dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



Kingdom of Heaven มหาศึกกู้แผ่นดิน
วันที่ 19/05/2013   18:41:31

โดย "คนเล่าเรื่อง"

เรื่องราวเริ่มขึ้นที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในฝรั่งเศสตอนใต้ ปี ค.ศ. 1184  เมื่อเบเลี่ยน (Balian) ช่างตีเหล็กได้สูญเสียภรรยาสุดที่รัก จากการที่เธอฆ่าตัวตายเพราะลูกสาวของเธอได้ตายไป  แล้วเมื่อตอนทำพิธีฝัง นักบวชได้บอกให้สับปะเหร่อตัดศรีษะศพของนางเสียเพราะเธอฆ่าตัวตายซึ่งเป็นบาปมหันต์  ส่วนเบเลี่ยน เมื่อกองทัพของก็อดฟรีย์ บารอนแห่งอิบีลิน (Godfrey Baron of Ibelin) ได้มาแวะพักที่บ้านของเขาและบอกความจริงว่าเขาคือพ่อของเบเลี่ยน และเอ่ยปากชวนเบเลี่ยนให้ร่วมเดินทางไปเยรูซาเล็ม  เบเลี่ยนได้ปฏิเสธไปในครั้งแรก  แต่ในเย็นวันนั้น นักบวชผู้ทำพิธีศพและไม่ค่อยชอบหน้าเบเลี่ยนได้พยายามโน้มน้าวแกมผลักไสให้เบเลี่ยนจากไป  เมื่อเขาได้บอกกับเบเลี่ยนว่าได้ตัดศรีษะศพของภรรยา เบเลี่ยนจึงฆ่านักบวชด้วยความโกรธ  แล้วออกเดินทางติดตามก็อดฟรีย์ไปด้วย  แต่ในระหว่างทาง กองทหารของเมืองได้ตามจับตัวเบเลี่ยนจากข้อหาฆ่านักบวช  จึงเกิดการปะทะกันจนมีการล้มตายกันทั้ง 2 ฝ่าย และก็อดฟรีย์ได้รับบาดเจ็บสาหัส


จากซ้ายไปขวา
แถวบน - เบเลี่ยน, ก็อดฟรีย์, เจ้าหญิงซีบิลล่า, กษัตริย์บอลด์วิน
แถวล่าง - ไทบีเรียส, เรย์นาลด์ เดอ ชาติยง, กีย์ เดอ ลูซินยง, กษัตริย์ซาลาดิน

กลุ่มที่เหลือออกเดินทางต่อไปจนถึง เมสสิน่า เมืองท่าเรือสู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เบเลี่ยนได้พบกับ กีย์ เดอ ลูซินยง (Guy de Lusignan) น้องเขยของกษัตริย์แห่งเยรูซาเล็ม  และเกิดความไม่ถูกชะตากับเขา ก็อดฟรีย์มีอาการบาดเจ็บกำเริบจนสิ้นชีวิต แต่ได้แต่งตั้งเบเลี่ยนให้ดำรงตำแหน่งและหน้าที่ต่อจากตนรวมทั้งสั่งสอนถึงความเป็นอัศวินเป็นครั้งสุดท้าย  เบเลี่ยนออกเดินทางไปพร้อมกับเรือเดินสมุทรซึ่งพบกับมรสุมจนอับปาง  แล้วเขาจึงตื่นขึ้นที่ชายหาดพร้อมกับม้าที่รอดมาจากเรือที่อับปาง แต่ได้เจอกับชาวอาหรับผู้ต้องการม้าตัวนั้นพร้อมกับคนรับใช้  จึงได้ต่อสู้กันอย่างตรง ๆ แล้วเบเลี่ยนจึงได้รับชัยชนะ  เขาเดินทางต่อพร้อมกับคนรับใช้จนถึงนครเยรูซาเล็ม เบเลี่ยนปล่อยตัวคนรับใช้ให้เป็นอิสระพร้อมมอบม้าให้ด้วย


เบเลี่ยนเข้าเฝ้ากษัตริย์บอลด์วิน


เบเลี่ยนและชาวบ้านช่วยกันขุดบ่อน้ำในอีบิลิน


น้ำเพื่อใช้เพาะปลูกจากบ่อน้ำที่ขุดได้


ทหารเมพลาร์ โดย กีย์ และ เรย์นาลด์ เข้าโจมตีกองคาราวานของมุสลิม

เยรูซาเล็มขณะนั้นปกครองโดยฝ่ายคริสเตียน ซึ่งกษัตริย์บอลด์วินที่ 4  ได้ทำสัญญาสงบศึกกับฝ่ายมุสลิมโดยกษัตริย์ซาลาดิน  แต่ชาวมุสลิมได้ถูกดักปล้นและทำร้ายจากทหารเทมพลาร์นำโดยเรย์นาลด์ เดอ ชาติลยง (Reynald de Chatillon) แต่อาศัยบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมืองเคแร็กที่มีอยู่จึงรอดตัวจากคำกล่าวหาได้  เบเลี่ยนได้พบกับไทบีเรียส (Tiberias) ที่ปรึกษาของกษัตริย์ก่อนเข้าเฝ้ากษัตริย์บอลวินด์ที่ 4 ในฐานะทายาทของก็อดฟรีย์  ถึงแม้ว่าจะอยู่ในวัยหนุ่ม  แต่กษัตริย์ได้ป่วยเป็นโรคเรื้อนในระยะลุกลามรุนแรงจนต้องสวมหน้ากากปกปิดใบหน้าและห่มคลุมกายอย่างมิดชิด  กษัตริย์ได้รับสั่งให้เขาไปรักษาเมืองอิบิลีน   ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านสำหรับผู้แสวงบุญไว้ให้ดี  เบเลี่ยนและเหล่าอัศวินได้ทำหน้าที่นี้อย่างแข็งขัน รวมทั้งการดูแลความเป็นอยู่และการหาน้ำเพื่อการเกษตรของชาวบ้านด้วย และเมื่อซีบิลล่า (Sibylla) น้องสาวของกษัตริย์ซึ่งอภิเษกกับกีย์ เดอ ลูซินยง ตามการจัดการของพระมารดาเมื่อนานมาแล้วเพื่อหวังผลทางการเมืองได้เดินทางมาหาเขาจนเกิดความสัมพันธ์กัน เพราพระสวามีไม่ได้ให้ความรักและความสนใจแก่นางมากไปกว่าความมักใหญ่ใฝ่สูง

แล้วเมื่อ กีย์  กับ เรย์นาลด์ นำกองทหารเทมพลาร์ลอบโจมตีกองคาราวานของชาวมุสลิมอีกครั้ง ครั้งนี้ ซาลาดินได้นำทัพใหญ่กว่า 2 แสนคนบุกเข้ามายังเคแร็ก  จึงได้เกิดการโต้เถียงถึงสงครามในกลุ่มขุนนางสายเหยี่ยวและสายพิราบในเยรูซาเล็ม  เบเลี่ยนได้นำอัศวินและกองทัพจำนวนน้อยนิดเข้าประจันหน้ากับทัพใหญ่อย่างห้าวหาญจนถูกจับกุม   และเขาได้พบว่าคนรับใช้มุสลิมที่เขาปล่อยไปนั้น ที่จริง คือ ทหารคนสนิทของซาลาดิน  เขาได้รับการยกย่องและปล่อยตัวไป  จากนั้น  กองทัพฝ่ายคริสเตียนนำโดยกษัตริย์บอลวินด์ที่ 4 ซึ่งกำลังป่วยหนักได้มาถึง  แล้วจึงเริ่มเจรจาสงบศึกกับซาลาดินอย่างตรง ๆ โดยสัญญาว่าจะจับกุมและลงโทษเรย์นาลด์    ซึ่งซาลาดินได้รับคำสงบศึกนั้น

เมื่อกลับมาเยรูซาเล็ม  กษัตริย์บอลด์วินซึ่งป่วยหนักจากอาการของโรคเรื้อนและการเดินทางรอนแรมที่ตรากตรำใกล้สิ้นพระชนม์มีความประสงค์จะให้เบเลี่ยนขึ้นครองราชย์ต่อ  โดยจะสั่งให้กำจัดกีย์   แล้วอภิเษกซีบิลล่าให้  แต่เบเลี่ยนปฏิเสธอย่างแข็งขัน  เมื่อกษัตริย์สิ้นพระชนม์  กีย์ได้ขึ้นครองราชย์ตามราชประเพณี  แล้วสั่งกำจัดเบเลี่ยน แต่เขาก็รอดมาได้  แต่เมื่อกษัตริย์ได้ปล่อยเรย์นาลด์จากห้องขังและสั่งให้ก่อสงครามกับฝ่ายมุสลิมอีกครั้ง  และก็สมใจอยากเมื่อเรย์นาลด์ได้ฆ่าน้องสาวของซาลาดิน  และกีย์ได้สังหารทูตของซาลาดินผู้มายื่นคำขาดให้ยอมจำนน  สงครามศักดิ์สิทธิ์จึงเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง


การเจรจาสันติระหว่างกษัตริย์บอลด์วินและซาลาดินที่เคแร็ก


นักรบซาราเซ็นเข้ากวาดล้างกองทัพที่พ่ายแพ้ของคริสเตียน

กษัตริย์ใหม่ผู้กระหายสงครามมีความตั้งใจอย่างเข้มแข็งที่จะนำกองทหารออกไปประจัญหน้ากับกองทัพของฝ่ายมุสลิมในท้องทะเลทรายกว้างไกล  แม้ว่าจะได้รับการคัดค้านจากเบเลี่ยนและไทบีเรียส  แต่ก็ไม่เป็นผล  กีย์ได้นำทัพออกไปผจญกับความลำบากกันดารของท้องทะเลทรายก่อนจะพ่ายศึกอย่างหมดรูปต่อกองทัพของซาลาดินจนถูกจับตัว  และซาลาดินได้สังหารเรย์นาลด์ผู้ฆ่าน้องสาวของเขา เมื่อเบเลี่ยนและไทบีเรียสได้เดินทางมาพบกองซากศพมหึมาของกองทัพฝ่ายคริสเตียน  ไทบีเรียสได้ตัดสินใจถอนตัวจากไป แต่ได้เตือนเบเลี่ยนถึงศึกใหญ่ที่จะเกิดขึ้นกับเยรูซาเล็ม

ที่เยรูซาเล็ม  เบเลี่ยนและเหล่าอัศวินที่เหลืออยู่ได้เตรียมการป้องกันเมืองอย่างแข็งขัน ด้วยความหวังว่าจะยันกองทัพซาราเซ็นไว้ได้สักช่วงหนึ่งก่อนเจรจาสงบศึก  แต่ขวัญและกำลังใจของชาวเมืองและทหารที่เหลือตกต่ำมากจนเขาต้องแหกกฎด้วยการแต่งตั้งชาวเมืองทุกฐานันดรให้เป็นอัศวินเพื่อปกป้องเมือง

การจู่โจมระลอกแรกของนักรบซาราเซ็นเริ่มต้นขึ้นในยามค่ำคืนด้วยเครื่องเหวี่ยงก้อนหิน (trebuchet) และเครื่องดีดกระสุน (mangonel) ระดมดีดกระสุนติดไฟขนาดใหญ่เข้าสู่เมือง (คงคล้าย ๆ กับการระดมยิงปืนใหญ่ในสมัยใหม่) จากนั้น ในยามเช้ากองกำลังซาราเซ็นพร้อมด้วยหอรบเคลื่อนที่ (belfry)  (คงคล้ายกับรถถังในสมัยนี้) และอาวุธอื่น ๆ ได้เคลื่อนกำลังเข้าโจมตีเมือง  แต่ถูกตอบโต้ด้วยด้วยอาวุธแบบเดียวกัน จนได้รับความเสียหาย การรบเข้าประชิดติดพันกำแพงเมือง แต่เหล่าอัศวินคริสเตียนได้ปกป้องเมืองอย่างแข็งขัน  จนกระทั่งนักรบซาราเซ็นไม่สามารถตีหักเข้าไปได้  ซาลาดินได้ทราบว่าผู้ปกป้องเมือง คือ เบเลี่ยน บุตรชายของก็อดฟรีย์ผู้เคยเกือบสังหารเขาในการศึกที่เลบานอน


เบเลี่ยนกล่าวถ้อยคำปลุกใจชาวเยรูซาเล็มให้ต่อสู้ป้องกันเมือง


กองทัพซาราเซ็นพร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์พร้อมเข้าตีนครเยรูซาเล็ม


กองทัพซาราเซ็นรุกเข้าตีเมือง


ความพินาศของหอรบจากกลศึกของเบเลี่ยน

การจูโจมระลอกที่สอง เบเลี่ยนได้ต่อสู้เพื่อปกป้องเมืองอย่างเข้มแข็งอีกครั้ง  และได้วางกลทำลายหอรบเคลื่อนที่ของกองทัพซาราเซ็นด้วยหน้าไม้ยักษ์ (ballista) ยิงลูกธนูใหญ่ติดเชือกดึงรั้งให้หอรบล้มครืนลงมา  ซาลาดินจึงต้องเลี่ยงพล้ำในการศึกอีกครั้ง  ภายในเมือง ทุก ๆ คนต่างช่วยเหลือรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บโดยซีบิลล่าได้สลัดฐานะราชินีมาช่วยด้วย  เบเลี่ยนได้สั่งการให้เผาศพของอัศวินภายในเมืองเพราะไม่มีพื้นที่พอที่จะทำการฝังซึ่งและจะเป็นการแพร่โรคระบาดภายในเมือง แม้ว่าจะขัดกับธรรมเนียมของคริสเตียนก็ตาม  ส่วนภายนอกเมือง  ซาลาดินต้องทำพิธีฝังศพนักรบของตนด้วยความเจ็บปวด   ซาลาดินและเหล่าเสนาธิการได้วางแผนที่จะระดมยิงกำแพงด้านประตูคริสโตเฟอร์ซึ่งเป็นจุดที่อ่อนแอที่สุดเพื่อบุกเข้าสู่เยรูซาเล็ม

การจู่โจมระลอกที่สามได้เริ่มต้นขึ้นด้วยการระดมยิงด้วยเครื่องเหวี่ยงก้อนหิน ณ จุดที่ซาลาดินเลือกไว้อย่างต่อเนื่อง  ภายในเมืองเบเลี่ยนได้กล่าวปลุกกำลังใจแก่อัศวินในการปกป้องเมือง  เมื่อกำแพงพังทลายลง  กองทัพซาราเซ็นได้ยกพลรุกเข้าสู่เมือง  แต่ก็ได้รับการต่อต้านแบบตะลุมบอนอย่างเข้มแข็งและถวายหัวจากเบเลี่ยนและเหล่าอัศวิน  ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างสูญเสียอย่างหนักจนกลายเป็นซากศพกองพะเนินเทินทึกบนซากกำแพงแห่งนั้น


กองทัพซาราเซ็นรุกข้ามกำแพงเมืองที่ถูกถล่ม


การต่อสู้แบบตะลุมบอนของทั้งสองฝ่าย


การเจรจาต่อรองครั้งสุดท้ายระหว่างเบเลี่ยนกับซาลาดิน

เบเลี่ยนได้เดินก้าวข้ามซากกำแพงและซากศพออกไปตกลงหย่าศึกกับซาลาดินซึ่งต้องการเจรจา ซึ่งเบเลี่ยนไม่ยอมจำนนต่อการยื่นคำขาดให้ยอมแพ้  แต่จะขอสู้ตายพร้อมกับประชาชนทุกคนในเมือง รวมทั้งจะเผาทำลายเมืองทั้งหมด ซาลาดินจึงยื่นข้อเสนอว่าจะให้ความปลอดภัยแก่ประชาชนในเมืองทุกคน  รวมทั้งทหารเพื่อให้ชาวคริสสละเมืองเยรูซาเล็ม  ซึ่งเบเลี่ยนได้ยอมรับข้อตกลงนี้ด้วยการรับรองอย่างแข็งขันด้วยคำสัญญาของซาลาดิน  และแล้ว กองทัพซาราเซ็นจึงได้เข้าครอบครองนครเยรูซาเล็มอย่างสงบแล้วเริ่มการปกครองให้เป็นอาณาจักรมุสลิม  จากนั้น เบเลี่ยนได้นำอัศวินและประชาชนทุก ๆ คนภายในเมืองได้เดินทางออกไปอย่างปลอดภัยตามข้อเสนอทุกประการไปยังทะเลเพื่ออพยพไปยังเมืองอื่น ๆ  พร้อมด้วยซีบิลล่าที่สละฐานันดรแล้ว

ทั้งเบเลี่ยนและซีบิลล่าได้แวะผ่านหมู่บ้านเดิมในฝรั่งเศสอีกครั้งเพื่อเยี่ยมหลุมศพภรรยาเก่า  ในขณะนั้น พระเจ้าริชาร์ดในสิงห์แห่งอังกฤษได้ยกทัพผ่านมาเพื่อไปทำสงครามครูเสดอีกครั้ง และถามหาตัวเบเลี่ยน แต่เขาก็ปกปิดความจริงเกี่ยวกับตัวเขาไว้   แล้วทั้งคู่จึงจากหมู่บ้านไปเพื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันแบบคนธรรมดาสามัญโดยละทิ้งความหลังทั้งหมด โดยเฉพาะสงครามศาสนา


พระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์ทรงถามหาเบเลี่ยน

พระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์ไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์อีกครั้ง ทำสงครามศาสนาอยู่ 3 ปี เพื่อกอบกู้เยรูซาเล็ม และจบลงด้วยการสงบศึกกับซาลาดินอย่างยากลำบาก เกือบ 1,000 ปีต่อมา สันติในอาณาจักรแห่งสรวงสวรรค์ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะอธิบาย


Kingdom of Heaven เป็นภาพยนตร์กึ่งอิงประวัติศาสตร์ที่สร้างจากอัตชีวประวัติของยอดอัศวิน เบเลี่ยนแห่งอิบีลินผู้สร้างวีรกรรมปกป้องนครเยรูซาเล็มจากกองทัพซาราเซ็นของซาลาดินไว้ในสงครามครูเสดช่วงแรก  และเหตุการณ์สงครามครูเสดระหว่างปี ค.ศ. 1183-1187  โดยได้ดัดแปลงเรื่องราวและความเป็นไปของตัวละครสำคัญ ๆ ให้เหมาะแก่การนำเสนอให้เกิดความน่าสนใจและชวนติดตามและระยะเวลาของการเดินเรื่องแบบภาพยนตร์  โดยสร้างภาพลักษณ์ให้เบเลี่ยนเป็นวีรบุรุษจำเป็นที่เปลี่ยนสถานะจากช่างตีเหล็กธรรมดามาเป็นอัศวินผู้ห้าวหาญ  เข้มแข็ง  สุขุม รอบคอบ ทรงคุณธรรม ซึ่งต่างจากเรื่องราวในประวัติศาสตร์มากพอสมควร


ภาพวาดเบลี่ยนตัวจริง (คนกลาง)

สำหรับตัวตนที่แท้จริงในประวัติศาสตร์นั้น  เบเลี่ยนคือบุตรชายคนเล็กของบาริซัน (Barison) แห่งอีบิลิน  พ่อของเขาเป็นอัศวินในเมืองจัฟฟา  ปีเกิดของเขายังไม่เป็นที่แน่ชัด   แต่เขาได้เข้าสู่วัยหนุ่ม(โดยทั่วไประมาณ 15 ปี) ในปี ค.ศ. 1158  ภายหลังการตายของพี่ชายคนโต ในปี ค.ศ. 1169 ปราสาทแห่งอีบิลินได้ถูกส่งผ่านไปยังพี่น้องคนถัดไปที่ชื่อว่าบอลด์วิน (คนละคนกับกษัตริย์บอลด์วิน) และเบเลี่ยนได้รับมอบปราสาทจากพี่ชายและถือครองในฐานะผู้รับใช้พี่ชายโดยตรงและต่อกษัตริย์แห่งแรมลา

ทั้งเบเลี่ยนและพี่ชายได้รับใช้เรย์มอนด์ที่ 3 แห่งทริโปลี ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนกษัตริย์บอลด์วินที่ 4 ในปี ค.ศ. 1174 และในปี ค.ศ. 1177  พี่น้องได้เข้าสู่สมรภูมิมอนกิซาร์ดซึ่งได้นำทัพเข้าต่อต้านจุดที่เข้มแข็งที่สุดของแนวมุสลิม  ปีนั้นเอง เบเลี่ยนได้แต่งงานกับมาเรีย คอมมีน่า  ภรรยาหม้ายของกษัตริย์อามาลริคที่ 1 และกลายเป็นพ่อเลี้ยงของเจ้าหญิงอิสซาเบลล่า  เขาได้รับตำแหน่งลอร์ดแห่งเนบลัสซึ่งนับเป็นตำแหน่งเดิมของกษัตริย์อามาลริค  ในปี ค.ศ. 1179 บอลด์วินถูกจับโดยซาลาดินในสมรภูมิที่ป้อมจาค็อบ และได้รับการปล่อยตัวในปีถัดมาโดยค่าค่าไถ่ที่เบเลี่ยนได้จัดหามาจากจักพรรดิมานูเอล คอมมีนัสที่ 1 ลุงของมาเรีย

ในปี ค.ศ. 1183 เบเลี่ยนและบอลด์วินซึ่งรับใช้เรย์มอนด์ได้ต่อต้าน กีย์แห่งลูซินยง  สามีของซีบิลล่าแห่งนครเยรูซาเล็มและยังเป็นผู้สำเร็จราชการแทนกษัตริย์บอลด์วินที่ 4 ผู้ที่กำลังจะสิ้นพระชนม์ด้วยโรคเรื้อน  กษัตริย์มีหลานชายวัย 5 ปี  ก่อนการสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1185 ช่วงฤดูใบไม้ผลิ  กษัตริย์บอลด์วินได้มีพระบัญชาให้มีพิธีสวมมงกุฎแก่หลานชาย  และเป็นเบเลี่ยนเองที่อุ้มเด็กชายวัย 5 ขวบไว้บนบ่าในพิธี  ซึ่งมีความหมายถึงการรับใช้ครอบครัวของอิสซาเบลล่า  แต่เมื่อกษัตริย์เด็กบอลด์วินที่ 5 ได้สิ้นพระชนม์ในวัย 9 ปี  เบเลี่ยนและมาเรียโดยการอุปถัมภ์ของเรย์มอนด์ได้เสนอให้ลูกสาวของมาเรีย ชื่อว่าอิสซาเบลล่าซึ่งมีอายุ 14 ปีขึ้นครองราชย์อย่างไรก็ตาม  สามีของอิสซาเบลล่า คือฮัมฟรีย์ที่ 4 แห่งโตรอนได้ปฏิเสธมงกุฎและสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อกีย์ย์ย์  เบเลี่ยนจึงต้องสวามิภักดิ์ต่อกีย์ย์ย์อย่างไม่เต็มใจ ในขณะที่พี่ชายของบอลด์วินได้ปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น แล้วได้เนรเทศตัวเองไปยังแอนทิโอค แต่ได้มอบภาระการดูแลลูกชายผู้ไม่ติดตามพ่อให้แก่เบเลี่ยน


สำหรับเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในภาพยนตร์ที่ปรากฏในประวัติศาสตร์มีดังต่อไปนี้ครับ

การบุกปราสาทเคแร็ค (Siege of Kerak) ปี ค.ศ. 1183

ปราสาทเคแร็คแห่งนี้เป็นที่มั่นสำคัญของเรย์นาลด์ แห่งชาติลยง หรืออีกตำแหน่งหนึ่งคือ ลอร์ด แห่งอุลเตรอจอร์แดน (Lord of Oultrejordain) เป็นขุนนางคนสำคัญคนหนึ่งของราชอาณาจักรเยรูซาเลม ดินแดนของเรย์นาลด์ กินแดนตั้งแต่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน และช่วงระหว่างปราสาทเคแร็ค และปราสาทมอนทรีออล เรย์นาลด์ เองถือโอกาสตั้งตนเป็นเสมือนกษัตริย์ และมักจะเป็นตัวชนวนให้เกิดความบาดหมางกันระหว่างซาลาดินกับเยรูซาเล็ม

ในปี 1183 เรย์นาลด์ ยกทัพลงเรือไปโจมตีเรือของอาหรับในทะเลแดง, เข้ายึดเมืองอิลัท ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญริมฝั่งทะเลแดง และอาละวาดต่อไปโดยวางแผนจะโจมตีนครเมกกะ ซึ่งเป็นนครศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม กองเรือของเรย์นาลด์ ถูกสกัดโดยกองเรือของอียิปต์ ที่นำโดย อัล-อดิล หลานของซาลาดิน ตัวของเรย์นาลด์ หลบหนีไปได้ แต่พรรคพวกที่เหลือถูกนำตัวไปไคโรและถูกตัดคอทั้งหมด ซาลาดิน ลั่นวาจาออกมาว่า ต้องเด็ดหัวของเรย์นาลด์ให้ได้

และแล้ว ซาลาดิน ก็ยกกองทัพมาล้างแค้น ในช่วงที่กำลังมีพิธีเลือกคู่ของ ฮัมฟรีย์ที่ ๔ แห่งโทร่อน (Humphrey IV of Toron) กับเจ้าหญิง อิสซาเบลลาแห่งเยรูซาเล็ม (Isabella of Jerusalem) ที่ปราสาทเครัค พอดี

เหตุที่พิธีเลือกคู่ดังกล่าวไปจัดที่ปราสาทเคแร็คซึ่งเป็นที่อยู่ของเรย์นาลด์  เพราะเรย์นัลด์สมรสกับสเตฟานี่ แห่งมิลลี่ มารดาของฮัมฟรีย์ที่ 4 หลังจากที่ฮัมฟรีย์ที่ 4 แห่งโทร่อน (Humphrey III of Toron) ลอร์ดแห่งโทร่อน, ขุนนางคนหนึ่งแห่งเยรูซาเล็ม สิ้นชีวิตลง เรย์นาลด์จึงมีฐานะเป็นพ่อเลี้ยงของฮัมฟรีย์ที่ 4 ด้วย

ฮัมฟรีย์ที่ 4 แห่งโทร่อน (Humphrey IV of Toron, วัย 16 ปี บุตรของ Humphrey III of Toron) ยังเป็นทายาท แห่งอุลเตรอจอร์แดน อีกด้วย ส่วนเจ้าหญิง อิสซาเบลลา เป็นพระขนิษฐาต่างพระมารดาของกษัตริย์บอลด์วินที่ 4 มีชันษาเพียง 11 ปี เท่านั้น


ภาพวาดกีย์แห่งลูซินยงตัวจริง

พิธีสยุมพร ดำเนินไปท่ามกลางการโจมตีของทหารซาราเซ็น ที่ใช้เครื่องดีดก้อนหิน 9 เครื่องระดมยิงหินเข้าถล่มปราสาท แต่ดูเหมือนว่า การโจมตีดูจะไม่ดุเดือดเต็มที่เท่าไหร่ เพราะซาลาดินเอง ต้องการจะล้างแค้นเรย์นาลด์เท่านั้น จริงๆ ทั้งสองฝ่ายต่างก็รู้จักกันดีเป็นการส่วนตัว สเตฟานี่ แห่งมิลลี่ มารดาของเจ้าบ่าว, ฮัมฟรีย์ที่ 4 ยังส่งของขวัญในการฉลองพิธีสยุมพรไปถวายสุลต่าน ซาลาดิน ด้วย แต่เรย์นาลด์ ก็รู้ว่า ซาลาดิน คงไม่ปล่อยตนไปเพื่อเห็นแก่การร่วมฉลองพิธีสยุมพรครั้งนี้แน่ ดังนั้นจึงส่งม้าเร็วไปขอความช่วยเหลือจากกษัตริย์บอลด์วิน ที่เยรูซาเล็ม กษัตริย์บอลด์วินจึงส่ง กีย์ แห่งลูซินยงให้ยกทัพมาช่วย แต่กีย์ก็มัวแต่ยึกยัก ไม่ทำอะไรสักอย่าง จนกษัตริย์บอลด์วิน ทนไม่ไหว

แม้ว่า จะทรงประชวรหนัก แต่กษัตริย์บอลด์วิน ทรงยืนกรานที่จะเสด็จนำทหารจากเยรูซาเล็มด้วยพระองค์เอง ครั้งนี้เรย์มอนด์ที่ 3 ตามเสด็จด้วยกษัตริย์บอลด์วิน ทรงเจรจากับซาลาดินว่า ไม่มีประโยชน์อะไรแล้วที่จะมารบกัน เพราะปราสาทแห่งนี้มันมีการป้องกันที่แข็งแกร่งมาก ขอให้ซาลาดินยกเลิกการโจมตีแล้วถอนทัพไปดีกว่า ซาลาดิน ยอมถอนทัพแต่โดยดี เพราะการยกทัพมาคราวนี้ก็มาไกลเกินไป และอาจถูกตีกระหนาบ ความเสียหายอาจมากกว่าที่คาดคิด ดังนั้น ซาลาดินจึงยอมถอนทัพกลับดามัสกัส

ชัยชนะครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จของกษัตริย์พระองค์นี้อีกครั้งหลังจากที่เคยประสบชัยชนะซาลาดินในการยุทธ์ที่มองกิซาร์ด ในปี 1177 และถือว่าเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งเพราะเป็นชัยชนะที่ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ

ซาลาดิน ยกกองทัพเข้ายึดปราสาทเคแร็คอีกครั้งในปี 1184 พร้อมกับกองหนุนจากกองทัพของพวกออร์โทคิดส์ แต่ก็ไม่สามารถยึดได้ กษัตริย์บอลด์วินที่ 4 สิ้นพระชนม์จากการประชวรที่กำเริบขึ้นในปี 1185 บัลลังก์ของเยรูซาเล็มตกไปอยู่กับพระราชนัดดาคือ กษัตริย์บอลด์วินที่ 5 โอรสของเจ้าหญิงซิบิลล่า พระขนิษฐาของกษัตริย์บอลด์วินที่ 4 ซึ่งมีพระชนม์เพียง 8 พรรษา หลังครองราชย์ 1 ปีก็สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทำให้เกิดปัญหาความแตกแยกขึ้นในราชสำนักแห่งเยรูซาเล็มที่ขุนนางส่วนหนึ่งสนับสนุนให้เรย์มอนด์ที่ 3 ขึ้นครองบัลลังก์ ขุนนางอีกส่วนหนึ่งสนับสนุนให้กีย์ย์ย์แห่งลูซิยอง ซึ่งเป็นสวามีของเจ้าหญิงซิบิลล่า พระขนิษฐาของกษัตริย์บอลด์วินที่ 4

ซาลาดิน ฉวยโอกาสที่เกิดความแตกแยกนี้รุกรานราชอาณาจักรเยรูซาเล็มอีกครั้ง และประสบชัยชนะพวกครูเสดในการยุทธ์ที่ฮัททิน (Battle of Hattin) ปี 1187

การยึดเยรูซาเล็ม (Siege of Jerusalem), ปี ค.ศ. 1187

การบุกกรุงเยรูซาเล็มของซาลาดินเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 1187 ทำให้เกิดสงครามครูเสดครั้งที่ 3 ตามมา

ก่อนหน้านั้น ราชอาณาจักรเยรูซาเล็มมีปัญหาความขัดแย้งภายในอย่างรุนแรงจนกระทั่งพ่ายแพ้ในการยุทธ์ที่ฮัททิน ในวันที่ 4 กรกฎาคม 1187 ขุนนางส่วนใหญ่ของเยรูซาเล็มถูกจับเป็นเชลย รวมทั้งพระเจ้า กาย, ซาลาดิน ถือโอกาสรุกต่อไป จนสามารถยึดได้เอเคอร์, นาบลัส, จัฟฟ่า, โทร่อน, ไซดอน, เบรุท และอัสคาลอน. ผู้อพยพมากมายหลั่งไหลไปสู่เมืองไทร์, เมืองเดียวที่ยังไม่ถูกกองทัพของซาลาดินยึดได้. เพราะบังเอิญกองทัพของพระเจ้าคอนราด แห่งมองท์เฟอร์รัท (Conrad of Montferrat) เดินทางมาถึงพอดี

ในเมืองไทร์, เบเลี่ยน แห่ง ไอบีลิน, ลอร์ด แห่งรัมลา และนาบลัส ซึ่งเป็นขุนนางที่อาวุโสที่สุดแห่งเยรูซาเล็ม ที่รอดจากการยุทธ์ที่ฮัททินมาได้ ได้ส่งสาส์นไปยังซาลาดิน เพื่อขอกลับเข้าไปในเยรูซาเล็ม เพื่อไปรับภรรยาคือ มาเรีย คอมเนน่า และครอบครัว ซาลาดินอนุญาตให้เบเลี่ยนเดินทางผ่านวงล้อมของกองทัพมุสลิมเข้าสู่เยรูซาเล็มได้ โดยเบเลี่ยนต้องให้คำมั่นสัญญาว่า จะไม่นำทหารต่อต้านกองทัพมุสลิมอีก และต้องอยู่ในเยรูซาเล็มไม่เกินหนึ่งวัน. แต่เมื่อเดินทางมาถึงเยรูซาเล็ม บาทหลวง เฮราคลิอัส, ราชินี ซิบิลล่า และประชาชนชาวเยรูซาเล็มได้ขอร้องให้เบเลี่ยนเป็นผู้นำในการป้องกันกรุงเยรูซาเล็ม โดยเฉพาะบาทหลวง เฮราคลิอัส ได้ย้ำถึงคำสาบานของอัศวินที่จะต้องปกป้องชาวคริสต์ ทำให้เบเลี่ยนต้องรับหน้าที่เป็นผู้นำในการป้องกันกรุงเยรูซาเล็ม.

เบเลี่ยนได้ส่งสารแจ้งต่อซาลาดินซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่อัสคาลอนว่า เขาปฏิเสธการยอมแพ้ และตัดสินใจที่จะอยู่ป้องกันกรุงเยรูซาเล็ม. อย่างไรก็ตาม ซาลาดินได้ยินยอมให้ครอบครัวทั้งหมดของเบเลี่ยนอพยพจากเยรูซาเล็มไปยังทริโปลีได้. ในบันทึกของอิบ อัล-อทีร์ (Ibn al-Athir) บันทึกไว้ว่า ชาวมุสลิมถือว่า เบเลี่ยนดำรงฐานะเสมือนเป็นกษัตริย์แห่งเยรูซาเล็ม. ซึ่งเท่ากับว่า จะไม่มีการลบหลู่กษัตริย์


ภาพวาดเจ้าหญิงซีบิลล่าตัวจริง

ในเยรูซาเล็ม เต็มไปด้วยผู้อพยพจากเมืองต่างๆ ที่ถูกมุสลิมยกทัพเข้ายึดครอง นับวันก็ยิ่งทวีจำนวนมากยิ่งขึ้นทุกวัน ในเยรูซาเล็มมีอัศวินอยู่ไม่ถึง 20 คน เบเลี่ยนต้องเลื่อนยศพวกสไควร์ (squire = อัศวินฝึกหัด) และพวกข้าราชการที่ไม่ใช่ฝ่ายทหารขึ้นเป็นอัศวินเต็มขั้นเพิ่มขึ้นมาอีก 60 คน เงินในท้องพระคลังถูกนำมาซื้อเสบียงอาหารตุนเอาไว้. ทางด้านกองทัพมุสลิม ซึ่งประกอบด้วยกองทัพซีเรียและอียิปต์ หลังจากตีเมืองไทร์ ไม่สำเร็จ ก็ได้เข้ามารวมกำลังกันนอกกรุงเยรูซาเล็ม ในวันที่ 20 กันยายน.

การเจรจาระหว่างซาลาดิน และเบเลี่ยน โดยผ่านคนกลางคือ ยูซุฟ บาทิท (Yusuf Batit) เลขาชาวคริสต์ออโธดอกซ์คนหนึ่งซึ่งรู้ว่า ชาวคริสต์ออโธด๊อกซ์จะมีสิทธิเสรีภาพมากกว่าหากเยรูซาเล็มอยู่ใต้การปกครองของชาวมุสลิม. ซาลาดินหวังที่จะยึดกรุงเยรูซาเล็มโดยไม่ต้องให้เสียเลือดเนื้อ แต่ชาวกรุงเยรูซาเล็มปฏิเสธที่จะละทิ้งเมือง และประกาศที่จะยอมตายดีกว่าจะยอมแพ้ ดังนั้นการบุกโจมตีเยรูซาเล็มจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กองทัพของซาลาดิน ตั้งทัพที่บริเวณหอคอยแห่งเดวิด (Tower of David) และประตูดามัสกัส (Damascus Gate) พลธนูของซาลาดินระดมยิงธนูไปยังทหารที่รักษาเชิงเทิน ในขณะเดียวกับที่เครื่องยิงหินก็ระดมยิงหินไปยังกำแพง แต่ก็ถูกฝ่ายครูเสดตอบโต้กลับมาเช่นกัน การโจมตีวันแรกของทหารซาราเซ็น ไม่สู้ได้ผลนัก วันที่ 26 กันยายน ซาลาดินสั่งการให้ย้ายค่ายไปยังอีกด้านของกำแพงเมือง คือ บริเวณเมาท์ อ๊อฟ โอลีฟ (Mount of Olives) ซึ่งเป็นบริเวณที่ไม่มีประตูออกจากเมือง ซึ่งพวกครูเสดไม่มีทางจะส่งทหารออกมาโจมตีได้ (ซึ่งทางฝ่ายในกรุงเยรูซาเล็มก็คงไม่มีกำลังพลเพียงพอที่จะออกมาโจมตีได้ เพราะกำลังส่วนใหญ่ได้สูญเสียไปแล้ว ในการยุทธ์ที่ฮัททิน) ตอนนี้ซาลาดินระดมถล่มกำแพงด้วยเครื่องยิงหินนานาชนิด รวมไปถึงการจัดการกับทหารที่รักษาเชิงเทินด้วยหน้าไม้และธนู ส่วนด้านใต้ฐานกำแพงก็มีการขุดฐานรากของกำแพง จนกระทั่งในที่สุด กำแพงก็พังทลายลงในวันที่ 29 กันยายน ทหารทั้งสองฝ่ายต่างปะทะกันอย่างดุเดือดตรงจุดนี้ แม้ว่าทหารของซาลาดินจะมีจำนวนมากกว่าหลายเท่า แต่ก็ไม่สามารถยกพลข้ามเข้าไปในกำแพงแห่งเยรูซาเล็มได้ ศพทหารทั้งสองฝ่ายโดยเฉพาะทหารซาราเซ็นกองเป็นภูเขาบริเวณช่องกำแพงที่ถล่มลงนี้

ชาวนครเยรูซาเล็มต่างสิ้นหวัง, แอร์นูล์ (Ernoul) ซึ่งเป็นสไควร์ ประจำตัวของเบเลี่ยน ได้บันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ในหนังสือ the Old French Continuation of William of Tyre ว่า ที่เมาท์ คาลวารี่ (Mount Calvary) พวกผู้หญิงพากันตัดผมของเด็กๆ เก็บไว้ หลังจากสังหารลูกของเธอด้วยการจับกดน้ำ เป็นการบูชายัญบุตรของพวกเธอต่อพระเจ้าที่ไม่ยอมรับฟังคำสวดภาวนาขอให้คุ้มครองชาวนครเยรูซาเล็ม

สิ้นเดือนกันยายน เบเลี่ยนพร้อมทั้งทูต ออกจากเยรูซาเล็มไปเจรจากับสุลต่านซาลาดินอีกครั้ง เพื่อเจรจาขอยอมแพ้อย่างมีเงื่อนไข การเจรจาไม่ได้ผล เพราะสุลต่านซาลาดินเห็นว่า กำลังของฝ่ายตนมีจำนวนมากเพียงพอที่จะโจมตีและยึดนครเยรูซาเล็มได้สบายๆ แต่แล้วก็กลับพบว่า พวกครูเสด ยังคงต้านทานการบุกโจมตีเยรูซาเล็มอย่างเข้มแข็ง ในการเจรจาอีกครั้ง สุลต่านซาลาดิน เริ่มเล็งเห็นการที่จะยึดเยรูซาเล็มได้อย่างไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ แต่ก็ยังมีเงื่อนไขว่า ผู้ที่อพยพออกจากเยรูซาเล็มอย่างปลอดภัยได้จะต้องจ่ายค่าไถ่ตัวในอัตรา 20 เหรียญทองต่อชาย 1 คน หรือ 10 เหรียญทองต่อหญิง 1 คน หรือ 5 เหรียญทองต่อเด็ก 1 คน มิฉะนั้น จะต้องถูกนำไปเป็นทาส สำหรับเบเลี่ยนนั้น เขาไม่สามารถยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวได้ เพราะผู้ที่อยู่ในกรุงเยรูซาเล็มขณะนี้มีจำนวนกว่า 20,000 คน

หลังจากกลับมาถึงเยรูซาเล็ม, เบเลี่ยนตัดสินใจนำเงินของกษัตริย์เฮนรี่ที่ 2 ที่ทรงส่งมาเป็นค่าใช้จ่ายของทหารรับจ้าง (ซึ่งตอนนี้เสียชีวิตไปหมดแล้วในการยุทธ์ที่ฮัททิน) ตอนนี้เงินเหล่านี้อยู่ในการดูแลของอัศวินฮอสพิทัล โดยเบเลี่ยนนำมาแจกจ่ายให้แก่ผู้ยากไร้ที่อยู่ในเยรูซาเล็มที่มีจำนวนราว 7 พันคน

เบเลี่ยนออกไปเจรจาอีกครั้ง การเจรจายังคงเป็นเรื่องการต่อรองค่าไถ่ตัว ซึ่งสุลต่านซาลาดิน ยอมลดราคาลง โดยอัตราค่าตัวอยู่ที่ 10 เหรียญทองต่อชาย 1 คน หรือ 5 เหรียญทองต่อหญิง 1 คน หรือ 1 เหรียญทองต่อเด็ก 1 คน ซึ่งเบเลี่ยนยังรับข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้ สลุต่านจึงยอมเปลี่ยนข้อเสนอเป็นเหมาจ่าย 100,000 เหรียญทอง ต่อผู้คนทั้งหมด เบเลี่ยนยังยืนยันว่า นั่นก็ยังเป็นไปไม่ได้ ซาลาดินยอมลดราคาต่อรองลงมาเหลือเป็นคน 7 พันคน ต่อเงิน 5 หมื่นเหรียญทอง สุดท้ายได้ข้อยุติว่า ซาลาดินปล่อยให้ผู้คนในเยรูซาเล็มเป็นอิสระ 7 พันคน โดยยอมแลกกับเงิน 3 หมื่นเหรียญทอง โดยถือว่า คน(เท่ากับผู้ชาย)หนึ่งคน มีค่าเท่ากับผู้หญิง 2 คน หรือเท่ากับเด็ก 10 คน (ดังนั้นผู้เป็นอิสระรวมๆ กันจะมากกว่า 7 พันคน)

ณ เวลานี้ เบเลี่ยนยังยึดที่มั่นแห่งสุดท้ายคือ หอคอยแห่งเดวิด จนถึงวันที่ 2 ตุลาคม ภายในกรุงเยรูซาเล็มได้มีการประกาศให้ทุกคนที่สามารถจ่ายค่าไถ่ตัวได้ช่วยเหลือตัวเอง ผู้ที่พอมีเงินไถ่ตัวเองได้ ได้ทยอยออกเดินทางอพยพออกจากเมือง บาเลี่ยนและบาทหลวงเฮราคลิอัส ก็ได้พยายามนำทรัพย์สินของตนเองออกมาช่วยผู้ที่ขัดสนไม่มีเงินจริงๆ ให้รอดจากการตกเป็นทาสของพวกมุสลิม แต่ก็ยังมีผู้คนอีกหลายพันคนที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ พวกนี้พยายามเจรจาต่อรองว่าพวกเขาเป็นเพียงผู้ที่ติดอยู่ในกรุงเยรูซาเล็มเท่านั้น จึงไม่น่าจะโดนจับไปเป็นทาสด้วย แต่ซาลาดินไม่ยินยอม

ซาลาดิน ยินยอมให้พวกผู้อพยพ (ที่มีเงินค่าไถ่ตัว) เดินทางออกจากเยรูซาเล็มได้ก่อนที่กำลังทหารมุสลิมจะยกกำลังเข้าเมือง ซึ่งต่างกับเมื่อครั้งพวกครูเสดบุกเข้าเยรูซาเล็มได้ในปี 1099 ที่มีการสังหารหมู่ชาวเยรูซาเล็ม พวกผู้อพยพได้เดินทางออกจากเยรูซาเล็มโดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกและกลุ่มที่สอง นำโดยอัศวินเทมปลาร์ และอัศวินฮอสพิทัล ส่วนกลุ่มสุดท้ายนำโดย เบเลี่ยนและบาทหลวงพาทริอัส จากนั้นบาเลี่ยนก็มุ่งหน้าไปสมทบกับภรรยาและครอบครัวที่ทริโปลี. ส่วนบาทหลวง พาทริอัส ก็ได้บริจาคทรัพย์สมบัติของโบสถ์จำนวนหนึ่งด้วย

ผู้อพยพบางส่วนเดินทางไปทริโปลีก่อน, แต่ที่นี่ทุกคนจะต้องทิ้งทรัพย์สินข้าวของที่นำติดตัวมาจากเยรูซาเล็มไว้ก่อนจะเข้าเมืองได้ ดังนั้นหลายคนจึงเดินทางต่อไปยังแอนทิอ๊อค, ซีลิเซีย, และไบแซนทิอุม ผู้อพยพบางส่วนเดินทางไปอียิปต์ และลงเรืออิตาลี เพื่อเดินทางไปยุโรป

ซาลาดิน อนุญาตให้ผู้แสวงบุญชาวคริสต์เดินทางเข้าสู่เยรูซาเล็มได้ และอนุญาตให้ชาวคริสต์ได้ดูแลโบสถ์อันศักดิ์สิทธิ์ (Church of the Holy Sepulchre) ชาวมุสลิมได้เข้ายึดสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์หลายแห่งในเยรูซาเล็ม รวมทั้งมัสยิดอัล-อัคซา ทหารของซาลาดินโจมตีที่มั่นต่างๆ ที่พวกครูเสดยังคงยึดครองอยู่ คือ เบลวัวร์ (Belvoir), เครัค (Kerak), และมอนทริอัล (Montreal) จากนั้นก็ยกทัพมายังเมืองไทร์ (ที่ยังยึดไม่ได้) เพื่อเตรียมเข้าโจมตีอีกครั้ง

ในขณะเดียวกัน ข่าวความพ่ายแพ้ที่ฮัททิน ไปถึงยุโรป โดยโจสซิอุส, อาร์ชบิช๊อบ แห่งไทร์ (Joscius, Archbishop of Tyre) และพวกผู้แสวงบุญที่เดินทางกลับมาจากเยรูซาเล็ม ตามมาด้วยข่าวเยรูซาเล็ม ถูกซาลาดิน ยึดได้ สันตะปาปา เกรเกอรี่ที่ 8 (Pope Gregory VIII) ส่งสาส์นเรียกร้องให้คริสต์ศาสนิกชนรวมกำลังเพื่อกอบฉัน้เยรูซาเล็มอีกครั้ง ในอังกฤษและฝรั่งเศส มีการจัดเก็บภาษีซาลาดิน (the Saladin tithe) เป็นทุนในการทำสงคราม แต่กว่ากองทัพครูเสดจากยุโรปจะออกเดินทางได้ก็ล่วงเลยไปจนถึงปี 1189 ครูเสดครั้งนี้ นำทัพโดยกษัตริย์ ริชาร์ด ในสิงห์ (Richard Lionheart), กษัตริย์ ฟิลิป ออกุสตุส (Philip Augustus), และกษัตริย์ เฟรเดริค บาร์บารอสซ่า (Frederick Barbarossa)


ภาพวาดซาลาดินตัวจริง

สำหรับคุณค่าของประวัติศาสตร์นั้น  ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เชิดชูการปกครองของกษัตริย์ชาวคริสผู้ทรงภูมิธรรมอย่างกษัตริย์บอลด์วินที่ 4 วีกรรมอันกล้าหาญของอัศวินแท้จริงในสงครามครูเสดอย่างก็อดฟรีย์ ไทบีเรียส ที่พยายามปกป้องนครเยรูซาเล็มอันศักดิ์สิทธิ์ด้วยหลักการแห่งสันติภาพและเสมอภาค  ยังสร้างภาพของนักรบผู้เข้มแข็ง ทรงคุณธรรม และมีสัจจะแก่เหล่านักรบซาราเซ็นผู้รับใช้กษัตริย์ของพวกเขา เรียกได้ว่า เป็นการเน้นถึงแก่นแท้ที่ถูกต้องในหลักการของทุก ๆ ฝ่ายในการสร้างอาณาจักรในสรวงสวรรค์ที่คนทุกกลุ่มมีความเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะในด้านความเชื่อในศาสนา  และภาพยนตร์ยังได้สร้างอัศวินเก๊อย่าง กีย์ และเรย์นาลด์ ที่ทำลายเกียรติยศและสันติภาพลงด้วยความหยิ่งยโส  กระหายเลือด เพื่อบ่งชี้ว่าสิ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและสงครามนองเลือดในประวัติศาสตร์  แท้จริงแล้วก็คือคนนั่นเอง

เนื้อหาของภาพยนตร์ไม่ได้แตะต้องหรือลงลึกในรายละเอียดของสาเหตุและความเป็นไปของสงครามครูเสดในภาพรวมมากนัก  รวมทั้งไม่เปรียบเทียบหรือตัดสินว่าระหว่างฝ่ายคริสเตียนและมุสลิมนั้น ใครเป็นฝ่ายที่ชอบธรรมที่จะได้ครอบครองนครศักดิ์สิทธิ์  แต่ก็ได้สื่อให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้ในหลาย ๆ ฉาก และในท้ายเรื่อง การเข้าครอบครองนครศักดิ์สิทธิ์ของฝ่ายมุสลิมเป็นเสมือนสมบัติผลัดกันชมที่ต้องใช้เลือดเนื้อและชีวิตของผู้คนเข้าแลกเท่านั้น

อีกแง่มุมหนึ่ง ภาพยนตร์ได้กล่าวถึงความพยายามสร้างสันติระหว่างชน 2 กลุ่มที่แตกต่างกันในด้านศาสนาและลัทธิที่แม้ว่าจะมีต้นกำเนิดเดียวกัน  กษัตริย์องค์เดียวกัน และมีความเกี่ยวข้องกับนครศักดิ์สิทธิ์เยรูซาเล็มเช่นกัน   แต่สันติภาพที่เปราะบางต้องล่มสลายเพราะความต้องการเป็นใหญ่ของผู้นำลัทธิและแสดงความมีอำนาจของตนเองให้อีกฝ่ายได้ประจักษ์ด้วยการเหยียดหยามหรือทำลายล้างให้สูญสิ้น  จนเกิดเป็นสงครามใหญ่ที่ต้องสูญเสียชีวิตผู้คนมากมายที่มีความเชื่อว่าเป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์ที่จะต้องเสียสละชีวิต  ซึ่งนับเป็นการสะท้อนความคิด ค่านิยม และความเชื่อของชาวคริสในยุโรปและชาวมุสลิมในเอเชียไมเนอร์ในยุคกลางได้เป็นอย่างดี (และอาจสะท้อนความคิดและค่านิยมของผู้คนในบางประเทศในยุคนี้ด้วยก็ได้ครับ)

สรุปโดยภาพรวมสำหรับคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้  นับได้ว่ามีมากพอสมควรที่จะจัดให้เป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ที่ให้แง่คิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในแง่ที่เป็นกลางและให้ความนับถือแก่ทุก ๆ ฝ่ายอย่างเท่าเทียมกันครับ (คือ ต่างจากภาพยนตร์บางเรื่องที่ต้องสร้างความเป็นผู้ร้ายและพระเอกแก่ทั้งสองฝ่ายอย่างจงใจ)

การเดินเรื่องและการลำดับภาพนับทำได้ดีพอใช้ คือ เป็นการหาความลงตัวระหว่างความลุ่มลึกในปรัชญาและความสนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าใจตามแบบฮอลลีวู้ดจนกลมกลืนและผสมผสานกันได้พอดีแก่จุดประสงค์ในการรับชมของกลุ่มคนดูภาพยนตร์ทุกกลุ่มในการติดตามเรื่องราวจนจบ  ส่วนฉากการรบ นับว่าเข้าขั้นปกติของภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่  แต่ดูอย่างไรก็ไม่ได้ความเป็นมหากาพย์จริง เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องนำเอา CG มาใช้ในการสร้างภาพและฉาก  แต่คนที่มีบทบาทและสร้างจุดสนใจในเรื่องที่สุดสำหรับผมก็คือ แกสแซน แมสซุด ในบทของซาลาดิน ราชาแห่งนักรบซาราเซ็นที่แม้ว่าจะมีการปรากฏตัวที่น้อยครั้ง แต่บุคลิกของความทรงภูมิธรรม ความกล้าหาญ ตลอดจนความมีภาวะผู้นำในบทบาทนับว่าทำได้ดีเยี่ยมมากเลยครับ

เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด  หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย

ออแลนโด้ บลูม : เบเลี่ยน
เลียม นีสัน  : ก็อดฟรีย์
เจเรมี ไอออนส์  : ไทบีเรียส
เบรนแดน กลีสัน : เรย์นาลด์ เดอ ชาติลยง
อีวา กรีน : เจ้าหญิงซิบิลล่า
เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน : กษัตริย์บอลด์วิน
มาร์ตัน โซคาส : กีย์ เดอ ลูซินยง
แกสแซน แมสซุด : ซาลาดิน

อำนวยการสร้าง : แบรนโก้ ลุสติค, ลิซ่า เอลเซย์
กำกับ : ริดลีย์ สก็อต เทอรี่ นีดแฮม
กำกับภาพ จอห์น แมเธียสสัน
ออกแบบฝ่ายศิลป์ อาร์เธอร์ แม็กซ์
ลำดับภาพ โดดี้ ดอร์น
ออกแบบเครื่องแต่งกาย แจนตี้ แยทส์
ประพันธ์เพลงประกอบ แฮร์รี่ เกรกสัน-วิลเลียมส์


คำพูดจากภาพยนตร์


Be without fear in the face of your enemies. Be brave and upright that god may love thee. Speak the true always even if it lead you to death. Safeguard the helpless.
จงปราศจากความกลัว ในการเผชิญหน้ากับศัตรู จงกล้าหาญและเที่ยงธรรมเพื่อที่พระเจ้าจะรักเจ้า พูดแต่ความจริงเสมอ แม้ว่าจะนำเจ้าไปสู่ความตาย ปกป้องผู้อ่อนแอ

(ก็อดฟรีย์กล่าวแก่เบเลี่ยนเพื่อให้สาบานตนเป็นอัศวิน)

A king may move a man A father may claim a son But remember that, even when those who move you be kings or men of power. Your soul is in your keeping alone.
กษัตริย์อาจจะสั่งประชาชนได้ พ่ออาจเรียกร้องเอาจากบุตร แต่จงจำไว้ เมื่อใดก็ตามที่ใครสั่งให้เจ้าเป็นกษัตริย์หรือผู้มีอำนาจ  วิญญาณของเจ้ายังเป็นของเจ้าแต่ผู้เดีย

(กษัตริย์บอลด์วินกล่าวแก่เบเลี่ยนก่อนมอบหน้าที่ให้เขา)

A king does not kill a king. Were you not close enough to a great king to learn by his example?
กษัตริย์ย่อมไม่ฆ่ากษัตริย์  เจ้าไม่ได้อยู่ใกล้ชิดพอจะเรียนรู้แบบอย่างจากกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่หรือ

(ซาลาดินกล่าวแก่กีย์เมื่อพ่ายแพ้แก่กองทัพซาราเซ็น)

I have given Jerusalem my whole life. First I thought we were fighting for god. Then I realized we were fighting for wealth and land.  I was ashamed.
ข้าอุทิศชีวิตให้กับเยรูซาเล็มมาตลอด ทีแรก ข้าคิดว่าเราสู้เพื่อพระเจ้า  ต่อมาข้าได้รู้ว่าเราสู้เพื่อความมั่งคั่งและแผ่นดิน ข้าละอายใจมาก

(ไทบีเรียสบอกแก่เบเลี่ยนก่อนปลีกตัวจากไป)

We defend this city, not to protect this stone, but the peoples living within these walls. 
เราปกป้องเมืองนี้ ไม่ใช่ป้องกันก้อนหิน แต่เป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในกำแพงเหล่านี้

(เบเลี่ยนกล่าวปลุกใจแก่ประชาชนและอัศวินให้ลุกขึ้นสู้กับกองทัพซาราเซ็น)

God will understand my lord, And if he doesn’t, then he is not god, And we need not worry.
พระเจ้าจะทรงเข้าใจ และถ้าหากว่าไม่เข้าใจ พระองค์ก็ไม่ใช่พระเจ้า และเราก็ไม่ต้องกังวล

(เบเลี่ยนบอกแก่บิช็อปถึงเหตุผลของการเผาศพอัศวินที่ตายในการรบ)

What is Jerusalem worth?
เยรูซาเล็มมีค่าอะไร

(เบเลี่ยนถามแก่ซาลาดินภายหลังตกลงสงบศึก)


สิ่งที่น่าสนใจในภาพยนตร์อีกอย่าง คือ ยุทธวิธีที่ใช้ในการเข้าตีกำแพงเมือง  นับว่ามีความคล้ายคลึงกับการจู่โจมของกองทัพในสมัยใหม่เลยครับ คือ เครื่องดีดลูกกระสุนที่ทำหน้าที่เช่นเดียวกับปืนใหญ่  หอรบเคลื่อนที่ที่ทำหน้าที่คล้ายกับรถถัง  (ซึ่งในภาพยนตร์ไทยเรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้นำเอาหอรบคล้าย ๆ กันนี้มาเข้าฉากด้วย) ซึ่งได้สะท้อนถึงแนวคิดและความพยายามในการประดิษฐ์คิดค้นและพัฒนาอาวุธมาทำลายล้างกันของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย  ผมจึงได้ค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับยุทธวิธีและอาวุธที่ใช้ในการเข้าตีปราสาทยุคกลางเพื่อประกอบความเข้าใจ ดังต่อไปนี้ครับ

ปราสาทยุคกลางโดยทั่ว ๆ ไปมีกำแพงเข็งแกร่งล้อมเป็นวงชั้นนอกสุด วงถัดเข้ามาเป็นลานกว้าง (bailey) มีกำแพงชั้นนอกล้อมลานชั้นในที่มีขนาดเล็กกว่า  แล้วจึงถึงตัวปราสาท  จุดแข็งแกร่งที่สุดของปราสาทคือ ป้อมหอคอย (tower หรือ keep) ที่อยู่ในบริเวณลานชั้นใน แต่หลังจากคริสศตวรรษที่ 13 แผนผังของปราสาทก็เริ่มเปลี่ยนไปโดยป้อมหอคอยลดความสำคัญลงเรื่อย ๆ ปราสาทมักตั้งอยู่บนเนินเขาหรือหน้าผาเพื่อให้ดูน่าเกรงขามและโจมตียาก  เขามักจะเลือกเอาสถานที่ซึ่งมีแม่น้ำหรือคูล้อมเพื่อความปลอดภัย  ปราสาทบางหลังถึงกับไปสร้างอยู่บนเกาะ

ทางเข้าและประตูนับเป็นจุดอ่อนแอที่สุดของปราสาท จึงต้องมีการป้องกันอย่างดี ทางเข้าหลักจะมีด่านป้องกันชั้นแรกที่เรียกว่า บาร์บิคัน (barbican) เป็นทางเดินแคบ ๆ ไม่มีหลังคา  ถ้าศัตรูผ่านเข้ามาจะถูกโจมตีจากเบื้องบน  ส่วนประตูทางเข้าปราสาทมักกั้นด้วย พอร์ตคุลลิส (portcullis) หรือประตูชักซึ่งเป็นลูกกรงหนาหนักและมีหนามแหลม

ถ้าปราสาทมีคูล้อม ก็จะมีสะพานพาดข้ามคูซึ่งสามารถชักขึ้นได้  ใช้เป็นด่านเสริมได้อีกชั้นหนึ่ง  นอกจากนี้ ปราสาทมักมีทางออกฉุกเฉินเล็ก ๆ ซึ่งผู้รักษาปราสาทมักใช้เป็นทางออกไปโจมตีตอบโต้ได้

ข้าศึกมักใช้วิธีระดมยิงฝ่ายรักษาปราสาทเพื่อตัดกำลังก่อนเข้าโจมตีประชิดตัว  ทหารรักษาการณ์บนกำแพงปราสาทมักเป็นเป้าธนูและหน้าไม้ของข้าศึก  แม้จะมีใบเสมาบนยอดกำแพงช่วยบังไว้บ้าง ควาเรล (quarrel) หรือหน้าไม้ใหญ่ช่วยแบบตั้งพื้นสำหรับยิงธนูเพลิงนั้น สามารถส่งลูกไปได้ไกลถึงประมาณ 274 เมตร อาวุธชนิดนี้ใช้ง่ายแต่ปฏิบัติการเชื่องช้า  เพราะต้องตั้งลูกเลื่อนใหม่ทุกครั้งหลังการยิง  ส่วนธนูมือนั้นยิงได้รวดเร็วกว่า แต่ต้องใช้ฝีมือสูง  นักขมังธนูสามารถยิงธนูได้ถึงนาทีละ 12 ดอก และไปได้ไกลอย่างน้อย 200 เมตร หรือาจไกลว่านี้อีกเท่าตัว

ข้าศึกสามารถทำลายกำแพงปราสาทได้ด้วยอาวุธสงครามหลายชนิด  แต่ส่วนใหญ่ใช้เครื่องดีดกระสุน  กระสุนคือก้อนหินที่มักมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 43-51 เซนติเมตร  โดยเขามักแต่งก้อนหินให้เป็นรูปทรงกรวยเพื่อให้พุ่งไปได้ดี

นอกจากนี้ พวกข้าศึกยังใช้เครื่องดีดกระสุนนี้ดีดลูกไฟเข้าไปเผาปราสาท ลูกไฟใช้กำมะถันและน้ำมันดินเป็นเชื้อไฟ  ลูกไฟชนิดดีที่สุดเรียกว่า ลูกไฟกรีก ที่ชาวกรีกใช้รบป้องกันเมืองคอนสแตนติโนเปิล (ปัจจุบันคืออิสตันบูล) จากการรุกรานของพวกมุสลิมเมื่อปี ค.ศ. 673 เชื้อไฟคงมีน้ำมันปิโตรเลียมเป็นส่วนผสมเพราะลุกไหม้ได้ในน้ำและไม่อาจดับได้ด้วยน้ำ

เข้าประชิด
ในการจู่โจมระยะประชิด ฝ่ายข้าศึกต้องเคลื่อนพลไปประชิดกำแพงปราสาทให้ได้  ถ้ามีคูล้อมอยู่ ข้าศึกก็ใช้เรือท้องแบนต่อกันเป็นสะพาน หรือใช้ก้อนหินถมคูทำทางข้ามไป การบุกประชิดนี้เป็นการรบที่อันตรายมาก  เพราะฝ่ายรักษาปราสาทอาจทุ่มก้อนหินหรือเทน้ำร้อนลงโดยผ่านทางช่องยิง (machicolation) ซึ่งอยู่ในส่วนที่ยื่นออกมาจากสันกำแพง  และยังอาจถูกทหารขมังธนูของฝ่ายรักษาปราสาทยิงเอาได้อีกด้วย

แต่ข้าศึกก็มีวิธีป้องกันตัวโดยนำไม้ซุงหนาหนักมาสร้างเพิงหรือกระโจมวางไว้บนล้อเลื่อนเพื่อให้เคลื่อนที่ได้  ใช้เป็นเครื่องกำบังระหว่างทำศึกกระโมนี้เรียกกันว่า เต่า (tortoise) หรือในภาษาละตินว่าเทตูโด (testudo) เพราะว่าเคลื่อนที่ได้ช้าและมีลักษณะคลุมปิดแบบกระดองเต่า  หรือบางครั้งก็เรียกว่า แมว (cat) เพราะลักษณะหลบซุ่มเข้าไป  ฝ่ายข้าศึกใช้เครื่องกำบังนี้ปกป้องตนเองขณะที่ช่วยกันกระทุ้งประตูและกำแพงปราสาทด้วยไม้ซุงขนาดใหญ่ (battering – ram) บางครั้งก็ผูกโยงไม้ซุงไว้กับเครื่องกำบังเพื่อช่วยผ่อนแรง  หัวของไม้ซุงทำด้วยเหล็กซึ่งนิยมทำปลายแหลม  ปลายไม้กระทุ้งรุ่นแรก ๆ มักทำเป็นรูปหัวแกะด้วยเหล็กหล่อ

วิธีโจมตีโดยอาศัยเครื่องกำบังอีกวิธีหนึ่ง คือ ใช้ท่อนซุงปลายแหลมกระทุ้งปูนที่โบกระหว่างรอยต่อผินของกำแพงให้ก้อนหินเคลื่อนจากกัน  แล้วใช้ชะแลงเจาะปูนและวัดให้ก้อนหินหลุดออกมา  ฝ่ายข้าศึกยังใช้วิธีพาดบันไดไต่ขึ้นไปบนกำแพงโดยมีพลธนูช่วยระดมยิงใส่ฝ่ายรักษาปราสาทที่อยู่บนกำแพงเพื่อป้องกันมิให้ผลักบันไดออก  พวกพลธนูมีโล่ใหญ่ซึ่งเคลื่อนที่ได้เป็นเครื่องกำบัง

การขุดอุโมงค์และการก่อวินาศกรรม
ถ้าปราสาทมิได้มีคูล้อมหรือมิได้สร้างอยู่บนฐานหินแกร่ง  ฝ่ายข้าศึกมักจะขุดอุโมงค์ลอดใต้กำแพงและสร้างโครงไม้ค้ำยันเอาไว้  เสร็จแล้วก็เผาโครงไม้ค้ำ  ทำให้ฐานกำแพงไหม้ไปด้วยจนกำแพงนั้นถล่มลง (น่าจะเป็นยุทธวิธีเดียวกันกับที่ฝ่ายพม่าใช้โจมตีกรุงศรีอยุธยาคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ครับ)

ดินปืนและปืนใหญ่ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นได้ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ทำให้การโจมตีปราสาทง่ายขึ้น  แม้ว่าวัตถุระเบิดในยุคแรก ๆ จะยังไม่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าอาวุธสงครามแบบเก่าเท่าใดนัก  ทั้งยังเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ด้วย

การใช้ดินปืนในสมัยแรก ๆ นั้น  วิธีหนึ่งก็คือการบรรจุลงในเพทาร์ด (petard) คือไหโลหะใบเล็ก ๆ บรรจุดินระเบิด มีชนวนให้จุด  ไหระเบิดนี้ใช้โยนใส่ศัตรู หรือใช้ผูกติดไว้กับประตูกำแพงหรือบริเวณจุดอ่อนของโครงสร้างเพื่อเจาะส่วนนั้นเป็นโพรงแต่ผู้จุดชนวนก็ต้องเสี่ยงกับการระเบิดก่อนเวลา

อาวุธที่ใช้ในการโจมตีปราสาทยุคกลาง

การทำลายกำแพงปราสาทนั้น  ผู้โจมตีปราสาทใช้อาวุธทั้งชนิดพิสัยไกลและใกล้  อาวุธสงครามพิสัยไกลคือเครื่องดีดกระสุน  ซึ่งใช้ก้อนหินแบบใดก็ได้เป็นกระสุน  แต่เขามักแต่งหินให้เป็นรูปกรวยเพราะทำให้พุ่งไปได้ไกล  เครื่องดีดกระสุนยังใช้ดีดลูกไฟได้ด้วย  ส่วนอาวุธพิสัยใกล้ ได้แก่ ไม้กระทุ้ง เครื่องเจาะและป้อมไม้  บางครั้งฝ่ายโจมตีก็จะขุดอุโมงค์ลอดไปใต้กำแพง

แผงไม้ (hoardings) ต่อออกไปจากกำแพงปราสาท  มีหลังคาคลุมและมีพื้นไม้ที่เว้นร่องไว้สำหรับเทน้ำเดือดหรือขว้างปาและยิงอาวุธใส่ข้าศึกเบื้องล่าง  แต่มีข้อเสียคือ อาจโดนทำลายด้วยไฟหรืออาวุธพิสัยไกล

เครื่องดีดกระสุน (mangonel) ง้างปลายคานดีดลงมาแล้วยึดไว้ด้วยเอ็นสัตว์หรือเชือกขนม้า  ใส่หินลงในชามที่ปลายคานเมื่อปลดเชือก คานก็ดีดขึ้น เหวี่ยงก้อนหินออกไป

เครื่องเหวี่ยงก้อนหิน (trbuchet) ปลายคานกระดกข้างหนึ่งมีตุ้มถ่วง  อีกข้างโยงไว้กับกว้าน  ขันกว้านเพื่อโน้มคานลงมา เมื่อปล่อยกว้าน คานจะกระตุกเหวี่ยงก้อนหินออกไป

ป้อมไม้เคลี่อนที่ (belfry) เป็นป้อมไม้ขนาดสูงมีล้อเคลื่อนที่ได้  ฝ่ายโจมตีปราสาทจะเคลื่อนป้อมเข้าประชิดกำแพงเพื่อให้ทหารในป้อมไม้ยิงธนูเข้าใส่ทหารบนกำแพงปราสาท  จากนั้น ก็จะทอดสะพานจากป้อมสู่กำแพงปราสาทเพื่อการบุกเข้ายึด

ไม้กระทุ้ง (ram) ใช้โล้ชิงช้าเพื่อตอกกำแพงหรือประตูปราสาทให้เป็นโพรง ไม้กระทุ้งทำจากซุงทั้งต้น  มีหัวเป็นเหล็ก และแขวนไว้กับหลังคาเพิงไม้ติดล้อที่เรียกว่า เต่า หรือ แมว เพื่อบังอาวุธที่ยิงลงมาจากเบื้องบน

หน้าไม้ยักษ์ (ballista) ดึงสายธนูมาเกี่ยวที่สลักรั้งสาย แล้วขันกว้านเพื่อถ่างคันธนูจนสายตึงแล้วก็ปลดสลักที่รั้งสายธนูไว้  หน้าไม้จะดีดก้อนหินหรือลูกธนูเหล็กให้พุ่งไป  หน้าไม้นี้และเครื่องดีดกระสุนประดิษฐ์โดยชาวกรีกโบราณ

เครื่องเจาะ (bore) ก่อนตอกกำแพงปราสาทด้วยไม้กระทุ้ง  เขาจะใช้เสาขนาดใหญ่ปลายเป็นโลหะแหลม ๆ กระแทกซ้ำ ๆ เพื่อเจาะตรงบริเวณปูนที่เชื่อมก้อนหิน

การก่อวินาศกรรมใต้ดิน (mining) ถ้าปราสาทไม่มีคูเมืองล้อมหรือมิได้สร้างบนฐานหิน  ฝ่ายโจมตีปราสาทอาจขุดอุโมงค์ด้วยโครงไม้กันดินถล่ม จากนั้นก็เผาฐานกำแพงเพื่อให้หินแตกร้าวและโครงไม้ค้ำมอดไหม้จนกำแพงถล่มลง

--------

 
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ

หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ

 

Bookmark and Share

ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก www.youtube.com

ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์

 



ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ

1911 ใหญ่ผ่าใหญ่ การปฏิวัติซินไฮ่อันนำมาซึ่งการสิ้นสุดของระบอบศักดินา 3,000 ปีของจีน วันที่ 19/05/2013   18:35:25
สะดุดเลิฟ ที่เมืองรัก (Letters to Juliet) วันที่ 19/05/2013   18:36:43
เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ 1980 (คลาสสิค) วันที่ 19/05/2013   18:40:30
5 พยัคฆ์พิทักษ์ซุนยัดเซ็น เมื่อการปฏิวัติ คือ การหลั่งเลือด วันที่ 19/05/2013   18:39:13
Chariots of Fire เกียรติยศแห่งชัยชนะ ชัยชนะแห่งไฟในหัวใจอันลุกโชน วันที่ 19/05/2013   18:43:04
Master and Commander วันที่ 19/05/2013   18:43:58
FIRST KNIGHT (สุภาพบุรุษยอดอัศวิน) วันที่ 19/05/2013   18:45:00
Legionnaire คนอึดเดือดไม่ใช่คน วันที่ 19/05/2013   18:46:18
ไททานิค ภาพยนตร์ที่ลงตัวทั้งประวัติศาสตร์และนิยายโรแมนติก วันที่ 19/05/2013   18:47:27
Napoleon ศึกรบ ศึกรัก และศึกการเมือง ในชีวิตนโปเลียน วันที่ 19/05/2013   18:48:31
Waterloo ความมโหฬารของสงครามปราบจักรพรรดิ์นโปเลียน วันที่ 19/05/2013   18:49:19
เอลซิด (El Cid) : ประวัติศาสตร์ หรือ ตำนาน วันที่ 19/05/2013   18:50:07
Fearless -> Truthless? วันที่ 19/05/2013   18:50:53
Veer จอมวีรอหังการ์ (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   18:51:25 article
The Last Samurai (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   18:52:09 article
Nomad: The Warrior (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   18:52:53 article



1

ความคิดเห็นที่ 1 (101626)
avatar
รอมเมล

 เคยอ่านเบี้องหลังการทำหนัง เนื้อหาโดนปรับเปลี่ยนแยะมาก เพราะจะทำให้มุสลิมทั่วโลกไม่พอใจ (หนังเรื่อง 300ทำให้ชาวมุสลิมหลายประเทศไม่พอใจ) ซึ่งผู้กำกับรีดลี่ย์ สก๊อตไม่อยากให้หนังกลายเป็นชนวนความวุ่นวายของสงครามศาสนา  แถมประเทศที่ถ่ายทำก็ถ่ายที่ประเทศมุสลิม โมรอคโค เนื้อเรื่องโดนเจ้าของประเทศสั่งยกเลิกมากมาย ทำให้หนังจึงไม่เหมือนเฉพาะการกล่าวถึงเหล่ามุสลิมเท่านั้น จึงไม่แปลกที่หนังจะมีฉากของซาลาดินน้อย เท่ากับบทของซาลาดินมีเพียง การให้เกียรติกษัตริย์ต่อกษัตย์

เนื้อเรื่องเลยออกแนวตัวเอกของเรื่อง ไม่อยากสนใจการเมือง การขยายอำนาจ บ้าลัทธิของทั้งสองศาสนา เบเลี่ยนเป็นเพียงคนที่พยายามหาคำตอบของศาสนา แก้ไขความคิดที่เหล่าคริสเตียนเข้าใจผิดกันเท่านั้น ว่าพระเจ้าอยู่ในหัวใจของชาวคริสเตียนทุกคน หาใช่ที่กรุงเยรูซาเล็ม กรุงเยรูซาเล็มกลับการเป็นเครื่องมือของเหล่าผู้กระหายอำนาจ สงครามส่ะงั้น  อยากเข้าใจหนังต้องอ่านประวัติศาสตร์ควบคู่ไปไม่งั้นหลงเข้าใจผิดหมด ในหนังอ้างถึงไทบีเรียสทิ้งเยรูซาเล็ม เพราะเบื่อหน่ายการเมืองเลยคิดว่าพระเจ้าทอดทิ้งเยรูซาเล็มแล้วจะอยู่ไปทำไม  แต่เบเลี่ยนคิดต่างออกไป ความสงสัยว่าพระเจ้ายังอยู่เยรูซาเล็มไหม เบเลี่ยนไม่สนใจ แต่ชัวิตประชาชนต่างหากคือประเด็นในการรักษาเยรูซาเล็ม ซึ่งก็คงไม่ต่างกับสาเหตุในอดีดที่เบเลี่ยนไม่ทิ้งเยรูซาเล็มจริงๆตามประวัติศาสตร์

มีฉากนึงที่น่าสนใจคือฉากที่เบเลี่ยนโดนนายทหารม้าของซาลาดินขี้ตู่อ้างว่าม้าที่เบเลี่ยนขี่เป็นของเขา เพราะม้าอยู่บนแผ่นดินของเขา(นายทหารม้าซาลาดิน) น่าขำมาก

เท่าที่เคยอ่านประวัติศาสตร์ สันตะปาปา แห่งโรมมีอิทธิพลมากมายทั้งที่ไม่มีกองทัพ(มีแต่กองกำลังป้องกันเฉพาะกรุงวาติกันเท่านั้น)  สามารถประกาศการยกเลิกกษัตริย์ประเทศไหนก็ตามที่แข็งข้อต่อสันตะปาปาให้กลายเป็นพวกนอกศาสนา จนทำให้กษัตริย์องค์นั้นโดนประชาชนตนเองที่นับถือคริสเตียนไม่พอใจอันทำให้เกิดจราจล และเหล่ากษัตริย์ที่นับถือศานาคริสต์ทั่วยุโรปประกาศตัดความสัมพันธและประกาศสงคราม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กษัตริย์ เฟรเดริค บาร์บารอสซ่า (Frederick Barbarossa)ประกาศว่าโรมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเยอรมัน เพราะสมัยก่อนนั้นอิตาลีตอนบนเคยเป็นดินแดนของเยอรมัน และตั้งสันตะปาปาองค์ใหม่เป็นชาวชาวเยอรมัน ทำให้สันตะปาปาแห่งโรมประกาศว่ากษัตริย์ เฟรเดริค บาร์บารอสซ่า เป็นพวกนอกศาสนาจนทำให้เกิดสงครามเยอรมันกับอิตาลี สุดท้ายกษัตริย์ เฟรเดริค บาร์บารอสซ่า ก็ยอมขอกลับเข้าสู่อำนาจของสันตะปาปาแห่งโรม เพราะอำนาจแบบนี้ทำให้เหล่ากษัตริย์ของยุโรปต้องให้การช่วยเหลือการทำสงครามครูเสดไม่ว่าทางใดก็ทางนึง เคยมีกองทัพครูเสดเด็กๆชาวเยอรมัน-ฝรั่งเศสยกทัพที่มีแต่เด็กๆไปช่วยกู้เยรูซาเล็ม ชะตากรรมของเหล่าเด้กๆผู้ศรัทธาจึงน่าสงสาร

ผู้แสดงความคิดเห็น รอมเมล (goh_17-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-06-15 06:05:40



1


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker