
webmaster@iseehistory.com
ท่านที่ผ่านชีวิตมาพอสมควรคงเคยมีประสบการณ์บ้างนะครับ ที่บางทีต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดแทบตาย กลับมีใครบางคนสร้างเรื่องขบขันขึ้นมาจนได้ โดยอาจจะมีคนขำออกบ้างไม่ออกบ้าง โชคร้ายหน่อยอาจกลายเป็นตลกฝืดไม่ถูกกาละเทศะไปเลย หรือถ้าโชคดีหน่อยกลายเป็นเรื่องฮาแบบเอกฉันท์ก็อาจทำให้บรรยากาศคลายความตึงเครียดได้บ้างตามสมควร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ดูเหมือนว่าเมืองไทยเราค่อนข้างจะอึมครึมด้วยความขัดแย้งทางการเมืองจนคล้ายจะขาดแคลนอารมณ์ขันไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะถ้าไม่นับเรื่องตลกที่เสียดสีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรือว่าผมจะรู้สึกไปเองก็ไม่ทราบ ย้อนหลังไปอีกราวสามสิบกว่าปีก่อน เมืองไทยเราก็เคยมีความขัดแย้งทางการเมืองถึงขนาดที่ผ่านหนึ่งถูกปราบปรามอย่างรุนแรงจนต้องหนีเข้าป่าไปจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลกันเลย ในเวลานั้นใครจะยังมีอารมณ์ขันแค่ไหนก็ไม่ทราบ จนเมื่อไม่นานมานี้เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ดังกล่าวได้ถูกนำมาเป็นแบ็คกราวด์ของภาพยนตร์ตลกที่เรากำลังจะคุยกันในครั้งนี้ นั่่นคือภาพยนตร์ไทยเรื่อง "ฟ้าใส ใจชื่นบาน" (ออกฉาย มกราคม 2553) ครับ

จุดสตาร์ท เหตุการณ์ความรุนแรงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เริ่มเรื่อง คุณพิสิทธิ์ กิรติการกุล ออกมาบอกผู้ชมว่าเรื่องมันยาวทำออกทีวีไม่ได้ เลยต้องมาทำเป็นภาพยนตร์ โดยได้เปลี่ยนชื่อคนและสถานที่แล้ว หากบังเอิญไปตรงกับเรื่องจริงของใครก็ขออภัย แล้วจึงมาเริ่มเรื่องจากการบอกเล่าของนายตำรวจยศ "ผู้กอง" คนหนึ่งต่อทีมงานของรายการคดีเด็ด ว่าเมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษาหญิงชื่อ "ทราย" พยายามจะเข้าไปในมหาวิทยาลัยแต่ถูกเพื่อนหญิงอีก 2 คน ดึงตัวไว้แล้วพาขึ้นรถหนีไป พอดีน้ำมันใกล้จะหมด รถของทั้งสามจึงไปแวะที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง ซึ่ง "คิด" เป็นเจ้าของ "จอบ" เป็นคนขายพวงมาลัย และ "เสียม" ชายร่างเล็กเดินกระย่องกระแย่งเป็นเด็กปั๊ม มีการเล่นมุกถกเถียงแซวกันนิดหน่อยพอดีแม่ของทรายขับรถมาพบเข้าโดยบังเอิญ จึงมาห้ามไม่ให้เติมน้ำมันเพื่อบังคับให้ทรายกลับบ้าน ชายหนุ่มอีกคนชื่อ "ก้อง" ผ่านมาก็ฉวยโอกาสแย่งเติมน้ำมันรถมอเตอร์ไซค์ แล้วก็จับทรายแบกใส่รถของแม่ทำให้แม่พาทรายกลับบ้านได้สำเร็จ ในค่ำวันนั้น ได้เกิดการยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ทำให้นักศึกษาและประชาชนจำนวนไม่น้อยอพยพเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (ต่อไปขอย่อว่า "พคท." นะครับ) จับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาล

แม่ตามมาพบทรายที่ปั๊มน้ำมันของสี่เกลอ

สี่เกลอเตรียมออกเดินทางไปเที่ยวป่า
ตรงนี้ขอเพิ่มเติมเรื่องภูมิหลังทางการเมืองในช่วงนั้นสักนิดครับ ย้อนหลังไป 3 ปีก่อน ในเดือนตุลาคม 2516 ได้เกิดการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชนครั้งมโหฬาร เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการของ จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งสืบทอดอำนาจมาจากรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วประชาชนไทยในช่วงนั้นสะสมความไม่พอใจต่อระบอบเผด็จการ สฤษดิ์-ถนอม มาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในเรื่องข่าวคราวทุจริตคอร์รัปชั่น อย่างไรก็ตาม ฝ่ายผู้ชุนุมประท้วงได้เจรจากับรัฐบาลจนได้ข้อยุติเพียงพอที่จะสลายตัว แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้เกิดขึ้นในตอนเช้าวันที่ 14 ตุลาคม เมื่อเกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่บริเวณหน้าพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน จึงเกิดการปะทะกันจนกลายเป็นการจลาจล เป็นผลให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายและสูญหายไปเป็นจำนวนมาก ผลที่สุดจอมพลถนอมได้ลาออกและลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ จากนั้นได้มีการร่างรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เวลาผ่านไป 3 ปี ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างกลุ่มมวลชนส่วนหนึ่งที่ยังคงมีความเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในมุมมองของตน กับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยและมีความสัมพันธ์กับกลุ่มอำนาจเก่า เรียกง่ายๆว่ากลุ่มแรกเป็นฝ่ายซ้ายและกลุ่มหลังเป็นฝ่ายขวา ซึ่งฝ่ายขวาก็กล่าวหาว่าฝ่ายซ้ายเป็นคอมมิวนิสต์ที่มีแผนจะเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ ขณะที่ฝ่ายซ้ายก็มองว่าฝ่ายขวาเป็นประเภทซากเดนเผด็จการระบอกศักดินาอะไรประมาณนั้น ความขัดแย้งดังกล่าวได้มาถึงขั้นแตกหักเมื่อจอมพลถนอมได้พยายามเดินทางกลับเข้าประเทศโดยบวชเป็นสามเณรเตรียมเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุ ซึ่งทาง "ฝ่ายซ้าย" มีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเป็นแกนนำได้ประท้วงคัดค้าน สื่อมวลชนของทางฝ่ายขวาได้ฉวยโอกาสออกข่าวว่าการแสดงละครประท้วงที่ลานโพธิ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีการระดมมวลชนฝ่ายตนจนบานปลายเป็นเหตุให้บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มฝ่ายขวาเข้าไปล้อมจับกุมและสังหารนักศึกษาและประชาชนภายใน บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อย่างโหดเหี้ยมในเช้าตรู่วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้มีผู้ที่บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายเป็นจำนวนมาก และในตอนค่ำวันนั้นได้เกิดการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และมีนักศึกษาและประชาชนหนีเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยดังที่กล่าวในภาพยนตร์

สหายเม็ดทรายประจัญหน้ากับสี่เกลอที่ค่ายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

กลับเข้าเรื่องในภาพยนตร์กันซะที สามเดือนผ่านไป ก้อง ได้ชวน คิด, จอบ และเสียม ไปเที่ยวป่าด้วยกัน แต่ขึ้นรถผิดคันไปขึ้นรถโดยสารของกลุ่มคนที่กำลังจะไปเข้าร่วมกับพคท.เข้า ทั้งสี่ต้องตกกระไดพลอยโจนไปจนถึงค่ายแห่งหนึ่ง ซึ่งก็บังเอิญต้องมาเจอทราย หรือ "สหายเม็ดทราย" ที่อยู่มาก่อนเข้าให้ สหายเม็ดทรายกับก้องจำกันได้และเกิดมีปากเสียงกันเล็กน้อย แต่สหายนำของค่ายแห่งนั้นก็ยังรับทั้งสี่คนไว้พร้อมกับคนอื่นๆ ที่มาพร้อมกัน ขณะที่ทั้งสี่ก็เกิดอยากจะลองใช้ชีวิตในค่ายแห่งนี้ดู โดยเฉพาะก้องซึ่งลึกๆก็ชอบทรายอยู่ แต่ทรายกลับไปชอบสหายเที่ยง ชายหนุ่มอีกคนที่ท่าทางมีอุดมการณ์แบบเดียวกับเธอ สี่เกลอซึ่งไม่ได้มีอุดมการณ์อะไรกับเขาอยู่แล้ว เมื่ออยู่ในค่ายพคท.ก็ได้ "ป่วน" บรรดาสหายในค่ายไปพอสมควร ที่หนักที่สุดคือเมื่อสหายจอบกับสหายเสียมได้รับหน้าที่ให้ไปดายหญ้า ทั้งสองกลับไปทำลายต้นข้าวที่ทางค่ายปลูกไว้เป็นเสบียง ทั้งสี่ต้องช่วยกันปกปิด สหายเที่ยงซึ่งทำหน้าที่ด้านมวลชนจึงต้องเดินทางไปขอการสนับสนุนเสบียงจากชาวบ้าน โดยมี สหายเม็ดทราย สหายก้องกับพรรคพวก และสหายสมชายซึ่งเป็นสาวทอมร่างอ้วนใหญ่ อาสาเดินทางไปด้วยกัน

สหายจอบ (ขวา) ผู้อยากลองเป็นหมอในค่ายโดนฝังเข็มจนทั่วตัว

สหายเม็ดทราย (ซ้าย) กับสหายเที่ยงที่ดูเหมือนจะมีอุดมการณ์เดียวกัน
กว่าบรรดาสหายทั้งหลายจะเดินทางมาจนถึงหมู่บ้านม้งที่เป็นเป้าหมายได้ ทำเอาสหายจอบต้องได้รับบาดเจ็บจากความซุ่มซ่ามของสหายคิด แต่ยังอุตส่ามีเรี่ยวมีแรง "ปราบ" สหายสมชายจนเธอต้องกลับมาเป็นเพศเดิมพร้อมทั้งขอเปลี่ยนชื่อเป็นสมหญิง เมื่อถึงหมู่บ้าน ระหว่างที่กำลังเจรจาขอเสบียงพร้อมทั้งรักษาอาการบาดเจ็บของหสายจอบ ก็บังเอิญฝ่ายทหารยกกำลังกันมา บรรดาสหายจึงต้องหนีกันจ้าละหวั่น รวมทั้งสหายจอบที่ดูเหมือนบาดเจ็บใกล้กลับมีเรี่ยวมีแรงออกหนีเป็นคนแรกเลย ด้านสหายก้องหนีเอาตัวรอดขณะที่สหายเม็ดทรายกำลังตกอยู่ในอันตรายจนก้องต้องมาช่วยพาหนีออกไป ทั้งสองถูกนายทหารซึ่งเป็นพ่อของก้องเองจับได้ เกิดมีปากเสียงกันระหว่างพ่อลูกอยู่พักหนึ่ง ได้ความว่าก้องเป็นอดีตนักเรียนนายร้อยที่ไม่ยอมเรียนให้จบ และคงจะหนีออกจากบ้านมาใช้ชีวิตอิสระ ขณะนั้นพ่อโกรธก้องจนชักปืนออกมาจะยิงแต่ปืนไม่มีกระสุน ก้องจึงพาทรายหลบหนีต่อไปได้ ทั้งสองได้ออกเดินทางกลับค่ายด้วยกันอย่างสวีทท่ามกลางธรรมชาติที่งดงามสอดแทรกมุกฮาบ้างตามประสา พอกลับมาถึงค่ายทักทายบรรดาสหายได้ไม่ทันไร ก็มีกำลังทหารบุกเข้ามาโจมตีค่าย ทำเอาบรรดาสหายต้องเผ่นหนีกันอีกครั้ง สี่เกลอจอมป่วนกับสหายสมหญิงหนีมาพบทหารหมู่หนึ่งซึ่งนำโดยทหารที่เห็นเหตุการณ์ตอนที่ก้องมีปากเสียงกับพ่อ ทำให้พวกเขาไม่ถูกยิง ส่วนสหายเม็ดทรายทีแรกหนีไปกับสหายเที่ยง แต่พอเห็นสหายเที่ยงยิงเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่กำลังบาดเจ็บจึงปลีกตัวหนีออกมาพบก้องกับพวก แต่ขณะที่ทรายกำลังสวมกอดกับก้อง เธอได้ถูกสหายเที่ยงยิงเสียชีวิต ท่ามกลางความเสียใจของก้องกับเพื่อนๆ โดยสหายเที่ยงเองก็ไม่รอดถูกทหารยิงตายเช่นกัน

บรรดาสหายกำลังพบปะประชาชนในหมู่บ้าน
จากที่เล่ามานี่จะเห็นได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ก็แค่อาศัยเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 มาใช้เป็นแค่จุดสตาร์ทเท่านั้น ในตอนต่อๆไปแม้จะเป็นเรื่องราวของผู้คนที่ต้องเข้าไปอยู่ในป่า แต่ก็ไม่ได้ลงลึกไปในเรื่องภูมิหลังความขัดแย้งดังกล่าวแต่ประการใด เรื่องราวในภาพยนตร์เต็มไปด้วยมุกตลกหยาบคายประมาณว่าเอาตลกคาเฟ่มาผสมกับละครซิทคอมทางทีวี หากจะมีสาระอะไรบ้างคงสรุปได้เพียงสั้นๆ ว่า "ตูไม่เชื่อหรอกว่าอุดมการณ์กินได้" ใครจะขวาซ้ายผิดถูกประการใด ตูขอมีความสุขอยู่ที่ใจก็พอ แล้วความคิดแบบนี้จะกลายเป็นอุดมการณ์อีกรูปแบบหรือเปล่าก็ไม่ทราบ
แนวคิดว่า "อุดมการณ์กินไม่ได้" หรือไม่ใช่สิ่งจริงจังนี้ปรากฏชัดผ่านตัวละครสหายเที่ยงที่สหายเม็ดทรายหลงใหลนักหนา เปลือกนอกก็ดูเป็นคนมาดดีมีอุดมการณ์ แต่พอสถานการณ์คับขันก็พึ่งพาไม่ได้ ตรงนี้บรรดาอดีตสหายเขาทักท้วงว่าให้ภาพที่เป็นลบเกินไป เรื่องที่จะหนีเอาตัวรอดหรือยิงคนเจ็บยิงผู้หญิงข้างหลังนั้นไม่มี สหายร่วมอุดมการณ์จะบาดเจ็บขนาดไหนก็มีแต่จะหอบหิ้วกันให้ถึงที่สุด ตัวผมเองสมัยเด็กๆ เวลาได้ฟังหรือได้อ่านข่าวการปะทะกันระหว่างผกค.กับเจ้าหน้าที่ทางการจะเจอคำพูดอยู่บ่อยๆ ประมาณว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ตายเจ็บเท่านั้นเท่านี้โดยไม่พบศพฝ่ายผกค.มีแต่รอยเลือดหยดเป็นทาง ยังเคยคิดว่าทางการปิดข่าวกลัวคนจะรู้ว่าเจ้าหน้าที่สูญเสียมากกว่าหรือเปล่า แต่คิดอีกทีใครจะสูญเสียมากน้อยกว่าใครไม่สำคัญเท่ากับว่า การทิ้งสหายที่ตายแล้วหรือยังไม่ตายไว้ข้างหลังอาจกลายเป็นเบาะแสให้เจ้าหน้าที่ขยายผลด้านการข่าวได้เหมือนกัน
.jpg)
วิ่งหนีเจ้าหน้าที่กันจนตกน้ำตกท่า แต่กล้องถ่ายรูปยังใช้ได้???
แม้แต่โครงเรื่องที่ให้สี่เกลอต้องตกบันไดพลอยโจนไปอยู่ในค่ายคอมมิวนิสต์นั้น ในความจริงเขาว่าหากพบว่าสหายท่านใดมีอุดมการณ์ไม่ตรงกันก็มีแต่จะส่งกลับบ้านโดยปลอดภัย ไม่มีการกักตัวไว้หรือฆ่าแกงกันแต่อย่างใด
ถ้าจะอ้างว่าสหายเที่ยงเป็นข้อยกเว้น หรือสมมติให้ทำเพื่อบอกคนดูว่าอย่าอุดมคติเกินไป ไม่ได้หมายความว่าสมาชิกพคท.จะทำเช่นนั้นเป็นปกติแล้วจะฟังขึ้นไหม ผมยังรู้สึกว่าสหายเที่ยงน่าจะหนีเอาตัวรอดในตอนท้ายเรื่องเช่นเดียวกับตอนที่หนีออกจากหมู่บ้านม้ง ไม่น่าที่จะลงทุนออกจากชายป่ามาอยู่ในที่แจ้งเพื่อจะยิงผู้หญิงที่ตัวเองเคยทิ้งเอาตัวรอดมาแล้ว ก็ยังฟังไม่ค่อยขึ้นอยูดี คงมีแต่เหตุผลทางวรรณกรรมเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อยว่า ถ้าไม่จบแบบนี้ รักสามเส้าระหว่างคนทั้งสามมันจะเหมือนไม่ยุติ
.jpg)
ฉากเศร้าตอนจบ!!!
ผ่านเรื่องของสหายเที่ยงมาดูตอนจบภายหลังตอนจบกันอีกหน่อย หลังเหตุการณ์ในป่าจบลง ภาพยนตร์นำเรากลับมายังฉากที่ "ผู้กอง" พูดคุยกับทีมงานคดีเด็ดที่ขอให้ "ผู้กอง" เล่าเรื่องอีกครั้งก่อนจะถ่ายทำจริง แล้วภาพยนตร์ก็ปิดเรื่องด้วยคำพูดของ "ผู้กอง" ที่อ้างอิงคำพูดของ "แม่" พร้อมๆ กับปรากฏภาพของ "นางเอก" ในเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านมา ทำให้ผมเกิดอาการงงงวยว่า ที่ดูมาตลอดนี่เข้าใจว่า "ผู้กอง" ที่เล่าเรื่องนี้น่าจะเป็น "ก้อง" ซึ่งตลอดทั้งเรื่องไม่ปรากฏ "แม่" ของก้องทั้งที่เป็นตัวละครหรือมีการกล่าวพาดพิงแต่อย่างใดมาก่อน จะบอกว่า "แม่" คือสหายเม็ดทรายก็ไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะเห็นๆอยู่ว่าเธอตายโดยไม่ได้มีเวลาไปออกลูกที่ไหนเลย จะบอกว่าจริงๆเธอไม่ได้ตายก็เหมือนกับว่าคนเขียนบทหลอกคนดูละหรือ ถ้า "ผู้กอง" เป็นลูกของก้องกับภรรยาเขาคงไม่เรียกว่าแฟนเก่าของพ่อว่า "แม่" และจะรู้ได้ยังไงว่าทรายเคยพูดอะไรไว้ ฯลฯ คำตอบที่น่าจะชัดเจนอย่างข้างๆคูๆคือ คนเขียนบทเขาพอใจจะให้ "ก้อง" หรือ "ผู้กอง" กล่าวอ้างคำพูดของ "แม่" พร้อมๆกับการรำลึกถึง "ทราย" โดยคิดเอาเองว่ามันโยงกันได้ ซึ่งถ้าจะเล่นกันแบบนี้โดยไม่ขัดความรู้สึกกันแล้ว ควรจะได้ให้ก้องได้กล่าวอ้างแนวคิดของแม่ไว้ในช่วงที่กำลังมีความรักกับนางเอก หรือตอนที่เถียงกับพ่อ แทนที่จะมัวแต่ขายมุกตลกแบบตลาดๆ อย่างที่ปรากฏ
เป็นอันว่าภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้ดูจะสมกับเป็นภาพยนตร์ของคนในยุคไร้สาระในปัจจุบันซะจริงครับ ประวัติศาสตร์ก็เอามาแค่เป็นจุดสตาร์ทแล้วเดินเรื่องต่ออย่างหลวมๆ ใส่มุกตลกตลาดๆผสมภาพวิวทิวทัศน์สวยๆ เข้าไว้ ขนาดคนในยุคนั้นที่เรียกกันว่า "คนเดือนตุลา" ที่เหลือรอดกันมาในเวลานี้ยังแตกแยกไปอยู่คนละฝ่ายคนละขั้ว นับประสาอะไรจะให้เด็กรุ่นนี้ที่หลับหูหลับตาเห่อเกาหลีเข้าใจเรื่องราวในสมัยนั้นได้
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
คำคมชวนคิด
- "ความสุขมันไม่ได้อยู่ที่สถานที่ ความสุขมันอยู่ที่ใจ" ก้องบอกพ่อเมื่อซึ่งเป็นทหารตามมาเจอตัว
- "ผมไม่เชื่อว่าจะมีระบอบการปกครองไหนที่ทำให้มีความสุขได้ เพราะว่าความสุขน่ะอยู่ที่ตัวผมเอง" ก้องบอกทรายขณะกำลังจะกลับเข้าค่ายพคท.
- "แม่บอกว่าชีวิตของแม่อาจจะไม่ใช่ชีวิตที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นชีวิตที่แม่เลือก เพราะแม่เชื่อว่าความสุขและความงดงามของชีวิต มันไม่ใช่สิ่งที่เราต้องแสวงหา เพราะมันอยู่ที่นี่ อยู่ในตัวของเรา" คำพูดของ "ผู้กอง" ตอนท้ายเรื่อง
ชื่อภาษาไทย : ฟ้าใส ใจชื่นบาน
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : Blue Sky of Love
ผู้กำกำกับ : เกริกชัย ใจมั่น, นภาพร พูลเจริญ
ผู้สร้าง : โชคชัย ลาภรัตนากุล
ผู้แสดง :
- พิชญะ วัชจิตพันธ์ ... ก้อง
- ร่มฉัตร ขำศิริ ... เม็ดทราย
- สุรสิทธิ์ เอี่ยมโอภาสวงศ์ ... เที่ยง
- ค่อม ชวนชื่น ... จอบ
- ฝันดี จรรยาธนากร ... คิด
- อ่าง เถิดเทิง ... เสียม
- ไพโรจน์ สังวริบุตร ... พ่อ
- วาสนา สิทธิเวช ... แม่
- สมชาย ศักดิกุล ... หมอ
- ประกาศิต โบสุวรรณ ... สหายนำ
- จิรเกษ จินาทอง ... สมชาย
- พิสิทธิ์ กิรติการกุล ... บรรณาธิการ
ควรอ่านเพิ่มเติม
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ

คลิปจาก
www.youtube.com
เพลงเพราะฉันมีเธอ เพลงประกอบภาพยนต์ฟ้าใสใจชื่นบาน
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับเต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์