มาถึงยุคพั๊ตตะนาของพรรคแล้วคราวนี้ นั่นคือ พรรคนาซีเริ่มออกพูดที่โน่นที่นี่อาทิตย์ละหนึ่งครั้งอย่างน้อย โดยที่มีฮิตเล่อร์เป็นตัวชูโรง
ถ้าไม่ใช่ที่มิวนิค นั่นก็หมายความว่าเดินสายไปยังจังหวัดข้างเคียงยามที่ถูกเชิญจากพรรคอื่นๆที่เป็น Nationalist เหมือนกัน
(ไม่ได้พูดฟรีนะ ได้สตังค์ด้วย)
หากแต่ในแกนพรรค ตัวกลไกอย่าง Eckart และ Drexler ก็ต้องหาตัวแทนโดยเชิญใครต่อใครมาเป็นแรงดึงดูดแทน
Dietrich Eckart
v
v
Anton Drexler
นี่คือสิ่งที่ฮิตเล่อร์หนักใจนักหนา เพราะ นอกจาก Eckart แล้ว..คนอื่นๆในพรรคช่างไร้น้ำยาในการพูดโน้มน้าวจิตใจคนเอาเสียจริงๆ
และอนาคตของพรรคที่จะต้องใหญ่โตไปในวันข้างหน้า มันจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เขาต้องหาหรือเทรนนักพูดที่มุ่งมั่นในอุดมการณ์เดียวกันขึ้นมาใหม่ และ
ในฐานะที่ประธานฝ่ายโปรปะกันดา เขาไม่รอช้าต่อความคิดนี้ทันที เพียงไม่กี่วันเขาก็ได้เทรนลูกน้องขึ้นมาใหม่สองสามคน
หนึ่งในนั้น คือ ชายอายุ 20 ปี Hermann Esser คนนี้อายุน้อยก็จริง หากแต่ ชั่วโมงบินเพียบ..
เคยเป็นทหาร และเป็นนักเขียนคอลัมน์ฝีปากกล้าอีกต่างหาก
ไม่ว่าจะฝึกขึ้นมาอย่างไร..Esser ก็เป็นได้เพียงนักพูดระดับล่างเท่านั้น เพราะ ภาษาที่ใช้นั้นมัน"ลูกทุ่ง"เสียจน บางครั้งเล่นเอาฮิตเล่อร์แทบจะเอาปี๊บคลุมหัว
แต่..Esser ก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง จนพอที่จะเข้าข่ายเป็น"คนวงใน"ได้อย่างสบายๆ
ช่วงใกล้ปลายปีของ 1920 พรรคเริ่มหายใจคล่อง เพราะเงินอุดหนุนจากสมาชิกเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
และการพูดของเขาแต่ละครั้งนั้น คนฟังมีจำนวนนับพัน..ผู้กอง Rohm, Hess, Eckart ต่างก็รู้ว่า ฝ่ายรัฐบาลก็คอยจับตา
อย่างใกล้ชิด เพราะ..ในการโจมตียิวหรือคอมมิวนิสต์ อันเป็นหัวใจในการปราศรัยของฮิตเล่อร์แต่ละครั้งนั้น..มัก
จบลงด้วยการดูมวยฟรีเสมอๆ
พวกคอมมิวนิสต์มักจัดตั้งกองก่อกวน บางครั้งยกพวกลุยกันกลางวงอันเป็นเรื่องธรรมดา
ในระยะนี้..พรรคพวกที่ปลดประจำการจาก Free Corps ได้เข้ามารวมกันตั้งเป็นกององครักษ์ประจำตัวฮิตเล่อร์ถึงร้อยห้าสิบคน (แบบว่า เรียกเมื่อไหร่ก็มา นอกนั้นก็ต่างคนต่างทำมาหากินไปตามเรื่อง)
รวมทั้งเพื่อนอย่าง..Maurice, Graf, Weber นั้นถือว่าเป็นองครักษ์รุ่นแรก
ทุกคนถือคติมั่นว่า..
ใครแหลมมา..แหลกกกก !!!
ผู้กอง Rohm ก็เลยเห็นว่าน่าจะจัดตั้งให้เป็นเรื่องเป็นราว กล่าวคือ พวกองครักษ์พวกนี้จะต้องมีปลอกแขนติดเครื่องหมายสวัสดิกะ
และ ตั้งชื่อครั้งแรกว่า Ordnentruppe (Order Troop) หมายถึงมาตามสั่ง..
แต่ฮิตเล่อร์มาเปลี่ยนในปีต่อมา โดยให้ชื่อว่า Sturm-Abteilung {Strom-trooper} หรือที่เป็นที่รู้จักว่า SA นั่นแหละ
ทีนี้ เหล่าองครักษ์ SA พวกนี้ไม่ได้เข้ามาปราบปรามห้ามทัพอย่างเดียวเสียที่ไหนกันเล่า..แต่ทำตัวเป็นอันธพาลตบตีพวกยิวอีกต่างหาก ประชาชนเห็นแล้วต่างก็เอาหูไปนาเอาตาไปไร่
มิหนำซ้ำ ไม่ว่าเขามีการอภิปรายที่ไหน มักจะติดป้ายตัวเบ้อเริ่มเทิ่ม ว่า "ยิว..ห้ามเข้า"
ครั้งหนึ่ง..ขณะที่เขากำลังพูด(ด่ายิว)อย่างเมามันส์นั้น..มีคนหนึ่งตะโกนขึ้นมาว่า แล้วพวกนิโกรล่ะ..ว่างัย?
ฮิตเล่อร์ตอบทันทีว่า..มีนิโกรสักร้อยคนในที่นี้ ดีกว่าจะเห็นยิวเพียงคนเดียว
(ก็เพราะคำพูดประโยคนี้แหละ..ที่แพร่หลายไป..ชาวผิวดำทั้งหลายในปัจจุบันต่างก็นิยมชมชื่นฮิตเล่อร์ บางคนห้อยคอด้วยเครื่องหมายสวัสดิกะ..ถือว่า ฮิตเล่อร์ก็เปรียบเสมือน..Brother !!)
แต่..อนาคตของพรรคก็ยังไปไหนไม่ได้ไกล เพราะเส้นสายยังไม่ใหญ่พอ ในเยอรมันยุคนั้นหรือประเทศไหนยุคไหนก็ตาม การที่จะก้าวขึ้นมาใหญ่โตทางการเมืองนั้น..ต้องมีสถาบันการเงิน,องค์กร
หรืออย่างน้อยๆก็ต้องมีเจ้าพ่อหนุนหลังอยู่
ไอ้ที่จะไต่เต้าขึ้นมาด้วยตัวเองกับแรงส่งของชาวบ้านชาวเมืองอย่างเดียว.เห็นทีจะไม่มี
ทาง..ฮิตเล่อร์เองก็เข้าใจในข้อนี้ดี
แต่แล้ว..โชคก็เข้าข้างเขาอีกตามเคย..
เพราะในเดือนหนึ่งต่อมา พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตภายใต้การนำของ Lenin และ Trotsky ได้ส่ง Grigor Zinoviev
เข้ามานัดเจอะเจอกับพรรคการเมือง
กลุ่มสังคมนิยมที่มีอยู่หลายพรรคกระจัดกระจายไปทั่วเยอรมัน ที่ชานกรุงเบอร์ลิน
โดยการแถลงนโยบายคว่ำเยอรมัน(รัฐบาลไวมาร์)ด้วยวิธีก่อการสไตร์คไปทั่วเมืองอย่างพร้อมๆกัน เพราะ นี่คือ วิธีที่กลุ่มคอมมิวนิสต์นิยมนักหนา
จะสไตร์คสำเร็จหรือไม่ ไม่สำคัญ ขอให้ทำการจลาจลวุ่นวายไว้ก่อน ถือว่ามีชัยไปแล้วเกินครึ่ง
และพอเกิดความยุ่งเหยิงเมื่อไหร่ เมื่อนั้นคือการแทรกแซงของพรรคก็จะกระทำได้ง่ายโดยแทบไม่ต้องออกแรง
Trotsky and Lenin
หลังจากที่นโยบายได้วางออกไป..
60 % ของกลุ่มที่เข้าประชุมเห็นด้วย..และขอเข้าร่วมด้วยกับฝ่ายโซเวียต
ไอ้ 60% ที่ว่านี่..หมายถึงสมาชิกพรรคนับรวมกันได้เกือบห้าแสนคนเชียว
แล้ว ห้าแสนคน นี่ เกิดสไตร์คขึ้นมาจริงๆละก้อ..นรกมีจริงแน่นอน !!
ข่าวนี้รั่วถึงหู นายพล Ludendorff วีรบุรุษสงครามผู้ยิ่งยง ที่มีชื่อเสียงว่ารักชาติเหนือสิ่งอื่นใดนั้น..นั่งไม่ติดที่
คิดหาทางออกด้วยการที่ต้องหาพรรคชาตินิยมที่เข้มแข็งขึ้นมาสักพรรคหนึ่ง และต้องเป็นพรรคที่สามารถโน้มน้าว
จิตใจประชาชนให้เอนเอียงได้ให้เร็วที่สุด
หันไปหันมา ก็เลยมาเห็นคุณค่าของพรรคเล็กๆอย่างพรรคนาซี ที่มีนักพูดฝีปากดี อย่าง ฮิตเล่อร์
และอย่างน้อยๆเป็นที่รู้กันว่า..ฮิตเล่อร์ แกนนำของพรรคคนนี้ ก็เกลียดคอมมิวนิสต์อย่างเข้ากระดูกดำเหมือนกัน
รัฐบาลไวมาร์ ก็ทำเรื่องห่วยๆเหมือนเดิม นั่นคือ ปลดประจำการพวก Free Corps อีกแล้ว หลังจากที่ใช้พวกเขาไปกู้เมือง Ruhr กลับคืนมาสำเร็จ
เหล่าทหารกว่า 300,000 นายเหล่านั้นกระจัดกระจายกันไปทำมาหากินแบบตัวใครตัวมัน
ส่วนใหญ่มักรวมตัวกันอยู่ในแคว้นบาวาเรีย
เพราะรัฐบาลของบาวาเรียนั้น..ถือว่าพวกเขาคือ ทหารกู้ชาติ และให้เกียรติอย่างเต็มที่
และพวกนี้ยอมตาย สู้อย่างถวายหัว ถ้าบ้านเมืองจะต้องตกไปในมือของกลุ่มโซเวียต
การพบปะของ นายพล Ludendorff กับฮิตเล่อร์ได้เกิดขึ้นภายในสองสามวันหลังจากที่ข่าวรั่ว..
ฮิตเล่อร์ไปพบท่านนายพลในชุดสูทสีน้ำเงิน(ตัวเก่งที่มีอยู่ตัวเดียว)
และที่นัดพบนั้นอยู่ห่างจากมิวนิคไปถึงสี่สิบกว่าไมล์..
ที่นั่น..ท่านนายพลได้แนะนำให้เขารู้จักกับ Gregor Strasser ชายอายุเพียง 28 ปี อดีตคือ เภสัชกร และ ทหาร
เขาคนนี้ เคยสู้รบอย่างสามารถ ในสงครามที่ผ่านมาจนได้รับเหรียญกางเขนชั้นหนึ่งเฉกเช่นเดียวกับฮิตเล่อร์
แถม..ยังมีพรรคพวกเสรีเยอรมันและอาวุธในมือทั้งปืนใหญ่ ปืนครก มากมาย
Gregor Strasser
นายพล Ludendorff ได้บอกถึงวัตถุประสงค์ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ที่ทั้งฮิตเล่อร์และ Gregor ต่าง เข้าใจเป็นอย่างดี
เพราะต่างก็เป็นทหารผ่านศึกมาอย่างโชกโชนเช่นกัน..เพียงแต่.. Gregorไม่ค่อยประทับใจในตัวฮิตเล่อร์เท่าไหร่นัก เพราะท่าทีที่พินอบพิเทานายพลซะจนเกินเลยไปนั้น ทำให้น่าหมั่นไส้
{น้องชายของ Gregor ชื่อว่า Otto ก็มีความเห็นเดียวกัน)
ฮิตเล่อร์ใช้สรรพนามเรียก ท่านนายพลว่า "your excellency" ซะแทบทุกคำ
แต่..ในที่สุด Gregor ก็ยอมเข้ามาร่วมด้วยในพรรคนาซี..เพราะเกรงใจผู้ใหญ่ที่อุตส่าห์ขอมา
ในระยะหลังๆมานี่ ผู้คนเริ่มเข้ามาฟังการปราศรัยมากขึ้น และ ฮิตเล่อร์เองก็ต้องเตรียมหาข้อมูลอย่างสุดๆ ในช่วงปี 1920-1921 นั้น
เขาได้ขอหยิบขอยืมหนังสือภาควิชาการที่เขียนโดยนักเขียนชื่อดังมาอ่านแบบเอาเป็นเอาตายนับร้อยๆเล่ม
เช่น Luther and the Jews,Schopenhauer and the Jews, Bolshevism and Jewry และเล่มสำคัญนั่นก็คือ
The International Jew {ของ Henry Ford} ซึ่งหนังสือเหล่านี้เขาได้เนื้อหาเอามาเป็นประโยชน์ในกาลต่อมา
นั่นคือ..หนังสือพิมพ์ขวาจัด ที่ชื่อว่า Volkischer Beobachter
{German-People's Observer} ที่มีที่ตั้งทำการในถนน Thiersch อันเป็นละแวกถนนเดียวกับอพาร์ตเม้นท์ของฮิตเล่อร์พอดี..เกิดภาวะประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก
ถึงกับต้องขายทอดกิจการ
ฮิตเล่อร์ดีใจจนเนื้อเต้น..อยากได้มาไว้ในครอบครองสุดกำลัง เขาเข้าพบ Eckart ทันที..ขอร้องให้ช่วยระดมทุน
ซื้อกิจการนี้มาเป็นของพรรคโดยด่วน หนังสือพิมพ์นี้ โดยปรกติแล้วออกวางขายอาทิตย์ละ สองฉบับครั้งละประมาณหมื่นกว่าเล่ม..เนื้อหาประจำคือ ต่อต้านคอมมิวนิสต์,รังเกียจยิว
หนี้ของบริษัทตกราวๆสองแสนกว่ามาร์ค ซึ่งธนาคารกำลังจะเอามาขายทอดตลาดในราคาเพียง แสนสอง..
นับว่าถูกเหมือนได้เปล่า
ข่าวว่า..เส้นของผู้กอง Rohm บีบขอยืมเอามาจากกองทัพได้ถึง 60,000 มาร์ค
(เงินนี้ไม่ได้ใช้คืน)
ที่เหลือคือ จากเส้นสายวงในนักธุรกิจ และ..จากพลังของ นายพล Ludendorff ที่รวบรวมมาได้ครบภายในอาทิตย์เดียว
(ป.ล. ตอนนี้เข้าใจหรือยังคะ ว่า นักการเมืองที่จะประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องมีสื่อในมือ
และวิธีการนี้แม้ว่าจะโบราณขนาดไหน แต่ใน
ปัจจุบันก็ยังคงความศักดิ์สิทธิเสมอ..วิวันดา)
ซึ่งฮิตเล่อร์ได้เข้ามาบริหารในกิจการนี้อย่างเต็มตัว ในฐานะประธานฝ่ายโปรปะกันดาของพรรค เขาโละพนักงานเก่าๆออกไปจนเกือบหมด
และ..ลงมือเขียนบทความเอง..โดยมี Hermann Esser มาช่วยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงอีกคนหนึ่ง
(นี่คืองานถนัดของ Esser เขาละ..เพราะ เรื่องบทความกำจัดยิวนี่ เขาเขียนจนโด่งดัง ในชื่อว่า..The Jewish World Plague ในปี 1939)
หนักๆเข้าถึงกับเป็นการตอบโต้กับหนังสือฝ่ายตรงข้ามอย่างเมามันส์ ชนิดห้ามกระพริบตา
จน..ถึงขนาดฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์เรียกร้องให้สมาชิกบอยคอตการซื้อหนังสือพิมพ์เสียงเยอรมันของฮิตเล่อร์อย่างเด็ดขาด
เท่านั้นไม่พอ..เดี๋ยวจะไม่หายแค้น..คนขายหนังสือพิมพ์ของพรรคนาซีที่เดินขายตามท้องถนนนี่ยังโดนถูกตื้บกันระนาว
ตอนนั้น..เสียงต่อต้านในงานเขียนของฮิตเล่อร์เริ่มหนาหู แต่เขาก็ไม่ได้สนใจ ยังคงเดินหน้าต่อไป
เขาว่า..คนที่ถูกด่าก็ต้องเป็นเดือดเป็นแค้นตามธรรมดา..เพราะถ้าไม่ด่าฝ่ายตรงข้ามแล้วจะไปด่าใครที่ไหนกัน?
หนังสือพิมพ์ถึงแม้ว่าจะอยู่ในการบริหารใหม่แต่ก็ยังขาดทุนยับเยินอยู่นั่นเอง..
โชคดีที่ได้มือโปรอย่าง Max Amann อดีตเพื่อนร่วมตายจากแนวหน้าที่เคยทำงานในธนาคารมาก่อน มาช่วยกู้สถานะการณ์
นั่นก็คือ จัดให้เป็นไปในรูปแบบพ่วง บวกเพิ่มไปกับอัตราค่าเป็นของสมาชิกของพรรค รวมไปถึงการโน้มน้าวให้
สมาชิกไปจัดหาเพื่อนฝูงมารับช่วงต่อไปเป็นลูกโซ่ ซึ่งทำให้ฐานะของบริษัทกระเตื้องขึ้นมาอย่างทันตาเห็น
ฮิตเล่อร์ผู้ซึ่งไม่มีความรู้ในเรื่องของการบริหารเงิน บริหารธุรกิจมาก่อน แต่จากบทเรียนตรงนี้ เขาใส่ใจในเรื่องของ Business Methods มากขึ้นถึงขนาด ลงทุนไปเรียนหลักสูตรเพิ่มเติม เขาบันทึกไว้ว่า
"ถ้าไม่ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองแล้ว ป่านนี้ก็ยังคงโง่ดักดาน ประสบการณ์คือโรงเรียนที่ดีที่สุด"
(ซึ่งมันก็ได้ผลอย่างมหาศาลในกาลหลายๆปีต่อมา ที่เขาสามารถกู้สภาพตกต่ำของเศรษฐกิจประเทศให้กลับคืนมาได้อย่างรวดเร็ว)
ส่วนด้านสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามทั้งหลาย หลังจากที่จัดการแบ่งเค้กให้คนโน้นคนนี้
ต่างก็รู้ตัวดีว่าต้องเกิดเรื่องยุ่งขึ้นแน่แท้
เพราะเล่นเฉือนประเทศเขาไปหยั่งงั้น..เลยรวมหัวกันจัดตั้ง สมาพันธ์ ที่เรียกว่า
League of Nations โดยเรียกร้องให้ประเทศต่างๆมาเข้าร่วมเพื่อทำตัวเป็นตำรวจโลก..
โดยใช้สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศศูนย์กลาง นโยบายคือ ไม่สนับสนุนการทะเลาะ
เบาะแว้งระหว่างชาติอันเป็นเหตุให้เกิดสงคราม(ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นมาแล้ว)
ใครขัดใจอะไรกะใคร ก็ต้องให้ LON เข้ามาไกล่เกลี่ย ตกลงกันได้ก็ตกลงกันไป จะให้ชดใช้กันอย่างไรก็ว่ามา
ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของคณะกรรการอันเป็นกลางที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง..
แต่..ถ้าพูดกันแล้ว ยังดื้อดึง ไม่รู้ฟังอยู่ละก้อ..อาจเจอบทลงโทษขั้นเบาคือ ..
บอยคอตสินค้าทั้งขาเข้าขาออกมั่ง
งดเว้นการช่วยเหลือทางด้านเวชภัณฑ์มั่ง.
ปิดอ่าวมั่ง...
จนถึงการใช้กำลังจากกองทัพสหชาติเข้าบุกล้มรัฐบาล
นโยบายนี้ทั้งๆประธานาธิบดี วิลสันเป็นตัวตั้งตัวตีในการวางรากฐาน หากแต่ไม่ได้รับการสนับสนุนผ่านสภาคองเกรสในอเมริกา
เลยเป็นอันว่า อเมริกาไม่ได้เข้าร่วมด้วย..
ประเทศต้องห้าม..ในการเป็นสมาชิก นั่นก็คือ เยอรมัน ตัวการของสงคราม และ
รัสเซีย ที่เปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบคอมมิวนิสต์โดยการล้มราชวงค์โรมานอฟแบบสังหารหมู่มาแบบหมาดๆ
ถึงแม้จะไม่มีพี่เอื้อยแบบอเมริกาแต่ ฝรั่งเศส อิตาลี และประเทศอื่นๆที่เป็นสมาชิก LON ก็ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดีทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จในกรณีพิพาทต่างๆ
แต่อย่างน้อยก็ได้หยุดการลุกลามไปได้
แต่สำหรับเยอรมันแล้ว อยู่ในสภาพย่ำแย่..เพราะค่าปฏิกรรมสงครามเริ่มส่งผลกระทบ ให้อดอยากกันไปทั่วประเทศ
เพราะรายได้จากการส่งออกนั้นต้องจ่ายออกไปถึง 12% (ด้วยระยะยาวถึง 42 ปี) ไม่นับถึงส่วนอื่นๆ
ในปี 1921..รัฐบาลเริ่มซวนเซ สภาพเศรษฐกิจเข้าข่ายใกล้ล้มละลายเต็มที
ฮิตเล่อร์ยิ่งอึดอัดต่อสภาพภายในพรรค เพราะเท่าที่เขาเห็นๆอยู่นั้น มันมีแต่การพูดกันไปแล้วก็พูดกันมา จนดูเหมือนกับเป็นพวกไอ้ขี้ขลาด..สมควรต่อการอะไรลงไปให้เด็ดขาดซะที
เพราะประชาชนเริ่มระส่ำระสาย ความหิวของคนเราอาจทำให้ความรักชาติลดน้อยถอยลงไป
นั่นคือโอกาสทองของพรรคคอมมิวนิสต์คู่กัดที่กำลังจะใช้จุดนี้เป้นการโจมตี..
ตัวนาย Drexler ประธานพรรคนาซี...ก็ได้แต่หวานจ๋อยเย็นเจี๊ยบอยู่นั่นแล้ว..
เช้าชามเย็นชาม คอยประสานกับคนโน้นที ชอบทำตัวเป็นกาวใจให้คนโน้นคนนี้อยู่ร่ำไป
ส่วนตัวเขาเอง..ไม่ได้มีฐานกำลังมากมายเหลือเฟืออย่างกับ Gregor Strasser หรืออย่างกับพรรคที่มีฐานแน่นปึ้กพรรคอื่นๆ
ถ้าใครคิดจะปฏิวัติอะไรขึ้นมา พรรคนาซีเล็กๆอย่างเขาก็เป็นอย่างมากก็แค่ตัวแจม
และในฐานะอย่างเขา..ในพรรคก็เป็นแค่กลไกตัวหนึ่งเท่านั้น..
ความสามารถที่มี ก็ไม่มีใครมองเห็นคุณค่านอกจากเวลาจะเรียกใช้...
ไม่ได้เป็นที่เกรงขามของใครหน้าไหนทั้งสิ้น ยิ่งคิดเขายิ่งอึดอัดต่อสภาพของตัวเอง
แต่แล้วคำว่าการทำวิกฤติให้เป็นโอกาส นั้นศักดิสิทธิ์เสมอ..เขาใช้ความยากจน ความหิวของประชาชนเป็นศูนย์กลางของการรวมตัวต่อต้านครั้งยิ่งใหญ่..
แต่เนื่องจาก กลุ่มพรรคอื่นๆนั้นกำลังรวมตัวทำอย่างเดียวกัน โดยการจัดชุมนุมครั้งยิ่งใหญ่ที่หอประชุม Kindl Keller แต่วันที่จัดนั้นยังไม่แน่นอน
ฮิตเล่อร์..ไม่รอช้า..ไปเช่าศูนย์ประชุมออดิโทเรียม Zirkus Krone ใจกลางเมือง
มิวนิคที่สามารถจุคนได้ถึง 9000 คน
จัดนัดชุมนุมก่อนทันทีในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ และ เขาก็ปิดโปสเตอร์ประกาศไปทั่วเมืองถึงการชุมนุมในวันที่ 3 คือวันต่อไป เวลาสามทุ่มตรง
ซึ่งเป็นการทำลายประวัติศาสตร์ของการนัดชุมนุมที่เคยมีมาก่อนในการที่จะจัดแผนการให้เสร็จภายในสองวันเช่นนี้
เหล่าสมาชิกในพรรค..ต่างช๊อค นั่งตะลึงอ้าปากค้างกันไปตามๆกัน
เพราะ..อัตราเสี่ยงนั้นสูงมาก เพราะการพูดครั้งผ่านๆมาในโรงเบียร์ก็ได้แค่พันกว่าคน..หรือ ถ้าในกลางแจ้งได้
สามพันคนนี่ก็ว่าเก่งสุดๆแล้ว
แต่..เก้าพันคนเนี่ยนะ..เมิงจะบ้าไปป่าว?? (เชื่อว่าเขาต้องด่ากันอย่างนั้นละนะ)
และถ้าหากโหรงเหรงละก้อ..พรรคเสียหน้าเสียชื่อ พาลเสียความเชื่อถือเอาซะด้วย
อีกทั้ง..SA ที่จะเข้ามาดูแลความเรียบร้อยก็มีแค่ 250 ในมือ จะเรียกเพิ่มเติมได้ก็คงแค่ 400 อย่างมาก ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึงสำหรับสถานที่ใหญ่โตเช่นนั้น
ถ้าหากเกิดเหตุด่วนเหตุร้าย อย่างที่เคยๆเป็นจะควบคุมได้อย่างไร
แต่ฮิตเล่อร์หาได้ฟังเสียงนกเสียงกาไม่..เดินหน้าต่อไป..แถมเก็บค่าฟังคนละ1 มาร์คต่างหากอีก
(ช่างท้าทายโชคชาตาเสียเหลือเกิน..พ่อเจ้าประคุณ)
ในเช้าตรู่ของวันที่ 3 นั้น ทัศนวิสัยโดยทั่วๆไปไม่ค่อยดี ฝนฟ้าทำท่าจะตกลงมา ฮิตเล่อร์เริ่มประหวั่นใจว่าผู้คนจะไม่ยอมออกมาจากบ้าน
เขาจึงใช้วิธีเก่าๆของพวกมาร์คซิสต์ที่เคยถนัดทำไว้ นั่นก็คือ การโปรยใบปลิวไปทั่วๆเมือง กว่าสองหมื่นใบ
โดยเช่ารถบรรทุกสองคัน ตกแต่งรถด้วยธงสวัสดิกะของพรรคและมีลูกสมุนนับสิบๆคนที่ช่วยกันโปรย...
ขับไปทั่วๆเมือง พร้อมโทรโข่ง
เล่นเอาพรรคการเมืองอื่นๆค้อนจนตาคว่ำ
ซึ่งฮิตเล่อร์เชื่อว่า..เพราะสถานที่ที่จัดนั้นอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟของเมืองมิวนิค อันเป็นเขตชุมชน ผู้คนสามารถไปมาได้สะดวก
ฉะนั้น..กระตุ้นด้วยแรงโฆษณาจูงใจซะหน่อย น่าจะส่งผลได้ดี
และวันนั้นทั้งวันเขานั่งอยู่ที่ทำการของพรรคอย่างไม่ติดที่..จนกระทั่งเย็น..เขาได้โทรศัพท์ติดต่อกับทีมงานแทบทุกสิบนาที
ถามถึงข่าวคราวหลักๆว่า ผู้คนเริ่มมากันหรือยัง?
จนกระทั่ง 19.45 เขาจึงเดินทางออกจากพรรคไปยัง Zirkus
เขาเขียนไว้ว่า...
"สองนาทีก่อนสองทุ่ม..ฉันเดินทางถึงลานประชุม และได้พบกับสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดในชีวิต นั่นก็คือ ความปิติที่เคยเกิดขึ้นเหมือนกับพบกับคนจำนวนเกือบพันครั้งที่พูดที่โรงเบียร์ แต่ที่นี่..
ไม่ว่าฉันจะมองไปทางไหน..ก็พบกับคนนับพันพันที่อยู่กันแน่นไปหมดจนไม่มีที่จะยืน
บัตรกว่า หกพันใบนั้นขายหมดเกลี้ยง !!"
(หมายเหตุ..เพราะพรรคได้ให้บัตรฟรีต่อนักเรียนและครอบครัวของผู้ร่วมทีมทำงานด้วย ผู้คนอาจถึงแปดพันคน)
หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการปราศรัยครั้งใหญ่แล้ว..ฮิตเล่อร์ก็มีชื่อเสียงติดอันดับ เป็นที่รักและชื่นชมของผู้คนทั่วไป ในทำนองว่า
โถ..เขารักชาติ ทำเพื่อชาติอย่างแท้จริง จะหาใครที่ไหนได้อย่างนี้ (อะไรทำนองนั้น) วาทะของเขาจับใจคนไปทั่ว
แม้แต่ในกลุ่มข้าราชการของรัฐเช่นตำรวจ
หลายต่อหลายหน่วยได้มาร่วมให้ความคุ้มครองอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย เพราะหลังจากนั้น ฮิตเล่อร์ได้
เปิดการปราศรัยครั้งใหญ่ๆที่มีคนเข้ามาฟังกว่าแปดพันคนอีกหลายครั้ง(จ่ายค่าผ่านประตูคนละหนึ่งมาร์ค)
ชื่อฮิตเล่อร์เริ่มเป็นที่คุ้นหู..แม้แต่พวกชนชั้นกลางขึ้นไป
รัฐบาลไวมาร์เริ่มติดตามผลงานของเขาอย่างใกล้ชิด
ผู้นำของแคว้นบาวาเรีย von Kahr ได้สนใจอยากได้ฮิตเล่อร์เข้าไปเป็นพวก จึงติดต่อมาทาง Rudolf Hess ว่าอยากพบเพื่อเจรจาในการทำงานร่วมกัน
วันนัดคือวันที่ 14 พฤษภาคม หลังจากวันเกิดครบรอบ 32 ปี ของฮิตเล่อร์ไม่กี่วัน ทั้งคณะคือ ฮิตเล่อร์, เฮสส์ ,เอกการ์ท, เดรคซ์เล่อร์,ได้เข้าพบกับ von Kahr
ซึ่ง..ในการพบครั้งนั้น von Kahr ไม่ได้ประทับใจในตัวนักพูดลูกทุ่งออสเตรียอย่างฮิตเล่อร์สักเท่าใดนัก แต่..เนื่องจากการต้องการใช้ความสามารถทางด้านการจูงใจของฮิตเล่อร์
การรับรองในวันนั้นจึงสมเกียรติพอประมาณ
Gustav Ritter von Kahr
และจากการยกระดับครั้งยิ่งใหญ่นี้ ฮิตเล่อร์ก็ยังเจอกับการดูแคลนจากกลุ่มไฮโซนักการเมืองผู้ดีเก่าไม่วาย จาก
การที่ที่อยู่ของเขานั้นไม่ได้จัดว่าอยู่ในเขต ย่านที่ดินราคาแพง..เครื่องแต่งกายรูปลักษณ์,นามสกุล,และ สำเนียง
ซึ่งบางครั้งเขาถึงกับต้องด่าออกมาอย่างไม่เกรงใจใครว่า..
”ไม่มีไอ้หน้าไหนสักคนหรอกในเยอรมันเนี่ย..ที่โคตรเหง้าไม่ได้มาจากท้องนา..!!”
ซึ่งตัวนาย Hess เองก็ยังอุตส่าห์ส่งจดหมายไปอธิบายปูมหลังของฮิตเล่อร์ให้กับ von Kahr เพื่อเป็นการยืนยัน
ด้วยข้อความว่า
“การที่ท่านฮิตเล่อร์ได้ก้าวขึ้นมาในยืนในแถวหน้าได้ในครั้งนี้ เพราะความรักชาติอย่างแท้จริง ซึ่งจากที่รู้จักและ
ทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิด ให้กระผมเห็นว่า เขาเป็นคนดี มุ่งมั่นในการทำงาน อีกทั้งเป็น
คริสตชนที่เคร่งครัด
สิ่งเดียวที่ท่านฮิตเล่อร์ มีอยู่ในความคิดนั่นก็คือ การปาวารณาตัวเพื่อชาติ อย่างแท้จริง..จนมิได้สนใจในการ
“ปรุงแต่ง“ ตนเอง เพื่อเป็นการสร้างภาพใดๆ
และ Hess ได้แนบประวัติการสู้รบในภาคสนามยามสงครามมาเสริมให้แน่นขึ้นไปอีก โดยกำกับว่า..
ใต้เท้า..จะหาใครเหมาะสมไปกว่านี้ไม่มีแล้ว !!
(หมายเหตุ เยอรมันได้แยกการปกครองเป็นสองสภาในรัฐบาลไวมาร์ คือ ส่วนกลาง และ ส่วนภูมิภาค ส่วนภูมิภาค นั่นก็คือ แคว้นสามแคว้น Prussia, Saxony, Bavaria, ต่างปกครองตัวเอง มีรัฐบาลเป็นของตัวเอง แต่ขึ้นตรงกับรัฐบาลไวมาร์)
แต่ในครั้งนั้น von Kahr ผู้นำของบาวาเรีย ไม่ลงรอยกับประธานาธิบดี Ebert อย่างแรง
ในการที่ Hess ได้บอกเกินเลยไปถึงเรื่อง การเป็นคริสต์ชนที่ดีของฮิตเล่อร์นั้น มันออกจะตีไข่ใส่สีไปหน่อย
เพราะแท้จริงแล้ว ฮิตเล่อร์ไม่นับถือพระเยซูเจ้าเนื่องจากพระองค์เป็นยิว แถม ถากถางพระสังฆราชอยู่เป็นประจำ )
Friedrich Ebert
ฮิตเล่อร์เองก็ไม่สะดวกใจกับการที่ต้องไปในงานรับเชิญของวงสังคมที่ยกระดับเหล่านั้น
ซึ่งเขามักได้รับเชิญให้ไปร่วมงานแทบไม่เว้นแต่ละวัน
เพราะนับตั้งแต่เป็นคนดังมานี่..ใครๆก็อยากให้ไปร่วมงานเพื่อเป็นไม้ประดับกันทั้งนั้น เขาเองก็ประจักษ์แก่ใจ
เช่นกัน ว่า ในสังคมนี้ มักมีแต่การใส่หน้ากาก ปากหวาน ก้นเปรี้ยว แต่เขาก็ต้องจำใจไป เพราะ ในแวดวงของการเมือง ไม่มีใครที่สามารถก้าวขึ้นไปถึงจุดสูงสุดโดยไม่ผ่านด่านตรงนี้..
เขาบันทึกไว้ว่า..
“พวกวงไฮโซ ที่พบเห็น..เป็นพวกบ้าความงาม บ้าวัตถุ ในขณะที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในสภาวะลำบาก ใกล้ล้ม
ละลายเต็มทีนี่..นับว่าเหลวไหลสิ้นคิดเต็มทน “
แถมสถานะการณ์บ้านเมืองตอนนั้นร้อนฉ่า..มีเหตุให้ฮิตเล่อร์ต้องเปิดการปราศรัยด่าได้รายวัน เช่น ส่วน Upper Silesia ที่ถูกเฉือนออกไปนั้น..
ประชาชนได้โหวตกันถล่มทลายขอกลับเข้าไปอยู่กับเยอรมัน
(เพราะสัมพันธมิตรถูกด่าจัดๆเข้าเลยให้โอกาสว่า แล้วแต่ประชาชนจะโหวตเข้ามา แต่พอโหวตแล้วก็ไม่ได้จัดการให้แต่อย่างใด)
ฮิตเล่อร์ก็เลย..ด่าซะยกใหญ่ คนเข้าฟังกันหลายพันต่างล้วนแล้วแต่สงสารและเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมชาติ และ
คะแนนนิยมของผู้พูดก็เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง
นี่คือที่มาของปัญหาภายในพรรค..!!
บรรยากาศภายในพรรคนั้น..เริ่มตึงเครียด เพราะ สาเหตุจากการที่ฮิตเล่อร์ใช้ชื่อพรรคต่อการกระทำที่ผิดไปจากนโยบายดั้งเดิม
นั่นคือรักษาความเป็นชาตินิยม
หากแต่แกนนำของพรรคระดับบิ๊กๆรวมทั้ง Drexler ได้ประจักษ์แล้วว่า มันกำลังเบี่ยง
เบนไปในเชิง Fascist (เผด็จการ)เข้าไปทุกที..และมันอาจเป็นอันตรายต่อชื่อเสียงของพรรค เพราะ ทุกๆคนนั้นล้วนแต่อยาก
ใช้พรรคเป็นฐานบันไดก้าวขึ้นไปนั่งบนสภากันทั้งนั้น
ขืนปล่อยฮิตเล่อร์พูดจาไม่บันยะบันยังต่อไป เห็นทีอนาคตทางการเมืองจะตีบตัน
ว่าแล้ว..ทั้งหมดก็นัดประชุมกันเพื่อ ริดรอนบั่นทอนสถานะภาพของฮิตเล่อร์กันในวันหนึ่งของฤดูร้อน 1921
แต่มาไล่เรียงกันไปแล้วมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะ
ฮิตเล่อร์เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการหาเงินเข้าพรรค
ฮิตเล่อร์เป็นคนที่หาสมาชิกนับร้อยนับพันเข้าพรรค
ฮิตเล่อร์เป็นคนสร้างชื่อเสียงให้พรรค
ฮิตเล่อร์เป็นคนประสานงานระหว่างสาขาของพรรค
และถ้าเกิดฮิตเล่อร์ไม่พอใจขึ้นมา..เขาอาจตบเท้าออกไปพร้อมพรรคพวกไปจัดตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาแข่งได้ทุก
เมื่อ..เพราะ เขาสามารถทำได้
ฉะนั้น..ทางที่ดีที่สุด คือ เสนอตำแหน่งประธานบอร์ดอันดับที่หนึ่งมาให้ซะเลย..แบบว่า เอาไปนั่งโต๊ะทำงานโก้ๆ
โดยมี Drexler เป็นผู้ช่วย
ฮิตเล่อร์ก็รู้เท่าทันเกมส์ ว่ากำลังถุกริดรอนอำนาจ.เลยปฏิเสธไปอย่างทันควัน
เพราะไอ้ตำแหน่งประธานบ้าๆนี่..ไม่ว่าจะทำอะไรต้องถือเสียงข้างมากเป็นเอกฉันท์ แล้ว หกต่อหนึ่งเนี่ยนะ..เมินซะเหอะ !!
แต่พรรคก็ยังหาได้สิ้นความพยายามไม่..
ทางที่ดีที่สุด คือ การรวมเข้ากับพรรคอื่นๆ..
เพราะจากที่ นายพล Ludendorff เข้ามามีส่วนกับกิจกรรมของพรรค(เพราะฮิตเล่อร์)
การประสานงานก็เริ่มขึ้นสู่ในระดับชาติยิ่งขึ้นกล่าวคือ
ได้มีการพบปะหารือกับพรรคชาตินิยมพรรคอื่นๆ มีการสลับผลัดเปลี่ยนตัว หรือกระทั่งการยุบพรรคเล็กพรรคน้อยเพื่อรวมตัวกับพรรคใหญ่ๆซึ่งมีเกิดขึ้นได้ประจำวัน
อย่างสองพี่น้องตระกูล Strasser ทั้ง Gregor และ Otto ต่างก็เข้ามาอยู่ในกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า National Socialist
แต่ในกลุ่มต่างๆเหล่านี้..ล้วนแล้วแต่นับถือกันด้วยการศึกษาและชาติตระกูลมาแต่เก่าก่อน
ฉะนั้น จึงมีการติดต่อโยงใยหากัน ติดต่อกันจึงมีแบบลับๆ
ซึ่งฮิตเล่อร์ "ผู้ด้อยการศึกษา"ไม่ได้มีส่วนร่วมหรือรับรู้เห็น..
กว่าจะมารู้ตัวก็กลุ่มนาซีของเขาก็ได้กำลังจะเจรจารวมตัวกับกลุ่มพรรค German Socialist Party {Deutsch-Sozialistische Partei}
ไปซะแล้ว..
พรรค GSP นี้ ถือกำเนิดมาในภาคเหนือของเยอรมัน และเพิ่งมาเกิดขึ้นหลังสงครามนี่เอง หากแต่ สัดส่วนและอิทธิพลนั้นมีมากมายกว่า
พรรคนาซีนัก
เพราะมีสาขาถึง 35 สาขารวมทั้งหนึ่งสาขาในเมืองมิวนิคด้วย นโยบายหรือก็คล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก
ถ้าจะรวมตัวกันได้ ภาพพจน์ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก สำนักงานใหญ่อาจต้องย้ายไปตั้งที่กรุงเบอร์ลิน
ทุกสาขาต้องขึ้นตรงอยู่กับสำนักงานที่นั่น..
นั่นหมายถึงว่า..เวทีการปราศรัยของฮิตเล่อร์นั้น อาจต้องถูกเปลี่ยนไป
และเขาคงไม่ใช่"ดาวเด่น"แต่เพียงดวงเดียว และหนทางที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำหรือหัวหน้าพรรคนั้น ...บอดสนิท
ฉะนั้น..เขาจึงหมดความอดทนต่อการถูกหลอกใช้ต่อไป..เขาประกาศกร้าวว่า...จะลาออก !!
หลังจากที่ประกาศไปแล้วว่าจะลาออกนั้น
ฮิตเล่อร์ได้มองหาลู่ทางใหม่โดยการเดินทางไปกรุงเบอร์ลิน เพื่อพบปะกับบรรดานายทุนสำหรับความเป็นไปได้ในการตั้งพรรคแยกตัวขึ้นมาใหม่
และใช้เวลาศึกษานโยบายของพรรคชาตินิยมอื่นๆด้วย
เพราะสิ่งเดียวที่เขามีนั่นก็คือ ฐานเสียงในมิวนิคที่แน่นปึ้ก อีกทั้งสามารถเข้านอกออกในสภาของรัฐบาวาเรีย(ที่ปกครองเมืองมิวนิค) ได้เพราะเส้นใหญ่นั้น..เขาคิดว่าน่าจะหาคนหนุนหลังได้ไม่ยาก
แต่ไม่ทันที่การเจรจาจะไปถึงไหน ปรากฏว่า สายลับวงในของเขาจากพรรคนาซีแจ้งมาว่า บัดนี้ นาย Drexler กำลังเจรจาประชุมกับสาขาอื่นๆเพื่อที่จะเข้าร่วมกับพรรค GSP ในเร็ววันนี้แล้ว..
โดยพวกเขาถือโอกาสตอนที่ฮิตเล่อร์ไม่อยู่
ฮิตเล่อร์จึงรีบเดินทางกลับมิวนิคทันที
และได้ทราบข่าวว่า..พรรค GSP ได้เปลี่ยนใจจากการต้องการที่จะรวมพรรค แต่กลายเป็น การต้องการที่จะล้มพรรคนาซีทั้งกระบิ
ให้มาขึ้นตรงกับ GSP แต่ผู้เดียว
ฮิตเล่อร์โวยลั่น..เรื่องอะไรจะมาให้พรรคอื่นชุบมือเปิบ เขาแถลงต่อที่ประชุมว่า..ถ้าไม่ใช่เพราะเขา พรรคไม่มีวันเงยหน้าอ้าปากมาได้จนถึงทุกวันนี้
ไม่งั้น..ป่านนี้ยังคงเก็บสตังค์ค่าใช้จ่ายของพรรคกันในกระป๋องขนมปังอยู่เลยด้วยซ้ำ !!
ว่าแล้ว เขาก็เดินออกจากพรรคไป พร้อมทั้งบอกว่า ใบลาออกกำลังจะตามมาในวันสองวันนี้ !!
ฝ่ายพรรคเพื่อไท..เอ๊ย.. GSP พอรู้เข้าว่า ฮิตเล่อร์ได้ลาออกไปจากพรรคนาซี..
จึงรีบส่งข่าวมาว่า การเจรจาบ้าบออะไรนั่น ขอให้ระงับไว้ก่อน
เพราะเป็นที่แน่ๆว่า ฮิตเล่อร์คงต้องมีสมัครพรรคพวกฝีปากดีๆลาออกตามไปเป็นโขยง แล้ว พรรคนาซีจะมีค่าเหลืออะไร
เผลอๆต้องหอบเอาพวกแก่ๆไร้น้ำยามาเป็นภาระเสียปล่าวๆปลี้ๆ
ทางฝ่ายพรรคนาซีก็ตระหนกตกใจ ทำไปทำมาปลาจะหลุดไปจากทั้งสองมือต่อหน้าต่อตา..ต่างก็ซัดทอดกันวุ่นวาย สรุปได้ว่า
ใครก็ได้ไปตามท่านฮิตเล่อร์กลับมาที กลับมาเจรจากันก่อน..
ตอนนี้ เป็นทีของฮิตเล่อร์..
เขาส่งใบลาออก..ด้วยข้อความที่บอกอย่างโจ่งแจ้งว่าไม่ชอบการทำงานของคณะบริหาร และ ถ้าต้องการให้เขากลับไปเป็นส่วนหนึ่งของพรรค นั่นหมายถึงว่า
1. การบริหารและการตัดสินใจ หมายถึงสิทธิอำนาจเด็ดขาดทั้งหมดต้องขึ้นตรงอยู่กับเขาคนเดียว
2. สาขาอื่นๆที่ไม่ได้ทำประโยชน์ต้องยุบตัวและคณะกรรมการต้องลาออกไป เช่นสาขา Augsburg อันเป็นสาขาแรกเริ่ม(ก่อตั้ง)ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับฮิตเล่อร์อย่างที่สุด
3. ล้มเลิกการเจรจาในเรื่องยุบพรรค รวมพรรคเสียให้หมด ถ้าใครยังดื้อด้านหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น มีโทษถึงไล่ออก
และข้อสรุปตบท้าย
เขาอธิบายมาว่า..
>>มิใช่ว่ากระผมจะโหยหิวอำนาจแต่อย่างใด หากแต่สถานะการณ์เป็นไปของบ้านเมืองนั้นต้องใช้การกระทำที่เด็ดขาด ซึ่งตลอดเวลามาคณะบริหารของพรรคไม่ได้ทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอันที่จะก่อประโยชน์ในทางก้าวหน้า ฉะนั้น..เรื่องการรวมตัวเข้ากับพรรคอื่นจะต้องไม่ใช่สาระอีกต่อไป..
นอกเสียจากว่า พรรคนาซีของเราจะเข้าไปครอบครองพรรคอื่นๆในวันข้างหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ
ข้อเสนอของกระผม..ควรได้รับการลงเสียงจากสมาชิกพรรคในวันประชุมวาระพิเศษที่พรรคควรจัดขึ้นเป็นการด่วน
ควรมิควรแล้วแต่จะพิจารณา
ลงชื่อ..อดอล์ฟ ฮิตเล่อร์
กรรมการพรรคทั้งหมด นั่งอ้าปากค้าง..หันหน้ามองกันเลิ่กลั่ก เอาไงกันดีล่ะฟะ?
ทางพรรครู้ดีว่า ถ้าขืนเรียกการประชุมวาระพิเศษขึ้นมา นั่นก็หมายถึงว่ามติเสียงส่วนใหญ่ต้องโอนเอนมาทางฮิตเล่อร์แน่นอน จึงเล่นเจ้าล่อเอาเถิด
ขอผลัดไปเป็นวันประชุมประจำปี ซึ่งจะมีในหกเดือนข้างหน้า.มันเป็นการซื้อเวลาเผื่อว่าพรรค GSP จะเปลี่ยนใจ
แต่ในช่วงนั้นทางพรรคก็ใช้วิธีการสกปรกตลบหลังฮิตเล่อร์โดยการ ส่งจดหมายเวียนไปยังสมาชิกในลักษณะใบปลิว..เนื้อความว่า..
ทางพรรคก็ได้อุตส่าห์เสนอตำแหน่งประธานอันดับหนึ่งท่านฮิตเล่อร์แล้ว แต่ท่านก็ไม่พอใจ เพราะท่านฮิตเล่อร์
ต้องการอำนาจแต่ผู้เดียว นั่นหมายถึงการเนรคุณท่าน Drexler ผู้ก่อตั้งพรรคผู้มีพระคุณอย่างหน้าด้านๆ และถ้าพวกท่านไม่ต้องการเห็นท่าน Drexler ต้องมาถูกล้มล้างไปอย่างไม่ยุติธรรม ขอให้ท่านสมาชิกจงมาลงมติในวัน
ประชุมใหญ่ประจำปีที่จะถึงให้พร้อมเพรียงกัน
แต่..ฮิตเล่อร์ก็ยังไม่หวั่นไหว ขอเรียกประชุมสมาชิกด่วน ในเดือนต่อมา
ซึ่งคราวนี้ แผนอุบาทว์ก็มาเป็นชุดนับหมื่นๆใบ โดยการโปรยใบปลิวออกข่าวว่า..
ฮิตเล่อร์ผู้ทรยศ ใช้พรรคเป็นบันใดสู่อำนาจ..บ้าง
ฮิตเล่อร์ผู้มีปูมหลังปริศนา..มาจากไหนไม่มีใครรู้..
ฮิตเล่อร์สมคบกับ Hermann Esser มีแผนลับเพื่อที่จะนำราชวงศ์กลับมาครองอำนาจ..
ฮิตเล่อร์ยักยอกทรัพย์ของพรรคไปปรนเปรอหญิงงามเมือง..
ฮิตเล่อร์..ด่ายิว ที่แท้..ปู่ก็เป็นยิว เพราะย่าไปท้องตอนที่ไปทำงานในบ้านเศรษฐียิว และเป็นการท้องแบบไม่มีพ่อ
ฮิตเล่อร์ อ้างตัวเป็น พระเจ้ากรุงมิวนิคในสถานที่อโคจร สถานเริงรมย์ต่างๆ
ใบปลิวดังกล่าวส่งออกไปเต็มถนน และที่ชุมชน..เพื่อหวังที่จะดิสเครดิตคนเพียงคนเดียว
และแน่นอนที่ข้อกล่าวหาว่า เขาเป็นยิวนั้น..
มันยิ่งกว่าเอาน้ำมันมาราดกองไฟเพราะตลอดเวลามาฮิตเล่อร์ต่อต้านยิวมาอย่างแข็งขันโดยตลอด ทั้งต่อหน้าและลับหลัง จู่จะมาว่าเป็นลูกหลานยิวได้อย่างไร?
สงครามแผ่นป้ายก็ระเบิดในคราวนี้...ฮิตเล่อร์ติดป้ายไปทั่วเมืองปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และระงับการปราศรัยไปชั่วคราว(ร่วมสองเดือน)โดยปริยาย
เพราะนี่คืออาวุธสิ่งเดียวที่เขามี..เพราะการอั้นไว้นั้น ทำให้การปราศรัยครั้งต่อไปของเขานั้นผู้คนจะต้องสนใจถึงต้องพากันแห่มานับพันเช่นเคย..
แล้วนั่นหมายถึงการเย้ยให้ Drexler รู้ว่า อำนาจนั้นมันอยู่ที่เขาโดยคนเดียว
มันเป็นเกมการประลองที่เขาเอาอนาคตวางเดิมพัน
และวันนั้นได้กำหนดขึ้น คือ 20 กรกฎาคม 1921 เวลาสามทุ่มและ Zirkus Krone เช่นเคย
ครั้งนี้ เขาปิดป้ายตัวเบ้อเร่อว่า.."ยิวห้ามเข้า"
ผลคือ คนแห่กันมาอย่างถล่มทลาย ยอมเสียเงินค่าเข้าคนละหนึ่งมาร์คถึงกว่าหกพันคน
การพูดในครั้งนั้นของฮิตเล่อร์ได้สะกดคนฟังราวกับมีมนต์ขลัง..ซึ่งไม่ใช่ปาฏิหารย์หรือเวทย์มนต์ใดๆทั้งสิ้น
หากแต่ เขาพูดราวกับนั่งอยู่ในใจของคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือพลเรือน
และที่สำคัญเขาไม่เคยต้องเสียเวลาในการร่างสุนทรพจน์
เพราะทุกอย่างนั้น มันกลั่นมาจากใจ..
และในการพูดครั้งนั้น เขาด่ารัฐบาลไวมาร์ชนิดสาดเสียเทเสีย ไล่ไปตั้งแต่นักการเมืองที่เห็นแก่ตัวไม่รู้จักเสียสละเพื่อชาติ
คบค้าอยู่กับพวกยิว..
หลังจากการปราศรัย..เสียงตบมือดังกึกก้องและยาวนานอย่างไม่เคยมีมาก่อน !!
และนี่คือชัยชนะอย่างขาวสะอาดของฮิตเล่อร์ เหล่าบรรดาพวกของ Drexler ที่ต่อต้านเขาเริ่มเงียบเสียงลงไป
เพราะมันได้ประจักษ์แล้วว่า อำนาจที่แท้จริงนั้นอยู่กับไผ..
สองสามวันต่อมา ฮิตเล่อร์เรียกประชุมพรรคเพื่อโหวตในวาระเปลี่ยนผู้นำ..
Drexler รีบรุดไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ(มิวนิค) เพื่อฟ้องว่า ฮิตเล่อร์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกประชุมใดๆในพรรค อันเป็นการกระทำที่อุกอาจ
เพราะ ไม่ใช่มติของคณะกรรมมาธิการ ซึ่งการกระทำของฮิตเล่อร์ครั้งนี้เป็นการสร้างความไม่สงบ
ตำรวจฟังเรื่องแล้วก็ส่ายหัว..บอกว่า มันเป็นเรื่องภายในของพรรค ตำรวจไม่มีหน้าที่ไปเกี่ยวข้องใดๆ
แป่ววววววววว.........*%#@
และวันที่ 29 กรกฎาคม การจัดประชุมได้เกิดขึ้นตามที่ฮิตเล่อร์ได้ประกาศไว้ เนื่องจากเป็นวันศุกร์ ผู้คนต้องทำงาน จึงมีคนมาร่วมแค่ 544 คน
หลังจากที่แถลงนโยบายไปแล้ว..โดยสรุปใจความว่า
"ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด เยอรมันที่ยับเยินนี้ จะต้องถูกกู้กลับขึ้นมาด้วยฝีมือของชาวเยอรมันเท่านั้น และ ไม่ใช่ด้วยวิธีทางการทูต.......
หากแต่มันต้องเป็นการลงมือปฏิวัติสถานเดียว!!
คะแนนโหวตคือ 543 เสียงเป็นเอกฉันท์ ฮิตเล่อร์คือผู้นำของพรรคนาซีคนใหม่อย่างเด็ดขาด
Drexler ถูกเตะโด่งไปนั่งเฉยๆเป็นประธานกิติมศักดิ์
ฮิตเล่อร์เอา "ผู้ช่วยวงใน" ของเขาทุกคนมานั่งประจำในตำแหน่งสำคัญๆทั้งหมดของพรรค
และจากวันนั้นเป็นต้นมา..การลงชื่อในจดหมายที่เขาเขียนสั่งงาน เริ่มลงท้ายด้วย
"der Fuhrer" (หมายถึง The Leader หรือ ท่านผู้นำ)
หลังจากที่ครองตำแหน่งหัวหน้าพรรคแล้วฮิตเล่อร์ก็ยังเดินสายปราศรัยอย่างปรกติ
คราวนี้โจมตียิวแบบเต็มๆทั้งเรื่องการเมืองและการค้า
หลายต่อหลายครั้งที่เกิดการขว้างปาจราจลถึงขนาดที่เหยือกเบียร์ลอยโดนหัวเขา
จนถึงกับน๊อค..โชคดีที่เหล่า SA หามออกมาได้ทันการ
Hermann Goring สมัยหนุ่มๆ
และในปี 1922 นี้เขาก็ได้พบกับเพื่อนใหม่ชื่อว่า Hermann Goring นักบินผาดโผนมือหนึ่งที่ผ่านสงครามและได้รับเหรียญกล้าหาญมากมาย
มีบิดาเป็นถึงผู้พิพากษาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นถึงข้าหลวงตัวแทนของรัฐบาลประจำอาฟริกาใต้ ในสมัยของบิสมาร์ค
นับว่าปูมหลังนั้นจัดว่าเป็นคุณหนูพอสมควร เขาจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อย และเมื่อหลังสงครามได้ลา
ออกไปเป็นนักบินให้กับสายการบินของสวีเดน จากนั้นเขาก็ได้พบรักกับลูกสาวเศรษฐีสวีดิชและแต่งงานกันในปี 1922 นั่นเอง
ความจริงชีวิตการเป็นอยู่อย่างสุขสบายในประเทศสวีเดนนั้น..เกอริงน่าจะพอใจ หากแต่การมัดมือชกของสนธิสัญญาแวร์ซายย์นั้นทำให้เขาอดรนทนไม่ได้ที่จะกลับมาช่วยกู้ชาติบ้านเมือง
ถึงกับเดินทางกลับเยอรมันพร้อมทั้งแคริน ภรรยาลูกผู้ดี
เขาเข้ามาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเมืองมิวนิคในภาครัฐศาสตร์และการเมือง ซึ่งความหัวรุนแรงของเขานั้น
เคยถึงกับชักชวนพวกเพื่อนทหารผ่านศึกด้วยกันให้มาร่วมทำการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาล
เขาเล่าว่า เนื้อหาในการประชุม เจ้าพวกทหารพวกนั้นดันพูดกันแต่เรื่องสวัสดิการที่อยู่ที่กินให้กับทหารผ่านศึก
จนเขารำคาญสุดๆต้องลุกขึ้นด่าตามประสาคนโผงผางว่า..
"ไอ้งั่งเอ๊ย..ไอ้ทหารพวกนั้นมันผ่านสงครามมาได้จนถึงป่านนี้ มันคงมีปัญญาหาที่ซุกหัวนอนได้เองแหละ ว่าแต่..มันจะหัวไปซุกไว้ที่ไหนก็เท่านั้น อาจเป็นบนหน้าอกนิ่มๆของสาวผมบลอนด์คนใดคนหนึ่งก็เป็นได้"
ว่าแล้วการพูดไม่หอมหูเช่นนี้ ผลก็คือวงแตกฮือ..ลุกขึ้นชกต่อยกันวุ่นวาย
จนมาในวันหนึ่ง เกอริงได้ยินชื่อเสียงของฮิตเล่อร์มาบ้าง จึงลองเข้าไปฟังการปราศรัย และสิ่งที่เขาได้ยินนั้นมัน
ทำให้เขาถึงกับตัวชาดิก
เพราะมันเป็นความจริงที่ประชาชนทุกคนได้แบกความคับแค้นไว้ในใจ..ในเรื่องสัญญาทาสที่เยอรมันจะไม่มีวันเงยหน้าอ้าปาก
เขาขอใบสมัครเป็นสมาชิกพรรคและกรอกลงไปพร้อมเซ็นชื่อทันที
ก่อนที่เขาจะกลับนั้น มีคนนำข่าวมาบอกว่า
ฮิตเล่อร์ต้องการที่จะพบกับเขาเป็นส่วนตัว
และ..ทั้งสองก็ได้ประจันหน้ากัน..ฮิตเล่อร์ได้พูดตรงๆกับเกอริงว่า กำลังต้องการคนที่จะมาคุมหน่วย SA อยู่ สนใจมั๊ย?
เกอริงตอบว่า ได้เล๊ย...ขอเวลาฝึกพวกนี้ให้มีวินัยแบบทหารในเวลาหนึ่งเดือน
ฮิตเล่อร์..ตกลงตามนั้น ว่า อีกหนึ่งเดือนจะมีการประกาศเป็นทางการ ถึงตำแหน่งหัวหน้าผู้บังคับบัญชา SA ของเกอริง
คนต่อไป..ที่เข้าสู่วงจรนั่นก็คือ Ernst Hanfstaengl หรือเป็นที่รู้จักในชื่อเล่นว่า "Putzi" ทายาทเจ้าของธุรกิจภาพ
ศิลป เขาจบมาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
(ประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะมีมารดาเป็นคนอเมริกัน) ที่เข้ามาฟังแล้วติดใจถึงกับเข้าร่วมทีมอย่างไม่รีรอ
(Putzi คือ นายทุนคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคนาซี เพราะจากการที่รู้จักเขาเชื่อว่า สักวันหนึ่งฮิตเล่อร์จะต้องเป็นผู้นำของเยอรมันอย่างแน่นอน)
ฮิตเล่อร์ให้ความสนใจกับเขาเป็นพิเศษจนจัดว่าเป็นคนสนิทคนหนึ่ง ระหว่างเขาทั้งสองได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของนโยบายการเมือง อเมริกา-เยอรมันอยู่เสมอๆ
Ernst Hanfstaengl
และวันโลกาวินาศก็ได้มาถึงคือ 11 มกราคม 1923 เมื่อเยอรมันไม่สามารถจะจ่ายหนี้ค่าปฏิกรรมสงคราม
สามพันสามร้อยล้านดอลล่าร์นั่นได้ ตามสนธิสัญญาแวร์ซายย์
เพราะการขูดรีดในผลิตผลส่งออก อีกทั้งทรัพยากรในประเทศ เยอรมันต้องประสบปัญหาขาดแคลนอย่างหนัก
ประชาชนอดอยากกันถ้วนหน้าจาก 4 มาร์คต่อหนึ่งดอลล่าร์ ขึ้นไปเป็น 75 เป็น 100 จนกระทั่ง 400 มาร์คต่อหนึ่งดอลล่าร์ในชั่วไม่กี่วัน
ฝรั่งเศสขู่ฟ่อๆว่าจะเข้ามายึดครองเมือง Ruhr (อันเป็นย่านอุตสาหกรรมโรงงาน) ซะให้รู้แล้วรู้แร่ด ถ้าไม่จ่ายมาซะดีๆ
เยอรมันก็ไม่จ่าย..เพราะไม่มีปัญญาจะจ่าย
ผลคือ ฝรั่งเศสก็ปฏิบัติตามคำขู่ นั่นก็คือ ยกทัพเข้ามายึดเมืองรัวร์ ซะเลยจริงๆ เพราะจะหาเรื่องอยู่แล้ว
มาถึงตรงนี้ ใครต่อใครในประเทศต่างก็พร้อมที่จะก่อการสไตร์คกันไปทั่ว รวมทั้งพรรคนาซีภายใต้การนำของฮิต
เล่อร์ที่มีสมัครพรรคพวกถึง 55,000 คน ซึ่งต่างก็พร้อมที่จะเคลื่อนขบวน
ฮิตเล่อร์รู้ว่า นี่คือโอกาสของการแสดงความเป็นผู้นำให้กระจ่างชัดแจ้ง
เขาและพรรคพวกจึงเริ่มคิดแผนการปฏิวัติยึดครองรัฐบาลบาวาเรียโดยการ(คิดที่จะ)เข้าประกบ เอาปืนจ่อคณะผู้นำ แล้ว
บีบบังคับให้รับพรรคนาซีเข้าร่วมรัฐบาล จากนั้นค่อยขยับขยายไปยึดอำนาจในกรุงเบอร์ลินต่อไป (เขาฝันกันว่างั้น)
เสนาธิการในการวางแผนครั้งนี้คือ ท่านวีรบุรุษสงคราม Erich Ludendorff ซึ่งจะได้ดำเนินการในวันที่มีการชุมนุมใน โรงเบียร์มิวนิค
อันเป็นวันที่นักการเมืองและนักธุรกิจได้มีการประชุมกันตามวาระ วันนั้นคือวันที่ 8 พฤศจิกายน 1923
กลุ่ม SA เข้าล้อมสถานที่ไว้โดยรอบ ฮิตเล่อร์และเกอริงพร้อมลูกสมุน ถือปืนเดินก๋าเข้าไป ฮิตเล่อร์กราดกระสุนขึ้นบนเพดาน ก่อนที่จะประกาศให้ทุกคนอยู่ในความสงบ
บัดนี้ การปฏิวัติได้เริ่มขึ้นแล้ว..แล้วก็เดินตรงไปที่เวทีประชุมที่ นาย Gustav von Kahr ผู้นำรัฐกำลังตกตะลึงอยู่
ฮิตเล่อร์ ขึ้นไปประกาศต่อว่า..ห้ามใครออกไปจากที่นี่ ขณะนี้ พวกเราได้ควบคุมสถานะการณ์ภายนอกได้ไว้หมดแล้ว ทั้ง ทหารและตำรวจ
ทั้งหมดอยู่ภายใต้คำสั่งของพรรคของเรา และเราขอยกเลิกรัฐบาลบาวาเรีย ณ บัดเดี๋ยวนี้ รัฐบาลใหม่กำลังจะเริ่มเข้ามาทำการบริหารในไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า
(ซึ่งทั้งหมดไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด หากแต่คนในโรงเบียร์นั้นไม่มีวันจะรู้ได้)
จากนั้น ฮิตเล่อร์ได้ต้อนผู้นำรัฐทั้งสามคน คือนาย von Kahr นายพล Otto von Lossow อธิบดีตำรวจ พันเอก Han von Seisser
เข้าไปในห้องเพื่อเจรจาให้โอกาสว่าจะมาร่วมในรัฐบาลใหม่หรือไม่
แต่เขาก็ต้องประหลาดใจ ที่ทั้งสามคนกลับไม่สนใจใยดีกับการปฏิวัติของเขาเลยแม้แต่นิด ซ้ำยังทำหน้าตาเย้ยหยันอีกซะด้วยซ้ำ
ฮิตเล่อร์จึงต้องใช้ไม้ตาย..จ่อปากกระบอกปืนไปที่คนทั้งสาม และบอกว่า
"ผมมีกระสุนอยู่สี่นัด สามนัดแรกสำหรับพวกคุณ นัดสุดท้ายสำหรับผม จะลองมั๊ยล่ะ"
ทุกคนก็ยังเฉย..จนฮิตเล่อร์อดรนทนไม่ได้ จึงเดินกลับออกมาข้างนอก
ประกาศในทำนองว่ารัฐบาลทั้งเก่าและใหม่ได้ทำการตกลงดำเนินนโยบายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เพื่อให้คนฟังเข้าใจว่า คณะสามคนที่อยู่ในห้องได้ยินยอมร่วมด้วยกับการปฏิวัติครั้งนี้
ผู้คนจึงเริ่มเอะอะ..เอ๊ะ มันอะไรกันหว่า??
และคราวนี้ ฮิตเล่อร์ส่งนายพล Ludendorff ไปช่วยเจรจากับคณะสามคนในห้องนั้น คราวนี้ มีการย้อนศรวางแผนตลบหลังฮิตเล่อร์โดยทำทีว่าตกลงตามที่ได้ประกาศออกไป..
ตัวนาย von Kahr ถึงกับขึ้นไปประกาศยืนยันว่าทุกอย่างจะเป็นเช่นนั้น
แล้วทั้งหมดก็ต่างร้องเพลงปลุกใจกันกระหึ่ม เพื่อรอวันรุ่งของพรุ่งนี้ ฟ้าจะมีรัฐบาลใหม่ให้กับเรา (คงจะเป็นในทำนองนี้ละนะ))
แต่แล้ว..ไม่ทันไร ข่าวจาก SA ที่ให้ไปดูแลสถานะการณ์กรมทหารก็กลับมาบอกว่า
"อิ๊บอ๋าย แล้วนาย ทหารมันไม่ยอมง่ะ แถมจะไล่ตื้บพวกผมด้วย"
ฮิตเล่อร์จึงรีบรุดไปยังหน่วยที่มีปัญหา นั่นคือการผิดพลาดอย่างแรง เพราะทันทีที่ฮิตเล่อร์หน้าตาตื่นออกไป เหตุการณ์ในโรงเบียร์เริ่มระส่ำระสายว่าจะเอาไงกันดี
และในขณะนั้น คณะผู้นำบาวาเรียทั้งสามคนได้หลบหนีออกไปทางประตูหลัง หายแว๊บ (พวกนี้คงต้องเก๋าเอาการ อย่างน้อยต้องระดับป๋า.. ว่าม๊ะ?)
จากนั้นก็เข้าสูตรเดิม คือ การสั่งจับผู้นำพรรคนาซี(อนาถา)ด้วยข้อหาทำการกบฏต่อบ้านเมือง และทำการอุกอาจใช้อาวุธปืนจี้บังคับ
นายพล Lossow ออกคำสั่งให้ทหารทุกเหล่าเข้าเตรียมตัวปลดอาวุธของหน่วย SA พร้อมทั้งประกาศยกเลิกพรรคนาซีภายในวันเดียวกัน
ฮิตเล่อร์นอนไม่หลับทั้งคืนได้แต่เดินไปเดินมา คิดหาทางกับพรรคพวกว่าจะเอายังไงกันดี
นายพล Ludendorff จึงตัดสินใจบอกว่า
ไหนๆก็มาถึงนี่แล้ว..ลุยไปเลย พรุ่งนี้ พรรคจัดขบวนมาร์ชเข้ากลางเมืองมิวนิค เพราะถ้าชาวบ้านชาวเมืองเห็นด้วย
เขาก็จะมาร่วมเดินขบวนกันมากมาย แล้วถ้าวีรบุรุษสงครามอย่างตัวนายพลเองเดินนำหน้า ใครหน้าไหนมันจะกล้ายิงเข้ามา..
Heinrich Himmler
ฮิตเล่อร์เห็นด้วยกับไอเดียนี้ เอาไงเอากัน
ว่าแล้ว..วันรุ่งขึ้น ประมาณ 11.00 ชาวนาซีกว่าสามพันคนได้เดินขบวนดังว่า คนถือธงเดินแถวหน้าคือสมาชิกใหม่เอี่ยม ชื่อว่า
Heinrich Himmler ขบวนมุ่งเข้ากลางใจเมืองหมายเข้าสู่ตึกอนุสรณ์สงคราม
แต่ต้องมาเจอตำรวจทั้งกรมที่มาตั้งมั่นกั้นไว้เสียก่อน
ทีนี้..ทั้งสองฝ่ายได้ประจันหน้ากันแบบกระชั้นชิด
ฮิตเล่อร์ตะโกนบอกให้ตำรวจยอมแพ้ วางอาวุธไปซะดีๆ
(แบบว่าหน้าตาเฉยเลย)
ผลคือ..ฝ่ายตำรวจสาดกระสุนเข้ามาสู่ขบวน โกลาหลบังเกิดขึ้นทันที Ulrich Graf องค์รักษ์ประจำตัวฮิตเล่อร์ กระโดดเอาตัวเองเข้ากำบังเจ้านาย จนฮิตเล่อร์ล้มลงไป ไหล่หลุด แต่ Graf โดนไปหนึ่งนัด แต่ไม่ถูกที่สำคัญ
ส่วนเกอริง..โดนหนึ่งนัด ใน"ที่สำคัญ"คือ ระดับหว่างขา
บริเวณต้นขาหนีบ เกือบไป..............!!!
ส่วนนายพล Ludendorff ได้ทำการสมชายชาติทหารนักรบ นั่นคือ เดินตรงไปให้ตำรวจจับกุมอย่างโดยดี อันเป็นว่า ยอมแพ้..
วงแตกกระจาย ทีนี้ตัวใครตัวมัน..
ฮิตเล่อร์หนีไปอยู่ที่บ้านของ Putzi ซ่อนตัวที่ห้องใต้หลังคา
เกอริงหนีไปขับเครื่องบินโปรยยาฆ่าแมลงอยู่ที่สวีเดน
ฮิมม์เล่อร์ หนีไปเลี้ยงไก่อยู่บ้านนอก..
แล้วประวัติศาสตร์การกบฏโรงเบียร์นี้ก็ได้จบตัวลง ท่ามกลางความขบขันของใครต่อใครหลายๆคนในยุคนั้น
แต่ไม่มีใครรู้เลยสักนิดว่า..หายนะครั้งยิ่งใหญ่กำลังจะเกิดในไม่กี่ปีต่อมา
เมื่อการปฏิวัติล้มเหลว ฮิตเล่อร์ดังที่เล่าไว้ว่าหนีไปซ่อนตัวในบ้านพักผ่อนบ้านหนึ่งของเพื่อนรัก ที่ชนบทเมือง Uffing ซึ่ง Helene ภรรยาของ Putzi
ได้ช่วยดูแลรักษาใหล่ของเขากลับคืนสู่สภาพปรกติ ก่อนที่จะมีการนัดหมายหลบหนีออกนอกประเทศต่อไป..
ซึ่งในขณะนั้นฮิตเล่อร์ได้ตีโพยตีพายจะยิงตัวตายท่าเดียว ถ้าถูกจับได้
และ..ในไม่กี่วันต่อมา รถตำรวจสองสามคันก็ได้แล่นปราดมาจอดเทียบถึงหน้าประตู เจ้าหน้าที่กรูเกรียวกันขึ้นมา
เฮเลนจึงให้คนรับใช้รับหน้าไปก่อน ส่วนตัวเธอก็รีบวิ่งขึ้นบันไดไปยังที่ซ่อนตัวของฮิตเล่อร์..
และภาพที่เธอพบนั้น..คือ เขากำลังเอาปืนพบจ่อที่ขมับตัวเอง แล้วบอกว่า อย่าเข้ามานะ..ผมจะจบปัญหานี้ด้วยตัวเอง
เฮเลนถึงกับส่ายหน้าด้วยความระอาใจ บอกกับฮิตเล่อร์ว่า เลิกทำตัวเป็นเด็กๆซะที ยอมไปสู้คดีเถอะ คงไม่หนักหนาอะไรหรอก..นะ..นะ..น่านะ !!
แล้วเธอก็ค่อยๆก้าวประชิดเข้าไปใกล้ๆ จนสามารถใช้วิชายูยิดซึ(เฮเลน เป็นนักกีฬาตัวยงในอดีต) เข้าล๊อดแขน แย่งปืนออกมาได้..
ตำรวจจึงพานักโทษการเมืองตัวเอ้ขึ้นรถ..ไปดำเนินคดีต่อไป
ป.ล. ผู้อ่านจะสังเกตเห็นได้ว่า การเขียนเล่านั้น ใช้ภาษาโจ๋มาก....
มันเป็นความตั้งใจที่จะเล่าให้สนุก เพราะประวัติศาสตร์เป็นสิ่งน่าเบื่อ เพราะในบ้านเรานั้นยังขาดวัตถุดิบอย่างมากมาย จนเป็นอุปสรรคในการขวนขวาย ค้นคว้า
ที่ได้อุทิศตนสละเวลา สละพลังงาน ระดมพลังสมอง เพียงแค่เชื่อว่า อาจเป็นประโยชน์สำหรับเด็กๆรุ่นใหม่ที่จะเข้าใจวัฏจักรของการเมืองของไม่ว่าประเทศใดๆได้ดีขึ้น เพราะมันช่างเกิดขึ้น
ได้ซ้ำๆซากๆเหมือนกันไปหมด เท่าที่เขียนมานี่ ก็คงจะพอเทียบๆได้กับภาวะของประเทศสารขัณฑ์ของเราในตอนนี้...
และอยากให้การเอื้อเฟื้อความรู้นี้เป็นตัวอย่างกับคนอื่นๆด้วย ทั้งๆที่ไม่ใช่นักวิชาการ เป็นเพียงคนที่สนใจ(แบบจริงๆจังๆ)และใจถึง..... ก็แค่นั้น
เคยคิดเหมือนกันนะ..เอ..จะเขียนดีมั๊ยหว่า เพราะเดี๋ยวจะมีคนมาค่อนขอดเอา แต่เมื่อได้ไปสัมผัสกับเวบไซท์ของใครต่อใคร(หมายถึงพวกฝาหรั่งง่ะ) หลายต่อหลายเวบ เขาจะมีข้อความบอกคล้ายๆกันว่า ไม่ใช่นักวิชาการ
หากแต่เขาสนใจและค้นคว้ามานานปี จึงอยากเอามาเผื่อแผ่
ฟังแล้วรู้สึกดี..........เลยเอามาเป็นพลัง !!
วิวันดา..
แล้วฮิตเล่อร์ก็ดังสมใจในชั่วข้ามคืน..ข่าวของเขาออกในทุกหน้าหนังสือพิมพ์ระดับในและนอกประเทศ พวกบรรดาผู้พิพากษาก็ท่าทางไม่ค่อยเข้มงวดอะไรนัก
(เพราะคงชินกับการปฏิวัติที่มันเกิดขึ้นบ่อยเสียเหลือเกิน อีกอย่างหนึ่งสถานะการณ์บ้านเมืองก็ช่างคับแค้นกดดันให้คนต้องลุกขึ้นมาอะไรบ้าๆ)
พวกท่านๆเหล่านั้นอนุญาตให้ฮิตเล่อร์พูดไปจนกว่าจะเหนื่อย
จะลุกขึ้นมาโต้แย้งหรือขัดแย้งใครในการให้การของพยานอย่างใดก็ได้ตามความพอใจ
ศาลเลยกลายเป็นเวทีปราศรัยของฮิตเล่อรไปอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว..
เขาประกาศก้องว่า..
....กระผ้มขอรับผิดชอบต่อการกระทำครั้งนี้แต่ผู้เดียว..แต่กระผ้มไม่ได้เป็นอาชญากรโดยสันดาน การต่อต้านรัฐบาลครั้งนี้ของกระผ้ม
จะมาเรียกว่าเป็นการปฏิวัติขายชาติไม่ได้ แต่ถ้าจะเปรียบเทียบว่ากระผ้มปราบโจร(หมายถึงรัฐบาล) เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนละก้อ..ค่อยใกล้เคียงความจริงหน่อย..แล้วขอกราบเรียนถามท่านประธานศาลที่เคารพว่า
กระผ้มผิดตรงไหน?
จากนั้นฮิตเล่อร์ก็ร่ายยาวตามถนัดว่า..
พรรคนาซีเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่รักชาติยิ่งชีพ และพวกเขาคับแค้นใจมาตลอดที่มองเห็น
การกระทำของคณะรัฐบาลบริหารบ้านเมือง
ได้หักหลังประชาชน ทหาร เพื่อที่จะฉวยโอกาสล้มล้างราชวงค์
ประกาศเป็นสาธารณรัฐประเทศ
สนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายให้ก่อการประท้วง และ
ประกาศยอมแพ้สงครามทั้งๆที่ ทหารกำลังอยู่ในแนวรบยังไม่ได้เพลี่ยงพล้ำให้แก่ข้าศึกใดๆ (ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า ก่อนหน้านี้ ทางฝ่ายเยอรมันและสัมพันธมิตรได้มีการประสานงานในเจรจาหยุดการรบที่เป็นการพบกันครึ่งทาง เพราะรัสเซียเองก็ขอพักไปแล้ว เนื่องจากการกบฎในประเทศ)
และ..รัฐบาลนี้ยังมีหน้าไปเซ็นสัญญาแวร์ซายย์ขายชาติอีกด้วย
อย่างนี้จะให้เก็บเอาไว้ทำอะไรขอรับ..ท่านที่เคารพ ??
พอเขาพูดจบเหล่าคณะผู้พิพากษาแทบปาดน้ำตา เพราะ มันเป็นจริงทุกประการ...!!
สรุปว่า..เป็นการบกพร่องโดยสุจริต..ว่างั้นเถอะ
หลังจากการขึ้นศาลรวมทั้งสิ้น 24 วัน ประชาชนได้อ่านข่าวและให้ความเห็นอกเห็นใจในความรักชาติของผู้นำพรรคนาซีคนนี้เป็นกำลัง
แต่ครั้นจะศาลปล่อยตัวไปง่ายๆเดี๋ยวก็จะเป็นเยี่ยงอย่างให้ใครต่อใครลุกขึ้นมาเดินขบวนอีก..เหล่าผู้พิพากษาก็แอบไปลงเสียงกันว่า
เอางี้..ปล่อยให้.ฮิตเล่อร์มันติดคุกไปนิดหน่อยก็แล้วกันห้าปีเอง..แต่เป็นแบบที่มีทัณฑ์บนน่ะ คือทำตัวดีๆก็ปล่อยตัวออกมาเร็วๆ
รวมไปถึงลูกพรรคคนอื่นๆด้วยคือโดนกันละนิดละหน่อย
หากแต่..ท่านนายพล Ludendorff ประกาศล้างมืออกจาการเมืองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา..
ฮิตเล่อร์ถูกนำตัวไปจองจำอยู่ที่คุกในเมือง Landsberg ด้วยห้องพักส่วนตัว มีหน้าต่างชมวิว รับแขกได้ไม่จำกัดเวลา
มีเลขาไว้คอยรับใช้ส่วนตัว..คือ Rudolf Hess
ที่นี่เอง..คือชีวิตการเป็นนักเขียนได้เริ่มต้น..นั่นคือ..หนังสือชีวประวัติการต่อสู้ Mein Kampf หรือ My Struggle (การต่อสู้ของข้าพเจ้า)ถูกเขียนเป็นบทแรก
และในยามที่สมองว่าง..เขาได้ไตร่ตรองถึงสิ่งที่ได้กระทำมาในอดีต จนมองเห็นความผิดพลาดหลายๆอย่างเช่น
การซุ่มซ่ามปฏิวัติทั้งๆที่ยังไม่พร้อม
(หมายถึงไม่มีกำลังสนับสนุนจากทหาร)
และ..สิ่งที่แน่นอนที่สุดในการเป็นรัฐบาล..นั่นคือ เขาต้องเล่นมันอย่างสมัยนิยม นั่นคือ ใช้การเลือกตั้งเป็นบันได..
เขาได้วางแผนบริหารพรรคอย่างรัฐบาล นั่นก็คือ มีกรม กอง ฝ่าย แผนก ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะต้องมีหัวหน้าคุม
ทุกคนจะต้องขึ้นตรงอยู่กับหัวหน้าพรรคเพียงคนเดียวอันเปรียบประหนึ่งประธานาธิบดี
แต่ฮิตเล่อร์ก็ได้แต่ฝัน เพราะปัญหาตามต่อมาคือ..พรรคนาซีและหนังสือพิมพ์เสียงเยอรมัน {Volkischer Beobachter} ได้ถูกรัฐบาลบาวาเรียสั่งยุบและถูกเพิกถอนใบอนุญาต
กรรมการที่อยู่นอกคุก ก็ไม่ได้ทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอัน วันวันได้แต่ทะเลาะกันเอง
ซึ่งเขาเองก็ทำอะไรไม่ได้มาก เพราะเท่าที่ได้รับโทษแค่นี้นับว่าโชคดีสุดๆ เพราะ
ถ้าไม่ใช่ นาย Franz Gurtner ปลัดกระทรวงยุติธรรมที่เคยชอบพอนิสัยฮิตเล่อร์สมัยที่เรียนการพูดที่มหาวิทยาลัยมิวนิคแล้วละก้อ..เขาอาจถูกเนรเทศกลับไปยังบ้านเกิดคือออสเตรียได้ทุกเมื่อ ในฐานะ
เป็นกะเหรี่ยงที่มาอาศัยอยู่ในเยอรมันแถมยังสร้างแต่ความเดือดร้อน
ตัวนาย Putzi หรือ.. Ernst Hanfstaeng เพื่อนซี้ได้หนีไปหลบตัวอยู่ที่ออสเตรีย..ตามคำแนะนำของทนายความ
ทั้งๆที่เขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติครั้งนั้นและเขาไม่ได้ใช้เวลาให้อยู่เฉยๆ..
เขาได้ทำหน้าที่เพื่อนที่ดี นั่นคือ ออกตามหาญาติของฮิตเล่อร์ในเวียนนา(ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว..เชื่อว่าเขาอยากรู้กำพืดที่แท้จริงของฮิตเล่อร์ต่างหาก)
และเขาก็ได้พบกับ Angela พี่สาวต่างมารดาของฮิตเล่อร์ ที่ทำงานเป็นแม่บ้านให้กับเศรษฐียิวคนหนึ่ง..โดยการที่เขาไปพบกับแอนเจล่า ที่ห้องพักในตึกแถบชนชั้นล่างอาศัยอยู่..
ที่นั่น..เขาได้พบว่าแอนเจล่าและลูกสาวสองคนคือ แอนเจลิกา อายุ สิบห้าหยกๆสิบหกหย่อนๆ กับ เอลฟรีดล์ อายุ สิบสาม อาศัยอยู่ในห้องอับๆซึ่งไม่มีแม้แต่เตียง
นอกจากพรมชิ้นหนาไว้รองนอน
เขาได้พาทั้งครอบครัวออกไปทานอาหารข้างนอก..แอนเจล่า ได้แต่บ่นถึงความทุกข์ยากที่ต้องเลี้ยงลูกสาวของตัวเองสองคน อีกทั้งต้องเลี้ยงน้องสาวแท้ๆของฮิตเล่อร์ พอลล่า ที่ไม่ค่อยสมประกอบ
ซึ่งตัวพี่ชายคือฮิตเล่อร์ก็ไม่เคยเหลียวแลส่งเสีย
เด็กสาวสองคนนั่น ท่าทางตื่นๆ เพราะดูเหมือนว่าจะไม่เคยออกมาสู่สังคมภายนอกมากนัก ทั้งหมดแต่งตัวด้วยเสื้อผ้ามอซออย่างเห็นได้ชัด
เขาพอสังเกตได้ว่า เด็กสาวทั้งสองมีลักษณะต่างกันอย่างเด่นชัด..
เจลิ..หรือ แอนเจลิกา ท่าทางปราดเปรียว แววตาสุกใส ฉลาดพูด ต่างกับน้องสาว เอลฟรีดล์ ที่ท่าทางเงียบขรึม พูดน้อย ขี้อาย