ก่อนจะถึงทุ่งไหหิน
โลกหลังสงครามโลก ครั้งที่ ๒
เมื่อสงครามโลกครังที่ ๒ ยุติ โดยฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถพิชิตฝ่ายอักษะลงได้อย่างราบคาบ มหาอำนาจทั้ง ๕ คือ จีน ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต ที่เป็นฝ่ายชนะก็ช่วงชิงแย่งอำนาจกันเอง โดยแบ่งเป็นสองฝ่าย หรือ สองขั้ว อย่างชัดเจน คือ ฝ่ายโลกเสรี ประกอบด้วย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และจีน(คณะชาติ) กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งขณะนั้น มีสหภาพโซเวียต และจีน (คอมมิวนิสต์) (เรื่องจีน อะไร นี่ เป็นเรื่องของจีนที่ต้องว่ากันอีกยาว ผ่านไปก่อนดีกว่า) จนเกิดสภาพสงครามเย็น ขึ้น ซึ่งฝ่ายโลกเสรี มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ ส่วนฝ่ายคอมมิวนิสต์นั้น ทั้งสหภาพโซเวียต และจีน (คอมมิวนิสต์) ก็แย่งกันเป็นผู้นำ
สงครามเย็น ที่เกิดขึ้นนี้มีลักษณะ เป็นการขัดแย้งกันทางอุดมการณ์เป็นหลัก คือฝ่ายหนึ่งมีอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย อีกฝ่ายหนึ่งมีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ต่างฝ่ายเอาชนะโดยการเผยแพร่ลัทธิของตนไปสู่ประเทศที่ยังไม่นิยมหรือยังไม่ใช้ลัทธิของตน และแต่ละฝ่ายก็พยายามใช้พลังอำนาจทุกชนิดของตน ยกเว้นพลังอำนาจทางทหารอย่างเปิดเผย (ใช้กองกำลังเข้าปฏิบัติการ) เพื่อเอาชนะ เพื่อให้ชาติที่เป็นเป้าหมาย ร่วมมือ หรือ เป็นพันธมิตร หรือ เป็นบริวาร ก็แล้วแต่จะว่ากันไป (หมายความว่าใช้พลังอำนาจทางทหารโดยไม่ได้ปฏิบัติการ เช่น การพัฒนาอาวุธ เสริมสร้าง สะสม อาวุธ หรือกำลังกองทัพ การแสดงแสนยานุภาพ อย่างนี้ใช้ได้ ท่านว่า เป็นการป้องปราม ) ส่วนจะใช้พลังอำนาจใด ที่ไหน เมื่อใด อย่างไร นั้นก็แล้วแต่เงื่อนไข สถานการณ์ เหตุการณ์ และโอกาสที่เกิดขึ้น
เมื่อกล่าวถึงพลังอำนาจทางทหารแล้วก็ควรที่จะกล่าวถึงพลังอำนาจอื่นๆ เสียด้วย เพื่อจะได้เข้าใจตรงกัน พลังอำนาจของชาติ นั้น ท่านว่ามี ๔ พลัง คือ พลังอำนาจทางการเมือง พลังอำนาจทางทหาร พลังอำนาจทางเศรษฐกิจ และพลังอำนาจทางสังคมและจิตวิทยา
ฝ่ายคอมมิวนิสต์ ดูเหมือนจะเป็นฝ่ายริเริ่ม หรือเป็นฝ่ายรุกเพื่อเผยแพร่ลัทธิของตนเสียมากกว่า เพราะเป็นลัทธิใหม่ ยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลาย จึงต้องเร่งขยายกิจการ ชักชวนชาติต่างๆ ให้มานิยม ด้วยการใช้วิธีการต่างๆ แต่วิธีการที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ใช้มากที่สุดคือ การใช้สงครามปฏิวัติ โดยการสร้างเงื่อนไขทางยุทธศาสตร์ และรุกทางการเมือง เช่น กล่าวหาว่า ชาติที่ร่วมมือกับฝ่ายโลกเสรี อยู่ภายใต้จักรวรรดินิยมอเมริกา และยุยงส่งเสริมให้ประชาชนในชาติต่อต้านรัฐบาลของตนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยว่าเป็นรัฐบาลหุ่นของสหรัฐอเมริกา ให้ประชาชนขับไล่รัฐบาลที่ตนได้เลือกตั้งเข้ามา ซึ่งวิธีการนี้ ฝ่ายคอมมิวนิสต์ปฏิบัติได้ผลในหลายประเทศ ทั้งใน อาฟริกา อเมริกาใต้ และ เอเซีย ทั้งยังมีเป้าหมายกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วย
สพภาพโซเวียต มีอิทธิพลในเวียดนามเหนือ ซึ่งมีอิทธิพลในลาวอีกทอดหนึ่ง ส่วนจีน ก็มีอิทธิพลในกัมพูชา
ฝ่ายเสรีประชาธิปไตย เป็นฝ่ายแก้ปัญหา หรือฝ่ายรับเพื่อสกัดกั้นการแพร่กระจายขยายตัว ของลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยใช้การป้องกันร่วมกัน เช่น การป้องกันร่วมกันของกลุ่มประเทศแอตแลนติคเหนือ เป็นต้น
โบราณว่าถ้าเหลือกำลังลาก ให้ออกปากบอกแขกช่วยแบกหาม
ประเทศไทยนั้น ตระหนักดีว่าลัทธิคอมมิวนิสต์นั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองของประเทศ และขัดต่อวิถีชีวิตและธรรมชาติของปวงชนชาวไทย ทั้งยังทราบดีถึงกองทัพไทยอันแกร่งกล้า เกรียงไกร ว่าไม่เพียงพอที่จะระงับ ยับยั้ง สกัดกั้น การรุกรานของกองกำลังคอมมิวนิสต์ได้ ดังนั้น ใน พ.ศ.๒๔๙๐ จึงได้ทาบทามขอทราบโครงการช่วยเหลือทางทหารที่สหรัฐฯ ให้แก่ประเทศต่างๆ ทางภาคพื้นยุโรป เพื่อที่จะขอรับการช่วยเหลือบ้าง
ฝ่ายคอมมิวนิสต์ยังคงเผยแพร่ลัทธิ และแทรกซึมในประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่องและรุนแรงยิ่งขึ้น ในอินโดจีน เวียดนามเหนือกำลังพยายามขับไล่ฝรั่งเศสให้ออกไปจากดินแดน ในคาบสมุทรเกาหลี ก็เกิดกรณีพิพาทระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ในพ.ศ.๒๔๙๓ ฝ่ายประเทศไทยยิ่งตระหนักชัดเจนว่าภัยคอมมิวนิสต์คุกคามเข้ามาใกล้ประเทศยิ่งขึ้น แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยังไม่ได้พิจารณาที่ทางไทยได้ทาบทามไป รัฐบาลไทยจึงรีบตัดสินใจยื่นข้อเสนอรับความช่วยเหลือทางทหารจากรัฐบาลสหรัฐฯ ทันที แต่ยังไม่ทันที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะพิจารณาคำขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย กรณีพิพาทระหว่างเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ ก็ทวีความรุนแรงขึ้นเป็น สงครามเกาหลี ใน พ.ศ.๒๔๙๓ นั้นเอง
เมื่อสงครามเกาหลีอุบัติขึ้น องค์การสหประชาชาติได้ส่งคำร้องขอความช่วยเหลือกำลังทางทหารเพื่อร่วมรบ ณ ประเทศเกาหลี ไปยังบรรดาประเทศสมาชิกทั่วโลก รัฐบาลไทยได้พิจารณาไต่ตรอง ใคร่ครวญ ถึงผลดี ผลเสียที่ประเทศชาติจะได้รับอย่างรอบคอบแล้ว จึงตกลงใจตอบองค์การสหประชาชาติในการจัดส่งกำลังทหารไปร่วมรบ
ณ ประเทศเกาหลีตามคำร้องขอ และการตกลงใจตอบรับนี้ ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มพิจารณาข้อเสนอขอรับความช่วยเหลือทางทหารของรัฐบาลไทย ทันที ทั้งนี้ ได้มีการลงนามในสัญญาความตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือทางทหารระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๔๙๓ โดยรัฐบาลทั้งสองได้แสดงความปรารถนา
ร่วมกันว่า การช่วยเหลือนี้จะทำให้รัฐบาลไทยมีความมั่นคงขึ้น เพื่อคุ้มครองอิสระเสรี และเอกราชของประเทศตามที่ต้องการ
สนธิสัญญาการป้องกันร่วมกันแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
ส่วนในอินโดจีน การรบขนาดย่อมขยายตัวขึ้นเป็นการรบขนาดใหญ่ ในเดือน มีนาคม ๒๔๙๗ สหรัฐฯ เห็นว่า ภาวการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนั้น และการใช้ระบบการเมืองของคอมมิวนิสต์รัสเซีย และจีนคอมมิวนิสต์ทางด้านเอเซียอาคเนย์เป็นการคุกคามโลกเสรีอย่างร้ายแรง จึงจำเป็นที่จะต้องต่อต้านการรุกรานนั้นด้วยการปฏิบัติการร่วมกัน ใน ๒๖ เมษายน ๒๔๙๗ ได้มีการประชุม เพื่อพิจารณาแก้ปัญหา เกาหลี และอินโดจีน ที่นครเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์
ครั้นใน ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๙๗ ได้มีการประกาศมติตกลงในปัญหาอินโดจีนได้กีดกันรัฐสมทบทั้งสาม (กัมพูชา ลาว และเวียดนาม) มิให้เข้ากลุ่มต่อต้าน หรือทำสัญญาทางทหารกับประเทศใดๆ ทางฝ่ายโลกเสรี จึงคิดหาทางที่จะช่วยให้รัฐสมทมทั้งสามรอดพ้นจากเงื้อมมือคอมมิวนิสต์ ด้วยการวางแนวสกัดกั้นการรุกรานของคอมมิวนิสต์ ว่า หากคอมมิวนิสต์รุกล้ำเข้าไปในประเทศสมาชิกแห่งพันธมิตรแล้ว จะดำเนินการตอบโต้ทันที เส้นขีดกำหนดนี้ อาจรวม ลาว กัมพูชา และเวียดนามใต้ ด้วย
ในวันที่ ๖ กันยายน ๒๔๙๗ หัวหน้าคณะผู้แทน ๘ ประเทศได้ประชุมที่กรุงมนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ คือ ไทย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ และปากีสถาน ผู้แทนแต่ละประเทศได้กล่าวคำปราศัยยืนยันถึงความจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างพลังของกลุ่มประเทศเสรีย่านเอเซียอาคเนย์ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นทั้งทางทหาร เศรษฐกิจ และสังคม และวางระบบร่วมมือกันใช้พลังนั้นป้องกันต่อต้านการโจมตีรุกราน ไม่ว่าการรุกรานนั้นจะเป็นไปโดยเปิดเผย หรือแบบแทรกซึมใต้ดิน
มีการลงนามรับรองสนธิสัญญาการป้องกันร่วมกันแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๔๙๗
.png)
.gif)
SEATO SeatoFlag

พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า วรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
หํวหน้าคณะผู้แทนไทยในครั้งกระนั้น
พี่น้องสองฝั่งโขง
. . . ชาติลาวและไทยก่อนนั้นเคยได้สัมพันธ์ ร่วมสายโลหิตเดียวกัน เพียงน้ำเท่านั้นมากั้นแบ่งกลาง . . .
พระราชอาณาจักรลาว ก็เป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถูกลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าแทรกแซง ในทางการเมือง ในชื่อขบวนการประเทศลาว (ผมสะกดตามอักขรวิธีภาษาไทย เมื่อเป็นนักเรียน ฯ อาจารย์วิชาภาษาไทย ท่านอธิบายเมื่อเห็นหนังสือพิมพ์หลายฉบับสะกดคำนี้โดยเลียนแบบอักษรและวิธีเขียนภาษาลาว ว่า นั่นไม่เป็นการถูกต้อง ภาษาลาว ก็เขียนแบบลาว ภาษาไทยก็ต้องเขียนแบบไทย) และยังมีกองกำลังทหาร อีกส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ ขบวนการประเทศลาว ได้รับการสนับสนุนทางการทหารจากเวียดนามเหนืออีกอย่างมาก แต่พี่น้องชาวลาวก็ต้องต่อต้าน และต่อสู้การคุกคามและแทรกแซงนั้นตามลำพัง สถานการณ์ของโลกก็ร้อนแรงขึ้นทุกขณะ เวียดนามใต้ถูกเวียดนามเหนือแทรกแซง โดยประสานการปฏิบัติกับกองกำลังก่อการร้ายในเวียดนามใต้ ที่เรียกว่า เวียดกง จนเวียดนามใต้ต้องร้องขอให้สหรัฐฯ และมิตรประเทศต่างๆ ส่งกองทัพเข้าไปช่วยเหลือ ประเทศไทยได้ส่งกองทัพไปช่วยเวียดนามใต้สร้างสันติสุข ในพ.ศ.๒๕๑๐
ในปี พ.ศ.๒๕๑๓ สถานการณ์ในพระราชอาณาจักรลาวก็เลวร้ายลงไปอีก กองทัพเวียดนามเหนือเปิดฉากการรุกใหญ่ ทั้งในเวียดนามใต้ และในลาว จนลาวตกอยู่ในภาวะล่อแหลม ต้องร้องขอความช่วยเหลือจากมิตรประเทศให้ส่งทหารเข้าไปช่วยยับยั้งการรุกคืบหน้าของทหารเวียดนามเหนือ ในพื้นที่ทหารภาค ๒ ของลาว
นอกจากกองกำลังจากมิตรประเทศแล้วรัฐบาลลาวยังต้องรับสมัครบุคคลภายนอกเข้าเป็นทหารในกองทัพพระราชอาณาจักรลาวอีกจำนวนหนึ่ง

พระราชอาณาจักรลาว
ผมสำเร็จการศึกษาออกรับราชการในเดือน มกราคม ๒๕๑๒
เดือน สิงหาคม ปีเดียวกันก็เข้ารับการฝึกที่ค่ายกาญจนบุรี
มกราคม ๒๕๑๓ - กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔ ไปราชการสงครามเวียดนาม
เมื่อกลับถึงประเทศไทยได้ข่าวว่ารัฐบาลลาวรับสมัครบุคคลเป็นทหารจำนวนมาก
. . . ผมจึงลาออกจากราชการไปสมัครเป็นทหารกองทัพพระราชอาณาจักรลาว ตั้งแต่ เมษายน ๒๕๑๔ . . .

เหตุการณ์ต่อไป . . . สู่ ล่องแจ้ง เขาสูง
เหตุการณ์ต่อไป . . . สู่ ล่องแจ้ง เขาสูง
เหตุการณ์ต่อไป . . . สู่ ล่องแจ้ง เขาสูง
ภาพและข้อมูลบางส่วน จาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี