webmaster@iseehistory.com
เมื่อได้เขียนบทความแนะนำเรื่อง Valkyrie ไปแล้ว จะไม่ต่อด้วยเรื่อง Stauffenberg ภาพยนตร์ทางทีวีที่สร้างโดยเยอรมันเองเมื่อปี 2004/พ.ศ.2547 คงไม่ได้ ภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่อง เกี่ยวกับการที่นายพันเอก Stauffenberg กับพรรคพวกพยายามลอบสังหารฮิตเลอร์และทำรัฐประหารตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ 20 กรกฎาคม 1944/พ.ศ.2487 ซึ่งที่จริงแล้ว Valkyrie สามารถอาศัยความได้เปรียบจากการสร้างทีหลังและอื่นๆ ทำให้เป็นภาพยนตร์ที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้ได้มากกว่า รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ที่ทำให้ภาพยนตร์ดูตื่นเต้นน่าชมกว่า แต่เรื่อง Stauffenberg นี้ยังมีบางประเด็นที่อาจจะนำมาเสริมความเข้าใจต่อเหตุการณ์นี้ได้เช่นกัน
แอบดูฮิตเลอร์ที่พึ่งได้อำนาจอย่างชื่นชม แล้วขอแต่งงานในปีเดียวกัน
ภาพยนตร์เปิดฉากโหมโรงกันที่ตอนพันเอกสตอฟเฟนแบร์กกำลังจะถูกยิงเป้า แล้วย้อนไปเปิดเรื่องจริงๆ ในฤดูร้อน ปี 1933/พ.ศ.2476 อันเป็นปีที่ฮิตเลอร์พึ่งได้อำนาจ สตอฟเฟนแบร์กพานีน่าคู่รักมาชมคอนเสิร์ตของวากเนอร์ช้าไปเล็กน้อย เนื่องจากฮิตเลอร์มาถึงแล้ว เจ้าหน้าที่ในโรงโอเปราจึงแนะนำให้ทั้งสองหลบอยู่หลังม่านรอจนถึงเวลาพักจึงค่อยเข้าไปนั่ง ทั้งสองแอบมองฮิตเลอร์ด้วยท่าทีชื่นชมเล็กน้อย แล้วสตอฟเฟนแบร์กก็ขอนีน่าแต่งงาน เวลาผ่านไป ในสงครามที่เยอรมันบุกโปแลนด์ สตอฟเฟนแบร์กเขียนจดหมายถึงนีน่าซึ่งตอนนี้เป็นเคาน์เตสสตอฟเฟนแบร์กแล้ว โดยยังไม่รู้สึกว่าสงครามเป็นปัญหา
เทรสโควนำ Stauffenberg มาฟังคำให้การของพอลจา
รู้จักกับเฟลกีเบล (กลาง) และฟอนเฮฟเทน (ซ้าย)
เครื่องบินอังกฤษกำลังโจมตีก่อนได้รับบาดเจ็บ
แต่ครั้นต่อมา ในรัสเซียขาวเดือนพฤษภาคม 1942/พ.ศ.2485 เขาจึงเริ่มรู้ถึงความเลวร้ายของนาซี เมื่อเฮนนิ่ง หรือนายพล Henning von Tresckow ขอให้หญิงชาวบ้านชื่อพอลจา เล่าเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในหมู่บ้านของเธอให้ฟัง เทรสโควสรุปว่ามีผู้ถูกสังหารในลักษณะนี้ไปราวสามหมื่นคน และชักชวนให้สตอฟเฟนแบร์กร่วมกำจัดฮิตเลอร์ แม้เวลานั้นเขาจะยังไม่เห็นด้วย แต่สตอฟเฟนแบร์กก็เริ่มตั้งคำถามกับชีวิตนายทหารของเขา ต่อมาที่ปรัสเซียตะวันออก เดือนกุมภาพันธ์ 1943/พ.ศ.2486 เขาก็ได้พบกับนายพลผู้หนึ่ง กำลังเมาร้องด่าฮิตเลอร์ทั้งในเรื่องสงครามที่สตาลินกราดและการสังหารหมู่ชาวยิว เขาผู้นั้นคือนายพล Erich Fellgiebel และผู้ใกล้ชิดอีกคนหนึ่งคือ Werner von Haeften ซึ่งจะกลายมาเป็นท.ส.ของสตอฟเฟนแบร์กในภายหลังนั่นเอง จากนั้น สตอฟเฟนแบร์กได้ขอย้ายไปประจำสมรภูมิอาฟริกา ที่ประเทศตูนิเซีย ซึ่งเขาก็ยังต้องพบกับความสะเทือนใจจากการสูญเสียทหารร่วมชาติ และตัวเขาเองก็มาได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีทางอากาศของฝ่ายข้าศึก เมื่อเมษายน 1943/พ.ศ.2486 และถูกส่งตัวมาในสภาพคนพิการ เสียตาข้างซ้าย และมือขวา รวมถึงนิ้วอีกสองนิ้วที่มือซ้าย
เริ่มคิดการใหญ่
นายพลฟรอมม์ (ขวา) มอบหมายให้เข้าร่วมประชุมกับฮิตเลอร์
ออกจากโรงพยาบาล สตอฟเฟนแบร์กกับเทรสโควเริ่มคบคิดกันวางแผนสังหารฮิตเลอร์ โดยให้มาร์กาเร็ต เลขาของเทรสโควพิมพ์ร่างแถลงการณ์ ต่อมาเขาได้จากภรรยาที่อยู่ Bamberg มายังเบอร์ลินเพื่อดำเนินการตามแผน โดยสบโอกาส เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 1944/พ.ศ.2487 นายพลฟรอมม์ ผู้บังคับบัญชาของเขาได้มอบหมายให้สตอฟเฟนแบร์กไปร่วมฟังการสรุปของฮิตเลอร์ในวันที่ 20 เขาจึงนัดหมายเตรียมการกับสมัครพรรคพวกในคืนนั้น แต่เทรสโควมาไม่ได้เพราะไปประจำการที่แนวหน้า
เตรียมลูกระเบิด
เผชิญหน้า "ฮิตเลอร์" ก่อนลงมือ
คนถูกหามมาในเปลถูกคลุมร่างด้วยเสื้อคลุมของฮิตเลอร์ แปลว่าฮิตเลอร์ตายแล้ว???
20 กรกฎาคม 1944 สตอฟเฟนแบร์กตื่นแต่ตีห้า ออกเดินทางไปถึงสนามบินกรุงเบอร์ลินเวลา 7.00 น. ขึ้นเครื่องบินไปถึง Rastenburg ปรัสเซียตะวันออก 10.15 น. ขึ้นรถไปยังกองบัญชาการของฮิตเลอร์ แวะทักทายกับบรรดานายทหารระดับสูง เวลา 11.40 น. ไปที่ "รังหมาป่า" (Wolfsschanze หรือที่ใน Valkyrie เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "The Wolf's Lair") เพื่อเข้าพบนายพลไคเตล จึงได้ทราบว่าการประชุมเลื่อนให้เร็วขึ้นครึ่งชั่วโมง จึงทำทีเป็นขอเปลี่ยนเสื้อ เพื่อที่ตนเองกับผู้ช่วยจะได้เตรียมระเบิดซ่อนไว้ในกระเป๋าเอกสาร เสร็จแล้วตามบรรดานายทหารไปยังที่ประชุมเพื่อแอบวางกระเป๋าระเบิดดังกล่าวไว้ใกล้ฮิตเลอร์ แล้วขอตัวออกมาพบนายพลเฟลกีเบล เมื่อเกิดระเบิดขึ้นได้ขอให้นายพลเฟลกีเบลโทรแจ้งข่าวพรรคพวกที่เบอร์ลินแล้วตัดการสื่อสารทันที ตนเองกับฟอนเฮฟเทนท.ส.ได้พากันขึ้นรถออกถึงสนามบิน 13.15 น. ขึ้นเครื่องบินจนถึงเบอร์ลินเมื่อ 15.40 น. เมื่อพบว่ายังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ จึงโทรติดต่อนายพลโอลบริคท์ แล้วเดินทางไปพบโอลบริคท์กับพวกเพื่อยืนยันว่าตนได้สังหารฮิตเลอร์สำเร็จแล้ว โอลบริคท์ไม่ค่อยเชื่อพากันไปพบนายพลฟรอมม์ด้วยกัน นายพลฟรอมม์บอกว่าได้รับข่าวจากไคเตลว่าฮิตเลอร์ยังไม่ตาย แล้วเกิดทะเลาะกันจนที่สุดสตอฟเฟนแบร์กกับพวกก็จับนายพลฟรอมม์ไปขังไว้ในที่หนึ่ง
พันตรีเรเมอร์เริ่มสั่งให้กำลังพลเคลื่อนไหว
รัฐประหารที่เกือบสำเร็จ
จากนั้นสตอฟเฟนแบร์กกับพวกก็เริ่มการเคลื่อนไหวเพื่อยึดอำนาจในเบอร์ลิน 16.40 น. ทหารกองกำลังสำรองเริ่มเคลื่อนพลเข้ายึดสถานที่ต่างๆ 17.10 น. คนจากหน่วยเอสเอส 3-4 คน มาพบสตอฟเฟนแบร์กแต่ถูกจับตัวไว้ นายพลเบ็คเริ่มแถลงกับนายทหารในกองบัญชาการในฐานะผู้นำใหม่ 18.00 น. กำลังทหารยึดกองบัญชาการทหารเบอร์ลิน 18.28 น. ฮิตเลอร์ออกแถลงการณ์ทางวิทยุเพื่อให้เห็นว่าตนเองปลอดภัย สตอฟเฟนแบร์กยังยืนยันว่าวิทยุโกหก 18.55 น. พันตรีเรเมอร์ที่นำกำลังเข้ายึดสถานที่ต่างๆ มาพบเกิบเบลส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโฆษณาการ เกิบเบลส์ให้เรเมอร์พูดโทรศัพท์กับฮิตเลอร์ ช่วงนี้มีข่าวดีแค่พวกเอสเอสในปารีสเวียนนาถูกปลดอาวุธ แต่พันตรีเรเมอร์เชื่อแล้วว่าฮิตเลอร์ยังไม่ตายก็เริ่มสั่งถอนกำลังจากสถานที่ต่างๆ ในคณะผู้ก่อการก็เริ่มมีคนถอนตัว จนกระทั่ง 21.30 น. นายทหารในกองบัญชาการที่มีท่าทีไม่เห็นด้วยแต่แรกเริ่มจับอาวุธเข้าจับกุมสตอฟเฟนแบร์กกับพวกได้สำเร็จ นายพลฟรอมม์ซึ่งหลุดออกมาได้แล้วได้ออกคำสั่งประหารชีวิตสตอฟเฟนแบร์กกับพวกรวม 10 คน ยกเว้นนายพลเบ็คที่ขอยิงตัวตายเอง และนายพลโฮฟเนอร์ ให้จำคุกตลอดชีวิต (แต่ในความจริงแม้นายพลโฮฟเนอร์จะไม่ถูกยิงเป้าพร้อมสตอฟเฟนแบร์ก เขาก็ยังถูกส่งตัวให้เกสตาโปและถูกตัดสินประหารชีวิตในเวลาต่อมา)
เมื่อเหตุการณ์พลิกกลับ
อวสาน Stauffenberg
โดยสรุป เรื่อง Stauffenberg มีประเด็นที่แตกต่างจาก Valkyrie ที่สำคัญพอจะกล่าวถึง ดังนี้
- เหตุที่ต้องเข้าร่วมต่อต้านฮิตเลอร์จนวางแผนลอบสังหารและรัฐประหาร เรื่อง Stauffenberg มีการปูพื้นฐานสาเหตุของการที่สตอฟเฟนแบร์กต้องลงมือสังหารฮิตเลอร์ คือการได้รับรู้ความเลวร้ายของนาซีจากนายพลเทรสโควตั้งแต่ปี 1942 และจากนายพลเฟลกีเบลในปีถัดมา ในเรื่อง Valkyrie จะเหมือนกับว่าความเลวของฮิตเลอร์และนาซีนั้นรู้ๆ กันอยู่แล้ว และเหมือนกับว่าสตอฟเฟนแบร์กมารู้จักเทรสโควทีหลัง
- พระเอกบุกเดี่ยว? ทั้ง Stauffenberg และ Valkyrie นี่สมชื่อจริงๆ คือ Stauffenberg ก็เน้นแต่บทบาทของสตอฟเฟนแบร์กจนขาดรายละเอียดของคนอื่นๆ ที่ร่วมขบวนการในครั้งนี้ จนอาจจะรู้สึกว่าตัวละครที่โผล่มาในช่วงรัฐประหารนี่มันไปยังไงมายังไง และไม่ได้กล่าวถึงแผนการวัลคีรีเลย ใน Valkyrie มีความชัดเจนอยู่แล้วว่าใครร่วมขบวนการกันมาแต่ต้น และมีการนำแผนการวัลคีรีของฮิตเลอร์เองมาแก้ไขเพื่อใช้รองรับการลอบสังหาร
- เงื้อค้างมาก่อน เรื่อง Stauffenberg กล่าวถึงแต่การลงมือในวันที่ 20 กรกฎาคม 2544 โดยไม่ได้กล่าวถึงความพยายามครั้งแรกในวันที่ 15 อย่างใน Valkyrie นอกจากในบทสนทนาระหว่างสตอฟเฟนแบร์กกับคนขับรถที่พาเข้าสู่ที่ประชุม คนขับถามว่าเคยไปที่บก.ของฮิตเลอร์ไหม สตอฟเฟนแบร์กบอกว่าเคยไปเมื่อ 5 วันก่อน ใน Valkyrie ได้ชี้ชัดว่าการ "เงื้อค้าง" เมื่อวันที่ 15 ได้มีผลต่อความล้มเหลวในวันที่ 20 เช่น การย้ายที่ประชุมมานอกรังหมาป่าที่น่าจะช่วยเสริมการอัดแรงระเบิดภายในห้อง และการที่โอลบริคท์ไม่กล้าสั่งระดมพลจนกว่าจะแน่ใจว่าสังหารฮิตเลอร์สำเร็จ
ย้อนมาดู "รังหมาป่า" ที่ดูหนาแน่นพอจะป้องกันภัยจากภายนอก แต่ถ้าเกิดระเบิดข้างในจะยิ่งเพิ่มแรงอัด
- ความสำคัญของอาคาร เรื่อง Stauffenberg ไม่ได้กล่าวถึงความสำคัญของตัวอาคาร "รังหมาป่า" ใน Valkyrie ได้กล่าวว่าอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่หนามากๆ ของห้องในรังหมาป่าจะช่วยเสริมให้แรงระเบิดอัดอยู่ภายในจนสามารถฆ่าทุกคนในห้อง เมื่อมีการเปลี่ยนที่ประชุมไปเป็นหอประชุมซึ่งเป็นอาคารธรรมดา จึงได้ผลน้อยลง
- เหตุที่สตอฟเฟนแบร์กได้ร่วมประชุมกับฮิตเลอร์ เรื่อง Stauffenberg นี้ชัดเจนว่า นายพลฟรอมม์ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาได้สั่งให้สตอฟเฟนแบร์กไปเข้าร่วมประชุมของฮิตเลอร์ ในเรื่อง Valkyrie เหมือนกับว่าสตอฟเฟนแบร์กนึกอยากจะเข้าประชุมก็เข้าได้ตามชอบใจ แต่ Valkyrie ได้ปูพื้นฐานของเรื่องว่า สตอฟเฟนแบร์กได้เข้าทำงานในกองบัญชาการกำลังสำรอง และได้เลื่อนตำแหน่งให้สูงพอที่จะเข้าถึงตัวฮิตเลอร์ได้ เรียกว่าต่างฝ่ายต่างตกคนละประเด็น
- บทบาทของนายพลฟรอมม์ ในเรื่อง Stauffenberg ก็ดูเหมือนตาคนนี้ไม่น่าจะผิดอะไรมาก ในเมื่อตะแกรับใช้ฮิตเลอร์อยู่ แล้วฮิตเลอร์ก็ยังไม่ตาย จะไปเข้าร่วมการรัฐประหารทำไม ใน Valkyrie จะบอกชัดว่า กลุ่มของสตอฟเฟนแบร์กได้พยายามทาบทามเขาในฐานะผบ.กำลังสำรองและเป็นคนเดียวที่สามารถสั่งใช้แผนวัลคีรีได้ แต่ตะแกแทงกั๊กมาแต่ต้น พอฝ่ายฮิตเลอร์ชนะก็รวบรัดประหารกลุ่มผู้ก่อการโดยพลการเพื่อปิดปากไม่ให้พาดพิงถึงตัว (แต่สุดท้ายก็ไม่รอด)
- ใครจับสตอฟเฟนแบร์กกับพวก? ในเรื่อง Stauffenberg พวกนายทหารในกองบัญชาการกำลังสำรองเป็นผู้รวบรวมคนและอาวุธเข้ามาจับ แต่ใน Valkyrie พันตรีเรเมอร์เป็นผู้นำกำลังเข้ามาในกองบัญชาการกำลังสำรอง ตามคำสั่งของฮิตเลอร์ว่าให้จับเป็น
- การประหารผู้ก่อการ เรื่อง Stauffenberg กล่าวว่านายพลฟรอมม์ได้สั่งประหารสตอฟเฟนแบร์กกับพวกรวม 10 คนโดยยกเว้นนายพลโฮฟเนอร์ (Generaloberst Erich Hoepner) ซึ่ง Valkyrie ไม่เคยกล่าวถึงชื่อนี้เลยสักครั้ง เรื่อง Stauffenberg ยังกล่าวว่าคนขับรถของสตอฟเฟนแบร์กยังได้เห็นเหตุการณ์การประหารครั้งนี้ด้วย
คนรถของ Stauffenberg ที่เห็นวาระสุดท้ายของเขา
จากที่กล่าวมา แม้ Stauffenberg จะด้อยกว่า Valkyrie ในด้านรายละเอียดค่อนข้างมาก แต่ก็มีบางประเด็นที่แตกต่างออกไปทั้งที่เข้ามาเสริมและที่กลายเป็นขัดแย้งอยู่บ้าง เรียกว่าใครที่สนใจการลอบสังหารฮิตเลอร์และรัฐประหารในยุคนาซีครั้งนี้ ถึงจะต้องดู Valkyrie เป็นหลัก แต่จะมองข้าม Stauffenberg ไปไม่ได้เลย เช่นเดียวกับการศึกษาหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์จากแหล่งอื่นครับ
คำคมชวนคิด
- "พวกยิวเป็นคนเหมือเรานะ ผมไม่ภูมิใจกับการอาฆาตทางเชื้อชาติแบบนี้" เทรสโควพูดกับสตอฟเฟนแบร์กที่รัสเซียขาว
- "ผมเสียใจกับประเทศนี้มานานพอแล้ว มันจะไม่มีอีก" สตอฟเฟนแบร์กกล่าวกับนายพลฟรอมม์ตอนเริ่มยึดอำนาจ
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อันชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : Stauffenberg (Elephant Media Link ซึ่งเป็นชื่อที่ถูกต้อง) หรือ Hitler Assassination (ST)
ชื่อภาษาไทย : แผนสังหารฮิตเล่อร์ (Elephant Media Link) หรือ สั่งเก็บจอมคนฮิตเลอร์ (ST)
ผู้กำกำกับ : Jo Baier
ผู้เขียนบท : Jo Baier
ผู้แสดง :
- Sebastian Koch ... Oberst Claus Graf Schenk von Stauffenberg
- Ulrich Tukur ... Henning von Tresckow
- Hardy Krüger Jr. ... Werner von Haeften
- Christopher Buchholz ... Berthold Graf v. Stauffenberg
- Nina Kunzendorf ... Nina Gräfin von Stauffenberg
- Stefania Rocca ... Margarethe von Oven
- Axel Milberg ... Generaloberst Friedrich Fromm
- Olli Dittrich ... Joseph Goebbels
- Katharina Rivilis ... Polja
- Karl-Heinz von Liebezeit ... Oberfeldwebel Kolbe (as Karl Heinz von Liebezeit)
- Michaela Wiebusch ... Sekretärin Alix von Winterfeldt
- Michael Lott ... Schweizer
- Christine Sommer ... Deliah, 2. Sekretärin Stauffenberg
- Thorsten Merten ... Peter Graf Yorck von Wartenburg
- Joachim Bissmeier ... Generalfeldmarschall Erwin von Witzleben
- Enrico Mutti ... Major Otto Remer
- Rainer Bock ... General der Infanterie Friedrich Olbricht
- Ronald Nitschke ... Generaloberst Erich Hoepner
- David C. Bunners ... Albrecht Ritter Mertz von Quirnheim
- Milan Peschel ... Oberstleutnant Karl Pridun
- Holger Daemgen ... Fahrer Kretz
- Sebastian Rüger ... Oberleutnant Ewald-Heinrich von Kleist-Schmenzin
- Christian Doermer ... Generalfeldmarschall Wilhelm Keitel
- Udo Schenk ... Adolf Hitler
- Remo Girone ... Generaloberst Ludwig Beck
- Georg Schramm ... SS-Oberführer Humbert Achamer-Pifrader
- Waldemar Kobus ... Oberstleutnant Herber
- Gregor Weber ... Fritz-Dietlof Graf von der Schulenburg
- Harald Krassnitzer ... General der Nachrichtentruppen Erich Fellgiebel
- Uwe Zerbe ... Generalmajor Walter Buhle
- Lutz Lansemann ... Operndiener
ควรอ่านเพิ่มเติม
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ
หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ
ภาพยนตร์ตัวอย่าง จาก www.youtube.com
สำหรับเรื่องนี้ยังไม่มี Trailer ที่สมบูรณ์ จึงขอเลือกคลิปนี้ที่ตัดตอนมาเฉพาะตอนที่เข้าไปวางระเบิดแล้วหลบออกมาครับ
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์