
คาสโตร, เช และกองกำลังปฏิวัติลักลอบขึ้นฝั่งที่คิวบา
webmaster@iseehistory.com
บรรดาบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ทั้งหลาย หากไม่ได้รับความนิยมยกย่องกันอย่างเลิศเลอก็มักจะกลายเป็นผู้ร้ายสารเลว จนบางทีนักประวัติศาสตร์ต้องออกมาเตือนว่าบุคคลเหล่านี้ ต่างก็มีความเป็นมนุษย์ที่มีทั้งข้อดีข้อเสีย และความสำเร็จและล้มเหลวอยยู่ในตัวคนเดียวกัน ดังเช่น เช หรือ Ernesto "Che" Guevara ขวัญใจบรรดาฝ่ายซ้าย (รวมถึงบางคนที่ไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่อะไรกับความเป็นซ้ายเป็นขวา แต่ไปชื่นชอบ "โลโก้" ของเขาเข้า) เมื่อลองสำรวจดูชีวิตการปฏิวัติของเขาแล้ว น่าแปลกใจและน่าเศร้าใจอย่างมาก ว่าทำไม "เช" ผู้ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการปฏิวัติคิวบาเคียงคู่กับ ฟิเดล คาสโตร สุดท้ายกลับต้องพ่ายแพ้อย่างหมดรูปในความพยายามแบบเดียวกันในโบลิเวีย ซึ่งในเว็บนี้ผมเคยเขียนแนะนำภาพยนตร์สารคดีประวัติของเชมาแล้ว คราวนี้ลองศึกษาเรื่องราวของเขาจากภาพยนตร์บันเทิงฮอลลีวู้ด Che! ที่โด่งดังในอดีตเมื่อปี 1969/พ.ศ.2512 ดูบ้าง
ภาพยนตร์เรื่อง Che! นี้ เล่าเรื่องตั้งแต่ตอนที่เชติดตามกองกำลังของ ฟิเดล คาสโตร มาขึ้นบกที่คิวบาเพื่อล้มล้างจอมเผด็จการบาติสตาไปจนจบที่อวสานของเขาในโบลิเวีย แต่เพื่อลูกเล่นในการเล่าเรื่องจึงเปิดฉากตอนที่เขาถูกฆ่าตายที่โบลิเวียแล้วถูกนำขึ้นเฮลิคอปเตอร์ แล้วจึงไปเล่าเรื่องในคิวบาโดยบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเช โดยมีกระโดดกลับมาที่การขนศพเช สักหนสองหน ผมขอเล่าไปตามลำดับปกติที่ควรจะเป็นก็แล้วกันครับ ฟิเดล คาสโตร กับ เช นำกำลังพลราวร้อยกว่านายเดินทางมาจากเม็กซิโกมาขึ้นบกที่คิวบาในวันที่ 25 พฤศจิกายน 1956/พ.ศ.2499 ตัวเชซึ่งเป็นหมอกลับอยู่ในสภาพที่แย่กว่าเพื่อนเนื่องจากโรคหอบหืดกำเริบ ขึ้นบกได้ไม่นาน กองกำลังนี้ก็โชคร้ายถูกเครื่องบินตรวจการณ์ของฝ่ายรัฐบาลตรวจพบเข้า แล้วก็ส่งสัญญาณให้กองทหารที่อยู่ใกล้ๆ เข้าโจมตีในทันที กองกำลังของฟิเดลคัสโตรซึ่งไม่ทันตั้งตัวถูกสังหารไปเป็นส่วนใหญ่ เหลือรอดมาได้ไม่กี่คน ตามเรื่องบอกว่า 12 คน แต่ในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษบอกว่า 22 คน ในจำนวนนั้นนอกจากฟิเดล คาสโตร แล้ว ยังมีเชที่ต้องนับว่ารอดมาได้อย่างปาฏิหาริย์เอามากๆ แม้จะสูญเสียกำลังพลไปไม่ใช่น้อยๆ ตั้งแต่เริ่มต้น แต่การไม่ยอมแพ้กับการสูญเสียครั้งนี้ จะนำไปสู่ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในภายภาคหน้า ฟิเดล ปรึกษากับพรรคพวกแล้วก็เริ่มต้นการปฏิวัติด้วยการนำกำลังเข้าปล้นคลังอาวุธ ที่ค่ายทหาร ลา พลาต้า โดยเชผู้เป็นหมอได้รับคำสั่งให้รออยู่ข้างหลัง แต่ถึงเวลาจริงเชได้สร้างวีรกรรมในการขว้าง "โมโลตอฟค็อกเทล" (ระเบิดเพลิงแบบขวด) เข้าใส่อาคารของข้าศึกทำให้ปฏิบัติการเป็นผลสำเร็จ จากนั้น กองกำลังปฏิวัติคิวบาก็ได้สะสมกำลังคนและอาวุธตลอดจนความสำเร็จในการโจมตีทหารฝ่ายรัฐบาลไปเรื่อยๆ โดยเชได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการอีกคนหนึ่ง มีฐานะเทียบเท่า ฟิเดล คาสโตร

ฉากขำๆ เมื่อเชซึ่งเป็นแพทย์แต่ไม่ใช่ทันตแพทย์ต้องถอนฟันคาสโตรขณะกำลังคุยกับคนส่งข่าวในฐานปฏิบัติการกลางป่า

ฟิเดล คาสโตร กำลังปราศรัยผ่านเครื่องส่งวิทยุคลื่นสั้น โดยมีเชคอยกำกับบท

ฟิเดล คาสโตร บรรยายแผนการรบก่อนเผด็จศึกกับรัฐบาล
แล้วผู้บัญชาการคนใหม่ก็ทำงานอย่างเข้มงวดเอาจริงเอาจัง ทั้งสายลับและผู้ไม่มีวินัยต่างถูกจับยิงเป้าอย่างไม่มีละเว้น เชยังได้ช่วย ฟิเดล คาสโตร ทั้งในเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อผ่านวิทยุกระจายเสียง ทั้งการวางแผนงานต่างๆ ในที่สุดเมื่อการปฏิวัติสุกงอมเต็มที่ คาสโตรสั่งเดินทัพประชาชนของเขาเพื่อต่อสู้กับเผด็จการบาติสตาขั้นแตกหัก เชได้รับมอบหมายให้กำลังโจมตีซานตาคลารา ซึ่งตลอดทางเขาได้รับการต้อนรับจากประชาชนอย่างล้นหลาม จนประสบความสำเร็จ สามารถยึดเมืองหลวงและบาติสต้าต้องออกนอกประเทศ ซึ่งตามประวัติศาสตร์ตรงกับวันที่ 1 มกราคม 1959/พ.ศ.2502

เช กับพรรคพวก ขณะเคลื่อนพลสู่ซานตาคลารา

ฉลองชัยในคืนวันปีใหม่พอดี

ชำระแค้นผู้ถูกกล่าวหาว่าฆ่าประชาชนจนถูกผู้นำศาสนาคัดค้าน

แต่ชัยชนะจากการปฏิวัติกลับทำให้เชแปลกแยกจากคาสโตรและเพื่อนร่วมอุดมการณ์อื่นๆ ขณะที่คาสโตรกำลังแถลงการณ์กับประชาชน เชกลับขลุกอยู่แต่ในห้องที่เป็นทั้งห้องทำงานและห้องนอน ง่วนอยู่กับการตัดสินโทษประหารพวกทหารฝ่ายรัฐบาลที่ถูกตั้งข้อหาฆ่าชาวบ้านระหว่างการปฏิวัติจนเกิดเป็นปากเสียงกับบาดหลวงและนายทหารปฏิวัติบางนาย ตกกลางคืนคาสโตรนำรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่มาปรึกษากับเช เชเสนอให้แต่งตั้งผู้ที่ไว้ใจได้ให้เป็นผู้บัญชาการกองทัพประชาชนเพื่อป้องกันการรัฐประหารแต่ปฏิเสธที่จะดำรงตำแหน่งซะเอง เขาจำใจรับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีและธนาคารชาติได้ไม่นาน ก็ปลีกตัวกลับไปอยู่ในห้องโทรมๆ ห้องเดิมแทนการอยู่ในห้องหรูๆ ของโรงแรมริเวียร่าที่คาสโตรจองให้ เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ที่อ่าวหมู (The Bay of Pigs Invasion 17-19 เมษายน 1961/พ.ศ.2504 เมื่อกองกำลังที่ประมาณว่าเป็น "อำนาจเก่า" โดยการหนุนหลังของ CIA ยกพลขึ้นบกเพื่อหวังยึดอำนาจคืนแต่ไม่สำเร็จ ในการรบครั้งนี้เชไม่ค่อยมีบทบาทมากนัก และในภาพยนตร์กล่าวเพียงแค่ในบทบรรยาย) เชเริ่มตระหนักว่าคิวบาจะต้องมีแสนยานุภาพพอที่จะคานกับสหรัฐอเมริกา จึงได้ไปวิ่งเต้นให้โซเวียตนำขีปนาวุธมาติดตั้งที่คิวบา ซึ่งทางพี่กันก็ทราบจนได้ และเกิดเป็นวิกฤตการณ์ทางการทูตครั้งสำคัญระหว่างพี่เบิ้มทั้งสอง ที่เรียกว่า The Cuban Missile Crisis (14-28 ตุลาคม 1962/พ.ศ.2505) ที่เกือบจะบานปลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ แต่แล้วด้วยความสามารถทางการทูตของประธานาธิบดีเคเนดี้ เรื่องกลับยุติลงด้วยดีเมื่อทั้งสองมหาอำนาจต่างเห็นพ้องต้องกันว่าสงครามนิวเคลียร์จะเป็นภัยต่อมนุษยชาติอย่างมหันต์ แล้วฝ่ายรัสเซียก็ยอมถอนขีปนาวุธออกจากคิวบาด้วยบรรยากาศชื่นมื่นระหว่างสองพี่เบิ้มและของชาวโลกโดยทั่วไป แต่คนที่ไม่อาจจะชื่นมื่นได้ก็คือเชนั่นเองครับที่โมโหอย่างมากจนเข้าไปป่วนในงานเลี้ยงระหว่างรัฐบาลคิวบากับโซเวียตจนคาสโตรต้องห้ามแทบแย่ ในที่สุดเชก็ออกเดินทางจากคิวบาไปด้วยความผิดหวัง

มีอะไรต้องฉลอง? เช กำลังป่วนงานเลี้ยงภายหลังการถอนขีปนาวุธรัสเซียออกจากคิวบา
อันที่จริงเชได้เริ่มงานปฏิวัตินอกประเทศครั้งแรกที่คองโกในราวปี 1965/พ.ศ.2508 แต่ในภาพยนตร์ไม่ได้กล่าวถึงเลย กลับกระโดดไปยังตอนเดินทางไปโบลิเวียนเลย ซึ่งเริ่มต้นในปี 1966/พ.ศ.2509 เชเลือกโบลิเวียเพราะเห็นว่าบริเวณโดยรอบมีประชากรหนาแน่น ภูมิประเทศเต็มไปด้วยเขาสูงเหมาะกับการรบแบบจรยุทธ แต่ปัญหาสำคัญคือความสัมพันธ์ระหว่างเขาและพรรคพวกจากคิวบากับบรรดานักปฏิวัติเจ้าถิ่นที่ปีนเกลียวกันตั้งแต่ต้น บรรดาพลพรรคชาวโบลิเวียนมองว่าเชกับพรรคพวกแทนที่จะมาช่วยกลับจะมาเป็นใหญ่ซะเอง งุบงิบกันอยู่แต่ในกลุ่มพวกตัวเอง ทำให้พวกเขาเป็นเหมือนคนแปลกหน้าหรือส่วนเกินในประเทศตัวเอง ข้อเท็จจริงตรงนี้คงเป็นประเด็นให้นักประวัติศาสตร์ศึกษากันต่อไปว่าที่จริงแล้ว ปัญหามาจากฝ่ายไหนกันแน่ ในภาพยนตร์ดูคล้ายเชจะเป็นฝ่ายเอาแต่ใจตัวเองตามความรู้สึกของพรรคคอมมิวนิสต์โบลิเวีย ผลคือเชกับพรรคพวกถูกเจ้าถิ่นบอยคอตไม่ให้ความร่วมมือใดๆ จะไปติดต่อขอความร่วมมือด้านอาหารการกินหรือกำลังคนจากที่ไหนก็ไม่ประสบความสำเร็จ อีกปัจจัยที่ไม่อาจมองข้ามคือสถานการณ์ของโบลิเวียในเวลานั้นเรียกว่าการปฏิวัติยังไม่สุกงอมเหมือนตอนเขาขึ้นบกที่คิวบา พออดอยากมากๆ เข้า เชกับพวกก็กลายเป็นเหมือนโจรปล้นชาวบ้าน ยิ่งกลายเป็นที่รังเกียจของบรรดาชาวบ้านมากขึ้น ในที่สุดก็ถูกทหารโบลิเวียหน่วยหนึ่งโจมตีและจับตัวเชได้ ทั้งนี้ปรากฏว่าอีตาหัวหน้าหน่วยทหานั้นก็เรียนรู้เรื่องการรบแบบจรยุทธมาจากหนังสือของเชเอง และชายชราคนหนึ่งเป็นคนแจ้งเบาะแส เพราะทนกับพฤติกรรมแบบโจรจำเป็นของเชกับพวกไม่ได้ เชถูกสอบสวนและถูกประหารในหมู่บ้านใกล้กับบริเวณที่ถูกจับได้ ตามประวัติศาสตร์คือวันที่ 9 ตุลาคม 1967/พ.ศ.2510 และศพถูกนำขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปดังตอนต้นเรื่อง
แล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ได้ตามจริงแค่ไหน? ดูเผินๆ ครั้งแรกๆ จากการเดินเรื่องที่เหมือนจะไม่มีการแต่งเติมอะไรมากแล้ว เกือบจะเผลอใจให้เป็นภาพยนตร์ที่เดินเรื่องตามประวัติศาสตร์จริง หรือ Non-Fiction เข้าให้เหมือนกัน แต่ดูไปดูมาแล้ว ยังต้องจัดไว้ในประเภทภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์จะดีกว่า เพราะยังขาดๆ อะไรอยู่ไม่น้อยเหมือนกันครับ

เจรจากับผู้นำพรรคในโบลิเวีย (ขวา) แต่ไม่เกิดผล ผู้หญิงตรงกลางคือทันย่า ผู้มีส่วนช่วยให้เชลักลอบเข้าโบลิเวีย

ขณะทำงานปฏิวัติในโบลิเวีย
ด้านภาพลักษณ์ของ เช และ ฟิเดล คาสโตร นั้น ยังไม่จัดว่าเป็นการบิดเบือนไปในทางใด คือ ไม่ใช่ทั้งตัวร้ายหรือฮีโร่แบบเว่อๆ ทั้งคู่คงจะเป็นคู่หูอมตะที่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ต้องขบคิดและถกกันอีกนานว่าในระหว่างสองคนนี้ ใครมีอิทธิพลต่อใคร ใครเป็นฝ่ายเสริมให้อีกฝ่ายประสบความสำเร็จกันแน่ ตอนต้นเรื่องดูคล้ายกับเชเป็นคนทำให้คาสโตรประสบความสำเร็จ แต่ไหงพอออกไปฉายเดี่ยวกลับพังไม่เป็นท่าได้ ในเรื่องระหว่างเชกับพรรคคอมมิวนิสต์โบลิเวียก็ดังเช่นที่กล่าวในตอนเล่าเรื่อง ว่าที่สุดแล้วใครคือต้นตอของปัญหากันแน่ หรือว่าการปฏิวัติมันไม่สุกงอมพอจะทำให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน และการไม่กล่าวถึงบทบาทของเชในคองโก ก็เลยทำให้ไม่ทราบว่าเขาอาจจะผิดหวังกับอะไรหลายอย่างที่นั่นมาก่อน จนอาจจะมีผลต่ออีคิวหรือวุฒิภาวะทางอารมณ์ในการมาทำงานปฏิวัติในโบลิเวียได้เหมือนกัน แต่อาจเป็นเจตนาของผู้สร้างที่ต้องการนำเฉพาะสิ่งที่เป็นความสำเร็จและความล้มเหลวของเชมาเปรียบเทียบกันอย่างชัดๆ
การที่ภาพยนตร์ไม่กล่าวถึงวิกฤตการณ์ที่อ่าวหมูก็เป็นอีกประเด็นว่า เพราะตอนนั้นเชไม่ค่อยได้มีบทบาทอะไร หรือผู้สร้างไม่อยากให้ผู้ชมโดยเฉพาะชาวอเมริกันต้องอดสูกับความล้มเหลวของ CIA กันแน่ และชีวิตครอบครัวของเชในคิวบาก็ถูกละเลยไปด้วยเช่นกัน
ด้วยบุญกรรมของผมหรือของประเทศชาติประการใดก็ไม่ทราบที่บังเอิญต้องมาเขียนบทความแนะนำภาพยนตร์เรื่องนี้ในช่วงที่กำลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองจากการแตกสามัคคีของคนไทย ที่บางคนเรียกว่าเป็นการปฏิวัติหรือสงครามประชาชนเช่นกัน ต่างกันแต่ว่าเป็นการใช้ม็อบแทนกองกำลังติดอาวุธ (ไม่นับ "กองกำลังไม่ทราบฝ่าย" ที่ยังเป็นปริศนาในตอนนี้) ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายไหนคงกำลังคิดคล้ายๆ กับตาลุงคนที่พาทหารไปปราบเชว่า พวกเอ็งมาต่อต้านระบอบอะไรของเอ็งวะ ไม่เห็นมีใครถามความต้องการของข้าซักคำ มาถึงก็ประท้วงตรงนู้นตรงนี้กันจนข้าไม่เป็นอันทำมาค้าขายแล้ว ฯลฯ ก่อนจะก่อการอะไรกันครั้งนี้น่าจะได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้กันก่อนสักรอบสองรอบนะ

เผชิญหน้ากับชายชราที่แจ้งเบาะแส (กลาง) และนายทหารโบลิเวียที่จับกุมเขาได้
น่าคิดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มฉายปี 1969/พ.ศ.2512 เพียง 2 ปี หลังจากเชตาย ประมาณว่าพอเขาตายก็เริ่มสร้างเลยหรือเปล่า? ด้านหนึ่งเรียกได้ว่าเป็นมุมมองของคนร่วมสมัยที่น่าจะรู้เรื่องราวของเชเป็นอย่างดี แต่ในอีกด้านหนึ่ง ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์บางประการที่จะปรากฏสู่สาธารณะก็ต้องอาศัยเวลาบ้างเหมือนกัน
เรื่องราวของเชถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง ที่เว็บไซต์ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์แห่งนี้เสนอไปแล้ว ได้แก่เวอร์ชันสารคดี และ "The Motorcycle Diaries บันทึกลูกผู้ชาย ชื่อ...เช " ส่วนเวอร์ชันที่ใหม่หน่อยแต่ขณะที่เขียนนี้ยังหาแผ่นไม่ได้ ได้แก่ เวอร์ชันที่ฉายในปี 2005/พ.ศ.2548 กำกับโดย Josh Evans และเวอร์ชันปี 2008/พ.ศ.2551 ที่ผ่านมานี้เอง กำกับโดย Steven Soderbergh ซึ่งมีถึง 2 ภาคด้วยกัน ซึ่งผมจะได้เสาะหามานำเสนอกันในโอกาสต่อไปครับ

ศพเชที่ผูกติดไว้ข้าง ฮ. เพื่อส่ง่ไปชันสูตรและแถลงข่าว
คำคมชวนคิด
- "สงครามจรยุทธ คือ สงครามของประชาชน ต่อสู้ร่วมกัน หากทำการรบแบบนี้โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน เราจะพบกับความพินาศอย่างเลี่ยงไม่ได้ เราต้องให้ชาวบ้านเชื่อถือเราว่านี่เป็นสงครามของเขา สงครามเพื่อที่ดินรวมทั้งเสรีภาพ ชาวบ้านนั้นเหมือนกับดอกไม้ที่อยู่กลางป่าและพวกปฏิวัติก็เหมือนกับผึ้ง ไม่มีฝ่ายไหนที่อยู่ได้โดยที่ไม่มีอีกฝ่ายหนึ่ง" เช กล่าวกับพลพรรคในคิวบาหลังได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการคนที่สอง เทียบเท่าฟิเดลคาสโตร
- "คุณติดต่อชาวบ้านของเราไม่นานแต่ไม่ได้ให้อะไรเลย มีแต่ความผิดพลาดกับความทารุณ คุณไม่อาจรักษาความเจ็บป่วยของคนทั้งโลกด้วยเลือดและความรุนแรง" หัวหน้าทหารโบลิเวียที่จับเชได้กล่าวกับเช
- "คุณฆ่าความฝันของคนไม่ได้" เชกล่าวกับหัวหน้าทหารโบลิเวียที่จับเขาได้
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : Che!
ชื่อภาษาไทย : เช!
ผู้กำกำกับ : Richard Fleischer
ผู้สร้าง : Sy Bartlett
ผู้เขียนบท : Michael Wilson and Sy Bartlett
ผู้แสดง :
- Omar Sharif ... Che Guevara
- Jack Palance ... Fidel Castro
- Cesare Danova ... Ramon Valdez
- Robert Loggia ... Faustino Morales
- Woody Strode ... Guillermo
- Barbara Luna ... Anita Marquez
- Frank Silvera ... Goatherd
- Albert Paulsen ... Capt. Vasquez
- Linda Marsh ... Tania
- Tom Troupe ... Felipe Muñoz
- Rudy Diaz ... Willy
- Perry Lopez ... Rolando
- Abraham Sofaer ... Pablo Rojas
- Richard Angarola ... Col. Salazar
- Sarita Vara ... Celia Sanchez
- Paul Bertoya ... Raul Castro
- Sid Haig ... Antonio
- Adolph Caesar ... Juan Almeida
- Paul Picerni ... Hector
- Ray Martel ... Camilo Cienfuegos (as Ray Martell)
ควรอ่านเพิ่มเติม
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ
หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์