Webmaster@iseehistory.com
เคยคิดไว้ว่าจะนำเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้านโปเลียนมานำเสนอ แต่คราวก่อนได้นำเรื่อง Waterloo มาขัดตาทัพไปก่อน คราวนี้เป็นโอกาสของการนำเสนอเรื่องของพระเจ้านโปเลียนกันอย่างเต็มๆ ซะที ด้วยการแนะนำมินิซีรีส์เรื่อง Napoleon หรือในชื่อภาษาไทยว่า จอมจักรพรรดินโปเลียน ครับ
ในสมัยนี้ เมื่อเอ่ยพระนาม นโปเลียน เราย่อมจะนึกถึงนักรบหรือนักยุทธวิธีที่เก่งกาจผู้หนึ่งหาตัวจับได้ยาก แต่ในยุคสมัยของพระองค์ท่านเอง บรรดาประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้กระทั่งชาวฝรั่งเศสกลุ่มน้อยบางกลุ่มที่ยังภักดีต่อราชวงศ์บูร์บองเดิม ต่างมองพระองค์ในแง่ร้ายจนถึงกับเรียกเป็น สัตว์ประหลาด หรือ Monster ก็มี และคงน้อยคนนักที่จะเข้าใจว่าพระองค์ต้องแบกรับอะไรมามากมายตลอดช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ของพระองค์
มินิซีรีส์ชุดนี้ มีความยาว 6 ชั่วโมง แบ่งเป็น 4 ตอน หรือ Episode ตอนละ 1 ชั่วโมงครึ่งใน 1 แผ่น DVD พอดี สมมติเรื่องให้นโปเลียนทรงเป็นผู้เล่าเรื่องให้กับ เบ็ทซี่ (Betsy) เด็กสาวชาวอังกฤษที่เกาะเซนต์เฮเลนา ขณะถูกทางการอังกฤษควบคุมพระองค์อยู่ที่นั่นในตอนช่วงปลายพระชนม์ชีพ แล้วเล่าย้อนไปยังช่วงที่พระองค์เริ่มก้าวสู่อำนาจจนถึงความพ่ายแพ้ที่วอเตอร์ลู และถูกอังกฤษจับกุมมากักบริเวณที่เกาะดังกล่าว และมีแถมท้ายชีวิตอันโดดเดี่ยวของพระองค์ภายหลังจากที่เบ็ทซี่ต้องจากไปเพื่อติดตามบิดาไปรับตำแหน่งอื่น แต่ละตอนมีเนื้อหาโดยย่อดังนี้ (ผมตั้งชื่อตอนแต่ละตอนขึ้นเองนะครับ)
ตอนที่ 1 ช่วงแรกของการก้าวเข้าสู่อำนาจ
นายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต ขณะตกหลุมรักแม่หม้ายโยเซฟิน
เริ่มเรื่องเมื่อพระเจ้านโปเลียนยังเป็นนายพลทหารเหล่าปืนใหญ่นาม นโปเลียน โบนาปาร์ต ซึ่งวันหนึ่งได้มาพบและหลงรักกับหญิงหม้ายนาม โยเซฟิน (Josephine de Beauharnais) ในปี 1795 (พ.ศ.2338) ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสโค่นล้มราชวงศ์บูร์บองไปแล้ว แต่ยังเกิดความวุ่นวายอยู่เนืองๆ จากผู้นิยมระบบกษัตริย์ (Royalist) ที่กำลังรวมพลทั้งหญิงชายกว่า 40,000 คน เข้ามาในกรุงปารีส ขณะที่ทางฝ่ายรัฐบาลสาธารณรัฐมีทหารราว 25,000 คนเท่านั้น แต่จากการขันอาสาของนาพลโบนาปาร์ต ในการวางแผนการป้องกันกรุงปารีส พร้อมด้วยความร่วมมือจากลูกน้องมือดีคือ มูราต์ (Marechal Joachim Murat)ทำให้กองกำลังรัฐบาลสาธารณรัฐสามารถปราบการจลาจลได้อย่างราบคาบ ในวันที่ 5 ตุลาคม
การปราบจลาจลในปารีส
หลังปราบกบฎได้ไม่นาน นายพลโบนาปาร์ตได้แต่งงานกับโยเซฟินแล้วก็ต้องไปออกรบเพื่อชิงดินแดนในอิตาลีมาจากออสเตรียในทันที ศึกครั้งนั้นเรียกว่า Battle of Arcole (15-17 พฤศจิกายน 1796 - พ.ศ.2339) กองกำลังของนโปเลียนค่อนข้างเสียเปรียบเนื่องจากขาดแคลนปืนใหญ่ และทหารม้าไม่มีม้าขี่ แต่ด้วยความห้าวหาญของนโปเลียนในการนำทัพถึงขนาดถือธงบุกนำหน้าทหารข้ามสะพาน ได้สร้างศรัทธาให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นอย่างมาก เสร็จศึกครั้งนั้นด้วยชัยชนะ นโปเลียนเริ่มได้รับการทาบทามจากตัลเลย์รอง (Charles Talleyrand) ให้เข้าร่วมในการปฏิวัติรัฐบาลขณะนั้นที่ประชาชนกำลังเสื่อมศรัทธา แต่นโปเลียนกำลังต้องการซื้อคฤหาสน์มาลเมซองไว้เป็นเรือนหออยู่กับโยเซฟิน จึงได้อาสาไปรบกับอังกฤษในอิยิปต์ แม้ว่าจะต้องประสบการต่อต้านจากทหารในบังคับบัญชาที่เผชิญความยากลำบากจากการเดินทัพในทะเลทราย นายพลโบนาปาร์ตก็สามารถใช้ความเป็นผู้นำแก้ปัญหาจนประสบความสำเร็จลุล่วงไปได้ และกลับมาฝรั่งเศสเยี่ยงวีรบุรุษ
The Battle of Arcole นโปเลียนถือธงนำหน้าเหล่าทหารท่ามกลางห่ากระสุนข้าศึก
นโปเลียนขณะเดินทัพในอิยิปต์
จากความมีชื่อเสียงของนายพล นโปเลียน โบนาปาร์ต ประกอบกับความเบื่อหน่ายของประชาชนต่อรัฐบาลขณะนั้น และความหวาดระแวงต่อการหวนคืนมาของราชวงศ์บูร์บอง นโปเลียนก็ต้องเข้าร่วมกับคณะผู้ก่อการในการล้มรัฐบาลเก่าเป็นผลสำเร็จ ผู้ปกครองใหม่ประกอบด้วยคณะกงสุล 3 คน คือ นโปเลียนเป็นกงสุลใหญ่ (First Consul) กงสุลอีกสองท่านคือ เซแยส และ โรเกดูโก มี ตัลเลย์รอง เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ และฟูเช่ (Joseph Fouche) เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย (Ministry of Police) ภาพยนตร์จบตอนแรกด้วยความพยายามลอบสังหารนโปเลียนในวันคริสต์มาสอีฟด้วยเกวียนบรรทุกระเบิด แต่นโปเลียนกับครอบครัวรอดได้อย่างหวุดหวิด
มูราต์นำทหารเข้าสภาเพื่อล้มรัฐบาล
ตอนที่ 2 การดำรงตำแหน่งจักรพรรดิ์
ผลการสอบสวนเหตุการณ์ระเบิดในวันคริสต์มาสอิฟ พบว่าเป็นฝีมือของผู้นิยมระบอบกษัตริย์ นโปเลียนคาดว่า ดุ๊กออฟอองเกียง หลานของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เป็นผู้บงการ จึงให้ทหารไปจับตัวมาประหารชีวิต แม้ว่าโยเซฟินและมารดาของนโปเลียนจะคัดค้าน จากนั้นสภาสาธารณรัฐได้ลงมติอนุมัติให้นโปเลียนดำรงตำแหน่งจักรพรรดิ์ ซึ่งในเรื่องจะอธิบายย่อๆ ในทำนองว่าเป็นจักรพรรดิ์แบบสมัยจักรวรรดิ์โรมัน ซึ่งต่างจากระบอบกษัตริย์ในราชวงศ์บูร์บอง สำหรับคนไทยอาจจะเข้าใจยากสักนิด เอาเป็นว่่านโปเลียนก็ยังอุตส่าเกี่ยงให้มีการออกเสียงลงประชามติ ซึ่งประชาชนก็รับรองอย่างท่วมท้น นโปเลียนได้ทูลเชิญองค์พระสันตปาปามาเป็นประธานในพิธีราชาภิเษก
หลังจากพิธีราชาภิเษก บรรดาประเทศเพื่อนบ้านนำโดยอังกฤษยังคงกดดันฝรั่งเศสต่างๆ นานา จนเกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับ ออสเตรียและรัสเซีย ที่ออสเตอริทซ์ (Battle of Austerlitz 2 ธันวาคม 1805 - พ.ศ.2348) หลังจากชัยชนะครั้งนี้ ตัลเลย์ลอง ได้พยายามทูลเกลี้ยกล่อมให้พระเจ้านโปเลียนทรงพิจารณาอภิเษกกับพระนางมารีหลุยส์แห่งออสเตรีย เพื่อผูกสัมพันธ์และเพื่อให้มีรัชทายาท แม้ว่านโปเลียนจะปฏิเสธความคิดนี้ แต่กลับลักลอบได้เสียกับเอเลนอร์ เดอนูแอล (Eleanore Denuelle) นางต้นห้องของพระนางโยเซฟิน ซึ่งพระนางก็ทรงทราบ แต่ไม่สามารถทำอะไรได้
The Battle of Austerlitz
ต่อมาได้การรบกับปรัสเซียที่อีเอน่า ในวันที่ 13 ตุลาคม 1806 (พ.ศ.2349) พระเจ้านโปเลียนได้รับชัยชนะและนำทัพรุกไล่ไปจนถึงโปแลนด์ ณ ที่นี้ นอกจากจะได้ทรงทราบข่าวนางเอเลนอร์คลอดบุตรชายแล้ว ยังได้ทรงมีสัมพันธ์กับเคาน์เตสมารี วาลูสก้า หญิงชาวโปแลนด์ที่พยายามทูลขออิสรภาพของโปแลนด์ ซึ่งขณะนั้น โปแลนด์ถูกแบ่งแยกโดยออสเตรีย ปรัสเซีย และรัสเซีย จากนั้น พระเจ้านโปเลียนนำทัพรบกับรัสเซียที่เมืองเอโล (Battle of Eylau 7-8 กุมภาพันธ์ 1807 - พ.ศ.2350) ท่ามกลางหิมะที่โปรยปราย และสถานการณ์ที่ตึงเครียด จากการรอกำลังทหารของจอมพลเนย์ ทิ้งท้ายให้ลุ้นกันเอาเองว่าตอนหน้าจอมพลเนย์จะมาหรือไม่?
ตอนที่ 3 การแสวงหาสันติภาพ
หลังจากนายพลเนย์นำทหารเข้ามาแก้สถานการณ์การรบที่เมืองเอโลจนประสบชัยชนะ พระเจ้านโปเลียนกับซาร์อเล็กซานเดอร์แห่งรัสเซีย (Tsar Alexander I) ได้เจรจาสงบศึกกันที่เมือง Tilsit ในเดือนกรกฎาคม 1807 (พ.ศ.2350) พระเจ้านโปเลียน ได้ทูลขอเอกราชของโปแลนด์ แต่ซาร์ได้ทรงปฏิเสธ
การสงบศึกที่ Tilsit
ในปี 1808 (พ.ศ.2351) เกิดความไม่สงบในสเปน นโปเลียนพยายามส่งแม่ทัพนายกองไปปราบปราม ขณะที่พระองค์ต้องเสด็จไปเยือนพระเจ้าซาร์เพื่อกลบเกลื่อนไม่ให้ทรงทราบว่าฝรั่งเศสกำลังมีปัญหา แล้วก็ต้องขัดพระทัยกันเนื่องจากซาร์ไม่ทรงรับปากที่จะช่วยยับยั้งการเตรียมกองทัพของออสเตรียและปรัสเซีย ด้านสถานการณ์ในสเปนก็เลยร้ายลงจนต้องเสด็จไปควบคุมด้วยพระองค์เอง ระหว่างนี้ทรงขาดการติดต่อกับทางปารีส จนบรรดาผู้ดูแลปารีสอย่างมูราต์ ตัลเลย์รอง และฟูเช่ เริ่มแปรพักตร์เพราะเข้าใจว่าจะไม่ทรงสามารถกลับมาได้ เมื่อเสด็จกลับมาจึงได้ปลดตัลเลย์รอง จากนั้นไม่นานก็ต้องรบกับออสเตรียที่เอสสลิง (Battle of Aspern-Essling 21-22 พฤษภาคม 1809 - พ.ศ.2352) ที่ซึ่งทรงได้รับชัยชนะอีกเช่นเคย แต่ต้องแลกด้วยความสูญเสียมากมาย
The Battle of Aspern-Essling ฝ่ายออสเตรียเล่นแรงโดยใช้แพไฟชนสะพานขณะทหารฝรั่งเศสกำลังข้ามแม่น้ำ
นโปเลียนได้ทรงพยายามสร้างสันติภาพอีกครั้งด้วยการขอหย่ากับโยเซฟินเพื่ออภิเษกกับพระนางมารี หลุยส์แห่งออสเตรีย (Marie Louise of Austria ตำแหน่งสุดท้ายเป็น Duchess of Parma) ในเดือนมีนาคม 1810 (พ.ศ.2353) จนมีพระโอรสด้วยกันในปีต่อมา แต่แล้วปัญหาระหว่างฝรั่งเศสกับรัสเซียก็ประทุขึ้นมาอีก เมื่อทรงทราบจากเคาน์เตสวาลูสก้าว่ารัสเซ๊ยกำลังระดมพล และความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับรัสเซียกำลังคุกคามฝรั่่งเศสมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดนโปเลียนก็ตัดสินพระทัยบุกรัสเซีย ในปี 1812 (พ.ศ.2355) ในช่วงนี้ไม่ได้มี่ฉากรบอะไรมาก กล่าวแต่เพียงว่าพระเจ้าซาร์ได้ทิ้งเมืองมอสโคว์ไว้ให้นโปเลียนเข้ามาอย่างง่ายดาย ครั้นตกกลางคืนก็ได้ให้คนจุดไฟเผาบ้านเมืองซะอย่างงั้น
ตอนที่ 4 การสิ้นสุดอำนาจ
การถอยทัพจากรัสเซีย
ภายหลังการถอยทัพจากรัสเซีย ออสเตรียก็เริ่มส่งทูตมากดดันนโปเลียนอีก เมื่อตกลงกันไม่ได้ ก็เกิดสงครามขึ้นอีก คราวนี้นโปเลียนเริ่มดวงตกจริงๆ ถึงขั้นแม่ทัพนายกองอย่างมูราต์ และจอมพลเนย์ขอถอนตัว ในปี 1814 (พ.ศ.2357) ขณะที่นโปเลียนกำลังเตรียมการตั้งรับกองทัพรัสเซีย ปรัสเซีย และรัสเซียนอกกรุงปารีส โจเซฟพระอนุชาได้อ้างพระบัญชาให้พระนางมารีหลุยส์นำพระโอรสเสด็จหนี แล้วประกาศยอมแพ้ต่อกองทัพข้าศึก นโปเลียนต้องทรงจำยอมเสด็จไปประทับที่เกาะเอลบ้า นอกชายฝั่งอิตาลี
จอมพลเนย์ยอมจำนนต่อนโปเลียน
ระหว่างประทับอยู่ที่เกาะเอลบ้านั้น ทรงทราบข่าวว่าทางการอังกฤษกำลังวางแผนจะจับพระองค์ส่งไปอยู่เกาะเซนต์เฮเลน่าที่อยู่ห่างไกลออกไป ขณะที่ในฝรั่งเศสเอง พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน นโปเลียนจึงตัดสินพระทัยเสด็จหนีกลับไปยังฝรั่งเศส จอมพลเนย์ได้นำกำลังทหารจะมาจับกุมพระองค์ แต่บรรดาทหารไม่ยอมยิงพระเจ้านโปเลียน จอมพลเนย์จึงต้องยอมพาพระเจ้านโปเลียนกลับมาครองอำนาจอีกครั้ง โดยได้รับการต้อนรับจากประชาชนเป็นอย่างดี
ทหารราบอังกฤษตั้งขบวนรูปสี่เหลี่ยมสู้กับทหารม้าฝรั่งเศสที่ Waterloo
นโปเลียนทรงกลับมาครองราชย์ได้ราว 100 วัน กองทัพอังกฤษและปรัสเซียได้เตรียมระดมพลในเบลเยียม จนกระทั่งเกิดสงครามวอเตอร์ลู (Battle of Waterloo 18 มิถุนายน 1815 - พ.ศ.2358) ครั้งนี้ไม่ทรงมีโชคอีกแล้ว ต้องประสบความพ่ายแพ้ และพยายามเสด็จหนีไปอเมริกา และถูกจับตัวมากักบริเวณ ณ เกาะเซนต์เฮเลน่า ซึ่งได้ประทับอยู่จนสิ้นพระชนม์
ความเห็นส่วนตัว
เคยกล่าวในบทความก่อนๆ ว่าการจะถ่ายทอดชีวิตบุคคลสำคัญๆ ให้สมบูรณ์นั้น บางทีอาจจะต้องทำเป็นหนังซีรีส์กันเลย สำหรับเรื่องนี้ซึ่งเป็นมินิซีรีส์ความยาว 6 ชั่วโมง หากจะถามว่าเพียงพอไหม? สำหรับคนที่ติดภาพว่านโปเลียนเป็นนักการทหารที่เก่งกาจ อยากให้ถ่ายทอดว่านโปเลียนรบเก่งอย่างไรแล้ว คงจะไม่เพียงพอ ฉากการรบแต่ละฉากแม้จะลงทุนด้วยจำนวผู้คนมากมายพอเทียบได้กับเรื่องวอเตอร์ลู แต่ก็ต้องเล่าเหตุการณ์อย่างกระชับย่นย่อ แต่หากจะตั้งโจทย์ว่า ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ประสบทุกข์สุขประการใดแล้ว ต้องถือว่าภาพยนตร์ชุดนี้ ตอบโจทย์ได้สมบูรณ์แล้ว คือนอกจากศึกรบที่ทรงเชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จเกือบตลอดแล้ว ยังต้องทรงเผชิญกับความขัดแย้งต่างๆ ตั้งแต่กับคนในครอบครัวพระองค์เอง คนใกล้ชิดทางการเมือง ไปจนถึงการเมืองระหว่างประเทศ
ตัลเลย์รอง นักการทูตเจ้าเล่ห์ กับ ฟูเช่ รัฐมนตรีมหาดไทย
ด้านหนึ่ง ดูเหมือนภาพยนตร์จะพยายามแสดงให้เห็นด้านดีหรือด้านที่น่าเห็นพระทัยพระเจ้านโปเลียน แต่ก็มีการแสดงด้านลบของพระองค์อยู่บ้าง เช่น การสั่งปิดหนังสือพิมพ์ไปมากมายตั้งแต่ยังดำรงตำแหน่งเป็นกงสุลใหญ่ การสั่งประหารดุ๊กออฟอองเกีียงแบบน่ากังขา การลักลอบได้เสียกับนางต้นห้องของพระนางโยเซฟิน ฯลฯ ที่ดูเหมือนจะถูกหักกลบลบหนี้กับด้านดีหรือด้านที่น่าเห็นพระทัยไปโดยปริยาย
ผมพยายามจะไม่สนใจเรื่องการแปลบทพากย์ แต่ก็สะดุดเข้าจังๆ 2 จุด คือในฉากการรบที่อาร์โคล นโปเลียนสั่งทหารว่า "Stay back!" ภาษาไทยไปแปลว่าให้ถอย ทั้งที่ความจริงหมายความว่าให้รออยู่ข้างหลังเพื่อที่นโปเลียนจะเดินข้างหน้าไปสังเกตการณ์ข้าศึก อีกคำที่พบบ่อยจนรำคาญ คือคำสั่งทหารว่า "Present Arm!" ซึ่งแปลเป็น "วันทยาหัตถ์" ทุกครั้ง คนที่เคยฝึกทหารหรือรด.มาพอสมควรคงทราบว่าที่ถูกต้องเป็น "วันทยาวุธ" ต่างหาก
สรุปรวมแล้ว ท่านที่สนใจพระประวัติของนโปเลียนแล้ว ควรมีภาพยนตร์ชุดนี้สะสมไว้เคียงคู่กับบรรดาหนังสือชีวประวัติของพระองค์ครับ
คำคมชวนคิด
- "คนเราพูดเพื่อปกปิดความคิด และคำพูดซ่อนเร้นสายตา อย่าาเชื่อสิ่งใดหรือใคร" ตัลเลย์รอง พูดกับ นโปเลียน
- "ประวัติศาสตร์มากด้วยอาชญากรรมที่ก่อในนามพระเจ้า" ฟูเช่ กล่าวกับ นโปเลียน
- "ข้าให้อะไรๆ คนอื่นตั้งมากมาย แต่พวกเขาก็ทิ้งข้าไป ข้าไม่ได้ให้ในสิ่งที่นางต้องการมากที่สุด คืออิสรภาพแห่งโปแลนด์ที่รักของนาง แต่นางก็ยังมา" นโปเลียนกล่าวถึงการมาของเคาน์เตสมารี วาลูสก้า ต่อโกแลงกูร์ ในขณะที่กำลังจะทรงสูญเสียอำนาจในปี 1814 (พ.ศ.2357)
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : Napoleon
ชื่อภาษาไทย : จอมจักรพรรดินโปเลียน
เรื่องเดิม : นวนิยาย จากบทประพันธ์ของ Max Gallo
ผู้สร้าง : Didier Decoin and Max Gallo
ผู้กำกำกับ : Yves Simoneau
ผู้เขียนบท : Didier Decoin
ผู้แสดง : Christian Clavier, Gerard Depardieu, Isabella Rossellini, John Malkovich, Alexandra Maria Lara, Heino Ferch, Claudio Amendola
ควรอ่านเพิ่มเติม
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ
หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ
ภาพยนตร์ตัวอย่างจาก www.youtube.com ตอน Battle of Austerlitz
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์