webmaster@iseehistory.com
เวลาที่มีการวิจารณ์ภาพยนตร์ในชุด "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ของท่านมุ้ยมากๆ เข้า จะมีบางเสียงออกมาปกป้องประมาณว่า จะเอาอะไรกันมากในเมื่อชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า "ตำนาน" คำๆเดียวกันนี้จะมีอาถรรพณ์อะไรหรือเปล่าไม่ทราบ ทำให้ภาพยนตร์ในชุดนี้ค่อยๆ คลอดออกมาทีละภาคอย่างยาวนานจนถึงภาค 4 แล้วยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ ราวกับเป็นการตำน้ำพริกที่ "ตำนาน" เหลือเกินจนไม่รู้ว่าตำไปแล้วจะละลายแม่น้ำหรือไม่เพียงใด ครั้งนี้เรามาคุยกันถึงเรื่อง "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี" กันซะที เหตุที่ภาพยนตร์เรื่องนี้มีคำว่า "ยุทธนาวี" อยู่ในชื่อนั้น เข้าใจว่าเดิมทีจะให้ภาพยนตร์จบลงในภาคที่ 4 แล้วเลยตั้งชื่อว่า 3 ว่า "ยุทธนาวี" ให้คู่กับภาค 4 ที่ควรจะเป็นภาคจบว่า "ยุทธหัตถี" แต่เอาเข้าจริงๆ ยังไม่สามารถจบลงในภาค 4 ได้ แล้วในภาค 3 เหตุการณ์ "ยุทธนาวี" นั้นเด่นเพียงพอหรือไม่ มาเข้าเรื่องภาพยนตร์กันซะที ในครั้งนี้ขอที่จะไม่เล่าตามลำดับเหตุการณ์จริงๆ ในภาพยนตร์ แต่จะขอแยกเป็น 2 ประเด็นดังนี้ครับ
เหตุการณ์ที่ควรจะเป็นตามประวัติศาสตร์ เริ่มเรื่องมีการท้าวความเดิมในภาค 1 และ 2 ในแบบที่น่าจะกำลังพอดีๆ ทั้งกับคนที่เคยดูและไม่เคยดูทั้งภาคดังกล่าวมาก่อน แล้วมาเริ่มเรื่องจริงๆ ตอนที่สมเด็จพระนเรศวรนำทัพและครัวชาวไทยจากเมืองพม่ากลับมาถึงกำแพงกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2126 สมเด็จพระนเรศวรได้นำมณีจันทร์ไปถวายตัวกับพระวิสุทธิกษัตรีพระมารดา และทูลเหตุการณ์ต่างๆ ให้พระราชบิดาและพระราชมารดาทรงทราบ ด้านพระเจ้ากรุงหงสาวดีนันทบุเรงซึ่งกำลังรบติดพันอยู่กับพระเจ้าอังวะตะโดเมงสอ ทราบข่าวการประกาศอิสรภาพของไทย ได้มีพระบัญชาให้พระยาพะสิมยกทัพไปยังอโยธยา สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบข่าวศึกจึงได้ไปกราบทูลพระบิดาถึงเรื่องการศึก โดยมีพระดำริให้เทครัวหัวเมืองเหนือเข้ามาในกำแพงเมืองอโยธยา แต่ระหว่างที่รอทำศึกอยู่นี้ก็พอดีเกิดเหตุอันเป็นที่มาของชื่อเรื่องในภาคนี้ คือ สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงระแวงพระยาจีนจันตุ จึงโปรดให้พระราชมนูทำหน้าที่สืบข่าว จนทราบว่าพระยาจีนจันตุได้พยายามลอบส่งข่าวไปยังพระยาละแวกนายเก่าของตนที่กัมพูชา เมื่อพระยาจีนจันตุรู้ตัวก็ลงเรือสำเภาหนี สมเด็จพระนเรศวรจึงยกทัพเรือออกติดตาม ซึ่งพระยาจีนจันตุได้พยายามทุกวิถีทางที่จะหนีจนกระทั่งพ้น รายละเอียดการสู้รบนั้นดูกันจากในภาพยนตร์ก็แล้วกันครับ เมื่อกลับถึงเมืองละแวก พระยาจีนจันตุได้ทูลข้อราชการต่างๆ ตามที่ได้ทราบพร้อมทั้งเสนอแนะให้พระยาละแวกผูกมิตรกับอโยธยา นักพระสัฏฐาหรือพระยาละแวกมีบัญชาให้พระอนุชาคือพระศรีสุพรรณนำทัพไปสมทบกับทัพของสมเด็จพระนเรศวรในการต่อสู้กับกองทัพพม่าที่กำลังยกมาทั้งที่พระศรีสุพรรณไม่ค่อยจะเชื่อในพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนเรศวรตามที่พระยาจีนจันตุทูลสักเท่าไหร่
พระยาจีนจันตุ
กระบวนเรือรบที่ออกติดตามพระยาจีนจันตุ
เรือสำเภาของพระยาจีนจันตุ
พระยาพะสิม
กองเรือไทยระดมยิงกองทัพพระยาพะสิมแตกพ่ายไป
ด้านอโยธยานั้น สมเด็จพระนเรศวรได้โปรดฯให้พระยาจักรีศรีองครักษ์กับพระยาพระคลังยกทัพเรือไปสกัดพระยาพะสิมที่กำลังเดินทัพเลียบลำน้ำมา โดยใช้ปืนเรือสำเภาระดมยิงจนกระทั่งทัพพระยาพะสิมต้องถอยร่นกลับไป จากนั้นสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถได้ยกทัพไปรบกับกองทัพของพระเจ้าเชียงใหม่ โดยทรงวางแผนล่อพระเจ้าเชียงใหม่ให้ออกจากค่ายบ้านสะเกษมายังทุ่งบางแก้วที่ได้ทรงวางกำลังไว้เพื่อการซุ่มโจมตี ซึ่งหน้าที่ในการนำทัพหน้าไปล่อกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ก็ตกเป็นของพระราชมนูซึ่งพอถึงเวลาเข้าจริงๆ พระราชมนูเกิดรบติดพันคิดว่าตัวเองเป็นต่อจนเกือบจะไม่ยอมถอยทัพล่อพระเจ้าเชียงใหม่ลงมาตามแผน จนสมเด็จพระนเรศวรต้องตรัสกับพระยาราชวังสันว่าถ้าพระราชมนูไม่ยอมถอยให้ตัดศีรษะมาถวาย พระราชมนูจึงยอมถอยทัพลงมา แล้วพระเจ้าเชียงใหม่ก็ถูกกองทัพสมเด็จพระนเรศวรซุ่มโจมตีพ่ายแพ้ไปตามระเบียบ
ส่วนหนึ่งของฉากการรบกับพระเจ้าเชียงใหม่
อันที่จริงได้มีผู้เปรียบเทียบเรื่องราวในภาพยนตร์ภาคนี้กับหลักฐานประวัติศาสตร์ต่างๆ ไว้อย่างละเอียดลออแล้ว คือท่านผู้ใช้นามแฝงว่า "ศรีสรรเพชญ์ (Slight06)" ใน pantip.com ผู้สนใจสามารถตามไปอ่านเพิ่มเติมกันได้ที่ http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2011/10/K11158910/K11158910.html สำหรับผมจะมีประเด็นของตัวเองต่างหากในตอนท้ายครับ
เรื่องราวของตัวละครที่แต่งเติมขึ้นมา ความรักระหว่างพระองค์ดำหรือสมเด็จพระนเรศวรกับมณีจันทร์ที่ดูเหมือนจะราบรื่นก็มามีปัญหาหยุมหยิมอยู่บ้าง จากการที่พระวิสุทธิกษัตริย์พระมารดาได้ให้มณีจันทร์ไปอยู่กับท้าวโสภา ซึ่งแม่นางผู้นี้เธอได้แสดงอาการรังเกียจความเป็นมอญของมณีจันทร์อย่างออกหน้าออกตาแบบไม่ยอมแยกแยะระหว่างมอญกับพม่า และทั้งๆ ที่รู้ว่ามณีจันทร์เป็นที่หมายปองกับพระองค์ดำ
พระองค์ดำนำมณีจันทร์มาถวายงานรับใช้พระมารดา
เรื่องราวทางด้านของพระราชมนูหรือไอ้บุญทิ้งซึ่งเป็นที่วิจารณ์กันมาแต่ภาคก่อนว่าบทบาทจะมากเกินจนจะกลายเป็นตำนานไอ้บุญทิ้งหรือเปล่า ในภาคนี้กลายเป็นยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ กลับ Go so big! ไปกันใหญ่จากภาคก่อนที่อุตส่าทุ่มเทจนเหมือนจะได้ครองรักกับแม่นางเลอขิ่นแห่งเมืองคัง พอมาถึงอโยธยาเธอกลับได้มาพบกับ "คู่รักเก่า" เสือฟ้า อย่างไม่คาดฝัน แล้วจากนั้นพระราชมนูกับเลอขิ่นเลยได้แต่มองกันไปมองกันมาแบบไม่ค่อยจะแฮปปี้โดยไม่ได้พูดอะไรกันอีกสักคำ ทั้งที่ในตอนรบกับพระเจ้าเชียงใหม่ในตอนท้ายพรรคพวกของเสือฟ้าและเลอขิ่นได้ร่วมอยู่ในทัพหน้าของพระราชมนูแท้ๆ
เสือฟ้ากับเลอขิ่นหลังจากศึกพระเจ้าเชียงใหม่
ที่เหมือนจะเป็นการทดแทนปัญหาความรัก ได้มีการเปิดตัวตัวละครที่ประมาณว่าเป็นพระราชมนูแฟนคลับเพิ่มขึ้นมา รายแรกเป็นคนบ้าใบ้ชื่อขามซึ่งเคยเป็นทาสเล่นละครของหลวงคนหนึ่ง ได้มาช่วยพระราชมนูไว้ในขณะสวมบทเชอร์ล็อคโฮมเมืองไทยตามสืบเรื่องราวของพระยาจีนจันตุแต่เกิดอาการเมาฝิ่นจนเกือบจะพลาดท่าเสียทีลูกน้องของพระยาจีนฯเข้า พระราชมนูตอบแทนด้วยการไถ่ตัวขามให้พ้นจากการเป็นทาส แต่ขามต้องการมากกว่านั้นคืออยากจะเป็นทหารในสังกัดท่านขุนศึกคนเก่งด้วย แม้จะปฏิเสธแล้วแต่ขามก็ยังตามพระราชมนูไปในการลาดตระเวณต่อสู้กับกองสอดแนมของพม่า ซึ่งก็ช่วยเหลือการศึกได้พอสมควร พระราชมนูไม่รู้จะทำยังไงเลยต้องพาขามไปฝากไว้กับหลวงตาพระมหาเถรคันฉ่องไว้ก่อน
ขามมาพบพระราชมนูเพื่อขอเป็นทหาร
แฟนคลับรายถัดมาเป็นหญิงชื่อรัตนวดี รับบทโดยคุณจั๊กจั่นคนสวย เธอได้ทราบชื่อเสียงความเก่งกล้าของพระราชมนูแล้วก็เกิดอาการชื่นชอบถึงขนาดชวนอังกาบเพื่อนที่ออกอาการทอมบอยให้ไปแอบดูทหารพม่าด้วยกัน ซึ่งที่จริงคงจะหาเรื่องไปพบหน้าพระราชมนูมากกว่า แต่ทางอังกาบกลับไม่มีท่าทีชื่นชมพระราชมนูสักเท่าไหร่ เมื่อตามไปเจอกันที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งก็พอดีเกิดการปะทะระหว่างทหารของพระราชมนูกับกองสอดแนมของพม่าเข้า แล้วมีกระสุนปืนลูกหลงมาถูกควาญช้างของรัตนวดีและอังกาบตายคาที่ แล้วช้างก็พาสองสาววิ่งเตลิดไปจนพระราชมนูต้องตามไปช่วยจนตัวเองถูกช้างลากมอมแมมไปทั้งตัวกว่าแม่นางรัตนวดีเธอจะลองเสี่ยงใช้ขอสับช้างให้หยุดได้สำเร็จ เลยไม่รู้ว่าใครช่วยใครกันแน่ และการปรากฏตัวของรัตนวดีเลยเป็นปริศนาสำหรับตอนต่อๆ ไปว่า แล้วพระราชมนูจะเลิกกับเลอขิ่นมารักกับแฟนคลับรายนี้หรืออย่างไร
อังกาบกับรัตนวดีมาเจอพระราชมนู
ข้อสังเกตส่วนตัวของผมสำหรับภาพยนตร์ในภาคนี้มีดังนี้ครับ
การทำยุทธนาวีสกัดพระยาจีนจันตุ เรื่องนี้ผมเคยพูดถึงในบทความของภาค 2 มาแล้วว่า เหตุการณ์นี้เกิดก่อนการไปตีเมืองคัง การที่ผู้สร้างนำมาบรรจุในภาค 3 นี้ เหมือนพึ่งคิดจะเอาเรื่องทางฝ่ายเขมรมาใส่ไว้ ซึ่งถ้าจะไม่ให้ผิดลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อาจจะเริ่มส่วนนี้จากการที่ทูตเขมรเข้ามาแล้วให้พระนเรศวรนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ในอดีตก็ได้ และหากจะถามว่าเหตุการณ์จริงจะเป็นยุทธนาวีที่ยิ่งใหญ่อลังการอย่างในภาพยนตร์หรือไม่ ผมขอคัดข้อความจาก "พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล พิมพ์ครั้งที่ 2 โดย สำนักพิมพ์โฆษิต เมื่อพ.ศ. 2549 หน้า 99 มาให้ท่านอ่านเปรียบเทียบกันครับ
"ครั้นถึง ณ วันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้นสิบค่ำ ปีระกา ตรีศก เพลาค่ำ ประมาณสองนาฬิกา พระยาจีนจันตุก็พาครัวลงสำเภาหนีล่องลงไป. ขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า เสด็จลงมาแต่เมืองพิษณุโลกเสด็จอยู่ในวังใหม่. สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าก็เสด็จยกทัพเรือตามพระยาจีนจันตุลงไปในเพลากลางคืนนั้น แล้วตรัสให้เรือประตูเรือกัน แลเรือท้าวพระยาทั้งหลายเข้าล้อมสำเภาพระยาจีนจันตุ แลได้รบพุ่งกันเป็นสามารถ. พระยาจีนจันตุก็ให้โล้สำเภากลางน้ำรบต้านทานรอลงไป สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า ก็ตรัสให้เอาเรือคู่เรือกันเข้าจับจนท้ายสำเภาพระจาจีนจันตุ. ให้พลทหารปีนสำเภาขึ้นไปแล้าเอาเรือพระที่นั่งหนุนเข้าไปให้ชิดสำเภา แล้วทรงปืนนกสับยิงถูกจีนผู้ใหญ่ตายสามคน. พระยาจีนจันตุก็ยิงปืนกลับมาต้องวางปืนต้นอินทรนั้นแตก. พลทหารข้าหลวงจะปีนขึ้นสำเภามิได้. พระยาจีนจันตุก็ให้โล้สำเภารุดหนีลงไป. สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า ก็เสด็จตามรบพุ่งลงไปถึงเมืองธนบุรี พระยาจีนจันตุ ก็ให้เร่งโล้สำเภาออกไปพ้นปากน้ำตกลึก. ฝ่ายสมเด็จพระราชบิดาเสด็จหนุนทัพสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า ลงไปถึงเมืองพระประแดง พอสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า ยกกลับขึ้นมาพบสมเด็จพระราชบิดาทูลการทั้งปวงให้ทราบ. สมเด็จพระราชบิดากับสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า ก็เสด็จคืนมายังพระนคร."
ในที่นี้ขอเน้นเพียงว่า การที่พระยาจีนจันตุหนีไปได้นั้น ไม่ได้เกิดจากการที่สมเด็จพระเอกาทศรถเอาเรือพระที่นั่งมาขวางวิถีกระสุนช่วยพระเชษฐาอย่างในภาพยนตร์ ในส่วนอื่นขอเชิญเปรียบเทียบกันเอาเองครับ
อีกเหตุการณ์สำคัญคือเรื่องของ การซุ่มโจมตีทัพพระเจ้าเชียงใหม่ นั้น มีบล็อกเกอร์ท่านหนึ่งบ่นไว้ตรงใจผมเหลือเกิน (แต่ประเด็นอื่นไม่ค่อยถูกใจเท่าไหร่ เลยไม่ได้ทำลิงก์ไว้ข้างท้าย) คือในภาพยนตร์ได้สร้างฉากวางแผนอย่างอลังการประมาณว่าแผนการยุทธครั้งนี้สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงวางแผนเตรียมการไว้อย่างรอบคอบ โดยพระราชมนูก็ร่วมประชุมยุทธการอยู่ด้วย ซึ่งเป็นการเสียอรรถรสในชมแทนที่จะทำให้ได้เซอร์ไพรส์กับการพลิกสถานการณ์การรบ และไม่สมเหตุสมผลกับการที่พระราชมนูจะไม่ยอมถอยทัพโดยที่ตัวเองมีส่วนรับรู้มาแต่แรก เหตุการณ์ที่น่าจะเป็นจริงผมต้องขอพึ่งพระราชพงศาวดารฉบับหมอบรัดเลย์อีกทีครับ ในหน้า 121-122 เล่าไว้ดังนี้ครับ
"ครั้นถึงวันพฤหัส เดือนห้า แรมสองค่ำ เพลาตีสิบทุ่มห้าบาท (พระเจ้าเชียงใหม่)ก็ยกลงมา. ขณะเมื่อพระเจ้าเชียงใหม่คิดเตรียมทัพจะลงตีนั้น. ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า ตรัสแก่ท้าวพระยามุขมนตรีว่า เราตีทัพเชียงหใม่แตกขึ้นไป เห็นประหนึ่งว่าจะยกเพิ่มเติมกันมาอีก. ถึงสองวันสามวันแล้วก็มิได้ยกลงมา. ณ วันพฤหัส เดือนห้า แรมสองค่ำ เราจะยกขึ้นไปให้ทหารยั่วดูสักเพลาหนึ่ง. ท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวง ก็เห็นพร้อมโดยพระราชบริหาร. จึงให้พระราชมานูถือพลหมื่นหนึ่ง ขี่ช้างต้นพลายพัทธกรร ช้างนายทัพนายกองขี่ยี่สิบช้าง มีธงสามชายสำหรับทุกตัวช้างเป็นทัพหน้าชั้นหนึ่ง ให้พระยาสุโขทัยขี่ช้างต้นพลายสังหารคชสีห์. ช้างนายทัพนายกองขี่ยี่สิบช้าง มีธงสามชายสำหรับทุกตัวช้างเป็นทัพหน้าชั้นสอง. ให้ยกในเดือนห้า แรมสองค่ำ เพลาบ่าย ให้ตั้งอยู่ต้นทาง. ครั้นเวลาตีสิบเอ็ด พระนเรศวรเป็นเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชทรงเครื่องสิริราชปิลันทนาลังการยุทธ. สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าทรงช้างต้นพลายมงคลทวีปเป็นพระคชาธาร สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงช้างต้นเจ้าพระยาปราบไตรจักรเป็นพระคชาธาร. พร้อมช้างดั้นกันแทรกแซงล้อมวังพังคาร้อยหนึ่ง กับพลทหารสามหมื่นก็เสด็จพยุหยาตราทัพโดยสถลมารควิถี. พอแสงทินกรเรื่อเรืองโพยม ทัพหน้าพระเจ้าเชียงใหม่กับทัพพระราชามานูปะทะรบกันตำบลบางแก้ว ทัพหลวงเสด็จถึงตำบลบ้านแพ ได้ยินเสียงปืนรบ ก็มิได้ยกหนุนพระราชมานูขึ้นไป เข้าซุ่มทัพอยู่ในป่าจิก ป่ากะทุ่มฟากทางตะวันตก. จึงใช้ให้หมื่นทิพรักษากับม้าเร็วสิบม้าขึ้นไปสั่งพระราชมานูให้ลาดล่าลงมาถึงทัพหลวง. พระราชมานูก็บอกลงมาให้กราบทูลว่า ศึกได้รบติดพันกันอยู่แล้ว ถ้าถอยก็จะแตก. พระราชมานูก็มิได้ถอย สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าก็ให้หมื่นทิพรักษาขึ้นไปสั่งอีก. พระราชมานูก็มิได้ถอย. หมื่นทิพรักษาลงมากราบทูลก็ทรงพระโกรธตรัสสั่งว่า ให้กลับขึ้นไปอีกครั้งหนึ่ง ถ้ามันยังขัดมิถอยให้เอาศีรษะลงมาเถิด หมื่นทิพรักษาก็กลับขึ้นไปแจ้งตามรับสั่ง. พระราชมานูแจ้งรับสั่งก็ตกใจ. ให้โบกฝ่ายธงช้างเป็นสำคัญ. พระยาสุโขทัยแลทหารทั้งปวงเห็นดังนั้น ก็ขยายลาดถอยลงมา. ฝ่ายทหารเชียงใหม่สำคัญว่าแตกก็โห่ร้องไล่รุกโจมตีลงมา. ทหารม้าก็วางม้าทหารช้างขับช้าง. พระเจ้าเชียงใหม่ดีพระทัยก็เร่งพลขับช้างที่นั่งตามปนกองม้าหลังมามิเป็นขบวน จึงให้ลั่นฆ้องโบกธงเป็นสำคัญ. สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชก็ขับพระคชาธารแลรี้พลช้างม้าโยธาหาญ เข้าย่อกลางทัพข้าศึกจนถึงอาวุธสั้น. ฝายพระราชมานู พระยาสุโขทัยเห็นดังนั้น ก็ต้อนพลเข้าตีขนาบขึ้นมา. ทัพพระเจ้าเชียงใหม่ก็แตกพ่ายไป."
ที่จริงยังมีรายละเอียดมากกว่านี้แต่เกรงจะเยิ่นเย้อเกินไป คือต้องการให้เห็นว่าแผนการล่อทัพพระเจ้าเชียงใหม่เข้าสู่กับดักในครั้งนั้นเป็นพระราชปฏิภาณของสมเด็จพระนเรศวรครับ ไม่ใช่การวางแผนไว้แต่แรก
เรื่องการแต่งเติมตัวละครและเหตุการณ์อะไรต่อมิอะไรขึ้นมาเพื่อความบันเทิงนั้น ธรรมชาติของภาพยนตร์บันเทิงก็ควรทำแต่พอดีๆ พอไม่ให้คนเบื่อส่วนที่เป็นสาระ แต่พอมากเกินไปแล้ว การเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ควรจะเป็นจุดประสงค์หลักก็ย่อมจะลางเลือนไป ถึงขนาดว่าในโรงหนังจบภาค 4 ไปแล้วยังไม่มีวี่แววว่าจะ "ชนช้าง" กันเมื่อไหร่
Killing Fields แบบไทยๆ
ทัศนคติต่อประเทศเพื่อนบ้าน เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ยิ่งว่าเหมือนยิ่งยุ จากภาคก่อนที่เป็นการรบระหว่างไทยกับพม่า มาในภาคนี้มีเขมรเพิ่มเข้ามาในภาพของพันธมิตรที่ไม่จริงใจ ทางฝั่งพม่าเจ้าเก่านั้นก็ยังคงเข่นฆ่าตาสีตาสาชาวไทยจนกลาดเกลื่อนไปหมด ไม่รู้ว่าทีมผู้สร้างอินกับหนัง Killing Fields มากไปหรือเปล่า ดูราวกับพม่าจะโหดกว่าเขมรแดงหรือนาซีซะอีก ทางฝ่ายเขมรเล่าก็เหมือนส่งทัพมาเพียงเพื่อฉวยโอกาสมาเก็บกวาดทรัพย์สินพม่าโดยไม่ได้ช่วยอะไรเป็นเรื่องเป็นราว แน่นอนครับว่าประเทศไหนสร้างหนังประวัติศาสตร์สงครามขึ้นมาก็ต้องให้ประเทศอื่นเป็นผู้ร้าย ประเด็นนี้ผู้ชมเว็บ IseeHistory.com บางท่านได้เคยแสดงความเห็นที่ตรงใจผมว่าในปัจจุบันเรายังต้องอยู่ร่วมกับชาติเหล่านี้ในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน และเรื่องราวความขัดแย้งต่างๆ ในอดีตที่จะเอามานำเสนอนั้น ควรจะอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง เรื่องความโหดร้ายของทหารพม่าในฐานะผู้รุกรานนั้นย่อมมีแน่นอน แต่มีหลักฐานประวัติศาสตร์อันใดครับที่บ่งบอกว่าพม่าฆ่าคนไทยตายกลาดเกลื่อนขนาดนั้น มีแต่จะเน้นเรื่องการกวาดต้อนผู้คนไปเป็นกำลังของอาณาจักรตนซะมากกว่า ทางฝั่งเขมรนั้น "ศรีสรรเพชญ์ (Slight06)" ผู้ตั้งกระทู้ใน pantip.com ที่ผมกล่าวถึงข้างต้น ได้กล่าวไว้ในความเห็นที่ 61 ดังนี้ครับ
เมื่อเราดูหนังเราจะเห็นภาพของพระศรีสุริโยพรรณที่ไม่ช่วยอะไรเลย จ้องแต่จะฮุบสมบัติแล้วก็พูดจาเหน็บแนม แต่ในความเป็นจริงมีข้อความปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)ว่า
"ฝ่ายพระศรีสุพรรณมาธิราช น้องชายพระเจ้าละแวก ยกกองทัพมาช่วยการสงครามตามเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไป ได้ให้ทัพเขมรช่วยรบพุ่งติดตามลอบลัดสกัดจับข้าศึกที่แตกพลัดพวกเพื่อนเลื่อยล้านั้นได้เป็นอันมากมาถวาย..."
ลองคิดกันเอากันเองเองนะครับ
นักพระเศรษฐา เอ๊ย! เศรษฐา ศิระฉายา ในบท นักพระสัฏฐา หรือ พระยาละแวก
(ซ้าย) วุฒิ คงคาเขต ดิลก ทองวัฒนา ในบท พระศรีสุพรรณมาธิราช พระอนุชาของพระยาละแวก
ในมุมมองของผมนั้น ใครจะรักจะเกลียดเขมรอย่างไรคงบังคับใจกันไม่ได้ แต่ความรู้สึกเช่นว่านั้นควรจะอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง (Fact) ทางประวัติศาสตร์ จากที่พยายามพลิกหาจากพระราชพงศาวดารฉบับหมอบรัดเลย์ หน้า 124 มีกล่าวถึงเรื่องระหองระแหงระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระศรีสุพรรณอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่เรื่องการพูดเหน็บแนมอย่างในภาพยนตร์นะครับ เรื่องเกิดขึ้นหลังจากเสร็จศึกพระเจ้าเชียงใหม่หมาดๆ ดังนี้ครับ
ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันอังคาร เดือนห้า แรมเจ็ดค่ำ เพลาบ่ายสามโมง สมเด็จพระราชบิดา ก็เลิกทัพคืนเข้าพระนครโดยชลมารค. ครั้น ณ วันศุกร์ เดือนห้า แรมสิบค่ำ กองทัพซึ่งไปตามพระเจ้าเชียงใหม่กลับมาถึงสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า กับพระอนุชาธิราชก็เลิกทัพ เสด็จด้วยพระชลวิมานพร้อมด้วยดั้งกันนำตาม. ครั้นถึงตำบลโพธิ์สามต้นทอดพระเนตรเห็นเรือพระศรีสุพรรณมาธิราชกับเรือนายทัพนายกองเขมรทั้งปวง จอดอยู่ ณ ฝั่งฟากตะวันตก แต่พระศรีสุพรรณนามาธิราชนั้น มิได้หมอบนั่งดูเสด็จอยู่ ก็ทรงพระพิโรธให้รอเรือพระที่นั่งไว้. แล้วดำรัสให้หลวงพิไชยบุรินทราตัดเอาศีรษะลาวเชลยซึ่งจับได้นั้นไปเสียบไว้ตรงเรือพระศรีสุพรรณมาธิราช หลวงพิไชยบุรินทราก็ไปทำโดยรับสั่ง. สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า กับสมเด็จพระอนุชาธิราชก็เสด็จเข้าพระนคร. ฝ่ายพระศรีสุพรรณมาธิราชเห็นดังนั้น ก็น้อยพระทัยคิดอาฆาตมิได้ว่าประการใด ก็ล่องเรือมาที่อยู่ ครั้นรุ่งขึ้นสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพร้อมด้วยท้าวพระยาเสนาพฤฒามาตย์ทั้งปวง. จึงดำรัสว่า ซึ่งพระยาละแวกให้พระศรีสุพรรณมาธิราชผู้เป็นอนุชา เข้ามาช่วยงานพระราชสงครามจนเสร็จนั้นขอบใจ. ให้พระราชทานพานทองคำ กับสนองพระองค์อย่างเทศอย่างน้อย. แลนายทัพนายกองเขมรทั้งปวงนั้น ก็พระราชทานเสื้อผ้าโดยสมควร. พระศรีสุพรรณมาธิราชกับพระยาเขมรทั้งปวงกราบถวายบังคมลา ก็เลิกทัพกลับไปยังพระนคร.
สรุปว่าสมเด็จพระนเรศวรท่านไม่พอพระทัยที่พระศรีสุพรรณอยู่บ้างที่ไม่แสดงความเคารพ เทียบกับกองทัพสมัยใหม่ก็ประมาณว่าเห็นผู้บังคับบัญชาแล้วไม่ตะเบ๊ะอะไรประมาณนั้น แต่ลงท้ายก็ยังพระราชทานรางวัลให้ในฐานะที่ได้ช่วยงานศึกครั้งนั้น ซึ่งถ้าหากพระศรีสุพรรณประพฤติองค์แย่มากๆ อย่างในภาพยนตร์แล้ว น่ากลัวว่าจะโดน "ปฐมกรรม" ซะก่อนเป็นแน่ ส่วนเรื่องราวระหว่างไทยกับเขมรต่อจากนี้คงจะเกินกว่าขอบเขตของบทความนี้ ไว้โอกาสหน้าจะนำหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาเล่าสู่กันฟังเพิ่มเติมครับ
สำหรับการพูดคุยเรื่อง "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี" คงต้องจบลงเท่านี้ เรื่องของภาค 4 นั้น ขณะที่จบบทความนี้ผมยังไม่มีโอกาสได้ชม แต่มีคนที่ได้ดูในโรงภาพยนตร์มา "ฟ้อง" ว่าในตอนจบภาคนั้นมีทิ้งท้ายว่าพระราชมนูถูกแทงแล้วให้คนดูลุ้นกันว่าตายไม่ตาย ซึ่งคนที่เคยอ่านประวัติศาสตร์มาย่อมรู้ดีว่าไม่มีเหตุการณ์เช่นว่าซักกะหน่อย พบกันอีกทีเมื่อแผ่นของภาค 4 ออกวางจำหน่ายครับ ระหว่างนี้เชิญอ่านกระทู้ของ "ศรีสรรเพชญ์ (Slight06)" (อีกที) ที่ http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2011/08/K10948335/K10948335.html ครับ
คำคมชวนคิด
- "สงครามมิเคยมีมิตรแท้หรือศัตรูที่จีรัง" พระยาจีนจันตุทูลพระยาละแวกและพระศรีสุพรรณ
- "ยากนักกว่าจะได้อิสรภาพคืนมา แต่เจ้ารู้หรือไม่ว่า ยังมีการที่ยากยิ่งไปกว่า ... ยากยิ่งนักที่เราจะรักษาอิสรภาพเอาไว้" พระนเรศวร ตรัสกับ พระเอกาทศรถ
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
ชื่อเรื่องภาษาไทย : ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี
ผู้อำนวยการสร้าง : หม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา, คุณากร เศรษฐี
ผู้กำกำกับ : หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
ผู้เขียนบท : หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล, ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์
ผู้แสดง : (เฉพาะภาคนี้)
- สมเด็จพระนเรศวรมหาราช รับบทโดย พ.ท.วันชนะ สวัสดี
- สมเด็จพระเอกาทศรถ รับบทโดย พ.ท.วินธัย สุวารี
- มณีจันทร์ รับบทโดย ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ
- พระราชมนู รับบทโดย นพชัย ชัยนาม
- พระเจ้านันทบุเรง รับบทโดย จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์
- มังกะยอชวา รับบทโดย นภัสกร มิตรเอม
- พระยาละแวก รับบทโดย เศรษฐา ศิระฉายา
- พระศรีสุพรรณราชาธิราช รับบทโดย ดิลก ทองวัฒนา
- เล่อขิ่น รับบทโดย อินทิรา เจริญปุระ
- เสือหาญฟ้า รับบทโดย ดอม เหตระกูล
- รัตนาวดี รับบทโดย อคัมย์สิริ สุวรรณศุข
- อังกาบ รับบทโดย ศิรพันธ์ วัฒนจินดา
- พระยาจีนจันตุ รับบทโดย ชูชาติ ทรัพย์สุทธิพร
- นรธาเมงสอ พระเจ้าเชียงใหม่ รับบทโดย ชลิต เฟื่องอารมย์
- ไอ้ขาม รับบทโดย ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ
ควรอ่านเพิ่มเติม
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ
ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก www.youtube.com
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์