
webmaster@iseehistory.com
สมัยนี้ใครๆ ก็สามารถที่จะถ่ายภาพกับโทรศัพท์มือถือหรือกล้องถ่ายรูปดิจิตอลในสนนราคาตามแต่จะหาซื้อกันมา ถ่ายแล้วจะภาพจะสวยแค่ไหนก็อีกเรื่อง ถ่ายเสร็จแล้วเอาไปขึ้นเว็บใน hi5, Facebook หรืออะไรก็ตามแต่ในอินเทอร์เน็ต พร้อมที่จะให้คนทั่วโลกเข้ามาชมได้ ส่วนเขาจะมาพบหรือไม่ด้วยวิธีการใดก็อีกเรื่องเช่นกัน ยิ่งคนอายุน้อยเท่าไหร่ก็ยิ่งยากที่จะจินตนาการได้ว่า การถ่ายรูปแต่ก่อนทำไมมันต้องมีการล้างฟิล์มในห้องมืดแล้วมาอัดขยาย มีทั้งฟิล์มสีฟิล์มขาวดำฟิล์มสไลด์ ฯลฯ นอกจากเรื่องของเทคโนโลยีแล้ว ในยุคที่คล้ายกับว่าจะมี "กล้อง" อยู่รอบตัวเราไปหมดนี้ เห็นในเว็บสังคมออนไลน์ของหลายๆ ท่าน บางทีไม่รู้จะถ่ายอะไรก็ถ่ายแต่หน้าตัวเองเต็มๆ มุมนั้นมุมนี้ ถ้าหล่อจริงสวยจริงก็ยังพอทน ไม่งั้นแล้ว ... อย่าให้พูดต่อเลย มีสักกี่คนที่จะเลือกถ่ายภาพเพื่อสื่อความหมายต่อคนในวงกว้างอย่างมีคุณค่า ดังเช่นเมื่อย้อนไปในสงครามเวียดนาม ช่างภาพตะวันตกได้ถ่ายรูปเพื่อการ "ทำข่าว" ให้พวกพ้องในแนวหลังได้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นในสมรภูมินั้น ซึ่งอาจจะมีเรื่องของผลประโยชน์และชื่อเสียงพ่วงมาด้วย ขณะที่ช่างภาพอีกฝ่ายคือเวียดนามเหนือนั้น เขาคิดกันถึงขนาดว่าภาพที่พวกเขาถ่ายไว้นั้น อาจมีผลต่อการแพ้ชนะของสงครามเช่นเดียวกับการสู้รบด้วยอาวุธเลยทีเดียว สารคดีของ National Geographic เรื่อง Vietnam's Unseen War: Pictures from the Other Side (2001) ที่ผมกำลังจะกล่าวถึงนี้ จะพาท่านไปรู้จักกับช่างภาพในยามสงครามกับผลงานของพวกเขา ซึ่งเป็นสงครามเวียดนามในแง่มุมที่โลกตะวันตกไม่เคยพบเห็นมาก่อน และแฝงไว้ด้วยหลายๆ รสชาดของสงครามที่เกินกว่าจะบรรยายด้วยคำพูด จนอาจกล่าวว่าเป็น "ข้างหลังภาพ" ในเวอร์ชันสงครามเวียดนามก็ว่าได้
สำหรับบทความแนะนำนี้ผมคงไม่ต้องเสียเวลากับการเล่าเรื่องย่อ (ที่บางทีก็ไม่ค่อยย่อ) หรืออธิบายภูมิหลังประวัติศาสตร์กันให้มากนะครับ สารคดีนี้เดินเรื่องโดยให้ Tim Page ช่างภาพชาวอังกฤษที่เคยปฏิบัติหน้าที่ในสงครามเวียดนามเมื่อ 35 ปีก่อน เดินทางไปแสวงหาบรรดาช่างภาพของ "ฝ่ายตรงข้าม" ในยุคนั้น โดยได้พบปะพูดคุยกับช่างภาพเวียดนามรวม 4 คนด้วยกัน ซึ่งที่จริงต้องมีมากกว่านี้แน่นอนทั้งที่ยังอยู่และเสียชีวิตไปแล้ว แต่เพียงเท่านี้ก็ได้เห็นภาพถ่ายและเรื่องราวเบื้องหลังภาพกันแบบคุณภาพคับแผ่น DVD แล้วละครับ เชิญพบกับ ทิม เพจ และช่างภาพเวียดนามทั้ง 4 ได้เลยครับ
ทิม เพจ มา เดินทางมาเวียดนามเมื่อปี 1965 (พ.ศ.2508) ขณะนั้นอายุ 20 ปี เป็นฮิปปี้ที่แสวงหาการผจญภัย เคยเดินทางไปหลายประเทศมาก่อน ในสงครามเวียดนาม (ที่คนเวียดนามเรียกว่า "สงครามอเมริกัน" และเรียกสงครามระหว่างพวกเขากับกองทัพฝรั่งเศสก่อนหน้านั้นว่า "สงครามฝรั่งเศส") เขาได้ถ่ายภาพให้กับนิตยสารต่างๆ ที่มีชื่อเสียง เช่น Times จนกระทั่งในเดือนเมษายน 1969 ขณะที่ทิมกำลังติดตามทหารอเมริกันไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ เขาก็ต้องบาดเจ็บสาหัสซะเองจากกับระเบิดลูกหนึ่ง (ในเรื่องไม่ได้ระบุชัดว่าเขาเหยียบกับระเบิดลูกนั้นเองหรือเปล่า ถ้าใช่เขาน่าจะขาขาดแต่กลับไปบาดเจ็บที่ศีรษะ ถ้าคนอื่นเหยียบก็ไม่เห็นกล่าวถึงเลย) ทิมจึงถูกส่งกลับและไม่ได้ไปเวียดนามอีกเลยจนกระทั่ง 35 ปีถัดมาเพื่อร่วมการถ่ายทำสารคดีชุดนี้แหละครับ เชิญอ่านเรื่องราวของเขาเพิ่มเติมได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Tim_Page_%28photographer%29

ทิม เพจ (Tim Page) ช่างภาพฝรั่งที่มาถ่ายภาพในสงครามเวียดนามตามวิถีทางของคนตะวันตก
และกลับมาเวียดนามในอีก 35 ปีถัดมาเพื่อพบปะกับช่างภาพของ "อีกฝ่ายหนึ่ง"

ผลงานของ ทิม เพจ ภาพแรกเป็นทหารเวียดกงที่ถูกทหารเวียดนามใต้ซ้อม ภาพอื่นคงไม่ต้องบรรยายย
แวน บาว เป็นช่างภาพที่กรุงฮานอย ภาพที่เขาถ่ายจึงมักเกี่ยวกับผลจากการโจมตีทางอากาศของสหรัฐอเมริกาในเวียดนามเหนือ ภาพถ่ายสำคัญของเขาได้แก่ภาพของ นท.โรเบิร์ต ชูเมกเกอร์ นักบินอเมริกันคนที่ 2 ที่ถูกเวียดนามเหนือจับเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 1965 ที่ ควางเบียนห์ ซึ่งหลังจากถ่ายภาพแล้ว แวน บาว ไม่ได้พบเห็น นท.ชูเมกเกอร์อีกเลย ในภายหลังนักบินผู้นี้ได้กลับบ้านในปี 1973 (พ.ศ.2516) อีกภาพที่สร้างความสะเทือนใจแก่เขาอย่างมากคือภาพผู้เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศในท่ามกลางซากปรักหักพังที่เมืองๆ หนึ่ง

แวน บาว ช่างภาพสงครามในกรุงฮานอย

แถวกลางภาพขวาคือการจับกุม นาวาโทโรเบิร์ต ชูเมกเกอร์ นักบินอเมริกันคนที่ 2 ที่ตกเป็นเชลย
ภาพล่างขวา เป็นภาพที่ทำให้ แวน บาว ต้องเสียน้ำตาเมื่อนำมาให้ ทิม เพจ ชม
ไม นาม ช่างภาพพลเรือนเวียดนามเหนือ ที่ได้ข้ามแม่น้ำ เบน ไฮ ที่แบ่งเวียดนามเหนือใต้ ไปยัง วินห์ มอค ซึ่งอยู่ชายฝั่งทะเลและเป็นเป้าหมายจากการโจมตีทางเรือของข้าศึก ทำให้บรรดาอาสาสมัครและชาวบ้านนับพันคนต้องขุดอุโมงค์ลงไปอยู่ใต้ดินกัน ไม นาม ได้อยู่ร่วมกับคนเหล่านี้ราวกับเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ครั้งหนึ่งเขาได้ถ่ายภาพคณะนักร้องหญิงที่ร้องเพลงปลอบขวัญผู้คนในอุโมงค์แห่งนั้นในยามค่ำคืนโดยต้องนำดินปืนจากกระสุนปืนมาเผาให้เกิดแสงสว่างแทนการใช้ไฟแฟลช ในสารคดีนี้เขายังได้กลับไปพบกับบรรดาชาวบ้านที่เคยอยู่ในอุโมงค์ร่วมกับเขาที่อาคารไม้แห่งหนึ่งซึ่งจัดแสดงภาพถ่ายของเขาเอง

ไม นาม ช่างภาพที่ข้ามจากเวียดนามเหนือสู่ชายแดนเวียดนามใต้

แถวกลางภาพขวาคือภาพที่ต้องถ่ายในอุโมงค์โดยใช้ไฟจากการเผาดินปืนจากกระสุนปืนแทนแฟลช
ล่างซ้าย ไม นาม กลับไปพบชาวบ้านที่เคยอยู่ในอุโมงค์ วินห์ มอค ด้วยกัน
ล่างขวา ชาวบ้านกำลังชมนิทรรศการภาพถ่าย
ลี มินห์ ทรอง (หน้าตาคล้ายๆ หงจินเป่า นะครับ แต่นี่คงไม่ใช่ประเด็น) เป็นช่างภาพที่อยู่ค่อนข้างจะใกล้ชิดสนามรบสักนิด ภาพหนึ่งที่มีเบื้องหลังที่ค่อนข้างสะเทือนใจคือภาพสตรีผู้หนึ่งกำลังเขียนจดหมายไปถึงครอบครัว เธอคือหัวหน้ากลุ่มเยาวชนหญิง 5 คน ที่ทำหน้าที่ปลดชนวนระเบิดของลูกระเบิดที่ทิ้งลงมาจากเครื่องบินที่ โฮจิมินห์ เทรล ซึ่งต้องเสียชีวิตในภายหลังถ่ายภาพดังกล่าวขณะปฏิบัติหน้าที่แบบหมองูตายเพราะงูนั่นแหละครับ เขาจึงต้องรับหน้าที่ส่งจดหมายนั้นตามความตั้งใจของเธอ

ลี มินห์ ทรอง ช่างภาพที่ใกล้ชิดสงครามมากผู้หนึ่ง

ผลงานของ ลี มินห์ ทรอง ภาพล่างขวาคือหัวหน้าเยาวชนหญิงที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ปลดชนวนระเบิด
ดอน กอง ทินห์ อดีตช่างภาพกองทัพเวียดนามเหนือ เป็นคนที่จัดว่าใกล้ชิดสงครามที่สุดในจำนวน 5 คน (รวม ทิม เพจ) ก็ว่าได้ วีรกรรมสำคัญของเขาเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ปี 1972 (พ.ศ.2515) ขณะเกิดการบหนักที่เมือง ควาง ทรี เขาถูกห้ามเข้าไปในบริเวณการสู้รบเนื่องจากอันตรายเกินไป แต่เขาได้ขัดคำสั่งโดยขอให้หน่วยกองโจรท้องถิ่นพาเขาออกจากหน่วยที่สังกัดเข้าไปในเมืองจนถึงป้อมปราการโบราณที่เป็นศูนย์กลางการสู้รบ ในฐานะที่เขาเป็นทหารก็เป็นการเสี่ยงต่อการขึ้นศาลทหารเนื่องจากเป็นการขัดคำสั่ง แต่เขาก็ต้องทำในฐานะช่างภาพที่ต้องได้ภาพที่ดีที่สุด ซึ่งในสารคดีก็ไม่ได้กล่าวว่าเขาถูกลงโทษประการใดหรือไม่ นอกจากว่าเขาเป็นช่างภาพคนเดียวที่ใกล้ชิดการรบที่สุด และคนหนุ่มหลายคนในภาพถ่ายของเขาได้เสียชีวิตจากการสู้รบในเวลาต่อมา

ดอน กอง ทินห์ ผู้จำต้องละเมิดวินัยทหารเพื่อให้ได้ "ภาพที่ดี"

ภาพชีวิตทหารในเมืองควาง ทรี ที่หลายยคนในภาพต้องเสียชีวิตไปในการรบครั้งนั้น
บรรดาช่างภาพเวียดนามเหนือนอกจากจะมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ด้อยกว่าช่างภาพตะวันตกอย่าง ทิม เพจ แล้ว กระทั่งการล้างฟิล์มก็ต้องอาศัยความมืดของป่าในยามราตรีที่คนอื่นหลับกันหมดแทนห้องมืด และในการนำฟิล์มภาพถ่ายกลับไปยังแนวหลังก็เป็นภารกิจที่เสี่่ยงชีวิตไม่น้อยไปกว่าการถ่ายภาพ แต่ดูเหมือนไม่มีอะไรหยุดพวกเขาได้

ภาพจำลอง "ห้องมืด" ของช่างภาพเวียดนามเหนือ ซึ่งก็คือป่าริมลำธารในยามที่คนอื่นหลับกันหมด
การเดินเรื่องของภาพยนตร์สารคดีนี้ ทำให้เกิดบรรยากาศของช่างภาพที่มาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันให้เราฟังอย่างเป็นกันเอง โดยก้าวข้ามเรื่องความผิดถูกดีเลวของการแบ่งฝ่ายในสงครามไปโดยสิ้นเชิง แม้ว่าภาพที่นำมาโชว์ในภาพยนตร์จะเป็นภาพขาวดำเป็นส่วนใหญ่ แต่มีความงดงามชนิดที่ไม่อยากรู้อยากเห็นสีจริงๆ ของภาพเลย แล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่าในยุคกล้องดิจิตอลอย่างทุกวันนี้จะถ่ายภาพขาวดำให้สวยขนาดนี้ได้อย่างไร
จะว่าไปแล้ว บรรดาช่างภาพสงคราม ไม่ว่าทหารหรือพลเรือน ไม่ว่าช่างภาพนิ่งหรือช่างภาพยนตร์ ไม่ว่าในสงครามเวียดนามดังที่กล่าวหรือในสงครามไหนๆ ไม่ว่าฝ่ายเดียวกับเราหรือฝ่ายตรงข้าม ล้วนเป็นผู้ที่ต้องเสี่ยงตายไม่น้อยไปกว่าทหารที่จับอาวุธต่อสู้ และเป็นผู้ที่เราเป็นหนี้บุญคุณในการที่พวกเขาได้ถ่ายทอดภาพของสงครามมาสู่พวกเราให้ได้เห็นสงครามทั้ง "ความตาย" และ "ชีวิต" อันเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าร่วมกับหลักฐานประวัติศาสตร์ประเภทอื่นๆ ครับ
คำคมชวนคิด
- "สำหรับพวกเขา (บรรดาช่างภาพสงครามของฝ่ายเวียดนามเหนือ) ภาพถ่ายคืออาวุธที่จะช่วยให้ชนะสงคราม" บทบรรยายตอนต้น
- "ทิมเชื่อว่ามีความผูกพันลึกซึ้งระหว่างพวกช่างภาพ เหนือกว่าเชื้อชาติ เหนือกว่าการเมือง เหนือกว่าพรมแดน ความเชื่อใจที่เกิดจากความทุกข์ของสงคราม" บทบรรยาย
- "มันดูน่ากลัวมากจนผมไม่อยากถ่ายภาพ แต่ผมต้องเก็บภาพว่าสงครามทิ้งอะไรไว้ เราต้องหาทางไม่ว่าจะเป็นผู้สื่อข่าวหรือพลเรือน เป็นชาวเวียดนามหรือเป็นชาติอื่นใดในโลก เพื่อป้องกันสงคราม ไม่ให้เกิดภาพเช่นนี้ขึ้นอีก" แวน บาว
- "ผมอยากให้ภาพของผมแสดงว่าประชาชนเวียดนามเด็ดเดี่ยวแค่ไหน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว วิธีที่เขาต่อสู้อย่างกล้าหาญ พร้อมจะตายเพียงเพื่อให้ประเทศกลับมารวมกัน" ไม นาม
- "วีรบุรุษเป็นแค่คนธรรมดา คนหนุ่มสาวเหล่านี้ มิใช่คนพิเศษ แค่คนหนุ่มสาว" ไม นาม
- "ภาพที่ผมนำมามีค่ามาก ผมรู้ดีถึงคุณค่าของมัน มิใช่แค่ปัจจุบัน แต่อนาคตด้วย ... นำภาพกลับยากกว่าการถ่ายภาพ" ดอน กอง ทินห์
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : Vietnam's Unseen War: Pictures from the Other Side (2001)
ชื่อภาษาไทย : สงครามเวียดนาม
ผู้สร้าง : National Geographic
ผู้เขียนบท : Brian Breger
ควรอ่านเพิ่มเติม
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ
หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์