dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



ลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์ ตอนสอง


    
เจ้าฟ้าหญิงทั้งสองพระองค์ต่างรักใคร่กันดี และที่พระราชวังได้มีการจัดสร้างโรงละครขนาดเล็กที่มีเวที เพื่อให้ทั้งสองได้มีโอกาสเล่นละครหรือเต้นระบำถวาย เพราะสมเด็จพระราชินีทรงโปรดเรื่องการแสดง และการเต้นรำสากล
 ส่วนพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดการเต้นคองก้าประเภทเกาะกันแถวเรียงเป็นงูกินหาง

ในโลกของครอบครัวนี้..พระเจ้ายอร์จที่หกมักใช้คำจำกัดความว่า "เราทั้งสี่" ทุกครั้งไม่ว่าจะทำอะไร ทั้งๆที่พระองค์มีข้าทาสบริวารมากมาย ไม่รวมสุนัขและม้าที่มีอยู่นับสิบนับร้อย และเพื่อนที่มีแค่หยิบมือ

เรื่องการฟังเพลง ทั้งหมดโปรดปรานการเล่นเปียนโน ร้องเพลง อีกทั้งลุ่มหลงในเสียงเพลงของ บิง ครอสบี้
สมเด็จพระราชินีได้กำหนดหลักสูตรการเรียนให้กับเจ้าฟ้าหญิงทั้งสองด้วยพระองค์เอง
ซึ่ง..หนักไปในทางศิลปะนานาแขนง... มากกว่าวิชาคำนวน

ในปี 1939 ที่เยอรมันได้นำกำลังเข้ารุกรานโปแลนด์นั้น (ทั้งๆที่อังกฤษได้ห้ามแล้ว..ว่า อย่า..)
อังกฤษจึงต้องประกาศสงครามกับเยอรมัน ชาวลอนดอนที่มีที่ทางขยับขยาย..ต่างก็อพยพโยกย้ายออกจากเมืองหลวงพากันไปอยู่ตามบ้านที่ชนบท
 แต่สำหรับพระเจ้ายอร์จและครอบครัว"เราทั้งสี่" ไม่เสด็จไหนทั้งสิ้น ประทับอยู่แต่ในพระราชวังวินเซอร์(ที่อยู่ห่างไปจากลอนดอนเพียง ยี้สิบไมล์)  เจ้าฟ้าหญิงทั้งสองจะเสด็จลอนดอนก็เมื่อคราวต้องไปหาทันตแพทย์เท่านั้น
และในปีเดียวกับที่ประกาศสงครามนั้น..ทางรัฐบาลได้ประกาศให้เจ้าฟ้าหญิงอลิซาเบธเป็นมกุฏราชกุมารีอย่างเป็นทางการ
พระองค์ได้ยกเลิกการเรียนภาษาเยอรมัน และเพื่อเป็นการเอาอกเอาใจอเมริกามหามิตร พระองค์ได้เลือกเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของอเมริกาแทน..
   

ส่วนเจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ต..ในฐานะที่เป็นเจ้าฟ้าองค์สำรอง จึงไม่ใคร่มีใครมาเข้มงวดในเรื่องเรียนนัก พระองค์ทรงมีพระประสงค์แบบเด็กๆคือ อยากจะเรียนประวัติศาสตร์ตามพระภคินีเพราะอาจารย์ผู้สอนนั้นเป็นอาจารย์ที่มาจากโรงเรียนอีตันที่มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ทรงได้รับคำตอบว่า
 "อย่าเลย..เดี๋ยวจะไปเป็นการกวนพระทัย...."
 เจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ตถึงกับโวยด้วยความกริ้วว่า..
 "เพราะฉันมันเกิดช้าไปงั้นซิ?"

    

แต่การบ่มเพาะมกุฏราชกุมารี เจ้าฟ้าหญิง อลิซาเบธ ตั้งแต่เล็กแต่น้อยมานั้น นับว่าไม่เสียเปล่า เพราะพระองค์ได้ตระหนักในความรับผิดชอบ เข้มงวด และรักษาขนบธรรมเนียมได้อย่างเคร่งครัด สมดังพระทัยของพระบิดา
เท่านั้นไม่พอ..พระองค์สมเป็นหน่อเนื้อกษัตริย์ในทุกกระเบียดนิ้ว เพราะไม่ว่า พระบิดาจะโปรดอะไร เช่น การทรงม้า ล่าสัตว์ได้ทุกชนิด ตั้งแต่ แกะรอยกวาง จนถึงไก่ป่า..เจ้าฟ้าหญิงสามารถดำเนินตามรอยพระบาทได้ในทุกเรื่อง หรือ พระบิดาไม่โปรดอะไร เจ้าฟ้าหญิงก็จะไม่โปรดตามไปด้วย เช่น การไปทำพิธีสวดในโบสถ์ หรือ พิธีทางศาสนา
ครั้งหนึ่ง ท่านรัฐมนตรีแห่งสก็อตแลนด์ได้รับปากว่าจะมอบหนังสือดีๆให้..

พระองค์รีบขัดขึ้นว่า.."หวังว่าคงไม่ใช่หนังสือประเภทไบเบิ้ล หรือ เรื่องที่เกี่ยวกับพระเจ้านะ..เพราะสำหรับเรื่องราวของพระองค์น่ะ ฉันรู้หมดแล้ว"

            ยิ่งเรื่องพระอารมณ์ขันแล้ว..ถอดแบบมาจากพระบิดาเปี๊ยบ..ที่ชอบหัวเราะและเห็นขำกับพวกตัวตลกที่แสดงท่าทางแปลกๆ  ขันๆ ทำหกคะเมนตีลังกา
            ผิดกับเจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ต..รายนั้นเหมือนกับพระมารดาอย่างถอดแบบ ที่ชอบตลกแบบใช้คำพูดเสียดสีอย่างชนิดต้องกลับไปคิดสองสามตลบ
            เจ้าฟ้าหญิงองค์เล็กพระองค์นี้ ชอบเอาแต่พระทัย และ มักอาละวาดยามที่ใครบังอาจขัด ใครต่อใครที่รู้ฤทธิ์ มักตั้งสมญาให้ลับหลังเสมอว่า..
            "ตัวร้าย" บ้าง.."เหลือขอ" บ้าง
            แต่สำหรับพระบิดาและพระมารดาแล้ว..ทั้งสองพระองค์กลับเห็นว่า..น่ารักดีออก..พูดจาตรงไปตรงมาดี
            ไม่มีใครติดที่จะเปลี่ยนนิสัยหรือจับมาฝึกปรือใหม่ เพราะอย่างไรเสีย..เจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ตไม่ใช่พระราชินีต่อไปในอนาคต..
            แม้แต่พระองค์ก็ยังตรัสเสมอว่า
            "ฉันจะทำอะไรก็ได้ตามใจ ซนยังไงก็ได้ ไม่ใช่อย่างพี่ลิลิเบธนี่..จะได้ต้องมาระวังตัวแจ"

 แม้ทั้งสองพระองค์จะสนิทสนมกันเช่นไร แต่..ฝ่ายพี่..ก็ยังเป็นพี่ที่ต้องทำหน้าที่สั่งสอนน้องอยู่ตลอดเวลา
 แต่โดยวิธีของการช่างฟ้อง เช่น
  "มาร์กาเร็ตลืมบอกขอบคุณอีกแล้ว..ครอว์ฟี่...ฉันเลยต้องแอบสะกิดให้ถึงจะได้พูดออกมา.."
            หรือ..ยามที่เจ้าฟ้าหญิงอลิซาเบธได้ทรงเป็นหัวหน้าหมู่ใน Girl Guide (คล้ายๆกับลูกเสือหญิง) พระองค์ได้ทรงทำหน้าที่ อย่างเข้มงวด และวินัยจัด
            ไม่เว้นแม้กระทั่งพระขนิษฐาที่คุยไม่หยุด..
            พระองค์ได้ตรัสดุว่า
            "นี่..ในเครื่องแบบนี่..ฉันไม่ใช่พี่สาวของเธอนะ จะมาทำเล่นๆไม่ได้"
            เจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ต ทรงทำพระพักต์บูดเบี้ยว พร้อมกับทำท่าหยอกล้อไม่เลิก ไม่เกรงกรัวแม้แต่นิด แถมยังตรัสตอบอย่างไม่ลดละว่า
            "พี่ก็ไปดูแลบ้านเมืองและอาณาจักรของพี่เถอะ..สำหรับน้อง..น้องดูแลตัวเองได้"

            และอย่าว่าแต่เกรง..ต่อปากต่อคำกับพระราชินีในอนาคต เจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ตก็ไม่ละเว้น..เช่น
            "พี่ลิลิเบธกินขนมปังช็อคโกแลตไปตั้งสิบสี่อันแล้วนะ กินไม่หยุดเหมือนแม่เลย ไม่รู้จักคำว่าพอเสียมั่ง.."
            พระราชินีเองก็หมดปัญญา..ไม่รู้ว่าจะทรงทำอย่างไรกับการพูดอย่างโผงผางอันเป็นนิสัยของพระธิดาพระองค์เล็ก นอกจากได้แต่ทำเป็นไม่สนใจ อย่างในเรื่องที่พระองค์เองก็โดน
            เช่นในคืนหนึ่งที่เจ้าฟ้าหญิงเข้ามาช่วยในการฉลองพระองค์..และได้ทรงถามขึ้นว่า
            "แม่คะ..ทำไมต้องใช้ปิ่นอันนี้ด้วย น่าเกลียดจะตาย ใหญ่โตเบอะบะ..และไม่ได้เข้ากันกับทรงผมเลย"
            พระราชินีได้แต่ยิ้มๆ ทำไม่รู้ไม่ชี้..แค่ถามกลับไปเป็นพิธีว่า
            "อย่างนั้นหรือจ๊ะ"

            พระเจ้ายอร์จที่หก ก็ไม่อยากที่จะเคร่งครัดกับพระธิดาองค์นี้นัก เพราะว่าทรงเห็นพระทัยและสงสารที่เด็กๆทั้งสองต้องอุดอู้อยู่แต่ในวัง (ถึงห้าปี เนื่องจากบ้านเมืองมีสงคราม)
            จะไปเที่ยวเล่นเหมือนเด็กอื่นๆก็ไม่ได้
            เมื่อนายโนเอล โควาร์ด พระสหายของสมเด็จพระราชินีได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง In Which We Serve ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสงครามทางน้ำ และเป็นเค้าโครงเรื่องวีรกรรมของวีรบุรุษนายเรือ ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเทน (หรือที่เจ้าฟ้าหญิงทั้งสองต่างทรงเรียกว่า คุณลุงดิคกี้)ในขณะที่ กำลังรบกับข้าศึกด้วยเรือรบหลวง HMS Kelly
            ระหว่างถ่ายทำได้ทูลเชิญให้ไปเยี่ยมชมในสถานที่ถ่ายทำ
            และทั้งสองพระองค์ได้พาพระธิดาโดยเสด็จด้วย
            นี่คือ..โอกาสที่ครอบครัว"เราทั้งสี่" ได้เปิดหูเปิดตากับโลกภายนอก
            และพระธิดา..ได้ทำความรู้จักและสัมผัสกับ"โลกมายา" เป็นครั้งแรก

      

            

            มาถึงนี่ก้อเลยต้องเล่าเรื่องของ ท่านลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเทน หรือ คุณลุงดิคกี้ พระประยูรญาติที่ใกล้ชิดเสียก่อน เพราะบุคคลคนนี้ต่อไปจะกล่าวถึงมากมายเพราะเป็นกลไกสำคัญในความเป็นไปของครอบครัว
            "เราทั้งสี่" นี่มากทีเดียว..

            ท่านลอร์ดหลุยส์ คือพระโอรสของเจ้าชาย หลุยส์ แห่ง
            แบตเทนเบอร์ค ที่ได้ทรงยอมทิ้งตำแหน่งเจ้าชาย(สายเยอรมัน) มาดำรงตำแหน่งขุนนางอังกฤษตามสถานะเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (ติดตามอ่านได้จากกระทู้ที่แล้ว)
            แต่ทางสายเลือดแล้ว..ท่านลอร์ดก็คือ ลูกพี่ลูกน้องกัน.. เนื่องจาก ย่าของท่านลอร์ดเป็นพี่สาวแท้ๆของปู่ของพระเจ้ายอร์จที่หก
            ท่านลอร์ด เป็นนายทหารเชื้อพระวงค์ที่มีความสง่างาม..คล่องสังคม และ ติดหรูหรา และไม่ค่อยถ่อมตัวเท่าไหร่
            ความใกล้ชิดกับพระเจ้าอยู่หัวนั้นก็สนิทแนบแน่น เพราะไม่ว่าท่านลอร์ดจะโอ่หรือโวอย่างไร พระองค์ก็ไม่ทรงถือสา..

            ไม่ว่าพบกันคราใด ท่านลอร์ดมักชอบยกหีบเหรียญตราต่างๆมาอวดเป็นประจำ ดังเช่น..
            "เอ..หม่อมฉันได้ให้พระองค์ทอดเนตรเหรียญอัศวิน"ดาราประดับแห่งเนปาล" {Star of Nepal} ที่ได้รับมาหมาดหรือยังพะยะค่ะ?" ว่าแล้ว ท่านลอร์ดก็ให้ทหารเชิญกล่องเครื่องราชย์ขนาดใหญ่
            ที่ประดับประดาแวววาววูบวาบ ส่วนข้างในนั้น มีทั้งเหรียญตรา เข็มกลัด เครื่องหมายพระยศ อีกมากมายที่วางเรียงอยู่เป็นตับ ซ้อนเป็นลิ้นชักที่ดึงออกมาได้หลายชั้น..
            ที่เป็นเช่นนั้น เพราะ ท่านลอร์ดเคยได้รับความไว้วางพระทัยให้ไปครองเมืองอินเดีย ในตำแหน่งอุปราช
            (ที่..ครั้งหนึ่งท่านลอร์ดเคยขอพระราชอาญาสิทธิในการที่จะแต่งตั้งใครต่อใครให้เป็นอัศวินตามความพอใจ แต่
            สมเด็จพระราชินีได้ทรงคัดค้านหรือทรงเบรคแบบพระองค์โก่งทีเดียว ทรงตรัสว่า..ไม่มีใครมีสิทธิที่จะแต่งตั้งใครได้ทั้งนั้น นอกจากพระเจ้าแผ่นดิน)

            ทีนี้ก็คงจะรู้แล้วว่า..สัมพันธภาพระหว่างท่านลอร์ดและพระราชินีนั้นไม่ค่อยจะราบเรียบเท่าไหร่นัก เหตุเป็นเพราะว่า..
            ทางท่านลอร์ด กับ ศรีภริยา คุณหญิงเอดวินน่า และท่านดยุค ออฟ วินเซอร์ พร้อม หม่อมวอลลิส นั้น สนิทสนมกลมเกลียวกันเป็นอย่างดี
            อีกทั้ง คุณหญิงเอดวินน่า นั้นเธอก็ฟู่ฟ่า ล้ำยุค ล้ำสมัย..เป็นไฮโซที่ร่ำรวยและทำตัวได้หรูหราในทุกโอกาส รสนิยมก็แสนจะปรู๊ดปร๊าด เช่นชอบฟังเพลงแจ๊ซ ขับรถยนตร์สปอร์ต ชอบจัดงานค๊อกเทลเฮฮา..
            หรือ เปลือยกายเล่นน้ำท่ามกลางแสงจันทร์

           

 

ทุกอย่างนั้น...สมเด็จพระราชินีทรงเห็นว่าน่าเกลียดชัง..และส่อพื้นฐานของครอบครัวที่เป็นอภิมหาเศรษฐีก็จริง แต่ไม่ใช่ผู้ดี
            พระองค์เคยสาวประวัติของสาวเปรี้ยวคนนี้ให้นางพระกำนัลฟังว่า..
            "แม่ของเอดวินน่าน่ะ..เป็นลูกครึ่งยิวนะ เธอรู้ไหม ยัยนี่ถึงได้บ้าๆบอๆไม่เหมือนชาวบ้าน"

            อย่างไรก็ตาม..ถึงจะไม่ทรงโปรดครอบครัวนี้สักเท่าไหร่ พระองค์ก็มิได้แสดงออกจนนอกพระพักต์ แต่ได้ทรงเก็บความขัดเคืองไว้ในพระหทัยทุกครั้งที่มีข่าวของ เอดวินน่า
            ออกมาในหน้าสังคมแบบต่อเนื่อง ในฐานะหญิงผู้ที่มีรสนิยมการแต่งกายที่ดีที่สุดบ้าง..หรือ ไม่มีใครเหมาะสมในชุดของชาเนล..เท่ากับ เอดวินน่า บ้าง
            นี่คือคำสรรเสริญเยินยอที่หาอ่านได้ในหน้าหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ..
            ในขณะที่ สมเด็จพระราชินีมักแต่งฉลองพระองค์ด้วยชุดแสคเรียบๆ (ที่นักข่าวบางคนค่อนว่า เหมือนถุงครอบหัวเครื่องดับเพลิง)

            แต่เมื่อถึงคราว"เอาคืน" ในสไตล์ของพระองค์ที่ทรงถือว่า..ความแค้นนั้น ไม่ว่ากี่ปีก็ยังไม่สาย..นั่นคือ เมื่อปี 1960 ที่คุณหญิงเอดวินน่าได้ถึงแก่กรรม..ตอนนั้น
            พระองค์ (ที่ทรงถูกเรียกว่า ควีนมัม แล้ว) ได้ไปในงานพิธีศพที่พระวิหารรอมซี่ย์ และได้เสด็จกลับไปยังพระตำหนักแคลแร้นซ์ที่ประทับเพื่อที่จะติดตามพิธีศพในขั้นตอนต่อไปทางการถ่ายทอดโทรทัศน์
            ขั้นตอนต่อไปที่ว่านั้น..คือ การปล่อยศพลงทะเล พร้อมพิธีสลุต (ตามธรรมเนียมของทหารเรือที่ถือว่าเป็นเกียรติยศสูงสุด เพราะ คุณหญิงเป็นภริยาของท่านลอร์ดซึ่งเป็นเจ้านายฝ่ายกองทัพเรือ)
            และพระองค์ได้ตรัสแบบกึ่งสมเพชกึ่งสะพระทัยว่า..
            "อนิจจา..แม่เอดวินน่าเอ๋ย..ก็หล่อนชอบล่อนจ้อนว่ายน้ำตูมๆนักมิใช่หรือ..เห็นม๊ะล่ะ..ตอนนี้.ก็คงได้แหวกว่ายอย่างสมใจหล่อนแล้วละนะ.."

            

            ในการที่เริ่มขึ้นครองราชย์แบบจำเป็นของพระเจ้ายอร์จที่หกนั้น ก็นับว่าฉุกละหุกพอควร เนื่องจากต้องมาเจอกับกระแสต่างๆและความเป็นจุดสนใจ
            เพราะพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่แปดเพิ่งสละราชสมบัติไปด้วยเหตุผลดังที่ได้เล่ามาแล้ว..นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ช๊อคชาวโลกให้ตะลึงจังงัง

            อีกทั้งกระแสความนิยมของประชาชนที่มีต่อนาย วินสตัน เชอชิลล์ ก็มาแรง ที่เขานับว่าเป็นนักการเมืองดาวสภาดวงเด่น กำลังฉายแสง ปากกล้าออกหน้าเสนอความเห็นในเรื่องทิศทางและสถานะการณ์ของประเทศ
            อย่างไม่เห็นแก่หน้าใคร
            (ตอนนั้น ทางสภาที่กำลังมีเสียงแตกแยกในเรื่องสงครามว่าจะสู้กับเยอรมัน หรือ ถอยดีกว่า..)
            ที่ทำให้พระเจ้าแผ่นดิน และพระราชินี ที่ยังใหม่ต่อวงการดู"ด้อยราศรี"ไปอย่างถนัดใจ

            จากบันทึกของ รัฐมนตรี นาย วิคเตอร์ ซากาเร็ท ฝ่ายจารีตนิยม ที่ได้เขียนไว้ว่า..ทั้งสองพระองค์ทรงอึดอัดที่นายเชอร์ชิลล์ออกโรงไปเสียทุกเรื่อง เห็นทีจะต้องปรามกันซะบ้าง..

            แล้วไหนจะ คุณลุงดิคกี้ หรือ ท่านลอร์ด หลุยส์ เมาท์
            แบตเทน และภริยาสุดหรู ที่เป็นที่นิยมชื่นชอบของนักข่าวอีกเล่า
            เล่นเอาทั้งสองพระองค์ต้องทรงงานกันอย่างหนักที่จะจัดระเบียบให้เป็นไปตามจารีตประเพณีดั้งเดิม

            เมื่อพูดถึงประเพณีดั้งเดิม..ก็ต้องมาถึงเรื่องการหาคู่ครองที่เหมาะสมให้กับเจ้าฟ้าหญิงอลิซาเบธ..มกุฏราชกุมารีหรือ..พระราชินีพระองค์ต่อไป
            เรื่องนี้ ท่านลอร์ดหลุยส์ได้มาขะยั้นขะยอขอความเห็นจากสมเด็จพระราชินีตั้งแต่เจ้าฟ้าหญิงเพิ่งมีพระชนมายุได้แค่สิบสาม
            ซึ่งได้ทรงบอกปัดไปด้วยว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะคิด..
            แต่..ในขณะเดียวกัน..ทางฝ่ายพระนางแมรี่ พระอัยยิกา ได้ทรงเขียนชื่อเจ้าชายในสายราชวงค์ต่างมาเปรียบเทียบเล็งดูแล้ว ว่าจะมีใครเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร..
            ที่เห็นๆก็มี เจ้าชาย ชารลส์แห่งลักเซมเบอร์ค แต่เจ้าชายพระองค์นี้ ชันษาน้อยกว่าเจ้าฟ้าหญิง หรือ
            เจ้าชายเกิร์ม แห่งเดนมาร์ค
            แต่..ท่านลอร์ด..ได้เสนอและลุ้นหลานชายที่ตัวเองได้ให้ความอุปการะเลี้ยงดูมาประดุจบุตรบุญธรรม
            นั่นคือ เจ้าชายฟิลิป แห่ง กรีซ อย่างสุดตัว
            ตามประวัติ..คือ พระมารดา ของ เจ้าชาย ฟิลลิป นี้..คือ เจ้าหญิง อลีซ แห่ง แบตเทนเบอร์ค น้องสาว แท้ๆของท่านลอร์ด ที่ได้ไปอภิเษกกับ เจ้าชาย แอนดรูว์ แห่ง กรีซ เท่ากับว่า
            ท่านลอร์ดคือ ลุงแท้ๆของเจ้าชาย..อีกทั้งก็เปรียบเสมือนเป็นเครือญาติ ลูกพี่ลูกน้องกับเจ้าฟ้าหญิง อลิซาเบธ ที่นับได้ว่า ไม่ใช่ใครอื่นไกล..
            ชันษาของสองพระองค์นี้ก็ไล่เลี่ย..แก่อ่อนห่างกัน ห้าปี เมื่อเจ้าฟ้าหญิงมีพระชนมายุได้ สิบสาม เจ้าชายฟิลลิป สิบแปด และเป็นหนุ่มรูปงามไม่แพ้ใครทีเดียว
            ขั้นตอนแรก ที่ท่านลอร์ดได้แนะนำหลานชายนั่นคือ ให้ขยันเขียนจดหมายไปคุยด้วย..ฉันท์ญาติพี่น้องแบบสนุกๆเข้าไว้..ตำแหน่งพระคู่หมายจะไปไหนเสีย..!!

           

            ขอเล่าไปถึงบันทึกของรองท่านแม่ทัพเรือ ฮาโรลด์ ทอม เบลลี่-โกรฮัมน์ ที่ได้ออกปฏบัติการในฐานะกัปตันเรือรบหลวง แรมมิลลี่ส์ ในแถบมหาสมุทรฝั่งเมดิเตอเรเนียนในช่วงฤดูร้อนของปี 1939
            ท่านลอร์ด หลุยส์ ได้ขอร้องให้ท่านกัปตันช่วยสงเคราะห์พาหลานชาย
            เจ้าชายฟิลิป แห่ง กรีซ ที่เพิ่งเป็นนักเรียนนายเรือหมาดๆ ออกไปร่วมสังเกตการณ์ในการปฏิบัติงานครั้งนี้ด้วย
            และเนื่องจาก เจ้าชายฟิลิป ถึงแม้จะเป็นเจ้าก็จริง
            แต่เป็นลูกผสมมากมาย เชื้อชาติและสัญชาติของพระองค์ คือ กรีก แต่อยู่ในสายราชวงค์ของ Scheleswig-Holstein-Sonderburg-Glucksburg ที่มีพระบิดาเป็น เยอรมัน-เดนนิช ส่วนสายแม่ก็คือ Battenberg/Mountbatten
            ยังไงๆก็ไม่มีทางที่จะมา"รุ่ง" ในกองทัพเรือของอังกฤษได้อย่างแน่นอน
            หรือถึงจะได้มีโอกาสมาทำงานให้กับกองทัพเรือ..แต่..ถ้าหากเกิดการปะทะกันขึ้น ใครเล่าจะกล้าเสี่ยง
            ถ้าหากเจ้าชายแห่งกรีซเกิดเป็นอะไรขึ้นมา..เพราะตอนนั้น ฐานันดรทางราชบัลลังค์กรีซ ท่านอยู่ในอันดับที่หก
            ซึ่ง นี่คือข้อความที่ท่านกัปตันได้บอกออกไปตรงๆกับเจ้าชาย..
            แต่คำตอบที่ได้รับ...ท่านกัปตันถึงกับเป็นงง...เพราะเจ้าชายได้ตอบว่า
            "ท่านลุง (หมายถึงท่านลอร์ด) ได้บอกฉันว่า ต่อไปฉันอาจจะได้อภิเษกกับเจ้าฟ้าหญิง อลิซาเบธ "
            ท่านกัปตันจึงย้อนถามไปว่า.." ทรงรู้จักรักใคร่กันแล้วหรือ?"
            "งั้นมั้ง..ก็เขียนจดหมายติดต่อกันทุกอาทิตย์แหละ"
            ท่านรองแม่ทัพเรือ..รีบกลับเข้าห้องไปจดบันทึกข้อความนี้ไว้อย่างทันที ท่านว่า..กลัวลืม..เดี๋ยวข้อความในความทรงจำจะตกหล่น

           
            ต่อมาในปี 1941 เจ้าชายฟิลิปได้มีพระชนมายุครบยี่สิบปี แต่ก็ยังส่งจดหมายถึงเจ้าฟ้าหญิงหวานใจวัยสิบห้าอย่างต่อเนื่อง..
            จนพระญาติผู้น้อง เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งกรีซ
            เห็นพระองค์ขมักเขม้นทรงพระอักษร จึงถามว่า
            "พี่เขียนจดหมายถึงใครกันคะ?"
            "เจ้าฟ้าหญิงอลิซาเบธ แห่ง อังกฤษ"
            "อูยย..เธอยังเด็กอยู่นะคะ"
            "นั่นแหละ..วันหนึ่งพี่จะแต่งงานกับเธอ"
            ข้อความข้างบนนี้..เจ้าหญิงอเล็กซานดราทรงเล่าประทานมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้ และทรงเล่าต่อด้วยว่า ตอนนั้น ท่านทรงผิดหวังและเสียใจหน่อยๆ เพราะท่านอยู่ในวัยแรกรุ่น และมีจิตเสน่หาต่อเจ้าชายฟิลิปไม่น้อย
            อีกทั้งทางพระประยูรญาติต่างก็เห็นว่าคนทั้งสองเหมาะสมกันเป็นที่สุด

            ซึ่งเบื้องหน้าเบื้องหลังแล้ว..เจ้าชายฟิลิปนั้นอยู่ในความอุปถัมภ์ของเหล่าพระญาติที่ต่างก็ช่วยๆกัน"ลงขัน" เพราะครอบครัวที่แตกแยกอย่างน่าสงสาร
            พระมารดาคือ เจ้าหญิงอลีซ พระธิดาของ เจ้าชาย หลุยส์ แห่ง แบตเทนเบอร์ค( เจ้าชายรัฐมนตรีแห่งกองทัพเรืออังกฤษ..)
            พระบิดาของเจ้าชาย คือ เจ้าชายแอนดรูว์ พระโอรสองค์ที่เจ็ดของพระเจ้า ยอร์จที่หนึ่ง แห่งราชวงค์ เฮลเลนเนส (ทรงเป็นเจ้านายทหารเรือกรีซ) และเมื่อคราวสงครามที่ชาวเติร์คได้บุกรุกในประเทศกรีซ
            เมื่อปี 1922 นั้น..เจ้าชายแอนดรูว์ได้ถูกข้อหาว่าละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างการสู้รบ พระองค์ได้ถูกตัดสินด้วยโทษสูงสุด คือ การยิงเป้า..
            แต่ด้วยเส้นสายของพระชายาฝั่งอังกฤษ เจ้าหญิงอลีซ จึงได้เข้าไปขอความช่วยเหลือจากพระเจ้ายอร์จที่ห้า..ให้ช่วยชีวิตของพระสวามีด้วย..
            พระเจ้ายอร์จที่ห้า..เห็นทีว่าจะให้เหตุการณ์อย่างกรณีของซาร์นิโคลาสเกิดขึ้นอีกไม่ได้ จึงมีพระบัญชาให้เรือรบหลวง คาลิปโซ่ มุ่งหน้าไปยังกรีซ และขอร้อง"แกมบังคับ"ให้ปลดปล่อยพระญาติ
            ใครเล่าจะกล้าขัด...
            สรุปว่า..ทั้งครอบครัวของเจ้าชายแอนดรูว์ ที่มีพระชายาคือเจ้าหญิงอลีซ (ที่ไม่สมประกอบ เนื่องจากเป็นคนหูหนวก) พากันลงเรืออพยพ พร้อมทั้งพระธิดาทั้งสี่..
            และ หนึ่งพระโอรสน้อยวัยสิบแปดเดือนที่ต้องให้นอนมาในลังส้มอย่างทุลักทุเล

            (เจ้าโอรสน้อยพระองค์นั้น นามว่า เจ้าชาย ฟิลิป ที่เชี่ยวชาญในภาษามือเพราะมีพระมารดาหูหนวกที่เกิดจากการติดหัดเยอรมันตั้งแต่อายุได้สี่ชันษา....วิวันดา)

       Philipe and   Alice  (mother)

            หลังจากที่ได้แล่นเรืออกมาจากกรีซแล้ว..ทั้งครอบครัวได้ไปอาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศสเก้าปี มีชีวิตแบบลุ่มๆดอนๆ ค่อนข้างอัตคัต เพราะไม่ใช่เจ้าเศรษฐี
            และในฐานะ"ลี้ภัย" จึงเป็นที่ทราบกันดีว่าไม่มีสมบัติติดตัวมา..บ้านที่อยู่ก็ได้รับอนุเคราะห์มา เสื้อผ้าที่ใช้นุ่งห่มก็เป็นของที่ได้รับบริจาคจากพระญาติ
            เงินทองและค่าเล่าเรียนของเด็กๆก็มาจากความช่วยเหลือของใครต่อใครในสายสกุล
            เจ้าชายฟิลิปได้สามารถใช้ภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน และ อังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว..
            หากแต่..ภาษากรีก พระองค์ไม่รู้สักคำ

            ต่อมาในปี 1930 บรรดาเจ้าหญิงพี่สาวทั้งสี่ที่ต่างออกไปศึกษาต่อในเยอรมัน..ต่างออกเรือนกันแบบเรียงแถวจนหมดเถา ภายในเวลาเพียงเก้าเดือน
            (คนหนึ่ง แต่งงานกับ พันเอกในกองทัพ SS ของนาซี อีกคนหนึ่ง...แต่งงานกับเจ้าชายก็จริง แต่อยู่ในสายของฮิตเล่อร์ อีกคนหนึ่ง ตั้งชื่อลูกว่า Karl Adolf เพื่อเป็นเกียรติกับท่านผู้นำฮิตเล่อร์)

            หลังจากที่ลูกสาวออกเรือนกันไปหมด..เจ้าชายแอนดรูว์ก็ทรงออกลวดลายไปได้สาวใหญ่ไฮโซร่ำรวย ทิ้งครอบครัวไปนอนเล่นในเรือยอร์ชกับเจ้าหล่อนที่มอนตี คาโล..
            ทิ้งลูกชาย เจ้าชายฟิลิป วัยสิบขวบ และ เจ้าหญิงอลีซผู้พิการให้อยู่กันตามลำพังอย่างไม่สนใจใยดี

            เจ้าหญิงอลีซ..โดนมรสุมชีวิตกระทบกระทั่งจนต้านทานไม่ไหว พระองค์แทบทรงเสียพระสติ จนถึงขนาดต้องไปเข้าสถานบำบัดจิตที่สวิทเซอร์แลนด์ถึงสองปี
            พอออกมาจากสถานบำบัด..เจ้าหญิงก็เปลี่ยนไป..กลายเป็นคนที่เคร่งศาสนา และ ปวารณาตัวเพื่ออุทิศต่อพระเจ้า ทรงกลับไปที่ประเทศกรีซและได้ทำอุทิศองค์ให้ประโยชน์ต่อคนเจ็บและผู้ยากไร้
            (ในช่วงของสงคราม..เจ้าหญิงได้ช่วยเหลือให้ที่หลบซ่อนชาวยิวให้รอดตายจากเงื้อมมือของฮิตเล่อร์ จนได้รับเกียรติสูงสุดและการปลูกต้นมะกอกสดุดีในประเทศอิสราเอล...วิวันดา)
            และจากนั้นมา..จนถึงวินาทีสุดท้ายแห่งชีวิต..เจ้าหญิงได้แต่งพระองค์แบบแม่ชี และถือศิลพรรมจรรย์ อย่างเคร่งครัด
            (ยกเว้นอยู่วันเดียว..ที่แต่งพระองค์แบบไปรเวท วันไหนนั้นจะเล่าให้ฟังทีหลัง..เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินไปถึง)


            หลังจากที่เจ้าหญิงอลีซ พระมารดาต้องมาล้มป่วยไปอย่างนี้ เจ้าชายฟิลิปที่มีอายุแค่สิบชันษา จึงต้องไปอยู่อังกฤษกับพระปิตุลา(พี่ชายคนโตของแม่)
            คือ เจ้าชายยอร์จ แห่ง มิลฟอร์ด-เฮเวน ที่ค่อนข้างอื้อฉาว
            ในเรื่องของการเป็นผู้นิยมสิ่งโป๊ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังโป๊ หนังสือโป๊ รักวิตถาร รักร่วมเพศ เจ้าชายยอร์จเป็นอุดหนุนโลดดด..
            ข่าวว่า พระองค์ได้ทรงใช้เงินจำนวนแสนๆปอนด์ กับสิ่งต่างๆเหล่านี้ และหลังจากที่สิ้นพระชนม์ในปี 1938 ด้วยโรคมะเร็งทั้งๆที่มีพระชนมายุเพียง สี่สิบหก
            สมบัติโป๊ๆเหล่านั้นได้ถูกลำเลียงไปอยู่ในที่เก็บลับเฉพาะในบริติชมิวเซียม
            หลานชาย..เจ้าชายฟิลิป แห่ง กรีซ เลยต้องหล่นมาอยู่ในความดูแลของน้องชายคนต่อมา คือ ท่าน ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเทน ด้วยประการฉะนี้

            เพียงอายุแค่สิบปี เจ้าชายฟิลิปก็ได้ผ่านมาถึงสี่โรงเรียน ในความอุปการะของเหล่าพระญาติตามที่ได้เล่ามา..
            ขั้นต้น..ที่โรงเรียน Elms ใกล้กรุงปารีสที่ตั้งเฉพาะสำหรับลูกผู้ลากมากดี (จ่ายโดยพระญาติสายเยอรมัน)
            ต่อมาขั้นประถม ที่โรงเรียน The Old Tabor ที่นับว่าเป็นโรงเรียนที่เก่าแก่และเคร่งการสอนที่อังกฤษ (จ่ายโดยพระญาติสายอังกฤษ)
            จากนั้นก็ย้ายไปเรียนที่เยอรมัน โรงเรียน Schloss Salem ที่เมืองบาร์เดน เพราะพี่เขยคนหนึ่งคือผู้อำนวยการ (ตอนนั้นอายุได้สิบสองปี 1933)

            และไม่ว่าจะย้ายไปที่ไหน โรงเรียนอะไร เจ้าชายฟิลิปก็ยังครองเกรดเอไว้ได้อย่างเหนียวแน่น..โดยเฉพาะอาจารย์ที่เจ้าชายได้ทรงนับถือมาก นั่นคือ ด๊อกเตอร์ เคิร์ท ฮาห์น ผู้ซึ่งเป็นยิวที่ต้องออกจากประเทศเยอรมัน ขอลี้ภัยไปยังสก๊อตแลนด์โดยด่วน เพราะ สถานะการณ์ของเยอรมันเริ่มคุกรุ่น
            เมื่อมาถึงสก๊อตแลนด์ ด๊อกเตอร์ เคิร์ท ฮาห์น ได้มาเป็นอาจารย์ประจำที่โรงเรียน Gordonstoun ที่เป็นโรงเรียนประจำชาย ที่มีการฝึกคล้ายๆกับโรงเรียนทหาร อย่างเช่น
            ต้องวิ่งขึ้นลงเขาก่อนรับประทานอาหารเช้า..กลับมาอาบน้ำเย็นวันละสองครั้ง
            เจ้าชายฟิลลิปจึงย้ายมาเรียนที่นี่ ตามอาจารย์ที่พระองค์เลื่อมใส และ เป็นนักเรียนดีเด่น รวมทั้งได้รับเลือกให้เป็นกัปตันทีมคริคเก็ต และฮอคกี้
            ในบันทึกของด๊อกเตอร์ เคิร์ท ฮาห์น ได้กล่าวถึงศิษย์คนนี้ว่า..
            "แข็งแรง ดันทุรัง อาจมีสิทธิเป็นพวกรักร่วมเพศที่ไม่ยอมรับสภาพ
            (repressed homosexual ..เขาว่าไว้อย่างนี้นะ..ป่าวเขียนเอง....วิวันดา)

            ในห้าปีที่เจ้าชายฟิลิปได้ใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนประจำนี้ ไม่เคยมีใครมาเยี่ยมแม้แต่ครั้งเดียว และถึงแม้ว่าอยากจะกลับบ้าน เจ้าชายหนุ่มน้อยก็ไม่รู้ว่าจะกลับไปบ้านไหน
            เพราะไม่มีที่อยู่เป็นของตัวเอง..
            ระหว่างปิดเทอมระยะยาว ทางที่ดีที่สุดของพระองค์คือ..สลับไปเยี่ยมพระญาติคนโน้นคนนี้แล้วแต่สะดวก
            คนที่จ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงค่าขนมให้ นั่นคือ พระปิตุลา..มกุฏราชกุมารเจ้าชายแห่งสวีเดน แต่มันก็ไม่มากพอที่จะให้อยู่ได้อย่างสดวกสบายหรูหราสมฐานะ
            จะไปไหนที่เป็นงานเป็นการ..อย่างงานอภิเษกสมรสของพระญาติ เจ้าหญิงมารินา แห่ง เค้นท์ ที่เจ้าชายต้องขอหยิบขอยืมเสื้อผ้าของเพื่อนฝูงกันวุ่นวาย

            หลังจากที่ได้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียน Gordonstoun เจ้าชายฟิลิปอยากเข้าไปเป็นนักเรียนนายเรืออากาศ
            แต่ท่านลอร์ด เมาท์แบตเทน..ที่เปรียบเสมือนพ่อบุญธรรมไม่เห็นด้วยอย่างแรง..เพราะท่านว่า..
            "ทหารอากาศนั้น..ปล่อยให้ลูกชาวบ้านเขาเรียนกันไปเถอะ
            กษัตริย์ที่ทรงแสนยานุภาพหลายพระองค์ต่างทรงเป็นทหารเรือกันทั้งนั้น และโรงเรียนนายเรือเป็นที่ฝึกหัดวินัยและจะสอนให้เธอเป็นเจ้านายที่ดี"

            เพียงแค่นั้น..เจ้าชายฟิลิปก็เปลี่ยนเข็มจากทหารอากาศมาเข้าโรงเรียนนายเรือ ที่ ดาร์ทมัธ (The Royal Naval College at Dartmouth)ทันที

            เมื่อเข้าไปเป็นนักเรียนนายเรือแล้ว..ทั้งๆที่เจ้าชาย ฟิลิปทรงตั้งพระทัยไว้แล้วในเรื่องของการที่จะเป็นคู่หมายจนถึงขั้นอภิเษกกับมกุฏราชกุมารี เจ้าฟ้าหญิงอลิซาเบธผู้ซึ่งจะเป็นพระราชินีของอังกฤษต่อไปในอนาคต..

            แต่สามปีก่อนที่ความฝันจะเป็นจริงนั้น..เจ้าชายได้ตกหลุมรักกับดาราหนังอเมริกันที่สวยและเด่นดังสุดในยุคนั้น เธอคือ นางสาว โคบิน่า ไรท์ (Cobina Wright)

 


            ทั้งคู่ได้พบกันที่เวนีซ ขณะที่เจ้าชายได้กำลังจะเดินทางไปเยี่ยมพระปิตุฉา เจ้าหญิง แอสปาเชีย แห่ง กรีซ และเธอ..ได้เดินทางมากับเที่ยวกับมารดาที่มีนามเดียวกัน คือ นาง โคบิน่า ไรท์ ที่เป็นคอลัมนิสต์คนดังของหนังสือพิมพ์เฮอร์สต์
            สังคมของเธอก็จัดเข้าขั้นชั้นเทียบกับเจ้านาย..เนื่องจาก
            โคบิน่า มีบิดาที่เป็นอภิมหาเศรษฐีที่ถูกจัดขึ้นอันดับกลุ่มสารบัญเศรษฐี หรือในยุคนั้นเรียกว่า Social Register
            หลังจากที่ทั้งพ่อและแม่ของเธอได้หย่าขาดจากกัน..
            ชื่อฝ่ายหญิงผู้เป็นภรรยาก็ถูกลบออกไปจากสารบัญที่ว่านี่ ทำให้นางต้องใช้เส้นสายของการเป็นไฮโซรุ่นเก๋าหากินกับแวดวงสังคมระดับชั้นต่างๆ
            ในฐานะนักเขียนคอลัมน์ซุบซิบเอ็กคลูซีฟ
            โคบิน่าเคยบ่นให้ใครต่อใครฟังว่า..อายเขาจะแย่..ยามที่แม่รู้ว่าคนดัง หรือ เจ้านายอยู่ตรงไหน แกก็พยายามจะเข้าไปพบให้ได้

            ส่วนแม่..หรือ มิสซิส ไรท์ หรือ ยอดคุณแม่นั้น..พยายามปั้นลูกสาวคนสวยให้เป็นดาวได้จนสำเร็จด้วยความสามารถ
            ในปี 1938 โคบิน่าได้สมญาว่าเป็น "ที่สุด" ของทุกอย่าง..ถูกถ่ายรูปมากที่สุด สวยที่สุด ถูกสัมภาษณ์มากที่สุด มีข่าวบ่อยที่สุด ด้วยวัยเพียง สิบแปดปี

            ตอนที่เธอและเจ้าชายฟิลิปได้พบกันนั้น เธอเพิ่งได้เซ็นสัญญากับ 20 Century - Fox ในฐานะดาราประจำมาหมาดๆ คืนนั้นเธอได้ไปเที่ยวที่ไนท์คลับและขึ้นไปร้องเพลง
            พอดีกับเจ้าชายฟิลิปที่เพิ่งย่างพระบาทเข้ามา.. ทันทีที่ตาประสบ ศรรักก็ปะทะกันกลางอากาศ...เพราะเธอสวยหวานหยาดเยิ้ม..อรชรอ้อนแอ้น มีเสน่ห์จริตที่แสนจับใจ
            เธอช่างผิดแผกแตกต่างๆจากสาวยูโรเปี้ยนร่างตันทั่วๆไป ที่พระองค์ได้เคยรู้จัก

            เจ้าชายได้เข้าไปแนะนำพระองค์เองกับสาวน้อยหน้าหวานที่เคียงข้างอยู่กับมารดา ที่เผอิญ..รู้จักว่าชายคนนี้คือ เจ้าชายฟิลิป นางจึงรีบถอนสายบัวถวายบังคมอย่างอ่อนน้อม
            โคบิน่าจึงต้องรีบย่อตัวทำตาม เจ้าชายรีบเข้าไปประคองที่แขน..และตรัสว่า
            "ไม่ต้องหรอกนะจ๊ะ ฉันไม่ได้ถือยศถือศักดิ์อะไร ..และไม่ได้ใหญ่โตมาจากไหน ฉัน คือ ฟิลิป แห่ง กรีซ "
            "แค่..ฟิลิป แห่ง กรีซ ไม่มีนามสกุลหรือเพคะ?" หญิงสาวถามอย่างงงๆ
            "ใช่..แค่..ฟิลิป แห่ง กรีซ"
            และในที่สุดพระองค์ได้พยายามอธิบายให้เธอเข้าใจว่า เจ้านายยูโรเปี้ยนนั้น ไม่จำเป็นต้องมีแซ่ เพราะชาวประชาเขาก็รู้ดีกันว่า เป็นลูกใครหลานใคร
            เพราะ เจ้านายนั้นมีเพียงแค่หยิบมือเดียว
            ส่วนประชาชนคนอื่นๆจำเป็นต้องมีนามสกุล เพราะมีมากมายหลายเหล่า

            เจ้าชายได้เล่าให้เรื่องราวต่างๆของพระองค์ให้สาวงาม
            โคบิน่าฟังอย่างสนุกสนาน เช่นเรื่องการกรอกแบบฟอร์มต่างๆที่มักมีให้เลือก แค่ นาย นาง หรือ นางสาว ที่พระองค์ต้องขีดฆ่าออกหมด
            แล้วใส่ไปแค่ ฟิลิป เจ้าชาย แห่ง กรีซ และได้ห้ามเธอไม่ต้องใช้ราชาศัพท์ ขอให้ถือว่าเป็นเพื่อนกัน..
            ซึ่งช่างประทับใจผู้ฟังหนักหนา
            โถ..ช่างไม่ถือพระองค์เอาเสียเลย
            เจ้าชายเพลิดเพลินกับแม่สาวน้อยอเมริกันจนยอมอยู่
            เวนีซต่อไปอีกสามอาทิตย์ เพื่อที่จะได้มีโอกาสพาเธอและมารดาไปเที่ยวไหนต่อไหน

            จากนั้น..ธุระเรื่องการเป็นกองหนุนก็ตกเป็นของ
            มิสซิส ไรท์ ที่อยากได้ลูกเขยเจ้าชายจนตัวสั่น..ถึงแม้จะพอรู้ๆมาอยู่บ้างว่า พระองค์เป็นเจ้าก็จริง แต่เป็นเจ้าถังแตก
            (ภาษาอังกฤษ เขาเรียกได้อย่างสะใจกว่า..ว่า..A Prince without principality ) เธอก็ไม่รังเกียจรังงอน แถมยังช่วยจัดพร้อพประกอบฉากให้อีก
            เช่นการพาคนทั้งสองไปออกตามงานปาร์ตี้ของเพื่อนๆชาวไฮโซไม่เว้นแต่ละวัน
            เท่านั้นไม่พอ..เธอได้ชวนให้เจ้าชายเสด็จตามไปยังลอนดอนด้วย เพราะเนื่องจาก โคบิน่า แม่ลูกได้รับเชิญจากดาราหญิงอังกฤษชื่อดัง คือ บี ลิลลี่ ให้ไปพักที่บ้านตากอากาศในท้องทุ่งชนบทที่ออกแนวหรูหรา
            ซึ่งพระองค์มิได้ปฏิเสธ..อีกทั้งรับคำเชิญด้วยความเต็มพระทัย

            จากสามอาทิตย์ที่อยู่ด้วยกันในเวนีซ และอีกหนึ่งอาทิตย์ในอังกฤษนั้น ทั้งคู่ใกล้ชิดกันตลอดเวลา ไม่ว่าจะไปรับประทานอาหาร เต้นรำ ดูหนัง หรือ เกี่ยวก้อยเดินเล่นกินลม
            จนกระทั่งถึงวันที่ใกล้จาก..คืนหนึ่งก่อนที่สองแม่ลูกจะขึ้นเรือกลับอเมริกา..เจ้าชายได้ไปลาเธอที่โรงแรมคลาริดจ์ ที่พัก และมอบสร้อยข้อมือที่ตุ้งติ้งเป็นคำว่า I Love You ห้อยติดคู่กับธงชาติกรีก
            อีกทั้งมีการจุมพิตลาเคล้าน้ำตาของทั้งสองฝ่าย..

            จากนั้นต่อมาสามปี พระองค์ได้เขียนจดหมายถึงเธอ อาทิตย์และสองฉบับ พยายามที่จะขอเธอแต่งงาน..แต่..รักแท้แพ้รถ อย่างที่จิ๊กโก๋ไทยชอบพูดกันนัก
            เพราะ โคบิน่าได้ตัดสินใจแต่งงานกับลูกชาย
            มหาเศรษฐีโรงงานประกอบรถยนตร์ ในปี 1941 ซึ่งมารดาของเธอได้โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ..
            แต่..ต่อให้ลูกสาวแต่งงานแต่งการไปแล้ว ตัวแม่ก็ยังมีการติดต่อกับเจ้าชายอยู่อย่างต่อเนื่อง
            เพราะความที่เคยเป็นญาติดีต่อกัน พระองค์ถึงขนาดเซ็นสลักหลังภาพถ่ายให้กับมิสซิส ไรท์ ในถ้อยคำที่ว่า..ให้คุณแม่ที่รัก จาก ฟิลิป (คำว่า แม่ พระองค์ใช้เป็นภาษาสเปน ประโยคว่า... To my dear, Madre)

          
            เส้นทางชีวิตของเจ้าชายก็ยังยึดอาชีพทหารเรือเช่นเดิม และกลับมาเขียนจดหมายถึงเจ้าฟ้าหญิงอลิซาเบ็ธต่อไป (แต่..ในชีวิตต่อๆมา ก็เข้าทำนองลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น..เพราะเจ้าชู้เหมือนพระบิดา)
            ครอว์ฟี่..พระพี่เลี้ยงของเจ้าฟ้าหญิงเคยได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้ว่า
            "ในยุคนั้น พวกผู้หญิงต่างก็มีหวานใจอยุ่ชายแดนกันทั้งนั้น ใครต่อใครก็ถือเป็นแฟชั่นในการเขียนจดหมายให้กำลังใจ หรือมีการส่งของเล็กๆน้อยๆไปให้ปลอบขวัญ เจ้าฟ้าหญิงก็เหมือนกับเด็กสาวคนอื่นๆนั่นแหละ
            ที่ชอบทำอะไรตามๆกัน"

            จนครั้งหนึ่ง ครอว์ฟี่ได้พบว่า มีกรอบรูปของเจ้าชายฟิลิปอยู่ข้างพระที่บรรทม เธอถึงกับโวย..
            "จะไม่ฉลาดน้อยไปหน่อยหรือเพคะ ที่เอามาตั้งให้ใครต่อใครเห็น เดี๋ยวเขาก็เอาไปพูดกัน..ไม่งามเลยนะเพคะ"
            "อา..จริงซิ ครอว์ฟี่ ฉันลืมคิดไป"
            วันต่อมา..รูปนั้นก็หายไป..หากแต่มีภาพของชายที่ถูกระบายหนวดเคราให้ไว้จนเต็มหน้า..เจ้าฟ้าหญิงได้บอกกับเธอว่า
            "นี่ไง..ตอนนี้ก็ไม่มีใครรู้แล้วว่า เขาคือใคร.."
            แต่มันได้สายไปเสียแล้ว เพราะข่าวลือได้กระพือไปถึงไหนต่อไหน แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวถึงภาพชายในห้องพระบรรทม...และขยายความชัดเจนว่า คือ เจ้าชายฟิลลิป แห่ง กรีซ
            ข่าวนั้น..ทำเอา ท่านลอร์ดถึงกับหัวเราะเอิ้กอ้ากด้วยความพอใจ..

            จดหมายระหว่าง ลิลิเบธที่รัก และ ฟิลิปที่รัก ได้ส่งถึงกันอย่างต่อเนื่องไม่ว่าฝ่ายชายจะอยู่มุมไหนของโลก..เจ้าชายฟิลิปได้ตำแหน่งขึ้นมาเป็นเรือตรี ในปี 1942 และมีสิทธิได้กลับขึ้นฝั่งนานถึงสี่เดือน
            ซึ่งในช่วงนี้ พระองค์ได้รับเชิญให้ไปร่วมในงานคริสมาสต์ที่พระราชวังวินเซอร์
            (ที่มาทรงสารภาพทีหลังว่า..ที่รับเชิญนั้น เพราะไม่รู้จะไปไหน)

            ที่นั่นเจ้าชายได้สร้างความบันเทิงให้กับทุกคน..เช่นเล่าเรื่องตลกให้พระนางแมรี่ฟัง..พระนางได้ให้ความเห็นว่า เจ้าชายเป็นคนฉลาด ไหวพริบดี
            ส่วนพระเจ้าอยู่หัว..เจ้าชายมักเล่าเรื่องตื่นเต้นในการสู้รบของสงครามที่พระองค์ได้ผ่านมา เช่นการเครื่องบินข้าศึกส่งระเบิดมาเป็นของขวัญให้บ้าง หรือ การหลบทุ่นระเบิดอย่างหวุดหวิดบ้าง
            ซึ่งล้วนแล้วแต่หวาดเสียว และ เข้มข้นจนเกินจริง..พระเจ้ายอร์จที่หกได้ทรงออกความเห็นว่า..
            ปล่อยให้มันฟุ้งของมันไปตามเรื่อง..

            นายจอห์น ดีน มหาดเล็กต้นห้องของท่าน ลอร์ด หลุยส์ ได้เล่าว่า..
            เจ้าชายฟิลิปไม่ใครมีฉลองพระองค์พลเรือนมากนัก เท่าที่เห็นมีอยู่ก็เป็นแบบเดียวกับพวกที่ทำงานธนาคารเขาใส่กัน แต่ก็ต้องเข้าใจหรอกว่า เงินเดือนทหารไม่กี่สตางค์
            ตอนเสด็จมาประทับที่ลอนดอน บางทีก็มีมาแค่ที่โกนหนวดอันเดียว ไม่รู้ว่า..เพราะเป็นชินกับการเป็นทหาร...หรือว่า..อัตคัตในเรื่องฉลองพระองค์
            ตอนกลางคืนเขาต้องนำไปซักรีดให้ใหม่ บางทีก็ต้องมานั่งซ่อมที่ชำรุดให้ด้วย

            
            เมื่อถึงปี 1944 เจ้าชายแอนดรูว์พระบิดาได้สิ้นพระชนม์ในอ้อมอกของสาวไฮโซชู้รัก
            หลังจากที่ตัดขาดไปจากเจ้าหญิง อลีซ พระชายาและเหล่าพระธิดาพระโอรสนานถึง ห้าปี อีกทั้งไม่ได้มีสมบัติอะไรที่จะทิ้งไว้ให้ดูต่างพระพักต์
            นอกจาก กระเป็าเสื้อผ้าสองสามใบ ที่ข้างในนั้นมีสูทเก่าๆที่มีรูมอดไชห้าหกชุด และ กล่องหนังที่มีรอยฉีกขาด
            ข้างในบรรจุชุดสำหรับโกนหนวดด้ามเป็นงาช้าง
            เจ้าชายฟิลิปไม่ได้ทรงใส่พระทัยไปรับ"มรดก" ที่ว่านั่น จนกระทั่งสองปีต่อมา..
            เมื่อไปรับมาแล้ว ก็จัดแจงนำสูทเก่าๆนั่นส่งไปซ่อมแซม ปะชุนเสียใหม่
            เพื่อที่จะได้ทรงดูดีขึ้นมาบ้าง ในฉลองพระองค์แบบพลเรือน

            แต่..สำหรับพระเจ้ายอร์จที่หกที่เคร่งครัดในเรื่องนี้..ชนิดที่ว่า ถ้าชายคนใดไม่มีเครื่องแต่งกายที่เป็นสักหลาดอย่างดีสวมใส่แล้วละก้อ ทรงถือว่าเป็น"ไม่มีคลาส" เอาเลยทีเดียว
            และยิ่งถ้าไม่มี.."บวกสี่" (plus four) สำหรับชุดลำลองด้วยแล้ว ถือว่า"หลังเขา" อีกต่างหาก

 


            (บวกสี่..คือกางเกงขนาดสี่ส่วน ทรงออกพองตรงต้นขา และมารัดที่กลางน่อง คล้ายๆกับ นิ๊คเกอร์บ๊อคเกอรส์ หรือ กางเกงกอล์ฟ แต่ที่เรียกว่า บวกสี่ เพราะจะยาวเลยเข่ามาสี่นิ้ว..วิวันดา)

            ขณะที่เจ้าชายประทับอยู่เป็น"แขกเชิญ" ในพระราชวัง
            วินด์เซอร์ยามนั้น(1943) ก็ต้องทรงเข้าร่วมในกิจกรรมของเจ้านาย..คือ การไปยิงไก่ป่า ซึ่งเจ้าฟ้าหญิงหวานใจทรงรบเร้าพระบิดาให้พาเจ้าชายออกไปด้วย แต่ พระองค์ทรงเกี่ยงงอนในเรื่องที่ว่า จะให้โดยเสด็จไปด้วยไม่ได้
            เพราะเจ้าชาย ไม่มี"บวกสี่"ใส่แล้วจะออกไปล่าสัตว์กับกลุ่มได้อย่างไร อายเขาแย่

            เจ้าฟ้าหญิงอลิซาเบ็ธ ไม่ทรงยอมแพ้..ทรงว่า..งั้นก้อ..ให้ทรงของเสด็จพ่อก็ได้นี่คะ..

            ในที่สุด พระบิดาพระทัยอ่อน ยอมให้ยื้ม"บวกสี่" เอาไปทรง..แต่กระนั้นก็ยังไม่วายค่อนขอดในเรื่องของการที่พระองค์ไม่เคยพบ ไม่เคยเห็น ว่า..
            เจ้าชายอะไร..อนาถาซะจนไม่มีชุดนอน หรือ รองเท้าแตะนุ่มอย่างดี แถมรองเท้าที่สวมมาก็ถลอกปอกเปิกจนเห็นแล้ว..ทรงอายแทน..

            ราชเลขาธิการส่วนพระองค์ เซอร์ อลัน (ทอมมี่) ลาส์เซลเลส แทบไม่เคยนับว่า เจ้าชายฟิลิปพระองค์นี้ คือ เจ้านาย เขาประเมินค่าไว้ให้แค่เป็น "พวกนักเลง"เท่านั้น
            เพราะจากกิริยามารยาทที่ออกแนว"ห่าม" และ "ไม่เรียบร้อย" แบบพวกเยอรมันทั้งหลาย ที่นึกจะหัวเราะก็ปล่อยออกมาลั่น..ไม่สำรวม ไม่น่าเลื่อมใส

            ในขณะที่..เจ้าชายทรงเรียก พระเจ้ายอร์จ และ พระราชินี อย่างสนิทสนมว่า ท่านน้าเบอร์ตี้ ท่านน้าอลิซาเบ็ธ ก็ตาม แต่พระราชินียังอดตะขิดตะขวงพระทัยไม่ได้
            เพราะ ทรงรู้สึกว่า เจ้าชายบังอาจตีซี้ และทำตัวสบายยังกับอยู่บ้านของตัวเอง..แถมยังเรียกใช้มหาดเล็กอย่างไม่เกรงใจพระองค์ด้วย
            ซึ่งทั้งสองพระองค์ไม่เคยล่วงรู้หรือมีสังหรณ์เลยว่า..
            เจ้าชายพระองค์นี้..คือผู้ที่เจ้าฟ้าหญิงอลิซาเบ็ธได้ลุ่มหลง รักใคร่ และทรงหมายให้มาเป็นคู่ชีวิตอย่างไม่มีวันเปลี่ยนพระทัยแล้ว

            คนภายในวัง ต่างก็เห็นถึงพระอาการของเจ้าฟ้ามกุฏราชกุมารี ที่มีการหยอกล้อ ยิ้มหัวอย่างสนิมสนม และ แม้แต่เวลาเสวยพระกระยาหาร ที่พระราชินีต้องทรงเอ็ดเอาบ่อยๆ
            ว่า..นี่..เลิกเตะกันใต้โต๊ะซะที..ระวังมารยาทหน่อย
            หรือแม้แต่เจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ต ที่ทรงเย้าพระภคินีบ่อยๆในเรื่องของเจ้าชายฟิลิป
            หากแต่ พระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีมิได้สนพระทัยนัก

            จนกระทั่งเมื่อปี 1944 ที่สองพระองค์ได้ทรงสังเกตุเห็นว่า
            เจ้าฟ้าหญิงได้ทรงพระเจริญวัยขึ้นมากกว่าที่คิด ในงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำที่มีเต้นรำ ที่จัดขึ้นโดยดัชเชสแห่งเค้นท์ นั้น ภาพที่ลงหราฟ้องว่า เจ้าชายฟิลิปคือคู่เต้นรำของเจ้าฟ้าหญิงในทุกเพลงตลอดทั้งคืน..
            แต่ก็ทรงคิดว่า..คงไม่มีอะไรเกินเลยไปมากกว่าเป็นเรื่องของเด็กๆ
            จนกระทั่ง..วันเฉลิมพระชนม์ครบ สิบแปดชันษาของเจ้าฟ้าหญิง ที่..ท่านลอร์ดได้สู้อุตส่าห์ไปสะกิดให้พระเจ้ายอร์จ แห่ง กรีซ ให้ทรงเป็นผู้ใหญ่ไปทาบทามสู่ขอกับพระเจ้ายอรจ์ ที่หก
            ซึ่งพระองค์ได้สบัดพระสุรเสียงกลับมาว่า..ไม่สมควรต่อเวลา..ยังเป็นเด็กกันเกินไป...
            และพระองค์ได้ทรงจดหมายไปรายงานพระมารดา พระนางแมรี่ ถึงเรื่องนี้ว่า..

            "ลูกเห็นว่า ยังไม่ถึงเวลาที่ลิลิเบธจะมีคู่ครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง..เธอยังไม่เคยพบปะเจอะเจอกับชายอื่นๆคนไหนเลย ลูกไม่ได้รังเกียจฟิลิป เขาก็ท่าทางเป็นคนดี เฉลียวฉลาด
            แต่ลูกเห็นทีต้องสำทับไปกับยอร์จว่า..ให้ไปปรามฟิลิปให้ระงับความคิดในเรื่องนี้ไปก่อน.."


            แต่ท่านลอร์ดไม่ได้เห็นว่านี่คือการขัดขวางความรักของคนทั้งสองจากในวัง..เพียงแค่..โดยเนื้อความนั้น มันเป็นการขอเวลา"ดูใจ" ต่างหาก
            เพราะฉะนั้น ท่านลอร์ดจึงเข้าเกียร์เดินหน้าเต็มตัว
            โดยการเริ่มจัดการปรุงแต่งหลานชายให้เหมาะสมกับตำแหน่ง"พระสวามี"ต่อไปในภายภาคหน้า..
            ขั้นแรก คือ.. การที่ต้องเปลี่ยนสัญชาติและศาสนา
            ขั้นต่อไป คือ การหมกเม็ดความเป็นเลือดเนื้อของเยอรมันให้มากที่สุด เพราะ เจ้าชายยังอยู่ในสายราชวงค์ของพระบิดา คือ Scheleswig-Holstein-Sonderburg-Glucksburg ที่เป็นเยอรมันแต้ๆ
            อีกทั้ง พระนาม ฟิลิป ก็รับถ่ายทอดมาจาก เจ้าชาย ฟิลิป แห่ง เฮสส์
            แถมบรรดาพี่สาวทั้งสี่ ก็พากันแต่งงานกับชาวเยอรมันสายเลือดนาซีระดับแนวหน้ากันเป็นแถวๆ

            ฉะนั้น ท่านลอร์ดจึงต้องใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะต้องกลบเกลื่อนเรื่องนี้ให้เนียนที่สุด โดยการที่ทำหนังสือรับรองต่อสภามั่นคงของอังกฤษ ใจความว่า
            "เจ้าชายฟิลิปได้ทรงพำนักและอยู่ในประเทศมาเกือบตลอดพระชนมายุ อีกทั้งพระองค์ได้สมกับเป็นสุภาพบุรุษชาวอังกฤษทุกประการ ไม่ว่าเรื่องการทรงม้าที่แคล่วคล่อง หรือกีฬาอื่นๆ
            และพระองค์ทรงเข้ารับราชการเป็นทหารเรือมาตั้งแต่ก่อนสงครามด้วยเจตนาที่จะเป็นเลือดเนื้อของแผ่นดินอังกฤษไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่"
            จากนั้น ท่านลอร์ดก็เขียนจดหมายถึงหลานชาย บอกถึงความคืบหน้า..ว่าได้กระทำอะไรลงไป..
            เจ้าชายกลับตอบกลับมาอย่างเหนื่อยหน่ายว่า..
            "ขอร้องเถิดครับ..คุณลุง อย่าลุ้นหนักนักเลย..ผมอายเขา"
            ที่เจ้าชายตอบเช่นนั้น เพราะว่า..ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์
            เดอะ นิว ยอร์ค ไทม์ ได้ลงว่า
            "การเลือกคู่ตามแฟชั่นยุคใหม่..ของเจ้าฟ้าหญิงอลิซาเบ็ธ ที่ตอนนี้ เจ้าชาย ฟิลิป แห่ง กรีซ กำลังมาแรง"
            ทางสำนักพระราชวังได้ปฏิเสธในข่าวนี้อย่างสิ้นเชิง ว่า..
            ไม่มีมูลความจริง

            แต่สำหรับจิตใจประชาชนที่แห้งแล้วเพราะตรากตรำกับสงครามมานานถึงหกปี ทุกคน"กระหาย"ต่อข่าวที่เป็นมงคล และ โรแมนติคเสียหนักหนา พอเยอรมันพ่ายแพ้สงครามในปี 1945 เท่านั้นแหละ
            ทุกคนจึงพากันไปโห่ร้อง แซ่ซ้อง สรรเสริย ยินดีต่อพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงนำชาติต่อสู้จนได้รับชัยชนะ และ ในการโห่ร้องถวายพระพร ต่อพระพักต์ของทั้งสี่พระองค์ที่ออกมาประทับอยู่ที่เฉลียงที่ประทับนั้น
            เสียงอึงคนึงต่อมา นั่นก็คือ
            " ฟิลิปอยู่ไหนล่ะ.."
            "ฟิลิปไม่มาด้วยหรือ"
            "จะทรงอภิเษกกับฟิลิปเมื่อไหร่?"
            เจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ต ถึงกับส่ายพระพักต์และพึมพัมกับพระภคินีว่า..
            "พี่ลิลิเบธที่น่าสงสาร..มีความรักประสาอะไรกัน ชาวบ้านชาวช่องรู้กันไปหมด..ไม่เป็นเรื่องส่วนตัวสักนิด"

            พอได้รับชัยชนะศึกสงครามมาหมาดๆ พระราชวังวินด์เซอร์ก็ถึงคราวที่ต้องเปลี่ยนลุคใหม่ วังสีทึมๆ หรือ เครื่องเรือนแบบเยอรมันนั้นถึงคราวต้องโละทิ้ง และ การทาสีที่สดชื่นก็ถูกนำมาใช้แทนที่
            แม้แต่..ตัวนายกรัฐมนตรีคนเก่า นายวินสตัน เชอร์เชิลล์ก็พลอยถูกโละทิ้งไปด้วยโดยประชาชนที่ไม่ได้เลือกลงเสียงให้
            หากแต่..ที่ถูกรักใคร่แน่นแฟ้นไปกว่าเดิมอีกร้อยเท่าพันเท่านั้น คือ พระเจ้ายอร์จที่หก และพระราชินี ในฐานะที่ทรงตัดสินและเดินหมากการเมืองอย่าวชาญฉลาดและถูกต้องจนชาติพ้นภัย..
            วันที่ประชาชนได้คราคร่ำที่หน้าพระราชวังในวันที่ชนะศึกนั้น..พระเจ้ายอร์จที่หกทรงเต็มตื้นในความจงรักภักดีที่ได้รับจนต้องตรัสตอบต่อประชาชน แบบตะกุกตะกัก..ว่า
            "Th-th-thank God for g-g-good people!"


            หลังจากที่เมฆหมอกร้ายของสงครามได้ผ่านพ้นไป..
            พระเจ้ายอร์จที่หกจึงพยายามที่จะใช้เวลาทั้งหมดให้ความสุขกับครอบครัวให้เต็มที่ โดยเฉพาะให้กับเจ้าฟ้าหญิงมกุฎราชกุมารี
            โดยการแปรพระราชฐานไปพระราชวังบัลมอรัล เพื่อไปหาความสำราญกับการยิงนกตกปลาแบบพ่อๆลูกๆ
            ทรงลืมไปว่า หกปีกับการอุดอู้อยู่แต่ในวินเซอร์นั้น เจ้าฟ้าหญิงที่ทรงเป็นสาวเต็มพระองค์
            ก็อยากจะไปเที่ยวเต้นรำแบบหนุ่มๆสาวๆกับเขาบ้าง..

            เจ้าฟ้าหญิงในยามเจริญวัยขึ้นมานี้ ได้ทรงมีนางพระกำนัลส่วนพระองค์ รถยนตร์พระที่นั่งเดมเล่อร์ พร้อมพลขับ และ มีพระตำหนักแยกส่วนพระองค์
            เรื่องโรงเรียนนั้น..ไม่เคยเสด็จ ไม่เคยเสด็จออกนอกประเทศ
            ไม่เคย..แม้แต่ต้องเปิดน้ำสำหรับสรงเอง
            พระองค์เคยร่ำๆที่อยากจะทรงขับรถยนตร์เอง แต่..ก็ได้แต่หวัง เพราะ ทรงตรัสว่า
            "เคยขอไปทีนึง..แต่..โอ้โห กลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องประชุมกันวุ่นวาย เลยไม่เอาดีกว่า"

            สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ พระเจ้ายอร์จที่หก พระบิดา ไม่ใช่เป็นคนที่มีความคิดริเริ่มเป็นของตัวเองมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เพราะเกรงว่าจะผิดพลาดไปหมด
            ไม่ว่าพระองค์จะทรงทำอะไร หรือตัดสินพระทัยในเรื่องอะไร ทุกอย่างต้องผ่านการกรั่นกรองจากสภาเสนาบดีเสียก่อน
            แม้แต่พระราชินีเองก็เถอะ..ยังไม่ค่อยกล้าตัดสินพระทัยเช่นกันว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุด และเหมาะสมที่สุดสำหรับพระธิดาทั้งสอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจุกจิก เช่นเรื่อง ฉลองพระองค์ใหม่ ม้าตัวใหม่ หรือว่า รถยนตร์
            ทั้งหมดมักตกอยู่ในความพิจารณาเหมาะควรของสภาเสนาบดีทั้งสิ้น

            อย่างเดียวที่สองพระองค์เห็นพ้องต้องกัน โดยไม่ต้องพึ่งตัวช่วย นั่นคือ เรื่องไม่เห็นด้วย..ต่อการเสนอตัวเป็นพระราชบุตรเขยของเจ้าชายฟิลิป แห่ง กรีซ
            ด้วยเหตุผลสั้นๆคือ เจ้าฟ้าหญิงยังทรงพระเยาว์ อีกทั้งไม่เคยได้พบปะกับชายอื่น..และในเหตุผลประการที่สองนั้น ทำให้ การจัดงานเลือกคู่ในรูปแบบของทีด๊านซ์ ได้เกิดขึ้นมาระนาว
            โดยการเชื้อเชิญชายหนุ่มที่เข้าข่ายมาชุมนุมกัน รวมทั้งบรรดานายทหารหนุ่มโสดลูกผู้ดีทั้งหลายด้วย
            ซึ่งไม่ว่าจะหน้าไหนมา..เจ้าฟ้าหญิงก็มีที่ติได้แทบทุกเรื่อง ไม่ว่า..อ้วนไป น่าเบื่อ ตัวเหม็น ปากห้อย ฯลฯ


            จนในปี 1946 ดือนสิงหาคม ที่เจ้าชายฟิลิปได้เป็นเเขกรับเชิญให้ไปร่วมในกิจกรรมครอบครัวเราทั้งสี่ ที่พระราชวังฤดูร้อนบัลมอรัลอันเป็นประเพณีแล้ว..
            เจ้าชายได้ถือโอกาสแอบทูลขอเจ้าฟ้าหญิงในเรื่องการอภิเษก ซึ่ง พระองค์ทรงตอบรับแบบไม่ต้องเสียเวลาคิด
            นี่คือการตัดสินพระทัยด้วยองค์เองเป็นครั้งแรกในชีวิต

           

 

และ..นี่คือการทำศึกครั้งใหญ่กับพระบิดาและพระมารดา ที่ต่างกล่าวตรงกันว่า คิดได้ไง..ที่จะทรงอภิเษกกับเจ้าชายจนๆอย่างฟิลิป
            และ กำแพงขั้นต่อไปคือ กฏมณเฑียรบาลมาตราที่ 1772 ที่กำหนดขึ้นมาโดยว่าไว้ว่า
            ก่อนที่เจ้านายจะทรงอภิเษกสมรสกับใครก็ตาม ต้องผ่านการเห็นชอบและได้รับพระบรมราชานุญาตเสียก่อน ซึ่ง ตรงนี้ คือไพ่ที่พระเจ้ายอร์จถือไว้เหนือกว่า โดยการทรงทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้
            คนเดียวที่อยู่ข้างเจ้าฟ้าหญิง..นั่นคือ พระอัยยิกา พระนางแมรี่..ที่ยามมีคนมาทูลถามว่า
            "ทรงต้องการให้พระราชนัดดามีพระสวามีชนิดไร?"
            พระองค์ทรงตรัสตอบด้วยพระสุรเสียงที่ราบเรียบว่า..."เป็นคนที่มีประโยชน์(ต่อบ้านเมือง) ก็พอมั้ง"

            ขณะเดียวกันที่พระเจ้ายอร์จที่หกได้ทรงนำเรื่องนี้ไปปรึกษาต่อเหล่าคณะเสนาบดีเกี่ยวกับเจ้าชายฟิลิป คณะเสนาบดีก็กางโพลล์ที่หนังสือพิมพ์ ซันเดย์ พิคเจอเรียล ให้ทอดพระเนตร
            ว่า..สี่สิบเปอร์เซนต์ของชาวอังกฤษยังไม่ปลื้มกับเจ้าชายนัก เพราะถือว่า เป็น"คนต่างชาติ" โดยที่ทุกคนอาจลืมไปว่าเมื่อ ร้อยปีก่อน..เจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีของพระนางวิคตอเรียก็เป็นเจ้าชายมาจากเยอรมัน

            แต่ผู้ที่ไม่มีลืมนั่นคือ เหล่าเสนาบดีนั่นเอง..ที่ เมื่อครั้งนั้น ยามที่เจ้าชายอัลเบิร์ตมาเป็นพระสวามีอิมปอร์ต ทุกคนก็จ้องเรียกพระองค์ลับหลังว่า "เจ้าเยอรมัน" และเรียกเหล่ามหาดเล็กของพระองค์ที่ติดสอยห้อยตามว่า
            "พวกสายลับเยอรมัน"
            ซึ่ง ในกรณีของเจ้าชายฟิลิปนี้ ก็โดนสมญาเช่นกัน เขาเรียกว่า " ฟิลเจ้ากรีก" {Phil the Greek}

            แต่สำหรับเจ้าชายแล้ว พระองค์มักทึกทักว่าตัวเองเป็นเจ้าสแกนดิเนเวียน(เดนิช)อยู่ร่ำไป..และเคยให้สัมภาษณ์ว่า
            "ที่บ้าน..เราพูดภาษาอังกฤษกัน แต่เวลานึกคำไม่ออกก็สลับไปใช้ฝรั่งเศสบ้าง เยอรมันบ้าง เพราะพวกเราเป็นพวกเจ้านายฝ่ายบอลติค"

        
         
         

            เจ้าฟ้าหญิงอลิซาเบ็ธก็ทรงไม่ยอมถอยให้กับพระบิดาแม้แต่ก้าวเดียว พระองค์ทรงแน่วแน่ในความรักถึงขนาดกล้าเถียง..ว่า
            "ลูกเลือกเกิดไม่ได้..และถ้าลูกจะต้องครองบัลลังค์ต่อไปซึ่งเป็นภาระที่แสนใหญ่หลวงนั้น อย่างน้อยลูกก็สมควรที่จะได้ใช้ชีวิตอยู่กับคนที่ลูกรัก" เท่านั้นไม่พอ ทรงต่อด้วยว่า
            "อย่างทีเสด็จพ่อยังทรงอภิเษกกับแม่ได้เลย ทั้งๆที่แม่ไม่ใช่เจ้า..แล้วทีกับฟิลิปที่เป็นเจ้าชายแท้ๆ ทำไมจึงต้องมาขัดขวางละเพคะ?"
            มาถึงมุขนี้..ทั้งสองพระองค์ก็ตรัสอะไรไม่ออก..ได้แต่เกี่ยงว่า..ยังเด็กอยู่ ไม่สมควรแต่งงาน
            ซึ่งเจ้าฟ้าหญิงพระธิดาก็ได้สวนกลับไปทันควันว่า
            "แล้วทีพระนางวิคตอเรีย..ล่ะเพคะ พระองค์ทรงอภิเษกเมื่อมีพระชนมายุได้เพียงยี่สิบเท่านั้น และทรงรักกันอย่างชั่วนิรันดร์"

            ไม่ว่าพระธิดาจะว่าอย่างไร..พระเจ้ายอร์จที่หกก็ยังทรงทำเฉย พระองค์ยังไม่ค่อยมั่นพระทัยในเจ้าชายองค์นี้นัก เพราะข่าวลือที่เข้ามาเป็นระยะๆนั้นไม่ได้สร้างความปลื้มให้ตรงไหน อีกทั้งมีอะไรๆที่น่าสังสัยอยู่ครามครัน เช่น..
            เมื่อครั้งที่นายเรือเจ้าชายได้รับอนุญาตให้ขึ้นฝั่งชั่วคราวนั้น พระองค์และเพื่อนซี้ทหารเรือด้วยกัน นามว่า ไมเคิล ปาร์คเกอร์ ต่างพากันไปเช่าโรงแรมอยู่ด้วยกัน
            หรือเรื่องที่ เจ้าชายได้สนิทสนมกับเพื่อน(หญิง)ที่คบหาสนิทสนมกันมาตั้งแต่เด็กๆที่มีนามว่า.. เฮเลน ฟูฟูนิส คอร์เดท์ หรือ เรื่องการท่องราตรีประสาหนุ่มๆในละแวกต้องห้ามทางเวสต์เอนด์ของลอนดอน ข่าวเหล่านี้ต่างได้ยินถึงพระกรรณทั้งสิ้น

            ทางเจ้าฟ้าหญิงได้ทรงทราบดีว่า การอภิเษกของพระองค์นั้นจะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตเท่านั้น จึงจะสำเร็จ พระองค์จึงเปรยๆให้ใครต่อใครได้ยินเสมอว่า
            ถ้าไม่เป็นไปตามนั้น พระองค์ก็ขอเลือกที่จะไปอยู่ข้างเดียวกันกับ ดยุค และ ดัชเชส ออฟ วินเซอร์
            ถ้อยคำเหล่านั้นเล่นเอาวงแตกฮือ..
            (จากหลักฐานในข้อความบันทึกของ นายลูอิส ดักลาส ทูตอเมริกา ประจำ สำนัก เซนต์ เจมส์ ที่ได้ส่งไปยังรัฐสภาอเมริกันในปี 1947 ว่า
            เจ้าฟ้าหญิงอลิซาเบ็ธตัดสินพระทัยแน่วแน่ในการที่จะอภิเษกสมรสกับเจ้าชายฟิลิป และได้ทรงประกาศว่า ถ้ามิได้เป็นไปตามนั้น พระองค์ยินยอมที่จะดำเนินรอยตาม
            พระบาทของพระปิตุลา พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่แปด โดยการสละราชบัลลังค์อย่างไม่เสียดมเสียดาย ข้อความนี้ทางสำนักวินด์เซอร์เพิ่งจะมาปฏิเสธเมื่อสี่สิบปีต่อมา ว่า
            เจ้าฟ้าหญิงไม่ได้ตรัสอย่างนั้นสักนิด เพียงแค่ทรงแสดงความคิดเห็นว่า..พระองค์พอเข้าใจในความรู้สึกของพระปิตุลาต่างหาก)

            
            พระเจ้ายอร์จที่หกทรงกลัดกลุ้ม ฉุนเฉียวมากขึ้นเป็นลำดับ ที่ดื่มจัดอยู่แล้วก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ปัญหาอื่นๆได้เข้ามารุมเร้าจนพระองค์แทบทรงพระวรกายไม่ติด กล่าวคือ
            หลังจากสงคราม ทหารได้เข้ามาปลดประจำการมากมายก่ายกองและอยู่ในสภาพไม่มีงานทำ ปัญหาการว่างงานขึ้นทะลุถึงขีดสุด
            มันสมองคู่คิดอย่างนายวินสตัน เชอร์ชิลล์ก็หลุดพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว นายกฯคนใหม่ที่มาแทนก็มาจากพรรคกรรมกรที่พระองค์เห็นว่าเอนเอียงไปทางสังคมนิยมหนักไปหน่อย
            ประเทศชาติอยู่ในภาวะขาดแคลนไปทุกอย่าง ไม่ว่าหันหน้าไปทางไหน ผู้คนต่างพากันบ่นพึมถึงแต่ปัญหาปากท้องรวมไปถึงปัจจัยที่จำเป็นต่างๆเช่น เครื่องอุปโภค บริโภค น้ำมัน

            ส่วนที่มาทำให้ทรงรำคาญหนักขึ้นไปอีก..นั่นก็คือ ท่านลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเทน ที่มาคุยฟุ้ง โอ้อวดได้ในไม่เว้นแต่ละวัน
            เพราะ ตัวเองเพิ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลใหม่
            ให้ไปครองตำแหน่งเป็น อุปราช แห่ง อินเดีย..ถ้าจะว่าไป ก็เหมือนกับให้ไปครองทั้งประเทศราวกับพระเจ้าแผ่นดินเลยทีเดียว
            สมเด็จพระราชินีทรงหมั่นไส้เป็นทุนเดิมอยุ่แล้ว คราวนี้ยิ่งมากขึ้นไปอีก เพราะ หนังข่าวที่ออกมาปรากฏแก่สายตาของประชาชนเกือบทั้งหมด คือ ข่าวของอุปราชและชายาล้วนๆ
            เลยพาลไม่โปรด เจ้าชาย ฟิลิป หลานชายสุดเลิฟไปด้วย แม้ว่า..หลังจากที่เจ้าชายได้แอบขออภิเษกกับเจ้าฟ้าหญิงแล้ว พระองค์พยายามทำให้ถูกต้องทุกอย่าง เช่น
            เปลี่ยนศาสนาจาก Greek Orthodox มาเป็น Church of England และ ได้สละฐานันดร คำว่า เจ้าชาย ทิ้งไปอย่างไม่ใยดี เพราะได้เปลี่ยนสัญชาติมาเป็นคนอังกฤษ
            ในนามใหม่ คือ เรือตรี ฟิลิป เมาท์แบตเทน รน. (ขอยืมนามสกุลของท่าน ลอร์ด มาใช้ ที่เจ้าชายได้ให้สัมภาษณ์ไม่กี่ปีมานี้ว่า..ไม่ได้มีเครซี่กับนามสกุลนี้นัก แต่ ไม่รู้จะไปใช้อะไร)

            ตามหมายกำหนดการของเจ้าฟ้าหญิงอลิซาเบธที่ได้เตรียมกันมาล่วงหน้านับปีนั้น คือ การเสด็จไปเยือนอาฟริกาใต้ เป็นระยะเวลาถึงสิบอาทิตย์
            และในช่วงของการเดินทางนั้น เป็นวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของเจ้าฟ้าหญิงครบ ยี่สิบเอ็ด ชันษาด้วย
            พระองค์เริ่มอิดออดไม่อยากเสด็จ เพราะกำลังมีความรัก..แต่..พระบิดาไม่ทรงยอมอ่อนข้ออย่างเด็ดขาด
            เพราะนี่คือเกมส์การเมืองที่อังกฤษต้องตอบแทนให้กับ
            อาฟริกาใต้ที่ได้ทำตัวเป็นฝ่ายของอังกฤษตลอดสงคราม และ ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการที่เจ้านายจะเสด็จไปประสานสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

            คราวนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดี ที่ เจ้าฟ้าหญิงมกุฏราชกุมารี คือ เจ้านายพระองค์แรกที่ได้ไปเยือน..ซึ่งจะมีการจัดตั้ง Union Parliament ขึ้นที่ Cape Town เพื่อเป็นอนุสรณ์สืบไป
            งานนี้ถือว่าเป็นงานใหญ่งานหนึ่งแห่งราชวงค์ทีเดียว ที่ต้องลงทุนในการเดินทางนี้อย่างมากมาย ทั้งๆที่ทั่วประเทศกำลังอยู่ในภาวะขาดแคลน
            แต่แล้ว..ในที่สุด พระเจ้ายอร์จที่หก อดสงสารพระธิดาไม่ได้ พระองค์ก็ทรงพระทัยอ่อนลงไปครึ่งหนึ่ง
            โดยมีข้อแม้ในการแลกเปลี่ยนว่า จะทรงยินยอมให้มีการหมั้น หากว่า..เจ้าฟ้าหญิงได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างสมบูรณ์ในการเดินทางครั้งนี้
            และยังต้องรักษาเป็นความลับ ไม่มีการประกาศต่อสื่อมวลชนจนกว่าจะเสด็จกลับมาหลังจากสิบอาทิตย์นั้นผ่านไป..
            (พระองค์ยังทรงหวังว่า..พระธิดาอาจเปลี่ยนพระทัย)

            ในวันที่ 21 มิถุนายน 1947 ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนม์พรรษา ที่ Cape Town นั้น เจ้าฟ้าหญิงอลิซาเบ็ธ ได้ทรงตรัสออกอากาศทางวิทยุไปทั่วโลกให้ทุกคนได้ยินพระสุรเสียงด้วยใจความว่า
            "ข้าพเจ้าขอประกาศให้ทุกท่านได้ทราบว่า ในชีวิตของข้าพเจ้าต่อไปนี้..ที่ไม่ว่าจะสั้น หรือยืนยาวแค่ไหนก็ตาม ข้าพเจ้าได้ขออุทิศทั้งหมดให้กับการทำงานเพื่อสหราชอาณาจักรของเรา และการตั้งใจในครั้งนี้
            จะสำเร็จลุล่วงไปไม่ได้ ถ้าหากปราศจากการร่วมมือ ร่วมใจของประชาชนที่รักของข้าพเจ้า
            และขอให้พรพระเจ้าจงให้คุ้มครองแก่พวกเราทุกคน"

            ของขวัญที่รัฐบาลอาฟริกาใต้ได้เตรียมไว้ถวายนั้น ก็สมควรต่อการลงทุนเดินทางน้อยไปซะที่ไปไหน..มีค่าถึง หนึ่งล้านปอนด์ (ในยามนั้น)เชียว
            ของเจ้าฟ้าหญิงนั้น..คือ กล่องโลหะที่ข้างในบรรจุ เพชร ยี่สิบเอ็ดเม็ด แต่ละเม็ดล้วนแต่เป็น เพชรน้ำงามชั้นเลิศ น้ำหนักเม็ดละสิบการัตขึ้น..
            ของเจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ต คือ สร้อยพระศอที่มีเพชรเรียงกันสิบเจ็ดเม็ดเบิ้มๆ
            ของพระราชินี คือ เครื่องชุดน้ำชาทองคำที่มีพระปรมาภิไธยสลัก
            ของพระเจ้ายอร์จที่หก คือ กล่องทองคำที่บรรจุเต็มไปด้วยเพชรน้ำงาม..


            หลังจากที่เสร็จสิ้นการเดินทาง ทั้งหมดกลับถึงลอนดอนในเดือนพฤษภาคม 1947
            พระเจ้ายอร์จ ยังคงทำเฉยๆในเรื่องความรักของพระธิดา ไม่มีการพูดถึงเรื่องการหมั้นหมาย
            อีกทั้งไม่ทรงเชิญเจ้าชายให้ไปร่วมในงานแข่งม้าหลวง หรือที่เรียกว่า Royal Ascot อีกต่างหาก

            แต่ความดันทุรังของเจ้าชาย..ก็มีไม่น้อย พระองค์ได้โทรศัพท์ไปขอพระบรมราชานุญาตเข้าไปในวังบั๊คกิ้งแฮม ในวันที่ 8 กรกฏาคม เพื่อจะมอบพระธำมรงค์หมั้น เป็นแหวนเพชร สามกะรัตที่เป็นมรดกตกทอดมาจากเจ้าหญิงอลีซพระมารดา ให้กับเจ้าฟ้าหญิงมกุฏราชกุมารี อย่างหน้าตาเฉย..

            และในที่สุด พระเจ้ายอร์จที่หกก็ต้องทรงยินยอม เพราะได้ตรัสออกไปแล้ว..
            เจ้าชายฟิลิปทรงขับรถส่วนพระองค์ (สปอร์ต เอ็มจี) เร็วจี๋ 98 ไมล์ต่อชั่วโมง จาก Wiltshire จนถึงลอนดอนเพื่อให้ทันค่ำคืนแห่งประวัติศาสตร์นั่น

            วันอภิเษกได้ถูกกำหนดขึ้น คือ วันที่ 20 พฤศจิกายน 1947 ที่พระเจ้ายอร์จที่หกก็ยังไม่ยอมหยุดการตุกติก
            มีข้อแม้ต่างๆนานา เช่น เนื่องจากประเทศยังอยู่ในภาวะขาดแคลน
            ขอให้เป็นพิธีสั้นๆ และ ง่ายๆ ก็พอ..ซึ่งพระราชินีไม่เห็นด้วย..
            พระเจ้ายอร์จทรงอยากให้พิธีอภิเษกเลื่อนไปถึงเดือนมิถุนายน ของปีต่อไป..เพราะเป็นฤดูร้อน ที่มีอากาศแจ่มใส..ซึ่ง เจ้าฟ้าหญิงได้ตรัสว่า ต่อให้หิมะตก พระองค์ก็จะอภิเษกในเดือนพฤศจิกายนนี้ให้ได้

            ข่าวการอภิเษกนี้..นับว่าเป็นข่าวชิ้นโอชะของเหล่าบรรดาหนังสือพิมพ์ต่างๆที่พากันพากหัวด้วยความเมามัน และแตกแยกในความคิดเห็นเป็นสองฝักสองฝ่าย

            ฝ่ายชมรมผู้สื่อข่าวอังกฤษแท้ๆ ประโคมว่า.."รักแท้ของเจ้าหญิงและเจ้าชาย" หรือ "รักจริง..ไม่ใช่คลุมถุงชน"
            ฝ่ายชมรมผู้สื่อข่าวของอเมริกัน ก็แย้งด้วยการพาดหัวว่า.."รักการเมืองของสองสูงศักดิ์" หรือ "รักนั้นที่ว่าหวาน..จริงหรือ?"
            เรื่องการคลุมถุงชนของเจ้านายนั้น เป็นเรื่องธรรมดา ที่แม้แต่เจ้าชายฟิลิปก็ทรงคุ้นเคยเป็นอย่างดีมาตั้งแต่ ปี 1923 ที่พระองค์ได้เห็นพระญาติหลายต่อหลายคู่ที่ต้องทรงกล้ำกลืน เช่น
            พระบิดาและพระมารดาของพระองค์เอง..และ ญาติพี่น้องเกือบทั้งหมดรวมทั้ง เจ้าหญิงมาริน่า แห่ง กรีซ ที่ถูกส่งเข้ามาอภิเษกกับดยุคแห่งเค้นท์ (พระอนุชาของพระเจ้ายอร์จที่หก) ที่ใครต่อใครก็ทราบดีว่า ท่านดยุค นั้นเป็นพวกนิยมรักร่วมเพศ
            หรือ แม้แต่เจ้าชายเอง..ก็ทรงมีเหตุผลส่วนพระองค์ ดังที่ได้มาจากข้อความของการติดต่อกับ โคบิน่า ไรท์ ว่า
            "ทำไมฉันถึงกำลังจะแต่งงานน่ะหรือ...จะบอกให้ก็ได้ว่า เพราะฉันไม่เคยมีบ้านน่ะซิ ตั้งแต่อายุได้แปดขวบมา..ฉันอยู่แต่ในโรงเรียนหรือไม่ก็อยู่ในเรือ"
            (ยี่สิบห้าปีหลังจากพิธีอภิเษกและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน เจ้าชายได้สารภาพกับ นาย เบซิล บูธรอยด์ นักเขียนหนังสือชีวประวัติของพระองค์ ในปี 1971ว่า ส่วนหนึ่งของการอภิเษกร่วมหอลงดรงคือการจัดแจงของผู้ใหญ่)

            พระสหายสนิทของเจ้าชาย หนึ่งในชมรมวันพฤหัส (ชื่อกลุ่มของเจ้าชายและพระสหายที่สนิทๆ นัดเจอร่วมโต๊ะเสวยอาหารกลางวันอาทิตย์ละครั้งในทุกวันพฤหัส) ชื่อว่า แลร์รี่ แอดเล่อร์
            ได้พูดว่า..
            "ถ้าจะว่ารักกันปานดื่มด่ำระหว่างสองคนนี้ ไม่มีร๊อก..แต่ถ้าจะว่า..ทั้งนับถือและเกรงพระทัยเป็นอย่างมากละก้อ ใช่เลย.."
            พระสหายบางคนก็ค่อนว่า..ทำไมเจ้าชายถึงไม่ไปจีบเจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ตเล่า ทรงพระสิริโฉมกว่ากันเยอะ
            เจ้าชายก็ได้ตอบว่า...
            "ถ้ารู้จักทั้งคู่แล้วจะเข้าใจ..จริงๆแล้ว..อลิซาเบ็ธอ่อนหวานและใจดีกว่า.."

       
            ทันที่ที่ข่าวหมั้นได้กระจายออกไป..ท่านลุงดิ๊คกี้ หรือ ท่านลอร์ด ก็ร่อนพายุจดหมายมาจากอินเดียนับสิบๆฉบับ ในนั้นล้วนแต่เป็นการ สั่งสอน เสนอแนะ เจ้ากี้เจ้าการ อีกทั้งเป็นการเสี้ยมสอนไปแบบกลายๆ
            เท่านั้นไม่พอ ท่าน ลอร์ดได้เสนอให้ใช้คฤหาสน์ส่วนตัว ที่ บอร์ดแลนด์ ( Broadland อยู่ในแขวงมณฑล Hampshire และหวังว่าคงจำชื่อคฤหาสน์นี้ได้นะคะ
            จากกระทู้รักร้าว..เพราะ ท่านลอร์ด (ที่ได้กลายมาเป็นปู่น้อย..ก็ได้ให้เจ้าฟ้าชายชารลส์ใช้เป็นฮาเร็ม ส่วนพระองค์เช่นกัน) เป็นที่สำหรับฮันนีมูนในยามหลังพิธีอภิเษก โดย
            ได้จัดแจงให้รายละเอียดว่า..
            "ไปเถอะ..ที่บ้านลุงน่ะเหมาะสมที่สุดแล้ว..โอ่โถง สะดวกสบาย เรื่องหรูหราไม่ต้องห่วงเลยเชียว ที่ฝาผนังน่ะประดับด้วยภาพวาดของ ซัลวาดอร์ ดาลี ( Salvador Dali ศิลปินเอกชาวสแปนิช) เชียวนะ ไหนจะเครื่องเรือนโบราณยุคทิวเดอร์อีกล่ะ ..งดงามเหลือกำลัง "
            เจ้าชายคล้อยตามไปกับความคิดนี้ไปแเพียงแค่สองสามวัน และ ต่อมาได้ตอบบอกปัดกลับไปว่า
            "เจ้าฟ้าหญิงทรงโปรดที่จะเสด็จไปพำนักที่พระตำหนักเบิร์คฮอลล์ ที่อยู่อาณาเขตที่แสนกว้างขวางของพระราชวังบัลมอรัล สก๊อตแลนด์ มากกว่า มิใช่หลานจะไม่เห็นความหวังดีของท่านลุงแต่ประการใด
            หากแต่เจ้าฟ้าหญิงยังมิค่อยสนิทกับท่านลุงเท่ากับหลาน..ตอนนี้จึงต้องขอให้ท่านลุงใจเย็นๆไว้ก่อน อย่าเป็นกังวลกับเรื่องการอภิเษกนักเลย"

            แต่ท่านลุงลอร์ดก็หาได้"เก๊ต"ไม่..ยังมีจดหมายไปถึงท่านเชอร์ชิลล์เป็นส่วนตัวอีกต่างหาก ใจความว่า
            "ช่วยพาเจ้าชายพระคู่หมั้นออกไปเสวยอาหารกลางวัน และ ท่านช่วยย้ำเตือนให้พระองค์เข้าใจหน่อยว่า เรื่องนี้(หมายถึงการที่จะมาเป็นพระสวามี)นั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะ
            มาทำเล่นๆ เป็นเรื่องที่พระองค์ต้องเตรียมทำองค์ให้พร้อมต่อหน้าที่และความรับผิดชอบ กรุณาสั่งสอนให้หน่อยเถอะ"
            ท่านเชอร์ชิลล์ อดีตนายกยุคพาชาติให้พ้นภัย..ที่มีความจงรักภักดีต่อแผ่นดิน และต้นตระกูลก็ได้รับใช้ใกล้ชิดมาหลายชั่วอายุคน จึงตกปากรับคำเป็นอย่างดี ว่า....
            เอาเถอะ จะคอยเป็นพี่เลี้ยงให้

 


            
            การกำหนดแผนงานต่างๆในพิธีอภิเษกครั้งนี้..ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า
            เจ้าบ่าว..สามารถเชิญแขกของตัวเองได้เพียงสองคน..จากจำนวนแขกทั้งหมด 2,500 คน
            และสองคนที่ว่านี้ ต้องผ่านการพิจารณาจากสภาเสนาบดีก่อนด้วย
            ซึ่งพระองค์ได้เลือกให้กับเพื่อนที่ใกล้ชิดที่สุด นั่นคือ นายทหารเรือซี้เก่า ไมเคิล ปาร์คเกอร์ และ
            มารดาของ เฮเลน ฟูฟูนิส์ ครอเดท์

            ส่วนมารดาของแฟนเก่า มิสซิส ไรท์ นั้น ได้รับเชิญอยู่แล้วในฐานะที่เป็นคอลัมนิสต์ข่าวไฮโซของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ เฮิรสต์
            และ ทางกรมวังเสนาบดีให้ให้พระองค์เลือกเพื่อนเจ้าบ่าวจากกลุ่มพระญาติได้หนึ่งคน นั่นคือ เดวิด มิลฟอร์ด เฮเวน
            นอกจากนั้น เจ้าชายไม่มีสิทธิได้ไปยุ่งเกี่ยวอะไรทั้งสิ้นกับพิธีแต่งงานของตัวเองในครั้งนี้ เพราะด้วยเหตุว่า นี่มิใช่งานแต่งงานของมนุษย์สองคนอย่างธรรมดา
            หากแต่..มันเป็นงานที่เป็นหน้าตาของประเทศอังกฤษที่ยิ่งใหญ่
            และในเรื่องส่วนตัวระหว่างครอบครัว พระเจ้ายอร์จที่หก และพระราชินี ได้มีการหารือเพื่อที่จะออกคำสั่งให้เจ้าชายฟิลลิปรับไปปฏิบัติ..นั่นคือ
            เจ้าหญิงพี่สาวทั้งหมดสี่พระองค์ของเจ้าชาย..ที่ได้ไปแต่งงานกับพวกเยอรมันนาซีนั้น..ไม่ต้องมาร่วมในพิธี....ห้ามเด็ดขาด
            (ทั้งหมดต่างนั่งรับฟังการบรรยายการอภิเษกของน้องชายทางวิทยุกระจายเสียง)


            ดยุค แห่ง วินเซอร์ และหม่อมวอลลิส นั้น..กำลังถูกเขม่นอย่างแรง เพราะเพิ่งทำเรื่อง"น่าอับอายสุดๆ"มาไม่นานนี้ กล่าวคือ ระหว่างที่อังกฤษกำลังฮึ่มๆจะรบพุ่งอยู่กับเยอรมัน
            นั้น
            ท่านดยุคและหม่อม..พากันเสนอหน้าไปเยี่ยมคารวะฮิตเล่อร์ถึงที่บ้านพัก ในเยอรมัน นับว่าเป็นวิธีการที่ไม่ฉลาดเลย เพราะจากผลลัพธ์ตรงนั้น ทำให้คนอังกฤษสิ้น
            ศรัทธาในพระองค์ไปมากกว่าเดิม
            เท่านั้นไม่พอ..ท่านดยุคยังเขียนหนังสือชีวประวัติของพระองค์เองออกจำหน่ายอีกด้วย ในชื่อว่า ..A King's Story (อ่านแล้ว..เนื้อความก็มีแต่ความอึดอัดในความเป็นเจ้า..และความรักที่มีต่อแม่หม้ายซิมปสัน.....วิวันดา)
            และเป็นที่แน่นอนว่า..ไม่มีการเชิญ..ไม่ต้องมา..

            ทางฝ่ายเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศจึงได้แนะนำทางออกแบบบัวไม่ให้ช้ำว่า..ทั้งดยุคและหม่อม น่าจะเดินทางไปไกลๆเช่นอเมริกา จะได้เป็นข้ออ้างที่ดีในการที่ไม่ได้รับเชิญ
            แต่คำตอบก็กลับมาว่า..ไม่อยากให้ไป ก็จะไม่ไป..แต่เรื่องที่จะมาให้ไปอเมริกาน่ะ อย่าหวัง..ไม่ไปไหนทั้งนั้น..

            ทางสำนักพระราชวังก็ตอบกลับไปว่า..ตามใจ..ถ้าไม่อยากไปอเมริกาก็ไม่ต้องไป..แต่ต้องบอกนักข่าวว่า..ได้รับเชิญจากทางพระราชวังแล้ว แต่ไม่สะดวกที่จะไปร่วมงาน..

            ไปๆมาๆ..ทางท่านดยุคเพิ่งจะรู้ตัวว่า..ตัวเองไม่มีทางที่จะต่อรองกับสำนักพระราชวังแต่อย่างไร ยิ่งถ้าเป็นความประสงค์ของพระเจ้ายอร์จและพระราชินีด้วยแล้วยิ่งไม่
            มีทางหือขึ้น..
            เพราะ รายได้ของตัวเองและหม่อมที่มีใช้อยู่อย่างฟุ่มเฟือยก็มาจากความกรุณาในเบี้ยหวัดเงินปีจากแผ่นดินทั้งนั้น..อาจถูกยกเลิกไปเมื่อไหร่ก็ได้
            ฉะนั้น..ทั้งท่านดยุคและหม่อม..จึงจำต้องเดินทางไปเยือนอเมริกาอย่างโดยดี

            เรื่องการเชิญแขกยังไม่จบ..หลังจากที่พระราชินีได้ทรงตรวจทานดูรายชื่อแขกแล้วนั้น..พระองค์จึงต้องเชิญเจ้าชายพระคู่หมั้น ให้มารับคำสั่งขั้นสุดท้ายว่า
            "เรื่องแม่ของเธอน่ะ..ฉันเข้าใจที่เจ้าหญิงได้เลือกทางเดินสายพระสายเจ้า..นุ่งเจียมห่มเจียม ถือสมถะมานานหลายปี แต่..เธอจะให้เจ้าหญิงแม่ของเธอมาร่วมในงานในชุด
            อย่างนั้นไม่ได้นะ เธอต้องไปจัดการให้ดูดี ในฐานะที่เป็นถึงแม่เจ้าบ่าว.."

            (ในวันอภิเษกที่พระวิหารเวสต์มินสเตอร์ เจ้าหญิงอลีซได้ทรงแต่งชุดไปรเวทไหมสีสวย ที่มีทั้งพระมาลาและฉลองพระหัตถ์เป็นครั้งแรกและครั้งเดียว..และได้รับคำชมเชยจากพระราชินีว่า..งดงามเหมาะเจาะที่สุด)

          
            งานอภิเษกนั้นเป็นสิ่งที่มโหฬารยิ่งเพราะทั้งพระเจ้ายอร์จที่หกและพระราชินีต้องการให้เป็นงานที่ยิ่งใหญ่พร้อมริ้วขบวน มโหรีดุริยางค์ รถที่ประทับเทียมด้วยม้าถึง สิบแปดคัน
            อีกทั้งไพร่พลที่อยู่ในเครื่องแต่งกายแฟนซีสวยงามวาววับ เพื่อที่จะให้ประชาชนได้สัมผัสกับความโอ่อ่าตระการตาภายใต้ความร่มเย็นที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอีกครั้งหลังจากที่ต้องวิ่งหลบระเบิดกันมานาน

            การเตรียมงานทั้งหมดต้องให้ลุล่วงสำเร็จในเวลาเพียงสี่เดือน
            นักออกแบบฉลองพระองค์ในชุดอภิเษกนั้น คือ Norman Hartnell ได้รับพระบัญชาจากเจ้าฟ้าหญิง ว่าพระองค์ต้องการชุดที่คลาสสิคและสวยที่สุด และนายฮาร์ทเนลล์ต้องทำการสาบานว่าเรื่องการออกแบบฉลองพระองค์นั้นจะต้องไม่ล่วงรู้ถึงหูนักข่าวอย่างเด็ดขาด..ทุกอย่างต้องเป็นความลับ
            แม้กระทั่งยามตัดเย็บที่ต้องใช้ช่างเสื้อถึงยี่สิบห้าคน กระจกหน้าต่างทุกบานต้องทาสีขาว
            เพื่อพรางสายตาของนักอยากรู้อยากเห็น
            ทั้งๆที่หลังหน้าต่างนั้นยังมีผ้าม่านหนาปิดไว้อีกชั้นหนึ่ง..
            ผ้าที่ใช้คือ ผ้าซาตินสีงาช้างอย่างดีพิเศษ มีการปักมุกและคริสตัลถึงกว่าหมื่นเม็ดจากฝีมือช่างปักอีกนับสิบๆคน

            และในวันงานจริงๆ ต้องมีช่างคอยอยู่ถวายงานอีกสองคนเผื่อมีการฉุกเฉินในเรื่องฉลองพระองค์ที่อาจต้องมีการซ่อมแซม

            ทั้งหมดนั้น ต้องไม่ลืมว่า ประเทศอังกฤษยังอยุ่ในภาวะวิกฤติ ประชาชนยังต้องใช้คูปองในการซื้ออาหารและเครื่องนุ่งห่ม ที่มีการจำกัดการใช้ให้คนละเท่านั้นเท่านี้ตาม
            ความจำเป็น
            แต่ในกรณีของงานอภิเษกที่ยิ่งใหญ่นี้ ..รัฐบาลได้ออกคูปองพิเศษนับพันๆใบให้กับเจ้าฟ้าหญิง มกุฎราชกุมารีอย่างไม่อั้น รวมทั้งเพื่อนเจ้าสาวทั้งแปดนางนั่นด้วย
            สิ่งที่ทำให้พระองค์ได้ตื่นเต้นมากที่สุดในจำนวนของขวัญที่ได้รับนั้นคือ ถุงน่องไนล่อนอย่างดีจำนวน 386 คู่ (เพราะในยามนั้น..หายากยิ่งกว่าทอง)

            ในงานที่มีแขกชั้นระดับแถวหน้าอันรวมไปด้วย พระเจ้าแผ่นดินและพระราชินีถึงหกประเทศ, เจ็ดเจ้าหญิง, หนึ่งเจ้าฟ้าหญิง,หนึ่งเจ้าฟ้าชาย,หนึ่งมหาราชา,หนึ่งมกุฏราชกุมาร,หนึ่งมกุฏราชกุมารี,เจ็ดท่านเคานท์, หกท่านผู้หญิง,สิบเอ็ดไวส์เคานท์, สิบสี่ดยุค,สิบเอ็ดดัชเชส,
            รวมไปแล้วนั่นหมายถึง งานนี้เต็มไปด้วยแสงเพชรแพรวพราวจากมงกุฏที่ประดับประดาอยู่บนศรีษะพวกผู้หญิง
            ระดับเจ้านายถึงหกสิบเจ็ดอัน..

            ดัชเชส แห่ง รัทแลนด์ ดูแพรวพราวกว่าใครเพราะใช้เข็ดขัดเพชรมรดกจากต้นตระกูลเอามาพันที่ศรีษะจนรอบ ท่านมหาราชาก็ใช้สร้อยคอที่ใหญ่เป็นแผงคลุมได้ทั้ง
            หน้าอกที่มีทั้งเพชรและทับทิม
            ที่แขนก็มีกำไลรัดจากข้อศอกสูงจนไปถึงหัวไหล่ที่ทำด้วยมณีแซฟไฟร์


            เพียงชั่วข้ามคืน..เจ้าบ่าวที่ในอดีตเคยมีรายได้แค่อาทิตย์ละแปดกินีส์จากเงินเดือนของนายทหาร กลายมาเป็นชายที่สมบูรณ์พร้อมไปทุกอย่าง ทั้งเงินทอง ลาภยศ สรรเสริญ ไพร่พล
            รวมทั้ง บ้านที่ตอนนี้ต้องเรียกว่าว่า พระตำหนัก..จนไปถึง มีปราสาทเป็นของตัวเอง

            พระตำหนักที่จะต้องไปประทับนั้น คือ
            พระตำหนักคลาแร้นซ์ ที่กำลังเร่งระดมซ่อมแซมตกแต่งใหม่ด้วยงบประมาณถึง ห้าหมื่นปอนด์
            ส่วนปราสาทนั้น คือ ปราสาทที่ซันนิ่งฮิลล์ ปาร์ค ที่สำหรับใช้ไปพักผ่อนในเวลาว่างจากภาระกิจ

            ในเช้าของวันอภิเษก..เจ้าชายต้องเข้าพิธีรับสถานาเป็นอัศวิน รับเครื่องอิสสริยาภรณ์สุงสุด (the Order of the Garter) โดยการคุกเข่าต่อหน้าพระเจ้ายอร์จที่หกเพื่อที่
            จะรับการแตะที่บ่าทั้งสองข้างด้วยพระแสงดาบ
            ในฐานะของพระราชบุตรเขย..
            พระเจ้ายอร์จที่หกได้ทรงเตรียมการสถาปนาให้ครบทุกอย่างเท่าที่จะทรงคิดออกได้ในยามนั้น เพราะพระองค์ทรงมีพระประสงค์ให้พระธิดาได้มีพระสวามีที่มียศศักดิ์เสมอกัน
            กว่าจะจบงาน เรือตรี ฟิลิป..ที่เพิ่งสละฐานันดรเจ้าชายแห่งกรีซไปหมาดๆ อีกทั้งเพิ่งจะเป็นสมาชิกของนิกายเชิร์ช ออฟ อิงค์แลนด์แบบสดๆ ใบประกาศเป็นสัญชาติอังกฤษที่ได้มา..น้ำหมึกยังไม่ทันแห้ง.
            ได้กลายมาเป็นเจ้าอังกฤษแบบนับตำแหน่งไม่ทัน
            เพราะ ได้รับพระราชทานมาแบบห่าพิรุณ นั่นคือ
            Baron Greenwich,
            Earl of Marioneth,
            Duke of Edinburgh,
            Prince of Realm
            ตำแหน่ง.. Prince of Realm นั้นได้มีการชะลอไปจนถึง 1957 เพื่อที่จะต้องผ่านการเห็นชอบจากสภาเสนาบดีอีกครั้ง
            เพราะว่า..ทันทีที่พระเจ้ายอร์จที่หกได้ทรงประกาศให้ใช้คำนำหน้าพระราชบุตรเขยว่า HRH (His Royal Highness)นั้น
            ทำให้เริ่มมีปัญหา เพราะว่าผู้หลักผู้ใหญ่บางคนได้ติงว่า..ตำแหน่งที่ได้รับสูงสุดนั้น คือ ดยุค..และ ดยุค ไม่มีสิทธิที่จะใช้ HRH นำหน้า..
            พระเจ้ายอร์จก็ได้ตรัสตอบว่า..ไหนๆก็จะเป็นพระสวามีของพระราชินีแห่งอังกฤษองค์ต่อไปแล้ว..ยังไงก็ต้องใช้อยู่วันยังค่ำไม่ว่าเมื่อนี้หรือเมื่อไหน ให้ไปซะเลย..จะได้จบ
            เรื่องจบราวกันไป พอมีลูกออกมา ลูกจะได้เป็นลูกเจ้าทันที ไม่ต้องเสียเวลามานั่งสถาปนากันอีก

         
            และเช้าวันอภิเษกนั้น..เจ้าบ่าวมีอาการเหมือนเป็นหวัดเล็กน้อย แต่ก็มากพอเป็นที่สังเกตุของใครต่อใคร ปรากฏกายขึ้นพร้อมกับเพื่อนเจ้าบ่าว { David... 3rd Marquess of Milford Haven เป็นญาติกัน เพราะ เป็นลูกของลุง..พี่ชายคนโตของเจ้าหญิงอลีซ }ซึ่ง มาเล่าให้ฟังที่หลังว่า
            "เมื่อคืนไปฉลองอำลาความเป็นโสดกันหนักไปหน่อย ฉลองด้วยยินโทนิค..เมาเละ.."
            ส่วน แลร์รี่ แอดเล่อร์ เล่าต่อว่า..
            "ว่าที่เจ้าบ่าวหน้าเสียตลอดงาน เพราะ ถูกเพื่อนกระเซ้ากันหนักถึงเรื่องงานแต่งงานยกระดับครั้งนี้..เพราะว่า ได้ถูกสำทับด้วยนโยบายดัดสันดา..มาจากพระเจ้าอยู่หัวว่า..
            ต่อไปนี้ห้ามเด็ดขาดในเรื่องขับรถเร็วและเรื่องผู้หญิง"

            (เพราะในอดีตนั้น เจ้าชายเคยประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ บาดเจ็บเล็กน้อย แต่เป็นเพราะเกิดจากการขับรถประมาท จึงทำให้ภาพพจน์ออกมาเป็นหนุ่มเจ้าสำราญในสายตาของนักข่าว)
            ส่วนเรื่องผู้หญิงนั้น เพราะว่าที่เล่ามาข้างต้นว่า เจ้าชายมีเพื่อนหญิงชาวฝรั่งเศสที่สนิทคนหนึ่ง ชื่อว่า เฮเลน ครอเดท์ อันความจริง เธอคือเป็นเพื่อนบ้านตั้งแต่สมัยเด็กๆ
            ที่รู้จักสนิทสนมกันทั้งครอบครัวตั้งแต่ย้ายมาจากกรีซ
            ตอนที่เจ้าชายแอนดรูว์และเจ้าหญิงอลีซพร้อมลูกเต้าต้องไปอาศัยอยู่ในบ้านของญาติที่ชายกรุงปารีส..
            และยามที่ เฮเลน แต่งงานครั้งแรกในปี 1938 เจ้าชายก็ทรงเป็นคนทำพิธีส่งมอบเจ้าสาว
            รวมถึงการรับเป็นพ่อทูนหัวของลูกทั้งสองของเธอด้วย

            เบื้องหลังจริงๆ นั้น คือ พ่อแม่ของเฮเลนมีเชื้อสายเจ้านายกรีซ และเป็นคนที่ช่วยเหลือยามที่ครอบครัวของเจ้าชายแอนดรูว์ยามตกยากที่ฝรั่งเศส และเรื่องที่จะเคยมี"อะไรๆกัน" นั้น ก็เป็นเรื่องของอดีตเด็กหนุ่มสาว
            ที่ผ่านพ้นไปนานแล้ว คงเหลือไว้แต่ความเป็นฉันท์มิตร

            หากแต่นักข่าวนิสัยไม่ดีบางคนก็ไม่ลดละที่จะพยายามขุดแคะขึ้นมาเป็นข่าวให้ได้
            และนี่คือเหตุที่พระเจ้ายอร์จทรงเป็นกังวลต่อพระธิดาที่มาหลงรักกับชายที่ทรงคิดว่าช่างไม่เอาไหนอย่างเจ้าชายฟิลิป

            แลร์รี่ เเอดเล่อร์ เพื่อนสนิทแบบรู้ลึกกันถึงตับไตใส้พุงของเจ้าชาย ถึงกับ..ต้องปลอบขวัญเพื่อนรักว่า..
            "ไม่เอาน่า..อย่ากังวลไปเลย..เพราะยังไง ยังไง ก็ต้องเป็นความลับอยู่วันยังค่ำ ..ตราบใดที่"ซิปกางเกง"มันพูดไม่ได้ จะไปห่วงอะไรกันนักกันหนา..."

            มาถึงนี่แล้ว..งั้นขอเล่าแรกซะหน่อยนึง เผื่อว่าท่านผู้อ่านจะเคยผ่านตา หรือระแคะระคายมาบ้าง..ก็จะได้กระจ่างกันตรงนี้ ว่า
            ในเรื่องความเจ้าชู้ของเจ้าชายนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับพระบิดา เจ้าชายแอนดรูว์ และที่เหมือนกันคือ ชอบประเภทหวือหวาแบบดาราและนักร้อง
            ข่าวคาวๆของพระองค์มีขึ้นบ่อยๆแบบคอลัมน์ซุบซิบ

            ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ...จู่ๆก็มีนักร้องนางหนึ่งที่เคยมีข่าวว่า "ออกเดท"กับพระองค์ ลุกขึ้นมาประกาศว่า กำลังจะมีลูกแต่ไม่ยอมบอกว่า พ่อของเด็กคือใคร .
            เล่นเอาวงการแตกฮือ
            นักหนังสือพิมพ์ก็ขุดค้นกันแบบพลิกแผ่นดิน ความเดือดร้อนจึงมาถึงครอบครัวของเฮเลน และ ลูกชายคนโตของเธอ นามว่า แมกซ์ บัวโซท์ {Max Boisot} ที่ถูกนำ
            ขึ้นมากล่าวขวัญหนาหู
            จนเขาต้องออกมาประกาศให้ข่าวในปี 1989 ว่า..
            "ผมเป็นลูกของพ่อของผม นาย มาเซล บัวโซท์ และมีภูมิลำเนาอยู่ที่ปารีสที่เราอยู่กันอย่างสงบ เรื่องข่าวลือที่ไร้สาระนั้น เป็นเพราะแม่และเจ้าชายเคยรู้จักและเป็นเพื่อน
            กันตั้งแต่เด็กๆ..ก็เท่านั้น"

            ส่วนเฮเลน..ได้ยอมรับว่า..เจ้าชายฟิลิปเป็นผู้ส่งเสียให้ลูกชายได้เรียนที่ กอร์ดอนสตัน โรงเรียนเก่าของเจ้าชาย เพราะเธอไม่มีปัญญาที่จะส่งให้ลูกได้เรียนดีๆ และเป็น
            เพราะความเมตตาของเจ้าชายเอง
            ไม่ใช่เพราะว่า เขาคือลูกนอกสมรสตามข่าวแต่อย่างใด

            ส่วนเพื่อนนักเรียนของแมกซ์ที่เคมบริดจ์ให้ข่าวในปี 1994 ว่า
            "เพื่อนๆนักเรียนต่างก็รู้ๆกันอยู่ว่า แมกซ์คือลูกคนหนึ่งของเจ้าชายฟิลิป ดูอย่างที่โรงเรียนกอร์ดอนสตันซิ
            นั่นก็เป็นโรงเรียนเก่าของใครล่ะ...พระโอรสองค์อื่นๆ เช่น ชารลส์ แอนดรูว์ และเอ็ดเวิร์ด ก็ไปเรียนที่โรงเรียนนี้กันทั้งหมด และที่น่าสังเกตุคือ เจ้าชายคือพ่อทูนหัวของแมกซ์ ถ้าคุณไปดูประวัติศาสตร์เก่าๆจะเห็นว่า..การรับเป็นพ่อทูนหัวของพวกเจ้านายนั้น ส่วนใหญ่มักจะเป็นลูกจริงทั้งนั้นแหละ"

            ทางเฮเลน..ก็ปฏิเสธแล้วปฏิเสธอีก แต่..ก็หนีไม่พ้นกระแสของสื่อ อีกทั้งชีวิตในอาชีฟที่เป็นนักร้อง เธอจึงมักหนีต่อความเป็นจุดสนใจไม่พ้น ไหนๆก็ไหนๆ เธอเลยหาสตังค์ด้วยการเขียนหนังสือเล่าถึงสัมพันธภาพระหว่างเธอกับเจ้าชายขึ้นมาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า..Born Bewildered
            และ มีการเขียนข้อกระแนะกระแหนเล็กน้อยว่า...
            ที่ตัวเองไม่ได้รับเชิญไปในงานอภิเษก ก็เพราะเป็นเป้าหมายของการโจมตีว่าเป็นแฟนกับเจ้าชาย..
            (ความจริงแล้ว..ที่เธอไม่ได้รับเชิญเพราะว่า..เธอคือแม่หม้ายหย่าสามี..ซึ่งเป็นข้อต้องห้ามของกฏระเบียบวินเซอร์ต่างหาก)

            ส่วนในปัจจุบันนี้...หลานสาวของเธอ มักเย้าเสมอๆว่า..
            "ก็ยายเลิกตามไปแก้ข่าวซะทีเถอะ..ปล่อยให้คนเขาคิดกันไปเองแล้วกัน มันโก้หยอกอยู่เสียเมื่อไหร่ที่ใครๆต่างก็มองหนูว่าเป็นเชื้อพระวงค์ และเป็นถึงหลานเจ้า.."

       
           
         




ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม โดย "วิวันดา"

ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนยี่สิบสาม (สมบูรณ์)
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนยี่สิบสอง
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนยี่สิบเอ็ด
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนยี่สิบ
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนสิบเก้า
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนสิบแปด
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนสิบเจ็ด
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนสิบหก
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนสิบห้า
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนสิบสี่
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนสิบสาม
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนสิบสอง
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนสิบเอ็ด
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนเก้า และตอนสิบ
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนแปด
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนเจ็ด
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนหก
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนห้า
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนสี่
ฮิต เล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนสาม
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนสอง
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม



1

ความคิดเห็นที่ 1 (176387)
avatar
Kate

สนุกมากเลยค่ะ ขอบคุณนะคะ

ผู้แสดงความคิดเห็น Kate (katelogin-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2020-01-09 22:55:16 IP : 110.168.13.110


ความคิดเห็นที่ 2 (176611)
avatar
Somsom

 ขอบคุณค่า อ่าน อย่างมีความสุขมากกก

ผู้แสดงความคิดเห็น Somsom วันที่ตอบ 2021-01-01 02:40:09 IP : 124.120.21.72



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker