dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



1911 ใหญ่ผ่าใหญ่ การปฏิวัติซินไฮ่อันนำมาซึ่งการสิ้นสุดของระบอบศักดินา 3,000 ปีของจีน
วันที่ 19/05/2013   18:35:25


ชิวจิ่นถูกนำตัวไปประหาร

โดย "คนเล่าเรื่อง"

เรื่องเริ่มต้นในวันที่ชิวจิ่นสมาชิกสตรีของขบวนการถงเหมิงฮุ่ยถูกนำตัวไปประหารอย่างทระนงองอาจไม่แพ้ผู้ชาย ซึ่งนับเป็นสมาชิกขบวนปฏิวัติสตรีคนแรกที่ถูกประหารชีวิต (ขอใช้คำว่าขบวนการ เพราะพวกเขาไม่ได้เป็นพรรคการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมายในเวลานั้นครับ)

จากนั้นในวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1911 ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ดร.ซุนยัตเซ็น ผู้นำขบวนการถงเหมิงฮุ่ยได้เดินทางไปแสดงปาฐกถาปลุกเร้าชาวจีนโพ้นทะเลเพื่อขอเงินบริจาคสำหรับการปฏิวัติ

ในช่วง 5 เดือนก่อนที่เมืองปีนัง รัฐมาลายู (ในขณะนั้น) ดร.ซุนพร้อมด้วยบรรดาสมาชิกคนหนุ่มซึ่งประกอบด้วย หลินชีชวง หลินเจ๋อหมิง และหัวหน้าคนสำคัญ คือ หวงซิง ได้มาทำการซ่องสุมกำลังเพื่อก่อการลุกฮือขึ้นตามแผน ทั้งหมดตกลงว่า ดร.ซุนจะทำการรณรงค์เพื่อหาทุนรอนสนับสนุนจากต่างแดน ในขณะที่หวงซิงจะทำการลุกฮือขึ้นที่กว่างโจว (กวางเจา) ที่นั่น ได้มีสมาชิกหญิงชื่อสวีจงฮั่นเข้าร่วมและได้รับมอบหมายให้แกล้งทำตัวเป็นภรรยาของหวงซิง ซึ่งเขาต้องตอบรับด้วยความไม่สมัครใจ

ในวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1911 ตรงกับวันที่ 29 เดือน 3 ของปีซินไฮ่ กองกำลังติดอาวุธขบวนการถงเหมิงฮุ่ยนำโดยหวงซิงได้บุกเข้าไปยังจวนข้าหลวง เกิดการปะทะกันอย่างดุเดือด จางหมิงฉี ข้าหลวงมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) และกว่างซี (กวางสี) ต้องระเบิดกำแพงหนีตายพร้อมลูกเมีย ในขณะที่ ดร.ซุนกำลังรอแสดงปาฐกถาด้วยความร้อนรุ่มใจ


หวงซิงนำพรรคพวกก่อการที่กว่างโจว

กองกำลังของหวงซิงบุกตะลุยเข้าไปเรื่อย ๆ และสวีจงฮั่นได้อุตส่าห์ตามมาช่วยเหลือถึงในสนามรบ การปะทะดำเนินไปจนค่ำมืด กองทหารฝ่ายชิงเริ่มตั้งตัวได้และจัดแถวกองกำลังยิงต่อสู้ตีโต้อย่างรุนแรงจนกองกำลังปฏิวัติต้องเพลี่ยงพล้ำและล่าถอย ส่วนหวงซิงเกือบตายจากการยิงด้วยปืนใหญ่ และต้องตัดนิ้วมือข้างขวาไปสองนิ้วเพื่อรักษาชีวิตโดยการช่วยเหลือของสวีจงฮั่นจนเกิดความเห็นใจและความผูกพัน ในที่สุด การก่อการต้องล้มเหลวลง และบรรดาสมาชิกคนหนุ่มต้องพลีชีพไป คือ หลินชีชวง ฟางเฉิงตง หยูเพ่ยหลุน เฉินเกิงซิง หลินเจ๋อหมิงซึ่งภรรยากำลังจะคลอดลูก การสูญเสียครั้งนั้นถูกบันทึกภาพและเก็บร่างของผู้พลีชีพจำนวน 72 คนไปฝังไว้ที่หวงฮัวกัง โดยการเสี่ยงชีวิตของพานต้าเว่ยสมาชิกขบวนการถงเหมิงฮุ่ยคนหนึ่ง ภายหลังได้มีการค้นคว้าเพิ่มเติมว่ามีผู้พลีชีพไปถึง 86 คน

และแล้ว ดร.ซุนจึงได้เริ่มแสดงปาฐกถาต่อชาวจีนโพ้นทะเลในซานฟรานซิสโกรวมทั้งโฮเมอร์ ลีอา ชาวเมริกันที่ปรึกษาการรบ แต่ก็ได้ทราบว่าการก่อการล้มเหลวซึ่งเขาต้องปลุกเร้าชาวจีนให้ช่วยร่วมมือและสนับสนุนการปฏิวัติอีกครั้ง และได้รับเงินบริจาคเป็นจำนวนถึงสามแสนดอลลาร์

ที่ราชสำนักชิง สวีซื่อชาง เสนาบดีกรมวังได้กราบทูลต่อหลงยู่ไทเฮาผู้สำเร็จราชการแทนฮ่องเต้เด็กผู่หยี ภายใต้การถกเถียงของอ้ายซิงเจี๋ยวหลอยีหลาง เสนาบดีกรมวังอาวุโส เจ้าชายอ้ายซิงเจี๋ยวหลอไซ่เฟิง และขุนนางคนอื่น ๆ ถึงการเคลื่อนไหวในการโค่นล้มราชวงศ์ชิงของซุนยัตเซ็นในต่างแดน และความพยายามตามจับตัวเขาให้ได้ ตลอดจนการที่จะนำเอาเส้นทางรถไฟในเสฉวนกับกว่างตงไปจำนองกับธนาคารของสี่ชาติมหาอำนาจในยุโรปซึ่งก่อให้เกิดความไม่พอใจและการลุกฮือของกองกำลังท้องถิ่น ด้วยความไม่ปรีชาสามารถของหลงยู่ไทเฮาก็ไม่มีทางออกใด ๆ นอกจากการสั่งให้จัดการขั้นเด็ดขาด


หวงซิงได้รับบาดเจ็บต้องเสียนิ้วมือไป 2 นิ้ว


ดร.ซุนยัตเซ็นกล่าวปาฐกถาเพื่อระดมเงินบริจาคที่ซานฟรานซิสโก

ต่อมา เซอร์จอห์น นีเวล จอร์แดน เอกอัครราชทูตอังกฤษได้นำรถยนต์มามอบให้เจ้าชายอ้ายซิงเจี๋ยวหลอไซ่เฟิง และต่อรองเรื่องการจำนองเส้นทางรถไฟที่กำลังประสบปัญหากบฎจากกองกำลังท้องถิ่นซึ่งราชสำนักได้ส่งกองกำลังจากอู๋ชางไปราบปรามกบฎ

ดร.ซุนได้พูดคุยกับโฮเมอร์ ลีอาเรื่องการปฏิวัติและร่วมกันวางแผนยุทธศาสตร์ในการปฏิวัติ ซึ่งในขณะนี้ที่เสฉวนผู้คนได้ก่อการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องทางรถไฟจากรัฐบาลชิงทำให้ทางรัฐบาลชิงได้เคลื่อนทัพจากหูเป่ยไปยังเสฉวน แต่ข้าราชการจำนวนมากในกองทัพหูเป่ย หูหนาน และเจียงสูเป็นสมาชิกของขบวนการถงเหมิงฮุ่ย และกำลังจะเกิดการลุกฮือขึ้นทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี

แม้ว่าการลุกฮือที่กว่างโจวจะล้มเหลว แต่กระแสการปฏิวัติก็ยังดำเนินต่อไป การนำเอาเส้นทางรถไฟในเสฉวนกับกว่างตงไปจำนองกับต่างชาติได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจและการลุกฮือขึ้น ไม่กี่เดือนให้หลัง สมาชิกกองทัพใหม่หูเป่ยภายใต้การนำของถงเหมิงฮุ่ยได้เข้าร่วมในการก่อการครั้งใหม่นี้ด้วย เหลียงกุงข้าหลวงประจำมณมณฑลหูเป่ยและหูหนานได้ตรวจพบรายชื่อของบรรดาข้าราชการและประชาชนที่เข้าร่วมก่อขบวนการกบฎกงจินฮุ่ยแล้วสั่งการให้ปราบปรามอย่างเด็ดขาด แต่ในคืนวันที่ 10 ตุลาคมนั้นที่เรือนพัก กองร้อยที่ 8 ทหารกลุ่มนักปฏิวัตินำโดยเซียงปิงคุน และจินจ้าวหลง ได้ก่อการลุกฮือที่อู๋ชางอันนำมาซึ่งการต่อสู้อย่างดุเดือด และแล้วในคืนวันที่ 11 ตุลาคม กองทัพใหม่หูเป่ยก็ได้บุกทำลายจวนข้าหลวงได้สำเร็จ และข้าหลวงยุ่ยเฉิงได้หลบหนีไป


การก่อการของทหารที่เป็นสมาชิกถงเหมิงฮุ่ยที่อู๋ชาง

ในขณะเดียวกัน ซุนยัตเซ็นได้รับทราบข่าวความสำเร็จของการกบฏที่อู๋ชาง แล้วจึงสั่งให้โทรเลขบอกหวงซิงที่กบดานอยู่ฮ่องกงให้มานำการปฏิวัติ ส่วนตัวเขาจะเดินทางไปยุโรปเพื่อขัดขวางการนำเส้นทางรถไฟไปขายให้ต่างชาติของรัฐบาลชิงเพื่อนำเงินมาต่อสู้กับกองกำลังของขบวนการถงเหมิงฮุ่ยที่ฮ่องกง หวงซิงจึงออกเดินทางไปร่วมก่อการโดยทิ้งสวีจงฮั่นไว้ด้วยความอาลัย

หลงยู่ไทเฮาได้รับทราบเรื่องจากองค์ชายชิ่งถึงเงินกู้จากธนาคารสี่ชาติโดยแลกกับการให้ครอบครองทางรถไฟ ที่อู๋ชางในวันที่ 13 ตุลาคม หลี่หยวนหง แม่ทัพกองพลน้อยผสมประจำกองพลที่ 21 ถูกเหล่ากองกำลังปฏิวัติชักจูงแกมบีบบังคับให้เป็นผู้นำรัฐบาลทหารที่จัดตั้งขึ้นเองและเป็นผู้นำทัพโดยนำตัวเขาออกมาบัญชาการรบที่แนวหน้ากับเรือรบฝ่ายชิง ด้วยความสามารถของหลี่หยวนหง เขาบัญชาการยิงโต้ตอบจนเรือรบต้องล่าถอยไป แล้วจึงประกาศตนรับตำแหน่ง จากนั้น จึงได้มีการแจ้งข่าวออกไปทั่วประเทศ


หลี่หยวนหงถูกลากมาบัญชาการรบในอู๋ชาง

วันที่ 27 ตุลาคม ขุนศึกหยวนซื่อข่ายได้เดินทางมายังแนวหน้าเพื่อบัญชาการการรบของกองกำลังราชวงศ์ชิงทั้งหมด และได้แต่งตั้งเฝิงกว๋อจางนำกองพลที่ 1 และต้วนฉียุ่ยนำกองพลที่ 2 ของกองกำลังเป่ยหยางออกโจมตีฮั่นโข่ว ซึ่งกองกำลังปฏิวัติไม่สามารถต้านทานได้ และวันที่ 3 พฤศจิกายน หวงซิงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการในการคุ้มกันฮั่นโข่วและฮั่นหยาง ฝ่ายหยวนซื่อข่ายแม้จะได้ทีในการศึกที่ฮั่นโข่ว แต่ก็หยุดยั้งทัพไว้ไม่โจมตีต่อเพื่อเอาชนะให้เด็ดขาด เพราะไม่ต้องการให้ราชสำนักชิงมีชัยและได้อำนาจปกครองแผ่นดินต่อไป แต่ตั้งใจที่จะไปต่อรองกับราชสำนักชิงเพื่อขออำนาจควบคุมกองทัพและเสบียงมากขึ้น ซึ่งทางราชสำนักก็กำลังเข้าตาอับเพราะขาดเงินที่จะนำมาใช้ทำสงครามต่อนอกจากจะกู้เงินจากธนาคารสี่ชาติมาใช้ ในขณะเดียวกัน หยวนซื่อข่ายก็แอบติดต่อกับตัวแทนฝ่ายปฏิวัติคือ จ้าวหมิง เพื่อรับทราบท่าทีและต่อรองซึ่งเขาได้ชักจูงให้หยวนซื่อข่ายเห็นดีกับการจัดตั้งสาธารณรัฐ และการที่ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งหยวนซื่อข่ายก็มีท่าทีคล้อยตาม

ที่ลอนดอน ซุนยัตเซ็นได้ไปที่รัฐสภาและพยายามชักจูงให้สมาชิกรัฐสภา โดยพบกับ เอ็ดเวิร์ด ฮิลลิเออร์ เพื่อขอให้งดการช่วยเหลือด้านเงินกู้แก่รัฐบาลชิงโดยการช่วยเหลือของถังม่านโหยวบุตรีของถังเว่ยหยง เอกอัครราชทูตชิง ต่อมา ซุนยัตเซ็นได้ไปที่งานเลี้ยงชุมนุมของบรรดานายธนาคารชาติต่าง ๆ ในยุโรปซึ่งถังเว่ยหยงได้อยู่ที่นั่นด้วย แล้วจึงเริ่มชักจูงให้ทุก ๆ ชาติงดการให้เงินกู้แก่รัฐบาลชิง โดยชี้ให้เห็นถึงความตกต่ำของรัฐบาลชิงและระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และอนาคตที่รุ่งโรจน์ของรัฐบาลสาธารณรัฐที่จะเกิดขึ้น


หลงยู่ไทเฮาสั่งการให้นำทางรถไฟไปจำนองกับ 4 ชาติมหาอำนาจ


ดร. ซุนยัตเซ็นกล่าวชักจูงให้บรรดานายธนาคารของชาติมหาอำนาจงดให้เงินกู้แก่รัฐบาลชิง

ที่สนามรบ สวีจงฮั่นได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครพยาบาลเพื่อช่วยเหลือทหารที่บาดเจ็บ และการรบยังคงดำเนินต่อไปอย่างดุเดือดติดตามมาด้วยการสูญเสียอย่างมากมาย รวมทั้งเสี่ยวหูเป่ย ทหารของฝ่ายปฏิวัติได้พลีชีพด้วยการนำเอาระเบิดมือโยนเข้าใส่รังปืนกลของข้าศึก และแล้ว ในวันที่ 26 พฤศจิกายน ฮั่นหยางก็ถูกกองกำลังของหยวนซื่อข่ายยึดไปได้ และหวงซิงก็ได้รับบาดเจ็บอีกครั้ง ฝ่ายหยวนซื่อข่ายแม้มีชัยก็ยังไม่รุกคืบ หากแต่ได้เดินทางไปยังปักกิ่งเพื่อต่อรองกับราชสำนักชิงเพื่อเรียกร้องเงินมาใช้ทำสงครามต่อโดยบอกว่ากระสุนมีไม่พอ แต่ถ้าหากไม่ได้รับการสนับสนุน ก็ต้องหาทางปรองดองกับคณะปฏิวัติ โดยหลงยู่ไทเฮาและข้าราชบริพารได้แต่กล้ำกลืนความคับแค้นใจ เพราะทราบดีว่าธนาคารต่างชาติมีแนวโน้มที่จะไม่ให้เงินกู้

การต่อสู้คุ้มกันเมืองอู๋ชางนั้นกินเวลากว่า 40 วัน ในที่สุด กองทัพฝ่ายชิงได้ถูกตรึงไว้ สาธารณรัฐใหม่จึงอยู่รอดปลอดภัย โดยการร่วมแรงร่วมใจของสมาชิกขบวนการถงเหมิงฮุ่ยที่หูหนาน ส่านซี เจียงซี ซานซี หยุนหนาน (ยูนนาน) เจ้อเจียง กุ้ยโจว เจียงซู่ อานฮุย กวางสี ฟุเจี้ยน กว่างตง (กวางตุ้ง) และเสฉวน ซึ่งได้ประกาศอิสรภาพจิตวิญญาณการปฏิวัติแพร่ไปทั่วทั้งแผ่นดิน หยวนซื่อข่ายได้ต่อรองกับจอร์แดน เอกอัครราชทูตอังกฤษเพื่อหาหนทางในการไปเจรจากับขบวนการถงเหมิงฮุ่ย



สมรภูมิที่ดุเดือดของกองกำลังถงเหมิงฮุ่ยที่นำโดยหวงซิงในฮั่นโข่ว

วันที่ 27 พฤศจิกายน หลังจากศึกที่อู๋ชางอับจนหนทาง หลี่หยวนหงยังคงไม่ยอมนำกองกำลังหูเป่ยเข้ารวมกับกองกำลังของขบวนการถงเหมิงฮุ่ย ขบวนการถงเหมิงฮุ่ยจึงสั่งให้หวงซิงไปยังเซี่ยงไฮ้พร้อมกับสวี่จงฮั่น และชัยชนะครั้งนี้คือจุดสำคัญของความสำเร็จในการปฏิวัติ

ซุนยัตเซ็นเดินทางกลับจีนพร้อมได้รับโทรเลขจากถังม่านโหยวแจ้งว่าธนาคารสี่ชาติได้งดการให้เงินกู้แก่รัฐบาลชิงแล้ว แต่ทั้งเธอและพ่อต้องเสียสละชีวิตให้กับเหตุการณ์นี้ซึ่งเขาได้แต่เก็บความสะเทือนใจไว้แต่ผู้เดียว เขาได้พบกับหวงซิงบนเรือโดยสารและกลับถึงเซี่ยงไฮ้ด้วยการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่

ในที่ประชุมระหว่างขบวนการถงเหมิงฮุ่ยโดยถังเซ่าอี๋เป็นตัวแทนเจรจาของฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้โดยอู๋ติ่งฟางเป็นตัวแทนซึ่งสนับสนุนโดยหยวนซื่อข่าย โดยฝ่ายเหนือต้องการให้ราชวงศ์ชิงสละราชสมบัติ แต่ฝ่ายใต้ยังไม่เห็นด้วยโดยหยวนซื่อข่ายจะไม่ยอมเจรจาใด ๆ หากว่าจะยกเลิกระบอบจักรพรรดิ แต่ในที่สุดหยวนซื่อข่ายก็ยอมให้จัดตั้งสาธารณรัฐ การเจรจาจึงดำเนินต่อไป ที่โต๊ะอาหารของฝ่ายใต้ หยวนซื่อข่ายได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างเกี่ยวซุนยัตเซ็นมากขึ้นจากการสนทนากับอู๋ติ่งฟาง


ดร.ซุนยัตเซ็นเดินทางกลับมายังจีนโดยการต้อนรับของมหาชน

ในที่ประชุมและโต๊ะอาหารของคณะปฏิวัติถงเหมิงฮุ่ยได้มีการอภิปรายเรื่องการแต่งตั้งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐ โดยเสียงส่วนใหญ่ยังอยากให้ซุนยัตเซ็นขึ้นดำรงตำแหน่ง แต่ก็ได้รับการโต้แย้งจากซุนยัตเซ็นถึงปฏิกิริยาและความทะเยอทะยานของหยวนซื่อข่ายที่ต้องการรวบอำนาจถ้าหากว่าสามารถยกเลิกระบอบจักรพรรดิได้ในขณะที่กองทัพปฏิวัติขาดแคลนทั้งเงินและอาวุธที่จะรบต่อไปอีกแล้ว ในที่สุด ซุนยัตเซ็นก็ได้โน้มน้าวให้ที่ประชุมยอมรับการขึ้นดำรงตำแหน่งของหยวนซื่อข่ายเพื่อแลกกับการล้มระบอบจักรพรรดิและเตรียมการเลือกที่จะมีมาทีหลัง และได้เกิดการลอบยิงจากภายนอกเพื่อหมายชีวิตของซุนยัตเซ็น แต่เขาก็รอดมาได้จากการช่วยเหลือของหวงซิง โดยมือปืนก็คือคนธรรมดาที่จงรักภักดีต่อราชวงศ์ชิง

และแล้ว ในวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 1911 หลินเซิ่น ประธานสภาเฉพาะกาลที่หนานจิง (นานกิง) ตัวแทนท้องถิ่นก็ได้จัดการประชุมรัฐบาลเฉพาะกาลกับตัวแทนของหัวหน้าจากมณฑลต่าง ๆ 17 มณฑลเพื่อลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดีเฉพาะกาล โดยผู้ที่จะได้เป็นประธานาธิบดีต้องได้รับคะแนน 2 ใน 3 ในขณะที่ซุนยัตเซ็นต้องรอฟังผลจากข้างนอกพร้อมกับโฮเมอร์ แล้วเขาก็ได้เป็นประธานาธิบดีด้วยคะแนนเสียง 16 คะแนน


ที่ประชุมพรรคถงเหมิงฮุ่ยทำการคัดเลือกประธานาธิบดีเฉพาะกาล

ส่วนหยวนซื่อข่ายเมื่อได้ทราบข่าวจึงเกิดอาการโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงที่ต้องวืดจากตำแหน่งประธานาธิบดี พร้อมกับสั่งให้เฝิงกว๋อจางและต้วนฉียุ่ยให้โทรเลขคัดค้านสาธารณรัฐ ปลดถังเซ่าอี๋ออกจากการเป็นตัวแทนในการเจรจากับฝ่ายถงเหมิงฮุ่ย และให้ส่งโทรเลขไปแจ้งอู๋ติ่งฟางว่าเขาไม่ยอมรับรัฐบาลสาธารณรัฐเฉพาะกาลที่หนานจิง รวมทั้งประธานาธิบดีซุนยัตเซ็น

ซุนยัตเซ็นได้สาบานตัวเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราวของรัฐบาลเฉพาะกาลที่หนานจิง รวมทั้งยังคงเจนาที่จะโค่นล้มระบอบจักรพรรดิ และยินดีที่จะสละตำแหน่งให้แก่ผู้ที่สามารถโค่นล้มระบอบจักรพรรดิได้ซึ่งก็จะต้องเป็นหยวนซื่อข่าย หวงซิงได้พยายามคัดค้านแนวคิดนี้ต่อซุนยัตเซ็นเพราะรู้ดีถึงความบ้าอำนาจของหยวนซื่อข่าย หวงซิงได้พาสวีจงฮั่นมายังบ้านพัก แล้วทราบว่าเธอกำลังตั้งท้องบุตรคนแรกกับเขา

ซุนยัตเซ็นได้บอกกับหวงซิงว่าให้อู๋ติ่งฟางประกาศอย่างเป็นทางการ ว่าถ้าฮ่องเต้ไม่สละราชสมบัติ ก็จะไม่มีการหยุดยิง ใครก็ตามที่ต่อต้านจะต้องถูกลงโทษ ถ้าสงบศึกไม่ได้ก็จะต้องทำสงครามกันอีก ต้องมีกฎหมายเฉพาะกาล และสร้างระบบการปฏิวัติขึ้นมาโดยไม่ต้องคำนึงว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดี รวมทั้งยับยั้งใครก็ตามที่คิดจะเป็นฮ่องเต้อีก

ฝ่ายหยวนซื่อข่ายได้ทราบความแล้วจึงตัดสินใจเข้าเฝ้าหลงยู่ไทเฮา ฮ่องเต้ผู่หยี และขุนนาง แล้วเล่าเรื่องราวการปฏิวัติฝรั่งเศส การประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระประยูรญาติทั้งหมด หลงยู่ไทเฮาและข้าราชบริพารล้วนตระหนกตกใจไปตามกัน และด้วยความไม่พอใจของอ้ายซิงเจี๋ยวหลอยีหลาง แต่หยวนซื่อข่ายก็ได้สำทับถึงความเด็ดเดี่ยวของซุนยัตเซ็นในการโค่นล้มราชวงศ์ชิง หลงยู่ไทเฮาก็ได้ตัดสินใจขอร้องให้หยวนซื่อข่ายช่วยปกป้องพระนางและประยูรญาติให้พ้นจากการประหัตประหาร และไม่ให้ต้องตกยากถ้าหากว่าต้องพ่ายแพ้ เมื่อหยวนซื่อข่ายไปแล้ว พระนางก็ได้ออกคำสั่งปลดหยวนซื่อข่ายออกจากตำแหน่งมหาเสนาบดี แต่ก็ไม่เป็นผล

ฝ่ายซุนยัตเซ็นได้แสดงความไม่พอใจต่อการยังคงดันทุรังดำรงอยู่ต่อไป แล้วประกาศให้ก่อการกบฏขึ้นอีก ฝ่ายหยงลู่ไทเฮาได้ทราบแต่ข่าวร้ายอยู่เรื่อย ๆ คือ การก่อกบฏที่ซินเจียงและทิเบต ขุนศึก 43 นายพร้อมทั้งเฝิงกว๋อจางและต้วนฉียุ่ย ได้สนับสนุนสาธารณรัฐแล้ว ข้าราชบริพารทุก ๆ คนในที่ประชุมต่างรู้ดีว่านี่คือการบีบของหยวนซื่อข่ายให้ฮ่องเต้สละราชสมบัติ และแล้ว หลงยู่ไทเฮาได้ตระหนักดีถึงชะตากรรมของราชวงศ์ชิงว่าไม่มีสิ่งใดเหลือให้หวังได้อีกแล้ว นอกจากความเมตตาของซุนยัตเซ็นที่ไม่ต้องการการนองเลือดอีก พระนางจึงได้มีพระราชเสาวนีย์ให้ฮ่องเต้ผู่หยีสละราชสมบัติด้วยความขมขื่นพระทัยในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1912 ตรงกับวันที่ 25 เดือน 12 ของปีซินไฮ่


หลงยู่ไทเฮามีพระเสาวนีย์ให้สละราชสมบัติ


หยวนซื่อข่ายตัดเปียต่อหน้าสื่อมวลชน

ฝ่ายหยวนซื่อข่ายได้แสดงความยินดีต่อการสิ้นสุดของราชวงศ์ชิงและลิงโลดต่อตำแหน่งประธานาธิบดีที่กำลังจะมาถึง แล้วจึงทำการตัดเปียต่อหน้าสื่อมวลชน ฝ่ายซุนยัตเซ็นได้แถลงข่าวการสละตำแหน่งและการปฏิบัติต่อราชวงศ์ชิงด้วยการถวายเงินสี่ล้านชั่งให้กับราชสำนักเพื่อตอบแทนการยอมจำนน

หวงซิงได้ไปเยี่ยมและปลอบประโลมภรรยาของเจ๋อหมินที่เพิ่งคลอดลูกน้อย พร้อมทั้งมอบจดหมายของเขาให้ แต่เธอก็ได้ยกให้ซุนยัตเซ็นไปในที่สุด

ซุนยัตเซ็นได้ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1913 ตามสัญญาและยังย้ำถึงปณิธานที่แน่วแน่ของการปฏิวัติและหลักการของสาธารณรัฐต่อหน้าสมาชิกพรรคถงเหมิงฮุ่ยอย่างหนักแน่น


ดร. ซุนยัตเซ็นเข้ามาลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีเฉพาะกาลและย้ำถึงปณิธานที่แน่วแน่ของการปฏิวัติต่อหน้าสมาชิกพรรคถงเหมิงฮุ่ย

“การปฏิวัติซินไฮ่ในปี ค.ศ. 1911 ได้โค่นล้มราชวงศ์ชิงที่เสื่อมทราม เป็นการสิ้นสุดการปกครองในระบอบจักรพรรดิที่อายุนานกว่าสองพันปีและเปิดประตูให้กับความก้าวหน้า หากการปฏิวัติก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชะตาอันน่าเศร้าของชาวจีนที่ยังคงต้องเป็นทุกข์ภายใต้อำนาจจักรวรรดินิยมและแรงกดดันของศักดินา การปฏิวัติซินไฮ่เป็นตัวกระตุ้นให้คนจีนฝักใฝ่แสวงหาความก้าวหน้าตามแนวทางจิตวิญญาณของซุนยัตเซ็น ต่อมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้นำประชาชนสู่การฟื้นฟูประเทศจนถึงทุกวันนี้”

1911 ใหญ่ผ่าใหญ่ จัดเป็นภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ฟอร์มยักษ์ที่สร้างขึ้นในวาระพิเศษนั่นคือ ครอบรอบร้อยปีการปฏิวัติซินไฮ่ อันนำมาซึ่งจุดจบของระบอบจักรพรรดิของราชวงศ์ชิง และจุดสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งปกครองแผ่นดินจีนมากว่า 3,000 ปี อย่างไรก็ตามครับ ภาพยนตร์จบลงเพียงเท่านี้ แต่สงครามชิงแผ่นดินเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น โดยขอเล่าเรื่องต่อจากในภาพยนตร์อีกสักนิดนะครับ

หลังการล่มสลายของราชวงศ์ชิงและระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดร.ซุนยัตเซ็นได้ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีเฉพาะกาลและในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ หยวนซื่อข่ายจึงได้ประกาศตนขึ้นเป็นประธานาธิบดีแทนในวันที่ 10 มีนาคม แล้วมอบให้หลี่หยวนหงเป็นรองประธานาธิบดี ขบวนการถงเหมิงฮุ่ยจึงได้แปรสภาพเป็นพรรคการเมืองชื่อว่าพรรคกว๋อหมินต่าง หรือว่าก๊กมิงตั๋ง โดยซ่งเจี้ยวเหยินคนหัวขาวจากแดนใต้รักษาการตำแหน่งหัวหน้าพรรค ส่วน ดร.ซุนยัตเซ็นก็ผันตัวเองไปทำเหมืองเพชร เอ๊ย ไม่ใช่ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการอำนวยการสร้างทางรถไฟทั่วประเทศ ส่วนหยวนซื่อข่ายก็ใช้ให้หลี่หยวนหงกำจัดบรรดาปรปักษ์ที่ยังเหลืออยู่ให้สิ้นซากอย่างโหดเหี้ยมมากขึ้นทุก ๆ วัน แล้วหยวนซื่อข่ายจึงเกิดอาการริษยาในความเป็นขวัญใจประชาชนจากการทุ่มเททำงานหนักของซุนยัตเซ็นจนไม่ได้คิดที่จะหยวนตามชื่อต่อไป จึงได้กำจัดทีมงานของซุนยัตเซ็นไปเรื่อย ๆ จนถึงคิวของซ่งเจี้ยวเหยิน จากนั้น ในปีถัดมา (ค.ศ. 1913) จึงได้รวบอำนาจปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ จนขวนการถงเหมิงฮุ่ยได้แต่งตั้งหวงซิงซึ่งให้มีตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ต้องยกกำลังพลมาโค่นล้มหยวนซื่อข่ายอีกครั้ง แต่ก็ต้องปราชัยอีกรอบ เพราะทั้งจำนวนของกองกำลัง และอาวุธยุทโธปกรณ์เทียบกันไม่ติดจากการที่หยวนซื่อข่ายได้การสนับสนุนจากมหาอำนาจชาติตะวันตกจนซุนยัตเซ็นต้องหนีไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ญี่ปุ่น และแล้ว หยวนซื่อข่ายได้แต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรีหลายคนรวมทั้งถอนรากถอนโคนปรปักษ์ทางการเมืองไปด้วยอีกหลายคน จากนั้น จึงสั่งยุบพรรคกว๋อหมินต่างโดยไม่ต้องตั้งศาลรัฐธรรมนูญมาจัดการ แล้วจึงสั่งการให้ยุบสภาและยุบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วจึงคิดตั้งตนเป็นฮ่องเต้อีกครั้งโดยคำแนะนำของที่ปรึกษาชาวตะวันตกในปลายปี ค.ศ. 1915 ใช้ศักราชหงเซี่ยน แต่ก็ถูกต่อต้านจากกองกำลังหลายฝ่ายทั้งที่ทราบฝ่ายและไม่ทราบฝ่าย จนหยวนซื่อข่ายอยู่ในสภาพขาลงทั้งอำนาจ บารมี กองกำลังที่เอาใจออกห่างทุกทีไปจนถึงสุขภาพและชีวิต และแล้ว ฮ่องเต้หยวนซื่อข่ายจึงต้องลาโลกไปในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1916 จากโรคโลหิตเป็นพิษ จากนั้น บ้านเมืองก็เข้าสู่ยุคการช่วงชิงแผ่นดินและชิงอำนาจกันอย่างอุตลุดของบรรดาขุนศึกจากก๊กต่าง ๆ พรรคกว๋อหมินต่าง และพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมาร่วมสงครามในภายหลังไปอีกหลายสิบปี กว่าที่จะได้รวมชาติเป็นหนึ่งเดียว แต่หลายภูมิภาคดังในปัจจุบันครับ


หวงซิงและ ดร. ซุนยัตเซ็น เดินสนทนากันถึงความหมายของการปฏิวัติ

สำหรับตัวละครบางตัวที่มีบทบาทเป็นตัวประกอบ และเป็นตัวเดินเรื่องสำคัญ และหลาย ๆคนอาจจะไม่รู้จักเขาดีนัก ผมขอนำมาอธิบายรายละเอียด ดังนี้ครับ

 


ชิวจิ่นตัวละครในเรื่องและตัวจริง

วีรสตรีชิวจิ่น

ชิวจิ่น มีชีวิตอยู่ในช่วงปีค.ศ. 1875-1907 เป็นวีรสตรีในยุคประวัติศาสตร์ปัจจุบันที่ได้รับการกล่าวขานจากคนรุ่นหลัง จนถูกนำไปเขียนเป็นนวนิยาย และสร้างเป็นบทภาพยนตร์หลายครั้ง ชิวจิ่น เป็นคนเมืองเส้าซิน มนฑลเจ้อเจียง บิดาของชิวจิ่นเป็นผู้ว่ามณฑลฮกเกี้ยน เป็นครอบครัวที่มีความคิดค่อนข้างก้าวหน้า ชิวจิ่น จึงมีโอกาสศึกษาเล่าเรียนร่วมกับพี่ชาย ซึ่งแตกต่างจากผู้หญิงจีนในยุคนั้น นอกจากนั้นชิวจิ่นยังชอบฝึกวิทยายุทธ์ รำทวนขี่ม้ายิงธนู จนถูกขนานนามว่า ขุนศึกหญิงฮัวมู่หลาน ชิวจิ่นมีชื่อรองว่า จิ้งสง (ประชันหาญ ) ดูจากชื่อรองก็พอจะเดาได้ว่าเป็นสตรีที่เรียกร้องความเสมอภาคของสิทธิสตรี ชิวจิ่นแต่งงานกับหวังถิงจวินบัณฑิตหัวโบราณที่พยายามใช้เงินวิ่งเต้นเพื่อจะได้ตำแหน่งราชการในกรุงปักกิ่ง ในขณะที่ชิวจิ่นมักจะมีความเห็นต่อการปกครองของรัฐบาลแมนจูอยู่เสมอ และมีจิตใจฝักใฝ่ฝ่ายปฏิวัติ ชีวิตสมรสจึงไม่ค่อยราบรื่นนัก ไม่นานนักชิวจิ่น ก็แยกทางกับสามีและเดินทางเข้าร่วมการปฏิวัติในขบวนการถงเหมิงฮุ่ยของดร.ซุนยัดเซน ที่ประเทศญี่ปุ่นในสมัยกวางซู่ปีที่ 30

ต่อมา สมาคมได้ส่งตัวชิวจิ่น กลับมาดูแลสาขาของขบวนการที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ในปี ค.ศ. 1906 ที่เซี่ยงไฮ้นี้ ชิวจิ่น ได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สตรีสาร นอกจากเป็นกระบอกเสียงในการเรียกร้องสิทธิสตรีแล้วยังโจมตีการปกครองของรัฐบาลแมนจู ต่อมาได้ร่วมมือกับนักปฏิวัติสวีสีหลิน ก่อตั้งโรงเรียนบ่มเพาะนักปฏิวัติขึ้นที่เมืองเส้าซิน และประสานงานกับสมาคมสาขาจินฮว๋า หลานชี ก่อตั้งกองกำลังติดอาวุธ เตรียมการยึดอำนาจรัฐที่มนฑลอันฮุยและเจ๋อเจียง ในเดือน 7 ของปีต่อมา สวีสีหลิน ก่อการที่อันฮุย ล้มเหลว สวีสีหลิน พลีชีพในการรบ ทางการแมนจูสืบทราบถึงความสัมพันธ์ที่เจ๋อเจียง ขณะที่ชิวจิ่น เตรียมก่อการขึ้นอีกครั้ง แต่ทหารแมนจูได้นำกำลังมาปิดล้อมโรงเรียนบ่มเพาะนักปฏิวัติ ชิวจิ่นนำกำลังฝ่าวงล้อมไม่สำเร็จถูกทางการจับตัวได้ แต่ไม่ยอมจำนนจึงถูกประหารชีวิตในวันที่ 15 กรกฏาคม (ตรงกับวันที่ 5 เดือน 6 ของจีน) ขณะที่มีอายุเพียง 33 ปี ชิวจิ่น เป็นวีรสตรีที่ถูกชนรุ่นหลังกล่าวขวัญถึงมากที่สุดคนหนึ่ง ที่สำคัญคือเป็นบุคคลที่มีหลักฐานในประวัติศาสตร์ชัดเจน เรื่องราวของชิวจิ่นถูกนำมาเขียนเป็นบทความ บทกวี เป็นนวนิยาย และสร้างเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง (เคยถูกสร้างเป็นซีรี่ทางทีวี นำแสดงโดยหวังหมินฉวนในปี ค.ศ. 1984 ครับ)นอกจากนั้นยังมีผลงานที่เป็นบทกวีและข้อเขียนตกทอดมาถึงปัจจุบันอยู่ไม่น้อย ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อเขียนที่ปลุกเร้าจิตใจแห่งการปฏิวัติและการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี คนยุคหลังจึงยกย่องชิวจิ่น เป็นวีรสตรีปฏิวัติ และนักกวีปฏิวัติ และเนื่องจากวันตวนอู่ ยังเป็นวันกวีแห่งชาติ จึงถือเป็นวันระลึกถึงวีรสตรีชิวจิ่น ด้วยอีกเช่นกัน

http://my.dek-d.com/christmas111/blog/?blog_id=10123370

 


หวงซิงตัวละครในเรื่องและตัวจริง

หวงซิง นายพลแปดนิ้ว

หวงซิง เกิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 1874 เป็นผู้นำทางทหารในการปฏิวัติ และรัฐบุรุษ เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพที่ 1 ของสาธารณรัฐจีน ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคกว๋อหมินต่าง และสาธารณรัฐจีน ตำแหน่งของเขาถือว่าเป็นรองจากซุนยัตเซ็น พร้อมกันนี้ ทั้งสองคนยังเป็นที่รู้จักกันในนามซุนหวงในช่วงการปฏิวัติซินไฮ่ เขายังเป็นที่รู้จักในนามของนายพลแปดนิ้ว เนื่องจากได้รับบาดเจ็บจากสงคราม สุสานของเขาอยู่ที่ภูเขาเหยอลู่ ในเมืองฉางซา มณฑลหูหนาน

หวงเกิดในหมู่บ้านเกาถัง ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเมืองฉางซา มณฑลหูหนาน เช่นเดียวกับชาวจีนที่เกิดก่อนปี ค.ศ. 1949 หวงเป็นที่รู้จักกันในหลายชื่อที่แตกต่างกันในช่วงชีวิตของเขา ชื่อแรกเกิดของเขาคือ หวงเจิ้น แต่ต่อมา ได้เปลี่ยนเป็นหวงซิง เขายังเป็นที่รัจักในชื่อ หวงเค้อเฉียง (ชื่อนี้ได้ถูกเรียกกันในภาพยนตร์มากที่สุด) และชิงหวู่ ในช่วงก่อนปี ค.ศ. 1911 เขายังใช้ชื่อ หลี่หยูชิง และจางซู่เจิ้ง

หวงซิงเริ่มการศึกษาที่สถาบันการศึกษาที่มีชื่อในตอนใต้ของฉางซา ในปี ค.ศ. 1893 และได้จบการศึกษาตามแบบสมัยเก่าเมื่ออายุได้ 22 ปี ในปี ค.ศ. 1898 หวงได้รับการคัดเลือกให้ไปศึกษาเพิ่มเติมที่วิทยาลัยอู๋ชางเหลียงหู นับจากนั้น หวงได้จบการศึกษาในปี ค.ศ. 1901 ปี ค.ศ. 1902 หวงได้ถูกคัดเลือกโดยจางจื่อต้งให้ไปเรียนที่ต่อที่ประเทศญี่ปุ่น โดยสมัครเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโตเกียวหวงเหวิน

ขณะที่อยู่ในญี่ปุ่น หวงได้เกิดความประทับใจต่อการศึกษากิจการทหาร และได้ศึกษากิจการสงครามภายกับนักการทหารชาวญี่ปุ่นในช่วงเวลาว่าง ขณะที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น หวงได้ฝึกฝนทักษะการขี่ม้าและการยิงปืนทุก ๆ เช้า การฝึกฝนทางทหารของหวงในญี่ปุ่นได้ตระเตรียมตัวเขาสำหรับบทบาทของผู้นำการปฏิวัติจีนในเวลาต่อมา

ในปี ค.ศ. 1903 เนื่องจากการต่อต้านการเป็นเจ้าโลกของรัสเซียที่กำลังเติบโตขึ้นเหนือมองโกเลียนอก และแมนจูเรีย หวงได้จัดตั้งกองทัพอาสานักเรียนในญี่ปุ่นที่มีจำนวนมากกว่า 200 คน ต่อมาในปี ค.ศ. 1903 หวงได้กลับจีนและจัดการประชุมกับเฉินเถียนหัว ซ่งเจี้ยวเหยิน และคนอื่น ๆ มากกว่า 20 คน กลุ่มได้ก่อตั้ง พรรคหัวซิงฮุ่ย พรรคปฏิวัติลับซึ่งได้อุทิศตัวกับการโค่นล้มราชวงศ์ชิง หวงซิงได้รับการโหวตให้เป็นหัวหน้าพรรค

พรรคหัวซิงฮุ่ยได้ร่วมกับพรรคปฏิวัติอื่น ๆ และในปี ค.ศ. 1905 ได้กำหนดการลุกฮือโดยกองกำลังในฉางซา ระหว่างการเฉลิมพระชนมพรรษา 70 ปีของจักรพรรดินี (ซูสีไทเฮา) แผนการของพรรคหัวซิงฮุ่ยถูกค้นพบและสมาชิกของพรรค (รวมทั้งหวง) ได้ถูกดดันให้หลบหนีไปยังญี่ปุ่น ในญี่ปุ่น หวงได้พบกับซุนยัตเซ็นและช่วยเหลือซุนในการก่อตั้งขบวนการถงเหมิงฮุ่ย ขบวนการปฏิวัติขบวนการหนึ่งซึ่งได้อุทิศตัวให้กับการโค่นล้มราชวงศ์ชิง หวงได้ครองตำแหน่งเจ้าหน้าที่กิจการทั่วไปและกลายเป็นหัวหน้าที่มีความสำคัญที่สุดอันดับสองของถงเหมิงฮุ่ย รองจากซุนยัตเซ็น หลังจากการก่อตั้งพรรคถงเหมิงฮุ่ย หวงได้อุทิศเวลาและแรงกายของเขาแก่การปฏิวัติ

ในปี ค.ศ. 1907 หวงได้กลับมายังจีนอย่างลับ ๆ และเดินทางสู่เหอไน่เพื่อไปร่วมการปฏิวัติหลายครั้ง รวมทั้งการลุกฮือที่จิงโจว การลุกฮือที่ฟ่างเฉิง และเจินหนานกวน การปฏิวัติทั้งหมดนี้ที่หวงเป็นผู้ดำนินการต้องล้มเหลว ในฤดูใบไม้ผลิ ปีค.ศ. 1909 หวงได้ได้รับมอบหมายโดยซุนยัตเซ็นให้จัดตั้งสาขาทางใต้ของถงเหมิงฮุ่ยและจัดเตรียมกองกำลังสำหรับการลุกฮือทางทหารจากกว่างโจว ในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1909 หวงได้ก่อการลุกฮือขึ้นอีกครั้ง แต่การปฏิวัติก็ล้มเหลวอีก ในเดือนตุลาคม ปีค.ศ. 1909 หวงได้ร่วมประชุมกับซุนยัตเซ็นที่ปีนัง ที่ประชุมได้ตัดสินใจที่จะทุ่มงบประมาณและกำลังคนเพื่อการลุกฮือในขั้นต่อไปที่กว่างโจว

ในฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ. 1911 หวงได้จัดตั้งหน่วยสำหรับการลุกฮือที่กว่างโจวในฮ่องกงและกลายเป็นรัฐมนตรีของหน่วยนั้น ในวันที่ 27 เมษายน หวงได้ก่อการลุกฮือที่หวงฮัวกังในกว่างโจวและนำกำลังคนจำนวน 100 คนในการเข้ายึดสำนักข้าหลวงของกว่างตงและกวางสี หวงและพรรคพวกต้องพบกับความล้มเหลวในการเข้ายึดสำนักข้าหลวงผู้ไต่กำแพงหนีออกไป การลุกฮือที่หวงฮัวกังเป็นการปฏิวัติที่ล้มเหลวเป็นครั้งสุดท้ายก่อนการลุกฮือที่อู๋ชางซึ่งได้ประสบผลสำเร็จอย่างที่สุดในการโค่นล้มราชวงศ์ชิงในช่วงปลายปี ค.ศ. 1911

ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1912 รัฐบาลชั่วคราวที่หนานจิงได้รับการจัดตั้งขึ้น และหวงได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในบรรดาผู้นำ ในเดือนสิงหาคมปี ค.ศ. 1913 หวงได้กลายเป็นผู้ควบคุมพรรคกว๋อหมินต่าง ในเดือนมีนาคม 1913 ประธานาธิบดีเฉพาะกาลของสาธารณรัฐจีน หยวนซื่อข่ายได้ลอบสังหารประธานพรรคซ่งเจี้ยวเหยินซึ่งพรรคของเขาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งแรกและแสดงออกถึงการจำกัดอำนาจของหยวนซื่อข่ายในรัฐบาลใหม่

ในปี ค.ศ. 1913 หยวนซื่อข่ายได้ขับสมาชิกพรรคกว๋อหมินต่างออกจากรัฐบาลและย้ายรัฐบาลไปยังกรุงปักกิ่ง หวงได้อาศัยอยู่ในหนานจิงและพยายามจัดตั้งกองกำลังทางใต้ใหม่เพื่อต่อต้านหยวนซื่อข่าย เพราะการขาดแคลนเงิน กองทัพของหวงจึงได้ขัดขืนในเวลาต่อมาและหวงจำเป็นต้องละทิ้งหนานจิงแล้วถอยกลับไปยังเขตเช่าของต่างชาติที่เซี่ยงไฮ้ ซุนยัตเซ็นต้องหนีไปญี่ปุ่นอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 1913

ในเดือนกรกฎาคม 1914 ซุนได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธเพื่อปราบปรามหยวนและการปฏิวัติรอบที่ 2 ก็ล้มเหลว ในวันที่ 14 กรกฎาคม หวงได้ออกจากเซี่ยงไฮ้ไปยังหนานจิง ชักจูงให้ผู้ปกครองทหารของมณฑลเจียงซูประกาศเอกราชจากหยวน และเข้าเป็นผู้บัญชาการในการต่อสู้เพื่อปราบปรามกองกำลังของหยวนในเจียงซู หลังจากกบฏของหวงในเจียงซูล้มเหลว หวงก็ต้องหนีไปญี่ปุ่น

หวงได้ถูกเนรเทศไปยังสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1914 และหยวนซื่อข่ายได้ประกาศตัวเป็นจักรพรรดิในปี ค.ศ. 1915 ในขณะที่อยู่ต่างประเทศ หวงได้ระดมทุนเพื่อสนับสนุนกองทัพปกป้องชาติแห่งหยุนหนานเพื่อการต่อต้านหยวน ภายหลังการตายของหยวนในเดือนมิถุนายน 1916 หวงจึงได้กลับมา ในเดือนตุลาคม 1916 หวงได้เสียชีวิตในเซี่ยงไฮ้เมื่ออายุได้ 42 ปี ในวันที่ 15 เมษายน 1917 หวงได้รับการจัดงานศพระดับชาติ และถูกฝังไว้ในสุสานที่ภูเขาเหยอลู่ มณฑลฉางซา

 


สวีจงฮั่นตัวละครในเรื่องและตัวจริง

สวีจงฮั่น วีรสตรีแห่งเสียงซาน

สวีจงฮั่นเป็นที่รู้จักกันในชื่อเผยซวน เกิดในเซี่ยงไฮ้ ปี ค.ศ. 1876 เป็นบุตรของตระกูลสวีจากหมู่บ้านเป่ยหลิง บรรพบุรุษของเธอได้ย้ายเข้ามายังเซี่ยงไฮ้ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 และสร้างธุรกิจได้จนเจริญก้าวหน้า สวีย่งคุนได้รับรางวัลชนะเลิศในงานไหมโลก และลุงของเธอ “สวียุ่น” ได้ทำธุรกิจเรือกลไฟที่เซี่ยงไฮ้จนประสบความสำเร็จ

สามีของสวีจงฮั่นเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย ดังนั้น เธอจึงได้ติดต่อกับขบวนการปฏิวัติในฐานะคุณนายผู้ร่ำรวย ขณะที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เธอและพี่สาวของเธอ สวีเป่ยเหยาได้ร่วมกับสมาพันธ์ เธอได้ช่วยขนส่งอาวุธ ให้แก่บรรดากองกำลังใหม่และดำเนินการลุกฮือที่กว่างโจว หลังจากนั้น เธอได้แต่งงานกับหวงซิงและยังคงดำเนินการปฏิวัติต่อไป

ด้วยความกล้าหาญของกองกำลังปฏิวัติ รัฐบาลเฉพาะกาลของสาธารณรัฐจีนได้รับการจัดตั้งในเดือนมกราคม ค.ศ. 1912 ในหนานจิง หวงซิงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการกองทัพ และสวีจงฮั่นได้เริ่มถอนตัวออกไปอยู่เบื้องหลัง เธอคิดว่าเธอจะสามารถเลี้ยงดูเด็กที่บ้านและจัดกิจกรรมการเมืองสำหรับผู้หญิง เธอได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจการกิติมศักดิ์โดยเฝิงจี้หยู ผู้อำนวยการสำนักตรวจการเฉพาะกาล

เมื่อกองกำลังของเหยายู่ผิง กองทัพเคลื่อนที่เร็วภาคเหนือจากกว่างตงได้กลับมายังหนานจิงจากแนวหน้าที่ซูโจว พวกเขาได้นำเด็ก ๆ มากกว่า 200 คนกลับมาด้วย หวงซิงได้ขอให้ผู้หมวดของเขาให้หาที่พักอาศัยให้ สวีจงฮั่นได้จัดตั้งโรงเรียนของเด็กยากจนหนานจิงและในอยู่ระหว่างการรบพุ่ง ในปี ค.ศ. 1913 หยวนซื่อข่ายได้ฉีกรัฐธรรมนูญชั่วคราวทิ้ง ด้วยเหตุผลนี้ หวงซิงและทหารคนอื่น ๆ ได้เริ่มปฏิบัติการต่อต้านหยวนซื่อข่าย หลังจากที่หวงซิงได้ตายลง สวีจงฮั่นผู้โศกเศร้าได้ถอนตัวจากงานปฏิวัติและใช้กำลังของเธอไปกับการดูแลเด็กกำพร้า

สภาพของเด็กกำพร้าที่อพยพเข้าไปยังเซี่ยงไฮ้เนื่องจากสงครามได้กระตุ้นความมีจิตใจโอบอ้อมอารีของเธอ ด้วยความช่วยเหลือของจางจูจุน สวีจงฮั่นได้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กยากจน ระหว่างช่วงการเคลื่อนไหวครั้งที่ 4 ในเดือนพฤษภาคม เธอพร้อมด้วยหลี่เกา ครูใหญ่ของโรงเรียนสตรีเซี่ยงไฮ้ได้จัดตั้งสหพันธ์สตรีแห่งเซี่ยงไฮ้ ในปี ค.ศ. 1921 รวมทั้งสมาคมบรรเทาทุกข์จากภัยธรรมชาติของชาวรัสเซียในเซี่ยงไฮ้ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือคนรัสเซียอพยพ แต่เธอยังคงทำงานของโรงเรียนเป็นอันดับแรก และตัดสินใจที่จะทำงานในช่วงชีวิตที่เหลือของเธอ

ในช่วงหลายปีจากนั้น สวีจงฮั่นได้สืบทอดความปรารถนาถึงสันติภาพ ต่อสู้ และรับใช้แผ่นดินที่ยังไม่บรรลุของ ดร.ซุนยัตเซ็น สวีจงฮั่นได้เดินทางไปยังอเมริกา บราซิล คิวบา และเปรู เพื่อระดมเงินให้มากขึ้น ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1938 สวีจงฮั่นได้นำเด็ก ๆ ที่ยากจนมายังประเทศไทย และเยี่ยมเยียนชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เธอไม่ได้เพียงหาเงินเพื่อเด็ก แต่ยังได้ขอการสนับสนุนรัฐบาลสาธารณรัฐจากชาวจีนในประเทศไทยด้วย

ระหว่างสงครามต่อต้านญี่ปุ่น เธอเกิดความเลื่อมใสในความกล้าหาญของกองทัพที่ 8 และกองทัพที่ 4 ซึ่งนำโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ระหว่างการต่อต้านญี่ปุ่นที่ยังคงไม่คืบหน้า การทุจริตและความทารุณโหดร้ายต่อชาวจีนโดยรัฐบาลพรรคกว๋อหมินต่าง (นำโดยนายพลเจียงไคเช็กในขณะนั้น) เธอได้เกิดความไม่พอใจอย่างมาก แต่ไม่สามารถทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ ดังนั้น เธอจึงหันเหออกจากความเกลียดชังไปยังวิถีของการปล่อยวางและนั่งนับลูกประคำในช่วงชีวิตที่เหลือของเธอ (ไม่แน่ใจว่าเธอออกบวชเป็นชีไปแล้วหรือไม่ครับ)

 


หลงยู่ไทเฮาตัวละครในเรื่องและตัวจริง

หลงยู่ไทเฮา

เสี่ยวติ้งจิ่ง นอกจากนี้ ยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อ สี่จี้ หลงยู่ไทเฮาเป็นพระมเหสีของฮ่องเต้กวางซู่แห่งราชวงศ์ชิงผู้ปกครองจีนในช่วงปี ค.ศ. 1875 – 1908 เธอได้เป็นที่จดจำจากการประกาศการสละราชสมบัติในนามของฮ่องเต้เด็กผู่หยี จุดจบของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในจีน

เสี่ยวติ้งจิ่ง สายตระกูลเยเฮ่อนาลา เป็นบุตรสาวคนที่ 2 ของพลโทกุ้ยเสียงซึ่งภรรยาของเขามีเชื้อสายมองโกล เสี่ยวติ้งจิ่ง เยเฮ่อนาลาเกิดในปีที่ 7 ของศักราชฮ่องเต้ถงจื้อ และมีชีวิตอยู่ในระหว่างปี ค.ศ. 1868 – 22 กุมภาพันธ์ 1913 ในปี ค.ศ. 1889 เป็นที่ตัดสินว่าฮ่องเต้กวางซู่จำต้องอภิเษกสมรสก่อนที่จะได้ปกครองประเทศตามสิทธิ ท่ามกลางบรรดาหญิงสาว เสี่ยวติ้งจิ่ง ได้รับเลือกให้เป็นฮองเฮาเนื่องจากป้าของเธอ ซูสีไทเฮาต้องการที่จะกระชับอำนาจไว้ในหมู่วงศ์ญาติ เธอได้เสกสมรสกับฮ่องเต้กวางซู่ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของเธอ เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1889 และกลายเป็นฮองเฮาภายหลังพิธีอภิเษกสมรส

พิธีอภิเษกสมรสของฮ่องเต้กวางซู่และฮองเฮาหลงยู่ซึ่งเป็นไปอย่างหรูหราและฟุ่มเฟือยสุด ๆ ในโอกาสที่ประทับใจเป็นพิเศษได้จัดขึ้นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1889 อย่างไรก็ตาม ก่อนพิธีอภิเษกสมรส ในวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1889 พระราชวังต้องห้ามได้เกิดเพลิงไหม้ และประตูหลักได้ถูกเผาวอดวาย ตามประเพณีของราชวงศ์ชิงแล้ว กำหนดการพิธีอภิเษกสมรสต้องผ่านประตูนี้ซึ่งได้ถูกเผาไปหมดแล้ว ผลก็คือ ประชาชนจำนวนมากได้ร่ำลือถึงเหตุการณ์นี้ว่าเป็นลางไม่ดี

เนื่องจากการก่อสร้างประตูขึ้นใหม่ต้องใช้เวลานานและกำหนดพิธีของฮ่องเต้ไม่สามารถเลื่อนออกไปได้ ในการตัดสินใจอีกครั้ง ซูสีไทเฮาได้สั่งให้ตั้งกระโจมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับประตู ช่างฝีมือได้ใช้กระดาษและไม้ในการสร้างกระโจมและหลังจากเสร็จสิ้นแล้ว กระโจมมีส่วนสูงและกว้างเช่นเดียวกับประตูโดยการตกแต่งที่คล้ายคลึงกับของเดิมให้มากที่สุด ผลก็คือ แม้แต่ประชาชนผู้เดินผ่านเข้าไปในพระราชฐานชั้นในยังไม่สามารถบอกได้ถึงความแตกต่างระหว่างประตูและกระโจมชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม ภายหลังพิธีอภิเษกสมรส เสี่ยวติ้งจิ่งได้เป็นที่เกลียดชังและถูกเพิกเฉยจากฮ่องเต้กวางซู่ผู้ซึ่งเสน่หาต่อพระมเหสีเจิ้นเชื้อสายของสกุลทาทาร่า ช่วงแรก ซูสีไทเฮาโปรดปรานต่อมเหสีเจิ้นอย่างมาก แต่หลังจากที่ทราบว่ามเหสีเจิ้นใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยมากกว่าเงินที่ได้รับ ซูสีไทเฮาจึงสั่งลดชั้นเธอแล้วเกิดความเป็นปรปักษ์มากขึ้นในที่สุด แล้วจึงส่งเธอไปยังตำหนักเย็น สถานที่สำหรับกักขังบรรดามเหสี และนางสนมกำนัลของฮ่องเต้ที่ไม่เป็นที่โปรดปราน

เนื่องจากการอยู่ตรงข้ามกันกับการเปลี่ยนแปลง 100 วันของฮ่องเต้กวางซู่ในปี ค.ศ. 1898 ซูสีไทเฮาจึงได้สั่งกักฮ่องเต้กวางซู่ไว้ในเขตพระราชฐานของเหล่าอดีตฮ่องเต้ เสี่ยวติ้งจิ่งได้ลอบสอดแนมองค์ฮ่องเต้และรายงานทุกอริยาบถต่อซูสีไทเฮาเสมอ ในปี ค.ศ. 1900 ระหว่างกบฏนักมวย เสี่ยวติ้งจิ่งได้ลอบหนีไปกับซูสีไทเฮาและฮ่องเต้ไปยังซีอาน เมื่อกรุงปักกิ่งต้องตกอยู่ในกำมือของกองทัพต่างชาติ ในช่วงการหลบหนีของพวกเขา พระมเหสีเจิ้นได้ถูกถ่วงน้ำลงในบ่อภายในพระราชวังต้องห้าม

ทั้งฮ่องเต้กวางซู่และซูสีไทเฮาได้สิ้นพระชนม์ลงในวันเดียวกันในปี ค.ศ. 1908 ภายหลังจากที่เสี่ยวติ้งจิ่ง ได้รับการสถาปนาเป็นไทเฮาด้วยพระนามหลงยู่ไทเฮาซึ่งหมายถึง ความเป็นมงคล และความรุ่งเรือง

ภายหลังการสวรรคตโดยกะทันหันของฮ่องเต้วางซู่ ซูสีไทเฮาได้แต่งตั้งผู่หยี หลานชายของกวางซู่ให้เป็นฮ่องเต้องค์ใหม่ หลงยู่ไม่มีบุตรของตัวเธอเองและด้วยเหตุที่เป็นไทเฮาผู้ดูแลผู่หยี ซูสีไทเฮาจึงได้มีบัญชาก่อนสิ้นพระชนม์ให้ราชวงศ์ชิงไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเป็นสำเร็จราชการแผ่นดินอีกต่อไป แต่หลงยู่ก็ยังคงอยู่ในการนำและเป็นที่ปรึกษาสำหรับการตัดสินใจในงานราชการ เมื่อหลงยู่คิดเอาว่าในนามของไทเฮาที่เธอเป็นอยู่โดยทางทฤษฎีแล้วเป็นตำแหน่งที่สามารถตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความไร้ประสบการณ์ทางการเมืองของเธอในช่วงแรก 2-3 ปีแรก ราชสำนักได้ถูกยกให้กับผู้สำเร็จราชการไจ้เฟิง เจ้าชายจุน บิดาของฮ่องเต้องค์ใหม่และพี่เขยของหลงยู่ และแล้ว โดยการจัดการของหยวนซื่อข่าย หลงยู่จึงต้องพึ่งพาคนทั้งคู่

ในการให้คำแนะนำของหยวนซื่อข่ายในฤดูใบไม้ร่วง ปี ค.ศ. 1911 หลงยู่ไทเฮาเห็นด้วยกับการสละราชสมบัติของฮ่องเต้ซวนถ่งอายุ 6 ขวบ เธอยอมรับเพียงแต่ว่าถ้าครอบครัวของฮ่องเต้ได้รับอนุญาตให้ยังคงบรรดาศักดิ์อยู่ได้ ข้อเสนออื่น ๆ คือ

  • ครอบครัวของจักรพรรดิยังคงรักษาสถานะของตัวเองอยู่ได้
  • พวกเขาสามารถอาศัยอยู่ในพระราชวังต้องห้ามได้ชั่วคราว ในเวลานั้น แล้วจึงย้ายไปยังพระราชวังฤดูร้อน
  • พวกเขาจะได้รับค่าใช้จ่ายรายปี ๆ ละ 4 ล้านหยวน
  • สุสานจักรพรรดิจะต้องได้รับการปกปักรักษาและดูแล
  • รัฐบาลใหม่จะออกค่าใช้จ่ายให้กับพิธีศพและสุสานของฮ่องเต้กวางซู่

ในปี ค.ศ. 1912 ราชวงศ์ชิงได้ถูกล้มล้างอันนำไปสู่สาธารณรัฐใหม่ของจีน ภายใน 2-3 เดือนหลังการล่มสลายของราชวงศ์ชิง ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1913 หลงยู่ได้สิ้นพระชนม์ในปักกิ่งหลังจากล้มป่วย ด้วยอายุเพียง 44 ปีและเป็นไทเฮาองค์เดียวของจีนที่หีบศพของตัวเองถูกขนย้ายไปยังสุสานด้วยรถไฟ ในพิธีศพ รองประธานาธิบดีลี่หยวนหงได้กล่าวยกย่องหลงยู่ไทเฮาให้เป็นผู้หญิงที่ปราชญ์เปรื่องที่สุด

คุณค่าอันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ การบอกเล่าเหตุการณ์ปฏิวัติซินไฮ่อย่างละเอียดตามประวัติศาสตร์จริงมากที่สุด โดยอาจมีการดัดแปลงเรื่องราวบ้างเล็กน้อย และยังได้พยายามสะท้อนถึงอุดมการณ์นักปฏิวัติที่บริสุทธิ์ของมหาบุรุษซุนยัตเซ็นที่ได้อุทิศตัวเพื่อการสร้างชาติจีนใหม่ในระบอบการปกครองแบบใหม่อย่างแท้จริง และยังได้เทอดทูนบรรดาผู้ร่วมขบวนการปฏิวัติที่ร่วมก่อการจนประสบความสำเร็จ เช่น หวงซิง และคนอื่น ๆ ต้องสละชีพไปก่อนและระหว่างการปฏิวัติ เช่น วีรสตรีชิวจิ่น บรรดาคนหนุ่มทั้งหลายที่ได้ร่วมรบร่วมต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ปฏิวัติและไม่ได้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง เช่น กรณีการก่อการที่กว่างโจว หวงฮัวกัง อู๋ชาง หูเป่ย และอื่น ๆ ซึ่งพวกเขาเหล่านี้นับว่าเป็นวีรบุรุษนิรนามซึ่งได้ทอดร่างวางชีวิตให้กับประวัติศาสตร์การปฏิวัติซินไฮ่

สิ่งสำคัญจากประวัติศาสตร์ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้พยายามถ่ายทอดออกมา คือ นอกจากการต่อสู้ของขบวนการปฏิวัติถงเหมิงฮุ่ยที่ต้องอาศัยการเสียสละของคนหนุ่มที่กล้าหาญและเปี่ยมด้วยอุดมการณ์โดยหวงซิงแล้ว ในขณะเดียวกันก็ได้ถ่ายทอดการต่อสู้นอกสนามรบโดยหัวหน้าคณะปฏิวัติและเสธ.ในการวางแผน คือ ดร. ซุนยัดเซ็นที่ได้พยายามวิ่งรอกเพื่อการเจรจาไปทั่วโลกเพื่อหาการสนับสนุนด้านการเงิน และอื่น ๆ แก่กองกำลัง ซึ่งทั้งสองได้ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งจนงานใหญ่ประสบความสำเร็จ


หยวนซื่อข่ายตัวละครในเรื่องและตัวจริง


หลี่หยวนหงตัวละครในเรื่องและตัวจริง

แง่มุมหนึ่งทางประวัติศาสตร์ที่ภาพยนตร์ได้ถ่ายทอดออกมาก็คือ ความเจ้าเล่ห์แสนกลของบรรดาขุนศึกที่กุมกำลังทหารตัวจริงในยุคที่ศูนย์กลางอำนาจปกครองจีนคือ ราชวงศ์ชิงได้เสื่อมถอยลงจนถึงจุดต่ำสุด พวกเขาเหล่านี้ (หยวนซื่อข่าย หลี่หยวนหง ต้วนฉียุ่ย ) ได้ฉวยโอกาสยึดอำนาจและผลประโยชน์เข้าไว้เป็นของตัวทั้งด้วย กำลังอำนาจ เล่ห์เหลี่ยมที่แพรวพราว จากสถานการณ์การปฏิวัติ โดยเฉพาะหยวนซื่อข่ายที่เป็นจอมกั๊กทำทุกอย่างเพื่ออำนาจ อย่างไรก็ตาม คนสำคัญที่ทำให้ราชวงศ์ชิงถูกโค่นล้มลงได้ในการลุกฮือครั้งนี้ก็คือ จอมแสบหยวนซื่อข่ายซึ่งในความจริง ด้วยขนาด ความสามารถของกองกำลัง อาวุธ ถ้าหากว่าเขาจะเลือกจงรักภักดีต่อราชสำนักชิงด้วยการรุกไล่ และบดขยี้กองกำลังของถงเหมิงฮุ่ยอย่างเด็ดขาด ฝ่ายหลี่หยวนหง ก็คงต้องยอมสวามิภักดิ์ต่อเขา และราชวงศ์ชิงก็จะยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้ แต่หยวนซื่อข่ายได้เลือกที่จะทรยศและทำการบีบบังคับราชวงศ์ชิงที่เหลือเขาเป็นที่พึ่งสุดท้ายให้ต้องสละอำนาจ และต่อรองกับขบวนการถงเหมิงฮุ่ยเพื่อเอาตำแหน่งและอำนาจ ทั้งนี้ อาจจะพิจารณาได้ว่าพฤติกรรมของหยวนซื่อข่ายแม้จะดูว่าเลว แต่ก็ช่วยสร้างสาธารณรัฐใหม่ให้แก่ชาติจีนได้เหมือนกัน นอกจากนี้ ผมคิดว่าซุนยัตเซ็นก็รู้ดีว่าหยวนซื่อข่ายเองก็ยังเลื่อมใสต่อระบอบจักรพรรดิ เพียงแต่ยอมให้หยวนซื่อข่ายเป็นใหญ่ก็เพราะรู้ดีว่า เขามีอำนาจมาก และแม้จะคิดเป็นใหญ่แบบเดิมก็คงไม่สามารถรวมแผ่นดินได้เหมือนเดิม และคงต้องล่มสลายไปในที่สุด แล้วคงจะด้วยการถึงเวลาสิ้นสุดของระบอบจักรพรรดิจริง ๆ หยวนซื่อข่ายเลยต้องไปรายงานตัวกับยมบาลหลังสถาปนาตัวเองเป็นฮ่องเต้ได้ไม่นาน (อันที่จริง หลังการล่มสลายของราชวงศ์ชิง ได้มีบรรดาขุนศึกอีกหลายคนออกมาโลดแล่นในหน้าประวัติศาสตร์จีนจนกลายเป็นยุคขุนศึกอย่างแท้จริง เช่น นายพลจางเสวียเหลียง นายพลจางจั๋วหลิน นายพลเฉาคุน นายพลอู๋เห่ยฝู แล้วก็พวกย้อนยุคที่จะเอาระบอบจักรพรรดิกลับมา เช่น นายพลจางสวิ้น นายพลเปียนส้วยด้วยครับ)

แง่มุมที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกประการ คือ บทบาทของบรรดาชาติมหาอำนาจที่วางตัวเป็นพวกหลากสีที่ไม่ได้อยู่แถวสวนลุม แต่สามารถเลือกข้างที่จะถือหางฝ่ายใดก็ได้เสมอตามผลประโยชน์ที่จะได้ ตามกำลังและศักยภาพของฝ่ายใดก็ตามที่จะก้าวขึ้นมามีอำนาจ เพื่อให้ผลประโยชน์แก่ตัวเองได้ ดังเช่น กรณีการเช่าทางรถไฟในมณฑลเสฉวนจากราชสำนักชิงที่พวกนี้ใช้ความคิดและเวลาอย่างมากในการใคร่ครวญถึงความเหมาะสม ผลประโยชน์และชื่อเสียงที่จะได้ แล้วก็มายกเลิกด้วยคำชักจูงของซุนยัตเซ็น เพราะทราบดีถึงความเน่าในในการบริหารราชการแผ่นดินของระบอบจักรพรรดิ

แง่มุมทางประวัติศาสตร์ที่ภาพยนตร์เอามาขยายความอีกประการก็คือ ความมีอุดมการณ์ในการสร้างชาติของฝ่ายต่าง ๆ โดยต้องผ่านความความยากลำบากและการเสี่ยงชีวิตที่อาจต้องเอาชีวิตเข้าแลกได้ทุกเมื่อของบรรดาไพร่ทหารเลวในกองกำลังฝ่ายต่าง ๆ เพื่อช่วยสนับสนุนฝ่ายที่ตัวเองสังกัด แต่ก็เป็นไปเพื่อสนองกิเลสตัณหา ความทะเยอทะยานในอำนาจ วาสนา บารมี ผลประโยชน์ของบรรดาขุนศึกหรือราชสำนัก อย่างไรก็ตาม กองกำลังของฝ่ายถงเหมิงฮุ่ยนับได้ว่าเป็นเพียงฝ่ายเดียวที่ต่อสู้ด้วยอุดมการณ์อันเข้มแข็งอย่างแท้จริง และผู้นำของฝ่ายนี้ก็ได้ยึดมั่น ซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์นี้อย่างเข้มแข็งด้วยเช่นกัน จากกรณีที่ซุนยัตเซ็นไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่งผู้นำสาธารณรัฐใหม่แต่อย่างใด หากแต่ยินดีที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยระบอบสาธารณรัฐใหม่ที่จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง

อีกแง่มุมหนึ่ง ภาพยนตร์ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของวีรบุรุษในการปฏิวัติซินไฮ่ที่คนไทยและคนต่างชาติหลาย ๆ คนไม่ได้รับการพูดถึงในเรื่องราวและสารคดีทางประวัติศาสตร์ไหน ๆ คือ หวงซิง ที่จริง ๆ แล้ว เขานับเป็นบุคคลผู้มีอุดมการณ์ในการปฏิวัติอย่างแท้จริง เป็นแนวหน้ากล้าตายที่ช่วยสร้างประวัติศาสตร์สาธารณรัฐ และยังเป็นเพื่อนสนิทของซุนยัตเซ็นอีกด้วย มีบันทึกของนายหวง เหว่ยหมิน หลานชายคนโตของหวงซิง กล่าวในสัมมนารำลึก 100 ปีการลุกขึ้นสู้หวงฮัวกัง ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองกว่างโจวว่า การที่คุณปู่เปลี่ยนตัวเองจากปัญญาชนมาเป็นทหาร ไม่ใช่เพื่อสร้างชื่อเสียงหรือหาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง แต่หากเพื่อประเทศชาติและประชาชน เขากล่าวว่า "คุณปู่เกิดในครอบครัวร่ำรวย หากไม่เข้าร่วมการปฏิวัติ ก็สามารถมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย"นายหวงเหว่ยหมิน เล่าว่า ตั้งแต่เด็ก ๆ คุณพ่อก็เล่าให้ฟังว่า คุณปู่ได้ตั้งคติเตือนใจสำหรับครอบครัวไว้ คือ “ซื่อสัตย์” และ “ไม่เห็นแก่ตัว และคุณปู่เป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามคตินี้”

นายหวงเหว่ยหมินเล่าให้ฟังว่า ช่วงเริ่มต้นการปฏิวัติ ขาดเงินใช้จ่ายอย่างมาก หวงซิงขายบ้านขายที่ดินของตระกูลเพื่อนำเงินไปสนับสนุนคณะปฏิวัติ ครอบครัวจึงต้องย้ายไปอยู่บ้านในเมือง แต่ตอนหลัง บ้านหลังนี้ก็ถูกหวงซิงขายไปเพื่อบริจาคเงินให้คณะปฏิวัติอีก ในเหตุการณ์ลุกฮือขึ้นสู้ที่หวงฮัวกัง หวงซิงนำหน่วยกล้าตายบุกเข้าอาคารสำนักงานข้าหลวงใหญ่ แม้นิ้วมือถูกเศษลูกปืนตัดขาดไปสองนิ้ว ก็ยังสู้รบจนถึงที่สุด เขายอมสละทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งชื่อเสียง ฐานะและทรัพย์สินเงินทอง เพื่อการปฏิวัติ (ตรงนี้ ต่างจากขบวนการปฏิวัติในบางประเทศที่มีแต่ขอน้ำเลี้ยงจากแดนไกลเสมอ แล้วก็มักจะเป็นการสู้จนรวยไปซะอีก) แต่พอพิจารณาจากชีวประวัติของเขาแล้ว ต้องบอกว่า ชีวิตของเขาช่างมีแต่ความล้มเหลวตลอดเลยครับ แบบว่า ก่อการทีไร เป็นพังพาบทุกที (คล้าย ๆ กับทหาร จปร. 7 บางท่านที่ก่อการหลายครั้งแต่ก็เหลวทุกครั้งจนอุตส่าห์ไปเปลี่ยนชื่อให้ยาวขึ้น) อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า หวงซิงผู้นี้คงมีชื่อเสียงมากพอสมควรและคงได้รับการกล่าวถึงไม่น้อย ไม่อย่างนั้น เฉินหลงคงไม่เลือกสวมบทบาทนี้หรอกครับ

บทบาทของตัวละครฝ่ายหญิงในเรื่องคือ สวีจงฮั่นนั้น ทีแรก ผมคิดว่าน่าจะเป็นตัวละครที่ถูกเติมเข้ามาเพื่อสร้างความอ่อนโยนให้กับหวงซิง แต่เธอมีตัวตนอยู่จริงและมีบทบาทในหนังที่เป็นไปตามชีวิตจริงแทบทุกประการ อย่างไรก็ตาม บทบาทเล็ก ๆ ในประวัติศาสตร์ซินไฮ่ของเธอก็ได้แสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมต่อสู้ของสตรีที่เข้มแข็งในงานปฏิวัติ

งานโปรดักชั่นของหนังเรื่องนี้ก็ไม่ต่างจากหนังฟอร์มยักษ์ทั่ว ๆ ไปที่ถ่ายทอดออกมาได้อย่างสมจริง โดยเฉพาะฉากสมรภูมิในสนามเพลาะนี่นับว่าสะท้อนถึงยุทธวิธีการรบแบบสงครามสนามเพลาะที่จะเกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในเวลาต่อมา ฉากบ้านเมืองทั้งในประเทศจีน และประเทศต่าง ๆ ก็นับว่ากลมกลืนกับยุคสมัยที่เกิดเหตุการณ์นี้เป็นอย่างดี รวมทั้งบทบาทของบรรดาตัวประกอบทั้งที่เป็นชาวจีนและชาวต่างชาติก็ช่วยเสริมความกลมกลืนให้กับบทหนังได้เป็นอย่างดี


ดร.ซุนยัตเซ็นตัวละครในเรื่องและตัวจริง

สิ่งที่น่าทึ่งของงานกำกับศิลป์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ การแต่งหน้าและชุดของตัวละครที่ทำให้ดาราหลายคนดูใกล้เคียงกับตัวจริงของบุคคลที่เขาสวมบทบาท คือ เจ้า เหวินเซวียนที่ได้รับการตกแต่งเป็น ดร.ซุนยัตเซ็น ซุนชุนที่แต่งหน้าและแต่งตัวได้คล้ายกับหยวนซื่อข่ายเป็นอย่างยิ่ง เจียงหวูซึ่งได้รับการแปลงบุคลิกให้เป็นหลี่หยวนหงได้อย่างน่าทึ่ง ส่วนตัวละครอื่น ๆ นับว่าไม่ใกล้เคียงเท่าไหร่ โดยเฉพาะเฉินหลงที่หน้าตาและรูปร่างไม่เหมือนหวงซิง รวมทั้งวัยของตัวละครในเรื่องด้วย (ก็คุณลุงเฉินหลงอายุร่วมจะ 60 แล้วในตอนนี้ ส่วนหวงซิงในตอนก่อการเพิ่งอายุได้ 37 ปีเท่านั้นครับ)

การเดินเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ได้อย่างแท้จริง เพราะเหตุการณ์และตัวละครส่วนใหญ่เกิดขึ้นจริงและมีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ แต่ก็ต้องขอชมผู้เขียนบทและผู้ลำดับบทภาพยนตร์ที่ช่วยให้การเดินเรื่องที่เป็นไปตามประวัติศาสตร์มีความเข้มข้น และมีสีสันชวนติดตามได้อย่างสนุกสนานและเกิดความรำลึกถึงคุณค่าของประวัติศาสตร์การปฏิวัติซินไฮ่ได้อย่างแจ่มชัดโดยไม่มีการสะดุดหยุดความรู้สึก หรือการโดดของบทหนังแต่อย่างใด สำหรับการจบเรื่องไว้ที่การสิ้นสุดลงของระบอบจักรพรรดิก็นับว่าเป็นไปตามโครงเรื่องที่วางเอาไว้ สามารถทิ้งท้ายเอาไว้สร้างเป็นภาค 2 ต่อก็ได้ครับ แต่คงไม่เหมาะแน่ ๆ

ตอนที่ดูหนังเรื่องนี้นั้น ผมเข้าใจว่าจะได้ดูบทดราม่าของเฉินหลงล้วน ๆ โดยไม่ต้องไปคิดถึงฉากการต่อสู้สไตล์เฉินหลงแต่อย่างใด แต่แล้ว ในบทหนังก็ยังให้เฉินหลงได้แสดงบทต่อสู้แบบสั้น ๆ จนได้ครับ เรียกได้ว่า ต้องมีฉากแบบนี้เป็นเครื่องหมายการค้าประจำตัวยี่ห้อเฉินหลงอยู่แล้ว

หมายเหตุ ชื่อบุคคลที่ปรากฏในบทความนี้ใช้การออกเสียงตามสำเนียงจีนกลางที่เป็นมาตรฐานและสะกดจากตัว พินอิน (Pin Yin) ซึ่งไม่ได้ออกเสียงแบบภาษาอังกฤษ นอกจากบุคคลที่คนไทยรู้จักในชื่อนั้นมานานแล้ว คือ ดร. ซุนยัตเซ็น (ซุนจงซาน) ซูสีไทเฮา (ซือฉีไท่โฮ่ว) ครับ

กำกับ เฉินหลง, จาง ลี่

ผลิต เฉินหลง, หวางซีปิง, หว่างติงหยุน, บี ซูหลิน

ตัดต่อ หยางหงหยู

เผยแพร่ สหมงคลฟิล์ม

ความยาว 125 นาที

งบประมาณ 30 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

ผู้แสดง

  • เฉินหลง รับบท หวงซิง
  • หลี่ ปิงปิง รับบท สวี จงฮั่น
  • เจ้าเหวินเซวียน รับบท ดร.ซุน ยัดเซ็น
  • เจียงหวู รับบท หลี่หยวนหง
  • หยูเส้าชุน รับบท วางจิงเว่ย
  • เจย์ซี ชาน รับบท จาง เซ็นหวู
  • หูเกอ รับบท หลินจูหมิง
  • หนิงจิง รับบท ชิวจิ่น
  • เฉินชง รับบท สมเด็จพระพันปีหลวงหลงยู่
  • ซุนชุน รับบท หยวนซื่อข่าย

คำพูดจากภาพยนตร์

  • “ฉันยอมตายเพื่อการปฏิวัติยังไม่เคยมีสตรีจีนคนใดหลั่งโลหิตเพื่อการปฏิวัติมาก่อน ฉัน ชิวจิ่นจะเป็นคนแรก แม้โลกจะยังไม่รูจักการปฏิวัติก็ตาม ฉันยอมทิ้งสามีและลูกไว้เบื้องหลังความตายของฉัน ฉันขออุทิศมันแก่การปฏิวัติ การปฏิวัติจะสร้างบ้านที่ไม่มีวันพังแก่ประชาชนทั้งปวง สร้างโลกที่สงบสันติแก่เด็ก ๆ ทั้งหลาย ประชาชนเป็นทาสมานานจนขยับตัวไม่ได้ พวกเขาไม่เคยพบความสันติหรือสงบ”
    ชิวจิ่นรำพึงรำพันกับตัวเองระหว่างเดินเข้าสู่หลักประหาร
     
  • “การปฏิวัติของเรานั้น กระทำเพื่อให้ปวงชนข้างหน้าได้มีความสุข เพื่อให้ชนชาติของเรากลับมามีศักดิ์ศรีอีกครั้ง”
    หนึ่งในถ้อยคำปลุกเร้าเพื่อขอการบริจาคสนับสนุนการปฏิวัติจากชาวจีนของซุนยัตเซ็นในซานฟรานซิสโก
     
  • “ ก็ปืนของเจ้ามันมีไว้ทำอะไรเล่า บอกพวกมันไปซะสิ ถ้าพวกมันกล้าลุกฮือ พวกมันทุกคนจะต้องตายอย่างทรมาน”
    หลงยู่ไทเฮาสั่งการให้ขุนทหารชิงปราบปรามการก่อกบฎ
     
  • “ในอีก 50 ปี รถที่ท่านให้ข้ามา คงกลายเป็นแค่เศษเหล็ก แต่ของขวัญเล็กน้อยที่ข้าให้ท่านจะกลายเป็นสิ่งประเมินค่ามิได้”
    เจ้าชายอ้ายซิงเจี๋ยวหลอไซ่เฟิงบอกกับเอกอัครราชทูตอังกฤษ
     
  • “ท่านจะเลือกลงทุนกับรัฐบาลที่กำลังจะตาย หรือรัฐบาลที่เพิ่งกำเนิดเกิดขึ้นมาล่ะ”
    ซุนยัตเซ็นกล่าวชักจูงให้บรรดานายธนาคารต่างชาติยกเลิกการให้เงินกู้แก่รัฐบาลชิง
     
  • “สาธารณรัฐจีนก่อกำเนิดขึ้นแล้ว แต่ราชสำนักศักดินายังคงอยู่ ตราบใดที่เราไม่ถอนรากถอนโคนศักดินา การปฏิวัติของเราก็ยังไม่สมบรูณ์ ผมจะรอวันนั้น วันที่ผมสละตำแหน่งนี้ให้กับคนที่ทำให้จักรพรรดิชิงสละราชสมบัติได้”
    ซุนยัตเซ็นกล่าวในการประชุมเมื่อได้รับการโหวตให้เป็นประธานาธิบดีชั่วคราว
     
  • “นายคงไม่เคยเห็นภาพที่เขาสังหารคนหนุ่ม ฉันอดกังวลใจไม่ได้ว่าเขาจะเป็นศัตรูกับสาธารณรัฐ เขาอาจถึงขั้นฟื้นฟูระบอบเผด็จการขึ้นมาใหม่”
    หวงซิงกล่าวคัดค้านการสละตำแหน่งประธานาธิบดีของซุนยัตเซ็น
     
  • “การยึดอำนาจไว้สำคัญที่สุด เก้าอี้ประธานาธิบดีคงไม่สบาย แต่ต่อให้มันเต็มไปด้วยเข็มหมุด ฉันก็ยังอยากจะนั่งบนนั้นอยู่ดี”
    หยวนซี่อข่ายพูดกับลูกน้องก่อนที่จะรับตำแหน่งประธานาธิบดี
     
  • “บรรพชนของเราบนสรวงสวรรค์ บัดนี้ ชนชาติอื่นรุมรังแกเรา พวกปฏิวัติอาละวาดหนัก เสนาบดีล้วนคดโกง ขายทุกอย่างเท่าที่ขายได้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่มีอะไรเหลืออีกแล้ว เราทำให้บรรพชนของเราต้องผิดหวัง อย่างน้อย ซุนเหวินก็ยังมีเมตตาที่ไม่บุกเข้ามาในพระราชวัง ไม่มีกิโยติน”
    หลงยู่ไทเฮากล่าวต่อหน้าขุนนางและเชื้อพระวงศ์ก่อนสั่งให้สละราชสมบัติ
     
  • “เมื่อวานนี้ ฮ่องเต้ได้สละราชสมบัติแล้ว ระบอบจักรพรรดิที่มีมาสองพันปีสิ้นสุดลง นักปฏิวัตินับไม่ถ้วนได้เสียสละชีวิตเพื่อสาธารณรัฐใหม่ของเรา วันนี้ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1912 ตรงกับวันที่ 26 เดือน 12 ของปีซินไฮ่ ผมขอรักษาสัญญา ผมขอลาออกจากการเป็นประธานาธิบดี เราดิ้นรนเพื่อให้การปฏิวัติสัมฤทธิ์ผล แต่เราไม่ต้องการการยอมรับ เราทุกคนต่างมีใจเดียวกันในการตระหนักถึงเป้าหมายของการปฏิวัติ เป้าหมายก็คือการก่อร่างสร้างประเทศอิสระเพื่อชนชาวจีน เราสร้างสาธารณรัฐจีนที่แผ่นดินนั้นแบ่งให้แก่พวกเราทุก ๆ คน ชาตินิยม ประชาธิปไตย มีกินมีใช้ นั่นคือสิ่งที่เราสู้เพื่อให้ได้มา”
    ซุนยัตเซ็นกล่าวกับสมาชิกขบวนการถงเหมิงฮุ่ยถึงเหตุผลและอุดมการณ์ของการปฏิวัติในการสละตำแหน่งประธานาธิบดี
     
  • “วันนี้ คุณถามผมว่า การปฏิวัติหมายความว่าอย่างไร บางทีในอีกร้อยปีข้างหน้า ผู้คนก็จะยังคงถามคำถามเดียวกัน ชิวจิ่น สมาชิกถงเหมิงฮุ่ยของเราที่ถูกประหารที่เส้าชิงกล่าวเอาไว้ว่า การปฏิวัติจะนำมาซึ่ง โลกที่สงบวันติแก่เด็ก ๆ ทั้งหลาย หลินเจ๋อหมิงผู้พลีชีพที่หวงฮัวกังเขียนบอกภรรยาเขาว่า การปฏิวัตินั้นกระทำเพื่อค้นหาความสุขอันนิรันดร์แก่ทุกคนบนโลก ผมเชื่อว่า การปฏิวัติจะนำมาซึ่งระบบสาธารณรัฐเพื่อเข้าหาปวงประชาชน ประชาชนจะเข้าใจว่าเราจะสู้กับใครก็ตามที่สนับสนุนศักดินา การปฏิวัติจะนำมาซึ่งโรงงานธนาคาร ทางรถไฟ เหมืองแร่ ที่เป็นของคนจีน เพื่อคนจีน การปฏิวัติทำให้เผ่าพันธุ์จีนเข้มแข็ง ไม่ต้องถูกรังแกโดยชาติอื่นอีกต่อไป เราจะไม่เป็นทาสอีกต่อไป การปฏิวัติเกิดขึ้นที่ใดก็ได้เกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ ภายในหัวใจทุก ๆ ดวงตลอดไป และตลอดกาล ไม่ต้องหวาดกลัวอำนาจต่างชาติ เรากำจัดศักดินาราชาธิปไตย จะไม่มีใครยากจนข้นแค้น ชนชาวจีนจะยืนหยัดในโลกตะวันออกอย่างภาคภูมิ นี่แหละคือความหมายของการปฏิวัติ”
    ซุนยัตเซ็นกล่าวสรุปความหมายและเหตุผลของการปฏิวัติในท้ายเรื่อง

อ่านเพิ่มเติม

  • สงครามชิงแผ่นดิน โดย เล่าชวนหัว
     
  • ย้อนอดีตสู่อนาคต ว่าด้วยการอภิวัฒน์สงครามกลางเมืองและสันติภาพ ภาคจีน โดย ดรอนุสรณ์ ธรรมใจ

 

เนื่อง จากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด  หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

  • (ยังไม่มี)

เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ

Bookmark and Share

ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก www.youtube.com

ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์

 



ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ

สะดุดเลิฟ ที่เมืองรัก (Letters to Juliet) วันที่ 19/05/2013   18:36:43
เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ 1980 (คลาสสิค) วันที่ 19/05/2013   18:40:30
5 พยัคฆ์พิทักษ์ซุนยัดเซ็น เมื่อการปฏิวัติ คือ การหลั่งเลือด วันที่ 19/05/2013   18:39:13
Kingdom of Heaven มหาศึกกู้แผ่นดิน วันที่ 19/05/2013   18:41:31
Chariots of Fire เกียรติยศแห่งชัยชนะ ชัยชนะแห่งไฟในหัวใจอันลุกโชน วันที่ 19/05/2013   18:43:04
Master and Commander วันที่ 19/05/2013   18:43:58
FIRST KNIGHT (สุภาพบุรุษยอดอัศวิน) วันที่ 19/05/2013   18:45:00
Legionnaire คนอึดเดือดไม่ใช่คน วันที่ 19/05/2013   18:46:18
ไททานิค ภาพยนตร์ที่ลงตัวทั้งประวัติศาสตร์และนิยายโรแมนติก วันที่ 19/05/2013   18:47:27
Napoleon ศึกรบ ศึกรัก และศึกการเมือง ในชีวิตนโปเลียน วันที่ 19/05/2013   18:48:31
Waterloo ความมโหฬารของสงครามปราบจักรพรรดิ์นโปเลียน วันที่ 19/05/2013   18:49:19
เอลซิด (El Cid) : ประวัติศาสตร์ หรือ ตำนาน วันที่ 19/05/2013   18:50:07
Fearless -> Truthless? วันที่ 19/05/2013   18:50:53
Veer จอมวีรอหังการ์ (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   18:51:25 article
The Last Samurai (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   18:52:09 article
Nomad: The Warrior (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   18:52:53 article



1

ความคิดเห็นที่ 1 (102035)
avatar
โรจน์ (Webmaster)

ลงบทความมาหลายวันคงต้องขอประเดิมแสดงความเห็นไว้หน่อย  เมื่อตอนที่ผมเรียนประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่ค่อยได้เน้นประวัติศาสตร์จีนมากนัก  จะทราบแต่เพียงว่ามีการปฏิวัติล้มราชวงศ์ชิงโดยซุนยัตเซ็น  แล้วหยวนซื่อไข่ขึ้นมามีอำนาจ  โดยไม่รู้สึกเลยว่าเหตุการณ์ในรายละเอียดมันจะรบกันรุนแรงขนาดนี้  ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทำให้เราได้เห็นว่าการปฏิวัติในจีนขณะนั้น  มันมีรายละเอียดและความรุนแรงอย่างไร  ใครมีบทบาทสำคัญที่ไม่ควรลืมบ้าง  ดูเรื่องจริงในประวัติศาสตร์เทียบกับเนื้อเรื่องในภาพยนตร์แล้ว  มีความเป็นไปได้เหมือนกันครับที่จะมีต่อภาคสอง

ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ (Webmaster) (webmaster-at-iseehistory-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-04-24 09:48:20


ความคิดเห็นที่ 2 (102049)
avatar
คนเล่าเรื่อง

ใช่ครับ เรามักเรียนประวัติศาสตร์กันแบบสรุปเอาง่าย ๆ ดื้อ ๆ โดยไม่ได้รับรู้ถึงเบื้องลึกและรายละเอียด และที่สำคัญคือ เหตุผลของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประวัติศษสตร์สักที  เด็กไทยเราจึงไม่เข้าใจถึงเหตุและผลของเหตุการณ์และเรื่องราวของสังคมในปัจจุบันที่มีฐานจากประวัติศาสตร์ครับ  ยิ่งเรื่องการอภิวัฒน์ 2475 แล้ว ดูเหมือนว่า เด็กไทยและคนไทยเราไม่ได้รับการบอกเล่าถึงเหตุผลอย่างละเอียดและลุ่มลึก แล้วหลักฐานหลาย ๆ อย่างที่่เกี่ยวข้องก็ดูจะถูกบิดเบือนหรือลบเลือนไปไม่น้อยเลยครับ

อย่างไรก็ตาม ยังมีเยาวชนหลายคนบอกผมว่า เข้าใจถึงเหตุผลและความจำเป็น ตลอดจนปัจจัยที่ก่อให้เกิดการอภิวัฒน์ 2475 นี้ และยังให้การยอมรับการกระทำของคณะราษฎรที่ก่อการในครั้งนี้ด้วยครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น คนเล่าเรื่อง ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-05-06 00:48:23



1


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker