โดย webmaster@iseehistory.com
คงเคยได้ยินกันมาพอสมควรว่า หากต้องการมีสุขภาพจิตที่ดี หรือกระทั่งต้องการประสบความสำเร็จในชีวิตหรือในธุรกิจการงานต่างๆ แล้ว จะต้องหัดมองโลกในแง่ดี หรือที่บางทีเรียกว่า "คิดบวก" แต่มักจะไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนว่า "การมองโลกในแง่ดี" หรือ "คิดบวก" ที่ว่า มันหมายถึงอะไร มีหลักปฏิบัติอย่างไร ผมเองเคยได้ฟังจากผู้ประสบความสำเร็จในธุรกิจเครือข่ายท่านหนึ่งว่า การมองโลกในแง่ดีหรือการคิดบวกที่ว่านั้นคือการมองว่า "ทุกปัญหานั้นแก้ได้" ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สำหรับเราๆ ที่ชอบภาพยนตร์ประวัติศาสตร์หรือหนังสงครามทั้งหลายเคยลองคิดดูไหมครับว่าถ้าเราต้องเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ร้ายๆ แบบในหนังเหล่านั้น โดยที่เราไม่ได้เป็นพระเอกที่เก่งกาจแบบแรมโบ้แล้ว เราจะมองโลกในแง่ดีหรือคิดบวกอย่างไรได้? และยิ่งถ้าหากเรายังมีลูกเล็กๆ ที่ยังไม่เดียงสาต่อโลกที่ผู้ใหญ่บางคนสร้างความเลวร้ายเอาไว้ เราจะทำอย่างไร ในภาพยนตร์เรื่อง Life Is Beautiful ของ Roberto Benigni ที่ฉายครั้งแรกในปี 1997/พ.ศ.2540 ได้ลองสมมติให้ตัวละครที่ตลกสุดๆ ต้องถูกนำตัวเข้าไปในค่ายกักกันยิวของนาซีพร้อมกับลูกชายอายุราว 5-6 ขวบ แล้วเขาจะแก้สถานการณ์อย่างไร? จะตลกออกจนจบเรื่องได้หรือไม่?
รักแรกพบเมื่อดอร่าหล่นจากบ้านลงมาพบกุยโดที่กองฟาง
โรดอลโฟ ตัวอุปสรรคของการเปิดร้านหนังสือและความรัก
รักใต้โต๊ะ
ภาพยนตร์เริ่มเรื่องขึ้นที่เมือง Arezzo อิตาลี ปี 1939/พ.ศ.2482 เมื่อ Guido Orefice หนุ่มยิวกับเพื่อนชื่อ Feruccio เข้ามาในเมืองแห่งนี้เพื่อมาขออนุญาตเปิดร้านหนังสือ วันแรกที่ทั้งสองขับรถเข้าเมืองเกิดเบรคแตกบังคับรถไม่อยู่ ขณะนั้นกำลังมีขบวนเสด็จของกษัตริย์อิตาลีเข้ามาในเมืองพอดี รถของทั้งสองเกิดเข้าไปอยู่ระหว่างรถมอเตอร์ไซค์นำขบวนกับรถพระที่นั่ง ทำให้ประชาชนที่รอรับเสด็จเข้าใจผิดคิดว่า กุยโดเป็นพระเจ้าแผ่นดิน มุกแบบนี้คงเอามาใช้ในหนังไทยไม่ได้ ที่เล่ายาวหน่อยคือจะแทรกเกร็ดประวัติศาสตร์ว่าแม้เวลานั้นมุสโสลินีจะได้เป็นจอมเผด็จการผู้นำประเทศแล้ว ประเทศยังมีพระมหากษัตริย์คือพระเจ้าวิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่ 3 (Victor Emmanuel III) ไม่ใช่อย่างเยอรมันที่ฮิตเลอร์รวบตำแหน่งประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรีเข้าด้วยกัน มาเข้าเรื่องภาพยนตร์กันต่อครับ กุยโดกับเพื่อนได้ไปขอเช่าบ้านจากลุงซึ่งเป็นหัวหน้าบริกรของโรงแรมและนักสะสมของเก่า เขาได้พบรักกับครูสาวสวยนามว่า Dora แต่ทั้งการเริ่มกิจการร้านหนังสือและความรักของเขาก็ต้องเผชิญอุปสรรคเมื่อเขาเดินทางไปขออนุญาตเปิดร้านหนังสือที่ศาลากลางกับนาย Rodolfo แต่ด้วยความซุ่มซ่ามของกุยโดหรือทั้งสองคนก็ตามแต่ กุยโดได้ทำกระถางต้นไม้ตกใส่หัวโรดอลโฟและทำไข่เลอะหัวตาคนนี้อีกซ้ำสองติดๆ กัน แล้วยังปรากฏว่าอีตาโรดอลโฟนี้ดันเป็นคู่หมั้นคู่หมายกับดอร่าหญิงสาวที่เขาหลงรักอยู่ ซึ่งอย่างหลังนี้กลายเป็นเรื่องที่เขาต้องฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ อย่างสุดฮา ซึ่งในที่นี้คงไม่ขอเล่ารายละเอียดอะไรมากนัก เพื่อความฮาที่สมบูรณ์ขอให้ชมจากภาพยนตร์กันเอาเองจะดีกว่า
แม้ในช่วงครึ่งแรก พระเอกของเราจะใช้อารมณ์ขันฟันผ่าอุปสรรคต่างๆ มาได้ แต่ที่จริงแล้ว เค้าลางที่บ่งบอกถึงปัญหาใหญ่ที่จะเผชิญภายหน้าได้ก่อเค้าลางขึ้นบ้างแล้ว คือ ในวันแรกที่เขาเข้าเมืองไปขอเช่าบ้านคุณลุง Eliseo อยู่นั้น ปรากฏว่ามีชายกลุ่มหนึ่งได้เข้ามารุมทำร้ายคุณลุงแล้วรีบหนีไป ต่อมาได้มีผู้ตรวจการศึกษา (ศึกษานิเทศก์) จากกรุงโรมมาบรรยายที่โรงเรียนของดอร่าเรื่องเกี่ยวกับเผ่าพันธุ์ (Race Manifesto) แต่กุยโดได้แอบปลอมเป็นเขาเพื่อมาหาดอร่าซะก่อน และในครั้งที่กุยโดไปป่วนงานหมั้นของโรดอลโฟกับดอร่า ได้มีคนแอบมาพ่นสีเขียวใส่ม้าของลุงเอลิซีโอกับเขียนข้อความว่า "ระวังม้ายิว" ตรงนี้เป็นความรู้ใหม่สำหรับผมว่าในอิตาลีก็มีกระบวนการรังเกียจยิวก่อตัวอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว
กุยโดมาพบลุงที่พึ่งถูกทำร้ายถึงในบ้าน
ปลอมเป็นศึกษานิเทศก์จากกรุงโรมมาพูดเรื่องทฤษฎีเผ่าพันธุ์
ม้าของลุงโดนพ่นสี "ระวังม้ายิว"
ภาพยนตร์ได้เดินเรื่องกระโดดข้ามจากตอนที่กุยโดไปแย่งชิงดอร่าจากคู่หมั้นมายังตอนที่ทั้งสองคนมีลูกด้วยกันคนหนึ่งแล้วชื่อว่า Joshua ตรงนี้ต้องเดากันเอาเองล่ะครับว่าเป็นปีไหน ตามประวัติศาสตร์จริงหลังจากปี 1939 อิตาลีได้เข้าสงครามร่วมกับเยอรมัน แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และดูจะกลายเป็นทั้งลูกไล่และตัวถ่วงของเยอรมันอยู่กลายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สงครามในทะเลทรายอาฟริกาเหนือที่ฮิตเลอร์ต้องให้นายพลรอมเมลไปช่วยรบกู้หน้าสร้างชื่อเสียงและความก้าวหน้าให้กับรอมเมลอย่างมากมาย แม้กระนั้นการที่ฮิตเลอร์ไม่ได้ตั้งใจจะช่วยอิตาลีอย่างจริงจังรวมถึงปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายเกินจะกล่าวในที่นี้ กองทัพอักษะทั้งเยอรมันและอิตาลีก็ต้องถอนทัพออกจากสมรภูมิอาฟริกาเหนือ สัมพันธมิตรก็รุกไล่ขึ้นมาถึงอิตาลี จนในที่สุด กษัตริย์อิตาลีได้ปลดมุสโสลินีออกจาผู้นำและประกาศยอมแพ้ต่อสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ 3 กันยายน 1943/พ.ศ.2486 แต่แล้วในวันที่ 12 เดือนเดียวกัน ฮิตเลอร์ได้จัดส่งหน่วยพลร่มไปช่วยเหลือมุสโสลินีออกจากที่คุมขังมาได้ และได้จัดตั้งรัฐบาลหุ่นสาธารณรัฐสังคมนิยมอิตาลีโดยการสนับสนุนของฮิตเลอร์ขึ้นทางตอนเหนือของอิตาลี เมื่อลองค้นจากวิกิพีเดียพบว่าเมือง Arezzo นี้ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของอิตาลี แต่จะได้รับการปลดปล่อยโดยสัมพันธมิตรเมื่อไหร่นี่ยังค้นไม่ได้ครับ คงต้องขอเดาว่าเรื่องในครึ่งหลังนี้เริ่มขึ้นในราวปี 1944/พ.ศ.2487 ซึ่งโจชัวน่าจะมีอายุราวๆ 4-5 ขวบครับ
รถไฟนำชาวยิวมายังค่ายกักกัน
กุยโดพยายามหลอกลูกตั้งแต่มาถึงค่ายกักกันว่าเป็นแค่การเล่นเกม
กุยโดอ้างตัวเป็นล่ามแปลกฎของค่ายกักกันเป็นกติกาการเล่นเกมหลอกลูก
ขอเล่าเรื่องในภาพยนตร์ครึ่งหลังต่อละครับ ในวันเกิดของโจชัว ซึ่งในเรื่องไม่ได้บอกว่าวันที่เท่าไหร่ กุยโด โจชัว และลุงเอลิซีโอถูกทหารเยอรมันนำตัวขึ้นรถบรรทุกไปยังสถานีรถไฟที่จะนำพวกเขาต่อไปยังค่ายกักกันชาวยิว ซึ่งกุยโดไม่ได้ยอมบอกความจริงกับลูกโดยอำว่าเป็นการไปเที่ยว ดอร่าเมื่อทราบว่าสามีและลูกถูกจับก็ตามมาถึงสถานีรถไฟ และร้องขอต่อนายทหารเอสเอสให้ปล่อยตัวคนทั้งสอง เมื่อไม่สำเร็จจึงขอขึ้นรถไฟไปด้วย ซึ่งนายทหารผู้นั้นก็ยินยอมแต่ไม่ได้ขึ้นไปบนโบกี้เดียวกัน เมื่อถึงค่ายกักกันบรรดาผู้หญิงก็ถูกแยกไปอยู่คนละที่กัน กุยโดยังคงหลอกโจชัวว่านี่เป็นการเล่นเกมที่จะต้องสะสมแต้มให้ได้ถึง 1,000 คะแนน ผู้ชนะจะได้รับรางวัลเป็นรถถังคันใหญ่ แต่สำหรับค่ายกักกันของนาซีอันแสนโหดแล้วอะไรๆ ก็ใช่ว่าจะง่ายๆ เมื่อทางค่ายเริ่มนำเด็กไปเข้าห้องรมแก๊สก็ต้องสั่งให้โจชัวไปหลบซ่อน โดยอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของเกมอีกเช่นเคย
ชีวิตในค่ายกักกันชาวยิว
ขวาคือหมอเลสซิ่ง ที่กุยโดเคยรู้จัก และช่วยให้เขามาเป็นบริกรในงานเลี้ยง
กุยโดยังแสร้งทำตลกต่อหน้าลูกเพื่อปิดบังชะตากรรมของตน
วันหนึ่ง กุยโดถูกส่งไปตรวจร่างกาย ปรากฏว่าหมอนาซีที่ทำหน้าที่นี้คือ Doctor Lessing ที่เขาเคยรู้จักตั้งแต่เข้ามาในเมือง Arezzo ใหม่ๆ หมอเลสซิ่งได้ช่วยเหลือให้เขาได้ทำหน้าที่คนเสิร์ฟในงานเลี้ยงคืนหนึ่ง ทำให้โจชัวพลอยได้กินอาหารดีๆ มื้อหนึ่งไปด้วย แต่คุณหมอแกก็ช่วยอะไรไม่ได้มากไปกว่านั้น ต่อมาไม่นาน ทหารเยอรมันเริ่มถอนตัวออกจากค่ายแห่งนั้น และเริ่มการขนย้ายคนยิวในค่ายกักกันออกไปข้างนอก กุยโดได้สั่งให้โจชัวไปหลบซ่อนอยู่ในตู้ใบหนึ่ง สั่งไม่ให้ออกมาจนกว่าจะไม่เห็นใคร ส่วนตนเองพยายามออกตามหาดอร่า แต่ถูกทหารเยอรมันจับตัวได้และถูกนำไปยิงทิ้ง ก่อนตายกุยโดซึ่งคงจะไม่รู้ชะตากรรมของตนเองแล้วยังพยายามทำตลกขณะเดินผ่านหน้าบริเวณตู้ที่ลูกชายซ่อนอยู่ รุ่งเช้าโจชัวซึ่งยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพ่อของตน เมื่อไม่เห็นใครแล้วก็ออกจากที่ซ่อน สักพักหนึ่งก็มีรถถังเชอร์แมนของทหารอเมริกันคันหนึ่งมาจอดตรงหน้า โจชัวเข้าใจว่าตนเองชนะได้รางวัลที่ 1 ตามที่พ่อบอก ผบ.รถถังคันนั้นได้นำตัวโจชัวขึ้นไปบนรถถังแล่นออกไปนอกค่าย พบคนจากค่ายกักกันจำนวนมากที่หนีทหารเยอรมันมาได้ รวมถึงดอร่า เมื่อโจชัวเห็นแม่ จึงบอกให้รถถังหยุด แล้วลงไปบอกแม่ว่าเราชนะแล้ว ลืมบอกไปว่า ในตอนต้นเรื่องและท้ายเรื่องมีเสียงคนบรรยายเป็นผู้ชาย ซึ่งก็คือโจชัวในวัยผู้ใหญ่นั่นเองครับ
ด้านความรู้ทางประวัติศาสตร์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ คงต้องจัดไว้ในประเภทภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ที่แง่มุมทางประวัติศาสตร์อาจจะไม่ได้ลงลึกมากนัก เรื่องที่ควรทราบได้กล่าวถึงไปบ้างแล้ว ได้แก่
ผู้แสดงเป็นกษัตริย์และราชินีอิตาลี
ระบบการปกครองของอิตาลี ขณะนั้นอิตาลียังมีกษัตริย์อยู่ในช่วงที่มุสโสลินีเรืองอำนาจและนำอิตาลีเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 พระเจ้าวิคเตอร์เอมมานูเอลที่ 3 ทรงครองราชย์จนถึงปี ตั้งแต่ปี 1900/พ.ศ.2443 จนถึงปี 1946/พ.ศ.2489 แล้วทรงสละราชสมบัติให้กับพระเจ้าฮัมเบิร์ตที่ 2 ขึ้นครองราชย์แทน แต่ครองราชย์ได้เพียง 1 เดือนเท่านั้น ก็ได้มีการลงประชามติให้อิตาลีเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็น ระบบสาธารณรัฐในระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 1946 โดยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1948/พ.ศ.2491 จนถึงปัจจุบัน
ปัญหาชาวยิวในอิตาลี ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยส่วนใหญ่จะกล่าวถึงแต่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่กระทำโดยนาซีเยอรมัน ในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าในอิตาลีนั้นเองก็มีทั้งการรังเกียจทางเชื้อชาติโดยบุคคลไม่ทราบกลุ่มดังจะเห็นในตอนต้นเรื่องที่คุณลุงเอลิซิโอถูกทำร้ายถึงในบ้าน ตอนที่ม้าของคุณลุงโดนพ่นสีเขียวและเขียนข้อความต่อต้านยิว กับในส่วนที่ดำเนินโดยราชการคือการที่ผู้ตรวจการศึกษาจากโรมมาบรรยายเรื่องความเป็นเลิศของเผ่าพันธุ์ จนกระทั่งเมื่ออิตาลีถูกเยอรมันยึดครอง จึงได้เกิดโศกนาฏกรรมทำนองเดียวกับประเทศอื่นที่เยอรมันเข้ายึดครอง คือการกวาดต้อนคนยิวเข้าค่ายกักกัน แต่ในภาพยนตร์ก็ไม่ได้กล่าวชัดเจนว่า ค่ายกักกันที่ว่านี้มันเป็นค่ายอะไรอยู่ในอิตาลีหรือในเยอรมันหรือที่ไหน แต่ดูจากระยะเวลากับความรู้เดิมๆ เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวแล้ว พวกนาซีคงไม่มีเวลาจะมาสร้างค่ายพรรค์นี้ในอิตาลีแน่ๆ น่าจะเป็นค่ายกักกันในประเทศเยอรมันเองมากกว่าครับ
และที่น่าเสียดายคือผลจากการเดินเรื่องที่ก้าวกระโดดจาปี 1939 มาเป็นช่วงท้ายสงครามที่เดาๆ ว่าเป็น 1944-1945 นั้น ทำให้เรื่องราวเกี่ยวกับอิตาลีในสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องถูกเว้นวรรคยาว ทั้งที่ทหารอิตาลีต้องไปพลีชีพในหลายสมรภูมิอยู่เหมือนกัน รวมถึงการที่สัมพันธมิตรบุกขึ้นมาจนถึงแผ่นดินแม่นี่ พยายามจะทำความเข้าใจว่าถ้านำมากล่าวในภาพยนตร์ก็จะทำให้เรื่องเยิ่นเย้อ แต่พอถูกเว้นวรรคไปเฉยๆ ก็รู้สึกขัดๆ และน่าเสียดายชอบกลอยู่ครับ
รางวัลที่ 1 สำหรับผู้ชนะ 1,000 คะแนน???
ด้านความสมจริงของภาพยนตร์ สำหรับครึ่งแรกของภาพยนตร์คงไม่ต้องคิดอะไรมาก คือแทบจะเหมือนกับเป็นภาพยนตร์คอมเมดี้เต็มๆ แต่มาในช่วงตั้งแต่เข้าค่ายกักกันนี่ ความพยายามของกุยโดที่จะหลอกให้ลูกเข้าใจว่าเป็นเพียงการเล่นเกมนั้น ค่อนข้างจะเหลือเชื่อเอามากๆ ในความเป็นจริงผู้ร่วมชะตากรรมในค่ายอาจจะหมั่นไส้หรือหงุดหงิดแล้วตำหนิกุยโดจนความแตกได้ทุกเมื่อ และสภาพในค่ายกักกันแบบนั้นย่อมจะอดๆ อยากๆ กันจนหนังติดกระดูก แม้ในภาพยนตร์จะถ่ายทอดไม่ได้ถึงขนาดนั้น ลองเด็กอย่างโจชัวกินไม่อิ่มหลายๆ มื้อเข้าจะเป็นอย่างไรบ้าง คงมีแต่จุดจบของกุยโดเท่านั้นละมังครับที่ผู้สร้างยอมรับความเป็นจริงว่าการมองโลกในแง่ดีแบบเว่อๆ มันแก้ไม่ได้ทุกปัญหา
ถึงตรงแล้ว คำถามที่ว่า ชีวิตนั้นสวยสดงดงามดังชื่อเรื่อง Life Is Beautiful จริงๆ หรือเปล่า ในความเห็นของผม ความสวยงามของชีวิตในภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้เกิดจากการที่กุยโดมองโลกในแง่ดีแบบตลกๆ เว่อๆ แต่เกิดจากน้ำจิตน้ำใจของเขาที่ได้เสียสละเพื่อลูกและภรรยาต่างหาก
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อันชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : Life Is Beautiful
ชื่อภาษาอิตาเลียน : La vita è bella
ชื่อภาษาไทย : ยิ้มไว้โลกนี้ไม่มีสิ้นหวัง
ผู้กำกำกับ : Roberto Benigni
ผู้เขียนบท : Roberto Benigni, Vincenzo Cerami
ผู้แสดง :
Roberto Benigni ... Guido Orefice
Nicoletta Braschi ... Dora
Giorgio Cantarini ... Giosué Orefice
Giustino Durano ... Eliseo Orefice
Sergio Bini Bustric ... Ferruccio Papini (as Sergio Bustric)
Marisa Paredes ... Madre di Dora
Horst Buchholz ... Doctor Lessing (as Horst Bucholz)
Lidia Alfonsi ... Guicciardini
Giuliana Lojodice ... School Principal
Amerigo Fontani ... Rodolfo
Pietro De Silva ... Bartolomeo
Francesco Guzzo ... Vittorino
Raffaella Lebboroni ... Elena
Claudio Alfonsi ... Amico Rodolfo
Gil Baroni ... Prefect
ควรอ่านเพิ่มเติม
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ
หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ
ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก www.youtube.com
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์