dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



คลีโอพัตรา ตอนที่ 4 : ฟาโรห์องค์สุดท้ายของอียิปต์ - ผู้หญิงที่โลกไม่มีวันลืม (สรุป)
วันที่ 09/01/2011   19:31:10

โดย ชาญชัย (Leo53)

“นางใช้ความงามและเสน่ห์ของตนเข้าครอบครองหัวใจและสยบวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวโรมันได้ทั้ง 2 คน แต่วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่คนที่ 3 ทำให้นางต้องฆ่าตัวตาย”

แคสเซียส ไดโอ (Cassius Dio)
นักประวัติศาตร์ผู้มีชื่อเสียงชาวโรมัน
ซึ่งได้เคยเห็นคลีโอพัตราตัวจริงมาด้วยตาของตนเอง

1. บทนำ

ก่อนหน้าที่จะเขียนบทความในตอนที่ 4 นี้ ก็ได้มีเรื่องราวเกี่ยวกับ “คลีโอพัตรา” เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกอีก คือข่าวการค้นพบสุสานโบราณ (รูปที่ 1) ที่อาจจะเป็นที่ฝังพระศพของ “คลีโอพัตรา” และ “มาร์คแอนโทนี่” (http://edition.cnn.com/2009/WORLD/africa/ 04/19/egypt.cleopatra.mystery/index.html) แถลงการณ์ของสถาบันโบราณคดีแห่งชาติอียิปต์กล่าวว่า “คาดว่าพระศพอาจถูกฝังอยู่ในหลุมลึกหนึ่งในสามแห่งในวิหารดังกล่าว หลังจากเมื่อปีที่แล้ว นักโบราณคดีได้ขุดพบรูปปั้นส่วนพระเศียรขององค์ราชินีที่ทำด้วยหินปูนอาลาบาสเตอร์ กับเหรียญ 22 อัน ที่มีภาพพระพักตร์ของพระนาง กับหน้ากากที่เชื่อกันว่าเป็นของมาร์ค แอนโทนี่ ที่วิหารดังกล่าว” แถลงการณ์ระบุอีกด้วยว่า “ พระพักตร์ของพระนางบนรูปปั้นและเหรียญที่ค้นพบในครั้งนี้ เป็นพระพักตร์ที่มีเสน่ห์  ขัดแย้งกับทฤษฎีที่มีผู้นำออกเผยแพร่เมื่อเร็วๆนี้ที่ว่าพระสิริโฉมของพระนางคลีโอพัตรา ค่อนข้างอัปลักษณ์ (quite ugly) แถมยังมีรายงานอื่นๆในเวลาต่อมาที่ทำให้ภาพลักษณ์ของพระนางในสายตาของหลายคนในตอนนี้คือ ผู้หญิงอ้วนเตี้ย ไม่สวย แถมยังผิวดำอีกต่างหาก!” 

แคทธีลีน มาทิเนส นักโบราณคดีสาวชาวโดมินิกัน ซึ่งเป็นผู้ร่วมขุดค้นกับ ดร.ซาฮี ฮาวาส ผู้อำนวยการสถาบันโบราณคดีแห่งชาติอียิปต์ กล่าวว่าวัตถุประสงค์สำคัญของเธอนั้น นอกจากต้องการค้นหาสุสานของคลีโอพัตราแล้ว เธอยังมีความปราถนาอันแรงกล้า ที่จะแก้ข้อกล่าวหาให้ร้ายต่างๆนาๆ ที่มีต่อคลีโอพัตราในช่วงไม่กี่ปีก่อนหน้านี้โดยนักประวัติศาสตร์บางคน ที่พากันสรุปอย่างง่ายๆว่า แท้จริงแล้วคลีโอพัตราเป็นเพียงผู้หญิงขี้เหร่คนหนึ่ง ที่เป็นนักวางแผน/เล่นกลทางการเมือง และเป็นคนที่สมควรจะถูกประณามว่าเป็นผู้นำอียิปต์ไปสู่ความพินาศล่มจม   จนต้องต้องตกเป็นเขตยึดครองของโรมันในที่สุด แคทธีลีนกล่าวว่า การให้ร้ายคลีโอพัตราดังกล่าวไม่เป็นธรรมเลย คลีโอพัตรา พูดได้เก้าภาษาอย่างคล่องแคล่ว นางเป็นนักปราชญ์  เป็นกวี   เป็นนักการเมือง  นางเป็นเทพธิดา และยังเป็นนักรบที่เก่งกล้าอีกด้วย!

ในเรื่องความงามของคลีโอพัตรานั้น ดร.ซาฮี ฮาวาสให้ความเห็นว่า “ผู้หญิงที่สามารถกุมหัวใจของยอดวีรบุรุษนักรบผู้ยิ่งใหญ่ อย่าง จูเลียส ซีซ่าร์ และมาร์ค แอนโทนี่ ได้ทั้งสองคน ย่อมต้องไม่ใช่ผู้หญิงขี้เหร่แน่นอน!” ทั้งสองคนหวังว่าถ้าสุสานที่ค้นพบนี้เป็นสุสานของคลีโอพัตราและมาร์ค แอนโทนี่จริง ก็อาจจะสามารถหาหลักฐานต่างๆได้อีกมากที่เกี่ยวกับเรื่องราวของคลีโอพัตรากับมาร์ค แอนโทนี่ และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตช่วงสุดท้ายของทั้งสองคน รวมถึงหลักฐานเกี่ยวกับตัวคลีโอพัตราในประเด็นต่างๆที่จะให้ความกระจ่างชัดเจนได้มากขึ้น รวมถึงประเด็นในเรื่องความงามของนางด้วย

สถานที่ดังกล่าวนี้อยู่ในบริเวณภูเขาบนถนนที่วิ่งระหว่างเมืองอเล็กซานเดรีย กับชายแดนประเทศลิเบีย  แคทธีลีน ได้ทำการขุดค้นสถานที่แห่งนี้มานานกว่า 3 ปีแล้ว  ถ้าหากผลการขุดค้นสำรวจในขั้นต่อไป สามารถพิสูจน์ได้ว่าที่นี่เป็นสุสานที่ฝังพระศพของ คลีโอพัตราและมาร์ค แอนโทนี่แล้ว จะถือว่าเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญที่สุดทางโบราณคดีอียิปต์โบราณ นับตั้งแต่การขุดพบสุสานฟาโรห์ “คิงทัต (ตุตันคามุน)” ที่หุบเขากษัตริย์เมื่อปี ค.ศ. 1920 เป็นต้นมา ดังนั้นในอนาคตที่ไม่นานนักหลังจากนี้ เราอาจจะได้ข้อมูลใหม่อีกมากมายจากการขุดค้นทางโบราณคดีครั้งใหญ่ครั้งนี้ และเรื่องราวของคลีโอพัตราก็อาจได้รับการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปในบางประการจากหลักฐานใหม่ที่อาจค้นพบเพิ่มเติม


รูปที่ 1 สถาบันโบราณคดีแห่งชาติของอียิปต์ ระบุในแถลงการณ์ที่นำออกเผยแพร่ว่า
นักโบราณคดีจะเริ่มลงมือขุดสถานที่สามแห่งที่วิหารในภาพข้างบนใกล้กับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน 
ในความพยายามที่จะไขหนึ่งในปริศนาที่ค้างคาใจบรรดานักโบราณคดีมานานนับพันปีว่า
ที่ใดคือสถานที่ฝังพระศพของพระนางคลีโอพัตรา กับมาร์ค แอนโทนี่แห่งกองทัพโรมัน
หลังจากแอนโทนี่ สังหารตนเองด้วยดาบ และพระนางปลงพระชนม์พระองค์เองด้วยงูพิษ
เมื่อ 31 ปีก่อนคริสต์กาล หลังพ่ายแพ้ในสงครามที่" แอคติอุม"

เนื้อหาของการสรุปในตอนที่ 4 นี้เป็นการสรุปประเด็นต่างๆที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนที่ 1 ถึง 3 ก่อนหน้านี้ และขยายเนื้อหาให้ครบถ้วนชัดเจนขึ้นในบางประเด็น  รวมถึงนำเสนอบางประเด็นที่ได้ศึกษาเพิ่มเติมขึ้นอีก โดยมีหัวข้อการนำเสนอดังนี้

หนึ่ง        ประวัติย่อของคลีโอพัตรา
สอง        คลีโอพัตราเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แพ้สงครามที่แอคติอุม จริงหรือ?
สาม        บุคลิกลักษณะของคลีโอพัตรา
สี่            นางเทพธิดา/นางมารร้าย
ห้า          อิทธิพลของคลีโอพัตราที่ยังคงมีต่อคนในโลกยุคปัจจุบัน
หก          สรุป

2. ประวัติย่อของคลีโอพัตรา

ข้อมูลในรายละเอียดบางประการของคลีโอพัตราเช่น จำนวนพี่น้อง  บุตร ชาย หญิง ที่ปรากฏในภาพยนตร์ทั้งสองเวอร์ชั่นในตอนที่ 2 และ 3 ไม่ได้กล่าวถึงทั้งหมด โดยกล่าวถึงเพียงน้องชายที่ครองราชย์ร่วมกับนางในครั้งแรก (พโทเลมีที่ 13) ไม่กล่าวถึงน้องชายอีกคนหนึ่งที่ครองราชย์ร่วมกับนางหลังจากที่นางได้อำนาจคืนจากการแต่งตั้งของจูเลียส ซีซ่าร์  และลูกของนางที่เกิดจากมาร์ค แอนโทนี่ 3 คน ก็ไม่ได้กล่าวถึงเช่นกัน น่าจะเป็นเพราะผู้สร้างภาพยนตร์ต้องการให้การดำเนินเรื่องกระชับมากขึ้น โดยไม่ต้องไปกล่าวถึงบุคคลรอบข้างมากเกินไป ดังนั้นจึงได้นำข้อมูลทั่วไปในรายละเอียดมาลงไว้ในตอนนี้อีกครั้งหนึ่งดังนี้

ช่วงเวลาในประวัติศาสตร์

69 ปีก่อนคริสตกาล – 30 สิงหาคม 30 ปีก่อนคริสตกาล

ตำแหน่งในสังคม

ฟาโรห์ (ผู้ปกครองแผ่นดิน) ของ อียิปต์

รู้จัก/เรียกหา ในประวัติศาสตร์:

ฟาโรห์องค์สุดท้ายของอียิปต์, ผู้ปกครองอียิปต์คนสุดท้ายของราชวงศ์พโทเลมี่, ภรรยา/คู่รัก ของวีรบุรุษยอดนักรบโรมันทั้งสองคนในยุคนั้น คือ จูเลียส ซีซ่าร์ และมาร์ค แอนโทนี่, อสรพิษแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์, ผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์

ชื่ออื่นๆที่ใช้เรียก:

คลีโอพัตราที่ 7,  คลีโอพัตราที่ 7 ฟีโลปาเตอร์, คลีโอพัตรา ฟีลาเดสฟัส ฟีโลปาเตอร์ ฟีโลปาทิส ทีอาเนโอเตล่าร์

ครอบครัว:

คลีโอพัตรา ราชินีของอียิปต์ สืบเชื้อสายมาจากชาวกรีก แคว้นมาซิโดเนีย ซึ่งเป็นแม่ทัพคนหนึ่งในกองทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชที่ยกกองทัพมาโจมตียึดครองอียิปต์ได้ในปี 323 ก่อนคริสตกาล  ภายหลังที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชสิ้นพระชนม์ลง บรรดาแม่ทัพนายกองในกองทัพของพระองค์ ต่างก็ตั้งตัวเองเป็นใหญ่และแบ่งพื้นที่กันปกครอง แม่ทัพพโทเลมี่ก็ได้ตั้งตัวเองเป็นฟาโรห์ผู้ปกครองอียิปต์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

บิดา:    พโทเลมี่ ที่ 12   ออเลทิส (ปกครองอียิปต์ระหว่าง 80 ปีก่อนคริสตกาล – 51 ปีก่อนคริสตกาล ยกเว้นในช่วงเวลา 58-55 ปีก่อนคริสตกาล ที่ถูกเมียและลูกสาวคนหนึ่งร่วมกันปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองไปจากพระองค์)

มารดา:    คลีโอพัตราที่ 6  ไทรฟาเนีย (ทำการปฏิวัติสามีตนเอง และร่วมปกครองอียิปต์ในระหว่าง 58 – 55 ปีก่อนคริสตกาล กับลูกสาวคนโตชื่อ เบรานิสที่ 4 ซึ่งเป็นพี่สาวของคลีโอพัตราที่ 7)

สามีและบุตร:

  • น้องชาย-สามี และผู้ร่วมปกครองอียิปต์ พโทเลมี่ที่ 13 (เสียชีวิตในระหว่างการทำศึกกับจูเลียส ซีซ่าร์)
  • น้องชาย – สามี  และผู้ร่วมปกครองอียิปต์ พโทเลมี่ที่ 15 (แต่งตั้งโดยจูเลียส ซีซ่าร์)
  • จูเลียส ซีซ่าร์ (คลีโอพัตราเดินทางไปกรุงโรมเมื่อ 46 ปีก่อนคริสกาล และเดินทางกลับมาอียิปต์ภายหลังจากที่จูเลียส ซีซ่าร์ถูกสังหารเสียชีวิต เมื่อ 44 ปีก่อนคริสตกาล) มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน คือ พโทเลมี่ ซีซาเรี่ยน (เกิดเมื่อ 46 ปี ก่อนคริสตกาล)
  • มาร์ค แอนโทนี่    แต่งงานเมื่อ 36 ปีก่อนคริสตกาล ทั้งสองฆ่าตัวตายเมื่อ 31 ปีก่อนคริสตกาล ภายหลังที่จากแพ้สงครามต่ออ็อคตาเวี่ยนที่สมรภูมิแอคติอุมในกรีซ มีบุตรด้วยกัน 3 คนคือ 
    • ฝาแฝดสองคน  อเล็กซานเดอร์ เฮลิออส (ชาย) และ คลีโอพัตรา เซลีน (หญิง) เกิดเมื่อ 40 ปีก่อนคริสตกาล
    • พโทเลมี่ ฟิลาเดลฟัส เกิดเมื่อ 36 ปีก่อนคริสตกาล

เรื่องราวโดยย่อในชีวิต:

เรื่องราวส่วนใหญ่ของคลีโอพัตราที่เราได้รับรู้มานั้น ถูกเขียนขึ้นภายหลังการเสียชีวิตของนางโดยพวกโรมัน  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความจำเป็นทางการเมืองอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ภาพของคลีโอพัตราเป็นผู้หญิงที่เลวร้าย เป็นภัยคุกคามยิ่งต่อ โรม และความมั่นคงของโรม ดังนั้นหลายสิ่งหลายอย่างที่เราได้รับรู้มา จึงอาจเป็นสิ่งที่เขียนเกินความจริงหรือเป็นเรื่องโกหกล้วนๆที่พวกโรมันซึ่งเป็นผู้ชนะสงครามเขียนขึ้น  อย่างไรก็ตาม แคสเซียส ไดโอ (Cassius Dio) หนึ่งในนักประวัติศาสตร์ผู้บันทึกเรื่องราวของคลีโอพัตราได้เขียนประโยคสั้นๆ สรุปเรื่องราวของคลีโอพัตราไว้ได้ดีมากว่า “นางใช้ความงามและเสน่ห์ของตนเข้าครอบครองหัวใจและสยบวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวโรมันได้ทั้งสองคน แต่วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่คนที่ 3 ทำให้นางต้องฆ่าตัวตาย”

ชีวิตในวัยเยาว์:

ในวัยเยาว์ของนางนั้น บิดา (พโทเลมี่ที่ 7) ของนางได้พยายามแย่งชิงราชบัลลังก์ในระหว่างพี่น้องกันเอง ด้วยการให้สินบนนักการเมืองโรมันที่มีอำนาจบางคน เพื่อให้การสนับสนุนตน ทั้งนี้เนื่องจากบิดาของคลีโอพัตราเป็นเพียงลูกที่เกิดจากนางสนม มิได้เกิดจากราชินีทำให้โอกาสที่เขาจะได้สืบทอดราชบัลลังก์มีน้อย

ต่อมาภายหลังการได้ราชบัลลังก์แล้ว พโทเลมี่ที่ 7 ได้เดินทางไปกรุงโรมเมื่อ 58 ปีก่อนคริสตกาล ราชินี ในระหว่างนั้นคลีโอพัตราที่ 6 ไทรฟาเนีย และลูกสาวคนโต เบรานิสที่ 4 ได้ร่วมกันยึดอำนาจการปกครองในอียิปต์ เขาจึงกลับมาพร้อมกับกองทัพของพวกโรมันเพื่อชิงอำนาจกลับคืน  ซึ่งในเวลานั้นราชินีของเขาได้เสียชีวิตไปแล้ว  เมื่อยึดอำนาจการปกครองกลับมาได้เขาจึงประหารชีวิต บุตรสาวคนโต เบรานิสที่ 4 และจัดให้บุตรชายอายุ 9 ปี แต่งงานกับบุตรสาว อายุ 18 ปี (คลีโอพัตราที่ 7) เพื่อให้เป็นรัชทายาทในการสืบราชบัลลังก์ร่วมกันต่อจากเขา

การปกครองในช่วงต้น:


พวกขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนักที่ทุจริตคอรัปชั่นและกุมอำนาจส่วนใหญ่ในการปกครองไว้ ไม่พอใจคลีโอพัตรา เพราะนางฉลาดรู้ทันเล่ห์กลของพวกเขา และไม่ยอมเป็นหุ่นเชิดให้พวกเขา  พวกเขาจึงได้ยุยุงน้องชายของนางให้เกลียดชังนาง และร่วมทำการยึดอำนาจการปกครอง หลังจากนั้นจึงตั้งน้องสาวของคลีโอพัตรา มาเป็นผู้ปกครองร่วมกับพโทเลมี่ที่ 13 แทนคลีโอพัตรา น้องสาวของคลีโอพัตราประกาศตนเองเป็นผู้ร่วมปกครองอียิปต์ในชื่อ  อาซิโอเน่ที่ 4 ทำให้คลีโอพัตราต้องหนีไปอยู่ที่ซีเรีย เพื่อคอยหาโอกาสกลับมาทวงราชบัลลังก์คืน  ในระหว่างนี้เองที่เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างพวกโรมันด้วยกันเอง คือ จูเลียส ซีซ่าร์ ที่แย่งชิงอำนาจกับ ปอมเปย์ที่ 12  ปรากฏว่าปอมเปย์รบแพ้ในสงครามที่ สมรภูมิฟาซาลัส และได้หนีมาอียิปต์เพื่อของความช่วยเหลือจากพโทเลมี่ที่ 13  เพราะปอมเปย์เคยมีบุญคุณกับ ทั้งสองพ่อลูกมาก่อน แต่กลับปรากฏว่า บรรดาขุนนางในราชสำนักพากันแนะนำให้ฟาโรห์ ฆ่าปอมเปย์แล้วนำหัวของปอมเปย์ไปมอบให้กับจูเลียส ซีซ่าร์ เพื่อเป็นการเอาใจจูเลียส ซีซาร์ ซึ่งเป็นคนที่มีอำนาจมากที่สุดของโรมในขณะนั้น

คลีโอพัตรากับจูเลียส ซีซ่าร์:

คลีโอพัตราพยายามหาทางเข้าพบจูเลียส ซีซ่าร์ที่ยกกองทัพเรือเข้ายึดครองพระราชวังอเล็กซานเดรียอยู่ นางใช้กลอุบายซ่อนตัวอยู่ในพรมที่คนรับใช้นำไปมอบให้ซีซ่าร์โดยบอกว่าเป็นของขวัญจากคลีโอพัตรา  ซึ่งเมื่อซีซ่าร์คลายพรมออกมาก็ได้พบกับคลีโอพัตรา เขาหลงรักนางทันทีที่ได้พบ และในวันรุ่งขึ้นคลีโอพัตราก็ได้ราชบัลลังก์ของตนคืนมา  และต่อมานางได้ให้กำเนิดบุตรชายแก่ จูเลียส ซีซ่าร์คือ พโทเลมี่ ซีซาเรี่ยน  ซึ่งนางได้พาไปกรุงโรมด้วยเมื่อปีที่ 46 ก่อนคริสตกาล  แต่นางก็ต้องเดินทางกลับอียิปต์เมื่อปีที่ 44 ก่อนคริสตกาลเมื่อซีซ่าร์ถูกฝ่ายต่อต้านรุมสังหารในที่ประชุมรัฐสภา เมื่อเดินทางกลับถึงอียิปต์นั้นปรากฏว่าน้องชายของนางที่ครองบัลลังก์ร่วมกันได้เสียชีวิตไปแล้ว นางจึงได้ตั้งบุตรชายของนางเป็นผู้ร่วมปกครองอียิปต์กับนาง

คลีโอพัตรากับมาร์ค แอนโทนี่


คลีโอพัตรามองสถานการณ์ทางการเมืองออกว่า ถึงอย่างไร อ็อคตาเวี่ยน หลานชายและบุตรบุญธรรมของจูเลียส ซีซ่าร์ จะไม่ยอมปล่อย พโทเลมี่ ซีซาเรี่ยน บุตรชายของนางไว้แน่ เนื่องจากซีซาเรี่ยน มีสิทธิที่จะเรียกร้องความเป็นทายาทโดยชอบธรรมของจูเลียส ซีซ่าร์คืนจากอ็อคตาเวี่ยนได้  นางจึงพยายามติดต่อผูกมิตรกับมาร์ค แอนโทนี้ซึ่งเป็นผู้ปกครองอาณาจักรโรมันร่วมกับอ็อคตาเวี่ยน  นางเดินทางไปพบกับมาร์ค แอนโทนี่ที่ทาร์ซัส ตามคำเชิญของเขา ด้วยเรือสำราญที่งดงามราวกับเรือของเทพยดา  ส่วนตัวของนางเองก็แต่งกายเป็นเทพธิดาแห่งความงาม (วีนัส, ดาวพระศุกร์) จากการพบกันในครั้งนั้น มาร์ค แอนโทนี่ตกหลุมรักนางอย่างถอนตัวไม่ขึ้น และใช้เวลาอยู่กับนาง 2 ปี (41 – 40 ปีก่อนคริสตกาล)

หลังจากนั้นเขาจำเป็นต้องเดินทางกลับโรมเมื่อจัดการปัญหาทางการเมือง เนื่องจากอ็อคตาเวี่ยนกำลังแผ่ขยายอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ  เขาตกลงแต่งงานกับ อ็อคตาเวีย น้องสาวคนสวยของอ็อคตาเวี่ยน เพื่อให้เกิดข้อตกลงทางการเมืองในการแบ่งอำนาจการปกครองอาณาจักรโรมันร่วมกัน อย่างไรก็ตามในที่สุด มาร์ค แอนโทนี่ก็ไม่สามารถควมคุมหัวใจของตัวเองได้ และเดินทางกลับไปหาคลีโอพัตราอีกครั้ง ในครั้งนี้เขาตกลงเข้าพิธีแต่งงานกับคลีโอพัตรา และต่อมามีบุตรชาย บุตรสาวด้วยกันถึง 3 คน  ในการนี้เขาได้ประกาศยกดินแดนต่างๆให้กับอียิปต์หลายแห่งได้แก่ ทาซัส, ไซรีน, ครีท, ไซปรัส และปาเลสไตน์ (Tarsus, Cyrene, Crete, Cyprus and Palestine) พร้อมทั้งประกาศรับรองว่า พโทเลมี่ ซีซาเรี่ยน ซึ่งเป็นผู้ปกครองอียิปต์อยู่ในขณะนั้น เป็นบุตรชายแท้ๆของจูเลียส ซีซ่าร์ และเป็นทายาทอันชอบธรรมของจูเลียส ซีซ่าร์เพียงผู้เดียว

อ็อคตาเวี่ยนถือโอกาสใช้ประเด็นเรื่องการที่มาร์ค แอนโทนี่ยกดินแดนอาณานิคมของโรมันให้อียิปต์ เป็นจุดโจมตีว่าเขาทรยศชาติ และปลุกเร้าให้ชาวโรมันและรัฐสภาลงมติให้เขาทำสงครามกับอียิปต์ ซึ่งเขาสามารถปลุกระดมได้ผลตามต้องการ แม้ว่ามาร์ค แอนโทนี่จะได้รับการสนับสนุนด้วยทรัพย์สมบัติมากมายจากท้องพระคลังของราชวงศ์พโทเลมี แต่ก็ยังคงต้องพ่ายแพ้ในการรบทางเรือที่สมรภูมิแอคติอุม ซึ่งมักกล่าวหากันว่ามีสาเหตุสำคัญมาจากคลีโอพัตรา ทั้งคลีโอพัตราและมาร์ค แอนโทนี่ฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา

ชะตากรรมของอียิปต์และลูกๆของคลีโอพัตรา:

นับเป็นโศกนาฎกรรมที่น่าเศร้ายิ่ง อียิปต์ต้องกลายสภาพเป็นเพียงเขตยึดครองแห่งหนึ่งของพวกโรมัน  ระบบการปกครองแบบฟาโรห์ที่เจริญรุ่งเรืองสืบเนื่องกันมาถึง 5,000 ปี พร้อมกับความเป็นประเทศอียิปต์ต้องล่มสลายลง อ็อคตาเวี่ยนสั่งให้สังหารพโทเลมี่ ซีซาเรี่ยน ทันทีที่เขายึดเมืองอเล็กซานเดรียได้ ส่วนเด็กสามคนที่เป็นลูกของมาร์ค แอนโทนี่ กับ คลีโอพัตราถูกจับส่งตัวไปกรุงโรม  และมีบันทึกบางฉบับบอกว่า “อ็อคตาเวีย” ภรรยาชาวโรมันของมาร์ค แอนโทนี่ รับเอาเด็กทั้งสามคนไปดูแลและให้การอุปการะเป็นอย่างดี



3.  คลีโอพัตราเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แพ้สงครามที่แอคติอุม จริงหรือ?


รูปที่ 2 สงครามที่แอคติอุม  เมือวันที่ 2 กันยายน 31 ปีก่อนคริสตกาล

สงครามที่สมรภูมิแอคติอุมเป็นสงครามครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์โลก ซึ่งผลของสงครามเป็นตัวกำหนดทิศทางความเป็นไปและอารยธรรมของโลกปัจจุบัน ถ้ากองทัพของมาร์ค แอนโทนี่ และคลีโอพัตราชนะ โลกจะไม่เป็นอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ภาพยนตร์คลีโอพัตราเวอร์ชั่น 1963 ชี้นิ้วว่าเป็นความผิดของคลีโอพัตราเกือบทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกส่วนใหญ่ของพวกโรมันที่โยนความล้มเหลวและ ความไม่ดีไม่งามทั้งหลายมาที่คลีโอพัตรา โดยกล่าวหาว่านางเป็นคนกดดันให้มาร์ค แอนโทนี่เป็นฝ่ายยกกองทัพไปบุกโรมก่อนทั้งๆที่เขาไม่ต้องการสงครามกลางเมืองเลย และกดดันให้เขานำทัพรบกับอ็อคตาเวี่ยนทางทะเลด้วยกองทัพเรือทั้งๆที่มาร์ค แอนโทนี่และแม่ทัพนายกองของเขาล้วนมีความเชี่ยวชาญการรบทางบกเป็นเยี่ยม แต่แทบไม่มีประสบการณ์การรบทางทะเลเลย และไม่มีใครต้องการรบทางทะเลด้วย และยังหาว่าการที่นางซึ่งเป็นผู้หญิง และไม่ใช่คนโรมันอีกด้วย เข้าไปร่วมอยู่ในกองทัพโรมัน ถือเป็นการผิดธรรมเนียมปฏิบัติที่ผู้หญิงไม่ควรมายุ่งเกี่ยวกับการรบ แล้วยังมาก้าวก่ายสั่งการอีกด้วย เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แม่ทัพนายกอง และพันธมิตรของมาร์ค แอนโทนี่ ไม่พอใจ ตีตัวออกห่าง และถึงกับไปเข้ากับอ็อคตาเวี่ยนก็มี ฯลฯ แต่ในเวอร์ชั่นปี 1999 บอกชัดเจนว่าเมื่อมาร์ค แอนโทนี่ได้ทราบข่าวการที่รัฐสภาโรมันลงมติประกาศสงครามกับอียิปต์นั้น เขาเป็นคนตัดสินใจเองให้ยกกองทัพชิงเป็นฝ่ายรุกก่อนด้วยการยกพลขึ้นบกที่แอคติอุมในกรีซ เพื่อเดินทัพต่อไปทางเหนือเข้าสู่อิตาลีทันที ส่วนการรบด้วยกองทัพเรือนั้นก็เป็นการตัดสินใจของเขาเอง ข้อกล่าวหาเหล่านี้จึงไม่สมเหตุผลด้วยประการทั้งปวง เหตุผลโต้แย้งหลักๆก็เช่น ต่อให้เป็นพลทหารในกองทัพยังคิดเป็นเลยว่ากองทัพของพวกตนรบเก่งทางบก และไม่เคยรบทางทะเล  แล้วคลีโอพัตราจะคิดไม่ได้เชียวหรือกับประเด็นที่ชัดเจนเช่นนี้ เรื่องการที่คลีโอพัตราเข้าไปครอบงำกดดันมาร์ค แอนโทนี่ให้ทำสงครามตามความต้องการของตนก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน คลีโอพัตรานั้นถึงแม้จะเป็นผู้หญิงเก่ง เฉลียวฉลาดเพียงใด แต่นางก็เคยผ่านเพียงสงครามเล็กๆในระหว่างการแย่งชิงอำนาจกันเองในบรรดาพี่น้องเท่านั้น  ในขณะที่มาร์ค แอนโทนี่นั้นเป็นทหารเอกคู่ใจจูเลียส ซีซ่าร์ ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับจูเลียส ซีซ่าร์ มาครึ่งค่อนโลก ผลงานในการรบเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่าเขาเป็นชายชาติทหารที่เก่งกล้าและเป็นยอดวีรบุรุษในระดับแนวหน้าของพวกโรมันคนหนึ่ง  คลีโอพัตราจะกล้าเข้ามาครอบงำ กดดันแอนโทนี่เรื่องสงครามที่เป็นเรื่องสำคัญถึงเป็นถึงตายเชียวหรือ  และต่อให้คลีโอพัตราไม่ฉลาด (โง่) อย่างที่ถูกกล่าวหาจริงๆ ต่อให้นางเข้ามาพยายามครอบงำ และกดดันจริง มาร์ค แอนโทนี่ และบรรดาแม่ทัพนายกองในกองทัพจะยอมหรือ?  แน่นอนคลีโอพัตราสามารถครอบครองหัวใจรักของมาร์ค แอนโทนี่ได้ แต่นั่นเป็นคนละเรื่องกันกับการทำสงครามใหญ่ในครั้งนี้


รูปที่ 3    ภาพแสดงพื้นที่เขตปกครองที่แบ่งกันระหว่าง สามผู้นำโรมัน อ็อคตาเวี่ยน, มาร์ค แอนโทนี่ และเลปิดัส
ภาพนี้แสดงให้เห็นทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นภาพรวมของการรบที่สมรภูมิแอคติอุม
ช่วยให้เข้าใจเส้นทางการเดินทัพระหว่างกองทัพโรมันของอ็อคตาเวี่ยน และกองทัพผสม อียิปต์-โรมันของ มาร์ค แอนโทนี่กับคลีโอพัตรา
และการดำเนินกลศึกทางยุทธวิธีระหว่างทั้งสองฝ่าย


3.1  ขั้นตอนการดำเนินสงครามในสมรภูมิแอคติอุม

ภาพยนตร์ทั้งสองเวอร์ชั่นคือ 1963 และ 1999  กล่าวเพียงคร่าวๆว่าเมื่อรัฐสภาโรมันประกาศสงครามกับอียิปต์แล้ว          ทั้งสองฝ่ายก็ยกกองทัพเข้าหากันและไปประจ้นหน้ากันที่สมรภูมิแอคติอุมในกรีซ แล้วก็รบกันขั้นแตกหักด้วยกองทัพเรือ ซึ่งมาร์ค แอนโทนี่เป็ฝ่ายพ่ายแพ้ในที่สุด  ภาพยนตร์ทั้งสองเวอร์ชั่นไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับเส้นทางการเดินทัพของทั้งสองฝ่าย การดำเนินขั้นตอนของสงคราม และสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่การรบขั้นแตกหักทางทะเลที่สมรภูมิแอคติอุมเมื่อ วันที่ 2 กันยายน 31 ปีก่อนคริสตกาล ดังนั้นก่อนที่จะไปพิจารณาว่า ความพ่ายแพ้ในสงครามมีสาหตุหลักมาจากคลีโอพัตราจริงหรือ  จึงต้องมาดูข้อมูลเท่าที่หาได้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องดังกล่าวก่อนดังนี้ (ดูรูปที่ 3 ประกอบ)


1.    เมื่อทราบว่ารัฐสภาโรมันประกาศสงครามกับอียิปต์แล้ว ก่อนถึงฤดูหนาวของปี 32-31 ปีก่อนคริสตกาล แอนโทนี่และคลีโอพัตราได้ยกกองทัพไปเมือง ปาทรี (Patrae) ทางเหนือของคาบสมุทร เพโลพอนเนส (Peloponnese) โดยกระจายกองทัพของพวกเขาไว้ทั่วกรีซ กองเรือรบของแอนโทนี่มีจำนวน 230 ลำ ลูกเรือประมาณ 50,000 คน ส่วนใหญ่เป็นเรือรบขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ควินคิวเรเมส (quinqueremes) (รูปที่ 4 และ 5) ที่มีส่วนหัวเรือแข็งแรงหุ้มด้วยแผ่นบรอนซ์ ตัวเรือทำด้วยไม้เนื้อแข็งขนาดใหญ่มาก ร้อยติดกันด้วยน็อตเหล็ก ทำให้ไม่มีเรือรบชนิดอื่นใดเลยจะสามารถชนมันให้จมได้  ส่วนกองทัพบกนั้น Publius Canidius Crassus นายทหารคนสนิทของแอนโทนี่คุมกำลัง 19 กองพล อีก 11 กองพล ประจำอยู่ตามค่ายทหารในอียิปต์ ไซรีน ซีเรีย และมาซิโดเนี่ย ทหารในกองทัพได้รับการสนับสนุนด้วยอาหารอย่างเหลือเฟือจากยุ้งฉางที่อุดมสมบูรณ์ของอียิปต์ ทหารหลายกองพลเป็นทหารอียิปต์ คลีโอพัตราได้มอบความหวังในอนาคตและเอกราชของแผ่นดินอียิปต์ไว้ที่มาร์ค แอนโทนี่เต็มตัวแล้ว แอนโทนี่มีแผนว่าจะเดินทัพจากกรีซเข้าสู่อิตาลี่ต่อไป ความหวังของคลีโอพัตราดูแจ่มใสมากในตอนต้นปีที่ 31 ก่อนคริสตกาล กองทัพของมาร์ค แอนโทนี่เหนือกว่ากองทัพของอ็อคตาเวี่ยนทั้งทางด้านกำลังและเสบียงสัมภาระ และถ้ามาร์ค แอนโทนี่เริ่มเดินทัพโจมตีอิตาลีเมื่อไรจะมีปัญหาใหญ่เพียงข้อเดียวเท่านั้นคือ เขาจะทำอย่างไรกับการจัดหา และส่งเสบียงสัมภาระให้กับกองทัพขนาดใหญ่ของเขาได้อย่างเพียงพอ ส่วนคู่ต่อสู้ของเขาคืออ็อคตาเวี่ยนนั้นผลงานด้านการรบของเขาที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า เขาไม่ได้มีความสามารถด้านการรบเลย


รูปที่ 4 เรือไทรเรเม่ต้นแบบของพวกกรีก ต่อมาพวกโรมันทำการดัดแปลง
โดยขยายความกว้างตัวเรือและเพิ่มที่นั่งสำหรับพลกรรเชียงอีก ๒ แถว
โดยกรรเชียงแถวกลางและแถวล่างสุดจะมีพลกรรเชียง ๒ คน ต่อ ๑ กระเชียง
เป็นการเพิ่มสมรรถนะของเรือ


รูปที่ 5 เรือ ควินเครีม (quinqueremes) ซึ่งเป็นเรือรบหลักที่ใช้ในกองทัพของมาร์ค แอนโทนี่



2.    เป็นโชคดีของอ็อคตาเวี่ยนอย่างยิ่ง ที่เขามีเพื่อนสนิทเป็นแม่ทัพเรือทีเก่งกาจทึ่สุดของพวกโรมันคือ มาคัส วิปซาเนียส อากริปป้า (Marcus Vipsanius Agrippa) ซึ่งเคยเป็นทหารคู่ใจในการรบทางทะลของจูเลียส ซีซ่าร์มาแล้ว  และได้มาทำหน้าที่เป็นแม่ทัพเรือให้กับอ็อคตาเวี่ยนในขณะนั้น ซึ่งน่าจะเก่งกว่าแม่ทัพเรือทั้งสองของมาร์ค แอนโทนี่คือ Lucius Gellius Poplicola และ Gaius Sosius ชัยชนะของอ็อคตาเวียนในสมรภูมิแอคติอุมอาจกล่าวได้ว่า เกิดจากยุทธการที่แม่ทัพเรืออากริปป้าเริ่มต้นดำเนินการตั้งแต่เริ่มสงคราม เพราะในขณะที่แอนโทนี่นำกองทัพเรือของเขาเข้าไปในอ่าวแอมบราเซีย และวางกองเรือปิดทางเข้าอ่าวไว้โดยใช้หอคอยสูงสองฝั่งร่วมกับกองเรือที่วางเป็นแนวยาวตามแนวอ่าวนั้น อากริปป้าก็นำกองทัพเรือของเขาไปทางใต้และโจมตีเมืองท่าสำคัญ  Messenia ใน คาบสมุทร Peloponnese ของกรีซ และเมืองท่าอื่นๆตามแนวชายฝั่ง คาบสมุทร Peloponnese ไว้ได้ จากนั้นก็ใช้เมืองท่าเหล่านี้เป็นฐาน ในการโจมตีกองเรือส่งเสบียงสัมภาระของแอนโทนี่ที่มาจากอียิปต์

3.    พร้อมๆกันนั้นอ็อคตาเวี่ยนก็นำกองทัพไปทางใต้ และวางกำลังไว้ตามแนวที่ราบสูงของอ่าวทางด้านทิศเหนือ ตรงข้ามกับคาบสมุทรแอคติอุม และส่งกำลังไปโจมตีฐานที่มั่นของแอนโทนี่แต่ถูกตีโต้กลับมาอย่างรวดเร็ว แอนโทนี่ตอบโต้ด้วยการพยายามใช้สงครามกองโจรตัดการส่งเสบียงสัมภาระของอ็อคตาเวี่ยน แต่ก็ไม่สำเร็จ สถานะการณ์ชะงักงันอยู่เป็นเวลาหลายเดือน โดยไม่มีผลแพ้ชนะเด็ดขาดระหว่างทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม มาร์ค แอนโทนี่เริ่มตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากมากขึ้นเมื่อกองทัพเรือของอากริปป้า สามารถเอาชนะกองทัพเรือของแอนโทนี่ภายใต้การนำของ Gaius Sosius ได้ ทำให้กองทัพเรือของอากริปป้าสามารถปิดล้อมอ่าวแอคติอุมได้ทั้งหมด ผลคือมาร์ค แอนโทนี่และคลีโอพัตรา ถูกตัดขาดจากการส่งเสบียงสัมภาระและการส่งกำลังบำรุงโดยสิ้นเชิง ทำให้เกิดสภาพความอดอยากหิวโหยขึ้นในกองทัพ เท่านี้ยังไม่พอ ก่อนหน้านี้ก็ได้เกิดโรคระบาดมาลาเรียขึ้นในกองทัพทำให้ทหารล้มตายไปเป็นจำนวนมาก จำนวนลูกเรือจึงไม่พอกับเรือรบที่มีอยู่ซึ่งเป็นเรือรบขนาดใหญ่และต้องใช้ฝีพายจำนวนมากในการขับเคลื่อน แอนโทนี่จำเป็นต้องเผาทำลายเรือทิ้งไปจำนวนมาก แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้เพราะเรือของเขาเป็นเรือใหญ่ต้องการฝีพายจำนวนมาก จึงจะสามารถขับเคลื่อนเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ สภาพที่ยากลำบากในกองทัพของแอนโทนี่และความระส่ำระสายที่เกิดขึ้นทำให้นายทหารและสมาชิกรัฐสภาโรมันหลายคนที่เป็นพันธมิตรของแอนโทนี่พากันหนีทัพไปเข้ากับออคตาเวี่ยน แต่แอนโทนี่ก็ยังคงมีแม่ทัพที่แข็งแกร่ง และจงรักภักดียืนหยัดต่อสู้ร่วมกับเขาต่อไปอยู่อีก 3 คนคือ : Canidius, เป็นผู้บัญชาการกองทัพบก, Sosius กับ Lucius Policola สองคนเป็นผู้บัญชาการกองทัพเรือ

4.    มาร์ค แอนโทนี่ประสบโชคร้ายไม่หยุดหย่อน โดยก่อนการรบขั้นแตกหักในวันที่ 2 กันยายน 31 ปีก่อนคริสตกาลนั้น แม่ทัพคนหนึ่งของมาร์ค แอนโทนี่ ควินตัส เดลิอัส (Quintus Dellius) แปรพักตร์และหนีไปเข้ากับอ็อคตาเวี่ยน พร้อมกับนำแผนการรบของแอนโทนี่ไปให้อ็อคตาเวี่ยนด้วย  ในแผนนั้นแอนโทนี่หวังจะใช้ความได้เปรียบของกองเรือขนาดใหญ่ของเขา ผลักดันกองเรือของอากริปป้าทางด้านเหนือออกไปด้วยการนำเรือเข้าชนกองเรือของอากริปป้า เมื่ออ็อคตาเวี่ยนรู้แผนนี้ เขาจึงได้ซ้อนแผนด้วยการสั่งให้เรือทุกลำอยู่ห่างจากเรือของมาร์ค แอนโทนี่ไว้ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้มาร์ค แอนโทนี่ใช้ความเหนือกว่าตรงที่เรือใหญ่และแข็งแกร่งกว่าพุ่งเข้าชนได้ และเตรียมใช้อาวุธยาวซึ่งมีทั้งธนู และเครื่องยิงหิน ระดมยิงเรือฝ่ายแอนโทนี่ อากริบป้าแม่ทัพเรือของอ็อคตาเวียน เลือกใช้เรือรบที่มีคุณลักษณะตรงกันข้ามกับฝ่ายของแอนโทนี่ โดยใช้เรือรบที่มีขนาดเล็กกว่า เรียกว่า “ไลเบอเนี่ยน (libernian)”  (รูปที่ 6) ซึ่งมีตัวเรือเล็กและบอบบาง แต่ใช้ความเร็วได้สูง ขับเคลื่อนได้อย่างคล่องแคล่ว ทำให้สามารถหลบหลีกการพุ่งเข้าชนของเรือรบฝ่ายแอนโทนี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


รูปที่ 6 เรือไลเบอเนี่ยน (libernian) เป็นเรือรบหลักที่ใช้ในกองทัพเรือของอ็อคตาเวี่ยนมีลักษณะเป็นเรือขนาดเล็ก บอบบาง และมีน้ำหนักเบา
แต่มีข้อดีคือใช้ความเร็วได้สูง และเคลือนไหวได้คล่องแคล่ว


5.    แอนโทนี่ไม่มีทางเลือกอื่นใดเหลืออีกนอกจากจะต้องรบทางทะเล ในวันที่ 2 กันยายน 31 ปีก่อนคริสตกาลเมื่อทะเลสงบ มาร์ค แอนโทนี่ก็นำกองทัพเรือของเขามุ่งหน้าออกสู่ทะเลเพื่อเผชิญหน้ากับกองทัพเรือของออคตาเวี่ยน แม้เรือรบขนาดใหญของแอนโทนี่จะได้เปรียบหากมีการปะทะเกิดขึ้น แต่เรือขนาดเล็กของอากริบป้าไม่ยอมปะทะด้วย และเรือของแอนโทนี่ก็ไม่สามารถเข้าใกล้เรือของออคตาเวี่ยนได้

เมื่อการรบติดพันยืดเยื้อนานขึ้น อากริปป้าก็ขยายแนวปีกซ้ายของกองเรือไกลออกไปอีกเพื่อโอบล้อมปีกของแอนโทนี่ Lucius Policola แม่ทัพของแอนโทนี่ที่บัญชาการปีกขวาอยู่จึงนำกองเรือของเขาออกไปปะทะกับกองเรือของอากริปป้า ทำให้กองเรือของเขาห่างจากศูนย์กลางของกองเรือ เนื่องจากลูกเรือของแอนโทนี่ล้วนไม่ชำนาญการรบทางทะเล ซึงต่างจากลูกเรือของอากริบป้า การที่กองเรือของเขาออกห่างจากศูนย์กลางทำให้ศูนย์กลางกองเรือเกิดความสับสนทันที

Lucius Arruntis แม่ทัพของออคตาเวี่ยนที่บัญชาการศูนย์กลางของแนวอยู่ เมื่อเห็นโอกาสที่ศูนย์กลางของแอนโทนี่กำลังระสำระสาย ก็นำกองเรือของเขาเข้าโจมตีทันที ทำให้เกิดเป็นการประจัญบานครั้งใหญ่กลางท้องทะเลขึ้น และด้วยสภาพความไม่พร้อมรบของกองเรือฝ่ายแอนโทนี่ที่เสียเปรียบทั้งเรื่องสภาพเรือ และกำลังคนที่ไม่พร้อมทั้งด้านจำนวนและสมรรถนะการรบทางทะเล ทำให้กองเรือของเขาตกอยู่ในวงล้อมและเพลี่ยงพล้ำ

คลีโอพัตราซึ่งอยู่บนกองเรือที่บรรทุกทรัพย์สินมีค่าจำนวนมหาศาลไว้ และคอยสังเกตุการณ์การรบของกองเรือมาร์ค แอนโทนี่อยู่ บรรดาที่ปรึกษาพากันแนะนำนางว่า สภาพการรบนั้นแอนโทนี่เพลี่ยงพล้ำแน่นอนแล้ว และคงไม่อาจรอดชีวิตออกมาได้ คลีโอพัตราในฐานะฟาโรห์ผู้ปกครองอียิปต์จะทิ้งชีวิตตนเองที่นี่ไม่ได้ เพราะยังมีภาระหน้าที่ต่ออียิปต์อยู่ซึ่งจะต้องทำให้ดีที่สุด นางจึงสั่งให้กองเรือหันใบกลับไปอียิปต์
ในขณะที่มาร์ค แอนโทนี่ กำลังร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารของเขาอยู่ในในสมรภูมิ เมื่อเขามองไปทางคลีโอพัตราและพบว่าเรือของนางกำลังบ่ายหน้ากลับไปอียิปต์ เขาถึงกับลืมทุกสิ่งหมดสิ้น และละทิ้งทหารของเขาด้วยการหนีลงเรือเล็กติดตามคลีโอพัตราไปทันที ความผิดพลาดของเขาในครั้งนี้ทำให้สถานะการณ์ที่ย่ำแย่อยู่แล้วต้องทรุดหนักลงไปอีก เพราะกองเรือของเขาอยู่ในวงล้อม ทหารก็ล้มตายไปมากแล้ว และแม่ทัพใหญ่ของพวกเขายังมาหนีทัพไปเสียอีก

เรือรบและทหารของแอนโทนี่ที่เหลืออยู่ในสมรภูมิยังคงต่อสู้ต่อไป หลายคนทำตามอย่างแม่ทัพใหญ่ของพวกตนคือหลบหนีเอาตัวรอดออกไป แต่ที่เหลือยังคงสู้ต่อไปอีกหลายชั่วโมง จนกระทั่งถูกฆ่าหรือถูกจับเป็นเชลย และในที่สุดเรือรบที่เหลืออยู่ก็ประกาศยอมแพ้ ทหารในกองทัพเรือของแอนโทนี่ถูกฆ่าตายไปประมาณ 5,000 คน และออคตาเวี่ยนสั่งให้เผาเรือรบที่เหลือหมดทิ้งทุกลำ

6.    ความจริงแม้มาร์ค แอนโทนี่จะพ่ายแพ้ที่สมรภูมิแอคติอุม แต่เขายังมีกองทัพบกเหลืออยู่อีก 19 กองพล ภายใต้การบัญชาการของ Publius Canadius และบรรดากษัตริย์ในประเทศต่างที่เคยได้รับบุญคุณ และการปกป้องจากมาร์ค แอนโทนี่ อย่างไรก็ตามข่าวความพ่ายแพ้ของมาร์ค แอนโทนี่ที่แอคติอุม แพร่ออกไปอย่างรวดเร็วทั่วทั้ง่จักรวรรดิ์โรมัน บรรดากษัตริย์ในประเทศหล่านี้ต่างพากันละทิ้งเขาและไปสวามิภักดิ์ออคตาเวี่ยน จึงคงเหลือเพียงคานาเดียสกับทหารของเขาที่ยังคงจงรักภักดีต่อมาร์ค แอนโทนี่ และพากันเดินทัพจากมาเซโดเนียในเอเซียเพื่อไปสมทบกำลังกับมาร์ค แอนโทนี่ที่อียิปต์ ทหารจำนวนมากเคยร่วมรบกับมาร์ค แอนโทนี่มา และรู้ว่ามาร์ค แอนโทนี่สามารถกอบกู้ชัยชนะกลับคืนมาจากความเพลี่ยงพล้ำได้อย่างน่าอัศจรรย์ทุกครั้ง

ออคตาเวี่ยนพยายามเกลี้ยกล่อมให้ทหารของมาร์ค แอนโทนี่เหล่านี้ยอมจำนนและมาร่วมกับเขา แต่พวกทหารยังคงยืนยันจะไปร่วมรบกับมาร์ค แอนโทนี่ ด้วยความหวังว่ามาร์ค แอนโทนี่จะสามารถกอบกู้ชัยชนะกลับมาได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ความหวังของพวกเขาก็ต้องดับลงเพราะคนเพียงคนเดียว คนๆนั้นคือ แคนาเดียส แม่ทัพของพวกเขาเอง ที่แอบหนีออกจากกองทัพไปสวามิภักดิ์กับออคตาเวี่ยน ทหารในกองทัพเมื่อขาดแม่ทัพและถูกตัดขาดจากการส่งเสบียงอาหาร ในที่สุดก็ต้องยอมจำนน อย่างไรก็ตามภายหลังจากการชนะศึกแล้ว อ็อคตาเวี่ยนได้สั่งประหารแคนิเดียส เนื่องจากไม่ไว้วางใจว่าแคนาเดียสจะหักหลังเขาอีกเช่นเดียวกับที่ได้ทำกับมาร์ค แอนโทนี่หรือไม่

แม้กระนั้นก็ตามแอนโทนี่ยังคงมี่กำลังทหารเหลืออยู่อีก 11 กองพล วางกำลังอยู่ตามค่ายทหารต่างๆในพื้นที่ภาคตะวันออกของเขา  และยังมีกษัตริย์ในประเทศที่เป็นมิตรกับเขาอีกหลายประเทศ แต่เมือเขาส่งหนังสือไปยังกษัตริย์เหล่านั้นกลับไม่มีหนังสือใดๆตอบกลับมา เขาจึงเดินทางไปไซรีนเพื่อเข้าบัญชาการทหาร 4 กองพลของเขาที่นั่น ปรากฏว่า Lucius Pinarius Scarpus ซึ่งเป็นแม่ทัพที่เขาเป็นคนแต่งตั้งเอง ปฏิเสธที่จะรับคำสั่งจากเขาไม่ว่าจะเป็นการสั่งด้วยหนังสือหรือด้วยตนเองก็ตาม ในที่สุดมาร์ค แอนโทนี่ก็เดินทางกลับอียิปต์พร้อมกับทหารเพียง สองสามกองพลเท่านั้นที่ยังคงจงรักภักดีกับเขาอยู่ และเขารู้ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่าสงครามกำลังจะสิ้นสุดลง



3.2   วิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้กองทัพผสมอียิปต์-โรมัน ของมาร์ค แอนโทนี่ และคลีโอพัตราแพ้สงครามที่สมรภูมิแอคติอุม


จากขั้นตอนการดำเนินสงครามในข้อ 4.1 จะเห็นได้ว่า คลีโอพัตราแทบจะไม่ได้มีส่วนเป็นสาเหตุทำให้กองทัพ่ของมาร์ค แอนโทนี่แพ้สงครามเลย



3.2.1    มาร์ค แอนโทนี่เป็นคนตัดสินใจในกลยุทธ และกระบวนการทำสงครามทั้งหมดด้วยตนเอง ตั้งแต่เริ่มต้นนำทัพออกจากอียิปต์ไปยกพลขึ้นบกที่กรีซเพื่อเดินทัพไปทางเหนือเข้าตีอิตาลี  จนกระทั่งถึงการรบทางเรือครั้งสุดท้ายที่สมรภูมิแอคติอุม

3.2.2    สาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้กองทัพของมาร์ค แอนโทนี่แพ้สงครามคือ อากริปป้าแม่ทัพเรือที่เก่งกาจสามารถของอ็อคตาเวี่ยน ซึ่งวางกลยุทธปิดล้อมกองทัพของมาร์ค แอนโทนี้ไว้ทั้งทางบกและทางทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเหนือกว่าด้านการรบทางเรือที่ทำให้อากริบป้าสามารถยึดเมืองท่าสำคัญชายฝั่งทะเลได้ทั้งหมด จึงสามารถใช้เป็นฐานในการส่งกองเรือออกโจมตีตัดการส่งกำลังบำรุงจากอียิปต์ได้ และที่สำคัญต่อมาคือเขาสามารถเอาชนะกองเรือของมาร์ค แอนโทนี่ที่วางกำลังเฝ้าอ่าวแอคติอุมไว้ได้  ทำให้กองเรือของอากริปป้าสามารถปิดล้อมอ่าวแอคติอุมได้อย่างสมบูรณ์ จนมาร์ค แอนโทนี่ไม่เหลือทางเลือกอื่นใดนอกจากต้องพยายามเผด็จศึกด้วยการรบทางทะเล ทั้งๆที่ตัวเองเสียเปรียบเป็นอันมาก

3.2.3    สาเหตุรองลงมาที่ทำให้มาร์ค แอนโทนี่ต้องพ่ายแพ้คือ การเกิดโรคระบาดมาลาเรียในกองทัพซึ่งทำให้ทหารล้มตายไปเป็นจำนวนมาก โดยยังไม่ได้ทันได้ทำสงครามเลย และการที่อากริปป้าวางกลยุทธการรบทางทะเลในการประจัญบานได้ดีกว่า โดยการเลือกใช้เรือรบขนาดเล็กที่มีข้อดีสามารถข่มจุดแข็งของเรือรบขนาดใหญ่ของมาร์ค แอนโทนี่ได้ 

3.2.4    การขาดความรักความสามัคคีที่แท้จริงในกองทัพ เห็นได้ชัดเจนเมื่อเกิดโรคระบาดมาลาเรีย และถูกโจมตีตัดการส่งกำลังบำรุง  บรรดาสมาชิกสภาโรมันที่เป็นพันธมิตร และนายทหารจำนวนมากก็พากันแปรพักตร์ไปอยู่กับอ็อคตาเวี่ยน และบางคนยังนำแผนการรบของมาร์ค แอนโทนี่ไปบอกกับอ็อคตาเวี่ยนอีกด้วย

3.2.5    อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มาร์ค แอนโทนี้ต้องแพ้ในที่สุดคือ ความเลวร้ายในหัวใจมนุษย์ ที่เมื่อเห็นฝ่ายไหนทำท่าจะชนะก็จะเฮกันเข้าไปเป็นพวก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ กรณีของเบนิโต มุสโสลินี นายกรัฐมนตรี ผู้เผด็จการฟาสซิสท์แห่งอิตาลี ในสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อแนวโน้มสงครามชี้ว่าพันธมิตรจะเป็นฝ่ายชนะ ผู้คนทั้งหลายที่ก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่ก็เคยตะโกนต้อนรับมุสโลลินีด้วยความรักความชื่นชมมาแล้ว กลับพากันรุมจับตัวมุสโสลินีแขวนคอห้อยหัวลงดิน แล้วก็พากันถ่มน้ำลายรดศพของมุสโสลินีเพื่อเอาใจผู้ชนะอีกด้วย คนพวกนี้เป็นตัวอย่างของความเลวร้ายในหัวใจมนุษย์ ที่ไม่เคยได้ทำคุณงามความดีอะไรให้กับบ้านเมืองเลย ชนะไหนก็เข้านั่น และยังเอาใจผู้ชนะที่เป็นกองทัพต่างชาติด้วยพฤติการที่น่าอับอายที่สุดอีกด้วย!

ความจริงแม้มาร์ค แอนโทนี่จะแพ้ในสมรภูมิแอคติอุม แต่ยังเขายังมีกองทัพบกเหลืออยู่อีกประมาณ 30 กองพลที่กระจายกำลังกันอยู่ในภาคตะวันออกของมหาอาณาจักรโรมัน และยังมีกษัตริย์ของประเทศใหญ่น้อยต่างๆที่เคยพึ่งใบบุญของมาร์ค แอนโทนี่อีกเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อแนวโน้มทำท่าว่ามาร์ค แอนโทนี่จะเป็นฝ่ายแพ้สงคราม คนพวกนี้ก็ละทิ้งเขาและหันไปสวามิภักดิ์อ็อคตาเวี่ยนแทน จนในที่สุดมาร์ค แอนโทนีจึงเหลือทหารอยู่กับเขาเพียง 3 กองพลเท่านั้น ในการรับมือกับกองทัพโรมันของอ็อคตาเวียนที่กำลังยกมาโจมตีอเล็กซานเดรีย ถ้าทหาร 30 กองพลยังจงรักภักดีกับเขาอยู่ และเขาเป็นฝ่ายตั้งรับนั้น จะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับอ็อคตาเวียนที่จะเอาชนะได้ง่ายเหมือนที่แอคติอุมอีก เพราะนี่เป็นการรบทางบกที่อากริปป้าไม่ได้มีความชำนาญเลย

3.2.6    ความพ่ายแพ้ของมาร์ค แอนโทนี่นั้นถ้าจะเอาตำราพิชัยสงครามของซุนวูในเรื่องของทฤษฏีการทำสงคราม มาวิเคราะห์คงจะมี่เรื่องให้เขียนมากมาย เช่นการจารกรรม, ความเก่งกล้าสามารถของแม่ทัพนายกอง การรู้เขารู้เราฯลฯ อย่างไรก็ตาม มีคำกล่าวของซุนวูทางด้านโหราศาสตร์ (คนทั่วไปชอบพูดถึงแต่ทฤษฎีการทำสงครามของซุนวูที่ฟังดูสวยหรู เช่น “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครา” แต่คำกล่าวของเขาที่ยอมรับเรื่องของโชคชะตาฟ้าลิขิตกลับแทบไม่มีใครพูดถึงกันเลย) ที่อาจอธิบายความพ่ายแพ้นี้ได้ดีคือคำกล่าวที่ว่า “แผนการขึ้นอยู่กับคน ความสำเร็จขึ้นอยู่กับฟ้า” และ “คนกำหนดงาน ฟ้ากำหนดผล” ซึ่งทั้งสองประโยคนี้ซุนวูกล่าวกับผู้ที่ซุนวูทำงานให้สองคน ทั้งสองคนอยากรู้ว่า การดำเนินการตามแผนการของซุนวูนั้นจะชนะหรือแพ้ คำถามแรกแม่ทัพใหญ่แห่งแคว้นแรกที่ซุนวูทำงานให้เป็นคนถาม เพราะเป็นการวางแผนโค่นขุนนางกังฉินที่ครองอำนาจอยู่  แม่ทัพใหญ่กลัวมากว่าถ้าไม่สำเร็จครอบครัวญาติพี่น้องจะถูกประหารชีวิตเจ็ดชั่วโคตร เขาพยายามถามซุนวูว่า “ท่านอาจารย์ เราจะทำงานสำเร็จหรือไม่” ซุนวูตอบด้วยประโยคแรกว่า ไม่มีทางรู้ได้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ ต้องให้ถึงเวลาก่อนจึงจะรู้ แล้วก็ยกประโยคดังกล่าวขึ้นมาคือ “คนกำหนดงาน ฟ้ากำหนดผล”  ส่วนประโยคหลังเกิดขึ้นเมื่อซุนวูกับแม่ทัพใหญ่ต้องหนีตายหัวซุกหัวซุนจากการปฏิวัติที่ล้มเหลวไปพึ่งใบบุญแคว้นใหม่ และช่วยสร้างแคว้นที่สองจนเป็นใหญ่ในเจ็ดก๊กได้ และในขณะที่กำลังจะเกิดศึกประจัญบานกับแคว้นใหญ่อีกแคว้นหนึ่งนั้น เจ้าผู้ครองแคว้นกลัวมากว่าจะแพ้ จึงถามซุนวูขณะที่ยืนอยู่บนกำแพงเมืองดูกองทัพสองฝ่ายกำลังจะเข้าประจัญบานกันว่า “ท่านอาจารย์ เราจะชนะไหมในการรบครั้งนี้” ซุนวูก็ตอบแบบเดิมอีกคือ ไม่มีใครรู้หรอกว่าจะชนะหรือแพ้ เมื่อถึงเวลาแล้วก็จะรู้เอง อีกไม่นานหรอกฝ่าบาท แล้วก็ยกประโยค “แผนงานขึ้นอยู่กับคน ความสำเร็จขึ้นอยู่กับฟ้า” ขึ้นมากล่าวให้เจ้าผู้ครองแคว้นฟัง


รูปที่ 7 “แผนการขึ้นอยู่กับคน ความสำเร็จขึ้นอยู่กับฟ้า”
ปราชญ์ ซุนวู   600 ปีก่อนคริสตกาล


หลายคนไม่ยอมรับความจริงกันว่า โชคชะตาฟ้าลิขิต มีส่วนอย่างยิ่ง (แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด) ต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวในชีวิต จึงทำให้แม้แต่ปราชญ์ซุนวูที่ตำราพิชัยสงครามของเขาเป็นตำราที่ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆทั่วโลก และเป็นตำราที่โรงเรียนทหารทุกแห่งในโลกกำหนดให้ใช้เป็นตำราที่นักเรียนทหารทุกคนต้องศึกษา ยังต้องกล่าวยอมรับความสำคัญของโชคชะตาฟ้าลิขิตเอาไว้ดังกล่าว และผมคิดว่าความพ่ายแพ้ของมาร์ค แอนโทนี่ในสมรภูมิแอคติอุมนั้น สาเหตุสำคัญรองลงไปจากความพ่ายแพ้ทางกลยุทธและการรบทางทะเลก็คือ ฟ้าลิขิตให้เขาต้องแพ้! เพราะเพียงแต่ หนึ่ง ถ้าอ็อคตาเวี่ยนไม่มีอากริปป้า และ สอง ไม่เกิดโรคระบาดมาลาเรียขึ้นในกองทัพของเขาแล้ว ด้วยความสามารถเฉพาะตัวในเรื่องการทำศึกสงครามระหว่างมาร์ค แอนโทนี่เปรียบเทียบกับ อ็อคตาเวี่ยนนั้น อ็อคตาเวี่ยนเทียบไม่ได้เลยกับมาร์ค แอนโทนี่ และเมื่อเปรียบเทียบกำลังทหารและงบประมาณในการทำสงครามระหว่างกัน มาร์ค แอนโทนี่ก็มีกำลังทหารมากกว่า ในขณะที่ทรัพย์สมบัติในท้องพระคลังของราชวงศ์พโทเลมี่นั้น อ็อคตาเวี่ยนก็ไม่มีทางเทียบได้อีกเช่นกัน!


ดังนั้นคำกล่าวทั่วไปที่ตำหนิติเตียน และโยนความผิดให้คลีโอพัตราเกือบทั้งหมดในความพ่ายแพ้ที่สมรภูมิแอคติอุม จึงเป็นการให้ร้ายอย่างไม่เป็นธรรมและปราศจากเหตุผลโดยสิ้นเชิง ตรงกันข้ามคลีโอพัตราเป็นกำลังสำคัญยิ่งให้กับกองทัพผสม โดยเฉพาะจากทรัพย์สมบัติและความมั่งคั่งในท้องพระคลังของราชวงศ์พโทเลมี่ของอียิปต์  คลีโอพัตราได้มอบความหวังในอนาคตและเอกราชของแผ่นดินอียิปต์ไว้ที่มาร์ค แอนโทนี่ ด้วยการทุ่มเทหมดทุกสิ่งทุกอย่างที่นางมีอยู่  และเป็นเรื่องน่าเสียดายยิ่งที่มาร์ค แอนโทนี้ไม่ได้มีความสามารถอย่างที่นางคาดหวังไว้ นางจึงได้สูญสิ้นหมดทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตอย่างสุดอาภัพอับวาสนา และต้องฆ่าตัวเองตายในที่สุด  ความจริงถ้ามาร์ค แอนโทนี่เก่งกล้า เฉลียวฉลาดมากกว่านี้บ้าง พวกเขาทั้งสองอาจไม่พ่ายแพ้ในสงครามนี้ก็ได้

 


รูปที่ 8    สมรภูมิแอคติอุม   อ็อคตาเวี่ยนปิดล้อมกองทัพของมาร์ค แอนโทนี่ทั้งทางบกและทางทะเล 
โดยส่งกองทัพบกมาตั้งค่ายสกัดกองทัพของมาร์ค แอนโทนี่ไว้ทางเหนือ
ในขณะเดียวกันก็ส่งกองทัพเรือยึดเมืองท่าสำคัญๆตามชายฝั่งกรีซไว้ ใช้เป็นฐานในการโจมตีกองเรือลำเลียงเสบียงสัมภาระที่มาจากอียิปต์
จากนั้นก็ส่งกองทัพเรือมาปิดล้อมปากอ่าวที่ทะเลไอโอเนี่ยน 
กองทัพของแอนโทนี่อ่อนเปลี้ยลงเรื่อยๆจนในที่สุดก็หมดสมรรถนะที่จะบุกตีฐานทัพของอ็อคตาเวี่ยนเพื่อเข้าสู่อิตาลีต่อไปได้
มาร์ค แอนโทนี่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องพยายามเผด็จศึกด้วยการรบทางทะเลแม้จะรู้ว่าเสียเปรียบอยู่มากก็ตาม



4.    บุคลิกลักษณะและความงามของคลีโอพัตรา

4.1  ความงาม


รูปที่ 9    คลีโอพัตรา นางพญาแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์ ฟาโรห์องค์สุดท้ายของอียิปต์

ในเรื่องความงามของคลีโอพัตรานั้น เนื่องจากรูปปั้นเหมือนจริงและหรือภาพวาดเหมือนจริงที่แท้จริงในสมัยของคลีโอพัตรานั้น ยังไม่มีการค้นพบเลย มีเพียงรูปปั้นที่สันนิษฐานตามหลักฐานพาดพิงถึงเท่านั้น ที่พบส่วนใหญ่จะปรากฏอยู่ตามเหรียญที่ระลึกต่างๆ ซึ่งนิยมสร้างกันในสมัยนั้น  ซึ่งภาพต่างๆบนเหรียญเหล่านี้มักจะเห็นได้ชัดเจนว่าทำแบบง่ายๆ ไม่ได้ประดิษฐ์ให้เหมือนจริงแต่อย่างใด แต่จะเน้นให้เห็นลักษณะของสตรีที่มีอำนาจและเฉลียวฉลาดเป็นสำคัญ  ทำให้มีนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่บางคนในปัจจุบันซึ่งไม่เคยพบเห็นคลีโอพัตราเลย ทึกทักออกความเห็นเอาง่ายๆโดยอ้างหลักฐานจากเหรียญพวกนี้ว่า คลีโอพัตราแท้จริงแล้วไม่ได้สวยงามอย่างที่เชื่อกันเลย ตรงกันข้ามขี้เหร่ด้วยซ้ำไป ความเห็นของบุคคลเหล่านี้ได้กลายเป็นหัวข้อข่าวที่พูดถึงกันไปทั่วโลก และทำให้ผู้หญิงที่ได้รับการกล่าวขานสืบเนื่องกันมานานกว่าสองพันปีว่าเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์ ต้องกลายเป็นผู้หญิงที่ (อาจจะ) ขี้เหร่ไปได้ทันทีเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง? ดังนั้นเมื่อไม่สามารถตรวจสอบจากรูปปั้นหรือภาพเหมือนจริงได้ ก็มีหนทางพิจาณาได้เพียง 2 วิธีเท่านั้นคือ การพิจารณาจากบันทึกประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงความงามของนาง โดยเฉพาะจากบันทึกของนักประวัติศาตร์ชาวโรมันที่เป็นผู้ได้เคยพบเห็นตัวจริงของคลีโอพัตรา และเหตุผลของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์อันเกี่ยวเนื่องกับความงามของนาง

จากบันทึกประวัติศาสตร์นั้น มีบันทึกของนักประวัติศาสตร์ชาวโรมันสองคน ซึ่งได้เคยเห็นคลีโอพัตราตัวจริงมาด้วยตาตนเอง  คนแรกคือ ซิเซโร นักปราชญ์และนักประวัติศาสตร์ชาวโรมันบันทึกไว้ว่า “คลีโอพัตรา ได้เปรียบกว่าสตรีใดในโลกเนื่องจากมีความสวยและเสน่ห์เป็นอมตะ ที่หาได้ยากยิ่ง นางมีลักษณะเหมือนสตรีที่ไร้เดียงสา มีอารมณ์สนุกสนาน เพ้อฝัน แต่ก็แฝงด้วยความทะเยอทะยานที่ชาญฉลาด และวางตัวได้เหมาะสมกับตำแหน่งอันสูงศักดิ์ของตน”    ดิโอ คัสเซียส นักประวัติศาสตร์ผู้มีเชื่อเสียงของพวกโรมัน บันทึกไว้ว่า “การพูดจาด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล ไพเราะ อ่อนหวานดุจเสียงพิณ  ท่าทางที่แจ่มใสร่าเริง ทำให้นางสามารถสกดคนฟังให้สงบนิ่งได้ ดังนั้นด้วยรูปกายที่งดงาม สมส่วน และน้ำเสียงที่นุ่มนวลไพเราะราวกับเสียงพิณ ที่กล่าวด้วยลีลาคล่องแคล่วเฉลียวฉลาด  จึงเป็นอาวุธที่ร้ายกาจที่สุดของนางยิ่งกว่าอาวุธใดๆ”  แคสเซียสยังมีบันทึกกล่าวถึงคลีโอพัตราไว้อีกว่า “ใครก็ตามที่ได้พบคลีโอพัตรา จะต้องประหลาดใจเมื่อได้ยินเสียงและได้พบตัวตนของนาง ความงามและเสน่ห์ของนางสามารถทำให้ผู้ชายทุกคนไม่ว่าแก่หรือหนุ่มหลงรักนางได้ เป็นไปได้ที่อาจมีผู้หญิงอื่นที่สวยงามกว่านาง แต่ก็จะไม่มีผู้หญิงคนใดอีกเลยที่จะสวยอย่างประหลาดและมีเสน่หานุภาพดึงดูดใจผู้ชายได้รุนแรงเช่นนาง”
ดังนั้นการพิจารณาจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ในวรรคก่อนหน้านี้จึงสรุปได้แน่นอนว่า คลีโอพัตรา “ไม่ใช่ผู้หญิงขี้เหร่” และจะต้องเป็น “ผู้หญิงที่สวยและมีเสน่ห์ยิ่ง”อีกด้วย   เพราะแม้แต่นักประวัติศาสตร์โรมันที่เคยเห็นคลีโอพัตราตัวจริงมากับตาตัวเอง และต้องเขียนถึงคลีโอพัตราภายใต้แรงกดดันทางการเมือง ให้เขียนถึงนางในทางร้าย ยังต้องยอมรับความจริงว่า นางเป็นผู้หญิงที่สวยและมีเสน่ห์ยิ่ง!  แล้วทำไมนักประวัติศาสตร์บางคนในยุคปัจจุบันที่เกิดหลังคลีโอพัตราสองพันปี  กลับกล้านำเสนอความเห็นว่า “คลีโอพัตราไม่ได้สวยอย่างที่คิด ขี้เหร่ด้วยซ้ำไป” โดยอาศัยเพียงเหรียญโบราณไม่กี่เหรียญ ที่ทำขึ้นเป็นเชิงสัญลักษณ์เท่านั้นมาอ้าง?

ส่วนการพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลจากเรื่องราวในประวัติศาสตร์นั้น ได้กล่าวถึงแล้วก่อนหน้านี้ทั้งในตอนที่ 1, 2 และ 3  ซึ่งก็สอดคล้องกับคำกล่าวของ ดร.ซาฮี ฮาวาส ผู้อำนวยการสถาบันโบราณคดีแห่งชาติของอียิปต์ ที่ว่า “ผู้หญิงที่สามารถกุมหัวใจของยอดวีรบุรุษนักรบผู้ยิ่งใหญ่ อย่าง จูเลียส ซีซ่าร์ และมาร์ค แอนโทนี่ ได้ทั้งสองคน ย่อมต้องไม่ใช้ผู้หญิงขี้เหร่แน่นอน!”

4.2  บุคลิกลักษณะ


คำกล่าวของแคทธีลีน มาทิเนส นักโบราณคดีสาวชาวโดมินิกันที่ว่า  “คลีโอพัตรา พูดได้เก้าภาษาอย่างคล่องแคล่ว นางเป็นนักปราชญ์ เป็นกวี   เป็นนักการเมือง นางเป็นเทพธิดา และยังเป็นนักรบที่เก่งกล้าอีกด้วย” น่าจะเป็นคำบรรยายบุคลิกลักษณะของคลีโอพัตราได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด

คลีโอพัตรา:    นักปราชญ และกวี    นอกจากจะเฉลียวฉลาด ในการบริหารราชการบ้านเมืองแล้ว นางยังเป็นนักภาษาศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมอีกด้วย  พลูต้าช นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกบันทึกไว้ว่า “คลีโอพัตราเรียนรู้ภาษาต่างๆได้อย่างคล่องแคล่วรวดเร็ว” นางใช้ภาษาต่างๆได้อย่างคล่องแคล่วนับสิบภาษาเช่น อียิปต์, กรีก, ลาติน, เอธิโอเปียน, ฮิบรู, อารบิก, จูเดีย, และเปอร์เซียน ฯลฯ นอกจากนี้นางยังมีความเชี่ยวชาญในวิชา คณิตศาสตร์, รัฐศาสตร์การปกครอง, และศิลปศาสตร์ อีกด้วย  ตลอดเวลา 22 ปีที่ครองราชย์ นางได้แต่งโคลง กลอนไว้มากมาย และได้ให้ความสนับสนุนศิลปกรรมสาขาต่างๆ  นางให้ความสนับสนุนและฟื้นฟูหอสมุดอเล็กซานเดรีย หอสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลกยุคโบราณที่ถูกไฟไหม้ไปเมื่อครั้งที่เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างขุนศึกโรมันผู้ยิ่งใหญ่ “จูเลียส ซีซ่าร์” กับ “ปอมเปย์” 


รูปที่ 10    คลีโอพัตรา ผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์

คลีโอพัตรา:    นักการเมือง    ในทางการเมืองนั้น นางมีความเป็นอัจฉริยะทางการเมืองที่ต้องการสืบสานปณิธานของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เพื่อให้ทั้งโลกอยู่ภายใต้การปกครองที่เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งเชื่อว่าจะนำความเจริญไพบูลย์มาให้แก่มวลมนุษย์ได้ดีที่สุด  มีบันทึกกล่าวว่าคลีโอพัตราเป็นนักการทูตที่เก่งมาก นางสามารถใช้จิตวิทยาทางการทูต ในการเจรจาโต้ตอบได้อย่างยอดเยี่ยม น้ำเสียงไพเราะอ่อนโยนน่าฟัง คารมคำพูดเฉียบแหลมคมคาย นางมักใช้ภาษาง่ายๆแต่ลึกซึ้งกินใจ กริยาท่าทางงดงาม ร่าเริง เบิกบานแจ่มใส ตลอดช่วงเวลาของการเจรจา  นางสามารถปรับตัวเองให้เข้ากับการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศได้เป็นอย่างดี นางอ่านสถานการณ์ทางการเมืองทั้งภายใน ภายนอกได้ชัดเจน และกล้าตัดสินใจดำเนินการไม่ว่าจะอยู่ภายใต้วิกฤติกาลที่ยำแย่เพียงใด  ตลอดชีวิตของนางล้วนดำเนินการด้วยความกล้าหาญและเชื่อมั่นในตนเองเสมอ นางแสดงตัวตนของนางอย่างองอาจเปิดเผยตลอดชีวิต ว่านางเป็นเทพธิดาไอซิสมาจุติ เป็นราชินีที่มีอำนาจ ในการปกป้องเอกราชอธิปไตยของชาติบ้านเมืองนั้น  นางต่อสู้กับอภิมหาอาณาจักรโรมันราวกับนางสิงห์ทะเลทราย และไม่เคยก้มหัวให้กับพวกโรมันเลย และแม้ในวาระสุดท้ายของชีวิตเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างกำลังจะพังทลายสูญสิ้นหมดนั้น นางก็กล้าหาญพอที่จะฆ่าตัวตายอย่างสมศักดิ์ศรีของฟาโรห์แห่งอียิปต์ นางจึงเป็นเทพธิดา และเป็นนักการเมืองที่องอาจกล้าหาญและยืนหยัดต่อสู้เพื่อชาติบ้านเมืองของตนจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

คลีโอพัตรา:    นักรบที่เก่งกล้า        บันทึกประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยพวกโรมันกล่าวไว้ชัดเจนว่า คลีโอพัตราแม้จะเป็นราชินีสาวผู้สูงศักดิ์ ใช้ชีวิตที่หรูหราโอ่อ่าสุขสบายในราชสำนักอียิปต์มาตั้งแต่เกิด แต่ในสถานการณ์ที่จำเป็นนางไม่เคยกลัวหรือปฏิเสธที่จะเข้าสู่สนามรบเลย ทั้งนี้เห็นได้ชัดเจนจากตอนที่นางถูกพวกขุนนางในราชสำนักร่วมกับน้องชายของนาง ทำการยึดอำนาจการปกครองนั้น นางเดินทางหลบหนีไปยังชายแดนประเทศซีเรียซึ่งมีกองกำลังของอียิปต์ที่ยังสวามิภักดิ์ต่อนางอยู่ นางใช้ชีวิตที่ค่ายทหารดังกล่าวเตรียมการที่จะยกกองทัพกลับมาอเล็กซานเดรียเพื่อชิงราชบัลลังก์คืน แต่ก็พอดีจูเลียส   ซีซ่าร์เดินทางมาถึงอเล็กซานเดรียก่อน  ทำให้นางสามารถใช้กลศึกหญิงงามสยบซีซ่าร์เพื่อชิงราชบัลลังก์คืนได้โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ  และในศึกใหญ่ระหว่างกองทัพผสมอียิปต์-โรมันกับกองทัพโรมันของอ็อคตาเวี่ยนนั้น นางร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่อยู่ในกองทัพกับมาร์ค แอนโทนี่และทหารทุกคนจนถึงวาระสุดท้ายที่สมรภูมิแอคติอุม ซึ่งนางคิดว่าการรบพ่ายแพ้แล้ว และมาร์ค แอนโทนี่เสียชีวิตในสงครามแล้วด้วย ในฐานะฟาโรห์ผู้ปกครองอียิปต์นางมีภาระหน้าที่ที่จะต้องกลับมาประเทศของตนและสู้ต่อไป การที่นางแล่นเรือออกจากสมรภูมิแอคติอุมจึงไม่ใช่การหลบหนีอย่างขี้ขลาดแต่ประการใด

จึงสรุปบุคลิกลักษณะของคลีโอพัตราได้แน่นอนว่า นางเป็นนักปราชญ์  เป็นกวี   เป็นนักการเมือง เป็นนางเทพธิดา เป็นนักรบที่เก่งกล้า และยังเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์อีกด้วย

5.    นางเทพธิดา V.S. นางมารร้าย

ในภาพรวมแล้ว ด้วยคุณลักษณะตามที่กล่าวถึงในข้อ 4 คลีโอพัตราเป็นนางเทพธิดาและเป็นวีรสตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่โลกเคยมีมาคนหนึ่งแน่นอน นางมีบุคลิกลักษณะและความสามารถที่เป็นเลิศในหลายๆด้านซึ่งหาได้ยากยิ่งในบุคคลทั่วไป ในส่วนของผลงานที่นางได้กระทำให้แก่ชาติบ้านเมืองเป็นส่วนรวมนั้นนางก็ได้ทุ่มเทและกระทำทุกๆวิถีทางอย่างสุดความสามารถ เพื่อปกป้องเอกราชอธิปไตยของอียิปต์ภายใต้ราชวงศ์พโทเลมีไว้เท่าที่จะกระทำได้ ในส่วนของการปกครองชาติบ้านเมืองและการดูแลราษฎรนั้นนางก็สามารถทำได้เป็นอย่างดี ในยุคสมัยของนางอียิปต์เจริญรุ่งเรืองทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ประชาชนอยู่ดีกินดีและมีความผาสุกกันทั่วหน้า ปัญหาใหญ่ก็มีเรื่องเดียวคือการแผ่อิทธิพลของมหาอาณาจักรโรมัน ที่ต้องการยึดครองทุกประเทศรอบทะเลเมดิเตอเรเนียนให้เป็นเมืองขึ้นของตน โดยเฉพาะอียิปต์ซึ่งถือว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของอารยธรรมนั้น เป็นเป้าหมายหลักของพวกโรมันก็ว่าได้ เพราะเพียงข้าวสาลีที่เพาะปลูกได้จากสองฝั่งลุ่มแม่น้ำไนล์ ก็สามารถเลี้ยงคนโรมันได้ทั้งประเทศแล้ว ซึ่งนางได้พยายามปกป้องอียิปต์ให้รอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นได้ถึงสองครั้ง แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถต้านทานแสนยานุภาพของมหาอาณาโรมันได้     นางจึงต้องสูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตอย่างอาภัพอับวาสนาและน่าเศร้าสลดเป็นที่สุด


รูปที่ 11    เทพธิดา หรือ นางมารร้าย

ในทางการเมืองทั้งการเมืองภายในประเทศ และการเมืองระหว่างประเทศนั้น ชีวิตของนางมีแต่เรื่องราวของความโหดเหี้ยมอำมหิต และเล่ห์เหลี่ยมเพทุบายแทบทั้งสิ้น ในเรื่องของการเมืองภายในประเทศนั้นแม้นางจะได้ราชบัลลังก์มาโดยชอบธรรมจากบิดา แต่การพยายามรักษาราชบัลลังก์เอาไว้นั้น นางต้องใช้สารพัดเล่ห์เหลี่ยมเพทุบาย และต้องมีส่วนในการสังหารทั้งน้องสาว และน้องชายของตัวเองหลายคน ซึ่งในมุมมองของคนธรรมดาทั่วไป ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องโหดเหี้ยมอำมหิตแน่นอน แม้ในทางการเมืองเรื่องราวของนางก็เป็นเพียง “ศึกสายเลือด” ที่เป็นเรื่องธรรมดาๆของการแย่งชิงอำนาจกันเองในทุกวงการ แม้กระทั่งในโลกปัจจุบัน เพราะคนนอกจะเข้ามามีส่วนแย่งชิงได้อย่างไร ถ้าคนในกันเองไม่เริ่มต้นก่อนซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้คนนอกได้แทรกเข้ามาในที่สุด

ในส่วนของการเมืองระหว่างประเทศนั้น คงต้องยอมรับว่าการใช้กลอุบายหญิงงามทั้งสองครั้งกับยอดวีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพวกโรมันทั้งสองคนคือ จูเลียส ซีซ่าร์กับมาร์ค แอนโทนี้นั้น เป็นการจงใจใช้เล่ห์เหลี่ยมเพทุบายเพื่อหลอกใช้คนมาตั้งแต่แรก แม้ว่าต่อมาด้วยคุณลักษณะที่เฉลียวฉลาดและเก่งกล้าสามารถของจูเลียส ซีซ่าร์ ทำให้นางพอใจและเลื่อมใสซีซ่าร์ด้วยความจริงใจก็ตาม ในกรณีของมาร์ค แอนโทนี่ก็เช่นเดียวกันแม้ว่าต่อมานางถึงกับตกหลุมรักแอนโทนี่จริงๆและยอมฆ่าตัวตายตามแอนโทนี่ไปในที่สุด จนกระทั่งทั้งคู่ได้รับการยอมรับต่อมาว่าเป็น “คู่รักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์” คู่หนึ่งนั้น เจตนาตั้งแต่แรกแม้กระทั่งถึงเวลาที่แอนโทนี่ฆ่าตัวตายก็เป็นเจตนาหลอกใช้จริงๆ เพียงแต่ว่านางหลอกใช้เขาไปด้วย แต่ก็รัก ประทับใจ และสงสารเห็นใจเขาด้วยความจริงใจไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เพราะนางต้องแบกภาระสองประการไว้พร้อมกัน ประการแรกคือภาระของฟาโรห์แห่งอียิปต์ที่จะต้องปกป้องรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติบ้านเมืองไว้ ถ้านางไม่หลอกใช้มาร์ค แอนโทนี่ แล้วนางจะมีอะไรไปต่อสู้กับกองทัพโรมันของอ็อคตาเวี่ยนได้ อีกประการหนึ่งที่ต่อมานางต้องแบกรับโดยไม่รู้ตัวเพราะเมื่อรู้ตัวนางก็รักมาร์ค แอนโทนี่ไปเลียแล้ว และนี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นางไม่ยอมแลกหัวของมาร์ค แอนโทนี่กับคำสัญญาของอ็อคตาเวียนที่ว่า จะให้อียิปต์เป็นประเทศเมืองขึ้นที่นางยังคงได้ปกครองต่อไป และนางยอมฆ่าตัวตายตามมาร์ค แอนโทนี่ไป ดังนั้นในที่สุดแม้นางจะหลอกใช้มาร์ค แอนโทนี่ แต่นางก็ได้ตอบแทนเขาด้วยกายใจและวิญญาณเท่าที่จะทำได้แล้วเช่นกัน

ในเรื่องของชีวิตส่วนตัวนั้น จากเรื่องราวระหว่างนางกับมาร์ค แอนโทนี่ในวรรคก่อนคงจะตำหนินางว่า เป็นคนเสแสร้ง ทำมารยา หลอกใช้ผู้ชายโดยไม่มีความจริงใจไม่ได้ ตรงกันข้ามนางเป็นผู้หญิงที่กล้ารัก กล้าตัดสินใจ และถ้าจำเป็นก็กล้าและพร้อมที่จะตายไปพร้อมกับความรักและผู้ชายที่ตนรัก และนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ความรักของคนทั้งสองได้รับการยกย่องว่า เป็นความรักที่ยิ่งใหญ่และเป็นคู่รักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคู่หนึ่งในประวัติศาสตร์ และจากการที่แผ่นดินอียิปต์ภายใต้การปกครองของนางมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ประชาชนอยู่ดีกินดี แสดงว่านางต้องปกครองด้วยทศพิธราชธรรม และคนที่จะสามารถปกครองราษฎรด้วยทศพิธราชธรรมได้ย่อมต้องเป็น “คนดีที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม คุณธรรม” แน่นอน

จึงสรุปได้ว่าคลีโอพัตราเป็น นางเทพธิดา และวีรสตรีผู้ยิ่งใหญ่ ในภาพรวม และเป็นฟาโรห์ ที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม และคุณธรรม ในการปกครองชาติบ้านเมืองและดูแลทุกข์สุขของราษฎร เป็นผู้หญิงที่จริงใจกับความรักและคนรักของตน กล้าที่จะรัก และตายพร้อมกับความรักและคนรักของตนถ้าจำเป็น โดยมีภาพของนางมารร้ายในเรื่องของการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองภายในประเทศของตน และความเป็นคนเจ้าเล่ห์เพทุบายในการดำเนินการทางการเมืองระหว่างประเทศ แต่ภาพของนางมารร้ายนี้ ควรจะได้รับการให้อภัย หากพิจารณาถึงภาระอันหนักหนาที่นางต้องแบกรับอยู่และสภาพแวดล้อมรอบตัวที่ไม่อาจจะกระทำอื่นไดได้ นอกจากจะต้องเป็นนางมารร้ายเท่านั้น

6.    อิทธิพลของคลีโอพัตราที่ยังคงมีต่อคนในโลกยุคปัจจุบัน

คลีโอพัตราเสียชีวิตไปกว่า 2,000 ปีแล้ว แต่เรื่องราวของนางยังคงได้รับการกล่าวขวัญถึงผ่านสื่อต่างๆตลอดมาในทุกยุคทุกสมัย จนกระทั่งยังมีการขุดค้นทางโบราณคดีครั้งล่าสุดเพื่อหาที่ฝังศพของนางและมาร์ค แอนโทนี่ ดังที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2553) ที่กล่าวถึงข้างต้น และเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ผู้คนในโลกปัจจุบันส่วนใหญ่ล้วนเคยได้รับฟังและหรือรับทราบเรื่องราวและชื่อ “คลีโอพัตรา” กันทุกคน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ไม่ผิดว่า “คลีโอพัตรา” ยังคงมีอิทธิพลต่อผู้คนโลกปัจจุบันอยู่ในบางประการ ที่น่าพิจารณาก็คือ ถ้าคลีโอพัตรายังคงมีอิทธิพลต่อผู้คนในโลกปัจจุบันอยู่ อิทธินั้นคืออิทธิพลในเรื่องอะไร และอย่างไร?


รูปที่ 12    คลีโอพัตรา ฟาโรห์องค์สุดท้ายของอียิปต์ ผู้หญิงที่โลกไม่มีวันลืม

คำว่า “คลีโอพัตรา” น่าจะทำให้คนทั่วไปคิดถึงเรืองราวของ ความยิ่งใหญ่อลังการ, อำนาจ และความสง่างาม ซึ่งก็คือคำจำกัดความของ “วีรบุรุษและ/หรือวีรสตรี” นั่นเอง ดังนั้นอิทธิพลของคลีโอพัตราที่ยังคงมีต่อผู้คนในโลกปัจจุบันจึงน่าจะเป็นเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับคำจำกัดความของวีรบุรุษ และ/หรือวีรสตรี

1)    คลีโอพัตราเป็นตัวอย่างและเป็นแรงบันดาลใจให้กับกระบวนการทางความคิด และการปฏิรูปสังคมในเรื่องของ “เสรีภาพและสิทธิของสตรี” เพราะคลีโอพัตราได้รับการกล่าวขวัญถึงและได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้หญิงเก่ง ที่สามารถดำรงตำแหน่งและทำหน้าที่ได้ไม่แพ้ผู้ชาย คือหน้าที่ของฟาโรห์ผู้ปกครองแผ่นดินนั่นเอง ซึ่งในยุคของนางนั้นแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้หญิงจะได้ทำหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้นนางยังเป็น ราชินีเหนือราชันย์ อีกด้วย เพราะแม้กระทั่งผู้ชายที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกยุคนั้นถึงสองคนยังต้องคุกเข่าให้กับนาง

2)    คลีโอพัตราเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของคำกล่าวที่ว่า “ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” ซึ่งเป็นสัจธรรมของผู้หญิงทั้งโลกไม่ว่ายุคสมัยใดที่จะต้องอยู่คู่กับเครื่องสำอางและกระบวนการรักษาและเสริมความงามทั้งหลาย เครื่องประทินความงามและกระบวนการเสริมความงามที่นิยมใช้กันแพร่หลายอยู่ในปัจจุบันนั้นเชื่อกันว่า มีที่มาสืบเนื่องจากคลีโอพัตรา

  •  คลีโอพัตราได้ชื่อว่ามีผิวพรรณงดงามผุดผ่องยิ่ง แม้นักประวัติศาสตร์ยังเถียงกันไม่จบว่า ผิวนาง สีขาว สีน้ำผึ้ง หรือล่าสุดที่มีคนออกมาให้ร้ายว่า สีดำ? แต่ไม่ว่าสีอะไรก็เชื่อกันว่าผิวของนางงดงาม นุ่มนวล ผุดผ่อง ยิ่งนัก และเล่าขานกันสืบมาว่าสูตรลับที่ทำให้นางมีผิวพรรณงดงามเช่นนั้นก็คือ นางอาบกายด้วยน้ำนมผสมน้ำผึ้งและเกสรดอกไม้นานาพรรณ ตามตำรับลับของอียิปต์โบราณ เรื่องนี้ผมเคยได้ยินมาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถมว่าผู้ที่เบ้าประกวดนางสาวไทยบางคน ต้องลงทุนอาบกายด้วยน้ำนม ในปัจจุบันบรรดาบริษัทเครื่องสำอางในต่างประเทศ พากันเสนอสูตรผสมต่างๆจำนวนมาก และอ้างว่าเป็นสูตรเดียวกันกับที่คลีโอพัตราใช้ นำออกมาขายในท้องตลาด รวมถึง สปา ที่เป็นกระบวนการยอดฮิตในปัจจุบันก็เชื่อกันว่าเป็นกระบวนการที่คลีโอพัตราใช้ในการรักษา และทะนุถนอมความงามและทะนุบำรุงความเปล่งปลั่งตามธรรมชาติของผิวพรรณตัวเองไว้
  • อายแชโดว์ และกระบวนการเสริมแต่งความงามของดวงตาทั้งหลายที่เป็นความจำเป็นของผู้หญิงในโลกปัจจุบันในการแต่งหน้าทาปากก็ว่ากันว่า เป็นเครื่องประทินความงาม และกระบวนการที่คลีโอพัตราใช้ในการเสริมสร้างความงามและเสน่ห์ของตนเช่นเดียวกัน
  • และท้ายที่สุดการแต่งหน้าทาปากในปัจจุบันก็เล่าขานกันสืบมาอีกเช่นกันว่า เป็นกระบวนการที่คลีโอพัตราใช้ในการเสริมความงามของตน ว่ากันว่านางใช้รองพื้นหน้าทำจากขี้ผึ้งชนิดหนึ่งที่เตรียมจากไขมันสัตว์ผสมกับตะกั่วสีขาวที่เรียกว่าเซอร์ยูส รองพื้นนี้นางจะทาบนใบหน้าและลำคอ เพื่อให้ดูมีสง่าราศีสมกับเป็นนางกษัตริย์ สารเพิ่มความขาวบางชนิดจะใช้ทาทับไปที่ใบหน้าเสริมด้วยแต้มสีขาวจากแป้งชอล์ก ที่แก้มจะทาเสริมด้วยผงสีแดงที่ทำจากหลายสิ่งเช่น เต่าทอง (นำมาบด), ดินเหนียวสีแดง ฯลฯ ส่วนริมฝีปากก็ทาฉาบให้แดงด้วยสารผสมที่ทำจาก ดินเหนียวแดง และเหล้าองุ่นข้น

หมายเหตุ: ผมเคยเปรียบเทียบความงามระหว่างเฮเลน แห่ง ทรอย กับคลีโอพัตรา ไว้ในบทความเรื่อง เฮเลน แห่ง ทรอย: ความงามที่เคลื่อนทัพเรือพันลำ โดยอาศัยเนื้อหาที่พรรณนาความงามของทั้งสองนางไว้ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ และสรุปว่าทั้งสองนางสวยเป็นอันดับ 1 เท่ากันนั้น หลังจากที่ไปเจอข้อมูลที่ว่าด้วยคลีโอพัตรากับเครื่องสำอางแล้ว คงต้องปรับปรุงข้อสรุปด้งกล่าวเล็กน้อย เป็นว่า ทั้งสองนางสวยเป็นที่ 1 เท่ากัน โดยมีข้อแม้ว่าคลีโอพัตราต้อง ทำสปา อาบน้ำนมผสมน้ำผึ้ง และแต่งหน้าทาปาก ครบถ้วนตามสูตรของนางด้วย เพราะเนื้อหาในประวัติศาสตร์ที่กล่าวยกย่องความงามของคลีโอพัตราว่า ท้าทายแสงอาทิตย์ ในตอนกลางวัน และข่มแสงจันทร์ให้ซีดจางในยามค่ำคืนนั้น (ในความเป็นจริงตามธรรมชาติ มีเพียง ดาวพระศุกร์ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความงามเท่านั้น ที่งามข่ม สุริยันและจันทราได้ จึงได้ตีความว่า คลีโอพัตราสวยเสมอด้วยวีนัส เทพเจ้าแห่งความงาม และจึงสวยเท่ากับ เฮเลน แห่ง ทรอย ซึ่งสวยเสมอด้วยเทพเจ้าแห่งความงามเช่นเดียวกัน) แต่ขณะนั้นเป็นเวลาที่คลีโอพัตรากำลังเดินทางไปหามาร์ค แอนโทนี่ เพื่อจะสยบมาร์ค แอนโทนี่ให้ได้ด้วยความงามและเสน่ห์ของตน เช่นเดียวกับที่นางเคยสยบ จูเลียส ซีซ่าร์มาแล้ว ดังนั้นในเวลานั้นนางต้องแต่งเสริมเติมความงามมาเต็มที่แน่นอน ส่วนเฮเลน แห่ง ทรอย นั้น ไม่เคยพบเนื้อหา ที่กล่าวถึงการใช้เครื่องสำอางเป็นกระบวนการอย่างชัดเจนเหมือนคลีโอพัตราเลย และโดยสภาพการใช้ชีวิต และ/หรือรูปแบบของการดำเนินชีวิต ของ เฮเลน แห่ง ทรอย ก็เรียบง่ายกว่าคลีโอพัตรามาก ดังนั้นถ้าหากไม่ใช้อุปกรณ์และกระบวนการเสริมความงามเลย คลีโอพัตรา อาจสวยสู้ เฮเลน แห่ง ทรอย ไม่ได้?

3)    ความรัก และคู่รักระหว่างคลีโอพัตรากับมาร์ค แอนโทนี่ ได้รับการยอมรับว่าเป็นความรักระหว่างหญิงชาย และเป็นคู่รักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์คู่หนึ่ง เทียบได้กับ ความรักและคู่รักอมตะในประวัติศาสตร์เช่น คู่รักระหว่าง ชาห์ เจฮัน กับ มุมตัสมาฮาล ที่ทำให้เกิด “ทัชมาฮาล อนุสรณ์แห่งความรัก”ขึ้นเป็นสิ่งมหัศจรรย์หนึ่งในเจ็ดของโลก เทียบเคียงได้กับคู่ของ เจ้าชายปารีส กับ เฮเลน แห่ง ทรอย ในมหากาพย์อีเลียต และเทียบเคียงได้กับคู่รักในวรรณกรรมอมตะระหว่าง โรเมโอ กับ จูเลียต ของเชคสปียร์  และกามนิตกับวาสิฏฐี ของไทยเรา ที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนหนุ่มสาวในวัยที่กำลังมีความรักและ/หรือกำลังแสวงหาความรัก พากันไขว่คว้าหาความรัก และคนรักในอุดมคติที่เป็น “คู่แท้” หรือ “บุพเพสันนิวาส” ตามความเชื่อในวัฒนธรรมของตน

4)    เรื่องราวชีวิตที่อาภัพขมขื่น และจบลงอย่างเศร้าสลด ของคลีโอพัตราช่วยตอกย้ำความเชื่อบางประการโดยทั่วไปที่ว่า “ ผู้หญิงสวยมักต้องซวย” และก็พอดีสอดคล้องกับเรื่องราวของผู้หญิงที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดในประวัติศาสตร์ของฝรั่งอีก 3 นาง ที่ล้วนมีชีวิตที่อาภัพขมขื่นและจบลงด้วยความเศร้าสลดทุกนาง ไม่ว่าจะเป็นเนเฟอตีติ, เฮเลน แห่ง ทรอย หรือ กวินิเวียร์  และเท่าที่จำได้ ผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีนอย่างน้อยมี 3 นางที่มีชีวิตที่อาภัพขมขื่นและจบลงด้วยความเศร้าสสดเช่นเดียวกัน หวังเจาจิน เมื่อเข้าวังก็ประสบแต่ความผิดหวัง พ่ายแพ้ อ้างว้างว่าเหว่ พอสมหวังก็พลันมีอันต้องพลัดพรากจากฮ่องแต้ไป เพื่อชาติบ้านเมือง จนกระทั่งต้องกระโดดแม่น้ำฆ่าตัวตายในที่สุด เตียวเสี้ยน ก็ยอมพลีตัวเองเพื่อให้ตั๋งโต๊ะแตกกับลิโป้ ทำให้เหล่าขุนนางตงฉินสามารถวางแผนสังหารตั๋งโต๊ะได้ แต่ในที่สุดก็ยังคงไม่สามารถกอบกู้ราชวงศ์ฮั่นได้อยู่ดี และอำนาจก็เปลี่ยนมือจากตั้งโต๊ะไปอยู่ในมือของโจโฉ ซึ่งก็อาจจะเลวร้ายยิ่งกว่าตั๋งโต๊ะด้วยซ้ำไป และยังมีบันทึกบางฉบับบอกว่าเตียวเสี้ยนจบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตายหลังจากที่ลิโป้ถูกโจโฉสั่งประหารชีวิต บ้างก็ว่านางถูกกวนอูใช้ง้าวฟันคอขาดหลังจากที่ลิโป้ตายแล้ว! ส่วนหยางกุ้ยเฟยนั้นจุดจบนางก็ต้องฆ่าตัวตายด้วยการใช้ผ้าพันคอที่เคยได้รับพระราชทานจากฮ่องเต้แขวนคอตัวเอง มีเพียงไซซีเท่านั้นที่หายสาบสูญไป และสันนิษฐานว่านางได้หนีไปใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับคนรักในป่าเขาลำเนาไพร และไม่เคยแสดงตัวออกมาพบปะกับผู้คนในสังคมอีกเลย สรุปได้ว่า 7 คนจาก 8 คน ของผู้หญิงที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดในประวัติศาสตร์ (ของฝรั่งและจีน) ล้วนมีชีวิตที่ขมขื่นและจบลงด้วยความวิบัติอย่างเศร้าสลด มีเพียงคนเดียวที่หายสาบสูญไป และคาดว่าไปดี ซึ่งจริงๆอาจไม่ดีก็ได้ เพราะไม่มีใครรู้!!

ความจริงจากสถิตินั้น ผู้หญิงที่สวยแล้วไม่ซวยก็มีเยอะแยะไป แต่ผู้หญิงที่สวยแล้วก็ซวยด้วยมักเป็นที่กล่าวขวัญถึง ซึ่งก็มีหลักการในโหราศาสตร์อยู่เหมือนกันเกี่ยวกับความงามของสตรี ที่ปัจจัยสำคัญของความงามมีดาวศุกร์เป็นพื้นฐาน และก็พอดีตามหลักการโหราศาสตร์ดาวศุกร์ในดวงชะตายิ่งมีกำลังแรงมากเท่าใด ผู้หญิงคนนั้นก็จะยิ่งสวยงามมีเสน่ห์รุนแรงมากยิ่งขึ้นเท่านั้น และก็ตำแหน่งต่างๆที่ดาวศุกร์มีกำลังรุนแรงมากผิดปกตินั้น ก็มักเป็นตำแหน่งที่ผิดปกติของดาวศุกร์ด้วย กล่าวคือตำแหน่งที่ดาวศุกร์มีกำลังแรงมากๆ นั้นมักเป็นตำแหน่งผิดปกติของดาวศุกร์ที่มีพิษภัย  ดังนั้นโดยหลักการทางโหราศาสตร์บางประการ ผู้หญิงที่สวยมากจนถึงระดับที่เรียกว่า “ความงามที่พลิกแผ่นดิน” เช่นกรณีของ หวังเจาจิน เตียวเสี้ยน คลีโอพัตรา และเฮเลน แห่ง ทรอย จึงมักเกิดจากดาวศุกร์ในดวงชะตาที่มีกำลังแรงกล้าผิดปกติ และอยู่ในสภาพเป็นพิษ ก่อให้เกิดเภทภัยแก่ตนเอง จนกระทั่งต้องจบชีวิตลงด้วยความวิบัติอย่างเศร้าสลดในที่สุด

5)    แม้คลีโอพัตราจะต้องเผชิญแต่ปัญหาอุปสรรคและความยากลำบาก ความผิดหวังขมขื่นต่างๆมากมายตลอดชีวิต แทบจะเรียกได้ว่าตั้งแต่เกิดจนตาย แต่การที่นางต่อสู้ชีวิตและอุปสรรคทุกอย่างอย่างเข้มแข็ง และไม่เคยยอมก้มหัวให้กับอุปสรรคและศัตรูผู้มีอำนาจเลย จนวาระสุดท้ายของชีวิต ความยิ่งใหญ่ตระการตาของสภาพการใช้ชีวิตและสมรภูมิการต่อสู้ในชีวิตของนาง ที่ต้องเกี่ยวข้องกับมหาอาณาจักรและผู้ชายที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกยุคนั้นถึง 3 คน ทำให้เรื่องราวของนางสร้างความบันดาลใจถึงความยิ่งใหญ่ ตระการตา และความมีชีวิตชีวาของโลกและความเป็นไปในโลก  “คลีโอพัตรา” จึงทำให้ผู้คนที่คิดถึงนาง รู้สึกฮึกเหิมและไม่กลัวที่จะต้องต่อสู้ต่อไปในโลกแห่งความเป็นจริงที่มีแต่ความไม่แน่นอน และเต็มไปด้วยความทุกข์แห่งนี้ด้วยกำลังใจที่เต็มเปี่ยมเช่นเดียวกับที่คลีโอพัตราได้เคยต่อสู้มาแล้ว



7.    สรุป


รูปที่ 13    นักปราชญ์  กวี   นักการเมือง นางเทพธิดา นักรบ วีรสตรีที่ยิ่งใหญ่ และ ผู้หญิงที่โลกจะไม่มีวันลืมไปตลอดชั่วกาลนาน

เรื่องราวของคลีโอพัตรา คงจะมีการกล่าวขวัญกันต่อเนื่องต่อไปอีกตราบเท่าที่มนุษยชาติจะยังคงมีอยู่ ประเด็นใหม่ๆจากการขุดค้นทางโบราณคดี โดยเฉพาะที่กำลังขุดคันกันอยู่ในอียิปต์ขณะนี้เพื่อหาที่ฝังศพของคลีโอพัตรา และมาร์ค แอนโทนี่ อาจเปิดเผยเรื่องราวของคนทั้งสองเพิ่มขึ้นอีกในหลายๆประเด็น พร้อมๆกับข้อสันนิษฐานใหม่ๆที่จะมีการนำเสนอและมีการถกเถียงทีไม่มีวันจบสิ้นในแวดวงนักประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดีกันต่อไป แต่ไม่ว่าจะมีการขุดค้นและพบหลักฐานอะไรเพิ่มเติมอีกมากมายเพียงใด ก็คงไม่อาจเปลี่ยนแปลงภาพที่ชัดเจนแล้วในสายตาของชาวโลก เพราะด้วยข้อมูลหลักฐานที่มีอยู่จนถึงปัจจุบันก็เพียงพอแล้วที่จะสรุปได้ว่า คลีโอพัตรา ฟาโรห์องค์สุดท้ายของอียิปต์ เป็นนักปราชญ์  เป็นกวี   เป็นนักการเมือง เป็นนางเทพธิดา เป็นนักรบที่เก่งกล้า เป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์ และในท้ายที่สุดนางยังจะยังคงเป็น ผู้หญิงที่โลกไม่มีวันลืมไปตลอดชั่วกาลนาน

เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด  หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย

 
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ

หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ

 

Bookmark and Share




ตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)

สปาร์ตาคัส เกิดอย่างทาส สู้อย่างทาส ตายอย่างทาส วันที่ 19/05/2013   21:36:29
Helen of Troy (1956) The face that launched a thousand ships (เฮเลน แห่ง ทรอย , ความงามที่เคลื่อนทัพเรือพันลำ) วันที่ 19/05/2013   21:37:57
คลีโอพัตรา ตอนที่ 3 คลีโอพัตรา นางพญาไอยคุปต์ (1999) วันที่ 19/05/2013   21:39:06
คลีโอพัตรา ตอนที่สอง เวอร์ชั่นปี 1963 วันที่ 19/05/2013   21:40:09
สารคดี Nefertiti and the Lost Dynasty: เนเฟอตีติ อมตะราชินี จาก NATIONAL GEOGRAPHIC วันที่ 19/05/2013   21:41:09
300 ขุนศึกพันธุ์สะท้านโลก วันที่ 19/05/2013   21:42:04
Hannibal (1959) "มีเมียแล้วไม่บอก!" วันที่ 19/05/2013   21:43:44
สารคดี Hannibal จาก BBC : เพราะเขาไม่ใช่คนเถื่อน? วันที่ 19/05/2013   21:44:49
Alexander มหาราชชาตินักรบ วันที่ 19/05/2013   21:45:44
Alexander the Great (1956) วันที่ 19/05/2013   21:46:41
แกะรอย อเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) วันที่ 19/05/2013   21:47:37
Taras Bulba (1962 film) (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   21:48:19 article
1612 (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   21:48:44 article
นักรบหญิง กวนอหังการ Gladiatress (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   21:49:12 article
Braveheart (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   21:49:41 article
Attila 2001 (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 07/04/2014   21:10:33 article



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker