webmaster@iseehistory.com
ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกลมาก เราอาจเผลอนึกว่าการมีเทคโนโลยีที่เหนือกว่าล้ำหน้ากว่าคือชัยชนะหรือความเหนือกว่าจริงๆ แต่ในสงครามเวียดนาม สิ่งที่ดูพื้นๆ อย่างจักรยานและเครือข่ายอุโมงค์ของทางฝ่ายเวียดกง/เวียดนามเหนือ กลับเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ช่วยให้พวกเขาเอาชนะมหาอำนาจอย่างอเมริกันที่เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีได้ โดยเฉพาะเรื่องอุโมงค์หรือฐานทัพใต้ดินนี้ทหารไทยที่เคยไปรบในเวียดนามก็เคยกล่าวขานถึง แต่ผมคงไม่สามารถจะเรียบเรียงมาให้ท่านอ่านกันได้ มาดูเรื่องราวที่ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์เมื่อไม่นานมานี้กันก่อนดีกว่าครับ นั่นคือ 1968 Tunnel Rats ที่ออกฉายเมื่อปี 2008/พ.ศ. 2551 ซึ่งชื่อ Tunnel Rats นี้ก็มาจากชื่อของหน่วยทหารอเมริกันที่เขาพยายามพัฒนาขึ้นมาเป็นหน่วยสำหรับจัดการกับบรรดาพี่เหงียนที่หลบซ่อนอยู่ในอุโมงค์นี้นั่นเอง แต่ในความเป็นจริงใครจัดการใครก็จะได้เห็นกันในภาพยนตร์ละครับ
พิธีแขวนคอเชลยต้อนรับผู้มาใหม่
สภาพความเป็นอยู่ของหทารจีไอในฐานบนดิน
เรื่องราวในภาพยนตร์นั้น ที่จริงไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมากมายนัก และผมสังเกตตัวเองว่ายิ่งทำเว็บยิ่งเขียนเรื่องย่อได้ไม่ค่อยจะย่อเหมือนอย่างบทความรุ่นแรกๆ มันก็มีข้อดีข้อเสียกันไปคนละแบบ แต่ที่แน่ๆ คือยิ่งเขียนมากยิ่งอัพเดทเว็บได้ช้า สำหรับเรื่องนี้จึงขอเล่าเรื่องเท่าที่จำเป็นก็แล้วกันครับ เอาเป็นว่าภาพยนตร์โหมโรงด้วยการกล่าวถึงทหารอเมริกันคนหนึ่งที่กำลังปฏิบัติงานอยู่ในอุโมงค์แล้วถูกทหารเวียดกงสังหารโดยเอาหลาวเสียบจากข้างใต้ จากนั้นมาเริ่มเรื่องจริงๆ โดยให้ทหารอเมริกันหมู่หนึ่งเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์แล้วต่อด้วยรถจี๊พไปยังฐานปฏิบัติการแห่งหนึ่งในตอนเย็น ผู้บัญชาการฐานนั้น คือ ร้อยตรี Hollibord ได้จัดให้มีรายการโชว์ก่อนอาหารเย็นด้วยการนำเชลยมาแขวนคอต่อหน้าทุกคนในค่ายโทษฐานเป็นพลซุ่มยิง (Sniper) ที่สังหารทหารอเมริกันไป 5 คน โดยมีเสียงค้านนิดหน่อยจากบางคนที่เห็นว่ายังไงตาเวียดกงคนนี้ก็เป็นทหารเหมือนกัน เสร็จการแขวนคอแล้วเกิดการท้าชกกันระหว่างพลทหารแฮริสกับผู้หมวด ไม่รู้ว่าใครท้าใครแล้วก็แอบไปชกกันตามลำพังคล้ายๆ กับที่คนไทยไปท้าชกกันหลังวัดอะไรทำนองนั้น ผลลงเอยที่ผู้หมวดแกเป็นฝ่ายชนะ ถัดมาก็เป็นการพูดคุยกันตามประสาทหารระหว่างอาหารเย็นและก่อนนอน ซึ่งก็มีทั้งการระบายความในใจกันบ้าง เหน็บแนมกันบ้างตามธรรมเนียม
เช้าขึ้นมาภารกิจการเปิดอุโมงค์ก็เริ่มขึ้น แค่อาสาสมัครคนแรกลงไปก็ได้เรื่องเลยครับ ถูกยิงบาดเจ็บสาหัส นำขึ้นมาปฐมพยาบาลแป๊บเดียวก็ขาดใจตาย ฮอลลีบอร์ดจึงต้องนำศพจีไอรายแรกนี้กลับฐานทิ้งให้คนอื่นๆ "หาทาง" กันไปพลางก่อน ต่อจากนี้เป็นเรื่องราวของทหารอเมริกันแต่ละคนที่ลงไป "หาทาง" กันอยู่ในอุโมงค์ใต้ดิน ที่แต่ละคนก็ประสบชะตากรรมแตกต่างกันออกไป ตรงนี้ขอไม่เล่ารายละเอียดนะครับว่าตัวละครชื่ออะไรไปโดนอะไรเข้าบ้าง เกรงจะยาวเกินอย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้น ขณะเดียวกัน ทางฝ่ายเวียดกงก็ออกจากอุโมงค์อีกช่องหนึ่งเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการของฝ่ายอเมริกัน ซึ่งผมคลับคล้ายคลับคลาว่ามันจะอยู่ข้างบนตรงกับฐานใต้ดินของทางเวียดกงนั่นเอง ทหารอเมริกันไม่ทันรู้ตัวต้องสูญเสียอย่างหนัก จนฮอลลีบอร์ดต้องตัดสินใจเรียกเครื่องบินให้มาถล่มบริเวณฐานของตนเอง ซึ่งกว่าเครื่องบินจะมาก็ค่ำมืดแล้ว พี่มืดรายหนึ่งอุตส่าเอาชีวิตรอดจากอุโมงค์ขึ้นมาได้เห็นสภาพความเสียหายของฐานตัวเองได้ไม่ทันไรก็พอดีเจ้าเครื่องบินรบมาทิ้งระเบิดเข้าพอดี แรงระเบิดทำให้อุโมงค์บางส่วนถล่มลง แล้วภาพยนตร์ก็จบลงที่ฉากทหารอเมริกันผิวขาวคนหนึ่งพยายามจะช่วยสาวเวียดกงขุดดินช่วยลูกของเธอออกมาจากช่องอุโมงค์ที่ถล่ม แต่ทั้งคู่ก็ค่อยๆ หมดแรงล้มตัวลงช้าๆ โดยไม่ต้องเขียนบทพูดออกมาโต้งๆ ว่าฉันขาดอากาศกำลังจะตายแล้วนะจ๊ะ
ทางเข้าอุโมงค์ช่องแค่นี้เอง
อาสาสมัครคนแรกกำลังหย่อนตัวลงไป
คุณค่าทางประวัติศาสตร์อาจจะไม่ค่อยมีความหมายอะไรมากกับภารกิจของหน่วยทหารเล็กๆ ที่ใช้เวลาไม่เต็ม 2 วัน 2 คืน ในสงครามเวียดนาม ที่ยากจะเทียบกับปฏิบัติการใหญ่ๆ อย่างใน We Were Soldiers หรือ Hamburger Hill ความสำคัญของเรื่องคงไปตกอยู่กับพระเอกตัวจริง คือ เครือข่ายอุโมงค์ที่เป็นฐานทัพใต้ดินของทหารเวียดกง ซึ่งภาพยนตร์เอามานำเสนอในแง่มุมของกับดักมรณะขนาดใหญ่ที่บรรดาทหารจีไอลงไปแล้วเหมือนเข้าไปเป็นเหยื่อของฝ่ายตรงข้ามจนยากที่จะรอดออกมาได้ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งที่ภาพยนตร์ยังนำเสนอน้อยไปเนื่องจากไม่ใช่สารคดีคือความสำคัญในเชิงกลยุทธที่มันเป็นเสมือนฐานทัพและ "บ้าน" ใต้ดินของบรรดาทหารเวียดกง ซึ่งการวางกับดักมรณะไว้มากมายก็เพื่อปกป้องคุ้มกันผู้อยู่ข้างในนั้นเอง มันเหมือนจะเป็นเพียงสิ่งที่ไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีซับซ้อนใดๆ แต่ก็น่าศึกษาว่าเขาสร้างอุโมงค์ยาวๆ กันได้อย่างไรโดยไม่ให้มันพังลงมา ตลอดจนการวางผังออกแบบกันอย่างไรที่จะให้พวกเดียวกันเข้าออกโดยปลอดภัยไม่หลงทาง แต่ให้ข้าศึกเข้าไม่ถึงพวกตนได้
คราวนี้ต้องใส่หน้ากากเพราะพึ่งหย่อนระเบิดแก๊สน้ำตาลงไปเคลียร์พื้นที่
โทรศัพท์สนามเป็นอีกตัวช่วยในการสื่อสารระหว่างทหารที่ลงไปข้างในกับพวกที่อยู่บนดิน
ส่วนคำถามที่ว่าการสร้างอุโมงค์และฐานทัพใต้ดินของเวียดกงนี้ พวกเขา "คิดได้ยังไง" เท่าที่ลองคิดดูแบบทีเล่นทีจริง ได้แก่
- ผมเคยตั้งข้อสังเกตแบบฉาบฉวยว่า อุโมงค์นี้มันคล้ายกับอุโมงค์ของทหารญี่ปุ่นในเรื่อง Letters from Iwo Jima อยู่เหมือนกัน เวียดกงจะเอาอย่างญี่ปุ่นหรือเปล่า?
- ในบันทึกของทหารไทยที่ไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวเวียดนามจำนวนมากถูกเกณฑ์ไปเป็นแรงงานให้ฝรั่งเศส แล้วคนเหล่านี้จำเอาวิธีการสร้างสนามเพลาะในสมรภูมิยุโรปของสงครามโลกครั้งที่ 1 มาต่อยอด?
- อีกความเป็นไปได้ อาจจะเรียกโก้ๆ ว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น หรืออาจจะเรียกว่าเป็นธรรมชาติของการรบในหลายๆ ชาติ หลายๆ สมัย ที่จะต้องอาศัยการมุดดินหรือขุดดินเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาในสงคราม เช่น ในตอนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งหลัง ทหารพม่าก็ต้องอาศัยการขุดอุโมงค์เข้ามาเผารากกำแพงเมือง ในสงครามกลางเมืองของอเมริกันเองก็มีการใช้อุโมงค์ดังปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง Cold Mountain ในสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเชลยศึกมักจะแอบสร้างอุโมงค์เป็นทางหนีออกจากค่าย ดังนี้เป็นต้น ในข้อนี้ดูเหมือนจะเป็นไปได้มากที่สุด
ระเบิดสังหารแบบลูกเกลี้ยงที่เอามาผูกกับลวดเป็นกับดัก
โผล่ขึ้นมาผิดที่ ก็จะมีคนรอจัดการอยู่ ฉากต่อจากนี้สยองมาก ใครอยากเสียวคอหอยดูจากภาพยนตร์เอาเองครับ
ทหารจีไอที่ตกลงไปในหลุมขวาก อีกหนึ่งกับดักในอุโมงค์
ทหารเวียดกงที่รอต้อนรับอยู่ภายใน
ไม่ใช่คลานบนดินแล้วนะครับ พี่มืดคนนี้จำต้องดำน้ำหาทางลอดไปโผล่อีกที่หนึ่ง
ด้านความผิดถูกในสงคราม ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศผู้สร้างที่ผมได้มายังแย้งๆ กันอยู่ว่าเป็นการสร้างร่วมกันระหว่างอเมริกากับเยอรมันหรือแคนาดากับเยอรมันกันแน่ เอาเป็นว่ามันเป็น "หนังฝรั่ง" ที่ควรจะอยู่ทางข้างโลกเสรีที่เข้าไปขัดขวางการรวมชาติเวียดนามด้วยข้ออ้างการสกัดกั้นคอมมิวนิสต์หรือไม่ก็คัดค้านสงครามตามแบบฮิปปี้ในยุคนั้น แต่ผู้สร้างก็ไม่ได้แสดงจุดยืนในการสนับสนุนหรือคัดค้านอะไรออกมาอย่างโจ่งแจ้ง มีแต่การตั้งคำถามโดยการให้ฮอลลิบอร์ดจัดการแสดงแขวนคอเชลยในตอนต้นจนเกิดความขัดแย้งกับทหารบางคน กับอีกตอนที่ทหารเวียดนามคนหนึ่งเล่าให้เพื่อนฟังว่าเคยเห็นทหารอเมริกันรุมข่มขืนผู้หญิงแต่ตอนนั้นไม่สามารถทำอะไรได้ แล้วก็มาในตอนจบที่ทั้งสองฝ่ายต้องตายกันหมดเพราะระเบิดนาปาล์มรวมถึงทหารอเมริกันกับหญิงเวียดกงที่ตายด้วยกันขณะพยายามช่วยลูกของฝ่ายหญิง เหมือนจะสื่อให้เห็นว่า สงครามเป็นความหายนะร่วมกันของทุกฝ่ายแทนที่จะเป็นการเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่ฝ่ายตรงข้าม
ห้องบัญชาการ
จ๊ะเอ๋! พี่มืดจากรูปก่อนโผล่ขึ้นมาตรงห้องโรงนอนของบรรดาพี่เหงียนเข้าพอดี
ฉากทหารเวียดกงถล่มฐานของทหารอเมริกัน
เรื่องของตัวละคร มีความทะแม่งเล็กๆ น้อยๆ จากการหาข้อมูลเพิ่มเติมอยู่บ้าง คือในตอนต้นเรื่องเราจะรับทราบว่าผู้บังคับบัญชาฐานของอเมริกันนั้นคือ ร้อยตรีฮอลลีบอร์ด (Lieutenant Hollibord) แต่พอหาข้อมูลเพิ่มเติมกลับมีแต่ชื่อตัวละครว่า Sergeant Vic Hollowborn ไม่มีใครมียศนายทหารเลย หรือว่าตะแกเป็นจ่าสิบเอกที่กำลังรักษาการณ์และกำลังจะได้เลื่อนยศเป็นผู้หมวดก็ไม่ทราบ ด้านตัวละครทางฝ่ายเวียดกง ดูมาทั้งเรื่องไม่เห็นมีการเอ่ยชื่อเสียงเรียงนามกันแต่ประการใด แต่ข้อมูลทั้งในวิกิพีเดียกับใน IMDB กลับระบุชื่อออกมา 2-3 คน เลยไม่เข้าใจว่าเวอร์ชันที่ดูในเมืองไทยมันตัดตอนไหนออกไปหรือมันมีเรื่องเดิมเป็นหนังสือมาก่อนหรือเปล่า ทราบแต่ว่าในภายหลังได้มีการสร้างวีดีโอเกมจากหนังเรื่องนี้ด้วย เขาว่าโดยปกติคุณ Uwe Boll นี้มักจะสร้างภาพยนตร์จากวีดีโอเกม เรื่องนี้กลับตรงข้ามคือมีเกมตามหลังภาพยนตร์ครับ
ฉากการถล่มทางอากาศ
ด้านความรุนแรงและสยดสยองในภาพยนตร์ จัดว่าพอประมาณเหมือนกันครับ ฉากที่สยองสุดๆ คงไม่พ้นตอนที่นางเอกสาวเวียดกงเธอเอาไม้เสียบคอทหารจีไอที่กำลังจะออกจากอุโมงค์ แล้วก็วางไม้พาดกับปากหลุมปล่อยให้ร่างของเขาขวางทางเพื่อนที่จะคลานออกแล้วเธอก็หย่อนระเบิดลงไปจัดการอีกที ดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่เข้าท่าเข้าทางกว่าการใช้ปืนหรือมีด แต่ก็ทำเอาคนดูสยดสยองกับอาการดิ้นกระแด่วๆ ของเหยื่อ กับอีกตอนที่ทหารจีไออีกรายจำต้องชำแหละศพของข้าศึกที่ขวางทางอยู่ ฯลฯ ในภาพปกของต่างประเทศเห็นมีเลข 18 กำกับไว้ คงหมายถึงผู้ดูต้องอายุ 18 ขึ้นไป สำหรับเมืองไทยก็น่าจะกำหนดเรทไว้ประมาณ น 18+ เหมือนกันถึงจะสมน้ำสมเนื้อครับ
กว่าจะเป็นเพื่อนกันได้ก็ตอนท้ายก่อนจะพบจุดจบร่วมกัน
โดยรวมแล้วจัดว่าภาพยนตร์เรื่อง 1968 Tunnel Rats เป็นภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ในแนวอิงประวัติศาสตร์ที่ต้องการนำเสนอความโหดร้ายของสงครามผ่านอุโมงค์ที่ฝ่ายเวียดกงใช้ในการทำสงครามกับอเมริกัน ซึ่งอาจจัดเป็นภาพยนตร์ในแนวสยองที่ดูมีเหตุมีผลกว่าหนังผีที่ทั้งไทยทั้งฝรั่งสร้างกันจนเอียนในช่วงนี้ ไม่รู้สร้างกันทำไมนักหนา ในอีกแง่หนึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็นการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกลยุทธการใช้อุโมงค์ดังกล่าว ที่เคยมีมาแต่อดีตและยังปรากฏต่อมาในบางสมรภูมิ เช่น สงครามรัสเซียบุกอาฟกานิสถาน ฯลฯ หากมนุษย์โลกยังมีกิเลสจนเกิดความขัดแย้งระหว่างชาติจนบานปลายเป็นสงครามแล้ว เจ้าอุโมงค์ลักษณะนี้ย่อมกลับมาเป็นทางเลือกของฝ่ายที่ค่อนข้างเสียเปรียบด้านเทคโนโลยีอย่างแน่นอน จนกว่าจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาจัดการกับมันโดยเฉพาะที่ได้ผลมากขึ้น
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : 1968 Tunnel Rats
ชื่อภาษาไทย : อุโมงค์นรก สงครามเวียดกง
ผู้กำกำกับ : Uwe Boll
ผู้สร้าง : Uwe Boll
ผู้เขียนบท : Uwe Boll (screenplay), Dan Clarke (story)
ผู้แสดง :
Michael Paré ... Sergeant Vic Hollowborn (Lieutenant Hollibord?)
Wilson Bethel ... Corporal Dan Green
Mitch Eakins ... Private Peter Harris
Erik Eidem ... Private Carl Johnson
Brandon Fobbs ... Private Samuel Graybridge
Jane Le ... Vo Mai
Scott Ly ... Huy Tran
Rocky Marquette ... Private Terence Verano
Garikayi Mutambirwa ... Private Jonathan Porterson
Nate Parker ... Private Jim Lidford
Brad Schmidt ... Sgt. Mike Heaney
Jeffrey Christopher Todd ... Private Bob Miller
John Wynn ... Nguyen Van Chien
Adrian Collins ... Private Dean Garraty
Scott Cooper ... Private Joseph Walderson
Toufeeq Adonis ... VC Soldier
Shih Jou-An ... Vietnamese girl
Devan 'Yankee' Liang ... Vietnamese boy
ควรอ่านเพิ่มเติม
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ
หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ
ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก www.youtube.com
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับเต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์