dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนสิบสี่



ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 1941 นั้น การประชุมวางแผนโจมตีรัสเซียเป็นไปอย่างเคร่งเครียด ฮิตเล่อร์ได้ต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่เขาต้องการ
นั่นคือ การทำลายล้างคอมมิวนิสต์และยิวให้สิ้นซากด้วยการฆ่าและทำลายในทุกรูปแบบ..โดยให้คำจำกัดความว่า "คนมันโหด เราต้องโหดกว่า"
นายพลไกเทลได้ยินถึงกับเสียววาบในใจ เพราะ นี่คือสงครามนอกเหนือจากตำราไหนๆทั้งสิ้นเพราะ ท่านผู้นำได้เชื่ออย่างปักใจว่า ถ้าไม่ทำลายล้างรัสเซีย
นั่นหมายถึง รัสเซียต้องเข้ามาทำอย่างเดียวกันกับเยอรมันอย่างแน่นอน..
และ..ใครเล่าจะไปล่วงรู้ได้ว่า นี่คือ ข้อประมาณการณ์ที่ผิดพลาดไปอย่างมากมาย อีกทั้งเป็นสาเหตุแห่งความย่อยยับทั้งมวล
จริงอยู่..ที่ฮิตเล่อร์นั้นฉลาดหลักแหลมนัก เขาทำนายได้ล่วงหน้าว่าอเมริกาต้องเข้ายื่นมือมาในสงครามครั้งนี้ อย่างที่เกิดขึ้นกับอังกฤษ
และการเปิดสงครามสองด้านนั้น..อัตราเสี่ยงมีมากมาย แต่..มันเปรียบเสมือนกรรมบังตา เพราะ แรงความแค้น ความเกลียดชังในลัทธิคอมมิวนิสต์
กับชาวยิวนั้น เขาได้สะสมไว้อย่างมากมาย ที่เขาพร้อมจะเอาความรุ่งเรืองถึงพันปีของมหาอาญาจักรไรค์ที่สาม..เข้าแลก !!
ข้อมูลใหญ่ๆสองข้อ ที่ฮิตเล่อร์ไม่พยายามทำความเข้าใจ นั่นก็คือ
1.สตาลินเองกำลังย่ำแย่ต่อสภาวะภายในของประเทศ ที่ยังต้องการ"เวลา"อีกนานนักเพื่อที่จะฟื้นฟูประเทศ และ ไม่พึงประสงค์ที่จะทำสงครามใดๆ
กับเยอรมัน เพราะ สภาพไม่เอื้ออำนวย
2.ฮิตเล่อร์ไม่รู้จักน้ำใจและความรักชาติ ชาวรัสเชียนดีพอ..ไม่ว่าการเมืองของประเทศจะเป็นคอมฯ หรือ ไม่คอมฯ รัสเชียนก็คือนักรบที่หวงแหนแผ่นดิน
อย่างที่สุด
นโปเลียนได้รับบทเรียนอันเจ็บแสบนี้มาแล้วที่ไม่ว่าไปไหนในแผ่นดินรัสเซียก็พบแต่การเผาบ้านเมือง(ของตัวเอง)เป็นการตอบรับ
และถ้าฮิตเล่อร์ อยากจะเจออย่างนี้อีก..ก็นับว่า น่าสงสาร เพราะมันหมายถึงว่า ฮิตเล่อร์ไม่ได้สู้รบกับคอมมิวนิสต์เพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องมาสู้รบกับประชาชนทั้งประเทศ

 

*******มาถึงตรงนี้..ขอแนะนำภาพยนตร์รัสเซียที่น่าดูเรื่องหนึ่งนะคะ...มีซับภาษาอังกฤษค่ะ...The Brest Fortress

อันเป็นเรื่องของป้อมด่านหน้าของโซเวียต..ที่ถูกเยอรมันเข้าบดขยี้ในการบุกตามแผน Operation Barbarossa และที่ Brest  นี้ ประชาชนและทหารยอมสู้แบบถวายชีวิต เหมือนกับหมู่บ้านบางระจันของไทย..สามารถหยุดเยอรมันให้เดินทัพล่าช้าไปอีกเป็นอาทิตย์ หลังจากวางแผนไว้ว่าจะใช้เวลาแค่ 12 ชั่วโมงเท่านั้น..ภาพยนตร์นี้ทำได้ดีมาก..ดีจนเกินหน้าฮอลลีวู๊ดซะอีก..

http://youtu.be/z11Pzsd9yJw



มันก็เป็นเรื่องที่น่าแปลก..ฮิตเล่อร์ผู้ที่มีความทะเยอทะยานเพ้อฝันอยากจะยิ่งใหญ่เยี่ยงหรือกว่า.. นโปเลียนมหาราช เขาได้อ่านศึกษาประวัติของมหาราชผู้นี้จนทะลุปรุโปร่ง
รวมไปถึงเส้นทางของการยาตราทัพว่าไปที่ไหน และ อย่างไร
ทำไมฮิตเล่อร์จะไม่ถ่องแท้ในเรื่องการล้มเหลวที่รัสเซียของนโปเลียน
หากแต่ เป็นเพราะ ความประมาทและ..ความถือดีที่คิดว่า ตัวเองแน่..
ฮิตเล่อร์มีความเชื่อมั่นว่า..การเผด็จศึกในครั้งนี้น่าจะใช้เวลาแค่หกเดือน (จึงหละหลวมในการส่งกำลังบำรุงและเสบียง) และจากแผนส่งกำลังไปบุกเต็มที่พร้อมกันในหลายๆด้าน
รัสเซียจะเอาปัญญาที่ไหนมารับศึกขนาดยักษ์นี้ได้
โดยไม่ได้สังหรณ์เลยแม้แต่นิดว่า..มือที่สามที่จะยื่นเข้ามาช่วยฝ่ายคอมฯนั้น ระดับมหาอำนาจ มากด้วยทุนทรัพย์ และ ทรัพยากรทีเดียวเจียว !!

  Wilhem Keitel



     
สงครามครั้งนี้ ฮิตเล่อร์ให้ชื่อว่า ปฏิบัติการบาร์บารอสซ่า ( Operation Barbarossa) ชื่อ Barbarossa นี้ มาจาก
เทพยดาในนิทานออสเตรียนพื้นบ้านปรำปราที่ว่าท่านนอนหลับพาดยาวกั้นประเทศไว้ให้จนนานเข้าก็กลายเป็นเทือกเขาอัลไพน์มาจนทุกวันนี้ และ
ถ้าท่านตื่นจากนิทราขึ้นมาเมื่อใด ท่านจะนำความยิ่งใหญ่และความมั่งคั่งมาสู่..
แผนนี้ ได้มีการจัดเตรียมทหารเข้าบุกทุกทาง ทางทิศใต้ ให้เข้าทางเมือง Kiev, ทางเหนือ เข้าทางบอลติค กะมุ่งหน้าเข้าสู่มอสควา
กำลังทหารที่จะใช้ในการขยี้รัสเซียครั้งนี้ มากมายถึง 120 กองพล สำรองอีก 60 กองพล นับว่ามหาศาล..
ในคืนของวันที่ 21 มิถุนายน..ฮิตเล่อร์ได้เดินทางไปในขบวนรถไฟเที่ยวด่วนพิเศษพร้อมทั้งแม่ทัพไกเทลและคณะก่อการ มุ่งหน้าไปยังฐานบัญชาการที่เมือง
Rastenburg,เขต ปรัสเซียตะวันออก ที่นั่น ได้ตั้งเป็นศูนย์เสนาธิการ ที่มีพร้อมทั้ง ที่ทำงานของเกอริง และบรรดาแม่ทัพคนอื่นๆ
และทุกวันในเวลาเที่ยงตรงต้องเข้ารับคำสั่งพร้อมแจ้งรายงานการศึกให้แก่ท่านผู้นำฮิตเล่อร์ ซึ่งนายพล Jodl จะเป็นผู้บันทึกข้อความประหนึ่งเลขาธิการ..
เวลาบ่ายสามโมง ของวันที่ 22 ทหาร ทุกคนเตรียมพร้อมรอสัญญาณรบ สิบห้านาทีต่อมา..เสียงปืนใหญ่ได้ลั่นขึ้น อันเป็นความหมายว่า..บุก !!!
หนึ่งชั่วโมงต่อมา..ทหารเยอรมัน ได้ข้ามชายแดนรัสเซียทางด้านใต้ของ Brest-Litovsk
โดยแยกออกเป็นนายพล von Rundstedt เข้าจากทางด้านใต้เพื่อบุกไปยังเมือง Kiev เหนือเขาไปนั้น นายพล von Bock กำลังนำทัพเข้าสู่มอสควา
เหนือไปจาก von Bock นายพล von Leeb นำทัพมุ่งเข้าสู่ เลนินกราด
ส่วนตรงกลาง..นายพล Guderian นำทัพรถถัง(ที่เคยเตรียมไว้ว่าจะบุกขึ้นฝั่งอังกฤษในปฏิบัติการสิงโตทะเล) ลุยข้ามแม่น้ำที่ขวางกั้น
หมายใจเข้าตีมอสควาเช่นกัน
ทั้งหมดนี้..รัสเซียไม่ได้รู้เนื้อรู้ตัวเลยแม้แต่นิด..จึงไม่มีการเตรียมตัวรับศึกแต่อย่างใด..
มิหนำซ้ำ..ลุฟท์วัฟฟ์ของเกอริงได้แสดงผลงานอันเป็นที่น่าประทับใจ เพียงอาทิตย์เดียวสามารถทำลายเครื่องบินของรัสเซียไปกว่า พันห้าร้อยลำด้วยฝีมือของ
นักบินเยอรมันเพียงแค่ 23 นาย..


Von Runstedt

     
สตาลิน พลาดไปถนัดใจในเรื่องของการไว้เนื้อเชื่อใจฮิตเล่อร์ เพราะสัญญาที่เป็นภาคี ใน Molotov-Ribbentrop Pact ที่ว่าไว้ว่า
เขาทั้งสองจะไม่รุกรานซึ่งกันและกัน(ในสองปีหลังจากเซ็นสัญญา) ไม่ว่าใครจะบอกจะเตือนอย่างไร สตาลินก็ไม่เคยเชื่อ
แม้กระทั่ง เชอร์ชิลล์ที่ได้ออกอากาศปาวๆว่า สตาลินเอ๋ย..ระวังตัวไว้เถอะ ฮิตเล่อร์เล่นงานสูเจ้าแน่ๆ..
แต่..สตาลิน ได้ทำแชเชือน แถมยังคิดว่า เชอร์ชิลล์พยายามยุยงให้รัสเซียกับเยอรมันแตกคอกัน เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง..
เพราะว่า..ใครๆก็รู้ว่า เยอรมันต้องการบุกเกาะอังกฤษให้ราบคาบอันเป็นเป้าหมายใหญ่เสียก่อน
ขนาดสายลับของรัสเซียเองแท้ๆ ได้ส่งข่าวไปบอกถึงวันที่เยอรมันจะบุกแบบโต้งๆ (เพราะจัดทัพใหญ่ขนาดนั้น..สตาลินยังไม่เชื่อ)
ในตอนนั้น ใครๆอาจยังไม่รู้ว่า..รัสเซียกำลังเจริญเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก มีผลผลิตมากมายรองเป็นที่สองจากสหรัฐอเมริกา
ซึ่งแน่นอนว่า..มากมายกว่าเยอรมันหลายเท่าตัว..รวมไปถึงการสร้างอาวุธสงครามอันเป็นอุตสาหกรรมหลักๆ
ดังที่ใครๆก็ทราบว่า..คุณภาพของรถถังรัสเซียนั้นดีกว่าเยอรมันแบบเทียบกันไม่ติด..ญี่ปุ่นได้รู้รสชาตินั้นๆไปแล้วด้วยจำนวนทหารนับล้านคนที่ต้องสูญเสียไป
อีกทั้งกองทัพแดง (Red Army) ที่ชำนาญการศึกสงครามในทุกรูปแบบ ไม่มีหน้าไหนที่จะกล้าเข้ามาแหยม
เพราะเหตุผลหลักๆนี้เอง..ที่ สตาลินเชื่อใจร้อยเปอร์เซนต์ ว่า..เทวดาหน้าไหน จะหาญกล้ามาต่อตี จึงไม่มีการเตรียมรับการสงครามในครั้งนี้..
เขายังไม่รู้จัก เทวดาที่ชื่อ ฮิตเล่อร์ ดีพอ !!







     
สงครามได้เริ่มขึ้นตามความต้องการของฮิตเล่อร์เพียงอาทิตย์เดียว กองทัพรถถังของนายพลคูเดอร์เรียนได้บุกตลุยไปถึงเมือง Minsk
ที่อยู่ไกลจากแม่น้ำ Bug ถึงสองร้อยไมล์ เพื่อไปรวมตัวกับทัพของนายพล Hoth ที่ Bialystok นั่นหมายถึง การตีโอบล้อมกองทัพรัสเซียถึง 21
กองพลให้กลายเป็นใข่แดงอยู่กลางกองทัพรถถังของเยอรมัน..
ซึ่งนี่คือบทเรียนแห่งความหายนะของรัสเซียที่สตาลินต้องเรียนรู้จากผลกรรมที่ตัวเองเคยก่อไว้..เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ศึกด้วยอีกประการหนึ่ง
กล่าวคือ สองสามเดือนก่อนหน้านี้ สตาลินได้ทำการกวาดล้างกองทัพเป็นครั้งใหญ่ เขาได้สั่งเก็บนายทหารหัวแข็งแทบสิ้นซากไปจากกองทัพ
นายทหารเหล่านั้น ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ไฟแรง..ที่ควรเป็นกำลังอันสำคัญในการคุมหน่วยต่างๆ
แต่เมื่อขาดกลุ่มคนพวกนี้ไป..การสู้รบกับเยอรมันก็เกิดการกระพร่องกระแพร่ง เนื่องจากการขาดผู้นำที่มีความสามารถ
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเยอรมันจะลุยฝ่าไปด้วยความรวดเร็วแค่ไหน แต่ทุกอย่างก็ไม่ง่ายดังปอกกล้วยเข้าปากดังหวัง
ทหารของนายพลคูเดอร์เรียนล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มเดียวกับที่ขี่รถถังลุยเข้าไปในฝรั่งเศสแบบง่ายดายไม่มีการต่อตี..แต่มาคราวนี้
ทุกคนได้พบกับการต่อต้านในทุกรูปแบบ และความรู้สึกที่ว่าจะเข้ามายึดครองเมืองชาวบ้านเขาอย่างง่ายๆนั้น..แทบไม่มีเหลืออยู่เลยแม้แต่นิด
ทุกคนได้บอกกับตัวเองว่า..งานนี้ท่าจะยาก !!
พอความคาดหวังได้เปลี่ยนไป เหล่านายพลรถถังทั้งหลายก็ต้องมีการหารือกันอย่างเคร่งเครียด เสียงแตกออกเป็นสองฝักสองฝ่าย..
นายพลคูเดอร์เรียนต้องการการบุกตลุยไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว..ไปถอนรากถอนโคนสตาลินให้สิ้นซากไม่ต้องเสียเวลามาปราบจราจล หน่วยกู้ชาติให้เสียเวลา
พวกนี้ ค่อมาชำระบัญชีกันทีหลัง..เพราะ ฤดูหนาวอันมหาโหดกำลังจะใกล้เข้ามา..
แต่..ท่านแม่ทัพเจ้านายเหนือหัวคือ von Kluge ศิษย์เก่าโรงเรียนนายร้อยรุ่นโบราณอ่านตำรากันมาคนละเล่ม ไม่เห็นด้วยอย่างแรง สั่งว่า
ต้องเก็บกวาดเสี้ยนหนามให้สิ้นซากเสียก่อน จึงจะเคลื่อนตัวไปข้างหน้า..
อีกฝ่ายหนึ่งก็แย้งว่า..ท่านครับ ถ้าขืนมัวแต่รอชักช้า จะไม่ทันการณ์นะขอรับ เพราะ รัสเซียจะมีเวลารวมตัวกันต่อต้านเราได้..
แต่เหตุผลของเจ้านายนั้นก็น่าฟัง ที่ว่า.
"ก็จะไปได้ไงฟะเรามาอยู่ไกลถึง 2500 ไมล์แล้ว..ถ้ามันไกลจนออกนอกเส้นทางสื่อสารการส่งกำลังบำรุงไม่สะดวกเดี๋ยวก็อิ๊บอ๋ายกันไปหมด.."
สรุปว่า..ฮิตเล่อร์สั่งให้หยุดอยู่แค่ตรงนั้นก่อน !!








 

     
วันที่ 7 กรกฏาคม นายพลคูเดอร์เรียนเริ่มอึดอัดใจ..เขาต้องตัดสินใจทำอะไรลงไปอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะตอนนี้หน่วยได้มาถึงริมแม่น้ำ Dnieper
รอแต่ว่า จะข้ามไปบุกหรือไม่ก็เท่านั้น..เขารู้ดีว่า หน่วยทหารราบที่ตามมานั้น ห่างไกลโขอยู่ กว่าจะถึงก็ประมาณว่า สองอาทิตย์
แต่เขาจะรอได้อย่างไร เพราะ กองทัพรัสเซียเริ่มแข็งแรงขึ้นทุกวัน..ทุกวัน
เขา..ตัดสินใจ ไม่รอฟังคำสั่งของเจ้านายหรือของฮิตเล่อร์ ..บุกไปข้างหน้าทันที
วันที่ 10 และ 11 กรกฏาคม เขาข้ามแม่น้ำมาได้อย่างสวยงาม เสียทหารไปแค่ แปดนาย..ทุกอย่างช่างดูง่ายดายกว่าที่คิด
และแล้ว..กองทัพของนายพลผู้กล้าหาญก็ได้มาตั้งมั่นอยู่ที่ เขต Tolochino อันเป็นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งมั่นของทัพนโปเลียน (1812) เช่นกัน..
แต่..ในวันที่ 27 เขาได้รับคำสั่งจากฮิตเล่อร์ให้เปลี่ยนเส้นทางใหม่ทั้งๆที่เข้ามาครึ่งทางเกือบถึงมอสควาแล้ว..โดยย้อนกลับลงมาทางเดิม
และเปลี่ยนทิศไปทางเมือง Comel เพื่อไปโอบล้อมฐานทัพของทัพร้สเซียที่มีกำลังถึง 10 กองพล ซึ่ง อันเป็นการรบแบบปรกติอย่างที่เคย
คือโอบล้อมข้าศึกไว้ด้วยกองทัพรถถัง ก่อนที่จะส่งหน่วยทหารราบเข้าไปต่อสู้
ถ้ายอมแพ้..ก็วางอาวุธมาซะดีๆ..
แต่คราวนี้ ฮิตเล่อร์ได้เปลี่ยนวิธีใหม่ นั่นคือ ล้อมแล้วก็บุกเข้าไปเชือดเลย ฆ่าทุกอย่างที่ขวางหน้า..ไม่ต้องปราณี
ฮิตเล่อร์เข้าใจดีว่าทหารของตัวคิดอย่างไร..จึงรีบส่งผู้พัน Schmundt ทส.คนสนิทมาพบกับนายพลคูเดอร์เรียนถึงฐานทัพ
เพื่อนำเหรียญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินมาเป็นกำนัลในความดีความชอบ
โดยที่ไม่ลืมแนบคำสั่งมาด้วยว่า..
1. ต้องยึดเลนินกราดให้ได้ เพื่อเป็นการตัดเส้นทางลำเลียงขนส่งในทะเลบอลติค
2. ต้องยึดมอสควา นั่นหมายถึงการทำลายขวัญและกำลังใจของประชาชน อีกทั้งทำลายโรงงานอุตสาหกรรมให้ราบเรียบ
3. ต้องยึด ยูเครน..ให้สำเร็จ
นายพลคูเดอร์เรียน ได้ตอบสาส์นกลับไปว่า..เขาอยากให้มีการบุกลุยให้ไปถึงมอสควาเลย ลืมเรื่องยูเครนและเรื่องอื่นๆไว้กอ่นเพราะมันทำให้เสียเวลามากเกินไปโดยไม่จำเป็น

  Gen. Guderian

 

     
วันที่ 4 สิงหาคม ฮิตเล่อร์สั่งให้นายทหารชั้นแนวหน้าเข้าพบที่ศูนย์บัญชาการ Novy Borissov ทั้งหมด สามนาย คือ นายพล คูเดอร์เรียน, แม่ทัพ ฟอน บอค,
นายพล ฮอธ โดยมีผู้พันชมัดท์ เป็นเลขาในการประชุม..ฮิตเล่อร์ได้ขอให้นายทหารแต่ละคนเปิดใจของตัว..ในเรื่องกลยุทธพิชิตศึกรัสเซีย (เข้าพบทีละคน)
ทุกคนบอกเหมือนกันหมดคือ บุกมอสควา..
แต่..ฮิตเล่อร์ไม่เห็นด้วยกับคนทั้งหมด (แล้วจะเรียกไปพบทำม๊ายยย..) เขาว่า..เขาต้องเลนินกราด ก่อน..มากกว่าที่ไหนทั้งหมด ต่อไป
อาจเป็น มอสควา หรือ ยูเครน นั่นค่อยว่ากันอีกที..
และ..นี่คือครั้งแรก ที่ฮิตเล่อร์ได้รับรายงานที่เขาไม่เคยได้ยินมาก่อน จากปากคำและการบันทึกการสู้รบของนายพล คูเดอร์เรียน ที่บอกว่า
"รถถังของรัสเซียนั้น..มีประสิทธิภาพยิ่ง อีกทั้งกำลังในการผลิตก็มีมากมายกว่าเยอรมันนักหนา ที่มีอยู่ในกองทัพของข้าศึกตอนนี้ ก็จำนวนมากกว่า"
ฮิตเล่อร์..ตะโกนใส่หน้า นายพลนักจดสถิติว่า..
"นี่ฟังนะ..ท่านนายพล ถ้ามันมีจริง ดีจริงอย่างในหนังสือที่ท่านเขียนว่าไว้ละก้อ..ผมไม่กล้ายกกองทัพมารบกะมันให้เมื่อยร๊อกกก..!!"*****
(***** นายพล คูเดอร์เรียน ที่เขียนตำราพิชัยยุทธ ว่าด้วยเรื่องของรถถัง ไว้ในหนังสือ Achtung! Panzer! ในปี 1937)
สถิติของนายพลที่ส่งให้ฮิตเล่อร์แบบว่า เกรงใจสุดๆแล้วนั้น คือ รัสเซียมีรถถัง แค่ 10,000 คัน (ความจริงมี 17,000 คัน)
ฮิตเล่อร์ ผู้ซึ่งไม่มีความรู้ใดๆในเรื่องของการอุตสาหกรรมของรัสเซียเลยแม้แต่น้อย..จึงเลือกที่จะ"ไม่เชื่อ"ในตัวเลขที่ได้มา..




 

     
ในฤดูร้อนนั้น ฮิตเล่อร์ก็ได้รับบทเรียนแบบใหม่เกี่ยวกับข้าศึกที่เขาไม่เคยรู้มาก่อนว่า..ถนนทุกสายในรัสเซียนั้นมันแย่จนไม่น่าที่จะเรียกได้ว่าถนน
นายพลคูเดอร์เรียนก็เจอกับปัญหานี้เช่นกัน เพราะรถถังของเขามีอาการต้องซ่อมอย่างมากมาย เสียหายยับเยิน เพราะวิ่งไปบนเส้นทางทุรกันดารดังว่า
เขาร้องขอรถถังเพิ่มถึง 300 คัน..อย่างเป็นการด่วน
แถม..บางครั้งในแผนที่ ที่มีกาไว้ว่า เป็นถนนโน้น ถนนนี้ ไปเข้าจริงๆ..ยังไม่ได้สร้างเป็นถนนเสียด้วยซ้ำ..
อีกทั้งการส่งข่าวของหน่วยข่าวกรอง ก็มั่วซั่วอย่างหาอะไรเปรียบปานไม่ได้ เช่นในเดือนกรกฏาคม ท่านแม่ทัพ Halder แห่งทัพบก ได้รับรายงานว่า
ข้าศึกมีกำลังพลเพียงแต่ 46 กองพล ที่พอใช้งานได้เป็นเรื่องเป็นราว..แต่เอาเข้าจริงๆ รัสเซียมีถึง 360 กองพลระดับขุนพล..
และ..ข้อมูลของนายพลคูเดอร์เรียน เริ่มเด่นชัดขึ้น..ที่ว่า รถถัง T-34 ของรัสเซียนั้นมีประสิทธิภาพยิ่ง..เพราะ กระสุนจากปากกระบอกปืนขนาด
88 มิลลิมิเตอร์ของเยอรมัน โดนเข้าจังๆยัง"เด้ง"ออกมา..
และที่ว่า..ทัพอากาศของข้าศึก ถูกทำลายไปเพราะลุฟท์วัฟฟ์ นับกว่าพันลำแล้ว..คงไม่มีอะไรจะมาเหลือ
แต่วันดีคืนดี..ฝูงบินของรัสเซียโผล่มาเต็มน่านท้องฟ้า..โดยที่ไม่มีใครรู้ว่า มาจากไหน..

ในเดือน สิงหาคม ฮิตเล่อร์ก็ยังมุ่งหน้าสั่งการให้ทหารเข้ายึดครองเลนินกราดอย่างไม่เปลี่ยนใจ..เขาได้สั่งการว่า
"ทุกคนจงจำไว้ว่า..หน้าที่ของท่านคือการทำลายล้างเมือง St.Petersburg (ฮิตเล่อร์เรียกชื่อเก่า..เพราะไม่อยากเอ่ยชื่อ เลนินที่เขาจงชัง)
ให้หมดไปจากแผนที่โลก และไม่มีความจำเป็นต้องมาเลี้ยงดูประชาชนให้สิ้นเปลือง ทุกอย่างต้องล่มสลายไปพร้อมๆกัน"
และ..โดยที่ไม่มีใครได้ล่วงรู้สักนิดว่าสตาลินไม่มีกำลังทหารรักษามอสควาไว้สักเท่าใดนัก เขาส่งหน่วยแทบทั้งหมดออกอยู่แนวหน้า
(ถ้าดูในแผนที่การสู้รบจะเห็นแนวจุดสีแดงนั่นคือ การตั้งมั่นรับมือของรัสเซีย) ซึ่งฮิตเล่อร์ได้กะการณ์ผิด (อีกแล้ว)
ถ้าเขาทำตามคำแนะนำของเหล่าขุนพล ที่ต้องการมุ่งหน้าไปยังมอสควา เขาอาจได้รับชัยชนะทันที ..แต่..เขาได้ปักใจไว้แล้ว..
ที่ เลนินกราด ก่อน ,ยูเครน, มอสควา อันเป็นสุดท้ายเพื่อน
นายพล..ฮัลเดอร์ ได้บันทึกไว้ว่า..
"ท่านผู้นำ..คิดได้แค่อย่างเดียวว่า..ถ้ายึดและทำลายเลนินกราด กับ สตาลินกราดที่ถือว่าเป็นสถาบันก่อตั้งอันศักดิ์สิทธ์ของคอมมิวนิสต์ได้นั้น
เท่ากับเป็นการถอนรากถอนโคนลัทธิคอมฯให้หมดไปจากโลก..โดยไม่คำนึงถึง การเข้าตีตัดตอนแหล่งอุตสาหกรรม หรือ แหล่งน้ำมันอันเป็นยุทธปัจจัยของข้าศึกเลยแม้แต่นิด.."






     
ในเดือนกันยายน เยอรมันได้ประกาศชัยชนะเหยงๆ เพราะว่า มีชัยเหนือ กองทัพจอมพล Timoshenko ที่คุมทัพต่อต้านแนวนอกของมอสควาทางด้านใต้ จอมพล Budenny ถูกหักล้างแบบย่อยยับ
ทางเหนือ จอมพล Voroshirov ที่ตั้งฐานอยู่ที่เลนินกราด ได้ถูกกองทัพเยอรมันโอบล้อมไว้..
มาถึงตอนนี้..ฮิตเล่อร์ก็ยังไม่ฟังเสียงของเหล่าขุนพลคนใด..ขนาดนายพลฮัลเดอร์ อุตส่าห์ส่งข้อความไปบอกถึงการเข้าตีมอสควานั้นสำคัญยิ่ง.
เขาก็ยังทำเฉย..แถมยัง..ย้ายกองทัพในส่วนกลางลงไปทางใต้เพื่อไปสมทบสนับสนุนทัพของ นายพล Rundstedt (ทัพของนายพลคูเดอร์เรียนก็เป็นทัพหนึ่งในนั้นเช่นกัน)
19 กันยายน เมือง Kiev ก็ตกอยู่ในเงื้อมมือของเยอรมัน ที่ได้มีเชลยศึกถึง 665,000 คน..ฮิตเล่อร์ประกาศชัยชนะครั้งนี้ไปก้องโลก
ส่วนกองทัพทางด้านกลาง..ยังต่อสู้ผลัดรุกผลัดรับอยู่ในแนวแม่น้ำ Desna เพราะ อาวุธร้ายแรงทั้งหลายยังอยู่ทางทัพด้านใต้..
ในที่สุดนายพล ฟอน เบราชิทช์ ได้เข้าพูดจาเป็นงานเป็นการกับฮิตเล่อร์เรื่องพิชิตมอสควา อีกครั้ง..คราวนี้ ฮิตเล่อร์เห็นดีเห็นงามด้วย
เพราะกำลังอิ่มเอมกับชัยชนะ จึง บอกเอาดื้อๆว่า.."งั้น..รีบจัดการซะภายในสิบวันเนี่ย !!"
ท่านนายพลก็ตอบสวนทันใดว่า.."ไม่มีทางเป็นไปได้..ขอรับ" เพราะกว่าจะรวบรวมทัพที่ส่งกระจาย จาก กลางหรือใต้ ให้มารวมตัวกันได้ก็ตกเข้าเดือน ตุลาคม โน่น..
ฉะนั้น..วันที่ 2 ตุลาคม คือวันเคลื่อนทัพ..เข้าเผด็จศึกในแผนการใต้ฝุ่น (Operation Typhoon) สู่..มอสควา !!
แต่ฮิตเล่อร์ กลับเห็นเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรนักหนา เพราะ เขายังไม่วายสั่งงานแถมมาด้วยว่า..
"เข้าจัดการเลนินกราดซะในเวลาเดียวกันเลยนะ" โดย..มอบหมายให้ นายพล von Leeb นำทัพแยกออกไปจัดการ แถมยังให้ นายพล von Runstedt แยกทัพย่อยออกไปทาง
ฝั่งทะเลดำ เข้าไปในเขต Rostov เพื่อทำการยึดครองแหล่งน้ำมัน Maikop และ นำกำลังเข้าบุกสตาลินกราด
อันเป็นการตัดกำลัง ตัดตอนรัสเซียออกจากแหล่งน้ำมันคอเคซัสโดยสิ้นเชิง
นายพลฟอน รันสเตดท์แย้งคอเป็นเอ็นว่า.."ท่านขอรับ..นั่นหมายถึงว่ากองทัพของเราวิ่งเลียบไปตามฝั่งซ้ายของแม่น้ำ Dnieper อีกกว่า สี่ร้อยไมล์ แถมยังเดินทัพ
แบบโล่งโจ้ง เป็นเป้าข้าศึกได้อย่างชัดเจนอีกด้วย เสี่ยงมากนะขอรับ"
ฮิตเล่อร์ ตอบหน้าตาเฉยว่า.."โอ๊ย..ทหารรัสเซียมันถูกกวาดล้างไปหมดแล้ว..ไม่มีเหลือมาเสนอหน้าให้เราฆ่ามันร๊อกกก!!"
(นี่คือ สงครามแห่งการเพ้อฝันของฮิตเล่อร์อย่างแท้จริง..)



      Semyon Konstantinovich Timoshenko



     
การบุกตะลุยเข้าสู่มอสควานั้นได้กระทำไปอย่างรวดเร็ว สองอาทิตย์แรกในเดือนตุลาคม เยอรมันได้เก็บกวาดกองทัพรัสเซียได้ถึงสองกอง รถถังกว่าพันคัน
เชลยนับแสนๆคน ปืนใหญ่กว่า 5000 กระบอก..
วันที่ 20 กองทัพเยอรมันได้รวมตัวกันมุ่งหน้าแข่งกันเข้าสู่กรุงมอสควา ที่อยู่ห่างไปเพียง 40 ไมล์ข้างหน้า
รัสเซียเล่นลูกไม้เดิมๆคือ ย้ายที่ทำการไปยังเมือง Kuibyshev ในเขตแคว้น Volga เพื่อความปลอดภัย เพราะอัตราเสี่ยงค่อนข้างสูง
ในเมื่อใครๆก็พอรู้ว่า..การเข้ายึดเมืองหลวงนั้น คือ เป้าหมายสำคัญที่เยอรมันต้องการ
และ สำหรับกองทัพเยอรมันนั้น..มันแน่ยิ่งกว่าแน่ แถมยังต้องเป็นการด่วน ก่อนจะถึงฤดูหนาวอีกด้วย..
แต่..ขอบอกว่า..ก่อนที่จะถึงฤดูหนาวของรัสเซียนั้น..คือ ต้องพบกับฤดูฝนอย่างหนักหนาสาหัสเสียก่อน
และ..เวลานั้นได้มาถึง..คือเวลาของนรกมีจริง..ที่รถถังอันมากไปด้วยประสิทธิภาพของเยอรมันนั้นนอนแช่นิ่ง วิ่งไปไหนไม่ได้ไกล จมโคลนไปครึ่งค่อนคัน
ทหารได้บันทึกไว้ว่า..
"หน่วยทหารราบต้องฟันฝ่าลื่นแพร่ด แพร่ดอยู่ในน้ำโคลนที่สูงกว่าสองฟิต รถถังจอดตายสนิท การลำเลียงอาวุธและปัจจัยต้องใช้ม้าลาก ที่แสนทุลักทุเล
มองไม่เห็นทางใดที่จะเคลื่อนทัพไปได้มากกว่านี้"
มอสควา..มองเห็นอยู่ลิบๆข้างหน้า ก็จริง..
แต่..การสู้รบต่อกรจากประชาชนที่รักชาติหรือกองทัพชาวนานั้น เพิ่มกำลังหนาแน่นขึ้นทุกวันๆ ทั้งข้างหน้าและข้างหลัง
เยอรมันเพิ่งรู้ตัวว่า..กำลังตกอยู่ในภาวะถูกล้อม จากข้าศึกที่มองไม่เห็นตัว
ทางใต้..ทัพของเยอรมันได้บุกเข้าไปยัง Rostov จนถึงปากทางของเข้าแหล่งน้ำมัน ในวันที่ 21 พฤศจิกายน อันเป็นเหตุให้ฝ่ายโฆษกรัฐบาล นายเกิบเบิล
ถึงกับออกอากาศไชโยโห่ฮิ้ว..ประกาศลั่นว่า..ในที่สุด คอเคซัส..ก็กำลังจะตกเป็นของเรา, ไฮล์ ฮิตเล่อร์ !




     
แต่..ใครเล่าจะยอมง่ายๆ ขุมทรัพย์แท้ๆจะให้ตกไปเป็นของใครอื่นได้อย่างไร..ที่ Rostov เยอรมันได้พบกับกองทัพรัสเซีย
บุกเข้าสู้รบต่อต้านอย่างมืดฟ้ามัวดิน..
ซึ่งทางฝ่ายเยอรมันเสียเปรียบในทุกๆด้าน ในสภาวะเช่นนั้น..การส่งกำลังบำรุงเป็นไปได้ยากยิ่ง..
นายพล von Kliest แม่ทัพน้อย ได้สั่งถอยทัพ..หนีกระเจิงไปทางแม่น้ำ Mius อันจัดว่า ปลอดภัยในระยะหนึ่ง..เพราะ ที่นั่น เป็นศูนย์บัญชาการรบของ
ท่านแม่ทัพ ฟอน รันด์สเตดท์ ตั้งมั่นคอยอยู่.(คอยเพราะติดฤดูหนาว..ไปไหนไม่ได้)
และนี่เป็นครั้งแรกของประวัติการสู้รบในรัสเซีย..ที่เยอรมันต้องล่าถอยทัพอย่างไม่เป็นขบวน
ท่านแม่ทัพจึงส่งข่าวถึงฮิตเล่อร์ว่า.."ท่านขอรับ เห็นทีจะรับมือไว้ไม่ได้ ต้องขอถอยทัพกลับไปตั้งลำใหม่.."
ฮิตเล่อร์ตอบสวนมาทันทีอย่างไม่ต้องคิด..ว่า "ไม่ได้..ไม่มีการถอยทัพใดๆทั้งสิ้น อยู่ตรงนั้นแหละ"
ฟอน รันด์สเตดท์ หมดอารมณ์ที่จะทนอีกต่อไป..เพราะนี่มันบ้าชัดๆ เขาจึงกระแทกเสียงใส่กลับไปว่า..
"นี่ถ้าจะไปกันใหญ่แล้วท่าน..ถ้าทหารไม่ถอยก็ต้องถูกฆ่าตายหมด..เพราะเราไม่สามารถทำการสู้รบใดๆได้ เสบียงสัมภาระ อาวุธก็มีจำกัด เพราะฉะนั้น
กระผมขอยกเลิกคำสั่งของท่าน..หรือไม่..ท่านก็หาแม่ทัพคนอื่นมาแทนกระผม"
ผลคือ..คำสั่งปลดแม่ทัพ ฟอน รันด์สเตดท์ออกมาเดี๋ยวนั้น..
นับว่า เขาคือแม่ทัพคนแรก..ที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งกลางอากาศ..(คนอื่นๆตามมาเป็นหางในทีหลัง)
และ..การสูญเสียของเยอรมันได้พุ่งขึ้นสูงปรี๊ด..เพียงภายในวันที่ 26 พฤศจิกายน ทหารได้เสียชีวิตไปกว่า เจ็ดแสนนาย ไม่นับบาดเจ็บ พิการ ซึ่งรวมจำนวนแล้ว
มันเท่ากับเศษหนึ่งส่วนสี่ของกำลังทหารที่ทุ่มลงไป (3.2 ล้าน)

ทางด้านเหนือ ฝั่งมอสควา..หิมะกำลังตกโปรยปราย..ซึ่งเปรียบประหนึ่งลางร้ายของกองทัพเยอรมันได้ตั้งเค้าทะมึนมาด้วยเช่นกัน !!

 

********  ขอแนะนำให้ชมภาพยนตร์ (รัสเซีย..อีกแล้ว)  สำหรับเรื่องของการบุกเลนินกราด   Attack on Leningrad 

http://youtu.be/0Zon9nCv2IM  


 

     
อ้ะ..มาดูทางฝั่งรัสเซีย..ใครต่อใครคงคิดว่าสตาลินนั่งกระดิกเท้าคอยทัพเยอรมันโดยไม่ทำอะไรหรือก็ปล่าว..เพราะเพียงอาทิตย์เดียวหลังจากที่ถูกโจมตี
อย่างไม่ทันตั้งตัวนั้น เล่นเอาทัพรัสเซียถอยร่นไม่เป็นขบวน จนมาถึงเดือนกรกฏาคมที่สตาลินเริ่มตั้งตัวติด..กลับมาเป็นหมีขาวเจ้ายุทธจักรตามเดิม
เขาส่งนายพลซูคอฟ และ นายพล ทิโมเชงโก จัดทัพออกแนวหน้าทันที นายพลทิโมเชงโก แยกทัพออกไปรับมือทางแนวหน้าด้านใต้
วันที่ 30 กรกฏาคม นายพลซูคอฟได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพกองทัพหนุน นั่นหมายความว่า ถ้าทัพหน้าเริ่มทำท่าไม่ดี ทัพหนุนก็เข้าแทนที่เสริมกำลังได้เลย
ทัพหนุนของเขาตั้งมั่นอยู่ที่เมือง Smolensk ด้านตะวันออก.. อันเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในการป้องกัน มอสควา ถ้า สโมเลงสค์ แตก ก็หมายความว่า
มอสควาก็ไม่เหลือ
นายพลซูคอฟไม่ได้ยึดหลักของการเป็นทัพหนุนที่รอรับหรือต่อต้านการโจมตีแต่อย่างใด เพราะ เขาคนนี้นี่แหละ นำกำลังหกกองทัพที่มีในมือ เข้าบุกตีเยอรมัน
อย่างเห็นดำเห็นแดง..ภายในระยะเพียง 26 วัน เขาสามารถไล่เยอรมันกลับออกไปไกลพอสมควร เล่นเอาเยอรมันต้องกลับไปตั้งต้นทบทวนกลศึกใหม่
แต่ก่อนที่นายพลซูคอฟจะไล่ตะลุยให้ราบคาบต่อไป..สตาลินเรียกตัวเขายัง เครมลิน กลับในวันที่ 12 กันยายน เพราะเนื่องจาก เลนินกราดได้ตกอยู่ในวงล้อมของข้าศึก
อย่างแน่นหนา..(ตอนนั้น เมืองเคียฟได้พ่ายแพ้ให้แก่เยอรมันแล้วเพราะความดื้อของสตาลินที่ไม่ยอมให้ถอยทัพ..น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ..ฉันใด ก็ฉันนั้น)
สตาลินเกิดความขัดเคืองใจ แทบกระอักออกมาเป็นโลหิต เพราะแม่ทัพที่นั่น ทำการสู้รบแบบเหยาะแหยะ เหมือนไม่เต็มใจ การต่อสู้เป็นไปอย่างไม่สมศักดิ์ศรี
นั่นคือ แม่ทัพ โวโรชิรอฟ
นายพลซูคอฟ รับคำสั่งและนำทัพมุ่งตรงเข้าเลนินกราดทันที.. เขาไปถึงด้วยแรงโทสะ และ..ไม่แม้กระทั่งมองหน้าหรือพูดจากับ แม่ทัพโวโรชิรอฟ ให้เสียเวลา
เขาตรงไปที่โทรศัพท์ ยกหูหาสตาลินสายตรง ประกาศลั่นว่าเขาจะเข้าบัญชาการรบที่เลนินกราดนี่เอง..เล่นเอาท่านแม่ทัพคนเก่าที่ยืนฟังอยู่เสียวสันหลังวาบ
เพราะ มองเห็นชะตาชีวิต ว่าต้องถูกยิงเป้าซะแน่แท้..(แต่โชคดี ไม่โดน)
นายพล ซูคอฟ สั่งลุยหน้า แบบชีวิตแลกชีวิต ทหารของเขาได้รับคำสั่งว่า..สู้ไม่ถอย..ถ้าเมิงถอย กรูยิง !!


  Georgi Zhukov


     
เพราะความบ้าบิ่นแบบดีเดือดของนายพลรัสเซียคนนี้ที่สั่งสู้ยิบตา เล่นเอาเยอรมันชะงักงันไปพอสมควร เพราะเขาเข้ามาในช่วงของอุณหภูมิ
ของการสู้รบกำลังถึงจุดสูงสุด เยอรมันกำลังรออาวุธที่กำลังส่งมาเสริม จะถึงภายในอีกหนึ่งอาทิตย์ (แต่..รัสเซียไม่รู้)
ภายในอาทิตย์เดียว ที่นายพลซูคอฟ เข้ามาบัญชาการรบ เยอรมันถึงกับต้องหยุดการรุกไปโดยปริยาย
พอเยอรมันหยุดปั๊บ..นายพลซูคอฟก็สั่งกองทัพเข้าโจมตีทันทีแบบไม่ต้องรอให้หายใจ และคำสั่งของเขาคือ..ไม่ต้องไว้ชีวิตใครทั้งสิ้น..ฆ่ามันให้หมด !!
แต่ในขณะที่ทัพแล้วทัพเล่า ที่ส่งเข้ามาไล่ขยี้เยอรมันที่ทางฝั่งเลนินกราด ทำให้ ทางฝั่งเข้ามอสควา เปิดโล่ง..
ทำให้เยอรมันสามารถเดินทัพมุ่งหน้าเตรียมเข้ามอสควาได้อย่างสะบายใจเฉิบ ในวันที่ 30 กันยายน และเหลืออีกเพียง 150 ไมล์ก็จะถึง ในเขตของเมือง
Bryansk ที่มีทัพของนายพล เยเรเมงโก ตั้งรับอยู่ และ ต่อมาได้มี ทัพของนายพล โคเนฟ และ นายพล โซโลคอฟสกี้ มาเสริมสกัด
แต่.ก็ยังไม่สามารถหยุดทัพของนาซีไว้ได้ เส้นทางสายโทรคมนาคมถูกตัดขาด ทางมอสควาไม่สามารถติดต่อกับแนวหน้าของกองทัพต่างๆได้ไปสามสี่วัน
กว่าจะติดต่อได้อีกที ก็ได้รับรายงานว่า เยอรมันกำลังนำกองทัพวิ่งบนไฮเวย์สาย Warsaw จนเกือบจะเข้าเมืองอยู่แล้ว..
แต่..นายเบเรีย หัวหน้าหน่วยสายลับของสตาลิน ต้องตะคอกใส่นักบินผู้ช่างรายงานว่า
"เอาตำแหน่งของกองทัพเยอรมันมาให้แน่ๆ..ถ้าผิด โดนยิงเป้า "
สรุปว่าข้อมูลต้องมาแก้ใหม่ว่า เพิ่งจะออกเดินทางบนเส้นทางที่ว่า นั่นก็หมายถึงรัสเซียมีเวลาอีกแปดชั่วโมงที่จะเรียกหน่วยทัพฟ้า
เข้ามาปฏิบัติการถล่มข้าศึก
และนี่คือ อีกวาระหนึ่ง..ที่ สตาลินต้องเรียกตัวนายพล ซูคอฟกลับเข้ามารักษาเมืองหลวงเป็นการด่วน ในวันที่ 6 ตุลาคม
วันที่ 7 นายพลซูคอฟ..ก็บินถึงมอสควา
วันที่ 10 คือวันประกาศตั้ง เป็นแม่ทัพผู้บัญชาการรบ
ที่มีอำนาจเด็ดขาด

ต่อไป คือการเริ่มต้นของ The Battle of Moscow ที่ดุเดือดเลือดพล่าน..อย่างชนิดที่ไม่มีวันลบเลือนไปจากประวัติศาสตร์โลก !!






 


  v

  v

(ความเห็นจากเมธาวดี...ที่มาร่วมแจม....)

มารายงานสถานการณ์ครับ ในขณะที่ทางฝ่ายยุโรปตะวันออกกำลังโรมรันพันตูอย่างสนุกสนาน (???)
สถานการณ์ทางฝ่ายตะวันตกก็กำลังร้อนระอุที่ตอนเหนือของทวีปแอฟริกาครับกระผม

เรื่องนี้คงต้องขออนุญาตทั่นผู้อ่านย้อนเวลากลับไปเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี ๑๙๔๐ เมื่อมุสโสลินี ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษตามเกลอรักฮิตเลอร์
มุสโสลินีก็ได้ขยายกองทัพอิตาลีนับล้านคนของตัวเองที่ลิเบียเรียบร้อยแล้วด้วยหมายว่าจะเหยียบกองทัพอังกฤษจำนวนเพียง สามหมื่นหกพันคน
ที่วางกำลังไว้ที่คลองสุเอซ ประเทศอียิปต์ อันเป็นเสมือนเส้นเลือดสำคัญที่ลำเลียงสินค้าจากประเทศอาณานิคมอินเดียและพม่าไปยังแผ่นดินแม่
ที่ประเทศอังกฤษ มุสโสลินีต้องการจะยึดครองสุเอซไว้ในกำมือ ซึ่งมุสโสลินีนอกจากจะมีเป้าหมายทางด้านยุทธศาสตร์แล้วเพื่อตัดเส้นทางลำเลียง
อังกฤษแล้วยังหมายจะอวดบารมีของกองทัพอิตาลีของตนให้ฮิตเลอร์เห็นว่า เจ๋งเป้งปานใด

แต่ถึงขนาดมีกำลังพลเหนือกว่ามากมายเพียงไร กองทัพอิตาลีภายใต้การนำของนายพลกราซซินีก็ถูกกองทัพอังกฤษตีโต้ถอยร่นอย่างไม่เป็นขบวน
นอกจากอิตาลีจะเสียทหารไปอย่างไร้ประโยชน์ ยังต้องเสียฐานที่มั่นในลิเบีย ถอยร่นลงมาจากเดิมอีกกว่าแปดร้อยกิโล

ฮิตเลอร์ได้ยินข่าวการแตกทัพของอิตาลีก็คงจะเหนื่อยหน่ายใจกับพันธมิตรอันไม่ได้เรื่องไม่ได้ราว ด้วยหากให้กองทัพอังกฤษตีอิตาลีแตกกระเจิง
ที่ลิเบียแล้วไซร้ นอกจากกองทัพอังกฤษจะส่งกำลังบำรุงจากเอเชียใต้ได้อย่างสะดวกสบายใจแล้ว ยังเสี่ยงต่อโอกาสที่กองทัพผู้ดีจะข้ามเมดิเตอเรเนียน
มาทำสงครามอีกแนวที่แผ่นดินใหญ่ยุโรปได้ เร็วเท่าความคิด ฮิตเลอร์จึงรีบส่งกำลังหนุนของตนเองไปช่วยสหายรักมุสโสลินีที่ลิเบียในเดือนมกราคม
ปี ๑๙๔๑ นั่นเอง

ตรงนี้แหละครับ ที่แอฟริกาเหนือ กลายเป็นสมรภูมินัดพบระหว่าง ๓ ยอดขุนพล ที่ประวัติศาสตร์โลกต้องจารึกสงครามนี้ไปนานเท่านาน

และสมรภูมิตรงนี้เองที่เป็นเวทีใหญ่ของสุภาพบุรุษนักรบเยียระมันในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ของทั่นนายพลเออร์วิน รอมเมล ที่ได้แสดงความเป็น
เจ้าแห่ง Blitzkrieg ให้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้เห็น จนแม้กระทั่งเชอร์ชิลล์เองยังยกย่องเลยครับว่าเป็น ยอดขุนพล ตัวจริงเสียงจริง!!!!

ทราบว่าหลายๆทั่นคงได้สัมผัสกับชีวประวัติของนักรบเยอรมันผู้นี้มาบ้างแล้ว คราวนี้ลองมาฟังเรื่องราวของ “เจ้าหมาป่าทะเลทราย”
ผู้นี้ในแบบฉบับของกระผมบ้างนะครับ

กองทัพบกแห่งอาณาจักรไรค์ที่ ๓ นั้น นับได้ว่าเป็นผู้ที่สร้างนวัตกรรมพิชัยสงคราม Blitzkrieg ที่เป็นการผสมประสานอำนาจการทำลายล้างของ
กองทัพรถถังและเครื่องบินและในเหล่าเสนาขุนทหารของเยอรมันนั้น มีเพียงขุนทหารเพียงสองคน ที่โลกทั้งโลกต่างซูฮกว่า เป็นเจ้าแห่ง Blitzkrieg
คือกุเดอเรียนและรอมเมลของเรานี่แหละครับ      

รอมเมลของกระผมเกิดเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ปี ๑๘๙๑ ที่เมือง Heidenheim แระเทศเยอรมันนี รอมเมลหาได้เกิดมาจากครอบครัวทหารไม่
บิดามีอาชีพเป็นครูธรรมดาเท่านั้น แต่ฝ่ายมารดานั้นเล่า เป็นถึงลูกสาวของท่านดยุคแห่ง Wurttemberg เมื่อรอมเมลมีอายุย่างเข้าสิบเก้าปี
ก็ถูกเกณฑ์เข้าเป็นกำลังพลในหน่วยกองพันทหารราบที่ ๑๒๔ แห่งกองทัพพระเจ้าไกเซอร์ และหลังจบโรงเรียนนายร้อยเยอรมันที่เมืองดานซิก
รอมเมลก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งตามลำดับขั้นเรื่อยมา

จวบจนกระทั่งเมื่อถึงยุคสงครามโลกครั้งที่ ๑ รอมเมลก็สร้างวีรกรรมอันสุดยอดในสงครามโลกให้ชาวเยอรมันทั้งชาติให้เห็นว่า.....อนาคตวีรบุรุษ
เยียระมันวัยเพียงยี่สิบเจ็ดปีผู้นี้ เปรื่องปราดเพียงใดในกิจสงคราม

เก๊าะรอมเมลนี่แหละครับที่นำทหารเยอรมันเพียงแค่สองร้อยกว่าคนบุกตะลุยทำลายฐานที่มั่นทหารอิตาลีบนยอดเนินเขา ที่วางกำลังไว้กว่าหมื่นคน
พร้อมทั้งอาวุธหนักพร้อมสรรพมากมาย เมื่อสิ้นสุดการรบปรากฏว่าทหารหยิบมือของรอมเมลจับตัวเชลยศึกได้ถึงเก้าพันคน ปืนใหญ่อีกแปดสิบประบอก

และน่าอัศจรรย์ใจยิ่งกว่านั้น หนุ่มน้อยรอมเมลของเราเสียทหารใต้บังคับบัญชาแค่สองสามคน และที่ยิ่งกว่าอัศจรรย์ใจ เหล่าทหารเพียงหยิบมือของรอมเมลใช้แค่ดาบปลายปืน!!!!

จากวีรกรรมอันเหลือเชื่อทำให้รอมเมลได้รับเกียรติยศสูงสุดคือ กางเขนเหล็กชั้นหนึ่งและเหรียญกล้าหาญชั้นสูงสุดแห่งกองทัพพระเจ้าไกเซอร์

พอสงครามสิ้นสุดด้วยความพ่ายแพ้ของเยอรมัน แต่รอมเมลของเราก็ยังคงตำแหน่งในกองทัพเยอรมัน วีรกรรมของรอมเมลที่ได้แสดงไว้ในสงครามโลก
ครั้งแรกคงจะไปแยงตานายทหารผู้บังคับบัญชาว่านายทหารอายุน้อยคนนี้มีอนาคตยาวไกล จึงได้รับการเลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็ว จนเมื่อถึงปี ๑๙๓๗
รอมเมลก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการหน่วยองครักษ์ของซาตานเยอรมัน อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ขอรับ

เมื่อฮิตเลอร์ได้สร้างสงครามตามความมุ่งหมายของตัวเองนั้น รอมเมลก็ได้รับมอบหมายให้บัญชาหน่วยรถถังแพนเซอร์ที่ ๗ ในสงครามที่ฝรั่งเศส
รอมเมลก็ได้ใช้ความชำนาญของตนบังคับบัญชาเหล่ารถถังแพนเซอร์ รังสรรค์ความบรรลัยให้กับเหล่าทัพฝรั่งเศสอย่างดีเยี่ยม ใช้การเคลื่อนไหว
อันคล่องแคล่วของรถถังบวกกับอำนาจการทำลายล้างของปืนใหญ่ อีกทั้งการเคลื่อนทัพที่แม่ทัพศัตรูไม่อาจคาดเดาได้ ทำลายแนวรับของกองทัพฝรั่งเศส
ได้อย่างหมดจด จนหน่วยแพนเซอร์ที่เจ็ดของรอมเมลได้รับการกล่าวขวัญให้เป็น กองพันปีศาจ (Ghost Division) แห่งกองทัพเยอรมัน จากผลงานอันนี้เอง
ทำให้ฮิตเลอร์อดใจไม่ไหวที่จะแต่งตั้งรอมเมลให้เป็นนายพลตรีแห่งกองทัพเยอรมันพร้อมด้วยอิสริยยศกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน

จนเมื่อสงครามในแอฟริกาเหนือประทุขึ้น ฮิตเลอร์ก็มีคำสั่งให้รอมเมลเดินทางไปลิเบียพร้อมกำลังหนุนหน่วย Afrika Korps ให้ไปแสดงแสนยานุภาพแห่ง
Blitzkrieg ให้ฝ่ายอังกฤษได้เห็นเป็นบุญตาอีกครั้ง หลังจากพ่าย Blitzkrieg ของเยอรมันยับเยินในสมรภูมิดันเคิร์กแห่งฝรั่งเศส


จากคุณ : เมธาวดี - [ 3 มิ.ย. 47 17:51:08 ]


 

     
เออร์วิน รอมเมล เดินทางมาถึงลิเบีย ในเดือนมกราคม ปี ๑๙๔๑ แม้ว่าตามข้อตกลงและสายบังคับบัญชารอมเมลต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ
นายพลอิตาลี แต่ด้วยอำนาจบารมีของเยอรมัน รอมเมลก็หาได้จำเป็นต้องฟังคำสั่งบัญชาการของนายพลอิตาลีจริงๆจังๆเลย และรอมเมลก็เริ่มเปิดการบุก
ในวันที่ ๒๔ มีนาคม ตีกองทัพอังกฤษแตกกระเจิงจากลิเบีย ยกเว้นแต่ที่เมืองท่าโทบรู๊ก (Tobruk) ไว้เป็นไข่ดาวริมชายฝั่งลิเบีย

แต่สถานการณ์คับขันกลับตกไปอยู่ในกองทัพรอมเมลด้วยว่าการขาดแคลนกำลังบำรุงและเสบียง ทางกองทัพอังกฤษภายใต้การนำของนายพล Archibald
Wavell ก็ฉวยโอกาสเปิดการรบภายใต้ปฏิบัติการขวานรบ (Operation Battleaxe) แต่กระนั้นก็ตาม ทั้งๆที่ขาดแคลนกำลังบำรุง กองทัพ Afrika
Korps ของรอมเมลก็ทำลายความอุตสาหะของเวฟเวลได้เพียงในเวลาเพียงแค่สามอาทิตย์

เมื่อข่าวการแตกทัพของอังกฤษไปถึงหูเชอร์ชิลล์ เชอร์ชิลล์รู้ทันทีว่า การรบครั้งนี้เกินกว่าความสามารถของนายพลเวฟเวล จึงมีคำสั่งให้แต่งตั้งนายพล
ท่านเซอร์เคลาด์ ออเชนเลก (Claude Auchinleck) ให้มาบัญชากองทัพอังกฤษในเมืองโทบรู๊คทันที

แต่ทั้งที่กองทัพ Afrika Korps อยู่ในฐานนะด้อยกว่าในด้านกำลังบำรุง ความพยายามครั้งที่ ๒ ของอังกฤษในการตีทัพของรอมเมลก็หาเป็นผลไม่
เนื่องจากปฏิการการรบครั้งใหม่ของท่านเซอร์นายพลภายใต้ชื่อรหัสนักรบครูเสด (Operation Crusader) โดนเล่ห์เหลี่ยมของรอมเมลแหกเข้าเต็มตา
ด้วยรอมเมลทำทีเป็นถอนกำลังจากการปิดล้อมเมืองโทบรู๊ค ล่อให้ทัพทหารอังกฤษตีลึกเข้าลิเบียเกินกว่าเส้นทางบำรุง แล้วกองทัพรอมเมลตีโต้กลับ
จนกระทั่งถึงเมืองเดอร์นาในประเทศอียิปต์ในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ณ ถึงตอนนี้กองทัพ Afika Korps เหลือเพียงอีกเจ็ดสิบไมล์ก็จะถึงเมือง Alexandria
ที่มั่นทางยุทธศาสตร์สำคัญของกองทัพอังกฤษในอียิปต์เท่านั้น

แสบกว่านั้น พิษสงของรอมเมลยังไปแว้งกัดเข้ายึดเมืองโทบรู๊คได้สำเร็จ เมืองท่าสำคัญของฝ่ายเยอรมันที่โดนฝ่ายอังกฤษยึดครองมานาน เมื่อวันที่ ๒๑
มิถุนายน นั่นเอง

และเมื่อถึงตอนนี้ สถานการณ์ของกองทัพอังกฤษเรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤตการณ์ แม้กระทั่งเชอร์ชิลล์ก็ยังต้องเดินทางไปยังสมรภูมิแห่งนี้เพื่อดูสถานการณ์
ด้วยตาตนเอง และเชอร์ชิลล์ก็ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนผู้บัญชาการรบอีกครั้ง! และตรงนี้แหละครับ ก็ถึงคิวของนายพลมอนต์โกเมอรี่ของเรา คู่กัดตัวแสบ
ที่รอมเมลต้องจำชื่อไปนานเท่านาน

ผมเคยอ่านหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง ท่านผู้แต่งเคยว่าไว้ว่า องค์ประกอบสำคัญของวีรบุรุษนั้น นอกจากจะต้องเพียบพร้อมไปด้วยความสามารถ แต่เหนือสิ่งอื่นใด
ที่วีรบุรุษทุกคนมีก็คือ ดวง ครับ

และคำว่า ดวงนี่เอง ที่เป็นตัวกำหนดเส้นทางชีวิตให้มอนต์โกเมอรี่มาแสดงความสามารถให้ทั้งโลกให้เห็น ด้วยว่าตามแต่ความมุ่งหมายเดิมนั้น ทั่นนายก
เชอร์ชิลล์ของเราโยนตัวเลือกไปที่นายพลก๊อตต์ แต่เหมือนกับทนชะตาความแรงของนายพลรอมเมลไม่ไหว นายพลก๊อตต์ก็สิ้นชีวิตไปด้วยอุบัติเหตุ
เครื่องบินตกระหว่างเดินทางมารับมอบการบัญชาการกองทัพอังกฤษที่อียิปต์ และคราวนี้สายตาของเชอร์ชิลล์ก็ไปอยู่ที่นายพลมอนต์โกเมอรรี่
ที่เชอร์ชิลล์มองข้ามมานาน.....


จากคุณ : เมธาวดี - [ 3 มิ.ย. 47 19:01:52 ]

   Bernard  Law Montgomery
 

     
เบอร์นาร์ด ลอว์ มอนต์โกเมอรี่ (Bernard Law Montgomery) ผู้มาเป็น คำตอบสุดท้าย ของเชอร์ชิลล์ในการรบที่แอฟริกา เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน
ปี ๑๘๘๗ ชีวิตวัยเด็กของขุนทหารผู้นี้นับได้ว่าแตกต่างจากทหารอื่นๆ นั่นคือแม้ตัวมอนต์โกเมอรี่จะเกิดมาในครอบครัวทหาร แต่ตัวมอนต์โกเมอรี่
วัยเด็กนั้นไม่มีความรู้สึกพิสวาสต่ออาชีพนี้เลยแม้แต่น้อย อาจจะเป็นด้วยวินัยที่ผู้พ่อมาเข้มงวดมอนต์โกเมอรี่แต่เยาว์วัย มอนต์โกเมอรี่จึงได้สารภาพ
ภายหลังว่า ชีวิตตอนเด็กของตนเองนั้นเรียกว่าไม่มีความสุขเอาทีเดียวและมองทหารเป็นเรื่องที่ตัวเองต้องหลีกเลี่ยงให้จงได้

มอนต์โกเมอรี่วัยหนุ่มนับว่าเป็นนักเลงอังกฤษขนานแท้ แม้จะเป็นนักเลงหัวไม้แบบแปลกๆที่ไม่กินเหล้าและไม่สูบุหรี่ตามอย่างนักเลงหัวไม้ที่มีโทสะรุนแรง
มอนต์โกเมอรี่ก็ก่อเรื่องวิวาทอัดเพื่อนร่วมสถาบันเสียอ่วมขึ้นในโรงเรียนนายร้อย

ผล...มอนตโกเมอรี่โดนไล่ออกไม่จบนายร้อยครับ....แต่มอนต์โกเมอรี่ก็ได้รับราชการทหารในตำแหน่งนายร้อยอังกฤษอยู่ดี.....เฮ่ออออ

ความแรงของมอนต์โกเมอรี่ยังไม่หยุดเ ท่านี้ หลังจากได้คำสั่งให้เข้าประจำการที่ประเทศอินเดีย นายทหารหนุ่มผู้ทำตัวเหมือนเด็กช่างกลเมืองไทยก็
ออกลายซ่าส์ถึงต่างแดน ก่อเรื่องวิวาททำลายข้าวของในคลับแห่งหนึ่งในอินเดียเสียยับเยิน......

อันที่จริงเรื่องการวิวาทกับพวกทหารเลือดร้อนนี่มักจะเป็นของคู่กันครับ แต่นั่นก็มักจะเกิดขึ้นกับทหารหนุ่มที่เมาแปร๋ แต่มอนต์โกเมอรี่ไม่กินเหล้า
ไม่สูบบุหรี่ตลอดชีวิต ก็กลับทำเรื่องแสบๆพวกนี้ได้ เห็นทีนั่นเป็นเพราะคนแบบมอนต์โกเมอรี่พิศมัยเรื่องการวิวาทเหมือนขนมหวานสามมื้อกระมัง

แต่ท้ายที่สุดครับ สงครามโลกครั้งที่ ๑ ก็บังเกิดขึ้น มอนต์โกเมอรี่ใช้ความบ้าดีเดือดตามแบบฉบับมอนตี้ของตัวเองเข้าตะลุมบอนกับเยอรมันใน
สงครามที่ฝรั่งเศสอย่างกล้าหาญไม่กลัวตาย ผลน่ะหรือครับ มอนต์โมอรี่พาลูกน้องตัวเองไปตายมากมาย แถมตัวมอนต์โกเมอรี่ยังถูกขึ้นบัญชีสาบสูญ
ไว้ตั้งเจ็ดวัน กว่าที่ตัวเองจะลากตัวกลับฐานบัญชาการอังกฤษได้

แต่กระนั้น ในเดือนตุลาคมปี ๑๙๑๔ มอนตี้ก็หาได้เข็ดหลาบกับการเล่นกับความตายไม่ ในมหาสมรภูมิ Ypres ที่กลืนกินชีวิตทหารทั้งสองฝ่ายไป
เป็นแสนๆในเวลาไม่กี่วันนั้น มอนต์โกเมอรี่ก็เอาตัวเองเข้าต่อสู้กับศัตรูเยียระมันอย่างกล้าหาญเสียจนกระทั่งตัวเองได้รับบาดเจ็บสาหัสจวนเจียนตาย
แต่ก็ไม่รู้ว่ามีเทพเจ้ามากางปีกปกป้องนายทหารอายุ ๒๖ ปีผู้นี้ไว้หรือเปล่า เพราะตัวมอนตี้เองแม้จะมีประวัติใช้ชีวิตอย่างคุ้มแสนคุ้มและโชกโชน
กับการสงครามก็ปรากฏว่ารอดตายกลับมาได้ทุกครั้ง

และครั้งนี้เองมอนตี้ก็ได้รับเหรียญกล้าหาญและได้รับการแต่งตั้งเป็นนายพันขอรับ แถมพอหลังสงครามจบ ชื่อของมอนต์โกเมอรี่ก็กระหึ่มไปทั้ง
กองทัพอังกฤษด้วยประวัติความกล้าหาญของนายพันโทอดีตนักเลงหัวไม้ผู้นี้

เมื่อสงครามโลกประทุขึ้นอีกครั้ง มอนต์โกเมอรี่ผู้ในตอนนี้ได้รับตำแหน่งพลโทมาเรียบร้อยแล้ว ก็รับการมอบหมายให้บัญชาการกองทัพอังกฤษ
ในเบลเยี่ยม...ตามที่เราๆทราบ กองทัพอังกฤษโดนแพนเซอร์กับลุฟท์วัฟตีแตกกระเจิงจนมาถึงดันเคิร์ก แต่มอนต์โกเมอรี่ก็ยังไว้ลายชาติทหาร
ด้วยว่าตนเองเป็นผู้บัญชาการทหารอังกฤษที่ท้ายกระบวน ปกป้องสหายร่วมรบจากเงื้อมมือเยอรมันให้ข้ามน้ำทะเลไปที่อังกฤษได้อย่างปลอดภัย

และชะตาของมอนตี้ก็ถูกกำหนดมาให้เป็นวีรบุรุษสงครามของชาวอังกฤษขอรับ เมื่อทัพ Afrika Korps ของรอมเมลตีทัพอังกฤษแตกกระเจิง
ที่ลิเบีย และรออีก ๗๐ ไมล์ก็จะถึงเมืองสำคัญของอังกฤษที่อเล็กซานเดรียนั้น มอนโกเมอรี่ ยอดขุนพลอีกคนหนึ่งของเราที่ถูกชะตาส่งมากำหนด
ให้มาหยุดรอมเมลไว้แค่นั้นแหละรอมเมลเอ๋ย



จากคุณ : เมธาวดี - [ 4 มิ.ย. 47 12:04:47 ]


 

     
ทันทีที่มอนตี้เดินทางมาถึงอียิปต์ ปัญหาแรกของกองทัพอังกฤษที่มอนตี้เจอคือการตกต่ำของขวัญและกำลังใจที่ทหารอังกฤษโดน Afrika Krops
ของรอมเมลตีแตกกระเจิง ทั้งๆที่ฝ่ายอังกฤษมีความเหนือกว่ามากมายทั้งทัพอากาศ กำลังพลและกำลังสนับสนุน แต่กระนั้น อังกฤษก็แตกพ่าย
อย่างกระเซอะกระเซิง ตอนนี้ทหารอังกฤษคงมานั่งเจ็บใจว่า ทามม้ายยยยยย ตูถึงแพ้ไอ้พวกไส้กรอกเยอรมันได้ฟะแล้วเริ่มมองไปถึงขั้นการถอนกำลัง

มอนตี้เดินทางมาถึงพร้อมด้วยแผนการแรก คือการเพิ่มขวัญและกำลังใจของทหารอังกฤษในอียิปต์ของตัวเอง โดยได้เขียนเอกสารมอบให้เหล่า
นายทหารของกองทัพตัวเองอ่านให้นายทหารใต้บังคับบัญชาฟังดังๆดังนี้.......................................

๑. เมื่อข้าพเจ้า (มอนต์โกเมอรี่) ได้เข้ามาบัญชาการกองทัพที่แปด ข้าพเจ้าก็ขอกล่าวว่าคำสั่งของข้าพเจ้าคือ ทำลายรอมเมลและกองทัพของมันเสีย
และเป้าหมายนี้ก็จะสำเร็จในระยะเวลาอันใกล้

๒. ตอนนี้พวกเราพร้อมแล้ว!!!

สงครามครั้งนี้จะกลายเป็นสงครามครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ มันจะเป็นจุดหักเหครั้งสำคัญของมหาสงครามโลกนี้ สายตาของทั้งโลกกำลังจดจ้อง
มาที่พวกเรา ด้วยกระหายใครรู้ว่า ผลของสงครามจะหันไปในทิศทางใด

ซึ่งพวกเราก็จะตอบคำถามของเขาเหล่านั้นได้ว่า....มันจะหันมายังทิศของเรา

๓.เรามีเครื่องมือชั้นหนึ่ง รถถังชั้นดี ปืนต่อต้านรถถังชั้นเยี่ยม กระสุนมากมาย ปืนใหญ่หลายหลาก และพวกเราก็ยังได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ
ที่ดีที่สุดในโลกนี้

ทั้งหมดอื่นใด สำคัญที่สุดของพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นทั้งนายทหารหรือพลทหารคนใด ควรจะเข้าสู่สงครามอันนี้ด้วยสายตาที่มองไปข้างหน้าที่จุดหมาย
ที่จะสู้และฆ่าฟันศัตรู และชนะสงคราม

และหากว่าเราทำผลนั้นได้สำเร็จได้ด้วยกัน เราก็จะตีศัตรูขึ้นเหนือ พ้นออกไปจากแอฟริกา

๔. ยิ่งชนะสงครามครั้งนี้ ที่เป็นจุดหักเหครั้งสำคัญ เร็วเท่าไหร่ เราก็ยิ่งจะได้กลับบ้านพบหน้าครอบครัวได้เร็วเท่านั้น

๕. ดังนั้น ทหารทุกคนและนายทหารทุกท่าน จงเข้าสู่สงครามนี้ด้วยใจฮึกเหิมและทำหน้าที่ของทุกคนให้สมบูรณ์ตราบใดที่เขาเหล่านั้นมีลมหายใจอยู่ในกาย

และข้าพเจ้าจะไม่ให้ใครคนไหนยอมแพ้ตราบใดที่เขาเหล่านั้นไม่บาดเจ็บและอยู่ในสภาพต่อสู้ได้

ขอพวกเราจงอธิษฐาน ให้พระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ในสงคราม ขอโปรดจงมอบชัยชนะแก่พวกเราด้วยเทอญ

นอกจากนี้ นายพลมอนต์โกเมอรี่ยังจัดตั้งกองทัพขึ้นมาใหม่ แต่งตั้งนายทหารประจำกองพันต่างๆ ตามแต่ลำดับความสามารถ นอกจากนี้กองทัพอังกฤษยัง
ยินดีด้วยว่าทางหน่วย ULTRA แกะรหัสทางฝ่ายเยอรมันได้ว่า...ทัพรอมเมลได้รับแรงสนับสนุนจากฟูห์เร่ออย่างกระจ้อยร่อย ด้วยว่าภายในเดือนมิถุนายน
รอมเมลได้รับยุทธภัณฑ์จากท่านฟูห์เร่อลดลงมาจากสามหมื่นตันลงมาเหลือหกพันตันเท่านั้น......

ทางฝ่ายรอมเมลที่ประสบปัญหาขาดแคลนทั้งเสบียงอาหาร ยุทธภัณฑ์ และกำลังพลมาตั้งแต่ต้นนั้น ด้วยว่าทางท่านฟูห์เร่อได้ลำดับสมรภูมิในแอฟริกาเหนือ
ลงมาอยู่ลำดับรองๆรองจากรัสเซียเท่านั้น น้ำมันทรัพยากรที่มีค่าที่รอมเมลต้องการนำมาใช้ขับเคลื่อนรถถังของตนเองในการดำเนินศึกตามแบบ Blitkrieg
ก็ขาดแคลนอย่างแสนสาหัส ทัพหนุนที่รอมเมลขอไปยังท่านฟูห์เร่อนั้น รอมเมลก็ได้รับแต่กองทัพและรถถังของอิตาลีที่รอมเมลแสนจะระอาถึงกับ
ออกปากว่า....สิ่งที่ชั้นต้องการคือไม่อยากให้มีเจ้าพวกอิตาลีอีกแล้ว ชั้นอยากได้ทหารเยอรมัน อยากได้ยุทธภัณฑ์เยอรมันอย่างเดียว....



จากคุณ : เมธาวดี - [ 4 มิ.ย. 47 14:14:33 ]








     
กระนั้นก็ตาม แม้รอมเมลจะเกิดปัญหาขาดแคลนกำลังสนุนเพียงใด รอมเมลก็ตัดสินใจทุ่มกำลังทั้งหมดที่ตนเองมีเปิดสงครามกับกองทัพอังกฤษที่
Alam El Halfa เมื่อวันที่สามสิบสิงหาคม แต่มอนโกเมอรี่ยอดขุนพลทางฝ่ายอังกฤษก็ได้จัดเตรียมทัพรอไว้อยู่แล้ว พอถึงวันที่ ๒ กันยายน
Afrika Korps ของรอมเมลก็โดนมอนต์โกเมอรี่ตีแตกกระเจิงเอาเป็นครั้งแรก แต่กระนั้น มอนต์โกเมอรี่ก็หาได้วู่วามตีลึกเข้าไปยังลิเบีย
เหมือนนายพลอังกฤษคนก่อนไม่.....

เชอร์ชิลล์ได้ยินข่าวการชนะสงครามครั้งย่อยนี้ด้วยใจลิงโลด รีบโทรศัพท์ด่วนไปหามอนตี้ให้เร่งรุกตีรอมเมลให้กระเจิง แต่จะมีใครรู้สภาพการรบ
เท่ากับมอนตี้ครับ ว่าทหารของตัวเองพร้อมหรือไม่ที่จะรบต่อไป ก็ทำเฉยกับคำสั่งของเชอร์ชิลล์ ปฏิเสธอย่างไม่แยแสว่า....กองทัพอังกฤษยังไม่พร้อม

มอนต์โกเมอรี่มีแผนไว้ในใจพร้อมแล้วครับ ด้วยมีแผนปฏิบัติการ Light Foot ที่จะเปิดสงครามเต็มรูปแบบในเดือนตุลาคม เมื่อถึงกลางเดือนสิบ
กองทัพที่แปดของมอนต์โกเมอรี่ก็มีกำลังพลพลพร้อมสรรพถึง ๑๙๐,๐๐๐ คน รถถังอีก ๑๓๕๑ คัน อาวุธหนักอีกกว่า ๑๙๐๐ ชิ้น แต่ทางฝ่ายรอมเมลนั้น
เหลือทหารอยู่เพียงหนึ่งแสนคน รถถังอีก ๕๑๐ คัน แถมอีก ๓๑๐ คันนั้น....ก็เป็นรถถังทางฝ่ายอิตาลีที่รอมเมลแสนจะเอือมระอา

เมื่อมอนต์โกเมอรี่เห็นกองทัพของตัวเองมีกำลังสนับสนุนและกำลังพลพร้อมมูลเช่นนี้ ตอนนี้คงจะกระหยิ่มยิ้มย่องด้วยว่า ปฏิบัติการ Light Foot ของตนเอง
จะตีทัพรอมเมลให้กระเจิง ด้วยมั่นใจว่าทางฝ่ายทัพรอมเมลซูบผอมด้วยขาดแคลนกำลังพลและยุทธภัณฑ์ มอนต์โกเมอรี่ก็ดำเนินงานตามแผน Light Foot
เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พร้อมด้วยประกาศให้เหล่าทหารใต้บังคับบัญชาทราบว่า.....งานนี้ไม่มียอมแพ้ ไม่มีถอนกำลังเฟ้ยยยยยยยยยยยยยยยยย

เมื่อคืนวันที่ ๒๓ ตุลาคมนั่นเอง มอนต์โกเมอรี่สั่งปืนใหญ่กว่าพันกระบอกพ่นลูกปืนไปยังฐานทัพเยอรมันและอิตาลีกลางดึก ด้วยความสมบูรณ์พร้อมของ
กระสุนปืน ห่าลูกปืนใหญ่ครั้งนี้หนักหนาเสียจนเขาเรียกว่าตกลงมาเหมือนพายุเฮอริเคน.......

ขณะที่เหล่าทหารเยอรมันและอิตาลีกำลังกระโดดหลบกระสุนปืนใหญ่แบบหัวซุกหัวซุนนั้น มอนต์โกเมอรี่ก็สั่งให้ทหารพร้อมรถถังกวาดทุ่นระเบิด
เปิดทางให้หน่วยทหารราบหนักเปิดเกมบุกเข้ามา ตอนนี้เรียกได้ว่าฝ่ายเยอรมันอยู่ในขั้นวิกฤตที่สุด และที่ยิ่งกว่าวิกฤต ยอดขุนพลผู้นำที่แท้จริงของ
Afrika Crops ตอนนี้นอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาลที่ออสเตรียโน่น.....

แถมนายพลที่ทำหน้าที่สั่งการแทนรอมเมลก็มาหัวใจวายตายเพราะเสียงกับระเบิดเสียอีกนี่.........โถ....จิ้งจอกทะเลทรายตอนนี้อยู่ในภาวะคับขันแล้วครับ

ทันทีที่รอมเมลได้รับข่าววิกฤตการณ์ของทัพตนเองในแอฟริกาเหนือจากฮิตเลอร์ อย่างจิตใจนักรบ แม้ร่างกายจะไม่สมบูรณ์ แต่ก็ไม่ทิ้งทหารใต้บัญชาการ
ของตัวเองให้ประสบหายนะ รอมเมลรีบรับคำสั่งแล้วเดินทางไปถึงแนวหน้าในวันที่ ๒๕ ตุลาคมนั่นเองพร้อมกับเจอสถานการณ์ที่หนักกว่าเก่า
ด้วยมอนต์โกเมอรี่ส่งกองพันทหารราบที่ ๔๔ พร้อมด้วยกองพันยานยนต์หุ้มเกราะที่ ๗ เข้าเหยียบทัพเยอรมันและอิตาลีซ้ำสอง

เมื่อทราบข่าวการมาของขุนทัพรอมเมล นายพลมอนต์โกเมอรี่ก็สั่งให้กองทัพของตนทั้งหมด หยุดการคืบหน้าเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม เพื่อปรับแผนการรบใหม่
พอถึงวันรุ่งขึ้น มอนต์โกเมอรี่ส่งกองพันทหารราบออสเตรเลียที่ ๙ ขึ้นบกที่ชายฝั่งด้านเหนือ ตีทัพรอมเมลเสียย่อยยับ....ตอนนี้ ทัพ Afrika Korps และ
อิตาลีก็เหมือนกับไส้แซนด์วิชในคู่ขนมปังอังกฤษครับ




จากคุณ : เมธาวดี - [ 4 มิ.ย. 47 15:10:31 ]










ตอนนี้ย้อนกลับไปที่กรุงลอนดอน เชอร์ชิลล์ฟังข่าวการเคลื่อนไหวของการรบครั้งนี้อย่างใจจดใจจ่อ เมื่อได้รับทราบข่าวการบุกของมอนต์โกเมอรี่แล้ว
เชอร์ชิลล์ก็ถึงกับกระฟัดกระเฟียดด้วยว่าทำไมมอนต์โกเมอรี่รีรอไม่รีบตีทัพรอมเมลให้กระเจิง คราวนี้เชอร์ชิลล์โทรศัพท์ไปหามอนตี้ถึงแนวหน้า
แหกปากผ่านสายโทรศัพท์หาว่ามอนตี้รบแบบเหยาะๆแหยะๆ แต่มอนตี้ก็หาได้รู้สึกรู้สากับคำพูดแรงๆของเชอร์ชิลล์ไม่ เพราะขุนทัพคนนี้รู้ดีว่า....
ตัวเองกำลังจะทำอะไรต่อไป

พอวันที่ ๒๖ ตุลาคม มอนตี้สั่งทหารออสเตรเลียขึ้นบกทางชายฝั่งด้านเหนือ รอมเมลได้ทราบข่าวการบุกของทัพออสเตรเลียก็ถึงกับใจหาย
ด้วยว่ากองทัพเยอรมันนั้นมีเส้นทางส่งกำลังบำรุงหนึ่งเดียวที่พาดผ่านตลอดชายฝั่งลิเบีย-เมดิเตอร์เรเนียน เหนือไปกว่านั้น หากว่าปล่อยให้ทัพออสเตรเลีย
ตั้งมั่นตัดถนนเส้นนี้ขาด ทัพ Afrika Korps ของรอมเมลก็หมดทางหนีได้ ครับกระผม ตอนนี้รอมเมลมองไปถึงขั้นการถอยของทัพตนเองแล้ว
จุดมุ่งหมายของรอมเมลที่จะไปยึดอาณานิคมอังกฤษถึงคลองสุเอซแต่แรกเมื่อเริ่มสงครามนั้น ตอนนี้กลายเป็นอากาศธาตุไปแล้ว

มอนตี้ ได้ปรับแผนการของตัวเองใหม่ภายใต้ชื่อปฏิบัติการใหม่ ภายใต้รหัส Supercharge สั่งทหารออสเตรเลียให้คงการรบกระหนาบที่ทางด้านเหนือไว้
พร้อมกันนั้น จัดทัพใหม่ทั้งหมด เน้นกำลังไปกระหนาบรอมเมลทางด้านใต้ ถึงตอนนี้จอมพลรอมเมลไม่อาจใช้ Blitzkrieg ตามแบบที่ตนเองชำนาญได้แล้ว
เพราะปัญหาการขาดแคลนน้ำมันตลอดทั้งกระสุนปืนใหญ่ รถถังที่ตัวเองมีอยู่น้อยอยู่แล้วยังเอามาใช้ไม่ได้ตามใจตัวเองเสียอีก.....ท้ายที่สุด รอมเมลก็
ทำใจได้กับผลของสงครามครั้งนี้ โทรศัพท์ไปที่เบอร์ลินเพื่อรายงานสถานการณ์ให้ฮิตเลอร์ทราบ แต่อย่างว่าครับ ซาตานช่างฝันอย่างฮิตเลอร์มีหรือ
ที่จะสั่งถอยง่ายๆ บอกรอมเมลไปว่าให้ทัพเยอรมันทุ่มกำลังทั้งหมดที่มีจนถึงกระสุนนัดสุดท้าย ทหารตัวคนเดียว สู้จนตัวตายตามแบบฉบับอัศวินแห่ง
อาณาจักรไรค์ที่ ๓

แต่รอมเมลไม่มีทางยอมให้ทหารใต้บังคับบัญชาอันเป็นที่รักของตนสูญเสียชีวิตไปกับสงครามที่ไร้ประโยชน์เช่นนี้ ทหารตายหมดก็เสียที่มั่นในอียิปต์อยู่ดี
สู้เก็บทหารไว้รบวันหน้าไม่ดีกว่าเรอะ????? ฮิตเลอร์สุดท้ายก็ต้องยอมจำนวนด้วยสถานการณ์ที่แท้จริงของสงคราม ยอมอณุญาตให้กองทัพรอมเมลถอยหนี
มอนตี้อย่างไม่เต็มใจ

การรบดำเนินต่อไปจนถึงวันที่ ๔ พฤศจิกายน กองทัพรอมเมลที่สะบักสะบอมจากกองทัพมอนตี้ทางด้านใต้ แถมยังต้องตีฝ่ากองทัพออสเตรเลียเพื่อหา
ทางหนีเสียอีก มอนตี้อาศัยกำลังที่เหนือกว่าส่งกองพันยานยนต์หุ้มเกราะพร้อมทหารนิวซีแลนด์ตีวกอ้อมเพื่อหวังจะ "ฮุคซ้าย" รอมเมลจากทางด้านตะวันตก
แต่ดูเหมือนสวรรค์ยังสงสารรอมเมล เที่ยงวันที่ ๖ พฤศจิกายน ก็เกิดฝนตกห่าใหญ่ลงมาหยุดยั้งการคืบหน้าของกองทัพนิวซีแลนด์


ในวันที่เจ็ด รอมเมลพาเหล่าทหารเยอรมันหนีทัพอังกฤษจนมาถึงชายแดนอิยิปต์-ลิเบีย แต่ที่เจ็บใจยิ่งกว่านั้น รอมเมลได้ฟังข่าวการยกพลขึ้นบกของทหาร
อเมริกันภายใต้ชื่อรหัสปฏิบัติการ Torch ที่ขึ้นบกที่อัลจีเรียและโมรอคโคเรียบร้อยแล้ว.......ซึ่งท้ายที่สุดของสงครามนอกจากตัวเองจะต้องแตกหนีมอนโกเมอรี่กระเซอะกระเซิงจนกลับเข้ามาอยู่ลิเบีย ตัวเองต้องเสียทหารที่รบเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาปีกว่าไปร่วมห้าหมื่นคน ตลอดจนอาวุธหนักทั้งหนึ่งพันชิ้นก็แหลกไม่มีชิ้นดี แถมรถถังก็เหลืออีกไม่กี่สิบคันเท่านั้น..........


ครับ ตอนนี้เชอร์ชิลล์ก็แสนจะลิงโลดกับผลงานของมอนตี้ที่เตะรอมเมลกระเจิงจากอียิปต์ ระฆังโบสถ์ทั่วอังกฤษสั่นส่งเสียงโห่ร้องแห่งชัยชนะครั้งใหญ่
ครั้งแรกของสงคราม กำลังใจทัพอังกฤษกลับมาอยู่ในจุดสูงสุดและพร้อมที่จะเคลื่อนทัพเข้าไปย่ำรอมเมลในลิเบียพร้อมกับสหายร่วมรบหน้าใหม่ กองทัพ
อเมริกันที่รอตั้งทัพที่แอลจีเรียและโมรอคโคเรียบร้อยครับผม


จากคุณ : เมธาวดี - [ 4 มิ.ย. 47 16:36:27 ]




ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม โดย "วิวันดา"

ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนยี่สิบสาม (สมบูรณ์)
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนยี่สิบสอง
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนยี่สิบเอ็ด
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนยี่สิบ
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนสิบเก้า
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนสิบแปด
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนสิบเจ็ด
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนสิบหก
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนสิบห้า
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนสิบสาม
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนสิบสอง
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนสิบเอ็ด
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนเก้า และตอนสิบ
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนแปด
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนเจ็ด
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนหก
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนห้า
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนสี่
ฮิต เล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนสาม
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม ตอนสอง
ฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักร์ที่ไรค์ซที่สาม



แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker