dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



ขุนรองปลัดชู : การฟื้นฟูวีรกรรมสามัญชนที่ถูกลืม
วันที่ 19/05/2013   19:29:37

webmaster@iseehistory.com

พูดกันมามากว่าประวัติศาสตร์ไทยไฉนเน้นย้ำแต่วีรกรรมและบทบาทของชนชั้นนำอยู่ตลอด นานๆ ถึงจะกล่าวถึงสามัญชนคนระดับตาสีตาสายายมายายมีบ้างสักครั้ง สมัยเด็กๆ ผมเคยอ่านหนังสือของหลวงวิจิตรวาทการที่กล่าววิจารณ์ว่าราชวงศ์บ้านพลูหลวงเป็นยุคเสื่อมของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งก็เป็นเรื่องของชนชั้นนำอีกเช่นกัน เพียงแต่หนักไปในทางลบ แต่ท่านยังได้กล่าวพาดพิงถึงวีรกรรมของคนระดับชาวบ้านรายหนึ่งว่าท่านต้องตายเปล่าเพียงเพื่อรักษาอำนาจของผู้นำที่ไม่เอาไหน หลายปีผ่านมาจนถึงเวลานี้ เรื่องราวของท่านผู้นั้นเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากภาพยนตร์ไทยระดับคุณภาพที่คนไทยควรภูมิใจเรื่องหนึ่งที่ออกฉายในช่วงกลางปี 2554 นั่นคือ "ขุนรองปลัดชู" ผู้สร้างวีรกรรมนำพลพรรคเพียง 400 คนเข้าสกัดทัพพม่าที่อ่าวหว้าขาว ในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน


เรื่องราวของ ขุนรองปลัดชู เท่าที่มีปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (ที่มา topicstock.pantip.com)

เรื่องราวของขุนรองปลัดชูในประวัติศาสตร์จริงนั้น มีกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารบางฉบับแต่เพียงเล็กน้อย กล่าวคือ ก่อนจะเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองประมาณแปดปี (พ.ศ.๒๓๐๒) พระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่าที่พึ่งจะได้ปราบปรามพวกมอญ รวบรวมพม่าให้เป็นปึกแผ่น ได้ยกทัพมาตีเมืองตะนาวศรีคืนจากไทย ขณะนั้นเป็นรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศ เมื่อทรงทราบข่าวศึก ได้ทรงจัดเกณฑ์กองทัพไปรบ ในการนี้ ขุนรองปลัดชู ข้าราชการหัวเมืองวิเศษชัยชาญซึ่งมีวิทยาคม ได้พรรคพวกจำนวนสี่ร้อยคนเข้ามาอาสาเป็นกองอาทมาตร่วมรบในครั้งนี้ด้วย แต่แล้วเมืองตะนาวศรีต้องแตกลงเสียก่อนที่ทัพจากอยุธยาจะไปถึง ทัพพม่าได้ยกเลยเข้ามาในเขตไทยทางด่านสิงขร และตีทัพหน้าของไทยที่ตั้งค่ายอยู่ที่แก่งตุ่มแตกไปอีก ขุนรองปลัดชูกับพรรคพวกพยายามสกัดทัพพม่าที่อ่าวหว้าขาวเขตเมืองกุยบุรี ในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน แล้วก็ต้องพลีชีพกันทั้งหมดเนื่องจากทัพหนุนไม่ได้ช่วยเหลืออย่างทันท่วงที จากนั้น พระเจ้าอลองพญายกทัพมาจนประชิดกรุงศรีอยุธยา แต่ได้เกิดเหตุที่ทำให้ต้องถอยทัพกลับไป โดยฝ่ายไทยบันทึกว่าทรงถูกปืนใหญ่ระเบิดได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ทางพม่าบอกว่าทรงพระประชวร เอาเป็นว่าพระเจ้าอลองพญาได้สเด็จเดินทัพกลับแล้วสวรรคตระหว่าง จากเรื่องเดิมที่มีอยู่น้อยนิด การสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้จึงน่ายกย่องในด้านการนำวีรกรรมของสามัญชนที่เคยถูกมองข้ามจนเหมือนจะถูกลืมมาให้คนไทยได้รับรู้กันมากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง การนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ความยาวร่วมสองชั่วโมงก็ย่อมจะต้องมีการแต่งเติมเรื่องราวขึ้นมาไม่น้อย แล้วเรื่องเหล่านั้นจะมีความน่าเชื่อถือเพียงใด ลองมาชมกันครับ

ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอด้วยภาพขาวดำเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีสีแพล็มๆ ขึ้นมาบ้างในบางตอน เริ่มและดำเนินเรื่องจากคำรำพึงรำพันของขุนรองปลัดชูซึ่งใกล้จะตายอยู่ในน้ำทะเลที่อ่าวหว้าขาว แล้วเล่าเรื่องราวย้อนหลังไปยังปีที่มีดาวหางปรากฏบนท้องฟ้าซึ่งครูบาอาจารย์พยากรณ์ไว้ว่าจะเกิดเหตุอาเพท คืนหนึ่ง ขณะที่ขุนรองปลัดชูกำลังทำพิธีอาบน้ำมนต์ ก็ได้รับทราบข่าวจากลูกศิษย์ชื่อไกรซึ่งทำหน้าที่ม้าเร็วว่า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้สิ้นพระชนม์แล้ว วันรุ่งขึ้น กรมการเมืองวิเศษไชยชาญได้ประชุมกัน ออกพระวิเศษไชยชาญเจ้าเมืองขอให้ขุนรองปลัดชูนำลูกศิษย์เข้ากรุงศรีอยุธยา เนื่องจากสถานการณ์ขณะนั้น เจ้าฟ้าอุทุมพรจะต้องขึ้นครองราชย์ตามพระราชประสงค์ของพระบิดา แต่เจ้าฟ้าเอกทัศได้ลาผนวชออกมาตั้งแต่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศกำลังทรงพระประชวร ขณะที่เจ้าฟ้าสามกรม(พระอนุชาต่างพระมารดาสามองค์ คือ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และ กรมหมื่นเสพภักดี) ไม่ยอมถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ออกพระวิเศษไชยชาญเห็นว่าควรเข้าไปช่วยทางฝ่ายเจ้าฟ้าอุทุมพรและเจ้าฟ้าเอกทัศควบคุมสถานการณ์ โดยเห็นว่าทั้งสองพระองค์ต่างก็เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขชาววิเศษไชยชาญ ผู้ใดได้ครองบัลลังก์ย่อมจะเป็นประโยชน์ เหตุผลที่ว่าทำให้ขุนรองปลัดชูเริ่มรู้สึกว่าขุนนางผู้ใหญ่คิดแต่ประโยชน์ของตนมากกว่าบ้านเมือง


ทราบข่าวพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต


ออกญาวิเศษไชยชาญ (หันหน้าทางขวา) เรียกประชุมกรมการเมืองเพื่อส่งคนไปคุมสถานการณ์ในกรุง

ประเด็นที่ว่าเจ้าฟ้าอุทุมพรและเจ้าฟ้าเอกทัศมีเชื้อสายวิเศษไชยชาญนั้น ขอแทรกประวัติศาสตร์ที่เป็นตำนานพื้นเมืองเพิ่มเติมว่า ที่บ้านคำหยาด แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ มีข้าราชการรายหนึ่งชื่อว่า หลวงทรงบาศ เป็นนายกองช้างซึ่งมีลูกสาวที่งดงามมาก 2 คน ต่อมาทั้งสองได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ คือ องค์พี่ คือ กรมหลวงอภัยนุชิต เป็นพระมารดาของเจ้าฟ้าธรรธิเบศร์ และองค์น้อง กรมหลวงพิพิธมนตรี เป็นพระราชมารดาของเจ้าฟ้าเอกทัศ และเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อหรือเจ้าฟ้าอุทุมพรครับ ส่วนเจ้าฟ้าสามกรมนั้นเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศที่ประสูติแต่พระสนม

กลับมาเรื่องในภาพยนตร์กันดีกว่าครับ เมื่อขุนรองปลัดชูถึงกรุงอโยธยา กรมหมื่นเทพพิพิธ พระโอรสอีกองค์ของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศซึ่งอยู่ฝ่ายเจ้าฟ้าอุทุมพรและเจ้าฟ้าเอกทัศได้เรียกประชุมขุนนางผู้ใหญ่ เนื่องจากได้มีการตรวจพบว่าเจ้าฟ้าสามกรมได้มีการซ่องสุมผู้คนและอาวุธ จึงได้วางแผนการประมาณว่าต้องชิงลงมือก่อน มีการแบ่งหน้าที่กันไปจับกุมเจ้าฟ้าสามกรมและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยขุนรองปลัดชูได้รับหน้าที่ให้ไปจับข้าราชการรายหนึ่งซึ่งแน่นอนครับว่าได้เกิดการต่อสู้กันถึงขั้นนองเลือด แผนการทั้งหมดสำเร็จลงได้ด้วยดี เจ้าฟ้าสามกรมถูกประหารด้วยท่อนจันทน์ เจ้าฟ้าอุทุมพรขึ้นครองราชย์ได้ไม่ทันไร เจ้าฟ้าเอกทัศได้แสดงอำนาจโดยเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งสุริยามรินทร์ อัญเชิญพระแสงดาบขึ้นพาดพระเพลา แสดงองค์เหมือนเป็นพระเจ้าอยู่หัวอีกพระองค์หนึ่ง สถานการณ์เริ่มตึงเครียดเหมือนจะมีการต่อสู้แย่งชิงบัลลังก์กันอีก พระยารัตนาธิเบศร์ซึ่งเป็นเจ้านายทางฝ่ายข้าราชการจากวิเศษไชยชาญ เห็นดีเห็นงามทางฝ่ายเจ้าฟ้าเอกทัศ เจ้าฟ้าอุทุมพรได้เสด็จออกผนวชเพื่อลดความขัดแย้ง แต่บรรดาขุนศึกต่างๆ ยังคงมีความเคลื่อนไหว ในที่สุดก็เกิดการริดเสี้ยนหนามขึ้นมาอีกครั้ง บรรดาผู้ที่เคยก่อการกำจัดเจ้าฟ้าสามกรมกลับเป็นฝ่ายต้องถูกกำจัดไปเกือบทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่กรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งผนวชอยู่ก็ถูกกำจัด โดยผู้ได้รับคำสั่งให้ลงมือก็คือขุนรองปลัดชู ที่ต้องกระทำโดยไม่เต็มใจ เมื่อกลับมาถึงวิเศษไชยชาญ ขุนรองปลัดชูก็ดื่มเหล้าหนัก เมามายจนเผาบ้านเรือนตัวเองจนเกือบจะฆ่าตัวตายในกองเพลิง เคราะห์ดีที่บรรดาลูกศิษย์มาห้ามปรามและช่วยกันดับเพลิงไว้ได้


ภาพเหตุการณ์บางส่วนของปฏิบัติการกำจัดเจ้าสามกรม

ตรงนี้ต้องขอแทรกข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อีกทีว่า เมื่อเจ้าฟ้าอุทุมพรถวายราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าเอกทัศแล้ว กรมหมื่นเทพพิพิธได้ทรงผนวชและได้คบคิดกับข้าราชการในการที่จะนำเจ้าฟ้าอุทุมพรกลับขึ้นครองราชย์ แต่พระภิกษุเจ้าฟ้าอุทุมพรไม่เล่นด้วย ได้เสด็จไปทูลให้พระเจ้าเอกทัศทรงทราบ โดยมีข้อแม้ขออย่าให้มีการนองเลือด ซึ่งพระเจ้าเอกทัศก็ทำตามพระประสงค์ คือโปรดฯ ให้จับกุมบรรดาผู้ก่อการเข้าคุกซะเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งจับกรมหมื่นเทพพิพิธได้ มีพระบัญชาให้ลาผนวชและเนรเทศกรมหมื่นเทพพิพิธไปยังลังกา แต่ภายหลังกรมหมื่นเทพพิพิธหลบหนีกลับมายังอโยธยาได้ และมีบทบาทต่างๆ อีกมากมายจนกระทั่งเสียกรุงครั้งที่สอง ได้ทรงเป็นหัวหน้าชุมนุมเจ้าพินายซึ่งถูกพระเจ้าตากสินมหาราชปราบปรามลงในภายหลัง


เจ้าฟ้าเอกทัศ หรือ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์


เจ้าฟ้าอุทุมพร "ขุนหลวงหาวัด"


กำจัดเสี้ยนหนามกันอีกรอบ

กลับมาเรื่องในภาพยนตร์อีกทีครับ ทางฝ่ายพม่าซึ่งตามประวัติศาสตร์ทำสงครามขับเคี่ยวกับมอญมาระยะหนึ่ง พระเจ้าอลองพญากับพระราชบุตรมังระก็สามารถปราบปรามพวกมอญได้อย่างเด็ดขาดโดยยึดกรุงหงสาวดีได้ ต่อมาก็เริ่มไม่พอใจอโยธยาจากการที่เมืองท่าตะนาวศรีซึ่งอยู่ในอำนาจของไทยยึดสินค้าจากเรือพม่า และมีส่วนสนับสนุนให้หัวเมืองต่างๆ กระด้างกระเดื่อง แต่ก็ได้ทราบข่าวความวุ่นวายในราชสำนักอโยธยาที่เกิดการแย่งชิงอำนาจกัน และเห็นเป็นช่องทางที่จะเข้ารุกราน ขณะที่ทางฝ่ายขุนรองปลัดชูเองเมื่อตั้งสติได้ก็กลับมาสอนบรรดาลูกศิษย์ลูกหา ทั้งเรื่องความอ่อนแอของบ้านเมือง ทั้งฝึกสอนเพลงดาบ ทั้งคาถาอาคมที่จะให้อยู่ยงคงกระพัน หลักสูตรแบบนี้คนรุ่นหลังอย่างเราๆ จะเรียกว่าสอนกับแบบครบวงจรหรือแบบจัดเต็มจัดหนักก็แล้วแต่สะดวก ผ่านไปไม่นานข่าวศึกก็มาถึง พม่าได้ยกทัพเข้าตีตะนาวศรี ในกรุงได้มีการจัดเกณฑ์กองทัพ โดยพระยาอินทราชรั้งตำแหน่งยมราขเป็นทัพหน้า พระยารัตนาธิเบศร์เป็นทัพหนุน ซึ่งเจ้าคุณทั้งสองนี้นับเป็นกำลังสำคัญและเป็นเจ้านายของขุนรองปลัดชูในศึกชิงอำนาจเมื่อตอนต้นเรื่อง พระยารัตนาธิเบศร์ได้ส่งคนมาแจ้งว่าขอให้ขุนรองปลัดชูไปร่วมรบด้วย ขุนรองปลัดชูแม้จะมีท่าทีสะเทือนใจต่อเหตุการณ์ศึกชิงอำนาจที่ผ่านมาอยู่บ้าง แต่ก็ยังเห็นชาติบ้านเมืองสำคัญกว่า จึงตัดสินใจร่วมกับลูกศิษย์ทั้งสี่ร้อยคนออกเดินทางไปสมทบกับกองทัพของพระยารัตนาธิเบศร์ เมื่อพบหน้ากัน ขุนรองปลัดชูแปลกใจที่ได้ทราบจากพระยารัตนาธิเบศร์ว่ามีผู้นำเรื่องที่ตนอาสาออกรบขึ้นกราบบังคมทูลจนมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กองอาสาจากวิเศษไชยชาญเป็นกองอาทมาต มีขุนรองปลัดชูเป็นแม่กอง ขุนรองปลัดชูเห็นว่าคนที่กราบบังคมทูลหวังจะเอาความดีความชอบใส่ตน พระยารัตนาธิเบศร์จึงทำทีเป็นผู้รักชาติพูดปลอบใจขุนรองปลัดชูว่าคงไม่มีใครคิดอย่างนั้นในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน แต่ถ้าจริงก็สมควรถูกประณาม ได้ผลครับ ทำเอาพระเอกของเราหลงเคลิ้มนึกว่าจะได้ร่วมรบกับผู้นำที่ดี แล้วก็ออกเดินทัพไปด้วยกัน ระหว่างทาง ขุนรองปลัดชูทราบข่าวว่าเมืองตะนาวศรีแตกแล้ว ทัพหน้าของพระยายมราชตั้งค่ายอยู่ที่แก่งตุ่ม ขุนรองปลัดชูจึงเสนอให้พระยารัตนาธิเบศร์เร่งเดินทัพทั้งวันทั้งคืน ด้านเจ้าคุณไม่เห็นด้วยอ้างว่าไพร่พลกำลังเหนื่อยอ่อน ขุนรองปลัดชูจึงขออาสานำกองอาทมาตล่วงหน้าไปก่อนจนถึงคลองวาฬ จึงทราบว่าค่ายใหญ่ที่แก่งตุ่มแตกแล้ว และทัพหน้าของพม่านำโดยราชบุตรมังระมีกำลังพลราวแปดพันกำลังรุกเข้ามา


พระเจ้าอลองพญา 1 ใน 3 มหาราชที่พม่ายังยกย่องมาจนทุกวันนี้ จากการปราบปรามมอญได้สำเร็จ


เริ่มกลับมาสอนวิชาดาบ


นำลูกศิษย์อาบน้ำมนต์ให้อยู่ยงคงกระพัน

ขุนรองปลัดชูได้พิจารณาภูมิประเทศแล้ว เห็นว่าพม่าจะต้องเดินทัพผ่านเส้นทางที่แคบและรกชัฎ แม้พวกตนจะมีกำลังน้อยกว่าพม่ามาก แต่ถ้าถอยไปสมทบกับพระยารัตนาธิเบศร์จะเสียชัยภูมิที่ได้เปรียบดังกล่าว จึงตัดสินใจปักหลักสู้โดยหวังว่ากองทัพของหนุนซึ่งอยู่ที่กุยบุรีจะมาช่วยได้ทัน กองอาทมาตเริ่มโจมตีสกัดทัพพม่าที่กำลังข้ามสะพานมาจนข้าศึกต้องชงักไปพักหนึ่ง พอตั้งหลักได้พี่หม่องก็เริ่มสุมควันเพื่อบีบให้กองอาทมาตต้องหลบออกจากที่ซ่อน แล้วก็เกิดการรบกันอย่างหนัก กองอาทมาตถูกไล่ต้อนไปตามลำน้ำจนกระทั่งถึงชายทะเล ระหว่างนั้นได้ทราบว่าทัพของพระยารัตนาธิเบศร์อยู่ไม่ไกลทำให้พอมีหวังว่าจะรอดกันได้บ้าง แต่สุดท้ายกองอาทมาตนอกจากจะอยู่ในสภาพน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟแล้ว ยังไม่รู้เท่าทันน้ำใจคนฝ่ายเดียวกัน ด้วยพระยารัตนาธิเบศร์เมื่อมาถึงยอดเขาในบริเวณนั้น ก็ได้แต่ยืนม้าดูพม่ารุมหักกระดูกและไสช้าเข้าเหยียบกองอาทมาตตายไปทีละคน แล้วก็หันหลังกลับไปต่อหน้าต่อตาขุนรองปลัดชูที่ลอยคออยู่ในน้ำก่อนจะถูกช้างพระที่นั่งของราชบุตรมังระเหยียบตายไปในที่สุด


เดินทัพ


ผลสำเร็จในตอนต้น


ถูกต้อนมาจนมุมที่ชายหาด

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ควรทราบประกอบการชมภาพยนตร์

  1. ไม่มีหลักฐานใดระบุว่าขุนรองปลัดชูได้เข้ากรุงศรีอยุธยาหรือกรุงอโยธยาเพื่อมาร่วมในศึกชิงอำนาจระหว่างฝ่ายเจ้าฟ้าอุทุมพร เจ้าฟ้าเอกทัศน์ และกรมหมื่นเทพพิพิธ กับฝ่ายเจ้าสามกรมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม จากการที่พระราชมารดาของเจ้าฟ้าอุทุมพร และ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ เป็นธิดาของหลวงทรงบาศ ข้าราชการเมืองวิเศษไชยชาญ การที่หลวงทรงบาศได้เป็น "พ่อตาพระเจ้าแผ่นดิน" นั้น อาจจะคาดการณ์ได้ว่าหลานของตนย่อมมีโอกาศจะได้เป็นกษัตริย์ แต่อาจจะต้องเผชิญอุปสรรคจากพระราชโอรสต่างพระมารดาด้วย จึงเป็นไปได้ที่จะได้มีการจัดตั้งฐานกำลังขึ้นในเขตท้องที่ของตนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งไว้เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น การที่ขุนรองปลัดชูถูกเรียกตัวเข้าไปรักษาความสงบในกรุงจึงเป็นสิ่งที่ภาพยนตร์แต่งเติมขึ้นมาแบบพอจะมีความเป็นไปได้อยู่บ้าง รวมถึงการเกิดวีรกรรมชาวบ้านบางระจันในภายหลังเมื่อคราวสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ก็น่าจะเป็นผลพวงจากการเตรียมซ่องสุมกำลังดังกล่าวนั้นด้วย
     
  2. หลังจากพระเจ้าเอกทัศขึ้นครองราชย์ แม้จะมีการจับกุมผู้คิดการกบฎ แต่ไม่มีผู้ก่อการรายใดถูกประหารชีวิต รวมถึงกรมหมื่นเทพพิพิธ ดังที่ได้กล่าวในย่อหน้าก่อนๆ การสังหารศัตรูทางการเมืองที่บวชเป็นพระภิกษุนั้น เกิดขึ้นในรุ่นของพระราชบิดา คือย้อนไปเมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จขึ้นครองราชย์ มีการสังหารข้าราชการที่หนีราชภัยไปพึ่งผ้าเหลืองถึงสองรายด้วยกัน การนำประเด็นนี้มาบรรจุในภาพยนตร์อาจเป็นเพียงการเพิ่มสีสันให้เห็นความเสื่อมโทรมของสมัยอยุธยาตอนปลาย และเพิ่มความรู้สึกท้อแท้หมดหวังให้กับตัวละครเอกของเรื่องเท่านั้น
     
  3. หลักฐานบางฉบับเรียกขุนรองปลัดชูว่า "พระยาสงครามนามชื่อปลัดชู" ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าท่านผู้นี้เป็นข้าราชการระดับใดกันแน่
     
  4. หลักฐานบางฉบับกล่าวว่า ในช่วงที่ขุนรองปลัดชูเผชิญหน้ากับกองทัพพม่านั้น พระยารัตนาธิเบศร์ได้ส่งกำลังหนุนไปให้จำนวน 500 นาย เมื่อเห็นว่าขุนรองปลัดชูกับพรรคพวกทั้งที่มีอยู่เดิมและที่ส่งไปสมทบสู้พม่าไม่ไหวจริงๆ ถึงได้เผ่น อันนี้ภาพยนตร์น่าจะตัดเรื่องการส่งกำลังเสริมออกไปเพื่อให้พระยารัตนาธิเบศร์ได้เป็นตัวร้ายสุดๆ ประเภทหน้าซื่อใจคด โดยไม่จำเป็นต้องตะโกนดุด่าใครอย่างผู้ร้ายในหนังละครน้ำเน่าที่เราเห็นกันบ่อยๆ
     
  5. หลักฐานบางฉบับกล่าวว่าขุนรองปลัดชูถูกพม่าจับได้ ส่วนที่เหลือกล่าวเพียงว่ากองอาทมาตถูกตีแตกพ่าย และมีผู้รอดตายอยู่บ้างแม้จะเพียงไม่กี่คน การที่ภาพยนตร์ให้ขุนรองตายในที่รบซะเลยก็เพื่อให้เรื่องจบลงอย่างกระชับและเป็นดรามาสมบูรณ์แบบ คือถูกนายหลอกใช้ให้ไปตาย ถ้าให้ถูกจับเป็นตามประวัติศาสตร์ต้องมาเสียเวลาคิดอีกว่า ทางพม่าเอาไปบีบบังคับให้สอนวิชาคงกระพัน หรือเอาไปเยาะเย้ยถากถางประการใดก่อนจะสังหารทิ้ง

ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม

ราชวงศ์บ้านพลูหลวง ต้นเหตุความระส่ำระสายจนเสียกรุง? แนวคิดเดิมๆ ในประวัติศาสตร์ไทยมักจะกล่าวในทำนองนี้ ประมาณว่าอยุธยาไม่สิ้นคนดี เพียงแต่เจ้านายไม่ดีจึงเสียกรุง ราชวงศ์บ้านพลูหลวงอันเป็นราชวงศ์สุดท้ายซึ่งได้อำนาจมาจากการรัฐประหารสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แล้วก็มีแต่การฆ่าฟันแย่งชิงราชสมบัติกันมาตลอด ซึ่งจะว่าไปแล้ว แนวคิดนี้ไม่ได้ผิดหรือถูกโดยสิ้นเชิง คือการจะเกิดเหตุการณ์หรือความเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่ว่าจะปุบปับหรือค่อยเป็นค่อยไป ย่อมจะเกิดจากหลายๆ ปัจจัยประกอบกัน ไม่ใช่อะไรๆ ก็ขึ้นอยู่กับผู้นำระดับสูงสุดไปซะหมด ดังเช่นในสมัยนี้ที่ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็ต้องเผชิญกับข้อเรียกร้องของกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ที่คิดแต่จะให้ช่วยเหลือตนโดยไม่รู้ว่าได้พยายามพึ่งตัวเองมาก่อนแค่ไหน กลับมาเรื่องของเราดีกว่า ไม่ใช่ว่ามีแต่ราชวงศ์บ้านพลูหลวงนะครับที่มีการแย่งชิงบัลลังก์กันจนนองเลือด ระบอบกษัตริย์โบราณไม่ว่าชาติไหนยุคไหน ก็เกิดเรื่องแบบนี้ได้บ่อยๆ ในเมื่อระบอบนี้มีเบอร์หนึ่งเพียงเบอร์เดียว และสืบทอดอำนาจทางสายเลือดไปยังลูกได้เพียงคนเดียว แต่ท่านกลับมีเมียมีลูกหลายคน เอ่อ ,,, ต้องเรียกว่ามีพระมเหสี พระสนม และพระโอรสหลายพระองค์ซีนะ เมื่อพระราชบิดาตายลง มีแต่พระโอรสองค์เดียวที่จะได้ราชสมบัติ แล้วพระองค์อื่นๆ ที่เหลือจะไปนั่งทำอะไรที่ไหนล่ะครับ ถ้ามีช่องทางก็ต้องหาทางยึดอำนาจ ซ่องสุมกำลังคน หาข้ออ้างว่าองค์รัชทายาทมีความไม่ชอบธรรมอย่างนั้นอย่างนี้ สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างตามเรื่องตามราว บางชาติบางยุคจึงอาจจะมีวิธีประนีประนอม เช่น ให้แบ่งกันปกครองแผ่นดินคนละส่วนคนละแคว้น ให้กษัตริย์ในแต่ละแคว้นย่อยหมุนเวียนกันเป็นประมุขของอาณาจักร ของไทยก็เคยมีการตั้งตำแหน่งวังหน้าบ้าง หรืออย่างในรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการปฏิรูประบบราชการ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรส และพระญาติพระวงศ์ได้มีตำแหน่งในการบริหารบ้านเมืองบ้าง เหล่านี้เป็นต้น
 

บทบาทของพม่า แน่นอนว่า บรรดาพี่หม่องน้องหม่องทั้งหลายยังคงรับบทผู้ร้ายเช่นเดียวกับในภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ทั่วไป แต่ก็เป็นผู้ร้ายในด้านการศึกสงครามล้วนๆ เป็นความเหี้ยมหาญมากกว่าความเหี้ยมโหด แม้จะมีการฆ่าตัดหัวมอญเสียบประจาน และกับไทยคือกองอาทมาตของขุนรองปลัดชูก็รุมทุบตีหักกระดูกกระเดี้ยวบ้าง เอาช้างไล่เหยียบบ้าง ก็เป็นเรื่องสงครามล้วนๆ ไม่ทราบว่าคนพม่าจะมีความเห็นอย่างไร แต่สำหรับผมเห็นว่าอาจจะเกินๆ อยู่นิดหน่อย แต่ไม่ถึงขนาดฆ่าโหดชาวบ้านที่ไม่มีทางสู้ตายเป็นเบือราวกับนาซีหรือเขมรแดงอย่างที่เรามักเห็นในหนังไทยอีกหลายเรื่อง


ราชบุตรมังระ ตีทัพไทยที่ค่ายแก่งตุ่มแตก

ภาษาพม่ากับแนวโน้มการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย ที่น่าสนใจอีกอย่างคือดูเหมือนว่า "ขุนรองปลัดชู" จะเป็นภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ไทยเรื่องแรกที่พม่าพูดภาษาพม่าล้วนๆ ไม่ใช่พม่าพูดไทยเหมือนเรื่องอื่นๆ ที่ผ่านมา ความสมจริงในด้านนี้พึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากที่บรรดาพี่หม่องน้องหม่องทั้งหลายเข้ามาเป็นแรงงานในไทยมาเป็นเวลาตั้งหลายปี แม้อย่างนั้นผมยังอดสงสัยไม่ได้ว่า ดาราไทยที่มารับบทพม่าพูดภาษาพม่านี่ พูดได้ถูกต้องแค่ไหน ทราบแต่เพียงว่าขณะนี้สังคมไทยเริ่มสนใจภาษาพม่ากันมากขึ้น ไม่ใช่ว่าอยากเรียนเพื่อไปพูดกับบรรดาลูกจ้างแรงงานในไทยหรอกนะครับ แต่เป็นอิทธิพลจากการท่องเที่ยวที่มีมานาน บวกกับสถานการณ์ในพม่าตอนนี้ที่มีแนวโน้มว่าจะเปิดประเทศมากขึ้น ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับวงการประวัติศาสตร์ไทยคืออาจจะทำให้เกิดการตื่นตัวที่จะศึกษาหลักฐานประวัติศาสตร์จากทางพม่ามากขึ้น จากเดิมที่เคยศึกษากันแต่หลักฐานไทยแบบตีความเข้าข้างตัวเองมาตลอด ก็อาจจะเกิดศึกทางวิชาการระหว่างนักวิชาการแนวเดิมที่ยังยึดมั่นกับหลักฐานและการตีความแบบเดิมๆ กับคนที่ได้ขวนขวายศึกษาหลักฐานทางพม่าแล้วเกิดการตีความใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ ขึ้นมาได้เหมือนกัน สำหรับผมแล้ว การยึดมั่นถือมั่นกับหลักฐานเดิมๆ แนวคิดเดิมๆ กับการไป "เห่อ" ของใหม่จนคิดแต่จะเอาของใหม่มาล้มล้างของเก่านั้น ล้วนแต่สุดโต่งกันไปคนละด้านครับ หลักฐานจะเก่าใหม่ประการใดขอให้ตีความตามหลักวิชาอย่างมีสติจะดีกว่า

แนะนำ "หนังสงคราม" สมัยโบราณกันทั้งที ต้องขอพูดถึงคิวบู๊สักหน่อย ตามตำนานนั้น ขุนรองปลัดชูมีทั้งวิชาอาคมอยู่ยงคงกระพันและเพลงดาบสองมือที่เป็นเลิศ แต่ในภาพยนตร์ ท่าทางการฟันดาบสองมือของตัวละครยังดูขัดๆ ไม่มีความสวยงามและความสมจริงสักเท่าไหร่ อันที่จริงถ้ามองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เน้นดราม่า เล่นคิวบู๊เพลงอาวุธได้ขนาดนี้ก็นับว่าบุญแล้ว แต่ถ้าจะทำการบ้านเพิ่มให้ผู้แสดงแต่ละท่านมีท่าทางที่สวยงามสมจริงอีกสักหน่อยน่าจะเสริมความน่าชมให้กับภาพยนตร์ได้อีกมาก แถมด้วยเรื่องวิชาคงกระพัน ถ้าจะมีฉากที่อาจารย์ขุนรองปลัดชูทดสอบความเหนียวของลูกศิษย์ที่ยังกล้าๆ กลัวๆ อยู่ อาจจะได้ฉากขำๆ พอคลายเครียดได้สักช่วงสั้นๆ


ย้อนกลับมาดูการต่อสู้อีกฉากหนึ่ง

การคัดเลือกนักแสดงนี่แทบจะเรียกว่าเขตปลอดคนหล่อคนสวยเลยก็ว่าได้ คือไม่มีผู้แสดงประเภทขวัญใจวัยรุ่นมาสร้างกระแสอย่างฉาบฉวย กลับเลือกที่จะนำเอาคุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ มารับบทตัวเอกของเรื่อง ซึ่งดูเหมาะสมกว่า ตัวประกอบอื่นๆ ก็หน้าตาแบบไทยๆ กันทั้งนั้น สังเกตว่าคนใต้ค่อนข้างจะได้เปรียบกับการได้รับการคัดเลือกแบบนี้

ก่อนการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้จะว่าวีรกรรมของขุนรองปลัดชูและพรรคพวกเป็นวีรกรรมที่ถูกลืมก็คงพูดได้ไม่เต็มปาก กล่าวคือ หลังจากผ่านไป 11 ปี ชาวเมืองวิเศษไชยชาญได้สร้าง "วัดสี่ร้อย" ขึ้น เพื่ออุทิศส่วนกุศลและเป็นอนุสรณ์แก่ขุนรองปลัดชูและผู้เสียชีวิตจากกองอาทมาตทั้งหมดเมื่อ พ.ศ. 2313 และได้มีการกล่าวแทรกอยู่ในวรรณกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับอยุธยาตอนปลายและการเสียกรุงครั้งที่ 2 ไม่ว่าพระนิพนธ์ "ไทยรบพม่า" ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หนังสือประวัติศาสตร์ไทยต่างๆของหลวงวิจิตรวาทการที่ผมได้เคยอ่าน เป็นต้น การรำลึกถึงขุนรองปลัดชูแบบเน้นๆ พึ่งจะเริ่มมีในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้แก่ ปี พ.ศ. 2550 จึงได้มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์ขุนรองปลัดชูขึ้นภายในบริเวณวัดสี่ร้อย และได้มีการทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์แห่งนี้โดยเทศบาลตำบลบางจัก จังหวัดอ่างทอง เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ในปี พ.ศ.2550 เช่นกัน พงษ์พัฒน์ เพชรรัตน์ นักเขียนการ์ตูนชาวไทย ได้นำชีวประวัติของขุนรองปลัดชูไปดัดแปลงเขียนเป็นการ์ตูนเรื่อง กองอาทมาตประกาศศึก เมื่อ พ.ศ. 2550 การ์ตูนเรื่องดังกล่าวได้รับรางวัลชมเชยในงานประกาศผลรางวัลมังงะนานาชาติ ครั้งที่ 3 ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2552 แล้วจึงมาถึงภาพยนตร์เรื่อง "ขุนรองปลัดชู" เรื่องนี้แหละครับ สร้างโดยบริษัทบีบีพิคเจอร์ ได้มีการฉายให้ชมฟรีที่โรงภาพยนตร์สกาล่า ระหว่างวันที่ 7–11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 และแพร่ภาพทั่วประเทศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 22.00 น. หลังจากนั้นจึงมีการออกอากาศซ้ำโดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 9 ตอน ประกอบการอภิปรายเชิงวิชาการประวัติศาสตร์ ในรายการ ถกหนังเห็นคน ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทุกวันจันทร์ เวลา 23.00 น. - 24.00 น. เริ่มในวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 จากนั้นผมจึงมาเห็นวางจำหน่ายในรูปแบบดีวีดีเมื่อราวๆ ต้นปี 2555 นี้เอง ใครหาซื้อไม่ได้ทางเว็บไม่มีนโยบายที่จะนำมาให้ดูหรือ Download  ขอให้ Search ชื่อภาพยนตร์ใน Youtube กันเอาเองนะครับ  แล้วผมตั้งใจจะจบเรื่องยังไงหว่า อ้อ! ดังที่ได้เกริ่นไว้ตอนต้นเรื่องแหละครับว่า การนำวีรกรรมของสามัญชนคนระดับล่างที่ถูกบันทึกไว้เพียงไม่กี่บรรทัดมาสร้างเป็นภาพยนตร์รำลึกถึงคุณความดีของท่านย่อมเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน แต่จากอะไรหลายๆ อย่างในกระบวนการผลิตภาพยนตร์ พบว่าทำให้เนื้อหาบางส่วนคลาดเคลื่อนจากประวัติศาสตร์ที่ควรจะเป็นบ้าง การจะนำภาพยนตร์เรื่องนี้ไปใช้เป็นสื่อการสอนประวัติศาสตร์หรือสอนความสามัคคีในชาติกันอย่างไรก็ตามสะดวก ในข้อแม้ว่าควรจะได้มีการทำความเข้าใจข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ประกอบไปด้วยครับ


พระยารัตนาธิเบศร์ (คนที่ 2 จากขวา) ได้แต่ดูจุดจบของกองอาทมาตแล้วก็จากไป

เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย

คำคมชวนคิด

  • "ไอ้เรามันเป็นข้าราชการหัวเมืองเล็กๆ ไม่ได้หวังลาภยศอำนาจ ขอเพียงใครมีบุญญาบารมีได้ขึ้นมา ก็ขอให้ผู้นั้นเห็นแก่แผ่นดินเถอะ" ขุนรองปลัดชู พูดกับภรรยาในคืนก่อนเข้ากรุง
     
  • "ดาบในมือกู กูเป็นคนใช้ แต่กูไม่ได้ใช้ตามใจ เพราะหน้าที่บีบให้กูต้องทำ ทำทั้งๆที่รู้ว่าพวกกูชาววิเศษไชยชาญ คงเป็นแค่หมากตัวเล็กๆ บนกระดานแห่งอำนาจ" ขุนรองปลัดชูรำพึงขณะเข้าร่วมการจับกุมเจ้ากรมปลัดกรม
     
  • "ใช้ดาบฆ่าคนที่สมควรฆ่าไม่ใช่เรื่องผิด แต่ในชีวิตกู ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาฆ่าคนบ้านเดียวกัน ฆ่าคนที่ไม่เคยรู้จัก ฆ่าโดยไม่มีเรื่องแค้นเคืองอาฆาต" ขุนรองปลัดชูรำพึงขณะเข้าร่วมการจับกุมเจ้ากรมปลัดกรม
     
  • แม้แต่ผ้าเหลืองยังคุ้มครองคนดีไม่ได้" ขุนรองปลัดชูรำพึงก่อนจะปลงพระชนม์กรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งทรงผนวชอยู่
     
  • "ทำสิ่งที่ยากแสนยากให้สำเร็จ อาศัยอะไรมึงรู้ไหมไอ้แสน" "อาศัยอะไรขอรับ" "อาศัยคาถาเพียงแค่สี่คำ" "คาถาอะไรขอรับ" "ร่วมแรงร่วมใจ"  "โอ นึกว่าคาถา แล้วถ้าใช้แล้วไม่สำเร็จละ" "อาศัยคาถาอีกสองคำ" "คาถาอะไรขอรับ" "แลกชีวิต" บทสนทนาระหว่าง ขุนรองปลัดชู กับลูกศิษย์ชื่อแสน ขณะกำลังฝึกสอนวิชาดาบให้คนอื่นๆ
     
  • "สิ่งที่เราต้องเสียสละคือชีวิตเท่านั้น ไม่ใช่น้ำตา" ขุนรองปลัดชู บอกเมืองซึ่งกำลังคิดถึงบ้านขณะกำลังเดินทาง

ชื่อภาษาไทย : ขุนรองปลัดชู

ผู้กำกำกับ : สุรัสวดี เชื้อชาติ

ผลิต : บุญชัย เบญจรงคกุล

ผู้เขียนบท : เอก เอี่ยมชื่น

ผู้แสดง :

  • ขุนรองปลัดชู ... สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ
  • ราชบุตรมังระ ... จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม
  • พระยารัตนาธิเบศ ... พิบูลย์ ท้ายห้วน
  • พระเจ้าอลองพญา ... มนัส สะการะพันธ์ทิพย์
  • ออกพระวิเศษชัยชาญ ... อนุรักษ์ หีบทอง
  • แม่จันทร์ ... พรทิพย์ ปาปะนัย
  • กรมหมืนเทพพิพิธ ... วิสูต ศรีสมบุญ
  • ไกร ... วัชรชัย สุนทรศิริ
  • ผาด ... ชัยพร ตอพล
  • แสน ... กรวินท์ ประทุมศิริ
  • เมือง ... บัลลพ ล้อมน้อย
  • เมงข่องนรธา ... ปวิช จันทร์จิตร
  • สมภารวัดโพธิ์ทอง ... โยธิน มาพบพันณธ์
  • แผลง ... วุฒิชัย สีดาจิตร์
  • บุญอิน ... ธนวัฒน์ แก่อก
  • แก่น ... ชนินทร์ เพ็งแตงโม
  • บุญจันทร์ ... สุทธิพงษ์ ดิบแดง
  • นกเล็ก ... ชัยพร ถนอมรอด
  • พระยายมราช(เก่า) ... นุกูล พูลสวัสดิ์
  • พระยายมราช(ใหม่) ... วัชระ ฤกษ์สมเด็จ
  • เจ้าฟ้าเอกทัศ ... สุรสิทธิ์ ฉลาดชื่นชม
  • เจ้าอุทุมพร ... นพเก้า พุ่มคล้าย
  • กรมหมื่นจิตรสุนทร (เจ้าสามกรม) ... ภูเบศน์ อินทริด
  • กรมหมื่นสุนทรเทพ (เจ้าสามกรม) ... ปรินทร์ โกมารทัต
  • กรมหมื่นเสพภักดี (เจ้าสามกรม) ... เชิดเกียรติ นวลอินทร์
  • แมงละ ... สัญญา กันทะเสน
  • แมงข่อง ... วุฒิชัย สีดาจิตร์
  • พระยาอภัยราชา ... จิรศักดิ์ ธนวรพงศ์
  • หลวงพิเรณทรเทพ ... สรนันทน์ เอกวัฒน์
  • พระยาอินทรเทพ ... วินัย บุญทับ
  • พระยาเพชรพิชัย ... สมพงษ์ มีห่วง
  • เจ้ากรม ... อมรเทพ ริมดุสิต

ควรอ่านเพิ่มเติม

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ

Bookmark and Share

ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก

www.youtube.com

ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับเต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์

 



ประวัติศาสตร์ไทย

ซามูไรอโยธยา แฟนตาซีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น วันที่ 19/05/2013   19:28:54
ฟ้าใส ใจชื่นบาน : อุดมการณ์ตกยุค หรือ อารมณ์ขันที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด? วันที่ 19/05/2013   19:30:31
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ ศึกนันทบุเรง วันที่ 19/05/2013   19:31:32
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี : "ตำนาน" ที่คงต้องรอตอนจบกันอีกนาน วันที่ 19/05/2013   19:32:48
สามเสือสุพรรณ ดรีมทีมตำนานเสือ? วันที่ 19/05/2013   19:33:41
ทิพพ์ช้าง วีรกรรมท้องถิ่นที่ถูกส่วนกลางครอบงำ วันที่ 19/05/2013   19:34:33
จงอางผยอง - กำลังภายในในหนังไทยที่ลงตัว วันที่ 19/05/2013   19:35:48
มหาราชดำ วันที่ 19/05/2013   19:36:28
นรกตะรูเตา : ค่ายนรกแบบไทยๆ วันที่ 19/05/2013   19:38:23
เสือใบ : แบบฉบับของยุคหนังบู๊เฟื่องฟู วันที่ 19/05/2013   19:39:11
สุภาพบุรุษเสือใบ : วีรกรรมของโจรชาวบ้าน? วันที่ 19/05/2013   19:40:14
จอมโจรมเหศวร โรบินฮู้ดเมืองไทย? วันที่ 19/05/2013   19:41:12
บางระจัน อีกหนึ่งกรณีที่ต่างจากประวัติศาสตร์ วันที่ 19/05/2013   19:42:39
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๒ ประกาศอิสรภาพ วันที่ 19/05/2013   19:45:12
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๑ องค์ประกันหงสา วันที่ 19/05/2013   19:46:02
สารคดี ตามรอย ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช : การเติมเต็มความรู้ ประวัติศาสตร์ ใน ภาพยนตร์ วันที่ 19/05/2013   19:47:11
อารีดัง : ศึกรบศึกรัก ของ ทหารไทย ใน สงครามเกาหลี วันที่ 19/05/2013   19:48:00
สุริโยไท ฉบับสมบูรณ์ ๕ ชั่วโมง วันที่ 19/05/2013   19:48:56
เบื้องหลัง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วันที่ 19/05/2013   19:49:39
พิชัยดาบหัก : ผู้สร้างน่าจะทำการบ้านมากกว่านี้ วันที่ 19/05/2013   19:50:22
เจ้าตาก : การไปตั้งหลักที่จันทบุรี แล้วน้องมิ้นเกี่ยวอะไรด้วย? วันที่ 19/05/2013   19:50:59
The King Maker เมื่อเราได้เห็นบทบาททหารต่างชาติสมัยอยุธยามากขึ้น วันที่ 19/05/2013   19:51:37
ยุวชนทหาร เปิดเทอมไปรบ (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   19:52:16 article
รักสยาม เท่าฟ้า (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   19:52:54 article



1

ความคิดเห็นที่ 1 (102031)
avatar
คนเล่าเรื่อง

ผมได้ดูตอนที่ไทยพีบีเอสนำมาฉาย แล้วก็หาดีวีดีมาดูอีกรอบ แล้วก็ศึกษาจนเข้าใจ กะว่าจะเขียนถึงในลำดับถัดไป แต่อาจารย์โรจน์สนใจเขียนถึงก่อน ก็เลยขอเป็นผู้อ่านก็แล้วกันครับ

ประเด็นชิงอำนาจหลังสิ้นรัชกาลของพระเจ้าบรมโกศ หนังทำได้ไม่กระจ่างเลยในประเด็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์  ถ้าไม่ศึกษาเพิ่มเติมก็ไม่รู้ว่าใครชิงอำนาจใครในช่วงแรก  แล้วพอถึงการชิงอำนาจช่วงที่สอง หนังก็ทำได้ไม่กระจ่างอีก แม้ว่าจะพยายามใช้การเล่าเรื่องด้วยการลำดับภาพ  แต่ก็ได้เห็นเพียงการเล่าเรื่องไม่ใช่การอธิบายรายละเอียดแต่อย่างใด  คนดูหนังทั่ว ๆ ไปคงได้แต่รับทราบถึงประเด็นการฆ่าฟันช่วงชิงอำนาจกันของคนสองกลุ่ม  แต่นั่นก็อาจจะพอเพียงแล้วกับคนที่ไม่ได้ต้องการสาระทางประวัติศาสตร์มากนัก

การเล่าเรื่องของฝ่ายพม่า นับว่า ทำได้น่าสนใจและน่าติดตามมาก เป็นการสร้างความน่าเกรงขามของพระเจ้าอยู่หัวและราชบุตรผู้เจนศึก เข้มแข็ง และเกรียงไกร  แต่ก็ยังแฝงประเด็นความศรัทธาในศาสนาของทั้งสองคนได้  และยังอธิบายถึงเหตุลึก ๆ ที่ฝ่ายอโยธยาเองที่หาเหาใส่หัวแอบไปส่งเสริมพวกหัวเมืองให้กระด้างกระเดื่องต่อฝ่ายพม่า

ฉากสงครามระหว่างพม่าและอโยธยาก็ช่วยขยายข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ได้ชัดเจนขึ้นถึงความต่างกันในด้านความเข้มแข็ง และวินัยทัพที่ยอดเยี่ยมกว่าของพม่าได้เป็นอย่างดีครับ แล้วก็มาถึงฉากวีรกรรมบวกโศกนาฏกรรมของกองอาทมาทที่ถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าสลดหดหู่ในจุดจบมากกว่าการยกย่องนะครับ  แม้ว่าพวกเขาจะถูกบดขยี้อย่างทารุณ แต่ก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกเกลียดชังหรือเคียดแค้นแก่คนดู คือ ผมหรอกครับ เพราะดังที่อาจารย์โรจน์บอก เป็นเรื่องการศึกสงครามล้วน ๆ แล้วฉากจบนี่ก็ตัดห้วน ๆ แบบเป็นเชิงสัญลักษณ์ว่าวิญญาณของขุนรองกลับมาเยี่ยมเมียด้วยความเสียใจที่ตัวเองพาลูกน้องไปพลีชีพแบบไม่ได้ประโยชน์อะไร

ผมคิดว่า หนังเรื่องนี้ยังให้ประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่เป็นจริงของทั้งฝ่ายเราที่เป็นวีรบุรุษในอุดมคติตัวจริงและพม่าที่ไม่ได้ใส่สีตีไข่ให้พม่าเป็นอมนุษย์แบบนาซีหรือเขมรแดง  แล้วก็ไม่ได้สร้างฉากรบใหญ่โตจนรุงรังไปทั้งเรื่อง 

อีกนิดครับ เครื่องแต่งกายของทหารทั้งฝ่ายอโยธยาและพม่าในยุคปลายอโยธยาช่างไม่ต่างจากยุคสมเด็จพระนเรศวรเลย  ทั้ง ๆ ที่ 2 ยุคนี้ห่างกันเกือบ 200 ปี รูปแบบการแต่งกาย วิทยาการทางทหารบางอย่างมันน่าจะก้าวหน้าไปกว่ากันบ้างนะครับ ไม่รู้เหมือนกันว่า ในยุคนั้น ทหารทั้งสองฝ่ายแต่งกายและมีพัฒนาการทางเทคโนโลยีอย่างไรบ้างครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น คนเล่าเรื่อง ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-04-21 23:45:43


ความคิดเห็นที่ 2 (102032)
avatar
โรจน์ (Webmaster)

เรื่องใครเป็นใครในช่วงการแย่งชิงอำนาจกันนั้น  บอกตามตรงว่าตอนแรกผมเองก็สับสนครับ  วันที่ไปนัดเจอกับคุณยังบอกไม่ได้เลยว่าคนที่เป็นประธานการประชุมวางแผนจับเจ้าสามกรมแล้วตอนหลังไปตายคาผ้าเหลืองนั้นเป็นใคร  จนกระทั่งได้มาตั้งสติดูอีกรอบสองรอบถึงแน่ใจว่าเป็นกรมหมื่นเทพพิพิธ

ส่วนสาเหตุของการสงครามนั้น  อย่าไปโทษใครเลยครับไม่ว่าไทยหรือพม่า  มีตำราประวัติศาสตร์ไทยหรือภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ไทยเล่มไหนกล้าอธิบายฟันธงบ้างว่าไอ้ที่รบกันมาตลอด 400 กว่าปีของอยุธยา แถมติดพันมาถึงต้นรัตนโกสินทร์น่ะมันเรื่องอะไร  สำหรับตัวผม ณ เวลานี้อยากจะสรุปเลยด้วยซ้ำว่า  สาเหตุมาจากการแย่งชิงเมืองท่าเรือด้านทะเลอันดามัน  คือ ทวาย มะริด และตะนาวศรี ซึ่งอยู่ในเขตมอญนั้นเอง  เท่าที่นึกดูเวลานี้  ทะเลด้านอ่าวไทยมันไปได้แค่ทางเมืองจีน  การจะไปทางอาหรับและยุโรปถ้าไม่อ้อมสิงคโปร์ก็ต้องมีท่าเรือทางอันดามัน  ซึ่งหัวเมืองปักษ์ใต้เราเองน่าจะไม่มีท่าเรือที่เหมาะสม  จึงต้องไปแย่งกันมีอิทธิพลเหนือหัวเมืองมอญ   แล้วผมคงต้องหาเวลาทำการบ้านด้านภูมิศาสตร์มายืนยันอีกทีครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ (Webmaster) (webmaster-at-iseehistory-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-04-22 09:40:30


ความคิดเห็นที่ 3 (102033)
avatar
คนเล่าเรื่อง

อ้อ เพิ่มเติมครับ  การสร้างหนังที่่มีคนพม่าแล้วพูดภาษาพม่านี่ เท่าที่ผมได้ดูเรื่องแรกที่่เป็นแบบนี้ คือ เรื่องบางระจันเมื่อปี พ.ศ. 2543 ครับ คือ ตัวของแม่ทัพเนเมียวสีหบดี และนายกองสุกี้ (หรือต้องเรียกว่าสุจี)  แล้วก็มีบางเรื่องเหมือนกันที่ให้ตัวละครพูดภาษาพม่า  ซึ่งได้ช่วยสร้างความสมจริงแก่เรื่องราวมากขึ้นครับ ส่วนจะพูดถูกต้องแค่ไหนคงไม่เป็นไรครับ

สำหรับเรื่องคิวการต่อสู้นี่หนังประวัติศาสตร์ไทยเรายังขาดอยู่มากครับ (แต่เรื่องที่ผมดูแล้วค่อนข้างดี คือ บางระจัน และก็ขุนศึก) ต่างจากหนังจีนที่เขาแทรกคิวกังฟูไว้ได้ดี  ทั้ง ๆ ที่เมืองไทยเรามีทีมสตันท์เก่ง ๆ มากมายที่สามารถสร้างสรรค์ฉากต่อสู้แบบไทย ๆ ให้ตื่นตาตื่นใจได้  เรื่องนี้ก็เอาเทคนิคถ่ายทำแบบ Saving Private Ryan มาใช้เพื่อเสริมความตื่นเต้นแก่คนดูแทน (คงสมมติให้คนดูเหมือนนักข่าวสงครามที่ข้ามกาลเวลาไปถ่ายทำสารคดีข่าวกระมังครับ)

 

ผู้แสดงความคิดเห็น คนเล่าเรื่อง ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-04-22 13:54:05


ความคิดเห็นที่ 4 (102034)
avatar
โรจน์ (Webmaster)

ผมก็ลืมเรื่องการพุดภาษาพม่าในบางระจันซะสนิท  ทั้งที่เคยเขียนวิจารณ์ไว้เอง  คงจะเพราะมันนานมาแล้ว กับรู้สึกไม่ประทับใจหนังในหลายจุด  เลยไม่รู้สึกประทับใจการพูดภาษาพม่าในเรื่องนั้นสักเท่าไหร่

ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ (Webmaster) (webmaster-at-iseehistory-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-04-24 09:34:48


ความคิดเห็นที่ 5 (102041)
avatar
โรจน์ (Webmaster)

เรื่องความสำคัญของเมือง ทวาย มะริด และตะนาวศรี ที่ผมกล่าวถึงในความคิดเห็นที่ 2 มีข้อมูลเบื้องต้นอยู่ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/เขตตะนาวศรี ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ (Webmaster) (webmaster-at-iseehistory-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-05-02 22:42:27



1


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker