dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



ลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์ ตอนสี่


 

    สามเดือนผ่านไป การไว้ทุกข์ให้กับพระบรมศพของพระเจ้ายอร์จที่หกก็เป็นอันว่าจบสิ้น..
    ประชาชนเตรียมรอรับงานอันเป็นมหามงคลที่กำลัง
    จะมีขึ้นในปีต่อไป ตามหมายกำหนดการคือ วันที่ 2 มิถุนายน 1953 งานนั้นคือ พิธีบรมราชาภิเษกที่กำลังจะจัดขึ้นมาอย่างยิ่งใหญ่สำหรับพระราชินี
    ประชาชนต่างลืมเรื่องทุกข์ยากที่ผ่านมาจนสิ้น ต่างหายใจเข้าออกถึงพิธีอันยิ่งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น
    หนังสือพิมพ์ก็พากันเขียนเรื่องราวย้อนหลังเปรียบเทียบไปว่า เหมือนกับเข้าสู่ความรุ่งเรืองในยุคแห่งแผ่นดินพระนางเจ้าอลิซาเบธที่หนึ่ง {หรือที่เรียกกันว่า Elizabethan} ซึ่งพระราชินีได้ทรงแย้งว่า
    "ไม่เห็นจะเหมือนกันสักนิด พระนางเจ้าอลิซาเบธที่หนึ่งนั้น ทรงมิได้อภิเษกสมรส ไม่มีพระโอรสพระธิดา อีกทั้งไม่เคยเสด็จออกนอกประเทศเลย จะเทียบให้เหมือนกันได้อย่างไร"
    (ที่พระองค์ได้ตรัสว่าไม่เหมือนนั้นก็ไม่เชิงนัก เพราะตลอดเวลาห้าสิบกว่าปีที่ทรงครองราชย์จนถึงทุกวันนี้ได้แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถเฉกเดียวกัน)

    งานพิธีบรมราชาภิเษกนี้ รัฐบาลได้จัดเตรียมการกันอย่างวุ่นวายในทุกหน่วยงาน การประดับประดาท้องถนน ริ้วขบวน ธงประดับพริ้วไสว
    แม้กระทั่งพรมในพระวิหารหลวงเวสต์มินสเตอร์ที่มีขนาดกว้างใหญ่นั้นก็ได้มีการรื้อเปลี่ยนใหม่ เพื่อต้อนรับเหล่าบรรดาแขกผู้มีเกียรติถึง 7700 คน

    คนทั้งโลกต่างพลอยพากันตื่นเต้นไปด้วย..บีบีซีได้เสนอให้มีการถ่ายทอดสดโทรทัศน์ แต่เหล่ากรมวังเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่คัดค้านกันอย่างสุดฤทธิ์ เพราะพวกเขาไม่ต้องการให้มีกล้องตั้งเกะตาลูกตาตามมุมต่างๆของพระวิหารอันศักดิ์สิทธิ์
    และพิธีอันเป็นมหามงคลนี้ ควรจะอยู่แต่ในกลุ่มพยานอันเป็นเจ้านายและขุนนางเท่านั้น..
    แม้แต่ท่านนายกฯ เชอร์ชิลล์เองก็ว่า..
    "เรื่องอะไรจะให้บีบีซีจะได้มาดูชัดกว่าพวกเราล่ะ"

    แต่พระราชินีกลับทรงเห็นด้วยในเรื่องของการถ่ายทอด พระองค์ได้ทรงไต่ถามและหาความรู้ในเรื่องของการบันทึกภาพอย่างจริงจัง ถึงว่าจะต้องใช้กล้องกี่ตัว
    ไมโครโฟนกี่อัน..และ มุมที่ตั้งของกล้องจะอยู่ตรงไหนในพระวิหาร
    เซอร์ อลัน ลาส์เซเลส ได้แย้งว่า
    "จะต้องใช้ไฟส่องที่มีแสงจ้ามาก พะยะค่ะ กระหม่อมเกรงว่า...."
    พระสังฆราชได้ทรงเข้ามาเสริมว่า..
    "ขอเดชะ..เห็นทีจะไม่เหมาะกับพระองค์นัก เพราะเป็นการถ่ายทอดสดที่จะต้องปรากฏต่อสายตาของประชาชน ถ้ามีสิ่งใดผิดพลาดจะแก้ใขไม่ทันซึ่งพิธีนั้นใช้เวลายาวนานถึงสองชั่วโมง"
    พระราชินี ทรงตรัสว่า.."ถ้าไม่ได้ลอง เราจะไปรู้ได้ยังไงล่ะ"

 

            ไม่กี่วันต่อมา..พระองค์ได้ส่งข้อความผ่านเจ้าชายฟิลิปพระสวามีไปถึงท่านนายกฯ ใจความว่า..
            "พระองค์ได้ทรงอนุญาตให้สถานีโทรทัศน์บีบีซีให้เข้ามาทำการถ่ายทอดพิธีในพระวิหารหลวงเวสต์มินสเตอร์ได้ โดยมีข้อแม้เพียงอย่างเดียว
            นั่นคือ ห้ามการโคลส-อัฟ โดยเด็ดขาด
            ท่านนายกฯจึงต้องทำการเรียกประชุมคณะรัฐบาลโดยด่วนถึงข้อความดังกล่าว...ว่า
            "พระราชินีทรงมีพระประสงค์ให้เหล่าอาณาประชาราชได้มีโอกาสชื่นชมในพระบารมีโดยทั่วกัน.."
            เหล่าเสนาบดีทั้งหลายต่างออกเสียงกันอึงคนึง ซึ่งโดยมาก..ไม่เห็นด้วยกับพระราชดำริในครั้งนี้
            ท่านนายกเชอร์ชิลล์เลยต้องใช้ไม้เด็ดว่า..
            "พระองค์ต่างหากที่ต้องเป็นผู้รับการบรมราชาภิเษก เป็นผู้ต้องได้ทรงมหามงกุฏ....ไม่ใช่พวกท่าน..อย่าลืมซิ"

            ในพระราชประสงค์ครั้งนั้น ทำให้ประชาชนกว่าสามร้อยล้านคนในโลกได้มีโอกาสเป็นพยานในพระบรมพิธีอันยิ่งใหญ่
            พระองค์ได้ทรงรับทราบในความสำเร็จของการถ่ายทอดครั้งนั้น ยามที่เสด็จไปชมการบันทึกภาพที่สถานีบีบีซีที่ ตึกบนถนน Limegrove
            ทรงพอพระราชหฤทัยกับความเก่งกล้าสามารถของ
            นาย ปีเตอร์ ดิมม็อค หัวหน้าทีมงาน
            ถึงขนาดได้ทรงแตะบ่า..ประทานตำแหน่งอัศวินกันเดี๋ยวนั้น..คือตรงกลางสถานี

       

            ผลพลอยได้ของงานพิธีได้สร้างความศรัทธา เชื่อมั่น และ ความเทิดทูนบูชาในสถาบันแห่งอาณาจักรบริเตนอย่างล้นหลาม
            แม้ว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินอย่างมากมายถึง 6.5 ล้านปอนด์ แต่พระองค์ทรงยอมเสียเพื่อเป็นการผดุงสถาบันกษัตริย์ให้คงอยู่ในใจของประชาชนสืบต่อไปนานเท่านาน..
            มหาอาณาจักรบริเตนได้ลดขนาดเล็กลงไปทุกวัน..เมื่อแผ่นดินได้ผลัดมาจนถึงพระองค์นั้น เหลือแค่สหราชอาณาจักร ที่ประกอบด้วย
            ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เมืองท่าอีกสองสามแห่งในคาริบเบียน อาฟริกา และ ฮ่องกง (ในตอนนั้น)

            แต่เป็นเพราะความเป็นสถาบันบัลลังค์ที่มั่นคงมาแต่ครั้งประวัติศาสตร์นี้เอง ที่ทำให้อังกฤษเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
            ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล
            ประชาชนต่างเทิดทูนในองค์สมเด็จพระราชินีกันอย่างสุดหัวใจ เพราะพระองค์และพระสวามีที่สง่างาม อีกทั้งพระโอรส พระธิดา
            ทั้งหมดคือภาพโดยรวมที่สมบูรณ์ประหนึ่งดังแม่แบบครอบครัวของประเทศชาติ
            พวกเขา..ได้ยอมรับกันอย่างหมดใจว่า..พระองค์นั้นคือสมมติเทพจากสรวงสวรรค์อย่างแท้จริง

            แม้แต่การสำรวจโพลล์จากสื่อที่ว่า..นายพลไอเซ่นฮาวร์ ที่ว่าได้รับความนิยมอย่างล้นหลามแล้วนั้น..
            ยังถูกสมเด็จพระราชินีองค์น้อยองค์นี้รับคะแนนแซงหน้าลิ่ว..
            หนังสือไทม์ได้เลือกให้พระองค์เป็น "Woman of the Year" ในปี 1952 นับว่าเป็นสุภาพสตรีคนที่สองรองลงมาจาก
            นาง วอลลิส ซิมปสัน (หม่อมวอลลิส ของ
            ดยุค ออฟ วินด์เซอร์) ที่ได้ครองตำแหน่งไปในปี 1936

            นักหนังสือพิมพ์ นักข่าว มหาเศรษฐี เจ้านาย..และเหล่าผู้ลากมากดีจากอเมริกาต่างแห่กันขึ้นเรือข้ามมหาสมุทรกันมาร่วมในพระราชพิธีตามบัตรเชิญในครั้งนี้
            และสองคนในนั้น คือ ดยุคและดัชเชส ออฟ วินด์เซอร์ ที่เป้าหมายไม่ได้มาร่วมในพิธี หากแต่กำลังจะเดินทางไปฝรั่งเศส
            เมื่อมีคนถามดัชเชสว่า ดยุคและเธอจะไปร่วมในงานหรือไม่..เธอได้ตอบว่า..
            "ไปทำไมล่ะ ก็บัลลังค์น่ะ เป็นของท่านดยุคแท้ๆ พระองค์ยังไม่สนเลย.."

            ส่วนหนึ่งสาวน้อยนักข่าวในนั้นคือ จ๊าคเกอลีน บูวิเยร์ ที่ได้เขียนบันทึกไว้ว่า
            "ถ้าท่านดยุคไม่ได้สละราชบัลลังค์ ก็คงไม่ต้องเดินทางระหกระเหินอย่างนี้ แต่ยามที่มีเด็กๆมารายล้อมของลายพระหัตถ์ ก็ทรงประทานให้ด้วยความมีพระทัย"

            (จ๊าคเกอลีน บูวิเยร์ Jacqueline Bouvier สาวน้อยนักข่าวคนนั้น เมื่อกลับมาก็หมั้นกับนักการเมืองหนุ่ม ที่มีนามว่า จอห์น  เอฟ เคนเนดี้และแต่งงานในปี 1953 ต่อมา คือ สุภาพสตรีอันดับหนึ่ง ภริยาประธานาธิบดี)

       

            ส่วนท่านดยุคและหม่อม ได้ไปขึ้นที่ท่า เลอ อาฟร์ ฝรั่งเศส (Le Havre, France) และต่อด้วยรถไปกรุงปารีส การเดินทางครั้งนี้ไปกันเป็นคณะ
            โดยที่มีหนุ่มชู้รักของหม่อมวอลลิสไปด้วย เขาคนนั้นคือ นาย จิมมี่ โดนาฮิว ทายาทวันสามสิบเจ็ดของห้างสรรพสินค้าสะดวกซื้อ Woolworth
            (เรื่องนี้จะเล่าให้ฟังทีหลัง)
            ทั้งคณะได้ไปเฝ้าดูพิธีบรมราชาภิเษกที่หน้าจอโทรทัศน์ ในบ้านของเพื่อนเศรษฐีอเมริกันนามว่า มาร์กาเร็ต ทอมปสัน บิดเดิล
            ท่านดยุคได้เพิ่งขายลิขสิทธิ์ในการเขียนข้อความการบรรยายรายละเอียดของพิธีให้กับ ยู เอส แม๊กกาซีน ในราคา หนึ่งแสนเหรียญ
            และขายลิขสิทธิ์ให้กับหนังสือพิมพ์ในการถ่ายภาพของตัวเองยามที่นั่งหน้าจอดูการถ่ายทอดเพื่อที่จะลงเป็นข่าวหน้าหนึ่ง

            ในงานปาร์ตี้ของการเฝ้าดูการถ่ายทอดนั้น ท่านดยุคได้บรรยายสดประกอบหน้าจอให้เหล่าพระสหายฟังด้วย อธิบายว่า อะไรคืออะไร
            บางทีก็ทรงฮัมเพลงสวดตามไปด้วย บางทีก็ชี้ชวนให้ดูพระสหายคนนั้น คู่อริคนนี้ที่ปรากฏในภาพเป็นที่เอิกเกริกไป..

            ในตอนเย็นของวันก่อนวันมหามงคลนั้น..พระราชินีทรงได้รับทราบข่าวดีอีกข่าวหนึ่ง นั่นคือ การพิชิตยอดเขาเอฟเวอเรสต์เป็นที่สำเร็จเป็นคนแรกหลังจากที่ได้มีคนพยายามมานักต่อนัก ธงยูเนี่ยนแจ๊คได้ประดับอยู่บนยอดเขาด้วยฝีมือ (และเท้า) ของ
            นาย เอดมันด์ ฮิลลารี่ ชาวนิวซีแลนด์ (Edmund Hillary) ที่ต่อมาได้รับพระราชทานให้เป็น เซอร์

           

 

 

ฟังเรื่องมหามงคลมาเยอะแล้ว..ทีนี้มาฟังเรื่องเบื้องหลังมั่งดีกว่า..ว่าในยามนั้น อังกฤษยังอยู่ในภาวะขาดแคลน ประชาชนอีกมากที่ยังไร้ที่อยู่
            และ กว่าสี่ล้านคน..ยังขาดสาธารณูปโภคที่จำเป็น ประเทศหลังสงครามได้เข้าสู่ยุคผู้ดีเดินตรอก ขี้ครอกเดินถนนโดยแท้
            ขุนนางเก่าๆที่ต้องเข้ามาร่วมในพิธีตามยศถาบรรดาศักดิ์นั้น ต่างเดือดร้อนกันถ้วนหน้า
            จนเกินกว่าที่จะไปจัดหาเครื่องแบบ เสื้อคลุมกำมะหยี่สีแดงขลิบด้วยขนเออร์มี่ใหม่มาพรางกายให้มีสง่าราศรี (เป็นเงินตกราวร้อยกว่าปอนด์)
            บางคนต้องเอาของเก่าตั้งแต่ครั้งงานพระบรมราชาภิเษกของพระเจ้ายอร์จที่หกมาซ่อมแซมใช้
            บางคนก็ไปหาผ้ากำมะหยี่เทียม และใช้ขนกระต่ายมาทำเป็นเฟอร์ขลิบแทน เรียกว่า พอขายผ้าเอาหน้ารอด

            ส่วนหน่วยทหารม้า..ที่ต่างก็ขายม้าเอาเงินมายังชีพแล้วนั้น..ต้องไปขอยืมจำนวน 350 ตัวจากโรงงานทำเบียร์มาใช้
            ที่เหลืออีก 100 ตัวนั้น ไปขอเช่ามาจากโรงถ่ายภาพยนตร์ Alexandra Korda Film Company
            (ส่วนรายละเอียดในงานนั้น ขอข้ามค่ะ เพราะไปหาดูได้จากโทรทัศน์ที่นำกลับมาฉายบ่อยๆ)

           

            อ่านแล้วขอให้คิดถึงเหตุผลตามที่ควรจะเป็นประกอบไปด้วยนะคะ เพราะย้ำให้ฟังบ่อยๆว่า อังกฤษอยู่ในภาวะที่เพิ่งเริ่มตั้งราชวงค์แบบสดๆร้อนๆ
            และต้องมาเจอกับสงครามโลกทั้งสองครั้ง บ้านเมืองรอดปากเหยี่ยวปากกามาได้...จะเป็นเพราะมีประมุขดี จะเป็นเพราะว่าดวงดี หรือ กรุงลอนดอนไม่สิ้นคนดีก็แล้วแต่..
            ประชาชนทุกคนต่างมอบจิต วิญญาณ และต่างยอมตายเพื่อประเทศชาติและองค์พระมหากษัตริย์ได้ทุกเมื่อ
            (ไปอ่านเรื่องอิตเล่อร์ ตอนที่เสืออากาศของอังกฤษบินทะยานข้ามน่านฟ้าไปถล่มกรุงเบอร์ลิน แก้แค้นที่เยอรมันบังอาจมาบอมบ์พระราชวังบั๊คกิ้งแฮมให้เสียหายไปบางส่วน และการบินที่ต้องฝ่าฝูงลุฟวัฟฟ์จากอังกฤษไปถึงเยอรมันนั้นระยะการบินนับว่าไม่ใกล้ หนทางเต็มไปด้วยอุปสรรค นักบินทั้งฝูงไม่ได้หวังว่าจะมีชีวิตรอดกลับมา..แต่..ทุกคนยอมตายถวายชีพให้เป็นราชพลี)

            ดังนั้น..จึงเป็นหน้าที่และภาระอันหนักอึ้งของสมเด็จพระ
            ราชินีอลิซาเบธที่ต้องรักษาความมั่นคง ความศักสิทธิ์ ของบัลลังค์ให้สมกับศรัทธาที่ได้รับจากสัปเยก (เป็นคำไทย
            เคยเห็นใช้ในหนังสือเก่าๆ..ที่แผลงมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า subjects อันหมายถึง ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน)
            และพระองค์ได้มี"กลุ่มผู้ช่วย"ในการจรรโลงการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างแน่นหนา
            เขาพวกนั้นคือ พวกเสนาบดี กรมวัง ที่พื้นฐานนั้นไม่ใช่ใครอื่น พวกเขาคือลูกหลานของข้าราชบริพารเก่าๆมาตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ อีกทั้งยังมีพระญาติจากสายสาแหรกอื่นๆที่ได้ปลดฐานันดรเจ้านายของตัวเองออก เปลี่ยนมาเป็นขุนนางของอังกฤษ
            และยังมีเหล่าอดีตอัศวินวีรบุรุษที่ได้ผ่านสงครามต่อสู้เพื่อประเทศชาติ เมื่อปลดประจำการก็เข้ามาเป็นองคมนตรี ช่วยทำงานต่างพระเนตรพระกรรณ
            คนกลุ่มนี้ คือ..พวกกรมวังเสนาบดีที่มีสิทธิมีเสียงและมีอำนาจในการบริหาร ดูแล ปกป้องไม่ให้ความเสื่อมเสียมาสู่พระราชวงค์อย่างเต็มที่
            พวกกรมวังพวกนี้..ต่างทำงานถวายให้กับสมเด็จฯอย่างที่เคยทำให้กับพระเจ้ายอร์จที่หก พระบิดา

            พวกเขาจะเป็นผู้ตัดสินใจว่า..สมเด็จฯสมควรจะทรงตรัสอะไร กับ ใคร แค่ไหน..
            และ ที่สำคัญคือ พวกเขาคอยปกป้องมิให้"ความใน" ล่วงรู้ไปถึงหูของประชาชนข้างนอก
            ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตามแต่...นักข่าวจะได้ข่าวไปเขียน ก็ต้องมาจากการกลั่นกรองของกรมวัง..ที่มีหลักยึดถือว่า
            สมเด็จพระราชินีจะต้องไม่หมองช้ำในเรื่องใดๆ และต้องเป็นที่เคารพบูชาประหนึ่งสมมติเทพตลอดกาล..

            ถึงแม้เรื่องจริงๆ..จะเป็นว่าตอนที่เสด็จมาประทับให้จิตกรวาดพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์นั้น..พระองค์ได้ทรงใส่พระมหามงกุฏมาในกล่องใส่ใข่ หรือ
            เรื่องที่พระองค์โปรดการเล่นไพ่คานัสต้า..
            และที่จะพูดถึงไม่ได้อย่างเด็ดขาด..คือเรื่องทรงโปรดการแทงม้า..ซึ่งแม้ว่าประชาชนหรือใครต่อใครก็ทราบดีว่า พระองค์ไม่เคยพลาดนัดการแข่งครั้งสำคัญๆ
            ข่าวที่ออกมาต้องเป็นว่า..
            "สมเด็จฯไม่เคยทรงพนันขันต่อ หากแต่ทรงโปรดที่ม้าจากคอกหลวงได้รับชัยชนะ..."

            แต่ในปี 1954 -1957 ม้าจากคอกหลวงของพระองค์ได้ติดอันดับทำเงินรายได้สูงสุด เท่านั้นไม่พอ..พระองค์ยัง"บอกใบ้"ให้กับเหล่าคุณพนักงาน มหาดเล็กนักเลงม้าทั้งหลายว่า..สมควรจะแทงเมื่อไหร่..และ..ตัวไหน..

       

            คนที่ต้องสู้รับตบมือกับเหล่าเสนาบดีพวกนี้อย่างถึงพริกถึงขิงนั้น ไม่ใช่ใครอื่น..พระองค์คือ เจ้าชายฟิลิป พระสวามี นั่นเอง
            เพราะเมื่อแรกๆของการครองราชย์นั้น..ทุกอย่างยังไม่ราบรื่น..เจ้าชายฟิลิปได้ด่ากราดถึงกลุ่มพวกกรมวังชั้นผู้ใหญ่ทั้ง 230 คนอย่างไม่ไว้หน้า..ว่า
            "ไอ้พวกบ้านั่น..จ้างมันมาหาวิมานอะไร วันวันได้แต่วิ่งรับใช้กันเอง ไม่ได้มาดูแลเราสักนิด"
            ในฐานะอดีตผู้การเรือ พระองค์ได้เริ่มปฏิวัติการทำงานของระบบใหม่หมด เริ่มจากพวกพนักงานรับใช้ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ลงแป้งทรงผมจนไม่มีเวลาทำอะไรอย่างอื่น
            (ลงแป้งผม..คือ ในสมัยนั้น คุณพนักงานแต่งกายด้วยเครื่องแบบ และ มีทรงผมที่ต้องใช้การลงแป้ง ที่ผสมด้วย แป้ง สบู่ น้ำ..ให้อยู่ทรง)
            ที่ไม่ต้องทำอีกแล้ว..เพราะพระองค์ว่า..มันออกแต๋ว ออกตุ๊ด จนเกินไป..

            ต่อมาก็คือการติดตั้งเครื่องสายใน ที่สามารถเรียกใครมารับใช้ได้ทันที ไม่ต้องวิ่งไปตามกันอย่างแต่ก่อน
            ติดตั้งวิทยุรับ-ส่ง..ในรถพระที่นั่งทุกคัน..
            และติดตั้งเครื่องอัดเทป รวมไปถึงเครื่องซักผ้าจำนวนหลายเครื่องในพระราชวัง ซึ่งเข้ามาแทนที่แผนกซักผ้าที่มีจำนวนคนงานมากมายราวกับกองทัพย่อยๆ
            ต่อมาคือการหยุดระบบการกินตลอดวันของเหล่าคุณพนักงาน...ในครัวจะให้อาหารแบบเป็นเวลา

            ส่วนฝ่ายในหรือที่ประทับของสมเด็จนั้น เจ้าชายฟิลิปได้ติดตั้งเตาไฟฟ้าไว่อุ่นพระกระยาหาร ตู้เย็นสำหรับเก็บของสด
            และให้เลิกการนำกาแฟจากโรงครัวมาถวาย
            เพราะกว่าคุณพนักงานจะประคองถาดมาถึง ในระยะตามทางระเบียงเดินที่ยาวนับไมล์นั้น..
            กลายเป็นว่า...ทรงเสวยกาแฟเย็นแทบทุกครั้ง..

            สุดท้าย..คือสั่งเลิกการวางขวดเหล้าสก๊อตที่ข้างพระที่บรรทมโดยเด็ดขาด เพราะนี่คือประเพณีเก่าแก่มาแต่ครั้งพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่เจ็ด เมื่อครั้งปี 1910 ที่ทรงประชวรด้วยใข้หวัด จึงได้มีพระบัญชาให้มหาดเล็กนำเหล้าไปให้เสวย จากนั้นเป็นต้นมา เหล้าสก๊อตจึงต้องมีวางอยู่ข้างพระที่ง..กลายเป็นธรรมเนียมจากบัดนั้นจนมาถึงครั้งนี้..
            เพราะไม่เคยมีใครกล้าสั่งยกเลิก...

            เจ้าชายฟิลิปได้ให้นายมโหรี..ปี่สก๊อต (bagpiper) ทำงานตามหน้าที่ถวายสมเด็จฯอย่างเดิม
            โดยเป็นการรักษาธรรมเนียมโบราณมาตั้งแต่ครั้ง
            สมเด็จพระนางวิคตอเรียที่ทรงโปรดให้มีนายมโหรีปี่สก๊อตจะเดินมาร์ชพร้อมเป่าปี่ไปตามระเบียงทุกเช้า เวลาเก้านาฬิกาตรง..
          
            
        
 

            แน่นอนว่า...เจ้าชายฟิลิปต้องได้พบกับกับกลุ่มเสนาบดีหัวโบราณขวางโลก พวกเขาเหล่านั้น ไม่คุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน และเคยมีแต่คุณพนักงานข้าทาสรองรับใช้ที่วันๆต่างเคยเดินกันพล่านไปหมด {คุณพนักงานพวกนี้ มีภาษาอังกฤษเรียกอย่างเหมาะเหม็งว่า footman }
            กว่าจะกลับไปกลับมาก็หมดวัน..งานการที่เคยทำแบบเช้าชามเย็นชามก็ต้องถูกกระตุ้นให้เร็วขึ้น

            ดังนั้นไม่ว่าเจ้าชายฟิลิปจะทรงทำอะไร พวกเสนาบดีนี้เป็นขัดไปหมด แถมเอาไปด่าลับหลังว่า..เป็นเพราะเจ้าชายพระสวามีไม่รู้จักว่า ไพร่กับผู้ดีต่างกันอย่างไร..
            เนื่องจากเจ้าชายได้ทรงเชิญอาคันตุกะมาร่วมโต๊ะเสวยกับสมเด็จถึงในพระราชวัง.. ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นเป็นพวกดาราภาพยนตร์ อันเป็นที่ดูหมิ่นเหยียดหยามว่าเป็นพวกคนชั้นต่ำ เต้นกินรำกิน
            ท่านเซอร์ อลัน ลาเซลเลส..ราชเลขาฯ คือคนหนึ่งที่ถึงขนาดหลุดปากไปว่า.. (โดยที่ไม่เข้าใจในพระประสงค์ว่า..เจ้าชายต้องการให้สมเด็จพระราชินีได้ทรงรู้จักกับโลกภายนอกบ้าง)
            "ไอ้เจ้าไม่มีศาลเยอรมันนี่...บังอาจนัก"
            เซอร์ริชาร์ด โคลวิลล์ ได้ให้คำสนับสนุนว่า..
            "จริง..เจ้าชายนี่..ช่างไม่มีความเป็นเยนเติลแมน**เสียเลย มิหนำซ้ำ เพื่อนๆที่คบหาอยู่ก็ไม่มีใครเป็นเยนเติลแมนซะด้วย"

            ** ขอเล่าเรื่องคำว่า เยนเติลแมน = gentleman สักนิดว่า สำหรับชาวอังกฤษแล้ว ไม่ใช่แค่เป็นผู้ชายที่สุภาพ รู้จักมารยาทสังคมเท่านั้นจึงจะเป็น
            เยนเติลแมนได้..
            ผู้ที่ถูกเรียกนั้นหมายความว่าได้รับการยกย่องขึ้นอันดับทำเนียบไฮโซ ที่จะต้องพร้อมมูลไปด้วย ชาติตระกูล การศึกษา การอบรม และ การวางตัวที่ถูกต้องเหมาะสม ลูกชายในตระกูลขุนนางมักต้องเตรียมตัวฝึกหัดกันให้เป็น
            เยนเติลแมนกันตั้งแต่เด็กๆ
            ถึงขนาดต้องว่าจ้างพี่เลี้ยงสอนกันโดยตรง และถ้าใครถูกด่าว่าไม่ใช่เยนเติลแมนละก้อ เจ็บช้ำหนักหนา เพราะมันหมายถึงเป็นการด่าไปถึงว่า พ่อแม่ไม่สั่งสอนเชียว
            ส่วนลูกผู้หญิงก็ต้องไปเรียนการบ้านการเรือน บริหารบ่าวไพร่บริวาร และรู้จักการออกสังคม เรียกว่า debutante
            (เดบูตอง)
            และเมื่ออายุได้ 16 พ่อแม่ก็จะจัดงานเต้นรำแนะนำตัวเป็นครั้งแรก พร้อมทั้งเชิญพวกชายหนุ่ม ว่าที่เยนเติลแมนทั้งหลายให้มาร่วมงานแบบกึ่งดูตัว จับจองกันเข้าไว้แต่เนิ่นๆ
            ในยุคนั้น หนุ่มๆชาวอังกฤษในหมู่ชนชั้นกลางพยายามกันสุดชีวิตเพื่อที่จะได้รับการยอมรับขึ้นทำเนียบว่าเป็นเยนเติลแมน
            เพราะมันหมายถึงความรุ่งเรืองทางสังคมในอนาคตทั้งหมดทีเดียว

     

            ไม่ว่าการนินทาเจ้าชายพระสวามีว่าพระองค์จะเป็นเยนเติลแมนหรือไม่นั้น เมื่อความทราบถึงพระกรรณ พระองค์ไม่แคร์เลยสักนิด..
            แถมเดินหน้า..ลุยต่อไป และตรัสว่า
            "มันเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องให้ราชวงค์นี้ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติให้ได้มากที่สุด"
            เท่านั้นไม่พอ พระองค์ได้อยู่เบื้องหลัง
            การทรงงานของสมเด็จฯอย่างใกล้ชิด ถ้าจะเทียบเห็นจะพอๆกับท่านผู้หญิงเอลลินอร์ ที่เฝ้าช่วยเหลืองานของประธานาธิบดีรูสเวลท์อย่างไม่ให้คลาดสายตานั่นเอง

            เจ้าชายฟิลิปทรงพยายามผลักดันให้การทำงานของสถาบันกษัตริย์ให้กระจายออกไปเป็นวงกว้าง โดยการยอมรับในการเป็นองค์ประธานมูลนิธิต่างๆรวมทั้งการ
            ที่ทรงยอมรับเป็นองค์อุปถัมภ์การกีฬาแห่งชาติ ซึ่งนับว่าเป็นของใหม่ ที่แน่นอนย่อมทีเสียงค้าน และการกระทบกระแทก
            โดยนำพระองค์ไปเปรียบเทียบกับฮิตเล่อร์เมื่อครั้งที่ เขาได้ก่อตั้ง ยุวชนนาซี..ที่มีการรวบรวมเด็กๆมาเข้าค่ายเล่นกีฬา
            เท่านั้นไม่พอ..ยังโยงไปถึงว่า พระองค์ได้เคยมีพระอาจารย์ที่ทรงเคารพรัก คือ ดร. เคิร์ท ฮาห์น ผู้อำนวยการโรงเรียนกอร์ดอนสตัน ที่เป็นชาว
            เยอรมัน-ยิว อีกต่างหาก
            แต่พระองค์ได้หาย่อท้อไม่ ทรงเดินหน้าเต็มตัวในการกระจายมูลนิธิ The Duke of Edinburgh Awards Scheme
            ออกไปในทุกแห่ง เพียงแต่จะมีชื่อเรียกต่างๆกัน เช่นใน เบลเยี่ยม เรียกว่า Benelux Award ในจอร์แดน เรียกว่า The Crown Prince Award
            ใน ออสเตรเลีย, จาไมก้า, นิวซีแลนด์ เรียกว่า Dee of Ee
            เจ้าชายฟิลิป ได้ตรัสออกมาโต้งๆว่า..
            "จะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่..ไม่ give a damn ตราบใดที่การทำงานต้องทำได้ผลดีเทียบเท่าที่นี่.."

 

            ส่วนสมเด็จพระราชินี..เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ ภาระหนักอึ้งที่ว่านั้น นอกจากจะเป็นการบ้านการเมืองแล้ว..พระองค์ยังต้องเป็นผู้นำทางศาสนาฝ่ายฆราวาสอีกด้วย..และไม่ใช่นิกายเดียว หากแต่ต้องทรงควบกล้ำไปทั้งสองนิกายคือ ฝั่งอังกฤษ นิกายเชิร์ช ออฟ อิงค์แลนด์ และ ทางฝั่งสก๊อตแลนด์คือ
            นิกายเพรสไบทาเรียน ซึ่งทั้งสองนิกายนี้มีการปฏิบัติธรรมและการบริหารภายในที่แตกต่างกัน
            ซึ่งในฐานะนางกษัตริย์ พระองค์จะต้องเสด็จไปทำพิธีราชาภิเษกรับมงกุฏ (ของสก๊อตแลนด์) อีกครั้งตามธรรมเนียมของนิกายเพรสไบทาเรียนด้วย
            ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกในการเสด็จเยือนของพระองค์

            ประชาชนชาวสก็อตต่างมารอชื่นชมในพระสิริโฉมและพระบารมีกันอย่างเนืองแน่นที่
            พระวิหาร St. Giles และทุกคนต้องประหลาดใจที่พบว่า สมเด็จพระราชินีของพวกเขานั้น เสด็จมาในชุดธรรมดาที่มีเสื้อโค๊ตตัวโคร่งสีฟ้าหม่นสวมทับมา..
            ดูแปลกๆ ยามที่ทรงประทับท่ามกลางขุนน้ำขุนนางที่พากันแต่งตัวชุดเครื่องแบบมาอย่างเต็มยศ
            เท่านั้นยังไม่หนำ..ในข้อพระกร พระองค์ได้ทรงคล้องกระเป๋าถือสีดำใบใหญ่ยักษ์ไว้แนบพระวรกาย
            โดยภาพรวมทั้งหมด ทุกคนลงความเห็นว่า ไม่ต่างอะไรกับภาพของคุณนายเสมียนธรรมดาๆที่เห็นกันประจำวันนี่เอง
            ฝ่ายพระสวามีเสียอีกที่ทรงชุดเครื่องแบบครบถ้วนอย่างโบราณที่มีทั้งหมวกจีบปักด้วยขนนก

            ที่แท่นทำพิธีนั้น..ดยุค ออฟ แฮมมิงตัน ได้เดินเข้ามาคุกเข่าต่อหน้าพระพักต์ พร้อมทั้งได้เทินหมอนกำมะหยี่ที่มีพู่ห้อยทั้งสี่ด้านขึ้นเหนือศรีษะ
            บนหมอนนั้น คือ มงกุฏแห่งแผ่นดินสก๊อตแลนด์ ขณะที่ทรงเอื้อมพระหัตถ์มารับ...
            โชคดีที่ท่านดยุคได้เบี่ยงศีษะหลบทัน ก่อนที่พระกระเป๋าใบโตนั้นจะเหวี่ยงเข้ามาฟาดโดนเอาที่หน้า..

            (มีภาพวาดเหมือนของวินาทีนี้..โดยจิตกรชาวสก๊อตที่ได้วาดไว้ประดับให้เป็นศรีสง่านั้น..เขาได้ตัดพระกระเป๋าทิ้งไป..)

   

            งานนี้..ชาวสก๊อตทุกคนแสดงอาการผิดหวังและพากันแอบตำหนิอย่างไม่ขาดสาย เพราะเหมือนกับเป็นการไม่ให้เกียรติกัน
            พวกกรมวังเสนาบดีต่างต้องวิ่งแก้ขอโทษขอโพยและปิดข่าวกันอย่างวุ่นวาย
            ทั้งๆที่พวกเขาต่างก็มีงานล้นมือในตอนนั้น
            ไหนจะต้องกำกับทางด้านเจ้าชายพระสวามีในเรื่องการตรัสอย่างโผงผางของพระองค์ ไหนจะต้องดูแลสมเด็จพระราชินี
            ไหนจะมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ต กับ กัปตัน ปีเตอร์ ทาวน์เซนด์ อดีตนักบินผู้กล้าหาญในยุทธภูมิน่านฟ้าบริเตน
            สงครามโลกที่ผ่านมานั่นอีกเล่า..

            หลังจากปลดประจำการ ปีเตอร์ ทาวน์เซนด์ ได้เข้ามารับใช้ใกล้ชิดเป็นองค์รักษ์ส่วนพระองค์ของพระเจ้ายอร์จที่หก และเป็นที่ชื่นชมรักใคร่ของ
            ทุกคนที่ได้พบเห็น นอกเหนือไปจากการที่มีหน้าตาหล่อเหลาแล้ว..ความเป็นวีรบุรุษนักบินเสี่ยงตายของเขานั้นได้สร้างรัศมีให้เจิดจ้าขึ้นไปอีก
            ปีเตอร์ได้มักคุ้นกับเจ้าฟ้าหญิงองค์เล็กมาตั้งแต่เมื่อทรงมีพระชนมายุได้เพียงสิบห้าชันษา และได้ถูกจองตัวให้เป็นคู่เต้นรำของพระองค์เสมอๆ
            รวมไปถึงการนำเสด็จไปยังงานต่างๆ จนเจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ตได้ทรงเริ่มเป็นสาวสะพรั่ง มีพระชนมายุได้ 21 ชันษา พระองค์ก็พบว่า..ทรงตกหลุมรักปีเตอร์คนนี้อย่างหมดพระทัย และทรงพยายามทุกวิถีทางที่จะบอกความนัยให้เขาทราบ..
            แต่ปีเตอร์ยังคงทำแชเชือน เพราะ..เขาคือชายที่มีเจ้าของแล้ว..
            เจ้าฟ้าหญิงก็หาได้ลดละไม่..ยามที่เขาจะต้องกลับไปอยู่กับครอบครัว..พระองค์ทรงขวางกั้นโดยการออกคำสั่งให้อยู่เป็นเพื่อนบ้าง
            หรือไม่ก็ ต้องให้ตามเสด็จออกงาน
            จนในที่สุด..เขาต้องหย่ากับภรรยา..เพราะเธอได้ทิ้งไปมีชู้ เขาได้เป็นผู้ดูแลลูกทั้งสองคน


            "การหย่าร้าง" นี่คือสิ่งที่เลวร้ายกว่าอะไรทั้งหมดในความเชื่อถือของคนในราชสำนักยุคนั้น..นับตั้งแต่ ปี 1936 ที่นางซิมปสันได้ก้าวเข้ามามีบทบาท
            ต่อราชวงค์วินด์เซอร์ คำว่า หย่าร้าง นั้น ถือว่าเป็นอัปมงคลอย่างที่สุด จนได้มีกฏระเบียบวังออกมาว่า..
            ใครก็ตาม..ที่ได้มีการหย่าร้าง..ไม่มีสิทธิได้เข้าในพระราชวัง และไม่มีสิทธิได้เข้าเฝ้าต่อหน้าพระพักต์
            ทุกครั้งที่มีพระราชพิธี..ฝ่ายกรมวัง ต้องทำหน้าที่สอบสืบกันอย่างละเอียดยิบว่า..เบื้องหลังใครเป็นอย่างไร
            ขนาด ลอเร้นซ์ โอลิวิเยร์ นักแสดงชื่อก้องฟ้าชาวอังกฤษยังโดนการงดบัตรเชิญด้วย เพราะเนื่องจากการหย่าร้าง..
            ฉะนั้น..ในปี 1953 ที่เจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ต..ลำดับสามในการสืบสันตติวงค์ได้ทรงหลงรักชายที่ผ่านการหย่าร้างอย่างปีเตอร์..แถมยังเป็นคนธรรมดาสามัญ
            วงการอังกฤษเป็นช๊อค..
            และยิ่งฝ่ายชายได้สารภาพกับท่านเสนาบดี ราชเลขาส่วนพระองค์ ท่านลอร์ด อลัน ลาเซลเลส ว่า ตัวเองก็หลงรักในเจ้าฟ้าหญิงเช่นกัน
            ทางฝ่ายเสนาบดีถึงกับสติกระเจิง...รีบรายงานไปยังท่านายกเชอร์ชิลล์ พร้อมทั้งว่า
            "จะบ้าไปกันใหญ่แล้ว.."
            ท่านนายกเองก็โวยไม่แพ้กัน ท่านว่า
            "ต้องหาทางแยกกันให้เร็วที่สุด จำหน่ายกัปตันทาวน์เซนด์ออกไปด่วน.."
            ไม่ทันขาดคำ..คำสั่งก็พิมพ์รัวอย่างเร็วด่วนว่า..
            กัปตัน ปีเตอร์ ทาวน์เซนด์ ต้องมีภาระกิจออกไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่กรุงบรัสเซลในฐานะผู้ช่วยทูตทหารอากาศ..
            การที่ฝ่ายรัฐบาลต้องทำเช่นนี้เพราะ เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม และเป็นการซื้อเวลาทำใจ
            เนื่องจากตามกฏหมายแล้ว เจ้าฟ้าหญิงสามารถที่จะทรงอภิเษกโดยที่ไม่ต้องขอพระบรมราชานุญาตเมื่อมีพระชนมายุครบ 25 ชันษาบริบูรณ์

            สำหรับปีเตอร์..แผนงานที่เขากำลังจะได้ตามเสด็จควีนมัมและเจ้าหญิงในดวงใจประพาสต่างประเทศก็ต้องเป็นอันว่าพับฐานไป
            ระยะการเตรียมตัวในการเดินทางนั้นก็กระชั้นเสียจน เขาแทบไม่มีเวลาส่งลูกเข้าโรงเรียนประจำที่เค้นท์..
            ทันที่ที่เจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ตได้ทรงทราบเรื่อง พระองค์ก็ทรงขึ้นไปเอ็ดอึงกับสมเด็จพระราชินีอย่างไม่เกรงพระทัย
            และขอให้พระองค์ได้ยกเลิกคำสั่งนั่น..ซึ่ง ไม่มีผลใดๆ พระเชษฐภคินีทรงปฏิเสธการช่วยเหลือทั้งหมด
            ทำให้เจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ตทรงออกพระอาการกริ้วถึงขนาดขังพระองค์เองอยู่ในห้องถึงสามวัน

        
            
         
         


                
             
             


            เจ้าฟ้าหญิงทรงใช้ยานอนหลับช่วยระงับความเสียพระทัยในตลอดสามวันนั้น พอยามที่ตื่นขึ้นมา พระองค์ได้ทรงกระหน่ำคีย์เปียโนแบบแสดงพระอารมณ์อย่างดุดัน
            ซึ่งพระองค์ได้เล่าประทานให้กับคริสโตเฟอร์ วาริค นักเขียนชีวประวัติ (ของพระองค์) ในหลายปีต่อมาว่า..
            "ฉันใช้อารมณ์แห่งความสูญเสียมาใช้กับเปียโนได้ดีเท่าๆกับการบรรเลงเชียวนะ...เพราะรู้ดีว่าความรักของเรานั้น..ไม่มีทางลงเอย เพราะมันเป็นไปไม่ได้"
            เรื่องที่คิดจะหวังพึ่งพระมารดานั้น..หมดสิทธิ เพราะเมื่อเกิดการหน้าสิ่วหน้าขวานกันนั้น พระองค์ได้ทรงเลี่ยงหาทางออกด้วยการแปรพระราชฐานไปยังพระตำหนักนอกเมืองทันที
            ปีเตอร์ได้จากไปยังกรุงบรัสเซลอย่างเงียบๆ หลังจากที่ได้เข้ากราบบังคมทูลลา..สมเด็จฯและท่านดยุค ผู้ที่เขาได้มาเขียนถึงในบันทึกชีวประวัติของเขาเองว่า..
            "เมื่อตอนที่เรากำลังจะจากไปในปี 1953 นั้น หลังจากที่ได้เข้าไปบังคมลา..ท่านดยุคมิได้เดินมาส่ง หรือเอ่ยคำอำลาแม้แต่เพียงคำเดียว พระองค์เป็นเยอรมันอย่างแท้จริงจากภายใน
            เป็นคนที่หลักแหลมอย่างที่ไม่ต้องมีใครมาสั่งสอน..และรู้จักการใช้อารมณ์ขันและถ้อยคำเสียดสีเข้ามาแทนการตำหนิใครแบบตรงๆ"
            แต่อย่างไรก็ตาม..ทั้งปีเตอร์และเจ้าฟ้าหญิงได้มีการลอบพบกันแบบลับๆสองสามครั้งที่บ้านของพระสหายสนิท.. ก่อนที่จะมีพระชนมายุได้ ยี่สิบห้าชันษา

            ปี 1955 สองอาทิตย์หลังจากวันเฉลิมพระชนม์พรรษาผ่านไป เจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ตได้เสด็จขึ้นเฝ้าสมเด็จฯถึงบนพระที่นั่ง เพื่อที่จะถามถึงเรื่องของพระองค์และปีเตอร์
            และคำตอบก็คือว่า..เป็นไปไม่ได้ อีกทั้งท่านนายกรัฐมนตรี นาย แอนโธนี อีเดน (คนใหม่ ต่อจากท่านเชอร์ชิลล์) และ พระสังฆราช ต่อต้านอย่างสุดกำลัง
            เจ้าชายฟิลิปรีบช่วยเสริมว่า..
            "เพราะว่าพระองค์คือ รัชทายาทอันดับสามในพระราชบัลลังค์"
            เจ้าฟ้าหญิงทรงหันมาตวาดแว๊ดว่า..
            "ไม่ต้องมาเจ๋อ..ฉันนับเองเป็น"
            เจ้าชายฟิลิปเลยต้องรีบอ้างการพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์ไทม์ ที่มีประเด็นร้อนเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า..สถาบันกษัตริย์แห่งอังกฤษกำลังร้อนเป็นไฟ หากว่าเจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ตจะทรงอภิเษกกับ
            ชายที่ผ่านการหย่าร้างมา..อันผิดกฏมณเฑียรบาลซึ่งมีสมเด็จพระราชินีต้องเป็นผู้ดูแลให้ทุกอย่างอยู่ในเงื่อนไข นอกเสียจากว่า เจ้าฟ้าหญิงจะทรงสละฐานันดร ออกมาเป็นประชาชนคนธรรมดา
            สมเด็จฯจึงช่วยเสริมการอธิบายให้กระจ่างว่า..
            "ถ้าน้องยังดื้อดึงที่จะแต่งงานกับปีเตอร์ละก้อ..ได้ซิจ๊ะ แต่ต้องออกไปอยู่ที่ต่างประเทศกันนะ และเตรียมตัวกัดก้อนเกลือกินกันได้เพราะเรื่องค่าใช้จ่ายงบประมาณ เบี้ยหวัดรายปี ทุกอย่างจะงดหมด"
            และนั่นคือ คำตอบสุดท้าย ที่เจ้าฟ้าหญิงได้ทรงซึมซับอย่างแน่นอนว่า ทุกอย่างนั้นได้จบสิ้นสำหรับความรักของพระองค์
            ปีเตอร์ได้ตัดสินใจ..ขอเดินไปตามทางของตัวเอง เพื่อไม่ให้เกิดความเสื่อมเสียมาถึงสถาบันสูงสุด..
            และด้วยเลือดแห่งขัตติยะมานะ...เจ้าฟ้าหญิงได้ทรงร่างคำประกาศออกอากาศสถานีวิทยุบีบีซี..ว่า
            "ข้าพเจ้าขอประกาศให้ท่านทั้งหลายทราบโดยทั่วกันว่า..ข้าพเจ้าได้ตัดสินใจที่จะไม่แต่งงานกับกัปตัน ปีเตอร์ ทาวน์เซนด์ เพราะเพื่อความถูกต้องแห่งกฏของพระศาสนา
            และด้วยภาระหน้าที่ที่ข้าพเจ้ามีต่อสหราชอาณาจักรที่ต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด"
            ลงพระนามว่า..มาร์กาเร็ต

      
              
         

      

            ท่านดยุค ออฟ วินด์เซอร์ได้ข่าวนี้ด้วยความสะใจเล็กๆ และได้ส่งข้อความไปหาดัชเชส หม่อมวอลลิส ว่า
            "เห็นม๊ะ...มัน (หมายถึงทั้งสังฆราช และ กรมวัง) ทำสำเร็จอีกแล้ว..มันบังคับให้หลานหญิงให้เดินไปตามทางที่มันวางเส้นไว้จนได้ ดูซิดู..มันก็ทำได้แต่กับพวกเชื่องๆพวกนั้นเท่านั้น กับฉัน..มันไม่มีทางทำได้หรอก เพราะฉันฉลาดกว่ามัน ตอนนี้ไอ้พวกนี้ยิ่งเหิมเกริมกันใหญ่ เดี๋ยวนี้น่ะ พวกมันมีอำนาจมากกว่ารัฐบาลอีก เธอรู้ไหม?"

            ปีเตอร์ได้ไปอยู่ที่กรุงบรัสเซล จากนั้นไม่นานเขาได้ขอลาออกจากชีวิตข้าราชการในกองทัพอากาศ แต่งงานใหม่ในไม่กี่ปีต่อมา ย้ายตัวเองไปอยู่เงียบๆที่ Rambouillet เมืองทางตอนใต้ของฝรั่งเศส
            และเขาได้สาบานกับตัวเองว่าจะไม่ขอกลับไปเหยียบแผ่นดินอังกฤษอีก
            ในหนังสือชีวประวัติของเขาได้เขียนว่า..
            "เมื่อตายไป ก็ขอให้โรยเถ้าไว้ในฝรั่งเศสนี่..และหรือถ้าลมจะพัดพาให้มันฟุ้งกระจายไปถึงฝั่งอังกฤษ ก็ช่างมัน เพราะตอนนั้นเราคงไม่รู้สึกรู้สาอะไรแล้ว.."
            แต่..สามสิบเจ็ดปีต่อมา..เขาออดแอดด้วยโรคมะเร็งในช่องท้อง คำสาบานนั้นได้ถูกเพิกถอนไป เพราะเขาได้กลับไปอังกฤษอีกครั้งและได้ร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารกับเจ้าฟ้าหญิงในดวงใจเป็นครั้งสุดท้าย
            ที่พระราชวังเคนซิงตัน..
            หลังจากนั้น..ปีเตอร์ได้เสียชีวิตในสามปีต่อมา ด้วยอายุ เจ็ดสิบเจ็ดปี..

            ขอเล่าขยายนิดหนึ่งว่า ต่อมาไม่นานนักกฏข้อห้ามในเรื่องของคนหย่าร้างในพระราชวังนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย อธิบดีกรมวัง ต้องรีบแก้ไขยกเลิกโดยด่วน
            เพราะ มิฉะนั้นแล้ว..สมเด็จพระราชินีจะไม่มีโอกาสได้พบกับ พระญาติที่มีการหย่าร้างแทบทุกพระองค์ อย่างเช่น เจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ต (กับลอร์ด สโนว์ดอน)
            เจ้าฟ้าหญิงแอนน์ พระธิดา (กับมาร์ค ฟิลลิป)
            เจ้าชายแอนดรูว์ พระโอรส (กับซาร่าห์ เฟอร์กุสัน) และที่สุดของที่สุดคือ เจ้าฟ้าชายชารลส์ มกุฏราชกุมาร (กับเจ้าหญิงไดอะน่า)


            เมื่อทุกอย่างเริ่มลงตัว..สมเด็จพระราชินีและ
            เจ้าชายฟิลิปพระสวามีต้องออกเดินทางการเสด็จเยือนอาณาประเทศราชที่ต้องใช้เวลาทั้งหมดถึงหกเดือนด้วยกัน
            อันเป็นสิ่งที่ไม่มีพระมหากษัตริย์องค์ไหนในอังกฤษได้ทรงกระทำมาก่อน
            อีกทั้งพระองค์ทรงมีพระประสงค์ให้ประชาชนภายใต้ร่มธงยูเนี่ยนแจีคได้ประจักษ์ทั่วกันว่า
            พระองค์ทรงทำหน้าที่ประมุขอย่างเต็มที่ มิใช่สวมไว้แต่หัวโขน ดังที่ได้ทรงมีพระราชปราศรัยในวันคริสต์มาสจากประเทศนิวซีแลนด์ว่า..
            "ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะให้พวกท่านได้ทราบว่า..มหามงกุฏแห่งบริเตนนั้น ไม่ใช่สิ่งอันเป็นเพียงนามสมมุติ หากแต่..เป็นที่รวมใจให้ทั้งข้าพเจ้าและพวกท่านให้เป็นหนึ่งเดียวกัน"
            นาย เกวน รอบินส์ นักข่าวพระราชสำนักที่ได้ร่วมทเดินทางไปในครั้งนั้น ได้บันทึกไว้ว่า..
            "ทริปนั้น ช่างโหดมหาโหดโดยแท้..ผมเฝ้าติดตามพระองค์แทบทุกวัน ทุกชั่วโมง และขอบอกได้เลยว่า ถ้าไม่ใช่เพราะความช่วยเหลืออย่างแข็งขันของเจ้าชายฟิลิปพระสวามีแล้วละก้อเห็นทีจะพระราชินีของผมจะไม่รอดเป็นแน่แท้"
            จริงอยู่ว่า..สมเด็จทรงเป็นหญิงแกร่งที่หาตัวจับได้ยาก ไม่ว่าจะทรงสามารถประทับยืนตรงได้นานนับชั่วโมงๆ หรือ สามารถทรงม้าแบบประทับข้างได้เป็นระยะทางไกลๆ
            แต่เรื่องการที่ต้องทรงมีพระปฏิสันถารกับผู้คนหลากหลาย เนื่องจากความที่ไม่มักคุ้นกับผู้คน..ที่ต้องใช้การสนทนาที่เต้มไปทั้งศาสตร์และศิลปของหัวเรื่องต่างๆนั้น
            คือปัญหาใหญ่..
            แต่อัศวินม้าขาวในคราวนี้คือ เจ้าชายฟิลิป พระสวามี ที่ทรงคล่องไปหมด ไม่ว่าใครจะมารูปไหน..

            หรือในบางครั้งที่สมเด็จทรงเหนื่อยอ่อน ล้าจนแทบไม่ไหว
            พระสวามีก็ได้ทรงช่วยในการทำเรื่องให้เป็นที่ขบขัน เช่น ยามที่นักข่าวเข้ารุมล้อมที่มอลต้า..เจ้าชายได้ทรงตรัสดังๆว่า..
            "มาแล้ว..พวกแร้งลง" เท่านั้นไม่พอ ยังแกล้งโยนถั่วให้ ประหนึ่งกำลังป้อนนกให้กับกลุ่มนักข่าวอีกต่างหาก
            สมเด็จก็ทรงพระสรวลออกมาได้..
            ที่ออสเตรเลีย..อากาศร้อนถึงร้อยองศา สมเด็จทรงเพลียต่อการต้อนรับที่ไม่มีวันหยุดหย่อนนั้น พระพักต์เริ่มขมวดมุ่น..
            เจ้าชายพระสวามี..ได้แอบเข้ามากระซิบว่า..
            "นี่..คุณนายไส้กรอกสุก..มันไม่แย่ขนาดนั้นหรอกน่า.."
            ที่นิวซีแลนด์..พวกเด็กๆชาวเมารีได้ทำการแสดงถวาย โดยการกระโดดจากหน้าผาลงน้ำ..แต่สมเด็จไม่ทันหันไปทอดพระเนตร ทรงพระดำเนินลิ่วไปยังรถพระที่นั่ง
            เจ้าชายฟิลิปได้รีบเข้าชี้ชวนและตรัสว่า..
            "เบธ.. (ย่อมาจากลิลิเบธ) ดูซิ..เด็กๆน่ารักจังนะ"
            สมเด็จจึงได้หยุดและทรงหันไปทางนั้น..
            ยามที่นักข่าวเข้ามาแน่นประดังเป็นกลุ่ม เจ้าชายฟิลิปจะทรงกางกั้น..และหันไปตะคอกนักข่าวอย่างไม่มีการเกรงใจว่า
            "อย่ากลุ้มรุม สมเด็จพระราชินีจะได้มั๊ยยย?"

      
            ซึ่งเมื่อเจ้าชายได้ปกป้องสมเด็จมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นที่น่าเบื่อสำหรับคนอื่นมากเท่านั้น..
            อย่างในกรณีที่ตอนใต้ของออสเตรเลีย..ที่เมืองเล็กๆเมืองหนึ่ง
            นายกเทศมนตรีชราได้แต่งตัวเต็มยศของชาวท้องถิ่นที่มีเสื้อคลุมประดับประดาไปด้วยขนกระต่าย เข้ามาถวายกล่องของขวัญขนาดใหญ่กล่องหนึ่ง และเขาพูดว่า
            "ในเวลาเดียวกันนี้..ตัวแทนของเราจากสถานทูตในอังกฤษก็กำลังมอบของขวับแบบเดียวกันให้กับผู้แทนของพระองค์พระเจ้าค่า"
            เจ้าชายฟิลิปอดรนทนไม่ได้ จนต้องแย้งออกไปว่า..
            "ไม่ไหวละม้างงง..ท่านนายก เวลาของเราต่างกันตั้งสิบชั่วโมงครึ่ง..ท่าทางท่านทูตของเท่านจะทำงานล่วงเวลา ไม่ขยันไปหน่อยหรือ"
            ท่านนายกเทศมนตรีผู้น่าสงสารได้แต่ยืนงกๆเงิ่นๆเพราะไม่รู้ว่าจะพูดจาตอบโต้อย่างไร..
            แต่ใครหลายคนในที่นั้น ต่างก็ไม่ลืมความ"ปากเสีย" ของเจ้าชายฟิลิปไปชั่วนานเท่านาน

            ส่วนเรื่องการเขียนเรื่องราวการเสด็จประพาสของนักข่าวก็มักประสบปัญหากับกรมวังเสนาบดี ที่พยายามอย่างเหลือเกินที่จะให้ข่าวออกมาให้สมเด็จเลิศเลอเกินมนุษย์
            ซึ่งออกจะเกินความจริงไป
            นักข่าวย่อมต้องมีจรรยาบรรณ และวินิจฉัยในความเห็นอันสมควร
            ฉะนั้น เรื่องการงัดข้อจึงมีให้เห็นอยู่บ่อยๆ...
            อย่างเช่นตอนที่เสด็จปาปัว นิวกินี ชาวป่าพื้นเมืองได้มาเต้นระบำถวาย..พวกเขาแต่งชุดกระโปรงที่ถักด้วยหญ้า
            ช่วงบนลำตัวเปลือยเปล่า มีเครื่องประดับเป็นสร้อยคอที่ห้อยไปด้วยเหรียญโลหะกับกระดูกสัตว์ต่างๆ
            สมเด็จฯจังหันไปทางองครักษ์ และตรัสว่า
            "พวกเขาน่าจะห้อยเหรียญของเราที่มีรูปฉันนะ..ใครมีเหรียญบ้าง ขอหน่อย"
            พวกองครักษ์และนักข่าวที่ตามเสด็จจึงช่วยกันเทกระเป๋าหาเศษเหรียญเพื่อส่งให้กับพระองค์

            พอตกค่ำ..พวกองครักษ์คงเพิ่งนึกขึ้นมาได้ ต่างรีบไปเคาะประตูห้องนักข่าวพร้อมทั้งออกคำสั่งว่า..
            "ข่าวเรื่องสมเด็จทรงขอเศษเหรียญนี่..เอาไปเขียนไม่ได้นะ"
            "ทำไมล่ะ"
            "เพราะมันจะทำให้พระองค์ดูยากจนน่ะซิ"
            "จะบ้าหรือยังไง..ใครเขาจะคิดอย่างนั้น อย่างสมเด็จพระราชินีใครๆก็ต้องรู้ว่าคงไม่เสด็จไปไหนแล้วพกเศษสตังส์ไปด้วยหรอก"
            นักข่าวเถียงได้ แต่เขียนไม่ได้ วันวันได้แต่รอข่าวที่กรองถ้อยคำแล้วจากกรมวังที่จะส่งข้อความเชยๆให้
            เช่น..วันนี้ สมเด็จพระราชินีได้ทรงฉลองพระองค์สีเขียวหม่น..เป็นต้น
            แต่..กับพวกนักข่าวอเมริกัน..พวกนี้จะเขียนอะไรก็ได้ตามใจเห็นชอบ เพราะใครก็ไปห้ามพวกเขาไม่ได้ แม้กระทั่งเรื่องที่สมเด็จทรงใช้ไวยากรณ์อังกฤษแบบผิดๆทั้งๆที่เป็นเจ้าของภาษาแท้ๆ
            เช่น..ที่นิวซีแลนด์ พระองค์ทรงได้ยินเด็กสองคนกำลังเถียงกันว่า ใช่พระองค์ หรือ เจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ต
            "I tell you, it's Princess Margaret."
            "Is not. Is not. It's the Queen"
            เมื่อสมเด็จฯได้ทรงสดับดังนั้น จึงย่อพระองค์ไปตอบว่า...
            "No, it's me."  

            นักข่าวอเมริกันเลยถือเป็นข่าวอันโอชะไป...( คือควรเป็น ว่า... "No, it's I. )

          
            เมื่อยามที่เสด็จกลับโดยเรือพระที่นั่ง บริแทนเนีย..ประชาชนได้เฝ้ารอรับเสด็จเต็มสองฝั่งของแม่น้ำเทมส์ เสียงโห่ร้องรับอย่างอื้ออึงเมื่อทุกคนได้เห็นพระองค์ทรงโบกพระหัตถ์ประทานอย่างช้าๆ..
            ประชาชนทุกคนได้ประจักษ์ว่า พระราชินีพระองค์นี้ได้มุ่งมั่นทรงงานอย่างหนักเพื่อประเทศชาติเฉกเช่นเดียวกับสมเด็จพระบิดา และด้วยพระกิริยาที่ต่างกับพระมารดาในทุกประการ เพราะ
            ควีนมัมนั้น ทรงฉาบไปด้วยความอ่อนหวานแต่แฝงไปด้วยความแข็งแกร่งที่ซ่อนอยู่ภายใน ดังที่มีคำเปรียบเทียบว่า เหมือนเหล็กวิลาสที่หุ้มไปด้วยขนมน้ำตาลนุ่ม..
            แต่ที่ทั้งสองเหมือนกันมาก นั่นคือ การที่มีกำลังใจและความช่วยเหลืออย่างเต็มสติกำลังจากคู่คิดคู่เคียง
            สมเด็จเคยกล่าวไว้กับพระสหายสนิทว่า
            "ถ้าไม่ได้ฟิลิปคอยช่วยเหลือละก้อ..ฉันคงแย่.."

            ความสัมพันธในครอบครัวของสมเด็จพระราชินีดังที่ได้เล่ามาแล้วว่า ค่อนข้างห่างหาย และห่างเหินในวัยเยาว์ และตั้งแต่มีพระชนมายุได้สิบชันษา พระองค์ก็ได้แต่รับฟังในเรื่องที่จะต้องมาครองบัลลังค์ไม่ว่าวันหนึ่งวันใดข้างหน้า เพียงแต่พระองค์ไม่เคยคิดฝันว่าจะมาเร็วถึงเพียงนี้
            เพียงพระชนมายุที่เพิ่งย่างเข้ายี่สิบหกชันษา และเพิ่งจะมีครอบครัวเป็นของตัวเองหมาดๆ
            ซึ่งก่อนที่จะมาครองบัลลังค์
            พระองค์ได้ทรงเตรียมตัวพร้อมที่จะเป็นแม่บ้านที่น่ารักของพระสวามี และ พระมารดาที่ดีแก่พระโอรสและพระธิดา พระองค์ได้เคยตรัสไว้ว่า อยากจะมีลูกสี่คน และเป็นแม่บ้านเต็มตัว
            แต่เมื่อมีพระโอรสเข้าจริงๆ หน้าที่ของภริยาและแม่ของพระองค์ไม่ค่อยจะสัมพันธกันนัก พระองค์จึงเลือกหน้าที่ภริยา..เป็นอันดับแรก เพราะพระสวามีต้องมาก่อนใครเพื่อน
            และได้ตรัสแก้เกี้ยวว่า.."ฉันเป็นผู้ให้กำเนิด แต่ไม่ใช่ต้องมาทำหน้าที่นางพยาบาลไปด้วย.."

            พระองค์จากพระโอรสไปประทับอยู่ที่มอลต้า....ไม่มาร่วมในงานวันเกิดปีแรกของเจ้าชายชารลส์ ปล่อยให้พระโอรสอยู่ในความดูแลของพระอัยยิกา
            และพระมาตาหัยยิกา (ทวด คือ พระนางแมรี่)
            พระองค์ไม่ได้มีโอกาสทอดพระเนตรการย่างพระบาทได้ในก้าวแรกของพระโอรส รวมทั้ง..ไม่ได้ยินว่า คำแรกที่ทรงตรัสออกมาได้นั้นคือ "Nana" อันหมายถึงพระพี่เลี้ยง (nanny) แทนที่จะเป็น
            "Mama" ดังเช่นเด็กอื่นๆ

            ซึ่งความจริงสำหรับสมเด็จเองพระองค์ก็ไม่ได้เห็นว่าจะผิดอะไรที่ตรงไหน เพราะพระองค์ก็ได้รับการเลี้ยงดูมาแบบเดียวกัน นั่นคือ ควีนมัม และพระเจ้ายอร์จที่หก ก็ได้เสด็จประพาสออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
            เป็นเวลานานถึงหกเดือน ในขณะที่พระองค์ก็ถูกเลี้ยงดูมาโดยพระพี่เลี้ยงเช่นกัน
            แม้แต่พระธิดา...เจ้าหญิงแอนน์ ที่เพิ่งมีพระชนมายุได้สามเดือน ก็ถูกทิ้งให้เลี้ยงโดยพระพี่เลี้ยงในขณะที่สมเด็จได้ทรงเสด็จต่างประเทศกับพระสวามี
            หรือยามที่เจ้าหญิงแอนน์ทรงพระประชวร ต้องไปนอนที่โรงพยาบาลนั้น พระพี่เลี้ยงก็ต้องไปนอนเฝ้า
            ส่วนพระมารดากลับบรรทมหลับสลายที่พระราชวังวินด์เซอร์
            หรือในยามที่เจ้าชายชารลส์ต้องเสด็จเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการผ่าตัดด่วนด้วยอาการใส้ติ่งอักเสบกลางดึก สมเด็จพระมารดาก็มิได้เสด็จไปด้วยแต่อย่างใด
            ประชาชนเริ่มจับตามองอย่างไม่ชอบใจนัก..
            นายจอห์น กอร์ดอน แห่งหนังสือพิมพ์ เดลี่ เอ๊กซเพรส ได้เขียนไว้ว่า..
            "พวกเจ้าพวกนายนั้นมีลูกเหมือนมีคอกปสุสัตว์ เลี้ยงดูอย่างทิ้งๆขว้างๆ ตามมีตามเกิด"

 

            จวบจนที่พระองค์ได้เข้ามาครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีในปี 1952 เข้าจริงๆ คราวนี้เรื่องการดูแลครอบครัวอย่างที่เคยตรัสไว้..เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
            และเรื่องที่ทรงเคยคาดหวังไว้ว่าจะมีลูกถึงสี่องค์นั้น ต้องเลื่อนโครงการออกไป เพราะงานของพระองค์ในฐานะพระราชินีย่อมมาก่อนเหนือสิ่งอื่นใด
            ดังที่เล่ามาแล้วว่า สมเด็จทรงเป็นคนเจ้าระเบียบ เคร่งครัดมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์นั้น..ในยามที่เป็นพระราชินี พระองค์ได้ทรงเข้มงวด และมุ่งมั่นในภาระและพระราชกิจอย่างเอาจริงเอาจังกว่าครั้งกระโน้น..
            ไม่ว่าจะเรื่องคำปราศรัย พระราชหัตถเลขาโต้ตอบ หรือ กล่องแดงรายงานจากรัฐบาล..ที่พระองค์ได้ทรงถือเป็นหน้าที่ที่ต้องใส่พระทัยทรงงานทุกวัน..
            แต่ก็มีอดีตเสนาบดี..แอบแย้งว่า
            "พระองค์อาจถือเป็นสาเหตที่ไม่ต้องมาปวดพระเศียรกับเรื่องครอบครัวต่างหากกระมัง.."

            เพราะในภาพโดยรวมที่ออกมาสู่สายตาประชาชนนั้น ครอบครัววินด์เซอร์ ถือว่าเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบสุดๆ มีพระราชินี เจ้าชายพระสวามีที่สง่างาม พระโอรสที่งดงาม พระธิดาที่น่ารัก
            ภาพต่างๆเหล่านี้มักปรากฏอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์เสมอๆ สมเด็จได้ทรงเรียนรู้ในเรื่องจิตวิทยาภาพถ่ายนี้มาจากควีนมัม ผู้ซึ่งใช้กลยุทธนี้ชนะใจประชาชนตั้งแต่ครั้งยังเป็นดัชเชส ออฟ ยอร์ค
            ที่ได้ออกให้สัมภาษณ์กับนิตยสารถึงเรื่องความอบอุ่นในครอบครัว..และในต่อมาเมื่อเป็นพระราชินี ก็มีการออกหนังสือเกี่ยวกับพระจริยาวัตรของพระองค์และเจ้าหญิงน้อยๆสองพระองค์พี่น้อง
            (The family Life of Queen Elizabeth)
            และผู้ที่ช่วยสนับสนุนในเรื่องการออกข่าวภ่ายภาพครอบครัวนี้คือ เจ้าชายฟิลิป ที่มักตรัสว่า
            "ถ้าอยากให้สถาบันกษัตริย์มั่นคงแล้วละก้อ.สถาบันต้องเป็นครอบครัวตัวอย่างที่สมบูรณ์ด้วยความรักและความอบอุ่นในสายตาของประชาชน"
            ถึงแม้ว่า..ภาระและหน้าที่คือตัวเลือกอันดับต้นของสมเด็จ แต่พระองค์ก็มิได้ทรงทิ้งความเป็นแม่เสียเลยทีเดียว..ดังที่ทรงตรัสกับนายกรับมนตรีว่า
            "เห็นทีฉันจะต้องให้เวลากับครอบครัวบ้างนะ" โดยที่พระองค์ทรงเลื่อนเวลาราชการพบกับท่านนายกออกไป เนื่องจาก พระองค์ได้ปฏิรูปเวลาการพบกับพระโอรสและพระธิดาใหม่
            คือ เวลาเย็นก่อนที่ทั้งสองจะเข้านอน กับ ให้พี่เลี้ยงนำมาพบที่ห้องพระบรรทมในยามเช้า เก้านาฬิกา ทุกวัน วันละครึ่งชั่วโมง..เพราะ เก้าโมงครึ่งคือเวลาที่สมเด็จเริ่มทรงงาน

            เจ้าฟ้าหญิงแอนน์มักโยเยไม่ยอมกลับออกจากห้อง เพราะอยากจะเล่นกับพระมารดา แต่ พระเชษฐา
            เจ้าฟ้าชายชารลส์ต้องจูงออกไป และสอนน้องว่า
            "อย่ากวนพระทัยเลยน่ะ แม่กำลังยุ่ง..เห็นหรือเปล่าว่า.. She's queening"

            (ไม่ได้แปลให้นะคะ เห็นว่า คำนี้น่ารักดี..วิวันดา)

          
            
         
         

         

            ยามเย็นเวลา ห้าโมง คือเวลาที่พระพี่เลี้ยงจะต้องนำทั้งสองพระองค์ขึ้นไปเฝ้าพระมารดา ก่อนที่จะพากลับไป
            (มหาดเล็กได้เล่าว่า..ในเวลานี้ สมเด็จได้ทรงใช้เวลาอยู่กับพวกคุณสุนัขคอร์กิ มากกว่าพระโอรสและพระธิดา เพราะพระองค์จะต้องทรงป้อนอาหารให้พวกคุณๆพวกนี้ที่แต่ละตัวมีการกินที่ไม่เหมือนกัน
            พวกคุณพนักงานจะนำถาดอาหารขึ้นมาให้
            ในถาดจะมีกาละมังเฉพาะของใครของมันตามชื่อ สมเด็จจะทรงคลุกเคล้าให้ใหม่ด้วยช้อนส้อมเงิน ก่อนที่จะวางกาละมังแต่ละใบลงบนแผ่นรองพลาสติค)

            เด็กๆได้ใช้เวลาทั้งวันอยู่กับพระพี่เลี้ยงและนางพยาบาล ..พระโอรสมีพระชนมายุ สี่ ชันษา พระธิดา สอง ชันษา ที่ต้องรับการดูแลใกล้ชิดทั้งเรื่องการสรงน้ำ และการเข้าบรรทมที่พระพี่เลี้ยงต้องนอนอยู่ในห้องเดียวกัน..

            ในยามต่อมา..เมื่อเติบใหญ่ เจ้าฟ้าชายชารลส์เคยประทานสัมภาษณ์ในหนังสือชีวประวัติของพระองค์ว่า..
            "เป็นความจำที่โหดร้ายอย่างไม่มีวันรู้ลืม.." พระองค์ได้โทษทำนองว่า พ่อแม่รังแกฉัน แต่หนักไปทางพระบิดา ที่พระองค์ว่า..ไม่เคยส่งของขวัญวันเกิดในห้าปีแรก
            อย่างดีก็ได้แต่ส่งข้อความอวยพรมาเท่านั้น..
            ท่านปู่น้อย ลอร์ด เมาท์แบตเทน ได้แก้ตัวแทนหลานชายว่า.."เรื่องความว่าเหว่น่ะ เป็นเรื่องธรรมดาของลูกเจ้าลูกนายที่ต้องรู้จักจักทน แก้ไขอะไรไม่ได้หรอก ต้องทำใจ"
            ส่วนคุณหญิงนักประพันธ์ บาร์บาร่า คาร์ทแลนด์ ได้ออกมาแก้ตัวแทนสมเด็จว่า..
            "ก็เจ้าฟ้าชายได้ทรงประสูติในขณะที่พระมารดายังทรงพระเยาว์อยู่ ย่อมไม่ใคร่มีเวลาให้มากนัก"
            ฝ่ายควีนมัม..ก็หันมาโทษพระธิดาทันทีอย่างไม่ต้องเสียเวลาคิด..ว่า..
            "หนังสือพิมพ์ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า..ฟิลิปน่ะดุจนเกินไป แต่ถ้าใครรู้ความจริงนะ ก็จะรู้ว่า..ลิลิเบธต่างหากที่เข้มงวดซะจนลูกๆหงอหมด..ฟิลิปต่างหาก..ที่พยายามจะทำให้ทุกอย่างให้ง่ายขึ้น"

       
            เรื่องเฮี้ยบของสมเด็จกับลูกๆนั้น เป็นความจริง..พระองค์ได้เปลี่ยนให้ทุกคนในวังเรียกขานพระโอรสและพระธิดาใหม่ตามแบบสากล นั่นคือ มิใช่ เซอร์ และ มาดาม อย่างแต่ก่อน
            แต่กลายมาเป็นชื่อแรกตามสะดวกปาก นั่นคือ ชารลส์ และ แอนน์
            พวกคุณพนักงาน มหาดเล็ก ต่างไม่ต้องทำความเคารพเด็กทั้งสองอีกต่อไป..คงทำความเคารพแค่พระองค์และควีนมัม
            ส่วนพระโอรสและพระธิดา ต้องทำความเคารพแก่พระองค์ และ พระอัยยิกาก่อนลาออกจากห้องทุกครั้ง..
            พระองค์เคยเล่าให้พระสหายฟังว่า
            "เสด็จยายบอกให้ทำอะไรก็ต้องทำ ไม่งั้นไม่ได้ขนมกินน่ะซิ"
            "ทำไมเธอต้องโค้งคำนับให้ยายเธอด้วยล่ะ"
            "นั่นคือสิ่งที่ฉันต้องทำ"
            "ทำไมล่ะ"
            "ก็เพราะ พ่อสั่งน่ะซิ"
            ดังที่พระพี่เลี้ยงบอกให้เจ้าชายทรงสนับเพลาสั้นลายทาร์ทานข้างใน ยามที่ต้องทรงชุดกระโปรงสก๊อตพื้นเมืองที่ต้องทรงทุกครั้ง ในเวลาที่อยู่ในพระตำหนักบัลมอรัล
            แต่เจ้าชายน้อยกับไม่ยอม ทรงตรัสว่า..
            "ทีเสด็จพ่อยังไม่ใส่เลย.."
            ในยามนั้น..พระบิดาคือแบบฉบับของทุกสิ่งทุกอย่างกับเจ้าชายพระโอรส..ไม่ว่าจะโดนเอ็ดบ้าง โดนตีบ้าง..เจ้าชายก็ยังถือว่าพระบิดาคือทุกสิ่งทุกอย่างที่จะทรงดำเนินรอยตาม
            แม้กระทั่งการเดินที่เดินแบบค้อมศรีษะนิดๆ และเอามือทั้งสองไพล่ไปข้างหลัง..ก็เหมือนกันยังกับแกะ.

            จนกระทั่ง..การก้าวเดินตามรอยของเจ้าชายฟิลิปนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ..ความรักที่เคยมีต่อพระบิดาเริ่มห่างหายไปตามอายุที่เจริญวัยขึ้น กลายมาเป็นการกล่าวโทษอย่างซึ่งหน้า
            เช่น..พระองค์ได้เคยตรัสกับพระสหายว่า
            "มีพ่ออยู่สองชนิดนะ..ชนิดแรกคือ พ่อที่ช่วยให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเอง โดยการให้ความเชื่อถือและวางใจ ยามเมื่อลูกก้าวเดินพลาด พ่อก็จะไม่ดุด่าและไม่ซ้ำเติม ส่วนพ่ออีกประเภทหนึ่ง คือ ดยุค ออฟ เอดินเบอร์ค "

            (แต่กับพระธิดา เจ้าฟ้าหญิงแอนน์ เจ้าชายฟิลิปถือว่าได้ดังใจไปในทุกเรื่อง เพราะนิสัยห้าวหาญ พูดจาตรงไปตรงมา..ท่าทางออกนักเลงนิดๆนั้น..ถอดแบบมาจากพระองค์เป๊ะ..)

         

            กับพระมารดา..เจ้าฟ้าชายชารลส์ทรงเกรงกรัว..ยิ่งกว่าหงอ..เพราะเนื่องจากความห่างเหินมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์และมิหนำซ้ำ ยามที่พระองค์ต้องการจะแสดงความรักต่อพระมารดากลับถูกปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย..
            ครั้งหนึ่ง ในยามที่สมเด็จได้เสด็จกลับจากการประพาสต่างประเทศ เจ้าชายไม่ได้พบกับพระมารดานานหลายเดือน สู้อุตส่าห์ปีนขึ้นไปรับเสด็จถึงบนเรือพระที่นั่ง
            บริแทนเนีย เตรียมพระองค์ไปประทับที่แถวรับเสด็จ หมายพระทัยจะจุมพิตพระหัตถ์พระมารดาให้หายคิดถึง
            แต่..เมื่อสมเด็จทรงหันมาเห็นพระโอรส..พระองค์กลับตรัสว่า
            "ไม่เอาน่า.."
            ไม่ทรงกอด หรือ จุมพิตพระโอรสเลยแม้แต่นิด เสด็จเดินผ่านไปเหมือนอย่างไม่มีอะไรเกิดขึ้น..
            เมื่อพระสหายของสมเด็จได้ถามถึงเรื่องนี้ พระองค์ตรัสตอบสั้นๆว่า
            "ฉันได้รับการฝึกหัดมาตั้งแต่เด็กๆ ไม่ให้แสดงออกถึงอารมณ์ใดๆทั้งสิ้น..โดยเฉพาะต่อหน้าฝูงชน"
            ซึ่งกิริยาแห่งการระงับอารมณ์ให้ราบเรียบนั้น แม้แต่เจ้าชายฟิลิปก็เป็นเช่นกัน..พระองค์เป็นได้ราวกับคนที่ไม่มีหัวใจอยู่ในร่าง พระสหายสนิท นาย ไมเคิล ปาร์คเกอร์ได้เล่าว่า
            "ผมละอยากจะเห็นภาพถ่ายของเจ้าชายที่แสดงความรักกับพระราชินี อย่างน้อยๆก็วางมือลงบนพระอังสะอย่างสนิทสนม หรือกิริยาที่ว่ารักและเทิดทูนพระองค์อย่างเหลือเกินนั้น ก็ยังไม่มีโอกาสได้เห็นเลยจนบัดนี้
            เคยนะ..ผมเคยพูดเรื่องนี้กับเจ้าชายหลายครั้ง..แต่ทุกครั้งพระองค์ทรงหันมามองหน้าผม..แบบว่า ไอ้นี่พิลึกจริง..พูดอะไรบ้าๆ"
            เจ้าฟ้าชายชารลส์จึงสนิทสนม และ สนิทสนมรักใคร่กับพระอัยยิกาและพระพี่เลี้ยงมากกว่าพระบิดาและพระมารดา

          

            .....อยากจะขอเสริมนะครับว่า เมื่อเจ้าฟ้าหญิงมากาเร็ตได้รับจดหมายจากกัปตันปีเตอร์ ทาวน์เซ่น ณ พระตำหนักบัลมอรัลเมื่อเดือนตุลาคม 1959 ในเวลาเช้า ว่า กัปตันปีเตอร์จะแต่งงานกับหญิงสาวชาวเบลเยี่ยม Marie - Luce Jamagne
            พระองค์ได้ตัดสินใจแต่งงานกับ แอนโทนี่ อาร์มสตรองโจนส์ ในตอนบ่ายทันที และที่น่าแปลกก็คือหญิงชาวเบลเยี่ยมนั้น หน้าละม้ายเจ้าฟ้าหญิงมากาเร็ตมาก
            และด้วยประชดชีวิตรักที่ไม่สมหวังหรือไม่ ทรงโปรดพระโอสถมวนอย่างแรงยี่ห้อจีตานของฝรั่งเศสและเสวยน้ำจันฑ์หนักมาก ซึ่งมีผลต่อสุขภาพในภายหลัง

      
            
         
         

            เรื่องชีวิตของเจ้าฟ้าหญิงองค์นี้เขียนได้อีกเล่มหนึ่งแน่ะ เพราะรันทดมาก ตลอดชีวิตของพระองค์ไม่มีความสุขเลย
            แถมมิหนำซ้ำ มีเอกสารออกมาเมื่อหลังจากที่ได้สิ้นพระชนม์ไปหมดๆว่า..
            รัฐบาลกำลังเตรียมยินยอมที่จะให้พระองค์ทรงอภิเษกกับ
            กัปตันทาวน์เซนด์อยู่พอดี เพียงแต่มีเงื่อนไขนิดเดียวว่า
            จะได้รับเงินยังชีพน้อยลง และ ต้องสละสิทธิออกจากการสืบสันตติวงค์ แต่ยังคงเป็นเจ้าหญิงอยู่เช่นเดิม
            เพราะการหย่าของฝ่ายชายนั้นเป็นเพราะภรรยาได้ไปมีคนอื่น และเป็นฝ่ายจากไปเอง เท่ากับว่าเขาคือผู้บริสุทธิ์
            แต่เอกสารยังร่างไม่เสร็จ..และไม่มีใครไปกราบทูลให้ทรงว่าว่ารัฐบาลกำลังจะทำอะไร..
            เจ้าฟ้าหญิงทรงสิ้นความอดทนเสียก่อน ประกาศการล้มเลิกความตั้งใจที่จะอภิเษกให้กับประชาชนได้ทราบ..

            จากนั้นมา..ชีวิตของพระองค์หาได้มีความสุขเหมือนคนอื่นเขาไม่..ตราบจนสิ้นพระชนม์

        
    

 

 




ลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์ โดย วิวันดา

ลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์ ตอนเก้า (จบ)
ลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์ ตอนแปด
ลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์ ตอนเจ็ด
ลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์ ตอนหก
ลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์ ตอนห้า
ลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์ ตอนสาม
ลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์ ตอนสอง
ลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์ ตอนหนึ่ง



แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker