(เผยแพร่ครั้งแรกที่ rojn.blogth.com/HistoryMovies/ Sun-11-Jun-2006)

เดือนมิถุนายน นอกจากจะมีความสำคัญในปีนี้เนื่องในวโรกาสมงคล ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเดือนแห่งความสนุกสนานในการแข่งขันฟุตบอลโลกแล้ว ยังเป็นเดือนประวัติศาสตร์สำคัญใน สงครามโลกครั้งที่สอง ในปี 1944 (พ.ศ.2487) เนื่องจาก การยกพลขึ้นบก ครั้งใหญ่ที่สุดในโลก ณ ชายหาดนอร์มังดี ซึ่ง Blog ของผมได้เคยรับใช้ท่านในการนำภาพยนตร์เรื่อง The Longest Day มาพูดคุยครั้งหนึ่งแล้ว เพื่อความสมบูรณ์ จึงขอนำภาพยนตร์อีกเรื่องในแนวสารคดี ของ National Geogrphic มาพูดคุยต่อ คือ D-Day: Men and Machines
สารคดีเรื่องนี้กล่าวถึงตั้งแต่การเตรียมการของฝ่ายสัมพันธมิตรที่เป็นเบื้องหลังจริงๆ ไม่ใช่แค่การเตรียมการของหน่วยพลรบ นับตั้งแต่
การใช้เรือดำน้ำสอดแนมจากนอกชายฝั่งในระยะที่กล้องเปอริสโคปจะมองเห็นการทำงานบนบกของทหารเยอรมันได้

เรือดำน้ำนอกชายฝั่งสังเกตการปฏิบัติงานของทหารเยอรมัน

การออกแบบและผลิตเรือลำเลียงพลเพื่อใช้ในการยกพลขึ้นบก
การผลิตอุปกรณ์เพิ่มเติมให้กับรถถังเพื่อให้สามารถแล่นในน้ำได้ในระยะห่างจากชายฝั่งพอสมควร เพื่อให้ขึ้นมาสนับสนุนทหารราบได้ทันเวลา

รถถัง Sherman เสริมอุปกรณ์ให้สามารถแล่นในน้ำจากชายฝั่งระยะใกล้ (DD Tank) ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงามที่หาด Sword แต่ล้มเหลวที่หาด Omaha เนื่องจากการตัดสินใจผิดพลาดของทหารที่ควบคุมเรือบรรทุกรถถัง
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม http://en.wikipedia.org/wiki/DD_tank
การเตรียมการฝึกพลร่มอเมริกันสำหรับโจมตีแนวหลังของข้าศึก

ภาพส่วนหนึ่งของการฝึกพลร่มอเมริกันในยุคแรกเพื่อเตรียมบุกเยอรมัน
การเตรียมรถถังพิเศษสำหรับการทำลายทุ่นระเบิดและเครื่องกีดขวางต่างๆ

รถถังเสริมอุปกรณ์พิเศษที่จะทำลายสิ่งกีดขวาง ทั้งทุ่นระเบิดและลวดหนาม
การประดิษฐ์เครื่องร่อนไม้สำหรับหน่วยคอมมานโดที่จะโจมตียึดสะพานแม่น้ำออร์นโดยไม่ให้ข้าศึกรู้ตัว

เครื่องร่อนที่ออกแบบมา "แก้ทาง" กับการป้องกันภาคพื้นดินของเยอรมัน
ชิ้นส่วนต่างๆ จะหลุดออกเมื่อกระทบสิ่งกีดขวางทำให้ทหารออกมาปฏิบัติงานได้โดยไม่เป็นอันตราย
การแก้ปัญหาการที่พื้นดินจะต้องรับน้ำหนักรถถังที่จะใช้สนับสนุนทหารราบ

หุ่นจำลองรถถัง Sherman ที่ได้รับการเสริมอุปกรณ์ "ปูพรม" เพื่อแก้ปัญหาพื้นดินอ่อน
นับเป็นสารคดีที่ให้ความรู้เชิงประวัติศาสตร์ที่ลึกลงไปจากที่ผมเคยรับรู้จากภาพยนตร์และหนังสือเรื่องต่างๆ ทำให้หายสงสัยในหลายประเด็น เช่น เหตุผลในการที่ต้องยึดสะพานข้ามแม่น้ำออร์นด้วยเครื่องร่อนแทนการใช้พลร่ม เหตุที่เรือยกพลขึ้นบกต้องเปิดออกทางด้านหน้า เหตุที่การรบ ณ หาดโอมาฮ่า (Omaha beach) เป็นที่ที่รบกันหนักที่สุด ฯลฯ
หัวใจของสารคดีเรื่องนี้ก็คือ ความพยายามที่จะใช้ข่าวกรองและเทคโนโลยีต่างๆ ในการเอาชนะข้าศึกให้เร็วที่สุด และสงวนชีวิตฝ่ายเดียวกันให้มากที่สุด เราจะเห็นความพยายามที่จะแก้ทางกันระหว่างสัมพันธมิตรและเยอรมัน เช่น เมื่อเยอรมันคาดการณ์ว่าการยกพลขึ้นบกจะทำในเวลาน้ำขึ้น ก็ใช้การปักเสาที่มีระเบิดอยู่บนยอด ซึ่งจะมองไม่เห็นเวลาน้ำขึ้น สัมพันธมิตรก็เปลี่ยนมาเลือกยกพลเวลาน้ำลงให้มองเห็นเสาที่ผูกระเบิดดังกล่าว เป็นต้น
ความน่ารักประการหนึ่งของสารคดีเรื่องนี้ คือ ความพยายามที่จะสาธิตให้คนรุ่นเราเห็นปัญหาและความพยายามแก้ปัญหาในการยกพลขึ้นบกครั้งนั้น การนำเอาอุปกรณ์ลุยน้ำสมัยนั้นมาทดลองติดตั้งกับรถถังเบาสมัยใหม่ แล้วลองแล่นในน้ำตื้นๆ นั้น เชื่อว่าถึงคุณจะแอนตี้สงครามขนาดไหนก็คงอดยิ้มไม่ได้
ได้เคยกล่าวในเรื่อง The Longest Day แล้วว่า กำลังสัมพันธมิตรได้มีการยกพลขึ้นบกรวม 5 ชายหาด แต่ละหาดมี Code Name ต่างๆ คือ Utah, Omaha, Gold, Juno และ Sword แต่ในสารคดีเรื่องนี้จำเป็นต้องถึงเฉพาะหาด Omaha และ Sword ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบที่ชัดเจนของผลแห่งความพยายามใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยรบตามที่ได้เตรียมการไว้ เหตุหนึ่งที่ชายหาด Omaha ที่ทหารอเมริกันยกพลขึ้นบกเกิดการรบนองเลือดกันมากที่สุดนั้น เหตุสำคัญประการหนึ่งก็เพียงเพราะกองเรือที่จะต้องทำหน้าที่ปล่อยรถถังที่มีอุปกรณ์ลุยน้ำได้นั้น ตัดสินใจปล่อยรถถังออกมาในขณะที่ยังอยู่ห่างจากชายหาดเกินไป โศกนาฏกรรมจึงเกิดขึ้น ไม่เพียงแต่รถถัง 27 คันพร้อมพลรถจะต้องจมน้ำโดยเปล่าประโยชน์เท่านั้น ทหารราบที่ไม่ได้รับการสนับสนุนตามที่เตรียมการไว้ก็ต้องล้มตายไปเป็นอันมาก ขณะที่ชายหาด Sword ที่ทหารอังกฤษยกพลขึ้นบก กองเรือสามารถปล่อยรถถังในระยะห่างจากชายหาดได้อย่างเหมาะสม ทำให้การรบที่หาดนี้ประสบความสำเร็จตามคาดหมายทุกประการ
นี่เป็นประเด็นที่ The Longest Day ไม่ได้กล่าวถึง (จะด้วยข้อจำกัดอันใดก็ตาม) ขณะที่หนังสืออีกเล่มหนึ่ง กล่าวถึงแต่ความล้มเหลวในการใช้รถถังแล่นในน้ำในแบบตลกโหดๆ ซึ่งมีความถูกต้องเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น
เสน่ห์อีกประการหนึ่งของเรื่องนี้ คือ การสัมภาษณ์ "คุณปู่" หลายท่านที่อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้น ทั้งที่เคยเป็นทหารราบในการยกพลขึ้นบก พลรถถัง พลขับเครื่องร่อน พลร่ม พลขับเรือยกพลขึ้นบก รวมถึงพลปืนกลเยอรมันบนหาดโอมาฮ่า ภาพที่อดีตทหารเยอรมัน 1 ท่านกับทหารสัมพันธมิตร 2 ท่าน เดินมาพบและพูดคุยระลึกความหลังกันบนหาดในตอนท้าย เป็นภาพที่น่าประทับใจมากทีเดียว

"คุณปู่" อดีตทหารสหรัฐฯ และเยอรมันที่เคยห้ำหั่นกันเมื่อหลายสิบปีก่อน กลับมารำลึกความหลังร่วมกันเยี่ยงมิตรสหาย
สรุปง่ายๆ ว่า ถ้าท่านชอบดูหนังสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว ที่ควรรีบหา VCD สารคดีชุดนี้มาศึกษาโดยเร็ว จะได้เข้าใจแบ็คกราวนด์ของหนังสงครามอีกหลายเรื่องได้ดีขึ้น
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : D-Day: Men and Machines
ชื่อภาษาไทย : ยุทการลับดีเดย์ วันสมรภูมิเดือด
ผู้สร้าง : National Geographic
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ
หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์