
webmaster@iseehistory.com
เมื่อตอนที่ผมให้สัมภาษณ์วารสารสกุลไทยถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เปิดเว็บไซต์ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์แห่งนี้ขึ้นมา ได้กล่าวถึงภาพยนตร์โทรทัศน์ชุด Combat เป็นหลักแม้จะได้กล่าวไว้ด้วยว่าเป็นหนึ่งในหลายๆ สาเหตุ ณ ขณะนั้นผมมีเพียงภาพยนตร์ชุดดังกล่าวที่จัดทำในรูปแบบ VCD มาให้เขาถ่ายภาพประกอบ ภาพยนตร์ทางโทรทัศน์อีกชุดที่มีความสำคัญต่อผมจนเป็นเหตุให้เปิดเว็บไซต์นี้ หากใครมีอายุพอจะรู้ความในช่วงราวๆ ปีพ.ศ. 2518 – พ.ศ.2520 แล้ว คงจะจำเรื่อง The World at War กันได้ เป็นภาพยนตร์สารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างค่อนข้างจะครบถ้วนนับตั้งแต่ฮิตเลอร์และพรรคนาซีมีอำนาจในเยอรมันไปจนกระทั่งยุติสงครามด้วยการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ญี่ปุ่น
ต้องขออภัยนิดหนึ่งว่าจำปีที่นำมาฉายในเมืองไทยที่แน่นอนไม่ได้ จำได้แต่เพียงว่ากำลังเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ข้อมูลวิกิพีเดียภาษาอังกฤษระบุว่า The World at War ออกอากาศครั้งแรก 31 October 1973 – 8 May 1974 หรือในช่วง พ.ศ. 2516-2517) เวลาผ่านไปหลายปีเมื่อมาเปิดเว็บไซต์ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์แห่งนี้ในช่วงอายุ 40 กว่าๆ ใกล้เลข 5 เข้าไปทุกที ก็มีความปรารถนาที่จะหาภาพยนตร์ชุดนี้มาเพื่อดูทบทวนให้ความรู้เดิมๆ มันแน่นขึ้นอีกนิด แล้วจะได้แนะนำให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ดูได้ศึกษาเพื่อเสริมความรู้ความเข้าใจในประวัติศาสตร์โลกช่วงนี้ ดีกว่าปล่อยให้เข้าใจกันเองผิดๆ ถูกๆ จนไปหลงบูชาอาชญากรสงครามที่ฆ่าคนเป็นล้านๆ ดังที่ก่อนผมจะเริ่มเขียนบทความนี้ไม่กี่วัน มีคนมาตั้งกระทู้ถามว่าฮิตเลอร์ที่เขาเชื่อว่ายังไม่ตายนั้นไปอยู่ที่ไหน ทั้งที่วันเกิดตะแกกลายเป็นอดีตมาตั้งร้อยยี่สิบกว่าปีแล้ว

Jeremy Isaacs ผู้สร้าง The World At War
ท่านเล่าว่าขณะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 อายุเพียง 7 ขวบเท่านั้น
ข่าว(เกือบ)ดีที่ผมทราบทางเว็บบอร์ดก่อนหน้านี้คือในเมืองไทยได้มีการจัดทำภาพยนตร์สารคดีอันทรงคุณค่าชุดนี้ในภาคภาษาไทยในรูปแบบ VCD แล้ว แต่คงจะด้วยปัญหาการตลาดของผู้ได้ลิขสิทธิ์ ทำให้ไม่เป็นที่แพร่หลายทั่วไป แม้แต่ตัวผมเองก็ยังหาซื้อ The World at War ฉบับภาษาไทยไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องอาศัยอินเทอร์เน็ตเป็นที่พึ่งโดยการสั่งซื้อชุด DVD ภาษาอังกฤษจาก Amazon.com มาฝึกประสาทหูฟังภาษาอังกฤษกันไปก่อน
สารคดีชุดนี้มีความยาวถึง 26 ตอนๆ ละประมาณเกือบชั่วโมง การจะนำเรื่องราวในสารคดีทั้งซีรีส์มาเล่าทั้งหมดคงเป็นงานช้างพอๆ กับการเขียนตำราประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งเล่ม ในที่นี้คงทำได้แค่สรุปว่าแต่ละตอนมีเนื้อหาอะไรบ้าง ดังนี้ครับ
- "A New Germany (1933–1939)" การขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์และพรรคนาซีในเยอรมัน
- "Distant War (September 1939 – May 1940)" เยอรมันบุกโปแลนด์ การจมเรือกราฟสเป เยอรมันรุกรานนอร์เวย์ เชอร์ชิลได้เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษ
- "France Falls (May – June 1940)" สงครามระหว่างเยอรมันกับฝรั่งเศสรวมทั้งการบุกเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบอร์ก

ฮิตเลอร์กลับจากฝรั่งเศสมายังเบอร์ลินอย่างผู้มีชัย
- "Alone (May 1940 – May 1941)" เยอรมันโจมตีอังกฤษทางอากาศที่เรียกว่า Battle of Britain อังกฤษถอยจากกรีซ เกาะครีต และโทบรุ๊ค
- "Barbarossa (June – December 1941)" เยอรมันโจมตีสหภาพโซเวียตรัสเซีย ในปฏิบัติการบาร์บารอสสา
- "Banzai!: Japan (1931–1942)" ภูมิหลังของญี่ปุ่นก่อนเข้าสู่สงคราม สงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่น การโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาเบอร์และความสำเร็จในระยะะแรกของญี่ปุ่น เช่น ชัยชนะในมาลายาและที่สิงคโปร์

พระจักรพรรดิญี่ปุ่นเสด็จตรวจพลสวนสนาม
- "On Our Way: U.S.A. (1939–1942)" ภูมิหลังของสหรัฐอเมริกาก่อนเข้าสู่สงคราม ปัญหาขบวนเรืออเมริกันถูกเรือดำน้ำเยอรมันโจมตี การเข้าสู่สงครามจากการถูกโจมตีที่เพิร์ลฮาเบอร์ การรบระหว่างอเมริกันกันญี่ปุ่นในสมรภูมิแปซิฟิก
- "The Desert: North Africa (1940–1943)" การรบในสมรภูมิทะเลทรายอาฟริกาเหนือที่สร้างชื่อให้กับจอมพลรอมเมลและกองทัพน้อยอาฟริกา
- "Stalingrad (June 1942 – February 1943)" สถานการณ์การรบระหว่างเยอรมันกับรัสเซียโดยฝ่ายแรกเริ่มเพลี่ยงพล้ำในการบที่สตาลินกราด
- "Wolf Pack: U-Boats in the Atlantic (1939–1943)" การสงครามทางเรือในมหาสมุทรแอตแลนติคที่กองเรือดำน้ำเยอรมันคอยจมขบวนเรือจากอเมริกาไปอังกฤษ ขณะที่สัมพันธมิตรต้องคอยแก้เกมด้วยวิธีการต่างๆ
- "Red Star: The Soviet Union (1941–1943)" การรบระหว่างเยอรมันรับรัสเซียที่ฝ่ายหลังเริ่มได้เปรียบมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น การรบที่เลนินกราด และการรบที่เคิร์ส (the Battle of Kursk)
- "Whirlwind: Bombing Germany (September 1939 – April 1944)" ยุทธการทางอากาศเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดเยอรมัน
- "Tough Old Gut: Italy (November 1942 – June 1944)" สัมพันธมิตรได้รับชัยชนะในอาฟริกาเหนือ จากนั้นก็รุกเข้าสู่เกาะซิซิลีของอิตาลีแล้วเข้าสู่แผ่นดินใหญ่โดยลำดับ
- "It's A Lovely Day Tomorrow: Burma (1942–1944)" สงครามระหว่างสัมพันธมิตรกับญี่ปุ่นในพม่าและอินเดีย
- "Home Fires: Britain (1940–1944)" การเมืองและวิถีชีวิตของชาวอังกฤษหลัง Battle of Britain รวมทั้งการถูกเยอรมันโจมตีด้วยจรวดวี 1
- "Inside the Reich: Germany (1940–1944)" สถานการณ์ทางการเมืองในเยอรมันระหว่างปี 1940-1944 อันเป็นการก้าวเข้าสู่สงครามเบ็ดเสร็จ (Total War) รวมทั้งแผนสังหารฮิตเลอร์เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 1944 และการจัดตั้งกองทหารประชาชนที่เรียกกว่า Volkssturm
- "Morning: (June – August 1944)" การยกพลขึ้นบกของสัมพันธมิตรที่นอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ตามแผนปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ดหรือที่เราเรียกกันติดปากว่า "ดีเดย์" และสถานการณ์การรบหลังจากนั้น
- "Occupation: Holland (1940–1944)" สถานการณ์ในประเทศเนเธอร์แลนด์ภายใต้การปกครองของกองทัพนาซี
- "Pincers: (August 1944 – March 1945)" การรบระหว่างสัมพันธมิตรกับเยอรมัน ตั้งแต่ปฏิบัติการมาร์เก็ตการ์เด้น ยุทธการ Battle of the Bulge และสัมพันธมิตรตะวันตกรุกข้ามแม่น้ำไรน์ รวมถึงการลุกฮือขึ้นต่อต้านนาซีของชาวโปแลนด์ ( the Warsaw Uprising)
- "Genocide (1941–1945)" เป็นการเล่าเรื่องที่นาซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว นับตั้งแต่การก่อตั้งหน่วยเอสเอส พัฒนาการของทฤษฎีเชื้อชาติของนาซี และพัฒนาการของวิธีการกำจัดยิวที่ลงท้ายด้วยการสร้างห้องอบแก๊สพิษ
- "Nemesis: Germany (February – May 1945)" สถานการณ์การรบระหว่างสัมพันธมิตรกับเยอรมันในตอนปลายสงครามจนกระทั่งกรุงเบอร์ลินแตก

กองกำลังสุดท้ายของนาซีก่อนเบอร์ลินแตก
- "Japan (1941–1945)" สังคมและวัฒนธรรมญี่ปุ่นในระหว่างสงคราม รวมถึงสถานการณ์สงคราม เช่น การทิ้งระเบิดกรุงโตเกียว (the Doolittle raid) ยุทธนาวีที่เกาะมิดเวย์ การสูญเสียนายพลเรือเอกยามาโมโต การบที่เกาะไซปัน โอกินาวา ฯลฯ
- "Pacific (February 1942 – July 1945)" สถานการณ์การรบตามเกาะเล็กเกาะน้อยในมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงเกาะอิโวจิมา และโอกินาวา (อีกแล้ว)

เครื่องบินขับไล่ของสหรัฐอเมริกาขณะกำลังร่อนกลับลงมาที่เรือบรรทุกเครื่องบิน
- "The Bomb (February – September 1945)" การทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ และการยอมจำนนของญี่ปุ่น
- "Reckoning (April 1945)" สถานการณ์ในยุโรปภายหลังสงครามในบรรยากาศของการเก็บกวาดต่างๆ ได้แก่ การยึดครองเยอรมันของฝ่ายสัมพันธมิตร การพิจารณาคดีอาชญากรสงครามที่นูเร็มบวร์ก ฯลฯ
- "Remember" เล่าเรื่องการรำลึกสงครามโลกครั้งที่สองของประเทศต่างๆ หลังจากเหตุการณ์ผ่านพ้นไป
ทั้ง 26 ตอนที่ว่านี้เป็น “เนื้อหาหลัก” ที่เคยออกอากาศทางโทรทัศน์เท่านั้นนะครับ ในชุดดีวีดีที่สั่งจาก Amazon.com นั้น มีถึง 11 แผ่น โดย 26 ตอนนี้กับ The Making of the Series รวมอยู่ใน 7 แผ่นแรก อีก 4 แผ่นที่เหลือยังมี Bonus Documentaries อีก 10 เรื่องด้วยกัน ในขณะที่ผมลงมือเขียนบทความนี้ยังไม่มีเวลาได้ดู ถ้าได้ดูแล้วอาจจะนำข้อมูลมาอัพเดทกันเพิ่มเติม หรืออาจจะเขียนเป็นบทความต่างหากครับ
จุดเด่น ความประทับใจ
นับแต่ครั้งแรกที่ได้ชมในจอโทรทัศน์จนได้กลับมาชมอีกในรูปแบบ DVD ในเวลาทีห่างกันนับสิบปี สิ่งที่นับเป็นความประทับใจไม่ว่าครั้งนี้หรือครั้งนี้ ได้แก่
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์จากสนามรบจริง
ในสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากจะเป็นยุคที่อาวุธและยุทธวิธีต่างๆ เริ่มลงตัวด้วยการใช้ทหารราบรบร่วมกับรถถัง ปืนใหญ่ และเครื่องบินแล้ว อีกอาวุธสำคัญคืออาวุธทางความคิดอันได้แก่การโฆษณาชวนเชื่อด้วยสื่อ กล้องถ่ายภาพยนตร์เวลานั้นพัฒนาจนถึงขั้นบันทึกภาพเคลื่อนไหวได้สมจริง ไม่ใช่ฉายแล้วช้าบ้างเร็วบ้างอย่างในหนังตลกของชาลี แชปลิน ยุคแรกๆ และเริ่มจะมีภาพยนตร์สีบ้างแล้ว และเทคโนโลยีการถ่ายทำภาพยนตร์ก็ได้ถูกนำมาใช้บันทึกภาพจริงจากสนามรบเพื่อนำกลับมาใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อ โดยช่างภาพที่บันทึกภาพเหล่านั้น หลายท่านก็ต้องพลีชีพไปในสงครามเช่นเดียวกับบรรดาทหารหาญทั้งหลาย แม้ส่วนใหญ่จะเป็นภาพยนตร์ขาวดำรวมถึงภาพสีที่ยังไม่ค่อยเป็นธรรมชาติอย่างสมัยนี้ แต่ภาพความใหญ่โตอลังการของสงครามจริงที่บันทึกไว้นั้นยากที่จะจำลองขึ้นมาในภายหลังให้เหมือนจริงได้อีก ไม่ว่าจะเป็นกองทหาร ขบวนรถถัง ฝูงบิน การสู้รบอันดุเดือด ซากปรักหักพังของเมืองทั้งเมือง ฯลฯ

ทหารอเมริกันกำลังดูแผนที่ในระหว่างการรบที่เกาะอิโวจิมา
หากจะถามว่า ในเมื่อภาพยนตร์จากสนามรบเหล่านี้แรกเริ่มเดิมทีได้ถ่ายทำขึ้นมาเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ รวมถึงผู้นำภาพยนตร์เหล่านี้มาสร้างเป็น The World at War ก็เป็นอังกฤษหนึ่งในชาติสัมพันธมิตรที่ชนะสงครามแล้ว จะมีความน่าเชื่อถือหรือการบิดเบือนประการใดหรือไม่ เท่าที่ผมพยายามฟัง Jeremy Isaacs ในตอนพิเศษ The Making of the Series นั้น ท่านอธิบายว่า ฟิล์มที่บันทึกไว้เหล่านี้มันโกหกใครไม่ได้ และเราก็เป็นหนี้บุญคุณบรรดาช่างภาพสนามของทุกฝ่ายที่น่าจะได้พลีชีพไปในการนี้จำนวนมาก แต่เมื่อมันมาถึงแนวหลัง กระบวนการในการตัดต่อเรียบเรียงภาพยนตร์เหล่านี้เพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ ปลุกขวัญและกำลังใจฝ่ายเดียวกันพร้อมๆ กับการข่มขวัญฝ่ายตรงข้าม เป็นสิ่งที่ทีมงาน The World at War ได้ตระหนักถึง และเลือกใช้อย่างพินิจพิเคราะห์จากภาพยนตร์ของทุกฝ่ายที่เข้าร่วมในสงครามนั้นเอง
แผนที่แอนิเมชัน
เรื่องราวของประวัติศาสตร์สงครามนั้น หากเล่ากันแต่ปาก มีแต่ภาพคนสู้กัน อาจจะมีแต่ความมันโดยปราศจากความเข้าใจ จะต้องมีแผนที่ประกอบด้วยถึงช่วยให้เข้าใจได้ว่าใครเคลื่อนทัพเคลื่อนพลกันอย่างไร สารคดี The World at War นี้อาจจะไม่ใช่เรื่องแรกที่มีการจัดทำแอนิเมชันบนแผนที่แสดงการเคลื่อนทัพเช่นว่า แต่อย่างน้อยก็เป็นเรื่องแรกที่ผมได้ดูแล้วประทับใจ จะขอลองยกตัวอย่างของกรณีการรบที่เมืองสตาลินกราดอันเป็นจุดพลิกผันของกองทัพนาซีในการรุกรานรัสเซีย หลายท่านคงจะเคยได้ชมโทมัส เครชท์มันน์ ในบทของผู้หมวดฟอน วิทลันด์ ที่ต้องทนทุกข์ทรมานในการรบที่นี่อย่างเหลือหลายจากภาพยนตร์เรื่อง Stalingrad และคงได้ประทับใจกับการดวลระหว่างพลซุ่มยิงของวาซิลี ไซต์เซฟ กับผู้พันโคนิกในเรื่อง Enemy at the Gates มาแล้ว แต่คุณอาจจะยังไม่เข้าใจว่ากองทัพเยอรมันไปเสียท่ากองทัพแดงอีท่าไหนกันแน่ ถ้าให้ผมอธิบายด้วยข้อความก็ต้องบอกประมาณว่า กองทัพที่ 6 ของเยอรมันที่บุกเข้ายึดเมืองสตาลินกราดนั้น มันมีกองทัพจากโรมาเนียที่ไม่เข้มแข็งเท่ากองทัพเยอรมันรักษาปีกซ้ายและขวาอยู่ ฝ่ายรัสเซียจึงใช้กำลังพล 2 ส่วนตีกองทัพโรมาเนียทั้ง 2 แล้วบรรจบกันข้างหลังเมืองสตาลินกราด ทำให้กองทัพที่ 6 ของเยอรมันถูกปิดล้อม ทีนี้มาดูภาพที่ผม Capture มาจากภาพยนตร์กันครับ

ภาพแรกแสดงทิศทางที่กองทัพรัสเซียตีกองทัพโรมาเนียที่คุมปีก 2 ข้างให้กองทัพเยอรมัน

ภาพนี้กองทัพแดงทั้ง 2 ส่วนมาบรรจบกันแล้ว

จากนั้นกองทัพแดงเคลื่อนแนวต่อไปทางตะวันตกเข้าสู่ Rostov พร้อมทั้งบีบวงล้อมรอบเมืองสตาลินกราดให้แคบลง
ถ้าท่านเป็นทหารเยอรมันในเมืองสตาลินกราดจะมีปาฏิหาริย์อะไรมาช่วยท่านได้ล่ะครับ


ขอยกตัวอย่างบุคคลที่มาร่วมให้ข้อมูลในภาพยนตร์เพียง 2 ท่าน คือ Albert Speer กับ Traudl Junge เท่านั้นนะครับ
ในภาพยนตร์จริงมีด้วยกันหลายท่านจากหลายชาติ
บทสัมภาษณ์ของบุคคลในเหตุการณ์ที่หลากหลาย รอบด้าน
ในช่วงที่สร้างภาพยนตร์สารคดีชุดนี้เป็นช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงยังไม่ถึง 30 ปี ดูเหมือนเป็นช่วงที่กำลังพอเหมาะ ด้วยเหตุประการหนึ่งคือบรรดาผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ยังมีชีวิตอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้สร้างสารคดีชุดนี้ก็มิได้ละเลย โดยนำท่านเหล่านี้มาเล่าเหตุการณ์ที่ได้ประสบ บุคคลเหล่านี้มีตั้งแต่ผู้นำการเมืองและการทหาร เรื่อยมาจนถึงทหารชั้นผู้น้อยและชาวบ้าน และมาจากหลายชาติหลายฝ่าย ไม่ว่าชาติหลักๆ ในสงครามอย่างอังกฤษ อเมริกา รัสเซีย เยอรมัน ญี่ปุ่น จนถึงชาติเล็กชาติน้อยเท่าที่พอจะหาได้ ทำให้เรื่องราวที่ถ่ายทอดดูมีความน่าเชื่อถือจากความเป็นกลางของมุมมองที่หลากหลาย หากใครจะกล่าวหาว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยผู้ชนะแล้ว ขอให้ท่านดูสารคดีชุดนี้ให้จบซัก 2-3 รอบก่อนจะดีกว่า
แง่คิดอื่นๆ
ในการที่ผมได้ The World at War กลับมาดูทบทวนในครั้งนี้ ยังมีแง่คิดบางประการที่อยากจะถ่ายทอดเป็นการแลกเปลี่ยนกันดังนี้ครับ
การแย่งชิงอำนาจของชาติที่ตกเป็นทาสอุตสาหกรรม/ทรัพยากร
สิ่งที่เราจะต้องกล่าวควบคู่กับสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่เสมอ คือความโหดเหี้ยมไร้มนุษยธรรมของฝ่ายอักษะที่กระทำต่อผู้อื่น อันได้แก่ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวและการสังหารโหดชาวรัสเซียโดยนาซีเยอรมัน กับการสังหารชาวจีนโดยกองทัพญี่ปุ่นโดยเฉพาะการสังหารหมู่ที่นานกิง รวมถึงทารุณกรรมอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ซึ่งกลายเป็นความชอบธรรมของฝ่ายสัมพันธมิตรในการทำสงครามของตน แต่การที่บรรดาชาติสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามเป็นกลุ่มสังคมของมนุษย์ที่ยังมีกิเลส ซึ่งบทบาทของชาติเหล่านี้โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและรัสเซียที่ต่างแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ในเวทีโลกในรูปแบบ “สงครามเย็น” อีกทั้งมนุษย์ทั่วไปที่รับรู้เรื่องของสงครามโลกครั้งที่ 2 กันมากบ้างน้อยบ้างทั้งเป็นระบบและไม่เป็นระบบก็ล้วนเป็นมนุษย์ที่ยังมีกิเลสอยู่เช่นกัน ชัยชนะของสัมพันธมิตรจึงไม่อาจกลายเป็นตำนาน “ธรรมะย่อมชนะอธรรม” ที่ปราศจากข้อโต้แย้ง หลายคนยังเฝ้าเพ้อหาฮิตเลอร์ หรือหลงใหลคลั่งไคล้แสนยานุภาพของฝ่ายอักษะที่เคยรุ่งเรืองจนเกือบจะครองโลกได้บนกองซากศพของผู้บริสุทธิ์จำนวนมากมาย
จุดยืนส่วนตัวของผมนั้นคงไม่ต่างจากสุจริตชนทั่วไปที่ยังเห็นศีลธรรมเป็นใหญ่แม้จะปฏิบัติได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ความเลวร้ายทั้งหลายที่กองทัพฝ่ายอักษะกระทำนั้นเกิดขึ้นจริงและยากแก่การยอมรับได้ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะเป็นฝ่ายธรรมะที่สะอาดบริสุทธิ์ไปซะหมด หากใครยังหลงใหลชื่นชมลัทธิฟาสซิสต์นาซีของฝ่ายอักษะแล้ว น่ากลัวว่าศีลธรรมของเขาจะบกพร่อง แต่ถ้าหากใครคิดว่าฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นพระเอกขี่ม้าขาวแล้ว เกรงว่าจะยังอ่อนต่อโลกอยู่ไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม จากการที่ระยะหลังๆ ผมได้ดูภาพยนตร์สารคดีสงครามที่เรียบเรียงจากภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในระหว่างสงครามดังเช่น The World at War และเรื่องอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ทำให้ผมรู้สึกว่าระบบอุตสาหกรรมที่วิวัฒนาการมาจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มันได้ดึงเอามนุษยชาติลงมาเป็นทาสของมันโดยไม่รู้ตัว เมื่อมีอุตสาหกรรมก็ต้องมีการหาวัตถุดิบมาผลิตสินค้า ผลิตสินค้าได้ก็ต้องหาตลาดเป็นที่ระบาย ชาติที่มีดินแดนกว้างใหญ่หน่อยอย่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซียอาจจะไม่เดือดร้อนกับเรื่องวัตถุดิบมากนัก มหาอำนาจรุ่นแรกอย่างอังกฤษฝรั่งเศสได้ใช้การล่าอาณานิคมเป็นทางออกในการแก้ปัญหาทั้งเรื่องวัตถุดิบและตลาดระบายสินค้ามาแล้ว ทีนี้บรรดาชาติที่มาพัฒนาอุตสาหกรรมทีหลังอย่างบรรดาชาติที่จะกลายเป็นอักษะในเวลาต่อมานั้น ประเทศของตัวก็ไม่ได้กว้างใหญ่อะไร จะล่าอาณานิคมหรือขยายดินแดนไปยังโลกที่สามอย่างมหาอำนาจรุ่นก่อนก็ไม่ได้แล้ว กลายเป็นความขัดแย้งกับมหาอำนาจและชาติอื่นๆ จนประทุเป็นสงครามโลกถึง 2 ครั้งด้วยกันเพียงเพื่อแย่งชิงทรัพยากรมาป้อนระบบอุตสาหกรรม แล้วอาวุธที่เอามาเข่นฆ่ากันนั้นก็มาจากระบบอุตสาหกรรมนั่นเอง ยิ่งอาวุธพัฒนามากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งทำให้สนามรบแต่ละแห่งเป็นเสมือนเขตอุตสาหกรรมสังหารมนุษย์ที่ต่างฝ่ายต่างจัดตั้งขึ้นมาทับซ้อนกัน แล้วมันก็เป็นเสมือนเจ้านายมนุษย์ที่หลอกให้มนุษย์ฆ่ากันเองมากกว่าที่มนุษย์จะเป็นนายอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ตนผลิตขึ้นมา และการแพ้ชนะในสงครามนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายไหนจะสามารถนำทรัพยากรมาป้อนให้กับอุตสาหกรรมสังหารของฝ่ายตนได้มากกว่ากัน และฝ่ายอักษะก็ต้องพ่ายแพ้ไปเพราะความเสียเปรียบในด้านนี้ ทั้งการขาดแคลนน้ำมันและยุทธปัจจัยต่างๆ กับการผลิตอาวุธได้น้อยกว่า เรียกกว่าก่อสงครามเพื่อปล้นชิงทรัพยากร แล้วก็ต้องพ่ายแพ้เพราะหาทรัพยากรมาป้อนอุตสาหกรรมสังหารของฝ่ายตนไม่ทัน

อาคารบ้านเรือนในเยอรมันถูกไฟไหม้จากการทิ้งระเบิด

สภาพเมืองแห่งหนึ่งภายหลังการทิ้งระเบิด
สงครามทิ้งระเบิด
ขอกลับมาที่สารคดีตอนพิเศษ The Making of the Series อีกครั้ง Jeremy Isaacs ผู้สร้าง The World at War กล่าวคล้ายๆ กับที่ผมเคยอ่านในหนังสือเล่มหนึ่งว่า .การสูญเสียชีวิตผู้คนในสงครามโลกครั้งที่ 1 มักเป็นเรื่องที่คนแนวหลังทราบข่าวการตายของชายหนุ่มที่ไปเป็นทหารในแนวหน้า แต่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 บ่อยครั้งที่ทหารในแต่ละสมรภูมิอุตส่าเอาชีวิตรอดมาได้เพียงเพื่อจะทราบข่าวว่าตนได้สูญเสียญาติพี่น้องลูกเมียในแนวหลังจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายตรงข้าม เครื่องบินทิ้งระเบิดจัดเป็นนวัตกรรมใหม่ของยุคนั้นที่พอรวมฝูงไปถล่มที่ใดก็ราวกับเป็นเครื่องจักรอุตสาหกรรมสังหารลอยฟ้าเลยทีเดียว แม้จะอ้างกันว่าจุดหมายหลักของการทิ้งระเบิดจะมุ่งไปที่ที่หมายทางทหารและอุตสาหกรรมทางทหารต่างๆ แต่ในทางปฏิบัติการจะทำลายแต่ที่หมายดังกล่าวโดยไม่ให้พลเรือนต้องลำบากเลยคงจะไม่เคยเกิดขึ้น เพราะเครื่องบินเองก็ต้องทิ้งระเบิดจากที่สูงมากๆ มาโจมตีในช่วงกลางวันถูกเครื่องบินขับไล่และปตอ.สกัดกั้นมากๆ ก็ต้องเปลี่ยนมาโจมตีกลางคืน ทางฝ่ายเยอรมันช่วงหลังๆ พอไม่มีเครื่องบินจะไปถล่มอังกฤษ ก็หันมาประดิษฐ์จรวดวี 1 วี2 มาใช้แทน แล้วจะกำหนดเป้าหมายได้แม่นยำแค่ไหนไม่ทราบ สุดท้ายฝ่ายไหนจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจฆ่าพลเรือนผลก็แทบไม่ได้ต่างกัน บ่อยครั้งที่พอเราพูดถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรปเราจะนึกถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวที่พวกนาซีกระทำ ซึ่งก็เป็นความเลวร้ายของลัทธินาซีที่เราควรจะประณามจริงๆ แต่หากจะมองขอบเขตความเสียหายกันแล้ว การทิ้งระเบิดใส่กันไม่ว่าประเทศไหนทำกับประเทศไหนก็เป็นความเลวร้ายไร้มนุษยธรรมก่อความเสียหายกับมนุษยชาติโดยรวมอย่างมหาศาล ใน The World at War มีอยู่หลายตอนที่กล่าวถึงความเลวร้ายดังกล่าว แต่ผมยังมีสารคดีอีกชุดหนึ่งที่มีตอนหนึ่งกล่าวถึงความเลวร้ายของการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดล้วนๆ ซึ่งจะได้นำมาเสนอในโอกาสต่อไป
บทบาทประเทศรองๆ
เป็นที่แน่นอนล่ะครับว่าในเมื่อเป็นเรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในภาพรวม ก็ย่อมจะกล่าวถึงบทบาทของประเทศหลักๆ แต่ละฝ่ายเป็นธรรมดา อันได้แก่ ฝ่ายสัมพันธมิตร มีอังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกา และฝ่ายอักษะมีเยอรมันกับอิตาลีและญี่ปุ่นเป็นหลัก ประเทศอื่นๆ ที่กล่าวถึงมากรองลงมาสักนิด มีเนเธอร์แลนด์นี่กล่าวถึงเป็นตอนหนึ่งเลย แล้วก็มีโปแลนด์กับฟินแลนด์ที่กล่าวถึงมากหน่อย นอกนั้นมีกล่าวถึงนิดๆ หน่อยๆ หรือไม่กล่าวถึงเลย ซึ่งในที่นี้ผมคงไม่ไปว่าอะไรเขา เพียงแต่ให้ข้อสังเกตว่ายังมีอีกหลายชาติที่เราควรจะศึกษาบทบาทของพวกเขาให้มากๆ อย่างออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ กับแคนาดานี่ ต้องช่วยอังกฤษอย่างมาก โดยเฉพาะออสเตรเลียนี่ช่วงแรกมัวแต่ขนทหารไปช่วยอังกฤษ พอญี่ปุ่นเริ่มบุกบรรดาประเทศในเอเชียแปซิฟิกจนใกล้ออสเตรเลียเข้ามาเลยต้องไปอาศัยกำลังของอเมริกาในการป้องกันประเทศ และยังมีอีกหลายประเทศที่ต้องถูกฝ่ายอักษะปกครองอยู่เป็นเวลาหลายปี ชาติที่เข้าไปช่วยเยอรมันมากๆ อย่างโรมาเนีย เป็นต้น
ส่งท้ายการแนะนำสารคดีชุดนี้ เชื่อว่าหลายท่านที่มาเยี่ยมเยือนเว็บไซต์ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์แห่งนี้ส่วนใหญ่จะให้ความสนใจกับประวัติศาสตร์และภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้ชมภาพยนตร์ในแนวนี้มาไม่น้อยแล้ว แต่ภาพยนตร์เหล่านี้ย่อมจับแต่เพียงบางประเด็นหรือบางเหตุการณ์มาถ่ายทอด จะมีสักกี่เรื่องที่จะให้ความรู้ความเข้าใจสงครามโลกครั้งที่ 2 ในภาพรวมได้ หลายปีก่อนผมได้ชมภาพยนตร์สารคดีชุด The World at War นี้ทางโทรทัศน์อันทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในภาพรวมของสงครามโลกครั้งที่ 2 มาในระดับหนึ่ง ทั้งที่ไม่มีโอกาสได้ดูทบทวนอีกเลย จนกระทั่งในครั้งนี้ได้มีภาพยนตร์ชุดนี้มาครอบครองในรูปแบบดีวีดีแล้ว ก็อยากจะแนะนำให้ท่านทั้งหลายได้พยายามหามาชมและศึกษาทำความเข้าใจ ตลอดจนเก็บไว้เป็นเสมือนเอ็นไซโคลปีเดียสำหรับการอ้างอิงตลอดไปครับ


จุดจบของสงคราม
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : The World at War
ชื่อภาษาไทย : แฉลับสงครามโลกครั้งที่ 2
ผู้สร้าง : Jeremy Isaacs (อังกฤษ)
ผู้บรรยาย : Laurence Olivier
ควรอ่านเพิ่มเติม
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับเต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์