
webmaster@iseehistory.com
ขณะที่เขียนบทความนี้เป็นเวลาที่พึ่งจะขึ้นปีพ.ศ. 2555 ได้ไม่กี่วัน ต้องขอประเดิมปีใหม่กันด้วยภาพยนตร์ไทย "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ ศึกนันทบุเรง" ต่อจากที่ได้แนะนำภาพยนตร์ในภาค ๓ ไปเมื่อต้นธันวาคม 2554 ซึ่งหากไม่สนใจเลขพ.ศ.ก็พึ่งจะผ่านไปได้ประมาณเดือนเดียวเท่านั้นเอง การที่เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ (IseeHistory.com) แห่งนี้จะได้เริ่มศักราชใหม่กับภาพยนตร์ไทยนั้น น่าจะเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยที่ดี เสียดายว่าความรู้สึกของผมต่อ "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ในภาคนี้ไม่ได้ดีไปกว่าในภาคก่อนๆ สักเท่าไหร่
เพื่อไม่ให้เสียเวลามาดูเรื่องย่อกันเลยครับ เริ่มจากควันหลงของสงครามกับพระเจ้าเชียงใหม่ในภาคที่แล้ว สมเด็จพระนเรศวรเสด็จทางชลมารคผ่านหน้าค่ายของพระศรีสุพรรณ พระอนุชาของนักพระสัตถาแห่งเมืองละแวก แล้วพระศรีสุพรรณนั่งดูเฉยไม่แสดงความเคารพต่อองค์พระนเรศวรฯ พระชัยบุรีกับพระศรีถมอรัตน์รู้สึกไม่พอใจจึงแอบเอาหัวหลายหัวไปไว้แถวค่ายพระศรีสุพรรณ ทำให้พระศรีสุพรรณไม่พอพระทัยขึ้นมาบ้าง จึงไปทูลถามพระนเรศวรฯ แล้วเกิดเป็นปากเสียงกัน พระศรีสุพรรณกลับเมืองละแวกไปทูลยุยงพระยาละแวกจนพระยาละแวกประกาศไม่ขอเป็นเมืองขึ้นอโยธยาอีกต่อไป

พระยาพิชัยกับพระยาสวรรคโลกมาชวนพระยากำแพงเพชรแข็งเมืองต่ออโยธยา
ทางฝ่ายหงสาวดี พระเจ้านันทบุเรงทรงพระพิโรธที่พระยาพสิมและพระเจ้าเชียงใหม่พ่ายศึก จึงมีพระดำริที่จะยกกองทัพใหญ่มาตีอโยธยาด้วยพระองค์เอง ทางฝ่ายหัวเมืองเหนือของไทย พระยาพิชัยกับพระยาสวรรคโลกได้มาชวนออกญากำแพงเพชรแข็งเมืองต่ออโยธยาเนื่องจากทั้งสองยังภักดีต่อหงสาวดี และเห็นว่าการประกาศอิสรภาพของสมเด็จพระนเรศวรมีแต่จะนำภัยมา แต่พระยากำแพงเพชรไม่ได้ตัดสินใจอะไร พอดีระหว่างที่เจรจากันอยู่ คุณท้าวโสภาแอบได้ยินเข้า ต่อมาพระมหาธรรมราชาได้ทรงทราบจะโดยคุณท้าวไปบอกหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ ก็โปรดฯให้สมเด็จพระนเรศวรกับพระเอกาทศรถไปเกลี้ยกล่อมเมืองทั้งสอง หากไม่สำเร็จจึงค่อยใช้กำลัง ผลคือพระยาทั้งสองไม่ยอมจึงเกิดการสู้รบกันจนกระทั่งสมเด็จพระนเรศวรได้รับชัยชนะจับพระยาทั้งสองประหารชีวิต


พระเจ้านันทบุเรงเคลื่อนพลออกจากหงสาวดี
พอปราบพระยากบฎทั้งสองลงได้ ก็พอดีพระเจ้านันทบุเรงเริ่มเคลื่อนทัพใหญ่มายังกรุงศรีอยุธยา คุณท้าวโสภาบอกให้พระยากำแพงเพชรผู้เป็นสามีไปอาสาออกรบเอาความชอบ พระมหาธรรมราชาทรงเสียอ้อนวอนพระยากำแพงเพชรไม่ได้ จึงโปรดให้เป็น 1 ใน 3 ขุนนางที่จะนำกองทัพออกไปคุ้มกันชาวบ้านเกี่ยวข้าวในที่ต่างๆ เพื่อมาสะสมเป็นเสบียง คือ ออกญาเสนาภิมุขนำทหารอาสาญี่ปุ่นอยู่ที่ทุ่งหันตรา พระยาสุโขทัยอยู่ที่ทุ่งลุมพลี และพระยากำแพงเพชรอยู่ที่ทุ่งชายเคือง แล้วหวยก็มาออกที่พระยากำแพงเพชรจนได้เมื่อพระมหาอุปราชาแห่งพม่านำทัพเข้าโจมตีทุ่งชายเคือง พระยากำแพงเพชรสู้พม่าไม่ได้ต้องสูญเสียทั้งเสบียง ทั้งทหารล้อมวังและชาวบ้านที่ไปเกี่ยวข้าวเป็นจำนวนมาก ตัวพระยากำแพงเพชรเองถูกจับได้แต่พระมหาอุปราชาไว้ชีวิตโดยสลักหนังสือไว้ที่หลัง สมเด็จพระนเรศวรทรงตัดสินลงโทษ "ฟันคอ-ริบเรือน" ตามอาญาทัพ คุณท้าวโสภาทราบเรื่องจึงไปขอให้มณีจันทร์ไปทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้จนพระยากำแพงเพชรรอดคมดาบเพชฌฆาตไปได้อย่างหวุดหวิด

พระมหาอุปราชาแห่งพม่านำทัพเข้าโจมตีที่ทุ่งชายเคือง

มณีจันทร์ดูแลพระอาการบาดเจ็บของพระนเรศวร
ด้านพระราชมนูได้นำทหารมาช่วยชาวบ้านที่บ้านบางเกี่ยวหญ้าในเวลาเดียวกันกับที่หาญเสือฟ้าและเลอขิ่นนำคนของตนมารบกับพม่าเช่นกัน เสร็จการรบครั้งนั้นพระราชมนูนึกอดีตที่เคยมีความสัมพันธ์กับเลอขิ่น ขณะที่เลอขิ่นบอกกับเสือหาญฟ้าว่าไม่เห็นประโยชน์ที่จะต้องมารบเพื่อบ้านเมืองอื่น แล้วก็ขี่ม้าออกมาตามลำพังหวังจะกลับไปยังเมืองคัง พอดีพระราชมนูมาพบเข้าก็ห้ามไว้ ไปๆมาๆถ่านไฟเก่าก็ปะทุจนถึงขั้นร่วมหอลงโรงกัน
ด้านสมเด็จพระนเรศวร ได้ทรงปรึกษากับแม่ทัพนายกองแล้วตัดสินพระทัยนำทัพบุกเข้าปล้นค่ายของมังจาปโรซึ่งเป็นค่ายใหญ่ค่ายหนึ่งของพม่า ซึ่งการรบครั้งนี้ก็คือวีรกรรมพระแสงดาบคาบค่ายนั่นเอง โดยในภาพยนตร์นั้นทรงถูกมังจาปโรแทงตกลงมาจากค่ายได้รับบาดเจ็บสาหัสทำให้สมเด็จพระเอกาทศรถทรงตัดสินพระทัยถอยทัพ เดี๋ยวข้อเท็จจริงจะมาคุยกันตอนท้าย เอาเป็นว่าในภาพยนตร์บาดแผลของพระองค์หนักหนาจนถึงกับประชวรเป็นไข้อยู่หลายวัน ระหว่างนั้นพระเจ้านันทบุเรงมีบัญชาให้ลักไวทำมูเป็นแม่ทัพเตรียมการคัดเลือกทหารฝีมือดีไว้รับมือกับพระนเรศวร ขณะที่สมเด็จพระเอกาทศรถได้ทรงนำทัพออกรบกับพม่า ระหว่างการบพระราชมนูถูกลักไวทำมูแทงที่คอตกจากหลังม้า และถูกลักไวทำมูลากเข้าไปในค่าย เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงทุเลาจากการประชวรและทราบเรื่องโดยเข้าใจเช่นคนอื่นๆ ว่าพระราชมนูตายแล้ว ก็ทรงพิโรธสเด็จนำทัพออกไปรบกับลักไวทำมู และสังหารลักไวทำมูได้สำเร็จ แทนที่ภาพยนตร์จะจบลงแค่นี้กลับจบลงที่ฉากพระราชมนูซึ่งยังไม่ตายแต่ถูกพม่าจับเป็นเชลยพึ่งจะเริ่มฟื้นขึ้นมา ซึ่งเรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไปต้องรอชมกันในภาค ๕ ครับ

ทหารพม่าในสังกัดของลักไวทำมูที่คัดมาเป็นพิเศษ

จัดวงล้อมให้พระนเรศวรสู้กับลักไวทำมูแบบตัวต่อตัว
ด้านข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์นั้น ที่จริงคุณ "ศรีสรรเพชญ์ (Slight06)" แห่ง pantip.com ได้สาธยายไว้อย่างละเอียดแล้วที่ http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2011/08/K10948335/K10948335.html แต่การที่เขาเขียนไว้ดีแล้วคงไม่ใช่ข้ออ้างที่จะลอกการบ้านเขามาหรือจะไม่เขียนอะไรเลย ผมจึงต้องขอแสดงความเห็นส่วนตัวบ้าง ดังนี้ครับ
ประเด็นแรก กรณีการตัดหัวเชลยเสียบหน้าค่ายพระศรีสุพรรณ ในภาพยนตร์กล่าวว่าเป็นการวางแผนของพระชัยบุรีกับพระศรีถมอรัตน์ แต่ตามพระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ ระบุว่าเป็นพระบัญชาของสมเด็จพระนเรศวรเอง ซึ่งทางฝ่ายพระศรีสุพรรณก็ได้แต่เก็บความแค้นไว้ในใจขณะที่ทางฝ่ายไทยเราเองก็ยังให้รางวัลแก่ทางเขมรตามสมควร ขอนำข้อความจากพระราชพงศาวดารฯ ฉบับหมอบรัดเล ที่เคยลงในบทวิจารณ์ภาพยนตร์ในภาค 3 มาลงให้ดูกันอีกที

พระศรีสุพรรณแห่งเมืองละแวกกำลังพิโรธพระนเรศวรจากการที่มีมีหัวเชลยปักอยู่หน้าค่าย
ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันอังคาร เดือนห้า แรมเจ็ดค่ำ เพลาบ่ายสามโมง สมเด็จพระราชบิดา ก็เลิกทัพคืนเข้าพระนครโดยชลมารค. ครั้น ณ วันศุกร์ เดือนห้า แรมสิบค่ำ กองทัพซึ่งไปตามพระเจ้าเชียงใหม่กลับมาถึงสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า กับพระอนุชาธิราชก็เลิกทัพ เสด็จด้วยพระชลวิมานพร้อมด้วยดั้งกันนำตาม. ครั้นถึงตำบลโพธิ์สามต้นทอดพระเนตรเห็นเรือพระศรีสุพรรณมาธิราชกับเรือนายทัพนายกองเขมรทั้งปวง จอดอยู่ ณ ฝั่งฟากตะวันตก แต่พระศรีสุพรรณนามาธิราชนั้น มิได้หมอบนั่งดูเสด็จอยู่ ก็ทรงพระพิโรธให้รอเรือพระที่นั่งไว้. แล้วดำรัสให้หลวงพิไชยบุรินทราตัดเอาศีรษะลาวเชลยซึ่งจับได้นั้นไปเสียบไว้ตรงเรือพระศรีสุพรรณมาธิราช หลวงพิไชยบุรินทราก็ไปทำโดยรับสั่ง. สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า กับสมเด็จพระอนุชาธิราชก็เสด็จเข้าพระนคร. ฝ่ายพระศรีสุพรรณมาธิราชเห็นดังนั้น ก็น้อยพระทัยคิดอาฆาตมิได้ว่าประการใด ก็ล่องเรือมาที่อยู่ ครั้นรุ่งขึ้นสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพร้อมด้วยท้าวพระยาเสนาพฤฒามาตย์ทั้งปวง. จึงดำรัสว่า ซึ่งพระยาละแวกให้พระศรีสุพรรณมาธิราชผู้เป็นอนุชา เข้ามาช่วยงานพระราชสงครามจนเสร็จนั้นขอบใจ. ให้พระราชทานพานทองคำ กับสนองพระองค์อย่างเทศอย่างน้อย. แลนายทัพนายกองเขมรทั้งปวงนั้น ก็พระราชทานเสื้อผ้าโดยสมควร. พระศรีสุพรรณมาธิราชกับพระยาเขมรทั้งปวงกราบถวายบังคมลา ก็เลิกทัพกลับไปยังพระนคร.

ทรงปราบกบฎสำเร็จ
กรณีกบฎพระยาพิชัย พระยาสวรรคโลก ตามประวัติศาสตร์จริงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใน พ.ศ.2127 หลังประกาศอิสรภาพไม่นานและก่อนรบกับพระยาพสิม พระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งเวลานั้นทั้งสองออกญาท่านคงจะเกรงภัยพม่ามากกว่าข้อหากบฎ พอถูกนำมาไว้ทีหลังศึกพระเจ้าเชียงใหม่เลยขัดความเป็นจริงที่ว่า ทั้งสองเมืองนั้นเป็นหัวเมืองเหนือที่น่าจะถูกเทครัวเข้ามาเป็นกำลังของอโยธยาเรียบร้อยแล้ว แถมไทยพึ่งรบชนะพม่ามาหมาดๆ จะว่ากลัวทัพพม่าที่พระเจ้านันทบุเรงยกมาเองมากกว่าทัพพระยาพะสิมและทัพพระเจ้าเชียงใหม่ที่พึ่งพ่ายไปมันก็ยังไงอยู่ ผู้เขียนบทคงต้องการที่จะปูทางไปสู่เรื่องของพระยากำแพงเพชรกับคุณท้าวโสภา ซึ่งกำลังจะพูดถึงในประเด็นถัดไป

พระยากำแพงเพชรกับผลงานความโหดร้ายของพม่าตามมาตรฐานหนังไทย!
กรณีพระยากำแพงเพชรพ่ายศึกแล้วรอดพระราชอาญา เรื่องนี้มีในพระราชพงศาวดารแต่ละฉบับเพียงไม่กี่บรรทัด แต่ถูกนำมาขยายความเป็นเรื่องราวหลายนาทีเพียงเพื่อโชว์ความโหดร้ายของพม่าต่อชาวบ้านไทยและทหารไทยตามมาตรฐานเดิมที่เคยทำมาในภาคก่อนๆ แล้วก็มาเสียเวลากับบทโศกของคุณท้าวโสภาและความพยายามของมณีจันทร์ในการทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้อยู่เป็นหลายนาที และการที่พระนเรศวรท่านจะยอมยกโทษให้พระยากำแพงเพชรเพราะการเพ็ดทูลของมณีจันทร์นั้นดูไม่สมเหตุผลเหมือนกับการทักท้วงของพระมหาธรรมราชาผู้เป็นพระราชบิดา

กลับมาชื่นมื่นแล้วจ้า
เรื่องของพระราชมนูกับเลอขิ่น ซึ่งเริ่มต้นในภาค 2 มาผละจากกันในภาค 3 มาภาค 4 นี่กลับมาดีกันโดยแม่นางรัตนวดีหายไปอย่างไร้ร่องรอย เสียเวลาของภาพยนตร์ไปกับเรื่องนี้ไปอีกตั้งหลายนาที นานราวกับว่าช่วงที่สองคนนี้กลับมาคืนดีกันนั้นไม่ได้มีศึกสงครามยังไงยังงั้น ผมเองมีข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกหน่อยจากการที่เปรียบเทียบกับภาพยนตร์ ละครทีวี และนวนิยายหรือบรรดาเรื่องสมมติทั้งหลายแหล่ที่เคยผ่านหูผ่านตามา ก็มีอยู่หลายเรื่องหลายชาติที่อาจจะให้ตัวละครหลักเดินเรื่องในพล็อตหลัก แล้วมีพล็อตรองที่อาจจะให้ตัวเอกในชุดเดียวกันหรือตัวละครรองๆ เป็นคนเดินเรื่อง ซึ่งพล็อตทั้งสองส่วนนี้ (เทียบกับทางทหารอาจจะเรียกว่า "ภารกิจหลัก" กับ "ภารกิจรอง" ก็ได้) มักจะแต่งให้มีอะไรที่เสริมกันทางอ้อมหรือเปรียบเทียบเปรียบเปรยกันได้ แต่ในกรณีของหนังไทย ละครไทย นิยายไทย มักเป็นว่าพล็อตหลักจะออกแนวเคร่งขรึมจริงจัง ขณะที่พล็อตรองจะเป็นเรื่องเบาๆ เช่น รักกระจุ๋มกระจิ๋ม หรือไม่ก็ตลกโปกฮาไปเลย เมื่อใส่เข้ามาไม่เนียนพอก็มักจะกลายเป็นเหตุให้พล็อตหลักของเรื่องคลุมเครือหรือทำให้คนดูคนอ่านคนฟังปรับอารมณ์ตามไม่ทันหรือหลงประเด็นจนลืมพล็อตเรื่องหลักไปได้ดังเช่นการแต่งเติมเรื่องของพระราชมนูกับเลอขิ่นในเรื่องนี้

กรณีวีรกรรมพระแสงดาบคาบค่าย ในพระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ ระบุว่าทรงปีนค่ายแล้วถูกแทงตกลงมาหลายครั้ง ไม่ปรากฏว่าทรงได้รับบาดเจ็บหรือไม่มากน้อยเพียงใด ทำให้นักเขียนที่เชื่อเรื่องไสยศาสตร์บางท่านเอาไปอ้างว่าพระองค์ท่านทรงมีวิชาอยู่ยงคงกระพันด้วยซ้ำ หรือที่คุณศรีสรรเพชญ์ที่ pantip.com สันนิษฐานว่าอาจจะไม่ได้ถูกแทงที่พระวรกายโดยตรง อาจจะทรงปัดป้องหรือทรงหลบอาวุธข้าศึกจนเสียหลักตกลงมาหรืออะไรทำนองนั้น

Medic! คุณหมอช่วยวินิจฉัย Case นี้ทีครับ
กรณีพระราชมนูถูกลักไวทำมูแทงที่คอแล้วถูกจับเป็นเชลย เป็นเรื่องที่ไม่มีในประวัติศาสตร์ไม่ว่าของไทยหรือพม่าอย่างแน่นอน จะต้องให้แพทย์ออกมายืนยันหรือเปล่าไม่ทราบว่าถ้าคนถูกแทงขนาดนั้นจะมีโอกาสรอดชีวิตมากน้อยแค่ไหน และขอโทษเถอะครับ ธรรมเนียมการรบในแถบบ้านเรายุคนั้น ถ้าใครสามารถทำร้ายขุนพลข้าศึกได้ถึงขนาดนั้น แทนที่ลักไวทำนูจะใช้ม้าลากเอาร่างพระราชมนูเข้าไปในค่าย เขามีแต่จะตัดหัวไปถวายพระเจ้าแผ่นดินเพื่อเอาความดีความชอบกันต่างหาก ก็ตอนต้นเรื่องทหารไทยยังตัดหัวข้าศึกไปไว้หน้าค่ายพระศรีสุพรรณมิใช่หรือ และพม่าในภาพยนตร์ชุดนี้ก็โหดร้ายฆ่าคนไทยตายจนเกลื่อนทุ่งอยู่บ่อยๆ ไม่ใช่หรือ

เริ่มรบกันบนหลังม้า แต่มาเผด็จศึกกันบนดิน
และวีรกรรมของพระนเรศวรในการรบกับลักไวทำมู ตามประวัติศาสตร์เป็นการต่อสู้บนหลังม้าโดยพระองค์ทรงพระแสงทวนส่วนลักไวทำมูใช้ดาบ ในภาพยนตร์ทั้งสองสู้กันบนหลังม้าไม่กี่ทีก็ลงมาสู้กันต่อบนพื้นดิน เห็นแล้วก็นึกถึงหนังจีนเก่าๆ บางเรื่องที่เขากำกับคิวบู๊บนหลังม้าไม่เป็นจริงๆ ก็เลยต้องให้ตัวเอกลงจากหลังม้ามาสู้กันบนดินแทนในแบบเดียวกันนี้ หากเป็นบทบู๊ที่ดูสนุกสะใจก็จะเป็นการทดแทนกันได้ แต่ความที่ผู้พันเบิร์ดท่านไม่ใช่จาพนมหรืออย่างไรก็แล้วแต่ ฉากนี้จึงทั้งไม่ตรงประวัติศาสตร์และดูไม่สนุกตื่นเต้นสมเป็นฉากจบของเรื่องเลย
โดยส่วนตัวของผมจึงมีความรู้สึกว่าภาพยนตร์ "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ ศึกนันทบุเรง" นี้ เป็นภาคที่ดูน่าผิดหวังยิ่งกว่าภาคก่อนๆ เสียเวลาไปกับเรื่องที่น่าเบื่อ ถึง 3 ช่วง คือ ช่วงพระยากำแพงเพชรต้องโทษ ช่วงพระราชมนูคืนดีกับเจ้าหญิงเลอขิ่น และช่วงพระนเรศวรทรงบาดเจ็บ ซึ่งนอกจากจะไม่ได้สาระทางประวัติศาสตร์แล้วยังเยิ่นเย้อน่าเบื่อ ถึงฉากรบตอนสุดท้ายก็ดูไม่สนุกเหมือนในภาคก่อนๆ เหตุผลเดียวที่จะดูภาพยนตร์ในภาคนี้คือดูให้ครบชุดไปอย่างนั้นเอง มาถึงขั้นนี้แล้วคงต้องรอดูกันต่อไปว่าภาค 5 จะเป็นอย่างไร และจะจบสมบูรณ์หรือไม่
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
ชื่อเรื่องภาษาไทย : ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี
ผู้อำนวยการสร้าง : หม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา, คุณากร เศรษฐี
ผู้กำกำกับ : หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
ผู้เขียนบท : หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล, ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์
ผู้แสดง : (เฉพาะภาคนี้)
- สมเด็จพระนเรศวรมหาราช...พ.ท.วันชนะ สวัสดี
- สมเด็จพระเอกาทศรถ...พ.อ.วินธัย สุวารี
- มณีจันทร์...ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ
- พระราชมนู...นพชัย ชัยนาม
- พระเจ้านันทบุเรง...จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์
- มังกะยอชวา...นภัสกร มิตรเอม
- พระยาละแวก...เศรษฐา ศิระฉายา
- พระศรีสุพรรณราชาธิราช...ดิลก ทองวัฒนา
- เล่อขิ่น...อินทิรา เจริญปุระ
- เสือหาญฟ้า...ดอม เหตระกูล
- พระยาจีนจันตุ...ชูชาติ ทรัพย์สุทธิพร
- นรธาเมงสอ พระเจ้าเชียงใหม่...ชลิต เฟื่องอารมย์
- มหาเถรคันฉ่อง...สรพงษ์ ชาตรี
- ไอ้ขาม...ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ
- ท้าวโสภา...พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์
- พระยากำแพงเพชร...อภิชาติ อรรถจินดา
- พระยาสีหราชเดโช...ธนา สินประสาธน์
- พระยาพิชัย...กรุง ศรีวิไล
- พระยาสวรรคโลก...มานพ อัศวเทพ
- มูเตอ...เกศริน เอกธวัชกุล
ควรอ่านเพิ่มเติม
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ

ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก www.youtube.com
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์