โดย webmaster@iseehistory.com
"เราไม่เคยคิดจะเข้ามาในวงการโจร แต่มีความจำเป็น ไม่มีทางเลือก" คำพูดนี้ผมเคยใช้ขึ้นต้นบทวิจารณ์ภาพยนตร์ “จอมโจรมเหศวร โรบินฮู้ดเมืองไทย?” มาแล้วครั้งหนึ่ง ทั้งๆ ที่ไม่ใช่คำพูดของจอมโจรมเหศวรเอง แต่เป็นคำพูดของ หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อดีต "เสือดำ" 1 ในบรรดาโจรชื่อดังในยุคเดียวกัน ซึ่ง ณ เวลานี้ ผมยังไม่มีใครสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับ “เสือดำ” โดยเฉพาะ ขณะที่ “เสือมเหศวร” มีอยู่หนึ่งเรื่อง และเสือใบมีถึง 2 เรื่องด้วยกัน คือ “เสือใบ” และ “สุภาพบุรุษเสือใบ” ซึ่งแต่ละเรื่องก็จะเน้นบทบาทของเสือรายนั้นๆ โดยมีการใส่สีใส่ไข่กันตามปกติของภาพยนตร์เพื่อความบันเทิง และครั้งหนึ่งได้มีการสร้างภาพยนตร์โดยนำเอา “เสือมเหศวร” “เสือใบ” และ “เสือดำ” มาอยู่ร่วมกันในชุมโจรเสือฝ้ายแล้ว ก็ยังไม่อาจหวังได้ว่าจะได้แง่มุมทางประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์ ในครั้งนี้ผมกำลังจะแนะนำภาพยนตร์เรื่อง “สามเสือสุพรรณ” ที่ออกฉายในปี 2524 ครับ


"เสือมเหศวร" รับบทโดย ไกรสร แสงอนันต์ และ "เสือใบ" รับบทโดย พิศาล อัครเสนี


"เสือดำ" รับบทโดย สรพงศ์ ชาตรี และ "เสือฝ้าย" รับบทโดย ส. อาสนจินดา
ก่อนอื่นมาดูประวัติของแต่ละเสือเท่าที่พอจะค้นหาข้อเท็จจริงได้กันสักนิดนึงก่อนครับ แม้ว่าจะได้เคยเล่าไว้ในบทวิจารณ์เรื่องอื่นมาบ้าง เพื่อไม่ให้เสียเวลาย้อนกลับไปกลับมา ขอนำมาเล่าพร้อมกันที่นี่เลยครับ
เสือมเหศวร มีชื่อเดิมว่า "ศวร เภรีวงษ์" เกิด ตำบลสีบัวทอง ซึ่งระหว่างจังหวัดอ่างทองกับสุพรรณบุรี เป็นชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง ครั้นอายุ 20 ปี ไปเป็นทหารเกณฑ์ เมื่อปลดประจำการ ได้กลับบ้านมาหาพ่อแม่ แต่วันที่มาถึงบ้านนั้นเอง มีคนร้ายที่คู่อริที่หมายตำแหน่งกำนัน ฆ่าพ่อต่อหน้าต่อตา จึงหนีไปรวบรวมพรรคพวกที่เคยเป็นทหารด้วยกันเข้ากลุ่มกับเสือฝ้ายที่ จ.อ่างทอง แล้วจึงกลับไปแก้แค้นให้กับพ่อได้สำเร็จ แต่เสือฝ้ายกลับไม่พอใจที่เสือมเหศวรไปฆ่ากำนันซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของทางการซึ่งอาจนำความเดือดร้อนมาสู่ชุมโจร เสือมเหศวรจึงต้องออกไปตั้งชุมโจรของตนเอง โดยมีลูกน้องประมาณ 40-50 คน ออกปล้นในเขตภาคกลาง โดยเฉพาะอ่างทอง สุพรรณบุรี ชัยนาท กาญจนบุรีและสิงห์บุรี ทางราชการพยายามจับกุมอยู่นาน จนในที่สุดต้องใช้แม่ของเสือมเหศวรเป็น “ตัวประกัน” ในการต่อรอง บางแหล่งข้อมูลอ้างว่าถึงขนาดขู่จะฆ่าแม่ของเสือมเหศวรเลย แต่ในภาพยนตร์เรื่อง “จอมโจรมเหศวร” และ “สามเสือสุพรรณ” แม่ของมเหศวรจะเป็นเพียงผู้ช่วยเจรจาให้มอบตัวเท่านั้น เอาเป็นว่าเสือมเหศวรถูกจับกุมเมื่อปี พ.ศ. 2492 และถูกจำคุกรวม 3 ปี
เสือใบ เดิมชื่อ นายใบ สะอาดดี บ้านอยู่สุพรรณบุรี เหตุที่เป็นโจรเนื่องจากตอนอายุ 30 (ประมาณปี 2487/ค.ศ.1944) ถูกโจรปล้น และน้องภรรยาถูกฉุดไปด้วย จึงตามไปช่วยและ ฆ่าโจรตายไป 2 ศพ และต้องเป็นโจรเสียเองแต่บัดนั้น ต่อมาเมื่อใดยังหาวันที่ไม่ได้ เสือใบได้มอบตัวต่อทางการและถูกศาลตัดสินประหารชีวิต แต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2496 /ค.ศ.1953 เนื่องในวันพระราชสมภพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และได้รับพระราชทานอภัยโทษพ้นการจำคุกเมื่อ 14 ธันวาคม 2506/ค.ศ.1963
เสือดำ เดิมชื่อ “ระพิน” เป็นชาวอยุธยาอยู่ที่อำเภอเสนา ขณะอายุ 20 กว่าปี ทางบ้านถูกโจรปล้นควายไปจนหมดคอก ทราบจากเพื่อนๆ ว่าโจรที่ปล้นคือกลุ่มวัยรุ่นหมู่บ้านข้างเคียง จึงไปยิงวัยรุ่นกลุ่มนั้นตายไป 4 ศพ แล้วหนีไปเป็นโจรเริ่มออกปล้นชาวบ้านใน จ.สุพรรณบุรี และใกล้เคียง ต่อมาทางการได้ตามล่าอย่างหนักช่วงปี 2495-2499 สาเหตุที่ยอมมอบตัวและเลิกเป็นโจรนั้นมีเรื่องเล่าว่า ได้ปะทะกับขุนพันธรักษ์ราชเดชหลายครั้ง แต่ต่างฝ่ายต่างมีวิชาอาคมทำอะไรกันไม่ได้ จนได้มีการนัดคุยกันอย่างลูกผู้ชาย โดยที่เสือดำไม่ได้เป็นโจรโดยสันดาน จึงถูกเกลี้ยกล่อมให้มอบตัวไปในที่สุด ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่า “เสือดำ” มอบตัวเมื่อไหร่และติดคุกกี่ปี ทราบเพียงว่าภายหลังได้บวชเป็นพระนามว่า หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร
เสือฝ้าย มีชื่อเดิมว่า ฝ้าย เพ็ชนะ เคยบวชเรียนแล้วสึกออกมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน แล้วต้องติดคุกเพราะถูกหลานเขยใส่ความว่าเป็นโจรจนต้องติดคุกถึง 8 ปี โดยทีแรกไม่ทราบความจริง จนกระทั่งหลานเขยคนเดิมพยายามใส่ความอีกครั้ง ฝ้ายจึงฆ่าทิ้งและหนีเงื้อมมือกฎหมายมาตั้งชุมโจร จนมีอิทธิพลมาก ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี แม้แต่ชุมเสืออื่นๆ ก็ให้ความเคารพยำเกรง จนได้รับสมญาว่า "พ่อเสือ" บ้าง "จอมพลเสือฝ้าย" บ้าง "ครูฝ้าย" บ้าง ในภายหลัง เสือฝ้ายได้ช่วยเหลือทางการในการปราบปรามชุมโจรอื่นๆ และเข้ามอบตัวในที่สุด แต่แล้วในระหว่างทางที่เสือฝ้ายถูกควบคุมตัวไปกรุงเทพฯ จะเกิดเหตุอะไรขึ้นไม่ทราบ เสือฝ้ายได้ถูกนายร้อยตำรวจเอกที่ควบคุมตัวกระทำวิสามัญฆาตกรรมที่วัดโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง


ร้อยตำรวจเอกยอดยิ่ง รับบทโดย ลักษณ์ อภิชาติ และ นายดาบลิขิต รับบทโดย ไกรลาส เกรียงไกร
เนื้อเรื่องของภาพยนตร์ “สามเสือสุพรรณ” ที่จะกล่าวถึงนี้แน่นอนว่าย่อมจะไม่ตรงกับประวัติของแต่ละเสือซะทีเดียว แต่ข้อมูลที่ผมเล่าไว้ข้างต้นก็ยังต้องตรวจสอบกันอีกเยอะเช่นกันนะครับ ภาพยนตร์ที่ผมใช้ประกอบการเขียนนี้ ผมหาได้จากย่านคลองถม ที่พอดูแล้วปรากฎว่าเป็นการนำเอาวีดีโอเทปที่อัดมาจากการฉายทางสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง และมีความยาวประมาณชั่วโมงครึ่งจากที่ภาพยนตร์ทั่วไปโดยปกติจะมีความยาวประมาณ 2 ชั่วโมง หากใครมีภาพยนตร์ฉบับที่สมบูรณ์กว่านี้เชิญเข้ามาแลกเปลี่ยนได้นะครับว่าเนื้อเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้มันขาดตอนไปบ้างหรือไม่ มาเข้าเรื่องของภาพยนตร์กันซะทีครับ
ภาพยนตร์ได้เปิดตัวพระเอกทีละคน โดยเริ่มจากเดิมบางนางบวช “สวน” พึ่งปลดประจำการทหารกลับมาบ้าน พบพ่อซึ่งเป็นกำนันสอนถูกผู้ใหญ่พันคู่อริฆ่าตายต่อหน้าต่อตา ตัวเองก็ต้องหนีเตลิด ถัดมาที่เขาสามยอด ชุมโจรเสือใบถูกกำลังตำรวจซึ่งนำโดยนายดาบลิขิตเข้ากวาดล้าง “เสือใบ” ซึ่งได้แต่สงสัยว่าจะมีหนอนบ่อนไส้พาลูกน้องส่วนหนึ่งหนีได้ ที่สุดท้ายไกลถึงเรือนจำอุดรธานี “เสือดำ” ซึ่งถูกจำคุกอยู่ที่นั่นได้มีคนช่วยเหลือให้แหกคุกออกมาได้ เสือใบได้ไปตามหาเสือใบจนกระทั่งไปเจอกันตอนเข้าเขตชุมโจรเสือฝ้าย เสือดำอ้างว่าเสือใบฆ่าภรรยาตน แต่เสือดำปฏิเสธว่าคนที่ฆ่าภรรยาเสือดำคือลูกน้องของตนที่ถูกเสือดำฆ่าตายไปแล้ว (ดูเหมือนเหตุการณ์ตอนที่เสือดำฆ่าลูกน้องเสือใบคนนั้นจะโดนทางสถานีตัดออก) แต่เสือใบก็ยังพูดจาดูถูกภรรยาเสือดำจนเกิดการต่อสู้กันนิดหน่อยพอดีจังหวะลูกน้องเสือฝ้ายเข้ามาห้ามไว้ก่อน แล้วทั้งสองจึงถูกพาตัวไปพบเสือฝ้าย โดยมีสวนเข้ามามาสมทบ สวนบอกกับเสือฝ้ายว่าที่จริงผู้ใหญ่พันเป็นโจรก๊กหนึ่ง ถูกพ่อของตนคอยขวางตลอด และผู้ใหญ่พันก็อยากจะเป็นกำนันซะเอง เมื่อพ่อถูกสังหารจึงอยากจะมาอยู่ด้วยเพื่อล้างแค้น เสือฝ้ายแม้จะไม่ถูกกับผู้ใหญ่พันอยู่ด้วย แต่ได้พยายามเกลี้ยกล่อมให้สวนกลับใจแต่ไม่สำเร็จ จึงได้รับไอ้เสือน้องใหม่คนนี้ไว้พร้อมทั้งรุ่นพี่คือเสือดำและเสือใบ
เสือฝ้ายได้ยินว่าเสือใบเป็นคนมีระเบียบ จึงมอบเสือใบเป็นผู้จัดการระเบียบของคนในชุมโจร เทียบกับนิยายกำลังภายในคงต้องเรียกว่า “ผู้คุ้มกฎ” มั๊ง และให้เสือใบทดสอบสวนซึ่งเป็นไอ้เสือน้องใหม่จนเป็นที่พอใจ จากนั้นจึงมอบภารกิจให้ทั้งสามเสือไปปล้นอาวุธสงครามที่ญี่ปุ่นกำลังจะลำเลียงโดยทางรถไฟที่ท่ามะกา ซึ่งทั้งสามเสือได้ทำงานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เสือฝ้ายจึงแต่งตั้งให้ เสือใบ เสือดำ และสวน เป็น รองหัวหน้าเท่ากันหมด เปลี่ยนชื่อ สวน เป็น มเหศวร และจัดการฉลองเพื่อให้รางวัลทุกคนด้วย “ลิเกแก้บน” ไม่ได้หมายความว่าเสือฝ้ายไปบนบานที่ไหนไว้นะครับ คือในยุคนั้นยังไม่มีหนังเอวี หรือหากจะมีหนังแปดมิลแล้วคงยังไม่แพร่ไปถึงชุมโจรในชนบทแบบนั้น ในการจัดแสดง “ลิเกแก้บน” นี้เสือฝ้ายมีข้อแม้ว่าห้ามขึ้นไปบนเวทีเป็นอันขาดไม่งั้นตาย ลิเกที่ว่านี้แสดงเรื่องจันทโครพตอนเปิดผอบพบนางโมราครับ พอนางเอกโผล่มาได้สักพัก ลูกน้องคนหนึ่งชื่อเหวงซึ่งคงจะทั้งเมาทั้งหน้ามืดได้ฝ่าฝืนข้อห้ามขึ้นไปบนเวทีเพื่อลวนลามนางโมราเข้าจนได้ เสือฝ้ายจึงให้เสือใบที่เป็นผู้คุ้มกฎเอาไปยิงทิ้ง แต่เหวงหลอกเสือใบว่าจะยิงตัวตายเอง แล้วยึดปืนเสือใบหลบหนีไปได้ เสือใบจึงสัญญาว่าจะล้างแค้นเอาเลือดเสือเหวงมาล้างเท้าเสือฝ้ายให้จงได้

ฉากการปล้นรถไฟลำเลียงอาวุธของญี่ปุ่น
เสือมเหศวรไปเยี่ยมแม่และภรรยาพร้อมทั้งเอาทรัพย์สินเงินทองไปให้แต่แม่ปฏิเสธว่าเป็นทรัพย์สินเงินทองที่ไม่บริสุทธิ์ อีกทั้งยังสามารถทำนาขายข้าวได้พออยู่พอกิน ด้านเสือเหวงหนีไปอยู่กับพันซึ่งตั้งตัวเป็นกำนันแทนพ่อของมเหศวรทั้งที่ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ผู้ใหญ่พันยังไม่ค่อยเชื่อใจจึงให้เสือเหวงออกปล้นโดยใช้ชื่อเสือฝ้ายได้ทรัพย์สินมาเป็นจำนวนมาก ทางฝ่ายตำรวจ นายดาบลิขิตตำรวจที่ปราบชุมโจรเสือใบในตอนต้นเรื่องย้ายจากลพบุรีมาอยู่กองปราบมาพบผู้ใหญ่เพื่อเชิญไปพบกับผู้กองยอดยิ่งเพื่อหารือเรื่องการปราบปรามโจรผู้ร้าย เสือใบแอบดักพบเสือเหวงตอนกลางคืนและสังหารเสือเหวงสำเร็จนำศพกลับไปให้เสือฝ้ายดู เสือฝ้ายรู้ว่าผู้ใหญ่พันใช้ชื่อตนออกปล้นแล้วนำทรัพย์สินไปซ่อนไว้ในบ้านลูกน้องชื่อธง จึงให้สามเสือไปปล้นบ้านของธงเพื่อหยามน้ำหน้า เมื่อปล้นสำเร็จ เสือดำปลีกตัวออกไปตามจีบสาวกะเหรี่ยงชื่อมะขิ่นที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง จนสวนต้องมาตามตัวกลับไปชุมโจรเสือฝ้าย เนื่องจากตำรวจกองปราบกำลังจู่โจมหนัก จึงยอมกลับไปซึ่งก็ทันเวลา กล่าวคือทางด้านผู้ใหญ่พันได้พากำลังตำรวจบุกชุมโจรเสือฝ้าย แต่ไม่พบใครเพราะได้พากันหนีไปหมดแล้ว ยังไม่ทันที่กองกำลังเสือฝ้ายจะได้ตั้งหลักก็มีสายมารายงานเสือฝ้ายว่ามีคนติดประกาศอ้างชื่อเสือฝ้ายว่าจะเข้าปล้นตลาดท่าช้างในวันรุ่งขึ้น เสือฝ้ายแน่ใจว่าเป็นฝีมือผู้ใหญ่พัน แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นการสวมรอยปล้นตามปกติหรือจะวางกับดักล่อตน ซึ่งความจริงผู้ใหญ่พันกับฝ่ายตำรวจได้แสร้งวางแผนร่วมกัน โดยที่ฝ่ายตำรวจเองก็คงระแคะระคายความเลวของผู้ใหญ่พันและหวังจะซ้อนกลจับผู้ใหญ่พันด้วย ขณะที่ผู้ใหญ่พันก็หวังจะฉวยโอกาสชุลมุนเข้าปล้นชาวบ้านด้วยเช่นกัน
วันรุ่งขึ้น เมื่อกลองเพลดังขึ้น สมุนผู้ใหญ่พันก็ลงมือสวมรอยปล้นทันที เสือฝ้ายกับสามเสือสุพรรณและลูกสมุนอื่นๆ ก็ปรากฏตัวออกมาประกาศว่าไม่ได้มาปล้น และผู้ใหญ่พันเป็นผู้อ้างชื่อตนออกปล้นมาตลอด จากนั้นทั้งสองฝ่ายก็เริ่มปะทะกัน พอดีตำรวจยกกำลังมาถึง เสือฝ้ายจึงตัดสินใจถอย แต่เสือมเหศวรไม่ฟังวิ่งเข้าไปในตลาดหวังจะฆ่าผู้ใหญ่พันล้างแค้นให้พ่อ เสือฝ้ายจึงพาลูกน้องที่เหลือหนีไปก่อน เสือมเหศวรสามารถฆ่าผู้ใหญ่พันล้างแค้นได้สำเร็จ แต่ได้รับบาดเจ็บและถูกตำรวจจับ เสือฝ้ายกับพวกที่เหลือถูกตำรวจล้อมไว้ เสือฝ้ายขอให้เสือใบกับเสือดำยอมมอบตัวด้วยกัน แต่ทั้งสองไม่ยอมเนื่องจากมีคดีติดตัวอยู่มากจึงตัดสินใจหลบหนี เสือฝ้ายถูกยิงบาดเจ็บและถูกตำรวจจับได้แต่ก็ตายในเวลาต่อมา ส่วนเสือดำกับเสือใบหลบหนีไปได้ ภาพยนตร์จบลงตรงที่เสือดำกลับไปหามะขิ่นซึ่งกำลังตั้งท้อง ส่วนเสือใบนั้นความที่ไม่ได้แต่เรื่องให้ไปจีบสาวที่ไหนเอาไว้เลยไม่ปรากฏว่าหนีไปอยู่ที่ไหน

เสือฝ้ายนำสามเสือสุพรรณมาช่วยชาวบ้านที่ตลาดท่าช้าง
เมื่อเทียบกับชีวประวัติย่อของแต่ละเสือที่ผมเล่าไว้ในตอนต้น คงพอแยกแยะได้นะครับว่าอะไรจริงอะไรแต่งเติมขึ้นมา เกรงว่าถ้านำมากล่าวอีกจะกลายเป็นซ้ำซาก
จากชื่อเรื่อง และการกำหนดตัวผู้แสดง เป็นเรื่องปกติที่จะมีการสร้างภาพยนตร์เพื่อนำดาราดังๆ มาประชันบทบาทกัน โดยพระเอกทั้งสามต่างก็เป็นดาราดังในวงการหนังไทยที่หนังบู๊ในแบบที่บางคนใช้คำว่า “ระเบิดเขา เผากระท่อม” กำลังเฟื่องฟู ในเมื่อไม่อาจเอาความจริงทางประวัติศาสตร์ได้มากนัก สิ่งที่น่าจะได้เป็นการชดเชยคือความบันเทิงจากการประชันบทบาทของพระเอกทั้งสาม แต่เท่าที่ดูแล้ว ไม่เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่าง “สามเสือสุพรรณ” ที่เป็นดั่งสามทหารเสือของเสือฝ้ายจะมีพัฒนาการอะไรที่น่าสนใจนักเลยครับ เริ่มต้นเสือดำกับเสือใบมีความขัดแย้งกันจากความเข้าใจผิดของเสือดำ แต่ความขัดแย้งที่ว่าเหมือนจะค่อยๆ ถูกลืมไปซะเฉยๆ แทนที่จะเหลือความเป็นคู่กัดไว้ให้เสือมเหศวรหรือเสือฝ้ายเข้ามาไกล่เกลี่ยบ้าง กลายเป็นต่างคนต่างสร้างดาวคนละดวง คือเสือมเหศวรมุ่งไปที่ความรักแม่รักเมียและการล้างแค้นให้พ่อ เสือใบที่ตอนแรกสงสัยว่าใครเป็นไส้ศึกให้ตำรวจมาปราบชุมโจรของตัวก็ลืมเรื่องนี้ไปซะเฉยๆ แล้วกลับต้องไปล้างแค้นใหม่กับเสือเหวงที่หนีไปจากชุมโจรเสือฝ้ายแทน ด้านเสือดำที่เคยเข้าใจผิดว่าเสือใบฆ่าเมียลงท้ายก็ไปมีเมียใหม่ซะงั้น แล้วเวลาในภาพยนตร์เพียงชั่วโมงกว่าๆ ก็สั้นเกินกว่าจะแสดงให้เห็นว่าสามเสือสามหนุ่มสามมุมนี้มีอะไรที่เป็นจุดร่วมจุดต่างที่น่าสนใจ ทั้งที่ “สามเสือสุพรรณ” รวมถึงเสือฝ้าย ต่างก็เป็นสุจริตชนที่ถูกบีบคั้นให้กลายเป็นโจรด้วยกันทั้งสิ้น ประเด็นนี้กลับเห็นชัดเฉพาะชีวิตของเสือมเหศวรเท่านั้น

เสือมเหศวร พร้อมด้วยแม่และภรรยา กับเสือฝ้ายที่กำลังบาดเจ็บใกล้ตาย
นอกจากนี้ขอเพิ่มเติมประเด็นเล็กประเด็นน้อยอีกสักหน่อยดังนี้ครับ
ประการแรกเกี่ยวกับฉากในภาพยนตร์ รู้สึกเสียดายมากว่าภาพยตร์ฉบับที่ใช้ประกอบการเขียนนั้นแปลงมาจากภาพม้วนวิดิโอรุ่นเก่าที่อัดมาจากโทรทัศน์อีกที ภาพที่ได้จึงมีคุณภาพแย่มากๆ ครั้นจะตระเวนหาเวอร์ชันที่ดีกว่านี้ก็เกรงจะเสียเวลาจึงต้องใช้เวอร์ชันนี้ไปก่อน เท่าที่สังเกตดูยังพอเห็นภาพบรรยากาศเก่าๆ ในชนบท เช่น บ้านทรงไทยอันเป็นที่อยู่ของเสือฝ้าย สภาพตลาดแบบเก่า ฯลฯ ซึ่งถ้าหากยังมีฟิล์มต้นฉบับอยู่ เราอาจจะได้เห็นภาพที่สวยงามกว่าที่ผมนำมาลงนี้
"เครื่องแบบ" ของบรรดา "เสือ" ในภาพยนตร์จะเห็นสมาชิกชุมโจรเสือฝ้ายสวมเสื้อกางเกงและหมวกคาวบอยสีดำ ราวกับเป็นเครื่องแบบอย่างหนึ่งของโจรยุคนั้น อันนี้ไม่ทราบว่าบรรดาเสือทั้งหลายเขาแต่งอย่างนั้นจริงๆ เพื่ออะไร หรือว่าเป็นเพียงการปรุงแต่งของผู้สร้างเท่านั้น บรรดาเสือในยุคนั้นเขาคงไม่นิยมการถ่ายภาพเก็บเอาไว้เป็นแน่ คงยากจะหาหลักฐานมายืนยัน

"พี่ดำ พ่อฝ้ายสั่งให้แต่งยูนิฟอร์ม"
อาวุธที่ใช้ ในภาพยนตร์จะเห็นบรรดาเสือทั้งหลายใช้อาวุธปืนสั้นและปืนยาวซึ่งส่วนใหญ่เห็นไม่ชัดว่าเป็นปืนรุ่นอะไรนอกจากปืนของเสือใบที่เป็นปืนเมาเซอร์ แต่จากที่พอจะทราบคร่าวๆ บรรดาเสือในยุคนั้นซึ่งเป็นช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 จะมีอาวุธสงครามดีๆ ที่ปล้นมาจากญี่ปุ่นบ้าง ซื้อหาในตลาดมืดบ้าง อันเป็นเหตุหนึ่งที่ทางการปราบพวกเขาได้ยากเพราะอาวุธด้อยกว่า ในภาพยนตร์เองก็ยังมีฉากการไปปล้นขบวนรถไฟขนอาวุธที่ญี่ปุ่นยึดได้จากเครื่องบินฝรั่งนำมาทิ้งร่มส่งให้เสรีไทย อาวุธที่ได้มาจึงน่าจะเป็นประเภทปืนกลทอมป์สัน คาร์บินเอ็มทู หรือปืนกลมือเอ็มทรี ฯลฯ แต่หลังจากนั้นเห็นมีฉากเดียวที่เสือมเหศวรถือปืนกลมือเอ็มทรีตอนกำลังไปเยี่ยมแม่และเมีย นอกนั้นเห็นบรรดาเสือทั้งหลายใช้ปืนพกปืนยาวธรรมดาเช่นเดียวกับฝ่ายตำรวจอยู่ตลอด
นอกจากนี้พอดีบังเอิญไปเจอ กระทู้เกี่ยวกับ สุพรรษา เนื่องภิรมย์ ในเว็บบอร์ดของมูลนิธิหนังไทยเข้า ในกระทู้นี้มีภาพประกอบที่สแกนมาจากหนังสือพิมพ์หรือวารสารอะไรสักเล่มในยุคนั้น ลงโฆษณาภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้ เนื้อเรื่องที่เขาเล่ามีเพี้ยนจากที่ผมเขียนอยู่บ้าง และภาพประกอบขาวดำของเขาอาจจะน่าดูกว่าภาพจากวิดีโอที่ผมนำมาลงก็ได้นะครับ เลยขอนำมาฝากไว้ด้วย ส่วนคลิปตอนท้ายมาจากรายการคุณพระช่วยที่มีคนอัพโหลดไว้ใน YouTube ครับ



ก่อนจากกันขอทิ้งท้ายไว้สักนิดว่า เรื่องราวเกี่ยวกับเสือร้ายทั้งหลายนี้ความจริงเป็นอีกหัวข้อที่น่าสนใจในประวัติศาสตร์ไทย แต่เท่าที่เขียนแนะนำและวิจารณ์ภาพยนตร์แนวนี้มา 3-4 เรื่องแล้ว ยังไม่ค่อยได้เจอหลักฐานเด็ดๆ นอกจากคำบอกเล่าที่ยังบอกเวลาคลุมเครืออยู่มาก ได้แต่หวังว่าอนาคตจะมีการนำเอกสารหลักฐานการปฏิบัติงานของตำรวจในช่วงนั้นออกมาเผยแพร่กันบ้างครับ สวัสดี
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์ อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
ชื่อภาษาไทย : สามเสือสุพรรณ
ผู้กำกำกับ : นัทที เจษฎา
ผู้แสดง : สรพงษ์ ชาตรี, พิศาล อัครเสนี, ไกรสร แสงอนันต์, สุพรรษา เนื่องภิรมย์, ธิติมา สังข์พิทักษ์, ส. อาสนจินดา, ลักษณ์ อภิชาติ, ไกรลาส เกรียงไกร ฯลฯ
ควรอ่านเพิ่มเติม
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ

คลิปจาก www.youtube.com
สำหรับเรื่องนี้เนื่องจากยังไม่พบ Trailer หรือหนังตัวอย่างใดๆ จึงขอนำคลิปรายการ "คุณพระช่วย" สัมภาษณ์อดีตสามเสือสุพรรณมาให้ชมแทนครับ
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์