
webmaster@iseehistory.com
จากการที่เคยนำเสนอเรื่องราวของภาพยนตร์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยมาพอสมควร มีสมาชิกบางท่านบ่นว่าภาพยนตร์เหล่านั้นหลายเรื่องก็ยังเดินตามรอยประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เขียนไว้เหมือนฝังชิปให้คนฝังใจอยู่แต่เรื่องของความรักชาติแบบผูกขาดที่มีพม่าเป็นผู้ร้ายสำคัญตลอดศก ทีนี้ชาติอื่นๆละครับ มีใครทำหน้าที่อะไรใน Theme นิยายประวัติศาสตร์ไทยบ้าง ญี่ปุ่นจัดเป็นชาติหนึ่งที่มีกองกำลังทหารอาสาร่วมรบอยู่กับอโยธยามาเนื่องจากในประเทศเขาเองช่วงหนึ่งมีการสู้รบแย่งชิงอำนาจกัน พลพรรคของฝ่ายที่พ่ายแพ้ก็ต้องกระเส็นกระสายไปตามที่ต่างๆ รวมถึงอาณาจักรอโยธยานี้เอง และก็มีชาวญี่ปุ่นในกองทหารอาสาญี่ปุ่นของอโยธยารายหนึ่งชื่อ ยามาดะ นางามาสะ ที่สามารถทำราชการมีความดีความชอบสูงสุดจนได้เป็นถึงออกญาเสนาภิมุข เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งในประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักก็มักจะนำท่านผู้นี้มาเป็น Presenter ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่มีมายาวนาน และเมื่อมีการสร้างภาพยนตร์ไทยเกี่ยวกับท่านผู้นี้ขึ้นมาก็แน่นอนว่าเป็นการเดินตามรอยการสร้างภาพสวยงามในประวัติศาสตร์ไทย-ญี่ปุ่นดังว่า ทั้งที่พอดูกันในรายละเอียดจริงๆ เรื่องราวของยามาดะก็ไม่ได้สวยงามอะไรนัก

ฉากงานรื่นเริงในหมู่บ้านญี่ปุ่น กรุงอโยธยา
ลองมาดูเรื่องราวในภาพยนตร์เรื่องราวของยามาดะที่ปรากฏใน "ซามูไรอโยธยา" กันก่อนดีกว่าครับ ยามาดะ นางามาสะ เป็นชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาหลังสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชา ที่แม้ว่าอยุธยาจะเป็นฝ่ายชนะพม่า แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์ไม่สงบจากการที่มีโจรพม่ารังควานตามชายแดน หัวหน้ากองทหารอาสาญี่ปุ่นได้มอบหมายให้ยามาดะไปสืบสวนจนได้ความว่า แท้ที่จริงโจรพม่าเหล่านั้นเป็นชาวญี่ปุ่นปลอมตัว ยังไม่ทันที่จะได้มีการสอบสวนหาตัวการใหญ่กันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ยามาดะถูกนินจากลุ่มหนึ่งลอบทำร้ายได้รับบาดเจ็บ พอดีมีทนายเลือกชาวเมืองสองแควชื่อ "ขาม" กับเพื่อนๆเข้ามาช่วยเหลือและพายามาดะไปรักษาตัวที่บ้านเกิดของตน ที่เมืองสองแควหรือพิษณุโลกนี้ ยามาดะซึ่งอยู่ในความดูแลของ "จำปา" น้องสาวของขามได้มีโอกาสเรียนรู้วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนไทย รวมถึงได้เรียนรู้ศิลปะมวยไทยจนสามารถได้รับคัดเลือกเป็น "ทนายเลือก" ประจำองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และภารกิจแรกหลังการคัดเลือก ยามาดะได้สร้างวีรกรรมร่วมกับทนายเลือกอื่นๆ ในการลอบโจมตีสกัดทหารพม่าที่หมายจะลอบเข้ามาปลงพระชนม์สมเด็จพระนเรศวรฯ จากนั้น ยามาดะได้ตัดสินใจเดินทางกลับไปยังหมู่บ้านญี่ปุ่นที่อโยธยาเพื่อไปเช็คบิลกับกลุ่มชาวญี่ปุ่นทรยศโดยไม่ได้บอกขามแต่แรก เมื่อขามทราบความจริงจึงรีบเดินทางตามไปช่วยยามาดะได้ทันเวลา ทั้งสองได้ช่วยกันต่อสู้กับบรรดานินจาร้ายๆ ซึ่งก็ตามฟอร์มละครับ คือประสบความสำเร็จแต่ต้องแลกด้วยชีวิตของขามท่ามกลางความเศร้าโศกของยามาดะ
ทีนี้มาดูกันว่าในภาพยนตร์มีอะไรจริง-ไม่จริง หรือสอดคล้องกับประวัติศาสตร์แค่ไหน

ยามาดะซึ่งได้รับบาดเจ็บมาอยู่ในความดูแลของจำปา น้องสาวของขาม
เกี่ยวกับตัวยามาดะเอง ขออนุญาตใช้เครื่องทุ่นแรงเลยแล้วกันครับ คือมีแหล่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตที่เขาอธิบายไว้ค่อนข้างชัดอยู่แล้วก็ขอลอกการบ้านมาดีกว่า แต่ระดับผมถ้าจะต้องลอกก็ไม่ใช่ลอกกันเปล่าๆ แต่จะให้เครดิตกันและมีความเห็นส่วนตัวพ่วงท้ายเข้าประกอบ แหล่งข้อมูลแรก เป็นวิกิพีเดียซึ่งขณะที่ผมเขียนบทความนี้มีอธิบายไว้ไม่สั้นไม่ยาวเกินไป ดังนี้ครับ
ยะมะดะ นะงะมะซะ หรือ ออกญาเสนาภิมุข (ญี่ปุ่น: 山田長政 Yamada Nagamasa; พ.ศ. 2113 — พ.ศ. 2173) เป็นซามูไรชาวญี่ปุ่น ที่เข้ามารับราชการ ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น ออกญาเสนาภิมุข
ยะมะดะ นะงะมะซะ เดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม โดยเดินทางกลับมาพร้อมกับคณะทูตจำนวน 60 คน ที่พระเจ้าทรงธรรมทรงส่งไปถึงเมืองเอโดะ(โตเกียวในปัจจุบัน) ในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2164 นะงะมะซะ ซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงข้าราชการชั้นผู้น้อย ได้รับราชการในกรมอาสาญี่ปุ่น และเจริญก้าวหน้าในเวลาต่อมา เป็นเจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น ในชื่อออกญาเสนาภิมุข (ตำแหน่ง ออกญา เทียบเท่า พระยา)
ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ยะมะดะ นะงะมะซะถูกล้อมจับ และถูกเนรเทศจากกรุงศรีอยุธยาไปเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช มีบุตรชายลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น กับภรรยาชาวไทย นามว่า โอนิน และได้ส่งบุตรชายและคณะไปเรียกส่วยภาษีจากเมืองปัตตานี แต่ได้รับการต่อต้านจากจากชาวต่างชาติในเมืองปัตตานีเช่น ฮอลันดา โปรตุเกส และอังกฤษ ที่ไม่พอใจที่ชาวญี่ปุ่นมีอิทธิพลในแถบนั้น ยะมะดะ นะงะมะซะ ยกกองทัพไปทำศึกกับปัตตานี แต่ได้รับบาดเจ็บถูกฟันที่ขา จึงยกทัพกลับนครศรีธรรมราชขณะที่การรบยังไม่เสร็จสิ้น
ยะมะดะ นะงะมะซะ ถึงแก่กรรมที่เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ. 2176 หลังจากได้รับพิษจากยารักษาแผล ที่พระเจ้าปราสาททอง ทรงบัญชาให้ออกพระมะริด เจ้าเมืองไชยา นำยาพิษงูผสมยางไม้ มาให้รักษาโดยหลอกว่าเป็นยาหลวงจากราชสำนัก

"บัวขาว" (ขวา) ในบทครูเสือ ครูมวยของผู้ที่จะเข้ารับการคัดเลือกเป็นทนายเลือก
ส่วนทางด้าน pantip.com ผู้ใช้นามแวงว่า "ออกหลวงมงคล" กล่าวเปรียบเทียบยามาดะตัวจริงกับในภาพยนตร์ไว้ดังนี้ครับ
ในหนังเรื่องซามูไร อโยธยา เป็นการจับแพะมาชนแกะ เอานายทหารอาสาญี่ปุ่นที่ชื่อ ยามาดะ ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง มาเป็นออกญาเสนาภิมุขในสมัยสมเด็จพระนเรศวร หรือพูดง่ายๆ ก็คือคนล่ะคนกันครับ ฉะนั้นหนังเรื่องนี้ ดูเอาสนุกอย่างเดียวก็พอครับ อย่าไปอ้างอิงกับประวัติศาสตร์ เพราะไม่ถูกต้อง
ออกญาเสนาภิมุข ในสมัยสมเด็จพระนเรศวร สันนิษฐานว่าตำแหน่งเดิมคือ ออกพระสุมิฮิโร่ เจ้ากรมทหารอาสาญี่ปุ่น ที่นำทหารอาสาญี่ปุ่นเข้าสู้ศึกยุทธหัตถีร่วมกับทหารอโยธยา
ส่วนคนญี่ปุ่นที่ชื่อ "ยามาดะ" เข้ามาอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งอยู่หลังรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชราวๆ 10-20 ปี เดิมทีเป็นแค่คนหามเกี้ยวให้โชกุนที่ญี่ปุ่น ต่อมาเมื่อเสร็จศึกทุ่งเซกิงาฮาร่า ซามูไรฝ่ายที่พ่ายแพ้ ต้องระหกระเหินกลายเป็นโรนินไร้สังกัด หลบหนีออกจากญี่ปุ่นมาแสวงโชคยังแผ่นดินใหม่ในหลายประเทศ ทั้งเขมร และอยุธยา
ยามาดะ ผู้นี้ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นพวกเดียวกับฝ่ายที่พ่ายแพ้ หรือไม่ก็เป็นพวกที่นับถือคริสเตียน ที่ถูกโชกุนกวาดล้าง จึงลี้ภัยมายังอยุธยา ด้วยความที่เป็นคนกล้าหาญ เฉลียวฉลาดในด้านการค้า จึงเข้ารับราชการในราชสำนักของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จนได้ดิบได้ดีถึงขนาดได้เลื่อนตำแหน่งเป็น ออกญาเสนาภิมุข เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น ควบคุมชุมชนญี่ปุ่นในอยุธยา (หมู่บ้านญี่ปุ่นในปัจจุบัน ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำกับหมู่บ้านโปรตุเกส บ้านเดิมของกระผมเอง) (กระผมเองนี้คือ "ออกหลวงมงคล" นะครับ)
ออกญาเสนาภิมุขผู้นี้สร้างสมอิทธิพลจนกลายเป็นขุนนางที่มีอำนาจในราชสำนักและเป็นที่เกรงกลัวของบรรดาขุนนางและทหารไทยเป็นอย่างมาก เมื่อสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม การเมืองในราชสำนักก็ผันผวน เมื่อ ออกญากลาโหม วางแผนแย่งชิงบัลลังก์จากพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม วางแผนกำจัดขุนนางชั้นผู้ใหญ่จนสิ้นชีพไปหลายต่อหลายคน แต่ออกญากลาโหม กลับเกรงกลัวอำนาจของออกญาเสนาภิมุข และบรรดาทหารอาสาญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก จึงทำได้แค่ผูกมิตรไว้ และวางแผนกำจัดโดยการส่งออกญาเสนาภิมุข และทหารอาสาญี่ปุ่นไปครองเมืองนครศรีธรรมราช
ในช่วงที่ออกญาเสนาภิมุขลงไปครองเมืองนครฯ ก็กำจัดบรรดาเจ้าเมืองดั้งเดิมชาวนครฯ เสียแทบไม่เหลือ และได้ทำสงครามปราบกบฏปัตตานีหลายครั้ง มีครั้งหนึ่ง ได้รับบาดเจ็บถูกอาวุธที่เท้า ออกญากลาโหม ส่งหมอหลวงจากอยุธยาลงไปรักษา แต่แท้ที่จริงแล้ว ยาที่รักษานั้นเป็นยาพิษ ออกญาเสนาภิมุข เจ้าเมืองนครฯ จึงสิ้นชีพที่นครศรีธรรมราชนั่นเอง ส่วนออกญากลาโหม ก็ได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชเป็น สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

ยามาดะ เล่นมอญซ่อนผ้ากับเด็กๆ
สมัยที่ผมเคยไปรับราชการที่จังหวัดนครศรีธรรมราชประมาณ 2 ปี ก็เคยได้ยินได้เห็นเรื่องราวในทางลบของออกญาเสนาภิมุขยามาดะนี้ ขนาดว่าถ้าเด็กกำลังร้องไห้อยู่พอเอ่ยชื่อยามาดะเป็นอันหยุดร้องเลยครับ แต่มุกนี้ฟังคุ้นๆเหมือนคนไทยจะใช้ว่าใครต่อใครบ่อยเหลือเกิน ด้านปี พ.ศ. เพื่อความชัดเจนขอลงเอาเหตุการณ์สำคัญที่เกี่่ยวข้องมาเรียงลำดับดูดังนี้ครับ ตามประวัติ ยามาดะเกิดในปี 2113 สงครามยุทธหัตถีนั้น เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2135 ซึ่งยามาดะมีอายุราว 22 ปี และต่อมาสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2148 จากนั้นขอข้ามมายังรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเลยครับที่ทรงครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2154 และปีที่ทรงส่งราชทูตไปยังญี่ปุ่นซึ่งคาดว่ายามาดะตัวจริงอาจจะเดินทางร่วมมาในตอนขากลับคือ พ.ศ. 2164 เป็นปีที่ยามาดะอายุราวๆ 29 ปี ว่าไปแล้ว การที่บทภาพยนตร์ย้ำนักย้ำหนาว่ายามาดะคนนี้คือคนเดียวกับยามาดะออกญาเสนาภิมุขตัวจริง ก็พอจะมีความเป็นไปได้ในด้านของช่วงอายุ แต่ความจริงทางประวัติศาสตร์ก็ยังเป็นความจริงอยู่นั่นเอง ยังไงๆผมขอยืนยันตามข้อเท็จจริงที่ค้นคว้ามาได้ว่า ยามาดะตัวจริงนั้นเข้ามาเมืองไทยในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมครับ

เรียนมวยไทยกับพระครู ซึ่งเป็นอาจารย์เดียวกับ "ครูเสือ" นั่นเอง


มอบดาบซามูไรด้ามแบบไทยให้กับขามเพื่อนรัก
ประเพณีการคัดเลือก "ทนายเลือก" ณ เวลานี้ผมยังหาข้อมูลเพิ่มเติมที่ชัดเจนกว่าในภาพยนตร์ไม่ได้ คือในวิกิพีเดียยังไม่มีบทความโดยเฉพาะ ครั้นพอจะพึ่งการเสิร์ชทางอินเทอร์เน็ตก็ปรากฏว่ามีกูรูเก๊ๆเอาข้อมูลจากภาพยนตร์ไปสำแดงความอวดรู้ไว้อีก เอาเป็นว่าในภาพยนตร์ได้กล่าวเอาไว้เองว่า "ทนายเลือก" คือ ราชองครักษ์ที่มีความรู้ความสามารถในเชิงมวยอย่างสูง ทำหน้าที่คุ้มครองใกล้ชิดองค์พระมหากษัตริย์โดยปราศจากอาวุธ แต่พอเสร็จการคัดเลือกได้ทนายเลือกมาตั้งสิบคนรวมถึงยามาดะด้วย แล้วพอได้ทราบข่าวว่าทางพม่าส่งกำลังคนสองร้อยนายมากลับส่งทนายเลือกทั้งสิบพร้อมอาวุธครบมือออกไปโจมตี ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับหน้าที่ของทนายเลือกตามที่อุตส่าเกริ่นเอาไว้เองตั้งแต่ต้น ขัดความเป็นจริงทางการยุทธที่จะส่งคนเพียงสิบคนเข้าไปโจมตีคนสองร้อยคนซึ่งมากกว่าถึงยี่สิบเท่าและทางนู้นเขาก็น่าจะมีการคัดเลือกคนมาเป็นอย่างดีประมาณว่าเป็น Special Force อยู่เหมือนกัน ตามความเป็นจริงน่าจะจัดการกับหน่วยรบพิเศษของพม่าหน่วยนี้ด้วยกำลังคนสัก 3-5 ร้อยคน แล้วอาจจะเข้าไปโจมตีกันถึงที่ตั้งหรือไม่ก็สร้างข่าวลวงว่าพระนเรศวรกำลังเสด็จมาแล้วส่งคนไปดักซุ่มโจมตีกลางทางที่พวกนั้นจะออกมา แต่ปัญหาคือทางผู้สร้างนั้นอยากจะเอาศิลปะแม่ไม้มวยไทยมาโชว์ในภาพยนตร์ แต่อีกด้านก็อยากจะให้ยามาดะโชว์ผลงานเด็ดๆ แต่การต่อสู้มือเปล่าแบบมวยไทยมันไม่ตอบโจทย์ซะแล้ว เลยต้องหักเหมาใช้อาวุธแทน ยิ่งในตอนท้ายยามาดะกลับไปเช็คบิลพวกญี่ปุ่นทรยศก็ใช้แต่วิชาดาบแบบญี่ปุ่นโดยไม่ปรากฏว่าเอาวิชาแม่ไม้มวยไทยมาประยุกต์ใช้แต่อย่างใด

Special Force จากพม่า รวบรวมจากชนเผ่าต่างๆ แม้จะไม่ลงทุนกับฉากสงครามใหญ่ๆ ก็พอดูกันได้เพลินๆ

พูดถึงเนื้อเรื่องที่ทางพม่าส่ง Special Force เข้ามาหมายปลงพระชนม์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชแล้ว ดูเหมือนภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่พ้นวังวนของการปลูกฝังความเชื่อว่า "ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด" แล้วพม่าก็รับบทผู้รุกรานเพียงสถานเดียว ซึ่งขัดกับความจริงที่ว่าหลังจากสงครามยุทธหัตถีแล้วฝ่ายไทยต่างหากที่พับสนามเป็นฝ่ายบุกเข้าไปในดินแดนพม่าจนตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ถ้าอยากจะสร้างภาพให้กับยามาดะแล้วน่าจะเป็นเรื่องของการตามสเด็จพระนเรศวรฯไปรบในแดนพม่ามากกว่า เมื่อผู้สร้างไม่อยากจะลงทุนกับฉากสงครามใหญ่ๆ จึงเกิดเป็นวีรกรรมขนาดย่อมที่ขาดหลักการยุทธดังที่กล่าว
ส่งท้ายกับเรื่องของมวยไทยที่ปรากฏในภาพยนตร์สักนิด นับตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง "องค์บาก" เป็นต้นมา แม้จะทำให้เกิดกระแสการอนุรักษ์มวยไทยแบบฉบับดั้งเดิมบนแผ่นฟิล์มกันมากขึ้น แต่ภาพลักษณ์ของมวยไทยที่ออกมากลับไปในแนวโหดๆ แทนที่จะเป็น "ศิลปะ" ป้องกันตัวที่ใครๆน่าจะสามารถเรียนรู้เพื่อใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ได้ ภาพที่ออกมากลายเป็นว่าสู้กันทีกระอักเลือดกันพอๆหรือยิ่งกว่าฆ่ากันด้วยอาวุธซะอีก คงต้องฝากให้บรรดาผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งหลายช่วยลดดีกรีความรุนแรงลงให้พอเหมาะพอควรนะครับ

มีโขนให้ดูด้วย

ฉากสุดท้ายกลับมาเช็คบิลกับชาวญี่ปุ่นทรยศ โดยมีขามเข้ามาช่วย

คำถามสุดท้ายว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีคุณค่าควรแก่การชมเพียงใด คงต้องตอบคล้ายๆกับที่เขาคุยกันใน pantip.com นั่นแหละครับว่า "ดูเอาสนุกอย่างเดียวก็พอครับ อย่าไปอ้างอิงกับประวัติศาสตร์ เพราะไม่ถูกต้อง" ด้วยควาที่ผู้สร้างยังติดกรอบแนวคิดที่ว่ายามาดะมาเป็นพรีเซนเตอร์ของประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นและการโชว์ศิลปะวัฒนธรรมไทยที่มีการปรุงแต่งกันอย่างสวยงาม แต่เมื่อเริ่มศึกษาหาความจริงที่เกี่ยวข้องแล้วขอให้ลืมสิ่งที่ได้ยินได้เห็นในภาพยนตร์เสียดีกว่าครับ ไม่งั้นจะหลงทางเข้ารกเข้าพงเปล่าๆ
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
คำคมชวนคิด :
- "มันจักเป็นผู้ใดหาสำคัญไม่ สำคัญแต่ว่า มันเป็นคนดีหรือไม่เท่านั้น" และ "คนเราบางครั้งก็มีบางสิ่งที่พูดไม่ได้ พูดไปแล้วคนเดือดร้อน ฉิบหาย เป็นพวกมึงมึงจักพูดหรือไม่" พระครูพูดกับบรรดาผู้ที่สงสัยยามาดะจากการที่มีกลุ่มนินจามาทำร้ายที่หมู่บ้าน
- "แม้มิใช่แผ่นดินเกิด แต่จักขอเป็นแผ่นดินตาย" คำปฏิญาณของยามาดะ
ชื่อเรื่องภาษาไทย : ซามูไร อโยธยา
ชื่อภาษาอังกฤษ : YAMADA
ผู้กำกำกับ/ผู้สร้าง : นพพร วาทิน
ผู้เขียนบท : นพพร วาทิน, ฐานธัช กองทอง, ฐนวัฒน์ ฐิระเยาภาพงษ์ และ วิโรจน์ สุขชู
ผู้แสดง :
- เซกิ โอเซกิ ... ยามาดะ นางามาสะ
- บัวขาว ป. ประมุข ...ครูเสือ
- ธรรมรส ใจชื่น ... จำปา
- สรพงษ์ ชาตรี ... พระครู
- วินัย ไกรบุตร ... พระนเรศวร
- ธนาวุฒิ เกสโร ... ขาม
- Mukuda Haan ... คุโรดะ
- ยุทธนา เหมือนวาจา ... ยอด
- ละม้าย โมลิพันธ์ ... จั่น
- ยอดแสนไกล แฟร์เท็กซ์ ... ทนายเลือก
- สมจิตร จงจอหอ ... ทนายเลือก
- เจริญทอง เกียรติบ้านช่อง ... ทนายเลือก
- แสนชัย ส.คิงส์สตาร์ ... ทนายเลือก
- อนุวัฒน์ แก้วสัมฤทธิ์ ... ทนายเลือก
ควรอ่านเพิ่มเติม
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ

ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก www.youtube.com
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับเต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์