dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



พระนเรศวรฯ กับเมืองละแวก ใน พงศาวดารละแวก ฉะบับแปล จ.ศ. ๑๑๗๐ article
วันที่ 21/04/2012   10:43:01

เมื่อตอนที่พูดคุยเกี่ยวกับภาพยนตร์ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี”  ในตอนท้ายๆ ได้กล่าวถึงเรื่องราวของพระศรีสุพรรณมาธิราช พระอนุชาของนักพระสัฏฐาพระเจ้าแผ่นดินกรุงกัมพูชาในยุคนั้น หรือที่เรารู้จักกันดีว่า “พระยาละแวก” ว่าที่จริงพระอนุชากรุงกัมพูชาผู้นี้ได้ช่วยเหลือกองทัพไทยในการรบกับพระเจ้าเชียงใหม่อยู่พอประมาณ ไม่ใช่เอาแต่พูดเหน็บแนมแล้วรอคอยจังหวะที่จะฮุบสมบัติเชลยดังที่ปรากฏในภาพยนตร์ ทีนี้หากจะให้ผมเล่าเรื่องระหว่างไทยกับเขมรในช่วงนั้นโดยสมบูรณ์ก็ยังไม่พร้อมสักเท่าไหร่ ในที่นี้ขอเชิญชวนให้ลองอ่านข้อความจากหลักฐานประวัติศาสตร์สักชิ้นหนึ่งก่อนครับ

หลักฐานที่ว่านี้มีชื่อเรีกว่า “พงศาวดารละแวก ฉะบับแปล จ.ศ. ๑๑๗๐” ตีพิมพ์รวมอยู่ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๑ ซึ่ง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โปรดเกล้า ฯ ให้ตีพิมพ์ ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑ หนังสือในชุด “ประชุมพงศาวดาร” นี้ จะตีพิมพ์อีกกี่ครั้งก็ไม่ทราบได้ ฉบับที่ผมมีโอกาสได้อ่านที่หอสมุดแห่งชาตินั้น เป็นฉบับขององค์การค้าคุรุสภา ครับ ณ เวลานี้ยังไม่มีเวลาได้ไปดูที่ร้านศึกษาภัณฑ์สักทีว่าหนังสือชุดนี้จะยังมีขายอยู่หรือเปล่า โชคดีของผู้สนใจประวัติศาสตร์ในยุคไอทีนี้ว่าได้มีผู้นำเรื่องราวในหนังสือชุดนี้มาเผยแพร่ไว้ที่ http://th.wikisource.org/wiki/ประชุมพงศาวดาร ซึ่งผมเคยดูผ่านๆ พบว่ายังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่อย่างน้อย “พงศาวดารละแวก ฉะบับแปล จ.ศ. ๑๑๗๐” ลงไว้ครบถ้วนแล้วครับ

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงกล่าวถึง “พงศาวดารละแวก ฉะบับแปล จ.ศ. ๑๑๗๐” ไว้ในคำนำของ “ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๑” ไว้ว่า

หนังสือพงศาวดารละแวกฉะบับแปล จ.ศ. ๑๑๗๐ ต้นฉะบับเป็นสมุดไทยตัวเขียน หอสมุดแห่งชาติมีฉะบับรักษาอยู่แต่เดิมเพียงเล่ม ๑ กับเล่ม ๓ ส่วนเล่ม ๒ ขาดไป มาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ กรมศิลปากร ได้รับโอนหนังสือสมุดไทยบางส่วนมาเก็บรักษาไว้ยังหอสมุดแห่งชาติ จึง ไปได้พงศาวดารเขมรฉะบับแปล จ.ศ. ๑๑๗๐ เล่ม ๒ ความต่อกันกับเล่ม ๑ และเล่ม ๓ ที่มีอยู่แล้วได้พอดี นับว่าได้ต้นฉะบับพระราช พงศาวดารของเก่า ซึ่งยังไม่เคยได้ตีพิมพ์อีกเรื่องหนึ่ง ควรเป็นที่ยินดีของ นักศึกษาทางประวัติศาสตรไม่น้อย พระราชพงศาวดารเขมรฉะบับนี้ แปล จากต้นฉะบับภาษาเขมรเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๑ เป็นปีที่ ๒๗ ในรัชชกาลที่ ๑ กล่าวความตั้งแต่ พ.ศ. ๑๑๑๘ ถึง พ.ศ. ๒๑๖๑ สังเกตข้อความที่มี กล่าวไว้ในนั้น เป็นเรื่องว่าด้วยพระราชพิธีต่าง ๆ ที่มีอยู่ในประเทศเขมรสมัยนั้นทำนองจะเป็นพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จะใคร่ทรงทราบระบอบแบบบุราณราชประเพณีของเขมรเพื่อมาสอบกับของสยาม เพราะประเทศสยามยุคก่อนหน้านั้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา สรรพตำหรับตำราที่เป็นแบบแผน คงเป็นอันตรายถูกข้าศึกเผาผลาญสูญหายไปเป็นอันมาก ในการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้แปลพระราชพงศาวดารเขมรฉะบับนี้ขึ้น ก็คงมีพระราชประสงค์ดังกล่าวมาข้างต้น

เรื่องราวของ “พงศาวดารละแวก ฉะบับแปล จ.ศ. ๑๑๗๐” โดยย่อมีอยู่ว่า ที่กัมพูชาสมัยหนึ่งมีกษัตริย์ ๒ องค์เสวยราชย์อยู่ ณ เมืองละแวก คือ สมเด็จพระราชโองกาาร พระบรมราชารามาธิราชธิบดี (นักพระสัฏฐานั่นเอง แต่ในพงศาวดารนี้ไม่ได้เรียกชื่อดังกล่าวเลย) กับพระอนุชา สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณ แล้วกล่าวถึงพระนามพระมเหสี พระราชบุตรพระราชธิดา อย่างยืดยาว แล้วก็มากล่าวถึงทางกรุงศรีอยุธยาว่าจู่ๆ สมเด็จพระนเรศวรฯ ก็มีพระราชประสงค์จะตีกัมพูชา ก็โปรดให้ราชบุรุษ ๒ คนซึ่งรู้เวทย์มนตร์เดินทางไปละแวกโดยบวชเป็นพระเดินทางผ่านเมืองลาวย้อนกลับมาละแวก ทั้งสองไปอาศัยอยู่กับพระสังฆราชแล้วตั้งชื่อตัวเองว่า สุรปัญโญ กับ ติกปัญโญ จากนั้นได้ “วางกฤตยาคม” ให้พระบรมราชาธิบดีหรือพระยาละแวกเสียพระสติ เสพสุราบานทั้งวันทั้งคืน ต่อมาเมื่อพระมเหสีทรงพระประชวน พระยาละแวกก็ทรงเชื่อคำยุยงของ สุรปัญโญ กับ ติกปัญโญ ว่าให้รักษาด้วยการเผาพระพุทธรูป ๔ พระองค์ในพระวิหารจัตุรมุข จนกระทั่งเมื่อพระภิกษุทั้งสองเห็นว่าเป็นโอกาสแล้วจึงมีหนังสือไปกราบทูลสมเด็จพระนเรศวรให้ยกทัพมาตีเมืองละแวก แรกๆ พระยาละแวก็ไม่ได้คิดจะสู้รบเป็นเรื่องเป็นราวจนกระทั่งศึกมาประชิดเต็มทีแล้ว จึงได้ยกทัพออกไปหมายจะกระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวรฯ แต่ช้างพระที่นั่งของพระยาละแวกกลับอาละวาดไล่แทงช้างม้าไพร่พลทางฝ่ายเขมรเอง พระยาละแวกจึงเสด็จหนีไปจนถึงอาณาจักรล้านช้าง ด้านสมเด็จพระนเรศวรฯ ได้นำพระศรีสุริโยพรรณกับพระญาติของพระยาละแวกกลับไปกรุงศรีอยุธยา โปรดเกล้าฯ ให้พระมหามนตรีเป็นแม่ทัพคุมพลหมื่นเศษรักษาเมืองอยู่ที่สระแก้ว ต่อมา พระรามาธิบดีญาติพระยาละแวกรวมพลขับกองทัพพระมหามนตรีออกไปได้ แต่ยังเกิดเหตุวุ่นวายหลายอย่าง ทางเขมรจึงทูลขอพระศรีสุริโยพรรณกลับไปครองราชย์ สมเด็จพระนเรศวรฯ ก็ทรงอนุญาต พระศรีสุริโยพรรณเสด็จกลับถึงเมืองละแวกแล้วยังต้องทรงปราบปรามกบฏต่างๆ อยู่เป็นเวลานานกว่าจะสามารถปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ได้โดยสมบูรณ์

ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าพระราชพงศาวดารแปลฉบับนี้ไม่ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองละแวกกับกรุงศรีอยุธยาก่อนหน้าที่สมเด็จพระนเรศวรฯ จะเสด็จไปตีเมืองละแวกเลย ทั้งในส่วนที่พระยาละแวกเคยแอบมาตีเมืองต่างๆ ตอนไทยติดศึกพม่าและในตอนที่ส่งพระศรีสุพรรณฯ หรือพระศรีสุริโยพรรณมาช่วยในศึกพระเจ้าเชียงใหม่ ฯลฯ เลยเหมือนอยู่ดีๆ ไทยก็อยากตีเขมรขึ้นมาเฉยๆ และการกล่าวว่าพระยาละแวกสามารถหนีไปได้ไม่ได้ถูกสังหารในพิธีปฐมกรรมดังที่พงศาวดารไทยบางฉบับกล่าวอ้าง ซึ่งในวงวิชาการของเราเองทราบกันมานานแล้วว่า พระยาละแวกหนีรอดไปได้โดยอ้างถึงเอกสารของชาวสเปนในยุคนั้นที่กล่าวไว้เช่นเดียวกับหลักฐานของทางเขมรครับ

“พงศาวดารละแวก ฉะบับแปล จ.ศ. ๑๑๗๐” ที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ ผมคัดลอกมาจาก http://th.wikisource.org/wiki/ประชุมพงศาวดาร_ภาคที่_๗๑ เฉพาะตอนต้น คือเรื่องราวตั้งแต่ตอนที่นักพระสัฏฐาหรือพระยาละแวกขึ้นครองราชย์ไปจนจบที่ “พระศรีสุพรรณมาธิราช” หรือ “สมเด็จพระศรี สุริโยพรรณ” ได้กลับมาครองราชย์แล้วปราบปรามกบฏต่างๆ จนราบคาบ โดยเรื่องราวต่อจากนั้นเป็นเรื่องของพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งยืดยาวและคงไม่น่าสนใจเท่าไหร่ และได้ตัดเชิงอรรถออกเกือบหมดยกเว้นที่จำเป็นไม่กี่ที่ก็ได้ใส่ไว้ในวงเล็บแทน และได้จัดข้อความและย่อหน้าใหม่ในบางส่วน หากมีข้อผิดพลาดประการใดต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ครับ


ฉากราชสำนักเมืองละแวกในภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ 3

พงศาวดารละแวก ฉะบับแปล จ.ศ. ๑๑๗๐

ณ วันอังคารเดือน ๖ แรมค่ำหนึ่ง จุลศักราช ๑๑๗๐ ปีมะโรงนักษัตรสัมฤทธิศก (พ.ศ. ๒๓๕๑ ) ข้าพระพุทธเจ้าพระองค์แก้ว นำเอาพระราชพงศาวดารกฎหมายเหตุ ลำดับสำหรับกษัตริย์เมืองละแวกเป็นหนังสือภาษากัมพุชพากย์ มาทูลเกล้า ฯ ถวาย ข้าพระพุทธเจ้า ขุนสาราบรรจง ปลัดกรมอาลักษณ์ กรมพระราชวังบวร ฯ แปล คัดออกจำลองลอกเป็นสยามภาษา ได้ใจความว่า

เมื่อมหาศักราชได้ ๑๔๙๗ ปีชวดนักกษัตรสับตศก (พ.ศ. ๒๑๑๘) ยังมีกษัตริย์ ๒ พระองค์ ๆ หนึ่งได้เสวยราชสมบัติ ณ เมืองละแวก ทรงพระนามชื่อว่า สมเด็จพระราชโองการ พระบรมราชารามาธิราชธิบดี พระองค์มีสมเด็จพระอนุชาธิราชพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามชื่อว่า สมเด็จพระศรี สุริโยพรรณ ตั้งอยู่เป็นที่อุปรราชฝ่ายหลัง มีข้าราชการสำหรับที่พร้อม กษัตริย์ ๒ พระองค์เสวยราชสมบัติสืบสนองแทนพระราชวงศานุวงศ์ต่อเนื่องกันมา แต่ครั้งพระอัยกาและพระอัยกี จนถึงพระบิดามารดาของพระองค์ ๆ ได้ราชสมบัติสืบต่อมา สมเด็จพระอัครมเหษีพระองค์ทรงพระนามชื่อ ว่าสมเด็จพระภัควดีศรีจักรพรรดิราช มีพระราชโอรส ๓ พระองค์ พระราชบุตรา ๒ พระองค์มีพระราชบุตรีพระองค์หนึ่ง พระราชโอรสผู้พี่นั้นทรงพระนามชื่อว่าสมเด็จพระไชยเชษฐา พระองค์ถัดมานั้นชื่อ สมเด็จพระบรมราชา พระราชขนิษฐาบุตรีสุดนั้นชื่อ สมเด็จพระมหากษัตรี แล้วพระองค์ทรงพระอนุเคราะห์ พระราชวงศ์พระองค์หนึ่งนั้นชื่อว่า สมเด็จพระบรมกษัตริย์ มาตั้งเป็นพระอัครราชเทวีเบื้องขวา มีพระราชบุตรีองค์หนึ่งชื่อ สมเด็จพระวิสุทธกษัตริย์ แล้วพระองค์ทรงพระอนุเคราะห์พระราชวงศ์พระองค์หนึ่งนั้นชื่อว่าสมเด็จพระเทพกษัตรี มาตั้งเป็นพระอัครราชเทวีเบื้องซ้าย มีพระราช บุตรีองค์หนึ่งชื่อว่า พระวิสุทธกษัตรี แล้วพระองค์มีพระสนมคนหนึ่งนั้นชื่อ นักนางไท มีพระราชบุตราด้วยนักนางไทนั้นองค์หนึ่งชื่อ เจ้าพระยาณู แล้วพระองค์มีพระราชโอรสด้วยพระสนมชื่อ นักนางจันท์นั้น ๒ พระองค์ ๆ หนึ่งชื่อ เจ้าพระยานอน พระราชบุตรีนั้นชื่อ นักญา แล้วพระองค์มีพระราชบุตรีด้วยพระสนมชื่อนักนางมลนั้นพระองค์ หนึ่งชื่อ นักอี แล้วพระองค์มีพระราชบุตรา ด้วยลาวนางนักกำนัลชื่อ นักนางแพงพระองค์หนึ่งชื่อว่าเจ้าพระยาโยมๆ นั้นเชี่ยวชาญชำนาญรู้ตำราข้างไสยสาตร เป็นครูเถ้าถือบวชเป็นหมอช้าง

และที่นี้จะกล่าวถึงเรื่องสมเด็จพระอนุชาธิราช ที่ทรงพระนามชื่อว่าสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณนั้น พระองค์มีพระอัครมเหษีพระองค์หนึ่งชื่อ สมเด็จพระชาติกษัตรี มีพระราชโอรส ๔ พระองค์ พระราชบุตรี ๒ พระองค์ ๆ หนึ่งนั้นชื่อ สมเด็จพระเอกกษัตรี พระองค์หนึ่งนั้นชื่อ สมเด็จพระวิสุทธกษัตรี พระราชบุตรา ๒ พระองค์ ๆ หนึ่งชื่อ สมเด็จพระไชยเชษฐา ถัดลงมานั้นชื่อ สมเด็จพระอุทัยราชา สมเด็จพระไชยเชษฐาลูกน้องข้องชื่อกันกับลูกพี่ สมเด็จพระชาติกษัตรีผู้เป็นพระอัครมเหษีนั้นมีน้องชายคนหนึ่งชื่อ สมเด็จพระศรีไชยเชษฐ์ กล่าวพระวงศานุวงศ์ ลำดับกษัตริย์ ก็หยุดไว้แต่เพียงนี้ก่อน

ทีนี้จะกล่าวด้วยพระอุโบสถวิหารจัตุรมุขมหาปราสาท หน้าพระลานมีพระพุทธรูป ๔ พระองค์ ยืนประดิษฐานอยู่ทุกมุข เรียกชื่อว่า พระอัฏฐารส สูง ๑๘ ศอกเสมอกันทุกพระองค์ พระบาทนั้นเป็นศิลา พระองค์นั้นทำด้วยไม้ตะเคียนทั้ง ๔ พระองค์ จะว่าด้วยพระราชมณเทียร ณ เมืองละแวกนั้น มีมุขหน้าหลังเป็นครุฑอัดสิงห์อัด เป็นหลั่นอันดับกัน ประดับกะจกลงรักปิดทอง และเรือนพระสนมกำนัลในลดหลั่นเป็นอันมาก และมีหน้าพระลานทั้งนอกทั้งใน พระที่นั่งร้อนที่นั่งเย็น มีทั้งนอกทั้งใน และมีโรงช้างโรงม้า โรงรถ เป็นหลั่นลดฉลุฉลักลงรักปิดทอง และมี ๑๒ พระคลังมั่งคั่งไปด้วยลูกค้าวาณิชสมณชีพราหมณ์ปโรหิต บัณฑิตยชาติราชครู หมู่นิกรทวยหาญ และเสนาข้าราชการหลานหลวง เหล่าราชนิกูลขุนหมื่นพระวงศานุวงศ์เฝ้าเป็นลดหลั่นอันดับกัน แล้วเป็นคำสงสัยเข้ามาในที่นี่ว่า สมเด็จพระมหากษัตริย์พระองค์ เดียวมีพระราชบุตรและพระราชธิดาเป็นอันมาก เหตุไฉนจึงเป็นเจ้าบ้างเป็นพระยาบ้าง จึงวิสัชนาแก้ตามพระราชกำหนดกฎหมายเหตุ เป็นโบราณราชประเพณีลำดับสำหรับกษัตริย์ในเมืองละแวกแต่ก่อนมานั้น ถ้าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดได้ผ่านพิภพจะปราบดาภิเษก และราชา ภิเษก และอุปราชาภิเษกก็ดี มีสมเด็จพระอัครมเหษีมีพระอิศริยศ ปรากฏเสมอกัน ครั้นมีพระราชบุตรและพระราชธิดาประสูติออกมานั้นจึงเรียกว่าเป็นเจ้าลูกหลวงเอกได้ ถ้ากษัตริย์พระองค์ใด ยกเอาซึ่ง พระวงศานุวงศมาอุปราชาภิเษก เป็นเอกพระอัครมเหษี ครั้นมีพระราชโอรสออกมา จึ่งให้เรียกว่าเป็นลูกหลวงโท ถ้าและกษัตริย์พระองค์ใดสงเคราะห์ซึ่งบุตรมหาอำมาตย์ราชเสนาบดี มาตั้งเป็นห้ามซ้ายขวา ครั้น มีพระราชบุตรออกมานั้นจึ่งให้เรียกว่าลูกหลวงตรี ให้เรียกตามสกุลมารดาอย่าเสียเดิม ถ้าและสิ้นเชื้อกษัตริย์แล้ว และจะเอาผู้ใด ๆ ที่เป็นเชื้อสายศักดิ์ศรีมีสกุลมาอุปราชาภิเษกเป็นพระมเหษี ครั้นมีพระราชบุตรก็เรียกว่าลูกหลวงเอกได้ จึ่งมีเป็นพระราชกำหนดกฎหมายเหตุ สืบต่อกันมาจนเท้าบัดนี้แล เมื่อสมเด็จพระราชโองการพระบรมราชารามาธิราชธิบดี พระองค์ยังไม่ถึงกำหนดกาล และพระองค์ก็ยังตั้งอยู่ในพระอิศริยยศ ปรากฏด้วยพระราชสมบัติ เป็นกษัตริย์ทรงยุตติธรรมประเพณีแต่ก่อนมา ครั้นเมื่อถึงกำหนดแก่กาลก็ให้บันดาลดลเป็นอุปัติบังเกิดอุปัติเหตุมาถึงพระองค์ จะให้วินาศอันตรายต่างๆ ดุจอย่างกล่าวไปเบื้องหน้านี้แล.

ทีนี้จะกล่าวถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงทวาราวดีศรีอยุธยามหาดิลก ทรง พระนามชื่อว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าพระนเรศร พระองค์ทรงพระวิตกคิดจะปรารถนาสมบัติในเมืองละแวก ทรงพระดำริดั่งนี้แล้วจึ่งเรียกราชบุรุษ ๒ คน ซึ่งรู้ศิลปศาสตรเวทางคปกรณ์กฤษดิยาคม เชี่ยวชาญชำนาญกล้า มาสนทนาเป็นลำดับ ให้คิดเป็นกลอุบายแก้ไขเอาเมืองละแวกให้จงได้ ถ้าสมคะเนแล้วเมื่อใด จึ่งให้มีหนังสือลับลอบบอกมาให้ถึงพระนเรศรเป็นเจ้า ๆ จะยกพลไปให้สมคะเนทีเดียว สองราชบุรุษนี้จะได้ปรากฏชื่อในกฎหมายเหตุนี้หามิได้ ราชบุรุษ ๒ คนรับเทวราชโองการแล้ว ก็ไปคิดเป็นกลอุบายบวชตัวเป็นสมณกระทำเป็นโคจรเทียวไปในเมืองลาว แล้วย้อนกลับลงไปณ เมืองละแวก ไปอาศัย อยู่ด้วยพระสังฆราชชื่อพระสังฆราชา ๆ จะได้รู้ซึ่งกลอุบายสมณ ๒ องค์นั้นหามิได้ จึ่งให้อาศัยอยู่ แล้วสมณ ๒ องค์คิดจะให้คนทั้งปวงปรกฎชื่อออก จึ่งตั้งชื่อตัวเองให้คนทั้งปวงเรียก องค์หนึ่งชื่อสุรปัญโญ องค์หนึ่งชื่อว่าติกปัญโญ ดั่งนี้

ครั้นณวันอาทิตย์เดือน ๕ ขึ้น ๑๔ ค่ำจะเข้าเป็นวันมหาสงกรานต์ ณ วันจันทร์เดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ วันอังคารเดือน ๕ แรมค่ำหนึ่งเป็นวันเนาว์ ๒ วัน ณ วันพุธเดือน ๕ แรม ๒ ค่ำเป็นวันเถลิงศก บวกศักราช ๑๕๑๓ ปีเถาะ นักษัตรตรีศก ( พ.ศ. ๒๑๓๔ )จึ่งสุรปัญโญ ติกปัญโญ ได้ซึ่งศุภวารดิถีแล้ว จึ่งวางกฤษดิยาคมกระทำสมเด็จพระราชโองการพระบรมราชารามาธิราชธิบดี พระองค์ก็ให้เสียยุติธรรม ให้คลั่งไคล้เป็นบ้าเสียพระสติอารมณ์ไป พระองค์ตั้งพระทัยแต่จะเสพสุราบานให้มัวเมาไปทั้งกลางวันและกลางคืน และจะได้เอาพระทัยใส่กิจราชการบ้านเมืองนั้นหามิได้ แล้วสุรปัญโญ ติกปัญโญ ซ้ำวางกฤษดิยาคมกระทำสมเด็จพระอัครมเหษี ให้มีเวทนาเป็นสาหัส มิได้มีความสุข ให้จุกให้เสียด ให้จับไข้ ให้เมื่อยขบเจ็บทั่วสารพางค์ต่าง ๆ และแพทย์หมอทั้งปวงจะเยียวยารักษาพระโรคพระอัครมเหษีสักเท่าใด ๆ จะได้ถูกต้องคลายหายหามิได้ เผอิญได้นิยม จึ่งมีพระราชเสาวนีบัญชาการรับสั่งให้ไปหา สุรปัญโญ ติกปัญโญ มาพิเคราะห์ดูพระโรคซึ่งทรงพระประชวนนั้น สุรปัญโญ ติกปัญโญ มาดูก็รู้แจ้งประจักษ์ใจ แล้วจึ่งคิดพูดเป็นกลอุบายว่า อันพระโรคสมเด็จพระอัครมเหษีทรงพระประชวรครั้งนี้ เห็นจะเจ็บยืดยาวไปช้านานอยู่ จะได้หายคลายเร็วนั้นหามิได้ เปรียบดุจหนึ่งพระพุทธรูป ซึ่งสถิตประดิษฐานอยู่ณพระวิหารจัตุรมุขนั้น ถ้าพระพุทธรูปทั้ง๔พระองค์นั้นยังรุ่งเรืองงามปรากฏอยู่ตราบใด พระโรคพระอัครมเหษีนี้ก็จะยัง ปรากฏอยู่ตราบนั้น จะได้ถอยคลายหายง่ายหามิได้

ครั้นณวันเสาร์เดือน ๘ แรมค่ำหนึ่ง เป็นวันเข้าพระวษา จึ่งสมเด็จพระราชโองการ พระองค์ทรงพระดำริด้วยกำลังพระสติเป็นอุมัตกจริตคิดเห็นว่า ถ้าเราเผาพระพุทธรูปสูญหายเสียแล้ว ดีร้ายพระโรคพระมเหษีนั้น ก็จะอันตรธานสูญหายไปตราบนั้นมั่นคง จึ่งมีรับสั่งให้ข้าราชการเอาสูบยืนกับถ่านเพลิงไปสูบเผาพระพุทธรูป ซึ่งมีนามปรากฏชื่อพระอัฎฐารสประจำทิศทั้ง ๔ จัตุรมุขนั้นไหม้เสียสิ้นแล้ว และยังเหลืออยู่แต่พระบาทที่เป็นศิลานั้นและถ่านเพลิงพระพุทธรูปที่ไหม้นั้น ก็ให้บรรจุไว้ในท่ามกลางพระวิหารจัตุรมุขนั้น

ครั้น ณ วันพฤหัสบดีเดือน ๕ แรม ๑๓ ค่ำ ศักราช ๑๕๑๔ ปีมะโรงนักษัตรจัตวาศก (พ.ศ.๒๑๓๕) มหาสุรปัญโญ ติกปัญโญ เห็นว่า พระเจ้ากรุงกัมพูชาเป็นบ้าเสียพระอารมณ์แล้ว ได้ทีสมดุจหนึ่งพระทัยพระ เจ้าอยู่หัวกรุงศรีอยุธยาปรารถนา จึ่งให้มีหนังสือลักลอบเข้ามากราบทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระนเรศรเป็นเจ้า ให้พระองค์ยกพยุหโยธาคลาไคลไปเมืองละแวกเถิด ครั้นอยู่ภายหลังเมืองละแวกให้อุปัติบังเกิดอัศจรรย์ ให้ประจักษ์แก่หญิงชายชาวพระนครทั้งปวงด้วยอ่างน้ำ และจะว่าด้วยอ่างน้ำซึ่งเป็นที่เสี่ยงทายสำหรับกษัตริย์ ก็ให้วิบัติแห้งไปมิได้มีน้ำตามฤดู แล้วอ่างนั้นก็เอียงไปข้างปัจฉิมทิศ อ่างนี้มีอยู่ ณ เขาพระบานนต์แขวงเมืองพัตบองและอ่างนี้มีเทพเจ้าสิงสู่รักษาอยู่สำหรับกษัตริย์จะราชาภิเษกจะได้สรงและเสวยเป็นคู่กันกับพระแสงขรรค์ พระแสงปืน พระแสงธนู พระแสงหอกง่ามนั้น สำหรับกันมาแต่ปางก่อน สิ่งของสำหรับเสี่ยงทายนี้ ถ้าและกษัตริย์พระองค์ใดจะวิบัติด้วยสมบัติ จะเป็นอันตรายประการใด ๆ ก็ดี สรรพสิ่งของทั้งปวงนี้ก็ให้วิบัติเป็นไปประจักษ์แก่ตา โลกต่าง ๆ ดุจอย่างพรรณนามานี้เป็นมั่นคงแล พระชนมายุศม์สมเด็จพระราชโองการพระบรมราชารามาธิราชธิบดี เมื่อได้ราชสมบัตินั้น พระชนมายุศม์พระองได้ ๒๓ ปี คงได้ราชสมบัติอยู่ เป็นปกติธรรม์นั้น ๑๕ ปี เป็นบ้าเสียพระอารมณ์ไปนั้น ๓ ปี เป็น ๔๑ ปีด้วยกันเท่านั้นแล

ครั้น ณ ศุกร์เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ ศักราช ปีมะเส็ง นักษัตร เบญจศก (พ.ศ. ๒๑๓๖) สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวพระนเรศรเป็นเจ้า พระองค์ทรงทราบพระทัยแล้ว ตระเตรียมรี้พลสกลโยธาม้าช้าง และเครื่องสรรพอาวุธสำหรับศึก ชุมพลได้ ๓ แสน แล้วพระองค์ยกไปกรุงกัม พูชาธิบดีในปีมะเส็ง เบญจศกนั้น ครั้นพระนเรศรเป็นเจ้ายกกองทัพไปถึงปลายด่านเมืองพัตบอง พระองค์ตั้งทัพยับยั้งอยู่ที่นั่นหลายราตรี เจ้าเมืองพัตบองรู้ จึ่งมีหนังสือไปถึงเจ้าพระยาจักรี ให้เจ้าพระยาจักรีกราบทูลพระเจ้ากัมพูชาธิบดี ให้ทราบว่าพวกข้าศึกไทยยกมาตั้งอยู่ปลายด่านเมืองพัตบองนั้น โปรดมาจะให้แต่งกองทัพออกรับข้าศึกหรือประการ ใด มีรับสั่งมาให้แจ้งแล้วจะได้กระทำตามรับสั่ง เจ้าพระยาจักรีรู้หนังสือพระยาพัตบองบอกมา จึ่งเอาบอกขึ้นกราบทูล ฯ พระเจ้ากัมพูชาธิบดี ตามมีเหตุ พระเจ้ากัมพูชาธิบดีแจ้งเหตุแล้ว จึ่งมีราชโองการสั่งเจ้าพระยาจักรี ให้มีหนังสือไปถึงพระยาพัตบองและหัวเมืองทั้งปวงให้ทั่วว่า ถ้าข้าศึกยกมาอย่าให้หัวเมืองใด ๆ ป้องกันรบพุ่งขัดขวางไว้ ให้ไปมาจงสะดวก ให้ยักแต่ครอบครัวหัวเมืองตามรายทางที่ข้าศึกยกมานั้นออกไปอยู่ให้ไกลทาง อย่าให้ข้าศึกทำอันตรายแก่ครอบครัวได้เป็นอันขาด ทีเดียว ปล่อยให้ข้าศึกยกมาจนถึงกำแพงเมืองละแวกนี้เถิด เจ้าพระยาจักรีรับสั่งแล้ว ก็มีหนังสือปิดตราให้ไปถึงเจ้าเมืองพัตบองและหัวเมืองทั้งปวง ตามรับสั่ง

อยู่มาภายหลังจึ่งสมเด็จพระเจ้ากัมพูชาธิบดี มีพระราชโองการสั่งให้หาข้าราชการ ทหาร พลเรือนผู้ใหญ่ผู้น้อย มาปฤกษาราชการบ้านเมืองเกิดศึกมีเหตุ ทรงพระดำริตรัสว่า พวกข้าศึกไทยยกมาครั้งนี้ควรที่จะกะเกณฑ์กองทัพออกรับสู้รบก็พอจะได้อยู่ เห็นว่าผู้คนจะล้มตายเป็นอันมาก ก็ควรเราจะชนช้างด้วยพระนเรศรให้เป็นศึก คชพยุหสำหรับกษัตริย์ ถึงมาทว่าจะแพ้และชะนะ จะให้เป็นเดชะพระเกียรติยศ ปรากฏไปภายหน้า ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยก็เห็นพร้อมด้วยพระองค์ ๆ จึ่งสั่งให้หาช้างรบสำหรับศึก ที่มีฝีงากล้าหาญราญณรงค์ทรงกำลังมากนั้นมาไว้ให้พร้อม คอยเตรียมตามกำหนดฤกษ์ ๆ ได้เมื่อใด เราจะออกชิงชัยเมื่อนั้น ฝ่ายเจ้าพนักงานกลางช่างเลือกคัดจัดหาช้างต้นได้ดีแล้วพร้อมเสร็จ คอยเสด็จตามรับสั่ง ฝ่ายพระนเรศร เป็นเจ้าตั้งทัพยับยั้งอยู่ปลายด่านแขวงเมืองพัตบองฟังรหัสรเหียร เหตุผล จับคนได้ไล่เลียงไถ่ถาม ได้ความแจ้งเหตุแล้ว จึ่งเลื่อนเดินทัพขยับยกเข้าไปทางในเมือง โพธิสัตว์ และเมืองตะคร้อต่อ เมืองบริบูรณ์จนถึงทุ่งบุเรน ๆ กับกำแพงเมืองละแวกนั้นไกลประมาณ ๑๐๐ เส้น พระองค์ตั้งทัพยับยั้งอยู่ที่นั่น ฝ่ายสมเด็จพระราชโองการพระบรมราชารามาธิราชธิบดี แจ้งคดีเหตุว่า พระนเรศรยกพลมาถึงเมืองของพระองค์ๆ ก็รีบทรงช้างพระที่นั่งออกไปชิงชัยชนช้างด้วยพระนเรศรเป็นเจ้า พร้อมด้วยหมู่มุขมาตยาคชาธารแกล้วหาญเป็นอันมาก เสด็จออกพระราชวังตั้งไปเป็นกระบวน คชพยุห เสียฤกษ์ช้างพระที่นั่งของพระองค์ที่ทรงออกชิงชัยนั้น แลเห็นช้างพระนเรศรก็ให้ปัติเหตุตกใจกลัวทลวงขอแตกตื่นเสียกระบวน ไล่แทงช้างม้าไพร่พลของพระองค์เอง แตกกระจัดกระจายหนีพ่ายเสียกระบวน พระองค์หวนกลับไปในพระราชวังสั่งเรือพระที่นั่ง แล้วชวนพระอัครมเหษี ทั้งพระราชบุตรพระราชธิดา ลงเรือพระที่นั่งหนีไปอาศัยอยู่ณเมืองศรีสุนทรแล้วตลวดเลยไปเมืองลาวล้านช้างทีเดียว

ฝ่ายพระนเรศรเป็นเจ้าเห็นพระเจ้ากัมพูชาหนีไปแล้ว พระองค์ก็ได้เมืองละแวกด้วยบุญฤทธิ์ของพระองค์โดยง่าย แล้วจึ่งสมเด็จพระศรี สุริโยพรรณผู้เป็นพระอนุชาธิราชพระเจ้ากัมพูชานั้น ชวนพระมเหษีและพระราชบุตรพระราชธิดา พระวงศานุวงศ์ กับพระศรีไชยเชฐผู้เป็นน้องพระมเหษีนั้น มาบังคมเฝ้าถวายพระราชสมบัติแก่พระนเรศรเป็นเจ้าและพระแสงขรรค์, ปืน, ธนู, หอกง่าม สำหรับกษัตริย์นั้น ชีพ่อ พราหมณ์เจ้าพนักงานพาหนีได้ ครั้น ณ ปีมะเมียฉศก (พ. ศ. ๒๑๓๗) สมเด็จพระนเรศรเป็นเจ้า พระองค์ได้สมบัติในเมืองละแวกสมดุจหนึ่งพระทัยปรารถนาแล้ว พระองค์ ก็เลิกกองทัพมากรุงศรีอยุธยา แล้วพระองค์ให้นำมาซึ่งสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณกับพระมเหษี พระราชบุตรพระราชธิดาและพระศรีไชยเชฐ พรรคพวกพระศรีสุริโยพรรณเข้ามาอยู่เมืองกรุงศรีอยุธยาด้วย ให้ตั้งบ้านอยู่นอกกำแพงกรุงและเมื่อพระนเรศรเป็นเจ้านำเอาซึ่งพระศรีสุริโยพรรณนั้นมา พระชันษาพระศรีสุริโยพรรณนั้นได้ ๓๘ ปี แล้วจึ่งสมเด็จพระนเรศรเป็นเจ้า นำเอาพระราชธิดาพระศรีสุริโยพรรณพระองค์หนึ่งทรงพระนามชื่อว่า พระเอกกษัตรี เป็นพระมเหษีพระนเรศรเป็นเจ้าในปีมะแมสับตศก (พ. ศ. ๒๓๑๘) และเมื่อพระนเรศรเป็นเจ้ายกทัพกลับมากรุงศรีอยูธยานั้น มีพระราชโองการสั่งให้พระมหามนตรีเป็นแม่ทัพ คุมไพร่มีนายกองอยู่ประมาณ ๑๐๐๐๐ เศษ ให้ตั้งทัพรักษาเมืองกัมพูชาอยู่ที่สระแก้ว


จากภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ 3
พระยาจีนจันตุกำลังเข้าเฝ้าพระยาละแวกโดยเบื้องหลังมีขุนนางฝรั่งชาวสเปนร่วมอยู่ด้วย

ครั้นถึง ณ วันจันทร์เดือน ๖ ขึ้น ค่ำหนึ่ง ศักราช ๑๕๑๗ ปีมะแมสับตศก (พ. ศ. ๒๑๓๘ ) สมเด็จพระรามาธิบดีเป็นพระวงศานุวงศ์กับพระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี กินเมืองอยู่ ณ เมืองเชิงไพร พระชนมายุศม์พระองค์ได้ ๕๑ ปี ตั้งพระทัยคิดอ่านเกลี้ยกล่อมไพร่ฟ้าข้าราชการ ซึ่งตกค้างอยู่ที่ใด ๆ พระองค์ก็เอามาเลี้ยงไว้ได้เป็นอันมาก สมเด็จพระราชาธิบดีคุมพลได้มากแล้ว ยกกองทัพมาตีทัพพระมหามนตรีซึ่งตั้งอยู่ณที่สระแก้ว พระมหามนตรีอิดโรยด้วยกำลังสะเบียงอาหาร ต้านทานทัพพระรามาธิบดีมิได้ พระมหามนตรีเลิกทัพ (กลับ) กรุงศรีอยุธยา แล้วสมเด็จพระรามาธิบดีตั้งตัวเป็นเจ้าอยู่ในเมืองศรีสุนทร ณ ปีมะเเม ปีวอกต่อกัน พระชนมายุศม์พระองค์ได้ ๕๒ ปี ครั้น ณ วันเข้าพระวษาทุติยาษาฒศักราชได้ ๑๕๑๘ ปีวอกอัฐศก (พ.ศ. ๒๑๓๙) มีฝรั่งพี่น้อง ๒ คน ผู้พี่ชื่อลวิศปรัด ผู้น้อง ชื่อวินัศอรุ่ม แต่ก่อนนั้นพระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีนับถือฝรั่ง ๒ คนว่าเป็น ลูกเลี้ยง เป็นนายกำปั่นบรรทุกสิ่งของมาค้าขายณเมืองกัมพูชา มิได้รู้ว่าพระเจ้ากัมพูชาเป็นอันตรายหามิได้ สมเด็จพระรามาธิบดีรู้ว่าฝรั่ง ๒ พี่น้องเป็นลูกเลี้ยงพระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี มีจิตต์คิดอิจฉาเป็นโมหจริต คิดจะฆ่าฝรั่ง ๒ คนพี่น้องเสีย ฝรั่ง ๒ คนพี่น้องรู้ตัวกับคิดฆ่าพระรามา ธิบดีเสียในปีวอกอัฐศกนั้น และเมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีถึงแก่กาลกิริยาแล้ว มีพระราชบุตรา ๒ พระองค์ ๆ หนึ่งชื่อ นักนอน พระองค์หนึ่งชื่อ นักณู แต่นักนอนผู้พี่นั้น พระราชบิดาถึงปัจจุบันกาลไปตั้งตัวอยู่หัวเมืองทมอคูน ภาษาไทยว่า เมืองเสาประโคนสิลา แขวงเมืองประโคนสวาย ตั้งตัวเป็นเจ้ามีนามชื่อว่า สมเด็จพระรามาธิบดี แต่นักณูน้องชายนั้น มีกตัญญูรู้คุณ คิดพนมศพพระราชบิดาฌาปนกิจสำเร็จแล้ว ก็ตั้งตัวเป็นเจ้าอยู่เมืองศรีสุนทร สมมติตัวขึ้นเป็นสมเด็จพระรามาธิบดีในปีวอก อัฐศกนั้น และลวิศปรัด วินัศอรุ่ม ฝรั่งพี่น้อง ๒ คนคิดปฤกษากันว่า เราฆ่าพระรามาธิบดีตายเสียแล้ว บัดนี้ลูกมาเป็นเจ้าขึ้นอีกเล่า พระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีหนีไปอยู่เมืองลาวนั้น ยังมีพระชนม์อยู่หรือประการใด ถ้าพระองค์ยังมีพระชนม์อยู่ เราจะขอเชิญพระองค์มาครองราชสมบัติดุจดัง เก่า ฝรั่งคิดดั่งนั้นแล้วจึ่งจ้างพระยาพระเขมรคนหนึ่ง คุมไพร่ ๓๐ นำทาง ฝรั่ง ๒ คนพี่น้อง ไปเชิญพระเจ้ากรุงกัมพูชา ณ เมืองลาวล้านช้างนั้น ครั้นไปถึง ณเมืองลาว พอพระเจ้ากัมพูชาสวรรคต ยังแต่พระราชโอรส ปรากฏพระนามชื่อว่า สมเด็จพระบรมราชา ฝรั่งจึ่งเชิญเสด็จมากับพระวงศานุวงศ์ มาครองราชสมบัติดั่งเก่า และเมื่อฝรั่งสองคนพี่น้องไปถึงเมืองลาวแล้วนั้น อยู่ภายหลังยังมีเขมรชองคนหนึ่งตั้งตัวเป็นเจ้าชื่อว่าแก้วพระเพลิง อยู่ข้างปัจฉิมทิศตะวันตก คุมพวกเขมรชอง, ละว้า, กะเหรี่ยงชาวป่า ได้มากแล้ว ยกข้ามเมืองกัมพูชาธิบดีมาถึงเมืองศรีสุนทร แก้วพระเพลิงฆ่านักณูที่เป็นที่แทนบิดานั้นตายในปีวอก แล้วแก้วพระเพลิงยกพลพวกกวย, แกว, ชอง, ชาวป่า ข้ามกลับไปบ้านป่าดั่งเก่า

ครั้น ณ วันจะเข้าเป็นวันมหาสงกรานต์ ณ วันจันทร์เดือน ๕ แรม ๖ ค่ำ ณ วันอังคารเดือน ๕ แรม ๗ ค่ำวันบอด ครั้น ณ วันพุธ เดือน ๕ แรม ๘ ค่ำ เป็นวันเถลิงศกศักราช ๑๕๑๙ ปีระกานพศก(พ. ศ. ๒๑๔๐) ลวิศปรัด วินัศอรุ่ม เชิญสมเด็จพระบรมราชา ผู้เป็นพระราชโอรสพระเจ้ากรุงกัมพูชา มาครองราชสมบัติณเมืองศรีสุนทรในปีระกานั้น พระเลี้ยงฝรั่ง ๒ คนนั้นให้เป็นใหญ่กว่าคน ครั้นศักราช ๑๕๒๐ ปีจอสัมฤทธิศก (พ.ศ. ๒๑๔๑ ) บรรดาหัวเมืองขึ้นทั้งปวงตั้งตัวเป็นเจ้ามิได้เข้าด้วยพระองค์ พระองค์ยกทัพไปจับ สู้หัวเมืองทั้งปวงไม่ได้แล้วกลับมา สมเด็จพระราชเทวีกษัตริย์ ผู้เป็นสมเด็จพระมาตุจฉาพระเจ้ากัมพูชา ให้ราชาภิเษกกับด้วยพระบรมกษัตรี ๆ ผู้เป็นพระราชบุตรพระ อุประยุรราชและพระวงศานุวงศ์ซึ่งอยู่ณเมืองศรีสุนทรแต่ก่อนมานั้น เหล่าพระวงศ์ใหญ่ สมเด็จพระบรมราชากับพระบรมกษัตรี ได้ราชสมบัติอยู่ในเมืองศรีสุนทรนั้น ๒ ปี

ครั้นศักราชได้ ๑๕๒๑ ปีกุนเอกศก (พ. ศ. ๒๑๔๒) ลักษมานา (ภาษามะลายูแปลว่า ทหารเรือ) แขกโปปรัศจาม ตั้งบ้านอยู่แขวงเมืองตบูงขมุม คุมพรรคพวกได้มาก คิดกบฎ(๑) ประทุษ(๒)ร้ายต่อสมเด็จพระบรมราชา ๆ พระองค์รู้ ยกคน ไปจับลักษมานาแขกโปปรัศจาม ๆ ต่อสู้พระองค์ประมาทไป ลักษมานาโปปรัศจามกลับจับพระองค์ได้ ฆ่าเสียสิ้นพระชนม์ในปีกุนนั้น แล้ว จึ่งสมเด็จพระราชเทวีกษัตริย์ กระทำการศพถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว พระองค์จึ่งเอาพระยานอนมาราชาภิเษกด้วยพระบรมกษัตรีครองราชสมบัติต่อไป ทรงพระนามเรียกว่าสมเด็จพระบรมราชา ได้ราชสมบัติอยู่ ๒ ปี ฝ่ายพระยาประเทศราชทั้งปวงที่เคยขึ้นแก่พระองค์แต่ก่อน บอห่อนจะมาขึ้นหามิได้ ชวนกันคบคิดกันกับแก้วพระเพลิง ที่เป็นเจ้าแก่ชองและกวยกระเหรี่ยงนั้น ยกพลข้ามมาจับพระยานอนฆ่าเสียแก้วพระเพลิง ก็ยกพลข้ามกลับไป แล้วจึ่งสมเด็จพระราชเทวีกษัตริย์ พระองค์กระทำสักการบูชาพระเพลิงสำเร็จแล้ว จึ่งเชิญเจ้าพระยาโยมมาราชาภิเษก ด้วยพระบรมกษัตรีย์เป็นพระมเหษีเสวยราชสมบัติต่อไป มีนามชื่อว่าสมเด็จพระแก้วฟ้า ๆ มิได้นำพาคดีของอาณาประชาราษฎรหามิได้ ตั้งใจแต่เที่ยวประพาสป่าล่าเนื้อเป็นนิจ ครั้งนั้นชาวเมืองประเทศราช และชนบทน้อยใหญ่ มิได้เข้าด้วยพระแก้วฟ้าหามิได้ ต่างคนต่างตั้งตัวเป็นเจ้าทุกบ้านทุกเมือง จับกันฆ่าฟันทิ่มแทงซื้อขายกัน มิได้กลัวเกรงผู้ใดหามิได้ แล้วจึ่งสมเด็จพระราชเทวีกษัตริย์ผู้เป็นสมเด็จพระอัยกานั้น พระองค์ทรงวิตกว่า สกุลวงศ์เมืองกัมพูชานานไปจะเสื่อมสูญสิ้นกษัตริย์ แล้วก็ยังอยู่แต่พระศรีสุริโยพรรณ ยังเป็นเชื้อสายกษัตริย์ พระนเรศรเป็นเจ้าเอาไปเลี้ยงไว้ณเมืองไทย ถ้ากลับมาได้ เห็นว่าจะได้เป็นกษัตริย์สืบต่อไป พระองค์ทรงพระดำริดังนั้นแล้ว จึ่งทรงแต่ง เป็นพระราชสาร ให้คนถือไปทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวพระนเรศร เป็นเจ้าไทยทราบ ใจความในพระราชสารนั้นว่า เมืองละแวกนี้จะได้มีเจ้านายเป็นยุติธรรม และจะได้มีผู้บัญชาการ กระด้างกระเดื่องเคืองขุ่นขึ้นทุกแห่ง ขอสมเด็จพระพุทธเจ้าเมืองไทยมีพระราชโองการตรัสใช้ ให้ผู้ใดผู้หนึ่ง มาปราบหมู่อริราชศัตรูแผ่นดินให้สิ้นเสี้ยนหนามราบ คาบหมดมลทินแล้ว และมีเจ้านายตั้งอยู่ให้เป็นปกติธรรมเหมืออย่างแต่ก่อน จะได้พึ่งพระบารมี เพราะพระเดชพระคุณจะได้เป็นสุขสืบไป ครั้งนั้นจึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวพระนเรศรเป็นเจ้า พระองค์ทรงทราบแล้ว จึ่งมีพระราชโองการดำรัสสั่ง ให้ตั้งพระศรีสุโยพรรณให้เป็น พระเจ้ากรุงกัมพูชา และบรรดาผู้คนข้าไทพระศรีสุโยพรรณนั้น พระราชทานให้ไปสิ้น แต่สมเด็จพระไชยเชษฐา ผู้เป็นพระราชโอรสพระเจ้ารามาธิบดีนั้นทูลขอตัวอยู่ ไม่ไปด้วยพระศรีสุริโยพรรณนั้นหามิได้ พระนเรศรเป็นเจ้าพระองค์จึ่งสั่งข้าราชการของพระองค์ ที่เป็นพนักงานชำนาญการเคยข้างทางทะเล ให้จัดเรือสำเภาใหญ่ไปส่งพระศรีสุโยพรรณทางชลมารค ครั้งนั้นศักราชได้ ๑๕๒๓ ปีฉลูตรีศก (พ.ศ.๒๑๔๔)

ครั้นพระศรีสุริโยพรรรณพระองค์ไปถึงเมืองไพรกระบาศ แปลว่าเมืองป่าฝ้าย แขวงเมืองกัมพูชา ผู้รักษาเมืองไพรกระบาศ มาเฝ้าพระองค์ ๆ ก็ให้ผู้รักษา เมืองไพรกระบาศเป็นพระไชยโยธา รักษาเมืองไพรกระบาศ แล้ว พระองค์เลยไปเกาะสระเกษ สมเด็จพระราชเทวีกษัตริย์รู้แจ้งว่า พระศรีสุริโยพรรณมาตั้งอยู่ ณ เกาะสระเกษ พระองค์ก็ดีพระทัยนัก พระองค์ตกแต่งเครื่องราชบรรณาการ ชวนพระวงศานุวงศ์เสนาอำมาตย์ราชครูข้าเฝ้าพระแก้วฟ้า และโหราราชปุโรหิตนำเอาพระแสงขรรค์และพระแสงทั้งปวงที่เป็นสำหรับกษัตริย์แต่ก่อนมาทูลเกล้า ฯ ถวาย พระศรีสุริโยพรรณเกาะสระเกษในปีฉลูนั้น

ครั้น ณ วันอังคารเดือน ๖ แรม ๓ ค่ำ ศักราช ๑๕๒๔ ปีขาลจัตวาศก (พ.ศ.๒๑๔๕) ครั้งนั้นพระแก้วฟ้ารู้ว่า สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณ เสด็จกลับมาได้ เข้าใจว่าพระศรีสุริโยพรรณจะได้เป็นเจ้า แล้วพระ แก้วฟ้าก็ถอยตัวออกจาดราชสมบัติอยู่นอกราชการ ครั้นเห็นคนทั้งปวงเข้าไปถวายบังคมพระศรีสุโยพรรณสิ้น พระยาโยมที่เป็นพระแก้วฟ้านั้น ก็คิดละอายใจ ก็ไปถวายบังคมพระศรีสุริโยพรรณๆก็ดีพระทัยด้วยพระยาโยม จึ่งพระศรีสุริโยพรรณพระองค์จึ่งสั่งให้ตั้งพระราชวังแล้ว จึ่งตั้งพระสงฆ์ที่เป็นถานากรมได้ไปต้อนรับเมื่อพระองค์เสด็จมาถึงเกาะสระเกษ ได้ถวายพระพรก่อนคนทั้งปวงนั้น พระสงฆ์ ๗ รูปเป็นพระราชาคณะพระองค์หนึ่งเป็นสมเด็จพระสุคนธมหาสังฆราช พระองค์หนึ่งเป็นพระมหาสังฆราชา องค์หนึ่งเป็นธรรมเขต องค์หนึ่งเป็นพระพุทธวงศ์ องค์หนึ่งเป็นพระวันรัตน์ องค์หนึ่งเป็นพระมหาพรหม องค์หนึ่งเป็นพระมหา ธาตุ แล้วพระองค์จึ่งยกพระศรีไชยเชษฐาผู้เป็นน้องสมเด็จพระมเหษีพระศรีสุโยพรรณนั้น ตั้งให้เป็นมหาอุปราช บรรดาพระวงศษนุวงศ์ เจ้าหญิงและเจ้าชายก็ดีที่ได้มาเฝ้าพระองค์ก่อนนั้น เจ้าหญิงตั้งเป็นเจ้ากรม ฝ่ายในมิได้ปรากฏพระนาม แต่เจ้าชาย ๔ พระองค์วงศ์ใหญ่นั้นปปรากฏพระนาม ออกกรมชื่อพระอุปยูรราช กรมฝ่ายหลังพระองค์หนึ่ง พระ สุคนธบทนั้นกรมหนึ่ง พระธรรมโศกราชนั้นกรมหนึ่ง สมเด็จพระ อภัยทศนั้นกรมหนึ่ง พระวงค์น้อย ๔ พระองค์นั้น เป็นสมเด็จเจ้าพระยานั้นคนหนึ่ง เจ้ากลาหะนั้นคนหนึ่ง ออกญาเจ้าพระยาเชฐนั้นคนหนึ่ง ออก ญาเจ้าพระยาโพอิศาลราชนั้นคนหนึ่ง สกุลวงศ์ราชินิกุลเท่านี้ สกุลพราหมณ์ปโรหิตที่ได้มารับเสด็จถวายบังคมก่อนพราหมณ์ทั้งปวงนั้น พระองค์ตั้งปโรหิตคนหนึ่งนั้นให้เป็นใหญ่กว่าปโรหิตทั้งนั้นชื่อพระมหาราชครูอุศุภัก คนหนึ่งชื่อพระพรหม คนหนึ่งชื่อพระธรรมราช คนหนึ่ง ชื่อพระมินทร ปโรหิตผู้น้อยนั้น ๓ คน คนหนึ่งนั้นชื่อพระอินทคุรุปการ คนหนึ่งชื่อพระบรมนาจารย์ คนหนึ่งชื่อพระเทพนาจารย์ ราชปโรหิตทั้งนี้ตั้งอยู่ในที่อัครฐานยศถาศักดินามาก ได้รับพระราชทานส่วย บ้านตามตำแหน่งทุกตำบลบ้านตามอย่างแต่ก่อนมา พระองค์จึ่งตั้งจตุสดมภ์ทั้งสี่ คือพระยายมราชหนึ่ง พระยาวังหนึ่ง พระยากลาโหมหนึ่งพระยาจักรีหนึ่ง ทั้งสี่คนนี้พระราชทานถือศักดินาคนละสิบพัน มีส่วยสาอากรและพนักงานขึ้นตามตำแหน่ง แล้วพระองค์จึ่งตั้งพระมหาเทพหนึ่งพระมหามนตรีหนึ่ง พระราชทานถือศักดินาคนละเก้าพัน เป็นพนักงานสำหรับที่ข้างแคร่ต้นเชือกรักษาพระราชโรงหลวงที่เสด็จออกข้างหน้า และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยที่ตามเสด็จมาด้วยพระองค์ก็ดี ที่มาคอย รับเสด็จกลางทางก็ดี ที่อยู่ประจำรักษาเมืองก็ดี ที่เป็นพระยาก็ให้เป็นพระ ที่เป็นหลวงก็ให้เป็นหลวง ที่เป็นพระยาก็ให้เป็นพระยา ให้คงศักดินาอยู่ตามตำแหน่งที่ แปดพัน เจ็ดพัน หกพัน ห้าพัน สี่พัน สามพัน สองพัน พระองค์ตั้งเมืองอยู่ณตรงเกาะสระเกษนั้น พระองค์ตั้งข้าราชการ ผู้ใหญ่ผู้น้อย อำมาตย์ราชครูปโรหิต ตั้งตามตำแหน่งเต็มที่ตาม อย่างแต่ก่อนมาบริบูรณ์แล้ว พระองค์จึ่งมีพระราชบัญญัติตามกฎหมายเหตุไว้สำหรับกษัตริย์แต่ก่อน สั่งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย พระวงศา นุวงศ์พระราชนิกุล ขุนหมื่น ทุกหมู่ทุกกรม กรมฝ่ายหน้าฝ่ายในหัวเมืองใหญ่น้อย ทหาร พลเรือน ให้แต่งตัวนุ่งสมปัก ใส่เสื้อครุยเข้าเฝ้า เรียบโรงตามพระราชพิธีทวาทสมาศ แห่ราชสาร นั่งแขกเมืองตามพนักงาน จงทุกหมู่ทุกกรมให้เป็นลำดับตามผู้ใหญ่ผู้น้อยจงสิ้นแล้ว พระองค์จึ่งให้หามาซึ่งข้าหลวงที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระนเรศรเป็นเจ้าให้มาส่งพระองค์นั้น พระราชทานเงินทองผ้าพรรณนุ่งห่มเลี้ยงดูวันละ ๓ เวลา บำเรอเชอภักษ์มิได้ขาดเเล้ว พระองค์จึ่งให้มาส่งข้าหลวงกลับ ไปยังกรุงศรีอยุธยา

อยู่ภายหลังผู้รักษาเมืองตบูงขมุมนำเอาเครื่อง ราชบรรณาการเข้ามาถวายพระศรีสุริโยพรรณ ๆ จึ่งมีพระบันทูลสั่งพระวงศานุวงค์องค์หนึ่งนั้นมิได้ปรากฏพระนามว่าชื่อใดหามิได้ ให้เป็นเจ้าเมืองตบูงขมุม ชื่อว่าออกญาเจ้าพระยาอรชุน และหัวเมืองทั้งปวงซึ่งเป็นแว่นแคว้นแดนกรุงกัมพูชานั้น จะได้มาขึ้นแก่พระองค์เหมือนอย่างพระราชโองการแต่ก่อนหามิได้ ยังกระด้างกระเดื่องขัดเคืองเป็นหลายเมืองอยู่ สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณทรงพระดำริวิตก ถึงสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวพระนเรศรเป็นเจ้า โปรดเกล้า ฯ ให้ออกมาปราบดาภิเษกกรุงกัมพูชาธิบดี ถึงขวบปีช้านานอยู่แล้ว พระองค์จะได้รู้ว่าออกมานั้นดีร้ายประการ ใดหามิได้ แล้วพระองค์จึ่งทรงแต่งเป็นพระราชสารบอกเหตุการณ์ไปให้กราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวพระนเรศรเป็นเจ้า ทราบตามดำเนินความที่มีเหตุว่า พระศรีสุโยพรรณได้มาปราบอริราชศัตรูหมู่ทมิฬเมืองกัมพูชายังกระด้างกระเดื่องเคืองเข็ญอยู่ได้เมืองขึ้นแต่สองเมือง นอกกว่านั้นยังเคืองแข็งอยู่ แล้วขอพระพุทธเจ้าอยู่หัวจงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานขอพระไชยเชษฐาที่เป็นพระราชโอรสาพระเจ้ารามธิบดีพระองค์เก่านั้น มาช่วยกันชำระดับยุคเข็ญเมืองละแวกให้สิ้นเสี้ยนหนามแล้ว พระองค์ให้ หาโหราจารย์มาบวงสรวงเทพารักษ์ และให้จับฉลากเสี่ยงทายหมายว่าจะได้เป็นเจ้า และจะได้พระไชยเชษฐามาทำนุบำรุงช่วยกันกับไพร่เมืองละแวกให้เย็น เป็นประการใดๆนั้นก็ให้ประจักษ์ ครั้นบวงสวงเสี่งทายได้เหตุแล้ว พระองค์จึ่งสั่งมหาอุปราชว่า ให้เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ถือตราทองสัมฤทธิ์เชื้อวงศ์ ให้ตระเตรียมรี้พลสกลทวยหาญชำนาญศึกยกไปเที่ยว ตีบ้านน้อยเมืองใหญ่ที่มิได้มาถวายบังคมแก่พระบรมศรีสุริโยพรรณนั้นพระมหาอุปราชสั่งให้เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์เลิกทัพไปตีเมืองไพรแวงกับ เมืองศรีสุนทรได้ก่อนแล้ว เจ้าพระยาเดโชก็ยกพลกลับมาเฝ้าพระศรีสุริโย พรรณๆสั่งให้ผู้รักษาเมืองไพรแวง เมืองศรีสุนทร คงเมืองดั่งเก่า

ครั้น ณวันอังคารเดือน ๕ แรม ๑๒ ค่ำ วันพุธ เดือน ๕ แรม ๑๓ ค่ำวันบอด ณ วันพฤหัสบดีเดือน ๕ แรม ๑๔ ค่ำ เป็นวันเถลิงศก ศักราช ๑๕๒๕ ปีเถาะนักษัตรเบญจศก (พ.ศ.๒๑๕๖ ) พระมหาอุปราชสั่งให้เจ้าพระยา เดโชนุวงศ์ยกพลไปตีเมืองบาพนม พระยาธรรมาเดโชเจ้าเมืองบาพนม ไม่รับทัพเจ้าพระยาโชนุวงศ์หามิได้ ยกพรรคพวกครอบครัวหนีข้ามบึงมหากันดารไปอาศัยอยู่ณเมืองไซ่ง่อน เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์รู้ว่าพระยาธรรมาเดโชยกครอบครัวหนีไป เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ได้เมืองบาพนมแล้ว และเกลี้ยกล่อมครอบครัวซึ่งค้างเหลืออยู่ที่เมืองบาพนมนั้น ก็มาขึ้นแก่เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์สิ้น แล้วเจ้าพระยาเดโชแม่ทัพอยู่ณเมืองบาพนมสั่งให้นายทัพนายกองทำค่ายคูประตูหอรบอยู่ให้มั่นคง แล้วให้ตั้งทำนาให้ได้เสบียงอาหารให้จงมาก ครั้นณเดือน ๑๑ ออกพระวษา ได้สะเบียงอาหารเป็นกำลังมากแล้ว เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ยกทัพข้ามบึงมหากันดารไปตีเมืองไซ่ง่อนได้ จับตัวพระยาธรรมาเดโชฆ่าเสียกับทั้งบุตรภรรยาสิ้น ยังเหลืออยู่แต่ครอบครัวเมืองบาพนมนั้น ให้ต้อนกลับมาอยู่ณเมืองบาพนมดั่งแต่ก่อน แล้วเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ก็ยกพลกลับมาเฝ้าพระศรีสุริโยพรรณ ๆ จึ่งตั้งพระวงศานุวงศ์พระองค์หนึ่งนั้นมิได้ปรากฏชื่อ ให้ไปเป็นผู้รักษาเมืองบาพนม แล้วพระองค์จึ่งสั่งให้มหาอุปราชให้เกณฑ์ เอาไพร่ที่เมืองตีได้นั้นมาทำพระราชวังขยายออกให้กว้าง มีโรงช้าง โรงม้าโรงรถเป็นต้น และโรงพระแสงขรรค์ พระแสงธนู พระแสงหอกง้าว พระแสงปืนนั้น ไว้ทิศอาคเนย์ตามอย่างแต่ก่อน ให้นิมนต์พระราชาคณะ มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นต้นมาสวดพระพุทธมนต์ฉัน ๓ วัน ถวายชัยถวายพรแก่พระองค์ทุกวันในปีเถาะนั้น

ครั้น ณ วันเสาร์เดือน ๕ ขึ้น ๒ ค่ำ เถลิงศก ศักราช ๑๕๒๖ ปีมะโรง นักษัตรฉศก (พ.ศ.๒๑๔๗) จึ่งมหาอุปราชสั่งให้พระยาเดโชนุวงศ์ ยกทัพไปตีเมืองพนมเพ็ญและเมืองที่ได้ และยกต่อไปตีเมืองเตลิง และด้วยกะเหรี่ยง ชอง ละว้า สำบกสำบูรณ์ ได้ ชาวป่าอดข้าวปลาอาหารนัก เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์จึ่งมีหนังสือบอกไปถึงพระมหาอุปราช ตามเหตุที่ได้เมืองทั้งสามหัวเมืองนั้นได้สิ้นแล้ว แต่อิดโรยด้วยสะเบียงอาหารกันดารนัก สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณแจ้งว่าชาวป่าอดอาหาร จึ่งพระราชทานลำเลียงอาหารส่งให้เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์แม่ทัพ แจกจ่ายให้แก่ ไพร่พลเมืองจงทุกเมืองให้ทั่ว อย่าให้ล้มตายได้เป็นอันขาดทีเดียว แล้วเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์แม่ทัพบังคับนายทัพนายกองทั้งปวง ให้ตั้งค่ายขุดคูประตูหอรบให้มั่นกันอันตราย แรมทัพอยู่ตั้งทำนาอยู่ ณ เมืองเตลิงนั้น แล้วเกลี้ยกล่อมชาวป่า ละว้า กะเหรี่ยง ชองซึ่งหนีซุ่มอยู่ดอนป่า ที่บรรดาขัดแข็งนั้นก็ให้ยกทัพไปจับเอาครอบคครัวมาได้สิ้นทั้งจังหวัดฝั่งตะวันออกสิ้นเสี้ยนหนามแล้ว เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ยกทัพกลับเข้ามาเฝ้าพระศรีสุโยพรรณ ๆ พระองค์ตั้งรักษาหัวเมืองเตลิงทั้งสามหัวเมือง ให้คงเมืองเหมือนแต่ก่อน

ครั้น ณ วันเสาร์เดือน ๕ ขึ้น ๒ ค่ำเถลิงศก ศักราช ๑๕๒๗ ปีมะเส็งสับตศก (พ. ศ. ๒๑๔๘) จึ่งสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณ พระองค์ทรง พระดำริว่าหัวเมืองใด ๆ เราตีได้สิ้น ยังแข็งอยู่แต่เมืองทะรังนี้เมืองใหญ่ พระรามธิบดีเป็นพระวงศานุวงศ์ กับพระองค์ไปอาศัยอยู่ณเมืองนั้น และ นะแกตะแขกเป็นพระยาพิษณุโลกเป็นเจ้าเมืองทะรัง ๆ นี้เข้มแข็งกล้าหาญชาญศึกสันทัดอยู่ มิได้รู้ว่าเราจะเป็นเจ้ากัมพูชา จึ่งสั่งให้เจ้าพระยาเดโช นุวงศ์กะเกณฑ์กองทัพยกไปตีจับเอาตัวพระยาพิษณุโลกมาให้จงได้ เจ้า พระยาเดโชนุวงศ์รับสั่งแล้วเกณฑ์กองทัพยกไปตีเมืองทะรัง พระยาเดโช นุวงศ์กับพระยาพิษณุโลกทำศึกสู้รบกันประมาณได้ขวบปี ต่างคนต่างมีฝีมือไม่แพ้ไม่ชะนะกัน ราทัพตั้งมั่นรออยู่ เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ฟันแทงไม่เข้าแคล้วคลาด และพระยาพิษณุโลกนั้นบังเหลื่อม ล่องหน อึดใจหายตัวได้ ต่างคนต่างให้ทำค่ายขุดคูประตูท่าเชิงเทินรักษาไพร่พลเป็นกลกระบวนศึก ฝ่ายเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์คิดเป็นกลอุบาย แล้วสั่งแม่ทัพแม่กองทั้งปวงได้ทำนาได้ข้าวปลามีกำลังแล้ว จึ่งจะได้คิดทำศึกกับพระยาพิษณุโลกต่อไป นัยหนึ่งว่า ณ วันจันทร์เดือน ๙ แรม ๑ ค่ำ หม่อมสุกเป็นห้ามพระศรีไชยเชษฐาซึ่งค้างอยู่ณกรุงศรีอยุธยานั้น มีพระราชบุตราองค์หนึ่งชื่อว่า นักกู นัยหนึ่งว่าหม่อมสุกเป็นมเหษีมหาอุปราช เป็นพระญาติพระวงศ์สนิทติดพันกันข้างพระแก้วฟ้า สบพบคบคิดกันกับ พระแก้วฟ้า จะใคร่ให้พระแก้วฟ้าเป็นเจ้ากัมพูชา จึ่งเกลี้ยกล่อมคบหา ซึ่งพวกแขกและเขมรได้กำลังมากแล้ว สมเด็จพระแก้วฟ้ายกรี้พลแขก เขมรมาล้อมพระราชวังสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณ ๆ พระองค์จึ่งแต่งเสนามุขมนตรีออกรับทัพพระแก้วฟ้า ๆ สู้ทัพมนตรีพระศรีสุริโยพรรณมิได้ พระแก้วฟ้ายกพลหนีแตกกระจัดกระจายล้มตายเป็นอันมาก สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณจับพระแก้วฟ้าเทวอคตฆ่าเสียกับสมัคพรรคพวกจนสิ้นแล้ว คนร้ายที่เหลือตายนั้นพระองค์ส่งให้ไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้างหญ้าม้าบ้าง เป็นคนน้ำร้อนน้ำเย็นบ้าง หามวอเสลี่ยงบ้าง

ครั้น ณ เดือน ๑๑ ออกพระวษาแล้ว จึ่งสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณพระองค์ทรงพระดำริวิตก ว่า เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์กับพระยาพิษนุโลกสู้กันมีฝีมือทัดกันอยู่ ทำไมจึ่งจะรู้ว่าแพ้ว่าชะนะ จะคิดให้เป็นกลอุบายแก้ไขให้จงได้ พระองค์ จึ่งแต่งคนดีให้ไปประโลมล่วงเข้าข้างหลังเมือง จับเอาบุตรภรรยาพระยาพิษณุโลกมาได้สิ้น และพระยาพิษณุโลกเสียกลอุบายแก่พระศรีสุริโยพรรณ และเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ เสียใจนัก พระยาพิษณุโลก ชวนกรมการมาเข้าหาเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์สิ้น สมเด็จพระรามธิบดีเห็นว่า พระยาพิษณุโลกเข้าหาเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์แล้ว พระองค์ก็ชวนพรรคพวกมาเข้าหาเจ้าพระยาเดโชด้วยแล้ว จึ่งเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์เลิกทัพจับพระยาพิษณุโลกและพระราม ธิบดี นำมาถวายพระศรีสุริโยพรรณ ๆ จึ่งจัดแจงแต่งให้พระญาติพระ วงศ์องค์หนึ่งนั้น เป็นผู้รักษาเมืองทะรัง เป็นเจ้าพระยาพิษณุโลก แต่พระยาพิษณุโลกแขกนั้น สั่งให้พันธนาการจำครบใส่ตรุไว้กว่าจะตาย

ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๒ ค่ำ ศักราช ๑๕๒๘ ปีมะเมีย นักษัตรอัฐศก (พ.ศ.๒๑๔๙ ) จึ่งสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณ พระองค์ ทรงดำริวิตกว่า หัวเมืองข้างฝ่ายทักษิณทิศนั้นก็ราบคาบสิ้นเสี้ยนหนามแล้ว ยังแต่หัวเมืองอุตรทิศฝ่ายเหนือนั้น อริราชศัตรูหมู่ปัจจามิตรข้าศึก ยังโหมฮึกกล้าหาญอหังการ์ ถืออาตมาว่าตัวมีบุญเป็นเจ้านายอยู่ทุกหัวเมือง ได้ระคายเคืองพระทัยนัก จึ่งสั่งให้เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์จัดทัพสำหรับตีที่เคยมีชัยมาทุกครั้ง เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์รับสั่ง แต่งทัพเสร็จสำเร็จ ยกไปตีเมืองพระตะพังและเมืองเชิงไพร ผู้รักษาเมืองพระตะพังและเมืองเชิงไพร รู้ว่ากองทัพเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ยกมาตี แล้วต้อนรับกับเครื่องราชบรรณาการมาคำนับเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ เข้าด้วยเป็นสามิภักดิ์ ยังแต่เมืองบาชัย บาอานัน ผู้รักษาเมืองบาชัย บาอานัน ถือศีลกินบวชอาเพสเป็นดาบศวิทยาอาคมเชี่ยวชาญปรากฏ ระบือลือยศ ทุกสถาน ห้าวหาญนัก พูดจาเป็นคำสิงหลเป็นภาษาบาลี เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์สั่งให้กองทัพยกเข้าตีเมืองบาชัยบาวา ฝ่ายเจ้าเมืองบาชัยบาวารู้ ว่ากองทัพเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ยกมาติดเมือง เข้ารองราชพิธีน้ำมาสิง ได้พรหมจารี ปลุกเสกทำเป็นมงคลใส่ศีรษะสวมคอ รอได้ฤกษ์ เลิกพลให้คนหามแคร่แห่แม่ทัพ ออกมารบทัพเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ บรรดาได้มงคลทนคงทนงใจโหมฮึก พวกข้าศึกฟันแทงไม่ถูกเลย กับเจ้าเมืองบาชัยบาวากับทัพเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ สู้กัน ๓ วัน ๓ คืน กำลังศึกทั้ง ๒ ฝ่ายก็ก้ำกึ่งกัน ทัพเจ้าเมืองนั้นก็ยกมาล่าเลิกเข้าเมือง ทัพเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์นั้น ก็สั่งกันให้ตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ แล้วเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์สั่งนายทัพนายกอง ให้กำชับว่ากล่าวไพร่พลสกลโยธา ให้ตั้งทำนา ข้าวปลาอาหาร ให้บริบูรณ์พร้อมมูลแล้วจะได้คิดการศึกต่อไป

ครั้น ณ วันศุกร์เดือน ๘ ทุติยาษาฒ แรมค่ำหนึ่ง เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ จึ่งเรียกราชบุรุษผู้หนึ่งมีปัญญาเฉลียวฉลาดแหลมหลักเป็นนักปราชญ์ รู้ทั้งพุทธศาสตรและไสยศาสตร โวหารฉลาดทุกประการ มาสนทนาว่าขานเป็นความลับว่า ท่านจงรับอาษาเราไปคิดกลอุบายแก้ไขเอาเมืองบาชัยให้จงได้ ถ้าคิดการสำเร็จจะกราบทูลพูนบำเหน็จความชอบให้ท่านเป็นใหญ่ในที่อัครฐาน ท่านจงทรมานกายสู่ความละอายจะได้สุข จะทนทุกข์อย่าโทมนัสใจ เราจะสั่งให้เขากระทำโพยพันธนาการท่านแล้ว ท่านจงหนีเข้าไปในเมืองบาชัยบาวานั้นเถิด แล้วเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ สั่งให้ราชบุรุษผู้นั้นมากระทำโทษแต่พอเป็นที จำคาใส่โซ่ไว้ ครั้นเพลาพลบค่ำ ราชบุรุษก่อนเข้าไปเมืองบาชัยบาวานั้น ฝ่ายเจ้าเมืองบาชัย บาวารู้ว่า นักโทษข้าศึกหนีเข้ามาในเมือง เอาตัวมาถามได้ความ แล้ว ให้ถอดโซ่ตรวนขื่อคาที่พันธนาการนั้นออกแล้ว ราชบุรุษนั้นจึ่งว่าแก่เจ้าเมืองบาชัยบาวามันว่า ข้าพเจ้าอยู่ด้วยเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ เป็นคนสำหรับหัวปากพ่อครัวไว้ใจข้าพเจ้าสิ้น ไส้พุงเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์กับพระศรีสุริโยพรรณบรมกษัตริย์นั้น มีอยู่สักกี่ขด ๆ คนดีมีฝีมือมีอยู่สัก กี่คนๆ ชั่วดีมีอยู่เท่าใด ท่านเเจ้งใจอยู่สิ้นทุกประการ แต่ข้าพเจ้าทรมานกายมาหลายทับแล้ว มาอยู่ว่าจะได้ดี บัดนี้เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์มาครุทำโทษข้าพเจ้าถึงสาหัสสากันนั้น ข้าพเจ้ามิได้มีความผิด จึ่งคิดหนีมาอยู่ด้วยท่านกว่าจะสิ้นชีวิต มิได้คิดประทุษร้ายสิ่งหนึ่งสิ่งใดแก่ท่านหามิได้ ฝ่ายเจ้าเมืองบาชัยบาวามันเห็นว่า ราชบุรุษนั้นสวามิภักดิซื่อตรง ต่อ มิได้มีข้อสงสัยในราชบุรุษนั้นหามิได้ และชุบเลี้ยงให้เป็นใหญ่ในหัวปากพ่อครัว ราชบุรุษนั้นหุงข้าวต้มแกงจัดแจงดูแลให้เจ้าเมืองบาชัยบาวานั้นบริโภคทุกเวลามิได้ขาด ราชบุรุษนั้นจึงรู้ในกลอุบายเจ้าเมือง บาชัยบาวานั้นมีศีลาจารวัตร หมั่นมิได้ประมาท คิดทำลายศีลให้ขาด จากสันดานแล้วจึ่งวางยากลอุบายปรุงลงกับของบริโภค เจ้าเมืองบาชัยบาวาบริโภคอาหารเข้าไป ก็ให้เจ็บท้องจุกเสียดเสียวทั่วสรรพางค์ตัวและให้มึนเมื่อยเมามัว ราชบุรุษซ้ำวางสุราให้กิน ยิ่งมัวเมาไปทั้งกลางวันกลางคืน จะได้ฟื้นตัวรู้สึกสมประดีนั้นหามิได้

ราชบุรุษวางกลอุบาย วิทยาอาคมสมดุจหนึ่งใจนึก แล้วก็หนีมาแจ้งเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ ๆ รู้ว่าเจ้าเมืองบาชัยบาวาเสียพิธีกิริยาแล้ว ก็สั่งโยธาตระเตรียมไว้ให้พร้อม ครั้น ณ วันอังคารเดือน ๑๑ ออกพรรษา จึ่งเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์สั่งให้ แม่ทัพแม่กองยกเข้าตีเมืองบาชัยบาวาได้ เจ้าเมืองบาชัยบาวาถูกปืนตาย ไพร่บ้านพลเมืองแตกกระจัดกระจายล้มตายเป็นอันมาก และเมืองสตง ฉทึงตรอง และเมืองสมบุกสมบูรณ์กลัว แล้วยกครอบครัวมาขึ้นเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์สิ้น เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์มีชัยยกทัพกลับเข้ามาเฝ้าพระเจ้าศรีสุริโยพรรณ สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณพระองค์จัดแจง ผู้รักษาเมืองบาชัยบาวาและเมืองสตงฉทึงตรอง และเมืองสมบุกสมบูรณ์ให้ตั้งเมืองเหมือนแต่ก่อน

ครั้น ณ วันเสาร์เดือน ๕ แรม ๖ ค่ำ เถลิงศกศักราช ๑๕๒๙ ปีมะแมนักษัตรนพศก (พ.ศ.๒๑๕๐) จึ่งสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณ สั่งให้เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์เป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองโคแสะและเมืองสันทุก เจ้าเมือง โคแสะ และเจ้าเมืองสันทุก รู้ว่ากองทัพเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ยกมา แต่งราชบรรณาการมาขึ้นแก่พระยาเดโชนุวงศ์สิ้น แล้วเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ยกกองทัพไปตีเมืองทมอกูน สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้าเมืองทมอกูนรู้ว่า กองทัพเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ยกมาตีเมืองพระองค์ๆจึ่งจัดแจงแต่งแม่ทัพนายกอง ประลวงล่อต่อทัพเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ ๆ เห็นว่ากำลังทัพสมเด็จพระรามาธิบดีกล้าแข็งหนัก ก็หยุดพักพลทหารตั้งทัพอยู่ทำค่ายขุดประตูพื้นเชิงเทิน ให้นายทัพนายกองตั้งทำนาเอาข้าวปลาอาหารสะเบียงให้เป็นกำลังศึกสืบไป

ครั้น ณ เดือน ๑๑ ออกพระวษา จึ่งสมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวพระนเรศรเป็นเจ้า พระองค์ทรงทราบพระทัยว่า พระศรีสุริโยพรรณมีหนังสือเข้ามาขอพระศรีไชยเชษฐา และว่าบรรดาหัวเมืองปากใต้ พระศรีสุริโยพรรณปราบสิ้นเสี้ยนหนามแล้วยังแต่เมืองฝ่ายเหนือยังกระด้างกระเดื่องเคืองขัดแข็ง เรี่ยวแรงมีกำลังอยู่เป็นหลายเมืองนั้น จึ่งมีพระราชโองการโปรดเกล้า ฯ จัดนายทัพนายกองไทย ให้พระศรีไชยเชษฐาเป็นแม่ทัพ คุมออกไปช่วยกันตีเป็น ๒ ทัพ เป็นทัพกระหนาบกับทัพเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ พระศรีไชยเชษฐาเป็นแม่ทัพไทย ออกไปตีเมืองพระนครสวรรค์ เจ้าเมืองพระนครสวรรค์รู้ว่า ทัพพระศรีไชยเชษฐายกมาแต่เมืองไทย ตกใจแล้วแต่งราชบรรณาการมาถวายตัวเข้าด้วยพระไชยเชษฐาๆพระองค์ตั้งผู้รักษาเมืองให้คงเมืองแล้ว พระองค์ยกกองทัพไปตีเมืองโพธิสัตว์ ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการ เมืองโพธิสัตว์มาสามิภักดิด้วยพระศรีไชยเชษฐา ๆ พระองค์ยกกองทัพ ไปตีเมืองบริบูรณ์ เมืองละแวก ผู้รักษาเมืองบริบูรณ์เมืองละแวก ก็เข้าสามิภักดิด้วยทัพพระศรีไชยเชษฐาสิ้น แล้วพระองค์ก็ข้ามไปเฝ้าพระศรีสุริโยพรรณ ณ เกาะสระเกษในปีมะแมนั้น พระชนมายุศม์พระศรีไชยเชษฐานั้นได้ ๒๓ ปี

และจะว่าด้วยเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ ตั้งล้อมเมืองทมอกูน รบกันกับสมเด็จพระรามธิบดีนั้นช้านาน จะได้แพ้ชะนะกันหามิได้ เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ จึ่งมีหนังสือบอกมาให้กราบทูลสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณ ๆ แจ้งว่า เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์รู้ทัพกันกับพระรามธิบดีก็แข็งกันอยู่ มีพระโองการให้ไปนิมนต์พระพุทธวงศ์ อยู่ ณ วัดเมืองไทรหัดมาปรึกษาการศึกเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์รบกับศึกสมเด็จพระรามธิบดี พระพุทธวงศ์แจ้งเหตุแล้วรับอาษาไปเจรจาด้วยสมเด็จพระรามธิบดี ๆ รู้แจ้งว่า พระพุทธวงศ์มาเกลี้ยกล่อมพูดจาว่า พระศรีสุริโยพรรณพระองค์ จะเลี้ยง พระองค์อย่าทรงพระดำริว่า พระพุทธวงศ์บ่เป็นสมณะ หาไหนจะมาล่อลวงพระองค์นั้นหามิได้ สมเด็จพระรามาธิบดีก็เข้าหาเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ ๆ ก็เลิกกองทัพกลับมาเฝ้าพระศรีสุริโยพรรณ ๆ พระองค์ให้สมเด็จพระรามธิบดีถือน้ำพระพิพัฒสัจจาดีแล้ว พระองค์ตั้งสมเด็จพระรามธิบดีให้ไปเป็นเจ้าเมืองโคแสะ ชื่อสมเด็จพระรามธิบดีศรีสุริยวงศ์ ดังเก่า และเลี้ยงเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ให้ไปเป็นเจ้าเมืองสันทุก ชื่อออกญา เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ ภรรยาเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์นั้น พระองค์เลี้ยง ให้เป็นแม่อยู่หัวเจ้าและตำแหน่งเฝ้าเจ้าพระยากลาโหม เจ้าพระยาจักรีเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์สบเสมอกัน

ครั้น ณ วันพุธเดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ เถลิงศก ศักราช ๑๕๓๐ ปีวอกนักษัตร สัมฤทธิศก (พ. ศ. ๒๑๕๑ ) สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณพระ องค์ทรงพระดำริว่า เมืองกัมพูชาธิบดีนี้สิ้นเสี้ยนหนามแล้ว พระองค์ จึ่งทรงแต่งพระราชสาร ไปกราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวพระนเรศรเป็นเจ้าให้ทราบฝ่าละออง ฯ อุปทูตราชทูตใช้ให้ไปมาทุกปีมิได้ขาด แล้วพระองค์จึ่งสั่งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยให้ไปสร้างเมือง ตั้งพระราชวังอยู่ณเมืองละวาเอม ๆ นั้น เหนือเกาะสระเกษ ไปทางประมาณ ๒๐๐ เส้น ตั้งตำหนักพระมหาอุปราช และพระตำหนักพระราชโอรสทั้ง ๒ พระองค์

ต่อจากนี้เป็นเรื่องพระราชพิธีต่างๆ ที่ยืดยาวและอยู่นอกประเด็นที่ต้องการนำเสนอ จึงขอจบเพียงแค่นี้ ผู้สนใจเรื่องราวฉบับเต็มสามารถตามไปอ่านได้ที่ http://th.wikisource.org/wiki/ประชุมพงศาวดาร_ภาคที่_๗๑ หรือหาหนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๑ ฉบับจริงมาอ่านครับ

 ----------

หมายเหตุ : เปิดให้แสดงความคิดเห็นเฉพาะสมาชิกเว็บไซต์ที่ด้านล่างสุด 

Bookmark and Share




บทความจากสมาชิก




Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker