อันที่จริงตั้งแต่เปิดเว็บไซต์ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ (www.iseehistory.com) เมื่อปลายปี 2549 นอกจากเรื่องการเมืองความขัดแย้งภายในประเทศเราเองแล้ว ยังเป็นช่วงที่กระแสความนิยมเกาหลี “แรง” มาตลอด โดยส่วนตัวแม้จะนิยมหนังสงครามโลกครั้งที่ 2 มากกว่ายุคสมัยอื่น แต่ได้พยายามนำเสนอภาพยนตร์ของยุคสมัยอื่นๆ เข้ามาประกอบ ไม่ว่าหนังจีนกำลังภายในหรือหนังอินเดีย รวมถึงหนังไทยเราเอง จะด้วยเหตุใดไม่ทราบถึงได้หลงลืมหนังเกาหลีไปซะได้ ทั้งที่ไม่ได้เจตนาจะไปส่งเสริมหรือต่อต้านกระแสเกาหลีเลย
หรือว่า “หนังใหญ่” ของเกาหลีมันไม่ได้ “แรง” เหมือนหนังทีวีซีรีส์และเคป๊อบ?
ลองสำรวจร้านขายภาพยนตร์วีซีดีและดีวีดีต่างๆ ดูคร่าวๆ เมื่อไม่นับหนังเกาหลีที่เป็นทีวีซีรีส์ หนังดรามา และหนังแนววาบหวิวแล้ว ในเบื้องต้นพบว่ามีภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเพียง 3 เรื่อง ย้ำนะครับว่าเป็นมุมมองส่วนตัวผมคนเดียว ณ เวลานี้ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์สมัยใหม่ทั้ง 3 เรื่อง ไม่แน่ใจว่าจะมีเรื่องอื่นอีกหรือเปล่า โดยเฉพาะเรื่องสมัยโบราณที่ไม่ใช่ทีวีซีรีส์
ภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องที่จะนำมาคุยกันย่อๆ เป็นการโหมโรงกันในที่นี้ก่อนที่จะเขียนบทวิจารณ์เต็มๆ ได้แก่ Taegukgi (เท กึก กี เลือดเนื้อเพื่อฝัน วันสิ้นสงคราม เริ่มฉายปี 2004/พ.ศ.2547) 71: Into the Fire (สมรภูมิไฟล้างแผ่นดิน เริ่มฉายปี 2010/พ.ศ.2553) และ May 18 (เมย์ 18 เริ่มฉายปี 2007/พ.ศ.2550)
2 เรื่องแรกเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับสงครามเกาหลี ส่วนเรื่องหลังเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองในสมัยประธานาธิบดีชุน ดู วาน ครับ

เรื่องแรก Taegukgi สร้างขึ้นในโอกาสครบรอบ 50 ปี สงครามเกาหลี และมีเสียงวิจารณ์ประมาณว่าเป็น Saving Private Ryan ของเกาหลี เรื่องราวของสองพี่น้องจินเตและน้องชายจินซุกที่ต้องไปเป็นทหารในสงครามครั้งนั้น จินเตซึ่งเป็นพี่ชายพยายามหาทางที่ช่วยให้จินซุกกลับบ้านโดยแลกกับการสร้างวีรกรรมในสงครามจนได้รับเหรียญกล้าหาญ แต่นั่นกลับทำให้จินซุกมองพี่ชายเป็นคนบ้าสงคราม และเหตุการณ์ที่พลิกผันกลับทำให้จินเตไม่สามารถส่งจินซุกกลับบ้านได้ดังหวังและเข้าใจว่าน้องชายตายไปแล้ว เขากลายเป็นคนทรยศไปเป็นผู้นำหน่วยทหารของฝ่ายเกาหลีเหนือและกลับมาเผชิญหน้ากับน้องชายในสนามรบ เรื่องนี้คล้ายจะบอกเป็นนัยๆ ว่าแท้ที่จริงแล้วทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ที่รบกันนั้นแท้จริงแล้วก็เป็นพี่น้องเชื้อชาติเดียวกันแท้ๆ
แนะนำแหล่งข้อมูล
- http://en.wikipedia.org/wiki/Taegukgi_%28film%29
- http://www.imdb.com/title/tt0386064/
- http://en.wikipedia.org/wiki/Korean_War

ถัดมาคือเรื่อง 71: Into the Fire พึ่งเริ่มฉายเมื่อปีที่แล้วและลงเป็นหนังแผ่นเมื่อไม่นานมานี้ มีคนเปรียบเทียบวีรกรรมในเรื่องว่าเป็นเสมือนยุวชนทหารของเกาหลีใต้ เล่าถึงเหตุการณ์ในสงครามเกาหลีในช่วงเดือนสิงหาคม 1950 (พ.ศ. 2493) ทางฝ่ายเกาหลีใต้กำลังเสียเปรียบ กองทัพเกาหลีใต้จำต้องทิ้งทหารที่เป็นนักศึกษาอาสาจำนวน 71 คนไว้ที่ Pohang (ไม่แน่ใจครับว่าจะเป็นเมือง หรือ ตำบล อำเภอ ฯลฯ) เพื่อไปทำศึกใหญ่อีกที่หนึ่ง คงหวังว่าจะไม่มีศึกใหญ่อะไรที่นี่แค่ให้เฝ้าระวังกันไว้เฉยๆ แต่กลับมีทหารเกาหลีเหนือส่วนหนึ่งที่คิดจะยึดโปฮางเพื่อตีตลบหลังกองทัพฝ่ายใต้ ทหารนักศึกษาที่นั่นจึงได้สร้างวีรกรรมในการสกัดกั้นข้าศึกไว้ได้นานนับชั่วโมง แน่ละครับว่าน้ำน้อยต้องแพ้ไฟต้องสละชีพเพื่อชาติไปทั้งหมด แต่ก่อนจะจบยังอุตส่าสังหารผู้ร้ายตายไปไม่รู้เท่าไหร่ รวมทั้งตัวสหายผบ.ข้าศึกที่ต้องมาแลกชีวิตกับพระเอกหัวหน้าทหารนักศึกษาในตอนจบด้วยครับ
แนะนำแหล่งข้อมูล
- http://en.wikipedia.org/wiki/71:_Into_the_Fire
- http://www.imdb.com/title/tt1587729/
- http://en.wikipedia.org/wiki/Battle_of_P%27ohang-dong

เรื่องล่าสุดพึ่งดูจบก่อนจะลงมือเขียนบทความนี้คือ May 18 เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในสมัยประธานาธิบดีชุนดูวาน เมื่อปี 1980/พ.ศ. 2523 ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “พฤษภาทมิฬ” ของเกาหลีได้เหมือนกัน รัฐบาลของชุนดูวานที่พึ่งทำรัฐประหารยึดอำนาจได้หมาดๆ ได้ส่งกองทหารหน่วยพิเศษเข้ามายังเมืองกวางจูเพื่อควบคุมนักศึกษาโดยผบ.ปั่นหัวเอาไว้ว่าคนเหล่านั้นเป็นคอมมิวนิสต์ เริ่มแรกแม้ว่าทหารหน่วยนี้จะใช้เพียงกระบองเป็นอาวุธ แต่ได้ปราบปรามประชาชนแบบมั่วไปหมดกระทั่งผู้บริสุทธิ์ได้รับความเดือดร้อนไปด้วย ทำให้เกิดการประท้วงลุกลามใหญ่โตเพื่อบีบให้ทหารถอนกำลังออกจากเมือง เมื่อถึงเส้นตาย ทหารหน่วยนั้นกลับใช้อาวุธสงครามยิงใส่ประชาชนบาดเจ็บล้มตายไปมากคล้ายๆ กับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาทมิฬ 2535 ในบ้านเราเลยครับ แต่คนกวางจูท่าจะเลือดร้อนกว่าคนไทยใน 2 เหตุการณ์ดังกล่าว พอหนีไปตั้งหลักได้ก็ไปปล้นคลังอาวุธกลับมาต่อสู้บ้างจนฝ่ายทหารต้องเป็นฝ่ายถอยออกจากเมืองไปตั้งหลักบ้าง สังเกตนะครับว่าชาวเมืองกวางจูเขาจำต้องจับอาวุธขึ้นสู้เพราะถูกกระทำรุนแรงก่อน ไม่ใช่เริ่มต้นก็พกระเบิดปิงปองกันเต็มขากางเกงหรือเอาคนแต่งชุดดำถือปืนมาร่วมในม็อบตั้งแต่แรกแล้วมาอ้างสันติอหิงสา กลับเข้าเรื่องดีกว่า ทางฝ่ายกองทัพถอยไปตั้งหลักได้ไม่กี่วันก็ยกทัพกลับมาปราบปรามฝ่ายต่อต้านจนราบคาบเมื่อเวลาตีสี่ของวันที่ 27 พฤษภาคม 1980 นับตั้งแต่วันที่ทหารเริ่มใช้กระบองทุบตีประชาชนเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ตามชื่อเรื่อง ก็ประมาณ 9 วัน ครับ
แนะนำแหล่งข้อมูล
- http://en.wikipedia.org/wiki/May_18_%28film%29
- http://www.imdb.com/title/tt0800341/
- http://en.wikipedia.org/wiki/Gwangju_Democratization_Movement
ดู 2 เรื่องแรก แล้วมาดูเรื่องที่ 3 รู้สึกหดหู่ใจครับ อุตส่าปกป้องประเทศให้พ้นภัยคอมมิวนิสต์เพียงเพื่อที่จะมาฆ่ากันเองเพื่ออำนาจเท่านั้นหรือ หลายประเทศที่เป็นลูกไล่อเมริกาในช่วงนั้นดูช่างคล้ายกันไปหมด เอาเรื่องความเลวร้ายของคอมมิวนิสต์ (ที่แม้ว่าจะมีส่วนเลวร้ายจริงๆ) มาเป็นข้ออ้างในการสร้างระบอบเผด็จการทหารเข่นฆ่าประชาชนที่ไม่เห็นด้วย ไม่ว่าสงครามกับเกาหลีเหนือหรือเหตุการณ์ความขัดแย้งที่กวางจู ล้วนแต่เป็น “ศึกสายเลือด” ของคนเกาหลีด้วยกันทั้งนั้น คนไทยที่กำลังคลั่งเกาหลีจะคิดศึกษาเรื่องแบบนี้บ้างหรือเปล่า? เมื่อมีโอกาสผมจะได้เขียนบทวิเคราะห์ภาพยนตร์แต่ละเรื่องมานำเสนอกันต่อไปครับ
หมายเหตุ : เปิดให้แสดงความคิดเห็นเฉพาะสมาชิกเว็บไซต์ที่ด้านล่างสุด