัทผู้สร้าง – Centro, Golden Harvest
กำกับ – Mabel Cheung Yuen-Ting
อำนวยการสร้าง - Alex Law Kai-Yu, Ng See Yuen
บทภาพยนตร์ - Alex Law Kai-Yu
กำกับภาพ – Artur Wong
ตัดต่อ - Mei Feng
ดนตรีประกอบ - Kitaro, Randy Miller
กำกับศิลป์ - Eddie Ma
ออกแบบเครื่องแต่งกาย- Emi Wada
แสดงนำ – Maggie Cheung Man-Yuk, Michelle Yeoh (Yeung Chi-King), Vivian Wu Kwan-Mui, Winston Chao (Chiu Man Suen), Wu Xing-Guo (Ng Hing Kwok), Jiang Wen, Elaine Kam Yin-Ling, Niu Zhen Hua
ปีที่ออกฉาย 1997,
อ่านเพิ่มเติม
- 3 สตรีเหล็กตระกูลซ่ง บุญศักดิ์ แสงระวี
- สงครามชิงแผ่นดิน สุขสันติ์ วิเวกเมธากร
- ทางสู้ในชีวิต หลวงวิจิตรวาทการ
- http://en.wikipedia.org/wiki/Soong_sisters
คำพูดจากภาพยนตร์
- พวกเธอ (ลูก ๆ ทั้ง 3) คือผู้หญิงยุคใหม่ของจีน ผู้หญิงที่จะเป็นผู้นำ
(ซ่งเอี้ยวหยูบอกกับภรรยาเมื่อต้องส่งลูกสาวทั้ง 3 ไปเรียนต่อที่อเมริกา)
- เมืองจีนอายุ 5 พันปี แก่จนฟั่นเฟือนเลอะเทอะ ยิ่งอายุมาก ก็ยิ่งล้าหลัง
(ซ่งเอี้ยวหยูวิจารณ์สภาพประเทศจีน)
- เจียงไคเช็กไม่ใช่ลินคอล์นจีน เขาเป็นแค่นโปเลียนของหนิงโปเท่านั้น
(ซ่งชิงหลิงกล่าวเตือนน้องสาว เมื่อรู้ว่าจะแต่งงานกับเจียงไคเช็ก)
- ผู้ชายไม่มีดีและชั่ว มีแต่แข็งแกร่งและอ่อนแอ
(ซ่งอ้ายหลิงพูดถึงทัศนะของเธอต่อผู้ชายกับน้องสาว)
- สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เกียจคร้าน ไม่ใช่ทหารที่ดี นายทหารที่แท้จริง ต้องมีความคิดลึกซึ้ง ความเป็นอยู่เรียบง่าย
(เจียงไคเช็กกล่าวกับผู้ใต้บังคับบัญชาของเขา)
- ทำผิดลงโทษ ทำดีตอบแทน สมควรฆ่าก็ฆ่า
(เจียงไคเช็กอธิบายหลักการปกครองแบบของเขาต่อซ่งชิงหลิง)
- ญี่ปุ่นเป็นเพียงโรคผิวหนังสำหรับจีน แต่คอมมิวนิสต์เป็นหนามตำใจของจีน
(เจียงไคเช็กบอกกับซ่งเหม่ยหลิง)
- ประวัติศาสตร์ไม่มีคำว่า “ถ้า”
(ซ่งชิ่งหลิงกล่าวก่อนสิ้นใจ)
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ
หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ
ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก www.youtube.com
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์