dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



ทัชมาฮาล รักเราเป็นนิรันดร์
วันที่ 19/05/2013   19:09:43

webmaster@iseehistory.com

ขณะที่เริ่มเขียนบทความนี้  เป็นช่วงของการส่งท้ายปีเก่า 2552 ต้อนรับปีใหม่ 2553 จึงคิดว่าปีใหม่ทั้งที  แทนที่จะเขียนถึงหนังประวัติศาสตร์สงครามน่าจะเป็นเรื่องของความสุขสดใสบ้าง  พอดีเมื่อตอนที่เขียนเรื่องพระเจ้าอโศกมหาราช  ได้ลงท้ายว่าไม่อยากให้เรื่องนั้นเป็นเพียงหนังอินเดียเรื่องเดียว  ซึ่งเรื่องที่สองที่กำลังจะเขียนนี้ก็เก็บสต็อคเอาไว้นานแล้ว  แต่เหตุหนึ่งที่ลังเลใจที่จะเขียนคือ  หนังเรื่องนี้เจอโดยบังเอิญเมื่อนานมาแล้ว  พอเขียนแนะนำแล้วเดี๋ยวก็จะมีการถามหากันจ้าละหวั่น  ถึงโอกาสนี้แล้ว อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดครับ  เรื่องที่ว่านี้เกี่ยวกับความรักของกษัตริย์อินเดียโบราณที่กลายเป็นอมตะขึ้นมาได้ เพราะทรงมีศักยภาพพอที่จะสร้างอนุสรณ์ความรักในระดับมรกดโลกได้ นั่นคือ Taj Mahal: A Monument of Love หรือชื่อภาษาไทยว่า "ทัชมาฮาล รักเราเป็นนิรันดร์" ของผู้กำกับ Robin Khosla ที่เริ่มฉายเมื่อปี 2003/พ.ศ.2546 ครับ

ก่อนเข้าเรื่องภาพยนตร์มาดูความเป็นมาของทัชมาฮาลโดยย่อกันสักนิด  ในบทความภาษาไทยเท่าที่ค้นได้ชอบเรียกทัชมาฮาลว่า "สุสานหินอ่อน"  แต่ตามสายตาของเราๆ รู้สึกว่ามันเหมือนเป็นปราสาทราชวังมากกว่า  เอาเป็นว่ามันเป็นสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่สร้างด้วยหินอ่อนที่ ชาห์ เจฮัน หรือ ชาห์ ชหาน (Shah Jahan) จักรพรรดิองค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์โมกุล (Mughal) ของอินเดีย ทรงสร้างเป็นที่เก็บพระศพและอนุสรณ์สถานแด่พระนางมุมตัสมาฮาล พระมเหสีที่สิ้นพระชนม์ลงในปีพ.ศ. 2174 (ค.ศ. 1631) บนฝั่งแม่น้ำยมุนาเมืองอัครา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในรัฐอุตตรประเทศของอินเดีย ใช้เวลาสร้างราว 20 ปี ภายหลัง ชาห์ เจฮัน ถูกโอรังเซบ พระโอรสจับขังและขึ้นครองบัลลังก์ ทรงถูกขังอยู่ถึง 8 ปี จนสวรรคตในปีพ.ศ. 2209 (ค.ศ. 1666) และพระศพของพระองค์ถูกฝังในทัชมาฮาลเคียยงข้างพระมเหสี  องค์การยูเนสโกได้รับรองให้ทัชมาฮาลเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2526 (ค.ศ.1983)



โซเฟียกำลังดูของที่ระลึกและโปสการ์ดนานาชนิดของทัชมาฮาล


ไก๊ด์หนุ่มอินเดียให้โซเฟียยืมหนังสือเกี่ยวกับความเป็นมาของทัชมาฮาล

ภาพยนตร์ดำเนินเรื่องโดยผ่านการบอกเล่าในตอนต้นของนักข่าวสาวอเมริกันนามว่าโซเฟียที่พึ่งหย่าจากสามีแล้วได้รับมอบหมายให้มาเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับทัชมาฮาล คงเพื่อทำสกู๊ปหรืออะไรทำนองนั้น  โดยได้รับความช่วยเหลือจากไก๊ด์หนุ่มชาวอินเดียที่พึ่งจบด้านประวัติศาสตร์โดยหลังจากการเยี่ยมชมทัชมาฮาลแล้ว เขาได้แนะนำให้เธออ่านหนังสือเล่มหนึ่งด้วย  แล้วเรื่องก็มาเริ่มจริงๆ ในปี 1607/พ.ศ.2150 (ในบทภาษาไทยบอกว่าเป็นปี 1660/พ.ศ.2203 ซึ่งไม่ถูกต้องจะได้กล่าวถึงอีกทีในตอนท้ายครับ) ที่ตลาดแห่งหนึ่ง เมื่อ คูร์รัม พระเอกของเราซึ่งที่จริงเป็นเจ้าชายในคราบของทหารธรรมดาคนหนึ่ง ได้มาเที่ยวชมตลาดหรือย่านการค้าแห่งนี้  พอดีจังหวะที่นางเอกของเรานามว่า อาจูมัน ซึ่งขายผ้าอยู่ กำลังหยอกล้อกับเพื่อนฝูงประการใดไม่ทราบ ได้ขว้างจอกมาถูกพระเอกจนที่หัวจนได้แผลเข้าพอดี  เพื่อเป็นการขอโทษเธอจึงได้ช่วยซับเลือดและมอบผ้าราคาแพงชิ้นหนึ่งให้เขาไป  จากนั้นพระเอกของเราซึ่งตกหลุมรักนางเอกเข้าแล้วได้ให้ลูกน้องไปสืบว่าเธอเป็นใคร  ได้ความว่าอาจูมันนั้นมีฐานะสูงเกินกว่าที่ทหารชั้นผู้น้อยจะเอื้อมถึงเพราะเป็นถึงเป็นบุตรีของอัครเสนาบดี  ในบทภาษาไทยนี่ทำสับสนเหมือนกันครับ  คือในตลาดเจ้าทหารคนนี้พูดกับพระเอกเหมือนเพ็ดทูลเจ้าชาย  แต่พอมาส่งข่าวกลับพูดเหมือนพระเอกเป็นแค่ทหารธรรมดาจริงๆ  ไม่รู้จะเอาไงแน่  ตะแกก็ดันชื่ออาซาฟ คล้ายๆ กับ อาซาฟข่าน พ่อของนางเอกเข้าให้อีก แต่ในเครดิตท้ายเรื่องเขาเขียนว่า Asif นะครับเอาเป็นว่าตาคนนี้ยังได้ข่าวมาด้วยว่านางเอกของเราจะต้องไปฟังอุซตาดอาลีคานร้องเพลงแต่เช้าตรู่ทุกวัน  รุ่งขึ้นคูร์รัมจึงไปดักพบเธอ  ทั้งสองได้พูดคุยและฟังคอนเสิร์ต เอ๊ย! การขับร้องเพลงอันไพเราะของท่านอุซตาด  ในบรรยากาศที่โรแมนติคเหลือประมาณ  จนอาจูมันสนใจที่จะไปหัดเล่นซีต้า (ไม่ใช่ กีตาร์ นะครับ) กับคูร์รัมในสวนหลวงในวันต่อๆ มา  อันทำให้ทั้งสองยิ่งสนิทสนมกันมากขึ้น  และแล้ววันหนึ่งนางเอกของเราก็มาลาพระเอกเพื่อตามครอบครัวไปอยู่ที่ภูเขาแห่งหนึ่ง  หลังการอำลาอย่างอาลัยอาวรณ์ได้ไม่นานคูร์รัมก็ตามไปจนพบอาจูมันจนได้  ณ ที่นี้อาจูมันได้บอกความจริงว่าเธอเป็นบุตรีของอาซัฟข่าน ผู้เป็นทั้งอัครมหาเสนาบดีและพี่ชายของพระราชินี  ซึ่งแน่ละว่าพระเอกของเราก็มิได้ย่อท้อแต่ประการใด 


รักแรกพบ


ฟังอุซตาดอาลีคานร้องเพลง


สอนการเล่นซีต้า

ต่อมา ครอบครัวของอาจูมันบังเอิญจะต้องย้ายไปยังเมืองอัคราอย่างกระทันหัน  เธอจึงมาบอกคูร์รัม ๆ จะไปสู่ขอ แต่อาจูมันเกรงว่าพ่อของเธอจะไม่ยอม  ทั้งสองจึงนัดกันไปพบที่แม่น้ำเมืองอัครา   เมื่อไปถึงเมืองอัครา อาจูมันพบพ่อกำลังลงโทษชายผู้หนึ่งอย่างทารุณ โทษฐานที่มาหลงรักหญิงสูงศักดิ์   เธอจึงยิ่งเกรงว่าพ่อจะไม่เข้าใจความรักของเธอกับคูร์รัม  จึงหอบข้าวของมาหาคูร์รัม ๆ บอกจะพาอาจูมันไปหาพ่อ  แล้วก็ขี่ม้าพาเธอเข้าเมืองไปจนถึงพระราชวังกระทั่งมาอยู่ต่อหน้าพระพักตร์ของพระราชาหรือพระจักรพรรดิ (ในเรื่องไม่ปรากฏพระนาม  ตามประวัติศาสตร์คือ Nuruddin Mohammed Jahangir พระจักรพรรดิองค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์โมกุล) ซึ่งอาซาฟข่านบิดาของอาจูมันกำลังเข้าเฝ้าอยู่ด้วย  ทำเอานางเอกของเราทั้งงงงันและตื่นกลัวมาตลอดกว่าจะรู้ความจริงว่าคูร์รัมคือมกุฎราชกุมาร  และในที่สุดบิดาของทั้งสองฝ่ายก็ยอมรับความรักของทั้งสอง  แต่อุปสรรคก็ยังไม่ได้หมดไปเมื่อพระราชินีนูราจานซึ่งไม่ใช่มารดาของคูร์รัม ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะให้คูร์รัมได้แต่งงานกับลัดลีเบกัมพระธิดาของตนที่เป็นลูกติดก่อนที่จะมาอภิเษกกับพระจักรพรรดิ  ในที่สุด พระจักรพรรดิได้ทรงเรียกพระโอรสเข้าเฝ้าเพื่อขอให้คูร์รัมแต่งงานกับลัดลี  คูร์รัมจึงปฏิเสธและทูลขอสละตำแหน่งมกุฏราชกุมาร  ลัดลีจึงได้ไปอภิเษกกับมกุฏราชกุมารองค์ใหม่  แม้กระนั้นคู่พระคู่นางของเราก็ยังไม่หมดอุปสรรค  ด้วยเหตุที่กองทหารยังศรัทธาต่อคูร์รัม จึงกลายเป็นเป้าหมายต่อการลอบสังหารและการถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎ อาซัฟข่านได้ขอให้ทั้งสองลี้ภัยการเมืองไปยังปราสาทร้างที่ภูเขาแห่งหนึ่ง โดยมีกำลังทหารที่จงรักภักดีคุ้มครองอยู่จำนวนหนึ่ง  และเป็นชัยภูมิที่ดี ยากที่กองกำลังใดจะตามขึ้นไปถึง ที่นั่นทั้งสองได้เข้าพิธีแต่งงานกันโดยพ่อของนางเอกไม่สามารถไปร่วมได้เนื่องจากถูกกักบริเวณอยู่  เวลาผ่านไปเป็นปีจนทั้งสองมีพระโอรสสององค์ นามว่า โอรังเซบ กับ ดาร่า แล้ววันหนึ่งคนของพระนางนูราจานก็ลอบเข้ามาจับพระโอรสทั้งสองไป คราวนี้เจ้าชายคูร์รัมจึงได้เสด็จไปจนถึงห้องพระบรรทมของพระบิดาซึ่งกำลังทรงพระประชวรอย่างหนัก  พระจักรพรรดิทรงเสียพระทัยที่ไม่ยุติธรรมกับเจ้าชายมาตลอดและทรงพิโรธในสิ่งที่พระนางนูราจานกระทำ  จากนั้นคูร์รัมได้ไปแจ้งข่าวต่ออาจูมันว่าพระนางนูราจานและพรรคพวกถูกจับกุมหมดแล้ว และทรงนำอาจูมันและพระโอรสไปเข้าเฝ้าพระจักรพรรดิซึ่งใกล้จะสิ้นพระชนม์เต็มที  พระจักรพรรดิทรงขอให้คูร์รัมสืบราชสมบัติต่อไป  โดยพระราชทานพระนามแด่อาจูมันว่า มุมตัสมาฮาล (ผู้งดงามแห่งราชวัง) และพระราชทานพระนามแก่เจ้าชายคูร์รัมว่า ชาห์ เจฮัน (ผู้ปกครองแห่งโลกใบนี้) จากนั้นก็สิ้นพระชนม์  แล้วพระจักรพรรดิและพระราชินีองค์ใหม่ก็ทรงเช็คบิลพระนางนูราจานแบบนิ่มๆ คือเพียงแต่ให้จองจำเท่านั้น  ซึ่งพระนางนูราจานก็ทรงยอมรับแต่โดยดี


พาเข้าวังไปเข้าเฝ้าจักรพรรดิ (กลางขวา) โดยมีอาซาฟข่าน พ่อนางเอก (ขวาสุด) เข้าเฝ้าอยู่ด้วย


สถานที่ลี้ภัยการเมือง


ทำพิธีแต่งงาน

ทั้งสองพระองค์ทรงมีความสุขด้วยกันอีกเพียงระยะสั้นๆ  ชาห์ เจฮัน ก็ต้องเสด็จเข้าสู่สงครามในขณะที่พระนางมุมตัสมาฮาลกำลังทรงพระครรภ์   ด้วยความรักและความเป็นห่วง พระนางประทับในเมืองหลวงได้ไม่นาน ก็เสด็จตามพระสวามีไปจนถึงบริเวณที่ไม่ห่างสนามรบมากนัก  ชาห์ เจฮัน ทรงทราบก็รีบเสด็จมาพบพระมเหสี  แต่ทรงหลงทางเสียเวลาในการเสด็จอยู่หลายชั่วโมง  จนที่ทหารที่ค่ายพักของพระนางเข้าใจว่าอาจทรงถูกข้าศึกทำอันตราย ยิ่งทำให้พระนางมุมตัส มาฮาล ทรงพระกังวลมากขึ้น  กว่าชาห์ เจฮัน จะเสด็จมาถึง  พระนางก็ได้ให้กำเนิดพระธิดาเรียบร้อยแล้ว  ทั้งพระวรกายและพระทัยอ่อนแอมาก  ชาห์ เจฮัลได้ดูพระทัยพระมเหสีได้ไม่นานพระนางก็สิ้นพระชนม์ลง  ตามประวัติศาสตร์นั้น  ชาห์ เจฮัน ทรงครองราชย์เมื่อปีพ.ศ.2171 พระนางมุมตัส มาฮาล สวรรคตเมื่อ พ.ศ.2174(ค.ศ.1631) ชาห์ เจฮัน ทรงโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง ประทับอยู่แต่ในห้องพระบรรทม  ไม่เสด็จออกว่าราชการหรือให้ใครเข้าเฝ้า นอกจากบรรดาสถาปนิก ช่างก่อสร้าง นักออกแบบ เพื่อที่จะสร้างอนุสรณ์สถานให้กับความรักที่พระองค์มีต่อพระนางมุมตัสมาฮาลตามที่ได้ทรงรับปากไว้ก่อนพระนางสิ้นใจ นั่นก็คือการสร้างทัชมาฮาลนั่งเองครับ  ซึ่งใช้เวลาในการก่อสร้างถึง 22 ปี  หลังการก่อสร้างทัชมาฮาล  เกิดการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันระหว่างพระโอรสคือเจ้าชายโอรังเซบและเจ้าชายดาร่า  โดยชาห์เจฮันทรงเห็นว่าดาร่าสมควรครองราชย์ต่อจากพระองค์  แต่ผู้ได้ชัยชนะกลับเป็นโอรังเซบ  ในเรื่องไม่ได้กล่าวถึงชะตากรรมของเจ้าชายดาร่า  แต่ชาห์เจฮันนั้นถูกพระเจ้าโอรังเซบตัดสินให้จองจำ โดยทรงยินยอมให้ขังในที่ๆ จะทรงมองเห็นทัชมาฮาลได้ตามพระประสงค์ของพระบิดา  ระหว่างที่ทรงถูกกักขัง ได้ทรงใช้เวลาไปกับการทอดพระเนตรดูทัชมาฮาล  และในท้ายเรื่องขณะทรงพระประชวรยังได้ทรงเล่าเรื่องราวความรักของพระองค์ประทานแด่พระธิดาคือเจ้าหญิงจาฮาร่า  ตั้งแต่ต้นจนจบแล้วก็สวรรคต  ตามประวัติศาสตร์ (อีกที) เจ้าชายโอรังเซบทรงจับชาห์เจฮันขังและขึ้นครองราชย์แทนเมื่อปี พ.ศ. 2201 (ค.ศ. 1658) ชาห์เจฮันทรงถูกขังถึง 8 ปี จึงสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2209 (ค.ศ. 1666)  ภาพยนตร์จบลงโดยโซเฟียที่อ่านหนังสือจบเล่มด้วยน้ำตาได้กลับไปเฝ้ามองทัชมาฮาลอย่างซาบซึ้ง


นำครอบครัวเข้าเฝ้าพระราชบิดาในวาระสุดท้าย


ขึ้นครองราชย์และชำระโทษพระนางนูราจาน


วาระสุดท้ายของพระมเหสีมุมตัสมาฮาล

โจทย์สำคัญสำหรับการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้คงเป็นดังบทสนทนาระหว่างไก๊ด์หนุ่มอินเดียกับโซเฟียที่ว่า  ผู้คนทั่วไปยังทราบความสำคัญของทัชมาฮาลแต่เพียงฉาบฉวย  แล้วก็นำชื่อของทัชมาฮาลไปใช้เพื่อการค้ากัน  โดยไม่ได้เข้าใจลึกไปถึงความรักแท้ที่ทั้งสองพระองค์มีต่อกัน  แล้วภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถทำให้อะไรๆ ดีขึ้นหรือไม่?

ข้อเท็จจริงที่ควรทราบประกอบการชมภาพยนตร์

ในบทภาษาไทยบอกว่าปีที่เจ้าชายคูร์รัมพบกับอาจูมันนั้น เป็นปี 1660 แต่ในเสียงซาวด์แทร็กบอกว่าเป็นปี 1607 ขณะมีพระชนมายุ 15 พรรษา ทั้งนี้ พระจักรพรรดิที่ในภาพยนตร์กล่าวถึง ทรงมีช่วงเวลาการครองราชย์ดังนี้  Jahangir  1605-1627, Shah Jahan 1627-1658 และ Aurangzeb 1658-1707  คงต้องบวก 543 ให้เป็นพ.ศ.กันเอาเองบ้างนะครับ  หรือคิดง่ายๆ ว่าตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาของเรานั่นแหละครับ


อนุสรณ์สถานแห่งความอาลัยรัก


พระธิดาองค์สุดท้ายเข้าเฝ้าจนวาระสุดท้าย

ในภาพยนตร์กล่าวถึงพระโอรสและพระธิดาของชาห์เจฮันเพียง 3 พระองค์ คือ เจ้าชายโอรังเซบ เจ้าชายดาร่า และ เจ้าหญิงจาฮาร่า ในประวัติศาสตร์กล่าวว่า "พระมเหสีมุมตัซสิ้นพระชนม์ หลังจากให้กำเนิดทายาทองค์ที่ 14"  ดูเหมือนความรักเดียวใจเดียวในยุคที่ยังไม่รู้จักการวางแผนครอบครัว  จะเป็นเหตุหนึ่งของการสิ้นพระชนม์ของพระนางมุมตัสมาฮาล แล้วก็นึกไปถึงเว็บโหราศาสตร์ของผม (www.rojn-info.com) ที่บรรดาผู้อยากมีลูกแห่กันมาขอให้ช่วยดูดวงทั้งที่ผมก็ไม่ได้มีครอบครัวกับเขาซักหน่อย  โลกเราก็แปลกแท้  คนอยากมีลูกไม่ยักกะมี  ไอ้ที่มีสมัยก่อนก็มีเป็นสิบ  สมัยนี้มีแล้วเลี้ยงไม่ได้เอาไปทิ้งขว้างกันจนเป็นข่าวบ่อยๆ  กลับเข้าเรื่องของเราดีกว่าครับ  ว่าที่ภาพยนตร์กล่าวถึงพระโอรสและพระธิดาเพียง 3 พระองค์ ก็คงจะด้วยความจำเป็น  ถ้าขืนให้มีครบตามจริงการจะคัดเลือกตัวแสดงหรือจะเดินเรื่องมันคงยุ่งตามไปด้วย

ข้อสังเกตส่วนตัวอีกอย่างที่ได้เกริ่นไว้ตอนต้น  คือ เหตุหนึ่งที่ความรักระหว่างชาห์ เจฮัน กับพระนางมุมตัส มาฮาล มันเป็นอมตะขึ้นมาได้ก็เพราะทรงมีศักยภาพที่จะสร้างอนุสรณ์แห่งความรักให้ใหญ่โตมโหฬารระดับมรดกโลกให้คนรุ่นหลังชื่นชมได้  ลองเป็นระดับชาวบ้านตาสีตาสาคงยากที่จะสร้างอะไรให้ใครจดจำเรื่องราวของตัวได้  แล้วในการสร้างสิ่งก่อสร้างมหึมาแบบนี้  ใช้คนนับหมื่นและใช้เวลาเป็นปีๆ  จะถือว่าเป็นการสร้างความลำบากให้กับไพร่ฟ้าประชาชนหรือเปล่า?  เท่าที่เคยได้ยินได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างแห่งนี้มา  ดูเหมือนจะไม่มีเรื่องราวอะไรที่จะบ่งบอกความลำบากของผู้ที่ถูกเกณฑ์มาก่อสร้างดังเช่นสิ่งก่อสร้างบางแห่งแต่อย่างใด  เป็นอันยกประโยชน์ให้ชาห์ เจฮัน ในเรื่องนี้ได้  ทั้งนี้ยังปรากฏว่าชาห์ เจฮัน ยังได้ทรงสร้างสถาปัตยกรรมอื่นๆ ที่งดงาม อันได้แก่ Jama Masjid, Red Fort, Jahangir mausoleum และ Shalimar Gardens จนรัชสมัยของพระองค์เป็นเสมือนยุคทองของสถาปัตยกรรมอินเดีย 


พระเจ้าโอรังเซบ ผู้สืบราชสมบัติ

ส่วนรัชสมัยของออรังเซบ พระโอรสที่จับพระองค์กุมขังไว้นั้น  เป็นยุคที่จักรวรรดิโมกุลแผ่ขยายอาณาเขตลงมาทางใต้จนเกือบตลอดดินแดนที่เป็นอินเดียปัจจุบันเลยครับ

ข้อสังเกตอื่นๆ ในด้านการสร้างภาพยนตร์

จากการที่ผู้สร้างต้องการเน้นในเรื่องราวความรักของคู่พระคู่นาง  ในด้านดีทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้แทบจะไม่ปรากฏความรุนแรงใดๆ   มีเพียงตอนที่อำมาตย์ของพระนางนูราจานมาสังหารทหารที่ดูแลพระโอรสของเจ้าชายคูร์รัมก่อนจับตัวไป  กับตอนที่เจ้าชายคูร์รัมทรงต่อสู้กับทหารของพระนางนูราจานเพียง 2-3 คน  นอกจากนั้นแล้วแม้กระทั่งในบทพูดก็ไม่มีอะไรเกินไปกว่าการต่อว่าต่อขานเล็กๆ น้อยๆ  ถ้านำมาจัดเรทตอนนี้คงได้ "ท" (ท ทหาร) ดูได้ทุกวัยชัวร์ๆ  แต่อาจจะไม่สะใจแฟนเว็บไซต์นี้ที่ชอบหนังสงครามกันมากกว่า

ด้านบทบาทของพระเอกนั้น  ก็เน้นแต่ในเรื่องของพระเอกรักเดียวใจเดียว  จนบางท่านอาจจะรู้สึกหวานเลี่ยนๆ  ในช่วงที่กำลังจีบนางเอกนั้น  ช่างเหมือนพระเอกหนังรักทั่วๆ ไปที่วันๆ เหมือนไม่มีอะไรอย่างอื่นทำ  ทั้งที่ในเรื่องบอกว่าพระบิดาทรงโปรดให้เจ้าชายใช้ชีวิตอย่างทหารธรรมดาเพื่อจะได้เข้าใจชีวิตสามัญชน  และในตอนที่เจ้าชายทรงสละตำแหน่งมกุฏราชกุมารแล้ว  ในหนังกล่าวว่ายังทรงเป็นที่เคารพรักของบรรดาทหาร  เป็นโจทย์ที่น่าคิดสำหรับผู้ศึกษาเรื่องภาพยนตร์เหมือนกันครับว่าควรจะเพิ่มเติมอะไรให้ประเด็นนี้ดูมีน้ำหนักมากขึ้นโดยไม่เสียอรรถรสของหนังรักโรแมนติค


ฉากที่พระเอกเขียนชื่อนางเอกในภาษา Urdu ไว้ตามต้นไม้  ในอินเตอร์เน็ตมีคนบอกว่าเขียนผิดด้วย

ด้านสถานะของนางเอกก็น่าแปลกตรงที่เธอ "ขายผ้า" และ "มีเพื่อน" แต่ในตอนแรกเพียงฉากเดียว  การเป็นธิดาอัครมหาเสนาบดีแล้วมาขายผ้าอาจจะไม่แปลก  แต่ทำไมถึงขายอยู่แค่ฉากเดียวจริงๆ  เพื่อนฝูงที่เล่นหยอกกันถึงขั้นปาจอกใส่กันไม่รู้หายไปไหนหมด  หรือจะว่าเธอแบ่งเวลาระหว่างการขายผ้ากับการไปเรียนซีต้ากับพระเอกได้โดยไม่ต้องรายงานผู้ชมก็ยังพอทน  แต่อยู่ดีๆ ครอบครัวอัครมหาเสนาบดีของเธอก็ย้ายบ้านไปกางเต็นท์กันที่ภูเขา  แล้วท่านอัครมหาเสนาบดีจะทำราชการยังไง  ลูกสาวไม่ต้องขายผ้าแล้วหรือยังไง  จะว่าไปปิคนิคตากอากาศกันชั่วคราวก็ไม่เห็นพูดให้ชัด  แล้วอยู่ๆ ก็ย้ายไปที่เมืองอัคราอีก  อย่างนี้คงต้องหาหนังสือที่พ่อไก๊ด์หนุ่มให้คุณโซเฟียยืมอ่านมาอ่านดูบ้างแล้วว่าเรื่องมันยังไงกันแน่

พูดถึงโซเฟีย  การนำเธอมาเป็นคนเล่าเรื่องผ่านการอ่านหนังสือ  คงต้องการให้เธอเป็นเสมือนตัวแทนของคนยุคใหม่และค่านิยมตะวันตก มาเป็นตัวเปรียบเทียบกับค่านิยมความรักในอดีตของวัฒนธรรมตะวันออก  ดังข้อความในจดหมายของเธอที่มีถึงสามีที่พึ่งเลิกกันว่า  "คนที่หมดศรัทธาในรักอมตะ แต่กลับต้องมานั่งเขียนเรื่องเกี่ยวกับรักอมตะซะเอง"


โซเฟียผู้เล่าเรื่องผ่านการอ่านหนังสือ (เขียนสกู๊ปเสร็จแล้วคืนเขาด้วยนะ)

แถมท้ายอีกหน่อยว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีแต่เพลงประกอบที่ล้วนแต่ไพเราะทั้งนั้น  ไม่มีฉากการเต้นระบำแบบที่วิ่งไล่กันจากต้นไม้ต้นนึงไปอีกต้นนึงอย่างที่เคยพบเห็นใน "หนังแขก" เรื่องอื่นๆ นะครับ

ทีนี้จะจัดให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่เดินเรื่องตามประวัติศาสตร์  หรือเป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ดีละครับ   จากข้อสังเกตบางประการดังกล่าวข้างต้น  ใจผมยังเอียงมาทางภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์แบบยังไม่ฟันธงร้อยเปอร์เซนต์  และเอาเป็นว่า  ถ้าหากท่านผู้อ่านหาภาพยนตร์เรื่องนี้ได้  และต้องการจะชมเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจแล้ว  ก็ไม่จำเป็นต้องคิดเล็กคิดน้อยอย่างที่ผมวิจารณ์  ขอให้ปล่อยอารมณ์ไปกับภาพของดาร่าหนุ่มหล่อสาวงาม (แม้จะเป็นแบบแขกๆ ที่ไม่อินเทรนด์เหมือนดาร่าเกาหลีก็ตาม)  เสียงเพลงที่ไพเราะ ภาพธรรมชาติและพระราชวังที่งดงาม  ตลอดจนเนื้อเรื่องที่มีแต่ความหวานซึ้ง แทบจะปราศจากความรุนแรงทั้งทางกายและทางวาจา  ท่านก็จะได้ใช้เวลาเกือบสองชั่วโมงนี้ไปกับการพักผ่อนอย่างเป็นสุขครับ

คำคมชวนคิด

  • "คนที่หมดศรัทธาในรักอมตะ แต่กลับต้องมานั่งเขียนเรื่องเกี่ยวกับรักอมตะซะเอง"  ข้อความในจดหมายที่โซเฟียเขียนถึงคนรักที่พึ่งแยกทางกัน
  • "ฉันอยากรู้เรื่องจริง ไม่ใช่ข้อมูลของนักท่องเที่ยว"  โซเฟียกล่าวกับไก๊ด์หนุ่ม  อันนี้ฝากให้คนในวงการท่องเที่ยวของไทยนำไปคิดต่อเอาเอง
  • "ทหารทุกนายก็มีสิทธิที่จะรัก" คูร์รัมกล่าวกับทหารคนสนิทที่บอกว่าอาจูมันมีฐานะสูงเกินกว่าที่ทหารธรรมดาอย่างเขาจะรักได้
  • "ดนตรี คือทุกสิ่ง มันคือความรู้สึก มันคือการบูชา เป็นเสียงของพระเจ้า มันหมายถึงการได้ใกล้ชิดพระเจ้า และเหนือสิ่งอื่นใดนั้น ดนตรีคือความรัก"  อุซตาดอาลีคานกล่าวกับคูร์รัมและอาจูมัน  ส่วนขาโจ๋ที่ฟังคอนเสิร์ตไปกรี๊ดไปสมัยนี้คงไม่คิดอะไรลึกซึ้งขนาดนี้แน่ๆ
  • "รักแท้ย่อมเจอหนทาง" คูร์รัมกล่าวกับอาจูมันเมื่อเขาตามไปพบเธอที่ภูเขา
  • "กษัตริย์ตรัสแล้วไม่สามารถคืนคำได้" พระจักรพรรดิ Jahangir กล่าวกับพระนางนูราจาน  น่าจะนำไปใช้กับผู้นำทุกระดับชั้นนะครับ

เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด  หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย

ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : Taj Mahal: A Monument of Love

ชื่อภาษาไทย :  ทัชมาฮาล รักเราเป็นนิรันดร์

ผู้กำกำกับ : Robin Khosla

ผู้สร้าง (Producer) : Ramesh Khosla

ผู้เขียนบท :  Robin Khosla

ผู้แสดง :

  • Raghuraj as Khurram
  • Purnima/Poornima Pathwardhan as Arjumand Bano (Queen Mumtaz Mahal)
  • Kulbhushan Kharbanda as Jahangir
  • Moon Moon Sen as Nurjahan
  • Iklakh as Mahawat Khan
  • Shahbaz Khan as Ustad
  • Bashir Shiekh as Asaf Khan
  • Aparna Jaywant as Jahanara
  • Raja Chowdhary as Guide
  • Sabrina Avila as Sophia
  • Bali as Asif
  • Deepa as Ladli Begum

ควรอ่านเพิ่มเติม

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

  • (ยังไม่มี) 

 
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ

หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ

Bookmark and Share

ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก www.youtube.com

ที่จริงแล้วใน YouTube มีคลิปตัวอย่างภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ที่ http://www.youtube.com/watch?v=aeOrFvXmD1I  แต่เนื่องจากผู้อัพโหลดคลิปได้ตั้งค่าไว้ให้ไม่สามารถนำไปแสดงที่หน้าเว็บอื่นได้  จึงขอให้ผู้สนใจคลิกที่ลิงค์ดังกล่าวแทน    ในที่นี้ขอนำเสนอคลิปภาพถ่ายต่างๆ ของทัชมาฮาลดังนี้ครับ

ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์

 



เอเชียโบราณ

มังกรระห่ำ ดาบปราบพยัคฆ์ (Sino Dutch war 1661) แบบฉบับของการต้านชิงกู้หมิง วันที่ 19/05/2013   18:58:36
Jodhaa Akbar ภาพยนตร์เพื่อความสมานฉันท์ทางศาสนา วันที่ 19/05/2013   19:00:10
ฌ้อปาอ๋อง ขุนศึกลำน้ำเลือด วันที่ 19/05/2013   19:01:17
ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหลียงซาน ภาค 1-2 (The Water Margin/All Men are Brothers) วันที่ 19/05/2013   19:02:10
ฤทธิ์จักรพญายม ภาค 1-2 วันที่ 19/05/2013   19:03:07
สามก๊ก ตอน โจโฉ แตกทัพเรือ มหากาพย์แห่งภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์สามก๊กอีก 1 เรื่อง วันที่ 19/05/2013   19:10:42
Mongol แต่งประวัติศาสตร์ใหม่กันอีกแล้ว! วันที่ 19/05/2013   19:11:32
Genghis Khan เวอร์ชันญี่ปุ่น : สงคราม กับ ผู้หญิง และ ครอบครัว วันที่ 19/05/2013   19:12:31
Genghis Khan BBC "จอมโหด" หรือ "ผู้พิชิต" วันที่ 19/05/2013   19:13:25
Marco Polo 2007 เมื่อครั้งตะวันออกยังเจริญกว่าฝรั่ง วันที่ 19/05/2013   19:14:31
Marco Polo ฉบับบู๊ลิ้ม วันที่ 19/05/2013   19:15:27
สารคดี The True Story of Marco Polo : มาร์โค โปโล ไม่เคยไปเมืองจีนจริงๆ ? วันที่ 19/05/2013   19:17:46
อโศกมหาราช (Asoka) จาก ทรราชย์ สู่ ธรรมราชา วันที่ 19/05/2013   19:18:37
ตามรอยพระพุทธเจ้า : คู่มือชาวพุทธฉบับ DVD วันที่ 19/05/2013   19:19:44
ขุนศึกหญิงตระกูลหยาง (Legendary Amazons) (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   19:20:26 article
Genghis Khan (2004 TV series) (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   19:21:12 article



1

ความคิดเห็นที่ 1 (92243)
avatar
คนเล่าเรื่อง

เท่าที่อ่านดู หนังเรื่องนี้น่าจะเป็นแนวประโลมโลกด้วยการใช้เรื่องราวความรักอมตะของเหล่าราชวงศ์ที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์มากกว่าครับ  เพราะมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมือง การปกครองน้อยมาก

สไตล์การเดินเรื่องก็น่าจะเป็นแบบใช้เพลงและดนตรีเป็นส่วนเสริมให้การเดินเรื่องมีอรรถรส  โดยที่ตัดเอาการเริงระบำรำฟ้อนออกไปครับ

อย่างไรก็ตามครับ  เท่าที่ดูการจัดแสง ฉาก และ การแต่งหน้าดาราแล้ว  คงไม่ใช่หนังที่มีเนื้อหาหนัก ๆ แบบแบกข้าวสารดู  ก็ขอสนับสนุนให้มีการนำหนังประวัติศาสตร์แนวไม่รุนแรงแบบนี้ในเว็บแห่งนี้ต่อไปนะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น คนเล่าเรื่อง ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2010-01-05 23:28:02


ความคิดเห็นที่ 2 (94314)
avatar
ingen

เพิ่งมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ค่ะ และก็เลยมาหาข้อมูลเพิ่มเติม พอดีมาเจอเว็บนี้ รีวิวได้ละเอียดดีค่ะ ก่อนหน้าได้ชมเรื่อง Jodhaa Akbar ซึ่งเป็นอิงประวัติศาสตร์อินเดียเหมือนกัน เน้นความรักเหมือนกันค่ะ และก็ชอบมากๆ อยากอ่านรีวิวเรื่องนี้แบบละเอียดๆ บ้างจังค่ะ ^^

ผู้แสดงความคิดเห็น ingen (ingen_2004-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2010-05-01 23:54:56


ความคิดเห็นที่ 3 (94346)
avatar
โรจน์ (Webmaster)

เรื่อง Jodhaa Akbar นี่ไม่แน่ใจว่าจะเคยเห็นที่ไหนหรือไม่  คือเคยเห็นหนังอินเดียตามร้านตามแผงอีกหลายเรื่อง แต่ดูปกกับอ่านเรื่องย่อแล้วไม่ค่อยแน่ใจว่าเรื่องไหนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์  เลยได้ซื้อมาเพียง 2 เรื่อง คือ เรื่องนี้กับเรื่องพระเจ้าอโศกครับ  แล้วจะพยายามหา Jodhaa Akbar และเรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)  มาเล่าสู่กันฟังครับ

แถมอีกนิด แอบไปดูข้อมูลวิกิพีเดียมา เลยได้ทราบว่า Akbar the Great นั้นเป็นสมเด็จพระอัยกา (ปู่) ของ Shah Jahan พระเอกของเรื่องนี้นั่นเองครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ (Webmaster) (webmaster-at-iseehistory-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2010-05-03 13:21:29


ความคิดเห็นที่ 4 (101884)
avatar
itichai

เรื่องประวัติศาสตร์อินเดียยุคราชวงศ์โมกุล มีหนังอีกเรื่องที่น่าสนใจชื่อ Mughal-E-Azam เป็นหนังคลาสสิคของอินเดียสร้างมาตั้งแต่ปี 1960 เป็นเรื่องราวของโอรสของพระเจ้าอัคบา ชื่อ ซาลิม ซึ่งต่อมาได้ขึ้นเป็นพระเจ้าจาฮันการ์  เดิมสร้างเป็นหนังขาวดำ แต่ต่อมาได้มีการบูรณะและย้อมสีจนกลายเป็นหนังสี  สามารถหาหนังเรื่องนี้ทั้งเวอร์ชั่นขาวดำ และฉบับย้อมสี ได้แถวพาหุรัดครับ

en.wikipedia.org/wiki/Mughal-e-Azam

ผู้แสดงความคิดเห็น itichai ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-11-04 13:49:28



1


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker