* * *
๑๐. ซำทอง - ล่องแจ้ง ๒๕๑๕
สะ - บาย - ดี - ปี - ใหม่ - ใน - ล่อง - แจ้ง
๗ มกราคม ๒๕๑๕
ผมกลับมาถึงล่องแจ้งด้วยเฮลิคอปเตอร์ของ แอร์ อเมริกา พอไปถึง บก.บีเอ ๖๓๖ ก็ได้รับคำสั่งให้ไปที่ "หน้าถ้ำ" บริเวณหัวสนามบินทางทิศเหนือ เพื่อเตรียมที่ตั้งยิงปืนใหญ่ซึ่งจะได้รับในบ่ายวันนี้ เดินไปประมาณ ๑ กม.กว่าๆ ก็ถึง ผมมีโอกาสถ่ายภาพ เมื่อเข้าที่เข้าทางเรียบร้อยแล้ว เชิญครับ . . .

ซ้าย ภาพบริเวณหัวสนามบินด้านทิศเหนือ (หน้าถ้ำ) ขวา มองเห็นปืนใหญ่ขนาด ๑๐๕ มม.กระบอกสึดำอยู่บริเวณกลางภาพ


ภาพที่ตั้งยิงของ บีเอ ๖๓๖ / ๑๕๕ แต่ได้รับปืนใหญ่ขนาด ๑๐๕ มม. เพียง ๒ กระบอก มีชื่อที่ตั้งยิง "แคนเดิ้ล" Candle
ซ้าย มองจากถนนที่ไปที่ตั้งยิง ขวา ภูแก้ว (มองเห็นข้างหลัง) กำลังเดินไป "แคนเดิ้ล"
. . . เมื่อฝ่ายเราเสียที่มั่นในทุ่งไหหิน และข้าศึกได้จัดระเบียบใหม่ภายหลังการยึดที่หมายได้แล้ว (Reoganization) ก็รุกเข้าสู่ล่องแจ้งทันที ประชาชนก็เริ่มอพยพออกจากล่องแจ้ง ส่วนใหญ่เดินไปสู่หมู่บ้านที่ปลอดภัยใกล้เคียง ตลาดล่องแจ้งก็เงียบเหงา มีทหารเสือพราน บีซี ๖๑๖ , ๖๑๘ และ บีซี ๖๑๗ ซึ่งถอนกำลังมาจากภูล่องมาด รักษาเมืองเพียง ๓ กองพัน โดยวางกำลังบนสันเนิน "สกายไลน์" และ ปืนใหญ่ ขนาด ๑๐๕ มม.ของ"คอบบร้า" ที่ถอนมาจากภูหลวง มาตั้งยิงที่หน้า บก.ทชล.๒ ของนายพล"วังเปา" เพื่อคุ้มครองเมืองล่องแจ้ง . . .
สถานการณ์เมื่อ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๑๔ ก่อนที่ผมจะได้รับคำสั่งให้พักผ่อนและฟื้นฟู ๑๕ วัน เป็นไปดังกล่าวข้างต้น และระหว่างที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๑๔ ถึง ๗ มกราคม ๒๕๑๕ ได้พัฒนาไปดังนี้
ข้าศึกจำนวนมากเริ่มเข้าประชิดล่องแจ้ง ใช้ปืนใหญ่ระดมยิงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๑๔ และรุนแรงที่สุดในคืน ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๔ ข้ าศึกใช้ปืนใหญ่ขนาด ๑๓๐ มม. โจมตีล่องแจ้งตั้งแต่เวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกา เป็นจำนวน กว่า ๒๐๐ นัด อย่างได้ผล คลังวัตถุระเบิดฝ่ายเราที่บริเวณท้ายสนามบินถูกยิงเกิดระเบิดซ้อนติดต่อกันจนเช้าวันใหม่ เดือนใหม่ ปีใหม่ ล่องแจ้งล่อแหลมต่อการถูกปิดล้อมเป็นอย่างยิ่ง ข้าศึกระดมยิงต่อบริเวณที่ทำการของเจ้าหน้าที่อเมริกัน และกองบัญชาการ ทชล.๒ เท่านั้น บก.กกล.ทสพ.ของเรายังคงปลอดภัย ไม่ถูกโจมตีด้วยอาวุธหนัก
๑ - ๕ มกราคม ๒๕๑๕ ข้าศึกยังคงระดมยิงล่องแจ้งต่อไปด้วย จรวด เครื่องยิงลูกระเบิด และปืนใหญ่ ต่อไป ประชาชนอพยพออกจากล่องแจ้งทุกวัน จนแทบจะเป็นเมืองร้าง
บีซี ๖๑๖, ๖๑๘ และ ๖๑๗ ยังคงรักษาที่มั่นบนสกายไลน์ อย่างเหนียวแน่น ร่วมกับทหาร ทชล.๒
ฝ่ายข้าศึกที่ไล่ติดตามมาจากทุ่งไหหินได้เตรียมการเข้าตี ซำทอง และ ล่องแจ้ง ต่อไป
สถานการณ์ตั้งแต่ มกราคม - เมษายน ๒๕๑๕ ค่อนข้างจะละเอียด เพราะได้จากสมุดบันทึกส่วนตัว ประกอบกับหลักฐานอื่นๆ
ซำทอง
๙ - ๑๐ มกราคม ๒๕๑๕
กรม ๑๗๔ ของข้าศึกได้เข้าตีที่มั่นตั้งรับของฝ่ายเราที่ DF (เนิน ๑๓๐๐ ในพิกัดตาราง TG 7621) และ DW (เนิน ๑๔๗๖ ในพิกัดตาราง TG 8022) เนิน ๑๑๘๖ (ในพิกัดตาราง TG 7722) และบริเวณสนามบินซำทอง (LS -20) โดยเฉพาะที่สนามบินฯ ข้าศึกใช้กำลังประมาณ ๒๐๐ นาย ฝ่ายเราได้ตอบโต้ด้วยการทิ้งระเบิดอย่างหนัก ข้าศึกต้องถอนตัวไปตั้งอยู่นอกเมืองซำทอง
กรม ๑๗๔ ที่ข้าศึกใช้เข้าตีซำทองในครั้งนี้ ได้เคยปฏิบัติการในพื้นที่นี้มาแล้วตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๓ จึงมีความคุ้นเคยและชำนาญภูมิประเทศ
.jpg)
ล่องแจ้ง
ข้าศึกเริ่มเข้ายึดที่มั่นบนเนินรอบๆ ล่องแจ้งเป็นจุดๆ พร้อมทั้งยิงปืนใหญ่เป็นประจำ ทั้งยังใช้หน่วยก่อวินาศกรรมกล้าตาย (Sapper) เข้าปฏิบัติการด้วย คือได้เข้าก่อวินาศกรรม ทำลายเครื่องบินตรวจการณ์ ฝ่ายเราได้ ๒ ลำ และพยายามบุกบ้านพักนายพลวังเปา แต่ยามรักษาการณ์ได้เห็นจึงได้ต่อสู้กัน ปรากฏว่า ฝ่ายหน่วยกล้าตาย เสียชีวิต ๑๔ ฝ่ายทหาร ทชล.๒ เสียชีวิต ๑
และ ข้าศึกได้เข้ายึดฐานที่มั่นด้านตะวันออกบนเนินสกายไลน์ซึ่งเป็นภูมิประเทศสำคัญสูงข่มทางด้านเหนือของล่องแจ้ง คือส่วนที่เรียกว่า สกายไลน์ ๒ ในแผนที่ อย่างง่ายดาย
๑๒ มกราคม ๒๕๑๕
บีเอ ๖๓๖ ได้รับคำสั่งให้เข้าที่ตั้งยิง โบวี่ (บริเวณหน้าถ้ำ) เพื่อสนับสนุนฝ่ายเราที่จะเข้ากวาดล้างข้าศึกบนแนวสกายไลน์
ฝ่ายเราให้ บีซี ๖๑๗ เข้าตีเพื่อกวาดล้างข้าศึกที่ฐานที่มั่น CA (บนแนวสกายไลน์) แต่ฝ่ายเรากลับสูญเสียมากจนไม่สามารถเข้าตีต่อไปได้ และกลับถูกข้าศึกกดดันอย่างหนัก ด้วยกำลังพลที่มากกว่า และการยิงของปืนใหญ่
บีซี ๖๑๖,๖๑๗ และ ๖๑๘ จึงถอนตัวจากที่มั่นตั้งรับบนสกายไลน์ลงมายังล่องแจ้ง
ต่อมาทหาร ทชล.๒ ของนายพลวังเปาได้ถอนจากล่องแจ้งไปตั้งรับที่เนินทางตะวันตกเฉียงใต้ของล่องแจ้ง ทิ้งให้ บก."สิงหะ" และ ทหารเสือพราน อยู่รักษานคราล่องแจ้งอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย ทำให้สถานการณ์เมืองล่องแจ้งคับขันและล่อแหลมที่สุด เพราะข้าศึกสามารถยึดสกายไลน์ซึ่งเป็นภูมิประเทศสำคัญสูงข่มทางทิศเหนือไว้ได้ทั้งหมด และกำลังส่งกำลังอีกส่วนหนึ่งเข้าโอบด้านหลัง (ทางทิศใต้) ของล่องแจ้งไว้อีกด้วย
"สิงหะ" ก็ไม่ประมาท เตรียมการย้ายที่ตั้งเช่นกัน และสั่งการให้ทุกหน่วย เตรียมแผนการถอนตัวในเวลากลางคืนอย่างเร่งด่วน และรอสัญญาณให้ปฏิบัติตามแผนเท่านั้น และในบ่ายวันนี้ ผบ.ฉก.วีพี ก็ได้หารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ และ ทชล.๒ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ต้องติดต่อ"ผู้มีอำนาจตกลงใจ" ว่า "ต้องรักษา ล่องแจ้งไว้ให้ได้"
และกลางดึกคืน ๑๒ มกราคม ๒๕๑๕ นี้ ก็เกิดเสียงระเบิดสังสนั่นหวั่นไหว แผ่นดินสะเทือน อยู่แทบทั้งคืน และ ไม่มีสัญญาณให้ถอนตัว
ฝูงบินทิ้งระเบิด B - 52 ทิ้งระเบิดแบบปูพรมบนสันเนินสกายไลน์ เกือบตลอดคืน
ดูภาพ B - 52 ในมุมต่างๆ กันหน่อยนะครับ



B - 52 Stratofortess Strategy Bomber
๑๓ มกราคม ๒๕๑๕
พวกเราได้ทราบข่าวจากหน่วยเหนือว่า จากการดักฟังวิทยุของข้าศึกทำให้ทราบว่า การทิ้งระเบิดของ B - 52 เมื่อคืน ทำให้ กรม ร.๑๔๘ ซึ่งรวมพลกันบนสกายไลน์ ถูกทำลายเกือบหมดทั้งหน่วย ส่วนที่เหลือต้องกระจายเป็นหน่วยเล็กๆ หลบซ่อนอยู่บนสกายไลน์ หรือถอนตัวออกไป หรือหลบลงมาในล่องแจ้ง
เครื่องบิน บี - ๕๒ ยังคงปฏิบัติภารกิจบนแนวสกายไลน์ และ รอบๆ ล่องแจ้งต่อไป
ทชล.๒ สั่งการให้หน่วยของตน และหน่วยของ ทชล.ที่ส่งมาช่วยจากสุวรรณเขต กวาดล้างข้าศึกในพื้นทีล่องแจ้ง และพยายามขึ้นยึดสันเนินสกายไลน์ให้ได้
บีซี ๖๐๒ เอ ซึ่งฝึกเสร็จได้เดินทางมาทดแทนกำลัง บีซี ๖๐๒ ที่จบภารกิจ และ
บีซี ๖๐๑ เอ ได้เดินทางมาถึงล่องแจ้ง ในวันรุ่งขึ้น คือ ๑๔ มกราคม ๒๕๑๕
๑๕ มกราคม ๒๕๑๕
บีเอ ๖๓๔ ก็เดินทางมาถึงล่องแจ้ง และสร้างที่ตั้งยิงที่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของล่องแจ้ง สองแห่ง คือ "เฮอร์คิวลิส" - HERCULES และ "แซมซั่น" - SAMSON แต่ละที่ตั้งยิงมีปืนใหญ่ขนาด ๑๕๕ มม., ขนาด ๑๐๕ มม. และ ค.๔.๒ นิ้ว อย่างละ ๒ กระบอก
๑๗ มกราคม ๒๕๑๕
สถานการณ์ฝ่ายเราดูจะดีขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าฝ่ายเราจะได้เปรียบอย่างเห็นได้ชัด
ฝ่ายเราสามารถยึดที่มั่น CW บนเนินสกายไลน์ ๑ ได้ และมีเครื่องบินโจมตีบนเนินสกายไลน์ ๒ อยู่ตลอดเวลา
๑๘ มกราคม ๒๕๑๕
การช่วงชิงสกายไลน์ยังคงดำเนินต่อไป เวลาประมาณ ๑๑๓๐ ฝ่ายเรายึดที่มั่น CA ได้ และกำลังเข้าตีเพื่อยึดที่มั่น CT และ CD ต่อไป
๒๑ มกราคม ๒๕๑๕
ข้าศึกเข้าตีที่มั่น CA เครื่องบินฝ่ายเราโจมตีข้าศึกตั้งแต่เวลาประมาณ ๔ นาฬิกา และต่างตรึงกันอยู่ทั้งวัน จนกระทั่งเย็น หน่วยจึงขอให้วางตำบลยิงรอบที่มั่นไว้ให้ และต้องคอยยิงรบกวนและขัดขวาง (Harrasment and Interdiction - H&I) ให้ตลอดคืน
๒๒ มกราคม ๒๕๑๕
ฝ่ายเรายึดที่มั่นซึ่งเป็นฐานปฏิบัติการเดิม และมี สนาม ฮ. เป็นที่คุ้นเคยของนักบิน แอร์ อเมริกาอยู่แล้วบนสันเนินสกายไลน์ได้ ดังนี้ บีซี ๖๑๖ - CC, บีซี ๖๐๔ - CE, บีซี ๖๐๒ - CB, บีซี ๖๑๘ - CT และฝ่ายเรามีแผนจะใช้กำลัง ทสพ. เข้าผลัดเปลี่ยนทหารของ ทชล.๒ ที่ซำทอง และ เข้าตีข้าศึกที่ยังยึดบางส่วนของซำทองต่อไป คาดว่า เมื่อยึดซำทองได้หมดแล้ว บีเอ ๖๓๖ คงต้องจัดหน่วยไปเข้าที่ตั้งยิงเดิม หรือสร้างที่ตั้งยิงใหม่ที่ซำทอง
เวลาประมาณ ๑๑๓๐ มีเครื่อง Porter มาลงที่สนามบินล่องแจ้ง สอง สามเที่ยว เป็นสิ่งบอกเหตุว่า สถานการณ์ฝ่ายเราผ่อนคลาย ดี และปลอดภัยขึ้นมาก ข้าศึกไม่สามารถใช้ปืนใหญ่โจมตี ล่องแจ้ง และสนามบินได้ เครื่องบินที่ไม่ใช่เครื่องบินรบจึง ลง - ขึ้นได้
๒๙ - ๓๐ มกราคม ๒๕๑๕
บีซี ๖๐๖ เข้าผลัดเปลี่ยนกำลังของ ทชล.๒ ที่ซำทอง ที่ฐานที่มั่น DI DZ และ DX
บีซี ๖๐๗ เข้าผลัดเปลี่ยนที่ DC DM DN
บีซี ๖๑๐ เข้าผลัดเปลี่ยนที่ DT DE DF
บีซี ๖๐๘ จะเข้าผลัดเปลี่ยนที่ DY แต่ข้าศึกพยายามต่อต้านด้วยการใช้เครื่องยิงลูกระเบิดมาที่บริเวณ DI มาก ฮ. ไม่สามารถลงส่งกำลังพลที่ DY ตามแผนได้ จึงต้องวางกำลังที่ DL ก่อน และส่งกำลังอีก ๑ กองร้อย ไปเสริมกำลัง บีซี ๖๐๖ ที่ DW
กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕
สถานการณ์ดีขึ้น และใกล้เทศกาลตรุษญวน ทาง ทชล.๒ เกรงว่า ข้าศึกจะเร่งรุกใหญ่ในพื้นที่ ซำทอง ล่องแจ้ง จึงชิงความได้เปรียบเป็นฝ่ายเริ่มรุกก่อน ในต้นเดือน กุมภาพันธ์ ทชล.๒ จัดกำลังเข้าสกัดเส้นทางถอย และตัดเส้นทางส่งกำลังบำรุงของข้าศึก ด้วยการจัดกำลังรุกเข้าสู่ทุ่งไหหินทางตะวันตกเฉียงใต้ การรุกเป็นไปโดยง่ายดาย ไม่มีการต้านทานของข้าศึก สามารถยึดที่มั่นบน ภูหลวง (ภูห่วง) ได้ และนำปืนใหญ่ขนาด ๑๐๕ มม. ขึ้นไปตั้งยิงด้วย ๑ กระบอก กำหนดที่หมายขั้นต่อไปคือ ภูเซอ ภูเทิง และเมืองเชียงขวาง หน่วยของ ทชล.๒ สามารถรุกคืบหน้าไปเกือบถึงเมืองเชียงขวาง
ถึงแม้ว่า ทชล.๒ สามารถรุกไปได้เกือบถึงเชียงขวางก็ตาม แต่ข้าศึกที่ซำทองก็ไม่ได้ถอนตัวออกไป และยังพยายามกดดันฝ่ายเราที่ ซำทองอย่างหนัก และยังตอบโต้ฝ่ายเราที่เชียงขวางจนต้องถอนกำลังกลับมาในปลายเดือนกุมภาพันธ์
ในขณะที่ ทชล.๒ รุกทางทุ่งไหหิน กกล.ทสพ. ก็ลาดตระเวนค้นหาข้าศึก ในพื้นที่ ซำทอง และ ล่องแจ้ง เพื่อหาข่าว และหยั่งกำลังว่า จะมีข้าศึก อยู่ที่ใด และมีกำลังเท่าใดบ้าง

LS - 20 สนามบินซำทอง
๑๒ - ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕
ข้าศึกโจมตี หน่วยระดับกองร้อยของ บีซี ๖๐๖ ที่ DX ด้วยอาวุธหนัก และกำลังทหารราบเข้าตี ตั้งแต่ คืน ๑๒ กุมภาพันธ์ หลายครั้ง ฝ่ายเรามี ปืนใหญ่ ของ ทชล.๒ ที่ "ทันเดอร์" (VI) แต่ไม่สามารถสนับสนุน บีซี ๖๐๖ ได้เท่าที่ควร ต้องใช้ปืนใหญ่จาก "แคนเดิ้ล" ยิงสนับสนุนให้แทบทั้งคืน แต่ฝ่ายเราสามารถยืนหยัดตั้งรับอยู่ได้จนรุ่งสว่างของวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ จึงได้กำลังทางอากาศมาสนับสนุน จนข้าศึกต้องสูญเสียอย่างมาก และถอนตัว
การที่ บีซี ๖๐๖ สามารถตั้งรับ ต้านทานการเข้าตีในครั้งนี้ได้ เป็นสิ่งบอกเหตุว่า ข้าศึกอ่อนกำลัง และเสียน้ำหนักในการเข้าตีแล้ว แต่ฝ่ายเราก็ยังต้องแก้ไขในเรื่อง การลาดตระเวนหาข่าว และการยิงสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้ปืนใหญ่ อย่างไรก็ตาม บก.สิงหะ หรือ บก.หน่วยเฉพาะกิจวังเปา (ฉก.วีพี) ได้มีประกาศชมเชยและส่งสาส์นถึงทหารเสือพรานทุกนาย ซึ่งผมขอนำมาเผยแพร่ดังนี้
(สำเนา)
ประกาศ ฉก.วีพี
ที่ ๑/๑๕
เรื่อง ชมเชยการปฏิบัติภารกิจของ ทสพ.
- - - - - - - - -
เนื่องจากในระหว่าง วันที่ ๑๒ - ๑๓ ก.พ. ๑๕ พัน.บีซี ๖๐๖ ได้ตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของซำทอง (ทีจี ๗๘๒๒) ได้ถูก ขศ.ระดมยิงด้วยอาวุธหนักอย่างรุนแรง และเข้าตีหลายระลอก พัน.บีซี ๖๐๖ ทำการต่อสู้อย่างเข้มแข็ง กล้าหาญ และเสียสละ รวมทั้งได้รับการยิงสนับสนุนด้วยอาวุธหนักจาก พัน.บีซี ๖๐๗ และการยิงของปืนใหญ่จากฐานยิงแคนเดิ้ล อย่างมีประสิทธิภาพ ได้สามารถขับไล่ข้าศึกให้ถอยหนีไปทุกครั้ง และยังผลให้ ขศ. ทิ้งศพไว้ในที่เกิดเหตุกว่า ๑๐ ศพ และมีร่องรอยนำผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ กลับไปอีกจำนวนมาก และได้ทิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้เรี่ยราดในบริเวณนั้น
ข้าพเจ้าขอชมเชยการปฏิบัติที่เข้มแข็ง กล้าหาญ และเสียสละ ของ บีซี ๖๐๖ และการช่วยเหลือสนับสนุนของ พัน.บีซี ๖๐๗ และ ฐานยิงแคนเดิ้ล อันเป็นการกระทำที่สมควรได้รับการยกย่องสรรเสริญอย่างยิ่ง.
ประกาศมา ณ วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๕
(ลงชื่อ) แสน
ผบ.ฉก.วีพี
* * * * * * * * *
สาส์นถึง ทสพ. ทุกคน
จากการประมวลการปฏิบัติของข้าศึกในระยะตั้งแต่ต้นเดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕ จนถึงเทศกาลตรุษญวน ปรากฏว่า พฤติการณ์ต่างๆ ของข้าศึก บ่งให้เห็นว่า ขณะนี้ ฝ่ายข้าศึกอ่อนกำลังลง และขวัญตกต่ำอย่างเห็นได้ชัด อาวุธยุทโธปกรณ์และอาหารขาดแคลน จนถึงกับต้องกับแย่งชิง และซุกซ่อน เสบียงและกระสุนกันอยู่เสมอ ทั้งนี้ เพราะถูกฝ่ายเราระดมโจมตีทางอากาศและยิงด้วยปืนหญ่ อย่างรุนแรงและได้ผล อีกทั้งยังถูกตลบหลัง ตัดเส้นทางส่งกำลังบำรุง ทำให้ข้าศึกต้องระส่ำระสาย ไม่สามารถรวบรวมและสะสมกำลังเพื่อทำการรุกใหญ่ได้ นอกจากจะเข้าตีประปรายเท่านั้น และการเข้าตีแต่ละครั้ง ก็มีสิ่งบอกเหตุว่า ข้าศึกกระทำด้วยความจำใจ มิได้มุ่งหวังที่จะเอาชัยชนะ แต่หากว่า กระทำเพื่อลีกเลี่ยงจากปากกระบอกปืนที่จี้อยู่เบื้องหลัง จึงจำต้องซมซานไปตายเอาดาบหน้า ดังเช่นครั้งข้าศึกเข้าตีซำทอง เมื่อระหว่าง ๑๒ - ๑๓ กุมภาพันธ์ ข้าศึกต้องสูญเสียรี้พลเป็นจำนวนมาก รวมทั้งนายทหารชั้นผู้บังคับบัญชาอีกหลายคน และทิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้เรี่ยราดรอบๆ บริเวณเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม ข้าศึกคงจะพยายามดิ้นรนเข้าเผชิญชะตากรรมครั้งสุดท้าย เพื่vการอยู่รอดก่อนที่จะถอยหนีไป ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอให้ทหารหาญของเราทุกคนจงได้ร่วมมือ ร่วมใจ ใช้ความเข้มแข็ง อดทน เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ เตรียมพร้อมไว้ยืนหยัดต่อสู้ศัตรู เพื่อที่จะขับไล่ให้พวกมันแตกกระเจิดกระเจิงพินาศกลับไป ดังเช่นที่ได้เคยกระทำมา
ขอให้ทุกคนประสบโชค และชัยชนะ
(ลงชื่อ) แสน
ผบ.ฉก.วีพี.
๑๖ ก.พ. ๑๕
* * * * * * * * *
จากการตั้งรับของ บีซี ๖๐๖ ในครั้งนี้ ผู้บังคับบัญชาจึงต้องพิจารณาปรับปรุงเรื่องการปฏิบัติการเชิงรุก ลาดตระเวนหาข่าว และการใช้ปืนใหญ่ของฝ่ายเราอย่างเร่งด่วน
เรื่องการปฏิบัติการเชิงรุกและลาดตระเวนหาข่าว ขณะที่ ทชล.๒ ทำการรุกในทุ่งไหหิน กกล.ทสพ.ซึ่งอยู่ในพื้นที่ ซำทอง ล่องแจ้ง ก็วางแผนให้ทุกหน่วยออกลาดตระเวนหาข่าว พร้อมทั้งหยั่งกำลังข้าศึก ว่าตั้งอยู่ที่ใด และมีกำลังเท่าใดบ้าง เพื่อนำข่าวสารที่ได้มาวางแผนดำเนินกลยุทธต่อไป
ส่วนเรื่องการใช้ปืนใหญ่นั้น ฉก.วีพี. ได้สั่งการใช้ปืนใหญ่ ดังนี้
๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕
ให้ บีเอ ๖๓๖/๑๕๕ เข้าที่ตั้งยิงที่ CB บนแนวสกายไลน์ ชื่อที่ตั้งยิง "ไทเกอร์" มีปืนใหญ่ขนาด ๑๐๕ มม. ๓ กระบอก เพื่อสนับสนุน หน่วย ทสพ.ในพื้นที่ ซำทอง และ
๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕
ให้บีเอ ๖๓๖/ค.๔.๒ เข้ารับผิดชอบ ที่ตั้งยิง "ทันเดอร์ " VI ที่ซำทอง แทน ทหารของ ทชล.๒ มีปืนใหญ่ขนาด ๑๕๕ มม. ๑๐๕ มม. และ ค.๔.๒ นี้ อย่างละ ๒ กระบอก
ผังการวางกำลังของฝ่ายเราที่ ซำทอง เนินสกายไลน์ และล่องแจ้ง

มีนาคม ๒๕๑๕
ผลจากการลาดตระเวนทำให้ฝ่ายเราได้ทราบว่า ข้าศึกบางส่วนยังคงเกาะติดฝ่ายเราอยู่ และบางหน่วยได้เคลื่อนย้ายไปปฏิบัติการในพื้นที่อื่นแล้ว ดังนี้
กรม ๑๔๑ (หย่อนกำลัง) วางกำลังทางด้านเหนือของซำทอง
กรม ๑๖๕ (หย่อนกำลัง) วางกำลังทางด้านตะวันออกของซำทอง
กรม ๑๗๔ ถอนกำลังกลับไปปฏิบัติการในพื้นที่ทุ่งไหหิน และได้ตีโต้กำลังของ ทชล.๒ ที่รุกไปเกือบถึงเมืองเชียงขวาง จนต้องถอยลงมาตั้งที่ บ้านน้ำผา ในปลายสัปดาห์แรก ของเดือน มีนาคม ๒๕๑๕
"สิงหะ" หรือ ฉก.วีพี. ตกลงใจที่จะพยายามผลักดันกำลังข้าศึกทั้งสองด้านของซำทอง โดยมีความประสงค์ที่จะสร้างความเชื่อมั่น ขวัญ กำลังใจให้กำลังพลเพราะ หน่วย ทสพ. เหล่านี้ ส่วนมากเป็นอาสาสมัครทหารเสือพรานใหม่ ยังไม่มีประสบการณ์ในการรบ ส่วนทหารเสือพรานเก่า ก็เข็ดขยาดมาจากการรบที่ทุ่งไหหินมาใหม่ๆ สภาพขวัญและกำลังใจ อยู่ในระดับที่น่าห่วงใย "สิงหะ" จึงต้องการสร้างขวัญ กำลังใจ และความเชื่อมั่นให้กำลังพล มากกว่าชัยชนะจากการรบ จึงแยกหน่วยเข้าตีดังนี้
บีซี ๖๐๘ เข้าตีเพื่อยึด DY เป็นหน่วยแรก นอกจาก เข้าตีไม่สำเร็จแล้ว ยังเพิ่มประสบการณ์ในความไม่สำเร็จ และตอกย้ำความเข็ดขยาด แก่ฝ่ายเรายิ่งขึ้น
บีซี ๖๑๐ จัดกำลัง ๑ กองร้อย ลาดตระเวนรบในพื้นที่ซำทอง เมื่อ ๕ มีนาคม "ไทเกอร์" ได้รับภารกิจทางยุทธวิธีให้ช่วยโดยตรง บีซี ๖๑๐ และช่วยส่วนรวม - เพิ่มเติมกำลังยิงให้ "ทันเดอร์" ผลการลาดตระเวน เป็นไป ด้วยความสงบ เรียบร้อย ไม่มีการปะทะกับข้าศึก
บีซี ๖๐๗ ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติภารกิจใน ๘ มีนาคม ผลการปฏิบัติเป็นไปเช่นเดียวกับ บีซี ๖๐๘
บีซี ๖๐๖ ได้รับคำสั่งให้เข้าตี และยึดเนิน ๑๔๙๘ ชึ่งอยู่ทางตะวันออกของที่มั่น DX ประมาณ ๗๐๐ - ๘๐๐ เมตร คาดว่าเป็นที่ตรวจการณ์ของข้าศึก ใน ๑๐ มีนาคม ปืนใหญ่ที่ "ทันเดอร์" ช่วยโดยตรง บีซี ๖๐๖ ปืนใหญ่ที่ "ไทเกอร์" เพิ่มเติมกำลังยิงให้ "ทันเดอร์" กำหนดเวลาออกตี ๐๘๐๐ ให้ปืนใหญ่ยิงเตรียมเป็นเวลา ๓๐ นาที ตั้งแต่เวลา ๐๗๓๐ ในสมุดบันทึกของผมว่าไว้ ดังนี้
. . . เริ่มยิงเตรียม เวลา ๐๗๓๐ ยิงไปได้สักพักหนึ่ง เขาบอกว่าให้ย้ายยิง ถามว่าจะให้ย้ายยิงไปทางไหน ก็ตอบไม่ถูก เลยตัดสินใจไม่ยิงให้ เพราะอาจจะเป็นอันตรายแก่ฝ่ายเราเองได้ ซึ่งได้ทราบต่อมาภายหลังว่า หน่วยสามารถเคลื่อนที่เข้าไปได้ถึงขอบที่หมาย แต่เมื่อข้าศึกตรวจพบ และระดมยิง ด้วยอาวุธประจำหน่วย และประจำกาย ก็ไม่สามารถรุกต่อไปได้อีก และเมื่อมีฝ่ายเรา บาดเจ็บ เสียชีวิต ก็เริ่มถอนตัว โดยอ้างว่า เพื่อส่งกลับผู้บาดเจ็บ และ เสียชีวิต หลังจากที่ได้เข้าตี เพียง ๓ ชั่วโมง
สรุปการปฏิบัติทุกหน่วย ได้ผลตามความมุ่งหมายคือ มิได้หวังชัยชนะเป็นหลัก เพียงแค่สร้างความคุ้นเคยในการรบให้แก่ทหาร
แต่ผมว่าเกินความคาดหมายอีกนะครับท่าน คือ ตอกย้ำความรู้สึก ว่ารบแพ้ เพิ่มขึ้นอีก
เมื่อฝ่ายเราเข้าตีโดยไม่หวังชัยชนะ ฝ่ายข้าศึกจึงเข้าตีให้ดูบ้าง
๑๑ มีนาคม ๒๕๑๕
ในวันนี้ กรม ๑๗๔ ของข้าศึก เข้าตีตามสันเนินทางทิศเหนือของซำทอง
กองพันที่ ๑ เป็นหน่วยเข้าตีหลักต่อที่มั่น DX เมื่อยึดที่หมายได้แล้วให้วางกำลังสกัดกั้น ใช้กำลังส่วนใหญ่ขนอาวุธ กระสุนที่ยึดได้ ส่งกลับเชลยศึก และผู้บาดเจ็บ
กองพันที่ ๒ เข้าตีต่อที่มั่น DW เป็นการเข้าตีสนับสนุน เมื่อยึดที่หมายได้แล้ว ให้จัดกำลังไล่ติดตามเพื่อทำลายกำลังฝ่ายเรา พร้อมทั้งจัดตั้งระบบการสื่อสาร
กองพันที่ ๓ เข้าตีต่อที่มั่น DI เป็นการเข้าตีสนับสนุน เมื่อยึดที่หมายได้แล้ว ให้วางกำลังสกัดกั้นการถอนตัวของฝ่ายเรา
กรม ๑๖๕ เข้าตีตามสันเนินด้านตะวันออก ดังนี้
กองพันที่ ๔ วางกำลัง ทางทิศใต้ของ"ทันเดอร์" สกัดกั้นฝ่ายเรา ไม่ให้ถอนตัวสู่ล่องแจ้งได้
กองพันที่ ๕ เป็นหน่วยเข้าตีหลัก DC และ DN บรรลุภารกิจแล้วขนอาวุธ กระสุนที่ยึดได้เข้าที่หลบซ่อน แล้วเคลื่อนที่เข้าสู่ สกายไลน์
กองพันที่ ๖ เป็นกองหนุน เคลื่อนที่ติดตาม พัน. ๕ ไล่ติดตามฝ่ายเรา เมื่อสั่ง
ลำดับเหตุการณ์
หน่วยในพื้นที่ซำทองถูกโจมตีด้วยอาวุธหนักตั้งแต่ประมาณ ๕ นาฬิกา "ไทเกอร์" ต้องยิงสนับสนุนตั้งแต่ ประมาณ ๐๕๑๕ พอตอนสายๆ ข้าศึกสามารถเกาะฝายเราได้ทุกที่มั่นตั้งรับ สถานการณ์ที่"ทันเดอร์" เลวร้ายลงอย่างคาดไม่ถึง "สิงหะ"ให้ถามสถานการณ์ที่"ทันเดอร์" ได้รับคำตอบว่า "ตึงเครียดมาก ทหาร ทชล.๒ ถอนตัวไปหมดแล้ว"
การรบในวันนี้ ไม่มีการสนับสนุนทางอากาศยุทธวิธี
จนเวลาประมาณ ๑๔ นาฬิกา บีซี ๖๐๖, ๖๐๘ ได้เริ่มถอนตัว และในเวลาประมาณ ๑๔๓๐ ทุกหน่วยก็ได้สละที่มั่นทุกแห่ง บางหน่วย ถอนตัวตามลำน้ำงึมไปสู่ล่องแจ้ง บางหน่วยถอนตัวตามถนน ซำทอง - สกายไลน์ - ล่องแจ้ง และ
กำลังระดับกองร้อยของ บีซี ๖๐๗ ถอนตัวไปรวมกันที่มั่นตั้งรับของกองพัน (DN) และ ต่อมา บีซี ๖๐๗ ทั้งหน่วยก็ถอนตัวต่อไปที่"ทันเดอร์" (VI) ซึ่ง"ไทเกอร์" ได้ยิงคุ้มครองให้ในระหว่างถอนตัว จนเหลือกระสุนปืนใหญ่ ประมาณ ๑๐๐ นัด
ประมาณ ๑๕ นาฬิกา ภูกอง ผู้บังคับหมวดระวังป้องกันที่"ทันเดอร์"ติดต่อเข้ามาว่ากำลังนำหมวดฯ และกำลังพล บีเอ ๖๓๖/ค.๔.๒ บางส่วนเดินทางมา "ไทเกอร์" ขอให้ยิงคุ้มครองสองข้างทาง ได้ยิงให้ตามคำขอจนเวลาประมาณ ๕ ทุ่ม กำลังดังกล่าวจึง มาถึง"ไทเกอร์" ส่วนมากบาดเจ็บจากการปะทะกับข้าศึกระหว่างถอนตัว ได้ปฐมพยาบาลและรอส่งกลับในวันรุ่งขึ้น แต่เป็นที่น่าเสียใจว่า ภูวัน ผู้ตรวจการณ์หน้า บีเอ ๖๓๖/ค.๔.๒ ต้องเสียชีวิตด้วย และมีผู้สูญหายจากการรบอีกจำนวนหนี่ง ส่วนผู้ที่ไม่บาดเจ็บประมาณ ๕๐ นาย ได้เข้าที่วางตัวตามที่กำหนดให้
ประมาณ ๑๗ นาฬิกา เครื่องแคริบู ได้ส่งกระสุนปืนใหญ่ โดยการทิ้งร่มให้ ๒ เที่ยว


เครื่องบินแบบ CV - 2 Caribou ของบริษัท แอร์ อเมริกา ส่งสิ่งอุปกรณ์ทางอากาศ
"สิงหะ" สั่งการให้หน่วยบนแนวสกายไลน์ รับกำลังพลที่ถอนตัวมาจากซำทอง แล้วนำเข้าวางตัวในที่มั่นตั้งรับ เป็นการร่วมกันเสริมแนวตั้งรับป้องกันล่องแจ้งให้มั่นคงยิ่งขึ้น
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า คำสั่งของ"สิงหะ" ไม่มีผลในทางปฏิบัติ กำลังพล บีซี ๖๐๗ เดินทางต่อไปล่องแจ้ง มีแต่กำลังพล บีเอ ๖๓๖/ค.๔.๒ และผู้บังคับหมวด บีซี ๖๐๗ อีก ๑ นาย เท่านั้นที่ร่วมกับ บีเอ ๖๓๖/๑๕๕ ที่"ไทเกอร์"
สรุปเหตุการณ์ ๑๑ มีนาคม ๒๕๑๕
หน่วย ทสพ. ซึ่งวางกำลังในที่มั่นตั้งรับตามสันเนินด้านเหนือ และด้านตะวันออกเฉียงเหนือของซำทอง ต้องเสียที่มั่นทุกแห่ง ยังคงเหลือที่มั่นตั้งรับทางด้านใต้ เพียง บีซี ๖๑๐ เท่านั้น ซึ่งควบคุมเส้นทาง ซำทอง - ล่องแจ้ง
บีเอ ๖๓๖/๑๕๕ ในที่ตั้งยิง"ไทเกอร์" บนสกายไลน์ได้ยิงช่วยเหลือหน่วยที่ต้องถอนตัวจากซำทอง ข้าศึกซึ่งไล่ติดตามมา โดยยิงสกัดกั้นข้าศึก ทำให้ฝ่ายเราถอนตัวได้อย่างปลอดภัย
ข้อสังเกต ระหว่างฝ่ายข้าศึก และ ฝ่ายเรา
๑. ฝ่ายข้าศึกเข้าตีเพื่อมุ่งหวังชัยชนะ แต่ฝ่ายเราไม่มุ่งหวังชัยชนะเข้าตีเพื่อสร้างความคุ้นเคยเท่านั้น
๒. ข้าศึกรวมกำลังที่มีทั้งหมดโจมตีฝ่ายเราซึ่งตั้งกระจัดกระจาย แต่ฝ่ายเราแยกกำลังเป็นหน่วยเล็กๆ ผลัดกันเข้าตี และ ผลัดกันแพ้ทีละหน่วย
๑๒ มีนาคม ๒๕๑๕
ตอนเช้า ดูเหมือนสถานการณ์จะดีขึ้น ฮ.สามารถ ขึ้นมารับคนเจ็บส่งกลับไปได้หมด แต่พอสายๆ เห็นสนามบินล่องแจ้งถูกโจมตีด้วยอาวุธหนัก และเวลาประมาณ ๑๑๓๐ กระสุนของฝ่ายเราที่กองรวมไว้ที่ลานจอดด้านตะวันออกเฉียงใต้ของสนามบิน ล่องแจ้ง (South East Ramp) ถูกยิงและระเบิดซ้อน ไฟไหม้ ควันขาวทึบไปทั่วบริเวณนานถึง ๖ ชั่วโมงกว่าจึงค่อยสงบ ในตอนค่ำ สะเก็ดระเบิดกระจายไปทั่วบริเวณควบคุมไม่ได้ เพลิงไหม้ลุกลามไปถึงบ้านเรือนราษฎรแถบนั้นด้วย ฝ่ายเราสูญเสียกระสุนวัตถุระเบิดเป็นจำนวนมาก สนามบินล่องแจ้งก็เสียหายมาก

South East Ramp
เวลา ๑๕๓๐ ข้าศึกได้ยิงกระสุนโฆษณามาที่บริเวณทิศเหนือของสนามบิน ใบปลิวมีใจความสรุปได้ว่า ให้ทหารไทยยอมจำนนฝ่ายเวียคนามเหนือ กล่าวโจมตีสหรัฐอเมริกา และรัฐบาลไทย นอกจากนั้น ยังให้ใช้ใบปลิวนี้เป็นบัตรผ่านแดนเข้าหาฝ่ายเวียดนามเหนือได้ โดยสัญญาว่าจะส่งกลับภูมิลำเนาเดิมในภายหลัง
บีซี ๖๑๐ ยังคงยึด และรักษาที่มั่นที่ซำทองไว้ได้ต่อไป
การส่งกำลังให้"ไทเกอร์"ต้องใช้ทางอากาศเท่านั้น เส้นทางถนนจากล่องแจ้งไม่ปลอดภัยพอ น้ำ เหลือน้อยลงไปทุกที อาหาร เหลือแต่ข้าวสาร น้ำปลา และเสบียงแห้ง กำลังพลจาก"ทันเดอร์"อีกประมาณ ๕๐ นาย ก็ช่วยกันระวังป้องกันที่ตั้งยิงไทเกอร์ ต่อไป
คืนนี้ ป้อมบินยักษ์ B - 52 ได้มาทำงาน ต่อเป้าหมายใกล้ๆ แนวสกายไลน์หลายเที่ยวบิน
๑๓ มีนาคม ๒๕๑๕

ตอนสายๆ นายพลวังเปา พูดวิทยุกับ"ไทเกอร์" และ บีซี ๖๑๐ สรุปความว่า ข้าศึกได้เข้าอยู่ที่"ทันเดอร์"เดิมเต็มไปหมด และใช้ประโยชน์จากปืนใหญ่ที่"ทันเดอร์" เดิม (บีเอ ๖๓๖/ค.๔.๒ ไม่ได้ทำลายปืนใหญ่ก่อนถอนตัว) ให้"ไทเกอร์"ยิงไปที่นั่นให้มากที่ซู๊ด แลว่ากำลังเจรจากับผู้ใหญ่ ขอ B - 52 มา เฮ็ดเวียก (ทำงาน) ให้อีก ให้ บีซี ๖๑๐ ที่ DT ใจดีๆ ไว้ก่อน
ประมาณ ๑๓ นาฬิกา ข้าศึกใช้ปืนใหญ่ขนาด ๑๓๐ มม. ยิงมายังบริเวณพระตำหนัก"เจ้ามหาชีวิต" ถูกคลังวัตถุระเบิดที่อยู่ใกล้ๆ เกิดระเบิดซ้อนประมาณ ๑ ชั่วโมง และที่ลานจอด ฮ. ด้านหลังพระตำหนัก
ฝ่ายส่งกำลังบำรุงของ บีเอ ๖๓๖ พยายามจะส่งน้ำขึ้นมาให้"ไทเกอร์" แต่เมื่อมาถึง บ้านน้ำงัว ทางขึ้นสกายไลน์ รถกลับไม่มีกำลังพอที่จะขึ้นสกายไลน์ได้ จึงต้องเดินทางกลับ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงภายหลังว่า รถส่งน้ำได้สวนทางกับทหารเสือพราน ไม่ทราบหน่วยใดที่กำลังเดินทางไปล่องแจ้ง บอกผู้ควบคุมรถว่า เส้นทางอันตรายมาก มีข้าศึกอยู่ระหว่างทางขึ้นสกายไลน์ เมื่อรถส่งน้ำไม่มีกำลังขึ้นสกายไลน์แต่มีกำลังพอกลับล่องแจ้งทหารเสือพรานเลวเหล่านั้นก็ขึ้นรถกลับไปล่องแจ้งด้วย (รถส่งน้ำเป็นรถของพลเรือนท้องถิ่น) แต่ก็สามารถส่งน้ำไปให้"ไทเกอร์"ได้เมื่อเวลาประมาณ ๑๕ นาฬิกา เที่ยวกลับ ได้พ่วงปืนใหญ่ไป ๑ กระบอก ตามคำสั่ง"สิงหะ" เพื่อนำไปให้หน่วยอื่นใช้ตั้งยิงที่อื่นต่อไป และรับกำลังพล ร้อย ค.๔.๒ ที่มากับภูกอง ตั้งแต่คืน ๑๑ มีนาคม และ ผบ.มว.บีซี ๖๐๗ อีก ๑ นาย กลับไป ล่องแจ้งด้วย
คืนนี้ ได้ยินเสียง B - 52 มาโจมตีบริเวณ ซำทอง และด้านหน้าเนินสกายไลน์ เป็นหลายเที่ยว
๑๔ มีนาคม ๒๕๑๔
เมื่อคืนฝนตกเล็กน้อย ช่วงเช้า ลมนิ่ง อากาศสดชื่น เย็นสบาย ข้าศึกเริ่มโจมตีฝ่ายเราด้วยปืนใหญ่และอาวุธหนักหลายชนิดต่อที่มั่น CW และ CA ซึ่งกำลังของหน่วยทหารท้องถิ่นที่ ๒๒๔ ยึดรักษาอยู่ พร้อมกับใช้ทหารราบเข้าตี
ประมาณ ๘ นาฬิกา ได้ยินเสียงเครื่อง Phantom F - 4 โจมตีเป้าหมายบริเวณใกล้ๆ อยู่ตลอดเวลา


F 4 Phanthom
เวลาประมาณ ๑๐๐๐ ทหาร ทชล.๒ ที่ CA ส่งข่าวมาว่า ห่างออกไปประมาณ ๗๐๐ เมตร ทางตะวันออก บนสันสกายไลน์ ข้าศึกตั้ง ปตอ.ขนาด ๑๒.๗ มม.อยู่ บอกเขาไปว่า จะยิงให้ คอยเบิ่งให้ด้วย เขาว่า เบิ่งบ่เป็น เลยว่า ถ้ายังงั้น ไปยึดเอามาเลย ก็ไม่เอาอีก

12.7 mm. Anti Aircraft Artillery


ปตอ. ๑๒.๗ มม. ๔ ลำกล้อง บนรถกึ่งสายพาน เอ็ม. ๑๖
ภาพซ้าย ขณะปฏิบัติการในสงครามโลกครั้งที่ ๒ มี ปืนกลขนาด .๕๐ นิ้ว ติดตั้งอีก ๑ กระบอก
สถานภาพกระสุนปืนใหญ่ของ"ไทเกอร์" เหลืออยู่ ๑๓๕ นัด (ปืนใหญ่ ๒ กระบอก)
ในวันนี้ ทราบข่าวว่า บก."สิงหะ" ถูกยิงด้วยอาวุธหนักหลายชนิด ทั้งเครื่องยิงลูกระเบิด ปืนไร้แรงสะท้อนฯ จรวด แม้แต่ . . . ปืนใหญ่
เวลาประมาณ ๑๑ นาฬิกา เครื่อง แคริบู ทิ้งกระสุนให้อีก ๙๐ นัด ประมาณ ๑๑๔๐ นายพลวังเปาวิทยุมาบอกว่า ทหาร ทชล.๒ ที่สกายไลน์ ๒ จะย้ายที่มั่นไปทางตะวันตก ประมาณ ๕๐๐ เมตร (คือขยับที่ตั้งให้ใกล้ ทสพ.มากขึ้น) และขอให้"ไทเกอร์" ยิงไปที่ ตะวันตกของสกายไลน์ ๒ สัก ๕๐ เมตร เป็นฉากไว้
ก่อนเที่ยงวันเล็กน้อย หน่วย ๒๒๔ ก็ถอนตัวลงมาที่สนามบินล่องแจ้ง ข้าศึกส่งกำลังขึ้นมาเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก ฝ่ายเราต้องใช้เครื่อง T - 28 ของ ทชล.เข้าโจมตี CW และ CA ต่อไป จนถูก ปตอ.ของข้าศึกยิงตกไป ๑ เครื่อง และ CT ที่อยู่ถัดจาก CA ออกไป ถูกยิงด้วยอาวุธหนัก
ผมเดินไปแจ้งข่าวสารให้ ผู้บังคับกองร้อย บีซี ๖๐๕/๓ ที่คุ้มกัน"ไทเกอร์" ซึ่งจำเป็นต้องทราบการวางกำลังของฝ่ายเรา และหารือแลกเปลี่ยนข่าวสารและความคิดเห็นกันถึงสถานการณ์อยู่เสมอ อีกสักครู่หนึ่ง ผมก็เดินกลับ จะเข้าไปใน ศอย. ระหว่างเดินผ่านปืนใหญ่กระบอกหนึ่ง ก็พอดีข้าศึกยิง ปรส.มาตกที่ฟากหนึ่งของปืนใหญ่นั้น แต่มีกระสอบทรายกั้นไว้ ผมวิ่งเข้าไปใน ศอย. พิจารณาหาจุดที่น่าจะเป็นที่ตั้งยิงของเขา เขายังคงยิงมาอีกหลายนัด จนเรายิงต่อต้านไป เขาจึงเลิกยิงเมื่อเวลาประมาณ ๑๒๑๐ ทหาร"ไทเกอร์"บาดเจ็บ ๓ ตาย ๑
หลังจากข้าศึกเลิกยิงแล้ว ภูเวียง ให้ผมเรียก ฮ. มารับศพ และผู้บาดเจ็บ เมื่อ ฮ. กลับไป และภูเวียง เข้ามาใน ศอย. บอกว่า "เฮ้ย ผู้กองร้อยทหารราบตายแล้วว่ะ" ผมเล่าว่า "ก่อน Incomming ผมยังคุยกับแกอยู่เลย" ภูเวียง ว่า "ผมช่วยเขาหามศพแกขึ้น ฮ. ประเดี๋ยวนี้เอง" ผมขนลุกเลยครับ
คือ เมื่อเราถูกยิงด้วย ปรส. นัดแรก ผมวิ่งเข้าไปใน ศอย.เพื่อหาเป้าหมายที่จะยิงเขาบ้างนั้น ผบ.บีซี ๖๐๕/๓ ได้ยืนสั่งการอย่างองอาจกล้าหาญให้กำลังพลลงไปอยู่ในคูติดต่อเพื่อไม่ให้เป็นอันตราย และตรวจการณ์ว่าข้าศึกจะส่งกำลังเข้าตีที่ตั้งของเราหรือไม่ จึงถูกสะเก็ดระเบิดเสียชีวิต
เวลาประมาณ ๑๕๓๕ ฝ่ายเราที่ CD ส่งข่าวว่าเห็นรถถัง ๓ คัน อยู่ ห่างประมาณ ๕ กม.ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้ส่งเครื่องบินไปโจมตี "สิงหะ"ส่งข่าวต่อไปให้นายพลวังเปาสั่งการ ได้ข่าวว่านายพล ไม่เชื่อ
อย่างไรก็ตาม อีก ๑ ชั่วโมงต่อมา "สิงหะ" ก็ส่งข่าวถึ บีซี ๖๐๕/๓ ว่าจะส่งกองหนุนขึ้นมาที่ CB ("ไทเกอร์") เพื่อจะเข้าตี เอา CW CA คืนให้ได้ และ เครื่อง T - 28 ของ ทชล.๒ ก็โจมตีอยู่ตลอดเวลา และถูกยิงตกไป ๑ เครื่อง
จนค่ำ กองหนุนของ"สิงหะ" ที่ว่าจะส่งขึ้นมา ก็ยังไม่มีวี่แวว T - 28 ก็เลิกโจมตี "สิงหะ" สั่งให้ปืนใหญ่ทุกหน่วยระดมยิง CW และ CA ไว้ทั้งคืน
ป้อมบิน B - 52 โจมตีเป้าหมายในหุบเขาหลังเนินสกายไลน์ตั้งแต่เวลา ๑๙๔๕ และตอนดึก อีก ๒ เที่ยว
๑๕ มีนาคม ๒๕๑๕
ปืนใหญ่จาก"วีนัส" ยิงเตรียมที่ CA CW ตั้งแต่เช้าตรู่ และ บีซี ๖๐๕ ที่ CT ก็ถูกโจมตีตั้งแต่ยังไม่สว่างเหมือนกัน B - 52 มาทำงานตั้งแต่เวลา ๐๘๔๕ และ ต่อไปอีก ๒ - ๓ เที่ยว
ข้าศึกก็ยิงรบกวนล่องแจ้งแต่เช้าเหมือนกัน เริ่มที่บริเวณโรงพยาบาล และใกล้ถ้ำ ซึ่งเป็นที่ตั้ง บก.บีเอ ๖๓๕
ตอนใกล้เที่ยง ฝ่ายส่งกำลังบำรุง บีเอ ๖๓๖ ว่ากำลังพยายามหาเครื่อง (ฮ.) ขึ้นมาส่งอาหารกระป่องให้ ทาง"ไทเกอร์"จึงรวบรวมอาวุธประจำกายของผู้บาดเจ็บที่ส่งกลับไปแล้ว และเพื่อเป็นการเตรียมรับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง ภูเวียง สั่งการให้ส่งสิ่งของที่ไม่จำเป็นลงไปให้มากที่สุด คงไว้แต่ สิ่งที่จำเป็นในการรบเท่านั้น
หลัง ๑๒ นาฬิกาเล็กน้อย บีซี ๖๐๕/๓ จัดกำลังลาดตระเวน จาก CB ไป CW เพราะ "สิงหะ" ว่าจะจัดกำลังเข้าตี CW ทางถนน
ประมาณ ๑๔๐๐ บีซี ๖๐๔/๑ เข้าตี CW ร่วมกับกำลังท้องถิ่นหน่วย ๒๒๔ และ ๒๓๒ เข้าตีทางทิศใต้ของที่หมายด้วย ปะทะกับข้าศึกอยู่นาน และสูญเสียมาก ต้องนำผู้บาดเจ็บ และศพ มาส่งขึ้น ฮ. ส่งกลับที่ CB นับได้ประมาณ ๒๐
จนกระทั่งตอนเย็นฝ่ายเราจึงรายงานว่ายึดที่หมาย CW ได้
ทำให้"ไทเกอร์" รู้สึกปลอดภัยขึ้น เพราะมีฝ่ายเราคุ้มครองทางตะวันออก ไม่เป็น ปีกเปิด เหมือนแต่ก่อน
๑๖ มีนาคม ๒๕๑๕
เครื่อง T - 28 โจมตี CA ตั้งแต่เช้าตรู่
.jpg)
.jpg)
ประมาณ ๑๕ นาฬิกา "ไทเกอร์" ก็ถูกยิง ประมาณ ๕ - ๖ นัด ก็เลิกยิง ชุดวิเคราะห์หลุมระเบิด และพวกเราทุกคนร่วมกันพิจารณาว่า น่าจะเป็นปืนใหญ่ขนาด ๑๒๒ หรือ ๑๓๐ มม. พิจารณาที่ซึ่งน่าจะเป็นที่ตั้งยิงแล้วรายงานไป"สิงหะ" ให้พิจารณาจัดเครื่องบินโจมตี ดูเหมือน"สิงหะ"พิจารณากันอย่างรอบคอบเป็นที่ยิ่ง แต่ผมคิดแบบนายทหารอำนวยการยิงว่า เขาปรับการยิง และยังคิดอีกว่า การที่เราเข้าที่ตั้งยิงเดิมซึ่งข้าศึกรู้ และเคยโจมตีมาก่อนแล้ว ไม่ต้องปรับการยิงมากนัก เพราะมีหลักฐานเดิมอยู่
ที่ตั้งยิง"แคนเดิล"ที่หน้าถ้ำ ที่ บีเอ ๖๓๖/๑๕๕ เคยอยู่เมื่อก่อนขึ้นไปบนสกายไลน์นั้น ปัจจุบัน เป็นที่ตั้งยิงของ บีเอ ๖๓๕ ใช้ปืนใหญ่ขนาด ๑๐๕ มม. ๑ กระบอก (นำลงมาจาก"ไทเกอร์") สามารถเปิดภารกิจได้ในวันนี้ เวลา ประมาณ ๑๐๓๕
ฝ่ายเราพยายามเข้าตี CA ต่อไป โดยมีการโจมตีทางอากาศย่างรุนแรง และต่อเนื่อง จนฝ่ายเราสามารถยึดได้ก่อนค่ำ
ตอนกลางคืน มีเครื่อง Spooky (อากาศยานติดปืนกลอากาศ อัตราเร็วในการยิง ๖,๐๐๐ นัด/นาที) และเครื่องSpector (อากาศยานติด ปตอ.ขนาด ๔๐ มม.) และปืนใหญ่จากที่ตั้งยิงต่างๆ ผลัดกันสนับสนุนฝ่ายเราบนแนวสกายไลน์ตลอดทั้งคืน
๑๗ มีนาคม ๒๕๑๕
ศูนย์ประสานการยิงสนับสนุน หรือ "ซีโร่" ซึ่งอยู่ที่ "สิงหะ" แต่รับผิดชอบในเรื่องการยิงสนับสนุน เท่านั้น ได้ส่งตำบลยิงต่อต้านปืนใหญ่ให้"ไทเกอร์" ๒ ตำบล ให้"ไทเกอร์"ยิงเมื่อ"สิงหะ"ถูกยิง
ประมาณ ๑๔๓๐ หน่วยที่ CE ซึ่งอยู่ถัดไปทางซ้ายของ"ไทเกอร์" ประมาณ ๑ กม.เมื่อหันหน้าไปทางซำทอง ถูกยิง วัดได้ว่ายิงมาจากทิศทางประมาณ ๔๐ องศา แต่ที่ CB หรือ "ไทเกอร์"จับทิศทาง (ด้วยเสียง) ไม่ได้
ตอนค่ำ บีซี ๖๑๐ ทีซำทอง ถูกยิงด้วยปืนใหญ่ ผู้นำอากาศยานหน้า - ผนอ. FAG - Foward Air Guide ซึ่งประจำที่หน่วย ส่งข่าวว่า ปืนใหญ่ยิงมาจาก "ทันเดอร์"เดิม ต่อมา ทสพ.ที่ CC ซึ่งอยู่ห่างไปทางซ้ายของ"ไทเกอร์" ประมาณ ๒ กม. (ถัด CE ออกไปอีกประมาณ ๑ กม.) ก็ส่งข่าวมาว่าถูกยิง คาดว่ายิงมาจาก"ทันเดอร์"เหมือนกัน จึงยิง"ทันเดอร์"ดูบ้าง ยิงแบบปูพรมให้ทั่วที่ตั้งยิง (ขออนุญาตใช้ศัพท์เทคนิคทหารปืนใหญ่ว่า ยิงเป็นห้วง ๓ มิล. ๕ มุมยิง ว่ากันง่ายๆ คือ จากจุดกึ่งกลางเป้าหมาย บวก / ลบ ๖ และ ๓ มิลเลียม รวมเป็น ๕ มุมยิง แล้วส่ายปืนไปขวา / ซ้ายอีก ข้างละ ๕ มุมยิง เหมือนกัน รวมทั้ง ๓ มุมทิศ เป็น ๑๕ มุมยิง ยิงครั้งละ ๒ กระบอก รวมแล้ว ๖๐ นัด) . . . เรียบโร้ยครับ . . . เงียบไปเลย
แต่ตอนที่รายงานผลไปที่"ซีโร่" ทาง"ซีโร่" และ "สิงหะ" ก็คงสงสัยกันอยู่
๑๘ มีนาคม ๒๕๑๕
เมื่อกำลัง ทสพ.ต้องถอนตัวออกจากสันเนินด้านเหนือ และด้านตะวันออกเฉียงเหนือของซำทอง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เหลือเพียงกลุ่มที่มั่นตั้งรับทางด้านใต้ของที่ราบซำทอง ซึ่งคุมเส้นทาง ซำทอง - ล่องแจ้ง อยู่
ประมาณ ๐๕๓๐ ศึกใช้อาวุธหนักระดมยิงที่มั่นตั้งรับฝ่ายเรา พร้อมทั้งส่งกำลังทหารราบเคลื่อนที่เข้าประชิด
ทางแนวสกายไลน์ บีซี ๖๑๖ ที่ CC ก็ถูกโจมตีตั้งแต่เช้าตรู่เช่นเดียวกัน FAG ของ บีเอ ๖๑๖ ที่ CC ก็ขอการโจมตีทางอากาศ และฟังเสียงจากการโต้ตอบกันทางวิทยุเหมือนว่าข้าศึกใช้ปืนใหญ่จาก"ทันเดอร์"ที่ซำทองยิงเข้ามา FAG รายงานตามสายงานของเขาไปที่ Bounder Control ว่าข้าศึกล้อม CC ไว้หมดแล้ว แต่ยังมี T-28 และเครื่องบินตรวจการณ์มาสนับสนุน
เครื่องบินตรวจการณ์รายงานผลการโจมตีทางอากาศ Bomb Damage Assessment ว่าได้ผล ๑๐๐ เปอร์เซนต์ และเห็นศพข้าศึก ๑
บ่ายโมงแล้ว สถานการณ์ บีซี ๖๑๖ ที่ CC และ CG ไม่ดีขึ้น "สิงหะ" ไม่สามารถจัดกองหนุน หรือดำเนินกลยุทธอย่างไรได้เลย แต่ละที่มั่นตั้งรับ ก็ไม่สามารถช่วยเหลือหรือสนับสนุนกันได้เลย ไม่ว่าวิธีใด ต้องยืนหยัดสู้รบด้วยความสามารถของตนเองตามลำพัง
บ่ายนี้ ไม่มีการสนับสนุนทางอากาศยุทธวิธี
ประมาณ ๑๔ นาฬิกา การปะทะที่ CC และ CG เริ่มลดน้อยลง แต่ข้าศึกไม่ได้ถอนตัวจากการรบ อาจจะเป็นเพียงการถอยไปกาะฝ่ายเราอยู่ในบังเกอร์ใกล้ๆ นั้นเอง
ที่ซำทอง เวลาประมาณ ๑๖๓๐ ฝ่ายเราตรวจการณ์เห็นรถถังข้าศึก และรถสายพานลำเลียงพล (รสพ.) ๓ - ๔ คัน ที่บริเวณสนามบินซำทอง วิ่งตรงเข้าหาที่มั่นตั้งรับของ บีซี ๖๑๐ ที่ DT ฝ่ายเราต่อสู้ด้วยอาวุธต่อสู้รถถัง เอ็ม ๗๒ และอาวุธทุกชนิด แม้แต่ลูกระเบิดขว้าง ปรากฏว่า รสพ.ข้าศึกเสียหายไฟไหม้ ๒ คัน อีก คันหนึ่งแล่นหนีไป
FAG ที่ CC ก็ส่งข่าวว่าเห็นรถถังที่ซำทองไฟไหม้
แต่รถถังไม่เสียหาย ยิงสลับการเคลื่อนที่เข้าหา ที่มั่น DT จนต้องถอนตัว และที่มั่นตั้งรับระดับกองร้อยทุกแห่ง ก็ปฏิบัติตามกองพัน คือ ถอนตัว และหน่วย ทสพ. ก็ขาดการติดต่อตั้งแต่เวลา ๑๘๑๐
"ไทเกอร์"เองก็ถูกยิงด้วยปืนใหญ่ตั้งแต่เช้าตรู่เหมือนกัน ทำให้ยิงไปที่"ทันเดอร์"ได้ไม่เต็มที่
ข้าศึกจึงเข้ายึดซำทองได้อย่างสิ้นเชิงใน คืน ๑๘ มีนาคม ๒๕๑๕
เมื่อ ข้าศึกเข้ายึดซำทองได้ ทำให้สกายไลน์เป็นแนวหน้าสุดที่เผชิญกับข้าศึก บีเอ ๖๓๖/๑๕๕ ในที่ตั้งยิง"ไทเกอร์" กับ บีซี ๖๐๔ เอ. (CB) เป็นสองหน่วยที่มีโอกาสได้ต้อนรับข้าศึกก่อน ซึ่ง"ไทเกอร์" ได้ยิงจนข้าศึกไม่สามารถรุกเข้ายึดแนวสกายไลน์ได้
ส ก า ย ไ ล น์

๑๙ มีนาคม ๒๕๑๕
พวกเราเตรียมตัวกันตั้งแต่ ๔ นาฬิกา เพราะเป็นวันสำคัญของข้าศึก และคาดว่าข้าศึกจะเข้าตี บีซี ๖๑๖ ที่ CC เริ่มถูกเข้าตีตั้งแต่ยังไม่สว่าง พอสายหน่อย ทหาร ทชล.๒ หน่วย ๒๒๔ ที่ CA แจ้งว่าข้าศึกเข้ามาทางตะวันออกจึงถอนตัว ปืนใหญ่จากที่ตั้งยิงทุกแห่งระดมยิงเป็นการใหญ่ ก่อนที่จะมีการสนับสนุนทางอากาศยุทธวิธี และข้าศึกก็ โจมตีด้วยปืนใหญ่ และอาวุธหนักพร้อมทั้งส่งกำลังหนุนเนื่องเข้าตีฝ่ายเรา ตลอดแนวสกายไลน์ ซึ่งฝ่ายเราก็ยิงตอบโต้อย่างเหนียวแน่น แต่เวลาประมาณ ๐๘๐๐ ฝ่ายเราที่ CA ก็ถอนตัวไปเสริมกำลังที่ CW
ต่อมาหน่วย ๒๒๔ ที่ CW แจ้งว่าข้าศึกเข้ามาทางใต้ ตรวจสอบในแผนที่แล้วปรากฏว่า ห่างจาก"ไทเกอร์" CB เพียงประมาณ ๙๐๐ เมตร จึงสั่งใช้เครื่องยิงลูกระเบิด และขอปืนใหญ่จาก"วีนัส" จากล่องแจ้งยิงให้
การสนับสนุนทางอากาศยุทธวิธี ในวันนี้ มีทั้ง T-28 และ Phantom ปฏิบัติการอย่างหนาแน่นมาก
ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงใน"สิงหะ" พูดวิทยุกับหน่วยที่ CW ว่า อาจจะเป็นการเข้าตีลวงของข้าศึกซึงมีกำลังไม่มากนัก
จึงทำให้เกิดข้อสงสัยต่อไปอีกว่า ข้าศึกจะเข้าตีจริง ที่ไหน? CC หรือ อาจจะถอนตัว?
ตอนบ่าย ได้ข่าวว่า บีซี ๖๑๘/๑ จับเชลยได้ ๑ และนับศพฝ่ายข้าศึกได้ ๔ ที่บริเวณ CW และที่ CC ก็ปะทะกันเกือบทั้งวัน มีการสนับสนุนทางอากาศยุทธวิธีอยู่ตลอด แต่ไม่นานนัก ก็ถอนตัวไปที่ CG เพื่อให้ Phantom เข้าโจมตีที CC ได้เต็มที่
ตอนหัวค่ำ บีซี ๖๑๘ ที่ CW ถูกโจมตีด้วยปืนใหญ่ ขึ้นไปบนสนาม ฮ. มองเห็นแสงไฟขณะที่ยิงได้ชัดเจน วัดทิศทางแล้วน่าจะยิงมากบริเวณ ถ้ำตำลึง อีกไม่นาน บีซี ๖๑๘ ก็ถอนตัว "ซีโร่" ให้ปืนใหญ่ทุกหน่วยระดมยิงไปที่ CW แต่ FAG ที่ CW ว่ายังมีบางส่วนไม่ได้ถอนตัว จึงตรวจสอบกันอยู่พักหนึ่ง ผบ.ฉก.วีพี.จึงสั่ง บีเอ ๖๑๘ ไม่ให้ถอนตัว แต่ไม่ได้ผล บีซี ๖๑๘ ถอนตัวลงไปไปสู่ล่องแจ้ง "สิงหะ"จึงสั่งกำลังส่วนนี้ไม่ให้เข้าไปสู่ล่องแจ้ง ด้วยเกรงว่าข้าศึกจะติดตามมาด้วย
ตอนหัวค่ำ คล้ายๆ B - 52 จะโจมตีซำทอง และได้ข่าวว่า รถถังข้าศึก ๒ คัน กำลังเคลื่อนที่มาทางสกายไลน์
ในคืนนี้เทือกเขาสกายไลน์ จึงเหลือแต่ CG CE CB CT เท่านั้น และ
"ไทเกอร์" ก็เป็นที่ตั้งยิงปืนใหญ่ที่อยู่ในแนวเดียวกับทหารราบ ในแนวหน้าสุด
๒๐ มีนาคม ๒๕๑๕
FAG ประจำ บีซี ๖๐๔ บอกว่า ข้าศึกขึ้นมายึด CC แล้ว ขอให้"ไทเกอร์"ยิง และแจ้งศูนย์ประสานการยิงสนับสนุนให้สั่งปืนใหญ่ทุกหน่วยยิงด้วย ก่อนที่เครื่องบินจะโจมตีทางอากาศ "ไทเกอร์"ยิงให้ก่อนเพราะอยู่ห่างเพียงประมาณ ๒ กม. กว่าที่ตั้งยิงอื่นจะยิงได้ ก็พอดีเครื่องบินเข้าโจมตีทางอากาศ และโจมตีตลอดช่วงสาย ปืนใหญ่ก็ย้ายไปยิงที่ CA
แต่ บีซี ๖๑๖/๑ จาก CG ก็เข้ายึด CC คืนได้ตั้งแต่ก่อนเที่ยงวัน
บีซี ๖๑๘ ได้รับคำสั่งให้เข้าตีและยึดที่มั่น CW แต่ขณะที่รวมพลอยู่ก็ถูกข้าศึกยิงด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด บาดเจ็บหลายคน เลยงดภารกิจเข้าตี
"สิงหะ" จัดบีซี ๖๐๖ และ ๖๐๘ เป็นกองพันผสม ให้เข้าตี และยึดที่มั่น CW เดินทางจากล่องแจ้งมาถึง"ไทเกอร์"จึงพักกินอาหารกลางวัน ผู้บังคับกองพันผสม ที่นำกำลังขึ้นมา ได้มาแวะ หารือข้อราชการ และดื่มกาแฟ เล่าว่า กำหนดเข้าตีเวลา ๑๕๐๐ และกำหนดการปฏิบัติเป็นสองแนวทาง คือ
หากข้าศึกต้านทานมากเข้าตีไม่ได้ ก็จะถอนตัวมาที่"ไทเกอร์" หรือ เนินข้างหน้าที่ บีซี ๖๐๕/๓ สร้าง ที่ตรวจการณ์ไว้ (ห่าง"ไทเกอร์" ทางตะวันออกประมาณ ๑ กม.) แล้วขอเครื่องโจมตี พรุ่งนี้ ค่อยเข้าตีใหม่ หรือ หากเข้าตีได้ก็เข้ายึดที่หมายไว้เลย
กำลังที่จะเข้าตี CW นี้ เป็นหน่วยเดียวกับที่ได้ช่วย บีซี ๖๑๖ เข้าตี CC เมื่อก่อนเที่ยงวันนี้ เมื่เข้าตีสำเร็จแล้ว บีซี ๖๑๖ ก็ยึดที่หมายไว้ กำลังกองพันผสม นี้ (บีซี ๖๐๖ และ ๖๐๘) ก็ปฏิบัติภารกิจใหม่ต่อไปอีก
บีซี ๖๐๕ จาก CT ก็ตีกระหนาบเข้ามาที่ CA CW ใช้ปืนใหญ่จากตั้งยิง วีนัส (ในล่องแจ้ง) ยิงสนับสนุน
ประมาณ ๒๐๓๐ กองพันผสมที่เข้าตี CW ถูกข้าศึกต้านทานอย่างหนักหน่วงต้องถอยลงมาที่ที่ตรวจการณ์ ของ บีซี ๖๐๕/๓ แต่ส่วนใหญ่มาถึง"ไทเกอร์" ขอแบ่งปันเสบียง และสิ่งอุปกรณ์ที่จำเป็นบางอย่างเพื่อเตรียมการเข้าตีอีกในวันพรุ่งนี้
"ไทเกอร์" นอกจากจะเป็นที่ตั้งยิงปืนใหญ่ตามภารกิจแล้ว ดูเหมือนจะเป็นที่พักพิง หรือ ที่ชุมนุม ของฝ่ายเรา นับแต่ หน่วยที่ถอนตัวมากซำทอง เมื่อประมาณ ๑๐ วันที่แล้ว หรือ ในวัน และคืนนี้ ได้ต้อนรับหน่วยที่จะเข้าตีในวันรุ่งขึ้น ก็ต้อนรับและสนับสนุนกันไปเท่าที่ทำได้ครับ
ที่ CC ก็มีข่าวว่า ข้าศึกกลับมายึดได้อีกแล้ว FAG ประจำ บีซี ๖๐๔ ว่า มันอยู่เต็มไปหมด
บีเอ ๖๓๖ ต้องจัดกำลังพลจาก กองร้อยกองบังคับการ และกองร้อย ค.๔.๒ เข้ารับผิดชอบที่ตั้งยิงวีนัส ต่อจาก บีเอ ๖๓๔ ในวันนี้
๒๑ มีนาคม ๒๕๑๕
กองพันผสม ๖๐๖/๖๐๘ ประสานว่าจะผ่านแนวออกตี เวลา ๑๐๓๐ เมื่อผ่านไปแล้วก็ไม่ได้ติดต่อมาอีก เพราะรับการสนับสนุนด้วยปืนใหญ่จากที่ตั้งยิงเฮอร์คิวลิส ส่วน "ไทเกอร์" ไม่สามารถยิงสนับสนุนให้ได้เพราะอยู่ใกล้เกินไป และต้องยิงข้ามฝ่ายเดียวกัน
เวลาประมาณ ๑๒ และ ๑๕ นาฬิกา "ไทเกอร์"ถูกปืนใหญ่ข้าศึก ครั้งละ ประมาณ ๑๕ นัด ตอนเย็น ได้ข่าวจากกองพันผสม ว่า กวาดล้างเลย CW ออกไปแล้ว กำลังจะเข้าตี CA ขอให้ปืนใหญ่ยิงไปที่ CA ก่อนที่จะเข้าไปยึดที่หมาย
ประมาณ ๑๔ นาฬิกา "ซีโร่" สั่งให้ถอดปืนใหญ่ ๑ กระบอก จะส่ง ฮ.มารับ แต่เมื่อเวลา ประมาณ ๑๕ นาฬิกา "ไทเกอร์"ถูกยิง ฮ.จึงไม่ได้ขึ้นมารับ
ตอนค่ำ ทราบข่าวว่า กองพันผสม ที่เข้าตี CW ได้แล้วนั้น ได้กลับไปล่องแจ้งแล้ว ต่อมาได้ข่าวว่า บีซี ๖๑๖ ที่ CC CG ก็ไม่อยู่เสียแล้ว ดังนั้น บนสกายไลน์ ขณะนี้ จึงเหลือแต่ บีซี ๖๐๔ ที่ CE และ บีเอ ๖๓๖/๑๕๕ "ไทเกอร์" ที่ CB เท่านั้น
กลางดึกคืนนี้ รู้สึกว่า B - 52 มาทำงานที่ CC และ CG
๒๒ มีนาคม ๒๕๑๕
สถานการณ์วันนี้ เงียบ . . . เงียบจนรู้สึกผิดปรกติ ได้ข่าวว่า "สิงหะ"ต้องนำกำลัง บีซี ๖๐๑ และ ๖๐๒ ซึ่งปฏิบัติการในพื้นที่ปากเซ (ภาคใต้ของราชอาณาจักรลาว) มาปฏิบัติการในพื้นที่ล่องแจ้ง อีก
ตอนเย็น เครื่องบินมาทิ้งกระสุนให้ แม่นมาก เกือบลง ศอย. ห่างเพียง ๒ เมตร ลงไปในห้องรับประทานอาหาร เล่นเอาหลังคาซึ่งปูด้วยแผ่นเหล็กที่ใช้ปูพื้นสนามบิน งอเป็นเกือกม้า เคราะห์ดีไม่มีคนอยู่ในนั้น
๒๓ มีนาคม ๒๕๑๕
บนเนินสกายไลน์ถูกปืนใหญ่ยิงกันตั้งแต่เช้าตรู่ แต่ตกที่ CE เสียมาก หรือไม่ก็ข้ามสกายไลน์ไป ตกใน"ไทเกอร์"ไม่เท่าไร ประมาณ ๐๗๓๐ ได้ยินเสียงเครื่องบินผ่านไปสักครู่ ก็ได้ยินเสียงซ่า ซ่า คล้ายๆ ฝนตก หรือเสียงเครื่องยนตร์ ผมสงสัยจึงจะออกไปดูนอก ศอย. พอโผล่ออกไปก็ได้ยินเสียงระเบิดดังรอบๆ ไปหมด จึงได้รู้ว่าถูกของเราเองเสียแล้ว
หลังเที่ยงวันเล็กน้อย Mine 2 B (เจ้าเก่า) ขึ้นมากับ FAG คนหนึ่ง คุยให้ฟังถึงผลการซักถามเชลยศึกที่จับได้เมื่อวันก่อน ได้ความว่า ฝ่ายข้าศึกมีแผนที่จะบังคับให้ฝ่ายเราถอยร่นไปติดน้ำงึม แล้วทำลายด้วยปืนใหญ่ซึ่งฝ่ายเราด้อยกว่า ไม่มีทางสู้ได้ และฝ่ายข้าศึกก็ไม่ต้องสูญเสียกำลังพลในการรบอีกด้วย
ประมาณ ๑๘๓๐ กำลังรับประทานอาหาร พวกพลประจำปืนวิ่งมาบอกว่าเห็นไฟวิ่งเข้ามาเป็นแถว สงสัยว่าจะเป็นรถถัง เอากล้องส่องสองตามาช่วยกันดู ระยะไกลมาก ประมาณ ๘ - ๑๐ กม. ไม่แน่ใจว่าเป็นรถ เพราะมีควันมาก ซึ่งอาจจะเป็นพลุสะดุด เกิดแตกระเบิดขึ้นก็เป็นได้ ทาง บีซี ๖๐๔ ว่าเห็นคนบนรถด้วย คาดว่าเป็นรถยนตร์บรรทุกทหาร และทุกคนมั่นใจเช่นนั้น ผมยังไม่ค่อยเชื่อเพราะระยะไกล และทัศนวิสัยขมุกขมัวใกล้ค่ำ ประกอบกับอุปาทาน อาจทำให้คิดเป็นอย่างนั้นไปได้
บีซี ๖๐๓ และ ๖๐๗ เคลื่อนขึ้นไปวางกำลังทางใต้ของ CC เตรียมที่จะเข้าตี และยึดที่หมายอีก
บีซี ๖๐๑ และ ๖๐๒ ที่มาจากปากเซ ก็เตรียมเข้ายึด CW และ CA เหมือนกัน และมีข่าวอีกว่า กำลัง ทสพ. จากปากเซ จะขึ้นมาปฏิบัติการในพื้นที่ ทชล.๒ ทั้งหมด ส่วนทางใต้นั้น ทชล.จะรับผิดชอบเอง
๒๔ มีนาคม ๒๕๑๕
ล่องแจ้งถูกยิงตั้งแต่เช้า แต่ไม่มากนัก ฝ่ายเราพยายามยึด CC ให้ได้ เครื่องบินตรวจการณ์ก็พยายามค้นหา"รถถัง" ที่ดูกันตั้งแต่เมื่อวาน แต่ก็ไม่ได้ข่าวเพิ่มเติม
บีซี ๖๐๒ ซึ่งจะเข้าตียึด CW เคลื่อนย้ายจาก รร.ลาวรวมเผ่า มาถึง"ไทเกอร์" เมื่อเวลา ๑๓๓๐ กำหนดเข้าตีในเวลา ๐๕๓๐ วันรุ่งขึ้น ก็ต้อนรับกันอีกคณะหนึ่ง หัวหน้าในกองพันนี้ ส่วนมากคุ้นเคยกันมาจากโรงเรียนฯ ดูท่าทางคึกคัก เข้มแข็ง มาก
๒๕ มีนาคม ๒๕๑๕
ปืนใหญ่ทุกที่ตั้งยิงยิงเตรียมกันตั้งแต่ ๐๕๐๐ ที่ CW CA CC CG "ไทเกอร์"ยิงเตรียมที่ CW และมีภารกิจ ช่วยโดยตรงบีซี ๖๐๒
บีซี ๖๐๒ เริ่มออกจากที่รวมพล"ไทเกอร์"ตั้งแต่ ๐๗๐๐ ผ่านไปประมาณ ๓๐ นาที ก็ถูกยิงด้วยปืนใหญ่ ปรากฏ ว่า ตาย ๑ บาดเจ็น ๒ - ๓ คน แต่ยังคงผ่านแนวออกตีออกไปตามภารกิจ บีซี ๖๐๒ เข้าตีโดยใช้ ๒ กองร้อยตามกัน อีก ๑ กองร้อย เป็นกองหนุน เมื่อใกล้ถึงที่หมายรักษารูปขบวนไม่ดี ส่วนนำเข้าไปเหลืออีกไม่กี่เมตร แต่กำลังส่วนใหญ่ตามมาไม่ทัน และถูกยิงด้วย เครื่องยิงลูกระเบิด และ จรวด B - 40 ส่วนที่นำไปจึงชงัก ข้าศึกขว้างระเบิดเข้าใส่ ฝ่ายเราต้านทานอยู่ได้ไม่นานนักก็ต้องถอยออกมา ผลจากการปะทะ ฝ่ายเรา ตาย ๑ บาดเจ็บ หลายนาย เมื่อถอนตัวมาถึงที่ตั้งกองหนุน ก็ขอโจมตีทางอากาศที่ CW ทันที
(สงสัยเหมือนกันว่า ทำไมกองหนุนจึงไม่เคลื่อนที่ตามส่วนเข้าตี แล้วมีกองหนุนไว้ทำไม ไม่ใช้กองหนุนดำเนินกลยุทธเลย) Phantom โจมตีอยู่นาน ไม่ทราบว่าโจมตีอาวุธยิงสนับสนุนที่อยู่ข้างหลังออกไปด้วยหรือไม่
ในวันนี้ หน่วยเข้าตีของเราทุกหน่วยไม่มีหน่วยใดบรรลุภารกิจเลย บีซี ๖๐๑ ถอยไปอยู่ที่ CT และยังไม่ทราบสถานกาณ์ทางด้าน บีซี ๖๐๓ และ ๖๑๗ และสถานการณ์ทั่วไปในตอนบ่าย ก็เงียบสงบ
แต่ที่น่าเสียดายมาก คือการที่ บีซี ๖๑๘ รีบสละที่มั่นตั้งรับ CW เมื่อ ๑๙ มีนาคม โดยไม่มีสาเหตุกันสมควร เพียงแต่ถูกยิงด้วยปืนใหญ่นั้น เพราะ บีซี ๖๐๔ ต้องเสียกำลังพลไปหลายนาย ที่เข้าตีเพื่อยึดไว้ หลังจากที่ทหารท้องถิ่นถอนตัวออกไป หาก บีซี ๖๑๘ ยังรักษา CW ซึ่งเป็นเนินสูงข่มทุกเนินในสกายไลน์ นี้ไว้ได้ ย่อมจะเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายเรา ในการป้องกันล่องแจ้ง เป็นอย่างยิ่ง
๒๖ มีนาคม ๒๕๑๕
ตอนบ่ายมีคำเตือนจาก "ซีโร่" และ "สิงหะ" ว่า เวลา ๑๘๐๐ ข้าศึกจะเข้าตี "ไทเกอร์" พวกเราก็เตรียมต้อนรับข้าศึกกันเป็นพิเศษ แต่ . . . เหตุการณ์ปรกติ
๒๗ มีนาคม ๒๕๑๕
บีเอ ๖๓๕ หรือ กองพันหารปืนใหญ่เสือพรานที่ ๑ จบภารกิจ กำหนดเดินทางกลับในวันนี้ ภูมิ่ง ให้ภูเวียง ลงไปประสานเรื่องการผลัดเปลี่ยนกำลังที่"ไทเกอร์" และ "สิงหะ" จึงถือโอกาสปรับเปลี่ยนกำลังบนสกายไลน์เสียเลย
บีซี ๖๒๐ มาเปลี่ยน บีซี ๖๐๔ ที่ CE
ส่วนที่ CG, CC, CW และ CA นั้น ผบ.ฉก.วีพี. (แสน) และทาง"ตึกขาว" (ทน) พิจารณาร่วมกันแล้วตกลงใจว่า ไม่ส่งกำลังเข้ายึด เพียงแต่ใช้การยิงรบกวน และหาโอกาสเข้ายึดเมื่อข้าศึกอ่อนแอ ระยะนี้ เพียงแต่ ป้องกันไม่ให้ข้าศึกเข้ามาเกาะ และรักษาที่มั่นเดิมไว้ให้ได้ เท่านั้น
๒๘ มีนาคม ๒๕๑๕
ประมาณ ๐๖๓๐ ได้ยินเสียงกระสุนปืนใหญ่ข้ามไปล่องแจ้ง ๒ - ๓ นัด ประมาณ ๑๑๓๐ "ไทเกอร์" ก็ถูกยิงบ้าง ประมาณ ๑๐ นัด ถูกบังเกอร์ว่างพังไป กำลังพล"ไทเกอร์"ปลอดภัย แต่ บีซี ๖๐๒ ถูกแรงอัด และสะเก็ดระเบิด บาดเจ็บเล็กน้อย ๒ - ๓ คน
"สิงหะ" แจ้งให้หน่วยที่เกี่ยวข้องทราบว่า รถถังของข้าศึก ๒ คัน กำลังมุ่งหน้ามายังสกายไลน์
ภูเวียง กลับมาหารือคณะหัวหน้าว่า ภูมิ่ง พิจารณาจะสับเปลี่ยนให้ พวกเรา บีเอ ๖๓๖/๑๕๕ ได้ลงจากสกายไลน์บ้าง เพราะอยู่ในสถานการณ์คับขันมาหลายครั้งหลายหนแล้ว โดยให้กำลังพลจากกองร้อยกองบังคับการขึ้นมาสับเปลี่ยน หากพวกเราต้องการ แต่การสับเปลี่ยนกำลังพลต้องสับเปลี่ยนด้วยการเดินเท้า
พวกเราถกแถลงกันอยู่นาน ภูแสน รองผู้บังคับกองร้อย โยนมาถามผมว่าคิดอย่างไร
ผมว่า ๑. ไม่ควรตั้งปืนใหญ่ไว้หน้าสุดเช่นนี้ ๒. ถ้าต้องมี ปืนใหญ่บนสกายไลน์ ควรใช้ บีเอ ๖๓๔ ซึ่งเป็นหน่วยที่สดชื่นกว่า ๓. ถ้าจะผลัดเปลี่ยนกำลังพลด้วยการเดินเท้า ขออยู่ที่"ไทเกอร์"ต่อไปจะสง่างามกว่า (ไม่มีข้าศึกไล่หลังเดินไม่เป็นครับ) ภูเวียง ชอบใจมาก เลย . . .
สรุปว่าพวกเราจะอยู่เป็น"เสือ"บนสกายไลน์ต่อไป และชี้แจงว่าได้เรียนให้ภูมิ่ง ตามที่ผมว่าในข้อ ๑. และ ข้อ ๒. เหมือนกัน ข้อ ๑. นั้น ทาง"สิงหะ" ตอบว่า"ทหารราบ" ขอร้อง ให้มีปืนใหญ่อยู่ใกล้ๆ อุ่นใจดี (แต่ข้าศึกมา ทหารราบไปก่อนทุกที) ครับ . . . เมื่อจะให้ถูกใจ บางครั้งก็ต้องยอมไม่ถูกต้อง นะครับ ส่วนข้อ ๒. นั้น ภูมิ่ง คงเกรงใจ ทวิชาติ ผู้บังคับกองพัน บีเอ ๖๓๔ ซึ่งทำหน้าที่ผู้บังคับทหารปืนใหญ่ทหารเสือพรานในพื้นที่ด้วย
ถึงกระนี้กระนั้นกระไรก็ตาม ส่วนที่รบก็รบกันไป ตอนบ่าย มีการโจมตีทางอากาศต่อ CW และเวลา ประมาณ ๑๕ นาฬิกา บีซี ๖๐๒ ก็จัดกำลัง เพียง ๑ หมวด เข้าไปลาดตระเวน แล้วก็ถอนตัวออกมาให้เครื่องโจมตีทางอากาศอีก โดยไม่มีการยึดที่หมาย "ไทเกอร์"ก็ยิงคุ้มครองให้สองข้างทาง ฝ่ายเราปลอดภัย
๒๙ มีนาคม ๒๕๑๕ ตรงกับ วันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕
๒๙ มีนาคม ๒๔๙๓ เป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลสยามินทราธิราช
ได้ยินเสียงปืนเล็กเหมือนมีการปะทะกันมาจาก บีซี ๖๐๔ ตรวจสอบไปได้ความว่า ข้าศึกเข้ามาตีโฉบฉวย เพียงเล็กน้อย เลิกปะทะแล้ว ฝ่ายเราก็ไม่ได้จัดกำลังออกติดตามไป
ประมาณ ๐๗๐๐ บีซี ๖๐๑ เข้าตี CA ส่วน บีซี ๖๐๒ ซึ่งจะเข้าตี CW นั้น ว่า"สิงหะ"ให้รอ T - 28 โจมตีทางอากาศจบเสียก่อน T - 28 มาโจมตี CW อยู่พักหนึ่ง เมฆปกคลุมที่หมาย นักบิน เบิ่งบ่เห็นที่หมาย เลยบินกลับไป
ประมาณ ๐๙๐๐ CE CB ก็ถูกยิง แรกๆ จังหวะการยิงห่างๆ คล้ายเป็นการยิงรบกวน และขัดขวาง แต่ก็รู้สึกว่าถูกยิงมากกว่าทุกวัน รอบเช้าหยุดไปเกือบๆ เที่ยง และฝ่ายเราไม่มีการยิงต่อต้าน เพราะปืนใหญ่ของเราที่ "แคนเดิ้ล" และ "วีนัส" ก็ถูกยิงด้วย
รอบบ่ายเขาเริ่มเมื่อก่อน ๔ โมงเย็นเล็กน้อย ทาง ทชล.ว่าเห็นปืนใหญ่ข้าศึก บอกพิกัดที่ตั้งมาให้เรียบร้อย ที่ตั้งยิงใดยิงถึง ก็ยิงกันไปละครับ แต่ไม่มีการตรวจการณ์ และรายงานผล
ประมาณ ๑๗๓๐ บีซี ๖๐๓ ซึ่งวางกำลังล้อมข้าศึก ที่ CC แจ้งว่ามีข้าศึกจาก CC เคลื่อนที่ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ปะทะกับฝ่ายเราบนถนน และมีข่าวว่า รถถังข้าศึกกำลังมาจากซำทองด้วย
เมื่อ ๑๙ มีนาคม ที่ผู้บังคับบัญชาแจ้ง ฝ่ายเรา ที่ CW ว่า ข้าศึกมีกำลังน้อย และเป็นการเข้าตีลวง นั้น และพวกเราก็สงสัยกันว่า ข้าศึกจะเข้าตีจริงที่ไหน หรือจะถอนตัวนั้น บัดนี้ ดูเหมือนจะชัดเจนแล้วว่าข้าศึกจะทำอะไร
ตอนหัวค่ำ บีซี ๖๐๔ ว่ามีการปะทะ ประมาณ ชั่วโมงกว่าๆ ก็สงบ "ไทเกอร์" ยิงไปที่ CC (ทางตะวันตก) และ CW CA (ทางตะวันออก) จนประมาณ ๓ ทุ่ม B - 52 ก็ทิ้งระเบิดทางด้านทิศเหนือ พวกเราเตรียมรับสถานการณ์อันเลวร้ายที่สุด
ตอนดึก บีซี ๖๐๔ แจ้งว่า เห็นรถถัง มาตามถนนจากซำทอง ๓ คัน ปืนใหญ่จากทุกที่ตั้งยิงระดมยิงกันใหญ่ เครื่อง Spector ก็มาทำงานให้ FAG ที่ประจำ บีซี ๖๐๔ ฟังวิทยุที่โต้ตอบกันว่าไม่ได้ผล
ทาง บีซี ๖๐๔ คาดว่า รถถังข้าศึกอาจจะแล่นออกนอกถนนและดับเครื่องยนตร์เสียก่อนก็ได้ และว่า หากเห็นหรือกำหนดที่ตั้งเป้าหมายได้แล้วจะขอยิงมาใหม่ . . . ได้เลยครับ
Incomming วันนี้ Uncountable
๓๐ มีนาคม ๒๕๑๕
๒ นาฬิกา กว่าๆ บีเอ ๖๐๔ เรียกมา บอกว่า รู้สึกว่ารถถังเขาจะเคลื่อนที่แล้ว เพราะเงียบสงัด และเดือนหงายฟ้าสว่างมาก ส่งคำขอยิงมา ผมบอกให้เขากะและยิงดักหน้าไว้ด้วย เราทำงานร่วมกันอย่างประณีตอยู่ร่วมชั่วโมง เขาก็ตรวจการณ์ยาก ถึงเดือนหงาย แต่ก็ระยะไกล และเป็นถนนในป่ามีเงาไม้ ฝ่าย ศอย. ก็ยิงยาก เพราะเป้าหมายเคลื่อนที่ขึ้นเนิน ในที่สุด ก็ได้ยินว่า โอ เค ครับ ผมว่าโดนคันหน้ามันแล้ว กระหน่ำเลยครับ ผมสั่งยิงไปอีก แต่จำไม่ได้ว่า กี่นัด แต่คงไม่มากนักเพราะเหลือกระสุนอีกไม่เท่าไหร่
ประมาณ ๐๓๓๐ เหตุการณ์สงบ ผมจึงได้เข้านอน
รุ่งเช้า T - 28 มาโจมตีรถถังต่อ "ไทเกอร์" ถูกยิงบ้าง ข้ามไปลง บริเวณ บ้านน้ำงัวบ้าง
วันนี้ไม่มีภารกิจยิงทั้งวัน เหตุการณ์สงบ เข้านอนแต่หัวค่ำ ข้าศึกอาจจะคิดว่าปืนใหญ่ที่"ไทเกอร์"ถูกทำลายแล้วก็เป็นได้ ตอนดึก ดูเหมือน B - 52 มาทำงานเพราะได้ยินเสียงแหวกอากาศดังอู้ๆ แต่ไม่ได้ออกมาดู
ผมมีภาพได้จาก "สิงหะ" เป็นภาพรถถังกำลังถูกไฟลุกไหม้บนถนนขึ้นสกายไลน์ไม่ทราบว่าเป็นคันที่ "ไทเกอร์" ได้ยิงไว้หรือไม่มาให้ดูด้วยครับ . . .

๓๑ มีนาคม ๒๕๑๕
ตอนสาย บีซ๊ ๖๐๓ และ ๖๑๗ เข้ายึด CC และ CG ตามลำดับ อย่างง่ายดาย
แต่ไม่ทราบว่า "สิงหะ" หรือ "ซีโร่" ประสานการยิงสนับสนุนอย่างไร เครื่องบินตรวจการณ์ Raven - 23 เข้าใจว่า บีซี ๖๑๗ ซึ่งกำลังเข้ายึด CG เป็นข้าศึก จึงเรียก T - 28 เข้าทำลาย บีซี ๖๑๗ ก็ไม่มี FAG อยู่ประจำ จึง . . . เรียบโร้ย . . . ไปหลายนาย
"ไทเกอร์" ยังคงเป็น "เสือ" ที่ไม่ยอมแสดงเขี้ยวเล็บอยู่
เมษายน ๒๕๑๕
ในที่สุด บีเอ ๖๓๖/๑๕๕ ก็ต้องผลัดเปลี่ยนกำลังด้วยการเดินเท้าไปล่องแจ้งโดยไม่มีข้าศึกไล่ติดตาม เพราะหน่วยเหนือบอกว่า กองร้อยนี้ มันเหนื่อย และเสี่ยงมานานแล้วให้ลงมาพักเสียบ้าง
๒ เมษายน ๒๕๑๕
พวกเราเริ่มเดินทางจาก"ไทเกอร์"ตั้งแต่ ๐๕๓๐ ประมาณ ๐๗๐๐ ก็ลงมาถึง"เชิงดอย" สวนทางกับรถยนตร์บรรทุกที่จะไปรับ จึงบอกให้ไปรับพวกที่อยู่ท้ายขบวนก่อน ผมกับภูน้อยเดินต่อไปเรื่อยๆ จนถึง"วีนัส"
เมื่อถึง"วีนัส" ก็ต้องเริ่มงานเหมือนเดิมอีก และยังมีภารกิจ มีงานใหม่ให้พวกเราได้ปฏิบัติกัน คือ เป็น ปืนใหญ่วิ่งรอก หน่วยเหนือ เช่น"ซีโร่"หรือ"สิงหะ" จะกำหนด และสร้างที่ตั้งยิงไว้ให้ วางกระสุน และ ส่วนบรรจุไว้พร้อม ประมาณ ๖ แห่ง เป็นที่ตั้งยิงเพิ่มเติม กองร้อยเราเตรียมทำเครื่องมืออำนวยการยิงไว้ให้พร้อม หน่วยเหนือจะสั่งการให้เข้าที่ตั้งยิงไหน จะสั่งการเป็นคราวๆ ไป และจะกำหนดเป้าหมายให้ ด้วย ลากปืนใหญ่ไปเข้าที่ตั้งยิงก็ยิงได้เลย เรียกว่าเป็น ปืนใหญ่ในมือผู้บังคับบัญชาโดยแท้ละครับ
ในตำรายุทธวิธีทหารปืนใหญ่ บอกวิธีการแบบนี้ไว้แล้ว แต่ไม่เคยนำมาปฏิบัติ เพราะฝ่ายเราติดการรบในสงครามเวียดนาม คือการสร้างที่ตั้งยิงให้สวยงาม มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ละทิ้งการพรางและการซ่อนเร้นอย่างสิ้นเชิง มาบัดนี้ ได้เผชิญกับทหารปืนใหญ่ที่ใช้ยุทธวิธีทหารปืนใหญ่ เราจึงต้องกลับมาใช้ยุทธวิธีทหารปืนใหญ่ ตามตำราบ้าง
จุดอ่อนอีกประการหนึ่งของฝ่ายเราในการใช้ปืนใหญ่คือ การค้นหาเป้าหมาย หากฝ่ายเรามีการค้นหาเป้าหมายที่มีประสิทธิภาพแล้ว การใช้ปืนใหญ่ของเราน่าจะเกิดประสิทธิผลกว่านี้
ช่วงนี้สถานการณ์ ไม่ค่อยรุนแรงเหมือนเดือนมีนาคม ฝ่ายเราใช้การโจมตีทางอากาศเป็นส่วนใหญ่ และเราก็ถูกยิงอยู่เสมอ
๘ เมษายน ๒๕๑๕
ทน รองผู้บัญชาการหน่วยผสม ๓๓๓ ได้นำนายทหารติดต่อของ ทชล.๒ มาพบ และบอกพิกัดเป้าหมายให้ อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือค่อนไปทางเหนือ ระยะเกือบสุดระยะยิงไกลสุดของปืนใหญ่ขนาด ๑๕๕ มม.ของเรา ว่าเป็นที่ตั้งปืนใหญ่ขนาด ๑๓๐ มม. จำนวน ๒ กระบอก และจะมีผู้ตรวจการณ์ทางอากาศของ ทชล.๒ ตรวจการณ์และปรับการยิงให้ ยิงอยู่นานครับ ทน และ นตต. ก็อยู่ใน ศอย.ด้วย ช่วยพูดติดต่อกับ ผตอ.บ้างเป็นครั้งคราว และบอกพวกเราใน ศอย.เป็นภาษาไทยอีกทอดหนึ่ง ในที่สุด ผู้ตรวจการณ์ทางอากาศก็ส่งข่าวแจ้งผลการยิงว่า สามารถทำลายปืนใหญ๋ขนาด ๑๓๐ มม.ของข้าศึกได้ผลดี และเกิดระเบิดซ้อนอยู่เป็นเวลานาน ทั้ง ทน และ นตต. นั้นชอบใจกันมาก ขอบอกขอบใจพวกเรายกใหญ่ สัมผัสมือกันตั้งแต่ภูเวียง ผม และเจ้าหน้าที่ทุกคนใน ศอย.
และ เราประเดิมภารกิจวิ่งรอก ใน ๑๔ เมษายน ๒๕๑๕ แต่ผลงานไม่เป็นที่ประทับใจ
๒๙ เมษายน ๒๕๑๕
พัน.๒๓๒ ของ ทชล.๒ เข้าตีและยึดที่มั่น CW CA ตั้งแต่เช้าตรู่ ในตอนบ่าย "สิงหะ" สั่งการให้ บีเอ ๖๐๑ และ ๖๐๒ จัดกำลัง หน่วยละ ๑ กองร้อย เข้าเสริมกำลัง พัน.๒๓๒ เพื่อรักษาที่มั่นทั้งสองไว้ให้ได้อย่างน้อย ๑ เดือน และในวันรุ่งขึ้น บีซี ๖๐๘ ก็ได้ เข้าผลัดเปลี่ยนและยึดรักษา CW CA ต่อไป
ฝ่ายเรายึดที่มั่นบนสกายไลน์ได้ทั้งหมด ในเดือน เมษายน ๒๕๑๕
พฤษภาคม - ตุลาคม ๒๕๑๕ มีคำสั่งให้ ภูแก้วและผมต้องกลับไปเรียนต่อ ที่กรุงเทพมหานครฯ แต่การรบในราชอาณาจักรลาวยังคงดำเนินต่อไป
การรุกเข้าสู่ซำทอง
พฤษภาคม ๒๕๑๕
ฉก.วีพี เข้าตีเพื่อยึดซำทองใน ๘ พฤษภาคม ๒๕๑๕ โดยรวมกำลังทหารเสือพราน ๖ กองพัน ดังนี้
กลยุทธ บีซี ๖๐๖ และ ๖๐๗ เข้าตีหลักทางด้านซ้าย จากสกายไลน์ ๑ บีซี ๖๐๔ และ ๖๐๕ เข้าตีสนับสนุนทางด้านขวา บีซี ๖๐๓ และ ๖๑๖ เป็นกองหนุน
การยิง ปืนใหญ่ยิงเตรียมก่อนเข้าตีเป็นเวลา ๓๐ นาที "ไทเกอร์" ช่วยโดยตรง บีซี ๖๐๖ "ซุปเปอร์แมน" ช่วยโดยตรง บีซี ๖๐๗ "แคนเดิล" ช่วยโดยตรง บีซี ๖๐๔ และ ๖๐๕ "วีนัส" ช่วยส่วนรวม - เพิ่มเติมกำลังยิง"ไทเกอร์" "เมอร์คิวรี่" ช่วยส่วนรวม - เพิ่มเติมกำลังยิง"แคนเดิล" และจะมีอากาศยานโจมตีเป็นครั้งคราว
การปฏิบัติ ฝนตกตั้งแต่เวลาประมาณ ๐๕๓๐ ทำให้สภาพอากาศ และทัศนวิสัยไม่ดี แต่ทุกหน่วยก็พยายามตามเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ระหว่างทางไม่มีการต้านทานจากข้าศึกเลย
บีซี ๖๐๔ เข้าถึง และยึดที่หมายได้เมื่อ เวลา ประมาณ ๑๕๕๐
บีซี ๖๐๕ เข้าถึงที่หมายเมื่อ เกือบเวลา ๑๘๐๐
บีซี ๖๐๗ เข้าถึงที่หมายในวันรุ่งขึ้น ๙ พฤษภาคม ๒๕๑๕ เวลา ประมาณ ๐๙๐๐
บีซี ๖๐๖ เข้าถึงที่หมายในวันรุ่งขึ้นเหมือนกัน เวลาประมาณ ๑๓๐๐
ส่วนกองหนุน ได้เคลื่อนที่เข้าถึงและยึดที่หมายต่างๆ อย่างปลอดภัย หน่วยสุดท้ายถึงที่หมายได้ใน ๑๒ พฤษภาคม
ในที่สุด วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๑๕ ทสพ. ก็สามารถเข้ายึดซำทองได้อย่างเด็ดขาด และฝ่ายเราก็ได้สถาปนาความมั่นคงเพื่อที่จะได้ใช้เป็นที่มั่นรุกสู่ ภูถ้ำแซ ภูล่องมาด บ้านหินตั้งต่อไป
* * * * * * * * * * * * * * *
ครับ . . . ตามที่ได้เรียนให้ทราบแล้วว่า ตั้งแต่ เดือน พฤษภาคม ถึง เดือน ตุลาคม ๒๕๑๕ ภูแก้วและผมต้องไป "เรียนต่อ" ที่กรุงเทพมหานครฯ เป็นที่โล่งอก โล่งใจของ พ่อ - แม่ ได้ระยะหนึ่ง การรุกเข้าสู่ซำทอง นี้ผมได้พบ บทเรียนจากการรบ การยุทธที่ซำทองฤดูแล้ง ๑๕ เมื่อผมกลับมาปฏิบัติภารกิจต่อในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว อีก จึงได้ศึกษา และนำมาสรุปลงไว้เพื่อให้มองภาพเหตุการณ์โดยรวมได้สมบูรณ์ขึ้น
. . . ครับ . . . ผมขอลาไปก่อน . . . อีก ๖ เดือน พบกันใหม่ . . . สวัสดี ครับ . . .
เหตุการณ์ต่อไป . . . ดอกป๊อปปี้ และแตรนอน
เหตุการณ์ต่อไป . . . ดอกป๊อปปี้ และแตรนอน
เหตุการณ์ต่อไป . . . ดอกป๊อปปี้ และแตรนอน