webmaster@iseehistory.com
เคยนำภาพตัวอย่างเครื่องแบบทหารเยอรมัน มาแสดงให้ชมกันครั้งหนึ่ง กับในตอนที่พูดถึงการแปลยศทหาร เคยแพลมๆ ว่าจะนำเรื่องของยศทหารของหน่วยเอสเอสของเยอรมันมาคุยกันบ้าง ที่จริงไม่เคยลืมหรอกครับว่ารับปากอะไรไว้ แต่ถึงตอนจะนำเสนอเป็นบทความนี่ จะเรียบเรียงเองหรือจะเอาที่ไหนมาตัดต่อกันยังไงให้ดูเข้าใจง่ายๆ กว่าจะคิดออกว่าอย่างนี้น่าจะโอเค เล่นเอาผ่านไปเป็นปีเลยเหมือนกันครับ
ตารางต่อไปนี้ผมนำมาจาก http://www.worldwar2-militaria.com/index.php?pr=German_Rank__Branch ซึ่งแสดงเฉพาะยศทหารเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งของกองทัพบก (Wehrmact Heer) และกองกำลังเอสเอส (Waffen SS) พร้อมด้วยภาพเครื่องหมายยศ แบ่งออกเป็น 3 คอลัมน์ใหญ่ โดยตรงกลางเป็นคำอธิบายที่จะมี 3 บรรทัด คือ เทียบชื่อยศเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อเรียกยศของกองทัพบกเยอรมัน และชื่อเรียกยศของเอสเอส แต่บางยศอาจจะมีแต่ในกองทัพบกไม่มีในเอสเอส หรือมีในเอสเอสแต่ไม่มีในกองทัพบกก็จะเหลือ 2 บรรทัดนะครับ ยศในคอลัมน์ทางด้านซ้ายจะเป็นของกองทัพบกเยอรมัน ส่วนทางขวาเป็นของเอสเอส โดยทั้งสองคอลัมน์จะแบ่งเป็น 3 คอลัมน์ย่อย คือ ภาพเครื่องหมายที่คอเสื้อ (Collar Tabs) ภาพเครื่องหมายยศที่บ่าหรืออินทนู (Shoulder Boards) และเครื่องหมายยศที่แขนเสื้อ (Smock Sleeve Ranks) โดยจะแบ่งชั้นยศทหารออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้ครับ

กลุ่ม Enlisted Men ในภาษาไทยเหมือนจะไม่มีคำที่แปลได้ตรงๆ ซะทีเดียว เคยได้ยินคำว่า “ลูกแถว” หรือจะใช้คำว่า “ไพร่พล” ก็ฟังดูโบราณเกินไป คือเป็นทหารในระดับที่คอยฟังคำสั่งอย่างเดียว ไม่มีอำนาจบังคับบัญชาหน่วยระดับใด โดยยศต่ำสุดคือ พลทหาร ถัดมาคือ พลทหารชั้นหนึ่ง สิบตรี และสิบโท ส่วนอีกสองยศที่มีในกองทัพบกแต่ไม่มีในเอสเอสนั้น เพียงแต่เหนือสิบโทขึ้นมาแต่ไม่ได้เทียบเท่าสิบเอกนะครับ
ชี้แจงเพิ่มเติมประการแรกว่า สีแดงข้างในเครื่องหมายคอเสื้อของกองทัพบก และขอบสีแดงที่ขอบอินทนูของทั้งสองเหล่าทัพนั้น เป็นสีของทหารเหล่าปืนใหญ่นะครับ สีของทหารเหล่าอื่นๆ เช่น ทหารราบเป็นสีขาว เหล่าสื่อสารเป็นสีเหลือง เป็นต้น
ส่วนยศพลทหารของกองทัพบกนั้น ในเว็บอื่นและตำราต่างๆ มักจะเรียกพลทหารราบว่า Schütze เป็นหลักครับ แต่ก็มีเรียกเป็นอย่างอื่น เช่น ตอนปลายสงคราม เรียกเป็น Grenadier อย่างในตาราง หรือคำอื่นๆ ตามแต่หน้าที่ของพลทหารนั้นๆ ครับ
เครื่องหมายยศที่คอเสื้อของทหารบกนั้นจะเหมือนกันทั้ง 2 ข้าง ส่วนของเอสเอสนั้น ในระดับพลทหารจนถึงพันโท คอเสื้อข้างขวา (ทางขวาของตัวเสื้อ แต่เป็นทางซ้ายของคนมอง) จะติดเครื่องหมายรูป SS ที่ประดิษฐ์ให้เหมือนสายฟ้าคู่ ยกเว้นบางกองพลที่มีเครื่องหมายเป็นของตัวเอง เช่น กองพลที่ 3 เป็นรูปหัวกะโหลกไขว้ ส่วนคอเสื้อข้างซ้ายเป็นเครื่องหมายยศ
เครื่องหมายยศที่แขนเสื้อของทหารในกลุ่มชั้นยศนี้ ผมเคยเห็นเขาใช้กับเสื้อของเครื่องแบบชุดปกติเท่านั้น ยังไม่เคยเห็นใช้กับแขนเสื้อชุดพรางที่สวมทับเครื่องแบบปกติเลย ตรงข้ามกับชั้นยศอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้เครื่องหมายยศที่แขนเสื้อกับเครื่องแบบปกติ คงมีเฉพาะเสื้อชุดพรางแบบสวมทับเท่านั้น

กลุ่ม Non-Commissioned Officers ภาษาไทยเรียกว่า “นายทหารชั้นประทวน” ในกลุ่มนี้ยศต่ำสุดเทียบเท่าสิบเอก ถัดมาคือยศจ่า 4 ระดับ ดังปรากฏชื่อเรียกในคอลัมน์กลางนั่นแหละครับ ขณะที่ทหารไทยมียศจ่าแค่ 3 ระดับคือจ่าสิบตรีถึงจ่าสิบเอกเท่านั้น

กลุ่ม Company Officers และ Field Officers นี้ผมขอรวบยอดมาไว้ด้วยกันเลย หากจะเทียบกับภาษาไทยกันง่ายๆ ก็คือ ระดับนายร้อย กับระดับนายพันนั่นเอง ระดับนายร้อยนั้นมี 3 ขั้นเหมือนบ้านเรา แต่ระดับนายพันนั้นก็ช่างบังเอิญที่ทางเอสเอสมี OberFührer เหนือจากพันเอกขึ้นมาขั้น แบบเดียวกับ “พันเอก(พิเศษ)” บ้านเรานั้นเอง สังเกตนะครับว่ายศพันเอกทั้งสองระดับของเอสเอสนี้ใช้เครื่องหมายที่คอเสื้อเหมือนกันทั้งสองข้าง

มาถึงระดับสูงสุดคือระดับนายพลกันซะที เริ่มจากยศที่ในกองทัพไทยเทียบได้กับพลจัตวา (แต่ปัจจุบันเลิกยศนี้ไปแล้ว) มาจนถึงชั้นสูงสุดของทางกองทัพบกเยอรมันคือ จอมพล เรียกว่า Generalfeldmarshall (บ้านเรายกเลิกยศจอมพลไปแล้วเช่นกัน) ทางฝั่งเอสเอสนั้นไม่มียศที่เทียบเท่าจอมพล แต่มียศที่สูงกว่าคือ Reichführer ของ Himmler หัวหน้าใหญ่ของเอสเอสนั่นเอง
ทีนี้มาดูตัวอย่างการติดเครื่องหมายยศของทหารเยอรมันกันสักนิดครับ ส่วนใหญ่ได้มาจากเว็บ http://users.skynet.be/vonweyersberg/ ครับ

ภาพนี้ ทหารเอสเอส ยศ SS-Rottenführer เทียบเท่าสิบโทครับ สังเกตจากเครื่องหมายที่คอและที่แขนเสื้อใต้นกอินทรี ทหารกองทัพบกเยอรมันจะติดนกอินทรีบนกระเป๋าหน้าอกเสื้อด้านขวา ส่วนเอสเอสจะติดนกอินทรีที่แขนซ้าย ลักษณะของนกอินทรีก็จะต่างกันเล็กน้อย ดังในภาพตารางบนสุดครับ

ทหารกองทัพบกยศระดับ นายทหารชั้นประทวน (Non-Commissioned Officers) ในภาพจะเห็นอินทนูไม่ชัด แต่ในเว็บที่ผมก๊อปมาเขาบอกว่าเป็น Feldwebel เทียบได้กับจ่าสิบโท เครื่องแบบของนายทหารชั้นประทวนทั้งของกองทัพบกและเอสเอสนั้น ปกเสื้อจะมีขลิบขาวแบบนี้ให้เป็นที่สังเกตครับ

เครื่องแบบนายทหารสัญญาบัตรของกองทัพบกยศ Hauptmann หรือ ร้อยเอก

นายทหารสัญญาบัตรของเอสเอส ยศ SS-Sturmbannführer หรือ พันตรี ภาพนี้แม้จะไม่เห็นด้านบนของอินทนู แต่เห็นเครื่องหมายที่คอเสื้ออย่างชัดเจน

ภาพนี้ผมสแกนมาจากหนังสือเก่าไว้นานแล้ว ทหารคนนี้ใส่ชุดพรางทั้งตัว เห็นคอเสื้อเครื่องแบบปกติแพลมออกมาหน่อยว่าเป็นทหารกองทัพบก ต้องสังเกตเครื่องหมายที่แขนของเสื้อชุดพรางที่มีอยู่ 4 ขีด นั่นคือยศ Oberfeldwebel จะว่าเป็นจ่าสิบเอกก็ไม่เชิง คือยังมี Stabsfeldwebel ถัดขึ้นไปอีกระดับ
เป็นอันว่าบทความนี้จากที่เคยเงื้อมาเป็นปีว่าจะพูดเรื่องยศทหารเอสเอสโดยเฉพาะ กลายมาเป็นเรื่องการเปรียบเทียบกับยศทหารปกติโดยใช้ภาพประกอบกับคำบรรยายเล็กๆ น้อยๆ โดยไม่ต้องวิเคราะห์หรือสาธยายอะไรให้มากความ หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างสำหรับผู้ที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงนักดูหนังสงคราม นักสะสมชุดจำลอง หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวข้องกับทหารเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ครับ